- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 27 November 2014 10:53
- Hits: 5517
วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8765 ข่าวสดรายวัน
อลงกรณ์ แถลงชัด อำลาปชป. รวบแล้วมือทำใบปลิว โปรยอนุสาวรีย์ปชต. มช.ลบวุ่นพ่นสีต้านปว. กมธ.ชู 1,350 เวทีปฏิรูป คสช.ปัดห้ามปูไปนอก
บิ๊กตู่รำวง- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และภริยา ร่วมรำวงกับนายทองสิง ทำมะวง นายกฯ สปป.ลาว ในงานเลี้ยงต้อน รับที่กรุงเวียงจันทน์ ระหว่างการเยือนสปป.ลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 พ.ย.
ตำรวจ-ทหารสนธิกำลังจับสถาปนิกหนุ่มใหญ่ อยู่เบื้องหลังทำใบปลิว ให้ จยย.ไปโปรยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ค้นบ้านพบใบปลิวพร้อมหลักฐานเสื้อม็อบนกหวีด อุปกรณ์การพิมพ์ ยันไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ส่วนมือโปรยไปจับได้ที่เพชรบุรี เตรียมส่งศาลทหาร มหา"ลัยเชียงใหม่ลบวุ่น มือดีพ่นสีสเปรย์กลางถนน ข้อความต้านรัฐประหาร ม.เที่ยงคืนแถลงการณ์จี้เลิกกฎอัยการศึก-ประกาศคสช. ฮิวแมนไรต์วอตช์วิจารณ์ 6 เดือนรัฐบาล ปิดกั้นเสรีภาพพื้นฐาน อนุฯชงกมธ.ยกร่างกำหนดในรธน. ตั้งกรรมการปรองดอง 3 ฝ่าย นิรโทษคู่ขัดแย้ง "อลงกรณ์"ยื่นลาออกจากสมาชิกปชป.
'บิ๊กตู่'ยันต่างชาติไทยเลิกทะเลาะ
เวลา 09.00 น. วันที่ 26 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2557 แก่ผู้ประกอบการด้านต่างๆ พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า ยืนยันรัฐบาลกำลังเดินหน้าประเทศ หยุดสิ่งที่ไม่ดี ไม่เรียบร้อย พยายามนำเอาสิ่งดีๆ มาขับเคลื่อนประเทศเดินไปข้างหน้า สิ่งสำคัญ คือการลดความขัดแย้ง ต้องเลิกทะเลาะเบาะแว้งกัน ส่วนจะผิดหรือถูกก็ต้องว่ากัน และตนยืนยันจะเดินหน้าประเทศโดยทุกคน ต้องอยู่ด้วยกัน
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกติกาการเข้ามาลงทุนในไทยใหม่ ในทางที่ดีขึ้นทั้งสิทธิประโยชน์ บีโอไอปรับใหม่ทั้งหมดเพื่อความยั่งยืนในการลงทุน ลดขั้นตอนความยุ่งยาก อำนวยความสะดวก เพิ่มสิทธิประโยชน์ นักลงทุนต่างประเทศต้องการมาลงทุนในไทย แต่คำถามแรกมักถามว่าประเทศไทยเลิกทะเลาะกันหรือยัง ตนยืนยันและชี้แจงไปแล้วว่าวันนี้คนไทยยิ้มแย้มแจ่มใสกันทุกคน มีแต่ความสบายใจเพราะไม่มีปัญหา ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. ยังไม่มีใครตายหรือเจ็บสักคน ตอนนี้ทุกอย่างนิ่งสนิท นักลงทุนพร้อมมาลงทุนในไทยเพราะคนไทยน่ารัก เว้นแต่เวลาที่คนไทย ไปรวมอยู่ด้วยกัน มักทะเลาะกัน แต่ยืนยัน ไปแล้วว่าทุกอย่างเลิกหมดแล้ว จึงมีคำยืนยันว่าเขาพร้อมเข้ามาลงทุนในปีนี้มากขึ้น ที่ผ่านมาต่างประเทศเข้าใจว่ารัฐบาลเข้ามาจะต้อง ยึดทรัพย์ ยึดอำนาจ ยึดกิจการ แต่ยืนยันว่า การเข้ามาบริหารประเทศนั้น ไม่ได้เข้ามา ยึดทรัพย์ ยึดอำนาจ แต่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้ทุกฝ่าย รวมทั้งชาวต่างชาติ รัฐบาลจะดูแลและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่
ปีใหม่เปิดค่ายทหารขายของถูก
นายกฯ กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันลดปัญหาขัดแย้ง ซึ่งปัญหาเกิดจากความเหลื่อมล้ำและความยากจน เมื่อมีคนปลุกระดมก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับภาครัฐเพราะ ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ก็ต้องหา คนโทษ ต่อให้ตนทำให้ดีอย่างไรก็หาทาง มากล่าวหา มีคนมาชู 5 นิ้ว 8 นิ้วไปเรื่อย ไม่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะประเทศเรายังไม่ได้ร่ำรวย ดังนั้น ทุกฝ่าย ต้องช่วยกัน หากดูแลผู้มีรายได้น้อยได้ปัญหาจะลดลง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปีใหม่นี้รัฐบาล จะเปิดตลาดทั่วประเทศเพื่อขายสินค้าราคาถูก ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการต่างๆ ตนจะเปิดหน่วยทหารทุกหน่วยในกรุงเทพฯ เปิดท้ายรถขายของราคาถูก นำสินค้ามือสอง สินค้าอุปโภคบริโภคมาจำหน่าย หรือแจกฟรีให้กับประชาชน แต่ต้องประทับตราป้องกันการนำสินค้าที่ได้รับแจกฟรีมาเวียนเทียนขายอีกทอดหนึ่งด้วย ปัญหาทั้งหมดจะแก้ได้ หากนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องความซื่อสัตย์ ช่วยเหลือเผื่อแผ่แบ่งปัน ดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
ชี้วันนี้เป็นปชต.มากกว่าปกติ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การไปต่างประเทศของตนเพื่อหาช่องทางลงทุน สร้างความ เชื่อมั่นให้ประเทศ ควรดูว่าเมื่อกลับมาแล้วประเทศได้ประโยชน์อะไร วันนี้ได้รับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นพอสมควรแม้ตนจะเข้ามาแบบนี้ก็ตาม แต่อนาคตข้างหน้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องทำแบบที่ตนทำ ยืนยันรัฐบาลพยายามลดแรงกดดันต่างๆ ไม่ใช้อำนาจ ความรุนแรงใดๆ พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกคน วันนี้ถือว่าเราเป็นประชา ธิปไตยมากกว่าประชาธิปไตยปกติ
จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กรณีระบุรัฐบาลนี้เป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐบาลอื่นว่า ตนไม่ได้อึดอัดใจ เพราะทุกคนเรียกร้องประชาธิปไตย เราพยายามใช้หลักการทางประชาธิปไตยให้มากที่สุด แต่การแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมต้องอยู่ในขอบเขต ต้องยอมรับว่ามันต้องเป็นประชา ธิปไตยที่มีกติกา ที่ผ่านมาเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เสรีภาพ อยากทำอะไรก็ทำแล้ววุ่นวายหรือไม่ ตนไม่ปฏิเสธ แต่อย่าให้เกิดขึ้นอีกในวันหน้า เมื่อตนไม่อยู่แล้วก็ทำกันไปแต่วันนี้ตนต้องขอกติกาตรงนี้ เพื่อจะแก้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในวันหน้า
เมื่อถามว่า คิดว่านายกฯไม่เป็นเผด็จการเกินไปใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เผด็จการตรงไหน คำว่าเผด็จการคือการยึดอำนาจ ผลประโยชน์ การค้า การลงทุนหยุดทั้งหมด เป็นสินทรัพย์ของผู้นำ ตนทำอะไรแล้วหรือยัง มีอะไรเป็นของตนเอง สลึงหนึ่งได้สักอย่างหรือไม่ แล้วตนต้องมาหงุดหงิด อารมณ์เสียบ้าง ต้องมาตอบคำถาม แต่อยากถามว่าตนทำเพื่ออะไร เพื่อใคร ขอให้ดูเจตนา อย่ามาบอกตนอย่างนี้อย่างนั้น ตนไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น แต่ถ้ามันเกิดก็ต้องไปว่ามา
ไม่ตอบ 22 พ.ค.รัฐประหารครั้งสุดท้าย
เมื่อถามว่าส่วนตัวต้องการให้รัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายของไทยใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่าไปสนใจว่าจะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย แต่ทำอย่างไรให้ประเทศชาติไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีใครหาเหตุที่จะเข้ามาแก้ปัญหาหรือทำอย่างอื่นได้ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนเข้ามาได้แต่ต้องทำให้เป็นแบบนี้ มีธรรมาภิบาล ไม่ทุจริต โปร่งใส มันมีเผด็จการ 2 อย่างไม่ใช่หรือ เผด็จการรัฐสภา ไปทบทวนมาว่าเผด็จการรัฐสภาคืออะไรไปหามา เมื่อถามย้ำว่าจะไม่มีเผด็จการรัฐสภาแล้วใช่หรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงผู้ชุมนุมเครือข่ายชาวสวนยางพาราเรียกร้องให้ถอดพ.ร.บ. การยางเพราะไม่ครอบคลุมเท่าที่ควรว่า ปรับแก้ได้หมด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ปรับแก้ได้ ใครเห็นอย่างไรก็มาพูดคุยกัน ไม่ใช่ว่าเข้ามาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แล้วจะออกมาอย่างนั้นเลย เพราะบางอย่างจำเป็นต้องตีความ
นายกฯ กล่าวว่า เราฟังทุกฝ่าย บางครั้ง ก็เห็นใจว่ากฎหมายเหล่านี้บางทีเตรียมการ ไว้นานแล้วแต่ยังไม่เข้า พอถึงเวลาหนึ่ง เขาเร่งเอาเข้าไปก่อนเพื่อให้ทันพิจารณา อย่าเพิ่งคิดว่ามันจะเสียหาย อยากทำให้มันดีขึ้น เรื่องใดที่ทำให้ถอยหลัง เราไม่ทำ อะไรที่เดือดร้อนมากๆ เราไม่ทำ ถ้าเดือดร้อนน้อยๆ ก็มีบ้าง ถ้าต้านกันหมดเดินหน้าไม่ได้ เอาใจทุกคนคงไม่ได้ อย่างนั้นก็นอนอยู่บ้านดีกว่า
ไม่ห้าม'ปู'ออกนอกประเทศ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีพล.อ.ประยุทธ์ระบุหากพบข้อ เท็จจริงว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ สร้างวาทกรรมที่ก่อให้เกิดความแตกแยก อาจไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศว่า ไม่ว่าใครที่พูดหรือสร้างวาทกรรมสร้างแตกแยก คสช.มีมาตรการดำเนินการแตกต่างกัน ออกไป เพราะนายกฯมี 2 สถานะคือสถานะที่ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้ และสถานะที่บริหารงานตามโรดแม็ปปฏิรูปประเทศ ดังนั้น การเคลื่อนไหว ปลุกระดมให้ประชาชนออกมาทะเลาะกัน ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปแน่นอน
"น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ใหญ่ เราต้องให้เกียรติ เราไม่ได้ห้ามไม่ให้ออกนอกประเทศยังเดินทางไปไหนได้ตามปกติ หากจะเดินทางออกนอกประเทศก็ขออนุญาตคสช. ซึ่งทุกคนทราบดีว่าต้องทำอย่างไร คสช.ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าใครที่แสดงความเห็นออกมาแล้วทำให้มีคนออกมาเคลื่อนไหว คนคนนั้นต้องรับผิดชอบ" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวถึงข่าวรัฐบาลเตรียมตั้งนายคมสัน พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ก.เขตบางพลัด พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกฯว่า ยังไม่ทราบ เรื่องดังกล่าวพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ สั่งการผ่านร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ต้องสอบถามกับ ร.อ.นพ.ยงยุทธ
จนท.รวบ 2 มือโปรยใบปลิว
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีใบปลิวต่อต้านการรัฐประหารและโจมตี คสช. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ วันที่ 23 พ.ย. ล่าสุด เจ้าหน้าที่ได้จับกุม คนโปรยใบปลิวได้แล้ว โดยเวลาประมาณ 23.00 น. วันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.ต.ต. สมบัติ มิลินทจินดา ผบก.สส.บช.น. พร้อม พ.อ.คชาชาต บุญดี ผบ.กรมทหารปืนใหญ่ ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.1 รอ.) นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจาก ป.1 รอ. ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าควบคุมตัวนายสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25/357 ซอยรามคำแหง 124 แขวงและเขตสะพานสูง อาชีพสถาปนิก และนายวชิระ หรือบอย ทองสุข อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 365/16 ม.1 ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 2 ผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโปรยใบปลิวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินกลาง
จับใบปลิว- ทหารเข้าควบคุมตัวนายสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา อายุ 54 ปี ที่ เกี่ยวพันกับกรณีโปรยใบปลิวต่อต้านคสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจับได้ที่บ้านพักย่านภาษีเจริญ พร้อมส่งตัวดำเนินคดีต่อศาลทหาร เมื่อวันที่ 26 พ.ย. |
โดยควบคุมตัวนายสิทธิทัศน์ ได้ที่บ้าน เลขที่ 18 ซอยเพชรเกษม 48 แยก 16-1 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ พร้อมของกลาง อุปกรณ์การพิมพ์ใบปลิว รวม 15 รายการ ได้แก่ 1.เครื่องถ่ายเอกสาร 1 เครื่อง 2.ปากกาเมจิก สีดำ 1 ด้าม 3.มีดคัตเตอร์ 1 ด้าม 4.ไม้บรรทัดยาว 1 อัน 5.ตลับหมึกพรินเตอร์ 1 กล่อง 6.เสื้อยืดลายพรางทหาร 1 ตัว 7.เสื้อยืดคอกลมสีดำสกรีนข้อความ "เสรีชนคนราชดำเนิน" 1 ตัว 8.เสื้อยืดกลมสีดำสกรีนรูปนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ข้อความ"ภูผาขวางกั้นอธรรม" 1 ตัว 9.หมวกปีกลายพรางทหาร 1 ใบ 10.หมวกแก๊ปลายพรางทหาร 1 ใบ 11.เข็มขัดสีดำพร้อมซองปืนและซองกุญแจมือ 1 ชุด 12.ห่วงขาผ้า 1 คู่ 13.กระดาษขนาด เอ4 1 รีม 14.แผ่นสติ๊กเกอร์ข้อความ "รถคันนี้สีแดง" 1 แผ่น 15. รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ รุ่น ซี 200 หมายเลขทะเบียน 1 กม 200 กทม. 1 คัน
ส่วนนายวชิระ เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตัวได้จากจ.เพชรบุรี ก่อนตรวจยึดรถจักรยาน ยนต์ ยี่ห้อฮอนด้าเวฟ 100 สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน กมร-4 นครปฐม ที่ใช้โปรยใบปลิวได้ภายหลัง จากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวทั้ง 2 คน ไว้ภายใน ป.1รอ. เพื่อปรับทัศนคติต่อไป
เตรียมนำตัวขึ้นศาลทหาร
พ.อ.คชาชาต กล่าวว่า ทหารขอตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ของสน. สำราญราษฎร์ พบเบาะแสว่ามีรถจักรยานยนต์ไปรับใบปลิวจากรถเบนซ์ แต่ภาพไกล เห็นแผ่นป้ายทะเบียนไม่ชัด ทหารได้ตรวจสอบและหาข่าวร่วมกับตำรวจ จนที่สุดได้เบาะแสจึงจู่โจมเข้าควบคุมตัวนายสิทธิทัศน์ ที่ บ้านพัก โดยนายสิทธิทัศน์ ถูกควบคุมตัว ด้วยอำนาจกฎอัยการศึกในเขตทหาร เพื่อสอบสวนดำเนินคดีและอาจต้องขึ้นศาลทหาร จากการตรวจค้นที่บ้านนายสิทธิทัศน์ พบใบปลิว อุปกรณ์การพิมพ์ หลักฐานทั้งหมด พบเสื้อผ้าลายพรางและเสื้อยืดที่มีข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง โดยนายสิทธิทัศน์สารภาพว่าเขียนใบปลิวโจมตี คสช. ด้วยตัวเองตั้งแต่เวลา 19.00 น. ของวันที่ 22 พ.ย. ก่อนจะถ่ายเอกสารรวมกว่า 7,000 แผ่น กระทั่งเวลา 03.00 น. วันที่ 23 พ.ย. นัดนายวชิระมาเจอกันที่ซอยสำราญราษฎร์ เขตพระนคร ก่อนส่งถุงใส่ใบปลิวให้ จากนั้นนายวชิระขี่รถจยย.คันดังกล่าวแต่ไม่ได้ติดแผ่นป้ายทะเบียน นำใบปลิวไปโปรยบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ช่วงเวลา 05.00 น.
พ.อ.คชาชาต กล่าวว่า สาเหตุนั้นนายสิทธิทัศน์ ให้การว่าเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มนปช.ตั้งแต่ปี 2553 จากนั้นเมื่อมีการชุมนุมของ กลุ่มกปปส.ก็เข้ามาสังเกตการณ์ด้วย กระทั่งคสช. ยึดอำนาจ รู้สึกว่าถูกปิดกั้นสิทธิจึงอยากแสดงออก โดยไม่ได้มีใครอยู่เบื้องหลัง ทำด้วยอุดมการณ์ ทำคนเดียว
พ.ต.อ.สมชาย เชยกลิ่น ผกก.สน.สำราญ ราษฎร์ กล่าวว่า หลังเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ผู้ต้องหาทั้งสองได้แล้ว ส่งให้เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวไปปรับทัศนคติ ส่วนสน.สำราญราษฎร์ สั่งให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยาน หลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหา ทั้งสองจากศาลทหาร ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหา ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความ มุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่อง ในหมู่ประชาชน ถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ทหารส่งตัวกลับมาให้สน.สำราญราษฎร์ จะนำตัวส่งฝากขังทหารต่อไป
ยันไม่มีทหารเกี่ยวข้อง
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกและทีมโฆษกคสช. กล่าวถึงกระแสข่าวอาจมีทหารเกี่ยวข้องด้วยว่า ยืนยันไม่มีทหารเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องและขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบในเชิงลึกว่ามีการดำเนินการเป็นขบวนการหรือไม่ เบื้องต้นจากการให้ข้อมูลทราบว่านายสิทธิทัศน์ ทำคนเดียว ส่วนกระบวนการหลังจากนี้หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง จะดำเนินการทางคดีให้ถึงที่สุด แต่จะขึ้นศาลทหารหรือไม่นั้น ต้องดูมุมมองของกฎหมายของพนักงานสอบสวนต่อไป
มช.พ่นสเปรย์ต้านรัฐประหาร
เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)ว่า มีการพ่นสี สเปรย์สีขาว เขียนข้อความ No coup ใน 3 จุด คือ 1.บนถนนหน้าตึกคณะนิติศาสตร์ 2.บนถนนหน้าตึกคณะสังคมศาสตร์ และ3.บริเวณถนนระหว่างหน้าอาคารคณะเกษตร ศาสตร์- คณะวิจิตรศิลป์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของ มช. ได้ลบทำความสะอาดข้อความดังกล่าว
และมีกระแสข่าวว่า นักศึกษาคณะนิติ ศาสตร์ มช. จะจัดกิจกรรมการราดน้ำมัน เผาตัวเอง เนื่องจากกิจกรรม"กินข้าวถกปัญหา ภายใต้กฎอัยการศึก" ที่โรงอาหารกลาง มช. เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ถูก กลล.รส.มทบ.33 ประสานมาให้ระงับกิจกรรม โดยวันนี้มี เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบ มาสังเกตการณ์ตั้งแต่ช่วงเช้าแต่ไม่ปรากฏการจัดกิจกรรมดังกล่าว
ม.เที่ยงคืนจี้เลิก'อัยการศึก'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ เรื่อง ร่วมกันหยุดยั้งการคุกคามเสรีภาพประชาชน เนื่องจากมีการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและคำสั่งคสช. รวมทั้งอำนาจกลไกรัฐคุกคามประชาชนที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อาทิ การดำเนินนโยบายรัฐบาล การพิจารณาร่างกฎหมายของสนช. การยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงการปฏิรูปประเทศ ทั้งที่แสดงความเห็นโดยสุจริตและด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ ซึ่งการปิดกั้นเสรีภาพด้วยกฎอัยการศึกและคำสั่งของคสช. เป็นการกดทับความเห็นต่างเอาไว้และจะสร้างแรงกดดัน จนกลายเป็นระเบิดเวลานำสู่ความขัดแย้ง หรือความเสียหายร้ายแรงในอนาคต เพราะการจับกุมหรือควบคุมตัวเป็นการยุติการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่เห็นต่างได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้ทุกกลุ่มทุกองค์กรในภาคสังคม ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและร่วมกันกดดัน ให้ยกเลิกกฎอัยการศึกและคำสั่งของ คสช. ที่ปิดกั้น และคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยืนยันว่าการร่วมกันปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าจะมีความเห็นตรงกันหรือแตกต่างกัน จะเป็นปัจจัยสำคัญนำสังคม เดินสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่เอื้ออำนวยให้รัฐและสังคมไทยจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างสันติและเป็นธรรม
'ฮิวแมนไรต์วอตช์'วิจารณ์
ขณะที่ องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์ วอตช์ (Human Rights Watch) สำนักงาน ที่นิวยอร์ก นำเสนอรายงานเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ ไทย หลังเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค. มาครบ 6 เดือนว่า รัฐบาลทหารโดยคสช. ไม่ส่งสัญญาณว่าจะฟื้นฟูการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยโดยพลเรือนให้กลับคืนมามีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานหลายประการ
นายแบรด อดัมส์ ผอ.ฮิวแมนไรต์วอตช์ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ความเคารพในเสรีภาพขั้นพื้นฐานและประชาธิปไตยในไทยดิ่งลึกลงสู่จุดที่หยั่งไม่ถึง โดย 6 เดือนหลังรัฐประหาร การวิพากษ์วิจารณ์ถูกปิดกั้นอย่างเป็นระบบ กิจกรรมทางการเมืองถูกแบน สื่อมวลชนถูกเซ็นเซอร์ ผู้ต่อต้านถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร ผู้ประท้วงที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร เช่น ชู 3 นิ้วแบบในภาพยนตร์ฮังเกอร์เกมส์ การต่อต้านอื่นๆ เช่น ใช้เทปหรือมือปิดปาก ในที่สาธารณะหรือโพสต์ในเฟซบุ๊ก อาจเผชิญโทษจำคุก 2 ปี
ในรายงานประเมินสถานการณ์ของฮิวแมนไรต์วอตช์ รวบรวมความเคลื่อนไหวตามลำดับเหตุการณ์และคำพูดของสมาชิกในคสช.และรัฐบาลที่ปรามการวิจารณ์ รวมถึงความไม่ชัดเจนว่าจะคืนประชาธิปไตยได้เมื่อใด ด้วยเหตุผลว่าตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาเพราะต้องปฏิรูปก่อน
นายอดัมส์ กล่าวว่า แทนที่จะสร้างหนทางกลับคืนสู่ประชาธิปไตย รัฐบาลกลับเข้มงวดในการแสดงความคิดเห็นและการวิจารณ์ การแสดงความเห็นทางการเมืองอาจทำให้บุคคลต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร หรือถูกจำคุก ทั้งนี้ ฮิวแมนไรต์วอตช์เรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนท่าทีและยกเลิกกฎอัยการศึก เดินหน้าสู่ประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาคมโลกเข้าใจว่าไม่ใช่ผู้ปกครองเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
กมธ.เปิด 1,350 เวที-ฟังข้อเสนอ
วันเดียวกัน มีการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. นายประชา เตรัตน์ สมาชิก สปช.ชลบุรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกมธ.ประจำจังหวัดรวม 77 จังหวัด โดยมี สปช.ประจำจังหวัดเป็นประธานอนุกมธ. มีเครือข่าย ภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นคณะทำงาน ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 2 รูปแบบ คือ 1.เวทีระดับจังหวัด หัวข้อ "ร่วมสร้างอนาคตประเทศไทย" และ 2.รูปแบบของเวทีตามประเด็นปฏิรูป ของ กมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 ด้าน มีเป้าหมายจัดเวทีทั้งหมด 1,350 เวที คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 70,000 คน
นอกจากนี้ มีแผนงานว่าด้วยการสร้าง เครือข่ายสื่อสารสาธารณะทั้งทางฟรีทีวีและทีวีระบบดาวเทียม 5 ช่องและวิทยุ 10 สถานีเพื่อสื่อสารเจตนารมณ์ เนื้อหา และความคืบหน้าในการปฏิรูปของ สปช.ตลอด 12 เดือน มีกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน สำหรับกรอบงบประมาณไม่เกิน 80 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.งบฯ การมีส่วนร่วมระดับจังหวัด 36 ล้านบาท 2.แผนงานเครือข่ายเชิงประเด็นในการจัดเวทีของ สปช. ในประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญ และปฏิรูป 18 เรื่อง 4 ล้านบาท 3.แผนงานสื่อสาธารณะ 18 ล้านบาท 4.แผนงานรณรงค์สังคมและเวทีเชิงคุณภาพ ดึงดูดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการปฏิรูป 18 ล้านบาท 5.แผนงานสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป เพื่อส่งต่อหน่วยงานอื่น 3 ล้านบาท และ 6.แผนประสานภายในระหว่าง กมธ.ปฏิรูปและกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 1 ล้านบาท ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไป
พ่นสี- จนท.มหา"ลัยเชียงใหม่ เร่งลบสีสเปรย์บนถนนหลังมีมือดีพ่นข้อ ความ No coup เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านคสช. และเรียกร้องยกเลิกกฎอัยการศึก บริเวณถนนหน้าตึกนิติศาสตร์ และอีก 2 จุด เมื่อวันที่ 26 พ.ย. |
จัดเสวนาน.ศ. 11-12 ธ.ค.
นางถวิลวดี บุรีกุล ประธานคณะอนุ กมธ.การมีส่วนร่วมฯ เผยว่าจะจัดเวทีประชาเสวนาเรื่อง สานพลังนักศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศไทย วันที่ 11-12 ธ.ค.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ คาดว่าจะมีตัวแทนนักศึกษา 200 คน จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศส่งเข้าร่วมแห่งละ 2 คน ส่วนแนวทางประชาเสวนานั้นจะใช้รูปแบบการทำกลุ่มตามความสนใจ เช่น ผู้นำทางการเมืองที่ดี พลเมืองที่ดี ปฏิรูปการศึกษา เพื่อเปิดให้นักศึกษาแสดงความเห็นในมุมมองอนาคตข้างหน้า ส่วนเรื่องในอดีตนั้นจะยกมาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาในอนาคต เบื้องต้นคนที่จะร่วมอาจมีมุมมองที่ไม่เป็นลบกับประเด็นอดีต หรือมีความคิดเชิงบวก ในเวทียังมีกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เน้นเนื้อหาของวิชาการ เพื่อสร้างความเป็นผู้นำและการต่อยอด หลังเสร็จสิ้นเวทีดังกล่าวอาจตั้งเครือข่ายในมหาวิทยาลัยต่อไป
โภคินนัดกมธ.ยกร่าง 9 ธ.ค.
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปช. ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า วันที่ 27 พ.ย.นี้ เวลา 09.30 น. กมธ.ยกร่างฯ จะรับฟังความคิดเห็นและหรือ ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น ความเห็นส่วนตัวจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แน่นอนแล้วว่าไม่มาตามคำเชิญและขอสละสิทธิ์แล้ว ส่วนพรรคเพื่อไทยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานภายใน
รายงานข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯ แจ้งว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้ประสานส่วนตัวกับนายโภคิน พลกุล คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ล่าสุดนายโภคินตอบรับจะมารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ โดยมาในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามพรรคเพื่อไทย
นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมทำหนังสือขอบคุณ กมธ.ยกร่างฯ ที่ให้เกียรติพรรคร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ แต่ต้องรอพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค เซ็นลงนามก่อนส่ง ไปยัง กมธ.ยกร่างฯ คาดว่าอย่างเร็วภายในสัปดาห์นี้ ยืนยันว่าเราเห็นด้วยและสนับสนุนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงประชาชน กมธ.ยกร่างฯ ควรรับฟังความคิดเห็นจาก ทุกฝ่าย แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่เรามี โดยเฉพาะประกาศของคสช. คงไม่สามารถส่งตัวแทนในนามพรรคเพื่อไทยไปหารือได้ แต่เราจะประสานสมาชิกในพรรคให้ แต่ไม่ใช่ในนามของพรรค
อนุชงกมธ.นิรโทษคู่ขัดแย้ง
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 เผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมพิจารณากรอบยกร่าง ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 ว่าด้วยการสร้างความปรองดอง โดยจะเสนอกรอบไปยัง กมธ.ยกร่างให้จัดตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดอง 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 5 คน โดย 2 ฝ่ายให้มาจากคู่ขัดแย้ง และอีกฝ่ายมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจเจรจาไกล่เกลี่ยสร้างความปรองดองและเป็นที่ยอมรับของสองฝ่าย โดยข้อเสนอนี้ต้องให้ กมธ.ยกร่างอภิปรายว่าจะเห็นชอบให้บรรจุไว้เป็นมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ทั้งนี้อนุ กมธ.เชื่อว่าข้อเสนอนี้จะเป็นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความยอมรับ
นายเอนก กล่าวว่า นอกจากนั้น อนุกมธ.ยังเสนอต่อ กมธ.ยกร่างให้นิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเดินขบวนจนนำไปสู่จลาจลความวุ่นวายทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ โดยจะนิรโทษกรรมนับแต่ปี 2548 จนถึงก่อนเหตุการณ์ยึดอำนาจการปกครองปี 2557 โดยจะไม่นิรโทษกรรมกรณีผู้กระทำความผิดที่ถึงแก่ความตาย รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนจะออกเป็นพ.ร.บ. หรือบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญจะต้องให้ กมธ.ยกร่างได้พิจารณา ซึ่งภารกิจของอนุ กมธ.ได้เสร็จสิ้นแล้ว
เมื่อถามว่า ข้อเสนอให้นิรโทษกรรมเหตุการณ์ชุมนุมเชื่อว่าจะไม่เป็นชนวนให้นำไปสู่การต่อต้านใช่หรือไม่ นายเอนกกล่าวว่า "ผมถึงบอกแล้วแต่สองฝ่าย แล้วแต่ประชาชนจะพิจารณา แต่อยากวิงวอนให้เราเข้าสู่โหมดปรองดองโดยยอมรับความคิดที่หลากหลาย เพราะบ้านเมืองถ้ายังแตกหักอยู่ก็จะเสียหายอย่างหนัก"
'สุรชัย'แจงเลื่อนถกถอดถอน
ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 กล่าวถึงที่ประชุมสนช.วันที่ 27 พ.ย.จะพิจารณาสำนวนถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาและนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.โดยมิชอบว่า จะแยกพิจารณาเป็น 2 สำนวน เริ่มจากกรณีนายนิคม ยื่นให้สอบพยานเพิ่มเติม จะให้ผู้ถูกกล่าวหาแถลงเหตุผลที่ขอพยานเพิ่ม เท่าที่ทราบนายนิคมจะมาด้วยตัวเอง จากนั้นให้ป.ป.ช.แถลงว่าจะคัดค้านหรือไม่ ก่อนที่สมาชิกจะลงมติรายประเด็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช.และข้อบังคับ สนช. ที่กำหนดว่าต้องเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ป.ป.ช.ไม่ทราบว่ามีอยู่ หรือทราบว่ามีแต่ป.ป.ช.ไม่อนุญาต หากเข้าตามหลักเกณฑ์ก็อนุญาตให้เพิ่มเติมพยานหลักฐาน คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จไม่เกินปลายเดือนม.ค. 58 หรือต้นก.พ.
นายสุรชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องแถลงเปิดสำนวนคดีในเดือนม.ค. เพราะสนช.ต้อง ผลักดันกฎหมายสำคัญให้เสร็จในเดือนธ.ค. เช่น พ.ร.บ.ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และพ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ทั้งนี้ ยังไม่ได้กำหนดวันแถลงเปิดคดีน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ซึ่งต้องหารือหลังพิจารณาสำนวนถอดถอนนายนิคมกับนายสมศักดิ์ วันที่ 27 พ.ย.นี้
'นิคม'ค้าน 16 สนช.ร่วมวงถอด
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ในการประชุมสนช.วันที่ 27 พ.ย. ซึ่งนัดพิจารณากำหนดวันแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนว่าจะให้เพิ่มพยานหลักฐานหรือไม่ ตนจะมาชี้แจงด้วยตัวเอง พร้อมเอกสารเพิ่มเติมคือบันทึกการประชุม เทปบันทึกการประชุมความยาว 120 ชั่วโมง และเทปบันทึกการประชุมฉบับย่อ 4 ชั่วโมง รวมทั้งทำหนังสือคัดค้านการพิจารณาสำนวนของสนช. 16 คนที่เป็นอดีตส.ว.ที่ยื่นคำร้องถอดถอนตน เพราะถือเป็นคู่ขัดแย้ง มีส่วนได้เสีย เพื่อให้การพิจารณาเที่ยงธรรม ยืนยันว่าไม่กังวลและพร้อมชี้แจงเพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตัวเอง นอกจากนี้จะทำหนังสือ ถึงประธานสนช. ขอให้แจกเอกสารให้กับสมาชิกสนช. โดยเป็นรัฐธรรมนูญปี 2550 ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา และรายงาน ของ กมธ.พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ถูกยกเลิกไป แต่ยังมีคำฟ้องอยู่ในสำนวนของป.ป.ช.ที่ส่งให้สนช.ด้วย
พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ สมาชิกสนช. 1 ใน 16 อดีตส.ว.ที่ถูกร้องคัดค้านไม่ให้ร่วมพิจารณาถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือแจ้งต่อประธานสนช.ว่าไม่ประสงค์ร่วมพิจารณากรณีดังกล่าวเนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งตนเคยเป็นกมธ.ด้านจริยธรรมของส.ว.ที่มีมติชี้มูลว่า นายนิคมผิดจริยธรรม ซึ่งเป็นเหตุผลไม่เข้าร่วมพิจารณา
นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกสนช. 1 ใน 16 อดีต ส.ว.ที่เข้าชื่อร้องถอดถอนนายนิคม กล่าวว่า การยื่นคัดค้านนี้เหมือนการคัดค้านผู้พิพากษาในศาล แต่กรณีของศาลมีบทบัญญัติชัดเจน ขณะที่ข้อบังคับการประชุมสนช.ไม่มีบทบัญญัติเรื่องนี้ และในอดีตไม่มีใครคัดค้าน จึงคิดว่าเป็นประเด็นที่ต้องให้ที่ประชุมสนช.วินิจฉัย ซึ่งเห็นว่าต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 5 ที่ระบุเมื่อไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง เพราะเป็นเรื่องงานของสนช. จึงขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า การคัดค้านแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบของสนช.ที่จะพิจารณาถอดถอนโดยใช้เสียง 3ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะวิปสนช. กล่าวว่าขณะนี้นายสมศักดิ์ยื่นพยานเอกสารมายังสนช.แล้ว ส่วนใหญ่เป็นบันทึกการประชุมระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม และต่อสู้ในประเด็นรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ซึ่งนายสมศักดิ์จะเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ด้วยตัวเอง
'อลงกรณ์'ลาออกปชป.
เวลา 14.30 น. ที่รัฐสภาพ นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิปสปช. แถลงว่า หลังได้รับหน้าที่เป็นเลขานุการ วิปสปช. และเป็นกมธ.หลายคณะเกี่ยวกับการปฏิรูป จึงตัดสินลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะทำหนังสือยื่นลาออกต่อพรรควันที่ 27 พ.ย.นี้ การลาออกครั้งนี้ไม่มีนัยทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้นและไม่มีปัญหากับพรรค เพราะน้องชายของตนและทีมจ.เพชรบุรี ยังอยู่กับพรรค การตัดสินใจไม่ได้ปรึกษากับทีมจ.เพชรบุรี รวมทั้งไม่มีผู้ใหญ่ในพรรคหรือผู้ใหญ่ในสปช.กดดัน แต่ด้วยหน้าที่และความรับ ผิดชอบในฐานะสปช. และต้องการรักษาภาพลักษณ์ของสปช.ที่เป็นกลาง อิสระ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ตนต้องการสลัดคราบความเป็นนักการเมืองเพราะมีส่วน ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เนื่องจากตนในฐานะวิปสปช.ต้องเข้าฟังการพิจารณาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้ง
"อนาคตอีกไกล ตอบไม่ได้ว่าหลังจาก ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ผมจะหวนกลับมาเล่นการเมืองต่อหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ออกแบบมานั้น เปิดโอกาสให้คลื่นลูกใหม่เข้ามาเล่นการเมือง ผมก็จะหยุดเล่นการเมืองเท่านั้นเอง ยืนยันการลาออกไม่มีนัยการเมือง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นพรรคที่ผม รักเหมือนเดิม" นายอลงกรณ์กล่าว
อุทธรณ์ยกฟ้อง'จอน'บุกสภา
เวลา 10.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หมายเลขดำ อ.4383/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ พร้อมพวก ฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุม ก่อความวุ่นวายและบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย กรณีปีนเข้าไปนั่งชุมนุมหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา คัดค้านการออกกฎหมายของสนช. วันที่ 12 ธ.ค. 2550 โดยศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายจอน 1 ปี 4 เดือน คนอื่นๆ 8 เดือน ถึง 1 ปี 4 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยแม้จะปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภาแต่ไม่มีอาวุธหรือทำลายทรัพย์สิน และไม่ได้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติงาน เมื่อยื่นหนังสือและเลื่อนประชุมแล้ว ก็ออกจากรัฐสภาโดยสงบ จึงขาดเจตนา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
รบ.แถลงผลงาน 25 ธ.ค.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยหลังประชุมเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการข่าวสารและประชาสัมพันธ์เชิงรุกของศูนย์ปฏิบัติการนายกฯ ที่มีพล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกฯ เป็นประธานว่า แต่ละกระทรวงแลกเปลี่ยนข้อมูลทุกประเด็น เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่สังคมอยากรู้ผลงานของรัฐบาล โดยวันที่ 25 ธ.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะนำทีมรองนายกฯแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกฯจะกล่าวเปิดแถลง จากนั้นให้รองนายกฯแต่ละกลุ่มงาน 5 ด้านสรุป ผลงาน ใช้เวลากลุ่มละ 10-15 นาที พร้อมแจกเอกสารสรุปผลการทำงานให้สื่อมวลชนนำไปเป็นประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ต่อไป
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า หลังแถลงเสร็จสิ้นแต่ละกระทรวงต้องนำไปขยายผลตาม ช่องทางของตนเอง โดยเฉพาะนโยบายที่ทำทันที 3 เดือน และตามโรดแม็ป 1 ปี รวมทั้งนโยบายที่ยั่งยืน และเรื่องที่เกิดผลกระทบ ต่อสังคมและสังคมวิพากษ์เรื่องนั้นอยู่ กระทรวงต้องชี้แจงทำความเข้าใจสังคมทันที อย่าปล่อยให้สังคมวิจารณ์ไปต่างๆนานา ทั้งนี้ นายกฯกำชับให้แต่ละกระทรวงหยิบเรื่อง ที่สำคัญมาอธิบาย เพื่อให้ประชาชนฟังแล้วรู้สึกได้รับของขวัญจริงๆ
พระราชทานเครื่องราชตร.-ทหาร
วันที่ 26 พ.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 พ.ย. 2557 เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใจความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2557 ให้แก่ข้าราชการตำรวจที่ช่วยราชการกองกิจการในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สำนักพระราชวัง จำนวน 20 ราย ดังนี้
มหาวชิรมงกุฎ 1.พลตำรวจโท สกลเขต จันทรา, ตริตาภรณ์ช้างเผือก 1.พันตำรวจโท รังสรรค์ บัวเบา2.พันตำรวจโท ณัฐวุฒิ น้อยจีน, จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก 1.ร้อยตำรวจเอก เชิดพงษ์ ศรีนิเวศน์ 2.ร้อยตำรวจเอก สมพงษ์ บุญมี, จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย 1.ดาบตำรวจ ยงยุทธ มีสิทธิ์ 2.ดาบตำรวจ ประพัศ อ่องศิริ 3.ดาบตำรวจ พิเชษฐ์ เทพมุณี, เบญจมาภรณ์ช้างเผือก 1.ดาบตำรวจ มาโนช สุรินทร์, เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย 1.ดาบตำรวจ วีรชัย นารถจันทึก
เหรียญทองช้างเผือก 1.จ่าสิบตำรวจ กฤษฎ์ ชีพพิทักษ์ราชันย์ 2.จ่าสิบตำรวจ นราธิป สิปปรักขิต3.จ่าสิบตำรวจ นฤพนธ์ รัมนา 4. จ่าสิบตำรวจ พิษณุ พลายเวช 5.จ่าสิบตำรวจ สรรค์เศรษฐ์ มั่งภคพิเชฐ6.จ่าสิบตำรวจ สรายุทธ พุมดวง 7.จ่าสิบตำรวจ สุวิทย์ ชูจันทร์ 8.จ่าสิบตำรวจ ศุภกร ศรีรัตนภรณ์ 9.จ่าสิบตำรวจ อดิสร ทองเชิญ 10.จ่าสิบตำรวจ อานนท์ น้ำจันทร์ ประกาศ ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2557 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ยังมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใจความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2557 ให้แก่นายทหารสัญญาบัตรและนายทหารประทวน หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม จำนวน 14 ราย
มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก 1.พลอากาศเอก ชาญชาย เกิดผล, ประถมาภรณ์ช้างเผือก 1.พลอากาศตรี ชิดพงศ์ ทองกุม, ประถมาภรณ์มงกุฎไทย 1.พลอากาศตรี โอม โมรินทร์ 2.นาวาอากาศเอก ศิริพัฒน์ สุขเจริญ, ตริตาภรณ์มงกุฎไทย 1.ว่าที่พันตรี ณัฐพล อัครพงศ์ปรีชา, จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย 1.ว่าที่เรือโท ประสิทธิ์ สดขุนเณร 2.ว่าที่เรือโท สมชาย สวนมาลี 3.ว่าที่เรืออากาศโท สมชาย จงใจรัก, เบญจมาภรณ์ช้างเผือก 1.เรืออากาศตรี วิชัย โพธิ์สร้อย, เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย 1.ว่าที่ร้อยตรี เตียง ภูดีทิพย์ 2. ว่าที่ร้อยตรี สรวง วงศาเลิศ 3. ว่าที่ร้อยตรี มนตรี เผือกคล้าย, เหรียญทองช้างเผือก 1.จ่าสิบเอก สมศักดิ์ ตีเมืองสอง 2.พันจ่าอากาศเอก จีรยุทธ ชูชัยมงคล ประกาศ ณ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2557 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ไทยซื้อไฟฟ้าลาว-ชูเขตศก.คู่ขนาน
เวลา 11.45 น. วันที่ 26 พ.ย. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. พร้อมคณะคือพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เดินทางเยือนสปป.ลาว และเวียดนามอย่างเป็นทางการ วันที่ 26-28 พ.ย. ในโอกาสรับตำแหน่งของนายกฯ หลังเยือนพม่าและกัมพูชา
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเยือนลาวเพื่อเจรจาซื้อไฟฟ้าจากลาวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้ มีสัญญาระหว่างประเทศอยู่แล้ว เป็นความร่วมมือระหว่างกันโดยเชื่อมโยงเรื่องไฟฟ้า ขณะที่ไทยมีความจำเป็น นอกจากด้านไฟฟ้ากับลาวแล้วยังมีความร่วมมือตามแนวเขตชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษ และความร่วมมืออื่นๆ ที่จะร่วมกันพัฒนาต่อ
เวลา 13.00 น. คณะพล.อ.ประยุทธ์ ถึงท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต กรุงเวียงจันทน์ เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการก่อนหารือกับนายทองสิง ทำมะวง นายกฯสปป.ลาว ที่สำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ขอบคุณในการต้อนรับที่อบอุ่นพร้อมยินดีผลักดัน ความเป็นหุ้นส่วนอย่างเท่าเทียมกัน รัฐบาลไทยเห็นชอบตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นโครงการ นำร่องที่จ.มุกดาหาร จึงขอให้หน่วยงานของสองฝ่ายหารือร่วมกันเชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จ.มุกดาหารกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ให้เกิดการพัฒนาแบบคู่ขนาน และเชิญนายกฯลาวเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม GMS วันที่ 19-20 ธ.ค.นี้
จากนั้นเวลา 14.35 น. พล.อ.ประยุทธ์ และนายกฯลาว ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ 1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการพัฒนา โรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว ระยะที่สอง 2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 3.สัญญาให้ความช่วยเหลือทางการเงินโครงการก่อสร้างถนน จากเมืองหงสา - บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง)
ส่วนวันที่ 27 พ.ย. เวลา 13.30 น. นายกฯจะเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย กรุงฮานอย เวียดนาม เพื่อยืนยันนโยบายและความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมทั้งพบปะผู้นำของประเทศเวียดนาม ทั้งสองฝ่ายจะลงนามแผนปฏิบัติการและบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับคือ แผนปฏิบัติการว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-เวียดนาม และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดฉะเชิงเทรา-นครเกิ่นเทอ