- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 19 November 2014 18:31
- Hits: 3953
วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8757 ข่าวสดรายวัน
ขรก.ได้เฮ ขึ้นค่าครองชีพ ครม.อนุมัติแล้ว มีผล'4 แสนคน' ผ่าน'ภาษีมรดก'บิ๊กตู่ชูโรดแม็ป บี้ 5 สายสานต่อ!
ถกเยอรมัน - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้อนรับคณะนักธุรกิจจาก 29 บริษัทชั้นนำของประเทศเยอรมนี ที่เข้าพบเพื่อสอบถามถึงสถานการณ์ภายในของไทย เพื่อวางแผนร่วมมือทางการค้าและการลงทุน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 พ.ย.
4 แสนขรก.-ลูกจ้างเฮ ครม.อนุมัติเพิ่มค่าครองชีพ ย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค.ผู้น้อยรับรวมเงินเดือนได้หมื่นบาท ไม่ถึงป.ตรีได้ 13,285 บาท ใช้งบฯ ปีละ 1.5 พันล.'บิ๊กตู่' เผยครม.เห็นชอบร่างภาษีมรดก-ร่างชุมนุมที่สาธารณะ ปัดทบทวนประกาศ'คสช.' ฉ.97 และ 103 จากนั้นถก'แม่น้ำ 5 สาย'ย้ำทั้งคสช.-ครม.-สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่างรธน. ต้องรวมเป็นหนึ่ง ทำตามโรดแม็ปให้เป็นรูปธรรม กมธ.ยกร่างรธน.ถก'ภท.-ชพน.' ตือแนะอย่าปิดปากประชาชน
'บิ๊กตู่'ได้ฤกษ์ใช้ห้อง 501
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งใช้ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 เป็นสถานที่ประชุมเป็นครั้งแรก แทนตึกสันติไมตรี (หลังใน) หลังจากมีปัญหาถูกวิจารณ์เรื่องไมค์แพง ต้องตรวจสอบการจัดซื้ออุปกรณ์ห้องประชุมนานเกือบ 5 เดือน โดยการประชุมวันนี้ใช้อุปกรณ์และไมโครโฟนเดิม และบางส่วนจากห้องประชุม 301 ที่นำกลับมาใช้งานตามปกติ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ที่ใช้ตึกบัญชาการเป็นสถานที่จัดประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่ทหารนำสุนัขทหารตรวจวัตถุต้องสงสัยโดยรอบสถานที่ประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำทำเนียบ นำแผงรั้วเหล็กมากั้นด้านหน้าตึกบัญชาการ และไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าบันทึกภาพภายในห้องประชุม 501 โดยให้ผ่านเฉพาะพื้นที่ด้านหลังเท่านั้น
ครม.ติดริบบิ้นขาวยุติรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนประชุมครม. พล.ต.สาโรจน์ เขียวขจี ผอ.ร.พ.พระมงกุฎเกล้าฯ พร้อมตัวแทนนักศึกษาแพทย์ เชิญชวน ครม.และประชาชนร่วมสมทบทุนซื้อริสต์แบนด์สีเหลือง "คืนความสุข...คืนสุขภาพ" เนื่องในกิจกรรมวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เพื่อนำรายได้จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยสำหรับอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยนายกฯ บริจาคเงินส่วนหนึ่งเพื่อร่วมสมทบทุนด้วย
ขณะที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมศิลปินนักร้องเอเอฟติดเข็มกลัด "ริบบิ้นขาว" สัญลักษณ์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวให้กับพล.อ.ประยุทธ์ และครม. เนื่องในเดือนแห่งการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งจะจัดกิจกรรมในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า บางทีไปต่างประเทศมีทั้งผู้ชายรุนแรงต่อผู้หญิง ผู้หญิงรุนแรงต่อผู้ชาย ความรุนแรงต้องหยุดทั้งในครอบครัว ความรุนแรงทั่วไป ก่อนจะหันมาหยอกล้อกับผู้สื่อข่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า สื่อเองก็ช่วยลดความรุนแรงบ้าง
"บิ๊กตู่"ยันบริหารตามหลักปชต.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงคณะนักธุรกิจเยอรมัน กว่า 29 บริษัทชั้นนำของเยอรมัน เข้าเยี่ยมคารวะว่า คณะนักธุรกิจเยอรมันมาสอบถามในเรื่องต่างๆ ซึ่งได้ชี้แจงพัฒนาการทางการเมืองของไทยว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ยืนยันว่า ไทยต้องการเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินตามหลักประชาธิป ไตย เน้นภารกิจ 3 ประการ คือ 1.รักษาความสงบเรียบร้อย 2.ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า 3.ทำงานเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ขณะที่ด้านเศรษฐกิจจะปรับปรุงกฎระเบียบและข้อตกลงให้มีความเป็นสากล ตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกแบบเบ็ดเสร็จ ลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุน และทางภาษี อำนวยความสะดวกกับต่างประเทศที่ต้องการลงทุนในประเทศ ไทย ด้วยความโปร่งใส
ปัดทบทวนประกาศ"คสช."
ผู้สื่อข่าวถึงกรณีมีทหารไปกดดันผู้บริหารสื่อโทรทัศน์บางช่องที่นำเสนอเนื้อหากระทบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เคยพูดว่ากดดัน ไม่มีใครกดดัน ไปพูดคุยกับผู้บริหารดีๆ กดดันตรงไหน สื่อเขียนให้ดีหน่อย เมื่อถามถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ทบทวนประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 เนื่องจากจำกัดสิทธิเสรีภาพการทำงานสื่อ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมไม่ทบทวน"
"ผมไม่เข้าใจ เรื่องประเทศคือประเทศชาติ ส่วนตัวคือส่วนตัว เอาอย่างนั้นแล้วกันจะได้ไม่หงุดหงิดใส่กัน ขอร้อง ถ้าพยายามไม่ละเมิดซึ่งกันและกันก็โอเค สิทธิส่วนบุคคลผมมีอยู่ ไม่ใช่เป็นนายกฯ แล้วยังไงก็ได้กับผม ผมก็เป็นประชาชน มีสิทธิปกป้องตัวเองเหมือนกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ไฟเขียวร่างพรบ.ภาษีมรดก
พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.. โดยเห็นว่าเรื่องนี้ผูกพันทั้งภาษีมรดกและภาษีการให้ จึงต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น สามีโอนให้ภรรยาก็ไม่ต้องเสียภาษีและยังมีอีกหลายขั้นตอน หากจะอธิบายคงใช้เวลานาน จึงขอให้ฝ่ายกฎหมายจะชี้แจงรายละเอียดต่อไป ยืนยันว่าครม.หารือกันอย่างดี และเรื่องนี้เป็นการดูแลกัน คนที่มีภาษีมรดกก็ต้องเห็นใจคนที่มีรายได้น้อยกว่า คนที่มีรายได้น้อยกว่า จะเห็นว่ามีความพยายามช่วยเหลือกันอยู่แล้ว เงินก็ไม่มาก ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือน แบ่งเป็น 3 เดือน พิจารณาในสนช. และอีก 3 เดือนนับจากประกาศใช้แล้ว ต้องนับไปอีก 90 วันถึงจะใช้ได้ ขอย้ำว่าอย่ากังวล ทุกเรื่องที่คิดเน้นที่คนรายได้น้อยเป็นหลักแต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย
"อย่าต่อต้านกันนักเลย เราพยายามดูรายละเอียดกันอยู่แล้วเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม วันนี้คุยกันว่าลูกของเกษตรกรที่มีไร่นาจะทำกันยังไง ถ้าไม่มีเงินสดไปเสียภาษีจะทำยังไง พ่อจะให้ที่นากับลูกจะต้องขายที่นาไปจ่ายภาษีหรือไม่ เราคิดไว้หมด แต่มันมีข้อยกเว้นเยอะแยะไป ขอให้ใจเย็นๆ ยังต้องใช้เวลาอีกนาน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ลั่นเพิ่มเงินขรก.ไม่ใช่ประชานิยม
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการพิจารณาเพิ่มเงินค่าครองชีพชั่วคราว ของข้าราชการและลูกจ้างประจำว่า ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว ไม่ใช่การเพิ่มเงินเดือน แต่เป็นการเพิ่มค่าครองชีพ ถือว่าเป็นการดูแลข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่เฉพาะทหารเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาได้ดูแลเกษตรกรชาวนา ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการทำประชานิยม แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ขึ้นเงินเดือนมาเป็นเวลานาน และไม่สามารถขึ้นเงินเดือนได้ จึงให้เพิ่มค่าครองชีพแทน อย่างน้อย 500-1,000 บาท ซึ่งไม่ได้มาก
อนุมัติร่าง'ชุมนุมสาธารณะ'
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ในครม.ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยที่ประชุมพูดถึงสถานที่ เวลา และให้เพิ่มเติมกรณีหากมาชุมนุมแล้วไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจทำอะไรได้แค่ไหนในกรณีขัดขืน เพราะเรื่องนี้เป็นความขัดแย้ง ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบ ซึ่งตนคิดว่ามีความจำเป็น เพราะต่างชาติก็มีประท้วง แต่เขาไม่ได้ระดมกันมาขนาดนี้ มันไม่ใช่ ไม่ได้ บ้านเมืองมันเสีย
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งให้ วิปรัฐบาลพิจารณา เพื่อเสนอสนช.ต่อไป ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ สอดคล้องกับสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดูแลผู้ชุมนุมด้วย เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายเฉพาะ
ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ
สาระสำคัญ กำหนดให้ผู้ชุมนุมมีหน้าที่แจ้งวัน เวลา และสถานที่ชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจผู้รับผิดชอบก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง กำหนดสถานที่ต้องห้ามมิให้จัดชุมนุม เช่น ระยะรัศมี 150 เมตร จากสถานที่สำคัญและสถานที่ราชการ อาทิ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล และต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการในสถานที่ เช่น สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ กำหนดให้ปราศรัยหรือจัดกิจกรรมระหว่างเวลา 22.00-06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น การเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมในเวลากลางคืน จะกระทำมิได้
นอกจากนี้ กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม เช่น ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่อยู่ร่วมการชุมนุมสาธารณะตลอดเวลาการชุมนุม ดูแลและรับผิดชอบให้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ห้ามมิให้ผู้ชุมนุมกระทำการให้เกิดความไม่สะดวกของประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ พาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม บุกรุกหรือทำให้เสียหายหรือทำลายด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น
กำหนดโทษกรณีต่างๆ อาทิ ผู้จัดการชุมนุมซึ่งมิได้แจ้งตำรวจก่อนว่าจะจัดชุมนุม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้จัดการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโทษปรับตั้งแต่ 2-10 ปี ปรับไม่เกิน 40,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ชุมนุมซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ออกจากพื้นที่ควบคุมภายในเวลาที่เจ้าพนักงานประกาศกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เผยปปช.ไม่ขวางระบายข้าว
พล.ต.สรรเสริญกล่าวอีกว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงให้ครม.เข้าใจการระบายข้าวและยาง โดยนายวิษณุหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาและป.ป.ช. โดยได้คำตอบการระบายข้าวมาว่า ป.ป.ช.สนใจเฉพาะตัวเลขของข้าวและปริมาณข้าว ไม่ได้สนใจตัวคุณภาพ ดังนั้นยืนยันว่าข้าวไม่ใช่ของกลาง การจะเร่งระบายข้าวออก ขอให้ดำเนินไปตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด เพราะข้าวเป็นสินค้าที่เสื่อมสภาพได้ง่าย แต่เมื่อใดที่ป.ป.ช.เห็นว่าให้ยุติการระบายข้าวในล็อตนั้นๆ ป.ป.ช. จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นล็อตๆ ไป แต่การระบายข้าว การขายข้าว ขอให้ยึดหลักความสุจริต โปร่งใส อย่าให้เกิดการสมยอม ฮั้วราคา รวมทั้งไม่ต้องห่วงว่าใครที่ดำเนินการตามคำแนะนำของป.ป.ช.จะถูกย้อนดำเนินคดีในภายหลัง
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนเรื่องยาง มีคำถามเสมอว่าองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เมื่อได้รับเงินจากธ.ก.ส.และซื้อยางมาแล้ว สามารถระบายยางในสต๊อกออกไปได้หรือไม่นั้น นายวิษณุได้หาคำตอบจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ความว่าอ.ส.ย.มีอำนาจขายยาง ถ้ามีงบประมาณเพียงพอ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เรียบร้อย สามารถขายยางออกไปได้ตามตามนโยบายรัฐบาลและคสช. ที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกัน ป.ป.ช.แจ้งว่าไม่มีสำนวนเรื่องการตรวจสอบยางในความรับผิดชอบของป.ป.ช. ดังนั้น ทั้ง 2 กรณีอนุมัติให้จำหน่ายได้ตามนโยบายรัฐบาล
เห็นชอบปรับค่าครองชีพ'ขรก.'
พล.ต.สรรเสริญกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมครม.ยังได้เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าครองชีพให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกำหนดให้เพิ่มค่าครองชีพของข้าราชการประจำและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ที่บรรจุในตำแหน่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งมีเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท ให้ได้รับเงินค่าครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากเดือนละ 1,500 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อรวมแล้วต้องได้รับไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ขณะที่ข้าราชการและลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนรวมค่าครองชีพรวมกันแล้วไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ก็ให้ได้รับเงินค่าครองชีพเพิ่มขึ้นจากเงินเดือน แต่ต้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท เช่นเดียวกับลูกจ้างชั่วคราวที่กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี และทหารกองประจำการ ที่ได้ค่าจ้างไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท ก็ให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกจนถึงเดือนละ 10,000 บาท โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของข้าราชการในกลุ่มดังกล่าวให้ดีขึ้น ส่วนการปรับโครงสร้างการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการทั่วไป สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ยังไม่ได้เสนอเรื่องดังกล่าว เข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณา
4 แสนคนได้เฮ-เงินเพิ่ม
"ในการประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความเป็นห่วงถึงกรณีการปรับขึ้นค่าครองชีพ อาจถูกผู้ที่ไม่หวังดีฉกฉวยผลประโยชน์โดยการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน จึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยติดตามสถานการณ์ด้วย" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การปรับขึ้นค่าครองชีพครั้งนี้ คาดว่าจะต้องใช้งบฯ ทั้งหมด 1,500 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมข้าราชการ ลูกจ้าง และทหารในระดับชั้นผู้น้อยได้รับสิทธิ 400,000 คน โดยจากนี้เมื่อระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ส่วนราชการจะต้องออกคำสั่งให้ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และขอเบิกเงินที่กรมบัญชีกลางหรือสำนัก งานคลังจังหวัด ซึ่งกรมบัญชีกลางได้เตรียมการเพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวฯ ไว้พร้อมแล้ว
สตง.ท้วงข้อมูลประกันรายได้ปี 54
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 1.5 หมื่นบาท ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลวงเงิน 4 หมื่นล้านบาทนั้น สตง.ตรวจพบว่าฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเดียวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรในปี 2554 ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนหนึ่งมีความไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบัน เช่น เกษตรกรแจ้งพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าที่เพาะปลูกจริง เกษตรกรไม่มีพื้นที่เพาะปลูกแต่แจ้งว่ามีพื้นที่เพาะปลูก
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้า สตง.จะร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ลงพื้นที่ภาคกลาง 26 จังหวัด ตรวจสอบโครงการดังกล่าวโดยนำระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกผ่านดาวเทียม หรือจีพีเอส ในการตรวจสอบพื้นที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นภายใน 1 เดือน
ลุยสอบพื้นที่ขึ้นทะเบียนทำกิน
ผู้ว่าการ สตง.กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบจะดำเนินการทั้งในส่วนที่จ่ายเงินไปแล้ว โดยติดตามว่ามีการจ่ายเงินถูกต้องและเงินถึงมือชาวนาอย่างแท้จริง ไม่มีหักค่าหัวคิว หรือคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ และตรวจสอบในส่วนที่เตรียมจ่ายเงินด้วยว่าถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดทุจริต คาดว่าจะช่วยป้องกันการทุจริตได้ 99.99% และไม่ทำให้เกิดความล่าช้าในการจ่ายเงินให้เกษตรกรอย่างแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้ทำหนังสือชี้แจงให้นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ หรือวิธีการดำเนินงานรวมถึงมาตรการควบคุมตรวจสอบที่รอบคอบ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจนถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินให้ชาวนา เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1 พันบาทนั้น หากมีโอกาสก็พร้อมลงไปตรวจสอบแต่ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งเข้ามาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น
'บิ๊กป้อม'ลั่น'บิ๊กตู่'ไม่ขัดแย้งใคร
ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ วันที่ 18-19 พ.ย. ที่นครพุกาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ถึงกรณีเป็นห่วงความปลอดภัยในการลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ของนายกฯ ว่า นายกฯ ลงไปได้ทุกพื้นที่เพราะไม่ได้ขัดแย้งกับใคร ไปที่ไหนก็เหมือนกัน ภาคไหนก็ได้ นายกฯ ลงพื้นที่ครั้งนี้ไปดูปัญหาภัยแล้ง เวลานี้นายกฯ เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและต้องการสร้างปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติและวางโรดแม็ปไว้แล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะนี้เดินตามโรดแม็ปดังกล่าว
"ผมดูแล้วไม่น่ามีปัญหา นายกฯ ไม่มีศัตรูที่ไหน ในพื้นที่มีทั้งตำรวจและทหารสามารถดูแลความปลอดภัยได้" พล.อ.ประวิตรกล่าว
ขอนแก่น-กาฬสินธุ์รอต้อนรับ
ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายวิวัฒน์ เมธีวรรณกิจ รองผู้ว่าฯ ขอนแก่น พร้อมด้วยนายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ หน.สนง.ปภ.จังหวัดขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสถานที่หน้าศาลากลางจังหวัดและรอบศาลากลางจังหวัด พร้อมซักซ้อมการปล่อยคาราวานรถภัยแล้งปี 2558 ซึ่งมีทั้งหมด 126 คัน เพื่อเตรียมการต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ที่จะมาตรวจราชการและการเตรียมการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ ในวันที่ 19 พ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ เรียกประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้านปัญหาภัยแล้งและปล่อยคาราวานช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยแล้ง 20 จังหวัดภาคอีสานแล้ว จะเดินทางมาที่เขื่อนลำปาว อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ในเวลา 14.30 น. โดยอธิบดีกรมชลประทานจะสรุปการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนลำปาว ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ส่วนการรักษาความปลอดภัย นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เป็นกำลังผสมระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจดูแลความปลอดภัยให้กับคณะนายกฯ ตลอดเส้นทางการเดินทาง โดยเฉพาะจุดฟังการสรุปการบริหารจัดการน้ำบริเวณเขื่อนลำปาว คาดว่าจะมีประชาชนมาต้อนรับจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมพร้อมทั้งการดูแลประชาชนและการรักษาความปลอดภัยของนายกฯ
พล.ต.ต.กิจจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยนายกฯ ว่า มีการเตรียมการ 100 เปอร์เซ็นต์ บูรณาการระหว่างตำรวจ เจ้าหน้าที่ อาสาป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของกรมการปกครอง และสารวัตรทหาร ดูแลทั้งระหว่างการประชุมและการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ โดยจะตรวจบุคคลเข้าออกทุกประตูทางเข้าลานศาลากลางอย่างละเอียด พร้อมเตรียมเครื่องสแกนวัตถุแปลกปลอมในจุดต่างๆ จัดสถานที่ให้ประชาชนยื่นหนังสือร้องเรียนไว้ด้วย บุคคลที่จะเข้าออกอาคารศาลากลางต้องติดบัตรแสดงตนทุกคน ทั้งนี้ ยังไม่มีข่าวมีการเคลี่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน
กมธ.เรียก"ภท.-ชทพ."ถกร่างรธน.
ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เรียกตัวแทนพรรคการเมืองเข้าพบเพื่อร่วมแสดงความเห็นถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นวันแรก ซึ่งเป็นคิวของตัวแทนพรรคภูมิใจไทย นำโดยนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค และนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผอ.พรรค และพรรคชาติไทยพัฒนา นำโดยนายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ซึ่งทั้งหมดนั่งหารือในห้องรับรอง ด้านหน้าห้องประชุม กมธ.งบประมาณ โดยมีพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช. และนายชัย ชิดชอบ สมาชิก สปช. เข้าร่วมพูดคุยในห้องดังกล่าวด้วย
พล.อ.เลิศรัตน์แถลงภายหลังการรับฟังความเห็นว่า ตัวแทนพรรคการเมืองให้ข้อคิดเห็นว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างขึ้นเพื่อทุกคนทุกฝ่าย ไม่มีอคติและไม่กีดกันใคร ส่วนประเด็นส.ส.ไม่อยากให้จำกัดวาระของส.ส. อยากเห็นการสร้างระบบพรรคที่ดี สร้างนักการเมืองที่มีคุณธรรม ต้องปฏิรูประบบราชการให้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน เพราะถ้าระบบราชการมีประสิทธิภาพจะช่วยป้องกันทุจริตได้ นอกจากนี้ปัญหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อยากให้นำบทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 2540 กับ 2550 มาดูข้อด้อย ข้อเด่น ที่มาหรือเจตนารมณ์เพราะถ้าเริ่มต้นประชาชนไม่ยอมรับก็จะเป็นปัญหา และควรมีกระบวนการสรรหาที่เข้มข้น ถอดถอนได้ด้วย
จี้ปรับแก้กม.ยุบพรรค
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนปัญหายุบพรรค จากมาตรา 237 และ 68 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น พรรคภูมิใจไทยเห็นว่ายุบง่ายเกินไป กรรมการบริหารทำผิดคนเดียวก็ถูกยุบและมีโทษเว้นวรรค 5 ปี ซึ่งไม่เป็นธรรม ส่วนส.ว.หากต้องมีบางส่วนมาจากการสรรหาจะต้องมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ มิใช่ให้ส.ว. สรรหามีอำนาจเท่ากับส.ว.เลือกตั้ง สำหรับ นายกฯ และรัฐบาลมีอำนาจกำหนดนโยบายประชานิยม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าเกิดความเสียหายก็ไม่ควรมีบทลงโทษต่อผู้ปฏิบัติหรือผู้กำหนดตามนโยบาย โดยยกตัวอย่างโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีเจตนาลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนที่ด้อยโอกาส ส่วนการทำประชามติพรรคภูมิใจไทยเห็นว่าเร็วเกินไป เพราะต้องพิจารณากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า หากเสียงประชาชนตอบรับดีก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของพรรคชาติไทยพัฒนานั้น อยากเห็นระบอบประชาธิปไตยมั่นคงและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ มีการถ่วงดุลอย่างสมดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ และอยากให้กมธ.ยกร่างฯ พิจารณามาตรา 237 และ 68 ที่ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคด้วย ซึ่งกมธ.ก็เห็นว่าหากยุบพรรคง่ายจะเกิดนอมินีขึ้นมาบริหารประเทศ เรื่องนี้กมธ.ยกร่างฯ ต้องหาคำตอบว่าจะทำอย่างไร
จำกัดจำนวน-อำนาจสว.สรรหา
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ส่วนการเลือกตั้งส.ส.แบบเขตเดียวคนเดียว และเขตใหญ่ 3 คน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาไม่เห็นด้วยที่จะให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เพราะไม่ยึดโยงกับพื้นที่และเป็นตัวแทนของประชาชน จึงอยากให้พิจารณาให้เหมาะสม ส่วนวุฒิสภา เห็นว่าให้เพิ่มกรรม การสรรหาส.ว.ให้มากกว่า 7 คนขึ้นไป และลดจำนวนส.ว.สรรหาให้เหลือ 1 ใน 6 และส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งขอให้คำนึงถึงสัดส่วนประชากร เช่น กทม.ควรมีส.ว.ให้มากกว่าจังหวัดที่มีประชากรน้อยกว่า ซึ่งคุณสมบัติของส.ว.สรรหาควรมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ และไม่ควรมีอำนาจถอดถอนส.ส.จากการเลือกตั้ง
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังเสนอให้แก้มาตรา 190 และการร่างรัฐธรรม นูญครั้งนี้ควรแก้ปัญหาการแบ่งพรรคนิยม แบ่งสีนิยมให้ได้ จึงต้องมีบทบัญญัติให้เยาวชนได้ศึกษาเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่ในชั้นเรียน ส่วนการทำประชามติ พรรคชาติไทยพัฒนาเห็นว่าเป็นเรื่องปลายน้ำ แต่อยากให้เน้นทำประชาพิจารณ์มากกว่า
คิวต่อไปถกพลังชล-ชาติพัฒนา
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ระบุจะนำข้อสังเกตของแต่ละพรรคมาทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และประสานคณะอนุกมธ.ทั้ง 11 ด้าน จัดส่งรายชื่อให้พรรคการ เมืองประสานให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะระหว่างการพิจารณา ให้เกิดการสื่อสาร 2 ทาง ซึ่งตัวแทนจาก 2 พรรคตั้งข้อสังเกตว่าการให้ข้อมูลต่อกมธ.ยกร่างฯ ครั้งนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติพรรค เนื่องจากไม่สามารถประชุมพรรคได้ แต่บุคคลที่มาถือเป็นแกนนำพรรค และวันที่ 19 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. เป็นคิวของพรรคชาติพัฒนาและพรรคพลังชล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการนัดพรรคการเมืองมาแสดงความคิดเห็นนั้น เดิมวันที่ 17 พ.ย. เป็นคิวพรรคเพื่อไทยแต่ขอเลื่อนเป็นต้นเดือนธ.ค. วันที่ 18 พ.ย. เป็นพรรคประชาธิปัตย์ แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ขอเลื่อนเป็นวันที่ 24 พ.ย. เนื่องจากติดภารกิจ จึงต้องขยับพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนามาเป็นวันนี้ ส่วนวันที่ 19 พ.ย. พรรคชาติพัฒนาและพรรคพลังชล วันที่ 20 พ.ย. พรรคมาตุภูมิและพรรครักษ์ประเทศไทย วันที่ 25 พ.ย. ช่วงเช้าคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และช่วงบ่ายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แต่ปฏิเสธเข้าร่วมเนื่องจากกลุ่มถูกยุบไปแล้ว ขณะที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยังไม่ได้ข้อสรุปและอยู่ระหว่างการประสาน
'ตือ'ชงยึดภาคประชาชน
นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยก่อนเข้าร่วมหารือกับกมธ.ยกร่างฯ ว่า พรรคจะเน้นภาพกว้างของการทำงาน เช่น อำนาจอธิปไตย องค์กรอิสระ การทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ที่สำคัญคือการปฏิรูปความขัดแย้ง โดยเฉพาะสถานะรัฐบาลพลเรือนที่มาจากประชาธิปไตย
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าเสนอความเห็นว่า พรรคตั้งใจเสนอภาพรวมการปฏิรูปประเทศโดยยึดภาคประชาชนเป็นหลัก การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาเราเห็นอุปสรรคและปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี"50 ที่ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไปส่งผลให้เกิดปัญหาขัดแย้ง เชื่อว่าบทเรียนครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ต้องการให้ซ้ำรอย พรรคคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนจะมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของเหมือนเช่นรัฐธรรมนูญปี"40
แนะอย่าปิดปากประชาชน
"ได้คุยนอกรอบกับนายบวรศักดิ์ ซึ่งผมบอกไปว่ากติกาทุกอย่างมีข้อยกเว้น บางอย่างผ่อนปรนหรือยกเว้นได้ เมื่อตั้งความหวังไว้สูง การเปิดหูเปิดตา ให้โอกาส อย่าไปปิดปาก ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกคนอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้าย" นายสมศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคเห็นว่ากติกาเดิมไม่เป็นธรรม เหตุใดจึงไม่เสนอแนวทางแก้ไข นายสมศักดิ์กล่าวว่า เสนอไปแล้วตอนปี 2550 พูดกันว่าให้ลงมติรับรัฐธรรมนูญไปก่อนเพื่อให้ประเทศเดินหน้าแล้วค่อยแก้ภายหลัง สุดท้ายพอนักการเมืองมาเสนอแก้ อดีตส.ส.และส.ว.กว่า 300 คนไม่มีใครรู้อนาคตเลย ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญของการรับรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วแก้ไขภายหลัง ทั้งนี้ ตนไม่กังวล หากรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาแล้ว มีบทลงโทษเหมือนสมาชิกบ้านเลขที่ 109 และ 111 อีกเพราะตนเป็นนักกีฬา กติกาเขียนอย่างไรพอใจเล่นก็เล่น ถ้าไม่พอใจเราก็ไม่ต้องเล่น ทั้งหมดอยู่ที่สปช.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะไปพบกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 24 พ.ย.นี้ แต่มีประเด็นคือเชิญในฐานะตัวแทนพรรค ไม่ใช่ในฐานะนายอภิสิทธิ์ จึงหนักใจเพราะถ้าบอกให้เป็นความเห็นพรรค พรรคก็ควรประชุมแต่คสช.ยังไม่ให้พรรคประชุม ดังนั้นทางพรรคจึงทำหนังสือไปที่คสช. ขอประชุมเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
ทนายปูยื่นค้านสนช.ถกถอดถอน
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้รับผิดชอบคดีรับจำนำข้าว เข้ายื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการสำนักงานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. เรียกร้องให้บรรจุวาระคำร้องคัดค้านเรื่องโครงการจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยื่นต่อ สนช.เมื่อวันที่ 5 พ.ย. บรรจุเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ในวันที่ 28 พ.ย. เพื่อพิจารณาว่าคำสั่งของประธานสนช. ที่สั่งให้บรรจุสำนวนถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์ เข้าสู่ที่ประชุม สนช.และการตราข้อบังคับการประชุมสนช. เรื่องการถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า สนช.ควรวินิจฉัยประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อนพิจารณาเรื่อง อื่นๆ เพราะหาก สนช.วินิจฉัยว่าไม่มีอำนาจ ก็ไม่ต้องพิจารณาในวาระอื่นอีกต่อไป เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์
ปปช.ยันถกร่วมอสส.คืบหน้า
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายป.ป.ช. ในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวอัยการสูงสุด (อสส.) ส่งหนังสือให้ป.ป.ช.ยืนยันคดีมีเฉพาะส่วนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเรื่องทุจริต ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับหนังสือจากฝ่ายอสส. ขอตรวจสอบก่อน ซึ่งการไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา มี 2 ส่วน คือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการทุจริต
นายสรรเสริญ กล่าวว่า กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ป.ป.ช.วินิจฉัยแล้วว่าอยู่ในส่วนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ฝ่าย อสส.คงต้องการให้ป.ป.ช.ยืนยันให้ชัดเจนว่าแค่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หากให้ อสส.ไปตัดเองมันจะไม่ดี แต่ในที่ประชุมอย่างเป็นทางการยังไม่ได้หารือกันเรื่องนี้ ส่วนการประชุมร่วมป.ป.ช.และ อสส.ที่ผ่านมา 3 นัดนั้นคืบหน้าไปมากแล้ว คุยกันครบทุกประเด็นแล้ว ขณะนี้เหลือแค่การตัดสินใจของคณะทำงานแต่ละฝ่ายเท่านั้น ดังนั้น การประชุมนัดต่อไปต้องได้ข้อยุติว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป คาดว่าจะประชุมนัดต่อไปช่วงต้นเดือนธ.ค. เบื้องต้นให้ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฝ่ายป.ป.ช.ประสานฝ่าย อสส.แล้ว
ขอบคุณ 5 สายรวมเป็นหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ครม. สนช. สปช.และคสช. ได้เดินทางออกจากพื้นที่หลังจากประชุมเสร็จสิ้น ซึ่งใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปช.และโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมให้แต่ละหน่วยงานชี้แจงการทำงานให้นายกฯ ได้รับทราบ ซึ่งบรรยากาศการประชุมดีมาก มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันในที่ประชุม โดยนายกฯ กำชับว่าอยากให้การทำงานด้านการปฏิรูปนั้นเดินหน้าได้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ถ้ากมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 ด้าน มีเรื่องอะไรก็ส่งให้ คสช. หรือรัฐบาลดำเนินการได้เลยเพื่อที่จะเร่งรัดให้สำเร็จโดยเร็ว ส่วนที่สองเรื่องใดที่ต้องตราเป็นพ.ร.บ. ก็ให้ผ่านสนช.หรือครม. อย่างไรก็ตาม นายกฯ อยากให้การปฏิรูปดำเนินได้ตามโรดแม็ปและเป้าหมายที่วางไว้ในทั้ง 11 ด้าน
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. กล่าวว่า นายกฯ ได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่เป็นแม่น้ำสายเดียวกัน พร้อมกำชับให้ทุกคนทำงานตามโรดแม็ปและกรอบเวลาที่กำหนดไว้ให้ได้ ไม่มีคำสั่งใดๆ ทั้งนั้น ใครมีหน้าที่อะไรก็ไปทำ นอกจากนี้นายกฯยังระบุว่าอยากเห็นผลงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมของทุกคนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะสนช.มีหน้าที่ออกกฎหมายก็ต้องเร่งออกกฎหมายให้เร็วที่สุด ใครอยากเห็นประเทศปฏิรูปไปในทิศทางใดให้เสนอเข้ามา รัฐบาลยินดีรับฟังเพราะรัฐบาลนี้ถูกกดดันจากหลายด้าน ไม่ว่าต่างชาติ สื่อ แม้กระทั่งนักวิชาการ ฉะนั้นรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าปฏิรูปให้สำเร็จเพื่อไปสู่การเลือกตั้งให้ได้
ลั่นยังต้องคง'กฎอัยการศึก'
นายวัลลภกล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น นายกฯได้ย้อนถามในที่ประชุมว่าขณะนี้สถานการณ์ปกติหรือยัง ซึ่งทุกคนเงียบหมด ไม่มีคำตอบ นายกฯ จึงพูดต่อว่าเมื่อทุกคนเงียบแสดงว่าสถานการณ์ยังไม่ปกติ ตนจะต้องประคองบ้านเมืองให้สถานการณ์นิ่งและปฏิรูปการเมืองให้ได้ก่อน ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ใครจะรับผิดชอบแทนตน
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 กล่าวว่า นายกฯ ได้ขอให้ทั้ง 5 หน่วยงานทำงานร่วมกัน และกำชับให้แต่ละส่วนจัดทำนโยบายซึ่งเป็นกรอบการทำงานร่วมกันให้เกิดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าให้เสร็จตามกรอบเวลา นอกจากนี้นายกฯ ชี้แจงผลการทำงานที่ผ่านมา รวมทั้งเปิดให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นและซักถาม
มอบ'สนช.-สปช.'เร่งทำงาน
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ. และเลขาธิการคสช. กล่าวว่า ขอให้ทุกคนสบายใจว่านายกฯ ได้มอบแนวทางและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อดูแลให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างกันเอง โดยจัดโต๊ะประชุมเป็นรูปตัวยู ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้นั่งหัวโต๊ะ โดยนายพรเพชร นายเทียนฉาย นายบวรศักดิ์ รวมถึงสมาชิกสนช. สปช.และกมธ.ยกร่างฯ นั่งทางซ้ายมือพล.อ.ประยุทธ์ ส่วนครม.และคสช.นั่งทางขวามือของนายกฯ โดยพล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำให้สปช.และสนช.ร่วมกันทำงานใน 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.สนช.เร่งผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ซึ่งน่าจะมีประมาณ 300 ฉบับ โดยครม.เตรียมจะเสนอในเร็วๆ นี้ 100 ฉบับ ส่วนที่เหลือจะทยอยตามมา 2.สปช.ต้องทำงานให้เห็นผลภายใน 3 เดือน และ 3.ให้สปช.เดินหน้าวางกระบวนการปฏิรูป ไม่อยากให้ไปเริ่มนับหนึ่ง เพราะกระทรวงกลาโหมทำรายงานเสนอมาครบทั้ง 11 ด้านแล้ว หากมีส่วนไหนที่ขาดก็ค่อยไปเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์
'บิ๊กตู่'บ่นเปลืองตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกคสช. แสดงความคิดเห็นว่า ที่ผ่านมาต้องเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว พร้อมจัดทำกฎหมายลูกเพื่อส่งมอบให้จัดการเลือกตั้ง แต่หลายเรื่องรัฐบาลต่อมาไม่เคยสานต่อให้สำเร็จ จึงไม่อยากให้เร่งรีบจัดทำรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นจะทำให้เสียของและล้มเหลว ส่วนนายบวรศักดิ์เห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติจะเป็นส่วนสำคัญและเป็นเกราะที่ป้องกันให้รัฐธรรมนูญในอนาคตถูกแก้ไขได้ยาก ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ตอบเรื่องนี้ว่า การทำประชามติยังอีกไกล ขอดูสถานการณ์และความ เหมาะสมก่อน
แหล่งข่าวในที่ประชุมยังอ้างคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ในที่ประชุมที่ระบุว่า "ผมไม่อยากอยู่ในตำแหน่งแล้ว ผมจะอยู่ได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับพวกที่นั่งอยู่ในที่นี้ เปลืองตัว ประชุมก็เยอะ แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน และวันนี้อยากขอให้แม่น้ำทั้ง 5 สายรวมเป็นสายเดียวกัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จ"
ครม.อนุมัติยืดวาระผู้พิพากษา 5 ปี
เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 18 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ครม. มีมติอนุมัติในหลักการร่างพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบ ตามที่สำนักศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป โดยมีสาระสำคัญ คือกำหนดให้สามารถดำรงตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี และเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี ให้ได้รับการประเมินผลงาน และสมรรถภาพเพื่อดำรงตำแหน่งต่อไป นอกจากนี้ กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของผู้พิพากษาสมทบเมื่อมีอายุครบ 80 ปีบริบูรณ์ หรือไม่ผ่านการประเมินผลงาน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม เรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการยุติธรรม ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ สาระสำคัญคือปรับปรุงคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ให้สอดคล้องกับการแต่งตั้งข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม และการจัดประเภทตำแหน่ง และระดับตำแหน่งของข้าราชการศาลยุติธรรมตามหลักอาวุโส โดยให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นประธาน รองประธานศาลฎีกาซึ่งมีอาวุโสสูงสุด เลขาธิการก.พ. และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ข้าราชการตุลาการซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมชั้นศาลละหนึ่งคน และข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโสขึ้นไป ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษขึ้นไป ประเภทอำนวยการหรือประเภทบริหาร ซึ่งได้รับเลือกจากข้าราชการศาลยุติธรรมที่ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับชำนาญงานทั่วไป ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการขึ้นไป ประเภทอำนวยการ และประเภทบริหาร จำนวน 5 คน
ยื่น 1 ล.ประกัน'สมยศ'คดี 112
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 18 พ.ย. ที่ศาลอาญา นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารวอยซ์ ออฟทักษิณ และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จำเลยซึ่งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 10 ปี ในคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เดินทางมาเตรียมยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลฎีกา โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 1 ล้านบาท
นางสุกัญญา กล่าวว่า คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคงต้องใช้เวลา 2-3 ปี ขณะนี้นายสมยศ ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทำให้ไม่มีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่ ก่อนหน้านี้ตนยื่นขอปล่อยชั่วคราวนายสมยศมาแล้ว 15 ครั้ง ใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดบ้านและที่ดิน แต่ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราว เกรงว่าหากปล่อยตัวไป จำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูง แต่พฤติการณ์ในคดีนี้นายสมยศไม่ใช่ผู้กระทำผิดโดยตรง จึงเตรียมยื่นขอปล่อยชั่วคราวอีกครั้งเป็นครั้งที่ 16 ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 1 ล้านบาท และหวังว่าศาลจะเมตตาให้ความเป็นธรรม
ต่อมาเวลา 15.00 น. นายวสันต์ พานิช ทนายความเผยว่า อยู่ระหว่างเตรียมคำร้องเพื่อยื่นขอปล่อยชั่วคราว คาดว่าจะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลได้ภายในวันที่ 19 พ.ย.
ตั้งทูต-เด้ง'บิ๊ก'ศธ.เข้ากรุผู้ตรวจ
เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 18 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ 2 คน 1.นายสุนัย อภิรักษ์ธาธาร ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นสถาปนิกใหญ่ กรมโยธาฯ 2.นายเกียรติศักดิ์ จันทรา รองอธิบดีกรมโยธาฯ เป็นวิศวกรใหญ่ กรมโยธาฯ และเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง นางชนาทิพย์ วีระสืบพงศ์ รองอธิบดีกรมสรรพากร เป็นที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี กรมสรรพากร ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
กระทรวงการต่างประเทศ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน 9 คน ดังนี้ 1.นายจักรกฤษณ์ ศรีวลี เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง เป็นอธิบดีกรมอาเซียน 2.นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ รองปลัดกระทรวง เป็นเอกอัครราชทูต กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน 3.นายพิริยะ เข็มพล เอกอัครราชทูต กรุงอัมมาน ฮัชไมต์จอร์แดน เป็นรองปลัดกระทรวง 4.นายอภิชาติ เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูต บันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม เป็นเอกอัครราชทูต กรุงอัมมาน จอร์แดน 5.นายเจษฎา ชวาลภาคย์ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง เป็นเอกอัครราชทูต กรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา 6.นายอิศร ปกมนตรี เอกอัครราชทูต กรุงดาการ์ เซเนกัล เป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง
7.นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวง เป็นเอกอัครราชทูต กรุงพนมเปญ กัมพูชา 8.นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เป็นรองปลัดกระทรวง 9.ร.ท.จอมพละ เจริญยิ่ง อัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เป็นเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งข้าราชการ 7 คน ดังนี้ 1.นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็น ผู้ตรวจราชการ 2.นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นผู้ตรวจราชการ 3.นายสุรพงษ์ จำจด รองเลขาธิการ กศน. เป็นผู้ตรวจราชการ 4.นายเกษม สดงาม รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นผู้ตรวจราชการ
5.นายสุภัทร จำปาทอง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นผู้ตรวจราชการ 6.นางทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นผู้ตรวจราชการ 7.นายชาญเวช บุญประเดิม ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ครม.เห็นชอบ ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอต่อเวลาการดำรงตำแหน่ง นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งครบกำหนดดำรงตำแหน่ง 4 ปี ไปอีกวาระตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2557 - 30 ก.ย. 2558
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม.เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ 1.นายเทียม อังสาชน เป็นที่ปรึกษารมช.สาธารณสุข 2.นายยงยศ ธรรมวุฒิ เป็นผู้ช่วยเลขานุการรมช.สาธารณสุข ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่มีมติเห็นชอบ