- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 19 November 2014 18:39
- Hits: 3728
'บิ๊กตู่'บ่นนั่งเก้าอี้นายก เปลืองตัว ลั่นคงอัยการศึก-คุมสื่อ จี้ 5 สาย 3 เดือนโชว์งาน เร่งคลอดกม.300 ฉบับ ดัน'ปฏิรูป'ต้องเสร็จ1ปี ภท.-ชทพ.ชงแนว'รธน.'ยุบพรรคยาก-ยึดปี 40
'ประยุทธ์'ฝากการบ้าน 5 ฝ่ายเดินหน้าปฏิรูปให้ทันใน 1 ปี บ่นนั่งเก้าอี้นายกฯเปลืองตัว ประชุมเยอะลั่นไม่ทบทวนเลิกคุมสื่อ-กฎอัยการศึก ชี้ยังมีปลุกระดมอยู่ 'ภท.-ชทพ.'ประเดิมให้ไอเดีย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แนะยึดโยงประชาชน ยึดแนวปี 40 ห่วงปมยุบพรรคง่ายชี้ไม่เป็นธรรมขอ กมธ.พิจารณา
@ 'บิ๊กตู่'บอกสื่อช่วยลดรุนแรง
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยใช้ห้องประชุมที่ 501 ตึกบัญชาการ เป็นสถานที่ประชุมครั้งแรก หลังการปรับปรุงใหม่ เนื่องจากครั้งแรกมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ราคาแพง
ทั้งนี้ ก่อนเริ่มประชุม ครม. มีหน่วยงานต่างๆ เดินทางมาพบหลายคณะเพื่อประชาสัมพันธ์งาน อาทิ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมนายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ นำศิลปิน ดารา นำโดย น.ส.ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล (ปุยฝ้าย เอเอฟ) และนายเมธัส ตรีรัตนวารีสิน (แจ๊ค เอเอฟ) ติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาวให้กับนายกรัฐมนตรีและ ครม. ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีรับมอบเข็มกลัดยุติความรุนแรง ได้กล่าวว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันหยุดความรุนแรง ก่อนที่จะหันมาหยอกล้อกับผู้สื่อข่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "สื่อเองก็ช่วยลดความรุนแรงบ้างนะ" ก่อนที่จะเดินขึ้นห้องประชุม
@ สั่งแก้ร่างพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
ต่อมาเวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ครม. ว่านำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมในที่สาธารณะ เข้าเสนอต่อที่ประชุม ครม. แต่ตนเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ต้องนำไปพิจารณาปรับแก้ไขอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม อาทิ เรื่องสถานที่ เวลา และให้เพิ่มเติมในกรณีที่เมื่อมาชุมนุมแล้วไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจดำเนินการได้เพียงใด ถือเป็นความจำเป็น เพราะหากดื้อดึงขัดขืนจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ ซึ่งไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบ
"ผมคิดว่า มีความจำเป็น เพราะว่าต่างชาติเขาก็มีประท้วง ไม่ว่ากันหรอก แต่เขาไม่ได้ระดมกันมาขนาดนี้มันไม่ใช่ ไม่ได้ บ้านเมืองมันเสียหาย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ ลั่นไม่ทบทวนควบคุมสื่อ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีทหารไปกดดันผู้บริหารสื่อมีความเห็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าว "ผมไม่เคยพูดว่ากดดันนะ ไม่มีใครกดดัน ไปพูดคุยกับผู้บริหารดีๆ กดดันตรงไหน เขียนให้มันดีๆ หน่อย" เมื่อถามสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเรียกร้องให้ทบทวนประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 เนื่องจากกระทบกับการทำงานของสื่อมวลชน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมไม่ทบทวน"
ผู้สื่อข่าวกล่าวถึงกรณีที่บริษัท 69 พรอพเพอตี้ ซื้อที่ดินของบิดาในราคา 600 ล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ใช่เรื่องของคุณเลยนะ คนอื่นถามมา ไม่มีเรื่องอื่นที่ประเทืองปัญญากว่านี้หรืออย่างไร" เมื่อถามอีกว่า บริษัทดังกล่าวก่อตั้งเพียง 7 วันก่อนการซื้อขายเท่านั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไปถามบริษัทเขาสิ ถามบริษัทเขานู่น"
หลังการตอบคำถามผู้สื่อข่าวแล้ว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ในประเทศคือในประเทศ ส่วนตัวคือส่วนตัว ประเทศชาติคือประเทศชาติ เอาอย่างนี้แล้วกัน จะได้ไม่หงุดหงิดใส่กัน ขอร้องนะ ถ้าคนไม่พยายามละเมิดซึ่งกันและกัน มันก็โอเค สิทธิส่วนบุคคลผมมีอยู่นะ ไม่ใช่ผมเป็นนายกฯแล้วจะอย่างไรกับผมก็ได้ ไม่ใช่ ผมเป็นประชาชนนะ มีสิทธิปกป้องตัวเองเหมือนกัน โอเคไหม"
@ "ครม."ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่าร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ. ... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอ ครม.ให้อนุมัติในหลักการ โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการกำหนดให้ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ต้องแจ้งวัน เวลา สถานที่ที่จะชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจผู้รับผิดชอบรับทราบ พร้อมทั้งกำหนดหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมไว้อย่างชัดเจน มากไปกว่านั้นยังกำหนดสถานที่ต้องห้ามการชุมนุมด้วย คือ สถานที่ต้องห้าม คือ ทำเนียบรัฐบาล สถานที่ราชการ ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ และสถานีขนส่งสาธารณะ
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวฯที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติในหลักการแล้ว ก่อนจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดูเนื้อหาในรายละเอียดอีกครั้ง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ เคาะจทบ.ขึ้นตรงกองทัพภาค
พล.ต.สรรเสริญแถลงอีกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เสนอให้ ครม.อนุมัติงบประมาณประจำปีเพิ่มขึ้นปีละ 359,777,160 บาท เพื่อใช้ในการแปรสภาพหน่วยจังหวัดทหารบก (จทบ.) จำนวน 21 หน่วย ให้เป็นหน่วยระดับมณฑลทหารบก (มทบ.) พร้อมทั้งปรับการบังคับบัญชาให้ขึ้นตรงต่อกองทัพภาค ซึ่งทางสภากลาโหมได้มีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา
"เดิมที มทบ.เป็นหน่วยขึ้นตรงกับกองทัพภาค แต่ จทบ.จะขึ้นตรงกับ มทบ. แต่พอแปรสภาพ จทบ.เป็น มทบ.ทั้งหมดแล้ว ทุกหน่วยจะไปขึ้นตรงกับกองทัพภาคเลย ส่วนอัตราของผู้บังคับหน่วยสูงสุดทั้ง มทบ.กับ จทบ. ก็อัตราเดียวกัน คือ พล.ต. เพราะฉะนั้นการปรับหน่วยก็น่าจะมีการปรับอะไรไม่มากนัก" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ "บิ๊กป้อม"ไม่ห่วง"บิ๊กตู่"ลงอีสาน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ของ พล.อ.ประยุทธ์และคณะวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่มีผู้แสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ว่านายกฯสามารถเดินทางลงไปได้ทุกพื้นที่ เพราะไม่ได้มีความขัดแย้งกับใคร ไปที่ไหนก็เหมือนกัน นายกฯเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้จะไปดูเรื่องปัญหาภัยแล้ง นายกฯเป็นคนไทยจะลงพื้นที่ใดหรือภาคไหนก็ได้ เวลานี้นายกฯเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและต้องการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติและวางโรดแมปไว้แล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อเดินตามโรดแมปที่วางไว้ ขณะนี้ก็เดินตามโรดแมปดังกล่าว
"ผมดูแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไร นายกฯไม่มีศัตรูที่ไหน ในพื้นที่มีทั้งตำรวจและทหารสามารถดูแลความปลอดภัยได้" พล.อ.ประวิตรกล่าว
@ บิ๊กตู่ชี้ถก5ฝ่ายตามจี้ผลงาน
จากนั้น เวลา 15.15 น. พล.อ.ประยุทธ์เชิญตัวแทน 5 ฝ่าย ประกอบด้วย ครม. คสช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วมหารือที่อาคารรับรองเกษะโกมล ถนนอำนวยสงคราม กรุงเทพฯ อาทิ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 และประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการนัดพูดคุย 5 ฝ่าย ว่า ไม่มีอะไร เพียงสอบถามการทำงานของแต่ละฝ่าย
@ เผยเป็นห่วง1ปีปฏิรูปไม่ทัน
ต่อมาเวลา 18.10 น. ที่บ้านเกษะโกมล พล.อ.เลิศรัตน์ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วม 5 ฝ่าย ว่า เป็นการมารายงานของ 5 องค์กร ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงงานที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่มีการจัดตั้งขึ้น ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นพร้อมๆ กัน จึงมีการทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น บรรยากาศเป็นไปด้วยดี
พล.อ.ประยุทธ์แสดงความคิดเห็นและสอบถามส่วนที่มีการกำชับเป็นพิเศษคือ พล.อ.ประยุทธ์อยากให้การปฏิรูปเดินหน้าได้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ คสช. หรือรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที และอยากให้คณะกรรมาธิการทั้ง 18 คณะ ส่งให้พล.อ.ประยุทธ์เพื่อจะเร่งรัดให้เป็นผลโดยเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบปี เรื่องใดที่จะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติก็ให้ดำเนินการผ่าน สนช. หรือ ครม." พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว และว่า เวลา 1 ปีมีน้อย แต่อยากให้เห็นผลในเรื่องปฏิรูปให้ชัดเจน และสามารถดำเนินการได้ตามโรดแมปทั้ง 11 ด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำ
@ ย้ำไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ในแต่ละด้านจะมีเรื่องอย่างเช่นเรื่องพลังงาน พล.อ.ประยุทธ์อยากให้เร่งรัด อะไรที่ทำได้เลยเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ด้วย กฎหมายที่รัฐบาลคิดอยู่ก็ส่งให้ทาง สปช.ดู ดังนั้นในอนาคต คสช.และ ครม.อาจจะส่งเรื่องที่ต้องการให้ปฏิรูปมายัง สปช.เป็นผู้ช่วยพิจารณาและส่งกลับไป ซึ่งถือเป็นการทำงานสองทาง ส่วนเรื่องกฎอัยการศึกนายกรัฐมนตรีไม่ได้พูดถึง คงยังจะใช้อยู่ในระยะนี้ ส่วนการรับฟังความคิดเห็นของ สปช.และ กมธ. สามารถดำเนินการได้ในกรอบที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาที่จะขัดกับกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ฝ่าย สปช.และ กมธ.สามารถทำได้อยู่แล้ว ไม่มีใครมีปัญหา ทุกคนสามารถอยู่ได้ในกรอบนี้
"ในที่ประชุมไม่มีการพูดถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกและไม่ได้พูดถึงการยกเลิกคำสั่ง คสช.แต่อย่างใด" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว
@ ฟังกระแสไม่ปิดช่องประชามติ
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงความเชื่อมโยงของทั้ง 5 องค์กร ซึ่งในที่ประชุมได้พูดถึงการทำประชามติว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งได้เปิดช่องไว้ว่าจะรอดูไปก่อน เพราะยังมีเวลาอีก 7-8 เดือนในการแก้ไขกฎหมาย จึงจะรอดูกระแสไปก่อน ไม่ได้ถึงกับว่าไม่ทำเลย และอยากให้เป็นเรื่องที่ตอบตรงกัน
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ข้อเสนอหรือข้อสังเกตในเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อสังเกตประเด็นที่ว่าเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว พร้อมที่จะประกาศใช้จะมีขั้นตอนของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอื่นๆ หรือกฎหมายลูกได้มีบทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ผ่านมา กฎหมายส่วนใหญ่ยังไม่สามารถตราเป็น พ.ร.บ.ได้ ในที่ประชุมมีหลายคนที่ให้ข้อสังเกต รวมทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า มีอะไรเป็นหลักประกันที่จะให้การยกร่างกฎหมายต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้จริงในกรอบเวลาที่เหมาะสม
@ เตรียมกม.ลูกรองรับร่างรธน.
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า บรรยากาศในการประชุมเป็นไปด้วยดี นายกฯยิ้มแย้มแจ่มใส รู้สึกว่าอารมณ์ดีกว่าตอนอยู่กับสื่อมวลชน พล.อ.ประยุทธ์พูดตลกตลอดเวลา ส่วนจะประชุมในลักษณะนี้อีกหรือไม่นั้น คงจะเป็นช่วงเวลาอีก 2-3 เดือน จะมีสักครั้งหนึ่งเพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องรายงานนายกรัฐมนตรีทุกสัปดาห์อยู่แล้ว
เมื่อถามว่าทางกรรมาธิการยกร่างฯจะนำข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีไปหารือกันอีกหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า นายกฯไม่ได้เสนออะไรมากมาย เพียงแต่เป็นห่วงเท่านั้น แต่เราได้ตั้ง กมธ.ยกร่างกฎหมายลูกไว้แล้วแต่วันนี้เลย เพราะฉะนั้นอะไรที่จะมีกฎหมายลูกเราก็เตรียมยกร่างไปด้วย
@ "บิ๊กตู่"ฝากการบ้าน5ฝ่าย3ข้อ
รายงานข่าวจากที่ประชุมแจงว่า การประชุม 5 ฝ่าย เป็นไปด้วยความราบรื่น โดยจัดโต๊ะประชุมเป็นรูปตัวยู ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะ กล่าวขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันทำหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา และยืนยันว่ารัฐบาลต้องการนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปให้ได้ภายใน 1 ปีตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้
แหล่งข่าวในที่ประชุม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำให้ สปช.และ สนช.ร่วมกันทำงานใน 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.ขอให้ สนช.เร่งผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ซึ่งน่าจะมีประมาณ 300 ฉบับ ซึ่ง ครม.เตรียมที่จะเสนอ สนช.ในเร็วๆ นี้ประมาณ 100 ฉบับ ส่วนที่เหลือจะทยอยตามมา อย่างน้อยภายในปีนี้ สนช.ต้องออกกฎหมายที่ทำให้ประชาชนมีความสุขเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานให้กับประชาชนเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน 2.ภายใน 3 เดือน สปช.ต้องทำงานให้เห็นผลและถ้ามีอุปสรรคอะไรให้ทำเรื่องมายัง ครม.ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการให้ทั้งหมด และ 3.อยากให้ สปช.เดินหน้าวางกระบวนการปฏิรูปโดยไม่อยากให้ไปเริ่มทำการนับหนึ่งตั้งแต่ต้น เพราะกระทรวงกลาโหมได้ทำรายงานเสนอมาครบทั้ง 11 ด้านแล้ว แต่หากมีส่วนไหนที่ขาดค่อยไปเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์
@ ไร้ปลุกระดมเลิกอัยการศึกทันที
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า มี สปช.ถาม พล.อ.ประยุทธ์ ถึงแนวทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่วงกฎอัยการศึก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ถามกลับว่า "วันนี้บ้านเมืองสงบแล้วหรือยัง เลิกตีกันทะเลาะกันหรือยัง ถ้าวันนี้บ้านเมืองสงบ เลิกทะเลาะกันไม่มีการปลุกระดม ก็จะยกเลิกให้วันนี้เดี๋ยวนี้เลย แต่เวลานี้ยังมีความจำเป็นต้องใช้ต่อไป ส่วนเรื่องไหนที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นรัฐบาลก็ไม่ได้ขัดข้อง" ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามด้วยน้ำเสียงขึงขัง ปรากฏว่า ในที่ประชุมไม่มีใครในห้องกล้าตอบหรือถามอะไรต่อ
รายงานข่าวแจ้งว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. แสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญว่า ในอดีตที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็วพร้อมจัดทำกฎหมายลูกเพื่อส่งมอบให้จัดการเลือกตั้ง แต่มีปัญหาที่ผ่านมา คือ หลายเรื่องในรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลต่อๆ มาไม่เคยสานต่อให้สำเร็จ ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่อยากให้เร่งรีบจัดทำรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นจะทำให้เสียของ
และล้มเหลว
@ บ่นไม่นั่งนายกฯ-เปลืองตัว
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า นายบวรศักดิ์เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติจะเป็นส่วนสำคัญ และเป็นเกราะที่ป้องกันให้รัฐธรรมนูญในอนาคตถูกแก้ไขได้ยาก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า การทำประชามติยังอีกไกล ขอดูสถานการณ์และความเหมาะสมก่อน
"ผมไม่อยากอยู่ในตำแหน่งแล้ว ผมจะอยู่ได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับพวกที่นั่งอยู่ในที่นี้ เปลืองตัว ประชุมก็เยอะ แต่เมื่อเข้ามาแล้วต้องเดินหน้าไปด้วยกัน วันนี้อยากขอให้แม่น้ำทั้ง 5 สายรวมเป็นสายเดียวกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จ" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของนายกฯในที่ประชุม
ทั้งนี้ มีรายงานว่า การประชุมใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคนเดียวนานถึง 1 ชั่วโมง
@ "บิ๊กตู่"เปรยไม่อยากใช้ถึงม.44
แหล่งข่าวจากที่ประชุมระบุว่า ในช่วงหนึ่งของการประชุม พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 44 ว่า ลำบากเหมือนกัน มีหลายเรื่องที่ใช้อำนาจนายกฯแล้วมันไปไม่ได้ ซึ่งฝ่ายกฎหมายของ คสช.ก็ไม่อยากให้ใช้อำนาจถึงมาตรานี้
@ บอกทุกฝ่ายทำงานยันไม่มีใบสั่ง
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. เปิดเผยหลังการประชุม 5 ฝ่าย ว่า นายกฯกล่าวขอบคุณทุกคนที่เป็นแม่น้ำสายเดียวกัน พร้อมกำชับให้ทุกคนทำงานตามโรดแมปและกรอบเวลาที่กำหนดไว้ให้ได้ ไม่มีคำสั่งใดๆ ทั้งนั้น ใครมีหน้าที่อะไรก็ไปทำ อยากเห็นผลงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมของทุกคน และเป็นประโยชน์ให้ประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะ สนช.ที่มีหน้าที่ในการออกกฎหมายต้องเร่งออกกฎหมายให้เร็วที่สุด
"ใครที่อยากเห็นประเทศปฏิรูปไปในทิศทางใดให้เสนอเข้ามา รัฐบาลยินดีรับฟัง เพราะรัฐบาลถูกกดดันจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติ สื่อ แม้กระทั่งนักวิชาการ เพราะฉะนั้นรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าปฏิรูปให้สำเร็จเพื่อไปสู่การเลือกตั้งให้ได้" นายวัลลภกล่าว และว่า ที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก นายกฯย้อนถามว่าสถานการณ์ปกติหรือยัง ทุกคนก็เงียบหมดไม่มีคำตอบ นายกฯจึงพูดต่อว่า เมื่อทุกคนเงียบแสดงว่าสถานการณ์ยังไม่ปกติ ตนจะต้องประคองบ้านเมืองให้สถานการณ์นิ่งและปฏิรูปการเมืองให้ได้เสียก่อน ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบแทนตน
@ เชิญ"ภท.-ชทพ."ฟังไอเดีย
ก่อนหน้านั้นเมื่อ เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางในการยกร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการปฏิรูป โดยเชิญตัวแทนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ประกอบด้วย นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค และนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้อำนวยการพรรค และตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ประกอบด้วย นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค ชทพ. นายนิกร จำนง อดีตผู้อำนวยการพรรค และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ชทพ. ร่วมหารือ
ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์แจ้งที่ประชุมว่าให้ตัวแทนของแต่ละพรรคได้เสนอความเห็นพรรคละ 50 นาที
@ "ตือ"เสนอให้ยึดแนวรธน.40
นายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมเสนอความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า พรรคตั้งใจที่จะนำเสนอภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศโดยยึดภาคประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น แนวทางที่พรรคจะเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคือการทำอย่างไรให้ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ
"เนื่องจากทุกคนตั้งความหวังไว้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าหากไม่ปฏิรูปก็ยากที่จะทำให้ประเทศดีขึ้นได้ ที่ผ่านมาเห็นอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่มีการจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น ขยายฐานความแตกแยกให้ลึกลงไปอีก เชื่อว่าบทเรียนครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ต้องการให้ซ้ำรอย" นายสมศักดิ์กล่าว และว่า พรรคคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40
@ "ภท."แนะไม่จำกัดวาระส.ส.
เวลา 12.30 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช. ในฐานะโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ตัวแทนพรรค ภท.ให้ข้อคิดเห็น อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างขึ้นเพื่อคนทุกคน ไม่มีอคติ และไม่กีดกันใคร ส่วนประเด็น ส.ส.ก็ไม่อยากให้มีการจำกัดวาระของ ส.ส. รวมถึงการสร้างระบบพรรคการเมือง นักการเมืองที่ดี
มีคุณธรรม
"พรรคภูมิใจไทยต้องการปฏิรูประบบราชการให้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน เพราะถ้าระบบราชการมีประสิทธิภาพก็จะช่วยป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายได้ ส่วนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็อยากให้นำบทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 มาใช้ยกร่างฯใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ที่มา หรือเจตนารมณ์ เพราะถ้าเริ่มต้นประชาชนไม่ยอมรับเสียแล้วก็จะเป็นปัญหา และควรมีกระบวนการสรรหาที่เข้มข้นและสามารถถอดถอนได้ด้วย" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว
@ ขออย่าให้ยุบพรรคง่ายไป
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า สำหรับปัญหาในการยุบพรรคการเมืองจากมาตรา 68 และ 237 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น ทาง ภท.เห็นว่าที่ผ่านมามีการยุบพรรคง่ายเกินไป และการกำหนดโทษหากกรรมการบริหารทำผิดเพียงคนเดียวก็ถูกยุบพรรค ยังมีโทษให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ และถูกเว้นวรรค 5 ปีด้วย ซึ่งทางพรรคภูมิใจไทยมองว่าไม่เป็นธรรม จึงอยากเห็นพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เป็นหลักในการกำหนดนโยบาย
"ประเด็นเรื่องที่มาของ ส.ว.หากจะต้องมี ส.ว.บางส่วนต้องมาจากการสรรหาจะต้องมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ มิใช่ให้ ส.ว.สรรหามีอำนาจเท่ากับ ส.ว.เลือกตั้ง สำหรับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีอำนาจกำหนดนโยบายประชานิยมลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าหากเกิดความเสียหายก็ไม่ควรมีบทลงโทษต่อผู้ปฏิบัติหรือผู้กำหนดตามนโยบาย" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว และว่า เรื่องการทำประชามติเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะพูด เพราะจะต้องพิจารณากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า หากเสียงของประชาชนตอบรับดี ก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ เพราะจะต้องใช้เวลาและงบประมาณ
@ "ชทพ."ขอ3อำนาจสมดุล
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคชาติไทยพัฒนาว่า พรรคอยากเห็นระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคงและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนในทุกมิติ มีการยกร่างรัฐธรรมนูญของอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการอย่างสมดุล ที่ผ่านมาเห็นว่ายังเป็นปัญหาที่ผูกพันกันมากเกินไประหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
"ส่วนมาตรา 237 และ มาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ทำให้เกิดการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่เป็นปัญหา พรรคชาติไทยพัฒนาต้องการให้ กมธ.ยกร่างฯได้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย สำหรับการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว และเขตใหญ่ 3 คน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย พรรคชาติไทยพัฒนาไม่เห็นด้วยที่จะให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เพราะจะทำให้ไม่ยึดโยงกับพื้นที่และเป็นตัวแทนของประชาชน จึงอยากให้พิจารณาให้เหมาะสมกับปัจจุบัน" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว
@ ชงลดส.ว.สรรหาเหลือ1ใน6
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ในเรื่องวุฒิสภา เห็นว่าให้เพิ่มกรรมการสรรหา ส.ว.ให้มากกว่า 7 คนขึ้นไป และลดจำนวน ส.ว.สรรหาให้เหลือ 1 ใน 6 และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งขอให้คำนึงถึงสัดส่วนของประชากร เช่น ในกรุงเทพฯ ควรมี ส.ว.ให้มากกว่าจังหวัดที่มีประชากรน้อยกว่า ซึ่งคุณสมบัติของ ส.ว.สรรหาควรมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ
"พรรคชาติไทยพัฒนา ยังเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 190 เพราะเห็นว่ามีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ควรแก้ปัญหาการแบ่งพรรคนิยม แบ่งสีนิยมให้ได้ จึงต้องมีบทบัญญัติให้เยาวชนได้รับการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่ในชั้นเรียน เพื่อให้เป็นผู้ใช้สิทธิ หรือนักการเมืองที่ดีในอนาคต" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว และว่า การทำประชามติพรรคชาติไทยพัฒนาเห็นว่า เป็นเรื่องปลายน้ำ แต่อยากให้เน้นทำประชาพิจารณ์มากกว่า
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ สั่งให้จัดทำรายชื่อคณะอนุ กมธ.ทั้ง 11 ด้าน ส่งให้กับพรรคการเมืองที่มาชี้แจง เพื่อในอนาคตที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ ถือเป็นการสื่อสาร 2 ทาง วันที่ 19 พฤศจิกายนพรรคชาติพัฒนา (ชพ.) และพรรคพลังชล (พช.) จะเข้าพบคณะ กมธ.ยกร่างในเวลา 10.00 น.
@ "มาร์ค"เสนอปรับระบบเลือกตั้ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเชิญพรรคการเมืองเพื่อให้ขอเสนอแนะในการปฏิรูปประเทศ ว่า จะเดินทางไปพบกับ กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 24 พฤศจิกายน ประเด็นที่พรรคจะนำไปเสนออาทิ ระบบการเลือกตั้ง ที่อาจจะมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ยุคปัจจุบันมากขึ้น ส่วนแนวคิดแยกฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารออกจากกัน นั้น คิดว่ากำลังจะถอยออกมาจากระบบรัฐสภาดั้งเดิม ซึ่งประเด็นที่ต้องคิดเป็นพิเศษคือ ต้องมีคำตอบว่าการเลือกผู้บริหารโดยตรง จะให้ผู้บริหารรับผิดชอบรับการบริหารประเทศอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้อำนาจเกินขอบเขต ลุแก่อำนาจ
"โจทย์ใหญ่ที่สุดของประเทศ คือทำอย่างไรฝ่ายบริหารนั้นไม่เหลิงอำนาจ ฉะนั้นสมมติว่าเกิดกรณีว่าฝ่ายบริหารตรวจสอบไม่ได้ ขยายอำนาจตัวเองมากขึ้น สภาไล่ออกไม่ได้ เรื่องลาออกคิดว่าระบบแบบนี้น้อยมากที่จะเกิดขึ้น เพราะถือว่าเลือกมาแล้วอยู่ 4-7 ปี ซึ่งแล้วแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดนี้ ถ้าเลือกตรงแล้วเขาบอกว่า วาระต้องแน่นอน เขาได้รับเลือกมาอย่างนี้จะทำอย่างไร ต้องมีคำตอบตรงนี้" นายอภิสิทธิ์กล่าว
@ "พท."ไม่ขอ"คสช."ถกพรรค
นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีพล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าจะไม่ผ่อนผันกฎอัยการศึกหรืองดเว้นคำสั่ง คสช.ที่ห้ามประชุมทางการเมืองเพื่อนำข้อมูลไปเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากจะมีส่วนร่วมก็ให้ขออนุญาตมาว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ไม่มีข้อยกเว้นให้ขออนุญาตได้ เป็นคำสั่งห้ามเด็ดขาด ตราบใดที่ไม่ยกเลิกหรือมีประกาศเปลี่ยนแปลงคงไม่อาจเรียกประชุมได้ เป็นเรื่องที่ คสช. สปช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องหาทางออกกันเอง ทางคงไม่ทำหนังสือขออนุญาต "ที่มีการระบุว่าความเห็นของพรรคการเมืองที่จะนำที่จะนำไปเสนอต่อกรรมาธิการ เป็นเพียงข้อมูลที่เขียนเมื่อไหร่ก็ได้และส่งไป ไม่จำเป็นต้องรวมตัวกัน 200-300 คน เชื่อว่าหัวหน้าพรรคมีศักยภาพพอถ้าเขียนหนังสือได้ก็ทำได้หมดนั้น ผมมองว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลมีกรรมการบริหารพรรค มีสมาชิก จะไปเขียนอะไรย้อนหลังหรือยกเมฆ คงไม่ง่ายเช่นนั้น" นายชูศักดิ์กล่าว
@ กมธ.พลังงานตั้ง4อนุฯรับปฏิรูป
นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปพลังงาน สปช. แถลงภายหลังการประชุม กมธ. ที่รัฐสภาว่า คณะ กมธ.กำหนดกรอบการทำงานโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ ทั้งในด้านการให้ความรู้ด้านพลังงาน การเปิดโอกาสให้ประชาชนเปลี่ยนจากผู้บริโภคเป็นผู้ที่สามารถผลิตพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ในครัวเรือน ตลอดจนแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและกระบวนการในการกำหนดราคาพลังงานอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
"คณะ กมธ.ได้จัดตั้งคณะอนุ กมธ.ในด้านต่างๆ 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุ กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรปิโตรเลียมและราคาพลังงาน คณะอนุ กมธ.ปฏิรูปการบริหารและกำกับกิจการพลังงาน สารสนเทศ คณะอนุ กมธ.ปฏิรูปกิจการไฟฟ้า และคณะอนุ กมธ.ปฏิรูปพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และการอนุรักษ์พลังงาน โดยแต่ละคณะจะประกอบด้วยสมาชิก สปช.และบุคคลภายนอก รวมไม่เกิน 15 คน" นายธรณ์กล่าว และว่า คณะ กมธ.ยังเริ่มดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นการให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยจะเชิญบุคคลภายนอกที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลแก่คณะ กมธ. เพื่อประกอบการพิจารณาการให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลภายในระยะเวลาที่กำหนดต่อไป
@ อสส.รอป.ป.ช.ตัดปมทุจริต
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฝ่าย ป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า อัยการสูงสุด (อสส.) ส่งหนังสือให้ ป.ป.ช. ยืนยันว่าคดีดังกล่าวมีเฉพาะในส่วนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเรื่องทุจริต จึงจะฟ้องคดีเองว่า ยังไม่ได้รับหนังสือจากฝ่าย @ อสส. ต้องขอตรวจสอบก่อน
"คณะทำงานร่วมฯเคยคุยกันว่า ดำเนินการแค่เรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างเดียวได้หรือไม่ อย่างที่เคยไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ว่า ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา มี 2 ส่วนคือ ในส่วนของละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และในส่วนของการทุจริต ในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ป.ป.ช.วินิจฉัยแล้วว่าอยู่ในส่วนของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นในส่วนนี้ ฝ่าย อสส.คงต้องการให้ ป.ป.ช.ยืนยันอย่างชัดเจนว่า แค่เรื่องการละเว้นปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น หากให้ อสส.ไปตัดเองจะไม่ดี แต่ในที่ประชุมอย่างเป็นทางการยังไม่ได้หารือกันเรื่องนี้" นายสรรเสริญกล่าว
เมื่อถามว่านายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รอง อสส. หัวหน้าคณะทำงานฝ่าย อสส. ระบุว่า ประชุมร่วมฯกันมา 3 นัด ไม่มีความคืบหน้าเลย นายสรรเสริญกล่าวว่า คุยกันครบทุกประเด็นแล้ว แม้ในที่ประชุมจะโต้แย้งกันในประเด็นกฎหมาย แต่ขณะนี้เหลือแค่การตัดสินใจของคณะทำงานแต่ละฝ่ายเท่านั้น คาดว่าจะมีการประชุมนัดต่อไปราวต้นเดือนธันวาคม
@ จี้พรเพชรบรรจุคำค้านของ"ปู"
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้รับผิดชอบคดีรับจำนำข้าว ยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ผ่านนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการสำนักงานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. ที่รัฐสภา เพื่อให้บรรจุวาระคำร้องคัดค้านเรื่องโครงการจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าสู่ที่ประชุม สนช.ในวันที่ 28 พฤศจิกายน
นายนรวิชญ์กล่าวว่า รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์มายื่นหนังสือต่อประธาน สนช.