- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 16 November 2014 15:44
- Hits: 3125
'ปู'ลุ้นระทึก-คิวถอดถอน โหวต 25 ธค. สนช.สรุปโปรแกรมเชือด เปิดถก 5 นัดก่อนชี้ชะตา พท.โต้นัวตัวเลขเจ๊งข้าว ปปช.รีบลุยต่อคดีมาร์ค แจงไม่เอาผิดชวน-ปรส.
สนช.กำหนดคิวขั้นตอนพิจารณาถอดถอน'ยิ่งลักษณ์'ในคดีจำนำข้าว นัดประชุมรวม 5 ครั้ง กำหนดลงมติ 25 ธ.ค. ป.ป.ช.อ้างกำลังเดินหน้าไล่ตรวจสอบโครงการประกันข้าวของ รบ.มาร์คเช่นกัน
สนช.วางขั้นตอนพิจารณา'ปู'
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้กำหนดวางกรอบและขั้นตอนในการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ตามข้อบังคับการประชุม สนช.เกี่ยวกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เบื้องต้นกำหนดกระบวนการไว้ดังนี้ 1.เปิดประชุมนัดแรก ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ที่ประชุม สนช.พิจารณากำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งให้พิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหา (ถ้ามี) โดยผู้ถูกกล่าวหาจะต้องยื่นคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานก่อนการประชุมนัดแรกไม่น้อยกว่า 5 วัน
2.การประชุมครั้งที่ 2 หรือวันที่ 11 ธันวาคม 2557 เพื่อฟังคำแถลงเปิดสำนวนจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคำแถลงคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่มีการซักถาม จากนั้นที่ประชุม สนช.พิจารณาว่าควรมีการซักถามในประเด็นใดเพิ่มเติม หากที่ประชุมมีมติซักถามให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ซักถาม โดยคู่กรณีมีสิทธิยื่นคำขอแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือต่อที่ประชุม สนช.ภายใน 7 วันนับแต่วันแถลงเปิดสำนวนเสร็จสิ้น
25 ธันวาฯลงมติ"ถอด-ไม่ถอด"
กระบวนการพิจารณาการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อมา คือ 3.การประชุมครั้งที่ 3 วันที่ 17 ธันวาคม 2557 เพื่อให้ กมธ.ซักถาม เป็นผู้ดำเนินการซักถามผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น 4.การประชุมครั้งที่ 4 ในวันที่ 23 ธันวาคม 2557 เพื่อรับฟังคำแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา หากมีการยื่นคำขอแถลงทั้ง 2 ฝ่าย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นฝ่ายแถลงก่อน และ 5.การประชุมครั้งที่ 5 ในวันที่ 25 ธันวาคม 2557 เพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน ภายใน 3 วันนับแต่วันแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาหรือวันพ้นกำหนดให้ยื่นคำแถลงการณ์ปิดสำนวนเป็นหนังสือ ทั้งนี้ การออกเสียงลงมติให้ลงคะแนนลับในคูหา โดยสมาชิก สนช.ที่เข้าร่วมประชุมจะต้องกากบาทในบัตรลงคะแนนว่าถอดถอนหรือไม่ถอดถอน มติในการถอดถอนจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก สนช.เท่าที่มีอยู่ หรือเท่ากับจำนวน 132 เสียง
ปปช.ขอข้อมูลสอบ"รบ.มาร์ค"
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) ขอให้ ป.ป.ช.ดำเนินการถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในสมัยทั้งสองเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี บริหารงานผิดพลาดทำให้เกิดความเสียหายในโครงการประกันราคาข้าว 1.63 แสนล้านบาท ตามข้อมูลของประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวและประกันราคาข้าว 15 โครงการ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผลขาดทุนรวม 6.82 แสนล้านบาท โดยที่เหลือเป็นตัวเลขขาดทุนสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5.18 แสนล้านบาท ว่า ป.ป.ช.กำลังไต่สวนเรื่องโครงการประกันราคาข้าวในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์อยู่แล้ว แต่เมื่อมีข้อมูลจากประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวและประกันราคาข้าวว่าในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีความเสียหายในโครงการดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น ป.ป.ช.จะขอข้อมูลมาใช้ประกอบการไต่สวนพิจารณาว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ หรือมาจากการละเลยบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์หรือไม่ ป.ป.ช.จะเรียกข้อมูลมาดูทั้งหมด เพื่อให้การทำงานมีความถูกต้อง ครบถ้วนที่สุด
ส่วนกรณี พท.เรียกร้องให้ ป.ป.ช.ถอดถอนนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการบริหารงานผิดพลาดจนทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จำนวน 6 แสนล้านบาท นายปานเทพกล่าวว่า ป.ป.ช.ได้ไต่สวนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วไม่มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง และที่ พท.เรียกร้องให้ ป.ป.ช.ถอดถอนนายชวนไม่สามารถทำได้ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ว.จะต้องเป็นผู้ยื่นต่อ ป.ป.ช. ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพอเป็นคดีของนายชวนแล้ว ป.ป.ช.ไม่กล้าแตะตามที่กล่าวหา
ปปช.รอดูสำนวน"ปึ้ง"คดีปรส.
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวกรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการกับนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่เกี่ยวข้องกับ ปรส.ว่า ไม่ทราบรายละเอียดเท่าที่ควร ตอนเข้ามาทำหน้าที่เลขาฯคดีดังกล่าวก็จบลงไปแล้ว เท่าที่ติดตามหากจะดำเนินการเหมือนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องพิจารณาเป็นรายคดีไป หรือคดีเก่าๆ เหล่านี้ต้องมีหลักฐานใหม่ขึ้นมาถึงจะดำเนินการได้ ส่วนกรณีนายสุรพงษ์จะมายื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ คงต้องนำเรื่องมาพิจารณา และแถลงการณ์ว่าที่ผ่านมาทำไม ป.ป.ช.ถึงไม่ดำเนินการกับนายชวน
"พิชิต"วอนอย่าชี้นำสังคม
นายพิชิต ชื่นบาน ในฐานะที่ปรึกษาทีมกฎหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้หลายฝ่ายชี้นำกระบวนการและชี้นำสังคมว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กระทำความเสียหายต่อประเทศชาติจนกว่าคดีจะยุติ ตามหลักการแล้วไม่ควรกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเสมือนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำความเสียหายต่อประเทศชาติแล้ว ขอให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เราไม่ได้ประวิงคดี แต่ขอทำความเข้าใจต่อสังคมว่าได้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย
"ขณะนี้มีบุคคลหลายฝ่ายชี้นำว่า โครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ หากศึกษาจะรู้ว่าเรามีกรอบการใช้จ่ายเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการจนถึงวันที่มีการปิดบัญชี ใช้เงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท มีหลักฐานยืนยันว่ามีเงินเหลือ 1.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ เราไม่อยากให้ใช้คำว่าขาดทุน การที่รัฐบาลแต่ละรัฐบาลช่วยชาวนาไม่ว่ามาตรการใดๆ ไม่ได้คิดกำไรอยู่แล้ว ดังนั้นก็ไม่ควรเรียกว่าขาดทุน แต่ควรเรียกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว" ที่ปรึกษาทีมกฎหมายกล่าว
ยันช่วยเศรษฐกิจรากฐาน
นายพิชิต กล่าวอีกว่า ขอให้กำลังใจรัฐบาลปัจจุบันเร่งระบายข้าว เอาแชมป์ส่งออกข้าวกลับมาอย่างที่ได้ประกาศไว้ แต่ต้องคำนึงถึงราคาข้าวที่ประชาชนไม่เสียหายด้วย หากระบายข้าวได้จำนวนเท่าใด จำนวนเงินที่ขายข้าวได้นั้นก็จะมาลดจำนวนวงเงินที่ปลัดกระทรวงการคลังได้แถลงไว้ด้วย ตนประมาณว่าข้าว 18 ล้านตันจะขายได้ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ โครงการจำนำข้าวก็ไม่ได้ทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง หรือเป็นภาระที่กระทบต่อหนี้สาธารณะ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็ยอมรับเองว่าขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะ
"ฝ่ายที่พยายามเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ประโคมว่าตัวเลขที่ปลัดกระทรวงการคลังแถลงนั้นสูง แต่ไม่ได้คำนึงถึงกรอบการใช้เงินที่ ครม.มีมติ อย่ามองที่ด้านเสีย อย่ามองที่ค่าใช้จ่าย ให้มองวงจรเศรษฐกิจโดยรวมว่าได้อะไรจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจรากฐาน เพราะเมื่อเศรษฐกิจรากฐานมีกำลังซื้อ ภาคอุตสาหกรรมก็จะดีตามมา เช่น การซื้ออุปกรณ์การเกษตร เครื่องอุปโภค บริโภค เมื่อประชาชนมีกำลังซื้อจีดีพีก็โตขึ้น" นายพิชิตกล่าว
ปชป.สวนกลับพท.ถูกกล่าวหา
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวกรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายรัฐมนตรี แถลงข่าวเรียกร้องให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีกับรัฐบาล ปชป.ในอดีตอ้างความเสียหายจากโครงการข้าว รวมถึงคดี ปรส. ว่า ขอชี้แจงประเด็นดังต่อไปนี้ 1.กรณีนายสุรพงษ์ เปรียบเทียบว่าในอดีตมีตัวเลขขาดทุนจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะต่างๆ จึงเรียกร้องให้เอาผิดกับผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากอดีตการช่วยเหลือเกษตรกรโดยการใช้จ่ายงบประมาณเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลมีจิตสำนึกต้องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร แต่ในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่เพียงตัวเลขการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวจำนวนมากแต่ประการสำคัญคือตัวเลขขาดทุน 5 แสนกว่าล้านที่มากกว่ายุคก่อนๆ หลายเท่าตัว เกิดจากการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น การทำสัญญาปลอมระหว่างรัฐต่อรัฐ เกิดจากการเปิดโอกาสให้มีการสวมสิทธิจำนำและมีการลักลอบนำข้าวคุณภาพดีออกไปจำหน่าย จึงเป็นที่มาของการตั้งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.มิได้เกี่ยวกับตัวเลขความเสียหาย หรือตัวเลขการขาดทุนเพียงอย่างเดียว ถ้าขาดทุนแล้วประชาชนได้ผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีนักการเมืองหรือพ่อค้าที่ได้ประโยชน์จากน้ำตาของชาวนาก็คงไม่มีใครจะไปกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่ามีความผิด
ชี้"รบ.ชวน"แก้วิกฤตศก.จนฟื้น
นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า 2.คดีความที่เกี่ยวข้องกับ ปรส. นั้น ได้มีการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องไปตามกระบวนการและพยานหลักฐาน แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ขณะนั้นมิได้เป็นผู้สร้างปัญหาต้นน้ำ มิได้นำประเทศเข้าไปกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตรงกันข้าม รัฐบาลของสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศลดค่าเงินบาทจนมีคำครหาว่าผู้ใกล้ชิดในรัฐบาลได้ประโยชน์ เป็นที่มาของระบบเศรษฐกิจที่พังทลาย พล.อ.ชวลิตได้ลาออก แล้วนายชวน หลีกภัย และพรรค ปชป.จึงเข้ามาแก้ไขวิกฤตจนเศรษฐกิจฟื้นตัว และสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจนใช้หนี้ไอเอ็มเอฟได้ แต่ก็มักถูกอ้างว่ามีผู้วิเศษที่เข้ามาทำงานเพียงไม่กี่เดือนเป็นผู้ใช้หนี้ ความจริงเหล่านี้พิสูจน์ได้ ส่วนการประมูลทรัพย์สินของ ปรส. ย่อมเป็นเรื่องปกติที่ผู้ซื้อจะต้องประมูลราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดที่แท้จริง ผู้ซื้อทรัพย์สินเหล่านั้นต้องแบกรับความเสี่ยงตามไปด้วย
สนช.ตั้งกระทู้ถามนายกฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำสั่งให้นัดประชุม สนช.ครั้งที่ 25/2557 ในวันที่ 20 พฤศจิกายน และครั้งที่ 26/2557 ในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ ในเวลา 10.00 น. โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ สนช.และกรรมาธิการ พ.ศ. ....ที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช.พิจารณาเสร็จแล้ว และร่าง พ.ร.บ.ที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ 2 ฉบับ คือ 1.พิธีสารเพื่ออนุมัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน 2.ภาคผนวก 10 เงื่อนไขการขนส่ง ตามความตกลงว่าด้วยการอํานวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพพม่า ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
นอกจากนี้ยังมีร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วอีกหลายฉบับ ทั้งนี้จะมีการพิจารณากระทู้ถามซึ่งเป็นครั้งแรกในการประชุม สนช. คือ เรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.เป็นผู้ตั้งคำถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
"จรัส"เร่งปฏิรูปการเหลื่อมล้ำ
นายจรัส สุวรรณมาลา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการคือความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมือง ต้องทำให้แนวทางรัฐธรรมนูญเน้นลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ ลดการคอร์รัปชั่นที่โยงการผูกขาดการเมือง เศรษฐกิจ บทบัญญัติที่จะถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญเอาแค่หลักการพื้นฐานทั่วๆ ไป ก็พอ ส่วนข้อห้าม รายละเอียดปลีกย่อยให้ไปบรรจุไว้ในกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการปฏิรูปจะไปบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ภาคที่ 4 จะไปรองรับการปฏิรูปไว้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีแผนการชัดเจนว่าด้านใดต้องการอะไรบ้าง และส่วนที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ ก็จะมีรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ให้สามารถทำต่อไปได้ แล้วรัฐบาลชุดต่อไปต้องดำเนินการต่อไปด้วยหยุดไม่ได้ เพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ กระบวนการตรงนี้ถือเป็นการวางรากฐานเชื่อมโยงการปฏิรูปในปีเดียวให้สามารถทำต่อไปได้ในอนาคต
กมธ.การเมืองแบ่ง 4 คณะอนุฯ
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช.ด้านการเมือง และประธาน กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้ กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง แบ่งคณะอนุ กมธ. 4 ด้าน คือ 1.ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองและองค์กรอิสระ 2.ปฏิรูประบบพรรคการเมือง 3.ปฏิรูปกลไกและระบบการเลือกตั้ง และ 4.ปฏิรูปกลไกการมีส่วนร่วมทางการเมือง คณะนี้อาจรวมเรื่องการปรองดองด้วย สัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมทางคณะอนุ กมธ.แต่ละคณะจะสรุปกรอบความเห็นให้ กมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง นำเสนอไปยัง สปช.วันที่ 10 ธันวาคมนี้ ส่วนข้อเสนอเรื่องตั้งสภาประชาชนหรือสภาพลเมืองที่มีการเสนอในการสัมมนา สปช.ก่อนหน้านี้ เพื่อให้ทำหน้าที่คัดกรองบุคคลเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็จะเสนอเข้าสู่คณะอนุ กมธ.ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองและองค์กรอิสระให้พิจารณาด้วย ยืนยันว่าการร่างรัฐธรรมนูญไม่มีตั้งธงล้างอำนาจเก่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการนำตัวบุคคลมาเป็นตัวตั้งในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญต้องเขียนเพื่อประเทศ ซึ่งตนเป็นนักวิชาการก็ยึดความถูกต้อง
แนะเปิดกว้างฟังความเห็นปชช.
เมื่อถามว่า คสช.ควรยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึก ก่อน สปช.รับฟังความเห็นประชาชนหรือไม่ นายสมบัติตอบว่า คสช.ชี้แจงว่าการใช้กฎหมายอัยการศึกเพราะยังมีปัญหาความไม่สงบ ก็ควรมุ่งเน้นกำกับดูความไม่สงบอย่างเดียว ส่วนการปฏิรูปการเมือง การรับฟังความเห็นประชาชนควรเปิดกว้าง ถ้าไม่เปิดกว้างจะทำให้การปฏิรูปไม่ราบรื่น จะมีข้ออ้างถึงความไม่สะดวกได้ ส่วนการรวมตัวของประชาชนเพื่อเสนอความเห็นต่อการปฏิรูปจะขัดกฎอัยการศึกหรือไม่นั้น เห็นว่าคนทำงานก็ต้องแยกแยะให้ออกว่าการฟังความเห็นเป็นการเสนอแนวทางเพื่อการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอให้มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขณะนี้ยังมีความเห็น 2 แนวทาง คือ 1.ถ้าทำประชมติจะทำให้มีหลักพิงว่ารัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากประชาชน มีความชอบธรรม และ 2.การทำประชามติไม่สอดคล้องมีมาตราเยอะ มีทั้งคนเห็นและไม่เห็นด้วย จึงอาจทำให้ไม่ชัดเจนเหมือนครั้งที่แล้ว จึงต้องหารือเรื่องนี้กันอีกครั้ง แต่หากจะทำก็แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพราะมีช่องทางอยู่แล้ว
เล็งถก"รูปแบบ-กระบวนการ"
นางถวิลวดี บุรีกุล สปช.ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีการตีกรอบรับฟังความเห็นของฝ่ายความมั่นคงต่อประเด็นการปฏิรูปและข้อเสนอต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากกรณีรายการเสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนการปฏิรูป ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหาต่อการรับฟังความเห็นในประเด็นยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะได้ตั้งประเด็นเฉพาะเนื้อหาการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นการมองภาพของอนาคตเพื่อประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การตำหนิหรือเปิดให้ประชาชนชี้นิ้วด่ากัน การตีกรอบของฝ่ายความมั่นคงในประเด็นความขัดแย้งจึงไม่เป็นสิ่งที่น่ากังวล ขณะเดียวกัน อนุ กมธ.ยังพิจารณาร่วมกันเห็นว่าจะต้องมีกติกาและประเด็นในการรับฟังที่ชัดเจน คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกที่มีผลบังคับใช้อยู่ด้วย เบื้องต้นอาจต้องแจ้งไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือทำหนังสือขออนุญาต หากจะจัดกิจกรรมทางการเมืองหรือการประชุมหรือการชุมนุมเกิน 5 คน
รับฟังความเห็นปชช.17พ.ย.นี้
นางถวิลวดี กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการเรียกร้องให้เลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก เป็นสิ่งที่เข้าใจว่าต้องการเปิดพื้นที่แสดงความเห็น แต่ส่วนตัวเข้าใจฝ่ายผู้ดูแลความเรียบร้อยเช่นกันว่า หากยกเลิกไปแล้วอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่เรียบร้อยได้ ดังนั้นจะให้ทหารยกเลิกกฎอัยการศึกเวทีประชาชน และสังคมต้องแสดงให้เห็นว่าเวทีที่จัดจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งก่อน ทั้งนี้ ทางอนุ กมธ.จะนัดประชุมในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ จะเสนอรูปแบบและวิธีปฏิบัติของการรับฟังความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น กำหนดประเด็นว่าจะไม่ใช้เงินในทางการเมืองได้อย่างไร ให้หน่วยงานไปสอบถามประชาชนที่กำหนด เป็นต้น หลังจากที่ประชุมอนุ กมธ.พิจารณาและเห็นชอบแล้ว จะเริ่มทำงานทันที มีความร่วมมือจากสำนักสถิติแห่งชาติ สถาบัน องค์กรชุมชนมาช่วยงาน อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าเมื่ออนุ กมธ.เปิดเวทีฟังความเห็นแล้ว ประชาชนจะเข้าร่วมโดยไม่กังวลว่าจะมีผลกระทบใดๆ ตามมาหลังจากสะท้อนความเห็น
ชี้พท.ต้องประชุมเคาะมติ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปฏิเสธที่จะทำหนังสือไปยัง คสช. เพื่อให้พรรคการเมืองประชุมพรรคเพื่อหามติส่งคนเข้าเสนอความคิดเห็นต่อ กมธ.ว่า ที่ผ่านมาแม้จะมีสมาชิกพรรคแสดงความเห็นทางสื่อมวลชน ก็เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว ดังนั้น การจะไปแสดงความเห็นก็จะเป็นความเห็นส่วนตัว เพราะถ้าจะให้เป็นมติพรรคก็ต้องมีการประชุมพรรคเพื่อมีมติ ซึ่งการไม่ปลดล็อกกฎอัยการศึกเพื่อให้มีการประชุม พท. ซึ่งเป็นพรรคใหญ่จะไปหามติอย่างไร จะมีข้อคิดเห็นจากพรรคเพื่อไปสรุปให้กับทาง กมธ.ได้อย่างไร
"พท.ยินดีให้ความร่วมมือกับทาง กมธ.และ คสช.ในการบริหารประเทศ แต่ส่วนตัวคิดว่า พรรคต้องมีการประชุม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงควรปลดล็อกให้ ผมเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งยังจะได้ความเห็นจากทุกภาค ประชาชนก็คาดหวังว่าแต่ละพรรคการเมืองจะเสนออย่างไร คิดว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญควรอำนวยความสะดวกทำหนังสือไปยัง คสช.ในเรื่องนี้ จะดูดีและเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า" นายพร้อมพงศ์กล่าว
เล็งหารือปมระบอบการเมือง
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวว่า กปปส.ยืนยันมาโดยตลอดว่าจะสนับสนุนการปฏิรูป ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเชิญกลุ่มต่างๆ เข้าไปเสนอความคิดเห็น ทาง กปปส.จะส่งตัวแทนเข้าหารือในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ จะมีตน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายถาวร เสนเนียม ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ และนายสุริยะใส กตะศิลา ส่วนประเด็นที่จะเสนอต่อ กมธ.ยกร่างจะขอหารืออีกครั้งหนึ่งเพื่อสรุป โดยเรื่องหลักๆ น่าจะเป็นระบอบการเมืองที่ต้องการปฏิรูปให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่พรรคของนายทุน รวมทั้งการกระจายอำนาจในการปกครองให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น
ให้ทหารภาค 2 ช่วยงานรบ.
เมื่อเวลา 07.00 น. ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปตรวจราชการ ที่กองกำลังสุรนารี พื้นที่กองทัพภาคที่ 2 จ.นครราชสีมา ว่า จะไปเพื่อรับฟังการปฏิบัติงานและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน เพราะกำลังพลตรากตรำทำงานด้านต่างๆ เน้นย้ำนโยบายเดิมในการรักษาอธิปไตย รักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงกำชับเรื่องการทำงานสนับสนุนรัฐบาล การทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ทั้งนี้ ไม่หนักใจอะไรกับการทำความเข้าใจกับมวลชนในพื้นที่ภาคอีสาน เชื่อว่าพูดคุยกันได้ โดยรวมขณะนี้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ยอมรับว่ายังคงมีผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างไปบ้าง แต่ก็ไม่เกินกรอบที่วางไว้
พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า เรื่องการทำงานของรัฐบาล ทุกฝ่ายมีการเร่งรัดเพื่อแก้ปัญหาในประเทศ ฝ่ายทหารสนับสนุนงานด้านต่างๆ ทั้งเรื่องศูนย์ดำรงธรรม ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รับหน้าที่ดูแล ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ซึ่งทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทำให้แก้ปัญหาระดับพื้นที่ได้มากขึ้น โดยจะเน้นย้ำกองทัพภาคที่ 2 ให้ความร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆ ด้วย ส่วนเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่ายังได้รับข่าวสารอยู่ตลอด กำลังพลในพื้นที่ต้องร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อย่างเต็มที่ในการดูแลและหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า
อ้างยังไม่เห็นหนังสือขอประชุม
พล.อ.อุดมเดชกล่าวกรณีพรรคการเมืองต้องการให้ประชุมพรรคเพื่อระดมความคิดเห็นต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ติดขัดไม่สามารถดำเนินการได้ตามประกาศฉบับที่ 57 ของ คสช. ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองประชุมหรือทำกิจกรรมทางการเมือง แต่มีข้อเสนอหลายฝ่ายให้ทำหนังสือขออนุญาต คสช.เพื่อจัดประชุมแทนว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือขออนุญาตประชุมจากพรรคการเมืองแต่อย่างใด แต่ก็รับทราบความคิดเห็นต่างๆ คงจะมีการพิจารณาในระดับสูงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ในส่วนของทหารจะติดตามในเรื่องนี้ต่อไปเช่นกัน แต่ไม่มีปัญหาอะไร
ทุกอย่างเรียบร้อยดี ส่วนที่ คสช.จะมีคำสั่งอนุญาตให้พรรคการเมืองประชุมได้ในช่วงนี้หรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง บางเรื่องตนไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะเกินกรอบอำนาจในฐานะ ผบ.ทบ. แม้จะเป็นเลขาธิการ คสช. แต่ก็ต้องรับฟังนโยบายและมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะอนุญาตในระดับใดบ้างที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อความสงบเรียบร้อย
พล.อ.อุดมเดช กล่าวกรณีทหารเข้าไปเจรจากับผู้บริหารสถานีไทยพีบีเอสยุติรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" ว่า ไม่ได้ให้ยุติอะไร ถ้าจุดใดได้ติดตามและตรวจสอบเห็นว่ามีทัศนคติที่ไม่เข้าใจในบางสิ่งบางอย่าง ก็ต้องพูดคุยกัน หากไปจัดการอะไรแล้วอาจมีผลเสียมากกว่า ผลดี แต่ก็ไม่ได้ไปทำอะไรมากมายนัก เพียงแต่อยู่ในระดับทำความเข้าใจ บางสถานีก็มีการพูดคุยกันอยู่เสมอตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันถือว่าน้อยลงมากแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องคุย เนื่องจากบางครั้งมีสิ่งที่ออกมาแล้วทำให้ภาพออกมาดูไม่ค่อยดีนัก
จึงจำเป็นต้องคุยและขอความร่วมมือกัน หากเสนอรายการอะไรออกไปแล้ว กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่จะก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยหรือไม่เหมาะสมกับปัจจุบัน ก็ควรต้องรักษาความสงบเรียบร้อยเอาไว้
เผยคิวนายกฯเยือน 2 จว.อีสาน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมวางแผนเยี่ยมเยียนประชาชนในวันพุธที่ 19 พฤศจิกายนนี้ เบื้องต้นกำหนดลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ โดยให้สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดทำแผนการลงพื้นที่ดังกล่าว ด้วยการขึ้นเครื่องบินจากกรุงเทพฯไปลงที่ จ.ขอนแก่น มีกำหนดการ 1 วัน รวมทั้ง ให้เลขาฯนายกฯกำหนดรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมคณะด้วย ทั้งนี้ ให้ส่งแผนงานให้นายกฯพิจารณาในวันที่ 17 พฤศจิกายน
วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
มหากาพย์โครงการรับจำนำข้าวมาถึงจุดน่าตื่นเต้นอีกครั้ง เมื่อกระทรวงการคลัง โดยนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำ นำข้าว แถลงว่า การปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวนับแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2547 จนถึงวันที่ 22 พ.ค.2557 จำนวน 15 โครงการ พบว่ามีผลขาดทุนประมาณ 6.8 แสนล้านบาท จากต้นทุนโครงการทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ในจำนวน 15 โครงการ แบ่งเป็นดำเนินการโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระยะเวลา 3 ปี จำนวน 4 โครงการ คิดเป็นผลขาดทุน 5.18 แสนล้านบาท ที่เหลือ 11 โครงการดำเนินการตั้งแต่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีผลขาดทุนประมาณ 1.64 แสนล้านบาท ตัว เลขดังกล่าวถือเป็นผลขาดทุนทางบัญชี เนื่องจากยังมีสต๊อกข้าวของโครงการที่ยังเหลืออยู่จำนวน 19.2 ล้านตันข้าวสาร จากจำนวนข้าวที่รับจำนำทั้งหมด 85 ล้านตันข้าวเปลือก การ ปิดบัญชีจะมีอีกครั้งตามข้อมูลทางบัญชี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 ซึ่งจะนำข้อมูลการสำรวจสต๊อกข้าวชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ มาร่วมพิจารณา ด้วยว่า มีสต๊อกข้าว เหลือจริงเท่าไหร่ ข้าวเสื่อมสภาพมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจะนำมาคำนวณอีกครั้ง หากสต๊อกข้าวหาย หรือข้าวเสื่อมสภาพมาก รวมถึงราคาที่ระบายข้าวออก หากต่ำกว่าราคาที่ใช้คำนวณสต๊อก ผลขาดทุนอาจมากกว่านี้ "ผล ขาดทุนโครงการดังกล่าว ไม่ถือว่าผิดความคาดหมายของคณะอนุกรรมการ ผลขาดทุนจำนวนมากนี้ต้องยอมรับว่าการดำเนินโครงการมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ ไม่รัดกุม ทำให้เกิดช่องทางการรั่วไหลหรือไม่โปร่งใสได้" มีการตั้งข้อสังเกตคำว่า"ไม่ถือว่าผิดความคาดหมาย"นี้หมายถึงว่าคณะอนุกรรมการ ได้มีการ "ตั้งธง" บางอย่างไว้ตั้งแต่แรกแล้วหรือไม่ แน่นอนว่าผลสรุปตัวเลขขาดทุนจำนำข้าว 5.18+1.64 แสนล้านบาทนี้ ต้องถูกเครือข่ายต่อต้านรัฐบาลเก่า นำไปขยายผลต่ออย่างแน่นอน ไม่ว่าโดยพรรคประชาธิปัตย์ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงกลุ่มการเมืองที่มีจุดยืนคัดค้านโครงการจำนำข้าวมาแต่แรก บางคนก็แฝงตัวอยู่ในรัฐบาลคสช. ผลสรุปตัวเลขขาดทุนจำนำข้าวดังกล่าว ยังส่งผลให้เกมการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพิ่มความดุเดือดและน่าจับตามากขึ้น หลังจากการประชุมสนช.เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเสียงส่วนใหญ่ 167 ต่อ 16 ให้เลื่อนการพิจารณากำหนดวันแถลงเปิดคดีออกไปเป็น วันที่ 28 พ.ย. ตามข้อบังคับการประชุม เป็นคดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกป.ป.ช.ตั้งสำนวนกล่าวหาจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ส่อขัดต่อพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินปี 2534 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ผลสรุปการขาดทุนยังส่งผลต่อการประชุมคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุดกับป.ป.ช. เพื่อพิจารณาสำนวนคดีจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า มีพยานหลักฐานสมบูรณ์พอสรุปส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองหรือไม่ หลังจากผ่านการประชุมร่วมกันมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ไม่มีอะไรคืบหน้า นอกจากความเห็นต่างและแนวโน้มว่าป.ป.ช.อาจต้องเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้องต่อ ศาลด้วยตัวเอง จนกระทั่งมีผลสรุปของกระทรวงการคลัง ออกมา สถานการณ์จึงพลิกกลับอีกตลบ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวถึงตัวเลขการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวว่า ป.ป.ช.จะนำข้อมูลดังกล่าวไปขยายผลต่อ โดยนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการแถลง เปิดคดีต่อสนช.กรณีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการขาดทุนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ป.ป.ช.ยังจะนำข้อมูลเดียวกันนี้ไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคดี ไต่สวนการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีที่มี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย ส่วนความคืบหน้าของ คณะทำงานร่วม ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด เรื่องการทบทวนความไม่สมบูรณ์สำนวนคดีอาญาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ในโครงการรับ จำนำข้าวนั้น ป.ป.ช.คาดว่าการประชุมนัดหน้าจะเป็นครั้งสุด ท้ายที่ควรได้ข้อสรุปว่าอัยการสูงสุดจะส่งฟ้องคดีหรือไม่ โดยป.ป.ช.ยืนยันจะไม่สอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีกเพราะได้ไต่สวนครบถ้วนสมบูรณ์ แล้ว หากนัดหน้าฝ่ายอัยการสูงสุดไม่มีคำตอบชัดเจน ป.ป.ช.จะฟ้องคดีเอง เป็นความมั่นใจที่เพิ่มสูงขึ้นในการบดขยี้ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยให้แหลกคามือ ถามว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายที่แท้ในการเล่นงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผ่านปฏิบัติการของสนช. แน่ นอนว่าไม่ใช่แค่ต้องการให้สนช.ลง มติถอดถอน เพราะในความเป็นจริง น.ส. ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ มาแล้วกว่า 6 เดือน เป้าหมายแท้จริงจึงอยู่ตรงสิ่งที่จะตามมาพร้อมกับมติถอดถอน คือการตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ถึงจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากขัดต่อหลักกฎหมาย ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้ให้อำนาจกับสนช.ที่จะถอดถอนนักการเมืองได้ ทั้งยังขัดกับหลักข้อเท็จจริงที่ว่าสนช.มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่น่าจะมีอำนาจหรือมีสิทธิ์ถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของ ประชาชนได้ หรือหากจะเดินหน้าลุยกันจริงๆ สนช.ก็ยังต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงจากสมาชิกทั้งหมด 220 คน ถึงจะถอดถอนได้ แต่การเมืองในยุคผู้ชนะไล่ล่าผู้แพ้ อะไรเคยเป็นไปไม่ได้ ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ทั้งนั้น ส่วน ในประเด็นที่ว่าทำไมป.ป.ช.ถึงได้ กระเหี้ยนกระหือรือ พยายามกดดันให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา นักการเมืองให้ได้ ถ้าไม่ได้ก็จะ ฟ้องเอง วิเคราะห์ในเชิงการเมือง พบว่าคำตอบอยู่ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้ครอบคลุมกลไกที่มีประสิทธิภาพใน การป้องกันและตรวจสอบ มิให้ผู้เคยต้อง คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด อันเป็นการหาจังหวะ เข้าทำประตู จากการประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างเครือข่ายหน้าเดิมที่ประกอบ ด้วย องค์กรอิสระ พรรคการเมือง กลุ่มอดีตส.ว. และข้าราชการประจำ โดยมีคสช.เป็นผู้ชี้ขาดว่าจะไฟเขียว ปล่อยให้สถานการณ์เดินไปถึงจุดแตกหักดังกล่าวหรือไม่ |