- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 11 November 2014 14:08
- Hits: 3504
สปช.ลุยปฏิรูป-ทำแผน 1 ปี ภิวัฒน์ไทย ยังกั๊กประชามติรธน.ใหม่ โผ 18 ประธานกมธ.ลงตัว 'ชัย'การเมือง'พิสิฐ'ศก. วิปสนช.ถกเลื่อนถอด'ปู' โปรดเกล้าฯ'282 บิ๊กตร.'
วิป สนช.หารือวันถอดถอน'ปู'มีแนวโน้มเลื่อนสูง หลังยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้สำนวนคดีทุจริตข้าวของ ป.ป.ช.'เทียนฉาย'สรุประดมความคิดปฏิรูปประเทศของ สปช. เรียก'วิสัยทัศน์ภิวัฒน์ไทย'มุ่งเป้าปฏิรูป 6 เรื่อง ยืนยันใน 1 ปีจะคลอดแผนปฏิรูป
@ 'ประวิตร'สั่งเหล่าทัพชูปรองดอง
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ถนนแจ้งวัฒนะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เดินทางตรวจเยี่ยม บก.ทท. โดยมี พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้การต้อนรับ พล.อ.ประวิตรได้ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ 3 เหล่าทัพ จากนั้นรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการทำงานและอุปสรรคของกองทัพไทย พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติงานที่เร่งด่วนให้แก่เหล่าทัพ
เวลา 12.00 น. พล.อ.ประวิตรแถลงข่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการเหล่าทัพทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถมาด้วยดีตลอด เหล่าทัพมีความเป็นปึกแผ่นมาก อีกทั้งมีการพัฒนาในทุกด้านทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ความรู้ความสามารถ และประสิทธิภาพของกำลังพล สำหรับกรอบนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้ทุกกระทรวงและเหล่าทัพดำเนินการกับประชาชนที่ยังมีความคิดแตกแยก และสร้างความปรองดองให้เกิดกับคนในชาติให้ได้ ต้องทำให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปี ต้องสนับสนุนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เกี่ยวกับเรื่องปฏิรูปประเทศ ซึ่งในเรื่องการปฏิรูปทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการมาโดยตลอดเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ ต่างชาติให้การยอมรับเป็นอย่างดี
@ ให้กมธ.รธน.ตัดสิน"ประชามติ"
พล.อ.ประวิตรกล่าวต่อว่า เรื่องการปฏิรูปจะต้องดำเนินการทั้ง 11 ด้านตามที่กำหนดไว้ นอกเหนือจากนั้นเราจะดำเนินการทุกเรื่อง โดยเฉพาะ สปช.และผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช.ทั้งหมดยังอยู่ใน 4 เวทีที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้สามารถปฏิรูปประเทศได้ทุกเรื่อง ขอให้ผ่านทาง สปช.ที่จะรับเรื่องราวของประชาชนและนักวิชาการกลุ่มต่างๆ ขณะนี้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเริ่มดำเนินการ ในส่วนของรัฐบาลจะตั้งคณะทำงานควบคู่กับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จจะต้องทำประชามติหรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่
"แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่ได้บัญญัติไว้ จะให้ทำดีหรือไม่ ผมไม่ทราบและผมเพียงคนเดียวก็ไม่สามารถตอบได้ ต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป" พล.อ.ประวิตรกล่าว และว่า กรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 และประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พยากรณ์ไว้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทางทหารจะสนับสนุนแน่นอน คิดว่าเมื่อทหารถอดเครื่องแบบก็คือประชาชน ดังนั้น ประชาชนต้องเป็นคนให้การสนับสนุน เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าและลดความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง
@ ปล่อยให้ปชช.เลือกเองหลังมีรธน.
เมื่อถามว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา แต่ยังมีพรรคการเมืองเดิมๆ กลับมา จะยอมรับได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ผมไม่ทราบ ไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ข้างหน้าได้ เราหวังว่าเมื่อปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากประชาชนเลือกเข้ามาก็ไม่มีปัญหาอะไร"
เมื่อถามว่า จะเปิดให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอกหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่มีความเห็น เป็นหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และทาง สปช.เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนการที่มีคนจับตามองว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็ให้มองกันต่อไป จะมองอะไรก็มองกันไป ตนได้เข้ามาช่วยประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีขอร้อง วันนี้ทุกคนที่เข้ามาทำงานตั้งใจทำงาน อยากให้ประเทศชาติสงบ รวมทั้งสื่อมวลชนจะต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยกันก็ลำบาก
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร พร้อมด้วย พล.อ.อุดมเดช และคณะได้เดินทางตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพอากาศ ในเวลา 13.30 น.
@ บิ๊กป๊อกปัดวิจารณ์"อภิรัฐมนตรี"
เมื่อเวลา 13.40 น. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงข้อเสนอกลุ่มย่อยของนักวิชาการในเวทีประชุมวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า มีการเสนอดุลอำนาจที่ 4 คือการตั้งอภิรัฐมนตรี ว่า ไม่มีความเห็นเรื่องนี้ เอาเป็นว่าจะต้องมีใครหาข้อยุติให้ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นหากไม่หาข้อยุติก็ไม่รู้จะไปอย่างไร ส่วนจะไปยุติจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง และกรณีที่สังคมถกเถียงว่ารัฐธรรมนูญ ควรทำประชามติหรือไม่นั้น ให้คนที่มีหน้าที่ดำเนินการ ต้องพูดกันด้วยเหตุ ด้วยผล และหนทางความเป็นไปได้ทั้งหมด ผลดีจะเกิดกับประเทศชาติ หรือสังคมสามารถเดินไปได้ ให้ไปว่ากันตรงนั้นดีกว่า
เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญที่ออกมาควรเป็นอย่างไรจึงจะลดความขัดแย้งของบ้านเมืองได้ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า "มองว่าขอให้รัฐธรรมนูญ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ตรวจสอบกันได้ ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติดูแลการปฏิบัติงานของรัฐบาลได้ และรัฐบาลทำงานได้โดยไม่มีข้อติดขัด สามารถที่จะถ่วงดุลกันได้ก็น่าจะเป็นคำตอบ เราเองก็ไม่ต้องห่วง รัฐบาลอยากทำอะไรก็อยู่ในกรอบและสภาก็ควบคุมได้"
@ "สมชาย"ยกเหตุประชามติรธน.50
นายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวกรณีข้อเสนอการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า การทำประชามติมีข้อดี เช่น ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เคยทำประชามติ เป็นหลักประกันทำให้เป็นที่ยอมรับ แต่ก็เป็นที่ยอมรับระดับหนึ่งเท่านั้น ในฐานะเคยร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าการทำประชามติจะเป็นการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันรัฐธรรมนูญในอนาคต ที่ผ่านมาเคยทำประชามติเพื่อยอมรับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแต่อาจมีบางประเด็นหรือบางข้อสงสัยที่มีคนไม่เห็นด้วย แต่ก็มีการทำประชามติว่าให้รับรัฐธรรมนูญนั้นไปก่อน แล้วมาแก้ไขกันในภายหลัง ตรงนี้เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะมีการแบ่งขั้วแบ่งข้างชัดเจน สำหรับการทำรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถ้ามีการทำประชามติแล้วมีการยอมรับจากประชาชน แต่ขณะที่ สปช.ต้องเป็นผู้ลงมติยอมรับรัฐธรรมนูญในอนาคต หากไม่ยอมรับแล้วจะทำอย่างไร ในทางตรงข้าม ถ้า สปช.ยอมรับรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนลงประชามติไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญก็อาจเป็นปัญหาเกิดขึ้นได้ และจะแก้ปัญหานี้อย่างไรนี่คือข้อสังเกต
@ เชื่อไม่เหมาะกับรธน.
"ผมไม่ได้มีปัญหาเรื่องที่จะทำประชามติหรือไม่ เพราะถ้าทำก็อาจมีการทำได้บางประเด็น เช่น เรื่องของสิทธิเสรีภาพ อาจกำหนดให้มีหลักการที่อยู่ในกฎหมายอื่น อย่างเช่น ประเทศสกอตแลนด์ที่มีการทำประชามติเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ในประเทศไทยยังมีการใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การทำประชามติได้อยู่ก็อาจจะทำได้เรื่องที่เป็นกรอบกว้างๆ ก่อน แต่การทำประชามติอาจจะไม่เหมาะกับการยกร่างรัฐธรรมนูญที่อาจมีข้อจำกัดหลายอย่าง เราอาจจะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาให้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายก่อน หากใช้ไปแล้วมันไม่ดีก็เอามาแก้ไขกันด้วยหลักการทำประชามติได้ ผมว่าการทำประชามติไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาทำเฉพาะในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เราอาจทำได้เฉพาะส่วน เช่น ในประเทศยุโรป มีการทำประชามติเรื่องของร้านค้าออนไลน์ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมฟังความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง" นายสมชายกล่าว
นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. กล่าวว่า เห็นว่าควรทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะจำเป็นต้องรับฟังเพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด
@ สัมมนาสปช.ชงลดเหลื่อมล้ำ
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการจัดสัมมนาของสมาชิก สปช.ต่อเป็นวันที่สอง ในช่วงเช้ามีการนำเสนอผลการสัมมนากลุ่มย่อย 10 กลุ่มภายใต้หัวข้อ "เราจะไปสู่อนาคตที่หวังไว้ได้อย่างไร" โดยมีการเน้นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การศึกษาและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ละกลุ่มเห็นว่าการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจควรต้องปรับปรุง อย่างเรื่องระบบภาษีต้องเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อให้คนที่มีฐานะเสียภาษีมากขึ้น อาทิ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบก้าวหน้า ภาษีทรัพย์สิน ภาษีรถยนต์แบบก้าวหน้า รวมทั้งเข้มงวดกวดขันการจัดเก็บภาษี การบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าให้เกิดความเป็นธรรม ลดการผูกขาด มีการสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงด้วยการสร้างโอกาสในการทำงาน ให้ความรู้ทางวิชาชีพ และให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางเกษตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนการศึกษาเห็นว่าต้องพัฒนาให้มีมาตรฐานอย่างเท่าเทียม เน้นบุคลากร หลักสูตรวิชาชีพ รวมทั้งปลุกจิตสำนึกพลเมือง ภาครัฐต้องเพิ่มการเปิดพื้นที่การศึกษาทางเลือก สร้างโอกาสให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย ให้เข้าถึงการศึกษา และควรปรับแก้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารด้านบุคลากรทางการบริหารครูให้อยู่กับผู้บริหารสถานศึกษาหรือท้องถิ่น ปรับปรุงคุณภาพด้านการศึกษา ส่งเสริมให้เด็กใช้สมองมากกว่าการท่องจำ เพิ่มเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวรับรู้สวัสดิการสังคมและการจัดการศึกษาให้เป็นวาระแห่งชาติ ให้เรียนฟรีในสายอาชีพและปริญญาตรีใบแรก กระจายการศึกษาสู่ท้องถิ่น
@ "เทียนฉาย"วางเป้าปฏิรูป6เรื่อง
จากนั้น เวลา 16.00 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. แถลงสรุปผลการหารือเรื่อง "สานพลัง สปช.ออกแบบอนาคตประเทศไทย" ว่า สปช.ได้ระดมความคิดเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับอนาคต การทำงานให้เป็นแนวทางที่เราจะเดินไปให้บรรลุภาระกิจภายใน 1 ปีข้างหน้า และเป็นพื้นฐานเพื่อประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นได้ประมวลความคิดผ่านโครงการสานพลัง สปช.ออกแบบอนาคตประเทศไทย ที่ยังไม่ใช่บทสรุปของทั้งหมด
นายเทียนฉาย กล่าวต่อว่า เมื่อได้อ่านแนวทางการปฏิรูปจากรัฐธรรมนูญพบว่ามีเป้าหมายของการปฏิรูป 6 เรื่อง คือ 1.เมื่อปฏิรูปประเทศแล้ว จะได้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับสังคมไทย 2.มีระบบเลือกตั้งที่สุจริตแล้วเป็นธรรม 3.มีกลไกป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ 4.ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 5.สามารถให้การบริการประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว 6.มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทั้งที่เกิดจากทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงทรัพยากร และการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นวิสัยทัศน์ภิวัฒน์ไทย ภาพฝันอนาคตประเทศไทยในอีก 20 ปี ข้างหน้า
@ คิกออฟ"วิสัยทัศน์ภิวัฒน์ไทย"
"สุดท้ายนี้ เรายังมีความจำเป็นต้องสร้างระบอบคัดกรองคนดีเข้าสู่ระบอบการเมือง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ เราอยากมีระบบสภาพลเมือง สภาท้องถิ่น สภาประชาชนในระดับตำบลและระดับชาติ เพื่อคัดกรองคนดีและถอดถอนนักการเมืองได้ อยากมีองค์กรตรวจสอบโดยเครือข่ายภาคประชาชาชนมีสถานะเช่นเดียวกับองค์กรอิสระ เพื่อตรวจสอบการประพฤติมิชอบของนักการเมืองระดับภาคและท้องถิ่น ควรให้มีการศึกษาเพื่อให้เป็นพลเมืองที่ตื่นตัวทางการเมือง กำหนดระยะเวลาและการดำรงตำแหน่ง ปฏิรูประบบเลือกตั้ง กำหนดวงเงินหาเสียงกำหนดโทษของการทุจริตการเลือกตั้งและปฏิรูปบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และปรับโครงสร้างการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองและการถอดถอน ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการหารือตลอด 2 วัน เราเรียกมันว่า วิสัยทัศน์ ภิวัฒน์ไทย นี่คือการคิกออฟของ สปช. นับจากนี้จะเป็นวาระแห่งชาติที่เราจะต้องทำงานร่วมกันต่อไป" นายเทียนฉายกล่าว
@ มั่นใจ1ปีแผนปฏิรูปสำเร็จ
นายเทียนฉายให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า กรอบที่ สปช.จะต้องส่งต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเวลา 60 วัน หรือจนถึงวันที่ 14 ธันวาคม เป็นเวลาที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) กำหนดไว้แล้ว หลังจากนี้ต้องทำความเข้าใจในรายละเอียด วันนี้เป็นเพียงการกำหนดประเด็น หลังจากนั้นจะปฏิรูปแต่ละประเด็นที่สรุปกัน เมื่อ สปช.เห็นชอบแล้ว ถ้าจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย หากยกร่างเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ฎ.ก็จะเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณา แต่หากเป็นเรื่องการจัดการองค์กรจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ แต่ทั้งหมดยังเป็นกรอบใหญ่บางเรื่องต้องใช้เวลาเป็นแรมปี ต้องอาศัยผู้ที่เกี่ยวข้องประคับประคองให้เกิดความสำเร็จ ยืนยันว่าภายในระยะเวลา 1 ปีจะได้แผนและแนวทางปฏิรูป รวมถึงในบางเรื่องจะเริ่มปฏิบัติได้ ส่วนที่เหลืออาจจะต้องมีการดำเนินการในระยะยาวต่อไป
นายเทียนฉายกล่าวต่อว่า ในวันที่ 11 พฤศจิกายน จะมีการประชุม กมธ.วิสามัญประจำ สปช. ทั้ง 18 คณะ เมื่อพิจารณาตามกรอบแล้วเสร็จ ทุกคณะก็เริ่มทำงานได้ทันที ส่วนที่เป็นข้อมูลพื้นฐานก็จะนำมาวิเคราะห์ลงในกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุม สปช.จะพูดคุยกันก่อนที่จะนำไปสู่การรับฟังความคิดเห็น ขณะนี้ทราบว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นมีอยู่หลากหลาย รัฐบาลให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดรับฟังความคิดเห็น ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาก็มีเวทีรับฟังความเห็น คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปครั้งนี้
@ เทียนฉายเผยปมประชามติรธน.
นายเทียนฉาย ยังกล่าวถึงประเด็นการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ต้องไปหารือในที่ประชุม สปช. แต่ถ้าจะทำประชามติจริงต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสามารถแก้ได้ไม่มีปัญหา โดย สปช.จะเป็นผู้เสนอ จะให้ สนช.หรือรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญก็ได้ มองว่าการทำประชามติยังเป็นเรื่องที่ไกลตัว ยังไม่ควรพูดตอนนี้ ยังไม่อยากให้พูดถึงหาง ให้ทำเรื่องหัวก่อน
@ สปช.18 คณะรับฟังปชช.2 ทาง
นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งใน กมธ.วิสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการคัดสรรสมาชิก สปช.ลงใน กมธ.ปฏิรูป 18 คณะ ว่า แต่ละคณะจะมี กมธ. 33 คน แบ่งเป็นสมาชิก สปช. 27 คน คนนอก 6 คน และ กมธ.ที่มีเพียงคณะละ 25-26 คน รวม 3 คณะ คือ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ กมธ.สาธารณสุข โดยจะนำรายชื่อทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุม สปช.รับรองในวันที่ 11 พฤศจิกายน จากนั้น กมธ.แต่ละคณะจะแยกไปประชุมเพื่อเลือกประธาน รองประธาน และตำแหน่งต่างๆ โดย กมธ.แต่ละคณะจะต้องเลือกตัวแทนคณะละ 1 คนไปเป็นคณะกรรมาธิการกิจการ สปช. (วิป สปช.) ด้วย
นายธรณ์ กล่าวถึงวิธีการรับฟังความเห็นของประชาชนว่า กมธ.ทั้ง 18 คณะจะรับฟังความเห็นของประชาชน 2 วิธี วิธีแรก เน้นจากล่างขึ้นบน ประสานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัด และ สปช.จังหวัด วางกรอบประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และวิธีการจากบนลงล่าง กมธ.แต่ละคณะจะมีเครือข่ายและคณะทำงานที่ประสานกับประชาชนอยู่แล้ว พร้อมนำข้อมูลจากประชาชน นักวิชาการ และ กมธ.ที่มีการศึกษาและวิจัยเพื่อนำมาประมวลข้อคิดเห็นต่างๆ ก่อนจะสรุปผล
@ เปิดโผปธ.กมธ.ปฏิรูป 18 คณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อประธาน กมธ.วิสามัญประจำ สปช.ทั้ง 18 คณะ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าบุคคลจะทำหน้าที่ประธาน กมธ.วิสามัญประจำ สปช.ทั้ง 18 คณะ ดังนี้ 1.กมธ.ปฏิรูปการเมือง ได้แก่ นายชัย ชิดชอบ 2.กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ นายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ 3.กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ 4.กมธ.ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ นายพงศ์ โพยม วาศภูติ
5.กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กมธ.กฎหมาย 6.กมธ.ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์การท่องเที่ยว และการบริการ ได้แก่ นายเกริกไกร จีระแพทย์ 7.กมธ.ปฏิรูปพลังงาน ได้แก่ นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ 8.กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข ได้แก่ นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ 9.กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด 10.กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ นายจุมพล รอดคำดี
11.กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ นายอำพล จินดาวัฒนะ 12.กมธ.ปฏิรูปการแรงงาน ได้แก่ พล.ท.เดชา ปุญญบาล 13.กมธ.ปฏิรูปป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้แก่ นายประมนต์ สุธีวงศ์ 14.กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 15.กมธ.ปฏิรูปการกีฬา ได้แก่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา 16.กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ นายศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์ 17.กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง และ 18.กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ได้แก่ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม
@ คู่ขัดแย้งตบเท้าเข้าร่วมพรึบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ กมธ.ที่เป็นที่จับตามอง ได้แก่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เนื่องจากมีนักการเมืองคู่ขัดแย้งทางการเมืองร่วมคณะ อาทิ กลุ่ม 40 ส.ว. เช่น นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายวันชัย สอนสิริ และอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) เช่น พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย และอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เช่น นายอลงกรณ์ พลบุตร นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ขณะที่ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน มีความน่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางด้านพลังงานเข้าร่วมจำนวนมาก เช่น น.ส.รสนา โตสิตระกูล ที่เคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปเรื่องพลังงาน นอกจากนี้ยังมีผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม ได้แก่ นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด และนายอนนต์ สิริแสงทักษิณ รองกรรมการผู้จัดการสถาบันวิจัย ปตท. เป็นต้น
@ พท.ขอกมธ.เขียนกฎห้ามยึดอำนาจ
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พท. กล่าวว่า อยากเสนอ 1 ม. 2 ย. ให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา คือ 1 ม.ม็อบ เมื่อมีรัฐบาลขอให้จัดเวทีให้กลุ่มผู้ชุมนุมมีร่มรั้วรอบขอบชิด อยู่เฉพาะที่ที่จัดให้ อย่างเช่น สวนจตุจักรหรือสวนรถไฟ เป็นเวลา 2 วัน เพื่อป้องกันการจราจรติดขัด จากนั้นรัฐบาลต้องมารับฟังปัญหาและนำไปแก้ไข ส่วน 2 ย. คือ ย.ยุบสภา ต้องกำหนดชัดเจนว่าห้ามยุบสภา ให้ลาออกได้เท่านั้น หากนายกฯบริหารบ้านเมืองไม่ได้ก็ให้ลาออก และตั้งนายกฯคนใหม่โดยสภา และ ย.ที่ 2 คือ ยึดอำนาจ ออกเป็นกฎหมายเลยว่าต่อไปห้ามยึดอำนาจห้ามปฏิวัติเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นทุกอย่างจะติดขัดหมด
@ สนช.หารือคำร้องคัดค้านทนายปู
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. กล่าวกรณีทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร้องคัดค้าน สนช.ขอให้เลื่อนการพิจารณากระบวนการถอดถอนออกไปเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งการประชุมวิป สนช.วันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ จะได้หารือกันว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรที่ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับสำนวนของ ป.ป.ช.ไปศึกษาไม่น้อยกว่า 15 วันจริงหรือไม่ หากเป็นจริงคงต้องเลื่อนออกไปเพื่อให้ความเป็นธรรม แต่จะเลื่อนไปวันใดขึ้นอยู่กับมติวิป สนช. ไม่ใช่ 30 วันตามที่ทีมทนายร้องขอ หากทนายร้องขอเป็นปีก็ต้องให้ตามที่ร้องขอหรือไม่ ต้องดูที่ความเหมาะสม ส่วนการพิจารณาคดีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภารัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นการพิจารณากำหนดวันและขั้นตอนในกระบวนการถอดถอน
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 กล่าวว่า ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 13.30 น. ที่ประชุมวิป สนช.จะพิจารณาคำร้องของทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะให้เลื่อนการประชุม สนช.ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ออกไปเป็นเวลา 30 วันหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า ควรให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน มีข้อเท็จจริงเห็นชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศจึงยังไม่ได้รับสำนวน ป.ป.ช.ไปศึกษา เท่าที่ดูแนวโน้มคงจะให้เลื่อนการประชุมวาระการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกไปก่อน
@ สนช.ส่งหนังสือด่วนเรียก"ปู"
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) และที่ปรึกษากฎหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทีมทนายความได้รับหนังสือด่วนจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ขอเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือตัวแทน เข้าประชุม สนช.ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เพื่อชี้แจงเหตุผลการขอให้ สนช.เลื่อนวาระการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันดังกล่าวออกไป ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มอบให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความเป็นผู้ชี้แจงแทน ส่วนเหตุผลที่ขอเลื่อนเนื่องจากข้อบังคับการประชุมระบุว่า สนช.ต้องส่งเอกสารและสำนวนการถอดถอนให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ศึกษาสำนวนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันประชุมนัดแรกหรือวันที่ 12 พฤศจิกายน แต่ขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้รับสำนวนถอดถอนจาก สนช.เลย ถ้าจะนับระยะเวลา 15 วัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องได้สำนวนถอดถอนมาศึกษาก่อนวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา
นายพิชิต กล่าวว่า ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับผลกระทบ ขาดโอกาสตรวจสอบและศึกษาสำนวนล่วงหน้า หากมีเวลาศึกษาเพื่อเตรียมในการแถลงเปิดคดี จะได้ทราบว่า ต้องขอเพิ่มเติมพยานบุคคลและพยานเอกสารส่วนใดบ้าง ซึ่งต้องยื่นพยานส่วนนี้ให้ที่ประชุม สนช.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน ก่อนการเปิดประชุมนัดแรก ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ยืนยันว่า ไม่ใช่การประวิงเวลา
@ เผย"ปู"ไม่ได้กังวลถอดถอน
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง หนึ่งในทีมทนายความ พท. กล่าวว่า ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ จะเข้าไปชี้แจงให้ สนช.รับทราบ ขึ้นอยู่กับ สนช.จะมีมติเลื่อนหรือไม่เลื่อน หากไม่เลื่อน สนช.ก็ต้องนัดวันเปิดแถลงคดี ให้ต่างฝ่ายชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในเวลาที่กำหนด ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปในวันเปิดแถลงคดีหรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังอยู่ในการหารือ
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมต่อสู้หรือกังวลในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายนรวิชญ์กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้กังวล เพราะเป็นการถูกกล่าวหาว่าทุจริต เป็นเรื่องความคิดต่างในเชิงนโยบายระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ นโยบายต่างๆ ถูกตรวจสอบได้โดยรัฐสภาและประชาชนน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้กังวลอะไร แต่แปลกใจว่า สนช.ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่จะมาถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเรื่องแปลกประหลาดอยู่เหมือนกัน