- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 23 November 2014 10:03
- Hits: 8053
วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8761 ข่าวสดรายวัน
ผกก.ฮังเกอร์เกมส์ห่วงนศ.ไทยชู 3 นิ้ว เชียงใหม่รวบอีก เชียงรายพ่นถนน
กินข้าว- นายณัชชา กองอุดม น.ศ.หนุ่มสวยที่ชู 3 นิ้วในโรงหนังฉายฮังเกอร์เกมส์ พร้อมกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย นัดกินอาหารเย็นกับนางพะเยา อัคฮาด แม่ของน้องเกด ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 พ.ย.
ผู้กำกับฯ-คนเขียนบท 'ฮังเกอร์เกมส์'เผยห่วงนัก ศึกษาที่ถูกจับ คณบดีคณะสังคมฯ มธ.ยันเจ้าหน้าที่เอาผิดคนใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ไม่ได้ ทำได้แค่ขู่ให้กลัว เตือนหากปราบปรามอาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว'ปณิธาน 'ย้ำ นายกฯ ไม่ติดใจนักศึกษาต้านรัฐประหาร ชี้เลียนแบบภาพยนตร์เพราะแค่เข้าใจความหมายผิด เผย 'ประวิตร' สั่งฝ่ายมั่นคง-รมต.สแกนเข้มทุกพื้นที่ ตำรวจ-ทหารเชียงใหม่ รวบอีกพนักงานโรงแรมและนักเขียนเรื่องสั้นโพสต์ชู 3 นิ้วหน้าประตูท่าแพ ลงเฟซบุ๊ก นำมาสอบประวัติปรับทัศนคติก่อนปล่อยตัว มือมืดพ่นข้อความบนถนน 'เชียงราย ปลอดเผด็จการ' รอบค่ายเม็งราย-ม.แม่ฟ้าหลวง ต้อนรับ'บิ๊กป๊อก'มาประชุม 'โคทม'ครวญถูกสั่งงดเสวนาปฏิรูป หวังจัดใหม่สัปดาห์หน้า โฆษกกมธ.คาดเริ่มร่างรธน.รายมาตราเดือนม.ค.58
'สุรชัย'เชื่อรธน.ใหม่เป็นฉบับถาวร
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 พ.ย. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวเปิดโครงการ สนช.พบประชาชนว่า ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันเกิดจากปัญหาต่างๆ ที่สะสมมาอย่างยาวนาน เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธีจึงเกิดการขัดแย้งกัน เราทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่น่าเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยมา 80 กว่าปี ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับถือเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมาก หวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นฉบับถาวรของประเทศไทย ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มาจากการผูกขาดของกลุ่มใด ไม่ใช่แค่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังเลือกตั้งต้องมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย การตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ประชาชนต้องร่วมมือกัน
อดีต 40 ส.ว.สกัดกลุ่มการเมืองเดิม
ต่อมาเวลา 10.00 น. มีการเสวนาหัวข้อ "หน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางการดำเนินงานของสนช." โดยนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. อภิปรายว่า วัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของยุโรป ประชาชนของเขาแพ้ถูกสังหารมาตลอด พอมีประชา ธิปไตย แล้วประชาชนจึงหวงแหนมาก ซึ่งแตกต่างจากไทยที่ต้องการแค่การเลือกตั้ง ดังนั้น ที่มาของสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่จึงสำคัญมาก อย่าปล่อยให้กลุ่มบุคคลเดิมกลับเข้าสู่อำนาจได้อีก
ด้านนายตวง อันทะไชย สมาชิกสนช. กล่าวว่า ไม่จำเป็นที่คนไทยต้องออกแบบประชาธิปไตยให้เหมือนประเทศแถบยุโรป นี่เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ออกแบบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องต่อสภาพสังคมไทย เราต้องตัดรองเท้าของเราให้เข้ากับเท้า ไม่ใช่ตัดเท้าให้เข้ากับรองเท้า
ชงสส.-สว.ฟ้องศาลเอาผิดรมต.ได้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกมธ. พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วยนิติธรรม ศาลและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในกมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า ในการประชุมอนุกมธ.ฯ วันที่ 24 พ.ย. จะพิจารณารายละเอียดเพื่อกำหนดกรอบสำคัญต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เบื้องต้นในกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น ตนมีแนวคิดใช้ 3 ส่วนหลัก คือ 1.องค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กำหนดไว้ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2.ส่วนของ ผู้แทนปวงชนชาวไทย คือส.ส. ส.ว. ตรวจสอบในประเด็นนโยบายรัฐบาล โครงการรัฐบาลที่กระทบกับภาพกว้าง ซึ่งให้สิทธิส.ส. ส.ว. ตรวจสอบความผิดรัฐมนตรีและยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมได้โดยตรง และ 3.ภาคประชาชนโดยจัดตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชน 77 จังหวัด ให้ตรวจสอบท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และให้อำนาจยื่นฟ้องศาลหรืออัยการประจำจังหวัดได้
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนที่มีข้อเรียก ร้องให้ปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระนั้น อนุกมธ.จะนำมาพิจารณาร่วมด้วย โดยประเด็นสำคัญคือองค์กรอิสระ เช่น กกต. ไม่ใช่องค์ อำนาจธิปไตยที่ 4 ดังนั้น กระบวนการให้โทษหรือให้คุณจึงไม่ถือเป็นอำนาจขององค์กรอิสระ จึงไม่ควรมีหน้าที่วินิจฉัยความผิด เป็นต้น
กมธ.ปฏิรูปเร่งสรุป 25 พ.ย.นี้
นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกมธ.วิสามัญประจำสปช.ด้านการเมือง กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยและมวลชนกลุ่มนปช.ไม่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่น่ามีปัญหา หากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินไป โดยคำนึงถึงหลักความเป็นธรรม ยึดถืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทยเป็นตัวตั้ง ไม่เอียงซ้ายเอียงขวาหรืออคติ จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่สังคมยอมรับ ได้ในที่สุด ส่วนการทำงานของกมธ.ด้านการเมือง เบื้องต้นจะสรุปปัญหาทางการเมือง ที่กมธ.ร่วมกันระดมความคิดเห็นในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ก่อนจะสรุปข้อมูลที่ได้เสนอความเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯ ตามกรอบ 60 วันต่อไป
ส่วนที่นักศึกษาและประชาชนแสดงออกต่อต้านรัฐประหารในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นายดิเรกกล่าวว่า แสดงว่ายังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่ แต่ไม่น่ามีผลกระทบต่อการทำงานปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเรายังมีการประกาศใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึกอยู่ จึงไม่น่าจะเกิดแรงต้านได้
กมธ.ยันชู 3 นิ้วไม่กระทบร่างรธน.
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การทำงานของกมธ.ยกร่างฯ ในสัปดาห์หน้า คณะอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ ทั้ง 10 คณะ จะแยกกันประชุมว่าในส่วนที่รับผิดชอบนั้นมีความคิดเห็นอย่างไร จากนั้นทั้ง 10 คณะจะสรุปความ คิดเห็นตามกรอบต่างๆ มาให้ กมธ.ยกร่างฯ ควบคู่กับความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต้องส่งมาตามกรอบ 60 วัน จะทำให้กมธ.ยกร่างฯ เริ่มลงรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ ในช่วงเดือนม.ค. 2558 ต่อไป
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวถึงกรณีมีนักศึกษา ชู 3 นิ้ว เพื่อต่อต้านรัฐประหารในหลายพื้นที่ทั่วประเทศว่า เป็นคนละเรื่องกับการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ ไม่เกี่ยวข้องกัน กมธ.ยกร่างฯ ดำเนินงานได้ ไม่มีปัญหา เพราะเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพราะถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญก็จะยังไม่มีการเลือกตั้ง หากไม่มีการเลือกตั้งประเทศก็ไม่อาจก้าวผ่านสถานการณ์ในช่วงนี้ไปได้ ต้องช่วยกันผลักดันให้การปฏิรูปประเทศและการยกร่างรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปได้
แนะกลุ่มประท้วงอย่าอ้างแค่เลือกตั้ง
นายเจษฎ์ โทณวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการชู 3 นิ้วรวมถึงการตะโกนด่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อย อย่างในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าประเทศไหนก็มีการคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นำรัฐ เพราะนี่คือตัวแทนรัฐ และไม่ได้แปลว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความสูงต่ำต่างกัน แต่ต้องแยกแยะไป ในเชิงสัญลักษณ์การชู 3 นิ้ว การลงโทษมากสุดเรียกมาคุยแล้วปล่อยตัวไป แต่หากไม่ทำอะไรเลย จาก 5 คนอาจเพิ่มเป็น 50-500 ที่ทำตาม
นายเจษฎ์ กล่าวว่า ส่วนที่หลายคนมอง ว่าหากรัฐบาลจัดการผู้ประท้วงอาจทำให้ประชาชนก่อหวอดนั้น ไม่มีใครรู้ จะนำเพียง 1 กรณีมาตัดสินทั้งหมดไม่ได้ แต่ควรมีกระบวนการทำความเข้าใจกันมากขึ้น มีการพูดคุย ผู้ประท้วงพูดคุย มีเจ้าหน้าที่รัฐมารับฟัง ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าขณะนี้เรากำลังเดินสู่ประชาธิปไตยและคนเหล่านี้ต้องดูแก่น ไม่ใช่ดูกระผีก เพราะคนจำนวนมากยกกระผีกขึ้นมา ถ้าบอกว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งก็เตรียมพับเสื่อกลับบ้านได้เลยเพราะนั่นคือกระผีกประชาธิปไตย จะเรียกร้องต้องพูดให้ชัด พูดแก่นประชาธิปไตยเชื่อว่าไม่มีใครว่าเลย และขอร้องอย่าพูดโดยทะเลาะกันเพราะทุกคนมีความจำเป็นหมด นอกจากนี้ผู้มีอำนาจในมือตอนนี้ก็ต้องดูด้วยว่าคนเหล่านี้ต้องการอะไร
'ประวิตร'สั่งจับตากลุ่มเคลื่อนไหว
เมื่อเวลา 11.45 น. ที่ห้องวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานว่า พล.อ.ประวิตรกำชับทุกหน่วยให้ทำงานมากขึ้น เพื่อดูแลความเรียบร้อยในช่วงนี้ที่จะเปิดให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น โดยฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา การทำงานด้านความมั่นคงเป็นไปได้ด้วยดี ส่วน 6 เดือนข้างหน้านี้ อาจต้องปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศบ้านเมืองให้มากขึ้น พล.อ.ประวิตรจึงมอบให้หน่วยงานความมั่นคงทำความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหว
บนจับ"3 นิ้ว"- ทหารมทบ.33 ควบคุมตัวนายษิณะพันธ์ เกิดสนอง และนายดำนาย ประทานัง ที่ชู 3 นิ้วแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊กมาปรับทัศนคติ และลงบันทึกประจำวันที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ก่อนปล่อยตัวไป เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ล่างต้านคสช. - ข้อความต่อต้านคสช.ที่มีผู้พ่นตามถนนใกล้ค่ายเม็งรายมหาราช และสถานที่ต่างๆ ก่อนที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะมาปาฐกถาในการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 37 ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 22 พ.ย. |
นายปณิธาน กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรยังกำชับเรื่องการบริหารงานส่วนภูมิภาค ให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีกำหนดงานในส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น รวมถึงให้ลงพื้นที่เกือบทุกสัปดาห์ เพื่อเร่งรัดการใช้จ่าย และติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคง และให้รายงานต่อครม.ทุก 3 เดือน ส่วนที่มีการแสดงออกทางการเมืองเกิดขึ้นมากในขณะนี้นั้น หากนำไปสู่การเผชิญหน้าและความขัดแย้งเป็นเรื่องน่ากังวล แต่ถือเป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมาก็ลดลง โดยฝ่ายความมั่นคงจะดูแลไม่ให้เผชิญหน้ากัน
ลั่นไม่ห้ามการแสดงออก
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รัฐบาลห้ามแสดง ออกจะเป็นการเพิ่มความรุนแรงหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า ยืนยันรัฐบาลไม่ได้ห้ามการแสดงออก แต่รัฐบาลเลือกดูแลการแสดงออกที่อาจเป็นประเด็นโดยเฉพาะการแสดงออกอย่างมีวาระแอบแฝง มีกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีอยู่เบื้องหลังของความเคลื่อนไหว ซึ่งฝ่ายความมั่นคงต้องเข้าไปดูแลทั้งหมด
"ผมคิดว่า นายกฯ อยากฟังความคิดเห็นเหล่านี้อยู่แล้ว นายกฯ พูดว่าเรื่องการแสดง ออกของนักศึกษา ท่านไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่คนที่อยู่เบื้องหลังหน่วยงานความมั่นคงกำลังพิจารณาอยู่ว่ามีหรือไม่ ช่วง 6 เดือนต่อไปคงต้องดูแลในเรื่องเหล่านี้พอสมควร" นายปณิธานกล่าว
ชูป้ายบนดอยแค่เชิญปรับทัศนคติ
เมื่อถามถึงการชู 3 นิ้วและเผยแพร่ผ่าน โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเชิญไปปรับทัศนคติ ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า ในที่ประชุมก็กำชับกันว่าการปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้ต้องทำอย่างละเอียดอ่อน พิจารณาให้รอบ คอบเหมาะสม ไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ หากเป็นการแสดงออกที่ไม่สุจริต ยกประเด็นการต่อต้านในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ก็อาจเชิญมาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ ไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งเหมือนในอดีต แต่การจะห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นคงเป็นไปได้ยาก เพราะเกิดขึ้นรายวันอยู่แล้ว
ส่วนที่มีผู้โพสต์ภาพชูป้ายต่อต้านขณะที่อยู่บนดอยเชียงดาว แต่เมื่อลงจากดอยมาแล้วถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวไปปรับทัศนคตินั้น นายปณิธานกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทำงาน 3 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนเฝ้าระวัง จะเป็นเพียงขั้นตอนสอบถาม แต่ไม่มีเรื่องคดีความหรือข้อกฎหมาย 2.ส่วนแก้ปัญหา เข้าไปดำเนินการเพื่อแก้ปัญหา เช่น ทำข้อตกลงกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก และ 3.ส่วนบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งส่วนนี้จะเห็นได้ชัดว่าแม้แต่ นายกฯ ได้บอกว่าเรื่องนักศึกษานั้นไม่น่าเป็นอะไร และยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ในกรณีนักศึกษา เจ้าหน้าที่จึงต้องไปดูแต่ละเรื่องเป็นกรณีไป กรณีดังกล่าวเห็นว่าเชิญไปพูดคุยแล้วปล่อยตัวไป ถือเป็นการเฝ้าระวังเท่านั้น
ชี้คนชู 3 นิ้วเข้าใจความหมายผิด
นายปณิธาน กล่าวว่า ส่วนการใช้ภาพยนตร์ เรื่องฮังเกอร์เกมส์ เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านรัฐบาลนั้น ยอมรับว่าเกิดปัญหาขึ้นพอสมควร มีบางคนนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นเคลื่อนไหว ทั้งนี้เนื้อหาอาจไม่เกี่ยวข้อง แต่อาจมีคนไปหยิบยกมาเป็นประเด็นมากกว่า ถ้าหยิบยกขึ้นมา ฝ่ายความมั่นคงก็ต้องเข้าไปพูดคุยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น ไม่อย่างนั้นทุกเรื่องอาจจะถูกหยิบยกขึ้นมานำเป็นประเด็น
เมื่อถามว่า จะขอความร่วมมือกับ ผู้ประกอบการหรือไม่ว่าขอให้ยกเลิกหรือจำกัดจำนวนวันในการฉายหนัง นายปณิธานกล่าวว่า เข้าใจว่าผู้ประกอบการคงดูความเหมาะสมในทุกองค์ประกอบ เพราะเขาคงไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และภาครัฐคงไม่ต้องพูดคุยกับผู้ประกอบการ เพราะเชื่อว่าเขาคงเข้าใจ
นักวิชาการเชื่อรบ.เอาผิดยาก
นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคม วิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ กล่าวถึงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ชู 3 นิ้วต้านรัฐประหารว่า เป็นความอัดอั้นของผู้คนในสังคม แต่การที่มีกระแสเกิดขึ้นมาใหม่เข้าใจว่าอาจเป็นเพราะภาพยนตร์ ฮังเกอร์เกมส์เข้ามาด้วย ประจวบเหมาะกันพอดี จึงอาศัยช่องทางตรงนี้แสดงสัญลักษณ์ แต่ถ้าไม่มีเงื่อนไขแล้ว การชู 3 นิ้วคงมี น้ำหนักน้อย และไม่เป็นที่สนใจของสาธารณะ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่มีแค่ประเทศไทย แต่ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จะมีกลุ่มคนอาศัยโอกาสตรงนี้ชู 3 นิ้วแสดงความเห็นคัดค้านรัฐประหาร
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ดังนั้น การที่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคลื่อนไหวตอนนี้ ถือเป็นรูปแบบการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ แต่จะมีผลเท่าใด ต้องรอเงื่อนไขหลายๆ ข้อให้ประจวบเหมาะกัน ในอนาคตน่าสนใจถ้าเรามองเห็นช่องทางการสื่อความหมายสาธารณะให้คนอื่นรับรู้ ให้ก้าวข้ามพรมแดนรัฐชาติไปสู่สากล น่าจะมีทิศทางขยายไปได้มากขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ส่วนมาตรการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้น ยังแค่การปรับทัศนคติเท่านั้น เพื่อทำให้เกิดความกลัว แล้วข่มขู่ว่าจะเอาผิดได้ แต่การเอาผิดในแง่กฎหมายคงยาก เพราะการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ข้อดีที่เปิดโอกาสในการตีความที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็ป้องกันที่จะถูกคนเอาผิดว่าเราทำอย่างนั้น ไม่ใช่ทำอย่างนี้ เพราะเหตุนี้ในชั้นกระบวนการยุติธรรม น้ำหนัก พยานหลักฐานไม่พอ จึงไม่มีน้ำหนักที่จะเอาผิดได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องปล่อยไปในที่สุด
เตือนทหาร-ระวังน้ำผึ้งหยดเดียว
"หากนักศึกษามีการเชื่อมโยงกันไม่ว่าขอนแก่น เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ บูรพา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคงประเมินว่าเกรงจะซ้ำรอยกับ 14 ตุลาฯ ที่นักศึกษาเป็นกำลังหลักเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม ผมเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ยังคงชั่งใจระดับหนึ่ง และนักศึกษาเวลานี้ไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะต้องป้องกันไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงเหมือนแกนนำเสื้อแดง เพราะไม่มีการจัดระเบียบองค์กร พวกเขาจึงมองว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเอง หากไปจัดการหรือปราบปรามจริงๆ กับกระแสที่เกิดขึ้นตอนนี้ จะบานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ในที่สุด ดังนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคงประเมินปล่อยให้ทำๆ ไป แล้วก็ปรามนิดหน่อย เดี๋ยวก็หายไปเอง"นายอนุสรณ์กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า บรรยากาศตอนนี้ไม่มีความปรองดองอยู่จริง ความปรองดองดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้บนฐานของการไปปิดปากคนอื่น เพื่อไม่ให้แสดงความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน อีกแง่หนึ่งในปัจจุบันไม่สามารถย้อนยุคไปปิดประชาชนได้อีกแล้ว เพราะประชาชนผ่านการเปลี่ยน แปลงมหาศาล ก้าวข้ามไปสู่ความก้าวหน้า ซึ่งการไปปิดหูปิดตาประชาชน ถือเป็นการฝืนสภาพความเป็นจริงที่สุด หากถามว่าจะบ่มเพาะคนให้เชื่อง เชื่อฟังได้อย่างในอดีตหรือไม่ คำตอบคือเงื่อนไขมันไม่เอื้อให้ทำได้อีกต่อไปที่จะไปล้างสมองประชาชน
ขอนแก่นยันแค่ข่าวลือสอบจนท.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามกลุ่มดาวดิน 5 คน ออกมาประท้วงชู 3 นิ้วในเชิงสัญลักษณ์ สวมเสื้อยืดสีดำสกรีนข้อความว่า ไม่เอารัฐประหาร ต่อหน้าพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ต่อมาเกิดกระแสข่าวลือใน จ.ขอนแก่น ว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และ อส. ที่รับผิดชอบตรงบริเวณหน้าเวที จะถูกตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น นายกำธร วิเชฏฐพงศ์ ป้องกันจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ข้อบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานไม่เป็นระบบ คือไม่กำหนดบุคคลรับผิดชอบในแต่ละด้านให้ชัดเจน และไม่คัดกรองสื่อมวลชนที่มีจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสให้กลุ่ม 5 นักศึกษากลุ่มดาวดินแฝงตัวเข้ามาได้
"โคทม"เซ็ง- รศ.ดร.โคทม อารียา พร้อม ศ.สุริชัย หวันแก้ว ให้สัมภาษณ์เลื่อนการแถลงข่าวออกไป หลังไม่ได้รับคำตอบจากฝ่ายความมั่นคง ที่อาคารวิทยพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 22 พ.ย. |
นายกำธร กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเบื้องต้นตนและข้าราชการในสังกัดไม่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดตามที่มีข่าวลือ มีเพียงทำรายงานถึงผู้ว่าฯ ขอนแก่น เพื่อรับทราบข้อมูลและมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนส่งให้จังหวัดทราบเท่านั้น ล่าสุดเตรียมจัดประชุมร่วมกับฝ่ายรักษาความปลอดภัยทั้ง 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมต่อไป
มือมืดพ่นข้อความรับ'บิ๊กป๊อก'
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย ว่ากลางคืน วันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เขียนข้อความต่อต้านคสช. และการรัฐประหาร โดยนำสีไปพ่นตามถนนใกล้กับค่ายเม็งรายมหาราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยทหารต่างๆ รวมกัน 7 จุด นอกจากนี้ยังก่อเหตุนำป้ายผ้าไปติดไว้ตามอาคารหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และยังใช้สีพ่นเป็นข้อความคล้ายกับที่พ่นบนถนนรอบค่ายเม็งรายมหาราชด้วย โดยมีเนื้อหาต่อต้านคสช.และไม่เอารัฐประหาร รวมทั้งบางจุดมีการเขียนภาพชู 3 นิ้วไว้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้เร่งเก็บกวาดและทำความสะอาดไม่ให้มีข้อความดังกล่าวอย่างรวดเร็ว พร้อมตั้งจุดตรวจจุดสกัดป้องกันการกระทำผิดกฎหมายและตรวจสอบการเคลื่อนไหวเชิงแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าว เนื่องจากเช้าวันนี้ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มีกำหนดเป็นประธานเปิดงานประชุมหอการค้าทั่วประเทศและปาฐกถาเรื่อง "กระทรวงมหาดไทยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค" ที่หอประชุมสมเด็จย่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย
ทหารตามรวบตัวหนุ่มเชียงใหม่ชู 3 นิ้ว
เมื่อเวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายมณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) นำโดยพ.อ.โพคา จอกลอย หน.หน่วยข่าว มทบ.33 พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร สห.จากค่ายกาวิละ เข้าควบคุมตัว นายษิณะพันธ์ เกิดสนอง อายุ 31 ปี บ้านเลขที่ 132 ม.3 ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ อาชีพพนักงานโรงแรมในเชียงใหม่ และ นายดำนาย ประทานัง อายุ 41 ปี บ้านเลขที่ 84/1 ม.3 ต.บ้านกาด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ อาชีพนักเขียนเรื่องสั้นอิสระ เพื่อพูดคุยปรับทัศนคติ รวมทั้งลงบันทึกประจำวัน ถ่ายรูปทำประวัติเก็บไว้ที่ สภ.เมือง ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก่อนจะปล่อยตัวในเวลา 11.30 น.
สืบเนื่องจากวันที่ 20 พ.ย. เวลา 19.00 น. ทั้งสองร่วมกับพวกคือนายนิติพงศ์ สำราญคง เจ้าหน้าที่จำหน่ายยา ร.พ.เอกชนในเชียงใหม่ และเป็นนักเขียน เป็นบ.ก.สำนักพิมพ์บุราคูมิน ซึ่งถูกจับมาก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ได้ชูนิ้ว 3 นิ้วต้านรัฐประหาร ที่บริเวณข่วงประตูท่าแพ อ.เมืองเชียงใหม่ จากนั้นนำไปโพสต์ทางเฟซบุ๊กและสื่อออนไลน์
นายษิณะพันธ์ และนายดำนายสารภาพว่า เป็นการทำเลียนแบบภาพยนตร์เรื่อง ฮังเกอร์เกมส์ และด้วยความคึกคะนอง รู้สึกอินกับหนังและเพื่อนแนะนำ จึงชูสัญลักษณ์ดังกล่าว โดยไม่มีเจตนาเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ อย่างใด
ด้านผู้ปกครองของนายษิณะพันธ์เผยว่า เป็นห่วงลูกมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมการแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว ถึงกับถูกทหารบุกไปควบคุมตัวถึงที่พัก นำตัวมาทำประวัติ ตนตกใจมากจึงติดตามมาหาลูกชายถึงโรงพัก และเมื่อรู้ว่าเขาเรียกมาทำประวัติและปล่อยตัวก็โล่งอก
ผู้กำกับ'ฮังเกอร์เกมส์'ห่วงน.ศ.ถูกจับ
เว็บไซต์บัสฟีดนิวส์ สัมภาษณ์นายฟรานซิส ลอว์เรนซ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ 'เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์'ทางโทรศัพท์หลังจากมีข่าวนักศึกษาไทย 5 คนถูกจับกรณีแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วเลียนแบบตัวละครในภาพยนตร์ต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และยังมีนักศึกษาไทยอีก 3 คน ถูกจับเพราะแสดงสัญลักษณ์เดียวกันหน้า โรงภาพยนตร์ที่ฉายเรื่องดังกล่าวว่า เป้าหมายของตนไม่ได้อยากให้เด็กไปทำอย่างนั้น แล้วถูกจับ มันเหมือนว่าเมื่อมันกลายเป็น เรื่องจริงและส่งผลต่อผู้คนและครอบครัว ในแง่หนึ่งรู้สึกเป็นเกียรติที่ความคิดในภาพยนตร์กลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ที่เต็มใจจะเสี่ยงทำบางอย่างโดยใช้สัญลักษณ์ในภาพยนตร์ ซึ่งมีความหมายจริงๆ กับพวกเขา แต่มันน่าตกใจด้วย
นายลอว์เรนซ์ กล่าวว่า ในภาพยนตร์เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า แม้คนเพียงคนเดียวก็สร้างความแตกต่างได้ ดังนั้น ถ้ามีอะไรบางอย่างที่เชื่อมั่นก็จงออกไปทำสิ่งนั้น แต่ต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมา ซึ่งตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเครียดที่เกิดขึ้นหลังผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ พวกเขาถูกทำลายทั้งในเชิงจิตวิทยาและอารมณ์ จากการที่ต้องสูญเสียครอบครัว สูญเสียเพื่อน เรื่องราวต่างๆ ยุ่งเหยิง แม้จะจำเป็นต้องปฏิวัติ แต่ไม่เคยมีอะไรที่ป็นสีดำและสีขาว ไม่ใช่เรื่องง่าย
"นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมผมจึงยังรู้สึกกระอักกระอ่วนเมื่อเห็นผู้คนแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วแล้วถูกจับ เพราะหวังว่าผู้คนจะเข้าใจจริงๆ ถึงผลที่พวกเขาต้องเผชิญไม่ว่าจะถูกหรือผิด" นายลอว์เรนซ์กล่าว
ลั่นรู้สึกแย่-หวังให้เด็กปลอดภัย
ด้านนีนา จาค็อบสัน ผู้สร้างซึ่งได้รับลิขสิทธิ์สร้างภาพยนตร์จากซูซาน คอลลินส์ ผู้เขียนนิยายเดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ กล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งในภาษาของการต่อต้าน 'มันมีพลังจริงๆ และเหลือเชื่อ'
นายปีเตอร์ เคร้ก ผู้เขียนบท กล่าวว่า เป็นธรรมดาของการเคลื่อนไหวต่อต้านที่ ผู้ประท้วงจะรับเอาสัญลักษณ์จากที่ต่างๆ มาใช้เป็นของตัวเอง แต่เขาก็เป็นห่วงความปลอดภัยของผู้ประท้วง มันเป็นสถานการณ์การเมืองที่หนักหน่วงและตนรู้สึกแย่ไปกับเด็กๆ หวังว่าทุกคนจะปลอดภัย
ยูเอ็นประณามรัฐบาลไทยจับชู3นิ้ว
เอเอฟพีรายงานว่า สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์วิจารณ์รัฐบาลชุดรัฐประหารของไทยว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีควบคุมตัวผู้ประท้วงที่ชู 3 นิ้วซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่องเดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ไปสอบสวน ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เตือนประชาชนว่า อย่าใช้ท่าทางที่ท้าทายนี้เพราะจะเป็นภัยต่อตนเอง
นางมาทิลดา บ๊อกเนอร์ ผู้แทนสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่ดูแลด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนล่าสุดของรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่น่าวิตก เกิดจากการปราบปรามการวิจารณ์และเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็น
นายการิม ลาฮิดจิ ประธานสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (เอฟไอดีเอช) กล่าวว่า ภายใต้บริบทของการปกป้องสถาบัน รัฐบาลทหารได้เปิดแผนล่าแม่มดซึ่งบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มีบุคคล 15 คนจาก 20 คนที่ถูกจำคุกในความผิดดังกล่าว
แม่เกดร่วมกินข้าว'น้องณัชชา'
เมื่อเวลา 20.15 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งหน้าร้านอาหารศรแดง ถ.ราชดำเนินกลาง นายณัชชา กองอุดม นักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เดินทางมาพร้อมกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย รวม 22 คน ซึ่งนัดมานั่งกินอาหารริมถนน โดยมีนางพะเยา ฮัคฮาด แม่ของน้องเกด เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย
นายณัชชา เผยว่า ตนไม่ได้มาแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง การจัดกิจกรรม ดังกล่าวเพื่อรับขวัญหลังจากตนโดนจับที่ห้างพารากอน เชื่อว่าการจัดกิจกรรมนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ด้านนางพะเยา กล่าวว่า วันนี้มาเพื่อให้กำลังใจน้องๆ รวมถึงพูดคุยกันและคิดว่าการมาไม่ผิดกฎหมาย
พ.ท.พงศ์ฤทธิ์ ภวังคะนันท์ ผู้บังคับกองพันทหารราบศูนย์การกำลังสำรอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.น.6 และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ สน.สำราญราษฎร์ ได้เดินทางมาสังเกตการณ์ ซึ่งเหตุการณ์เป็นปกติ โดยพ.ท.พงศ์ฤทธิ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่มายืนสังเกตการณ์บริเวณโดยรอบจุดที่กลุ่ม ดังกล่าวมาจัดกิจกรรมกัน หากพบว่ามีการแสดงสัญลักษณ์ที่อาจขัดต่อความมั่นคงหรือฝ่าฝืนตามคำสั่งของ คสช. ทางเจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวไปยัง สน.สำราญราษฎร์
สุรชัย โอด-งดจัดงานเสาร์ถกแถลง
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่อาคารวิทยพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติภาพศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยนายสุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ แถลงถึงการยกเลิกจัดเสวนาเสาร์ถกแถลง'ระบบรัฐสภาแบบไหน...ความหวังประชาธิปไตย' ครั้งที่ 4
นายสุริชัย กล่าวว่า ทางจุฬาฯ ทำหนังสือขออนุญาตจัดเวทีดังกล่าวไปยังฝ่ายความมั่นคงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ตอบกลับมา จึงต้องเลื่อนจัดงานออกไป แต่หวังว่าจะมีการจัดงานครั้งต่อไป ซึ่งประเด็นในการเสวนาจะเป็นเรื่องการปฏิรูประบบรัฐสภา เพื่อเป็นข้อมูลส่งให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบการพิจารณา ซึ่งการจัดงานเสวนาเพื่อสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปหรือร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนไม่อยากเห็นเงื่อนไขที่คิดกันแคบๆ และเกิดความขัดแย้งกัน ดังนั้น ต้องพัฒนาวิธีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
"อะไรที่คุยกันได้ บ้านเมืองจะได้มีใจคอหนักแน่นขึ้น มีความเยือกเย็นพอรับฟัง ช่วยกันยึดกติกาว่าเราช่วยสร้างสรรค์ประเทศร่วมกันให้ได้ ผมคิดว่าความปรองดองต้องอยู่บนพื้นฐานการเอื้อให้ความคิดที่หลากหลายขึ้น และความคิดที่สร้างสรรค์เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างคนหลายฝ่าย หวังว่าบรรยากาศที่จัดงานลักษณะนี้จะสะดวกขึ้น เพราะสังคมต้องการความเข้าใจ พูดคุยเรื่องการปฏิรูป ผมคาดว่ามหาวิทยาลัยจะตอบอย่างเป็นทางการสัปดาห์หน้า" นายสุริชัยกล่าว
'โคทม'เสียดาย-เนื้อหาปฏิรูป
ด้านนายโคทม กล่าวว่า เข้าใจว่าการจัดงานเสวนาต่างๆ ต้องทำหนังสือขออนุญาตจากรัฐบาลก่อน แต่ตามปกติถือว่าการจัดประชุมทางวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพทางวิชาการ เป็นการมองต่างมุม ซึ่งตนมีการติดต่อกับทหารเมื่อคืนวันที่ 21 พ.ย. แต่ฝ่ายทหารบอกว่าพิจารณาไม่ทัน ต้องทำหนังสือมาก่อน จึงขอให้งดการจัดเสวนา ซึ่งตนรู้สึกเสียดายเพราะการจัดเสวนาดังกล่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูประบบรัฐสภาโดยเสนอ 3 แนวทาง คือ 1.ใช้ระบบรัฐสภาตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 2.แก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยปรับปรุงระบบการเลือกตั้งส.ส. ส.ว. บทบาทหน้าที่ต่างๆ และ 3.เป็นระบบที่เด็ดขาดมากคือ ระบบการแยกอำนาจนิติบัญญัติและบริหารออกจากกัน โดยการเลือกนายกฯ โดยตรง ซึ่งเป็นข้อเสนอของที่ประชุมของคณะอธิการบดีเอง
"การสานเสวนาหรือการถกแถลงถือเป็นกระบวนการที่ดี เอาคนที่เสนอแต่ละทางเลือกมาพูดคุยกัน มันถึงจะเกิดปัญญาและความแตกฉานถึงข้อดี ข้อเสียของแต่ละทางเลือก คนที่รับไปพิจารณาก็จะมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ ช่วงนี้ยิ่งจำเป็นเพราะปลายเดือนธ.ค. จะปิดรูปเล่มฉบับแรกแล้ว น่าเป็นโอกาสที่นักวิชาการหรือภาคประชาสังคม หรือใครที่สนใจการเมืองจะร่วมกันเสนอเรื่องที่เขาสนใจ" นายโคทมกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการสัมภาษณ์นายโคทมและนายสุริชัย มีนายทหาร นอกเครื่องแบบ 4 นาย บันทึกภาพ และเสียงการให้สัมภาษณ์ของทั้งสอง ทีม งานรวมถึงบันทึกภาพผู้สื่อข่าวที่ทำข่าว ดังกล่าวด้วย
สนช.เริ่มถกถอดถอนสัปดาห์นี้
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางวรารัตน์ อติแพทย์ รองเลขาธิการวุฒิสภา รักษาราชการแทนเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกหนังสือถึงสมาชิกสนช. ตามคำสั่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ขอเชิญ ประชุมสนช. ในวันที่ 27-28 พ.ย. เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา โดยมีเรื่องด่วนคือ ดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยที่ประชุมจะกำหนดวันแถลงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหาคือนายสมศักดิ์ และ นายนิคม รวมทั้งพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานพยานของผู้ถูกกล่าวหา
ส่วนวันที่ 28 พ.ย. มีเพียง 1 วาระ คือดำเนินกระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประกอบมาตรา 64 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. โดยที่ประชุมจะกำหนดวันแถลงของป.ป.ช. ผู้กล่าวหาและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานพยานของผู้ถูกกล่าวหา
ป.ป.ช.แก้กม.เพิ่มอำนาจตัวเอง
วันที่ 22 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ.... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งประธาน สนช.ได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช.ในวันที่ 27 พ.ย.แล้ว เพื่อพิจารณาในวาระที่ 1
ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมี 28 มาตรา เป็นการยกเลิก แก้ไข และเพิ่มเติมรายละเอียดของพ.ร.บ. ว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ.2542 มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ มาตรา 8 ให้อำนาจเพิ่มเติมแก่ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกหรือเพิกถอนหรือแก้ไขสิทธิหรือเอกสารสิทธิที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้อนุมัติหรืออนุญาตไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
มาตรา 12 ป.ป.ช.ได้ขอให้ยกเลิกมาตรา 34 และกำหนดใหม่ว่า หากนายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมืองอื่น และข้าราชการรัฐสภา จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อป.ป.ช. ภายในเวลาที่กำหนด หรือจงใจยื่นบัญชีฯ เท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ให้ป.ป.ช.เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย หากเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่คณะกรรมการป.ป.ช.ที่กำหนดให้ต้องแสดงรายการทรัพย์สินฯ ให้เสนอต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาควินิจฉัย
หากศาลฯ มีวินิจฉัยชี้ขาด ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง และห้ามไม่ให้กลับมาดำรงตำแหน่งใดในพรรค หรือตำแหน่งใดในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกต่อไป ซึ่งถือว่าแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่มีบทลงโทษเพียง 5 ปี
มาตรา 18 เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่และมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน คือ จับและคุมขังผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 70 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด และป.ป.ช.หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นร้องต่อศาลเพื่อให้ออกหมายจับแล้วเท่านั้น ซึ่งกฎหมายเดิมกำหนดให้ป.ป.ช.มีอำนาจเพียงแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจัดการให้ได้ตัวเท่านั้น
มาตรา 27 เพิ่มโทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ที่เรียก รับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต หากผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทนการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ โดยวิธีอันทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ่นสีต้านรอบค่ายทหาร รับ'บิ๊กป๊อก' เปิดงานหอค้าเชียงราย ล้างวุ่นทั้งรูป-ข้อความ รามฯขยับปลุกค้านปว. สปช.สื่อเตือนรัฐปิดกั้น ห่วงซ้ำเหตุการณ์ 14 ตค.
เสวนาที่จุฬาฯหวังชงข้อมูลให้ สปช.ถูกสั่งงด 'โคทม'บ่นเสียดาย 'บิ๊กป๊อก'เปิดงานหอการค้า ที่เชียงราย เจอพ้นสีชู 3 นิ้วต้านบนถนนรอบค่ายเม็งรายมหาราช ทหารเร่งลบวุ่น กลุ่ม น.ศ.พิทักษ์ ปชต.รามคำแหงโพสต์เฟซบุ๊กชวนโชว์พลังต้าน รบ.ทหาร
@ 'สภา'จัดสนช.พบประชาชน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวเปิดโครงการ "สนช.พบประชาชน" ว่า สนช.ต้องการสร้างความรู้ความเข้าใจและเผยแพร่บทบาทของ สนช.ให้กับประชาชนทุกคนได้รับรู้แนวทางการทำงาน และการเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ความต้องการของตนเอง แล้วร่วมกันคิดหาแนวทางผลักดันการเมืองการปกครองของไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
"หวังว่าจะเป็นโอกาสดีที่ สนช.จะได้พบปะกับผู้เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด ได้ร่วมกันสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และร่วมตอบประเด็นข้อซักถามต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้นำไปถ่ายทอดในพื้นที่ของตนเองต่อไป ให้ก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้" นายสุรชัยกล่าว และว่า ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันเกิดจากปัญหาต่างๆ ที่สะสมมาอย่างยาวนาน เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธีจึงเกิดการขัดแย้งกัน
"ไม่น่าเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยมากว่า 80 ปี ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับ ถือเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมาก หวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของประเทศไทย ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มาจากการผูกขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" นายสุรชัยกล่าว
@ 'ตวง'ชี้ไม่ดีไซน์รธน.ให้เหมือนยุโรป
เวลา 10.00 น. เป็นการเสวนาหัวข้อ "หน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางการดำเนินงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" มีนายตวง อันทะไชย สนช. และนายสมชาย แสวงการ สนช. ร่วมอภิปราย
นายสมชาย กล่าวว่า วัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของยุโรป ประชาชนของเขาแพ้ ถูกสังหารมาโดยตลอด พอมีประชาธิปไตยแล้วประชาชนของเขาจึงหวงแหนมาก แตกต่างจากประเทศไทยที่ต้องการเพียงแค่การเลือกตั้ง ดังนั้นที่มาของสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่จึงมีความสำคัญมาก ต้องอย่าปล่อยให้กลุ่มบุคคลเดิมกลับเข้าสู่อำนาจได้อีก
นายตวง กล่าวว่า การปฏิรูปจะเป็นไปตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่ว่าด้วยการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน หน้าตาของประเทศหลังปฏิรูปจะเป็นไปมาตรา 35 ที่จะมีกลไกป้องกัน กำกับปกป้องผู้กระทำการทุจริต ห้ามทำลายลบล้างหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญวางไว้ ซึ่งจะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาห้ามแก้ไข ประชาธิปไตยในโลกนี้ไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นที่คนไทยต้องออกแบบประชาธิปไตยให้เหมือนประเทศแถบยุโรป
"นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ออกแบบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องต่อสภาพสังคมไทย เราต้องตัดรองเท้าของเราให้เข้ากับเท้า ไม่ใช่ตัดเท้าให้เข้ากับรองเท้า" นายตวงกล่าว
@ 'ดิเรก'ชี้ร่างรธน.ยึดเป็นธรรม
นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไม่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินไปโดยคำนึงถึงหลักความเป็นธรรม ยึดถืออำนาจอธิปไตยของประชาชนชาวไทยเป็นตัวตั้ง ไม่เอียงซ้ายเอียงขวาหรืออคติ จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่สังคมสามารถยอมรับได้ในที่สุด "ส่วนการทำงานของ กมธ.ด้านการเมือง เบื้องต้นก็จะสรุปปัญหาทางการเมืองที่ กมธ.ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ก่อนที่จะทำการสรุปข้อมูลที่ได้เสนอความเห็นต่อ กมธ.ยกร่างฯตามกรอบ 60 วันต่อไป" นายดิเรกกล่าว
เมื่อถามว่า กรณีที่นักศึกษาและประชาชนแสดงออกต่อต้านรัฐประหารในหลายพื้นที่ นายดิเรกกล่าวว่า แสดงให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่ แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการทำงานปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกอยู่ จึงไม่น่าจะเกิดแรงต้านได้
@ อนุกมธ.เล็งวางกรอบ 24 พ.ย.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธาน กมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วยนิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐใน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า การประชุมอนุ กมธ. วันที่ 24 พฤศจิกายน จะพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเป็นกรอบสาระสำคัญต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"ผมมีแนวคิดจะใช้ 3 ส่วนหลัก คือ 1.องค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดไว้ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น 2.ส่วนของผู้แทนปวงชนชาวไทยคือ ส.ส.และ ส.ว. ตรวจสอบในประเด็นนโยบายรัฐบาล โครงการรัฐบาลที่กระทบกับภาพกว้าง ซึ่งให้สิทธิ ส.ส., ส.ว.สามารถตรวจสอบความผิดรัฐมนตรีและยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมได้โดยตรง" นายไพบูลย์กล่าว และว่า 3.ภาคประชาชน โดยจัดตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชน 77 จังหวัด ให้ตรวจสอบในส่วนของท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และให้อำนาจยื่นฟ้องศาลหรืออัยการประจำจังหวัดได้
@ 'เจษฎ์'ชี้ทำประชามติต้องมีกลไก
นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ. จัดทำข้อเสนอแนะในการตรากฎหมายหรือแก้ไขกฎหมาย เพื่อสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญหัวใจสำคัญต้องมีประชาชนอยู่ในทุกบทบัญญัติ ต้องอธิบายได้ว่าแต่ละบทบัญญัติประชาชนมีสิทธิอยู่ตรงไหน ประชาชนต้องมีสิทธิทุกอย่าง ประชาชนต้องรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญเป็นของเขา ไม่ใช่ของใครคนหนึ่ง และนี่คือหัวใจของรัฐธรรมนูญ
นายเจษฎ์ กล่าวถึงการทำประชามติสำหรับร่างรัฐธรรมนูญว่า ข้อดีของการทำประชามติคือเสียงของประชาชน ถ้าได้เสียงของประชาชนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็จะเป็นน้ำหนักว่ารัฐธรรมนูญนี้มาจากประชาชน แต่จะทำประชามติต้องมีกลไกในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในลักษณะประชาพิจารณ์ ต้องส่งต่อความคิดเห็นถึงกัน ที่สำคัญจะเป็นเกราะในการป้องกันรัฐธรรมนูญ
"สำหรับข้อเสียคือ ถ้าประชาชนไม่มีความเข้าใจเพียงพอแล้วไปทำประชามติ ก็เท่ากับว่าคนผ่านรัฐธรรมนูญยังไม่รู้ว่าผ่านเพราะอะไร ตรงนี้ไม่ได้ดูถูกหรือดูแคลนว่าประชาชนไม่สามารถทำการบ้านได้ แต่เนื่องด้วยกลไกเวลาเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงเนื้อหาที่จะต้องทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญ วิธีการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจไม่ง่าย" นายเจษฎ์กล่าว และว่า อีกปัญหาคือการซื้อสิทธิขายเสียง ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แล้วประชามติมีการซื้อสิทธิขายเสียง ถ้าซื้อให้เห็นด้วยไม่มีปัญหา หากรัฐธรรมนูญเขียนมาดีแล้ว หากซื้อให้ไม่เห็นด้วย จะเป็นปัญหาใหญ่มาก
@ 'สนช.'นัดถกถอด'ปู-นิคม-ขุนค้อน'
ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. มีคำสั่งให้นัดประชุม สนช.ครั้งที่ 27/2557 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. และครั้งที่ 29/2557 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. มีวาระสำคัญเรื่องด่วนคือ กระบวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และกำหนดวันแถลงของ ป.ป.ช.ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา คือนายสมศักดิ์และนายนิคม รวมทั้งพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานพยานของผู้ถูกกล่าวหา (ถ้ามี)
นอกจากนี้ ยังมีร่างกฎหมายที่จะเข้าสู่การพิจารณา 8 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ..., และร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... เป็นต้น ส่วนวันที่ 28 พฤศจิกายน มีเพียง 1 วาระคือ ดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยที่ประชุมจะกำหนดวันแถลงของ ป.ป.ช.ผู้กล่าวหา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานพยานของผู้ถูกกล่าวหา (ถ้ามี)
@ เชียงรายพ่นสีต้าน'คสช.'
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีที่หอการค้าไทยจัดให้ประชุมหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 32 ที่ จ.เชียงราย มีพิธีเปิดที่หอประชุมสมเด็จย่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "กระทรวงมหาดไทยกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค" ปรากฏว่าช่วงเช้ามีผู้ออกมาเคลื่อนไหวเขียนข้อความและภาพสัญลักษณ์ เนื้อหาต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยนำสีไปพ่นบริเวณถนนรอบค่ายเม็งรายมหาราช ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดทหารบกเชียงราย (กกล.รส.จทบ.ชร.) และหน่วยทหารอื่นๆ อีกหลายหน่วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีข้อความที่หลากหลายโดยพ่นภาพมือชู 3 นิ้วประกอบ เช่น "ไม่เอารัฐทหาร" "ทวย คสช." "เชียงรายปลอดเผด็จการ" "ไม่เอารัฐประหาร" โดยพ่นข้อความกระจายไปตามถนนรอบค่ายประมาณ 7 จุด ปรากฏว่ามีผู้พบเห็นข้อความจึงแจ้งสารวัตรทหาร ทางสารวัตรทหารได้ออกทำการลบข้อความดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ตาม ช่วงคืนที่ผ่านมา พ.ต.อ.สงวน โรงสะอาด รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายได้ปล่อยแถวตำรวจและทหารกว่า 100 นายจากบริเวณห้าแยกพ่อขุน อ.เมือง เพื่อร่วมกันตั้งจุดตรวจจุดสกัดกลางคืน ป้องกันการกระทำผิดกฎหมายและตรวจสอบการเคลื่อนไหวเชิงแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลแล้วก็ตาม
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ พล.อ.อนุพงษ์เดินทางไปปาฐกถาพบว่ามีผู้นำป้ายข้อความไปติดไว้บนป้ายประชาสัมพันธ์งาน MFU Book Fair 2014 มีเนื้อหากระทบกระเทียบการห้ามชู 3 นิ้ว และเขียนภาพคนชู 3 นิ้วพร้อมข้อความประชดประชัน ขณะที่บางจุดพ่นข้อความคล้ายๆ กับบนถนนใกล้ค่ายเม็งรายมหาราช ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำความสะอาดและเก็บสิ่งแสดงสัญลักษณ์ออก ก่อนจะจัดวางกำลังตามจุดต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังการแสดงสัญลักษณ์ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่พบผู้กระทำการดังกล่าวทั้ง 2 จุด
@ กลุ่มนศ.โพสต์อัดคสช.ทำเพื่อพวก
เวลา 12.00 น. วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษา นำโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกแถลงการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การเมืองว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารประกาศยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยอ้างเพียงสถานการณ์ที่ไม่ปกติของบ้านเมืองในขณะนั้น
จากวันนั้นถึงวันนี้ ระยะเวลากว่าหกเดือนของการรัฐประหารของ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งปัจจุบันได้ตั้งตนและพวกพ้องเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ และยังอ้างเพียงเพื่อว่าจะเข้ามาบริหารประเทศเพื่อการปฏิรูป และเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ของประชาชนในประเทศ
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่าน ไม่ได้เป็นเช่นรัฐบาลกล่าวอ้างเลยแม้แต่น้อย แต่กลับตรงกันข้าม รัฐบาลที่ช่วงชิงอำนาจประชาชน กลับเถลิงในอำนาจ ใช้ความอยุติธรรมกดขี่ข่มเหง เลือกปฏิบัติกับประชาชนเพียงบางฝ่ายเท่านั้น ทั้งยังมีการปิดกั้น แทรกแซงสื่อสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรจะได้รับอย่างอิสระ ถูกต้อง และตรงไปตรงมา ทั้งปิดกั้นปากเสียงของประชาชนในทุกๆ รูปแบบ
ดังนั้น ทางกลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตยได้ประชุมสมาชิกกลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย มีมติที่ต่อต้านและประณามระบบ ระบอบการปกครองที่ผิดทำนองคลองธรรม ไร้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตย และขาดการยอมรับจากประชาชนในประเทศและโลกสากลในทุกรูปแบบ
@ ปลุกพลังนศ.ร่วมต่อต้าน
เวลา 15.00 น. กลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตยโพสต์ข้อความ ในหัวข้อ "เราตื่นนานแล้ว..!" โดยมีเนื้อหาว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเรามีความอึดอัดใจมากแค่ไหน แม้กระทั่งการพูด การคิด การแสดงออก ทางด้านสิทธิเสรีภาพในมหาลัยวิทยาลัย กลับทำไม่ได้ พูดไม่ได้ แสดงออกไม่ได้ แล้วถามว่านักศึกษารามคำแหงเห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่ พวกเราสามารถตอบว่า อาจจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่แน่นอนว่า กลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร
"อยากเชิญชวนเพื่อนมาแสดงจุดยืน แสดงพลังด้วยกัน เรารู้ว่าหลายคนที่เคารพในหลักการประชาธิปไตยนั้นอึดอัดใจเช่นเดียวกับพวกเราที่เห็น ทหารกระทำการข่มขู่ประชาชน จับประชาชน ทั้งๆ ที่ประชาชนไม่มีภัยร้ายอะไร เพื่อนชาวรามคำแหงบางส่วนอาจกลัวที่จะแสดงออก เพราะหากแสดงออกแล้วจะถูกจับ หรือเรียกรายงานตัว ตรงนี้เพื่อนๆ ไม่ต้องกลัว หากเรามีความสามัคคีกัน อยากเห็นประเทศมีประชาธิปไตย มีเสรีภาพ เราต้องลุกขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลง พลังของนักศึกษา ถ้าหากรวมตัวกับประชาชน เราไม่มีทางแพ้"
พวกเราคงได้ยินเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 และ 6 ตุลาฯ 19 เหตุการณ์นั้นมีนักศึกษารามคำแหงไม่น้อยที่ออกไปเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จากรัฐบาลเผด็จการทรราช ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุดท้ายเราอยากเห็นพลังเพื่อนรามคำแหงที่ต้องการเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย ออกมาร่วมใจกัน เพื่อแสดงจุดยืน ว่าเราไม่ต้องการรัฐบาลที่ปล้นอำนาจประชาชน
@ นศ.มธ.โพสต์ชู 3 นิ้วในมธ.
เมื่อเวลา 01.00 น. วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักศึกษาชั้นปี 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์รูปภาพในขณะที่กำลังชู 3 นิ้วบนเฟซบุ๊กในชื่อ Sirawith Seritiwat พร้อมข้อความ "มาเชียงใหม่ อย่าให้เสียเที่ยว ชูสามนิ้วใน ม.เชียงใหม่ ดูสิป่านนี้พี่ทหารที่ค่ายกาวิละ จะมาล้อม มช. เพียงแค่เพื่อตามหาจ่านิวชูสามนิ้วไหม พรุ่งนี้ชูต่อที่ประตูท่าแพ"
ต่อมาเวลา 14.30 น. ผู้สื่อข่าวติดต่อเพื่อสัมภาษณ์นายสิรวิชญ์ในประเด็นดังกล่าว ทางนายสิรวิชญ์กล่าวว่า เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อมาทำธุระกับเพื่อน มาคุยงานเท่านั้น ส่วนภาพที่โพสต์บนเฟซบุ๊กก็ให้เพื่อนช่วยถ่ายและโพสต์เพราะต้องการแสดงออกทางความคิดเห็น แต่หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมงตำรวจก็มาที่บริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัย
"ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาเพราะการโพสต์เฟซบุ๊กหรือไม่ เพราะถามเพื่อนได้ความว่าหลังจากที่ได้โพสต์สเตตัสไปเมื่อคืนไปครึ่งชั่วโมง มีตำรวจและรถตำรวจเข้ามาประจำอยู่แถวหน้าประตู มช. จึงไม่ทราบหรือยืนยันได้ว่าเกี่ยวกับกรณีนี้หรือไม่" นายสิริวิชญ์กล่าว และว่า เมื่อเช้ายังคงพบทหารและตำรวจเข้ามาใน มช. ตอนแรกคิดว่ามีการจัดงานเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ จึงได้สอบถามเพื่อนที่คณะ ปรากฏว่าไม่มีการจัดงานที่คณะรัฐศาสตร์แต่อย่างใด
เมื่อถามว่าจะไปชู 3 นิ้วที่ไหนอีกหรือไม่ นายสิรวิชญ์กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่าจะว่างหรือไม่ หลังจากโพสต์สเตตัสไปยังไม่มีหน่วยงานไหนติดต่อมาหา อย่างไรก็ตามการแสดงออกของนักศึกษาขณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองกำลังอยู่ในภาวะตีบตัน นักศึกษาเริ่มไม่เห็นด้วยกับการเข้าไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ความไม่พอใจ
@ เสวนาที่จุฬาฯถูกสั่งงด
เวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ที่อาคารวิทยพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำหนดจัดเวทีเสาร์ถกแถลง หัวข้อ "ระบบรัฐสภาแบบไหน...ความหวังประชาธิปไตย" โดยศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยนายสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำข้อสรุปที่ได้จากการถกแถลงไปเสนอต่อรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถึงเวลาจัดเสวนากลับไม่พบผู้ร่วมเสวนา ทางมหาวิทยาลัยได้ปิดประตูห้องที่เตรียมไว้จัดเสวนา มีทหารนอกเครื่องแบบ 3-4 นาย ยืนสังเกตการณ์ พร้อมนายสุริชัยและนายโคทมที่ยืนอยู่บริเวณใกล้เคียง
นายสุริชัย กล่าวว่า สัปดาห์ที่แล้วทางผู้จัดงานและมหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือเพื่อขออนุญาตจากฝ่ายความมั่นคง คาดว่ากระบวนการส่งหนังสือล่าช้า ทำให้ยังไม่มีหนังสืออนุญาตอย่างเป็นทางการ จึงทำให้ต้องเลื่อนการจัดงานออกไป หวังว่าในอนาคตน่าจะมีการจัดงานอีก
"ต้องรอคำตอบจากทางมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ วันนี้จึงไม่สามารถจัดงานได้คงต้องก็รอโอกาสถัดไป และหวังว่าบรรยากาศที่จัดงานลักษณะนี้จะสะดวกขึ้น ผมคาดว่าทางมหาวิทยาลัยจะตอบอย่างเป็นทางการสัปดาห์หน้า" นายสุริชัยกล่าว และว่า ประเด็นในการเสวนาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูประบบรัฐสภาโดยจะเป็นข้อมูลเพื่อส่งให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบการในการพิจารณา
@ 'โคทม'บอกเสียดายจัดไม่ได้
นายโคทม กล่าวว่า เข้าใจในขั้นตอนว่าการจัดงานเสวนาต่างๆ ต้องทำหนังสือขออนุญาตจากทางรัฐบาลก่อน ซึ่งได้ติดต่อกับทหารและรับการพิจารณา แต่ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบอกว่า พิจารณาไม่ทันต้องทำหนังสือมา จึงขอให้งดการจัดเสวนา
"รู้สึกเสียดายที่ไม่สามารถจัดงานได้ เพราะการจัดเสวนามีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูประบบรัฐสภา โดยเสนอ 3 แนวทาง คือ 1.ใช้ระบบรัฐสภาตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 2.แก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ 2540 โดยปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. บทบาทหน้าที่ต่างๆ และ 3.แยกอำนาจนิติบัญญัติและบริหารออกจากกันโดยการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง" นายโคทมกล่าว และว่า ยังมีข้อเสนอกำหนดให้ ส.ส.ที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ไม่มีสิทธิรับตำแหน่งในฝ่ายบริหาร รวมถึงมีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนฝ่ายบริหารได้ เพื่อแยกอำนาจเด็ดขาดของทั้งฝ่ายออกจากกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะขออนุญาตจัดงานเสวนาประเด็นดังกล่าวอีกครั้งช่วงเดือนธันวาคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทหารที่อยู่ในบริเวณพื้นที่การจัดงานได้บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวขณะที่นายสุริชัยและนายโคทมให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนด้วย เวทีเสาร์ถกแถลงเป็นเวทีเสวนาที่จัดต่อเนื่องกันทุกวันเสาร์ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งการเสวนาครั้งที่ผ่านมา ผู้จัดงานไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อการจัดงาน จึงย้ายไปจัดที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และต้องตัดหัวข้อเสวนาบางเรื่องออก
@ อจ.ชี้ชู 3 นิ้วอาจขยายสู่สากล
นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วต้านรัฐประหารว่า เป็นเรื่องความอัดอั้นของผู้คนในสังคม แต่การที่มีกระแสเกิดขึ้นมาใหม่เข้าใจว่าอาจเป็นเพราะภาพยนตร์เดอะฮังเกอร์เกมส์เข้ามาด้วย ก็ประจวบเหมาะกันพอดี จึงอาศัยช่องทางตรงนี้ในการแสดงสัญลักษณ์ แต่ถ้าไม่มีเงื่อนไขแล้วการชูสามนิ้วคงมีน้ำหนักน้อย และไม่เป็นที่สนใจของสาธารณะ
"ซึ่งไม่ใช่มีแค่ประเทศไทย แต่ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส มีกลุ่มคนจะอาศัยโอกาสตรงนี้ชูสามนิ้วในการแสดงความเห็นคัดค้านรัฐประหาร ดังนั้น การที่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคลื่อนไหว ถือเป็นรูปแบบการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ แต่จะมีผลเท่าใด คงต้องรอเงื่อนไขหลายๆ ข้อให้ประจวบเหมาะกันมากไปกว่านั้น ในอนาคตน่าสนใจ ถ้าเราสามารถมองเห็นช่องทางการสื่อความหมายสาธารณะในคนอื่นรับรู้ให้ก้าวข้ามพรมแดนรัฐชาติไปสู่สากล น่าจะมีทิศทางขยายไปได้มากขึ้น" นายอนุสรณ์กล่าว
@ ชี้อาจซ้ำรอย 14 ตุลาฯ 16
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า มาตรการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้น ยังเป็นแค่การปรับทัศนคติเท่านั้น เพื่อทำให้เกิดความสะพรึงกลัว แล้วข่มขู่ว่าจะเอาผิดได้ แต่การเอาผิดในแง่กฎหมายคงยาก เพราะว่าการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ข้อดีคือ สามารถเปิดโอกาสให้ตีความหลากหลาย ขณะเดียวกันสามารถป้องกันที่จะถูกคนเอาผิดว่า เราทำอย่างนั้น ไม่ใช่ทำอย่างนี้ เพราะเหตุนี้ในชั้นกระบวนการยุติธรรม น้ำหนัก พยานหลักฐานไม่พอจึงไม่มีน้ำหนักที่จะเอาผิดได้ ทำให้ทหารต้องปล่อยไปในที่สุด
"ถ้าลองประเมินไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หากนักศึกษามีการเชื่อมโยงกันไม่ว่าจะขอนแก่น เกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ บูรพา จะเกรงว่าไปซ้ำรอยกับ 14 ตุลาฯ 16 ที่นักศึกษาเป็นกำลังหลักในการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งผมเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงชั่งใจระดับหนึ่ง อีกประการนักศึกษา ณ เวลานี้ ไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะต้องป้องกัน ไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงเหมือนเช่นแกนนำเสื้อแดง เพราะไม่มีการจัดระเบียบองค์กร พวกเขาจึงมองว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วดับไปเอง หากไปจัดการหรือปราบปรามจริงๆ กับกระแสที่เกิดขึ้นตอนนี้ จะบานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ในที่สุด" นายอนุสรณ์กล่าว และว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคงประเมินปล่อยให้ทำๆ ไป แล้วก็ปรามๆ นิดหน่อย เดี๋ยวก็หายไปเอง
@ ยุคสังคมก้าวหน้าปิดกั้นปชช.ยาก
ผู้สื่อข่าวถามว่า บรรยากาศปรองดองจริงๆ เกิดขึ้นหรือยัง นายอนุสรณ์กล่าวว่า ไม่มีอยู่แล้ว เพราะความปรองดองไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้บนฐานของการไปปิดปากคนอื่น เพื่อไม่ให้แสดงความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน อีกแง่หนึ่งในปัจจุบันไม่สามารถจะย้อนยุคไปปิดประชาชนได้อีกแล้ว เพราะประชาชนผ่านการเปลี่ยนแปลงมหาศาล ก้าวข้ามไปสู่สังคมที่มีความก้าวหน้า ซึ่งการที่จะไปปิดหูปิดตาประชาชนนถือเป็นการฝืนสภาพความเป็นจริงที่สุด
"หากถามว่าจะบ่มเพาะคนให้เชื่อง เชื่อฟังได้อย่างในอดีต ได้หรือไม่ คำตอบคือ เงื่อนไขไม่เอื้อให้ทำได้อีกต่อไปที่จะไปล้างสมองประชาชน" นายอนุสรณ์กล่าว
@ 'เจษฎ์'ชี้รบ.ไม่จัดการลามแน่
นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอแนะในการตรากฎหมายหรือแก้ไขกฎหมาย เพื่อสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีการชูสามนิ้วรวมถึงการตะโกนด่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อยอย่างในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าประเทศไหนในโลกก็มีการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นำรัฐ เพราะนี่คือตัวแทนรัฐในลักษณะต่างๆ ไม่ได้แปลว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความสูงต่ำต่างกัน แต่ต้องแยกแยะไป ในเชิงสัญลักษณ์การชูสามนิ้วการลงโทษมากสุดคือเรียกมาคุยแล้วปล่อยตัวไป แต่ทั้งนี้หากไม่ทำอะไรเลย จาก 5 คนอาจเพิ่มเป็น 50-500 ที่ทำตาม
นายเจษฎ์ กล่าวว่า ที่หลายคนมองว่าหากรัฐบาลจัดการผู้ประท้วงชูสามนิ้ว อาจทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาก่อหวอดหรือไม่ คือไม่มีใครรู้ จะนำเพียง 1 กรณีมาตัดสินทั้งหมดไม่ได้ อย่างไรควรจะมีกระบวนการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น คือให้มีการพูดคุย ผู้ประท้วงพูดคุยไป มีเจ้าหน้าที่รัฐมารับฟัง ซึ่งคนที่มาประท้วง ผู้รักประชาธิปไตย ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าขณะนี้เรากำลังเดินไปสู่ประชาธิปไตยด้วยกัน
"คนเหล่านี้ต้องดูแก่นไม่ใช่ดูกระพี้ เพราะคนจำนวนมากยกกระพี้ขึ้นมา ถ้าบอกว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งก็เตรียมพับเสื่อกลับบ้านได้เลย เพราะนั่นคือกระพี้ประชาธิปไตย จะเรียกร้องต้องพูดให้ชัด พูดแก่นประชาธิปไตย เชื่อว่าไม่มีใครว่าเลย ขอร้องอย่าพูดโดยทะเลาะกันเพราะทุกคนมีความจำเป็นหมด นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจในมือตอนนี้ต้องดูด้วยว่าคนเหล่านี้ต้องการอะไร" นายเจษฎ์กล่าว
@ 'สุกัญญา'ไม่เห็นด้วยปิดกั้นสื่อ
นางสุกัญญา สุดบรรทัด สปช.ด้านสื่อสารมวลชน กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ขอความร่วมมือสื่อมวลชนไม่ให้สร้างความขัดแย้งว่า ที่นายกรัฐมนตรีระบุถึงเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวว่า ถ้าหากเสรีภาพไม่มีขอบเขตอาจนำไปสู่ผลเสียมากกว่าผลดีนั้น เป็นวิธีการมองของหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือทหาร แต่ทางด้านสื่อจะมองอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นวิธีต่างกัน ผลที่เกิดขึ้นคือสื่อจะถามหาเสรีภาพในการทำงาน ส่วนด้านความมั่นคงจะมองถึงปัญหาและเป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศชาติ
"ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายเดินไปด้วยกันได้ ฝ่ายทหารต้องทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ปกติ ถ้าต่างฝ่ายต่างคิดถึงคนอื่น ก็จะเดินไปด้วยกันได้" นางสุกัญญากล่าว และว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะปิดกั้นการทำงานของสื่อ และการที่ไม่ให้ออกมาแสดงความคิดเห็นเลยวันหนึ่งอาจมีการระเบิดออกมา ถ้าความมั่นคงปล่อยให้ทุกฝ่ายมีการแสดงออกมาบ้างจะช่วยคลายปัญหา ไม่ต้องไปกดทับสิ่งต่างๆ เพื่อรอวันระเบิดออกมา
นางสุกัญญา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนจากการที่ภาครัฐปิดกั้นสังคม ก็มีแรงกดดันออกมาตลอด ฉะนั้น ต่างฝ่ายต้องผ่อนคลายเพื่อให้สังคมเดินไปด้วยกันได้ กองทัพมีความพยายามอยากให้ทุกฝ่ายผ่อนปรนให้บ้านเมืองสงบและเดินไปข้างหน้า และบอกทุกฝ่ายให้มองในแง่บวก เราเองก็ต้องช่วยกัน
@ เตือน'ทหาร-สื่อ'ตั้งสติ
เมื่อถามว่ากรณีที่ประชาชนออกมาแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วที่โรงภาพยนตร์ เป็นการแสดงออกที่หน่วยงานความมั่นคงดูเหมือนจะสกัดปิดกั้น ถือเป็นเรื่องที่เขาพยายามกดแรงต้านไม่ให้ระเบิดออกมาหรือไม่ นางสุกัญญากล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นแค่ระบอบหนึ่งที่ประชาชนออกมาแสดงสัญลักษณ์ ถ้าปล่อยไปหรือไม่ให้ความสนใจก็อาจไม่เป็นข่าว แต่พอเป็นข่าว หน่วยงานความมั่นคงก็ออกมาดูแล เพราะเขาเกรงว่าอาจจะไปกระทบกับสิ่งที่เขากำลังทำ นั่นคือการให้บ้านเมืองสงบ
"ตัวอย่างภาพยนตร์อาจบอกถึงเรื่องราวในการต่อสู้กับระบบเผด็จการก็จริง จึงมีคนในบ้านเราออกมาแสดงออกเช่นนี้ เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายต้องตั้งสติให้ดีกับเรื่องที่เกิดขึ้น" นางสุกัญญากล่าว
@ มานิจ ชี้สื่อมีหลักจริยธรรม
นายมานิจ สุขสมจิตร สปช.ด้านสื่อสารมวลชน ในฐานะ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึง กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุถึงการทำหน้าที่ของสื่อและเสรีภาพสื่อควรใช้อย่างมีขอบเขตว่า การทำหน้าที่ของสื่อมีหลักจริยธรรมในการทำหน้าที่สื่ออยู่แล้ว ว่าควรนำเสนอข่าวถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน เคารพสิทธิมนุษยชน และเมื่อเสนอข่าวไปกระทบใครก็ต้องให้บุคคลนั้นแสดงความเห็นของเขา เรื่องนี้มีอยู่แล้วแต่เราไม่ปฏิบัติเอง
"ที่สำคัญคือไม่ควรนำความเห็นตัวเองลงไปในข่าว ที่ผ่านมาหลักจริยธรรมมีอยู่ 30 ข้อ ถ้าทำตามนั้นไม่มีใครมาว่าแน่นอน" นายมานิจกล่าว และว่า ประเด็นที่ว่าควรนำเสนอข่าวการชูสามนิ้วหรือข่าวที่สร้างความแตกแยกนั้น มองว่าการนำเสนอข่าวชูสามนิ้วทำไมจะทำไม่ได้ มันผิดอย่างไร ส่วนข่าวที่สร้างความแตกแยกนั้นต้องกลับไปดูพฤติกรรมเทียบกับจริยธรรมสื่อ 30 ข้อ ว่าเกินเลยตรงไหน เรื่องนั้นเป็นอย่างไร สิ่งไหนไม่ควรนำเสนอ ถ้าไม่มีตรงไหนเกินเลยก็นำเสนอได้
@ 'ปลอด'ชี้มีคนค้านรบ.-คสช.ต้องฟัง
นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกระแสที่นักศึกษาออกมาแสดงเชิงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว ไม่เอารัฐประหารและต่อต้านรัฐบาลว่า ต้องยอมรับว่าการปฏิวัติจะให้คนเห็นด้วยนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะมันผิด จะไปห้ามให้คนคัดค้านก็เป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่ คสช.ก็เคยขอโทษใครต่อใครที่ต้องเข้ามาปฏิวัติ
"ดังนั้น เมื่อมีคนคัดค้าน รัฐบาลและ คสช.ต้องรับฟัง พยายามพูดจากับคนเห็นต่างดีๆ การสั่งจับหรือทำอะไรรุนแรง คสช.และรัฐบาลจะเสียใจภายหลัง เพราะประวัติศาสตร์มีให้เห็นอยู่ ทั้งนี้ คสช.และรัฐบาลต้องรีบทำงาน ทำตามสัญญา เมื่อครบกำหนดก็ต้องไป อย่าปล่อยให้บรรดาลูกกะโล่เที่ยวพูดว่าจะอยู่ 2-3 ปี ออกมาพูดบ่อย การต่อต้านก็ยิ่งแรงขึ้น" นายปลอดประสพกล่าว และว่า สำหรับนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านอย่าไปถือสา เพราะเยาวชนเหล่านี้โตขึ้นจะเป็นผู้นำของชาติ ต้องเปิดโอกาสให้เขาคิด มีโอกาสแสดงออก หากไปปิดปากปิดสมองในวันนี้ ประเทศชาติจะเจริญได้อย่างไร การศึกษาจะพัฒนาได้อย่างไร อย่างพวกผมและพวกการเมือง ทุกคนนิ่งหมด เพราะเราไม่ใช่นักศึกษา แต่นักศึกษาถ้าไปห้ามเขามันไม่ถูก ดีแล้วที่ท่านไม่ทำอะไรเขา และอย่าปล่อยให้ใครบ้าระห่ำไปทำอะไร