วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8756 ข่าวสดรายวัน


ไม่ต้านบิ๊กตู่ แดงปล่อยทัวร์อีสาน 
ทหาร-ตร.จับ'ทอล์กโชว์' ทำสัญลักษณ์ถูกปิดปาก ทีมงานคสช.ขอคุยสื่ออีก ทนายปูบีบหัวใจ-ปมถอด

คุมตัว - ผู้จัดงาน "ผืนดินเราที่ดินใคร ปิดประตูการปฏิรูป" ซึ่งคสช. ไม่อนุญาตให้จัด เตรียมแถลงสาเหตุยกเลิกจัดงาน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แต่ถูกเจ้าหน้าที่เชิญไปปรับทัศนคติที่สน.ชนะสงคราม ก่อนปล่อยตัว

      'มท.ป๊อก-อนุพงษ์'ร่วมทัวร์อีสานกั บ"นายกฯ บิ๊กตู่"เพื่อตรวจเยี่ยมและแก้ ภัยแล้ง ถือโอกาสเช็กความเคลื่อนไหวเสื้อแดง นปช.ขอนแก่นยันไม่จัดม็อบต้าน กลุ่มทอล์กโชว์ 'ผืนดินเรา ที่ดินใคร' ใช้เทปกาวปิดปากหลังมีคำสั่งห้ามจัดงาน โดนตร.-ทหารเชิญขึ้นโรงพักก่อนปล่อยตัว ทีมงานคสช.เตรียมเรียกคุยสื่อน.ส.พ.-วิทยุ-ทีวีอีกชุดใหญ่ องค์กรสื่อจี้เลิกประกาศ คสช.ฉบับ 97 กับ 103 'วินธัย'วอนอย่าขยายความขัดแย้งระหว่างสื่อ-คสช. ปชป.ยื่นคสช.ขอเปิดประชุมพรรค ทนาย "ปู" ยอมรับคดีถอดถอนบีบหัวใจ ทำเนียบสั่งขรก.สวมชุดสีกากีทุกวันจันทร์ตามระเบียบที่มีมานานแล้ว

'บิ๊กป๊อก'ร่วมคณะ'บิ๊กตู่'ลุยอีสาน 

      เวลา 08.30 น. วันที่ 16 พ.ย. ด้านหน้าอาคารที่ทำการองค์การสหประชาชาติ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกำหนดการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะลงพื้นที่ตรวจราชการในวันที่ 19 พ.ย.นี้ ที่ จ.ขอน แก่น และกาฬสินธุ์ ว่า ตนในฐานะ รมว.มหาดไทยจะร่วมเดินทางไปกับนายกฯ ในการลงตรวจพื้นที่ เพราะกระทรวงมหาด ไทยมีส่วนรับผิดชอบร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และได้เตรียมการเรื่องของการแก้ปัญหาภัยแล้งมานานแล้ว ซึ่งมีการจัดหาข้อมูลและดูในเรื่องของพื้นที่ ที่คาดว่าน่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง 

       จากนั้นเป็นการเตรียมการทั้งเครื่องมือและการประสานงานในแผนงานต่างๆ ที่จะลงพื้นที่และให้การช่วยเหลือ ระหว่างนี้แม้บางพื้นที่ยังไม่ประสบปัญหาภัยแล้งแต่ก็มีการวางแผนแก้ไขไว้ล่วงหน้าทั้งในส่วนของน้ำบาดาล แหล่งเก็บน้ำต่างๆ ซึ่งปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการอยู่ ซึ่งในการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ตนและนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. ก็จะร่วมคณะไปกับ นายกฯ ด้วย

      เมื่อถามว่า มีข่าวว่านายกฯ และคณะจะถือโอกาสไปตรวจเยี่ยมในส่วนของศูนย์ดำรงธรรมด้วยจริงหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะงานของศูนย์ดำรงธรรมน่าจะตอบสนองสังคมได้ดี นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะได้ชี้แจงต่อนายกฯ ถึงการดำเนินงานที่ผ่านมา

มั่นใจไม่มีเรื่องรุนแรง 

       เมื่อถามว่าขณะนี้มวลชนในพื้นที่ภาคอีสานเริ่มเข้าใจบทบาทการทำงานของรัฐบาลและสถานการณ์ดีขึ้นหรือยัง พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เชื่อว่าคนไทยทุกคนในขณะนี้มีความเข้าใจว่าประเทศเรานั้นไม่ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไร แต่ต้องไม่เกิดความขัดแย้งโดยเฉพาะความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความรุนแรง เชื่อว่าทุกคนเข้าใจเพราะการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาต้องอยู่บนพื้นฐานของความสงบเรียบร้อยและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม้มีความเห็นที่ต่างกันแต่การจะไปทำอะไรที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ลุกลามบานปลายไปนั้น ทุกคนคงไม่เห็นด้วยเพราะเรา ก็มีบทเรียนกันมาแล้ว

       เมื่อถามว่าหมายความว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่วิตกว่าจะมีมวลชนหรือกระแสต่อต้านใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เรายืนอยู่บนจุดที่เห็นต่างกันได้ แต่ต้องไม่นำความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรงและเกิดความไม่สงบเพราะสูญเสียกันทุกคนทั้งประเทศ เสียโอกาสที่จะพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทุกคนก็เห็นกันอยู่

สร้างเชื่อมั่น-เช็กปฏิกิริยาเสื้อแดง

       รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมภารกิจในต่างจังหวัด ซึ่งถือว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกของพล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดจะเดินทางในวันที่ 19 พ.ย. โดยจะมี รมว.มหาดไทย ปลัดมหาดไทย อธิบดี ปภ. นอกจากนี้ยังเชิญ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมคณะด้วย สำหรับกำหนดการเบื้องต้น นายกฯ และคณะจะเดินทางจาก กทม.ในเวลา 08.00 น. ที่ ขส.ทบ. เวลา 09.00 น. ถึงสนามบินขอนแก่น และเดินทางต่อไปยังศาลากลางจังหวัดขอนแก่นเพื่อเปิดขบวนอุปกรณ์ป้องกันภัยแล้ง และประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด เวลา 13.00 น. คณะนายกฯ จะเดินทางโดยขบวนรถยนต์ไปยัง อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เพื่อดูปัญหาภัยแล้ง เวลา 14.30 น. เดินทางต่อไปยังเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 

      รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากไปตรวจเยี่ยมและให้นโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยแล้งแล้ว นายกฯ และคณะต้องการไปรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ในประเด็นของมวลชนคนเสื้อแดงว่ายังมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ จะถือโอกาสเป็น การสร้างความเชื่อมั่นในส่วนของนายกฯ ที่ประกาศไว้ว่าจะสามารถลงพื้นที่ได้ทุกภาคของประเทศหลังเข้ามาบริหารราชการ

ตร.ระดมอารักขาเข้ม 

      พล.ต.ต.จิตรจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น เผยว่า ได้ร่วมประชุมกับทางจังหวัดแล้ว วันที่ 19 พ.ย. นายกฯ มีภารกิจลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่ จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เมื่อมาถึงท่าอากาศยานจังหวัดขอนแก่นคณะนายกฯ จะเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 จากนั้นนายกฯ ปล่อยขบวนรถขนน้ำ 30 คันเพื่อออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ก่อนที่นายกฯ จะประชุมและรับทราบปัญหาภัยแล้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด 31 จังหวัด เสร็จแล้วจะเดินทางไปดูพื้นที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองใหญ่ ต.น้ำอ้อม อ.กระนวน เพื่อพบปะประชาชน เสร็จแล้วเดินทาง ไปดูการช่วยเหลือภัยแล้งที่ จ.กาฬสินธุ์ มหาสารคาม

      พล.ต.ต.จิตรจรูญ กล่าวว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยตนสั่งการเตรียมความพร้อมตั้งแต่นายกฯ ลงจากเครื่องบินที่ท่าอากาศยานขอนแก่น เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัด และเดินทางต่อไปที่ อ.กระนวน โดยใช้กำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น สภ. เมืองขอนแก่น หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่นเข้ามาเสริมเต็มกำลัง วันจันทร์ที่ 17 พ.ย.จะมีการประชุมเตรียมความพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง 

นปช.ขอนแก่นยันไม่เคลื่อนไหว 

      นายนภดล สีดาทัน แกนนำ นปช. ขอนแก่น และทนายความกลุ่มคนเสื้อแดง เผยว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์เลือกลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อมารับฟังความคิดเห็น ความเดือดร้อน ปัญหาเรื่องภัยแล้ง กลุ่มคนเสื้อแดง ก็เห็นดีด้วย ทางกลุ่มจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน หรือออกมาประท้วงอย่างเด็ดขาด เพราะอยากเห็นความปรองดองเหมือนกัน พวกตนก็ยังอยู่กันอย่างปกติ อยากให้บ้านเมืองปกติเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง ทางกลุ่มคนเสื้อแดงก็รอให้มีรัฐธรรมนูญ ถ้ามีการเลือกตั้งก็จะออกมาสมัครรับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย สบายใจได้ไม่มีการออกมาคัดค้านต่อต้านประท้วงนายกฯ อย่างแน่นอน


ร่วมรำลึก - พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานจัดกิจกรรม วันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2557 ที่หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 16 พ.ย.

ตร.-ทหารห้ามจัด'ทอล์กโชว์'

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีคณะทำงานรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับ ซึ่งมีตัวแทนกลุ่มปฏิรูปที่ดิน กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และกลุ่มผู้อนุรักษ์วิถีชุมชนกับการอนุรักษ์ที่ดิน นำโดยนายปกรณ์ อารีย์กุล และนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เตรียมจัดงาน "ทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต ผืนดินเรา ที่ดินใคร" ที่สมาคมฝรั่งเศส แยกวิทยุ ลุมพินี แต่ได้รับการประสานจากพ.ท.ภาสกร กุลรวิวรรณ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ไม่อนุมัติให้จัดงานดังกล่าวนั้น คณะผู้จัดงานจึงเตรียมแถลงข่าว ไม่มีงานทอล์กโชว์ภายใต้ท็อปบู๊ต "ผืนดินเรา ที่ดินใคร ปิดประตูการปฏิรูป" ถึงสาเหตุที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่อนุญาตให้จัดเสวนา ทั้งที่ผู้จัดงานเข้ายื่นแจ้งความประสงค์การจัดงานเสวนากับเจ้าหน้าที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์แล้ว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม โทรศัพท์ประสานแกนนำให้ยุติการจัดกิจกรรมแต่ทางผู้จัดยืนยันจะจัดงานและในเวลา 13.30 น. ได้เดินทางมาที่หน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พร้อมเปลี่ยนกิจกรรมจากการแถลงข่าวเป็นนำเทปกาวสีดำปิดปาก และชูเอกสารเป็นจดหมายเปิดผนึกข้อเรียกร้องและบันทึกลำดับเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ โดยระบุในข้อเรียกร้องว่า คสช.ควรยกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อคืนเสรีภาพให้กับประชาชน ขณะที่การปฏิรูปประเทศก็ไม่มีหลักประกันว่าความเห็นของประชาชนจะถูกนำไปใช้ และปัญหาของประชาชนด้านเศรษฐกิจที่กลุ่มต่างๆ ออกมาเรียกร้อง มีความพยายามเชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อบิดเบือนการเรียกร้อง

เชิญมาสน.ก่อนปล่อยตัว 

      ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานทหารเพื่อตรวจสอบว่าการกระทำของกลุ่มดังกล่าวขัดต่อประกาศของ คสช.หรือไม่ ซึ่งภายหลังกิจกรรมเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวกลุ่มกิจกรรมดังกล่าวไปปรับทัศนคติที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนจะปล่อยตัวคนทั้งหมดโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาในเวลาประมาณ 17.00 น. วันเดียวกัน

      นายนิติรัตน์ ผู้ประสานงานกลุ่ม กล่าวว่า หลังจากนี้หากจะมีการจัดกิจกรรมเสวนาต่างๆ อาจใช้วิธีการอัดคลิปวิดีโอสัมภาษณ์วิทยากรเพื่อเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์

'วินธัย'แจงทำตามขั้นตอน 

       พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารห้ามการแถลงข่าวงาน "ทอล์ค โชว์-คอนเสิร์ต ผืนดินไทย ที่ดินใคร" พร้อมเชิญตัวไป สน.ชนะสงคราม ว่า เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของหน่วยในพื้นที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ของตนเองตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ เป็นดุลยพินิจของหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และจะนำกลุ่ม ดังกล่าวไปพูดคุยกันที่ไหน แต่เบื้องต้นจะเป็นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในลักษณะร้องขอแต่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย เนื่องจากต้องมีการทำความเข้าใจให้ตรงกันมากขึ้น และชี้แนะว่าช่องทางการปฏิรูปนั้นสามารถดำเนินการเสนอแนะเข้ามาได้ตามช่องทางใดบ้างที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คิดว่าจะสามารถพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกันได้

วอนสื่ออย่าขยายผลขัดแย้งคสช.

พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช. ชี้แจงกรณีมีทหารเข้าไปพูดคุยและกดดันการทำหน้าที่สื่อมวลชนของสถานีโทรทัศน์ไทย พีบีเอส ว่า คสช.พยายามดูแลทุกส่วนให้เกิดความเรียบร้อย อะไรที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความสับสน ขัดแย้ง คสช.ก็จำเป็นต้องใช้การพูดคุยปรึกษากันทำความเข้าใจในลักษณะการขอร้องกัน ไม่ใช่การสั่งหรือบังคับอย่างที่ไปขยายความกัน ขอให้มองที่เจตนาของ คสช.ว่าทุกสิ่งที่ คสช.ขอความร่วมมือ เพราะจำเป็นต้องดูแลบรรยากาศและความรู้สึกของทั้งสังคม เพื่อให้บ้านเมืองได้เดินหน้าไปตามแผนและเป้าประสงค์ส่วนรวมร่วมกัน

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาเคารพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เชื่อมั่นว่าสื่อมวลชนมีเจตนาดีต่อบ้านเมืองแต่ด้วยมุมมองที่อาจแตกต่างกันบ้าง เนื่องจากสถานะและหน้าที่ต่างกัน ในช่วงสถานการณ์พิเศษที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ในขณะนี้จึงมักมีการปรึกษาแลกเปลี่ยนความเข้าใจกันอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็เป็นการทำหนังสือ หรืออาจเป็นการโทรศัพท์ หรือไม่ก็เข้าไปขอคำปรึกษากันอย่างกรณีล่าสุด ปัจจุบันการพูดคุยก็ไม่ได้ใช้มุมทางกฎหมายประกาศคำสั่งเสมอไป ยืนยันใช้วิธีการขอคำปรึกษาและขอความร่วมมือเป็นหลัก โดยหยิบยกประเด็นมุมมองที่แตกต่างมาอธิบายกันอย่างมีเหตุมีผล จนเกิดความเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริง ไม่ได้ใช้มิติในด้านกฎหมายไปบังคับแต่อย่างใด

ทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า ขอให้เห็นใจไม่อยากให้ขยายผลกันไปในเชิงว่ามีความขัดแย้งระหว่างสื่อกับคสช. ยืนยันว่าให้เกียรติทุกคน และทำงานร่วมกับสื่อในฐานะคนครอบครัวเดียวกันมาตลอด ส่วนกรณีความกังวลของสมาคมสื่อฯ ก็น่าจะมีการทำความเข้าใจกัน ได้เช่นกัน เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีข้อกังวลใดๆ ก็สามารถแลกเปลี่ยนจนเข้าใจกันได้

เรียกหารือวิทยุ-ทีวี-นสพ.อีก

แหล่งข่าวจาก คสช.เผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ทางคณะกรรมการติดตามการเผยแพร่ข่าวสารสาธารณะที่มีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรองหัวหน้าคสช. เป็นประธาน จะโทรศัพท์เพื่อนัดเชิญตัวแทนบรรณาธิการสื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่ยังไม่ได้เดินทางมาร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการในครั้งแรก มาทำความเข้าใจในการนำเสนอข่าวสารเป็นครั้งที่สอง เพื่อต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจาก คสช.เห็นว่าสื่อมวลชนและคอลัมนิสต์มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง พร้อมยืนยันว่า คสช.ไม่ได้คุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยมีพล.ท.สุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมกิจการทหารสื่อสาร ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการ เป็นหัวหน้าทีมในการพูดคุย ที่สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กรมการทหารสื่อสาร

องค์กรสื่อจี้เลิกประกาศคสช.

นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า วันที่ 17 พ.ย. เวลา 10.00 น. คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ประกอบด้วย ตัวแทนสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ไทย ตัวแทนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตัวแทนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และตัวแทนภาคประชาสังคม นัดประชุมกันเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการนัดหมายล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว แต่คงนำเรื่องที่เกิดขึ้นกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสขึ้นมาพูดคุยและกำหนดท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เท่าที่ทราบผลจากการเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนภาคสนามเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ฝ่ายรัฐบาลและความมั่นคงมีท่าทีรับฟังพอสมควร และจะปรับท่าทีให้ผ่อนคลายลงและจะมีความชัดเจนต่อเรื่องนี้มากขึ้น จึงอาจไม่ต้องยื่นหนังสือเรียกร้องก็ได้ 

นายมานพกล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะประกาศฉบับที่ 97 และ 103 ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น สื่อมวลชนก็ต้องช่วยกันผลักดัน การยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของคสช. ที่เทียบเท่าพ.ร.บ. ต้องใช้เวลาพอสมควรหากยังมีประกาศดังกล่าวอยู่ก็จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการพูดคุยเพื่อการปฏิรูปที่สื่อต้องถ่ายทอดความเห็นการปฏิรูปของประชาชนเห็นต่างได้ เพราะไม่เอื้อให้สื่อมีเสรีภาพ

"กลชัย"อ้างรธน.50 ไม่มีแล้ว 

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนและรายงานการถอดถอน 38 อดีต ส.ว.กรณีลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาให้ สนช.พิจารณาแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะนำเข้าหารือในที่ประชุม กมธ.วิสามัญกิจการสนช. (วิปสนช.) วันที่ 18 พ.ย. ได้หรือไม่ เพราะต้องอยู่ที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ในฐานะประธานวิป สนช. ยืนยันจะพิจารณาตามกรอบที่ข้อบังคับกำหนดไว้ส่วนกรณี พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ สมาชิก สนช. 1 ใน 38 อดีต ส.ว.ที่ถูกชี้มูลจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ก็คงต้องหารือกันว่าการทำหน้าที่ของ สนช.นั้นใช่ ส.ส.และส.ว.หรือไม่ คาดว่าเรื่องนี้จะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า เชื่อว่าพล.ต.กลชัย มีดุลพินิจที่จะพิจารณาเรื่องนี้แล้ว

พล.ต.กลชัยกล่าวถึงประเด็นปัญหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ว่า เรื่องนี้ ป.ป.ช. วินิจฉัยแล้วว่าอยู่คนละสถานภาพกับ ส.ส. และส.ว. คงต้องรอดูว่าที่ประชุม สนช.จะมีความเห็นอย่างไร เพราะตนยังไม่เห็นสำนวนดังกล่าว ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายว่าจะว่าอย่างไรเนื่องจากขณะนี้รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีแล้ว แต่ถ้าที่ประชุม สนช.เห็นอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ตนไม่มีปัญหา 

"เรื่องนี้ต้องดูว่า ป.ป.ช.เขาว่าอย่างไร เราต้องยึดกฎหมาย ป.ป.ช.เป็นหลัก หากจะให้ผมหยุดทำหน้าที่ก็ได้ แต่เมื่อ ป.ป.ช.อ้างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และชี้มาแล้วว่าผมไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่มันก็จบแล้ว เพราะผมไม่ได้เป็น ส.ว.แล้ว จะมาพูดอะไรกันอีก จะเอากฎหมายฉบับไหนกันแน่ประเทศไทย ผมพร้อมเสมออยู่แล้วไม่เป็นปัญหา ในเมื่อกล่าวหาว่าผมขัดรัฐธรรมนูญปี"50 และในเมื่อวันนี้รัฐธรรมนูญปี"50 ไม่มีแล้ว จะชี้แจงกันอย่างไร" พล.ต.กลชัยกล่าว 

ทนาย"ปู"ยอมรับบีบหัวใจ

นายนรวิชญ์ แหล่งล้า ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมข้อมูลต่อสู้คดีที่ ป.ป.ช. มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว หลังมีข่าวว่าสนช. จะถอดถอนวันที่ 25 ธ.ค. ว่า ขณะนี้ทีมทนายได้ระดมกำลังคัดลอกสำนวนอย่างเต็มที่ แต่คืบหน้าไปน้อยมาก ซึ่งตามกำหนดต้องยื่นขอเพิ่มเติมพยานเอกสารในวันที่ 22 พ.ย.นี้ แต่ปรากฏว่าตรงกับวันเสาร์ ทำให้ต้องเลื่อนเพิ่มเติมพยานเป็นวันศุกร์ที่ 21 พ.ย.แทน รู้สึกบีบหัวใจมาก เพราะเวลางวดเข้ามามากขึ้น และยังไม่สามารถระบุพยานเพิ่มเติมได้ เนื่องจากยังไม่ทราบว่า ป.ป.ช.ตัดพยานที่เราเสนอไปในระหว่างไต่สวนเป็นใครบ้าง ทั้งนี้หลังคัดสำนวนเสร็จสิ้น ทีมทนายจะสรุปประเด็นและหารือกับน.ส.ยิ่งลักษณ์อีกครั้ง

ส่วนกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ สนช.ให้เชิญ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาให้ข้อมูลในที่ประชุมสนช. นายนรวิชญ์กล่าวว่า ตามข้อบังคับ สนช.ไม่สามารถทำได้ ถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับสำนวน เพราะข้อบังคับระบุว่าให้ยึดตามสำนวน ป.ป.ช.เท่านั้น จะขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานที่นอกเหนือจากสำนวนไม่ได้ เว้นแต่พยานของผู้ร้อง ที่เสนอแล้ว ป.ป.ช.ไม่รับเท่านั้น ไม่สามารถหาพยานปากใหม่มาให้การได้ ส่วนของ ป.ป.ช.ถือว่าจบแล้ว เพราะตามข้อบังคับ สนช.ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ถูกกล่าวหา 

ชี้ข้อบังคับไม่เป็นธรรม 

นายนรวิชญ์กล่าวว่า เท่าที่ดูข้อบังคับ อยากถามว่าเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาแค่ไหน เพราะเมื่อเรายื่นพยานบุคคลขอให้สอบปากคำแต่ ป.ป.ช.ตัดทิ้ง แต่ในการพิจารณาของ สนช.ระบุให้เรายื่นพยานหลักฐานเป็นเอกสาร เฉพะในส่วนที่ ป.ป.ช.ไม่รับ ไม่ให้นำพยานบุคคล ฉะนั้นพยานที่เราอยากให้พูดจึงไม่อยู่ในสำนวนอยู่แล้ว และไม่สามารถเอาเข้าไปอยู่ในสำนวนของ สนช. ในทางคดีถือว่าไม่ค่อยจะเป็นธรรมเมื่อเทียบกับกระบวนการของศาล ที่ข้อบังคับระบุแบบนี้ถือเป็นการบีบผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือใครก็ตาม เข้าใจว่ามีการลอกข้อบังคับต่อๆ กันมา แต่อันไหนที่ดูแล้วในทางปฏิบัติมันเป็นธรรมหรือไม่ก็ควรจะมีการแก้ไข

นายนรวิชญ์กล่าวว่า ตนไม่ได้ตำหนิข้อบังคับว่าไม่ให้ความเป็นธรรม แต่ถ้าดูตามข้อเท็จจริงแล้วจะเห็นว่าเป็นธรรมหรือไม่ที่กำหนดเวลาและขั้นตอนไว้เช่นนี้ เพียงแต่ต้องการบอกว่าในอนาคตผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสนช. หรือวุฒิสภา ควรแก้ให้มีเวลาพอสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะกำหนดล็อกไว้เลยว่า 30 วัน แล้วส่งให้พิจารณา 15 วัน ขอถามว่า สนช.คนไหนบ้างที่อ่านสำนวนครบทั้ง 3,870 หน้า สนช.อาจจะอ่านหรือไม่อ่านหรืออ่านแค่สรุปก็ได้ แต่ ผู้ถูกกล่าวหาต้องอ่านทุกหน้าเพื่อทำการต่อสู้ ยอมรับว่ามีความกดดันจากสังคมมาก เพราะสังคมชอบพิพากษาไปก่อน เรื่องคดีบางครั้งเอาสะใจไม่ได้ แต่สังคมไทยถ้าเชียร์ฝ่ายไหนก็จะไม่รับฟังความเห็นอีกฝ่าย ถ้าไม่ใช่พวกตัวเองก็ไม่รับฟังเลย ซึ่งเชื่อว่าสนช.ล้วนมีความรู้ความสามารถคงไม่ยอมให้กระแสสังคมมาบีบได้ 

หมอวรงค์ดัน"ปนัดดา"พยาน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรมว.พาณิชย์ ชี้แจงการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว ระบุตัวเลขที่อนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวสรุปความเสียหายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขาดทุน 5.19 แสนล้านบาท หากได้ขายข้าว 18 ล้านตันในสต๊อก มูลค่า 220,000 ล้านบาท จะเท่ากับ 3 ปี รัฐบาลขาดทุนปีละ 1 แสนล้านบาทนั้น ว่า ส่วนตัวไม่อยากเชื่อว่าคนระดับนายนิวัฒน์ธำรง จะไม่รู้หลักการปิดบัญชีว่าเขานำข้าวในสต๊อกมาคำนวณหักลบเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญอนุกรรมการฯ คำนวณราคาข้าวในสต๊อกราคาข้าวคุณภาพปกติ ถ้าคิดราคาข้าวในสต๊อกตามที่ม.ล.ปนัดดา ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบคุณภาพและปริมาณข้าวของรัฐ ตรวจพบว่ามีข้าวเสื่อมและเหลืองเต็มไปหมด ความเสียหายและขาดทุนจะหนักกว่านี้ นายนิวัฒน์ธำรง คงจะเบลอมาก ไม่คำนึงถึงความถูกต้องเอาแต่ปกป้องความผิด 

ส่วนกรณีทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยค้านข้อเสนอตนที่ขอให้ สนช.เชิญ ม.ล.ปนัดดาเป็นพยาน โดยอ้างว่าข้อบังคับการประชุม สนช.ให้พิจารณาได้เฉพาะที่อยู่ในสำนวน ป.ป.ช.เท่านั้น นพ.วรงค์กล่าวว่า ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยคงจะดูแต่ข้อกฎหมาย ไม่สนใจข้อเท็จจริง ถ้าติดตามการตรวจโกดังของ ม.ล.ปนัดดา และป.ป.ช.ก็ได้ส่งทีมของ ป.ป.ช.ลงพื้นที่แบบคู่ขนานเพื่อเก็บข้อมูล เช่นกัน จึงเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้น่าจะถูกบรรจุในสำนวนป.ป.ช.ด้วย ดังนั้น ข้อบังคับการประชุมสนช. ข้อ 154 ถ้า สนช.มีมติให้ ซักถามผู้เกี่ยวข้องก็ย่อมทำได้ 

อนุกมธ.เริ่มระดมความเห็น 

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประธานคณะอนุกมธ.ประสานงานเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ และองค์กรต่างๆ เผยว่า สัปดาห์หน้าและสัปดาห์ถัดไป อนุกมธ.จะเชิญองค์กรต่างๆ มาให้ข้อคิดเห็น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นองค์กรใด จากนั้นจะเป็นรูปแบบการเดินทางไปพบปะพูดคุย รวมทั้งแจกแบบสอบถามเพื่อนำข้อมูลส่งต่อให้คณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรับฟังความเห็นลักษณะดังกล่าวเป็นการสื่อสาร 2 ทาง จึงเชื่อว่ากระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การร่างรธน.และการปฏิรูปจะไม่มีปัญหา ขณะที่ในส่วนของอนุกมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชนที่มีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นประธานอนุกมธ.นั้น ได้มีการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมส่งความคิดเห็นมาที่คณะกมธ.ยกร่างฯ ผ่านตู้ป.ณ.9 ปณฝ.รัฐสภา และจะมีการจัดเวทีสานเสวนาทั่วประเทศ โดยเป็นการสุ่มตัวอย่างคนในพื้นที่มาร่วมแสดงความเห็น รวมถึงการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน 

"อัยการศึก"ไม่กระทบเปิดรับฟัง 

เมื่อถามย้ำว่ามีความกังวลว่ากระบวนการรับฟังความเห็นของกมธ.ยกร่างฯ และการแสดงความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มายังกมธ.ยกร่างฯ จะสะดุดหรือไม่ เพราะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการรับฟังความเห็น เพราะทุกครั้งที่จะมีการตั้งเวทีสานเสวนาเราจะแจ้งไปยังคสช.ก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา การแสดงความเห็นต่อการปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญที่เราดำเนินการ ไม่ได้ผิดต่อกฎหมาย แต่เป็นการพูดถึงรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีขึ้นในอนาคต

"ถ้าเราทำด้วยความตั้งใจก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เราต้องเข้าใจว่าขณะนี้มีกฎอัยการศึก รัฐบาล และคสช.เองต้องระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง ดังนั้น ถ้าการทำงานของเรามุ่งไปสู่เหตุและผลในการร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ก็จะเดินหน้าไปได้อย่างไม่มีปัญหา" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว 

ปชป.ยื่นคสช.ขอประชุมพรรค 

นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชา ธิปัตย์กล่าวว่า จากที่ สปช.เชิญพรรคการเมืองไปแสดงความคิดเห็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศนั้น เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ตนได้ทำหนังสือถึงคสช.เพื่อให้ผ่อนปรน กฎอัยการศึกษา พรรคการเมืองสามารถประชุมได้โดยมีการแนบวาระการประชุมไปด้วยว่าเป็นการระดมความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปประเทศและการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 23 พ.ย. ทั้งนี้ อยากให้ความคิดเห็นที่ออกไปเป็นมติพรรค เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีระบบ ไม่ใช่งุบงิบทำ 

นายจุติกล่าวว่า หลังการปฏิวัติ ทางคสช.ก็เชิญพรรคการเมืองไปให้ความเห็นแล้ว ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งความเห็นเป็นเอกสารไป แต่เวลานี้คสช.กับ สปช.เป็นคนละส่วนกัน ก็อาจอยากฟังอีก และหากคสช.อนุญาตให้มีการประชุมพรรค ทางพรรคก็มอบหมายให้หัวหน้าพรรคและตัวแทนไปเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการรัฐธรรม นูญ ถ้าคสช.ไม่อนุญาตก็ไม่เป็นไร พรรคก็ยังคงไปให้ความเห็นอยู่ดี แต่อาจไม่เป็นมติพรรคเพราะไม่ต้องการให้คนในพรรคมาแย้งทีหลัง และการที่คสช.เห็นสมควรไม่อนุญาตให้ประชุมก็อาจจะเกรงว่ามีคนฉวยโอกาส เราก็ยินดีรับฟัง

ทำเนียบสั่งขรก.สวมชุดสีกากี 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้บริหารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ประชุมร่วมกัน มีสาระสำคัญเรื่องการแต่งกายของข้าราชการในส่วนของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ที่ต้องการให้แต่งเครื่องแบบราชการชุดสีกากีทุกวันจันทร์เหมือนกับส่วนราชการอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยขอความร่วมมือให้กับข้าราชการที่มีเครื่องแบบอยู่แล้วสวมใส่ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 พ.ย.เป็นต้นไป และควรแต่งพร้อมกันทั้งหมดตั้งแต่เดือนม.ค.2558 เป็นต้นไป ส่วนข้าราชการคนใดที่ยังไม่มีเครื่องแบบและมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการตัดหรือซื้อเครื่องแบบสีกากี ข้าราชการประจำ พนักงานราชการสามารถกู้เงินปลอดดอกเบี้ยจากสวัสดิการของ สลน.ได้ 

ฝ่ายผู้บริหารของ สลน.ได้แจ้งไปยังข้าราชการในส่วนของ สลน. ถึงวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวว่า เพื่อความเป็นเอกภาพของส่วนราชการ และสนับสนุนยุทธศาสตร์การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างความภาคภูมิใจในเกียรติ ศักดิ์ศรี ของการเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี

ข้าราชการหนุน

แหล่งข่าวจาก สลน. ระบุว่าข้าราชการในทำเนียบรัฐบาลส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวและพร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่ก็ยังเกิดคำถามและข้อสงสัยว่าเหตุใดทำเนียบรัฐบาลถึงเพิ่งมีนโยบายช่วงนี้ ทั้งๆ ที่ผ่านมาข้าราช การในกระทรวงต่างๆ รวมถึงข้าราชการส่วนท้องถิ่นก็แต่งชุดราชการสีกากีกันมานาน มีเพียงทำเนียบรัฐบาลที่ไม่แต่งชุดดังกล่าวในวันจันทร์ทั้งๆ ที่เป็นศูนย์กลางบริหารประเทศ ถึงขั้นที่ข้าราชการบางคนไม่ได้ใส่ชุดดังกล่าวกระทั่งเกษียณอายุราชการ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ซึ่งอยู่ในทำเนียบรัฐบาลก็มีนโยบายให้ข้าราชการในส่วนของ สปน.สวมชุดเครื่องแบบสีกากีมาตั้งแต่วันจันทร์ที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว โดยมีเงินช่วยเหลือการจัดหาชุดจำนวน 1,000 บาทด้วย ทั้งนี้ ราคาชุดราชการสีกากีนั้นอยู่ที่ประมาณ 700-1,700 บาท ไม่รวมเครื่องหมายสัญลักษณ์ที่จะประดับตามตำแหน่งทางราชการที่มีราคาอยู่ประมาณ 500-1,000 บาท