- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 28 November 2014 12:13
- Hits: 4937
วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8766 ข่าวสดรายวัน
ปชป.เย้ยซ้ำ! ตะเพิด'จ้อน' สมหมาย แย้ม ส่อเลือกตั้งปี 59
ชนแก้ว- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พร้อมภริยา ชนแก้วไวน์กับนายเหวียน เติ๊น สุง นายกฯเวียดนาม ในงานเลี้ยงรับรอง ระหว่างการเยือนประเทศเวียดนามเป็นทางการ เมื่อ 27 พ.ย.
ปชป.ไล่ตะเพิดส่ง'อลง กรณ์'เย้ยซ้ำลาออกจากพรรคช้าไป ความจริงน่าจะไปตั้งนานแล้ว กันท่าถ้าจะมาสมัครก็ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ ด้านอดีตประธานวุฒิสภา'นิคม ไวยรัชพานิช'แถลงต่อสนช.ขอเพิ่มหลักฐานใหม่เป็นวิดีโอการประชุมรัฐสภาแก้รธน.พร้อมคัดค้าน 16 สนช.อดีตส.ว.ที่ร่วมลงชื่อถอดถอน แต่มติที่ประชุมไม่รับทั้ง 2 ประเด็น พร้อมนัดแถลงเปิดคดีวันที่ 8 ม.ค.2558 เริ่มกระบวนการถอดถอนยิ่งลักษณ์คดีจำนำข้าววันนี้ 'บิ๊กตู่' เสร็จสิ้นภารกิจเยือนสปป.ลาวบินต่อฮานอยถกผู้นำเวียดนาม ปลัดศธ.เด้งรับคสช.เตือนนักศึกษาอย่าหัวรุนแรงยึดติดกับการต่อต้านรัฐประหาร
นิคมยื่นหลักฐาน-ค้าน 16 สนช.
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัช พานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ
ก่อนเข้าสู่การพิจารณา นายพรเพชร แจ้งว่า นายนิคมมีหนังสือถึงประธานสนช. ขอคัดค้านการทำหน้าที่ของสนช. 16 คน ไม่ให้เข้าร่วมกระบวนการถอดถอนครั้งนี้ เนื่องจากเคย เป็นผู้เข้าชื่อร้องถอดถอนนายนิคมออกจากตำแหน่งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และยังมีส่วนร่วมในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว. ซึ่งเป็นมูลเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถือว่ามีฐานะเป็นคู่กรณี มีส่วนได้เสียและมีผลประโยชน์ขัดกันต่อเรื่องที่จะพิจารณา ตกอยู่ในสภาพร้ายแรง อาจไม่เป็นกลาง ขัดกับหลักกฎหมายมหาชนและหลักนิติธรรม จึงขอให้ สนช. 16 คน งดเข้าร่วมการพิจารณาถอดถอนในทุกขั้นตอน
มติสนช.ไม่รับ-ชี้ทำตามหน้าที่
จากนั้นนายพรเพชร เปิดให้สมาชิก สนช.อภิปรายแสดงความเห็นกรณีการคัดค้านไม่ให้ สนช. 16 คน ทำหน้าที่ในกระบวนการถอดถอน โดยสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่อภิปรายในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนให้ทั้ง 16 คนทำหน้าที่ต่อไปได้ ให้เหตุผลว่าการที่ 16 สนช. ซึ่งเป็นอดีตส.ว.เคยเข้าชื่อยื่นถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ ต่อป.ป.ช. นั้น ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ สนช.ต้องพิจารณาเรื่องการถอดถอน ไม่สามารถถอนตัวได้ เชื่อมั่นว่า สนช.ทุกคนจะทำหน้าที่เป็นกลาง ไม่มีอคติ และไม่ใช่คู่กรณี หรือขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะยังไม่รู้ว่า ทั้ง 16 คน จะลงมติถอดถอนในทิศทางใด
ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจากเปิดให้สมาชิกแสดงความเห็นนานกว่า 1 ชั่วโมงแล้ว นายพรเพชร สรุปโดยใช้วินิจฉัยส่วนตัวให้ สนช.ทั้ง 16 คน ทำหน้าที่ต่อไปได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติใดทั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 และพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ที่จะห้ามการทำหน้าที่ถอดถอนของ สนช. จึงให้คำร้องของนายนิคมตกไป หาก สนช.คนใดจะขอสละสิทธิ์เข้าร่วมประชุมก็ทำได้ แต่ต้องทำหนังสือขอลา ประชุม เพราะการไม่เข้าร่วมประชุมและลงมติจะมีผลต่อสมาชิกภาพ
นัดแถลงเปิดสำนวนนิคม 8 ม.ค.
จากนั้น นายพรเพชร แจ้งมติวิป สนช.ว่า จะแถลงเปิดสำนวนของนายนิคม วันที่ 8 ม.ค. 2558 มีสมาชิกคนใดคัดค้านหรือไม่ ซึ่งไม่มี สนช.คนใดคัดค้าน ที่ประชุมจึงมีมติกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของนายนิคมในวันที่ 8 ม.ค. 58 เวลา 10.00 น.
ต่อมาเข้าสู่วาระการพิจารณาขอเพิ่มเติมหลักฐานของนายนิคม โดยที่ประชุมเชิญ นายนิคม และตัวแทนฝ่ายป.ป.ช. ได้แก่ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. และนายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการป.ป.ช.มาชี้แจง ซึ่งนายนิคม นำวีดิทัศน์การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว. เวลา 4 ชั่วโมง มาเป็นหลักฐานเพิ่มเติม
นายนิคม กล่าวว่า แผ่นซีดีดังกล่าวเคยยื่นต่อป.ป.ช. แต่ป.ป.ช.ไม่นำมาวินิจฉัยและลงมติ อาจรีบร้อน หรือมีข้อกล่าวหายาวมาก ซึ่งตนไปชี้แจงต่อป.ป.ช.ด้วยตัวเอง แต่ป.ป.ช. 8-9 คน มีแค่ประธานป.ป.ช.คนเดียวที่นั่งฟังตนตั้งแต่ต้นจนจบ แผ่นซีดีดังกล่าวรวบรวมเหตุการณ์ที่ตนทำหน้าที่ประธานการประชุมและถูกกล่าวหากระทำความผิด 3 เรื่องคือ 1.การลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.การให้สัมภาษณ์ว่าสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.การกล่าวหาว่าตนรับญัตติให้ปิดอภิปรายเพื่อลงมติ ทั้งที่ตนไม่ได้ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. แต่ลงชื่อแก้ไขมาตรา 190 และ 237 ส่วนปิดการอภิปรายนั้น ทำตามข้อบังคับการประชุมเพราะเมื่อมีสมาชิกเสนอให้ปิดประชุม ตนต้องทำตามกฎหมาย
เรียกร้องจิตสำนึกมนุษย์ 16 สนช.
นายนิคม กล่าวต่อว่า เชื่อว่าป.ป.ช.คงไม่ได้ดูหลักฐานในซีดีบันทึกการประชุมทั้ง 120 ชั่วโมง ตนจึงยื่นหลักฐานใหม่เพิ่มเติมต่อ สนช. เป็นแผ่นซีดี 2 แผ่น ที่ย่อการประชุม 120 ชั่วโมงเหลือ 4 ชั่วโมง เพื่ออธิบายเหตุการณ์ทั้งหมด การดูซีดีจะดีกว่านั่งอ่านเอกสาร จะได้ทราบบรรยากาศการประชุมทั้งหมด และทราบว่าสิ่งที่ผู้ร้องกล่าวหาตนนั้นไม่ถูกต้อง อยากเตือนสติ สนช.ทั้ง 16 คนที่วางตัวไม่เป็นกลาง ทั้งที่ตนไม่ได้ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. เมื่อมีโอกาสจึงต้องร้องคัดค้าน ถ้ามีจิตสำนึกและความเป็นคน ต้องไม่ใส่ร้ายหรือก้าวร้าวคนที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ซึ่งน่าอาย ประวัติ ศาสตร์ต้องจารึก
ด้านนายวิชา ชี้แจง ยืนยันว่าป.ป.ช.ไม่ปกปิดซุกซ่อนหลักฐาน ทุกอย่างปรากฏอยู่ในสำนวนป.ป.ช.ทั้งหมด การที่นายนิคมจะยื่นเพิ่มเติมหลักฐานสำคัญเป็นแผ่นซีดี 2 แผ่นนั้น องค์คณะป.ป.ช.ได้รวบรวมไว้ในสำนวนไต่สวนหมดแล้วก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหา โดยมีหลักฐานแผ่นซีดีทั้งหมดรวม 91 แผ่น ซึ่งวัตถุพยานที่นายนิคมอ้างถึงอยู่ในแผ่นซีดี 91 แผ่น ที่ป.ป.ช.มีอยู่แล้ว เพียงแต่นายนิคมตัดต่อให้มีเนื้อหาสั้นลง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งให้ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.56 ทั้งนี้ กระบวนการไต่สวนของป.ป.ช. เปิดให้ผู้ถูกกล่าวหาตรวจดูพยานหลักฐานทั้งหมด แต่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ใช้สิทธิตรวจพยานหลักฐาน และได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษรครบถ้วน ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวอ้างว่าแผ่นซีดีดังกล่าวเป็นหลักฐานใหม่นั้น คงต้องการสรุปเพื่อตัดต่อเนื้อหาให้สั้นลง แต่ไม่ใช่เรื่องนำมาอ้างว่าป.ป.ช.ไม่อนุญาตนำมาเป็นพยานหลักฐานในชั้นป.ป.ช. ยืนยันว่า ป.ป.ช.ให้โอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่แล้ว
ขณะที่นายนิคม ตอบโต้ว่า จำเป็นต้องย่อแผ่นซีดีให้สั้นลง เพราะเชื่อว่าเป็นหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อที่ประชุม สนช. อีกทั้งข้อความที่ป.ป.ช.สรุปในสำนวนผิดจากข้อเท็จจริง มีกล่าวหาว่าตนรับญัตติปิดประชุม ทั้งที่มีผู้ต้องการอภิปรายต่อ
มติไม่รับพิจารณาหลักฐานเพิ่ม
จากนั้น นายนิคมและตัวแทนป.ป.ช. ออกจากห้องประชุม ก่อนที่นายพรเพชร จะขอ มติที่ประชุมว่า จะอนุญาตให้นายนิคม เพิ่มเติมหลักฐานเป็นซีดี 2 แผ่นได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่ให้รับหลักฐานดังกล่าว ด้วยคะแนน 96 ต่อ 82 งดออกเสียง 14 เสียง โดยนายพรเพชร แจ้งให้สมาชิกสนช.ที่ต้องการมีประเด็นซักถามคู่กรณีให้ยื่นเสนอญัตติ ซักถามได้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.-7 ม.ค.58
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ โดยนายสมศักดิ์ ไม่ได้มาชี้แจงต่อที่ประชุมสนช. ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของทั้งสองฝ่ายวันที่ 8 ม.ค. 58 เวลา 10.00 น. โดยนายพรเพชรแจ้งว่า นายสมศักดิ์ไม่ประสงค์ขอเพิ่มพยานหลักฐาน แต่ขอส่งภาพรวมการแก้รัฐธรรมนูญปี 50 เรื่องที่มาส.ว.ให้พิจารณา รวมทั้งคำให้การต่อป.ป.ช.ด้วย หากสมาชิกคนใดมีข้อซักถามผู้ถูกกล่าวหาให้ยื่นญัตติ ซักถามได้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. -7 ม.ค.58
กรณีปู-นัดแถลงเปิดคดี 9 ม.ค.
นายพรเพชร ให้สัมภาษณ์ว่า กระบวนการพิจารณาถอดถอนนายนิคม เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่รับพิจารณาคำร้องขอเพิ่มเติมพยานเอกสารหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากดีวีดีทั้ง 2 แผ่น ตัดต่อมาจากพยานหลักฐานที่มีในสำนวนอยู่แล้ว 91 แผ่น จึงไม่จำเป็นต้องรับมาพิจารณาอีกครั้ง ที่ประชุมจึงนัดแถลงเปิดคดีของนายนิคม และนายสมศักดิ์ ในวันที่ 8 ม.ค. 2558
นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนวันที่ 28 พ.ย. ที่ประชุมสนช.มีวาระการพิจารณาเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วยการกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนและการพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ วิปสนช.จะเสนอต่อที่ประชุมให้เลื่อนการแถลงเปิดคดีเป็นวันที่ 9 ม.ค.2558 เพราะเอกสารพยานหลักฐานที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอยื่นเพิ่มเติมมีจำนวนมาก ต้องให้เวลาสมาชิกศึกษาก่อน
ต่อมาเวลา 12.50 น. ที่ประชุมสนช. ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้เสนอ เพื่อให้สอดคล้องต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปราบปรามทุจริต ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งกมธ.วิสามัญศึกษากฎหมายฉบับนี้ ตามข้อบังคับที่ 116 วรรคสอง จำนวน 30 คน ให้ใช้เวลาศึกษา 30 วัน
ผ่านร่างพ.ร.บ.บี้ภาษีคณะบุคคล
จากนั้น ที่ประชุมสนช. ซึ่งมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่...) พ.ศ. ... (มาตรการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) มีมติเห็นชอบ 178 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง โดยหลักการเพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมาย ซึ่งบุคคล เช่น นักแสดง หรือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่บริหารการเสียภาษีจากรายได้ตัวเองโดยตั้งเป็นคณะบุคคลขึ้นมาหลายคณะ เพื่อกระจายรายได้ให้เสียภาษีในฐานที่ต่ำลง ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. ของปีภาษีถัดจากปีที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์(ฉบับที่...) พ.ศ. ... (กำหนดความผิดเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอในโรงภาพยนตร์) ร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์(ฉบับที่...) พ.ศ. ... (คุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ) และร่างพ.ร.บ.ความลับทางการค้า (ฉบับที่...)พ.ศ. ... ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ตามที่รัฐมนตรีร้องขอให้เลื่อน ออกไป 2 สัปดาห์
ป.ป.ช.อ้างจำเป็น-เพิ่มอำนาจตัวเอง
ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงที่ประชุมสนช.มีมติตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.ว่า เลขาธิการ ป.ป.ช. รายงานให้ตนทราบหลังกลับจากรัฐสภาแล้ว ซึ่งป.ป.ช.ส่งตัวแทน 3 คนร่วมเป็นกมธ.วิสามัญฯ คือ นายวิชา นายสรรเสริญ และนายธรรมนูญ โดย นัดประชุมครั้งแรกในวัน 28 พ.ย.นี้ เพื่อตั้งประธานและวางกรอบการทำงาน
เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ที่การขอแก้ไขกฎหมายของป.ป.ช.ถูกวิจารณ์อย่างหนักโดยเฉพาะประเด็นการเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง นายปานเทพกล่าวว่า กฎหมายเหล่านี้ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นของโลก การขอแก้กฎหมายเพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น ดำเนินคดีในเรื่องของต่างประเทศได้ และเป็นมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น ไม่น่ามีปัญหา ยืนยันไม่ใช่เพิ่มอำนาจให้ป.ป.ช.อย่างที่วิจารณ์ แต่ทำเพื่อให้ ป.ป.ช.ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวด้วย
มาร์ค หนุนประชามติรธน.ใหม่
ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าให้ความเห็นแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนมาส่วนตัว ความเห็นทั้งหมดไม่ผูกพันกับพรรค เนื่องจากพรรคยังจัดประชุมไม่ได้ สิ่งที่ตนอยากเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯมี 3 เรื่องใหญ่คือ 1.ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญยั่งยืน โดยเริ่มจากการมีกระบวน การทำประชามติ 2.รัฐธรรมนูญไทยไม่ควรถอยหลัง ไม่ควรลดทอนสิทธิหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงประชาชนมีสิทธิเลือกผู้บริหารประเทศและกำหนดทิศทางประเทศ และ 3.รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ปัญหาหลักของระบบการเมืองคือ ทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจโดยมิชอบของฝ่ายการเมือง เป้าหมายคือต้องเพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุลและบทบาทของภาคประชาชน รวมทั้งต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนที่มาของส.ว.นั้น ไม่ควรถอยหลัง แต่วิธีการได้มาของส.ว. อย่าให้เหมือนกับฐานการเลือกส.ส. เพราะเป็นคนละวัตถุประสงค์และต้องหาวิธีไม่ให้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง
"ยืนยันว่า การทำประชามติเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าไม่ทำ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเกิดขึ้น ประเทศต้องเสียเวลากับกลุ่มที่ไม่พอใจรัฐธรรมนูญว่าจะรื้อหรือทำกันใหม่หรือไม่ สุดท้ายก็ไม่เดินไปสักที เราหวังว่าเมื่อเหตุการณ์มาถึงจุดนี้ เราอยากได้กติกาที่ดี ใช้ได้ ประชาชนยอมรับ พอพ้นระยะที่สาม ประเทศจะเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ต้องมาเถียงเรื่องการเมืองและรัฐธรรมนูญอีก ฉะนั้น การทำประชามติเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ผมมีข้อเสนอว่าการทำประชามติต้องมีทางเลือกให้กับประชาชนที่ชัดเจน ไม่ใช่เลือกว่ารับหรือไม่รับ แล้วจะได้อะไรเมื่อไร จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบเพราะไม่อยากให้เสียเวลาอีก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
แนะผ่อนปรนกฎอัยการศึก
เมื่อถามว่า ช่วงการแสดงความคิดเห็นควรมีการผ่อนปรนกฎอัยการศึกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กฎอัยการศึกเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น ผู้มีอำนาจต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการรักษาความสงบเรียบร้อยกับการเสียโอกาสรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายหรือเปิดเผยมากขึ้น การบอกว่ากฎอัยการศึกไม่มีผลกระทบใดเลยคงไม่จริง ผู้มีอำนาจต้องพิจารณาว่าคุ้มค่ากับการที่มีเครื่องมือนี้รักษาความสงบหรือไม่ เพราะหน่วยงานความมั่นคงมีข้อมูลอยู่แล้ว ตนเห็นด้วยที่จะให้ผ่อนปรนกฎอัยการศึกเพราะไม่เชื่อว่าเมื่อไม่มีกฎอัยการศึกแล้วจะมีปัญหาเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ถ้าเกิดปัญหาตรงจุดใดก็ประกาศเฉพาะพื้นที่ได้ และคิดว่าหากบรรยากาศยังเป็นข้อโต้แย้งไปเรื่อยๆ ก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานปฏิรูป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณียังมีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา ตราบเท่าที่การแสดงออกและการบริหารจัดการของฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ทำให้ลุกลามบานปลาย เรื่องนี้ก็จะผ่านไป แต่ถ้ามีผลกระทบ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดการ และหากรัฐทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ก็สุ่มเสี่ยงจะทำให้บานปลายโดยใช่เหตุ
ปชป.ได้ที-ไล่ส่ง'อลงกรณ์'
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงนายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิปสปช. ลาออกจากสมาชิกพรรคว่า นายอลงกรณ์อยากทำหน้าที่สปช.อย่างอิสระ ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรคอยู่แล้ว คือเหตุผลว่าทำไมพรรคจึงไม่ส่งคนเป็นสปช. เพราะมองอยู่แล้วว่าคนที่เป็นสปช.แล้วสังกัดพรรคจะถูกมองอีกแบบหนึ่ง ซึ่งวันนี้เข้าใจตรงกันแล้ว และต้องถามนายอลงกรณ์ว่ามีแนวทางอย่างไรหลัง จากพ้นสปช. เมื่อถามว่าการลาออกของนายอลงกรณ์ ไม่มีนัยทางการเมืองใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เห็นว่าเรารักกันเหมือนเดิม
นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายอลงกรณ์ลาออกไปก็ดีแล้ว เขาไม่เห็นด้วยกับพรรค มาตั้งนานแล้ว ที่จริงควรลาออกตั้งนานแล้ว ลาออกช้าไปหน่อย ควรลาออกตั้งแต่ที่บอกว่านายอภิสิทธิ์ ใจแคบไม่ร่วมปฏิรูปประเทศกับรัฐบาลแล้ว ไม่ใช่อยู่ๆ เพิ่งมาบอกว่าคำนึงถึงการทำหน้าที่สปช.ที่ต้องเป็นกลาง ไม่รู้เขาคิดอะไร มีใครไปกระซิบเตือนหรือไม่ให้แถลงข่าวลาออก และหากนายอลงกรณ์จะกลับมาเป็นสมาชิกพรรคอีกหลังทำหน้าที่สปช.เสร็จแล้วก็ต้องพิจารณาตามกระบวนการ นับหนึ่งใหม่ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกพรรคเหมือนคนอื่น ต้องดูว่าจะลงสมัครยังไงอยู่ลำดับไหน เพราะจะมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นไม่ได้
'เสธ.อู้'เผยข้อเสนอของอภิสิทธิ์
ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า นอก จากการทำประชามติ เพื่อไม่ให้กลุ่มเห็นต่างบางส่วนนำมาใช้อ้างเพื่อเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องเป็นประชาธิปไตยไม่น้อยกว่าฉบับที่ผ่านๆ มา ทั้งสิทธิเสรีภาพ การกระจายอำนาจสู่ประชาชน พร้อมให้มีช่องทางตรวจสอบทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง รวมทั้งรัฐธรรมนูญนี้ต้องแก้ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในอดีต อย่างกรณีนักการเมืองใช้อำนาจโดยไม่ชอบใช้อำนาจรัฐข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม แทรกแซงข้าราชการและสื่อมวลชน
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์มองว่ายังต้องเพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุล ให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพ โดยตำแหน่งประธานและรองประธานสภา ควรมาจากพรรคที่มีคะแนนสูงสุดและลดลงตามลำดับ เช่น หากพรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเป็นอันดับสองก็ให้ทำหน้าเป็นรองประธานสภา ขณะที่ประธานกมธ.สามัญและวิสามัญให้มาจากส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เพราะจะทำให้การตรวจสอบดีกว่าเดิม นอกจากนี้นายกฯและรัฐมนตรีต้องมาตอบกระทู้สดด้วยตนเอง รวมทั้งให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่ฐานที่มาต้องเลือกจากสายวิชาชีพ และให้เพิ่มอำนาจ ส.ว.เสนอและยับยั้งกฎหมายได้ อีกทั้งการผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสภา
องค์กรอิสระกำหนดเวลาพิจารณา
โฆษกกมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า ส่วนองค์กรอิสระ นายอภิสิทธิ์เสนอว่าที่ผ่านมาองค์กรอิสระมีปัญหาพิจารณาคดีล่าช้าและถูกแทรกแซงจากอิทธิพลภายนอก อาทิ กกต. และป.ป.ช. จึงควรให้องค์กรอิสระลดจำนวนเรื่องพิจารณาลงและให้กำหนดเวลาพิจารณา รวมทั้งตั้งองค์คณะเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อป้องกันการแทรกแซงและไม่ให้รู้ว่าใครเป็นผู้พิจารณาคดี ส่วนนโยบายประชานิยมนั้น ไม่ควรเขียนจนพรรคดำเนินนโยบายหาเสียงไม่ได้ แต่ควรกำหนดให้รูปแบบเนื้อหาที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ และพรรคต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลัง
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังเสนอข้อพึงระวังเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ หากให้ครม.หรือผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง อาจไม่สามารถยื่นถอดถอนในสภาได้ เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นจะอ้างว่ามาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ส่วนการปรองดองต้องไม่ใช่การนิรโทษกรรมในทุกกรณี แม้แต่การทุจริตก็ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม หากจะนิรโทษกรรมควรระมัดระวังในการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องกำหนดช่วงเวลาให้ชัดเจนว่าจะเริ่มต้นตั้งและสิ้นสุดช่วงใด หรือเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ทำผิดกฎหมายภายใต้กฎอัยการศึกอยู่
'เอนก'แจงหลักเกณฑ์นิรโทษฯ
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรม นูญ คณะที่ 10 กล่าวถึงข้อเสนอให้นิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งสองฝ่ายที่เกี่ยวกับการชุมนุมจนนำไปสู่ความวุ่นวายทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ โดยจะนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2548 จนถึงช่วงก่อนเหตุการณ์ยึดอำนาจปี 2557 ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มี 4 ภาค โดยภาคสุดท้ายจะเป็นหมวดว่าด้วยการปฏิรูปและความปรองดอง ดังนั้น ต้องมีแนวคิดปรองดอง ซึ่งแนวทางนิรโทษกรรมนั้น คำนึงถึงหลักกฎหมาย มีการแจกแจง แยกแยะระยะเวลา รวมทั้งประเภทความผิดก็ระบุชัดเจนว่าหากมีเหตุทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต และคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะไม่นิรโทษกรรมให้เด็ดขาด ยืนยันว่าไม่ใช่การนิรโทษแบบเหมาเข่งหรือสุดซอยแบบที่ผ่านมา เนื่องจากนิรโทษลักษณะนั้นนำมาสู่การชุมนุม การประท้วง จนท้ายที่สุดส่งผลให้เกิดการยึดอำนาจ
บนบาน- นายไพรัช กันใจสอน พ่อของนายวัชระ หรือน้องมด อายุ 17 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิต เดินทางไปกราบไหว้ขอพรพระยาพิชัยดาบหัก ให้ดลใจเสี่ยคนฆ่าเข้ามอบตัวสู้คดี ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย |
"เชื่อว่าทุกฝ่ายที่มีคดีอยู่ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงก่อนยึดอำนาจปี 2557 พวกเขาคงอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ ไม่อยากให้ตัวเองจมปลักอยู่กับคดีความ เราต้องก้าวเดินต่อไป ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาแล้ว ต้องมาต่อสู้กันในยกใหม่ควรมีทางออกให้บ้านเมือง สิ่งสำคัญนับจากนี้อยู่ที่กมธ.ยกร่างฯว่าจะพิจารณาอย่างไร ขณะนี้ไม่มีอะไรที่ตายตัว ขอย้ำว่าอนุกมธ.ไม่ได้เป็นพวกที่จะทำอะไรผิวเผินหรือง่ายๆ เราเก็บคำเตือนของทุกฝ่ายมาพิจารณาและยินดีน้อมใจรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายเสมอ" นายเอนกกล่าว
'ประวิตร'วอนสื่ออย่าแคะให้มาก
ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมชี้แจงและมอบนโยบายการดำเนินการงานยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมแห่งชาติ ให้แก่หัวหน้าหน่วยงานส่วนกลางและจังหวัดทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรที่เกี่ยวข้องรวม 125 หน่วยงาน
พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า เป็นการประชุมที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) วางแผนมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนหรือเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ถือเป็นงานปกติ ซึ่งผ่านการเห็นชอบของ คสช.ตามกรอบที่วางไว้ตั้งแต่เดือนส.ค. ฉะนั้น อย่าคิดมาก ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้สงบดีอยู่แล้ว คสช.กำลังคืนความสุขให้ประชาชน อยากขอร้องสื่อมวลชนว่าอย่าไปแคะอะไรให้มากนัก เดี๋ยวจะลำบากกันหมด รวมถึงคนทั้งประเทศก็จะลำบากไปด้วย สื่อต้องช่วยรัฐบาลและคสช. ปฏิบัติงานให้ประเทศชาติสงบสุขตามโรดแม็ป จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจะดำเนินการอย่างไรก็ทำไป
ขอ 1 ปี-ทำให้เป็นประชาธิปไตย
ส่วนที่มีกลุ่มออกมาต่อต้านการทำงานของรัฐบาลและคสช.นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า มีเพียงเล็กน้อย มั่นใจว่าควบคุมสถานการณ์ได้ และเหตุการณ์จะไม่บานปลาย เพราะประชาชนเข้าใจดีว่าคสช.และรัฐบาลดำเนินการอะไรบ้าง จะมีแค่สื่อเท่านั้นที่ยังไม่เข้าใจ ส่วนที่กลุ่ม นักวิชาการเสนอให้ผ่อนปรนกฎอัยการศึก นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ในประเทศมี นักวิชาการกี่คน แต่ละคนก็คิดแตกต่างกัน ซึ่งคิดได้แต่อย่าดำเนินการให้เกิดความขัดแย้ง เชื่อมั่นว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจดี
"ยืนยันว่า เราจะทำทุกอย่างให้เป็นประชา ธิปไตยมากที่สุด คสช.ไม่ได้กดขี่ข่มเหงใคร แต่ขอให้หยุดดำเนินการทางการเมืองไว้ก่อน เพื่อให้รัฐบาลและคสช.ได้แก้ปัญหาพร้อมวางรากฐานให้กับประเทศ เวลา 1 ปีคงไม่นาน คงรอได้" พล.อ.ประวิตรกล่าวและว่า ส่วนกรณีที่มีคนโปรยใบปลิวโจมตี คสช.และรัฐบาลนั้น เรากำลังหาตัวอยู่ มีที่จับมาได้ก็สารภาพว่าทำกัน 2 คนและไม่มีคนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเรื่องความคิดเห็นสามารถคิดกันได้ แต่อย่าให้เกิดความแตกแยก ขณะนี้สังคมต้องการความรักสามัคคี
เมื่อถามว่า ห่วงว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า จะถามทำไม ถามให้เกิดเหตุการณ์ให้ได้ใช่หรือไม่ นายกฯและรัฐมนตรีทุกคนพูดอยู่เสมอว่าเราเดินตามโรดแม็ป หากรัฐธรรมนูญเรียบร้อย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในปี 2559 เราคิดไว้อย่างนั้น ขณะนี้ทุกอย่างกำลังเดินหน้าอยู่
รายการบิ๊กตู่เปลี่ยนมานั่งคุยแทน
รายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้บันทึกเทปรายการ"คืนความสุขให้คนในชาติ" ที่ออกอากาศในค่ำวันที่ 28 พ.ย.ไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ก่อนเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเวียดนาม อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 26-28 พ.ย.แล้ว โดยมีความยาว 30 นาที
รายงานข่าวแจ้งว่า การบันทึกเทปครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรับรูปแบบเล็กน้อย โดยพูดสดไม่มีสคริปต์เหมือนเช่นทุกครั้ง เนื่องจากเวลากระชั้นแล้ว ยังปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมพล.อ.ประยุทธ์ จะยืนพูดที่โพเดียม มานั่งพูดบนเก้าอี้ เพื่อให้บรรยากาศโดยรวมผ่อนคลายและสบายๆ มากขึ้น ป้องกันประชาชนเบื่อหน่าย หลังจากมีเสียงสะท้อนจากประชาชนว่า นายกฯไม่มีการปรับเปลี่ยนรายการเลย นอกจากนี้พื้นหลังของรายการ (ฉาก) จะมีการปรับเปลี่ยน เน้นให้ใช้ภาพสดจากกิจกรรมที่นายกฯ ดำเนินการมาด้วย
ขัง 7 วันมือใบปลิวอนุสาวรีย์ฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีเจ้าหน้า ที่จับกุมตัวนายสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา และ นายวชิระ ทองสุข ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการโปรยใบปลิวต้านรัฐประหารและโจมตี คสช.ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิป ไตยนั้น หลังนำตัวไปลงบันทึกประจำวันและไปสอบสวนตามกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่นำตัวไปควบคุมไว้ที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์
พ.อ.คชาชาต บุญดี ผบ.ป.1 รอ. กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทั้ง 2 คน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก จากการพูดคุยสอบถามผู้ต้องหาทั้ง 2 ให้การรับสารภาพว่าเป็นคนดำเนินการเอง ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง โดยเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง ส่วนเสื้อผ้าและอุปกรณ์ของกลุ่ม กปปส. จัดซื้อมาเพื่อเข้าไปสืบข่าวจากกลุ่ม กปปส.ในการชุมนุมที่ผ่านมา สำหรับการตั้งข้อกล่าวหานั้น นายทหารพระธรรมนูญจะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาแล้วนำตัวไปฝากขังต่อศาลทหารเมื่อครบกำหนดควบคุม 7 วัน ตามกฎอัยการศึกหรือวันที่ 2 ธ.ค.
'ปู่หมาย'เชื่อเลื่อนเลือกตั้ง
วันเดียวกัน นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวถึงให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ ถึงการจัดการเลือกตั้งที่อาจเลื่อนออกไปมากกว่า 1 ปีว่า เป็นการให้ความเห็นส่วนตัว เนื่องจากได้วิเคราะห์การทำงานของสนช. สปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีภารกิจค่อนข้างมาก จึงมองว่าภายใน 1 ปี การทำงานไม่น่าจะจบได้และอาจต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง คาดว่าการเลือกตั้งอาจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2559 ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเป็นความเห็นส่วนตัวที่เห็นจากแผนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ
"หากเลื่อนเลือกตั้งจริง เชื่อว่านักลงทุนจะเข้าใจ เพราะถ้ามีคำอธิบายอย่างชัดเจนถึงความล่าช้า ก็คงไม่มีปัญหาใดๆ อีกทั้งการตัดสินใจก็เป็นอำนาจของนายกฯ ซึ่งต่างชาติเข้าใจสถานการณ์ของเราเป็นอย่างดี " นายสมหมายกล่าว
ใบปลิวว่อนมรภ.เชียงใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงใหม่ว่า ช่วงเช้าที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีใบปลิวอ้างชื่อ "สมัชชาสิทธิเสรีภาพนักศึกษาเพื่อประชาธิป ไตย ราชภัฏเชียงใหม่" ข้อความโจมตีเผด็จการติดอยู่ในหลายจุดของมหาวิทยาลัย เรียกร้องให้นักศึกษาแสดงจุดยืนปกป้องประชาธิปไตย ทั้งที่ บริเวณโรงอาหาร ป้ายประชาสัมพันธ์หลายจุด โต๊ะม้านั่งและอาคารเรียนหลายแห่ง รวมถึงสำนักงานอธิการบดี เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยต้องรีบปลดออก
สำหรับ ข้อความในใบปลิว อาทิ'อาจารย์ฉันหาย ไร้ซึ่งประชาธิปไตย''เผด็จการ หยุดคุกคามนักศึกษา'เป็นนักศึกษาปัญญาชน ต้องมีอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตย'จุดยืนมหาลัยอยู่ที่...ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ'นักศึกษายอมรับอำนาจเผด็จการแล้วหรือ'
5 องค์กรใต้จี้ยกเลิกอัยการศึก
เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา มีการจัดเสวนา"การประเมินสถานการณ์ทางการเมือง" มี รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ นายจรูญ หยูทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ตัวแทนมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) ตัวแทนสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.) ตัวแทนหน่วยวิจัยประชาธิปไตยชุมชนเพื่อการพัฒนา และมหาวิทยาลัยทักษิณ มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมประมาณ 200 คน
รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวว่าสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน ต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปประเทศ ต้องรับฟังเสียงจากทุกกลุ่ม ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน การที่มีการจับผิดคนที่คิดต่าง ไม่เป็นผลดีในการสร้างประชาธิปไตย สร้างความสมานฉันท์คนในชาติ มีแต่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นมากกว่า ขอให้รัฐและกลไกรัฐปรับทัศนคดิใหม่ ไม่ควรไปควบคุม กักขังคนที่เห็นต่าง ให้รับฟังเสียงทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพราะขณะนี้เริ่มมีการส่งสัญญาณว่าสังคมไทยมีปัญหาทั้งเรื่องการเมืองและปากท้อง โดยเฉพาะการลุกขึ้นมาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าวว่า การที่นักศึกษาคนหนุ่มสาวเริ่มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร เพราะอยู่ภาวะอึดอัด รัฐและกลไกรัฐควรเปิดพื้นที่ให้กับนักศึกษา รับฟังความคิดเห็นในการปฏิรูปประเทศ และความคาดหวังของนักศึกษาด้วยความจริงใจ เป็นการสร้างกัลยาณมิตรและเสียงของนักศึกษาที่ออกไปต้องรับฟังด้วยความเคารพด้วย อย่าให้รัฐหรือกลไกรัฐยัดเยียดฝ่ายเดียวจะไม่เกิดประโยชน์ และเวทีที่จะจัดควรให้ทางสถาบันนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการจะได้มากกว่าที่รัฐเข้ามาจัดการ
นายจรูญ หยูทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายฯกล่าวว่าการเสวนาวันนี้ตัวแทนองค์กรทั้ง 5 องค์ภาคใต้ต้องการให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อจะเดินไปข้างหน้ากับการปฏิรูประเทศ จะได้ข้อมูลที่เป็นจริงจากขบวนการการมีส่วนรวม วงเสวนาหรือประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่ม ในการปฏิรูปประเทศ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นนักศึกษาควรจะคิดและดำเนินการก่อนที่จะมีคนลุกขึ้นมาต่อต้าน และสิ่งที่รัฐบาลและสปช.ต้องเคลียร์ 2 เรื่องให้จบคือ รัฐไม่มีธงในการปฏิรูปอยู่ก่อน และประการที่สอง ความจริงใจที่รับฟังจากฝ่ายที่เห็นต่าง เมื่อทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อถือการปฏิรูปจะสำเร็จ
รายงานข่าวว่าตัวแทน 5 องค์กรได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน ท่าทีและข้อเรียกร้องทางการเมือง 2 ข้อคือ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และสร้างหลักประกันในการแสดงออกของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศและประชาธิปไตยใหม่
ปลัดศธ.จี้น.ศ.อย่ายึดติดต้านปว.
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากรณีที่รัฐบาลจะจัดเวทีรับฟังความเห็นในการปฏิรูปการเมืองจากนักศึกษา ว่า ขอให้นักศึกษาทุกคนเข้าร่วมในเวทีรับฟังความเห็นที่รัฐบาลจัดขึ้น ถือว่านักศึกษาทุกคนมีสิทธิ์ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะให้ความเป็นอิสระของแต่ละมหาวิทยาลัยในการดำเนินการ หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ จะส่งตัวแทนนักศึกษาไปเข้าร่วมก็ได้
ปลัดศธ. กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าศธ.ไม่ได้บังคับ และฝากไปยังนักศึกษาที่เคลื่อนไหว และแสดงความเห็นทางการเมืองขณะนี้ว่า ขอให้นึกถึงความเหมาะสมและกาลเทศะในการแสดงออก เช่น กรณีการชู 3 นิ้ว ต่อหน้านายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ควรกระทำ
ทั้งนี้ การที่นักศึกษาหัวรุนแรง เรียกร้องและอ้างหลักการประชาธิปไตย และสามารถแสดงออกทางความคิดได้ แต่ขอให้นักศึกษาทุกคนคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งสถานการณ์การเมืองจากการรัฐประหารในขณะนี้ อาจไม่ใช่ช่วงที่ดีที่สุดของประเทศ แต่ขอให้อย่ายึดติดกับกระบวนการที่มา และมองถึงจุดประสงค์และปลายทางที่ดีของสังคม ว่าจะเป็นอย่างไรดีกว่า ในส่วนผู้กำลังคิดจะแสดงออกทางการเมือง ก็ขอให้คำนึงว่า ทำเพื่อตนเอง หรือทำเพื่อส่วนรวมกันแน่ เชื่อว่าประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่ใช่การเอาความคิดของนักศึกษาไปแทนความคิดของคนอื่น แต่ให้นำความคิดของเราให้เข้ากับความคิดของคนอื่น
'บิ๊กตู่'ชื่นมื่นลาว-บินพบผู้นำญวน
วันที่ 27 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการเยือนสาธารณประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นวันที่ 2 ว่า เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ พบปะนักธุรกิจไทยในลาว ให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะส่งเสริมโอกาสและอำนวยความสะดวก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการเยือนสปป.ลาวว่า ทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องที่จะสานความร่วมมือด้านต่างๆ โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างกัน เรื่องแนวชายแดน สร้างถนนและเส้นทางต่างๆ โดยไทยจะสนับสนุนแหล่งทุนและเงินกู้ในการสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) และพร้อมร่วมมือและศึกษาการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 (อุบล-แขวงสาละวัน) นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเปิดด่านถาวร 2 ประเทศด้วย ทั้งนี้ได้หารือกับลาวถึงการเชื่อมโยงทางรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หนองคาย และลาวจะสร้างต่อ โดยจีนสนับสนุนงบการก่อสร้าง คาดว่าดำเนินการได้ในปีหน้า
นายกฯ กล่าวด้วยว่า การเข้าพบพล.ท.จูมมาลี ไซยะสอน ประธานสปป.ลาวนั้น ได้สอบถามพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นลำดับแรกและฝากถวายพระพรด้วย นอกจากนี้ประธานสปป.ลาวยังพูดถึงความขัดแย้งว่ามีทุกพื้นที่ทั่วโลก แต่ไม่ควรติดกับดักความขัดแย้งในอดีต มิเช่นนั้นจะไม่สามารถเดินหน้าประเทศได้ จึงต้องช่วยกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการเยือน สปป.ลาว พล.อ.ประยุทธ์พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และคณะ เดินทางต่อไปเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. โดยถึงท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย กรุงฮานอย ในเวลา 14.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตรงกับเวลาในไทย จากนั้น 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์พบนายเหวียน เติ๊น สุง นายกฯเวียดนาม หารือแนวทางผลักดันความร่วมมือด้านต่างๆ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
โอกาสนี้ นายกฯทั้งสองเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามแผนปฏิบัติการและบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการว่าด้วยการดำเนินความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-เวียดนาม แผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-เวียดนาม และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรา-นครเกิ่นเทอ จากนั้นนายกฯเข้าเยี่ยมคารวะนายเจือง เติ๊น ซาง ประธานาธิบดีเวียดนาม เข้าพบนายเหวียน ซิง หุ่ง ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม ก่อนที่ช่วงค่ำนายกฯเวียดนามเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ
เวลา 16.05 น. ที่สำนักนายกรัฐมนตรีเวียดนาม พล.อ.ประยุทธ์หารือกับนายเหวียน เติ๊น สุง นายกฯเวียดนาม โดยทั้งสองตั้งเป้าให้บรรลุเป้าหมายการค้ามูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2020 พร้อมเดินหน้าหาช่องทางขยายการค้าระหว่างกัน ผลักดันการส่งออกและนำเข้าสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะข้าวและยางพารา
ขณะที่นายกฯเวียดนาม ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุม GMS ที่จัดขึ้นในไทย และร่วมเป็นประธานประชุมครม.ร่วมไทย-เวียดนาม อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 3 ในต้นปี 2558
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการหารือ พล.อ.ประยุทธ์และนายกฯเวียดนาม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามแผนปฏิบัติการและบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ คือ 1.แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-เวียดนาม 2.แผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-เวียดนาม 3.บันทึกความเข้าใจว่า ด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจ.ฉะเชิงเทรากับนครเกิ่นเทอ
เวลา 17.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่ทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนาม พล.อ.ประยุทธ์ เข้าเยี่ยมคารวะ นายเจือง ติ๊ก ซาง ประธานาธิบดีเวียดนาม เวลา 18.00 น. นายกฯ เข้าเยี่ยมคารวะ นายเหวียน ซิง หุ่ง ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม ที่สำนักงานใหญ่สภาแห่งชาติเวียดนาม
ไฟเขียวแก้กฎหมายหวยบนดิน
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2557 มีการนำเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 พิจารณาแล้ว โดยได้ให้ฝ่ายบริหารไปปรับแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง ก่อนที่เสนอให้คณะกรรมการเห็นชอบในการประชุมเดือนธ.ค.นี้ เพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต้นปีหน้าทันที โดยเบื้องต้นทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การแก้ไขกฎหมายจะเพิ่มให้สำนักงานสลากฯ ทำผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ ทั้งหวยออนไลน์ หวยบนดิน หรือหวยขูด ไม่ใช่ทำได้แต่สลากฯ เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ในตลาดมีสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขปัญหาสลากฯราคาแพง
นายสมชัย กล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไขพ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ดังกล่าว จะแก้ไขเงินสัดส่วนเงินนำส่งคลัง เงินรางวัล ค่าบริหารจัดการให้มีความเหมาะสมขึ้น เพื่อเพิ่มส่วนลดให้กับผู้ค้ารายย่อย จากการหารือประเมินว่า ส่วนลดใบละ 10 บาท จากเดิมที่ผู้ค้าสลากฯ รายย่อยจะได้รับส่วนลด 7% ในราคา 74.4 บาท หรือได้รับส่วนลดใบละ 5.60 บาท ซึ่งทำให้ผู้ค้ารายย่อยอยู่ได้ และมีกำไรจากส่วนต่างที่ได้รับ และสามารถขายสลากฯ ที่ราคาเท่าเดิมใบละ 80 บาท ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาราคาสลากฯ ขายแพงเกินราคา อาจจะต้องไม่ปรับราคาสลากฯ เพิ่มขึ้น แต่สำนักงานสลากฯ สามารถเพิ่มส่วนลดให้กับรายย่อยได้มากขึ้น และสามารถมีระบบส่งสลากให้กับผู้ค้ารายย่อย โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
ทั้งนี้ รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า สำนักงานสลากฯ จะเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากฯ ให้กระทรวงการคลังพิจารณา ช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.58 ก่อนเสนอให้ครม.เห็นชอบ ซึ่งจะเสนอการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และแก้ไขรายได้ที่จะส่งเข้ารัฐ ซึ่งตามกฎหมายเดิมได้กำหนดไว้ว่า รายได้จากการขายสลากฯ จะต้องจัดสรรเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างทั่วถึง ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายใหม่ อาจต้องปรับลดสัดส่วนรายได้ที่จะนำส่งเข้ารัฐ เพื่อนำไปจัดสรรดูแลสังคมมากขึ้น เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณที่จัดสรรในแต่ละปี และเพิ่มส่วนต่างให้กับผู้ค้ารายย่อย
จี้คพ.เรียกค่าเสียหาย'คลองด่าน'
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงกรณี สำนักความผิดทางแพ่ง กรมบัญชีกลาง ชี้ให้อดีตนักการเมืองและข้าราชการ 15 ราย ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ชดใช้ค่าเสียหายให้ คพ. รวมเป็นเงิน 21,000 ล้านบาท ว่ามี 11 รายที่ไปฟ้องศาลปกครอง ขอให้ยกเลิกคำสั่งให้จ่ายเงิน โดยศาลปกครองได้ประทับรับฟ้อง 8 ราย อีก 3 ราย ไม่รับฟ้อง
อธิบดีคพ.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตอธิบดีคพ. จะฟ้องตนมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรื่องที่ระบุให้จ่ายค่าเสียหายนั้นก็สามารถทำได้ ขอให้ไปสู้กันในศาล ตนทำไปตามหน้าที่ในฐานะอธิบดี หากไม่ทำก็ต้องโดนมาตรา 157 เหมือนกัน เรื่องนี้ต้องคิดถึงคนที่จะมาทำงานต่อจากตนให้มากๆด้วย เพราะอีก 9 เดือน ตนก็จะเกษียณแล้ว อธิบดีคนต่อไปก็ต้องทำต่อ เหมือนที่ตนทำต่อจากอธิบดีคนก่อน
เมื่อถามว่าในจำนวน 15 คน ที่คพ.อยู่ระหว่างสืบทรัพย์จะเอาค่าเสียหายนั้น คาดหวังว่าจะได้รับจากใครบ้าง เพราะดูเหมือนแต่ละคนบอกว่าตัวเองทำถูกต้อง บางคนอ้างว่าไม่มีเงินจ่าย นายวิเชียรกล่าวว่า คาดหวังจากทุกคน แต่ก็เข้าใจในกระบวนการว่า ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็มีแนวทางการต่อสู้ของตัวเองเช่นเดียวกัน