WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

5 ขั้นถอดปูสนช.รีบเกินไป เพื่อไทยโอด 'ปึ้ง'ขอพบ'บิ๊กตู่-บิ๊กต๊อก'ฟื้นคดีปรส.-ประกันข้าว'เอ็นจีโอ'โวยห้ามทอล์ก'คสช'จ่อถกสื่ออีกรอบ ปชป.นัดประชุม'รธน.'อนุพงษ์ร่วมคณะนายก แก้'ภัยแล้ง'อีสาน 19 พย.

จี้เลิก - คณะทำงานขับเคลื่อนกฎหมาย 4 ฉบับ ปิดปากด้วยเทปกาวสีดำ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์กรณีถูกสั่งห้ามจัดทอล์กโชว์บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้อง คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก ต่อมาเจ้าหน้าที่เชิญนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานกลุ่มและคณะทำงาน 

ไปปรับทัศนคติที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน

    พท.โต้กรอบเวลาของ สนช.ถอดถอน'ยิ่งลักษณ์'ดูเหมือนจะเร่งรีบมากเกินไป ปชป.ทำหนังสือแจ้ง คสช.ขอเปิดประชุมพรรคระดมไอเดียเสนอ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ พท.เตรียมเดินสายพบนายกฯ ไล่จี้สางคดี ปรส.

@ 'บิ๊กป๊อก'ร่วมนายกฯทัวร์อีสาน

      เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ตรวจราชการภาคอีสานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ จ.ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ว่า จะร่วมเดินทางไปกับนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะกระทรวงมหาดไทยมีส่วนรับผิดชอบร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เตรียมการเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งมานานแล้ว มีการจัดหาข้อมูลและดูในเรื่องของพื้นที่ที่คาดว่าน่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง จากนั้น เป็นการเตรียมการทั้งเครื่องมือและการประสานงานแผนงานต่างๆ ที่จะให้การช่วยเหลือ แม้บางพื้นที่ยังไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง แต่มีการวางแผนแก้ไขไว้ล่วงหน้าทั้งในส่วนของการจัดหาน้ำบาดาล แหล่งเก็บน้ำต่างๆ ปภ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้การดำเนินการอยู่แล้ว และยังมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ.จะร่วมคณะไปกับนายกรัฐมนตรีด้วย

     ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวนายกรัฐมนตรีและคณะจะถือโอกาสไปตรวจเยี่ยมในส่วนของศูนย์ดำรงธรรมด้วย พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะงานของศูนย์ดำรงธรรมน่าจะตอบสนองสังคมได้ดี นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะได้ชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรีถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

@ ไม่ห่วงมวลชนเห็นต่างต่อต้าน 

     เมื่อถามว่า ขณะนี้มวลชนในพื้นที่ภาคอีสานเริ่มเข้าใจบทบาทการทำงานของรัฐบาลและสถานการณ์ดีขึ้นหรือยัง พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า คนไทยทุกคนในขณะนี้มีความเข้าใจว่าประเทศไทย ไม่ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไรแต่ต้องไม่เกิดความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรง เชื่อว่าทุกคนเข้าใจเพราะการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความสงบเรียบร้อยและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม้จะมีความเห็นที่ต่างกัน แต่การจะไปทำอะไรที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งลุกลามบานปลายไปนั้น ทุกคนคงไม่เห็นด้วย เพราะเคยมีบทเรียนกันมาแล้ว

     เมื่อถามว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่วิตกว่าจะมีมวลชนต่อต้านใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า "ผมว่าเรายืนอยู่บนจุดที่เห็นต่างกันได้แต่ต้องไม่นำความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรงและเกิดความไม่สงบ เพราะมันสูญเสียกันทุกคนทั้งประเทศ มันเสียโอกาสที่จะพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทุกคนก็เห็นกันอยู่"

     รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในต่างจังหวัดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีบุคคลในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมเดินทางไปด้วย นอกจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. และนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย แล้ว ยังมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะต่างๆ เป็นต้น

@ ไปตรวจเยี่ยม-หยั่งเสียงในตัว

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ 2 จังหวัดทางภาคอีสาน ในวันที่ 19 พฤศจิกายน จะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่ ขส.ทบ. จากนั้น เวลา 09.00 น. เดินทางถึงสนามบินจังหวัดขอนแก่น เดินทางต่อไปยังศาลากลางจังหวัดขอนแก่นเพื่อเปิดขบวนอุปกรณ์ป้องกันภัยแล้ง และประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด 

      ในเวลา 13.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะเดินทางโดยขบวนรถยนต์ไปยัง อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เพื่อดูปัญหาภัยแล้ง ก่อนที่เวลา 14.30 น. จะเดินทางต่อไปยังเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ นอกจากไปตรวจเยี่ยมและให้นโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยแล้งแล้ว นายกฯและคณะต้องการไปรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ในประเด็นของมวลชนคนเสื้อแดงว่ายังมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ จะถือโอกาสสร้างความเชื่อมั่นในส่วนของนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศไว้ว่าจะสามารถลงพื้นที่ได้ทุกภาคของประเทศหลังเข้ามาบริหารราชการ

@ 'โฆษกรบ.'แจงไปเช้า-กลับเย็น

       ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เตรียมงานลงพื้นที่ต่างจังหวัด กำหนดเดินทางวันที่ 19 พฤศจิกายน ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ โดยไปเช้าเย็นกลับ เนื่องจากในวันที่ 20 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรีมีภารกิจที่กรุงเทพฯ การลงพื้นที่ครั้งนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมการรับมือปัญหาภัยแล้งที่ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองทัพ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะลงไปตรวจความพร้อมเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในฤดูกาลต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะรับฟังการรายงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทราบถึงปัญหาในพื้นที่ และนายกรัฐมนตรีจะชี้แจงการทำงานและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่างๆ ด้วย ซึ่งแผนการลงพื้นที่ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินในวันที่ 17 พฤศจิกายนอีกครั้ง

      เมื่อถามว่า ภาคอีสานเป็นพื้นที่หลักของกลุ่มคนเสื้อแดง มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยหรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงได้จัดชุดทหารเข้าตรวจสอบความเรียบร้อยและประสานกับทางหน่วยรักษาความปลอดภัยก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่มีความกังวลเรื่องพื้นที่หลักคนเสื้อแดง เพราะเป็นการลงไปแก้ไขปัญหา

@ แดงขอนแก่นไม่ต้านคณะนายกฯ

       นายนพดล สีดาทัน แกนนำและทนายความของกลุ่มคนเสื้อแดง นปช.ขอนแก่น เปิดเผยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ลงตรวจราชการในพื้นที่ จ.ขอนแก่นเพื่อมารับฟังความคิดเห็น ความเดือดร้อน ปัญหาเรื่องภัยแล้ง ทางกลุ่มคนเสื้อแดงเห็นดีด้วย ทางกลุ่มจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านประท้วงอย่างเด็ดขาด อยากเห็นความปรองดองเหมือนกัน นปช.ยังอยู่กันอย่างปกติ อยากให้บ้านเมืองปกติเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง ทางกลุ่มคนเสื้อแดงก็รอให้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้ามีการเลือกตั้งก็จะออกมาสมัครรับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย สบายใจได้ ไม่มีการออกมาคัดค้านต่อต้านประท้วงนายกฯอย่างแน่นอน

    ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่มีความกังวลจะมีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ จะลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ว่า ตอนนี้ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไร ชาวบ้านใช้ชีวิตตามปกติ ไม่มีกิจกรรมทางการเมือง เชื่อว่าคงไม่มีปัญหาไม่มีอุปสรรคอะไร และขณะนี้ยังมีกฎอัยการศึกอยู่ คงไม่มีใครออกมาเคลื่อนไหว ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำงานไปตามปกติ อย่ากังวล

     ด้าน พล.ต.ต.จิตรจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ร่วมประชุมกับทางจังหวัดแล้วในการดูแลรักษาความปลอดภัย เตรียมความพร้อมตั้งแต่นายกฯลงจากเครื่องบินที่ท่าอาศยานขอนแก่น โดยใช้กำลังตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และตำรวจ สภ.ต่างๆ ใน จ.ขอนแก่น เข้าเสริมเต็มกำลัง ซึ่งในวันที่ 17 พฤศจิกายน จะประชุมเตรียมความพร้อมกันอีกครั้ง 

@ พท.ยื่นป.ป.ช.สอบ'มาร์คཌྷพ.ย.

      นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีที่นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า จะไปตรวจสอบความเสียหายโครงการประกันราคาข้าวในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากที่ตนออกมาชี้ข้อมูล แต่ยังติดใจที่บอกว่า ป.ป.ช.ไม่สามารถถอดถอนนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่ พท.เรียกร้อง กรณีบริหารงานผิดพลาดจนทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) กว่า 6 แสนล้านบาท เพราะไม่มีคนยื่นเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ความจริงถ้าเป็นความเสียหายต่อประเทศชาติ ต่องบประมาณแผ่นดิน ป.ป.ช.ควรจะออกมาพูดตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เก็บเรื่องเงียบไว้ อยากให้ใช้มาตรฐานเดียวกับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ ป.ป.ช.ดูจะมีความกระตือรือร้นเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และยื่นต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่สร้างความเสียหายจากการโครงการข้าว แล้วจะยื่นเรื่องให้ดำเนินการกับนายชวนกรณี ปรส.ด้วย จะเร่งรัดให้ดำเนินการก่อนคดีจะหมดอายุความ คิดว่าคงยังไม่สายเกินไปที่จะเรียกร้องให้นายกฯตรวจสอบและดำเนินการถอดถอนนายชวน รวมทั้งเรียกร้องให้พิจารณามาตรฐานการทำงานของ ป.ป.ช.ว่าสมควรจะต้องปฏิรูปหรือไม่

@ 'พิชิต'ตั้งข้อสังเกตถอด'ปู'เร่งรีบ 

     นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาทีมกฎหมายและที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณี สนช.วางกรอบการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว โดยจะลงมติโหวตวันที่ 25 ธันวาคมว่า ขอตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ประเด็น คือ 1.เห็นว่าการวางกรอบระยะเวลาพิจารณาของ สนช.แตกต่างไปจากคดีอื่น โดยเฉพาะคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นคดีลักษณะเดียวกันแต่กลับไม่มีการวางกรอบเวลา เห็นชัดเจนว่าคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดูเร่งรีบในกระบวนการเป็นอย่างมาก 2.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นขอความเป็นธรรมต่อ สนช.3 เรื่อง ทั้ง 3 เรื่องไม่ได้เป็นการขอเกินกรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายแต่อย่างใด หนึ่งใน 3 เรื่องเป็นการยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านการพิจารณาคดีถอดถอน ซึ่งขอเหมือนนายสมศักดิ์และนายนิคมว่า สนช.ถอดถอนไม่ได้ เพราะข้อบังคับการประชุม สนช.หมวดที่ 10 ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการถอดถอนเป็นข้อบังคับที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และล้มล้างประเพณีที่มีมาแต่เดิม คำร้องนี้ก็ไม่ได้มีวินิจฉัย แต่กลับมาตีกรอบระยะเวลาแทน 

@ แนะชงให้'สนช.'ช่วยชี้ขาด

      นายพิชิต กล่าวว่า คำร้องนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ควรมีข้อยุติว่าหากเห็นว่ามีอำนาจในการรับพิจารณาเพียงคนเดียว ควรตอบให้ชัดไม่ใช่เงียบหรือนิ่งแล้วมากำหนดกรอบการพิจารณาเช่นนี้ การถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ได้ เป็นสาระสำคัญของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้นควรมีข้อยุติให้สิ้นกระแสความ ส่วนตัวเห็นว่าทางออกที่ดีควรนำคำร้องคัดค้านเข้า สนช.เพื่อพิจารณาให้ได้ข้อยุติว่าตกลง แล้ว สนช.จะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้หรือไม่ ขอยืนยันว่าสิ่งที่พูดไม่ใช่เพราะต้องการหนีการตรวจสอบหรือจะประวิงเวลา เพราะการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในคดีถอดถอน สนช.ควรจะสร้างมาตรฐานต้องทำให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 

@ ดักคอถอดถอนแบบลับๆล่อๆ 

       นายพิชิต กล่าวต่อว่า 3.เวลาบรรจุวาระการประชุมนั้นจะมีคำที่เขียนไว้ในวาระการประชุมว่าเป็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 6 แต่ทำไมข้อบังคับการประชุมของ สนช.ว่าด้วยหมวดถอดถอนจึงไม่เขียนคำนี้ลงไปในข้อบังคับว่าถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 จะทำให้ลักษณะการออกข้อบังคับเป็นไปตามประเพณีที่วุฒิสภาดำเนินการไว้ โดยข้อบังคับการประชุมของวุฒิสภาว่าด้วยเรื่องการถอดถอนจะเขียนกำหนดว่าถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ 50 เพราะฉะนั้นเวลาบรรจุวาระการประชุมนายพรเพชร จะใช้คำว่าถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 6 มองว่าข้อความลักษณะเช่นนี้เหตุใดจึงไม่เขียนไว้ในข้อบังคับการประชุม 

      "เหมือนเป็นการทำแบบปกปิด ลับๆ ล่อๆ มันไม่ใช่วิสัยของ สนช. วาระการประชุมเขียนว่าถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 6 แต่ข้อบังคับกลับไม่เขียน ถ้าเขียนมันจะได้หมดข้อโต้แย้งว่า สนช.สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์โต้แย้งไว้ เนื่องจากเป็นสาระสำคัญ เพราะมันขัดต่อรัฐธรรมนูญและประเพณี" นายพิชิตกล่าว

@ 'นิพิฏฐ์'ตีขลุมป้องรัฐบาลมาร์ค 

      นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการพิจารณาของ ป.ป.ช. ในคดีโครงการประกันราคาข้าวสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า หาก ป.ป.ช.ต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติมก็พร้อมชี้แจงทุกประเด็น มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวทำเพื่อเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำไม่มีการทุจริตกันเหมือนสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างแน่นอน ส่วนการขาดทุนของโครงการดังกล่าวต้องยอมรับว่าทุกรัฐบาลที่ออกนโยบายแทรกแซงราคาผลิตผลทางการเกษตรย่อมต้องเกิดการขาดทุนเพราะถือเป็นการเข้าไปพยุงราคาไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อนไปมากกว่านี้ ส่วนใครที่หยิบยกประเด็นว่าโครงการดังกล่าวขาดทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาทขึ้นมาพูดอีก คิดว่าเรื่องนี้จบไปนานแล้ว การขาดทุนดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบเศรษฐกิจ

@ ป.ป.ช.ส่งสำนวน38อดีตส.ว.ถึงสนช.

      นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนและรายงานการถอดถอน 38 อดีต ส.ว. กรณีลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ว่าด้วยที่มา ส.ว.มาให้สนช.พิจารณาแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) วันที่ 18 พฤศจิกายนนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในฐานะประธานวิป สนช. แต่ยืนยันว่าจะพิจารณาตามกรอบที่ข้อบังคับกำหนดไว้ ส่วนกรณีของ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ สนช. และเป็นหนึ่งใน 38 อดีต ส.ว.ที่ถูกชี้มูลจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น คงต้องหารือกันว่าการทำหน้าที่ของ สนช.นั้นใช่ ส.ส.และ ส.ว.หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาและคาดว่าสัปดาห์หน้าเรื่องนี้จะมีความชัดเจน ซึ่งเชื่อว่า พล.ต.กลชัยมีดุลพินิจที่จะพิจารณาเรื่องนี้แล้ว

@ 'กลชัย'เชื่อไม่ต้องหยุดทำหน้าที่ 

      พล.ต.กลชัยได้กล่าวว่า ทาง ป.ป.ช.เคยวินิจฉัยแล้วว่าอยู่คนละสถานภาพกับ ส.ส.และ ส.ว. คงต้องรอดูว่าที่ประชุม สนช.จะมีความเห็นอย่างไร ยังไม่เห็นสำนวนดังกล่าวขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายจะว่าอย่างไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีแล้ว ถ้าที่ประชุม สนช.เห็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น และต้องดูว่า ป.ป.ช.ได้ว่าไว้อย่างไร ต้องยึดกฎหมาย ป.ป.ช.เป็นหลัก หากจะให้หยุดทำหน้าที่ก็ได้ แต่เมื่อ ป.ป.ช.อ้างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และชี้มาแล้วว่าตนไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่มันก็จบแล้ว เพราะไม่ได้เป็น ส.ว.แล้ว จะมาพูดอะไรกันอีก จะเอากฎหมายฉบับใดกันแน่ประเทศไทย พร้อมเสมออยู่แล้วไม่เป็นปัญหา ในเมื่อกล่าวหาว่าขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 และเมื่อวันนี้ไม่มีแล้ว จะชี้แจงกันอย่างไร

@ อนุกมธ.เปิดรับความเห็น 2 ทาง

       พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ. ประสานงานเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติและองค์กรต่างๆ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป อนุ กมธ.จะเชิญองค์กรต่างๆ มาให้ข้อคิดเห็น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นองค์กรใด จากนั้นจะเป็นรูปแบบการเดินทางไปพบปะพูดคุย รวมทั้งแจกแบบสอบถามเพื่อนำข้อมูลส่งต่อให้คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรับฟังความเห็นดังกล่าวเป็นการสื่อสาร 2 ทาง จึงเชื่อว่ากระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปจะไม่มีปัญหา ขณะที่ในส่วนของอนุ กมธ. การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชนที่มีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นประธานอนุ กมธ.นั้น ได้เชิญชวนให้ประชาชนร่วมส่งความคิดเห็นมาที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ ผ่านตู้ ปณ.9 ปณฝ.รัฐสภา และจะมีการจัดเวทีสานเสวนาทั่วประเทศ เป็นการสุ่มตัวอย่างคนในพื้นที่มาร่วมแสดงความเห็น รวมถึงการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน

      เมื่อถามย้ำว่า มีความกังวลว่ากระบวนการรับฟังความเห็นของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และการแสดงความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มายัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะสะดุดหรือไม่ เพราะยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการรับฟังความเห็น เพราะทุกครั้งจะมีการตั้งเวทีสานเสวนา เราจะแจ้งไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อน เป็นกระบวนการที่ทำอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา การแสดงความเห็นต่อการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ดำเนินการไม่ได้ผิดต่อกฎหมาย เป็นการพูดถึงรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีขึ้นในอนาคต

@ ปชป.ขอคสช.ประชุมถกปฏิรูป 

      นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า จากที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เชิญพรรคการเมืองไปแสดงความคิดเห็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศนั้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ตนได้ทำหนังสือถึง คสช. เพื่อให้ผ่อนปรนกฎอัยการศึกษาให้พรรคการเมืองสามารถประชุมได้ โดยแนบวาระการประชุมไปด้วยว่า เป็นการระดมความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปประเทศ และการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะประชุมกันในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ เพื่อจะได้ให้ความคิดเห็นที่ออกไปเป็นมติพรรค

     "หลังการปฏิวัติ ทาง คสช.เชิญพรรคการเมืองไปให้ความเห็นแล้ว ปชป.ได้ส่งความเห็นเป็นเอกสารไป แต่เวลานี้ คสช.กับ สปช.เป็นคนละส่วนกันอาจจะอยากฟังอีก และหาก คสช.อนุญาตให้มีการประชุมพรรค ทางพรรคก็มอบหมายให้หัวหน้าพรรคและตัวแทนไปเสนอข้อคิดเห็นต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้า คสช.ไม่อนุญาตก็ไม่เป็นไร พรรคก็ยังคงไปให้ความเห็นอยู่ดีแต่อาจจะไม่เป็นมติพรรค" นายจุติกล่าว

@ ปชป.เรียกประชุมอดีตส.ส.23 พ.ย.

      นายนิพิฏฐ์ ยังกล่าวถึงการเสนอความเห็นของพรรคการเมืองต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. พร้อมเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิธีการเสนอความเห็น ตนเห็นด้วยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ว่าให้เจาะจงประเด็นสำคัญในการเสนอความเห็นไปเลย เช่น การเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง เรื่องระบบการเลือกตั้ง การถ่วงดุลในระบบองค์กรอิสระ เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นเปิดกว้างมาก หากเราเสนอเจาะจงไปที่ประเด็นสำคัญก็จะทำให้ได้ประโยชน์ในการเสนอแนะมากกว่า เนื่องจากมีเวลาในการเสนอจำกัดคือเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ทาง ปชป.จะนำข้อมูลไปเสนอ คสช.ทั้งสิ้น 2 ส่วน คือ พิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญของมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และในส่วนของพรรคที่มีแนวทางรัฐธรรมนูญในด้านต่างๆ ไว้แล้วเช่นกัน โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ทางพรรคจะเรียกประชุมอดีต ส.ส.มาพูดคุยกันเป็นการภายใน เพื่อหาข้อสรุปและรับฟังข้อเสนอจากสมาชิกอีกครั้ง ซึ่งหัวหน้าพรรคได้ทำหนังสือขออนุญาตประชุมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียบร้อยแล้ว

@ กกต.ยกเครื่องกม.ประกอบรธน.

       นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ กกต. ว่าการดำเนินงานของคณะทำงานดังกล่าวคืบหน้าไปมาก มีการจัดประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง คณะทำงานได้เร่งศึกษาปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น พิจารณาไล่ประมวลดูปัญหาด้านพรรคการเมือง การเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวนและการมีส่วนร่วม ตั้งแต่ปี 2541 มาจนถึงปัจจุบันว่ากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ กกต.นั้นมีปัญหาอุปสรรคหรือช่องว่างอย่างไรที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศและการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับรายงานว่าคณะทำงานที่ระดมความเห็นและศึกษาปัญหาต่างๆ ได้ข้อมูลเป็นจำนวนมากพอสมควรแล้ว หากตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้วก็จะเสนอความเห็นเข้าสู่ที่ประชุม กกต.เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนนำความเห็นที่ได้ดำเนินการส่งให้ สปช.พิจารณา

@ 'ปลอด'หวังรธน.ใหม่มี3อย่าง

      นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้า พท. ให้สัมภาษณ์ถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะออกมาต้องมี 3 อย่าง 1.ต้องรับรองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของคนให้ได้ 2.ต้องรักษาความยุติธรรม และความเป็นธรรมในสังคมให้ได้ และ 3.ต้องสร้างกลไกให้ประเทศหรือให้รัฐบาลพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ที่สำคัญคือควรเขียนน้อยๆ เขียนแต่หลัก รายละเอียดค่อยไปว่ากันในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ จริงๆ แล้วไม่ต้องร่างใหม่หรอก ไม่พอใจเรื่องไหนก็แก้ไข

@ โฆษกคสช.ปัดควบคุมสื่อ

     พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกรณีกลุ่มผู้อ้างเป็นนายทหารเข้าพบผู้บริหารองค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ให้ยุติการบันทึกเทป "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" ว่า คสช.พยายามดูแลทุกส่วนให้เกิดความเรียบร้อย 

      อะไรที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความสับสน ขัดแย้ง คสช.จำเป็นต้องใช้การพูดคุยปรึกษากันทำความเข้าใจ ในลักษณะการขอร้องกัน ไม่ใช่การสั่งหรือบังคับอย่างที่ไปขยายความกัน ขอให้มองที่เจตนาของ คสช.ว่าทุกสิ่งที่ คสช.ขอความร่วมมือ เพราะจำเป็นต้องดูแลบรรยากาศ และความรู้สึกของทั้งสังคม เพื่อให้บ้านเมืองได้เดินหน้าไปตามแผนและเป้าประสงค์ส่วนรวมร่วมกัน ที่ผ่านมาเคารพในการทำหน้าที่ของสื่อ เชื่อมั่นว่าสื่อมีเจตนาดีต่อบ้านเมือง แต่ด้วยมุมมองที่อาจแตกต่างกันบ้าง เนื่องจากสถานะและหน้าที่ต่างกัน ในช่วงสถานการณ์พิเศษที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ในขณะนี้ จึงมักมีการปรึกษาแลกเปลี่ยนความเข้าใจกันอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็เป็นการทำหนังสือ หรืออาจด้วยทางโทรศัพท์ หรือไม่ก็เข้าไปขอคำปรึกษากันอย่างกรณีล่าสุด 

     พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ปัจจุบันการพูดคุยก็ไม่ได้ใช้มุมทางกฎหมายประกาศคำสั่งเสมอไป ยืนยันใช้วิธีการขอคำปรึกษาและขอความร่วมมือเป็นหลัก โดยหยิบยกประเด็นมุมมองที่แตกต่างมาอธิบายกันอย่างมีเหตุมีผล จนเกิดความเข้าใจกัน ไม่ได้ใช้มิติในด้านกฎหมายไปบังคับ ขอให้เห็นใจไม่อยากให้ขยายผลกันไปในเชิงว่ามีความขัดแย้งระหว่างสื่อกับ คสช. ยืนยันว่าให้เกียรติทุกคน และทำงานร่วมกับสื่อในฐานะคนครอบครัวเดียวกันมาตลอด กรณีความกังวลของสมาคมสื่อฯ ก็น่าจะมีการทำความเข้าใจกันได้เช่นกัน ที่ผ่านมาเมื่อมีข้อกังวลใดๆ ก็สามารถแลกเปลี่ยนจนเข้าใจกันได้

@ เล็งเรียกบ.ก.สื่อคุยรอบสอง 

     แหล่งข่าว คสช. เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการติดตามการเผยแพร่ข่าวสารสาธารณะ (คตข.) ที่มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน จะเชิญตัวแทนบรรณาธิการสื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ที่ยังไม่ได้ร่วมพูดคุยในครั้งแรกมาทำความเข้าใจในการนำเสนอข่าวสาร เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย เห็นว่าสื่อมวลชนและคอลัมนิสต์มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ยืนยันว่า คสช.ไม่ได้คุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน โดยจะมี พล.ท.สุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมกิจการทหารสื่อสารในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการฯ เป็นหัวหน้าทีมในการพูดคุย ที่สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กรมการทหารสื่อสาร

     นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช.ด้านสื่อมวลชน ในฐานะรองโฆษก กมธ.การสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวถึงการแสดงท่าทีของสื่อมวลชนต่อรัฐบาลโดยใช้สัญลักษณ์ "ปิดหู ปิดตา ปิดปาก" ว่า ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ตามหลักการสื่อมวลชนควรมีเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อโดยสุจริตใจ ขณะนี้อยู่ในภาวะที่ คสช.ยังต้องดูแลความมั่นคงไม่ให้เกิดความขัดแย้งและเกิดความไม่เรียบร้อยในสังคม ดังนั้น สื่อต้องมีเสรีภาพและพิสูจน์ให้เห็นว่า เราร่วมกันทำหน้าที่อย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดการเริ่มต้นการปฏิรูปประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนตัวอยากเห็นการผ่อนคลายของ คสช.เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนกับประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปฏิรูปที่ต้องการเปิดรับฟังประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ แต่ถ้าต้องให้สื่ออยู่ในภาวะอึดอัดใจ ตนก็ไม่เห็นด้วย 

@ 'ครม.'ประเดิมใช้ห้องประชุม 501 

     พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ใช้ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล หลังมีการปรับปรุงแก้ไขจนแล้วเสร็จ 

      นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง(ยธ.) กล่าวว่า การปรับปรุงห้องประชุม ครม. 501 ตึกบัญชาการ 1 เสร็จสิ้นแล้ว ส่วนไมโครโฟนชุดใหม่ที่มีปัญหาได้ยกเลิกถอดไปแล้ว โดยนำไมโครโฟนจากห้องประชุม ครม.เก่า ตึกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มาใช้แทน บางตัวที่ชำรุด ซ่อมจนสามารถใช้งานได้

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ครม.วันที่ 18 พฤศจิกายน เป็นการใช้ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 เป็นครั้งแรก ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ หลังสื่อเสนอข่าวการปรับปรุงซ่อมแซมทำเนียบรัฐบาล พบปัญหาจัดซื้อไมโครโฟนราคาแพงเกินความเป็นจริง จนนายกฯ สั่งให้ถอดส่งคืนบริษัท แล้วนำไมโครโฟนเดิมติดตั้งแทน และสั่งสอบเรื่องดังกล่าวทำการจัดซื้อจัดจ้างใหม่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!