WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8752 ข่าวสดรายวัน


เพิ่มอีก 2'อำนวย-วิสุทธิ์'นั่งรมช. 
ทีมศก.-ช่วยอุ๋ย พท.เมินร่วมวง สังฆกรรมรธน. มติปปช.ส่งสนช. ถอดถอน 38 สว.

ถกโอบามา - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประสานมือกับผู้นำในประเทศอาเซียน และนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.

        พท.เมินร่วม'สนช.-สปช.'ไม่สนร่างรธน. แค่เสนอ ความเห็นกว้างๆ 'ปลอดประสพ'ยันไม่ร่วมกิจกรรมรัฐบาลจากรัฐประหาร 'วิษณุ เครืองาม'ชี้ถ้าไม่มาก็น่าเสียดาย แนะขออนุญาตคสช. จัดประชุมพรรคสรุปความเห็นเสนอกมธ.รธน. 'บวรศักดิ์'ชี้ยกร่างรธน.เสร็จ 6 ส.ค. 58 เลือกตั้งอย่างช้าก.พ. 59 'หม่อม อุ๋ย'เผยยื่นทูลเกล้าฯ 2 รมต.'อำนวย ปะติเส' ช่วยเกษตรฯ'วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ'รมช.คลัง มติป.ป.ช.ส่งคดีถอดถอน 38 ส.ว. ให้สนช.พิจารณา 

วิษณุแนะพรรคให้ความเห็น'รธน.'

         เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงพรรคการเมืองระบุประกาศคำสั่งคสช.เป็นข้อจำกัดในการประชุมเพื่อส่งตัวแทนไปแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้มีแนวทางดำเนินการ 2 ประการ คือไม่ต้องอาศัยมติพรรค ซึ่งบางพรรคระบุยินดีเสนอความเห็นเนื่องจากยังมีหัวหน้าและเลขาธิการพรรคที่แสดงความคิดเห็นได้ หากเกรงว่าแสดงความคิดเห็นไปแล้วสมาชิกพรรคไม่รับรู้ ก็พูดคุยในพรรคเป็นการหารือภายในไม่ใช่การประชุมพรรค ไม่ใช่มติที่เป็นทางการและไม่มีใครนำไปอ้างอิงว่าเป็นแนวทางของพรรคและห้ามเปลี่ยนใจในภายหลัง เป็นต้น ซึ่งการแสดงความเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯ เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความเห็นเท่านั้น 

"แต่หากพรรคต้องการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นของสมาชิกก่อน ก็แจ้งคสช.เพื่อให้พิจารณาประกาศคำสั่งที่มีข้อจำกัดไว้ก่อน เหมือนที่มีการผ่อนผันในการสมัครสมาชิก สปช." นายวิษณุกล่าว

ชี้ถ้าไม่มาร่วมก็น่าเสียดาย

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า สำหรับพรรคที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมนั้น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร น่าเสียดายเพราะเดี๋ยวจะหาว่าท้าทายว่าไม่มาก็อย่ามา ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น และคิดว่ากมธ.ยกร่างฯคงจะไปกราบกรานอยากให้มา แต่ถ้าไม่เพราะติดอะไรก็ตาม ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

เมื่อถามว่าบางฝ่ายเกรงว่าความคิดเห็นที่แสดงไปนั้นเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้กมธ. เพราะจะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าระแวงอย่างนั้นและคิดว่าทำงานกันไม่ได้ก็ไม่ต้องไป ตนมองว่ากมธ.มีเจตนาดีที่เชิญทั้งพรรคและกลุ่มที่ไม่ได้เป็นพรรค เพื่อรับฟังความคิดเห็น และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ ทั้งนี้คิดว่าพรรคควรให้ความเห็น หากไม่ต้องการไปเองก็ส่งหนังสือไปได้ เพื่อบอกความเห็นต่อกมธ. ส่วนเขาจะเอาหรือไม่เอา เป็นอีกเรื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่ากมธ.ได้ปรึกษาอะไรด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีการปรึกษาในนามกมธ. แต่มีการพบปะพูดคุยกันเพราะกมธ.ทั้ง 36 คน รู้จักกันทั้งนั้นและเชื่อว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทันตามกรอบเวลาที่วางไว้

"บิ๊กป๊อก"หนุนทุกขั้วร่วมถก

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาคสช. กล่าวถึงพรรคการเมืองเสนอให้คสช. ผ่อนคลายประกาศ คสช.ให้ดำเนินกิจกรรมทาง การเมือง กรณีการเสนอความเห็นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกฝ่ายมาหารือร่วมกัน แต่ต้องสร้างสรรค์เพื่อหาทาง ออกและลดปัญหาขัดแย้ง ส่วนข้อเสนอผ่อนปรนประกาศคสช.นั้น หากเป็นเจตนาเพื่อ ลดความขัดแย้ง รวมทั้งมีนัยที่บริสุทธิ์ก็เป็นเรื่องดี คาดว่า คสช.จะนำไปพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง 

เมื่อถามว่ากมธ. 18 คณะของสปช. มีตัวแทนเพียงฝ่ายเดียวจะเกิดปัญหาการยอมรับในรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เห็นว่าควรมีตัวแทนของทั้งสองฝ่ายพูดคุยกัน เพื่อให้การทำงานได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพอใจและเกิดความชอบธรรม แต่เนื่องจากตัวแทนขั้วขัดแย้งฝ่ายหนึ่งไม่ได้สมัครเข้าเป็นสปช.จึงไม่มีโอกาสเข้าร่วม จึงต้องหาแนวทางที่จะทำอย่างไรให้มีตัวแทนของทุกฝ่ายมาร่วมแสดงความคิดเห็น

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวถึงการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงในวันที่ 21 พ.ย. โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานการประชุมว่า ขณะนี้เตรียมความพร้อมสถานที่ประชุมใกล้เรียบร้อยแล้ว กระทรวงมหาดไทยจะนำเสนอเรื่องที่กระทรวง ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล

คสช.พร้อมรับคำขอประชุมพรรค

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกทบ. และทีมงานโฆษกคสช. กล่าวถึงบางกลุ่มบางพรรคเรียกร้องให้ยกเลิกเงื่อนไขตามคำสั่งคสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ว่า จากกรณีดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น บางกลุ่มหรือบางพรรคดำเนินการได้เลยเพราะอาจมีช่องทางการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกผ่านเครือข่ายภายในองค์กรนั้นๆ อย่างต่อเนื่องอยู่แล้วในลักษณะไม่ขัดกรอบกฎหมาย โดยเฉพาะข้อมูลหรือข้อคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ที่องค์กรนั้นเคยรวบรวมไว้ และเตรียมเสนอในโอกาสที่เหมาะสม

พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ส่วนบางกลุ่มอาจต้องมีวิธีการใดๆ เสริม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข้อเสนอต่างๆ อาจต้องการดำเนินกิจกรรมเพิ่มเติม ถ้าไม่แน่ใจ เกรงว่าการดำเนินกิจกรรมนั้นจะเข้าข่ายผิดเงื่อนไข จากที่คสช.เคยขอความร่วมมือกันไว้ ต้องขออนุญาตบอกกล่าวหรือปรึกษากับเจ้าหน้าที่ได้เป็นกรณีๆ ไป ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพิจารณารายละเอียดถึงวัตถุ ประสงค์เจตนารมณ์ของพรรคนั้น ถ้าการดำเนินการไม่ขัดต่อแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติจริง ไม่มีเจตนาใดๆ แอบแฝง เจ้าหน้าที่จะพิจารณาให้ทุกครั้ง

บวรศักดิ์ชี้รธน.เสร็จ 6 ส.ค. 58

ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงพรรคการ เมืองเสนอให้กมธ.ยกร่างฯร้องขอไปยังคสช.ให้อนุญาตพรรคประชุมเพื่อส่งตัวแทนเข้าให้ข้อมูลกับกมธ.ยกร่างฯว่า เข้าใจว่าเรื่องนี้คสช.ให้พรรคทำเรื่องขออนุญาตไปยังคสช. 

นายบวรศักดิ์ ยังชี้แจงต่อคณะของนาย โรเจอร์ ก็อดซิฟฟ์ สมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักร และประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักร -ไทย ซึ่งเข้าพบที่รัฐสภา ถึงการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญยังไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว ส่วนจะทำประชามติ หรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ คสช.และครม. หากจะทำประชามติ ก็ต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อบัญญัติเรื่องดังกล่าว ส่วนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น สปช.จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้ คสช.และ ครม. ได้ในวันที่ 6 ส.ค. 58 คาดว่า จะเลือกตั้งได้อย่างช้าในเดือนก.พ. 59 แต่ถ้าไม่ทำประชามติ ก็จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ภายในเดือนก.ย. 58

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. ในฐานะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เรื่องนี้พรรคต้องทำหนังสือขออนุญาตจากคสช.เอง เพราะ คสช.ออกมาพูดเรื่องนี้แล้ว กมธ.ยกร่างฯคงไม่ต้องทำอะไร หากให้กมธ.ยกร่างฯทำเรื่องไปมาก็จะเป็นปัญหาทางธุรการ ดังนั้นเมื่อพรรคได้รับหนังสือเชิญจากกมธ.ยกร่างฯแล้ว ขอให้ทำหนังสือถึงคสช. เพื่อขออนุญาตประชุมต่อไป ซึ่งขณะนี้กมธ.ยกร่างฯทำหนังสือเชิญถึงพรรคแล้ว 

ปชป.เล็งยื่นขออนุญาตคสช.

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยว่า วันที่ 18 พ.ย.นี้ พรรคจะไปรัฐสภาตามคำเชิญของกมธ.ยกร่างฯเพื่อหารือและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งตนมอบให้นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขา ธิการพรรค นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค และนายสิรภพ ดวงสอดศรี ผอ.พรรค เป็นตัวแทนร่วมหารือครั้งนี้ เนื่องจากตนติดภารกิจไปต่างประเทศ ทั้งนี้ พรรคคงยังไม่เสนอแนวทางปฏิรูปแก่กมธ.ยกร่างฯแม้จะมีอยู่ในใจแล้ว เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่พรรคจะเสนออะไร แต่เป็นการรับฟังเจตนารมณ์ แนวทางและรูปแบบของกมธ. ยกร่างฯก่อนว่าเป็นอย่างไร

นายอนุทินกล่าวว่า พรรคพร้อมให้ความร่วมมือในกระบวนการที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ตราบใดที่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองประชาชน รวมทั้งเป็นประชาธิปไตยในระดับที่ยอมรับกันได้ หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีปัญหา

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขณะนี้พรรคยังไม่ได้ทำหนังสือถึงคสช. แต่พิจารณาอยู่ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะส่งหนังสือได้ เชื่อว่าไม่มีเหตุผลที่คสช.จะไม่อนุญาต เพราะเราไม่ได้สร้างความวุ่นวายเพื่อนำไปสู่ความแตกแยก เป็นเพียงการประชุมเพื่อขอความคิดเห็นสมาชิกเท่านั้น

พท.ชี้ข้อเสนอต้องเป็นมติพรรค

พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯควรเป็นฝ่ายทำเรื่องเสนอต่อ คสช.เพื่อให้ออกคำสั่งยกเว้นประกาศ คสช. ที่ห้ามพรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อปลดล็อกให้พรรคได้จัดประชุมสมาชิกพรรค เพื่อพูดคุยถึงข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าว ส่วนที่นายวิษณุให้พรรคหารือกันเองเป็นการภายในนั้น เป็นไปไม่ได้เพราะพรรคมีข้อบังคับพรรคอยู่ ต้องเสนอความเห็นโดยผ่านการหารือกับสมาชิกจนเป็นมติพรรค ไม่ใช่เป็นความคิดเห็นแค่ของหัวหน้าหรือเลขาธิการพรรคเท่านั้น 

"ไม่เช่นนั้นจะผิดข้อบังคับพรรค ที่สำคัญหากเราจัดประชุมพูดคุยกันเองโดยที่ คสช.ยังไม่ออกคำสั่งยกเว้นประกาศ อาจมีคนร้องต่อ กกต.ให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทย โดยกล่าวหาว่าเราฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช.ก็เป็นได้"

ลั่นไม่ร่วมกิจกรรมเผด็จการ

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเชิญตัวแทนพรรคเสนอความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ แต่ได้รับการประสานทางโทรศัพท์ และพูดคุยกันภายในบ้าง สรุปเบื้องต้น 2 ประเด็น 1.พรรคไม่ขอร่วมกิจกรรมใดๆ กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ เพราะเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อล้มรัฐบาลและล้มรัฐธรรมนูญ และยืนยันจะไม่ร่วมกับ สนช.และ สปช. 

นายปลอดประสพกล่าวต่อว่า 2.หากจะให้พรรคส่งตัวแทนเข้าร่วมอย่างเป็นทางการคงไม่ได้ ทำได้แค่เสนอความเห็นแบบกว้างๆ เช่น ต้องร่างรัฐธรรมนูญโดยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เท่าเทียม ยุติธรรม เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด

แนะเลิกอัยการศึก-ฟังประชาชน

นายปลอดประสพกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องหารือกับสมาชิกพรรค หรืออย่างน้อยต้องประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อออกเป็นมติ ซึ่งตอนนี้ติดคำสั่งของ คสช. ดังนั้นขอให้คสช.อนุญาตให้พรรคประชุมได้ เพราะการแสดงความเห็นต่อการร่างรัฐธรรม นูญไม่สามารถจบได้แค่ครั้งเดียว ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและติดตามผลการทำงานตลอด แต่หากจะให้ดี คสช.ควรประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อประชาชนจะได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ด้วย

กมธ.ยกร่างตั้งอนุ11คณะ

ที่รัฐสภา คณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธานประชุม จากนั้นเวลา 15.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปช. ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า กมธ. ยกร่างฯได้ตั้งคณะอนุกมธ.ขึ้นมา 11 คณะ แบ่งเป็นคณะอนุกมธ.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ 10 คณะ และคณะอนุกมธ.ด้านกระบวนการ 1 คณะ ดังนี้ คณะอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 1 รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมือง และส่วนที่ 3 หน้าที่พลเมือง โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน 

คณะอนุกมธ.พิจารณากรอบฯ คณะที่ 2 รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมือง และส่วนที่ 5 การมีส่วนร่วมตรวจสอบ โดยมีนายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธาน, คณะอนุกมธ.พิจารณา กรอบฯ คณะที่ 3 รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดี และผู้นำการเมือง ที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 3 รัฐสภา และหมวด 4 คณะรัฐมนตรี โดยมีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน 

"บรรเจิด"ปธ.ศึกษายุติธรรม

คณะอนุกมธ.พิจารณากรอบฯ คณะที่ 4 รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 5 การคลังและการงบประมาณของรัฐ โดยมี นายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน, คณะอนุกมธ.พิจารณากรอบฯ คณะที่ 5 รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน มีนายปรีชา วัชราภัย เป็นประธาน

คณะอนุกมธ.พิจารณากรอบฯ คณะที่ 6 รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 2 ผู้นำการ เมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 7 การ กระจายอำนาจ และการปกครองท้องถิ่น มีนพ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นประธาน , คณะอนุกมธ.พิจารณากรอบฯคณะที่ 7 รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม โดยมี นายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน , คณะกมธ.พิจารณากรอบฯ คณะที่ 8 รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน 

คาดสัปดาห์หน้าเริ่มฟังความเห็น

คณะอนุกมธ.พิจารณากรอบฯ คณะที่ 9 รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรอดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม โดยมีนายชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธาน และคณะอนุกมธ.พิจารณากรอบฯ คณะที่ 10 รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การสร้างความปรองดอง โดยมีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน

ส่วนคณะอนุกมธ.ด้านกระบวนการ 1 คณะ ได้แก่ คณะอนุกมธ.จัดทำข้อเสนอแนะ ตรากฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยมี นายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นประธาน 

โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นให้ดำเนินการตามข้อบังคับ โดยอนุกมธ.แต่ละคณะมีไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วย สปช. คณะละไม่เกิน 5 คน สนช.คณะละไม่เกิน 1 คน ยกเว้นบางกรณีที่อนุกมธ. ประกอบด้วยสมาชิกสนช. อยู่แล้ว ขณะเดียวกันบางอนุกมธ.ได้งดเว้นข้อบังคับ การประชุม โดยมีสมาชิกได้ไม่เกิน 21 คน ในกรณีที่จำเป็น คาดว่าภายในวันที่ 17 พ.ย. จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกมธ.ได้ทั้งหมด และในสัปดาห์หน้า กมธ.ยกร่างฯ จะเริ่มฟังความเห็นของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง

"ยืนยันว่าการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ จะเสร็จทันตามกรอบเวลาและนำร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนเสร็จเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ สปช. และสนช. ได้ทันวันที่ 17 เม.ย. และเชื่อว่ากมธ.ทุกคนมีอายุมากแล้ว คงไม่ควรเอาเกียรติประวัติมาทิ้งไว้ที่นี่" โฆษกกมธ.ยกร่างฯกล่าว 

มติป.ป.ช.ส่งสนช.ถอดถอน 38ส.ว.

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พล เจียก เลขาธิการป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ ว่า ที่ประชุมป.ป.ช.หารือข้อกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และกรณีร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรณีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ประเด็นที่มาของส.ว. 38 คน โดยเสียงข้างมาก เห็นว่าเรื่องดังกล่าว ป.ป.ช.มีมติวินิจฉัยและดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดจนเสร็จสิ้นครบถ้วนกระบวนการแล้ว แต่เมื่อมีการยึดอำนาจโดยคสช. ทำให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ต่อมามีประกาศคสช.ให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งครอบคลุมถึงความผิดเรื่องการถอดถอนด้วย 

นายสรรเสริญกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 มีข้อกำหนดให้สนช. ออกระเบียบในการทำงาน ซึ่งมีการออกระเบียบให้อำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และที่ผ่านมา สนช.ได้ดำเนินการแล้ว ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีมติให้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารและความเห็นไปยังประธาน สนช.เพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับอดีต ส.ว.ทั้ง 38 ราย

เผยมี 2 สปช.- 1 สนช.อยู่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อของอดีต ส.ว.ทั้ง 38 คน ประกอบด้วย 1.นายประสิทธิ์ โพธสุธน 2.นายสมชาติ พรรณพัฒน์ 3.พล.ต.ต. องอาจ สุวรรณสิงห์ 4.นายดิเรก ถึงฝั่ง 5.นายประวัติ ทองสมบูรณ์ 6.นายกฤช อาทิตย์แก้ว 7.นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์ 8.พล.ต.ท. พิชัย สุนทรสัจบูลย์ 9.นายโสภณ ศรีมาเหล็ก 10.นายภิญโญ สายนุ้ย 11.นายต่วนอับดุลเล๊าะ ดาโอ๊ะมารียอ 12.นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ 13.นายสุเมธ ศรีพงษ์ 14.พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์

15.นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล 16.นายพีระ มานะทัศน์ 17.พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ 18.นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์ 19.พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ 20.นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล 21.นายวรวิทย์ บารู 22.นายสุโข วุฑฒิโชติ 23.นายสุรชัย ชัยตระกุลทอง 24.นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล 25.นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง 26.นายรักพงษ์ ณ อุบล 27.นายบวรศักดิ์ คุณาเสน 28.นายจตุรงค์ ธีระกนก 29.นายสริยา ปันจอร์ 30.นายถนอม ส่งเสริม 31.นายบุญส่ง โควาวิสารัช 32.นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง 33.นายยุทธนา ยุพฤทธิ์ 34.นายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ 35.นางภารดี จงสุทธนามณี 36.พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน 37.นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร และ38.นายวิทยา อินาลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบรายชื่อพบว่ามี 3 คน ที่ขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสปช. และสมาชิกสนช. ประกอบ นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ สมาชิก สปช. และพล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ สมาชิก สนช.

ปานเทพชี้ยังทำหน้าที่ต่อได้

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงมติป.ป.ช.ให้ส่งเรื่องถอดถอนอดีตส.ว. 38 ราย ไปยังสนช.แต่มีสมาชิกสนช.และสมาชิกสปช.รวม 3 ราย จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ว่า ป.ป.ช.ยังไม่ได้พิจารณาในส่วนของสนช.และสปช.ทั้ง 3 ราย ซึ่งป.ป.ช.มีหน้าที่ส่งสำนวนที่เห็นว่ามีความผิดจริงก็มีมติส่งเรื่องไปก่อน อยู่ที่สนช.จะวินิจฉัยว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ 

"ส่วนตัวเห็นว่าสมาชิก สนช.และสปช.ทั้ง 3 ราย ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะทำหน้าที่คนละตำแหน่งกันในส่วนที่เรามีมติไป คือการถอดถอน ส.ว. 38 ราย แต่ขณะนี้สมาชิกสนช.และสปช.ทั้ง 3 รายกำลังปฏิบัติหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง กรณีดังกล่าวยังไม่ได้นำเข้า ที่ประชุม ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาร่วมกัน เป็นเพียงความคิดเห็นของตนเองเท่านั้น" นายปานเทพกล่าว 

เมื่อถามว่าขณะไม่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วจะเอาผิดส.ว.ทั้ง 38 รายได้หรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวที่ส่งไปยังสนช.ก็เหมือนกับคดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัช พานิช อดีตประธานวุฒิสภา

"กลชัย"ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่านายดิเรก และพ.ต.ท. จิตต์ ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจไม่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่สปช.เป็นการชั่วคราว เนื่องจากทั้งสองคนไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมาย โดยเทียบเคียงจากกรณีป.ป.ช.มีความเห็นว่าสมาชิกสปช.ไม่จำเป็นต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. และตำแหน่งสปช.เป็นตำแหน่งสำคัญของประเทศในเวลานี้ เพราะต้องให้ความเห็นปฏิรูปประเทศต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญในขั้นตอนสุดท้าย

ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. กล่าวว่า ตามกระบวนการเมื่อสำนวนและรายงานของป.ป.ช.มาถึงประธานสนช.จะต้องบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสนช.ภายใน 30 วันตามข้อบังคับการประชุม เพื่อเริ่มกระบวนการถอดถอน แต่กรณีการชี้มูลความผิดพล.ต.กลชัย ที่เป็นสมาชิกสนช.นั้น คงต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวตามพ.ร.บ. ว่าด้วยป.ป.ช.

ทนายเผย"ปู"ขอแถลงปิดคดีเอง

ที่รัฐสภา นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง นายเชาวฤทธิ์ กลิ่นทอง ทีมทนายความของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้เดินทางมาขอคัดสำนวนคำร้องคดีถอดถอน ที่ป.ป.ช.ส่งให้สนช.พิจารณา โดยนายนรวิชญ์ เปิดเผยว่า มาคัดสำนวนข้อกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีทั้งหมด 3,870 หน้า 10 แฟ้ม เป็นเอกสารลับทั้งหมด ยกเว้นใบปะหน้าแฟ้ม ทำให้ไม่สามารถถ่ายสำเนาเอกสารไปได้ จึงต้องมาอ่านและจดบันทึกสำนวนกลับไปแทน จะดูว่ามีเอกสาร และสำนวนอะไรบ้าง พยาน มีกี่ปาก 

เมื่อถามว่าเวลาเพียง 15 วันจะอ่านสำนวนได้ทั้งหมดหรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวว่า อาจต้องอ่านวันละ 100 หน้า แล้วต้องทำความเข้าใจไปด้วย คงไม่เหมือนกับอ่านนิยาย 100 หน้า เมื่อถามว่าจะขอเลื่อนระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีกหรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวว่า ไม่อยากคิด เพราะเลื่อนประชุมนัดแรก ไปเป็นวันที่ 28 พ.ย. ก็เป็นความกรุณาของ สนช.แล้ว ซึ่งจะทำให้ดีที่สุด อย่างไรก็ดีน.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่าอยากมาแถลงเปิดคดีด้วยตัวเอง เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจใน การดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ที่ทำเพื่อช่วยเหลือชาวนาอย่างแท้จริง 

เพื่อไทยจี้ปชป.แจงคดีปรส.

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต รมช.คลัง เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ชี้แจงเรื่องปรส. ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ข้องใจ จึงอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ตอบคำถามดังนี้ 1.จริงหรือไม่ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ขณะนั้น ออกกฎหมายให้กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรที่ได้จากการซื้อขายทรัพย์สิน ปรส. 2.จริงหรือไม่ที่ให้กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นใหม่เข้าเซ็นสัญญาแทนนิติบุคคลที่ประมูลได้ เพื่อไม่ต้องเสียภาษี เพราะกฎหมายออกมาหลังการประมูล

นายพิชัยกล่าวว่า 3.จริงหรือไม่ที่ไม่อนุญาต ให้เปิดเผยผู้ที่รับประโยชน์จากการลงทุนในกองทุนนี้ 4.จริงหรือไม่ที่มีการข่มขู่ไม่ให้นายธนาคารใหญ่ๆ เข้าร่วมประมูลเพื่อพรรคพวกจะได้ประมูลได้ในราคาถูก 5.จริงหรือไม่ที่อนุญาตให้บริษัทลูกของบริษัทที่เป็นที่ปรึกษา เข้าร่วมประมูลด้วย นี่เพียงเป็นบางคำถามเท่านั้นที่ประชาชนสงสัยและอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ชี้แจง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดซ้ำเติมประเทศในขณะกำลังล่มสลาย

"หม่อมอุ๋ย"เผยตั้งรมต.เพิ่มอีก2

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจกล่าวถึงกระแสข่าวขัดแย้งในทีมเศรษฐกิจว่า ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้ง ทั้งนี้ได้เสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่ม 2 คน คือนายอำนวย ปะติเส เป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเรื่องสินค้าเกษตรตกต่ำ และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นรมช.คลัง ซึ่งนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมแล้ว 

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ส่วนการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทนั้น สาเหตุที่ล่าช้าจากเดิมจะจ่ายเงินในเดือนต.ค. เลื่อนเป็นเดือนพ.ย.-ธ.ค. เนื่องจากต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบเพื่อให้เงินถึงมือชาวนาจริง ไม่ใช่เจ้าของที่นา ขณะนี้ผ่านการตรวจสอบในระดับตำบล 1.1 ล้านครัวเรือน จากที่ขึ้นทะเบียน 3.5 ล้านครัวเรือน ทำให้เม็ดเงินออกมาช่วงปีใหม่ รวมถึงเม็ดเงินซ่อมสร้างของทุกกระทรวง จะมีการใช้จ่ายภายในเดือน ธ.ค. เช่นกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปีใหม่ให้ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอย

ทส.มั่นใจจัดสรรที่ดินมาถูกทาง

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จะจัดสรรที่ดินให้ประชาชนที่ยากจนไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเองว่า วันที่ 18 พ.ย.นี้ คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน ซึ่งมีตนเป็นประธานจะประชุมนัดแรก ที่กระทรวงทส. คาดว่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะนำที่ดินจากที่ใดบ้างมาเข้าร่วมโครงการ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สมมติว่า ทส.ได้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ จ.อุบลราชธานีมาแล้ว 3,000 ไร่ เราจะส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการชุดจัดหาคนยากจนของกระทรวงมหาดไทย(มท.) เพื่อจัดคนลงไปอยู่ โดยมท.มีรายชื่อของคนที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายได้รับการจัดสรรที่ดินอยู่แล้ว โดยจะจัดทำพื้นที่ตั้งเป็นหมู่บ้าน จากนั้นส่งเรื่องให้อนุกรรมการชุดที่ 3 คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดที่ หาอาชีพที่เหมาะสม ที่สำคัญคือตั้งระบบสหกรณ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ โดยทส.จะมอบที่ดินให้เป็นชื่อของสหกรณ์นั้นๆ

รมว.ทส.กล่าวว่า เมื่อเป็นระบบสหกรณ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่คอยให้คำปรึกษาสำหรับการใช้ชีวิตในที่ดินผืนใหม่ อาชีพใหม่ที่ไม่ผิดกฎหมาย และยังช่วยกันฟื้นฟูดูแลผืนป่า ในอนาคตจากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม อาจกลายเป็นป่าสมบูรณ์อีกครั้งภายใต้การช่วยกันดูแลของชาวบ้าน เชื่อว่าทำแบบนี้คือเดินมาถูกทางแล้ว และวันที่ 18 พ.ย.นี้ น่าจะรู้ว่าได้ที่ดินตรงไหนเท่าไรบ้าง

"บิ๊กตู่"ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน

วันที่ 13 พ.ย. ที่กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 เมื่อเวลา 18.45 น.วันที่ 12 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น (ช้ากว่ากรุงเทพฯ 30 นาที) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับนายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) โดยเลขาธิการยูเอ็นกล่าวยินดีที่ได้พบนายกฯ และว่าเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยมากยิ่งขึ้น 

ต่อมาเวลา 22.30 น. พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับนายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกฯสหพันธรัฐรัสเซีย โดยนายกฯ กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียที่อยู่ในระดับที่ดีมาก พร้อมระบุว่าประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ปลอดภัย รัฐบาลพร้อมดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคน พร้อมเชิญชวนรัสเซียให้มีส่วนร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของไทยตามยุทธศาสตร์แผนลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้วย

ขณะที่นายกฯรัสเซียกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มียาวนานและวาระครบ 120 ปี และยังยินดีที่จะเปิดตลาดรัสเซียให้แก่สินค้าเกษตรของไทยมากขึ้น ขอให้คณะกรรมการร่วมไทย-รัสเซียเร่งจัดประชุมเพื่อหารือร่วมกันโดยเร่ง รวมทั้งเชิญนายกฯเยือนรัสเซียในโอกาสต่อไป 

เวลา 09.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น วันที่ 13 พ.ย. นายกฯเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (EAS) ครั้งที่ 9 เพื่อหารือเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกับผู้นำจากประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐ จีน รัสเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน เลขาธิการยูเอ็นและประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อประเมินทิศทางในอนาคตของ EAS ตลอดจนประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ในช่วงบ่าย นายกฯเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน ครั้งที่ 17 ซึ่งมีนายหลี่ เค่อเฉียง นายกฯจีนร่วมประชุมด้วย ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 17 ที่มีนายกฯจีน ญี่ปุ่นและประธานาธิบดีเกาหลีใต้เข้าร่วมประชุม ต่อด้วยประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 2 ร่วมกับผู้นำชาติอาเซียน เลขาธิการอาเซียน และนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่อทบทวนพัฒนาการความร่วมมือและกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต และปิดท้ายด้วยการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) ก่อนที่ช่วงเย็นจะเป็นพิธีปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนและการส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนของเมียนมาร์ให้แก่มาเลเซีย โดยนายนาจิบ ราซัก นายกฯมาเลเซีย จะกล่าวสุนทรพจน์ ในฐานะประธานอาเซียนในปี 2559 ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว นายกฯพร้อมคณะเดินทางออกจากกรุง เนปิดอว์ เพื่อกลับประเทศไทยทันที โดยกลับถึงท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ในเวลา 22.00 น. 

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยผลหารือทวิภาคีระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับนายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น ระหว่างเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ในวันนี้ว่า ผู้นำทั้งสองหารือเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของระบบขนส่งระบบราง ซึ่งนายกฯแจ้งให้นายกฯญี่ปุ่นทราบว่าจะมีโครงการสร้างรถไฟรางมาตรฐานเดิม โครงการรถไฟมาตรฐานใหม่และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งผู้นำญี่ปุ่นแสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนา ผู้นำทั้ง 2 ประเทศเห็นตรงกันว่าจะให้หน่วยงานด้านคมนาคมของสองประเทศหารือร่วมกันต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!