- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 18 November 2014 12:25
- Hits: 3982
วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8756 ข่าวสดรายวัน
บิ๊กตู่ถก 5 ฝ่าย ย้ำโรดแม็ป ยันไม่ผ่อน ให้พรรค ประชุมกัน อัยการโต้ รูปกินข้าว ข้อมูลเท็จ
ถกเศรษฐกิจ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 2/2557 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 พ.ย
"พล.อ.ประ ยุทธ์"เปิดบ้านเกษะโกมลเรียกหารือ 5ฝ่ายทั้งคสช.-ครม.-สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่างรธน.วันนี้ ย้ำเดินตามโรดแม็ป ยันไม่ผ่อนปรนคำสั่งห้ามพรรคการเมืองประชุมกัน ถ้าจะทำก็ขอมาจะจัดห้องให้แต่ทหารจะขอเข้าไปฟังด้วย ด้านตำรวจภาค 4 สนธิกำลัง 15 กองร้อยอารักขา"บิ๊กตู่"ลงพื้นที่ขอนแก่น-กาฬสินธุ์ กมธ.ยกร่างรธน.เริ่มแล้วเปิดรับฟังความเห็นกลุ่มการเมือง-พรรคการเมือง ประเดิมภูมิใจไทยพรรคแรก ส่วนเพื่อไทย-นปช.ยังไม่ชัดจะมาเข้าร่วมหรือไม่ ป.ป.ช.บี้อสส.เร่งความเห็นคดีจำนำข้าว"ปู" ยันถ้าไม่มีความคืบหน้าจะยื่นฟ้องเอง ประธานป.ป.ช.ชี้คดีประกันข้าวมาร์คพยานหลักฐานหาย จึงใช้เท่าที่มีอยู่ชี้มูล คาดสิ้นปีนี้สรุปความเห็นได้
บิ๊กตู่ไปขอนแก่น-ถก 20 ผวจ.อีสาน
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการตรวจเยี่ยมช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง และการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดในพื้นที่จ.ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ของพล.อ.ประยุทธ์ ในวันพุธที่ 19 พ.ย.นั้น เวลา 08.15 น. นายกฯขึ้นเครื่องที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) และถึง ท่าอากาศยานขอนแก่น ในเวลา 09.30 น. จากนั้นเดินทางต่อด้วยรถยนต์ไปศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ในเวลา 10.00 น. เพื่อ เป็นประธานการปล่อยแถวเครื่องจักรกลสาธารณภัย ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง
ก่อนที่นายกฯ จะเป็นประธานประชุม ผู้ว่าฯและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด เพื่อติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาล โดยมีประเด็นการเตรียมแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และจะหารือเรื่องการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด โดยนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าฯจะเป็นผู้ นำเสนอข้อมูลและประเด็นปัญหาในพื้นที่ ซึ่งการรับฟังข้อมูลจากผู้ว่าฯนั้นส่วนหนึ่ง เป็นการเช็กกระแสมวลชนในพื้นที่ที่มีต่อ รัฐบาลและคสช.
ต่อมาเวลา 13.30 น. นายกฯจะเดินทางโดยรถยนต์ ตรวจเยี่ยมโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองใหญ่ ต.น้ำอ้อม อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ซึ่งหลังจากรับฟังรายงานจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะพบปะประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ จากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ก่อนที่เวลา 14.30 น. นายกฯ พร้อมคณะเดินทางต่อไปยังเขื่อนลำปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เพื่อตรวจดูสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว หลังเสร็จสิ้นภารกิจ นายกฯจะเดินทางกลับกรุงเทพฯทันที
มท.1 กำชับห้ามชูสัญลักษณ์ต่อต้าน
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 19 พ.ย.ว่า นายกฯ จะต้องลงพื้นที่ไม่ว่าพื้นที่ใด ถ้าเราตั้งใจทำงานและไม่ใช่คู่ ขัดแย้งก็ต้องไป ซึ่งเราเห็นต่างกันได้แต่อย่าให้ขัดแย้งกัน กระทรวงมหาดไทยไม่ได้สั่งกำชับผู้ว่าฯให้ไปปรามมวลชน แต่ขอให้ดูเรื่องปัญหาของประชาชนคือ ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าทุกปี เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจการทำงานของรัฐบาล จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้อยู่ในความเรียบร้อย ไม่อยากให้มีการแสดงสัญลักษณ์อะไร ขอให้ช่วยกันทำให้เกิดความเรียบร้อย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงประเด็นความเป็นห่วงสื่อมวลชนถูกแทรกแซงการทำงานว่า อยากเรียนว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยไม่ได้จำกัดสิทธิการทำหน้าที่ แต่ขอให้สื่อเข้าใจการทำงานของรัฐบาลที่ต้องแก้ไขปัญหาหลายด้าน หากสื่อจะช่วยกันทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบเรียบร้อย จะเป็นคุณกับการบริหารประเทศ ได้มาก จึงอยากขอร้องสื่อช่วยกันทำให้เกิดบรรยากาศที่สงบ รัฐบาลต้องแก้ปัญหาทั้ง ด้านภัยพิบัติ ปัญหาเศรษฐกิจ ภัยแล้ง ถ้าเราช่วยกันทำงานเต็มที่ ยึดความโปร่งใสตั้งใจทำงาน หากไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาแล้วช่วยให้บรรยากาศสงบได้ ก็ขอร้องสื่อให้ช่วยกัน
เปิดคิว'ประยุทธ์'บินไปต่างประเทศ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค คณะทำงานนายกฯ เปิดเผยว่าขณะนี้คณะทำงานเตรียมกำหนดการเยือนต่างประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ โดยจะไปเยือนญี่ปุ่น หลังจากไปเยือนเกาหลีในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ โดยประเด็นที่จะหารือกับญี่ปุ่น เน้นเชิญชวน นักธุรกิจมาลงทุนในไทย การลงทุนในโครงการทวาย และโครงการรถไฟฟ้าความ เร็วสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกำหนดการเยือนต่างประเทศและการประชุมสำคัญ ของนายกฯ มีดังนี้ วันที่ 26-27 พ.ย. นายกฯมีกำหนดเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อย่างเป็นทางการ จากนั้นวันที่ 27-28 พ.ย. เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ และวันที่ 1 ธ.ค. นายกฯ จะไปเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ และจะเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ค.ศ.2014 ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี วันที่ 11-12 ธ.ค. และวันที่ 19-20 ธ.ค. ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS
ประเดิมใช้เสียที-ห้องประชุมครม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซม ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อใช้เป็นห้องประชุมครม.ที่ห้องประชุมชั้น 5 เป็นเวลานาน ปรากฏว่าเช้าวันที่ 17 พ.ย. พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขา ธิการนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมก่อนจะตรวจรับและส่งมอบ โดยร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า หลังจากตรวจความเรียบร้อยแล้ว กรมโยธา ธิการและผังเมือง จะส่งมอบตึกบัญชาการ ที่ได้ปรับปรุงซ่อมแซมเสร็จในวันนี้ ก่อนใช้ตึกบัญชาการเป็นที่ประชุมครม.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมครม. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มีดำริว่าให้ใช้ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 เป็นสถานที่ ประชุมครม. หลังจากได้สอบถามความพร้อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วว่า สถานที่และตึกบัญชาการ 1 มีความพร้อมสมบูรณ์ ซึ่งการประชุมครม.ในวันที่ 18 พ.ย. จะประชุมที่ห้อง 501 เป็นครั้งแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวันที่ 16 พ.ย. เจ้าหน้าที่กองสถานที่ ทำเนียบรัฐบาล และ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ตรวจ ความพร้อมในการใช้ตึกบัญชาการทั้ง 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว และรายงานตรงถึง ผู้บังคับบัญชาแล้ว
'บิ๊กป้อม'ขอให้สื่อรอโรดแม็ป 1 ปี
ที่บก.ทบ. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าคสช. กล่าวถึงทหาร ขอความร่วมมือกับองค์กรสื่อต่างๆ กรณี นำเสนอข่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลและคสช.กำลังดำเนินการเพื่อให้ประเทศเกิดปรองดอง สิ่งใดที่ทำให้เกิดความไม่ปรองดองหรือแตกแยก เราไม่อยากให้ทำ อยากขอให้พักและรอ ไว้ก่อน ขณะนี้เรามีสปช.และสนช.ดำเนินการ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ เคยบอกแล้วว่าขอให้รอ 1 ปีตามโรดแม็ปที่คสช.และรัฐบาลกำลัง เดินตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ฉะนั้นตนไม่ทราบว่าจะเร่งรีบไปไหน รัฐบาลชี้แจงมาตลอด โดยเฉพาะนายกฯชี้แจงทุกวันศุกร์ว่า รัฐบาลและคสช.กำลังทำอะไร ตนไม่เห็นจะมีตรงไหนที่ทำให้เกิดความไม่พอใจและแตกแยกขึ้น ดังนั้น อะไรที่ทำให้ประชาชนไขว้เขวและสับสน จะต้องไม่ทำ ทั้งสื่อและทุกหน่วยงาน
"จุดนี้ต้องให้รัฐบาลและคสช.ได้ทำงาน ขณะนี้กำลังแก้ปัญหาทุกอย่างทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคง ทำให้เกิดความปรองดองไม่ให้แตกแยก เรากำลังแก้หมดทุกอย่าง ต้องเห็นใจ การจะทำให้ประชาชนหรือหน่วยงานไขว้เขวต้องไม่ทำ ผมไม่ต้องบอกว่าสิ่งใดล่อแหลมหรือไม่ล่อแหลม ไม่ต้องอธิบาย เพราะทุกคนต้องเข้าใจ รัฐบาลและคสช.ไม่ได้ดำเนินการนอกเหนือจากกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ผมอยากให้ทุกคนฟังนายกฯพูดเพราะถ้า ไม่ฟังก็ไม่รู้" พล.อ.ประวิตรกล่าว
ถึงเวลาจะยกเลิกเอง-ไม่ต้องบอก
ส่วนที่องค์กรสื่อเรียกร้องยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 และ 103 พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลและคสช.ทำงานอยู่ จะให้ยกเลิกอะไร สิ่งใดที่ผ่อนปรนได้ก็จะดำเนิน การเอง คสช.มีคณะกรรมการและ เจ้าหน้าที่ดูแลสถานการณ์ตลอด ไม่จำเป็นต้องมาบอก นายกฯรู้ดีว่าช่วงไหนควรดำเนินการอย่างไร
เมื่อถามว่าพรรคการเมืองต้องการให้ลดระดับกฎอัยการศึกลงเพื่อให้ประชุมกันได้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พรรคก็เช่นกัน เราเปิดให้มี สปช.แล้วทำไมไม่สมัคร เรายอมทุกเรื่องที่เกี่ยวกับปฏิรูปแล้ว ทำไมต้องทำอะไรที่ขัดต่อกฎหมาย ตนไม่เข้าใจเมื่อเปิดรับสมัคร สปช.ก็ไม่สมัคร ให้เข้ามาชี้แจงก็ไม่มา อยากจะทำอะไรก็เสนอ สปช.ได้ เขาพร้อมดูแลทั้งหมด
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้พรรคจัดประชุมเพื่อนำข้อมูลเสนอต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ข้อมูลเขียนเมื่อไรก็ได้และส่งไป ไม่จำเป็นต้องรวมตัวกัน 200-300 คน เชื่อว่าหัวหน้าพรรค มีศักยภาพพอ เราไม่ได้ห้ามหัวหน้าพรรค ถ้าเขียนหนังสือได้ก็ทำได้หมด
เมื่อถามว่าหลังจากคสช.บริหารประเทศเกือบ 6 เดือน ประเมินความมั่นคงเป็นอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า บ้านเมืองก็มีความสงบ ทุกอย่างถ้าทำตามกฎหมาย และทำตามที่คสช.และรัฐบาลแนะนำ มันก็ไม่มีอะไร ขอให้ฟังนายกฯที่ทำงานเหนื่อยและพูดทุกวันศุกร์ ตนอยากให้ทุกคนฟัง เพราะเดี๋ยวนี้คนที่ฟัง ก็ไม่อยากฟังอีกแล้ว สมัยก่อนก็ว่าพูดดี นายกฯอุตส่าห์ทำงานทุกอย่าง การทำงานนี่เพิ่งผ่านมา 4-5 เดือน ขอเวลาอีกไม่นาน พอรัฐธรรมนูญเสร็จก็ว่ากันไปเลย
พท.ชี้แผนปรองดองยังไม่สัมฤทธิ์
วันเดียวกัน นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้แนวทางสร้างปรองดองของ คสช. ยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ แม้นายกฯจะพูดเรื่องนี้อยู่ตลอด แต่ในทางปฏิบัติสอบตก โดยเฉพาะการตั้ง สนช. และสปช. ที่เต็มไปด้วยคู่ขัดแย้งทางการเมือง สนช.เร่งเร้าแต่การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สร้างความขัดแย้งขึ้นใหม่ แทนที่จะทำเรื่องสำคัญให้ประเทศ ส่วนพรรคต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือกับคสช.ด้วยดีมาตลอด จึงควรยกเลิกข้อจำกัด เลิกกฎ อัยการศึก ให้พรรคทำกิจกรรมได้เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ ไม่อยากให้ คสช.ปิดกั้นสื่อที่เปรียบเหมือนกระจกสะท้อนการทำงานของรัฐบาล โดยรัฐบาลต้องรับฟังเสียงติติงบ้าง ถ้าฟังแต่คำชม บ้านเมืองเสียหายแน่
"ในอดีตรัฐบาลที่ปิดกั้นสื่อพังหมด วันนี้อย่าไปตึงอย่างเดียว อะไรผ่อนได้ควรผ่อน นักท่องเที่ยวไม่มาบ้านเราเพราะมีกฎอัยการศึก พรรคการเมืองให้ความร่วมมือด้วยดี อยู่แล้ว มัวแต่กลัวนั่นกลัวนี่เกินไป ทำให้สังคมอึดอัดใจ ตอนนี้กำลังร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก รัฐธรรมนูญ เป็นของประชาชน เขียนเพื่อประชาชน ต้อง เปิดให้ทุกคนทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้" นายอำนวยกล่าว
ปปช.ฮึ่มฟ้องเอง-จำนำข้าว"ปู"
ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะ กรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของคณะทำงานร่วมระหว่างป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่คณะทำงานร่วมฝ่าย อสส. นำความเห็นของป.ป.ช.ไปปรึกษากับอสส. ซึ่งป.ป.ช.ยินดีส่งพยานเอกสารต่างๆ ที่ขอมาให้ อาทิ ข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ งานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ส่วนพยานบุคคลเห็นว่าเพียงพอแล้ว เพราะหากสอบพยานบุคคลมากไป อาจทำให้พยานบุคคลที่ป.ป.ช.สอบเอาไว้อ่อนลง
นายปานเทพกล่าวว่า ทั้งนี้ คณะทำงาน ร่วมฯ ยังไม่ได้กำหนดว่าจะประชุมอีกครั้ง เมื่อใด เพียงแต่ให้อสส.กลับไปพิจารณา ให้เร็วที่สุด ยืนยันว่าต้องการให้อสส.ส่งฟ้อง ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการประชุมคณะทำงาน ร่วมฯ ครั้งต่อไปจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว นอกจากนี้วันที่ 16 ธ.ค. ผู้บริหารป.ป.ช.กับ ผู้บริหารอสส.จะหารือกันปกติเป็นประจำเหมือนทุกปี ซึ่งอาจจะมีการพูดคุยเรื่องนี้ด้วย รวมทั้งการหารือคดีต่างๆ ที่ยังอยู่ในคณะ ทำงานร่วมฯ ซึ่งที่ผ่านมาอสส.ส่งฟ้องให้ป.ป.ช.หลายเรื่อง
เมื่อถามว่านายวุฒิพงษ์ วิบูลย์วงศ์ รอง อสส.ระบุหากยังไม่มีการพิจารณาจากอสส.ออกมา ป.ป.ช.ยังไม่มีอำนาจส่งฟ้องเอง นายปานเทพกล่าวว่า ต้องตกลงกันอีกครั้งหนึ่ง กระทั่งออกมาเป็นความเห็นของคณะทำงานร่วมฯ ว่าไม่สามารถตกลงกันได้ ป.ป.ช.จึงจะส่งฟ้องได้
อ้างดื้อๆประกันข้าว-หลักฐานหาย
นายปานเทพกล่าวถึงคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว กระทรวงการคลัง สรุปตัวเลขขาดทุนตั้งแต่ปี 2547-57 เฉพาะ รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ เสียหายถึง 5.1 แสนล้านบาทว่า จะนำข้อมูลดังกล่าว มาประกอบกับคดีที่ยังไม่ได้ชี้มูล 2 คดี คือ กรณีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และพวก กับอีกคดีคือโครงการประกันราคาข้าวในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกจากนี้ ตอนแถลงเปิดคดีกับสนช.ในสำนวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ป.ป.ช. จะเอาไปย้ำอีกครั้ง เพราะได้พูดถึงการสร้างความเสียหายเอาไว้เพื่อเพิ่มน้ำหนัก
นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในคดีซื้อขายข้าวแบบจีทูจีของนายบุญทรงและพวกนั้น ขณะนี้เร่งไต่สวนอยู่ เพราะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม ส่วนคดีโครงการประกันราคาข้าวในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้น หลักฐานที่ป.ป.ช.ร้องขอหน่วยงานต่างๆ ก่อนหน้านี้ไม่ได้แล้ว โดยอ้างว่าเอกสารหาย ป.ป.ช.จึงจะใช้หลักฐานเท่าที่มีอยู่ คาดว่าใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว ส่วนจะเสร็จก่อนสิ้นปี 2557 หรือไม่นั้นจะพยายาม
ผู้สื่อข่าวถามถึงพรรคเพื่อไทยโจมตี ป.ป.ช.ว่าปฏิบัติหน้าที่สองมาตรฐาน นายปานเทพกล่าวว่า ป.ป.ช.ฟังอยู่และพยายามชี้แจงว่าไม่ได้ทำอย่างนั้น โดยเฉพาะที่เขาติดใจว่าทำไมจึงไม่ถอดถอนนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ ในคดีปรส. ซึ่งทำไม่ได้ เพราะตามกฎหมายการจะถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องยื่นให้วุฒิสภาเพื่อส่งมาให้ป.ป.ช. แต่คดีดังกล่าวไม่มี ยืนยันว่าไม่หนักใจ เพราะหนักใจไม่ได้
จี้อัยการเร่งสรุปความเห็นฟัน"ปู"
เมื่อถามถึงกรณีส่งสำนวนถอดถอน 38 ส.ว. แก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.มิชอบไปให้สนช. ซึ่งมีอดีตส.ว. 3 คน ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกสนช.และสปช. จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าป.ป.ช.ฟ้องตอนที่ทั้ง 3 คนยังเป็นส.ว.อยู่ แต่ขณะนี้ไม่ได้ทำหน้าที่ส.ว.แล้วจึงไม่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่หากสนช.จะสอบถามมา ก็จะนำเข้าที่ประชุมป.ป.ช. เพื่อพิจารณาต่อไป
นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนการไต่สวนสำนวนคดีอาญากรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.มิชอบของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัช พานิช อดีตประธานวุฒิสภานั้น กำลังดำเนินการอยู่ร่วมกับคดีส.ส.ในจำนวนที่เหลือ โดยสำนวนคดีอาญามีเรื่องเสียบบัตรแทนกันด้วย
ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่าได้ประสานไปยังคณะทำงานฝ่ายอสส.เพื่อขอความคืบหน้า พบว่าคณะทำงานฝ่ายอสส. เพิ่งส่งผลประชุมคณะทำงานร่วมฯ ครั้งที่ 3 ให้ อสส.พิจารณา จึงต้องรอให้ อสส.พิจารณาแล้วส่งเรื่องมาให้คณะทำงานฝ่ายป.ป.ช. ก่อนจึงจะนัดประชุมครั้งต่อไปได้
นายสรรเสริญกล่าวว่า ส่วนสำนวนคดีถอดถอนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นั้น มีอยู่ทั้งหมดในป.ป.ช. จำนวน 48 คดี โดยในส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 โดยตรงมีอยู่ 6 คดี ซึ่งป.ป.ช.คงต้องยกคดีเหล่านั้น ส่วน ที่เหลืออีก 42 คดี มีการขัดกฎหมายอื่นประกอบอยู่ด้วย จึงอยู่ระหว่างการไต่สวน
พรเพชรโต้ล็อกวันเชือดยิ่งลักษณ์
ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.กล่าวถึงการพิจารณาถอดถอนอดีต 38 ส.ว. กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบว่า สนช.ยังไม่ได้รับสำนวนถอดถอนจากป.ป.ช. หรือเรื่องส่งมาแล้วแต่ยังไม่ถึงตน ซึ่งหลังจากสนช.ได้รับสำนวนก็จะพิจารณาว่าเข้าข่ายเงื่อนไขรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือไม่ ถ้าองค์ประกอบครบถ้วน ก็ต้องพิจารณาว่า เข้าข่ายที่สนช.จะมีอำนาจรับไว้พิจารณา หรือไม่ จึงตอบล่วงหน้าไม่ได้ ขอดูสำนวน ของ ป.ป.ช.ก่อน หากเป็นกรณีเดียวกับการถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบ เช่นกัน ก็ต้องใช้หลักเกณฑ์พิจารณาเหมือนกัน
นายพรเพชรกล่าวถึงข่าวสนช.วางกรอบเวลากระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไว้แล้ว โดยนัดลงมติถอดถอนวันที่ 25 ธ.ค. ว่า ไม่ทราบว่าข้อมูลมาจากไหน แต่ไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่และสมาชิกสนช.แน่นอน ดูแล้วน่าจะมาจากการคาดการณ์ของบางกลุ่ม ขณะนี้สนช.ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาถอดถอน ต้องรอดูการประชุมนัดแรกในวันที่ 28 พ.ย. ก่อนว่ามีการขอกำหนดพยานหลักฐานอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เท่าที่ดูถ้าไม่มีปัญหาเรื่องขอสอบพยานมาก คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาเร็วที่สุด 45 วัน ตามกรอบข้อบังคับ การพิจารณาของสนช.ไม่มีเบื้องหลังหรือเร่งรัดตามที่ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ สนช.พิจารณาทุกอย่างตามกระบวนการข้อบังคับ ยึดหลักการให้ความยุติธรรม ความเป็นธรรม
สปช.แนะ"เทียนฉาย"ถาม"คสช."
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ สมาชิกสปช.หารือแนวทางการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ในรูปแบบเวทีรับฟังหรือการทำงานของสื่อมวลชนต่อการปฏิรูป ในรูปแบบรายการต่างๆ ภายใต้การประกาศใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
น.ส.อรพินท์ สพโชคชัย สมาชิก สปช. อภิปรายว่า การรับฟังความเห็นประชาชน และการมีส่วนร่วมอาจมีปัญหาข้อขัดแย้งเกิดขึ้นได้ ดังนั้น คณะทำงานควรกำหนดแนวทางเลือกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือคู่ขัดแย้ง ที่จะ เข้าร่วมและต้องกำหนดวิธีสื่อสารไปยังผู้ที่ถูกคัดเลือกให้แสดงความเห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นผลตอบรับ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ได้ถามนายเทียนฉายว่า ก่อนที่สปช.จะรับฟังความเห็นได้ประสานคสช. หรือรัฐบาล ต่อการพิจารณาแก้ปัญหาที่เกิดจากประกาศคสช. หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือไม่
นายเทียนฉายชี้แจงว่า สิ่งที่สปช.กังวลนั้น อยู่ระหว่างการประสานไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานของสปช.เป็นไปตามกลไก แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปจึงไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดใดๆ ได้ และการจัดเวที รับฟังความเห็นของสปช.ก็ต้องระมัดระวัง
เปิดศูนย์ฟังความคิดเห็นประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังปิดประชุมสปช. นายเทียนฉายหารือร่วมกับประธานกมธ.วิสามัญประจำสปช. 18 คณะ และประธานกมธ.กิจการสปช. (วิปสปช.) เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการนัดหารือกับนายกฯ ในวันที่ 18 พ.ย.
ต่อมาเวลา 14.20 น. นายเทียนฉายเป็นประธานเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นสปช. เพื่อเป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและการร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้ 1.เสนอด้วยตนเองที่รัฐสภา 2.สายด่วน 1743 3.โทรศัพท์ 0-2244-1881 ในวันและเวลาราชการ 4.ไปรษณีย์ ปณ.999 ปณฝ.รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305 5.เว็บไซต์ www.pailament.go.th/publicopinion 6.อีเมล์ [email protected] 7.ไลน์ไอดี : nrc57public 8.ทางเฟซบุ๊ก ชื่อศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ 9.รายการ "ทันสถานการณ์กับสปช." ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา เอฟเอ็ม 87.5 และเอเอ็ม 1071 ออกอากาศทุกวันจันทร์เวลา 07.30-08.00 น.
นายเทียนฉายกล่าวว่า ศูนย์จะเปิดรับฟังความเห็นทุกช่องทางและจะบันทึกรายละเอียดทุกขั้นตอน ตอบทุกกรณีที่ตอบได้ ถ้าเรื่องใดเป็นการปฏิรูปประเทศจะส่งให้กมธ.ปฏิรูป ทั้ง 18 คณะรับไปพิจารณา ส่วนเรื่องใดเป็นปัญหาของสังคม จะส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไป พิจารณต่อไป โดยจะรับทุกเรื่องไว้ และผู้ยื่นสามารถติดตามความคืบหน้าของคำร้องว่าอยู่ในขั้นตอนใด ส่วนกรอบเวลาของแต่ละคำร้องนั้น ขอให้กมธ.ใช้วิจารณญาณก่อน คงยังระบุไม่ได้
นัดหารือบิ๊กตู่-สนช.-กมธ.ยกร่าง
เมื่อถามถึงกระแสเรียกร้องให้สปช.เป็นคนกลางไปหารือกับคสช.เพื่อผ่อนปรนหรือยกเลิกอัยการศึก นายเทียนฉายกล่าวว่า ในวันที่ 18 พ.ย. ได้นัด พล.อ.ประยุทธ์หารือร่วมกับครม. สปช. สนช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะด้วย ถือเป็นการหารือร่วมกันครั้งแรก แต่ยังไม่กำหนดวาระที่จะหารือร่วมกัน จึงตอบไม่ได้ว่าจะนำเรื่องดังกล่าวมาพูดคุยหรือไม่ เบื้องต้นคงพูดคุยเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ แต่เชื่อว่าการเดินหน้าปฏิรูปจะไม่ขัดแย้งกับกฎอัยการศึก ไม่มีการตีกรอบความคิดของประชาชน อีกทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้เขียนว่าให้ฟังความเห็นเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ใครที่มีความเห็นนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญเขียนไว้คงไม่ใช่ปัญหา
เมื่อถามว่ามีอะไรที่อยากบอกกับหัวหน้า คสช.หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า มี แต่ ไม่บอก เดี๋ยววันที่ 18 พ.ย. ก็รู้ ส่วนเรื่องกฎอัยการศึก มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือร่วมระหว่างหัวหน้าคสช. ครม. สนช. สปช. กมธ.ยกร่างฯ และประธานกมธ.ปฏิรูป 18 คณะ จะพูดคุยกันที่บ้านเกษะโกมล เวลา 14.00 น.
"เสธ.อู้"เชิญองค์กรอิสระ-74พรรค
ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปช. ในฐานะประธานคณะอนุกมธ.ประสานเพื่อรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ สปช. และองค์กรอื่นๆ ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวภายหลังการประชุมอนุกมธ.ว่า ตนส่งจดหมายไปยังองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ช. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน องค์กรอัยการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ส่งความเห็นต่อการทำงานที่ผ่านมา รวมถึงข้อที่ต้องการปรับปรุงในหน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลประกอบการสังเคราะห์และวิเคราะห์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า อนุกมธ. ยังส่งจดหมายถึง 74 พรรคการเมือง เพื่อขอความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง อาทิ ส.ส.ควรสังกัดพรรคหรือไม่ ที่มาของนายกฯ ควรมาอย่างไร วุฒิสภา ควรมีหรือไม่ หากมีจะใช้ระบบการได้มา ซึ่งส.ว.อย่างไร หากเลือกระบบสรรหา จะสรรหาอย่างไร ทั้งนี้ อนุกมธ.กำหนดให้ 6 องค์กรอิสระ และ 74 พรรคตอบจดหมายกลับมาภายในวันที่ 28 พ.ย.นี้
กปปส.โดดร่วมชงเสนอร่างรธน.
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช.ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และกปปส. ได้ตอบรับเข้าร่วมรับฟังความเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะต่อกมธ. ยกร่างฯ แล้ว ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯ ปฏิเสธจะเข้าร่วม ให้เหตุผลว่ากลุ่มได้ยุบไปแล้ว ส่วนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ข้อสรุป อยู่ระหว่างการประสาน ทำให้ยอดรวมล่าสุดมี 5 พรรค ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังชล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และ 1 กลุ่มการเมือง ได้แก่กลุ่มกปปส. เข้าร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนของพรรคชาติไทยพัฒนา ได้แก่ นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล กรรมการที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค นายนิกร จำนง สมาชิกพรรค ส่วนพรรคชาติพัฒนา ได้แก่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค กลุ่มกปปส. ส่งตัวแทนคือ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายสุริยะใส กตะศิลา ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญจากพรรค กลุ่มการเมือง เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. โดยพรรคภูมิใจไทย จะเป็นพรรคแรกที่มาให้ความเห็นในเวลา 09.30 น.
บิ๊กตู่เล็งทำความเข้าใจคนอีสาน
เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งและ การดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม จ.ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ว่า จะไปดูงานตามนโยบาย โดยเฉพาะการเตรียมแก้ปัญหาภัยแล้งจะลงไปหลายพื้นที่ กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมคณะ ไปด้วย รวมทั้งไปติดตามสิ่งที่รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายทำความเข้าใจกับประชาชน เช่น ศูนย์ดำรงธรรม และศูนย์การเกษตรต่างๆ ว่าทำงานได้แค่ไหนอย่างไร
นายกฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย ตนลงได้หมดและไม่ได้เลือกว่าจะไปที่ไหน แต่ครั้งนี้นอกจากขอนแก่นแล้วจะไปกาฬสินธุ์ด้วย ไปดูโครงการที่กองทัพบกทำไว้ที่หนองเลิงเปลือย ต.เหล่าอ้อย อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริ และหลังจากนี้จะลงไปทุกพื้นที่ไม่ว่าภาคเหนือ ภาคใต้ ตนพร้อมไปทุกภาค แต่เวลาช่วงนี้ค่อนข้างจำกัด แค่ทำงานในกรุงเทพฯ เกือบจะแย่
เมื่อถามว่าจะถือโอกาสลงพื้นที่ไปพูดคุยกับประชาชนที่ยังไม่เข้าใจ คสช.และรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ ไปพูดคุย ส่วนใหญ่เขาเข้าใจ เพราะตนพูดบ่อยอยู่แล้ว
ลั่นไม่เลิกคำสั่งห้ามประชุมพรรค
ผู้สื่อข่าวถึงการนัดพูดคุย 5 ฝ่าย ครม. สปช. สนช. คสช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 18 พ.ย. เวลา 14.00 น. นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีอะไรพิเศษ เพียงแต่ทั้งหมดยังไม่เคยคุยกัน ก็เชิญมาทำความเข้าใจกันว่าเราวาง กรอบโรดแม็ปไว้นั้น แต่ละส่วนที่ดำเนินการมีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ วันนี้เราต้องทำพร้อมกัน 3-4 อย่าง ทั้งสถานการณ์บ้านเมือง การปฏิรูป เรื่องของคสช. สปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตนจะประสานทำความเข้าใจ กับทุกส่วนว่าเราจะทำแผนงานกันอย่างไร ยืนยันว่ารายละเอียดจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะเป็นเรื่องกฎหมาย เป็นการระดมความคิดเห็น
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนตัวแทนพรรคการเมืองที่จะมีส่วนร่วมในชั้นของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ทราบว่าสมัครเข้ามาหมดแล้ว ข่าวระบุว่ามาครบทุกพรรค
เมื่อถามย้ำว่าการรวบรวมความเห็นจะ ต้องผ่านกิจกรรมของพรรคจะทำได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "เขายังไม่ให้ประชุมพรรค และผมว่าในส่วนของคำสั่งที่มีอยู่ อย่ามาให้ผมหย่อนหรือผ่อนคลายในคำสั่งต่างๆ เลย เพราะคำสั่งก็คือคำสั่ง กฎหมายก็คือกฎหมาย ถ้าให้หย่อนคำสั่งก็เหมือนให้หย่อนกฎหมาย เพราะที่สั่งออกไปคือกฎหมาย ฉะนั้นต้องมาปรับท่าทีว่าจะเอาอย่างไร ถ้าอยากเข้ามา มีส่วนร่วม เช่น ขออนุมัติเข้ามา ขออนุมัติ เพื่อประชุม เราจะจัดหาสถานที่ประชุมให้และขอเข้าไปนั่งฟังด้วย"
โวยทีวีจัดประชุม-หลอกให้คนด่า
เมื่อถามถึงทหารเข้าไปคุกคามพิธีกรสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง และสั่งให้ปรับเปลี่ยน ผู้ดำเนินรายการ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ได้ไปสั่งปรับ ไม่เกี่ยวและอย่าเอามาพันกันว่าตนต้องรู้ในฐานะหัวหน้า คสช. มันไม่เกี่ยวกัน อย่าเอามาพันกัน เท่าที่ทราบคสช.ไปพบผู้จัดรายการและหารือในลักษณะที่ไม่ใช่ข่มขู่ เท่าที่ทราบสถานีเขาก็ปรับเป็นการภายในเอง ทหารยังไม่รู้จักเลยว่าพิธีกรเป็นใคร จะไปไล่คนโน้นคนนี้ออกได้อย่างไร
"เรื่องนี้ต้องเคารพกติกากันบ้าง ถ้าคุณถามคำถามผมแล้วผมตอบก็โอเค แต่ถ้าคุณไปประชุมโดยมีคนจำนวนมาก แล้วไปตั้งคำถามให้คนเหล่านั้นมาด่าผม ด่ารัฐบาล หรือด่า คสช.มันถูกหรือไม่ และทำได้หรือไม่ ในเมื่อวันนี้ประเทศมีปัญหาหลายด้าน แต่ละกลุ่มแต่ละพวกและการที่ผมเข้ามาก็เพื่อให้ทำงานกันได้ และเข้ามาอยู่ตรงนี้เมื่อจะปฏิรูปกันอย่างไรก็ไปพูดคุยกันมา ผมจะอำนวยความสะดวกในการปฏิรูปให้ไปสู่กฎหมาย ไปสู่รัฐธรรมนูญและการปฏิรูป แล้วอยู่ดีๆ มาด่าผมในสิ่งที่มันเกิดมาก่อนหน้านี้ ผมรับไม่ได้" นายกฯ กล่าว
ชี้ทำผิดกติกา-ทหารจะเข้าไปคุย
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อยังคงปกติใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นปกติทุกอย่าง แต่ตนขอและต้องเห็นใจบ้าง ตนเข้ามาทำงานเยอะ ตอนนี้ 5 เดือน คสช.ไม่ได้ทวงบุญคุณแต่ เข้ามารื้อเยอะมาก ที่ผ่านมามีแผนปฏิรูปมาหลายรัฐบาล แต่ทำไม่ได้ ตนเข้ามาก็อยากให้มันทำได้ ซึ่งวันนี้เริ่มทำได้แล้ว แต่แทนที่จะไปแก้ในสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ ดันมาด่าตน ด่า คสช. ด่ารัฐบาล มันไม่ใช่ ไปถามชาวบ้านว่าอย่างนี้พอใจหรือไม่พอใจ อยากถามว่าที่ตนทำ ทุกอย่าง ทำเพื่อใคร ทำให้กับพวกตนหรือ ตนทำให้ประชาชนซึ่งเขาจะได้รับประโยชน์ ขอให้ช่วยกัน
เมื่อถามว่าแสดงว่าไม่ได้สั่งการให้ทหารยศพันเอก ชื่อย่อ ส. เข้าไปดำเนินการใช่ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธว่าไม่มีการ สั่งการ ตนเช็กแล้ว ไม่มีเรื่องนี้ ตนบอกเลย ใครที่ทำผิดกติกาเขามีทหารเข้าไปคุยทั้งหมดทุกที่
เมื่อถามว่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการร่างรัฐธรรมนูญ คสช.จะเชิญผู้บริหารสื่อมาพูดคุยทำความเข้าใจหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้นัดหมายแล้วที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ตนจำวันที่ไม่ได้ มีการลงนามเชิญตั้งแต่เช้าวันเดียวกันนี้ ส่วนตนจะไปพบกับผู้บริหารสื่อด้วยหรือไม่นั้น ต้องดูก่อน
โต้ "สมคิด"เกาเหลากับ"หม่อมอุ๋ย"
ผู้สื่อข่าวถามถึงการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานายกฯทั้งหมด 12 ตำแหน่ง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช. เป็นประธาน นายกฯ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีการ ขัดแย้งอะไรทั้งสิ้น เพราะนายสมคิด และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ เป็นที่ปรึกษาคสช.มาตั้งแต่ต้น ทำงานมาด้วยกัน ไม่ได้ขัดแย้ง ตนฟังทั้งสองคน ประชุมมาด้วยกันตลอด อย่าไปแยกออกจากกัน แต่ตอนนี้ตนอยากฟังเสียงจากภายนอก ก็ให้นายสมคิดกรองข้อมูลให้และตนก็รับฟังข้อมูลจาก ทั้งสองฝ่าย และมากกว่า 2 อีก แต่ไม่ให้น้ำหนักฝั่งไหนมากกว่ากัน สุดท้ายตนจะเป็นผู้ ตัดสินใจ เหตุที่ต้องตั้งที่ปรึกษาเพื่อให้ไป เกาะเกี่ยวกับคนอื่น เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเรื่องเศรษฐกิจจำนวนมาก ทั้งคนที่มีกลไกเชื่อมต่อรัฐบาลอยู่แล้ว และคนอีกส่วนที่ ไม่ได้เข้ามาในระบบที่มีอยู่ อยากให้คน เหล่านี้เข้าใจด้วย ถ้าความคิดไม่ตรงก็ปรับให้ตรงกัน เพื่อลดแรงกดดันลงไป
เปิดชื่อ12คณะที่ปรึกษานายกฯ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า สำหรับคำสั่งสำนักนายกฯที่ 188/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานายกฯ 12 คน ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อลงวันที่ 4 พ.ย. 2557 ประกอบด้วย
1.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานที่ปรึกษา 2.พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เป็นรองประธานที่ปรึกษา 3.นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ที่ปรึกษา 4.นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ที่ปรึกษา 5.คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ที่ปรึกษา 6.นายบรรยง พงษ์พานิช ที่ปรึกษา 7.นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ที่ปรึกษา 8.นางธันยา เลาหทัย ที่ปรึกษา 9.พ.อ.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ คณะทำงาน 10.พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ คณะทำงาน 11.น.ส.รุจิรา ริมผดี คณะทำงานและเลขานุการร่วม 12.น.ส.กุลกานต์ ตันติเตมิท คณะทำงานและเลขานุการร่วม
สำหรับอำนาจหน้าที่ได้แก่ 1.ให้คำปรึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะต่อนายกฯ 2.ประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบัญชาของนายกฯและหัวหน้าคสช. นโยบายเร่งด่วน และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล รวมถึงการดำเนินการอื่นๆ ในสถานการณ์พิเศษตามที่ ได้รับมอบหมาย 3.ติดตามและประเมินผล การดำเนินงาน 4.พิจารณาเสนอความเห็น และแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค เกี่ยวกับการดำเนินงานต่อนายกฯ 5.แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วย ปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น 6.เชิญบุคคล หรือขอรับเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องจาก ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงาน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน 7.ดำเนินการอื่นๆตามที่นายกฯมอบหมาย
ลดโทษ"นักรบศรีวิชัย"คดีบุกทีวี
เมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 17 พ.ย. ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธเนศร์ คำชุม กับพวก รวม 85 คน ซึ่งเป็นการ์ดของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มนักรบศรีวิชัย จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 210, 215, 309, 358, 364, 365 และ 371 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2545 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2535
คำฟ้องระบุว่า วันที่ 22-26 ส.ค. 2551 จำเลยทั้ง 85 คน ร่วมกันประชุมวางแผนระดมพลจากสะพานมัฆวานรังสรรค์และสถานที่อื่น โดยจำเลยทั้งหมดพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน มีดดาบ มีดพก ร่วมกันทำลายทรัพย์สินและบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยไม่ได้รับอนุญาต และทำลายทรัพย์สินกว่า 15 รายการ รวมความเสียหายกว่า 6 แสนบาท อีกทั้งยังร่วมข่มขืนใจน.ส.ตวงพร อัศววิไล และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ผู้ประกาศข่าวของเอ็นบีที และพนักงานคนอื่นๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้จัดรายการออกอากาศ และขับไล่ให้ออกจากที่ทำการ
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2553 เห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยคนอื่นๆ ลงโทษจำคุกระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี 6 เดือน และให้รอลงอาญาจำเลยซึ่งเป็นเยาวชน 6 ราย
เมื่อถึงเวลานัดปรากฏว่า จำเลยที่ 7,19,36,42,73 และ 85 ไม่มาศาล และจำเลยบางราย ไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลจึงออกหมายจับให้นำตัวจำเลยทั้ง 6 คนมาลงโทษตามคำพิพากษา จากนั้น ศาลได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ลับหลังจำเลยทันที
ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกนายธเนศร์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยอื่นๆ พิพากษาจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี 6 เดือน และโทษจำคุกให้รอลงอาญา 6 คน เนื่องจากขณะกระทำผิดยังเป็นเยาวชน
โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง และเป็นความผิดต่อเนื่องกันให้ลงโทษในความผิดบทหนักสุด แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อีกทั้งอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลย ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่จำเลยให้การ เป็นประโยชน์ ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ จำคุก 3 เดือน ถึง 8 เดือน ส่วนอีก 6 คน ขณะกระทำผิดเป็นเยาวชน จึงให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอลงอาญา และยกฟ้องฐานซ่องโจร
นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความจำเลย กล่าวว่า ตนยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดและกรมธรรม์ประกันชีวิต เพื่อขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมดคนละ 2 แสนบาทระหว่างฎีกาสู้คดีต่อไป
แจงรูปภาพเท็จอสส.ในออนไลน์
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงชี้แจงกรณีมีภาพนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด(อสส.) พร้อมด้วย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ และน.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ ร่วมรับประทานอาหารที่ร้านอาหารโฮ คิทเช่น กับทีมผู้บริหารเอสซีแอสเสทเมื่อวันที่ 14 พ.ย. เผยแพร่ผ่านทางสังคมออนไลน์ว่า ยืนยันว่านายตระกูลไม่ได้ร่วมโต๊ะอาหารกับเอสซีแอสเสท ข้อความและภาพที่ปรากฏก็ไม่เป็น ความจริง โดยอสส.ได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวแจ้งไปยังบางเพจที่ได้ลงข้อมูลเท็จดังกล่าวแล้ว
นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า ส่วนภาพที่ปรากฏในเฟซบุ๊กดังกล่าว เป็นงานเลี้ยงที่จัดโดยหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง หรือ บยส. รุ่นที่ 18 กลุ่มบัลลังก์ มีนาย นันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง ผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 18 ร่วมในงานเลี้ยง ดังกล่าว และเป็นการหารือเตรียมการจัดงานให้กับ บยส. รวมรุ่น 1-19 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 18 พ.ย.เท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยน.อ.อนุดิษฐ์ และน.ส.ศันสนีย์ จะเป็นพิธีกรดำเนินงานดังกล่าว ยืนยันว่าอสส.ไม่ได้ไปหารือกับทีมผู้บริหารเอสซีแอสเสทตามที่ถูกกล่าวหา และไม่มีส่วนจัดงานดังกล่าว และยังไม่สามารถพิสูจน์ว่าในงานมีผู้บริหารจากเอสซีแอสเสท ร่วมงานเลี้ยงอยู่ด้วยหรือไม่
นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า สำหรับเพจผู้เผยแพร่ภาพและข้อความดังกล่าว ทางอสส.ยังไม่ได้ดำเนินการทางกฎหมาย แค่ต้องการให้สังคมมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาไม่ใช่แค่อสส.ที่โดนกระทำเช่นนี้ แต่ผู้บริหารประเทศก็ยังถูกกระทำเช่นนี้เหมือนกัน
รองโฆษกอสส.ระบุว่าการเผยแพร่ภาพหรือข้อความอันเป็นเท็จ ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1)(2) ฐานผู้ใดกระทำความผิด ด้วยการนำเข้าข้อมูลที่ปลอมไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน สู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนก แก่ประชาชน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
"จึงอยากฝากถึงผู้ใช้สื่อให้ระมัดระวังการเผยแพร่ ส่งต่อข้อความ เพราะอาจเกิดความ คลาดเคลื่อนและสร้างความแตกแยกในสังคมได้" นายโกศลวัฒน์กล่าว
บช.ภ.4ใช้15กองร้อยดูแลบิ๊กตู่
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 17 พ.ย. ที่ห้องประชุมไชยเวช บช.ภาค 4 พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 พร้อมด้วยพล.ต.ต.เจริญวิทย์ ศรีวนิชย์ รอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.จตุพล ปานรักษา รอง ผบช.ภ.4 ผบก.ภ.จว. ในสังกัดภาค 4 และนายตำรวจที่รับผิดชอบการรักษาความปลอดภัยผู้นำประเทศ ได้ประชุมเพื่อดูแลความปลอดภัยกรณีนายกฯจะเดินทางมาที่จ.ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ในวันที่ 19 พ.ย.
พล.ต.ท.บุญเลิศ เผยว่า ทางภาค 4 เตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1,500 นาย เพื่อรักษาความปลอดภัยที่นายกฯจะปฏิบัติภารกิจ ส่วนการข่าวในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ที่คน ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นพื้นที่สีแดงนั้น ยืนยันว่าทุกฝ่ายสงบนิ่ง และไม่มีทีท่าเคลื่อนไหวในเชิงการต่อต้าน ส่วนฝ่ายที่จะมาสนับสนุนนายกฯนั้น ได้ประสานกับจังหวัด และอำเภอที่นายกฯจะไปตรวจเยี่ยม ขอให้เตรียมสถานที่ไว้รับเรื่องจากประชาชนที่มาสนับสนุน
"ในพื้นที่ภาค 4 โดยเฉพาะจ.ขอนแก่น ผมเป็นห่วงมาก กลัวว่าอาจมีกลุ่มพลังมวลชน ที่เดือดร้อน อาจมายื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมทางจังหวัด ต้องประสานงานให้ดีที่สุด ต้องวางกำลังเจ้าหน้าที่ให้เป็นชั้นๆ มากน้อยแล้วแต่ความ เหมาะสม และมีตำรวจนอกเครื่องแบบปะปนอยู่ในกลุ่มประชาชนที่มาร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมด้วย" พล.ต.ท.บุญเลิศกล่าวและว่า ยังมั่นใจว่าจะควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงได้ เพราะขณะนี้สถานการณ์ยังปกติ ไม่มีการก่อเหตุใดๆ และการข่าวของกองบัญชาการภาค 4 ยืนยันว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวหรือก่อเหตุรุนแรง แต่ตำรวจก็ไม่ประมาท วางกำลังดูแล ความปลอดภัย ตั้งแต่ท่าอากาศยาน จังหวัดขอนแก่น และตลอดเส้นที่นายกฯพร้อบคณะ เดินทางมาที่อ.เมือง และ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เพื่อความปลอดภัยและความสงบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการดูแลความปลอดภัยนายกฯ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อย ชุดปราบจลาจล จากทั้ง 11 จังหวัดภาคอีสาน ตอนบน ทหารและกองร้อย อส. รวม 15 กองร้อย เข้าประจำตามจุดตรวจ และวางกำลังโดยรอบศาลากลางจ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุม และปล่อยแถวเครื่องจักรกลสาธารณภัย
"บิ๊กตู่"เคาะ5เขตพื้นที่ศก.พิเศษ
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 2/2557 โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง
จากนั้น เวลา 17.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า จากการประชุมครั้งแรกที่เรามอบนโยบายว่าทำอย่างไรให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อกำหนดพื้นที่ ที่ไม่มีปัญหาในเรื่องที่ดิน สามารถตั้งโรงงานขนาดเล็กได้โดยเร็วและชักชวนนักลงทุน ผู้ประกอบการเข้ามารีบทำ โดยเฉพาะการแปรรูปการเกษตร โรงงานแปรรูปยาง โรงงานทำอาหาร โรงงานน้ำดื่ม โรงงานทำอาหารสัตว์ ซึ่งปีนี้เราจัดสรรงบประมาณ 5 เขต คือ อ.แม่สอด จ.ตาก ต.คลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด และ จ.มุกดาหาร จากทั้งหมด 12 เขต ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง ซึ่งจะชวนผู้ประกอบการเอกชนในประเทศช่วยกันตั้งใน 5 พื้นที่ดังกล่าวก่อน จึงต้องเตรียมการทั้งสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนนเส้นทาง รถไฟฟ้า นั่นคือแผนระยะยาว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ตนได้คุยกับนักธุรกิจไทยที่ประเทศจีนและสนใจมาลงทุน ถ้าเราเริ่มตรงนี้ได้ เราจะมีเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีในอนาคต เหมือนการพัฒนาให้เกิดเมืองใหม่ขึ้นตามแนวชายแดน เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประเทศรอบบ้าน ขณะเดียวกัน ต้องสอดคล้องกับเส้นทางรถไฟ เส้นทางคมนาคม เพื่อลำเลียงสินค้าในอนาคต และปี 2557 จะทำให้เกิดการขยายเส้นทาง การปรับปรุงด่านให้ทันสมัยและลดเวลา
เปิดรายละเอียดกม.มรดก-เข้าครม.
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า ในวันที่ 18 พ.ย. คลังจะเสนอร่างภาษีผู้รับมรดกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งสาระสำคัญยังเหมือนกับที่ยืนยันมาโดยตลอดคือจะเก็บภาษีจากผู้รับมรดกในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ในอัตรา 10% หากผู้เสียภาษีไม่มีเงินชำระจะให้เวลาผ่อน 2-3 ปี โดยการโอนภาษีมรดกจะโอนให้ได้กับลูกและหลานเท่านั้น กรณีการรับมรดกของสามีภรรยา ได้รับการยกเว้น รวมถึงการโอนมรดกให้กับมูลนิธิการกุศล และการศึกษา
ขณะเดียวกัน คลังยังเสนอแก้กฎหมายประมวลรัษฎากรภาษีการรับให้ กรณีที่พ่อแม่ โอนให้ลูกไม่ต้องเสียภาษี จะต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ของส่วนที่ได้รับเกิน 10 ล้านบาท เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีมรดก
นายสมหมายกล่าวว่า การเสนอเก็บภาษีมรดกมีความขัดแย้งมาก มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมาย ซึ่งกระทรวงการคลังจะเปิดกว้างเมื่อผ่าน ครม. แล้ว ยังสามารถเข้าไปถกเถียงกันในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และยังแก้ไขให้มีความเหมาะสมกับทุกฝ่าย ส่วนจะมีการรวมตัวกันเพื่อล้มกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องของสมาชิก สนช. ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงการคลังที่เป็นผู้เสนอกฎหมายก็ได้ดำเนินการเต็มที่เพื่อให้กฎหมายนี้ออกมาดีที่สุด
รมว.คลังยังกล่าวว่า กรณีที่มีการวิจารณ์กันว่าภาษีมรดกไม่สามารถแก้ปัญหาความ เหลื่อมล้ำของคนรวยและคนจนในสังคมไทยว่า การแก้ไขความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ ไม่สามารถทำได้เพียงกฎหมายภาษีมรดกอย่างเดียว ต้องทำหลายๆ เรื่องไปพร้อมๆ กัน เรื่องของการเก็บภาษีมรดกเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะ ของคนในประเทศไทย
"เรื่องการเก็บภาษีมรดก เป็นเรื่องของการวัดใจคนรวยในประเทศไทยว่าป็นคนที่เห็น แก่ตัวจริงหรือไม่ คนไทยจะได้รู้ว่าคนรวยประเทศไทย เหมือนกับคนรวยประเทศนอก ที่เขาคิดและทำเพื่อประเทศของเขาอย่างมาก" นายสมหมายกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีบันทึกประกอบร่าง พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) พิจารณาแล้วเสร็จโดยตั้งข้อสังเกตบางประการ เช่นข้อความว่าการลดอัตราภาษีลงได้โดยจะลดให้เป็นการทั่วไป หรือลดตามความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ามรดกับผู้รับมรดกก็ได้นั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าควรตัดความที่ว่า"โดยจะลดให้เป็นการทั่วไปหรือลดตามความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ามรดกับผู้รับมรดกก็ได้" ออก เพราะการลดอัตราภาษีการ รับมรดกตามความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ามรดกกับผู้รับมรดกนั้น จะทำให้การจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการจัดเก็บภาษีการ รับมรดก ที่มีความประสงค์จะให้กระจายทรัพย์สินอันเป็นมรดก
ส่วนกรณีให้จัดเก็บจากผู้รับมรดกนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)มีความเห็น ในเบื้องต้นว่าการจัดเก็บภาษีในลักษณะดังกล่าวอาจมีปัญหาด้านประสิทธิภาพได้และการ จัดเก็บภาษีจากกองมรดกของเจ้าของมรดกน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายย่อมสามารถตรวจสอบได้ว่าทรัพย์สินในกองมรดกมีจำนวนเท่าใด ในขณะที่การจัดเก็บภาษีจากผู้รับมรดกนั้น กรมสรรพากรจำเป็นต้องมีข้อมูลการรับมรดกของผู้ได้รับมรดกแต่ละราย และต้องพิจารณาด้วยว่าจะเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เมื่อใด
คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ว่า คณะกรรมการได้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า ไม่ว่าผู้รับมรดกได้รับมรดกมาให้คราวเดียวหรือหลายคราว ถ้าแต่ละรายรวมกันแล้วมีมูลค่า เกิน 50 ล้านบาทก็ต้องเสียภาษี โดยผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษีการรับมรดกจากการรับมรดกจากเจ้ามรดกในแต่ละราย
ชงครม.-ร่างพรบ.การชุมนุม
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครม.วันที่ 18 พ.ย. นี้ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน มีวาระเพื่อพิจารณาหลายเรื่องตามที่กระทรวงต่างๆ เสนอเข้ามา อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... สาระสำคัญคือ กำหนดพื้นที่การชุมนุม ห้ามมีการเคลื่อนย้ายใดๆ ในเวลากลางคืน รวมถึงให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งรายละเอียดการชุมนุม อาทิ วัน-เวลา เนื้อหาการชุมนุม สถานที่ชุมนุม ให้หัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่นั้น ทราบภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนจัดชุมนุม หากฝ่าฝืนจะต้องโทษทั้งจำคุกและปรับ หรือถ้าแจ้งแล้ว ไม่ทำตามที่แจ้งต่อตำรวจ จะต้องโทษทั้งจำคุกและปรับเช่นกัน
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ส่วนกระทรวงการคลังจะเสนอร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ.2557 รวมถึงการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน เนื่องมาจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพิ่มเติมจากมติครม.เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2556
สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยเรื่องโรคระบาดสัตว์เพิ่มเติม รวมถึงการพิจารณามาตรการควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย รวมถึงเรื่องพิจารณามาตรการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางตามการแก้ปัญหาราคายางพารา และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะเสนอขออนุมัติการต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของสำนักงานธนานุเคราะห์