- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 29 May 2014 17:07
- Hits: 5084
'ประยุทธ์'วางแนวบริหารราชการ 3 ระยะ มุ่งสู่การเลือกตั้ง
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงการประชุมร่วมกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ต่างๆ ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำให้ส่วนราชการต่างๆ เร่งทำงานให้เป็นรูปธรรม มากขึ้น พร้อมชี้แจงถึงแนวทางบริหารราชการ 3 ระยะ เพื่อนำไปสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือ จัดให้มีการเลือกตั้ง
"วันนี้ท่านหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เน้นย้ำกับส่วนราชการต่างๆ ไปดูว่า งานที่ทำอยู่ มีอะไรที่ต้องเร่งรัดต้องรีบทำ และยังชี้แจงถึงแนวทางบริหารราชการ โดยมีเป้าหมาย สุดท้าย นำไปสู่การเลือกตั้งภายใต้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้ ยังเป็นเพียงขั้นที่หนึ่งที่จะใช้ อำนาจบริหารผ่านระบบราชการปกติ เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว"พ.อ.หญิง กล่าว
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ ระบุว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติในการบริหารราชการมี 3 ระดับ คือ การใช้อำนาจบริหารราชการต่างๆ ผ่านระบบราชการปกติ รวมถึงใช้กฎหมายพิเศษมาขับเคลื่อน การทำงานด้วย การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อเข้าสู่การมีธรรมนูญการปกครอง การมีสภาปฏิรูป หรือการมีสภานิติบัญญัติ และ ระยะสุดท้าย การนำไปสู่ การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือจัดให้มี การเลือกตั้ง แต่ยังไม่ได้กำหนดเวลาในแต่ละระดับ แต่จะทำด้วยความรวดเร็ว
นอกจากนี้ หัวหน้าคสช.ยังเน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ ต้องมีความชัดเจน โดยมีหลักการว่า ต้องทั่วถึง เท่าเทียม และ เร่งด่วน เป็นการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน จะต้อง ไม่เสียวินัยการเงินการคลัง ไม่สร้างหนี้สาธารณะเกินกว่าที่กำหนดไว้ และต้องรับฟังความคิดเห็นของ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง
สำหรับแนวทางการบริหารด้านยุติธรรม ต้องคำนึงถึงความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และต้อง สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้ได้
'ประยุทธ์'นั่งหัวโต๊ะประชุม คสช.ครั้งแรก ที่กองทัพบก ขณะที่'ดาว์พงษ์'เผยยังไม่ได้ประชุมทีมที่ปรึกษา คสช.วันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ ที่กองบัญชาการกองทัพ บก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) ร่วมกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพบก เพื่อสรุปและติดตามสถานการณ์ประจำวัน พร้อมทั้งเป็นประธานการประชุม คสช.เป็นครั้งแรกภายใน บก.ทบ. โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและคณะที่ปรึกษาบางรายที่ไม่ติดภารกิจเข้าร่วมการประชุมด้วย
สำหรับ การประชุมเพื่อจัดส่วนงาน กำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบการบริหารงาน คสช.ของคณะที่ปรึกษา คสช. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานนั้น ได้มีการยกเลิกการประชุมอย่างกะทันหัน ในส่วนภารกิจของ รอง คสช.ในวันนี้นั้น ทางด้าน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะรอง คสช. จากเดิมที่มีกำหนดการไปมอบนโยบายให้กับข้าราชการที่กระทรวงการต่างประเทศนั้น ได้ยกเลิกภารกิจการประชุมดังกล่าว เนื่องจากติดภารกิจที่กองทัพไทย ขณะที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรอง คสช. ได้เดินทางไปประชุมการปฏิรูประบบการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการ ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ได้เดินทางมอบนโยบายให้ข้าราชการที่กระทรวงพาณิชย์ ส่วนพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อประชุมคณะกิจการพิเศษ ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร ได้ติดภารกิจเดินทางไปจ.สระแก้ว เพื่อมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนในพื้นที่ตามโครงการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด
ทั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ในฐานะคณะที่ปรึกษา คสช. และเลขานุการคณะที่ปรึกษาคสช. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า วันนี้ไม่มีการประชุมคณะที่ปรึกษา คสช. แต่อาจมีประชุมกลุ่มย่อย ซึ่งตนไม่ทราบรายละเอียด ทั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม พร้อมกับหัวเราะเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความรู้สึกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะทีมที่ปรึกษาของ คสช.
คสช.ออกประกาศคุ้มครองชาวนา เอาผิดแก๊งค์ทวงหนี้
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ออกประกาศฉบับที่ 46/2557 เรื่องความผิดเกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้ ด้วยปรากฎว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีพฤติกรรมในการติดตามทวงถามหนี้จากชาวนาอย่างไม่เป็นธรรมและเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ และโทษที่จะได้รับสำหรับความผิดนั้น เพื่อเป็นการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง คสช.จึงออกประกาศดังนี้
"ผู้ใดข่มขืนใจชาวนาให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้รับประโยชนย์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของชาวนาหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" คสช.ระบุ
วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8583 ข่าวสดรายวัน
ฝากขังจาตุรนต์ ปล่อยตัว ตู่-เต้น-แกนแดง รับเงื่อนไขงดเคลื่อน คสช.ตั้งทีมล่าจารุพงศ์ แอมเนสตี้จี้เลิกกักตัว ม็อบต้านปฏิวัติฮืออีก
ส่งขัง- ทหารควบคุมตัวนายจาตุรนต์ ฉายแสง ไปขึ้นศาลทหาร ฐานฝ่าฝืนคำสั่งไม่ยอมไปรายงานตัวกับ คสช. และยุยงปลุกปั่น ก่อนส่งไปฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.
คสช.ปล่อยตัว "ตู่-เต้น-แกนนำ นปช." หลังคุมตัวครบ 7 วัน แต่มีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมตั้งคณะทำงานล่าตัว "จารุพงศ์" สื่อนอกเกาะติดข่าว "จาตุรนต์" ถูกจับกุม ส่งตัวขึ้นศาลทหารทันที ก่อนนำตัวไปขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แอมเนสตี้เชิญชวนสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายจี้"ประยุทธ์" เลิกคุมตัวโดยปราศจากหมายจับ สมาคมนักข่าวพม่าเตือนระวังซ้ำรอยรัฐบาลทหารพม่า กลุ่มต้านรัฐประหารชุมนุมต่อเนื่องที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ชุลมุนหลังทหารจับผู้ชุมนุม "ประยุทธ์"ถกทีมกุนซือวันนี้
เลื่อนนำตัวจาตุรนต์ขึ้นศาลทหาร
วันที่ 28 พ.ค. ที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้ามีสื่อมวลชนจำนวนมากปักหลักรอทำข่าวการนำตัวนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ มาขึ้นศาลทหาร หลังถูกควบคุมตัวจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อาคารมณียา เมื่อเย็นวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่รายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เวลา 09.50 น. พ.อ.กิตติยุทธ กิตติยุทธโยธิน ผู้อำนวยการกองกลาง กรมพระธรรมนูญ เผยว่า ได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ควบคุมตัวนายจาตุรนต์ ว่า วันนี้ไม่สามารถนำตัวมาขึ้นศาลได้แต่ไม่ได้ให้เหตุผลรายละเอียด สาเหตุคงเกิดจากเจ้าหน้าที่ทหารเพิ่งควบคุมตัวได้เมื่อเย็นวันที่ 27 พ.ค. และไม่ได้ระบุว่าจะนำตัวมาส่งฟ้องต่อศาลทหารในวันใด เพราะทหารควบคุมตัวได้ 7 วันนับตั้งแต่วันที่จับกุมตามประกาศกฎอัยการศึก
ขณะที่มีรายงานว่า ที่ไม่สามารถส่งตัวนายจาตุรนต์ขึ้นศาลทหารได้ในวันนี้ เนื่องจากพนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีไม่ทัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางจิราภรณ์ ฉายแสง ภรรยาพร้อมบุตรชายและญาติเดินทางมารอพบนายจตุรนต์ หลังถูกควบคุมตัวไปกว่า 12 ชั่วโมง ทางเจ้าหน้าที่ได้เชิญให้เข้าไปนั่งด้านในศาล แต่หลังรับทราบว่านายจตุรนต์ไม่มาศาลจึงเดินทางกลับ
เปิดให้มีทนายแก้ต่างได้
พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช หัวหน้าสำนักตุลาการศาลทหาร กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีนายจาตุรนต์ว่า เหมือนคดีอาญาทั่วไป แต่ขณะนี้เป็นการพิจารณาของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ จำเลยมีทนายความแก้ต่างได้ตามธรรมนูญศาล ถ้ารับสารภาพก็ไม่ต้องรอสืบพยานตัดสินคดีได้เลย แต่ถ้าปฏิเสธขอต่อสู้คดีก็ต้องใช้เวลาพิจารณาเพื่อให้ฝ่ายโจทก์ยื่นพยานนำสืบตาม ป.วิอาญา ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าใช้เวลากี่วันถึงจะพิจารณาเสร็จสิ้น แต่จะให้รวดเร็วที่สุด
พล.ร.ท.กฤษฎา กล่าวว่า ระหว่างพิจารณาคดี สามารถฝากขังได้ครั้งละ 12 วัน จนครบ 84 วัน คาดจะใช้เรือนจำของกรมราชทัณฑ์ควบคุมตัว ยอมรับว่าหลังจากนี้คงมีคดีความจำนวนมากเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งศาลต้องทำงานหนักขึ้น แม้จะมีตุลาการศาลทหารจำกัดแต่ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุดและเร็วที่สุด ทั้งนี้ ในคดีความที่ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่ง คสช. ต้องระวางโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรณีนาย จาตุรนต์ ถือเป็นพลเรือนคนแรกที่ถูกนำขึ้นศาลทหาร
ยื่นคสช.ปล่อยตัวคนถูกกัก
เวลา 10.00 น. ด้านหน้าประตูทางเข้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน นพ.สลักธรรม โตจิราการ ลูกชายของนพ.เหวง และนางธิดา พร้อมนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนปช. ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคสช. ขอทราบสถานภาพความเป็นอยู่และขอเข้าเยี่ยมผู้ถูกกันตัวโดยคำสั่งคสช. โดยมีพ.ต.บุญลือ สะอาดดี นายทหารเวรเป็นตัวแทนรับหนังสือ
นพ.สลักธรรม กล่าวว่า มายื่นหนังสือเนื่องจากพ่อแม่ตนถูกควบคุมตัวโดยคำสั่งคสช.เมื่อวันที่ 22 พ.ค. จนถึงวันนี้ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนและมีสภาพอย่างไร เป็นห่วงและนึกถึงญาติของผู้ที่ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ ด้วย นอกจากแกนนำนปช. ยังมีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตส.ส.เขตดอนเมือง พรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการ และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของทหาร ที่ไม่ทราบว่ามีสภาพเป็นอย่างใด ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหนและนานแค่ไหน ตนจึงร่วมกับญาติของแกนนำนปช. มีข้อเรียกร้อง 1.ขอให้คสช.แจ้งต่อญาติว่าคนเหล่านั้นถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน รวมทั้งอนุญาตให้ญาติและทนายเข้าเยี่ยมและมอบสิ่งของที่จำเป็น เช่น ยารักษาโรคประจำตัว เครื่องนุ่งห่ม และของใช้ส่วนตัวให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัว และ 2.ขอให้คสช.ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนโดยคำสั่งของคสช.
ด้านนายวิญญัติกล่าวว่า มาตรา 15 พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ระบุสามารถควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน และวันนี้เป็นวันสุดท้ายสำหรับบางรายที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. จึงเป็นความหวังว่าคนเหล่านั้นจะได้รับการปล่อยตัวอย่างเร็วที่สุด และได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม เชื่อว่ากองทัพบกและคสช.จะปฏิบัติอย่างดี แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดอยากให้รีบปล่อยตัวและชี้แจงชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะประชาชนทั้งประเทศและต่างประเทศมีความเป็นห่วงต่อความชัดเจนของคสช.
คุมตัว'อ๋อย'ไปกองปราบฯ
เวลา 16.45 น. เจ้าหน้าที่สารวัตรทหารควบคุมตัวนายจาตุรนต์เดินทางโดยรถตู้ สีขาว ทะเบียน ฮธ 9337 กรุงเทพมหานคร มีกำลังทหาร 8 นายรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดมาที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายจาตุรนต์ สวมเสื้อเชิ้ตลายสกอตสีฟ้าแขนยาว กางเกงสีดำ มีสีหน้ายิ้มแย้ม ไม่ได้แสดงท่าทีวิตกกังวลใดๆ โดยมีพ.ต.อ. ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป.รอรับอยู่ จากนั้นพากันเดินขึ้นไปยังห้องประชุมสุร สีหนาท ชั้น 2 โดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
เวลา 17.00 น. นางจิราภรณ์ พร้อมทนายความเดินทางมายัง บก.ป.เพื่อประสานยื่นขอประกันตัว เมื่อนายจาตุรนต์ถูกส่งไปพิจารณาคดีที่ศาลทหาร
เจ้าตัวยัน'สบายดี ไม่ต้องห่วง'
ต่อมาเวลา 17.45 น. หลังเสร็จสิ้นการสอบสวนนายจาตุรนต์ ที่บก.ป.แล้ว สารวัตรทหารควบคุมตัวนายจาตุรนต์ออกมาจากห้องสอบสวน ระหว่างนั้น นายจาตุรนต์กล่าวว่า "สบายดี แต่ไม่ทราบว่าเมื่อคืนเจ้าหน้าที่ทหารพาไปที่ไหนเป็นเหมือนที่คุมขัง เพราะมีการผูกตาไป ฝากบอกประชาชนว่าไม่ต้องเป็นห่วง" จากนั้นเจ้าหน้าที่นำนายจาตุรนต์ขึ้นรถตู้ โดยมี พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รองผบก.ป. และเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมไปในรถคันเดียวกัน มีรถสารวัตรทหารและสายตรวจกองปราบฯนำขบวนไปยังศาลทหาร
นายจาตุรนต์ นับเป็นพลเรือนคนแรกที่ถูกนำตัวไปดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคสช. มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนั้น คสช.สั่งอายัดการทำธุรกรรมทางการเงินของนายจาตุรนต์ ไว้แล้ว
นำตัวขึ้นศาลทหารช่วงค่ำ
เวลา 18.40 น. ที่กรมพระธรรมนูญ ของศาลทหาร เจ้าหน้าที่กองปราบฯนำตัวนาย จาตุรนต์เดินทางมาถึง นายจาตุรนต์มีหน้าตาเคร่งเครียดก่อนเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวขึ้นไปบนอาคารท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีญาติพี่น้องของนาย จาตุรนต์กว่า 10 คน มารออยู่ด้านหน้า นายจาตุรนต์ได้ขอพักกินข้าวและเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนเข้าไปฟังการพิจารณาในศาลทหาร
แจ้ง 2 ข้อหา
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา 2 ข้อหากับนายจาตุรนต์ คือ 1.ขัดคำสั่งคสช.ในการเรียกมารายงานตัว 2.ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ในการพูดจายุยง ปลุกปั่น โดยเวลา 19.50 น. นายจาตุรนต์ พร้อมทนายความลงมายังห้องพิจารณาคดี ชั้น 2
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการพิจารณาผ่านไป 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่นำตัวนายจาตุรนต์ลงมาจากอาคาร โดยนำไปฝากขังผลัดแรกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นายจาตุรนต์กล่าวว่า ขอบคุณที่มารอ ตอนนี้อยู่ระหว่างฝากขังและประกันตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ไม่ได้มีสีหน้าวิตกกังวลแต่อย่างใด หิ้วกระเป๋าสีดำ 1 ใบขึ้นรถตู้ มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยเข้มงวด ทั้งนี้ การขึ้นศาลทหารของนายจาตุรนต์ ศาลยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมาเนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี
คุมตัวแกนนำนปช.-แดงครบ 7 วัน
เวลา 09.20 น. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ นายขวัญชัย สาราคำ (ไพรพนา) ประธานชมรมคนรักอุดรฯ นั่งรถเข็นมาพร้อมกับนายนิสิต สินธุไพร แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ นายไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ออกจากหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ มาเซ็นชื่อด้านหน้าประตู จากนั้นมีรถตู้ของทหารนำตัวทั้งหมดขึ้นรถพร้อมกำลังคุ้มกันเดินทางออกไปโดยไม่ทราบจุดหมาย ทั้งนี้ แกนนำทั้ง 3 คนได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนหน้านี้แล้วและครบกำหนด 7 วัน
เวลา 09.30 น. มีรถตู้ 7 คัน พร้อมรถทหารคุ้มกันแน่นหนาเดินทางเข้ามาในหอประชุมกองทัพบกอีกครั้ง มีรายงานว่าภายในรถมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำนปช. นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกฯ และแกนนำที่ถูกคุมตัวตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.อยู่ในรถขบวนดังกล่าว ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าแกนนำทั้งหมดที่ถูกพาตัวออกจากค่ายทหารจะได้กลับบ้านหรือไม่ เพราะบางคนยังมีคดีติดตัวอยู่ตั้งแต่ปี 2553
โฆษกกวป.โวยถูกค้นบ้าน
จากนั้นเวลา 10.50 น. นายมาลัยรักษ์ ทองชัย หรือศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษกกลุ่มวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) เดินทางเข้ารายงานตัว โดยมีนายสมศักดิ์ ล้อเพชรรุ่งเรือง เลขาธิการ กวป.เดินทางมาด้วย คนใกล้ชิดระบุว่านายสมศักดิ์ยังไม่ได้ถูกเรียกมารายงานตัว แต่ต้องการทราบความชัดเจนจากคสช.ว่า จะถูกเรียกมารายงานตัวด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาถูกคุกคามจากทหาร เข้าบุกค้นและตรวจสอบบ้านพักย่านสายไหมทุกวัน ถ้ามีการเรียกตัวจะขอรายงานตัวทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
สันธนะหอบกระเป๋ารายงานตัว
ส่วนผู้ที่มารายงานตัวเพิ่มเติมตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 25/2557 ที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศร์ นั้น มีบุคคลที่ต้องมารายงานตัวรวม 7 คน ประกอบด้วย จ.ส.อ.มานัส เติมธนะศักดิ์ พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตนายตำรวจ นายสุวัฒน์ วุฒิศักดิ์ นายวิชา พร้อมเพรียงชัย นายธนิก มาสีพิทักษ์ อดีตส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เจ้าของวิทยุชุมชนขอนแก่น นายกฤษณะ มานะการ และนายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจ.น้องเบียร์ ผู้จัดรายการวิทยุชุมชนเชียงใหม่ โดยเมื่อเวลา 11.20 น. พ.ต.ท.สันธนะเข้ารายงานตัวพร้อมกระเป๋าเดินทางใบใหญ่
พ.ต.ท.สันธนะ ให้สัมภาษณ์ก่อนรายงานตัวว่า การถูกเชิญตัวครั้งนี้ คาดว่ามาจากมีส่วนรู้เห็นและอยู่ในเหตุการณ์ในช่วงบ่ายวันที่ 27 พ.ค. ที่มีคนใกล้ชิดของประธานที่ปรึกษาคสช. เข้าพบนักธุรกิจอาวุโสย่านราชประสงค์คนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ ชิดกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เข้ามาเรียกรับผลประโยชน์ซึ่งตนไม่เห็นด้วย ต่อมาในช่วงค่ำมีประกาศคำสั่งให้มารายงานตัว ทั้งที่บ้านพักของตนอยู่ใน ร.1 รอ. ติดอยู่กับบ้านทหารใหญ่ และบ้านหัวหน้าคสช. สามารถเรียกพบพูดคุยได้ ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยเป็นจำเลยที่ 11 ในคดีปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และเคยร่วมประชุมกับแกนนำ กปปส.ในช่วงต้น ร่วมทำงานกับนายนิติธร ล้ำเหลือ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ แต่ช่วงหลังมีความเห็นต่างจึงถอนตัวออกมา อย่างไรก็ตามพร้อมให้ความร่วมมือกับ คสช. และยืนยันสิ่งที่พูดเป็นเรื่องจริงทั้งหมด
ปล่อยตัว- นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และแกนนำนปช.รวมทั้งหมด 10 คน ได้รับการปล่อยตัวแล้วที่หอประชุมกองทัพบก แต่มีเงื่อนไขห้ามเคลื่อน ไหวทางการเมือง เมื่อวันที่ 28 พ.ค.
ปล่อยตัวล็อตใหญ่รวมนปช.
ช่วงบ่ายมีการนำบุคคลที่ถูกควบคุมตัวมาส่งเพิ่มเติม โดยเมื่อเวลา 12.10 น. นำตัว พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ตามด้วยน.ส.จารุพรรณ กุลดิลก และนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรมว.ยุติธรรม
จากนั้นเวลา 16.45 น. แกนนำนปช. รวมถึงผู้ถูกควบคุมตัวมาที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศร์ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัว โดยครอบครัวหรือคนสนิทนำรถมาจอดรอรับตั้งแต่เวลา 14.30 น. โดยแกนนำนปช.ทั้งนายณัฐวุฒิ นพ.เหวง นางธิดา โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายขวัญชัย ไพรพนา นายนิสิต สินธุไพร รวมถึงนายจตุพร ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด แต่นายจตุพรได้แยกออกอีกประตูหนึ่งของหอประชุมกองทัพบกเทเวศร์ ส่วนนายสมศักดิ์ เลขาฯ กวป. ที่มาพร้อมกับนายศรรักษ์ ไม่ได้ถูกกักตัว มีเพียงนายศรรักษ์ที่ถูกกักตัวไว้
บรรยากาศการปล่อยตัวแกนนำ ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสแต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ เพราะถูกเจ้าหน้าที่ทหารกันให้ขึ้นรถจากด้านในหอประชุม ทุกคนโบกมือทักทาย โดยนายณัฐวุฒิ ใส่เสื้อสีแดงเปิดกระจกรถให้เห็นว่ามีภรรยาและบุตรมารับ
'ตู่'ชี้เข้าใจตรงกับทหาร
นายจตุพร ให้สัมภาษณ์ ผ่านททบ.5 ระบุว่า การพูดคุยกันระหว่างแกนนำ นปช.กับพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันที่จะดำเนินการเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้ากลับสู่ประชาธิปไตย ตลอดเวลาที่ถูกกักตัวแกนนำทุกคนได้รับการปฏิบัติดูแลจากทหารอย่างเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างดี และหวังว่าแกนนำที่เหลือจะได้รับการปล่อยตัวออกมา
นายจตุพร กล่าวว่า ฝากถึงมวลชนด้วยว่าแกนนำทุกคนเข้าใจในความรู้สึกกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และไม่อยากให้มีความสูญเสียเกิดขึ้น จึงขอให้ทุกคนช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปให้ได้ การปล่อยตัวครั้งนี้ คสช.ยังมีเงื่อนไขห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวการเมืองอีกตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึกด้วย
นายจตุพร ยังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวหลังคสช.ปล่อยตัวว่า "ผมกลับถึงบ้านแล้ว ปลอดภัยดี ขอบคุณพี่น้องทุกท่านที่เป็นห่วง"
รวมปล่อยตัวเพิ่ม 17 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ว่า วันเดียวกันนี้ คสช.ปล่อยตัวแกนนำนปช.และแกนนำพรรคเพื่อไทยเพิ่มเติม 10 คน และสมาชิกพรรคเพื่อไทยอีก 7 คน นอกจากแกนนำนปช.ทั้ง 6 คน แล้วยังมีนายนิสิต สินธุไพร นายพายัพ ปั้นเกตุ นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ นายขวัญชัย ไพรพนา นายชัยเกษม นิติสิริ นายไชยา สะสมทรัพย์ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ พล.ท.มนัส เปาริก พล.ต.ท. ชัจจ์ กุลดิลก น.ส.จารุพรรณ กุลดิลกและพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รวมเป็น 17 คน
'พิชิต-ไพวงษ์'ได้กลับบ้านแล้ว
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า ในส่วนสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ถูกคสช.เรียกเข้ารายงานตัว ล่าสุด คสช.ปล่อยตัวนายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของโบนันซ่าเขาใหญ่ นางจรรยา สว่างจิตร นางวิมลรัตน์ กุลดิลก จากบ้านพักทหารใน จ.ราชบุรี เมื่อคืนวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว บุคคลเหล่านี้ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ทหารอย่างดี ไม่ได้กักขังหน่วงเหนี่ยวโดยเจ้าหน้าที่ทหารชี้แจงถึงความจำเป็นต้องเรียกเข้ารายงานตัวว่าบ้านเมืองเกิดปัญหาขัดแย้งมาก จึงอยากให้เข้าใจในสิ่งที่คสช.ดำเนินการ
'ปลอด-นพดล-ชัจจ์'ก็ด้วย
จากนั้นเช้าวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา คสช.ปล่อยตัวนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ กลับมาอยู่ที่บ้านพักส่วนตัว เช่นเดียวกับนายนพดล ปัทมะ คณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการปล่อยตัวแล้วเช่นกันเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะนี้นายนพดลพักผ่อนอยู่ที่บ้านพักส่วนตัวใกล้กรุงเทพฯ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารมาควบคุมหรือเฝ้าที่บ้านพักแต่อย่างใด
พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีตรมช.มหาดไทย ซึ่งได้รับการปล่อยตัวพร้อมลูกสาว น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก เผยว่า คสช.กำชับว่าหลังจากปล่อยตัวแล้วห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือต่อต้าน ซึ่งคสช.จะเดินหน้าทำงานต่อไป
ขณะที่น.ส.จารุพรรณกล่าวว่า ทหารดูแลดีไม่มีปัญหา ข้อห้ามต่างๆ คงคล้ายคลึงกัน โดยห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ห้ามประชุมหรือเดินทางไปต่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่มีการอายัดทรัพย์สิน แต่ถ้าฝ่าฝืนข้อห้ามของคสช.ก็คงถูกอายัดทรัพย์สิน ทหารไม่ได้แจ้งว่าจะเรียกมาให้ปากคำซ้ำอีก
สั่งห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง
รายงานข่าวแจ้งว่า การทยอยปล่อยตัวแกนนำพรรคเพื่อไทยนั้น คสช.มีเงื่อนไขคือให้แกนนำที่ได้รับการปล่อยตัวอยู่นิ่งๆ ห้ามเคลื่อนไหวการเมือง แม้แต่การประชุมหรือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองก็ไม่อนุญาต หากฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามกฎอัยการศึก ดังนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยที่รับการปล่อยตัวจึงยังไม่มีความเคลื่อนไหว เพราะแต่ละคนอยู่ต่างสถานที่กันจึงขออยู่เงียบๆ ไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หรือเมื่อคสช.อนุญาตให้เคลื่อนไหวการเมืองได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอานันท์ วัชโรทัย อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา อ้างเหตุผลขอไปทำธุรกิจส่วนตัว
ฮึ่มคนยุยงปลุกระดม
เวลา 13.00 น. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ ทีมรองโฆษกกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ ในฐานะรองโฆษกคสช. แถลงข่าวประจำวัน พ.อ.วินธัย กล่าวถึงนายณัฐวุฒิ นายจตุพร นายวีระกานต์ และแกนนำคนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัว ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. ซึ่งครบกำหนดการคุมตัวตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึกไม่เกิน 7 วันว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการของ คสช. ซึ่งผู้ที่ถูกควบคุมตัวจะได้รับการปล่อยตัวภายใน 7 วัน นอกจากมีกรณีถูกดำเนินคดีอื่นๆ ซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขการควบคุมตามกฎอัยการศึกแต่จะไปอยู่ในฐานความผิดอื่นๆ ส่วนผู้ที่ไม่ว่าจะเคยถูกเรียกหรือไม่เคยถ้ามีพฤติกรรมนำไปสู่ความไม่สงบ เช่น ปลุกระดม ยุยงทั้งในทางลับและเปิดเผย เมื่อมีหลักฐานก็จำเป็นต้องขอให้เข้ารายงานตัว ส่วนกรณีนายจาตุรนต์ อยู่ในกระบวนการของศาลทหารและถูกควบคุมตัวอยู่ พนักงานสอบสวนจะไต่สวนและพิจารณาส่งฟ้องต่อไป
ตั้งทีมตามตัว'จารุพงศ์'
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า รายชื่อ 10 บุคคลที่ตั้งขึ้นเป็นที่ปรึกษาของหัวหน้า คสช.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นผู้คัดเลือกเอง เพื่อให้แต่ละคนให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ที่สำคัญ โดยเสนอความเห็นผ่านสำนักเลขาธิการ คสช. เพื่อเสนอหัวหน้า คสช.ต่อไป
พ.อ.วินธัย กล่าวถึงการตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ว่า หัวหน้า คสช.มีดำริว่าศูนย์ดังกล่าวจะอยู่ในโครงสร้างที่ 7 รายละเอียดจะชัดเจนวันที่ 29 พ.ค.นี้ ยืนยันในศูนย์จะมีแกนนำกลุ่มการเมือง คู่ขัดแย้งเข้าร่วมเพื่อปรับทัศนคติและเสนอแนะแนวทางทำงาน เชื่อว่าศูนย์ดังกล่าวจะลดความขัดแย้งลงได้
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ขณะนี้ คสช.ตั้งคณะทำงานติดตามผู้สร้างความขัดแย้งผ่านสื่อออนไลน์ โดยปิดเว็บไซต์ที่เข้าข่ายกว่า 100 แห่งแล้ว รวมถึงผู้ที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ได้มีการติดตามพฤติกรรมอยู่เช่นกัน เช่น นายจักรภพ เพ็ญแข ส่วนกรณีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรมว.มหาดไทยนั้น คสช.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อติดตามตัวอย่างใกล้ชิด โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนจะบล็อกทวิตเตอร์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ทวีตเรื่องใดบ้าง
ปล่อยตัว 124-ไม่รายงานตัว 53
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า คสช.มีคำสั่งเรียกรายงานตัวจนถึงวันที่ 28 พ.ค.ทั้งสิ้น 253 คน มารายงานตัวแล้ว 200 คน ในจำนวนนี้ได้รับการปล่อยตัว 124 คน เหลืออีก 76 คนยังไม่ได้ปล่อยตัว โดย คสช.ได้ทำประวัติ สร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อลดความขัดแย้ง ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจะต้องลงนามในเอกสารปล่อยตัว แจ้งที่อยู่ปัจจุบันเพื่อสะดวกในการติดต่อ และขอให้งดการแสดงออกที่ทำให้สังคมสับสน หากจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ต้องแจ้งให้คสช.รับทราบด้วย
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ไม่มารายงานตัว 53 คน มี 4 คนที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าขัดขืนคำสั่ง ประกอบด้วยนายจารุพงศ์ นายจาตุรนต์ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ คสช.ได้ดำเนินการทางกฎหมาย เช่น การอายัดธุรกรรมทางการเงิน
ด้านพ.อ.ณัฐวัฒน์กล่าวว่า การดูแลบุคคลที่รายงานตัวนั้นควบคุมตัวไว้ที่บ้านพักรับรองนายทหารสัญญาบัตรตามหน่วยทหารต่างๆ อาจไม่หรูหรา แต่ยืนยันว่าอยู่ดีตามอัตภาพ ไม่มีการทำร้ายหรือพันธนาการ แต่ละคนที่เป็นผู้นำมวลชนมีทัศนคติที่ดีขึ้น ส่วนที่มีการรายงานว่า คสช.รวบตัวพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกฯ ที่สนามบินจ.อุดรธานีนั้น ในข้อเท็จจริงพล.ต.อ.ประชาไปรายตัวที่มณฑลทหารบกที่ 44 ตรงตามที่กำหนดและเราเชิญตัวมาอยู่ในที่ที่กำหนดไว้
แห่กดไลก์เฟซบุ๊กจารุพงศ์
จากนั้นทีมโฆษก คสช. เปิดภาพวิดีโอให้เห็นความเป็นอยู่ของบุคคลที่ถูกควบคุมตัว อาทิ แกนนำ นปช.ได้แก่ นายจตุพร นายณัฐวุฒิ รวมทั้งนายแทนคุณ และพล.ต.อ.ประชา ซึ่งในภาพเป็นการถ่ายในบ้านพักไม่เปิดเผยสถานที่ ในห้องมีเครื่องปรับอากาศ เตียงนอน โทรทัศน์ ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานของนายจารุพงศ์ โพสต์เฟซบุ๊กนายจารุพงศ์ระบุ "กำลังใจที่ประชาชนส่งมาโดยไม่ขาดสาย" พร้อมประมวลภาพของนายจารุพงศ์ ตั้งแต่การลงพื้นที่หาเสียง การขึ้นเวทีเสื้อแดงร่วมกับกลุ่ม นปช. ภาพที่ถ่ายร่วมกับประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงข้อความที่ประชาชนโพสต์ให้กำลังใจในเฟซบุ๊ก ประกอบเพลงกำลังใจ ความยาว 3.40 นาที โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนทยอยเข้ามาแสดงความเห็นและกดไลก์ต่อเนื่อง
1.วุ่นอีก- กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขว้างปาสิ่งของใส่ทหาร เพราะไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุมรายหนึ่ง เหตุการณ์ชุลมุนอยู่สักพักก่อนจะคลี่คลายด้วยดี เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2.ชุลมุน - ตำรวจยืนล้อมป้องกันรถฮัมวี่ของ ทบ. ที่จอดทิ้งไว้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยขว้างปาสิ่งของและพ่นสีใส่ เพราะไม่พอใจที่ทหารจับกุมผู้ชุมนุมรายหนึ่ง เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 3.ค้นสำโรง- กำลังทหารเข้าตรวจค้นภายในบริเวณศูนย์การค้าอิมพีเรียล เวิลด์ สาขาสำโรง จ.สมุทรปราการ แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย และป้ายสัญลักษณ์คัดค้านรัฐประหารแต่อย่างใดทั้งสิ้น เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 4.คดีกบฏ - นายอิสสระ สมชัย แกนนำกปปส. เข้าให้ปากคำคดีกบฏ ต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก่อนได้ประกันตัว อีกทั้งยังมีหมายจับของศาลจังหวัดฉะเชิงเทราในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่า-จับนายยืม นิลหล้า ถ่วงแม่น้ำบางปะกง เมื่อวันที่ 28 พ.ค. |
กรมคุกพร้อมรับผู้ต้องขัง
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึง คสช. มีคำสั่งที่ 44/2557 ให้เรือนจำกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติตามหมายของศาลทหารว่า พร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง หากมีการส่งตัวผู้ต้องขังจากศาลทหารก็จะส่งเข้าควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เบื้องต้นเชื่อว่ามีความสามารถรองรับผู้ต้องขังเหล่านี้เพราะน่าจะมีจำนวนไม่มาก เท่าที่เรียกไปรายงานตัวเพิ่งมีส่งตัวขึ้นศาลทหารเพียงรายเดียวคือนายจาตุรนต์ ฉายแสง ส่วนการย้ายตัวผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไปไว้ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ได้หรือไม่นั้น ผบ.เรือนจำจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของ คสช.
ตรวจค้นอิมพีเรียลเวิลด์สำโรง
เวลา 10.30 น. ทหารชุดเฉพาะกิจจากจ.ปราจีนบุรี และกำลังตำรวจสภ.สำโรงเหนือกว่า 30 นาย พร้อมอาวุธครบมือเข้าตรวจค้นภายในศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง ริมถนนสุขุมวิท ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ หลังทราบข้อมูลว่าภายในศูนย์การค้า ซึ่งมีนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตรมช.พาณิชย์ เป็นผู้บริหาร ต้องสงสัยว่านำป้ายต่อต้านการปฏิวัติและป้ายข้อความต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์เจตนายั่วยุ สร้างความแตกแยกของคนในชาติมาติดภายในห้าง แต่หลังตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมายและป้ายแสดงการคัดค้าน เจ้าหน้าที่จึงเดินทางกลับโดยไม่มีเหตุรุนแรงหรือกลุ่มมวลชนเข้ามาต่อต้าน
รื้อสถานีวิทยุโกตี๋
เวลา 11.30 น. พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รักษาการ ผบช.ภ.1 ตรวจสอบการเข้ารื้อถอนอุปกรณ์และเสาส่งสัญญาณวิทยุของสถานีวิทยุเพื่อมวลชน เรดการ์ด เรดิโอ คลื่น 105.65 เมกะเฮิร์ตซ์ ของนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ตั้งอยู่เลขที่ 4/26 ริมถ.ลำลูกกา ต.คูคต อ.ลำลูกกา มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย ปีนขึ้นถอดเสาอากาศและสายนำสัญญาณจนหมด หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารม้าที่ 30 กองพลทหารราบที่ 2 จ.ปราจีนบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ กสทช.ฝ่ายปกครอง ตำรวจกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และสภ.คูคต เข้าตรวจยึดสถานีวิทยุดังกล่าว พบว่ามีเครื่องและอุปกรณ์การออกอากาศ สายนำสัญญาณ นอกจากนี้ยังพบเหล็กแป๊บ ไม้ตีกอล์ฟ ยางรถยนต์ กระสอบทราย โดยไม่มีกลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามาคัดค้าน มีแต่ชาวบ้านยืนดูจำนวนมากเท่านั้น
ดีเอสไอให้ประกัน 8 แกนนำกปปส.
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่เรือนไทย ถ.แจ้งวัฒนะ ฝั่งตรงข้ามกระทรวงยุติธรรม นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ พุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย แกนนำ กปปส. เข้าพบพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และอัยการ เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมในข้อหากบฏ
พุทธอิสระ กล่าวก่อนให้ปากคำว่า พร้อมต่อสู้คดีและได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา รับเพียงข้อหาปิดกั้นการจราจร ส่วนข้อหาขัดขวางการเลือกตั้งได้ประสานผอ.เขตหลักสี่เป็นพยานเนื่องจากขณะนั้นมีหลักฐานยืนยันได้ว่าที่ต้องปิดเพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนข้อหากบฏ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองช่วยเป็นพยานให้ได้ และขอให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกสีนำความไว้วางใจที่เคยให้กับนักการเมืองมามอบให้ทหาร เพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปบ้านเมือง
เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ราชการ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี และนายมั่นแม่น กะการดี แกนนำกปปส. ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและมอบตัวสู้คดีที่ศาลออกหมายจับในข้อหากบฏและข้อหาอื่นๆ รวม 8 ข้อหา มีพ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ รับมอบตัวและสอบปากคำตามขั้นตอนก่อนอนุญาตให้ประกันตัววงเงินคนละ 100,000 บาท
อิสสระมอบตัวสภ.บางปะกง
ขณะเดียวกัน นายอิสสระ สมชัย แกนนำกปปส. ได้เข้าพบพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ พนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมในคดีกบฏ มีผู้ชุมนุมกปปส.จำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจที่หน้าห้องสอบสวนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิสสรถูกดำเนินคดีข้อหากบฏและมีหมายจับศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าและทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพจนได้รับอันตราย กรณีนายยืม นิลหล้า อายุ 33 ปี พนักงานรักษาความปลอดภัย ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสก่อนนำร่างโยนทิ้งแม่น้ำบางปะกง ถ.บางนา-ตราด ก.ม.50 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นนายอิสสระ แจ้งพนักงานสอบสวนว่าหลังให้ปากคำในวันนี้เสร็จจะไปมอบตัวสู้คดีดังกล่าวด้วยตนเองที่สภ.บางปะกง
ยก'ชวน-ตศร.' เป็นพยานสู้คดี
นายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส.กล่าวถึงแนวทางต่อสู้คดีของกปปส. หลังได้รับการประกันตัวในข้อกบฏว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งให้ดีเอสไอและสำนักงานอัยการสูงสุดแผนกคดีพิเศษ เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาของดีเอสไอและศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ให้เห็นว่าการดำเนินการของกปปส.ไม่ใช่กบฏ ส่วนเอกสารคำส่งฟ้องที่ดีเอสไอยื่นต่ออัยการคดีพิเศษกว่า 50,000 หน้า โดยอัยการใช้เวลาอ่านเพียง 5-6 วันนั้น ถือว่าใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ที่ให้สิทธิรับรองการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่มีการฝ่าฝืนมาตรา 68 กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยยกคำร้องและจะใช้เป็นแนวทางต่อสู้คดี
นายถาวร กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้อ้างพยานบุคคลและองค์กร เช่น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ป.ป.ช. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กกต. รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรองผบช.น. และผกก.สน.ในท้องที่ต่างๆ เพื่อยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของกปปส.ไม่เข้าข่ายความผิดฐานกบฏ คณะทำงานด้านกฎหมายจะหารือกันอีกครั้ง
5 กปปส.สงขลาไม่ต้องประกัน
ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นำตัวแกนนำกปปส.สงขลา 5 คน ประกอบด้วย นายพงศภัค วุฒิปุญญะ นายสุรเชษฐ์ บิลสัน นายสมโชค ดีลิ่น นายอดิศร รัตนะ และนายปรีชา สุขเกษม มาเข้ามอบตัวต่อพ.ต.อ.เดชา กาญจนโสรัตน์ พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.เมืองสงขลา ซึ่งได้รับหมายเรียกกรณีขัดขวางการรับสมัครรับเลือกตั้งที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ อ.เมืองสงขลา เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.56-1 ม.ค.2557 และกรณีขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ค่ายรามคำแหง อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2557 โดยแกนนำกปปส.สงขลาทั้ง 5 คนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนสอบปากคำ พิมพ์นิ้วมือทำประวัติและปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องใช้เงินหรือหลักทรัพย์มาประกันตัว
'แอมเนสตี้'ออกปฏิบัติการด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ปฏิบัติการด่วน (Urgent Action) เชิญชวนสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. กรณีนักการเมือง นักเคลื่อนไหว ผู้สื่อข่าว นักวิชาการและผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวโดยปราศจากหมายจับ หลังประกาศใช้กฎอัยการศึก และประชาชนอย่างน้อย 250 คน ถูกสั่งให้ไปรายงานตัวกับทหารหลังยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา
แถลงการณ์ระบุ การกระทำดังกล่าวขัดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ขอเรียกร้องว่า 1.ต้องไม่ควบคุมตัวบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกอย่างสงบ ชุมนุมหรือสมาคมอย่างสงบ 2.ให้ทางการตั้งข้อหาอาญาตามกฎหมายต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัว หรือต้องปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข 3.ให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวเข้าถึงทนายความ ศาลพลเรือนที่เป็นอิสระโดยทันที เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการจับกุม และแจ้งให้ครอบครัวทราบ 4.ให้ประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้การรณรงค์จะมีถึงวันที่ 7 ก.ค.
เตือนซ้ำรอยรัฐบาลทหารพม่า
สมาคมผู้สื่อข่าวแห่งประเทศพม่า (เอ็มเจเอ) และองค์กรเครือข่ายผู้สื่อข่าวพม่า (เอ็มเจเอ็น) รวมถึงองค์กรสื่อจากประเทศฝรั่งเศส ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของ คสช. ว่าสถานการณ์คล้ายกับที่สื่อพม่าเคยเผชิญสมัยรัฐบาลเผด็จการ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้สื่อข่าวทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวอยู่และแสดงความกังวลต่อการปิดกั้นสื่อในไทย
นอกจากนั้นองค์กรรีพอร์ท วิทเอาท์ บอร์เดอรส์ จากฝรั่งเศส ประณามการจับกุมตัวผู้สื่อข่าวของ คสช.เช่นกัน ระบุมีบรรณาธิ การและผู้พิมพ์ 19 คน รวมถึงนายธนาพล อิ๋วสกุล และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ถูกเรียกไปตักเตือนถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และมีโทรทัศน์ วิทยุ ถูกจำกัดการเข้าชมด้วยเช่นกัน
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เผยว่า ขณะนี้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น เรตติ้ง แอนด์ อินเวสเมนท์ อินฟอร์เมชั่น (อาร์แอนด์ไอ) ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต) ของไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพมาเป็นลบ จากกรณีกองทัพยึดอำนาจการปกครอง และทางอาร์แอนด์ไอจะจับตาด้านเศรษฐกิจการคลังและแนวโน้มทางเศรษฐกิจภายใต้การบริหารของ คสช.อย่างใกล้ชิด
มอบดอกไม้ให้กำลังใจ บช.น.
เวลา 15.50 น. ที่กองบัญชาการตำรวจ นครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผช.ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชาญเทพ เสสะเวช พล.ต.ต. อิทธิพล พิริยะภิญโญ พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ พล.ต.ต.สำเริง สุวรรณพงษ์ รองผบช.น.และรองผู้บังคับการ บก.น.1-9 ที่ดูแลกองร้อยควบคุมฝูงชน รับมอบเครื่องดื่มชูกำลัง ดอกไม้จากกลุ่มชาวบ้านมัสยิดดินแดง นำโดยนายอิมรอน สว่างนวล และชาวบ้านชุมชนสวนอ้อย เพื่อให้กำลังใจตำรวจปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย
วุฒิฯพร้อมรับคำสั่งคสช.
เวลา 10.30 น. วันที่ 28 พ.ค. ที่อาคารสุขประพฤติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดงานเลี้ยงอำลาตำแหน่งให้กับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 โดย นายสุรชัยกล่าวกับข้าราชการวุฒิสภาว่า วันนี้จะอยู่ในความทรงจำตลอดไป แต่มันมาเร็วไป ทั้งที่พยายามอย่างสุดกำลังตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา ในการหาทางออกให้กับประเทศแต่ที่สุดทุกฝ่ายไม่มีใครยอมกัน ขอฝากผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาช่วยกันสานต่องานด้านการพัฒนา โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่จะเอามาทดแทนระบบการประชุมแบบเก่าๆ และการพัฒนานักกฎหมาย เชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จได้ และเชื่อมั่นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะกลับคืนมาในไม่ช้านี้
นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่งจาก คสช.ว่าจะให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภารับผิดชอบงานอะไรเป็นพิเศษระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสภาปฏิรูปการเมือง ทางสำนักงานต้องทำงานประจำที่คั่งค้างไปก่อนเพื่อรับคำสั่งจาก คสช.อีกครั้ง ทั้งนี้ ไม่ว่า คสช.จะมอบให้รับผิดชอบส่วนงานใดก็พร้อมดำเนินการ เหมือนปี 2549 ที่สำนักงานรับผิดชอบงานในส่วนของสนช. ต้องรอฟังความชัดเจนจากคสช.และรัฐธรรม นูญชั่วคราวต่อไป
ปปช.สอบย้อนหลังถึงครม.ปู1
เวลา 09.15 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถ.วิภาวดีรังสิต นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงมติป.ป.ช.ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นรองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ว่า ก่อนหน้านี้เราได้ข้อมูลว่ามีความเสียหายเกี่ยวกับการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวอยู่ 3.3 แสนล้านบาท ต่อมามีข่าวว่าการปิดบัญชีครั้งที่ 3 มีความเสียหายเพิ่มมากขึ้นเกือบ 5 แสนล้านบาท การไต่สวนของป.ป.ช.จึงต้องทำต่อเนื่อง จะตรวจสอบความเสียหายช่วงที่นายนิวัฒน์ธำรง และนายยรรยง พวงราช เป็นรมช.พาณิชย์ หากพบบุคคลทั้งสองเกี่ยวข้อง มีเหตุอันควรสงสัยก็ตั้งอนุกรรมการไต่สวนในคดีอาญาเพิ่มได้ ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะนำความเสียหายทั้งหมดมาดูว่ามีใครบ้าง เบื้องต้นจะไต่สวนพยานอีก 4 ปาก
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของครม.เป็นหน้าที่ของป.ป.ช. ที่ผ่านมาใช้วิธีตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่ยื่นแสดงเท่านั้น แต่ต่อไปนี้จะตรวจสอบในเชิงรุกแม้จะไม่มีการยื่นให้ป.ป.ช.ก็ตาม โดยตรวจสอบที่มาของทรัพย์สิน ดูข้อมูลการทำธุรกรรมการเงิน ทั้งนี้ ไม่ได้กำหนดว่าจะตรวจสอบรัฐมนตรีคนใดบ้าง แต่จะตรวจสอบในทุกโครงการของรัฐบาลหลังพ้นตำแหน่ง ไม่เฉพาะเรื่องข้าว หากพบว่าโครงการใดมีการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินในทางไม่ชอบ ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบโดยจะตรวจสอบย้อนได้ตั้งแต่ครม.ยิ่งลักษณ์ 1
ทหารเข้มอนุสาวรีย์ชัยฯ
เวลา 15.20 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีทหารขึ้นมาประจำอยู่บนสกายวอล์กรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ประมาณ 60 นาย โดยไม่มีโล่หรืออาวุธประจำกาย ส่วนด้านล่างทหารพร้อมโล่ยืนประจำตามจุดต่างๆ โดยรอบ ประมาณ 20 นาย และมีตำรวจจราจรจาก บก.จร. คอยอำนวยความสะดวก บริเวณรั้วของอนุสาวรีย์ชัยฯ ด้านห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วันติดป้ายข้อความ "เมื่อไรจะหยุดการชุมนุมเสียที" "กูเบื่อโว้ย" บนสกายวอล์กติดป้าย "ประเทศพ้นภัย เพราะทหารไทยของเรา"
เวลา 15.25 น. ทหารพร้อมโล่ประมาณ 20 นาย นำรถฮัมวี่ 2 คันและรถฮัมวี่ติดเครื่องขยายเสียง 1 คัน เข้ามาจอดที่ป้ายรถโดยสารประจำทาง ช่องดินแดงมุ่งหน้าพญาไท ใกล้ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดปราบจลาจล บก.น. 1 จำนวน 10 นายเข้ามาประจำจุด ขณะที่ฝั่งหน้าโรงพยาบาลราชวิถี มีเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมโล่ 20 นาย และเจ้าหน้าที่ชุดปราบจลาจล 20 นาย ยืนตั้งแถวอยู่เช่นกัน ขณะที่ผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารยังคงกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ รอบอนุสาวรีย์ ทั้งด้านล่างและบนสกายวอล์ก แต่ยังไม่มีการรวมตัวกัน
เวลา 16.25 น. เจ้าหน้าที่บก.น.4 เข้ามาประจำการเพิ่ม 1 กองร้อย สับเปลี่ยนกำลังกับเจ้าหน้าที่ชุดปราบจลาจล บก.น.1 ซึ่งอยู่ฝั่งศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน ส่วนชุดปราบจลาจล บก.น.1 ยังคงมารวมกันหน้าฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี
กลุ่มต้านรัฐประหารชูป้าย
กระทั่งเวลา 16.55 น. ผู้ชุมนุมที่กระจัดกระจายอยู่บริเวณลานใกล้ทางขึ้น สกายวอล์กฝั่งศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วันกว่า 100 คน ตั้งแถวเดินฝ่าแนวกั้นของตำรวจชุดปราบจลาจลข้ามถนนมายังลานรอบฐานอนุสาวรีย์ฯ และฉีกป้ายข้อความของกลุ่มที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมต้านรัฐประหารที่มาติดไว้ก่อนหน้านี้ทิ้ง จากนั้นผู้ชุมนุมชูป้ายข้อความ อาทิ "ไม่เอาเผด็จการ" "เอาอำนาจประชาชนคืนมา" "FREE ARRESTED PEOPLE" และ "FREE THAI JOURNALISM" และร่วมกันเดินขบวนรอบอนุสาวรีย์ 1 รอบ โดยมีประชาชนที่ยืนอยู่บนสกายวอล์กโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ปรบมือและส่งเสียงให้กำลังใจจำนวนมาก ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลไม่ให้ผู้ชุมนุมลงไปใช้พื้นที่บนผิวจราจร
ขณะเดียวกันมีสารวัตรทหารชายและหญิงประมาณ 20 คน ถืออาวุธปืนเอ็ม 16 และอูซี่ ยืนประจำอยู่บริเวณหน้าป้ายรถเมล์ฝั่งห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารชายและหญิงสลับกันกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ขอบคุณพ่อค้าแม่ค้าที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ขณะนี้ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ นำโดยพล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ขอให้ประชาชนผู้รักประชาธิป ไตยปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีความวุ่นวาย ตอนนี้เจ้าหน้าที่ทหารมาร่วมคืนความสุขให้คนไทยกลับมามีรอยยิ้มอีกครั้ง
29 พ.ค.นัดยืน-อ่านหนังสือต้าน
ส่วนบรรยากาศที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เวลา 18.00 น. มีทหาร 50 นาย ยืนรักษาความสงบเรียบร้อย โดยไร้วี่แววผู้ชุมนุมต่อต้าน ส่วนกิจกรรมต้านรัฐประหารด้วยการยืนอารยะขัดขืน อ่านหนังสืออย่างสงบ ไม่ตะโกน ไม่ชูป้าย ได้รับแจ้งจากกลุ่มจัดกิจกรรมว่าจะมีขึ้นวันที่ 29 พ.ค. เวลา 17.00 น.
ชุลมุนหลังทหารจับผู้ชุมนุม
เวลา 18.00 น. หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมร้องเพลงชาติจบ ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นชายคนหนึ่งประกาศว่าวันที่ 29 พ.ค.จะมาใหม่ จากนั้นทั้งหมดเดินข้ามจากลานอนุสาวรีย์ชัยฯ มายังฝั่งห้างเซ็นเตอร์วัน ระหว่างนั้นเกิดเหตุชุลมุนขึ้นเมื่อผู้ชุมนุมกรูเข้าไปไล่ทุบรถฮัมวี่ของทหารและตะโกนด่าทอ พร้อมปาขวดน้ำใส่
สอบถามผู้ชุมนุมทราบว่า ทหารจับกุมคนที่ประกาศนัดชุมนุมเมื่อสักครู่ขึ้นรถไป ผู้ชุมนุมจึงวิ่งไล่ตามแต่รถคันดังกล่าวฝ่าวงล้อมออกไปได้ จากนั้นผู้ชุมนุมกรูเข้าไปยังรถฮัมวี่ที่ติดเครื่องขยายเสียงอีกคันที่จอดอยู่บริเวณเดียวกัน ตรงเข้าทุบรถ ด่าทอและขว้างขวดน้ำใส่ แต่รถก็เร่งเครื่องฝ่าออกไปได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารถอนกำลังออกไปทั้งหมด ยังเหลือรถฮัมวี่อีกคันที่ผู้ชุมนุมขวางไว้ ผู้ชุมนุมที่โกรธแค้นเข้าพ่นสเปรย์ คำว่า "No Coup" ใส่ด้านข้างรถ พร้อมติดป้ายข้อความประณาม และนำถังขยะใส่เข้าไปในรถฮัมวี่พร้อมกับปล่อยลมยางรถ จากนั้นมีผู้ชุมนุมหญิงปีนขึ้นไปด้านบนรถและโชว์กางเกงในสีชมพูพร้อมปลัดขิก ทำให้ผู้ชุมนุมโห่ร้องด้วยความสะใจ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 50 นาย ยืนคล้องแขนเป็นแนวกำแพงกันผู้ชุมนุมออกจากรถฮัมวี่คันดังกล่าว
เวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานรถลากเข้ามาลากรถฮัมวี่คันดังกล่าวไปยัง สน.พญาไท ท่ามกลางเสียงโห่ของผู้ชุมนุม ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะสลายตัว ขณะที่บางส่วนยังจับกลุ่มพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่ทหารจับกุมชายคนดังกล่าวไป
ประยุทธ์นัดถกคณะที่ปรึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 29 พ.ค. เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์เรียกประชุมคณะที่ปรึกษา คสช. ทั้ง 10 คน ที่ บก.ทบ. เพื่อหารือถึงแนวทางการทำงาน อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ให้การบริหารงานของ คสช.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ
เรียกอ.วีรพัฒน์เข้ารายงานตัว
เวลา 20.30 น. คสช.มีคำสั่งที่ 29/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม โดยให้นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ มารายงานตัวที่ห้องจามจุรี หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในวันที่ 29 พ.ค. เวลา 10.00-10.30 น.
กกต.เลื่อนลต.ท้องถิ่น160แห่ง
วันที่ 28 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงว่าที่ประชุมกกต.มีมติสั่งขยายเวลาการเลือกตั้งขององค์กรปกครองครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 180 ตำแหน่งใน 160 แห่ง เดิมต้องจัดเลือกตั้งระหว่างวันที่ 1-29 มิ.ย. ออกไปอีก 30 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7 ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง จึงเห็นว่าหากยังจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีผล กระทบเรื่องการหาเสียง การลงคะแนน นับคะแนน โดยกกต.จะหารือกับคสช.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นใหม่ต่อไป
ส่วนที่นายกอบจ.หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นถูกควบคุมตัวเนื่องจากเคลื่อนไหวทางการเมือง จะต้องพักการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายภุชงค์กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแล ไม่เกี่ยวกับกกต. ที่ประชุมกกต.ยังมีมติให้รองเลขาธิการทุกด้านทำการศึกษาปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้ง การปฏิรูปการเลือกตั้ง และประเด็นปัญหาที่นำมาสู่การรัฐประหารเพื่อสรุปและหาแนวทางป้องกันแก้ไข ก่อนเสนอต่อกกต.เพื่อพิจารณาตั้งคณะทำงานและสรุปนำผลเสนอต่อคสช. ยืนยันว่ากกต.พร้อมยึดแนวทางปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของคสช.อย่างเคร่งครัด
สื่อนอกเกาะติดข่าว'จาตุรนต์'
วันที่ 28 พ.ค. สื่อต่างประเทศเกาะติดการควบคุมตัวบุคคลสำคัญและนักการเมืองของคณะรัฐประหารในประเทศไทย โดยรายงานประเด็นที่ทหารควบคุมตัวบุคคลสำคัญทางการเมือง รวมถึงการจับกุมตัวนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ ระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคนแรกของรัฐบาลที่ประณามการรัฐประหารอย่างเปิดเผย
โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า โฆษกกองทัพบกระบุว่าจะนำตัวนายจาตุรนต์ขึ้นสู่ศาลทหาร แม้ไม่ชัดเจนว่าจะถูกตั้งข้อหาใด ด้านนายจาตุรนต์แสดงความเห็นว่าคณะรัฐประหารขาดประสบการณ์ และมีโอกาสที่สถานการณ์จะเลวร้ายกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และรัฐประหารจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดให้กับประเทศ ต่อจากนี้จะมีผู้ต่อต้านมากขึ้น
ด้านรอยเตอร์เปิดเผยคำให้สัมภาษณ์ของนายจาตุรนต์ว่า บุคคลที่ถูกควบคุมตัวนั้นสุขสบายดี และไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ขณะที่นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า การออกหมายเรียกบุคคลทางการเมืองของคณะรัฐประหารนั้นมุ่งเน้นที่ฝ่ายต่อต้านเป็นหลัก
ฝากขัง'จาตุรนต์'12 วัน ปล่อยแดง 'ตู่-เต้น-ธิดา'กลับบ้าน เผยเคลียร์"บิ๊กต็อก"แล้ว เงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหว ผุดศูนย์ปรองดองทั่วปท. ดึง'คู่ขัดแย้ง'ร่วมวงถก ประยุทธ์คุยกุนซือวันนี้
'วัชรพล'แจงย้าย 16 ผบช.-ผกก. ไม่ได้มีความผิดอะไร รับลูกปราบอบายมุข พบที่ไหนโดนย้าย คสช.ปล่อยตัวแกนนำ นปช.-พท.แล้ว เตรียมเดินหน้าศูนย์ปรองดองลดขัดแย้ง
@ คสช.แจงลดเวลาเคอร์ฟิว
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยพ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง พ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษก คสช. ร่วมแถลงข่าวประจำวัน โดย พ.อ.วินธัยกล่าวถึงประเด็นการปรับเปลี่ยนเวลาประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนดจากเดิม 22.00-05.00 น.เป็น 00.00-04.00 น. เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำนึงถึงผลกระทบของประชาชน ต้องประกอบกิจการต่างๆ เช่น ผู้ประกอบการร้านอาหารและตลาดสดที่ต้องขนส่งตั้งแต่ช่วงเช้า อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ไปสักระยะ หากสถานการณ์สงบเรียบร้อยจริง คสช.จะมีมาตรการผ่อนปรนเป็นระยะต่อไป
@ เชื่อศูนย์ปรองดองลดขัดแย้ง
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ทาง คสช.ขอความร่วมมือจากประชาชนห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ตามกติกาที่ได้กำหนดไว้ ส่วนผู้ประสงค์ดีจะเดินทางมายื่นหนังสือหรือมอบสิ่งของให้ทหารนั้น เราต้องขอบคุณในความปรารถนาดี แต่ไม่อยากให้มาแสดงความปรารถนาดีเกินกว่าจำนวนที่กำหนด เพราะต้องรักษากฎกติกา สำหรับการตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์นั้น หัวหน้า คสช.มีดำริว่าศูนย์ดังกล่าวจะเข้าไปอยู่ในโครงสร้างที่ 7 โดยรายละเอียดจะชัดเจนในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ยืนยันว่าในศูนย์ดังกล่าวจะมีแกนนำกลุ่มการเมือง คู่ขัดแย้งเข้าร่วมเพื่อปรับทัศนคติและเสนอแนะแนวทางทำงาน และเชื่อว่าศูนย์ดังกล่าวจะลดความขัดแย้งลงได้
@ แบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า การทำงานของ คสช.แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การทำงานขึ้นอยู่กับการรักษาความสงบ เช่น การดูแลกระทรวง จับกุมผู้กระทำความผิด ส่วนต่อมาคือ การบริหารราชการแผ่นดิน กระทรวง ทบวง กรม อันดับแรกมองความเดือดร้อนประชาชน คือ โครงการจำนำข้าว ส่วนนี้ถือว่าคลี่คลายไปแล้ว จะเสร็จสิ้นในระยะเวลา 20-30 วัน นอกจากนี้สั่งการทุกกระทรวงเกี่ยวกับงานที่ยังติดขัด ให้รีบเสนอขึ้นมาตามช่องทาง จะได้หารือว่าจะบริหารอย่างไร แต่จะดูความเร่งด่วนของประชาชนเป็นหลัก การทำงานของ คสช.ทุกกิจกรรมไม่กำหนดกรอบระยะเวลา อยู่ที่สภาพแวดล้อม ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนโดยต้องให้ความมั่นใจแก่ คสช.เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้เรื่องของการต่อต้านผ่านโซเชียลมีเดีย จะตรวจสอบเส้นทางอิเล็กทรอนิกส์และปิดกั้น หาตัวผู้โพสต์ ส่วนเรื่องคณะที่ปรึกษา คสช.อยู่ในระหว่างพิจารณาแต่งตั้ง
@ ปล่อยตัวบุคคลแล้ว 124 คน
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า สำหรับยอดตัวเลขบุคคลที่ คสช.มีคำสั่งเรียกรายงานตัว จนถึงวันที่ 28 พฤษภาคม จำนวน 253 คน มารายงานตัว 200 คน ในจำนวนนี้ได้รับการปล่อยตัว 124 คน โดย คสช.ได้ดำเนินการทำประวัติ สร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความเห็น และขอความร่วมมือลดความขัดแย้งในประเทศเรียบร้อยแล้ว เหลืออีก 76 คนยังไม่ได้ปล่อยตัว ส่วนบุคคลยังไม่มารายงานตัว 53 คน และมี 4 คนขัดขืน ประกอบด้วยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด คสช.จะมีมาตรการด้านกฎหมาย เช่น การระงับการทำธุรกิจต่อไป ในการปล่อยตัวมีการลงนามตกลงในหนังสือยืนยันว่าได้รับการปล่อยตัวและต้องแจ้งที่พักอาศัยเพื่อสะดวกในการประสานงาน และขอให้งดการแสดงออกที่ทำให้สังคมเกิดความสับสน และหากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ต้องแจ้งให้ คสช.รับทราบด้วย ทุกคนให้ความร่วมมือกับ คสช.เป็นอย่างดีและเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์กับ คสช. และเมื่อเราดำเนินการตามกระบวนการปรองดองสมานฉันท์แล้ว บุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญจะเข้ามาดำเนินการในศูนย์ต่างๆ ต่อไป
@ เผยแกนนำมีทัศนคติดีขึ้น
พ.อ.ณัฐวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการดูแลบุคคลที่รายงานตัวนั้นได้ควบคุมตัวไว้ที่บ้านพักรับรองนายทหารสัญญาบัตรตามหน่วยทหารต่างๆ อาจไม่ได้หรูหรา แต่ยืนยันว่าอยู่ดีตามอัตภาพ ไม่มีการทำร้ายหรือพันธนาการ แต่ละคนเป็นผู้นำมวลชนมีทัศนคติที่ดีขึ้น ส่วนที่มีการรายงานว่า คสช.รวบตัว พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกรัฐมนตรี รวบตัวที่สนามบิน จ.อุดรธานีนั้น ในข้อเท็จจริง พล.ต.อ.ประชาไปรายตัวที่มณฑลทหารบกที่ 44 ตรงตามที่กำหนด และเราไปเชิญตัวมาอยู่ในที่ที่กำหนดไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นทีมโฆษก คสช.ได้เปิดภาพวิดีโอให้เห็นความเป็นอยู่ของบุคคลที่ถูกควบคุมตัว อาทิ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รวมทั้งนายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีตรองนายกรัฐมนตรี ภาพที่ปรากฏเป็นการถ่ายในบ้านพัก ไม่เปิดเผยสถานที่ ในห้องมีเครื่องปรับอากาศ มีเตียงนอน มีโทรทัศน์ให้ชม และทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
@ ตลก.ทหารแจงอ๋อยขึ้นศาลทหาร
ที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช หัวหน้าสำนักตุลาการศาลทหาร กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ที่ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของ คสช.ว่า คดีนี้เหมือนกับคดีอาญาทั่วไป ทว่าการพิจารณาคดีของศาลทหารในขณะนี้เป็นเวลาไม่ปกติ จำเลยสามารถมีทนายความแก้ต่างได้ตามธรรมนูญศาล ถ้ารับสารภาพ ก็ไม่ต้องรอสืบพยาน และสามารถตัดสินคดีได้เลย แต่ถ้าปฏิเสธขอต่อสู้คดีก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพื่อให้ฝ่ายโจทก์ยื่นพยานนำสืบตาม ป.วิอาญา ไม่สามารถระบุได้ว่าใช้เวลากี่วันถึงจะพิจารณาเสร็จสิ้น แต่จะให้รวดเร็วที่สุด "ในระหว่างพิจารณาคดีสามารถฝากขังได้ครั้งละ 12 วัน จนครบ 84 วัน คาดจะใช้เรือนจำของกรมราชทัณฑ์ในการควบคุมตัว ก็ต้องยอมรับว่าหลังจากนี้คงมีคดีความจำนวนมากเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร ศาลก็ต้องทำงานหนักขึ้น แม้จะมีตุลาการศาลทหารจำนวนจำกัด ขอยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุดและเร็วที่สุด คดีความที่ฝ่าฝืนหรือขัดคำสั่ง คสช. ต้องระวางโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนายจาตุรนต์ถือเป็นพลเรือนคนแรกถูกนำขึ้นศาลทหาร" พล.ร.ท.กฤษฎากล่าว
@ ส่งอ๋อยขึ้นศาลทหารคดีขัดคำสั่ง
เมื่อเวลา 16.45 น. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำลังเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร ควบคุมตัวนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยรถตู้สีขาว ทะเบียน ฮธ 9337 กรุงเทพมหานคร มีกำลังทหาร 8 นาย เฝ้ารักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยนายจาตุรนต์สวมเสื้อเชิ้ตลายสก๊อตสีฟ้า แขนยาว กางเกงสีดำ มีสีหน้ายิ้มแย้ม เดินลงจากรถมาพบกับ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. ที่รอรับอยู่ ก่อนขึ้นไปยังห้องประชุมสุรสีหนาท ชั้น 2 ทันที โดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด จากนั้นพนักงานสอบสวน บก.ป. ทยอยเข้าสอบปากคำนายจาตุรนต์ หลังสอบปากคำเสร็จสารวัตรทหารร่วมกับตำรวจ บก.ป.ควบคุมตัวนายจาตุรนต์ไปขึ้นศาลทหารทันที เพื่อไปดำเนินคดีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนั้นทาง คสช.ได้สั่งอายัดการทำธุรกรรมทางการเงินของนายจาตุรนต์ไว้แล้ว ทั้งนี้นางจิราภรณ์ ฉายแสง ภรรยาของนายจาตุรนต์ พร้อมทนายความ ที่เดินทางมายัง บก.ป. ไม่สามารถขอประกันตัวได้
@ เข้าเรือนจำกลางกรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร โดยขั้นตอนศาลทหารตามประกาศฉบับที่ 37 เมื่อจับผู้ที่กระทำความผิดจะต้องส่งให้พนักงานสอบสวน ณ สน.เกิดเหตุเป็นผู้รวบรวมสำนวนหลักฐานว่าเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ จากนั้นจะส่งให้อัยการในเขตพื้นที่เพื่อตรวจสอบสำนวนและหลักฐานว่ามีเพียงพอหรือไม่ และขั้นตอนต่อไปถึงดำเนินการส่งตัวไปพิจารณาที่ศาลทหาร และจากนั้นจะส่งตัวไปที่เรือนจำพลเรือนต่อไป ทั้งนี้ภายใต้กฎอัยการศึกไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ แต่สามารถตั้งทนายเพื่อสู้คดีความได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ศาลได้คัดค้านการประกันตัวและอนุมัติฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน โดยนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนจะยื่นสำนวนส่งอัยการทหาร เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนที่มารอไม่หนักใจไม่เครียด และไม่ได้กังวลใดๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการฝากขัง และจะไปรายงานตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
@ บิ๊กตู่สั่งเพิ่มกำลังพลข่าวกรอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สนข.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงบประมาณและสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้หารือถึงการปรับโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ส่วนสำนักงานข่าวกรองให้พิจารณาบรรจุกำลังพลเพิ่มเติม เพื่อรองรับงานด้านการข่าว พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายบางฉบับของ กอ.รมน. รองรับการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและการบริหารจัดการกำลังพล
@ ให้ศอ.บต.เพิ่มกลไกระดับอำเภอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ยึดกลไกศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ในการบูรณาการ เพื่อเชื่อมโยงกับงานด้านการพัฒนาและความมั่นคง ตามระดับของพื้นที่ จำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ เช่น การเพิ่มปลัดอำเภอและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) รวมทั้งการเพิ่มบทบาทกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนสำนักงบประมาณให้จัดทำร่างงบประมาณประจำปี 2558 เสนอ คสช. รวมทั้งจะหารือส่วนราชการเพื่อนำเสนอมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2557 เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าร้อยละ 95 ในเดือนกันยายนนี้ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายวิธีการงบประมาณ ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมสามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ ในส่วน สศช.จะรวบรวมแผนงานหรือโรดแมปของหัวหน้า คสช. จัดทำยุทธศาสตร์ หากมีเกิดความซ้ำซ้อนให้เสนอให้หัวหน้า คสช.พิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้จะนำเสนอความเป็นไปได้และความเร่งด่วนในการจัดเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายหัวหน้า คสช. รวมทั้งเสนอแนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2557
@ มท.จี้ผู้ว่าฯตั้งศูนย์ปรองดอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานปลัดกระทรวง ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดส่งไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) ทุกจังหวัด เรื่องแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วน มีนายประภาศ บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทยปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ลงนาม ระบุว่า คสช.ในส่วนของฝ่ายความมั่นคงมอบหมายภารกิจสำคัญเร่งด่วนเกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงให้จังหวัดดำเนินดังนี้ 1.ให้กำชับหน่วยงานรับผิดชอบ และบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ รวมถึงสร้างจิตสำนึกภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.จังหวัดใดยังไม่ได้ใช้งบพัฒนาจังหวัด ให้จัดทำแผนงานและโครงการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน 3.ให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพช่วยเหลือตนเองได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ลดแนวทางประชานิยม 4.กำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอาสาสมัครทุกหมู่เหล่าร่วมกันสอดส่องและจับกุมอย่างจริงจังในเรื่องการพนันทุกประเภท หากมีการปล่อยปละละเลยหรือมีข้าราชการผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องถูกลงโทษ ทั้งทางวินัยและทางอาญาจนถึงที่สุด และ 5.ให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ระดับจังหวัด โดยรับสมัครอาสาสมัครช่วยทำงานด้านประชาสัมพันธ์ ให้ความร่วมมือกับภาคราชการเพื่อเดินหน้าการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้องและยั่งยืน ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง และทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งมุ่งเน้นให้ประชาชนไทยมีระเบียบวินัยรักษากฎหมายยิ่งขึ้น
@ นัดที่ปรึกษาถกแบ่งงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 29 พฤษภาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้เชิญคณะที่ปรึกษา คสช. ที่ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธาน 2.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รองประธาน 3.ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองประธาน 4.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา 5.นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษา 6.นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา 7.นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษา 8.พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ที่ปรึกษา 9.พล.อ.นภดล อินทปัญญา ที่ปรึกษา 10.พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ที่ปรึกษาและเลขานุการ เพื่อประชุมหารือ สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะที่ปรึกษา คสช. คือการเสนอแนะแสดงความคิดเห็น เรื่องที่อยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจาก คสช. พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะบุคคลทำหน้าที่คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน เจ้าหน้าที่ โดยต้องเสนอผ่าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช.
@ รถตู้นำแกนนำนปช.เข้าทบ.
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศด้านหน้าหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ หลังจาก คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 25/2557 ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติมอีก 7 คน ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ภายในเวลา 10.00-11.00 น. ว่า ในเวลา 09.20 น. มีรถตู้ราชการสีขาว 5 คัน มีรถฮัมวี่ขับนำและปิดท้ายขบวนขับเข้าไปด้านในหอประชุมกองทัพบก โดยภายในรถตู้มีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นายขวัญชัย ไพรพนา หรือขวัญชัย สาราคำ และนายนิสิต สินธุไพร แกนนำ นปช. รวมถึงนายไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูกควบคุมตัวมาภายในรถตู้ด้วย
@ ศรรักษ์เข้ารายงานตัวแล้ว
กระทั่งเวลา 10.55 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมาลัยรักษ์ ทองชัย หรือศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษกกลุ่มสื่อวิทยุเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ได้เดินทางมารายงานตัว หลังจากมีชื่อในคำสั่งฉบับก่อนหน้าให้มารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ติดธุระจึงไม่ได้มารายงานตัวในวันดังกล่าว นายมาลัยรักษ์เดินเท้ามาพร้อมกับนายสมศักดิ์ ล้อเพชรรุ่งเรือง เลขาธิการกลุ่ม กวป. และคนใกล้ชิดอีก 2 คน มาที่ด้านหน้าหอประชุมกองทัพบก
แหล่งข่าวคนใกล้ชิดของนายสมศักดิ์ กล่าวว่า นายสมศักดิ์ติดตามเข้าไปด้านในหอประชุมกองทัพบก เพราะจะถามเจ้าหน้าที่ทหารว่า ไม่มีชื่อในคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. แต่ทำไมถูกเจ้าหน้าที่ทหารคุกคาม เพราะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาค้นบ้าน รวมถึงถามหาเจ้าตัวในที่ทำงาน รวมถึงมีทหารมาเฝ้าอยู่หน้าบ้านที่ถนนสุขาภิบาล 5 ซอย 58 ทั้งวัน นับตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจเป็นต้นมา หากนายสมศักดิ์มีชื่อในคำสั่งรายงานตัวก็จะได้รายงานตัว หากไม่มีชื่อก็ขอให้หยุดคุกคามได้แล้ว
@ สันธนะปูดนักธุรกิจคุยทหาร
จากนั้นเวลา 11.10 น. พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรองผู้กำกับการตำรวจสันติบาล ได้เดินเท้ามารายงานตัว กับคนสนิท พร้อมสัมภาระและได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารายงานตัวว่า ได้รับเกียรติจากหัวหน้าคณะ คสช.เรียกมารายงานตัว พร้อมจะชี้แจงประเด็นต่างๆ กับ คสช. เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 27 พฤษภาคม ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่มีนักธุรกิจอาวุโสรายหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังหารืออยู่กับคนสนิทของนายทหารท่านหนึ่ง ดังนั้นก็อาจจะมีการหารือเพื่อต่อรองผลประโยชน์ ไม่อยากจะระบุชื่อ แต่บอกข้อมูลได้ว่านักธุรกิจรายนี้มีธุรกิจอยู่แถวย่านราชประสงค์
@ ลูกหมอเหวง-ทนายนปช.บุกทบ.
ที่บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) นพ.สลักธรรม โตจิราการ บุตรชายของ นพ.เหวง โตจิราการ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำกลุ่ม นปช. พร้อมด้วย นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความกลุ่ม นปช. ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องขอทราบสถานภาพความเป็นอยู่และขอเข้าเยี่ยมผู้ถูกกันตัวโดยคำสั่ง คสช. โดยมี พ.ต.บุญลือ สะอาดดี นายทหารเวรเป็นตัวแทนรับหนังสือ
นพ.สลักธรรมกล่าวว่า มายื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช. เนื่องจากบิดาและมารดาของตนถูกควบคุมตัวโดยคำสั่งของ คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ตนก็ยังไม่ทราบว่าบิดาและมารดาของตนอยู่ที่ไหนและมีสภาพอย่างไร มีแกนนำ นปช. นักวิชาการและประชาชนที่มาร่วมชุมนุมถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหนและนานแค่ไหน จึงได้ร่วมกับญาติของแกนนำ นปช.มีข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ขอให้ คสช.แจ้งว่าคนเหล่านั้นถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน อนุญาตให้ญาติและทนายเข้าเยี่ยม มอบสิ่งของจำเป็น เช่น ยารักษาโรคประจำตัว เครื่องนุ่งห่ม และของใช้ส่วนตัวให้ผู้ถูกควบคุมตัว และ 2.ขอให้ คสช.ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคน โดยคำสั่งของ คสช.
นายวิญญัติกล่าวว่า ตั้งแต่ คสช.เข้าควบคุมประเทศได้ใช้อำนาจในการควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ในมาตรา 15 ของกฎหมายดังกล่าวระบุว่าสามารถควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน และวันนี้เป็นวันสุดท้ายสำหรับบางรายที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงเป็นความหวังของญาติและทนายความว่าคนเหล่านั้นจะได้รับการปล่อยตัวอย่างเร็วที่สุด และได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม
@ ย้ายผบช.ภ.3 เข้าศปก.ตร.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงดึกวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ลงนามคำสั่ง ตร.ที่ 262/2557 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการ โดยคำสั่งย้ายระดับ ผู้บัญชาการ (ผบช.) ถึง ผู้กำกับการ (ผกก.) จำนวน 16 ราย ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) โดยขาดจากตำแหน่งเดิมและมีคำสั่งที่ 263/2557 ให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทน จำนวน 10 ราย ระบุเหตุผลเพื่อให้การปฏิบัติราชการ ตร.และการสนับสนุนภารกิจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพดังมีรายชื่อต่อไปนี้
พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ กลิ่นพงษา ผบช.ภ.3 ช่วยราชการ ศปก.ตร.ให้ พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.รักษาราชการแทน (รรท.) ผบช.ภ.3 พล.ต.ต.กริช กิติลือ ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ช่วยราชการ ศปก.ตร.ให้ พล.ต.ต.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบช.ภ.5 รรท.ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ พล.ต.ต.คัชชา ธาตุศาสตร์ ผบก.ภ.จว.ชลบุรี ช่วยราชการ ศปก.ตร.ให้ พล.ต.ต.ธเนตร์ พิณเมืองงาม รอง ผบช.ภ.2 รรท.ผบก.ภ.จว.ชลบุรี พล.ต.ต.ชอบ คิสาลัง ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ช่วยราชการ ศปก.ตรให้ พล.ต.ต.จตุพล ปานรักษา รอง ผบช.ภ.4 รรท.ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น
@ 'อุดร-ขอนแก่น-เชียงใหม่'โดน
พล.ต.ต.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบก.ภ.จว.นนทบุรี ช่วยราชการ ศปก.ตร. ให้ พล.ต.ต.วิรุฬ เอี่ยมไพจิตร์ รอง ผบช.ภ.1 รรท.ผบก.ภ.จว.นนทบุรี พล.ต.ต.ธัชชัย หงษ์ทอง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ช่วยราชการ ศปก.ตร. และให้ พล.ต.ต.ทวิชชาติ พละศักดิ์ รอง ผบช.ภ.1 รรท.ภ.จว.สมุทรปราการ พล.ต.ต.บุญลือ กอบบางยาง ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ช่วยราชการ ศปก.ตร. ให้ พล.ต.ต.วีระพงษ์ ชื่นภักดี รอง ผบช.ภ.4 รรท.ผบก.ภ.จว.อุดรธานี พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ ผบก.สส.บช.น. ช่วยราชการ ศปก.ตร. ให้ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบช.สนง.ยุทธศาสตร์ตำรวจ รรท.ผบก.สส.บช.น. พล.ต.ต.วัลลภ ประทุมเมือง ผบก.น.6 ช่วยราชการ ศปก.ตร. ให้ พล.ต.ต.ชาญเทพ เสสะเวชรอง ผบช.น.รรท.ผบก.น.6 พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผบก.น.1 ช่วยราชการ ศปก.ตร. ให้ พล.ต.ต.สุธีร์ เนรกัณฐี รอง ผบช.น.รรท.ผบก.น.1 พ.ต.อ.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบก.น.5 พ.ต.อ.กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น พ.ต.อ.กิตติสินธุ์ คงทวีพันธ์ ผกก.สภ.เมืองเชียงใหม่ พ.ต.อ.โกวิท เจริญวัฒนศักดิ์ ผกก.สภ.เมืองอุดรธานี พ.ต.อ.ศุภชัย ผุยแก้วคำ ผกก.สภ.เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และ พ.ต.อ.สมพล วงศ์ศรีสุนทร ผกก.สภ.เมืองนนทบุรี ช่วยราชการ ศปก.ตร.
@ วัชรพลแจงไม่ได้ทำผิดอะไร
พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า เป็นการปรับคนทำงาน เนื่องจากคำสั่งก่อนหน้านี้เป็นการปรับระดับ ผบช.ไปแล้ว คราวนี้มี ผบก.ภ.จว.บางส่วน และ ผกก.โรงพักที่จำเป็นต้องปรับคนไปทำงานเพื่อให้กระบวนการแก้ไขปัญหาความสงบเรียบร้อย และการสร้างความสามัคคีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
"ในระดับ ผกก.ที่ย้ายเพราะหากเห็นว่าการควบคุมการทำหน้าที่ในพื้นที่มีปัญหาก็ต้องให้ถอยออกมา แล้วหาคนที่เข้มแข็งในช่วงนี้ไปทำหน้าที่แทน คนที่ถูกย้ายอาจไม่ได้ทำผิดอะไร แต่อาจมีปัจจัยทำให้ประสิทธิภาพการดูแลความสงบเรียบร้อยดีขึ้น คงไม่โยกย้ายถึงสารวัตรเพราะได้กำชับ ทั้ง ผบช. ผบก. และ ผกก.ลงไปแล้ว ก็ต้องดูในระดับเล็กลงไป หากทำไม่ได้ก็ต้องให้ถอยออกมาตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. บอกไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายระส่ำระสายใน ตร. หากมีการปรับย้ายใคร ต้องหารือกับผมและ ผบช.ร่วมพิจารณาด้วย อยากให้ตำรวจทั่วประเทศเชื่อมั่นและทำหน้าที่ให้เต็มที่" รรท.ผบ.ตร.กล่าว
@ ลั่นย้ายไม่ต้องหารือคสช.
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ตอนนี้ไม่น่ามีปัญหาแล้ว ดูดีขึ้นหมดแล้ว ส่วนระดับ ผบก.จะมีโยกย้ายอีกหรือไม่ ถ้าทำหน้าที่ก็ไม่มี ถ้าไม่ทำหน้าที่ก็เป็นธรรมดา การไม่ทำหน้าที่คือไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้ ไม่ทำหน้าที่ตำรวจที่แท้จริง ตอนนี้คิดว่าไม่มีพื้นที่ไหนควบคุมไม่ได้แล้ว ตอนนี้ตำรวจทำงานได้เต็มที่แล้ว ไม่ต้องเอากำลังมาดูแลความสงบเรียบร้อยส่วนอื่นแล้ว ดูแลพื้นที่ได้เต็มที่ เชื่อว่า ตร.ควบคุมได้แน่นอน ทุกคนที่ย้ายมาช่วยราชการไม่ผิด ไม่บกพร่องอะไร ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสืบสวนหรือสอบสวนข้อเท็จจริงแต่ย้ายเพื่อความเหมาะสม ปรับเปลี่ยนกำลังมาพักผ่อน มาช่วยงานใน ศปก.ตร.ให้คนเหมาะสมกับภาวะตรงนี้เข้าไปทำหน้าที่สับเปลี่ยนกันธรรมดา
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลายคนถูกย้าย อยู่ฝ่ายรัฐบาลเดิมหรือตรงข้าม คสช. บางคนคุมพื้นที่เคลื่อนไหวคนเสื้อแดง พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ไม่มีหรอกทุกคนคือตำรวจ ระหว่างการทำงานเป็นธรรมดารู้จักคนนั้นคนนี้ ทุกคนคือข้าราชการตำรวจ ตนยังถูกตั้งข้อสังเกต การย้ายตนดูจากปัจจัยหลายๆ ด้าน สื่อมวลชนเองยังตั้งข้อสังเกตถึงการอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ตร.ก็ตั้งข้อสังเกตเช่นกัน ก่อนพิจารณาย้าย นี่คือข้อมูลที่ใช้พิจารณาย้าย
เมื่อถามว่า การโยกย้ายแต่ละครั้งต้องหารือ คสช.หรือที่ปรึกษา คสช.หรือไม่ รรท.ผบ.ตร.กล่าวว่า ย้ายแต่ละครั้งตนไม่ต้องหารือ คสช. เนื่องจาก คสช.ตั้งให้มาทำหน้าที่ ก็ต้องทำให้ได้ ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงก็ต้องพิจารณาตนเช่นกัน
@ รับลูกคสช.จี้ปราบอบายมุข
พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวถึงกรณี คสช.มีคำสั่งเข้มงวดเรื่องบ่อนการพนัน อบายมุข สลากกินรวบ หรือหวยใต้ดิน ทั่วประเทศว่า เป็นนโยบายของ ตร.อยู่แล้ว มีหนังสือกำชับ มีมาตรการปฏิบัติกับผู้ที่ละเลยอยู่แล้ว กรณีล่าสุดจับบ่อนที่ จ.ชลบุรีนั้น ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หากบกพร่อง ผู้รับผิดชอบต้องรับการพิจารณาโทษทัณฑ์ ไม่มีแนวคิดตั้งชุดเฉพาะกิจของ ตร.ลงไปปราบปรามจับกุม แต่หากท้องที่ละเลยก็มีหน่วยตรวจสอบอยู่แล้ว ในส่วนของการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันนั้น มีการตั้งคณะทำงาน มีหน่วยงานตรวจสอบการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี มีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องนี้ เป็นความเร่งด่วนระดับสูงสุดของ ตร.ต้องตรวจสอบผู้ที่ละเมิด หากพบว่ามีความผิดต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบตามขั้นตอนก่อนปิด ตรงไปตรงมาชัดเจน คนที่หนีคดีก็พยายามสืบสวนหาตัว กรณีนายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ ผู้ต้องหาหมิ่นสถาบัน มีข้อมูลว่าหลบหนีออกนอกประเทศ การติดตามจับกุมระหว่างประเทศมีการประสานอย่างต่อเนื่อง เป็นขั้นตอน
@ ตร.ถกทหารปฏิบัติงานร่วม
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. ฐานะดูแลงานด้านความมั่นคง กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับ พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบช.น. (รรท.ผบช.น.) พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต พล.ต.ต.สําเริง สุวรรณพงษ์ รอง ผบช.น. รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1-9 รับผิดชอบกองร้อยอารักขาควบคุมฝูงชน (อคฝ.) ฐานะ ผบ.ร้อย ทั้ง 25 กองร้อย เพื่อหารือแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกับทหารว่า พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 สั่งการให้ตำรวจสนับสนุนการทำงานของ คสช. และทหาร ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนทำความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ช่วงนี้ รวมถึงเรื่องเบี้ยเลี้ยง ทราบว่าปัญหาเบี้ยเลี้ยงยังมีค้างจ่ายมานานหลายเดือน โดยจะเร่งแก้ไขปัญหาภายใน 7 วัน เบี้ยเลี้ยงส่วนหนึ่งจะถึงผู้ใต้บังคับบัญชา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายหลังจากที่รับนโยบายมาแล้ว มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นแล้วบ้าง พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ปัญหาที่มีอยู่ทุกวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร หากตำรวจและทหารได้ทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้า คสช. สามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน อาทิ เร่งเบิกจ่ายเงินให้ชาวนา แสดงให้เห็นว่า คสช.ตั้งใจแก้ปัญหา จึงต้องให้เวลา คสช.สักระยะในการแก้ไขปัญหา และเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจการทำงานดังกล่าว
@ ปรับกำลังพลดูแลม็อบ
พล.ต.ท.จักรทิพย์ กล่าวว่า กำลังที่ใช้ทั้งหมดในการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่นครบาลมี 28 กองร้อย ปกติการชุมนุมครั้งใหญ่จะนำกำลังทั้งหมดมารวมกันไว้ที่ บช.น. แต่สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น จึงใช้กำลัง อคฝ.จาก บกน. 1-9 มาดูแลและใช้กำลัง บก.อคฝ. เป็นกำลังสำรองไว้ ใน 1 กองบังคับการจะมีกำลัง 3 กองร้อย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ยกตัวอย่างกรณีที่มีการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ใช้กำลังจาก บก.น.1 ถ้าผู้ชุมนุมมาก ให้ทาง บกน.1 ร้องขอกำลังเสริมมาที่ บช.น. จะจัดกำลังไปช่วยเหลือ แต่ขณะนี้มีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารเพียง 4 แห่ง คือ บก.น.1 บก.น.2 บก.น.5 บก.น.6 มีจำนวนค่อนข้างน้อย สามารถใช้กำลังของพื้นที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยได้
@ ชี้เจอบ่อนพื้นที่ใดสั่งย้าย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแต่งตั้งโยกย้ายผู้บังคับบัญชาในพื้นที่นครบาล มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดหรือไม่ พล.ต.ท.จักรทิพย์กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบ เพราะระบบราชการมีการปรับย้ายกันตลอด เพื่อความเหมาะสมตามนโยบาย คงไม่ถึงขนาดว่าหัวหน้าโดนย้ายไปแล้ว ลูกน้องจะไม่ทำงาน
เมื่อถามว่า คสช.ได้มีประกาศห้ามเล่นการพนันนั้น ตำรวจนครบาลจะทำอย่างไร พล.ต.ท.จักรทิพย์กล่าวว่า ได้สั่งการกรณีดังกล่าวว่า ห้ามมีบ่อนการพนัน ตู้ม้า รวมถึงการพนันต่างๆ ถ้าพบจะพิจารณาข้อบกพร่องหรือปรับย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องตรวจสอบและจับกุมเมื่อพบเห็นทันที ทาง คสช.และ ตร.ได้สั่งการออกมาแล้ว ส่วนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับท่อน้ำเลี้ยงหรือไม่นั้น ไม่ทราบ แต่กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลไปแล้ว หากสื่อมวลชน หรือประชาชนพบเห็นว่าลักลอบเล่นการพนัน ก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ
ส่วนกรณีของ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. อดีตรอง ผบช.น. จะมาช่วยราชการที่ บช.น.อีกครั้ง พล.ต.ท.จักรทิพย์กล่าวว่า พล.ต.อ.วัชรพลได้มีคำสั่งให้ พล.ต.ต.อำนวยมาช่วยราชการที่ บช.น.แล้ว คาดว่าจะให้มาดูแลงานด้านสอบสวน และงานจราจร
@ ราชทัณฑ์พร้อมรับคำสั่งคสช.
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณี คสช.มีคำสั่งให้เรือนจำกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติตามหมายของศาลทหารว่า กรมราชทัณฑ์พร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.หากมีการส่งตัวผู้ต้องขังจากศาลทหาร โดยเตรียมส่งตัวผู้ต้องขังเข้าควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สามารถรองรับผู้ต้องขังเหล่านี้ได้ เพราะมีจำนวนไม่มาก เพิ่งส่งตัวขึ้นศาลทหารเพียงรายเดียวคือนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับการจะย้ายตัวผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไปไว้ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่หรือไม่นั้น เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ถือเป็นเรือนจำสาขาของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ การจะแยกไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวหรือไม่ ผบ.เรือนจำจะเป็นผู้พิจารณา แต่ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของ คสช. ทั้งนี้ ยังไม่ได้