- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 15 November 2014 11:56
- Hits: 4700
ใช้ตัวเลขเจ๊งข้าวเปิดคดีปู ปปช.ลุยปู 'วิชา'นำแถลงสนช.ถอด เพื่อไทยโวยลงบัญชีผิด มั่วค่าเสื่อม-ปั่นขาดทุน จี้เชือด'มาร์ค-แอ้ด'ด้วย
พท.ร่อนหนังสือถึงประธาน กมธ.ยกร่าง รธน. พร้อมร่วมแสดงความเห็นร่าง แต่ให้ กมธ.ประสาน คสช.เลิกคำสั่งห้ามพรรคประชุมก่อน
@ "บิ๊กตู่"แจงนานาชาติไทยสงบ
เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ว่า เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ประเทศพม่า ซึ่งเอเปคถือเป็นเวทีสำคัญ ระหว่างงานเลี้ยง มีการต้อนรับอย่างอบอุ่น ผู้นำทั้ง 21 ประเทศพบทักทายจับไม้จับมือกัน มีโอกาสได้พบนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงความห่วงใย ตนขอบคุณและยืนยันว่ารัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด
"ได้พบกับนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ท่านถามว่า ประเทศไทยเป็นอย่างไร เรียบร้อยหรือยัง ผมตอบว่าเรียบร้อยดี ขอเวลาเราหน่อย ท่านก็เข้าใจ ทุกประเทศทักทายจับมือกันหมด ทุกคนให้เกียรติซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้พูดถึงเรื่องความขัดแย้ง ผมบอกทุกประเทศว่าวันนี้ประเทศไทยสงบสุขพอสมควรแล้ว ประชาชนมีความสุข ปลอดภัย และการท่องเที่ยวดีขึ้น รัฐบาลไทยขอเชิญทุกประเทศให้มาเยือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฤดูการท่องเที่ยวนี้ โดยนายชินโสะ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่นบอกว่าจะยกเลิกคำเตือนนักท่องเที่ยวที่มีอยู่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ ยันข้อตกลงต่างประเทศไร้โกง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับผู้ที่กังวลว่าประเทศไทยอาจเสียผลประโยชน์ในข้อตกลงต่างๆ ขอยืนยันถึงไทยเป็นประเทศเล็กแต่มีศักดิ์ศรี ข้อตกลงทั้งหมดต้องตั้งอยู่บนความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดความหวาดระแวง มีผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน ทุกครั้งที่ตนและคณะไปเยือนต่างประเทศ นำเกียรติยศของคนไทยไปด้วย ไม่อยากให้เหมือนที่ผ่านมาที่ตกลงกันหลายครั้งแล้ว ทำไม่ได้
"ทุกประเทศพร้อมที่จะลงทุนกับไทย ประโยชน์ที่ได้รับคือความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ยืนยันว่าจะต้องไม่มีการทุจริตในทุกโครงการ และจะต้องเกิดขึ้น รัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนได้มารับรู้ รับทราบพร้อมกัน ไม่มีนอกมีในทั้งสิ้น ยืนยันครับ" นายกฯกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้มีความขัดแย้งกันอีก วันนี้โลกเขาก้าวหน้าไปขนาดนี้แล้ว ประเทศไทยอยู่ตรงกลางของอาเซียน เรียกว่าเส้นทางการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดในอาเซียน แต่มีความขัดแย้งมานาน จึงอยากเห็นคนไทยเสียสละ ลด ละ เลิกความขัดแย้ง เลิกต่อสู้กันเอง ขอให้เข้าใจว่าการเมืองคือการเมือง ต้องทำให้ถูกต้อง ให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม ให้เป็นประชาธิปไตย ขอบคุณประชาชนและข้าราชการทุกคนที่ให้ความร่วมมือช่วยกันทำให้ประเทศไทยเป็นสุข
@ "หม่อมอุ๋ย"แจงจำนำข้าว"บิ๊กตู่"
ก่อนหน้านั้น ในช่วงเช้าที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมาปฏิบัติงานตามปกติ โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ที่ตึกไทยคู่ฟ้า คาดว่าเข้ารายงานตัวเลขปิดบัญชีผลการตรวจสอบโครงการประกันราคาและรับจำนำข้าว ตั้งแต่ปี 2547-22 พฤษภาคม 2557 มีผลขาดทุน 6.82 แสนล้านบาท ต่อมานายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน คาดว่าหารือเรื่องความคืบหน้าการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้านเศรษฐกิจ ก่อนที่นายกฯจะเดินทางไปสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 เวลา 15.00 น. พร้อม ครม.เพื่อบันทึกเทปโทรทัศน์กล่าวคำ ถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2557
@ คลังเล็งออกพันธบัตร 30 ปีใช้หนี้
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่มีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัด กระทรวงการคลังเป็นประธานว่า ได้รับรายงานถึงผลการปิดบัญชีแล้ว จำนวนที่ขาดทุนถึง 6.82 แสนล้านบาทแล้ว เป็นภาระมากเกินไป ดังนั้น การช่วยเหลือชาวนาไม่ควรใช้วิธีการรับจำนำอีก รัฐบาลชุดนี้นำแนวทางการจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ใช้เงินไม่มากเพียง 4 หมื่นล้านบาท แต่สามารถช่วยได้กว่า 3.4 ล้านครัวเรือน สำหรับภาระจากการจำนำข้าวนั้นกระทรวงการคลังกำลังวางแนวทางการบริหารเงินกู้ เพื่อไม่ให้กระทบต่องบประมาณ ขณะนี้หนี้จากการจำนำข้าวนั้นมีการกู้เงินมาใช้จ่ายแล้ว และได้รับการชำระคืนจากสำนักงบประมาณไปบางส่วน ในส่วนหนี้ที่ยังเหลืออยู่นั้นคงไม่สามารถตั้งงบมาชำระคืนได้หมดในช่วงเวลาสั้นๆ ดังนั้น จำเป็นต้องออกพันธบัตรยืดหนี้ดังกล่าว ทั้งพันธบัตรอายุ 3 ปี 5 ปี 7 ปี หรือ 10 ปี และอาจจะมีระยะยาว 30 ปีบางส่วน สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กำลังพิจารณาแผนการออกพันธบัตรให้รอบคอบเพื่อนำมาเสนออีกครั้ง คาดว่าจะสามารถออกพันธบัตรชุดแรกได้ในช่วงปีงบประมาณ 2558
นายสมหมาย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลว่าการออกพันธบัตรจำนวนมากอาจจะกระทบการกู้เงินมาลงทุนในส่วนอื่นๆ นั้น ยืนยันว่ากระทรวงการคลังสามารถดูแลได้ ในส่วนของเงินต้นคงไม่ได้กระทบมากนัก แต่อาจจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยรัฐบาลจะกู้ต่อไป จะต้องดูในรายละเอียดว่าทำอย่างไรไม่ให้กระทบมาก ระยะเวลาใช้หนี้ก็คงยังประเมินไม่ได้ว่า 30 ปีหรือไม่ เพราะต้องพิจารณารายได้ของรัฐที่เก็บได้ในแต่ละปีด้วย หากปีไหนเก็บได้มากและสามารถใช้หนี้ได้มากก็มีโอกาสชำระได้หมดเร็ว
@ ยันยังไม่จำเป็นต้องจัดงบสมดุล
นายสมหมาย กล่าวว่า ผลจากการที่รัฐต้องมากู้เงินชำระหนี้ข้าว ทำให้ไม่สามารถจัดทำกรอบงบสมดุลในปี 2560 ได้ โดยจะมาพิจารณากรอบงบสมดุลอีกครั้งในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะรัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องกู้เงินในลักษณะขาดดุลมาใช้ในการลงทุนประเทศ รวมถึงต้องใช้เงินในการดูและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย จำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น ส่วนจะมีการขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง
"ผมมองไม่เห็นถึงความจำเป็นในการจัดทำงบสมดุล ในเมื่อรัฐบาลยังต้องการงบมาใช้พัฒนาประเทศ แต่การขาดดุลที่ต้องไม่ทำให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ มีกรอบการกู้เงินชดเชยขาดดุลสามารถทำได้ถึง 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปัจจุบันอยู่ในระดับ 10% เท่านั้น" นายสมหมายกล่าว
@ ปปช.ขยายผลต่อจำนำข้าวเจ๊ง
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวกรณีนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวแถลงผลการปิดบัญชีตั้งแต่ปี 2547-22 พฤษภาคม 2557 มีผลขาดทุนถึง 6.8 แสนล้านบาท ว่า ป.ป.ช.จะนำข้อมูลดังกล่าวไปขยายผลต่อ และจะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการแถลงเปิดคดีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อยืนยันว่า โครงการรับจำนำข้าวมีการขาดทุนเป็นจำนวนมาก
นายปานเทพ กล่าวว่า ป.ป.ช.ยังไม่มีมติว่าจะส่งใครเป็นผู้แถลงเปิดคดี แต่คาดว่าน่าจะเป็นนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดีดังกล่าว นอกจากนี้จะนำข้อมูลของอนุกรรมการปิดบัญชีไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคดีไต่สวนการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกเป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย
@ ชี้คุยอสส.นัดหน้าไม่ชัด-ฟ้องปูเอง
นายปานเทพ กล่าวถึงความคืบหน้าการทำงานของคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. และอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีอาญากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในโครงการรับจำนำข้าวว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ได้กำหนดว่าจะประชุมครั้งต่อไปเมื่อใด แต่คิดว่าการประชุมคณะทำงานร่วมครั้งหน้าน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ควรจะได้ข้อสรุปแล้วว่า อสส.จะส่งฟ้องคดีให้ ป.ป.ช.หรือไม่
"ยืนยันว่าจะไม่มีการสอบปากคำพยานบุคคลใดๆ เพิ่มเติมให้อีกแล้ว เนื่องจากหลักฐานที่ ป.ป.ช.ไต่สวนมาครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว หากประชุมครั้งหน้ายังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะส่งฟ้องคดีให้ ป.ป.ช.หรือไม่ ป.ป.ช.จะส่งฟ้องเอง" นายปานเทพกล่าว
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการปิดบัญชีข้าว เปิดเผยถึงตัวเลขขาดทุนกว่า 6.8 แสนล้านบาทใน 5 รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ขาดทุนสูง 5.18 แสนล้านบาท ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ทั้งนี้ที่เหลืออีก 4 รัฐบาลก็มีตัวเลขขาดทุนเช่นเดียวกันนั้น ถือว่าเป็นจำนวนเล็กน้อย เนื่องจากมีเพดานขาดทุนได้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท อีกทั้งโครงการรับจำนำข้าวของ 4 รัฐบาลมีการจำกัดการรับจำนำข้าว
@ "พิชิต"ชี้ปั่นตัวเลขขาดทุนข้าว
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่ตัวเลขการขาดทุนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะออกมาสูงมาก เพราะคณะอนุกรรมการปิดบัญชีใช้วิธีคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ ด้วยการหักค่าเสื่อมสินค้าแต่ละปีเข้าไปด้วย ซึ่งตามหลักการแล้วไม่สามารถกระทำได้ เพราะสินค้าเกษตรมีวิธีคิดค่าเสื่อมแตกต่างกับสินค้าทั่วไป ซึ่งเคยโต้แย้งประเด็นนี้กับ ป.ป.ช.แล้ว เนื่องจากการปิดบัญชีโครงการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรต้องใช้หลักเกณฑ์การทำบัญชีเฉพาะ ซึ่งมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 (ปรับปรุง 2552) เรื่องสินค้าคงเหลือซึ่งสินค้าเกษตรจะสามารถรับรู้กำไรขาดทุนได้ก็ต่อเมื่อมีการขายหรือมีการเปลี่ยนแปลงมูลค่า แต่ไม่สามารถหักค่าเสื่อมเป็นรายปีแบบสินค้าปกติได้
นายพิชิต กล่าวว่า เมื่อคณะอนุกรรมการใช้หลักเกณฑ์ที่ผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริงมาคำนวณกับสต๊อกข้าวที่รอการระบายอยู่ตัวเลขจึงสูงกว่าความเป็นจริง เชื่อว่าหากรัฐบาลเร่งระบายข้าวออกไปได้เร็ว ตัวเลขค้างสต๊อกจะลดลง และมีรายได้กลับเข้ามา หักลบกันแล้วตัวเลขก็ไม่น่าสูงมากขนาดนี้ มองว่าเรื่องนี้มีการจงใจสร้างตัวเลขให้สูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลต่อรูปคดี ขอเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการเปิดเผยตัวเลขสรุปการปิดบัญชีอย่างโปร่งใส เพื่อจะได้ชี้แจงให้สังคมทราบข้อเท็จจริงได้ต่อไป
@ "ปึ้ง"จี้ฟันอดีตนายกฯคนอื่นด้วย
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า กรณีคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวแถลงตัวเลขขาดทุน 6.8 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปี 2547-2557 รวม 10 ปี โดยขาดทุนสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ กว่า 5 แสนล้านบาท ขณะที่รัฐบาลก่อนขาดทุนกว่า 1 แสนกว่าล้านบาท ดังนั้น ป.ป.ช.ควรยื่นถอดถอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ ข้อหาเดียวกันกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย เมื่อมีข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนแล้ว ป.ป.ช.จะยื่นถอดถอนอดีตนายกฯคนอื่นเมื่อใด ที่สำคัญคือ หากย้อนดูความเสียหายขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จะเห็นว่ามากกว่าโครงการรับจำนำข้าวมาก จึงขอเรียกร้องหัวหน้า คสช.และนายกฯตรวจสอบเรื่องนี้ให้เกิดความเป็นธรรม และขอให้หัวหน้า คสช.กำชับให้ ป.ป.ช.อย่าเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน ขอให้นายกฯเชิญประธาน ป.ป.ช.และประธาน สนช.มาหารือเรื่องนี้โดยเร็ว ให้ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล
"วันที่ 17 พฤศจิกายน จะไปยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ดำเนินการเรื่อง ปรส. รวมถึงจะไปยื่นกับ ป.ป.ช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมด้วย" นายสุรพงษ์กล่าว
@ ข้องใจไม่ยื่นถอด"ชวน"คดีปรส.
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ป.ป.ช.ออกมาชี้แจงถึงการพิจารณาเรื่อง ปรส. และผู้บริหาร จำหน่ายสินทรัพย์ที่ยึดมาจากสถาบันการเงินโดยมิชอบ เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย และ ป.ป.ช.เห็นว่านายมนตรี เจนวิทย์การ ในฐานะเลขาฯ ปรส.ขณะนั้น มีมูลความผิดทางวินัย และทางอาญา ซึ่ง ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาฟ้องคดี และอัยการสูงสุดส่งฟ้องเฉพาะคดีนายมนตรี รวม 2 เรื่อง ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทุกวันนี้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาต้องนำเงินงบประมาณแผ่นดินไปชดใช้ดอกเบี้ย และเงินต้นที่เกิดจากการดำเนินงานของ ปรส.มาเป็นเวลากว่า 10 ปี ประชาชนต้องแบกภาระหนี้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท
"ความเสียหายกับรัฐที่เกิดขึ้นจาก ปรส.เป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ผู้บริหารของ ปรส.กระทำความผิด และ ปรส.ถูกกำกับดูแลโดยรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ดังนั้น เมื่อ ป.ป.ช.เห็นว่า คดีของนายมนตรี มีความผิด และคดีถูกส่งฟ้องโดย อสส.แล้ว คำถามเหตุใด ป.ป.ช.จึงไม่ยื่นถอดถอนนายชวน ในข้อหาละเว้น ปล่อยให้มีการทุจริต สร้างความเสียหายแก่งบประมาณแผ่นดินมากมายมหาศาล ในขณะที่คดีรับจำนำข้าว ป.ป.ช.ยังไม่สามารถสรุปหาคนผิด คนทุจริต และยังไม่ได้สรุปส่งฟ้องคดีเอาผิดกับใครในชั้นศาลได้เลย แต่ ป.ป.ช.กลับยื่นเรื่องให้ สนช.พิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในข้อหาปล่อยปละละเลย ไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่งบประมาณ" นายสุรพงษ์กล่าว
@ ซัดป.ป.ช.เล่นไม่เลิกคดี"ถวิล"
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุฯไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอดีต ครม. ที่มีมติโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าพวกตนถูกกล่าวหาโดยไม่มีผู้ร้อง จากเอกสารที่ส่งมาใช้คำว่า "ปกปิดผู้ร้อง" อาจจะหมายความว่า ป.ป.ช.หยิบยกเรื่องขึ้นมาดำเนินการเอง ทั้งที่ในหลักปฏิบัติจะต้องมีผู้ร้องเรียนก่อน มาตรฐานของ ป.ป.ช.เปลี่ยนไป ป.ป.ช.ต้องดำเนินการทุกเรื่องด้วยมาตรฐานเดียวกัน
"ขอฝากไปถึงหัวหน้า คสช.ว่าท่านต้องกำชับ ป.ป.ช.ด้วย มิฉะนั้นกระบวนการตรวจสอบ และกระบวนการยุติธรรมจะบิดเบี้ยวไป ทั้งความเชื่อมั่นของสังคมโลกก็จะไม่มีให้กับรัฐบาลไทย" นายสุรพงษ์กล่าว
@ พท.ส่งหนังสือถึงกมธ.ยกร่างฯ
วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ส่งหนังสือ พท.0480/2557 ถึงประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องขอหารือการเข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอข้อคิดเห็นในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเนื้อหาว่า ตามที่กรรมาธิการฯเชิญพรรค พท.ให้ส่งหัวหน้าพรรคและคณะผู้แทนจำนวนไม่เกิน 5 คน เข้าร่วมแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อประกอบจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรค พท.ขอเรียนว่า 1.พรรคศรัทธาต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและยึดมั่นในหลักการที่ว่าอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของปวงชนชาวไทย จำเป็นต้องมีที่มาและยึดโยงกับอำนาจประชาชน
2.การเชิญพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมแสดงความเห็นในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องดี แต่เนื่องจากหลังการยึดอำนาจของ คสช.ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกและออกประกาศฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2557 ห้ามมิให้พรรคการเมืองประชุมหรือทำกิจกรรมใดๆ ทางการเมือง ส่งผลให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีหนังสือที่ ลต. 1501/ว.1124 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 แจ้งพรรค พท.ว่าการประชุมและการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ จะกระทำมิได้ 3.การรวบรวมระดมความเห็นต่างๆ จากกรรมการบริหารพรรค สมาชิกพรรคอาจมีปัญหากระทบข้อกำหนดและคำสั่งของ คสช.และ กกต.ได้
@ ให้คสช.เลิกห้ามพรรคประชุม
"4.พรรค พท.ยินดีให้ความร่วมมือและร่วมเสนอข้อคิดเห็นในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และเป็นหลักความยุติธรรมให้กับประเทศและประชาชนทุกฝ่ายตามแนวทางที่พรรคและนานาอารยประเทศยึดถือและยอมรับ 5.พรรคขอความกรุณาให้คณะกรรมาธิการฯประสานให้ คสช. กกต. อนุญาตและงดเว้นข้อกำหนดที่อ้างถึงตามคำสั่งข้างต้น เพื่อให้พรรคจัดประชุมและระดมความคิดเห็น เพื่อนำข้อสรุปที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากเห็นชอบขอให้ประสานงานกลับมายังพรรค เพื่อแจ้งกำหนดการในการเข้าร่วมประชุมอีกครั้ง" หนังสือระบุ
@ "ปึ้ง"ให้ถ่ายสดเวทีกมธ.ยกร่างฯ
ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรค พท. กล่าวว่า สิ่งที่ พท.อยากเห็นคือ เมื่อมีคนของพรรคต่างๆ เข้าไปร่วมชี้แจง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วอยากให้มีการถ่ายทอดสดด้วย เพื่อให้ประชาชนทราบถึงสิ่งที่แต่ละพรรคการเมืองเรียกร้อง จะได้ทราบว่าเมื่อเสนอไปแล้วนำไปดำเนินการหรือไม่ เพราะ พท.อยากให้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกันไม่อยากให้การเรียกร้องของพรรคเป็นแค่ลมปาก
เมื่อถามว่า แสดงว่าพรรคยืนยันจะส่งคนเข้าร่วมหากสามารถประชุมพรรคได้ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ถ้า คสช.ไม่ห้ามประชุม พรรคคงจะเรียกฝ่ายบริหารประชุมกันก่อนว่าจะเสนอใครเข้าไปและจะเสนอเรื่องใดต่อ กมธ. พท.เป็นพรรคใหญ่ ต้องฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคด้วย จะขอบคุณ คสช.ถ้าจะเปิดให้พรรคการเมืองประชุมได้เกิน 5 คน โดยไม่ผิดกฎอัยการศึก
เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯให้พรรคทำหนังสือถึง คสช.เอง นายสุรพงษ์กล่าวว่า ความคิดริเริ่มมาจาก กมธ. เพราะฉะนั้น กมธ.ควรทำหนังถึง คสช.เอง แล้วให้ คสช.ออกคำสั่งหรือแจ้งมา พรรคไม่ได้เป็นคนริเริ่ม เมื่อกรรมาธิการจะเชิญ พท.ไปก็ต้องอำนวยความสะดวกให้ ไม่ได้เหนื่อยอะไรเลย แค่หนังสือฉบับเดียว
@ กมธ.คาดพท.ร่วมถกต้นธ.ค.
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุม กมธ.ยกร่างฯว่า ในวันที่ 17 พฤศจิกายน กมธ.ยกร่างฯขอเลื่อนการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากพรรค พท.ออกไปก่อน คาดว่า พท.จะเข้าให้ความเห็นช่วงต้นเดือนธันวาคม เนื่องจากขณะนี้ยังติดปัญหาการประสานภายในบางเรื่องที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ อาทิ การติดภารกิจของผู้ใหญ่ในพรรค รวมถึงการขอหารือภายในพรรคก่อน แต่ทั้งหมดเป็นสัญญาณเชิงบวกว่า พท.จะตอบรับเข้าร่วมอย่างแน่นอน ขณะที่พรรคการเมืองอื่นอย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคพลังชล (พช.) ตอบรับเข้าร่วมอย่างเป็นทางการแล้ว ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็ประสานเป็นการภายในแล้วว่าจะเข้าร่วมหารือวันที่ 24 พฤศจิกายน
@ โยนพรรคประสานคสช.เอง
นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับกลุ่มการเมือง เช่น คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มีการประสานภายในมาว่าจะเข้าร่วมหารือกับ กมธ.ยกร่างฯแน่นอน ยืนยันว่าการเลื่อนพิจารณาจะไม่กระทบต่อกรอบปฏิทินการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯที่จะเริ่มต้นยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในวันที่ 20 ธันวาคม
"ส่วนที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ กมธ.ประสานไปยัง คสช.เพื่อผ่อนคลายกฎอัยการศึกให้ประชุมพรรคการเมืองได้นั้น เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ กมธ. เพราะ กมธ.มีหน้าที่ในการยกร่างฯเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพรรคที่ต้องประสานกับ คสช.เองโดยตรง" นายคำนูณกล่าว
นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับอนุกรรมาธิการ 10 คณะนั้นแต่งตั้งแล้ว รอให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พฤศจิกายน ส่วนการทำงานที่ผ่านมาของ กมธ.ยกร่างฯยืนยันว่า กมธ.ทั้ง 36 คน มีความเห็นตรงกันว่า โจทย์หลักในการปฏิรูปประเทศคือปัญหาสังคม เศรษฐกิจมีความเหลื่อมล้ำ ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่จะยกร่างขึ้นใหม่จะต้องตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะลำบากต่อการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจุดยืนของหลายกลุ่มมีความแตกต่างกัน แต่ กมธ.ยกร่างฯจะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและทุกกลุ่ม
@ "บิ๊กอู้"ชี้ประชามติไม่เกี่ยวกมธ.
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เชื่อว่าทุกพรรคจะให้ความร่วมมือในการแสดงความคิดเห็น แต่อาจติดเรื่องห้วงเวลาที่อาจขอเลื่อนออกไปบ้าง เพื่อการเตรียมความพร้อม ส่วนที่พรรคการเมืองระบุว่าไม่สามารถประชุมกรรมการบริหารพรรคได้เนื่องจากติดคำสั่งห้ามของ คสช.นั้น เรื่องนี้พรรคการเมืองสามารถทำหนังสือถึง คสช.เพื่อขอประชุมกรรมการบริหารพรรคได้
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมไม่มีการแสดงความเห็นในเรื่องนี้มากนัก เพราะถือว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กมธ. เชื่อว่าเรื่องดังกล่าว คสช.และรัฐบาลคงจะมีแนวทางดำเนินการอยู่แล้ว หากจะมีการทำประชามติก็ใช้เวลาเพียง 90-120 วัน เชื่อว่าจะดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลา
@ "บิ๊กป๊อก"หนุนการเมืองถกกมธ.
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองประธานคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกรณีให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำหนังสือขออนุญาต คสช.ให้พรรคการเมืองประชุมกันได้เพื่อหาตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า คสช.ยังไม่ประชุมเลย แต่ส่วนตัวค่อนข้างจะเห็นด้วยในการมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้ข้อยุติ หรือรวมตัวกันเพื่อทำประโยชน์โดยไม่มีนัยยะทางการเมืองอื่นก็น่าจะมาคุยกัน ถ้ามาคุยกันแล้วได้แนวความคิดไปให้ สปช.ก็ดี
@ "สรรเสริญ"ให้พรรคลดอัตตา
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองบางพรรคต้องการเรียกประชุมพรรคเพื่อหารือการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแต่ยังติดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองมีกิจกรรมว่า เรื่องนี้พรรคการเมืองสามารถยื่นขอให้ คสช.พิจารณาได้ คิดว่า คสช.ไม่ได้ใจแคบขนาดนั้น อย่าวิตกจนเกินไป เพราะบางครั้งก็ไม่ต้องเรียกประชุม แค่ยกหูโทรศัพท์ก็คุยกันได้ แต่หากพรรคการเมืองเล่นการเมืองและต้องการต่อสู้กันมากเกินไป ทุกคนต้องย้อนนึกถึงตอนที่เคยอยู่สถานะเป็นรัฐบาล ตอนที่เคยมีอำนาจแล้วต้องการความร่วมมือแต่ไม่มีใครให้ความร่วมมือ นักการเมืองจะรู้สึกอย่างไร
"ผมไม่อยากใช้คำว่าท่านมีอัตตา แต่อยากให้ท่านมีมธุรสวาจา ก็จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และจะช่วยลดความขัดแย้งต่างๆ ลง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ "เทียนฉาย"ท้าพิสูจน์สปช.แตก
ที่โรงแรมสวนดุสิตเพลส นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ "มุมมองในการปฏิรูปประเทศ ทิศทางในการดำเนินงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการ" ให้แก่ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตอนหนึ่งว่า เจตนารมณ์สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มี 4 ประการ คือ1.การทำงานที่สานสัมพันธ์อย่างดีและเป็นเอกภาพ โดยต้องประเมินจากคนข้างนอก โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่เป็นกระจกสะท้อนการทำงาน ซึ่งมองว่า สปช.มีความแตกร้าวตั้งแต่วันแรก เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์และปรับกัน 2.สมาชิก สปช.ทั้งหมดมาจากความหลากหลาย ความเห็นย่อมแตกต่างกัน แต่เราสามารถพูดคุยได้เพื่อให้เห็นตรงกัน
3.ต้องตั้งความหวังแทนคนทั้งประเทศกว่า 64 ล้านคน แต่ไม่ได้บอกว่าจะคิดแทนประชาชน แต่ก็เป็นคนส่วนหนึ่งที่ต้องวางแนวทางที่จะเดินไป ให้เป็นไปตามความคาดหวังของประชาชน และ 4.การแปรความคิดไปสู่การปฏิบัติ ต้องจำแนกแนวทางปฏิรูปภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัด
@ เล็งรื้อปปช.ป้องโกงไม่สำเร็จ
นายเทียนฉายกล่าวว่า เรื่องที่จะปฏิรูปจะต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจหมายถึงการต้องรื้อโครงสร้างหรือปรับระบบบางอย่าง ทั้งยังต้องหาระเบียบและวิธีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อการปฏิรูปและการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รู้ว่าความคิดเห็นนั้นมีอคติหรือไม่ รวมถึงมีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด เช่น การออกแบบโครงสร้างหน่วยงาน อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีแนวทางต่อต้านการทุจริตเหมือนกัน แต่ในปีๆ หนึ่งมีโครงการต่อต้านการทุจริตมากมาย แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ ถามว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้อย่างไร หรืออย่างการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตยุติธรรม ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ ต้องมาดูกันตั้งแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบการเลือกตั้ง ตลอดจนกระบวนการการเลือกตั้ง สปช.จึงมีหน้าที่ต้องดูว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดเช่นนั้น ถึงจะนำไปสู่การออกแบบแนวทางแก้ไขเพื่อให้เกิดการปฏิรูป
นายเทียนฉายกล่าวว่า แม้ขณะนี้จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ สปช.ยืนยันว่าสามารถทำได้ภายใต้กฎอัยการศึก เพียงแค่รัฐบาลให้ความร่วมมือในการดำเนินการก็เชื่อว่าการขอความร่วมมือประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมจะเป็นไปด้วยความราบรื่น
@ โยนคสช.ผ่อนปรนรับฟังปชช.
นายเทียนฉายให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการรับฟังความเห็นประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศว่า ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ จะเปิดตัว กมธ.รับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งจะมีการวางกระบวนการวิธีการรับฟัง และเทคนิคการรับฟังความเห็น โดยจะรับฟังความเห็นอย่างโปร่งใส รอบด้าน ส่วนที่ยังมีบางฝ่ายอิดออดไม่เข้าร่วมการแสดงความเห็นนั้น เชื่อว่าพวกที่ยังลังเลจะเข้ามาทำงานเพื่อประเทศแน่นอน แต่ให้เวลาสักนิด คงต้องประสานงานไปยัง คสช. เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
นายเทียนฉายกล่าวว่า ที่มีนักการเมืองบางคนเสนอให้ สปช.ทำความเห็นไปยัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้แก้ไขมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดกว้างการรับฟังความเห็นนั้น สปช.ไม่มีหน้าที่ไปแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและ คสช.ที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม
@ ปปช.ชี้3สนช.-สปช.ทำงานต่อได้
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวกรณี ป.ป.ช.มีมติส่งเรื่องถอดถอนอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 38 คนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่มี 3 คนคือ นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.นนทบุรี และ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ อดีต ส.ว.มุกดาหาร ซึ่งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ อดีต ส.ว.ชุมพร ที่เป็นสมาชิก สนช.อยู่ด้วยว่า ป.ป.ช.พิจารณาจบไปแล้ว หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องที่ สนช.จะต้องไปดำเนินการพิจารณา
นายวิชากล่าวว่า ข้อสงสัยว่าทั้ง 3 คนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่การพิจารณาของ ป.ป.ช.แล้ว หากเกิดความสงสัยว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ คงต้องไปถามความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวมองว่า 3 คนไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมแล้ว
นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทาง สนช.ต้องเป็นผู้วินิจฉัยถอดถอนออกจากตำแหน่ง แต่ขณะนี้ไม่มีตำแหน่งให้ถอดถอนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะเป็นคนละเรื่องกัน แต่หากมีปัญหาก็เป็นเรื่องที่ สนช.จะต้องเป็นผู้ชี้ขาด ไม่เกี่ยวกับ ป.ป.ช. เพราะพ้นจาก ป.ป.ช.ไปแล้ว
@ สนช.รอสำนวนถอด38อดีตส.ว.
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.กล่าวว่า ยังไม่ได้รับสำนวนและรายงานการถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คนจาก ป.ป.ช. หากได้รับเรื่องแล้วคงต้องพิจารณาว่าสำนวนครบถ้วนหรือไม่ ต้องใช้เวลาตรวจสอบ แต่ตามข้อบังคับกำหนดว่าประธานต้องดูว่าจะรับหรือไม่ และบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช.ภายใน 30 วัน ซึ่งจะพิจารณาตามปกติ
นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนที่อดีต ส.ว.บางคนยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นกระทำตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ตามมาตรา 291 ถือเป็นข้อต่อสู้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการถอดถอนก็มาต่อสู้กัน เรื่องนี้เป็นเรื่องข้อเท็จจริงและกฎหมาย คนที่ถูกกล่าวหาต้องต่อสู้เป็นธรรมดา ส่วนกรณีที่ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ สมาชิก สนช. เป็นหนึ่งในอดีต ส.ว.ที่ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น ฟังประธาน ป.ป.ช.ระบุว่าไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะเป็นคนละตำแหน่งกัน แต่ยังไม่ได้ดูข้อกฎหมาย จึงต้องขอศึกษากฎหมายก่อน เพราะเป็นคนละกรณีกัน และเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นหรือไม่
@ "ดิเรก"พร้อมแจงปมถอดถอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ปรึกษากฎหมายของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ยืนยันว่าอดีต ส.ว.ที่ถูกชี้มูลทั้ง 3 คนยังสามารถทำหน้าที่ใน สนช.และ สปช.ได้ เนื่องจากประธาน ป.ป.ช.ระบุว่าทั้ง 3 คนยังปฏิบัติหน้าที่ได้ สนช.พร้อมที่จะปฏิบัติตามความเห็นของ ป.ป.ช. เนื่องจากเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. จ.นนทบุรี ในฐานะอดีต ส.ว. ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หาก สนช.เรียกไปชี้แจงในการถอดถอน ก็พร้อมไปยืนยันความบริสุทธิ์