- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 14 November 2014 22:49
- Hits: 4456
จำนำข้าว เจ๊ง 5.1 แสนล. คลังสรุป 'อุ๋ย'ชงตั้งอีก 2 รมต.ศก.ทูลเกล้าฯ'อำนวย-วิสุทธิ์' เป็น'รมช.เกษตร-คลัง' ปปช.ชงสอย 38 อดีตสว. คสช.พร้อมเปิดไฟเขียว ให้พรรคเคลื่อนไหวได้
คลังปิดบัญชีขาดทุนจำนำข้าว 6.82 แสนล้านบาท รัฐบาลยิ่งลักษณ์เจ๊ง 5.18 แสนล้านบาท เล็งออกพันธบัตรชดใช้หนี้ ทนายเผย'ปู'แถลงเปิดคดีข้าวเอง มติ ป.ป.ช.ส่ง สนช.ถอดถอน 38 ส.ว.ปมแก้รัฐธรรมนูญ 'บิ๊กตู่'ระบุเลขาฯยูเอ็นเข้าใจสถานการณ์ไทย 'บวรศักดิ์'เผยเทียบเชิญถึงพรรคการเมือง
@ บิ๊กตู่แจงเลขาฯยูเอ็น
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.45 น. วันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หารือทวิภาคีกับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า โดย ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือว่า นายบัน คี มุน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้พบกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้เข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยมากยิ่งขึ้น ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติ พร้อมทั้งอธิบายสถานการณ์ประเทศไทยถึงเหตุผลและความจำเป็นของการเข้ามาบริหารประเทศว่า เนื่องจากความขัดแย้งภายในที่มีการใช้อาวุธสงคราม และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะดูแลความสงบเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่สองของแผนปฏิบัติการ (โรดแมป) คือ มีการจัดตั้งรัฐบาลและใช้ระเบียบการบริหารราชการรูปแบบปกติ เร่งรัดการปฏิรูป 11 ด้าน และพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ยึดมั่นพันธสัญญาที่มีกับนานาประเทศอย่างครบถ้วน
@ 'วิษณุ'แนะขอคสช.ผ่อนผัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่บางพรรคการเมืองไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะติดขัดคำสั่งของ คสช.ว่า เรื่องนี้ทำได้ 2 อย่างโดยไม่ต้องอาศัยมติอะไรของพรรค เพราะขณะนี้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคก็มีอยู่ สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ถ้าเกรงว่าสมาชิกพรรคจะไม่รับรู้ ตนมองว่าสามารถคุยในพรรคได้ เป็นการหารือภายในไม่ใช่ลักษณะการประชุมพรรค เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ใช่ท่าทีทางการของพรรค ไม่มีใครเอาไปอ้างอิงว่าแนวทางของพรรคเป็นอย่างนี้และห้ามเปลี่ยนใจภายหลังเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นเท่านั้น แต่ถ้าหากอยากจะระดมความคิดภายในพรรค หากแจ้ง คสช.ไป คิดว่าจะมีการพิจารณาผ่อนผันให้เพื่อการนี้ เหมือนที่ผ่านมามีการผ่อนผันในการสมัครสมาชิก สปช.
@ เผยไม่มาส่งหนังสือได้
เมื่อถามถึงกรณีที่บางฝ่ายเกรงว่าเมื่อมาแสดงความคิดเห็นแล้ว สุดท้ายกรรมาธิการยกร่างก็ไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา นายวิษณุกล่าวว่า "ก็ถ้าระแวงอย่างนั้นและคิดว่าทำงานกันไม่ได้ก็ไม่ต้องไป แต่ความหมายคือกรรมาธิการเจตนาดี เชิญทั้งพรรคการเมืองและที่ไม่เป็นพรรคการเมืองเพราะต้องการฟังความคิดเห็น เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ และส่วนตัวคิดว่าพรรคควรให้ความเห็น หากไม่อยากไปก็สามารถส่งหนังสือไปได้ อย่างน้อยบอกไป เขาจะเอาหรือไม่ก็ตาม เพราะขณะนี้เป็นช่วงรับฟังความคิดเห็น สำหรับพรรคที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมนั้น ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรได้ เพราะเดี๋ยวจะหาว่าผมไปท้าทายว่าไม่มาก็อย่ามา ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น ผมคิดว่ากรรมาธิการคงจะไปกราบกรานอยากให้มา แต่ถ้าไม่เพราะติดอะไรก็ตามก็ไม่รู้จะทำอย่างไร"
@ 'บวรศักดิ์'เผยเทียบเชิญถึงแล้ว
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวกรณีที่พรรคการเมืองเสนอให้ กมธ.ร้องขอไปยัง คสช.ให้อนุญาตพรรคการเมืองประชุมเพื่อส่งตัวแทนเข้าให้ข้อมูลกับ กมธ.ยกร่างฯว่า เข้าใจว่าเรื่องนี้ คสช.ได้ให้พรรคการเมืองทำเรื่องขออนุญาตไปยัง คสช.อยู่แล้ว
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.ด้านการเมือง ในฐานะ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เรื่องนี้พรรคการเมืองต้องทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช.เอง กมธ.คงไม่ต้องทำอะไร ดังนั้น เมื่อทางพรรคการเมืองได้รับหนังสือเชิญจาก กมธ.แล้ว ขอให้ทำหนังสือถึง คสช. เพื่อขออนุญาตประชุมต่อไป ซึ่งขณะนี้ กมธ.ได้ทำหนังสือเชิญไปถึงพรรคการเมืองแล้ว
@ พท.ไม่ขอร่วมกิจกรรมรบ.
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรค พท.ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ แต่ได้รับการประสานทางโทรศัพท์และได้มีการพูดคุยกันภายในบ้าง สามารถสรุปได้เบื้องต้น 2 ประเด็นคือ 1.พรรค พท.ไม่ขอร่วมกิจกรรมใดๆ กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ เพราะเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อล้มรัฐบาลและล้มรัฐธรรมนูญ และยืนยันจะไม่ร่วมกับ สนช.และ สปช. และ 2.หากจะให้พรรคส่งตัวแทนเข้าร่วมอย่างเป็นทางการคงไม่ได้ ทำได้เพียงแค่เสนอความเห็นแบบกว้างๆ เช่น ต้องร่างรัฐธรรมนูญโดยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เท่าเทียม ยุติธรรม ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นต้องหารือกับสมาชิกพรรค หรืออย่างน้อยต้องประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อออกเป็นมติ ดังนั้นขอให้ คสช.อนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถประชุม และควรประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกด้วย
@ ปชป.ส่งหนังสือขอคสช.ผ่อนผัน
พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าให้พรรคการเมืองหารือกันเองเป็นการภายในแล้วส่งตัวแทนมาเสนอความคิดเห็นนั้น เป็นไปไม่ได้เพราะพรรคการเมืองมีข้อบังคับต้องเสนอความเห็นโดยผ่านการหารือกับสมาชิกจนเป็นมติของพรรค ไม่ใช่เป็นความคิดเห็นแค่ของหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรคเท่านั้น ที่สำคัญหากฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช.อาจมีคนร้องต่อ กกต.ให้พิจารณายุบพรรคได้
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคยังไม่ได้ทำหนังสือถึง คสช. แต่กำลังพิจารณาอยู่คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะดำเนินการส่งหนังสือขอทำกิจกรรมการเมืองได้ เชื่อว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่ คสช.จะไม่อนุญาต เพราะไม่ได้สร้างความวุ่นวาย เพื่อนำไปสู่ความแตกแยก เป็นเพียงการประชุมเพื่อขอความคิดเห็นสมาชิกเท่านั้น
@ 'ไก่อู'แนะทำหนังสือขอคสช.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คสช.ไม่ได้ห้ามการประชุมหรือการหารือที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติแน่นอน ดังนั้น หากพรรคการเมืองใดมีความคิดเห็นที่ดีก็สามารถประชุมเพื่อร่วมกันหาทางออกให้บ้านเมืองได้ เพราะ คสช.ห้ามเพียงแค่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาจจะก่อความวุ่นวายขึ้นมาอีก ดังนั้นคิดว่าการแสดงความคิดเห็นของพรรคการเมืองสามารถทำได้ เพียงแค่ทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช.ในการประชุมแต่ละครั้ง ทุกพรรคการเมืองต้องปฏิบัติด้วยบรรทัดฐานเดียวกันอยู่แล้ว
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ถ้าผ่อนปรนแล้วจะเกิดผลดีหรือไม่ แล้วจะเกิดเหตุการณ์อะไรตามมา ทาง คสช.คงต้องประชุมกันต่อไป ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ดีและรับได้
@ กมธ.ยกร่างตั้ง11อนุฯ
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาอีก 11 คณะ แบ่งเป็นคณะอนุ กมธ.เพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ 10 คณะ และคณะอนุ กมธ.ด้านกระบวนการ 1 คณะ มีดังนี้ คณะอนุ กมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมือง และส่วนที่ 3 หน้าที่พลเมือง โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน คณะที่ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมือง และส่วนที่ 5 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยมีนายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธาน คณะที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดี และผู้นำการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 3 รัฐสภา และหมวด 4 คณะรัฐมนตรี โดยมีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน คณะที่ 4 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 5 การคลังและการงบประมาณของรัฐ โดยมีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน คณะที่ 5 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน โดยมีนายปรีชา วัชราภัย เป็นประธาน
@ 'กระแส'คุมกระจายอำนาจ
นายคำนูณ กล่าวว่า คณะที่ 6 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 7 การกระจายอาจ และการปกครองท้องถิ่น โดยมี นพ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นประธาน คณะที่ 7 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม โดยมีนายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน คณะที่ 8 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน คณะที่ 9 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม โดยมีนาย
ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธาน และคณะที่ 10 มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การสร้างความปรองดอง โดยมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ส่วนคณะอนุ กมธ.ด้านกระบวนการ 1 คณะ ได้แก่ คณะอนุ กมธ.จัดทำข้อเสนอแนะ ในการตรากฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยมีนายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นประธาน
@ สัปดาห์หน้าฟังความเห็น
นายคำนูณกล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีความเห็นให้ดำเนินการตามข้อบังคับ โดยให้มีสมาชิกในอนุกรรมาธิการแต่ละคณะไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วย สปช. คณะละไม่เกิน 5 คน สนช.คณะละไม่เกิน 1 คน ยกเว้นบางกรณีที่อนุ กมธ.ประกอบด้วยสมาชิก สนช.อยู่แล้ว ขณะเดียวกันบางอนุ กมธ.ได้ให้มีการงดเว้นข้อบังคับการประชุม โดยให้มีสมาชิกได้ไม่เกิน 21 คน ในกรณีที่มีความจำเป็น คาดว่าภายในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ จะสามารถมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุ กมธ.ได้ทั้งหมด และในสัปดาห์หน้า กมธ.ยกร่างจะเริ่มฟังความเห็นของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ยืนยันว่าการทำงานของ กมธ.ยกร่างจะเสร็จทันตามกรอบเวลาและสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนเสร็จเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ สปช.และ สนช. ได้ทันวันที่ 17 เมษายน 2558
@ คลังเผยขาดทุนข้าว 6.82 แสนล.
ที่กระทรวงการคลัง นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลชุดก่อน เปิดเผยภายหลังประชุมอนุกรรมการปิดบัญชีที่กระทรวงการคลังว่า ผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวและประกันราคาข้าว 15 โครงการตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ พบว่ามีผลขาดทุนถึง 6.82 แสนล้านบาท โดยแยกเป็นโครงการตั้งแต่ปี 2547-2554 จำนวน 11 โครงการ ขาดทุน 1.63 แสนล้านบาท และโครงการจำนำข้าว 4 โครงการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขาดทุน 5.18 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอผลการปิดบัญชีไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป
@ ไม่รวมข้าวหาย-คุณภาพต่ำ
นายรังสรรค์ กล่าวว่า ผลขาดทุนเป็นการคิดคำนวณจากต้นทุนขาย (ต้นทุนรับจำนำบวกกับค่าใช้จ่ายก่อนเข้าโกดัง) อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท นำมาหักเงินรายได้จากการระบายข้าว 3.74 แสนล้านบาท ทำให้มีผลขาดทุน 6.82 แสนล้านบาท โดยการปิดบัญชีครั้งนี้ยังไม่ได้รวมกับข้าวหายและการประเมินคุณภาพข้าวของชุด ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลขาดทุนอาจจะมากกว่าที่ประเมินไว้ พร้อมทั้งต้องนำราคาข้าวที่ขายได้จริงหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มาคำนวณใหม่ด้วย เพราะการปิดบัญชีล่าสุดนำราคาข้าวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มาเป็นฐานในการคำนวณ ขณะนั้นราคาข้าวสารเจ้าอยู่ที่ตันละ 1.17 หมื่นบาท โดยอนุกรรมการจะมีการปิดบัญชีข้าวอีกครั้งจนถึง 30 กันยายน 2557 หลังจากนั้นจะปิดบัญชีทุกปีในเดือนกันยายน
@ เหลือในสต๊อก 19.2 ล้านตัน
นายรังสรรค์กล่าวว่า การรับจำนำทั้ง 15 โครงการมีจำนวนข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการรวม 85 ล้านตัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1.1 ล้านล้านบาท (คิดจากต้นทุนข้าวที่รัฐซื้อบวกค่าใช้จ่ายทั้งหมด) ล่าสุดมีข้าวสารเหลืออยู่ในสต๊อก 19.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2.25 แสนล้านบาท โดยจำนวนข้าวในสต๊อกล่าสุดสูงกว่าก่อนหน้านี้ที่ประเมินว่ามีอยู่เพียง 18.6 ล้านตัน เนื่องจากองค์กรคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รายงานมาว่าจำนวนข้าว 18.6 ล้านตันนั้นยังไม่ได้รวมข้าวที่อยู่ระหว่างการสั่งสีที่อยู่ตามโรงสีข้าว ดังนั้นตัวเลขล่าสุดจึงปรับขึ้นมาอยู่ที่ 19.2 ล้านตัน
@ เล็งออกพันธบัตรชดเชย
นายรังสรรค์ กล่าวว่า การปิดบัญชีคณะอนุกรรมการได้ใช้หลักการตามวิชาชีพการบัญชี โดยนำสินค้าคงเหลือมาหักออกจากสินค้าต้นงวดทั้งหมด และนำมาคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายกับรายได้ที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าทั้งค่าเก็บรักษา ดอกเบี้ย และค่าดำเนินการอื่นๆ โดยในส่วนสินค้าคงเหลือนั้นได้มีการหักค่าเสื่อมราคาในแต่ละปี ซึ่งปีแรกจะหักค่าเสื่อมในอัตรา 10% ปีที่ 2 อัตรา 20% ปีที่ 3 อัตรา 30% และปีที่ 4 อัตรา 40% ส่วนระยะเวลาที่เหลือของสต๊อกข้าวนั้นจะหักค่าเสื่อมในอัตราสูงสุดที่ 40% เท่านั้น โดยพบว่าค่าเสื่อมราคาสินค้าข้าวในสต๊อกที่เหลือทั้งหมดมีอยู่จำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท
"หลังจากได้ตัวเลขปิดบัญชีที่เป็นทางการแล้ว จะนำไปสู่กระบวนการชำระบัญชี เพื่อชดเชยการขาดทุนโดยจะต้องมีทั้งการจัดสรรงบประมาณ การกู้เงิน ออกพันธบัตรในระยะยาว คงขึ้นอยู่กับการดำเนินการของฝ่ายนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไรในสัดส่วนเท่าใด" นายรังสรรค์กล่าว
@ 'หม่อมอุ๋ย'เหน็บสร้างกรรม 3 ปี
ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะดำเนินการอะไรต่อไปจะต้องขอดูในรายละเอียดเพื่อประเมินก่อนว่ามีการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่ ก่อนที่จะออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาผลขาดทุนที่เกิดขึ้น การออกพันธบัตรมาใช้หนี้ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง
"ข้าวที่เก็บไว้ในสต๊อกส่งผลกระทบต่อการกดราคาข้าวในประเทศมา 3 ปีแล้ว เป็นกรรมที่สร้างกันมา 3 ปี กว่าจะลดกรรมลงได้ต้องใช้เวลา ก็เห็นใจกระทรวงพาณิชย์ ถ้าขายข้าวเร็วไปก็กดราคาข้าวในตลาด แต่ถ้าไม่ขายมีข้าวอยู่ในสต๊อกก็จะถูกกดราคาเช่นกัน คนที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ทำงานยาก หาจังหวะระบายข้าวได้ยากต้องให้เวลา ทั้งนี้ในปี 2547 รัฐบาลในช่วงนั้นรับจำนำข้าวเปลือก 5 ล้านตัน และปี 2548 รับจำนำข้าวมาอีก 6 ล้านตัน รวมเป็น 11 ล้านตัน สีเป็นข้าวสารได้ 7 ล้านตัน ระบายข้าวสารออกไปได้ในช่วงนั้น 2.5 ล้านตัน เหลืออีก 4.5 ล้านตันมาถึงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกว่าจะขายหมดต้องใช้เวลา 3 ปี" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
@ 'วรงค์'แนะเรียก'ปนัดดา'สอบ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเลื่อนการพิจารณาคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกไปเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน ว่า มีเหตุรับฟังได้ เพราะเป็นเรื่องปกติที่ทีมกฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้เป็นประจำ ตนเสนอให้เชิญ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ มาเป็นผู้ซักถามให้เห็นความเสียหาย เพื่อให้เห็นภาพเปรียบเทียบอดีตที่ผ่านมาของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยืนยันมาตลอดว่าข้าวสารในโกดังไม่มีปัญหา และให้เชิญผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ผู้จัดการใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือแม้แต่ประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว มาชี้แจงให้เห็นภาระของประเทศ ทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อชี้ให้เห็นความเสียหายของประเทศชาติ
@ ทนายปูคัดสำนวนถอดถอน
ที่รัฐสภา นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายเชาวฤทธิ์ กลิ่นทอง ทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าขอคัดสำนวนคำร้องคดีถอดถอนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ นายนรวิชญ์กล่าวว่า มาคัดสำนวนข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งหมด 3,870 หน้า จำนวน 10 แฟ้ม โดยเป็นเอกสารลับทั้งหมด ยกเว้นใบปะหน้าแฟ้ม ทำให้ไม่สามารถถ่ายสำเนาเอกสารไปได้ จึงต้องมาอ่านและจดบันทึกสำนวนกลับไปแทน จะดูว่ามีเอกสาร และสำนวนอะไรบ้าง พยานมีกี่ปาก เมื่อถามว่า ระยะเวลาเพียง 15 วัน จะอ่านสำนวนได้ทั้งหมดหรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวว่า อาจจะต้องอ่านวันละ 100 หน้า อย่างที่สมาชิก สนช.ได้กล่าวไว้ แต่ในข้อเท็จจริงอ่าน 100 หน้าก็ต้องทำความเข้าใจไปด้วย คงไม่เหมือนกับอ่านนิยาย 100 หน้า เมื่อถามย้ำว่า จะมีการขอเลื่อนระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีกหรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวว่า ไม่อยากจะคิดเพราะได้มีการเลื่อนประชุมนัดแรกไปเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน เป็นความกรุณาของ สนช.แล้ว
@ เผย'ปู'มาแถลงเปิดคดีเอง
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมาชี้แจงในวันแถลงเปิดคดีด้วยตัวเองหรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวว่า มีแนวโน้มสูงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมาแถลงเปิดคดีด้วยตัวเอง โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่า อยากจะมาชี้แจงด้วยตัวเองเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวว่าทำเพื่อช่วยเหลือชาวนาอย่างแท้จริง ส่วนการประชุม สนช.นัดแรก ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องของ สนช.ในการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดวันแถลงเปิดคดีและโต้แย้งการเปิดคดี รวมถึงพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหา โดยในฐานะของผู้ถูกกล่าวหาจะมีการยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ คงต้องขอดูสำนวนก่อนว่าจะโต้แย้งในประเด็นใดบ้าง
@ มติป.ป.ช.ถอดถอน 38 ส.ว.
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากให้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารและความเห็นไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับอดีต ส.ว.ทั้ง 38 ราย กรณีข้อกล่าวหากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกรณีร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 38 คน เนื่องจากเห็นว่าเรื่องดังกล่าว ป.ป.ช.ได้มีมติวินิจฉัยและดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดจนเสร็จสิ้นครบถ้วนกระบวนการแล้ว เมื่อมีการยึดอำนาจโดย คสช. ทำให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง แต่ต่อมามีประกาศ คสช.ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งครอบคลุมถึงความผิดเกี่ยวกับเรื่องของการถอดถอนตามกฎหมายอื่นด้วย จึงทำให้ ป.ป.ช.มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.
@ เผย38รายนั่งสปช.-สนช.
นายสรรเสริญกล่าวว่า รายชื่ออดีต ส.ว. 38 ราย ประกอบด้วย 1.นายประสิทธิ์ โพธสุธน 2.นายสมชาติ พรรณพัฒน์ 3.พล.ต.ต.องอาจ สุวรรณสิงห์ 4.นายดิเรก ถึงฝั่ง 5.นายประวัติ ทองสมบูรณ์ 6.นายกฤช อาทิตย์แก้ว 7.นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ 8.พล.ต.ท.พิชัย สุนทรสัจบูลย์ 9.นายโสภณ ศรีมาเหล็ก 10.นายภิญโญ สายนุ้ย 11.นายต่วนอับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ 12. นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ 13.นายสุเมธ ศรีพงษ์ 14.พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ 15.นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล 16.นายพีระ มานะทัศน์ 17.พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ 18.นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ 19.พลตรีกลชัย สุวรรณบูรณ์ 20.นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล 21.นายวรวิทย์ บารู 22.นายสุโข วุฑฒิโชติ 23.นายสุรชัย ชัยตระกุลทอง 24.นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล 25.นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง 26.นายรักพงษ์ ณ อุบล 27.นายบวรศักดิ์ คณาเสน 28.นายจตุรงค์ ธีระกนก 29.นายสริยา ปันจอร์ 30.นายถนอม ส่งเสริม 31.นายบุญส่ง โควาวิสารัช 32.นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง 33.นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ 34.นายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ 35.นางภารดี จงสุขธนามณี 36.พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน 37.นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร และ 38.นายวิทยา อินาลา ทั้งนี้ มีอดีต ส.ว. 3 คนถูกแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช.และ สนช. คือ นายดิเรก ถึงฝั่ง พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ และ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์
@ 'พล.ต.กลชัย'หยุดทำหน้าที่
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. หรือวิป สนช. กล่าวว่า ตามกระบวนการเมื่อสำนวนและรายงานของ ป.ป.ช.มาถึง ประธาน สนช.จะต้องบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช.ภายใน 30 วัน ตามข้อบังคับการประชุม เพื่อเริ่มกระบวนการถอดถอน ทั้งนี้ พล.ต.กลชัยเป็นสมาชิก สนช. ที่ถูกชี้มูลด้วยนั้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คงต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ สนช.ชั่วคราวก่อน
นายวันชัย สอนศิริ โฆษก วิป สปช. กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่านายดิเรกและ พ.ต.ท.จิตต์ สมาชิก สปช. อาจไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมาย เทียบเคียงจากกรณีที่ ป.ป.ช.ได้มีความเห็นว่าสมาชิก สปช.ไม่จำเป็นต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.
@ ปปช.ชี้ไม่ต้องหยุดทำงาน
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ส่วนตัวคิดว่าสมาชิก สนช.และ สปช.ทั้ง 3 ราย ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะทำหน้าที่คนละตำแหน่งหน้าที่กับ ส.ว. ในส่วนที่มีมติไปคือ การถอดถอน ส.ว. 38 ราย แต่ขณะนี้สมาชิก สนช.และ สปช.ทั้ง 3 รายกำลังปฏิบัติหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาร่วมกัน เป็นเพียงความคิดเห็นของตนเองเท่านั้น
@ นายกฯเสร็จภารกิจกลับไทย
เมื่อเวลา 23.00 น. ที่ท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางกลับจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า ทั้งนี้นายกฯไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่มารอรับโดยเดินทางกลับทันที
@ อุ๋ยดันตั้ง'อำนวย-วิสุทธิ์'รมช.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้เสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่ม 2 คน คือนายอำนวย ปะติเส เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเรื่องราคา สินค้าเกษตรตกต่ำ และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว
รองนายกฯกล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีความขัดแย้งในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตามในส่วนของการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1 พันบาท เหตุที่ล่าช้าจากเดิมที่จะจ่ายเดือนตุลาคมแต่เลื่อนจ่ายเป็นเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เนื่องจากต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อให้เงินถึงมือชาวนาจริง ไม่ใช่เจ้าของที่นา