- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 25 November 2014 08:25
- Hits: 3908
วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8763 ข่าวสดรายวัน
ล็อกอีก 8 นศ.มธ.โปรยใบปลิว ให้เซ็นเลิกต้าน ฟันตร.ขอนแก่น บกพร่อง-มีชูนิ้ว อนุฯปรองดอง ชงฟื้นนิรโทษฯ
ใบปลิว- น.ศ.กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย โปรยใบปลิวบทกวีต้อนรับการกลับมาเขียนเฟซบุ๊กของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์มธ. จนถูกตร.คุมตัวไปสอบสวนและปล่อยตัวในเวลาต่อมา
บุกรวบ 8 น.ศ. โปรยใบปลิวที่ม.ธรรมศาสตร์ นำตัวปรับทัศนคติแล้วปล่อย ตั้งกก.สอบซ้ำ 5 ตร.ขอนแก่น หลังสั่งเด้งด่วน เหตุบกพร่องปล่อยน.ศ.ชู 3 นิ้วต่อหน้า'บิ๊กตู่' เสธ.ไก่อูปัดรัฐบาลไม่เกี่ยวย้ายตร. นายกฯตู่สั่งหารือ เตรียมเปิดเวทีให้น.ศ.แสดงออก 'บิ๊กป้อม'ให้เลิกต้าน ขอเวลาทำงาน 1 ปี สนช.โอเค ยอมรับหลักฐานเพิ่มคดีถอดถอน คาดชี้คดี'ปู'ได้เดือนม.ค. ด้านอนุกมธ.ด้านปรองดอง ชงนิรโทษแกนนำม็อบและทหาร ตั้งแต่ปี 48-57
'บิ๊กป้อม'ให้เลิกต้าน-ขอเวลา 1 ปี
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ฝูงบินกองการบิน กรมการขนส่งทหารบก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการโปรยใบปลิวโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคสช. และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกว่า จากโพลหลายสำนักระบุชัดเจนว่าประชาชนไม่อยากให้มีการต่อต้าน รัฐบาลและคสช. ควรให้เวลาทำงานก่อน ทั้งนี้ กลุ่มต่อต้านไม่ได้มีเพิ่มขึ้น คนทำคนเดียวแต่ต้องดูด้วยว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ รวมถึงกรณีของนักศึกษาด้วย ทั้งนี้ คสช.เข้ามาก็เพื่อให้เกิดความปรองดอง ลดความขัดแย้ง และบอกชัดเจนว่าเราขอเวลาอีกแค่ปีเดียวเพื่อทำงานให้บรรลุผลสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ เพื่อให้ ประเทศชาติได้เดินหน้าต่อไป อยากฝากสื่อให้ช่วยบอกผู้ที่คิดต่อต้านด้วย
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาคสช. กล่าวถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านคสช.ว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านไม่ได้กระทำต่อ คสช. แต่กระทำต่อประเทศชาติ เพราะขณะนี้ปัญหาของประเทศมีหลายประเด็นต้องแก้ไข จึงควรร่วมมือกันปฏิรูปให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด จะได้เลือกตั้งและมีประชาธิปไตยที่สมบรูณ์
'บิ๊กป๊อก'เชื่อน.ศ.มาอย่างบริสุทธิ์
"อยากให้แยกการเคลื่อนไหวเป็นคนละเรื่องกับที่นักศึกษาออกมา ซึ่งถือว่ามาอย่างบริสุทธิ์ ภายใต้บริบทของการเมืองขณะนี้ รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ปฏิรูปให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนเรื่องกวนเมือง เป็นอีกเรื่องที่ส่งผลไม่ดีต่อประเทศชาติโดยรวม ทำให้เดินหน้าไม่ได้และนี่คือเหตุผล ที่ต้องปฏิรูป" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงผลสำรวจระบุคะแนน ผลงานของ คสช.ลดลงว่า คสช.จะเร่งทำงานต่อไป ตนประเมินว่าสังคมยังคงให้โอกาส คสช.และรัฐบาลทำงานแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งกระทรวงมหาดไทยส่วนใหญ่ทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบ บูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นได้ ส่วนข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ประเมินว่าทำงานร่วมกันได้ดีและตั้งใจทำงาน กระตือรือร้น เราประชุมเร่งรัดการทำงานทุกสัปดาห์ ส่วนงานที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยนั้นมีหลายเรื่อง ซึ่งรัฐบาล จะประกาศให้ทราบเอง
รองนายกฯวอนประชาชนอดทน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีโปรยใบปลิวโจมตีรัฐบาลและการเคลื่อนไหวของปัญญาชนว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น รัฐบาลรับทราบหมดว่ามีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งการให้ความเห็นนั้นทำได้แต่ต้องเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ เพื่อให้รัฐบาลรับไปดำเนินการได้ ขณะนี้ทุกฝ่ายเดินหน้าปฏิรูปประเทศเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ช่วงนี้จึงถือเป็นรอยต่อที่จะเปลี่ยนผ่าน ขอให้ประชาชนอดทนในสิ่งที่กำลังดำเนินการและมองภาพรวมว่าตอนนี้สังคมยังมีความปรองดองและตั้งใจทำงานร่วมกันเพื่อนำสู่สังคมที่ยั่งยืนต่อไป
เมื่อถามว่า จะพูดคุยกับสถานศึกษาและหน่วยงานในกำกับบ้างหรือไม่ เพราะกลุ่มเคลื่อนไหวเป็นนักศึกษา นายยงยุทธกล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาต่างๆ ต้องพิจารณาต่อไปต้องดูว่าแสดงความเห็นส่วนตัวหรือมีการรวมกลุ่มอะไรกันอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากอึดอัดมากการแสดง ออกจะย้อนไปเหมือนในอดีตหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น เราต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ไม่เฉพาะแค่นักศึกษา ต้องฟังจากสังคมทั้งหมดและไม่ทำให้เกิดความอึดอัด จนเครียดและเกิดเหตุที่เราไม่ประสงค์ขึ้นได้
เตรียมเปิดเวทีให้น.ศ.แสดงออก
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า หน่วยข่าว ได้ทำรายงานและประเมินสถานการณ์ตลอด พบว่ามีความเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งการทำกิจกรรมสามารถทำได้เพราะบางส่วนบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเรื่องซ่อนเร้น แต่บางส่วนมีวาระซ่อนเร้น ซึ่งรัฐบาลต้องหาทางแก้ไข ทั้งนี้นายกฯ มีแนวคิดเปิดเวทีให้นักศึกษาแสดงความเห็นอยู่แล้ว จึงมอบให้สปช. และสถาบันพระปกเกล้า ไปหารูปแบบการเปิดเวทีให้นักศึกษาได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ให้เขาได้ใช้พลังแสดงความกล้า ความรู้ความสามารถเต็มที่ คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้จะเห็นความชัดเจน ซึ่งการเปิดเวทีไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายกฎหมายในขณะนี้เพราะสปช.ดำเนินการภายใต้กฎหมายพิเศษอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปิดเวทีให้นักศึกษาได้พูดคุยเพราะไม่ต้องการให้ใช้พลังของนักศึกษา เป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาล นายสุวพันธุ์กล่าวว่า นายกฯ มีแนวคิดเปิดเวทีนานแล้ว และไม่ได้ห้ามเคลื่อนไหวแต่ต้องเหมาะสม ทั้งนี้รัฐบาล และคสช.ยังควบคุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยดี คณะทำงานมั่นคงคงไม่ประมาท และทำงานตามความรู้และวิชาชีพเต็มที่ มีการประเมินทุก 1-3 เดือน
ยัน'รบ.'ต้องการทำความเข้าใจ
รมต.ประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวถึงการชู 3 นิ้วในต่างจังหวัดว่า มีการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ แต่ไม่มีอะไรน่าห่วง การข่าวไม่พูดมาก ไม่พูดบ่อย ต้องพูดตามสมควร
เมื่อถามว่าประเมินสถานการณ์ในปี 2558 จะรุนแรงหรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า อย่าเพิ่งถามในสิ่งที่ยังไม่เกิด ขอย้ำว่าการข่าวประเมินเป็นระยะอยู่แล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลต้องการให้พูดคุยทำความเข้าใจกัน การทำกิจกรรมควรสร้างสรรค์ และสังคมจะตัดสินเองว่าเป็นไปในทางสร้างสรรค์และให้บ้านเมืองสงบหรือไม่
กำชับมหา"ลัยดูแลน.ศ.แสดงออก
นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า จากการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มอบให้ตนในฐานะปลัดศธ. ดูแลภาพรวมของนักศึกษาที่ออกมาแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะการชู 3 นิ้ว ซึ่งตนมองว่าการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมควบคู่ด้วย จึงประสานสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้กำชับสถาบันอุดมศึกษาที่นักศึกษาออกมาแสดงสัญลักษณ์ความเห็นต่าง ให้ดูแลเรื่องความเหมาะสม และตระหนักว่าการแสดงออก ทำได้ แต่ต้องเคารพสิทธิหน้าที่ของผู้อื่นด้วย
ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า ได้มอบให้ศูนย์เสมารักษ์ศธ. ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศ ตรวจตรา เชิงรุกมากขึ้นเพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนแสดงออกทางการเมืองอย่างไม่เหมาะสมอีก ขณะเดียวกัน ศธ.จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ เข้าถึงผู้เรียนอย่างแท้จริง เนื่องจากก่อนหน้านี้ วช.ทำวิจัยนำร่องไปแล้วว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์นั้น ไม่ใช่แค่การท่องจำหรือร้องเพลง แต่ต้องร่วมถึงการลงมือปฏิบัติ เพื่อสอนให้เด็กและเยาวชนรู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเองตามหลักประชาธิปไตย
น.ศ.โปรยใบปลิว'คนย่อมเป็นคน'
เมื่อเวลา 15.45 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลังจบการประชุมพิจารณากรอบรัฐธรรมนูญประชาชน กลุ่มนักศึกษานำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาจากกลุ่มสภาหน้าโดม นายนัชชชา กองอุดม นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ชู 3 นิ้วหน้าโรงภาพยนต์ที่ห้างสยามพารากอน พร้อมพวกอีก 5 คน นำใบปลิวระบุข้อความ "ถึงยุคทมิฬมารจะครองเมืองด้วยควันปืน....แต่คนย่อมเป็นคน" ซึ่งเป็นข้อความของจิตร ภูมิศักดิ์ จำนวนหลายร้อยแผ่นมาโปรยบริเวณสนามฟุตบอลภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน้าป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝั่งตรงข้ามสนามหลวง
ต่อมา พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รองผบก.สืบสวน สน.ชนะสงคราม พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ประมาณ 10 นาย เดินทางมาพูดคุยพร้อมควบคุมตัวนักศึกษากลุ่มดังกล่าวไปที่ สน.ชนะสงคราม และจะนำตัวนายนัชชชาไปดำเนินคดีที่ สน.สำราญราษฎร์ด้วย เนื่องจากเคยเคลื่อนไหวต่อต้านในท้องที่ดังกล่าว แต่นายนัชชชาปฏิเสธ เจ้าหน้าที่จึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ มารับตัวนายนัชชชาต่อไป
ยันไม่เกี่ยวใบปลิวที่อนุสาวรีย์
ด้านนายสิรวิชญ์ กล่าวว่า แม้จะถูกเรียกไปปรับทัศนคติกี่ครั้ง แต่ยืนยันว่าจะต่อต้านต่อไป ส่วนที่โปรยใบปลิวโจมตี คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ไม่ใช่ การกระทำของกลุ่มตน
นายนัชชชา กล่าวว่า หลังจากตนชู 3 นิ้ว ที่หน้าโรงหนังที่พารากอนเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวไปปรับทัศนคติ และเซ็นเอ็มโอยูยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่เคลื่อนไหวใดๆ อีก ทั้งนี้ ช่วงเช้าที่ผ่านมาได้รับโทรศัพท์จากบุคคลไม่ทราบชื่อ ไม่ทราบหน่วยงาน ถามว่าตนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหรือบงการการโปรยใบปลิวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อคืนที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งตนยืนยันไปแล้วว่าไม่มีส่วนรู้เห็น
ให้เซ็นเลิกเคลื่อนไหวก่อนปล่อย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 16.50 น. ตำรวจสน.ชนะสงคราม ควบคุมตัวนักศึกษา 8 คน มาพูดคุยปรับทัศนคติที่ห้องสอบสวน สน. ชนะสงคราม พร้อมทำประวัติ ลงบันทึกประจำวัน ใช้เวลานานเกือบ 1 ช.ม. จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.สำราญราษฎร์ รับตัวน.ศ. 2 คน ไปให้ข้อมูลที่สน.สำราญราษฎร์ กรณีรวมกลุ่มกินอาหาร และโปรยใบปลิวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ขณะที่น.ศ.อีก 6 คน ยังต้องเข้าห้องปรับทัศนคติอีก กระทั่งเวลา 19.10 น. จึงได้รับการปล่อยตัว โดยมีอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. 2 คนเดินทางมารับทั้งหมด ก่อนเดินทางไปรับเพื่อนอีก 2 คน ที่สน.สำราญราษฎร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษาทั้ง 8 คน ถูกขอความร่วมมือให้ลงลายมือชื่อในใบบันทึกการปรับทัศนคติระบุว่า จากพฤติการณ์ที่นักศึกษาทั้ง 8 คน โปรยใบปลิวมีข้อความยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กระทบต่อความสงบเรียบร้อย อาจมีความผิดตามกฎอัยการศึก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวมาพูดคุย ปรับทัศนคติ นักศึกษาเข้าใจและยอมรับว่าจะไม่กระทำอีก หากเจ้าหน้าที่พบเห็นนักศึกษากระทำดังกล่าว จะดำเนินคดีตามกฎหมาย
ทหารขู่เอาผิดถ้าไม่เลิก
ที่สน.สำราญราษฎร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสอบสวนและพูดคุยเชิงปรับทัศนคติต่อ 2 น.ศ. โดยทั้งสองยืนยันไม่ได้มีส่วนร่วมกับใบปลิวรอบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสาเหตุที่โปรยใบปลิวทั้งหมด 2,000 ใบในครั้งนี้เพราะอยากแสดงความคิดเห็น และหวังว่าทหารจะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว และทหารควรปล่อยให้คนคิดต่างสามารถแสดงความคิดเห็นได้เพราะเป็นสิ่งที่ดี
หลังจากสอบสวน ทั้งสองคนได้กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้สอบสวนข้อมูล ถ่ายภาพ ทำประวัติ อย่างละเอียดมากขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านมา เช่น ถามถึงสีรถยนต์ ชื่อผู้ปกครอง เฟซบุ๊ก และขอให้หยุดเคลื่อนไหวเหมือนครั้งที่ผ่านมา
พ.อ.คชาชาติ บุญดี ผบ.ป. 1 ร.อ. กล่าวว่า ขณะนี้ทหารและตำรวจได้ร่วมกันปรับทัศนติของทั้งคู่ ก่อนลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้วปล่อยตัวกลับ หลังจากนี้ได้นัดนักศึกษาทั้ง 2 ราย พร้อมครอบครัวมาปรับทัศนคติเพิ่มเติมในวันที่ 3 ธ.ค. ซึ่งยังไม่กำหนดสถานที่ นอกจากนี้ระหว่างที่ยังไม่ถึงเวลานัดหมายหากไม่เลิกทำกิจกรรมเจ้าหน้าที่จะมีบทลงโทษขั้นเด็ดขาด
หารือ- นายขิ่น อ่อง มินต์ ประธานสภาชาติพันธุ์แห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพ เมียนมาร์ เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 พ.ย. |
ตั้งกก.สอบ 5 ตร.ขอนแก่น
ที่ห้องประชุมไชยเวช กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (บช.ภ.4) จ.ขอนแก่น พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 และนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาในสังกัดบช.ภ.4 พร้อมด้วย พ.ต.อ.สุภากร คำสิงห์นอก รอง ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น รรท.ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น, พ.ต.อ.พงศ์ฤทธิ์ คงศิริสมบัติ ผกก.สส.ภ.จว.ขอนแก่น, พ.ต.ท.อนุศักดิ์ ศักดา วัชรานนท์ รอง ผกก.ป.สภ.เมืองขอนแก่น, พ.ต.ต.จีรัชติกุล จรัสกมลพงษ์ สวป.สภ.เมืองขอนแก่น และพ.ต.ต.ชาติชาย ทิมินกุล สว.สส.สภ.เมืองขอนแก่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ที่ถูกคำสั่งที่ 2396/2557 ให้มาประจำศูนย์ปฏิบัติการ บก.ภ.4 ได้เข้าร่วมประชุม
พล.ต.ท.บุญเลิศกล่าวว่า นอกจากมีคำสั่งเรียกตัวมาประจำศูนย์ปฏิบัติการ บก.ภ.4 แล้วได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่ามีความบกพร่องเพราะอะไร เหตุใดจึงปล่อยปละละเลยให้นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน ไปแสดงสัญลักษณ์คัดค้านรัฐบาลต่อหน้านายกฯ โดยมีพล.ต.ต.จิตรจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่นเป็นหัวหน้าชุด ถ้าพบว่ามีข้อบกพร่องตามผลการสอบสวน ต้องมีการลงโทษตามสิ่งที่กระทำลงไป
ลั่นฝ่ายข่าวต้องทำงานหนักขึ้น
"ตอนนี้ฝ่ายข่าวไม่ว่าทหาร ตำรวจ และสันติบาลได้หาข่าวมากขึ้น เพื่อไม่ให้การข่าวผิดพลาดขึ้นอีก และมีข่าวลวงเจ้าหน้าที่เหมือน ครั้งที่ผ่านมา ผมขอให้นักศึกษากลุ่มดังกล่าวใช้ความกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง และมาสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วยการศึกษาเล่าเรียนให้จบ มาช่วยกันพัฒนาประเทศของเราดีกว่า" พล.ต.ท.บุญเลิศกล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานว่าเหตุผลที่สั่งย้าย 5 นายตำรวจครั้งนี้ เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ หน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย กำหนดหน้าที่แล้วแต่กลับบกพร่อง ปล่อยให้มีกลุ่มนักศึกษาเข้าไปแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารที่หน้า เวทีต่อนายกฯได้
'ไก่อู'ยันรัฐบาลไม่เกี่ยวเด้งตร.
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการโยกย้าย รรก.ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น และพวกรวม 5 คนว่า เป็นอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) รัฐบาลไม่ขอก้าวก่าย แต่ยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ แต่อีกมุมอาจกระตุ้นให้ทุกฝ่ายตื่นตัวในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งต้องให้เกียรติตำรวจและผู้เกี่ยวข้องที่พิจารณาแล้ว รัฐบาลคงไม่ก้าวก่าย ทั้งนี้นายกฯ รับทราบข้อมูลการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและคสช. ทั้งการชู 3 นิ้วหรือแจกใบปลิวแล้ว แต่การดูแลรับผิดชอบเป็นหน้าที่หลักของ คสช. ซึ่งมีการประสานระหว่างหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลและคสช.
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า อยากวิงวอนทุกภาคส่วนว่าเรามีปัญหาหลายด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งช้ามากแล้ว จึงขอร้องทุกฝ่ายว่าอย่าทำอะไรที่เกิดความไม่สบายใจ รัฐบาลจะได้มีสมาธิแก้ปัญหาให้ประชาชน และเชื่อมั่นว่าประชาชนยังเชื่อมั่นและยังให้โอกาสกับรัฐบาลและคสช. จากการประเมินการชุมนุม การต่อต้านรัฐบาลและ คสช.ยังดูแลได้ และไม่ทำให้รัฐบาลไขว้เขว รัฐบาลยังมีสมาธิทำงานอยู่ตลอดเวลา
เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ของ นายกฯ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่กำหนดในหลักการว่าจะไปทุกพื้นที่ ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าการลงพื้นที่ของนายกฯ มีตัวแทนชาวบ้านมาน้อย ส่วนใหญ่เกณฑ์เจ้าหน้าที่และข้าราชการมาต้อนรับนั้นก็ไม่เป็นความจริง การลงพื้นที่แต่ละครั้งของนายกฯ จะประเมินผลย้อนหลังว่าสิ่งที่สั่งการ มีการแก้ไขและมีผลเป็นรูปธรรมอย่างไร
โฆษกทบ.โต้อ.สมศักดิ์
ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าว กรณีนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาวิจารณ์การเรียนการสอนในกองทัพว่า นายสมศักดิ์เป็นอาจารย์ของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง การแสดงความคิดเห็นช่วงนี้ควรเป็นในเชิงสร้างสรรค์มากกว่า เพราะการแสดงความเห็นบางส่วนอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเสนอข้อมูลขณะที่มีไม่เพียงพอ หรือใช้ความรู้สึกความเข้าใจเฉพาะมุมมองของตัวเองไปพาดพิง บุคคลและองค์กรอื่นๆ ขอให้ระมัดระวัง มิฉะนั้นอาจกระทบภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือด้านวิชาชีพได้
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า มั่นใจว่าเรื่องระบบการศึกษาในโรงเรียนทหารทุกแห่งในประเทศไทย มีพัฒนาการ มีมาตรฐานในระดับสากล เป็นที่ยอมรับจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีผลงานให้เห็นจับต้องได้จริง ตั้งแต่การป้องกันประเทศ การรักษาความสงบภายใน การพิทักษ์ปกป้องสถาบัน และการช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่ล้มเหลวอย่างที่นายสมศักดิ์กล่าวอ้าง
สมศักดิ์ สวนใครแน่ที่ผิดร้ายแรง
ขณะเดียวกัน นายสมศักดิ์โพสต์ตอบโต้พ.อ.วินธัยว่า "เหอๆ แหม ใครเตือน ผมไม่ว่า อะไร ผมขอบคุณไว้ก่อน แต่คุณวินธัยคนที่ทำผิดกฎหมายร้ายแรงที่สุดของประเทศ คือล้มรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมายมาตรา 113 (โทษประหารชีวิตทั้งนั้น) มีสิทธิ์อะไรเตือนคนอื่นเรื่องทำผิดโน่นผิดนี่อีก"
นายสมศักดิ์ ระบุด้วยว่า สำหรับข้ออ้างของ คสช. ประเภทจำเป็นต้องทำ คือผิดกฎหมายมาตรา 113 ล้มรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีกฎหมายอาญาไหน เขียนว่าไม่สามารถกบฏได้ ยกเว้นแต่มีความจำเป็น ซึ่งใครคิดว่าข้ออ้างประเภทนี้มีความหมาย ก็บ้าแน่ ส่วนกรณีที่มีมือปืนไปยิงตนถึงบ้านไม่กี่วันหลังจากพ.อ.วินธัย ในนามกองทัพบกออกมาขู่ว่าต้องใช้มาตรการทางสังคม เล่นงานตน มีวี่แววจะจับได้หรือยัง
วิษณุ ชี้ยังไม่ถึงเวลาคุยประชามติ
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ.(วิปรัฐบาล)ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับให้ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ได้ตั้งข้อสังเกต อาทิ ความพร้อมของกรมสรรพากร มาตรการป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีและการบังคับใช้กฎหมายต้องไม่ส่งผลกระทบกับผู้มีรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อย และหลังจากออกพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับแล้ว ต้องออกกฎหมายลูกและกฎกระทรวงการคลังเพื่อให้การบังคับใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นธรรมและได้ผลอย่างแท้จริง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงบางฝ่ายเกรงว่าคลื่นใต้น้ำอาจส่งผล กระทบต่อการร่างรัฐธรรมนูญ หรืออาจ ซื้อสิทธิขายเสียงลงประชามติเพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ตอนนี้มีอีกหลายขั้นตอน ยังไม่ควรพูดถึงการทำประชามติที่เป็นเหตุการณ์ของ 10 เดือนข้างหน้า ควรรอให้ยกร่างเสร็จก่อน เมื่อยกร่างไปได้ครึ่งทาง คงพอรู้ว่าควรทำประชามติหรือไม่ คิดว่าควรรอให้ถึงเวลานั้นก่อนดีกว่า ทั้งนี้ไม่กังวลว่าจะมีการซื้อเสียงในการลงประชามติเพราะ ยังไม่ถึงเวลาต้องพูดกัน ส่วนคลื่นใต้น้ำนั้น ไม่อยากพูดถึง ถ้าเราพูดถึงเรื่องนี้กันมากๆ มันก็อาจเกิดขึ้นได้
สนช.ถกขอเพิ่มพยานคดีถอด'ปู'
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ขอเพิ่มพยานนั้น ต้องรอดูที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช.(วิปสนช.)พิจารณาในวันที่ 25 พ.ย.นี้ว่าจะให้เพิ่มพยานหรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ที่ขอเพิ่มพยานเข้ามา โดยต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน ส่วนเนื้อหาสาระจะเข้าที่ประชุมใหญ่สนช.ในวันที่ 27-28 พ.ย.นี้ สำหรับสำนวนการถอดถอน 38 อดีตส.ว.นั้น สนช.ต้องดูเนื้อหาและองค์ประกอบว่าจะมีอำนาจรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับสำนวนดังกล่าว จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
เมื่อถามถึงร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้วนั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นแต่หากเสนอกฎหมายเข้ามา สนช.ต้องบรรจุวาระเข้าที่ประชุม
นิคมยื่นค้าน 16 สนช.คู่กรณี
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ในวันที่ 27 พ.ย.จะมาชี้แจงต่อสนช.ด้วยตนเอง โดยไม่มีทีมทนายแต่จะมีเพื่อน ที่เป็นอดีตส.ว.มาร่วมชี้แจงด้วย ขึ้นอยู่กับ ที่ประชุมว่าจะอนุญาตให้เข้าร่วมชี้แจงด้วยหรือไม่ แต่เชื่อว่าน่าจะอนุญาตได้ 1 คน เหมือนเปิดให้ทนายมาร่วมชี้แจงด้วย ทั้งนี้ข้อมูลที่จะนำมาเป็นเทปบันทึกการประชุมในการพิจารณาวาระที่ถูกกล่าวหา ที่ผ่านมา ผู้กล่าวหายื่นเรื่องต่อป.ป.ช. ซึ่งมีข้อมูลอันเป็น เท็จ จงใจปิดบังข้อเท็จจริงบางส่วน เชื่อว่าป.ป.ช.ไม่ได้ดูข้อมูลทั้งหมดที่เป็นเทปบันทึกการประชุมถึง 120 ชั่วโมง จึงเชื่อตามที่ ผู้กล่าวหายื่นไป และไม่ได้สืบค้น ซึ่งป.ป.ช. อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเร่งรีบดำเนินการ
นายนิคม กล่าวว่า จะทำเรื่องขอคัดค้านสนช. 16 คน ซึ่งเป็นอดีตส.ว.ที่เข้าชื่อร้องต่อป.ป.ช.กล่าวหาตน เพราะถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียไม่ให้เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาในกระบวนการถอดถอน ซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปและมารยาท ไม่ควรให้คู่ความเข้าร่วมพิจารณา นอกจากนี้ในวันประชุมจะประสานสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาให้แจกเอกสารที่เป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ปี 2551 เพื่อให้สมาชิกได้ศึกษาว่ามีบทบัญญัติให้อำนาจสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อเพื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้และได้รับการคุ้มครอง หวังว่าสมาชิกเมื่อได้พิจารณาโดยยึดหลักความเที่ยงธรรมและยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรรับพิจารณาตั้งแต่แรกเนื่องจากไม่มีอำนาจ และกฎหมายระบุความผิดไว้แล้ว หากเริ่มกระบวนการแล้วต่อไปจะมีอดีตสมาชิกกว่า 300 คนอยู่ในบัญชีถอดถอน โดยจะต้องถอดถอนทุกวัน
สนช.รับหลักฐานเพิ่มคดีถอด
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช. ในฐานะวิปสนช. กล่าวว่า ในวันที่ 25 พ.ย. วิปสนช.จะประชุมกำหนดแนวทางการประชุมถอดถอนคดีนายสมศักดิ์ และนายนิคม ส่วนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์จะประชุมกันวันที่ 27-28 พ.ย.นี้ โดยจะกำหนดกรอบเวลาการพิจารณาถอดถอนทั้ง 2 คดี พิจารณาพยานหลักฐานต่างๆที่ผู้ถูกกล่าวหาขอให้สนช.สอบเพิ่มเติม เท่าที่ประเมินการลงมติถอดถอน ทั้ง 2 คดีคงใช้เวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ห่างกันมาก
นพ.เจตน์กล่าวด้วยว่า คาดว่าคดีน.ส. ยิ่งลักษณ์น่าจะลงมติได้ช่วงต้นเดือนม.ค. 58 คงไม่ทันภายในปีนี้ เนื่องจากเดือนธ.ค.มีวันหยุดมาก ส่วนที่ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอให้สนช.พิจารณาหลักฐานเอกสาร 72 รายการ ที่เคยยื่นให้ป.ป.ช.ไปแล้ว แต่ป.ป.ช.ไม่ยอมพิจารณาให้นั้น ถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์การ ขอเพิ่มพยานหลักฐาน ซึ่งสนช.พร้อมจารณาหลักฐานเหล่านี้ให้ คงไม่ใช่การยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยื้อเวลา
ทนาย'ปู'ชี้เอกสารเก่าที่ปปช.เมิน
ด้านนายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษากฎหมายน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทีมทนายยื่นหนังสือถึงสนช.เมื่อวันที่ 21 พ.ย. เพื่อขอให้สนช.นำหลักฐานเอกสาร 72 รายการ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาถอดถอน เนื่องจากเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ละเลยหรือเพิกเฉยในโครงการจำนำข้าว จนเกิดความ เสียหาย อาทิ มติครม.เรื่องการสั่งการให้ติดตามและแก้ไขโครงการจำนำข้าว หลังจากคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ที่มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธาน ระบุว่ามีการขาดทุนโครงการจำนำข้าวนับแสนล้านบาท เอกสารสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเรื่องการสวมสิทธิการจำนำข้าว เอกสารขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.)และองค์การคลังสินค้า(อคส.)ที่ยืนยันว่าไม่มีข้าวในโครงการสูญหายจากโกดัง
ภาพบน-ปรับทัศนคติ- เจ้าหน้าที่เชิญตัวน.ศ.กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยมาปรับทัศนคติ ที่ สน.สำราญราษฎร์ หลังร่วมกันโปรยใบปลิวใน มธ. ก่อนจะปล่อยตัว แล้วนัดมาพบใหม่อีกครั้งพร้อมผู้ปกครอง เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ภาพล่าง-ขัดรธน. - นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ขึ้นศาลทหารกรุงเทพ ตามที่ ศาลนัดตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีขัดคำสั่งคสช. โดยนายวรเจตน์ยื่นร้องว่าคำประกาศของคสช.ดังกล่าวขัดต่อรธน.ชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 4 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. |
นายพิชิต กล่าวว่า เอกสารเหล่านี้เคยยื่นต่อป.ป.ช.เพื่อแก้ข้อกล่าวหามาแล้ว ซึ่งป.ป.ช. ก็รับไว้แต่กลับไม่นำมาพิจารณาเลย จึงไม่ใช่การยื่นหลักฐานใหม่เพื่อจงใจยื้อเวลา แต่ขอความเป็นธรรมจากสนช.ให้ช่วยพิจารณาเอกสาร เหล่านี้ที่ป.ป.ช.ไม่ยอมสอบให้ และไม่ยอมชี้แจงเหตุผล เชื่อว่าหากสนช.ได้เห็นเอกสารทั้ง 72 รายการแล้ว จะให้ความเป็นธรรมแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์
ปธ.สปช.ไม่หวั่นปฏิรูปสะดุด
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนของสปช.ผ่านศูนย์รับฟังความคิดเห็นว่า เบื้องต้นมีข้อเสนอเข้ามาจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จะรวบรวมประมวลผลทันที ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะได้ข้อมูลว่ามีประเด็นใดบ้างในการปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปก็เป็นส่วนหนึ่ง การร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทั้งสองอย่างจะเดินหน้าไปด้วยกัน
เมื่อถามถึงกรณีประชาชนออกมาต่อต้านการทำงานของคสช. นายเทียนฉายกล่าวว่า ไม่มีผลกระทบต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้บรรยากาศที่นี่ดีมาก สดชื่นมาก แสดงว่าเรื่องปฏิรูปยังเดินหน้าอยู่ และไม่เกรงว่ากระแสต่อต้านจะทำให้การปฏิรูปสะดุด โดยจะรวบรวมประเด็นทั้งหมดจากคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ทั้ง 18 คณะ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. และจะทยอยส่งให้กับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ เพื่อให้ทันวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นกล่องของขวัญที่ส่งให้กมธ.ยกร่างฯที่ทันเวลา
ชี้มีระเบียบวิธีฟังความเห็น
เมื่อถามถึงแนวคิดการทำประชาพิจารณ์ควบคู่กับการรับฟังความคิดเห็นจะเป็นไปได้หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะเรากำลังฟังความคิดเห็นซึ่งคือการทำประชาพิจารณ์โดยที่ประชาชนไม่รู้ตัว และเป็นวิธีรับฟังความคิดเห็นที่มีระเบียบวิธี
ผู้สื่อข่าวถามว่า การรับฟังความคิดเห็นถ้าทำได้ไม่ครบถ้วน จะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นายเทียนฉายกล่าวว่า ถ้าจะเอา 64 ล้านคนทั้งประเทศเข้ามาก็คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าเสียงส่วนใหญ่คือ 32 ล้านคนก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นมีระบบสถิติ ต้องตัดทารกและคนชราออกไป ถือเป็นตัวแทน ของเสียงส่วนใหญ่ได้
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปช. ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเชิญพรรคการเมืองมาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ติดต่อมายังกมธ.ยกร่างฯแล้วว่าจะขอเข้ามาแสดงความ คิดเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯในวันที่ 27 พ.ย. เวลา 10.00 น. เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าจะมีใครมาบ้าง
เตรียมถกตั้งเวทีรับฟังในตจว.
ที่รัฐสภา นางถวิลวดี บุรีกุล ประธานคณะอนุกมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า แนวทางการทำประชาพิจารณ์ที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯระบุนั้น ถือเป็นแนวทางที่ อนุกมธ.การมีส่วนร่วมฯ เตรียมดำเนินการอยู่แล้ว และวันที่ 26 พ.ย.จะหารือกำหนดแผนงานทำงานเพิ่มเติมในการจัดเวทีรับฟังความเห็นในจังหวัดต่างๆ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกมธ.การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เปิดเผย ถึงผลการประชุมว่า กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ประกอบด้วย 1.องค์กรของรัฐ เช่น ป.ป.ช. กกต. คตง. และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กสม. 2.ตรวจสอบโดยส.ส. และส.ว. เข้าชื่อ 10 คนขึ้นไป ฟ้องคดีไปยังศาลปกครอง ศาลยุติธรรมและศาลรัฐธรมนูญได้โดยตรง และ 3.กลไกของสภาตรวจสอบภาคประชาชน 77 จังหวัด ครอบคลุมการทุจริต จริยธรรม การเลือกตั้ง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ประชุมพูดถึงสภาจริยธรรมแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อพิจารณาเรื่องที่ เกี่ยวกับประเด็นด้านจริยธรรม โดยมีบทลงโทษ นอกจากเผยแพร่สาธารณะแล้ว บันทึกเป็นประวัติและกำหนดบังคับอื่นๆ เพิ่มเติม โดยจะให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นฝ่ายธุรการ ส่วนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้นจะพิจารณาในที่ประชุมครั้งหน้า และในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ อนุกมธ.จะเชิญคณะกรรมการกฤษฎีกามาร่วมประชุมเพื่อเขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
อนุกมธ.ชงนิรโทษ'ทหาร-ม็อบ'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะอนุกมธ.การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน โดยพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ เสนอที่ประชุมว่า แนวทางการสร้างสันติภาพและความสมานฉันท์ ควรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือรัฐสภา ไม่ควรอยู่ภายใต้ของฝ่ายบริหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคู่ขัดแย้ง และควรวางกรอบแนวทาง 3 มิติ 1.วางมาตรการแจ้งเตือนไกล่เกลี่ยและแก้ไข 2.การป้องกันและให้ความรู้เพื่อไม่ให้สถานการณ์ยิ่งบานปลาย 3.การเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งปัจจุบันบรรยากาศปรองดองฟื้นกลับมายาก จึงต้องมีวิธีจัดการ จะมาใช้วิธีแบบปัจจุบันไม่ได้ คลื่นลมยังไม่สงบ ควรตั้งวอร์รูมติดตามตลอดเวลา โดยมีหน่วยงานคอยดูแลและควรทำ 3 มิติดังกล่าวให้เข้มแข็งเป็นหลัก
ขณะที่นายเอนก กล่าวว่า น่าจะมีข้อเสนอแนวทางนิรโทษกรรมด้วย อาจให้เริ่มตั้งแต่ปี 2548-2557 และอาจครอบคลุมแกนนำเคลื่อน ไหวและทหาร แต่อาจจะยกเว้นกรณีทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิต คดีละเมิด และคดีหมิ่นฯ เพื่อนำไปสู่ความสมานฉันท์ที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม การเสนอให้นิรโทษกรรมเป็นเพียงข้อเสนอของอนุกมธ.ชุดนี้แต่ยัง ไม่ได้กำหนดแนวทางที่เป็นรูปธรรมเพื่อเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ
จี้เลิกอัยการศึกเปิดพื้นที่ถกรธน.
ที่ห้องประชุม 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) จัดประชุมพิจารณากรอบรัฐธรรมนูญประชาชน ครั้งที่ 1 โดยมีภาคประชาสังคม และเครือข่ายองค์กรชุมชน 77 องค์กร ตัวแทนประชาชนจากทั้ง 4 ภาค และกลุ่มชาติพันธุ์ รวมกว่า 300 คน เข้าร่วม
นายไมตรี จงไกรจักร คณะทำงาน สชป. เผยว่า เบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนเน้น 2 ส่วนสำคัญ คือลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมือง เพิ่มประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นซึ่งไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เน้นจัดการที่ดินอย่างเป็นธรรม และเพิ่มอำนาจประชาชน กระจายอำนาจสู่ชุมชน บัญญัติเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับหลักสิทธิชุมชน กระจายอำนาจการคลังและการจัดเก็บภาษี และจัดตั้งสภาพลเมืองทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัดและตำบล ซึ่งมีหน้าที่จัดทำนโยบายของรัฐและจัดทำประชามติ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุม ตัวแทน สชป. อ่านคำประกาศสชป. โดยสรุปเนื้อหาสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุว่า สชป. เห็นว่าคสช.ควรพิจารณา ทบทวนการใช้ กฎอัยการศึก และยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อ ส่งเสริมบรรยากาศประชาธิปไตย และมีพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ หลังจากนี้ สชป.จะร่วมกับเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ปฏิบัติการจริงทุกระดับ ส่งตัวแทน 2 คนเข้าหารือกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 พ.ย.นี้ จากนั้นจะเปิดประชุมสชป.ครั้งที่ 2 ในเดือนม.ค. 2558 ต่อไป
พท.ติง'แม่น้ำ 5 สาย'ไปคนละทิศ
นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการติดตามพบว่า สนช. สปช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แสดงวิสัยทัศน์ที่ห่างจากประชาธิปไตยมากเหลือเกิน โดยเฉพาะที่มองว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องเลวร้าย จึงอยากให้ทุกฝ่ายยึดประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มาจากการผูกขาด ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ออกมาในทางสรรหาทั้งหมด ต้องมีการเลือกตั้ง ถ้าเกรงว่าจะเกิดทุจริตก็มีฝ่ายค้านเป็นผู้ตรวจสอบได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ มองว่าแม่น้ำ 5 สายมีโอกาสสร้างรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ เพราะทุกสายไปคนละทิศคนละทาง ถ้าเป็นแบบนี้รัฐธรรมนูญเดินหน้าไม่ได้แน่นอน ไม่เป็นตามกรอบที่วางไว้แน่
นายอำนวย กล่าวว่า นอกจากนี้ไม่เห็นด้วยที่ คสช.ปิดกั้นสื่อที่เหมือนกระจกสะท้อนการทำงานของรัฐบาล ซึ่งการติติงถือเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลปรับปรุง แก้ไขให้ดีขึ้น หากสิ่งใดดีทุกฝ่ายก็พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว ดังนั้นขอให้สื่อได้แสดงความเห็นตามปกติ
โพลชี้คนหนุนคสช.แม้คะแนนลด
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,689 คน วันที่ 20-23 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อ "ผลการดำเนินงาน 6 เดือนของ คสช." พบว่า ร้อยละ 83.30 เริ่มมีบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวแต่ในภาพรวมยังควบคุมสถานการณ์ได้ ร้อยละ 79.46 โดดเด่นเรื่องการจัดระเบียบสังคม ปราบปราม การทุจริตและผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 61.87 มุ่งมั่นตั้งใจ ทำงานเด็ดขาด เน้นแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน
จุดเด่นของ คสช. ร้อยละ 39.35 ระบุว่ามาตรการจัดระเบียบสังคมทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ร้อยละ 32.75 มีทหารเข้ามาดูแลบ้านเมืองทำงานได้เด็ดขาดแตกต่างจากนักการเมือง ร้อยละ 27.90 แนวทางทำงานชัดเจน แก้ปัญหาได้รวดเร็ว
ปัญหาอุปสรรคกรทำงานของคสช. ร้อยละ 40.14 ระบุเริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ มากขึ้น มีกระแสโจมตีคสช. ร้อยละ 34.32 มีปัญหาระหว่างคสช.กับสื่อมวลชนออกมาเป็นระยะ สิ่งที่อยากฝากคสช. ร้อยละ 42.01 คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม เน้นความยุติธรรมและเสมอภาค ร้อยละ 36.06 อยากให้บริหารประเทศต่อไป ซื่อสัตย์ อดทน และร้อยละ 21.93 เร่งสร้างสามัคคีปรองดองโดยเร็ว
ทั้งนี้ ร้อยละ 54.46 ระบุค่อนข้างพึงพอใจการทำงานของคสช. เพราะให้ความสำคัญดูแลและช่วยเหลือประชาชน ลดค่าครองชีพ มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร ร้อยละ 29.85 ระบุพึงพอใจมาก เพราะทำงานเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ จัดระเบียบสังคมด้านต่างๆ บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ร้อยละ 10.93 ระบุไม่ค่อยพึงพอใจเพราะแก้ปัญหาต่างๆ ยังล่าช้า เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น การชี้แจงยังไม่ชัดเจน เข้าใจยาก และร้อยละ 4.76 บอกไม่พึงพอใจเลย เพราะประชาชนควรมีสิทธิแสดงความคิดเห็น ยังไม่เป็นประชาธิปไตย
เมื่อเปรียบเทียบคะแนนที่ประชาชนให้ คสช.พบว่า ลดลงเหลือ 8.49 คะแนน จากที่ครบ 5 เดือน ได้ 8.52 คะแนน ขณะที่ช่วง 1 เดือนแรก ได้ 8.82 คะแนน
อำนวยเริ่มงานลุยแก้ปัญหายาง
เมื่อเวลา 06.30 น. วันที่ 24 พ.ย. นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางเข้ามาทำงานที่กระทรวงเกษตรฯเป็นวันแรก โดยสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมารอต้อนรับ
นายอำนวย กล่าวว่า เบื้องต้นจะดูแลหนี้สินเกษตรกร และยางพารา โดยเฉพาะเรื่องยาง จะติดตามดูแลและขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ทั้ง 16 มาตรการ ที่คสช.และรัฐบาลออกมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางและภาคธุรกิจยางแบบครบวงจร ซึ่งมีทั้งการดึงราคา การช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท การส่งเสริมการแปรรูป รวมถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้มาตรการเหล่านี้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นายอำนวย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะเร่งผลักดันให้เกิดตลาดที่สมบูรณ์ ให้มีคนซื้อมากขึ้น โดยเร่งเปิดกองทุนมูลภัณฑ์กันชน (บัฟเฟอร์สต๊อก) ให้ทำงานซื้อขายยางโดยเร็ว พร้อมเจรจา กับประเทศผู้ผลิตยางของภูมิภาคเพื่อลดปริมาณยางในตลาด มั่นใจว่าจากมาตรการเหล่านี้ จะดึงให้ราคายางพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 60 บาทภายในสิ้นปี 2557 จากปัจจุบันก.ก.ละ 52 บาท
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า วันนี้จะเซ็นคำสั่งมอบงานให้แก่ นายอำนวย ดูแลการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำเนื่องจากมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะปัญหาราคายางพารา รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่จะเกิดปัญหาขึ้นตามฤดูกาล โดยดูแล 5 กรม 2 รัฐวิสาหกิจ และ 1 องค์การมหาชน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมหม่อนไหม กรมการข้าว สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(ส.ศ.ก.) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) 2 รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ องค์การสวนยาง (อสย.) และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ นายอำนวย ให้เข้ามาช่วยดูการบริหารจัดการข้อมูลของกระทรวงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นฐานข้อมูลพัฒนาเศรษฐกิจด้านการเกษตรของไทย
'บิ๊กตู่'แบ่งงานคุมกลุ่มจังหวัด
วันที่ 24 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนัก นายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 212/2557 เรื่องมอบให้รองนายกฯ และรมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาค ทั้งการตรวจราชการ ให้เจ้าหน้าที่รายงานเหตุการณ์ และผลปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล ดังนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่ ดังนี้ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ กำกับดูแล ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง จันทบุรี ชลบุรี ตราด และระยอง
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯ กำกับดูแล ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์, พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ กำกับดูแล บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กำกับดูแล ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร และอุทัยธานี, ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแล เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง และลำพูน และนาย สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแล นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล
คพ.ถกลดค่าเสียหายคลองด่าน
วันที่ 24 พ.ย. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทส. แถลงกรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชดใช้ค่าเสียหายแก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี กรณีสั่งยกเลิกโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ หรือระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เป็นเงิน 9,618 ล้านบาทว่า ตนปรึกษากับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯแล้ว ซึ่งทส.เคารพคำตัดสินและต้องทำตามที่ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ซึ่งให้เจ้าหน้าที่นำคำพิพากษามาวิเคราะห์อย่างละเอียดในแต่ละประเด็น เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยนายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีคพ. จะเจรจาต่อรองกับกิจการร่วมค้าฯ เพื่อหาแนวทางลดทอนค่าเสียหายให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่หากติดขัดอะไร ตนจะเข้าไปคุยด้วยทีหลัง
รมว.ทส. กล่าวอีกว่า โครงการคลองด่านถูกโอนคืนให้รัฐแล้ว ต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพโครงการก่อนว่าเหมาะสมที่จะปรับปรุงซ่อมแซมใช้บำบัดน้ำเสียได้หรือไม่ ที่สำคัญ เงินลงทุนซ่อมแซมจะคุ้มค่ากับการคืนทุนหรือไม่ด้วย
ด้านนายวิเชียร กล่าวว่า การที่คพ.แพ้คดี ต้องจ่ายเงินให้กับกิจการร่วมค้าฯนั้น ถือเป็นกรณีประวัติศาสตร์ โดยเงินต้นของโครงการนี้อยู่ที่ 5,270 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย ที่ศาลตัดสิน ไว้ว่าคพ.จะต้องจ่าย 7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน เป็นเวลา 11 ปี นับแต่ฟ้องร้อง เป็นเงินอีก 4,348 ล้านบาท รวม 9,618 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นเงินที่คพ.จ่ายไปแล้วก่อนหน้านี้สำหรับการก่อสร้าง 21,023 ล้านบาท รวมแล้วโครงการนี้ มีค่าความเสียหายทั้งหมด 30,642 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมดอกเบี้ยที่คิดอีกวันละ 2 ล้านบาท ซึ่งศาลให้คิดค่าดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.เป็นต้นไป
นายวิเชียร กล่าวว่า สิ่งที่คพ.ต้องทำคือ 1.ประสานสำนักบังคับคดี ศาลปกครอง เรื่องค่าใช้จ่ายว่าจะจ่ายอย่างไร 2.คพ.จะประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุด ว่ามีแนวทางใดที่จะเยียวยาให้รัฐบาลหรือคนไทยได้บ้าง 3.การส่งมอบทรัพย์สิน คือระบบบำบัดน้ำเสียที่ก่อสร้างไว้ 98 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นอยู่เวลานี้ จะส่งมอบกันเมื่อไร มอบแล้วจะทำอย่างไรต่อไป 4.คพ.จะหารือกับกรมบัญชีกลางหาผู้กระทำผิดจากคดีนี้ที่เกิดจากการยกเลิกสัญญา
จี้ส่งศาลรธน.ชี้ประกาศคสช.
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 24 พ.ย. ที่ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ ถ.หลักเมือง คณะตุลาการศาลทหารกรุงเทพ นัดตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำ 32 ก./2557 ที่อัยการทหารเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นจำเลย ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวตามประกาศคสช. ฉบับที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 และฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 9 มิ.ย.2557 ซึ่งความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยอัยการทหารยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนัดตรวจพยานหลักฐานครั้งนี้ คณะตุลาการศาลฯอนุญาตให้ตัวแทนสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฝรั่งเศสและเยอรมัน เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีด้วย แต่ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องบันทึกเทป หรือสมุดจดเข้าไปในห้องพิจารณาคดีอย่างเด็ดขาด
นายวรเจตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้นัดตรวจพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ตนและทนายยื่นคำร้องในประเด็นว่าประกาศของคสช. ฉบับที่ 37/2557 และ38/2557 ที่ให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหารกรุงเทพนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เนื่องจากประเทศไทยเป็นภาคีประเทศสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ไอซีซีพีอาร์) ซึ่งมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้พันธกรณีที่ไทยมีอยู่ต้องผูกพันด้วย ซึ่งในไอซีซีพีอาร์ระบุว่าศาลต้องเป็นอิสระและคดีอาญา จำเลยต้องมีโอกาสอุทธรณ์คำตัดสิน กรณีตนมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของศาลทหารที่เป็นองค์กรในกระทรวงกลาโหม ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับไอซีซีพีอาร์ อีกทั้งการขึ้นศาลทหารช่วงประกาศกฎอัยการศึก เมื่อตัดสินคดีจะจบทันที ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้
นายวรเจตน์ กล่าวต่อว่า มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้ประกาศหรือคำสั่งของคสช. ชอบตามรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด ทำให้สงสัยว่าจะโต้แย้งได้อย่างไร แต่มีประเด็นว่าในมาตรา 26 บัญญัติศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาด้วยความยุติธรรมตามกฎหมาย ดังนั้นการตีความของรัฐธรรมนูญจะต้องมีเรื่องความยุติธรรมด้วย การตัดสินคดีโดยศาลชั้นเดียว ไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม ซึ่งประกาศของคสช.ถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ซึ่งคาดว่าจะขัดกับมาตรา 4 และ 26 จึงทำคำร้องขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ประกอบพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งศาลทหารได้รับคำร้องนี้ไว้และจะมีคำสั่งในวันที่ 26 ม.ค. 2558 พร้อมนัดตรวจพยานโจทก์ ต้องดูว่าศาลทหารจะพิจารณาอย่างไร และต้องมีองค์กรชี้ก่อนว่าประกาศคสช.ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
'ในหลวง'ห่วงไม่พร้อมเปิดเออีซี
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.เป็นประธานงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2557 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลผลการดำเนินงานที่ทุกคนกำลังช่วยกันพัฒนาประเทศ ซึ่งพระองค์ท่านทรงเข้าพระทัยในทุกเรื่อง และทรงมีความเป็นห่วง เนื่องจากวันนี้ประเทศต้องลงทุนและเดินหน้า พร้อมรับสั่งว่าการบริหารประเทศช่วงนี้เป็นงานหนักและต้องเร่งให้ทันกับเวลาที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ที่ต้องเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีหน้า ซึ่งเวลาไม่รอ และเดินทุกวัน ทุกวินาทีมีค่า เหมือนอย่างที่ตนก็ทำงานทุกวันทุกวินาที เพราะฉะนั้นต้องมีหัวใจร่วมกัน และอยากขอหัวใจร่วมกันในการทำงาน เสียสละ และบางอย่างมันไม่ได้ดั่งใจ ไม่โทษใครทั้งสิ้น ถือเป็นภาระของทุกรัฐบาลที่ต้องขับเคลื่อนและดูแลทุกคนในการเดินหน้าประเทศให้ได้
นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้ทุกหน่วยงานต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน วันนี้ไม่ได้ตั้งกติกามาจำกัดการเดินหน้าประเทศ แต่เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินหน้าประเทศ ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปทุกเรื่อง เอาของเก่ามาทำใหม่เพื่อลูกหลาน ทุกคนต้องช่วยกันอย่าขัดแย้ง ฝากทุกหน่วยงานให้ร่วมกันคิดต่อไปว่าจะแก้ปัญหา ให้เราเป็นเพชรน้ำหนึ่งที่ดีงาม เพราะประเทศชาติสำคัญที่สุดมากกว่าตัวเรา อยากให้ลูกหลานมีความสุขเราต้องช่วยกัน
ชงครม.อนุมัติ'ไอที'คุมผู้ต้องหา
วันที่ 24 พ.ย. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 พ.ย.นี้ หน่วยงานต่างๆ เสนอให้ครม.เห็นชอบ หลายเรื่อง อาทิ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ.. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอร่างพ.ร.บ.สภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.... ขณะที่สำนักงานศาลยุติธรรม เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ... (ในส่วนการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวหลักเกณฑ์การบังคับคดีผู้ประกัน และการอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว)
กระทรวงคมนาคม เสนอขอความเห็นชอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยกลไกความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนสำหรับการเตรียมการและการจัดการน้ำมันรั่วไหลร่วมกัน และขอความเห็นชอบแผนฉุกเฉินเพื่อประสานงานและการจัดการอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และเสนอแนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์(e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เสนอ รายงานสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2556 (1 ต.ค. 2555 - 30 ก.ย. 2556) เป็นต้น