- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 13 November 2014 09:56
- Hits: 3732
13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8751 ข่าวสดรายวัน
พท.-ปชป.จี้ คสช.ปลดล็อก กมธ.โชว์ปฏิทิน เลือกตั้งพย.58
สุดยอดอาเซียน - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 25 ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.
เพื่อไทย-ปชป.ประสานเสียงจี้ คสช.ปลดล็อก เลิกห้ามพรรคทำกิจกรรม เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมเสนอความเห็นยกร่างรธน.'ไก่อู'ชี้แค่ทำเรื่องขออนุญาตก็พอ มติกมธ.ยกร่างฯ แบ่งรธน.เป็น 4 ภาค ตั้งอนุกรรมการด้านเนื้อหา 10 ชุด 'ณัฐวุฒิ'ยันไม่เข้าร่วม นิด้าเสนอปฏิรูป 15 ด้าน ผลักดันออกกฎหมายและนโยบายคุมสื่อ สถาบันต้านทุจริต มธ.ยื่น 9 แนวคิดขจัดโกง สนช.มีมติ 167 ต่อ 16 เลื่อนสอย'ปู' คณะทำงานร่วมป.ป.ช.-อัยการ ชงอสส.ฟ้อง'จุฑามาศ'รับสินบน'บิ๊กตู่'บินพม่าถกอาเซียน ซัมมิต ชูตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
สนช.ถกเลื่อนถอด'ปู'
เวลา 10.15 น. วันที่ 12 พ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุมนัดพิเศษพิจารณาเรื่องด่วน เพื่อดำเนินการกระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เพื่อกำหนดวันแถลงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา ตามข้อบังคับการประชุมสนช. ข้อ 154
นายพรเพชร แจ้งว่า ให้ระวังไม่กระทำการใดๆ ขัดข้อบังคับ 161 ที่ให้สมาชิกวางตัวเป็นกลาง เที่ยงธรรม ไม่กล่าวหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ซึ่งความเห็นอาจทำให้การพิจารณาหรือการวินิจฉัยของที่ประชุมเสียความยุติธรรมไป และวันนี้ประชุมนัดแรกเพื่อกำหนดวันแถลงตามข้อบังคับ 149 ประกอบข้อ 154 ซึ่งประธานสนช.ได้รับหนังสือจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. อ้างว่าผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับสำเนารายงานพร้อมเอกสาร และความเห็นของป.ป.ช.เนื่องจากเพิ่งกลับจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. จึงไม่มีเวลาศึกษารายงานเอกสารและความเห็นของป.ป.ช. รวมทั้งไม่สามารถทำคำขอเพิ่มเติมหลักฐานได้สมบูรณ์ตามที่ข้อบังคับกำหนดไว้ จะทำให้เสียเปรียบในการต่อสู้คดีนี้ จึงขอให้เลื่อนประชุมนัดแรกเพื่อกำหนดวันแถลงของป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งการพิจารณาคำขอเพิ่มเติมหลักฐานออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันผู้ถูกกล่าวหาได้รับสำนวนรายงานและความเห็นของป.ป.ช. เพื่อให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ทำคำคัดค้านและพิจารณาขอเพิ่มหลักฐานได้ถูกต้องและสมบูรณ์ตามข้อบังคับต่อไป เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหาด้วย ซึ่งตนให้สำนักงานวุฒิสภาทำสำเนาดังกล่าวส่งให้สมาชิกพิจารณาล่วงหน้า
ทนายชี้แจงเหตุผล
นายพรเพชร กล่าวว่า จึงขอปรึกษาที่ประชุมว่าจะมีความเห็นประการใด ซึ่งวันนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์มอบให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง นายสมหมาย กู้ทรัพย์ และนายเอนก คำชุ่ม ทนายความ เข้าร่วมประชุมสนช.เพื่อชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่ขอเลื่อนกำหนดวันประชุมนัดแรก
จากนั้นนายเอนกชี้แจงว่า ตามข้อบังคับ 149 และ 150 คำบอกกล่าวหรือรายงานของ ป.ป.ช.ต้องส่งให้ป.ป.ช. และผู้ถูกกล่าวหาทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่การบรรจุเป็นวันที่ 12 พ.ย. และเวลา 15 วันก็แทบไม่เหลืออะไรเลย และช่วงดังกล่าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่รู้ว่ามีการกล่าวหาเป็นวาระถอดถอนอยู่ในสภาเพราะไปต่างประเทศ และกลับเมื่อวันที่ 2 พ.ย.และวันที่ 5 พ.ย.หารือกันว่าแม้จะยังไม่ได้รับเอกสารคำกล่าวหาของป.ป.ช.จากสนช. ก็ควรทำหนังสือถึงประธานสนช.เพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นเหตุผลขอเลื่อนการประชุมวันที่ 12 พ.ย. ซึ่งเป็นวันกำหนดแถลงเปิดคดีของ -ผู้กล่าวหา และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้ง คัดค้าน
นายเอนก กล่าวว่า เราจึงทำหนังสือถึงประธานสนช. ขอเลื่อนการประชุมนัดแรกออกไป 30 วัน นับตั้งแต่วันที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับหนังสือแจ้งจากประธานสนช. โดยหนังสือที่ส่งให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงวันที่ 7 พ.ย. หากนับถึงวันนี้ 12 พ.ย. มีเวลาเตรียมแค่ 5 วัน ทราบว่ามีข้อกล่าวหาและเนื้อหา 100 กว่าหน้า พวกตนเพิ่งได้รับเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ซึ่งไม่มีโอกาสได้ดู จึงขอเลื่อนเพื่อให้น.ส. ยิ่งลักษณ์ ได้ศึกษาข้อเท็จจริง ระบุพยานเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ถือเป็นการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ถูกกล่าวหา แต่ผู้กล่าวหาก็เช่นกัน และอย่าละเลยสิทธิ์ของสนช.ที่มีเท่ากับพวกตนคือ 15 วัน ควรให้สมาชิกได้ศึกษาเอกสาร 3,870 หน้า และเป็นเอกสารลับทั้งหมด
4 สนช.ร่วมซักถาม
นายเอนกกล่าวว่า ดังนั้น ขออนุญาตประธานสนช.ถ่ายเอกสารดังกล่าวเพื่อความรวดเร็ว หากตีเป็นลับทั้งหมดและไม่อนุญาตก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้ทีมงานเท่าไรเพื่อดูเอกสาร ทั้งนี้ พวกตนไม่สบายใจที่สมาชิกสนช.บางคนวิจารณ์เรื่องนี้ตลอดเวลา เพราะสมาชิกมีส่วนเกี่ยวข้องให้คุณ ให้โทษ ลงมติได้ จึงขอให้ปฏิบัติตามข้อบังคับด้วย
ด้านนายนรวิชญ์ ชี้แจงว่า วันนี้ไม่ได้มาเอาโทษหรือเอาผิดใคร มาเพื่อปกป้องอดีต นายกฯในฐานะผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นลูกความเท่านั้น ขอชี้แจงว่า วันที่ 30-31 ต.ค.มีเจ้าหน้าที่ประสานมายังตนให้มารับสำเนาราย งานของป.ป.ช. แต่ขณะนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ต่างประเทศ ยังไม่ได้มอบให้ตนและทีมทนายมาดูแลคดีถอดถอน และน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่รู้ว่ามีวาระการถอดถอนบรรจุในสภาแล้ว ขณะนั้นตนยังไม่ได้รับมอบอำนาจ จึงไม่อาจมารับสำเนาของป.ป.ช. แทนอดีตนายกฯได้ จึงไม่มีเจตนาประวิงเวลาใดๆ เมื่อนายกฯกลับมาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มอบให้ทีมทนายดำเนินการ จึงยื่นหนังสือคัดค้านเมื่อวันที่ 5 พ.ย.
จากนั้นนายพรเพชร เปิดให้สมาชิกซักถามข้อสงสัยจากทีมทนาย โดยมีสมาชิกร่วมซัก 4 คน อาทิ นางเสาวณี สุวรรณชีพ ถามว่า ทีมทนายได้รับการประสานจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้มาทำคดียาวนานแค่ไหนเพราะเชื่อว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์เตรียมต่อสู้คดีมายาวนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งประสานกัน ขณะที่นายมณเฑียร บุญตัน ถามว่าแม้น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ต่างประเทศ แต่เหตุใดทีมทนายไม่โทรศัพท์แจ้งให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบข่าวก็สั่งการทีมทนายได้ทันที กรณีการถอดถอน ประชาชนทั่วประเทศทราบดีว่าจะนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมสนช.วันที่ 12 พ.ย. นานแล้ว
มติ 167 ต่อ 16 ให้เลื่อน
นายนรวิชญ์ ชี้แจงข้อซักถามว่า การให้เหตุผลว่ามีการรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ ว่า สนช.ได้บรรจุวาระถอดถอนในวันที่ 12 พ.ย. แสดงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์รับทราบวาระการถอดถอนแล้ว ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะการรับทราบต้องได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการโดยตรงจากสนช.ตามข้อบังคับเท่านั้น เมื่อสนช.ร่างข้อบังคับเพื่อใช้เป็นกฎเกณฑ์พิจารณาแล้วจะละเลยข้อบังคับที่ตนเองร่างขึ้นมาหรืออย่างไร
ต่อมานายพรเพชร ขอมติจากที่ประชุมว่า จะให้เลื่อนการพิจารณานัดแรกเพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดีหรือไม่ ที่ประชุมมีมติด้วยเสียง 167 ต่อ 16 งดออกเสียง 7 เสียง ให้เลื่อนการพิจารณานัดแรกออกไป และที่ประชุมเห็นชอบตามที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการ วิปสนช. เสนอว่า ให้เลื่อนการพิจารณาเป็นวันที่ 28 พ.ย. ตามมติวิปสนช. ทั้งนี้ นายพรเพชรแจ้งว่า เมื่อเลื่อนการพิจารณาออกไปแล้ว ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาตรวจเอกสารและคัดสำนวน 3,870 หน้าได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปในเวลาราชการ และเปิดให้สมาชิกที่ประสงค์เสนอญัตติซักถามเสนอได้ก่อนการประชุมนัดที่ 2
อสส.แจงลือปม'จำนำข้าว'
นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงการประชุมร่วมระหว่างคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.และอสส. พิจารณาข้อไม่สมบูรณ์สำนวนคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในโครงการจำนำข้าว โดยมีกระแสข่าว อสส.จะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และอาจสั่งย้ายอสส.ว่า เป็นแค่ข่าวลือ ที่ผ่านมาพนักงานอัยการยังพบประเด็นที่ไม่สมบูรณ์ จึงให้ ป.ป.ช.ไปรวบรวมพยานหลักฐานและสอบเพิ่มเติมเท่านั้น ยังไม่อยู่ในขั้นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ในคดีนี้ โดยจะเร่งพิจารณาโดยเร็ว แต่ไม่มั่นใจว่าจะเสร็จภายในปีนี้หรือไม่
เมื่อถามว่า จากการประชุมคณะทำงาน ร่วมฯครั้งล่าสุดที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องสืบพยานเพิ่มเติมนั้น ได้รายงานให้อสส.ทราบและมีความเห็นในเรื่องนี้แล้วหรือยัง นาย วันชัยกล่าวว่า ผู้ที่จะรายงานเรื่องนี้แก่อสส. คือนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอสส. จึงยังไม่ทราบว่ารายงานหรือยัง และอสส.มีความเห็นอย่างไร
'ประวิตร'ไม่พูดคดีปรส.
เวลา 09.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 9/2557 แทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ระหว่างเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 25 วันที่ 12-13 พ.ย. ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า
วาระการประชุมครม.วันนี้ มีรายงานผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2557 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ และวาระการขออนุมัติเบิกจ่ายงบกลาง งบฯคงค้างตามนโยบายไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้จะพิจารณาแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่น ในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอพิจารณาแนวทางการท่องเที่ยววิถีไทยปี 2558 ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยจะยังไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ครม.เสร็จสิ้นเมื่อเวลา 12.00 น. โดยพล.อ.ประวิตร ปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ กล่าวทีเล่นทีจริงว่า "ผมไม่ใช่นายกฯ" เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามถึงคดี ปรส.ที่ใกล้หมดอายุความ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ให้ไปถามป.ป.ช.
ภาษีมรดกเข้าครม.นัดหน้า
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ กล่าวหลังประชุมครม. กรณีครม.ไม่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ว่า สาเหตุที่ยังไม่เสนอเป็นวาระการประชุม เนื่องจากรมว.คลัง ส่งเรื่องมากระชั้นชิด ตนจึงส่งเรื่องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเห็นประกอบไม่ทัน ไม่ได้เป็นเพราะมีการแก้ไขเนื้อหาอย่างที่เป็นข่าว หรือนายกฯ ไม่อยู่รับฟัง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวเรื่องเดียวกันว่า ไม่มีการเสนอวาระดังกล่าวเข้าครม.ตั้งแต่แรก เนื่องจากรัฐมนตรีเพิ่งเสนอเรื่องมา คาดว่าคงเสนอเข้าครม.สัปดาห์หน้า วาระวันนี้ไม่ใช่เรื่องด่วนมาก ส่วนเรื่องภาษีมรดกต้องคุยกันหลายคน อีกทั้งรัฐมนตรีนับสิบคนอยู่ต่างประเทศ ทั้งนี้นายกฯ สั่งการว่าไม่ต้องรอ แต่โดยหลักการควรรอให้อยู่ครบและเนื้อหาไม่มีอะไร
เล็งชงครม.ตั้งกก.ที่ปรึกษาปฏิรูป
นายวิษณุ กล่าวกรณีรัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการปฏิรูป 3 ด้าน การเมืองการปกครอง การปกครองท้องถิ่น ด้านเศรษฐกิจและพลังงาน และด้านสังคมและการปฏิรูปสื่อ รวม 300 คนว่า รัฐบาลต้องรอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คัดเลือกบุคคลที่ไม่ได้รับเลือกเป็นสปช. 7,000 คน ทำหน้าที่ผู้ช่วย หรือผู้เชี่ยวชาญของสปช. และร่วมในกมธ.ทั้ง 18 คณะ เสร็จก่อน รัฐบาลจึงจะนำรายชื่อที่เหลือมาคัดเลือกเพื่อทำหน้าที่กรรม การที่ปรึกษาการปฏิรูปในแต่ละด้านทั้ง 3 ด้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการทำงาน เบื้องต้นให้ประชุมสัปดาห์ละครั้ง ใช้งบฯ ไม่มาก ค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมอยู่ระหว่างพิจารณา ไม่ให้เกินอัตราของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ที่เงินเดือน 8,000 บาท และเบี้ยประชุมครั้งละ 2,000 บาท คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนธ.ค.
นายวิษณุ กล่าวว่า จะจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกฯ จัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวและเสนอให้ครม.เห็นชอบต่อไป เมื่อครม.มีมติก็ดำเนินการได้ทันที ขณะที่เวทีเครือข่ายการปฏิรูปที่จะมีสมาชิก 6,000 คน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในส่วนภูมิภาคและจังหวัด ขณะนี้ยังไม่ได้รายงานว่าจะเริ่มนำร่องที่จังหวัดใด เมื่อไร เพราะรอพิจารณาความพร้อมของแต่ละพื้นที่ก่อน
กมธ.ยกร่างรับฟัง-ไม่ใช่ดีเบต
นายวิษณุ กล่าวกรณีกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญทำหนังสือเชิญพรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ ให้ความเห็นประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องกมธ.ยกร่างฯ ดำเนินการ เมื่อถามว่าการเปิดรับฟังความเห็นลักษณะนี้จะได้ผลหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็คงจะได้ผลเพราะกมธ.ยกร่างฯ ต้องรับฟังและแต่ละคนคงมีเรื่องในใจที่อยากพูด หากตั้งประเด็นเจาะเป็นเรื่องๆ ไป แต่ละพรรคจะได้ส่งคนมาคุยได้ถูกเรื่อง หากมาคนเดียวพูดทุกเรื่องคงไม่ได้ เพราะคงนึกไม่ออกว่าจะพูดเรื่องอะไรหรือควรคัดเลือกใครเป็นตัวแทนมาพูดคุย หรือหากกมธ.ยกร่างฯ ไปตั้งคำถามว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ตัวแทนที่มาอาจตอบไม่ได้ และหากจะทำความเห็นเป็นเอกสารมาแทนก็ได้เพราะกมธ.ยกร่างฯ ต้องรับฟังความอยู่
เมื่อถามว่ากังวลการเชิญตัวแทนมาแสดงความเห็นจะกลายเป็นเวทีดีเบตระหว่างกมธ.ยกร่างฯกับพรรคและกลุ่มการเมืองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เชื่อว่าคงไม่มีการดีเบตกัน เพราะกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้ประชุมและยังไม่มีจุดยืนในเรื่องดังกล่าว
นิด้าเสนอปฏิรูป 15 ด้าน
เวลา 14.30 น. ที่รัฐสภา นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะ 20 คน เข้าพบนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ หรือนิด้าโมเดล ทั้งหมด 15 ด้านดังนี้ 1.การปฏิรูปการเมือง การต่อต้านทุจริตและสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้บริหารประเทศ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การปฏิรูประบบพรรค และการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง 2.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มีข้อเสนอ 3 ประเด็น 1.ประเด็นพิจารณาชั้นก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอาญา 2.ประเด็นพิจารณาชั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นก่อนฟ้อง และ 3.การคุ้มครองและเยียวยาเหยื่อ
3.การปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน ต้องปฏิรูป 3 ด้าน 1.ปฏิรูปเพื่อความเข้มแข็งในธรรมภิบาลแห่งรัฐ 2.การปฏิรูปเพื่อการ กระจายอำนาจรัฐไปสู่ประชาชน และ 3.การปฏิรูปเพื่อปรับแก้ความพิการเชิงโครงสร้างของระบบบริหารราชการแผ่นดิน 4.การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ให้ออกกฎหมายคุมสื่อ
5.การปฏิรูปด้านข้อมูลข่าวสาร ให้ออกกฎหมายและนโยบายกำกับดูแลร่วม ปฏิรูปคุณภาพมาตรฐานวิชาการและจรรยาบรรณวิชาชีพในองค์กรสื่อของไทย ปรับโครงสร้าง กสทช.ให้มีคุณภาพมากขึ้น ปรับระบบการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการ 6.ปฏิรูปด้านการท่องเที่ยว ต้องแก้ไข 2 ปัญหา 1.ปัญหาด้านการอุปทานการท่องเที่ยว ทั้งกลไก บริหารจัดการและขับเคลื่อน การพัฒนาการท่องเที่ยว และ 2.ปัญหาด้านอุปสงค์ การตลาดการท่องเที่ยวไทย
7.การปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม 17 ข้อ อาทิ ปฏิรูประบบโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ การใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปฏิรูปการใช้ที่ดินการเกษตร ปฏิรูปกระบวนการจัดทำ EIA EHIA และ SIA 8.การปฏิรูปพลังงาน 4 ด้าน ได้แก่ พลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า และพลังงานหมุนเวียน 9.การปฏิรูปด้านไอที การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โลจิสติก ปฏิรูป 3 ด้าน คือสมรรถนะของโลจิสติก การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของสิ้นค้าหรือธุรกิจในภาพรวม และความสามารถในการตรวจสอบและติดตามสินค้าที่ขนส่ง
มธ.ชู 9 ข้อต้านทุจริต
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิก สปช. ในนามตัวแทนสถาบันการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือต่อประธาน สปช. เสนอแนวคิดทั้ง 9 ข้อว่าด้วยการปฏิรูปการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ให้มีศาลชำนาญพิเศษดำเนินคดีทุจริต มีกระบวนวิธีพิจารณาคดีเป็นระบบ เปิดเผย ไม่ล่าช้า และให้คู่ความอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้และผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ได้กรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รับไต่สวน และคดีทุจริตที่มีโทษไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต้องไม่มีอายุความ รวมถึงไม่นับอายุความระหว่างหลบหนีคดี
นายวสันต์ กล่าวว่า ส่วนป.ป.ช.ให้มีอำนาจตรวจสอบการทุจริตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับ ซี 10 ขึ้นไป รวมถึงกำหนดโทษทุจริตเลือกตั้งให้รุนแรงและเด็ดขาด ผู้สนับสนุนทุจริตเลือกตั้งมีความผิดเทียบเท่าผู้กระทำความผิดและเป็นโทษร้ายแรง และห้ามผู้ที่ถูกตัดสินว่าทุจริตลงเลือกตั้งหรือมีตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
'มาร์ค'ตอบรับกมธ.ยกร่าง
ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประ ธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเชิญตัวแทนพรรคการเมือง และกลุ่มคู่ขัดแย้งต่างๆ มาเสนอความเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า วันที่ 12 พ.ย.จะส่งหนังสืออย่างเป็นทางการเชิญพรรคการเมือง และกลุ่มคู่ขัดแย้งต่างๆ มาร่วมเสนอความเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบรับมาแล้วว่าพร้อมมาร่วมแสดงความคิดเห็นในวันที่ 24 พ.ย. ขณะที่พุทธอิสระ ก็ตอบรับว่าจะมาพบกับประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานกมธ.ยกร่างฯ วันที่ 13 พ.ย. เพื่อให้ความเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่พรรคเพื่อไทยมีท่าทีไม่ขอร่วมแสดงความคิดเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าไม่มาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเข้ามาร่วมถือเป็นบุญคุณในการเขียนรัฐธรรมนูญ ช่วยกันสร้างบรรยากาศดีๆ ให้เกิดขึ้น
นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกคณะกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีกมธ.ยกร่างฯ ส่งหนังสือเชิญพรรคการเมืองและกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเข้าหารือเพื่อเสนอแนวคิดการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า แนวคิดดังกล่าวมีการพูดคุยกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว เพราะเชื่อว่าหากมีพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ มาร่วมเสนอความเห็นเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการ และเป็นการยืนยันด้วยว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มีพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญไว้อยู่แล้วตามที่เป็นข่าวออกมา จึงอยากให้พรรคการเมืองและกลุ่มต่างๆ ส่งตัวแทนเข้ามาเสนอความเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯ หากเป็นผู้บริหารพรรคหรือแกนนำที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ขอยืนยันกมธ.ยกร่างฯมีความจริงใจ เพราะถ้าไม่มีความจริงใจก็คงไม่เชิญพรรคการเมืองหรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม จึงอยากให้ทุกฝ่ายเห็นแก่บ้านเมืองมากๆ
พท.จี้ยกเว้นคำสั่งคสช.
พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมเชิญพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมพูดคุยกรอบการเขียนรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 พ.ย.นี้ว่า พรรคยังไม่ได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ จึงไม่แน่ใจว่ากมธ.ยกร่างฯ จะเชิญพรรคเพื่อไทยร่วมพูดคุยถึงการเขียนรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ที่สำคัญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยทำหนังสือโดยแนบคำสั่งของคสช. มาให้ถึง 2 ครั้ง สั่งห้ามพรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยเด็ดขาด ดังนั้น หากกมธ.ยกร่างฯ ทำหนังสือเชิญให้ร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญจริง กรรม การบริหารพรรคไม่สามารถประชุมเพื่อพูดคุย ระดมความคิดเห็นรวมทั้งข้อเสนอแนะได้เช่นกัน จึงต้องถามกมธ.ยกร่างฯว่าสามารถยกเว้นคำสั่งของ คสช.ในเรื่องนี้ได้หรือไม่
"พรรคพร้อมมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญเพราะถือเป็นเรื่องใหญ่ มีความสำคัญกับการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ แต่เราหนักใจและติดขัดปัญหานี้ ดังนั้นขอรอความชัดเจนจาก กมธ.ยกร่างฯก่อน" พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าว
ปชป.เห็นด้วย-ต้องประชุมพรรค
11.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคให้สัมภาษณ์ถึงกมธ.ยกร่างฯ เชิญไปให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปประเทศว่า ตนพร้อมให้ความร่วมมือโดยจะไปพบกมธ.ยกร่างฯ วันที่ 24 พ.ย.นี้ พรรคเห็นว่าการกำหนดกติกาบ้านเมืองนั้น บทบาทที่ดีที่สุดคือการให้ข้อมูลต่อกมธ.ยกร่างฯ แต่ขณะนี้ยังมีข้อจำกัดว่าพรรคประชุมไม่ได้ อยากให้คสช.ผ่อนคลายข้อจำกัดนี้เพราะพรรคต้องประชุมเพื่อกำหนดท่าทีที่เป็นทางการ ส่วนที่จะแบ่งรัฐธรรมนูญออกเป็นส่วนๆ เข้าใจว่าเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำยากขึ้น แต่อยากให้ย้อนดูสภาพปัญหาก่อน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายห่วงว่าต้องไม่ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาของ ผู้ชนะนั้น ต้องแยก 2 ประเด็น คือการทำให้ประชาชนยอมรับด้วยการทำประชามติ และจะไม่ให้เป็นกติกาที่ผู้ชนะทำได้ทุกอย่างก็ต้องดูในรายละเอียด โดยหาความพอดีระหว่างความชอบธรรมในการดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงกับประชาชนแต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ใช้อำนาจในทางไม่ชอบไม่ได้ การร่างรัฐธรรมนูญต้องมีหลัก ถ้าไม่มีหลักก็ยืนยากเพราะจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข หวังว่าเราไม่ต้องมาเริ่มต้นเขียนรัฐธรรมนูญกันใหม่อีก
ต้านทำสัญญาประชาคม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นชนวนความขัดแย้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสาระของการร่าง ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ ต้องเข้าใจว่าความเห็นของประชาชน หากกำหนดมาตรการที่มีเหตุผลรองรับชัดเจน ความขัดแย้งอาจจะน้อย แต่ถ้าทำบทบัญญัติที่ไม่มีเหตุผลรองรับหรือมีเป้าหมายเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวมก็สุ่มเสี่ยง ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ซึ่งเงื่อนไขทำให้เกิดความล้มเหลวคือ การที่รัฐธรรมนูญถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะจะมีแรงกดดันจากทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนที่สนช.เรียกร้อง หลังพรรคการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวให้ความเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯแล้วให้ทำสัญญาประชาคมว่าจะยอมรับผลจากการปฏิรูป นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นเหตุผลที่ต้องทำอย่างนั้น เพราะพรรคไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจ เป็นเพียงผู้ให้ความเห็นเท่านั้น และประชาชนมีสิทธิ์จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่สปช.ก็มีโอกาสไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเช่นกันจึงเห็นว่าการทำให้ทุกฝ่ายยอมรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือการทำประชามติ จะสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญในอนาคต
'ณัฐวุฒิ'ยันไม่เข้าร่วม
วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.และอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ความคิดที่ประกอบชอบด้วยเหตุผลแล้วตรงกันเป็นเอกภาพ คือความงามในระบอบประชาธิปไตย แต่ความคิดที่แตกต่างด้วยความเคารพและเข้าใจในเหตุผลของกันและกันก็เป็นความงามอีกแบบหนึ่ง ตนขอสงวนสิทธิ์ไม่เข้าร่วมประชุมกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งในฐานะแกนนำนปช.และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าไม่มีความคิดเคลื่อนไหวให้เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางภารกิจปฏิรูปที่ดำเนินการอยู่ ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงเชิญไปพูดคุยขอความเห็นก็ให้ความร่วมมือตลอด
"แต่เท่าที่เห็นข่าวมีบางประเด็นอยากแสดงความเห็นว่า ขออย่าให้รัฐธรรมนูญนี้มีอภิรัฐมนตรีมาอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน อย่าร่างรัฐธรรมนูญภายใต้หลักคิด ยากในการแก้ แต่ง่ายต่อการฉีก ขอให้มีบทบัญญัติให้อำนาจสภาเลือกตั้งตรวจสอบและถอดถอนสภาลากตั้งชุดนี้ได้ ไม่ใช่เข้ามาทำโน่น นั่น นี่ แล้วจากไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ผมปรารถนาจะเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยึดหลักประชาธิปไตยและปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีของประชาชนให้เราเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย" นายณัฐวุฒิ ระบุ
นายณัฐวุฒิ ระบุว่า สิ่งที่น่าประหลาดคือประชาชนกลุ่มที่ไม่ยอมรับที่มาและลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวและพยายามทุกวิถีทางไม่ให้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ที่ประหลาด ไปกว่านั้นคือประชาชนกลุ่มที่สนับสนุนและลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จำนวนไม่น้อยสนับสนุนการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน และสิ่งที่น่าเศร้าคือนักกฎหมายใหญ่หลายคนที่เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ร่วมคิดร่วมทำในการฉีกรัฐธรรมนูญ และจะเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกฉบับหนึ่ง
'ไก่อู'ให้ทำหนังสือขออนุญาต
เวลา 17.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวกรณีนักการเมืองเรียกร้องให้คสช. ปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมพรรคได้ เพื่อระดมความเห็นเสนอแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า หากพรรคใดต้องการประชุมพรรค หรือทำกิจกรรมใดๆ นั้น ขอให้พรรคนั้นทำเรื่องขออนุญาตมายังคสช.โดยระบุเนื้อหาและรายละเอียดกิจกรรมที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะการประชุมระดมความเห็นที่จะนำมาเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งคสช.จะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อย่างไร หรือจะส่งคนเข้าร่วมสังเกตการณ์ ขอให้พรรคอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ โดยที่ยังไม่ได้แสดงเจตนารมณ์มายังคสช.
กมธ.สรุปยกร่างรธน.4 ภาค
เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช. คนที่ 1 ในฐานะประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานประชุมกมธ.ยกร่างฯ จากนั้นเวลา 15.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปช. ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า ที่ประชุมมีมติถึงกรอบแนวทางพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยบททั่วไป แบ่งเป็น 4 ภาคคือ ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน แบ่งเป็น 2 หมวด หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 ประชาชน แบ่งเป็น 5 ส่วนคือ 1.ความเป็นพลเมือง 2.สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง 3.หน้าที่พลเมือง 4.การมีส่วนร่วมทางการเมือง และ5.การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
ภาค 2 ผู้นำทางการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง แบ่งเป็น 7 หมวด หมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำทางการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 3 รัฐสภา หมวด 4 คณะรัฐมนตรี หมวด 5 การคลังและงบประมาณของรัฐ หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และ ประชาชน และหมวด 7 การกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น
ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แบ่งเป็น 2 หมวดคือ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และส่วนที่เป็นองค์กรอิสระ
และภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง แบ่งเป็น 2 หมวดคือ หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม หมวด 2 การสร้างความปรองดอง และบทสุดท้ายจะเป็นบทเฉพาะกาล
ตั้งอนุกก.ด้านเนื้อหา 10 คณะ
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการหยิบปัญหาบ้านเมืองมาเป็น กรอบยกร่างฯ ซึ่งกมธ.เห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกมธ. ด้านเนื้อหา 10 คณะ ซึ่งรับผิดชอบยกร่างในแต่ละภาค โดยคณะอนุกมธ. ประกอบด้วย กมธ.ยกร่างฯ 4-5 คน ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย และสปช. เนื่องจากเห็นว่าท้ายสุดร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณาของสปช.วันที่ 17 เม.ย. 2558 ดังนั้น หากให้สปช.เข้าร่วมตั้งแต่ตอนนี้ จะเกิดความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของแต่ละมาตรา และทำให้การพิจารณารวดเร็วยิ่งขึ้น
คาดนำทูลเกล้าฯ 4 ก.ย.
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า โดยวันที่ 13 พ.ย.จะมีคำสั่งตั้งอนุกมธ.ให้เสร็จสมบูรณ์ จากนั้นอนุกมธ.จะเริ่มทำงานล่วงหน้าได้ทันที และเมื่อครม. สนช. คสช. สปช.เสนอความเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯครบถ้วนในวันที่ 19 ธ.ค.2557 เชื่อว่าจะมีความคิดเห็นตกผลึก นำมาสู่การเริ่มยกร่างได้ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.เป็นต้นไป โดยมีเวลา 120 วัน ทำให้เสร็จในวันที่ 17 เม.ย. 2558 และคาดว่าจะนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมได้ในวันที่ 4 ก.ย. 2558 และเชื่อว่าปลายเดือนก.ย.จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรัฐธรรมนูญลงมา
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มยุวทัศน์ที่ให้เยาวชนมีส่วนร่วมกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีมติตั้งอนุกมธ.ขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศและการจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตที่ดีกว่า มีนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานอนุกมธ.ดังกล่าว ส่วนการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายบวรศักดิ์ได้ลงนามในหนังสือถึงพรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ และมีบางพรรคติดต่อกลับมา เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ขอเลื่อนเข้าให้ความเห็นเป็นวันที่ 24 พ.ย.นี้ และขณะที่พุทธอิสระ จะเข้าหารือกับประธานกมธ.ยกร่างฯ และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ในวันที่ 13 พ.ย.ด้วย
คาดเลือกตั้งพ.ย.58
โฆษกกมธ.ยกร่างฯกล่าวถึงการแบ่งรัฐธรรมนูญเป็นภาคจะเกี่ยวข้องกับความยากง่ายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ก็คำนึงถึง อย่างภาคที่ 1 หมวดพระมหากษัตริย์ และประชาชน ไม่อยากให้แก้ไขได้ง่าย แต่โดยรวมรัฐธรรม นูญทั้งฉบับก็ไม่อยากให้แก้ไขง่าย ซึ่งจะกำหนดในบททั่วไปจะแก้ไขภาคไหน จะมีวิธีการและใช้เสียงเท่าไร
เมื่อถามว่า การยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะเริ่มเมื่อใด พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญร่างเสร็จและส่งในวันที่ 17 เม.ย.2558 อนุกมธ.แต่ละคณะจะเริ่มร่างกฎหมายลูกได้แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในการพิจารณาของสปช. สนช. และคสช. คิดว่าน่าจะใช้เวลา 3 เดือน และหากมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ก็ให้อนุกมธ.ไปปรับกฎหมายลูกที่กำลังยกร่าง หากดำเนินการตามกรอบนี้ จะเลือกตั้งได้ภายในปลายเดือนพ.ย. 2558
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าการให้พรรคมาแสดงความคิดเห็นนั้น ไม่จำเป็นต้องไปขอคสช. ให้ผ่อนปรนประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน เพราะเชื่อว่าแต่ละพรรคโดยเฉพาะหัวหน้าพรรครู้ว่าใครมีความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ให้มาแสดงความคิดเห็น และที่ผ่านมายังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคว่าติดขัดตามประกาศดังกล่าวหรือไม่ มีเพียงพูดผ่านสื่อ และเรื่องนี้ไม่ขัดต่อประกาศคสช. จึงอยากให้พรรคและกลุ่มการเมืองเข้าใจกมธ.ยกร่างฯ โดยเฉพาะประธาน อยากเปิดกว้างที่สุดเพื่อให้เห็นว่าไม่มีพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ แต่อยากทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับมากที่สุด
วิปสปช.ตั้งอีกกมธ.5 คณะ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะเลขานุการ กมธ.กิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) กล่าวภายหลังประชุมวิปสปช.นัดแรกว่า ที่ประชุมพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ และพิจารณาองค์ประกอบจำนวนบุคคลที่จะเป็นกมธ.วิสามัญทั้ง 5 คณะ 1.กมธ.วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ มี 12 คน ซึ่ง 11 คนมาจากสปช. อีก 1 คนคือเลขาธิการสปช. 2.กมธ.วิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศ ไทย มี 12 คนโดย 7 คนมาจากสปช. 5 คนจากผู้เชี่ยวชาญ 3.กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นชองประชาชน มีไม่เกิน 30 คน มาจากสปช.ที่เป็นตัวแทนกมธ.ทั้ง 18 คณะ และตัวแทนสปช.จังหวัดจาก 4 ภาค รวมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกไม่เกิน 8 คน 4.กมธ.วิสามัญประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป ไม่เกิน 12 คน มาจากสปช. 7 คน ผู้เชี่ยวชาญ 5 คน 5.กมธ.วิสามัญจัดทำจดหมายเหตุและเจตนารมณ์ในการปฏิรูปของสภา มี 10 คน มาจากสปช. 3 คนและ ผู้เชี่ยวชาญ 5 คน ผู้ชำนาญการ 2 คน
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 17 พ.ย. สปช.จะนัดประชุมใหญ่เพื่อแจ้งให้รับทราบการแต่งตั้งวิปสปช. และพิจารณาอำนาจหน้าที่องค์ประกอบของกมธ.วิสามัญ 5 คณะ นอกจากนี้จะตั้งศูนย์รับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยใช้ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รับข้อมูลความคิดเห็น โดยมีเลขาธิการสปช. รับผิดชอบ และมีคณะทำงานดูแล ประกอบ ด้วยน.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่ 2 นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิปสปช. ตนและนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภา ในฐานะเลขาธิการสปช. นอกจากนี้จะแจ้งสมาชิกสปช.ถึงกรอบเวลาที่กมธ.ปฏิรูปประจำสปช.ทั้ง 18 คณะ รวมถึงกมธ.วิสามัญที่เกี่ยวข้อง จะต้องสรุปความเห็นให้สปช.ภายในวันที่ 10 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อสปช.จะจัดประชุมและพิจารณาในวันที่ 15 -16 ธ.ค ก่อนยื่นข้อเสนอและความคิดเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯวันที่ 19 ธ.ค. ตามกรอบเวลา 60 วันที่รัฐธรรมนูญระบุไว้
บิ๊กตู่ประชุมอาเซียนซัมมิต
ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่อยู่ระหว่างเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 ที่กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย.ว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 22 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน นายกฯพร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยาและคณะ เดินทางถึงกรุง เนปิดอว์ ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. เวลา 20.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งช้ากว่าไทย 30 นาที เพื่อเตรียมประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 12 พ.ย. ขณะที่พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ ล่วงหน้ามาถึงตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย.และเยี่ยมศูนย์ MICC ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดอาเซียน
เวลา 09.00 น. นายกฯ พร้อมนางนราพร เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยมีพล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์ ต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ จากนั้นประธา นาธิบดีเมียนมาร์ในฐานะประธานอาเซียนกล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม และกล่าวแนะนำพล.อ.ประยุทธ์ และนายโจโค วิโดโด้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในฐานะผู้นำใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมประชุมอาเซียนเป็นครั้งแรก
ประธานาธิบดีเมียนมาร์ กล่าวว่า หัวข้อหลักของการประชุมคือ การก้าวไปข้างหน้าสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและประชาคมที่สงบสุขและเจริญรุ่งเรือง แม้เศรษฐกิจโลกจะมีความไม่แน่นอน แต่การบริโภคภายในอาเซียนยังคงแข็งแกร่ง คาดว่าปีหน้า เศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตขึ้นร้อยละ 5 จากนั้นผู้นำอาเซียนถ่ายรูปหมู่บนเวทีร่วมกัน ก่อนรับชมการแสดงทางวัฒนธรรมและเข้าสู่การประชุมอย่างเป็นทางการ
ชูตั้งเขตศก.พิเศษชายแดน
เวลา 10.30 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถ้อยแถลงแสดงความชื่นชมการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของเมียนมาร์ และแสดงความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอาเซียน พร้อมกล่าวขอบคุณประเทศสมาชิกที่เข้าใจสถานการณ์การเมืองในไทยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ยืนยันว่าไทยยังคงให้ความสำคัญต่ออาเซียนและจะยึดมั่นต่อพันธกรณีต่างๆ ในการสร้างประชาคมอาเซียน เพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค
นายกฯกล่าวถึงการสร้างประชาคมอาเซียนว่า จะช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกปัจจุบัน โดยเสนอว่าปี 2558 อาเซียนควรให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสมาชิก ทั้งการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดนด้วยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ร่วมกันดูแลและแก้ไขภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น อาทิ โรคติดต่อ ยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการต่อต้านการลักลอบค้ามนุษย์ระดับภูมิภาค และอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ให้เสร็จ สำหรับวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนหลังปี 2558 ควรให้ความสำคัญกับวาระของประชาชนในการยกระดับการดำรงชีวิต
ปัญหาทะเลจีนใต้-แก้กันเองได้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประชากรส่วนใหญ่ในอาเซียนประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงควรร่วมกันพัฒนาภาคการเกษตรให้แข็งแกร่ง สร้างความมั่นคงทางรายได้ โดยพัฒนาความรู้และนำนวัตกรรมและเทคโน โลยีเพื่อยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม อาเซียนกำลังจะเปิดเสรีมากขึ้นจึงต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงชายแดนมากขึ้น ต้องแสดงท่าทีร่วมกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกภูมิภาคที่จะมีผลกระทบต่ออาเซียน เช่น ปัญหาความรุนแรงในภูมิภาคต่างๆ ปัญหาโรคระบาดอีโบลา ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน ส่วนเรื่องทะเลจีนใต้ ต้องแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่าอาเซียนและจีนแก้ปัญหากันเองได้ และจะรักษาสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุขัดแย้งขึ้นอีก โดยปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็เร่งรัดกระบวนการการเจรจาจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้
ถกทวิภาคีนายกฯอินเดีย
เวลา 11.30 น. พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับนายนเรนทรา โมดี นายกฯอินเดีย ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯแถลงว่า นายกฯกล่าวชื่นชนผลงานการบริหารรัฐคุช ราดประสบความสำเร็จมีความมั่นคงทางเศรษฐ กิจ เป็นตัวอย่างความสำเร็จแก่รัฐอื่นๆ และนโยบายของนายกฯอินเดียที่เน้นพัฒนาเศรษฐกิจ การกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกภาคส่วน ตรงกับแนวนโยบายพัฒนาประเทศของรัฐบาลไทย พร้อมเชิญนายกฯอินเดียเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ACD ไทยจะเป็นจ้าภาพจัดการประชุมในช่วงไตรมาสที่ 4 ในปี 2558 และในปีนี้ ไทยจะมีงานนิทรรศการเกี่ยวกับหลักปรัชญาด้านการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและมหาตมะ คานธี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาและเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นายกฯอินเดียกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดีย พร้อมกล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนม พรรษา 5 ธันวาคม พร้อมชื่นชมพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดีย ช่วยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างกันมาตลอด พร้อมส่งผู้แทนระดับสูงร่วมงานนิทรรศการที่ไทยจะจัดเพื่อขึ้นและตอบรับร่วมการประชุมสุดยอด ACD ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีหน้าด้วย
จากนั้นช่วงบ่ายเป็นการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียน และผู้นำประเทศคู่เจรจา รวมถึงการประชุมในกรอบต่างๆ โดยเวลา 13.45 น. ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมาร์ พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นประชุมระดับผู้นำประจำปีที่จัดขึ้นในช่วงประชุม สุดยอดอาเซียนในช่วงปลายปี เพื่อติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือ กำหนดทิศทางในอนาคต และสนับสนุนบทบาทของอินเดียในภูมิภาค โดยนายนเรนทรา โมดี นายกฯอินเดีย เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่งใหม่
ร่วมประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น
เวลา 15.00 น. ที่ศูนย์ประชุม MICC กรุงเนปิดอว์ พล.อ.ประยุทธ์ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 17 ซึ่งประชุมระดับผู้นำประจำปีระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศกับผู้นำญี่ปุ่น เพื่อทบทวนความร่วมมือกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น และประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
นายกฯ กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นคู่เจรจาที่มีความสำคัญลำดับต้นและชื่นชมญี่ปุ่นที่มีบทบาทแข็งขันในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องในด้านเศรษฐกิจ พร้อมสนับสนุนให้ญี่ปุ่นมีบทบาทในการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไทยสนับสนุนการรับรองแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น เพื่อความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและปราบปราม การบังคับใช้กฎหมาย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในด้านอาชญกรรมข้ามชาติ การก่อการร้ายและอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ในลำดับแรก และหนึ่งในปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่อาเซียนต้องให้ความสำคัญคือ ภัยพิบัติ จึงควรเน้นการสร้างความเตรียมพร้อมและลดความเสี่ยง ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนญี่ปุ่นเป็น เจ้าภาพจัดการประชุม third UN World Conference on Disaster Risk Reduction ในปีหน้าเพื่อเสริมสร้างการเตรียมความพร้อมในระดับโลก
ยก 4 ข้อหารืออาเซียน-ยูเอ็น
เวลา 16.30 น. ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมาร์ พล.อ.ประยุทธ์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 6 เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ในอนาคต ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เลขาธิการอาเซียน และนายบัน คีมุน เลขาธิการยูเอ็น
พล.อ.ประยุทธ์ แสดงวิสัยทัศน์ว่า ไทยยินดีที่ยูเอ็นพร้อมขยายความร่วมมือกับอาเซียนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และสนับสนุนแผนงานของอาเซียน-ยูเอ็น จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาแนวทางความร่วมมือของอาเซียน-ยูเอ็นสำหรับอนาคต
นายกฯ ได้หยิบยก 4 ประเด็นหลักมาหารือ ประเด็นแรก ความร่วมมือด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ไทยจึงต้องการเห็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agricultural Organization- FAO) โดยเฉพาะช่วยอาเซียนแก้ปัญหารายได้ตกต่ำของภาคการเกษตรในระยะยาว พัฒนาภาคเกษตรกรรมให้แข็งแกร่งยั่งยืน ต้องการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลกโดยเฉพาะประเทศผู้นำเข้าอาหาร
จี้บูรณาการแผนปฏิบัติการยูเอ็น
ประเด็นที่สอง การบรรเทาภัยพิบัติ ไทยชื่นชมบทบาทของเลขาธิการยูเอ็นในเรื่องการเสริมสร้างให้ประเทศต่างๆ พร้อมรับมือภัยพิบัติ ซึ่งมีความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติในทุกรูปแบบ ไทยจึงยินดีที่เห็นแผนงานอาเซียน-ยูเอ็นระบุการจัดการภัยพิบัติและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เน้นการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ และการวางระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ
ประเด็นที่สาม การส่งเสริมความเชื่อมโยงของอาเซียน แผนงานความร่วมมืออาเซียน-ยูเอ็นจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างแนวปฏิบัติระดับภูมิภาค เรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดนและการขนส่ง บูรณาการระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอาเซียน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขนส่งอาเซียนปี 2554-2558
ประเด็นที่สี่ การแก้ไขผลกระทบความมั่นคงจากการสร้างความเชื่อมโยง การขนส่งสินค้า และบุคคลที่มีความสะดวกยิ่งขึ้น หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี อาจนำมาซึ่งปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าการค้ายาเสพติด และการค้ามนุษย์ เราจึงสนับสนุนความร่วมมือระหว่างอาเซียนและยูเอ็น เพื่อช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ รวมทั้งการอนุวัติปฏิญญาอาเซียน ว่าด้วยการปกป้องและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ แบ่งปันข้อมูลและแนวปฏิบัติระหว่างรัฐบาลอาเซียนและช่วยป้องกันไม่ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีนโยบายและการดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างฐานข้อมูล โดยลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติทุกคนในราชอาณาจักร เพื่อสร้างความมั่นใจ และความโปร่งใสให้กับระบบการจ้างงานของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านในไทย
นายกฯ กล่าวว่า หวังว่าอาเซียนและยูเอ็นจะก้าวไปข้างหน้า สู่ความเป็นหุ้นส่วนอย่างแท้จริง และขอฝากให้เลขาธิการอาเซียนและเลขาธิการยูเอ็นมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการแผนปฏิบัติการสหประชาชาติหลังปี 2558 และวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเชียน หลังปี 2558 เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชนอาเซียน