- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 11 November 2014 14:03
- Hits: 3521
วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8749 ข่าวสดรายวัน
'ปู'ส่งทนายแจง สนช.ถอย ส่อเลื่อนถกสอย อ๋อยซัดรธน.แยกส่วน เอื้อให้เกิดรัฐประหาร สปช.คิกออฟลุยปฏิรูป หนุนจัดตั้งสภาพลเมือง
งานเลี้ยง - นายสี จิ้นผิง ประธา นาธิบดีจีน พร้อมภริยา ต้อนรับพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และภริยา ในงานเลี้ยงผู้นำเอเปก ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 10 พ.ย.
'พีระศักดิ์' ชี้แนวโน้ม สนช.เลื่อนวาระถอดถอน 'ปู' เหตุข้อบังคับสนช.ต้องส่งสำนวนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน'จาตุรนต์'ซัดร่างรธน.แยก 3 ส่วน ขัดหลักประชาธิปไตย เอื้อรัฐประหาร 'ปึ้ง'วอนเขียนให้เป็นกลาง เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความ 'อภิรัฐมนตรี'ไม่ใช่เรื่องจำเป็นในระบอบปชต. สปช.ชู 6 เป้าหมายปฏิรูป หนุนตั้ง 'สภาพลเมือง''บิ๊กตู่' อ้อนนักธุรกิจ-นักเรียนไทยในจีน โดนสื่อออนไลน์โจมตี จับเข่าผู้นำปาปัวฯ-ฟิลิปปินส์ ร่วมมือการค้าการลงทุน บิ๊กบริษัทหัวเว่ยหนุนไทย'ไอทีฮับ'
วันที่ 10 พ.ย. ที่รัฐสภา นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวกรณีทีมทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ขอเลื่อนการเปิดประชุมสนช.เพื่อพิจารณาวาระถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในโครงการจำนำข้าว วันที่ 12 พ.ย.ออกไปก่อนว่า วันที่ 11 พ.ย. เวลา 13.30 น. ที่ประชุมวิปสนช.จะพิจารณาคำร้องขอของทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าจะให้เลื่อนการประชุมสนช.ในวันที่ 12 พ.ย.ออกไปเป็นเวลา 30 วันหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าควรให้เลื่อนการประชุมสนช.วันที่ 12 พ.ย.ออกไปก่อน เพื่อให้ความเป็นธรรม เนื่อง จากมีข้อเท็จจริงเห็นชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ จึงยังไม่ได้รับสำนวนป.ป.ช.จากสนช. ไปศึกษา ดังนั้น ต้องเปิดโอกาสให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สู้อย่างเต็มที่ ขณะที่ข้อบังคับการประชุมสนช.ก็ระบุว่าจะต้องส่งสำนวนป.ป.ช.ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปศึกษาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันประชุมนัดแรก เท่าที่ดูแนวโน้มคงจะให้เลื่อนการประชุมวาระการถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 12 พ.ย.ออกไปก่อน แต่จะให้เลื่อนกี่วันคงต้องหารือกันอีกครั้ง
27 พ.ย.ถกขั้นตอนถอด 2 ปธ.
ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิปสนช. กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า วันที่ 11 พ.ย. จะหารือกันว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ที่ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้รับสำนวนไปศึกษาไม่น้อยกว่า 15 วัน จริงหรือไม่ หากเป็นจริงก็คงต้องเลื่อนออกไปเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา แต่จะเลื่อนไปวันใดก็ขึ้นอยู่กับมติสนช. ไม่ใช่ 30 วัน ตามที่ทีมทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ร้องขอ เพราะหากทนายร้องขอเป็นปีก็ต้องให้ตามที่ร้องขอหรือไม่ ซึ่งต้องดูที่ความเหมาะสม ส่วนการพิจารณาคดีของนาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวันที่ 27 พ.ย. โดยจะเป็นการพิจารณากำหนดวัน และขั้นตอนในกระบวนการถอดถอน
ทีมทนายยิ่งลักษณ์ ชี้แจงสนช.
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษากฎหมายน.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทีมทนายได้รับหนังสือด่วนจากสนช.ให้ไปชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่ขอให้เลื่อนวาระการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 12 พ.ย.แล้ว โดยจะส่งนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายสมหมาย กู้ทรัพย์ ไปชี้แจงต่อสนช.วันที่ 12 พ.ย.นี้ เหตุผลที่ขอเลื่อนเนื่องจากข้อบังคับการประชุมสนช.ระบุว่า สนช.ต้องส่งเอกสารและสำนวนการถอดถอนให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ศึกษาสำนวนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันประชุมนัดแรกหรือวันที่ 12 พ.ย. แต่ขณะนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้รับสำนวนถอดถอนจากสนช. ถ้านับเวลา 15 วันก็ต้องได้สำนวนถอดถอนก่อน วันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา
นายพิชิต กล่าวว่า การที่สนช.ยังไม่ส่งสำนวนถอดถอนมาให้ ทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขาดโอกาสตรวจสอบและศึกษาสำนวนล่วงหน้า ซึ่งสำนวนป.ป.ช.คดีนี้มีเป็นพันหน้า ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยเห็นสำนวนของป.ป.ช. จึงต้องมีระยะเวลาเพียงพอที่จะศึกษาทำ ความเข้าใจ เตรียมข้อมูลแถลงเปิดคดี จะได้ทราบว่าจะต้องขอเพิ่มเติมพยานบุคคลและพยานเอกสารในส่วนใดบ้าง ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องยื่นพยานส่วนนี้ให้ที่ประชุมสนช.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน ก่อนเปิดประชุมนัดแรกวันที่ 12 พ.ย. ยืนยันไม่ใช่การประวิงเวลา เพราะสิ่งที่ขอก็ไม่ได้เกินไปกว่าเรื่องที่อยู่ในข้อบังคับการประชุม และสนช.จะได้ไม่ถูกมองว่าเร่งรีบรวบรัดพิจารณาคดี
ยันไม่ได้ประวิงเวลา
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า เมื่อมีการประชุมโดยยังไม่ส่งสำเนาให้ผู้ถูกกล่าวหา สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่จะระบุบัญชีพยานเพิ่มเติม ก็ไม่มี และข้อบังคับบอกว่าต้องยื่นก่อนประชุมนัดแรก หากประชุมนัดแรกวันที่ 12 พ.ย. สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่มีโอกาสยื่นพยานเพิ่มเติมและผิดข้อบังคับ สนช.ด้วย อีกทั้งสนช.เพิ่งส่งหนังสือให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา และตนเพิ่งรับทราบว่ามีหนังสือมา หลังชี้แจงแล้วขึ้นอยู่กับ สนช.ว่าจะมีมติเลื่อนหรือไม่ หากไม่เลื่อน สนช.ต้องนัดวันเปิดแถลงคดี ให้ต่างฝ่ายชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในเวลาที่กำหนด ส่วนน.ส. ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปในวันเปิดแถลงคดีหรือไม่นั้น ยังอยู่ระหว่างการหารือ แต่ยืนยันว่าการขอเลื่อนการพิจารณาไม่ได้ทำเพื่อประวิงเวลา
เมื่อถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมต่อสู้หรือมีความกังวลในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นาย นรวิชญ์กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้กังวล เพราะเป็นการกล่าวหาว่าทุจริต เป็นเรื่องความคิดต่างในเชิงนโยบายระหว่างพรรคใหญ่ 2 พรรค ซึ่งนโยบายต่างๆ ถูกตรวจสอบได้โดยรัฐสภาและประชาชนอยู่แล้ว แต่แปลกใจว่า สนช.ที่มาจากการแต่งตั้ง แต่จะมาถอดถอนคนที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเรื่องแปลกประหลาดอยู่เหมือนกัน
ปปช.ด่วนฟ้องอาญา'ปู'ไม่ได้
นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด (อสส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่าย อสส.พิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เผยว่า ได้ให้อธิบดีคดีพิเศษรายงานด้วยวาจาให้นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส.ทราบแล้ว และจะทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 1-2 วันนี้ โดยจะเสนอว่า ภายหลังประชุมคณะทำงานร่วมแล้วฝ่ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยอมสอบพยานให้บางปาก เอกสารบางอย่าง ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังตกลงกันไม่ได้ ดังนั้น ต้องดูว่านายตระกูลจะสั่งการอย่างไรต่อไป
"จะเสนอไปว่า ภายหลังคุยกันแล้วได้ความอย่างนี้ ป.ป.ช.ยอมสอบให้บางเรื่อง เช่น เรื่องเอกสาร ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังตกลงกันไม่ได้ ต้องรอว่าอสส.จะสั่งการอย่างไรต่อไป อาจบอกว่า ไม่ได้ต้องสอบต่อ หรือยอมรับเพียงแค่นั้นก็แล้วแต่"นายวุฒิพงศ์ กล่าว
เมื่อถามกรณีเลขาธิการ ป.ป.ช.ระบุหากประชุมร่วมครั้งต่อไปยังไม่ได้ข้อสรุปจะฟ้องเองนั้น ป.ป.ช. มีอำนาจหรือไม่ นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ป.ป.ช. ยังไม่มีอำนาจฟ้องเองในขณะนี้ เพราะเรายังไม่ได้รวบรวมข้อไม่สมบูรณ์ ยังไปไม่ถึงไหน ยังไม่ได้อะไร ต้องรอให้ นายตระกูลตัดสินใจ เพราะขั้นตอนยังไม่ถึง
"ขั้นตอนจะถึงก็ต่อเมื่อเราบอกว่าข้อมูลอย่างนี้ ยังไม่พอ ถ้าฝ่ายเขาบอกพอและเป็นคำสั่งของอัยการสูงสุด ถ้าไม่พอก็ต้องว่ากัน ก็ยังไม่มีข้อยุติ คือต้องไม่สามารถหาข้อยุติได้เสียก่อน ป.ป.ช.จึงจะมีอำนาจไปฟ้องเอง ต้องรอท่าทีของอัยการสูงสุดจะว่าอย่างไร"นายวุฒิพงศ์กล่าว
'ประวิตร'มอบนโยบายเหล่าทัพ
เวลา 10.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ถ.แจ้งวัฒนะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ตรวจเยี่ยมบก. ทท.อย่างเป็นทางการ โดยมีพล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์ สุวานิชย์ ผบ.ทร. พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. และพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ต้อนรับ พล.ประวิตร เป็นประธานในพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติ 3 เหล่าทัพ จากนั้นรับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการทำงานและอุปสรรคของกองทัพไทย พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติงานที่สำคัญเร่งด่วนให้เหล่าทัพ
เวลา 12.00 น. พล.อ.ประวิตรแถลงหลังตรวจเยี่ยมว่า กรอบนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เหล่าทัพดำเนินการโดยเฉพาะเรื่องความปรองดอง รัฐบาลมอบหมายให้ทุกกระทรวงและเหล่าทัพดำเนินการกับประชาชนที่ยังมีความคิดแตกแยก และสร้างความปรองดองให้เกิดกับคนในชาติให้ได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องเข้าใจที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ที่ต้องสนับสนุนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เกี่ยวกับเรื่องปฏิรูปประเทศ เรื่องการปฏิรูปคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการมาโดยตลอดเพื่อให้เป็นไปตามโรดแม็ป ขณะนี้ต่างชาติก็ให้การยอมรับเป็นอย่างดี
ไม่ตั้งกก.ประกบกมธ.ยกร่าง
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เรื่องการปฏิรูปต้องดำเนินการทั้ง 11 ด้าน นอกเหนือจากนั้นเราจะดำเนินการทุกเรื่อง โดยเฉพาะสปช.และผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสปช. ทั้งหมดยังอยู่ใน 4 เวทีที่รัฐบาลกำหนดไว้ ทุกเรื่องขอให้ผ่านทางสปช. โดยจะรับเรื่องราวทุกอย่างของประชาชนและนักวิชาการกลุ่มต่างๆ ให้เข้าไปสู่สปช. เพื่อดำเนินการได้ ขณะนี้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งเริ่มดำเนินการ
ตรวจคลอง - พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมคณะนั่งเรือตรวจเยี่ยมชุมชนริมคลองบางบัว ย่านบางเขน กทม. กำชับเจ้าหน้าที่ให้ยึดนโยบาย "ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม พัฒนาสังคมร่วมกันอย่างยั่งยืน" เมื่อวันที่ 10 พ.ย. |
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการทำงานควบคู่กับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ต้องทำและไม่ต้องมี ซึ่งปล่อยให้เป็นเรื่องของกมธ.ยกร่าง เมื่อถามว่าทางนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 และประธานกมธ.ยกร่างพยากรณ์ไว้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ทางทหารจะสนับสนุนแน่นอน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ทหารเมื่อถอดเครื่องแบบก็คือประชาชน ดังนั้น ประชาชนต้องเป็นคนให้การสนับสนุน เพื่อให้ประเทศสามารถเดินไปข้างหน้าและลดความขัดแย้ง เพื่อสร้างความปรองดอง
หัวเราะข่าวคั่วเก้าอี้นายกฯ
เมื่อถามว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา แต่ยังมีพรรคการเมืองเดิมๆ ยังกลับมา จะยอมรับได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ผมไม่ทราบ เพราะไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ข้างหน้าได้ เราหวังว่าเมื่อปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว หากประชาชนเลือกเข้ามาก็ไม่มีปัญหาอะไร"
เมื่อถามว่า จะเปิดให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่มีความเห็น เป็นหน้าที่ของกมธ.ยกร่าง และทางสปช.เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อถามว่ามีคนจับตามองพล.อ.ประวิตร ว่าจะเป็นนายกฯคนต่อไป พล.อ.ประวิตร หัวเราะและกล่าวว่า "ก็ให้มองกันต่อไป จะมองอะไรก็มองกันไป เชิญเถอะครับ ผมเข้ามาช่วยประเทศตามที่นายกฯขอร้อง ผมก็ต้องเข้ามาช่วยทำ แต่วันนี้ทุกคนที่เข้ามาทำงานตั้งใจทำงาน อยากให้ประเทศชาติสงบ รวมทั้งสื่อมวลชนจะต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยกันก็ลำบาก"
เมื่อถามว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะต้องทำประชามติหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องของกมธ.ยกร่าง เป็น ผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่ แต่ทางรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ จะให้ทำดีหรือไม่ตนไม่ทราบและตนคนเดียวก็ไม่สามารถตอบได้ ต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ครม.ยังไม่ถก"ภาษี-รถไฟราง"
พล.อ.ประวิตรกล่าวกรณีเดินทางเยือนญี่ปุ่นว่า ตนเดินทางไปตามคำสั่งของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้าคสช. และในฐานะรมว.กลาโหม โดยไปดำเนินการเรื่องความมั่นคงและได้เข้าพบรมว.กลาโหมของญี่ปุ่น เพื่อพูดคุยถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความร่วมมือการฝึก ศึกษาและการแลกเปลี่ยนการเยือนผู้นำระดับเหล่าทัพ ตลอดจนอุตสาหกรรมป้อง กันประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทางเราก็ต้องการให้คนของเราไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อร่วมมือกันดำเนินการให้กองทัพมีความเข้มแข็ง
นอกจากนี้ ตนยังได้เข้าพบรมว.หลายกระทรวง รวมถึงนักธุรกิจ มีการชี้แจงสถาน การณ์ในไทยให้ได้เข้าใจว่ากำลังดำเนินการอะไรอยู่และที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เขาเข้าใจเป็นอย่างดีและยืนยันถึงความร่วมมือ ส่วนเรื่องรถไฟความเร็วสูงนั้นได้มีการพูดคุยกัน รวมทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งหมดที่ได้ร่วมมือกันและสามารถดำเนินการได้ ยังต้องมีรายละเอียดที่จะต้องพูดคุยกันต่อไป
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 พ.ย.นี้ว่า เท่าที่ทราบยังไม่มีการพิจารณาเรื่องสำคัญอะไร เพราะที่ผ่านมานายกฯดำเนินการทุกอย่างแล้ว การประชุมเป็นไปตามวาระ ไม่น่ามีปัญหาอะไร สำหรับเรื่องการพิจารณาภาษีมรดกนั้นกำลังดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่พิจารณาในการประชุมครม.วันที่ 12 พ.ย. รวมถึงเรื่องการพิจารณารถไฟรางคู่ด้วย
'จาตุรนต์'ค้านร่างรธน.แยกส่วน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊กกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ระบุประชา ธิปไตยไทยก้าวหน้ากว่าทุกประเทศในอาเซียน เมื่อผ่านอุบัติเหตุไปได้ต้องไปไกลกว่าทุกประเทศ ว่า ควรยอมรับด้วยความขมขื่นว่าประชาธิปไตยเราล้าหลัง อยู่อันดับท้ายๆ ของอาเซียนและไม่มีแนวโน้มดีขึ้นในเร็วๆ นี้ สาเหตุหนึ่งมาจากบางพรรคและนักการเมืองบางคนที่ร่วมทำลายประชาธิปไตย และช่วยแก้ต่างให้กับการทำลายประชาธิปไตยอย่างหน้าชื่นตาบาน
นายจาตุรนต์ ระบุว่า ส่วนที่เสนอให้มีรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ หรือฉบับหนึ่ง แต่ให้มี 3 ส่วนคือ ส่วนที่แก้ยากที่สุด อีก 2 ส่วนแก้ยากลดหลั่นกันลงมานั้น นั่นคือการมีรัฐธรรมนูญแบบที่ยอมรับว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ทำได้ การบัญญัติดังกล่าวเท่ากับรองรับการรัฐประหารให้ทำได้สะดวกขึ้น เมื่อทำแล้วก็ไม่ต้องยุ่งยากซับซ้อน เป็นการอำนวยความสะดวกแก่การรัฐประหาร
นายจาตุรนต์ ระบุว่า การมีความคิดเช่นนี้ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจำนวนไม่น้อยจะคิดเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมามีการพิสูจน์แล้วว่ารัฐธรรมนูญของไทยไม่ใช่กฎหมายสูงสุดจริง หากเป็นเรื่องสมมติชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น คำสั่งของคณะรัฐประหารต่างหากที่เป็นอำนาจสูงสุด และเพื่อให้การใช้อำนาจสูงสุดนี้ไม่มีอุปสรรคยุ่งยาก จึงมีคนคิดออกแบบรัฐธรรมนูญให้อำนวยความสะดวกแก่การรัฐประหาร ให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไป
'ปึ้ง'อัด"สมบัติ"กลางเวทีกปปส.
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯและรมว.ต่างประเทศ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกที่มีสมาชิก สปช.บางคนไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญ และข้อเสนอหลายข้อทั้งการขยายเขตเลือกตั้งให้ใหญ่ขึ้น ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค ล้วนเป็นความคิดจากพวกที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเป็นนักการเมือง ไม่เคยอยู่ในพื้นที่จึงไม่เข้าใจความต้องการของประชาชน รัฐธรรมนูญต้องเป็นกลางอย่างแท้จริง สร้างความเชื่อมั่นและน่าเชื่อถือ แต่ละมาตราใช้ได้ในชีวิตจริง เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่เขียนให้ตีความ ควรเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย วันนี้ สปช.บางกลุ่มแสดงความเห็นอย่างไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม ไม่คิดสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง ฝากนายกฯ ช่วยตักเตือนด้วย
เมื่อถามว่า หากนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสปช. ได้เป็นประธานกมธ.ปฏิรูปการเมืองจะยอมรับได้หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า นายสมบัติเป็นกลางหรือไม่ ตนไม่รู้ แต่รู้ว่าเป็นกลางบนเวที กปปส.
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เหตุผลที่แต่ละพรรคไม่เข้าร่วมในเวทีสปช.เพราะทราบดีว่าไม่ว่าพรรคจะแสดงความเห็นใดก็ไม่สามารถโหวตชนะกับกลุ่มก้อนที่แพ็กมาแน่น จึงขอเรียกร้องให้ทำประชามติ หากไม่เห็นด้วยหรือรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ยิ่งจะเป็นผลดีต่อ คสช.และรัฐบาล เนื่องจากต้องร่างใหม่ รัฐบาลจะอยู่ยาวขึ้น และเสนอว่าควรเขียนรัฐธรรมนูญให้ชัดว่าเปิดช่องให้แก้ไขได้หรือไม่ หากได้ก็ต้องไม่มีการฟ้องร้องหรือถอดถอน ถ้าไม่ให้แก้ก็เขียนให้ชัดว่าหากมีการปฏิวัติ ผู้ปฏิวัติต้องโทษประหารชีวิตหรือไม่ รวมทั้งเขียนให้ชัดว่ารัฐธรรมนูญห้ามแก้ไข ห้ามฉีก ให้ใช้ไปจนวันตาย ใครแก้ให้ประหารชีวิต
อภิรัฐมนตรีไม่ใช่เรื่องจำเป็น
นายสุรพงษ์กล่าวถึงข้อเสนอจากนักวิชาการในการประชุมวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า ให้มี"อภิรัฐมนตรี" เพื่อเป็น ผู้ชี้ขาดกรณีอำนาจ 3 ฝ่ายขัดแย้งกันว่า ฟังแล้วไม่เข้าใจแนวคิดของนักวิชาการบางคน ประเทศไทยปกครองภายใต้ระบอบประชา ธิปไตย ไม่มีอะไรอยู่เหนือประชาธิปไตย การดึงบุคคลพิเศษเข้ามาไม่ใช่เรื่องจำเป็น ระบอบประชาธิปไตยจะสมบูรณ์หรือไม่ อยู่ที่คนไทยกันเอง อยู่ที่การเคารพความคิดเห็นของคนอื่นด้วย
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงศาลอาญารับฟ้องกรณีนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหาใช้ตำแหน่งสมยอมกับประเทศกัมพูชาเรื่องปัญหาปราสาทพระวิหารว่า ให้ทนายความฟ้องร้องและดำเนินการกับนายชวนนท์ โดยจะให้ปากคำช่วงเดือนม.ค.2558 ยืนยันว่าจะไม่มีการยอมความแน่นอน เพราะมีการกล่าวหาหลายเรื่อง ทำให้ตนเสียหาย
แจงวิธีสปช.รับฟังความเห็น
ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โฆษกกมธ.สามัญสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในกมธ.วิสามัญประจำสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการสรรสมาชิก สปช.ลงใน กมธ.ปฏิรูป 18 คณะ ว่า แต่ละคณะจะมีกมธ.จำนวน 33 คน แบ่งเป็นสมาชิกสปช. 27 คนและคนนอก 6 คน โดยมีกมธ.ที่มีจำนวนกมธ. 25-26 คน เพียง 3 คณะ คือ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค กมธ.ปฏิรูป การสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสาร สนเทศ และกมธ.สาธารณสุข ซึ่งจะนำรายชื่อทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมสปช.วันที่ 11 พ.ย.เพื่อให้ที่ประชุมสปช.รับรอง จากนั้นกมธ.แต่ละครั้ง จะแยกประชุมเพื่อเลือกประธาน รองประธานและตำแหน่งต่างๆ นอกจากนั้น กมธแต่ละคณะจะต้องเลือกตัวแทนคณะละ 1 คนไปเป็นกมธ.กิจการสปช. หรือ วิปสปช.
บิ๊กหัวเว่ย - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือกับนายหยาง ฉู่ กก.ผจก.บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี ระหว่างร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 22 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 10 พ.ย. |
นายธรณ์ กล่าวถึงวิธีการรับฟังความเห็นของประชาชนว่า กมธ.ทั้ง 18 คณะจะรับฟังความเห็นของประชาชน 2 วิธี วิธีแรก เน้นจากล่างขึ้นบนโดยประสานสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัด และสปช.จังหวัดนั้นๆ โดยจะวางกรอบประ เด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และวิธีการจากบนลงล่าง ซึ่งกมธ.แต่ละคณะจะมีเครือข่ายและคณะทำงานที่จะประสานกับประชาชนอยู่แล้ว โดยพร้อมจะนำข้อมูลจากในส่วนของประชาชน นักวิชาการ และกมธ.ที่มีการศึกษาและวิจัยเพื่อนำมาประมวลข้อคิดเห็นต่างๆ ก่อนที่จะสรุปผล
ไม่ประชามติให้รีบประชาพิจารณ์
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. กล่าวถึงวิธีการจัดสรรคนนอกสปช.เข้าเป็นกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะ ว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งวิธีการจัดสรรขณะนี้ยังไม่กำหนด เบื้องต้นรายชื่อกมธ.คนนอก รัฐบาลคงเป็น ผู้เสนอเข้ามา และให้วิปสปช.พิจารณาจัดสรรบุคคลคลและบรรจุชื่อเข้าแต่ละคณะ
นายดิเรก กล่าวว่า กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะจำเป็นต้องรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด หรือหากไม่ทำประชามติเพราะกลัวเสียเวลา ก็เห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ควรรีบเร่งทำประชาพิจารณ์กับประชาชน
สปช.วาดฝัน 20 ปี-ลดเหลื่อมล้ำ
เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการฯ มีการสัมมนาสมาชิก สปช.วันสุดท้าย ช่วงเช้ามีการสรุปผลการปต่มะชุมกลุ่มย่อย 10 กลุ่ม ในหัวข้อ "อนาคตใน 20 ปี ที่อยากเห็น: ฝันว่าอยากจะเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรใน 20 ปี ข้างหน้า" กลุ่มย่อยส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปในแนวทางเดียวกันว่าอนาคต 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยในฝันที่ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม ทรัพยากร และการศึกษา โดยการลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การมีช่องว่างระหว่างรายได้ระหว่างคนรวยคนจน ต้องปรับปรุงนโยบายการคลังและระบบภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้น จัดเก็บภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า มีการจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีตลาดหลักทรัพย์ และภาษีรถยนต์แบบก้าวหน้า รถคันใหญ่กินน้ำมันมากหรือใครมีรถหลายคันต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ต้องเข้มงวดกวดขันการจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น ทำให้คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้น ปรับจากทุนนิยมเสรีเป็นสังคมนิยมเสรี และต้องส่งเสริมการผลิตแข่งขันอย่างเสรี ลดการผูกขาด ให้เกษตรกรได้รับราคาพืชผลอย่างเป็นธรรม ไม่ถูกกดราคา กำหนดมาตรการให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
แฉครูต้องจ่ายค่าโยกย้ายเข้าเมือง
ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากร ทั้งด้านป่าไม้ ที่ดิน น้ำ ต้องจัดสรรและบริหารจัดการอย่างเป็นธรรมให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม มีการปฏิรูปและจัดสรรที่ดินเพื่อคนยากจน การเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง รวมทั้งกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ยังมีการรวมศูนย์ ซึ่งต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ลดบทบาทของผู้ว่าฯ ให้มีหน้าที่กำกับดูแลท้องถิ่น
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สมาชิก สปช. สรุปผลการประชุมของกลุ่ม 9 เรื่องลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ต้องส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายให้สอดคล้องกับผู้เรียนและท้องถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพอาชีวะ ส่งเสริมคุณภาพและพัฒนาบุคลากรครูให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเวลานี้เกิดปัญหาในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ครูถูกเรียกค่ากิโลและเสียตัวหากต้องการจะย้ายเข้ามาสอนในเมือง ดังนั้น จึงต้องแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายให้มีความเป็นธรรม
ปรับวาระฝ่ายบริหาร
ขณะที่กลุ่มอื่นๆ เสนอให้ลดจำนวนมหาวิทยาลัยที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน ผลักดันให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ส่งเสริมและคุ้มครองวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น รัฐประกันโอกาสทางการศึกษา ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการด้านต่างๆ คือการเมืองไม่ เอื้อต่อการปฏิรูป
ส่วนนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิก สปช. สรุปผลการประชุมของกลุ่ม 9 ว่า ให้มีการปรับวาระการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของฝ่ายบริหารไม่ให้อยู่นานเกินไป เพื่อไม่ให้นักการเมืองมีอิทธิพลมากขึ้น มีสภาพลเมืองทำหน้าที่คัดกรองคนดีลงสมัครรับเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นทุกระดับ และให้ประชาชนประเมินผลการทำงานของนักการเมืองได้ กำหนดวงเงินในการเสียงให้สอด คล้องกับสภาพความเป็นจริงในการเลือกตั้ง
เทียนฉายสรุปผลสัมมนา
เวลา 16.00 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. แถลงสรุปผลการจัดสัมมนาว่า สปช.ระดมความคิดเพื่อเป็นพื้นฐานการทำงานเพื่อให้บรรลุภารกิจภายใน 1 ปีข้างหน้า และเป็นพื้นฐานก่อนรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อไป เบื้องต้นเมื่ออ่านแนวทางปฏิรูปจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พบมีเป้าหมายปฏิรูป 6 เรื่องคือ เมื่อปฏิรูปประเทศแล้วต้องได้ระบอบประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับสังคมไทย ได้การเลือกตั้งที่สุจริตเป็นธรรม ได้กลไกป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งคัด ทำให้กลไกรัฐสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนได้ทั่วถึง นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ทั้งหมดนี้จะเป็นวิสัยทัศน์-ภิวัฒน์ไทย ภาพฝันอนาคตประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า
นายเทียนฉาย กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ต้องหารือถึงการจัดระบบภาษีอากร ปิดช่องโหว่การจัดเก็บภาษี หาแนวทางการจัดเก็บภาษีใหม่เพื่อความเป็นธรรม เช่น การจัดเก็บภาษีมรดก หรือภาษีที่ดิน เป็นต้น ต้องปฏิรูประบบงบประมาณที่เราใช้มานานและหากลไกคุ้มครองผู้บริโภค สร้างโอกาสให้เกษตรกรและผู้ด้อยโอกาสผ่านกลไกตลาด
กำจัดธุรกิจการเมือง
นายเทียนฉาย กล่าวว่า ขณะที่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องกำหนดมาตร ฐานการศึกษาในทุกระดับ ประกันโอกาสทางการศึกษา นำเทคโนโลยีมาใช้จัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ จัดสวัสดิการค่าตอบแทนของแรงงานครู การลดการเหลื่อมล้ำการเข้าถึงทรัพยากร ต้องมีมาตรการสนับสนุนให้ชุมชนเข้าถึงการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ปรับปรุงระบบการวางผังเมือง ให้ใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม ออกกฎหมายโฉนดที่ดินอย่างครอบคลุม ผลักดันให้มีธนาคารที่ดิน ทบทวนการออกกฎหมายการให้สัมปทานทรัพยากรพลังงาน
ประธานสปช. กล่าวว่า แนวทางปฏิรูปด้านอื่นๆ อย่างด้านสังคม อยากเห็นประชากรไทยมีคุณภาพ มีความรู้ มีคุณธรรม มีวินัย ซึ่งส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้การปฏิรูปด้านนี้เกิดขึ้นได้คือการศึกษา ต้องวางกรอบการปฏิรูป ให้รองรับต่อการเกิดสังคมพหุวัฒนธรรม ให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ ให้ศาสนาเป็นตัวเชื่อมโยงความแตกต่าง เราอยากเห็นสังคมแห่งพลังปัญญาที่ใช้ความรู้แก้ปัญหา ไม่ใช่อารมณ์ เช่น จะสร้างศูนย์ความรู้ที่เรียกว่า"think thank" เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความรู้จากประชาชนเข้าสู่ส่วนกลาง
นายเทียนฉายกล่าวว่า ส่วนด้านเศรษฐกิจ สร้างระบบทุนที่ดี ไม่ผูกขาด เราต้องการใช้ทุนรับใช้สังคมไม่ใช่สังคมรับใช้ทุน สร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม กำจัดธุรกิจการเมือง ปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้เข้ากับสังคม
หนุนตั้ง"สภาพลเมือง"
ประธานสปช. กล่าวว่า ด้านการเมืองการปกครอง ต้องกระจายอำนาจและกระจายความเจริญออกจากส่วนกลาง ปรับโครง สร้างอำนาจราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ด้านการปราบการทุจริต ต้องแก้กฎหมายควบคุมการคอร์รัปชั่น รณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชั่น ตรวจสอบการเข้าสู่อำนาจการเมืองและส่วนราชการ ให้สื่อร่วมตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน
นายเทียนฉาย กล่าวว่า เรายังจำเป็นต้องสร้างระบอบคัดกรองคนดีเข้าสู่ระบอบการ เมือง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ เราอยากมีสภาพลเมือง สภาท้องถิ่น ทั้งระดับตำบลและระดับชาติ อยากมีองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนในสถานะเดียวกับองค์กรอิสระ ปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ปรับโครงสร้างการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองและการถอดถอน ตลอดจนให้การศึกษาเพื่อให้ตื่นตัวทางการเมือง
คิกออฟวิสัยทัศน์ภิวัฒน์ไทย
"ทั้งหมดนี้ คือจากการหารือ 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งเราเรียกมันว่าวิสัยทัศน์ภิวัฒน์ไทย นี่คือการคิกออฟของสปช. และนับจากนี้จะเป็นวาระแห่งชาติที่เราจะต้องทำงานร่วมกันต่อไป" ประธานสปช. กล่าว
นายเทียนฉาย กล่าวว่า กรอบที่ สปช.จะต้องส่งต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเวลา 60 วัน ถึงวันที่ 14 ธ.ค. และหลังจากนี้ขอทำความเข้าใจในรายละเอียดก่อน เพราะวันนี้เป็นเพียงการกำหนดประเด็นเท่านั้น จากนั้นจะมีการปฏิรูปในแต่ละประเด็นที่สรุปกัน และเมื่อสปช.เห็นชอบแล้ว ถ้าจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย หากยกร่างเป็นพ.ร.บ.หรือพ.ร.ฎ.ก็จะเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณา แต่ถ้าเป็นการจัดการองค์กร ก็จะเสนอให้ครม.ดำเนินการ ทั้งหมดยังเป็นกรอบใหญ่ บางเรื่องต้องใช้เวลาแรมปี ต้องอาศัยผู้ที่เกี่ยว ข้องประคับประคองให้เกิดความสำเร็จ ยืนยันว่าภายใน 1 ปีจะได้แผนและแนวทางปฏิรูป รวมถึงบางเรื่องจะเริ่มปฏิบัติได้ ส่วนที่เหลืออาจต้องดำเนินการในระยะยาวต่อไป วันที่ 11 พ.ย.จะประชุมกมธ.วิสามัญประจำ สปช. ทั้ง 18 คณะ จากนั้นเริ่มทำงานได้ทันที ส่วนที่เป็นข้อมูลพื้นฐานก็นำมาวิเคราะห์ให้อยู่ในกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุม สปช.จะพูดคุยกันก่อนรับฟังความคิดเห็น
ประชามติยังไกลตัว
นายเทียนฉาย กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เรื่องนี้ต้องหารือในที่ประชุม สปช. แต่ถ้าจะทำประชามติจริง ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อน ซึ่งแก้ได้ไม่มีปัญหา โดยสปช.เสนอให้ สนช.หรือรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญได้ มองว่าการทำประชามติยังเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ควรพูดตอนนี้ ยังไม่อยากให้พูดถึงหาง ให้ทำเรื่องหัวก่อน
ตัวเต็งปธ.กมธ. 18 คณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการคัดเลือกประธานกมธ.วิสามัญประจำสปช.ทั้ง 18 คณะ ซึ่งจะขอมติที่ประชุมสปช. รับรองวันที่ 11 พ.ย. ล่าสุดเริ่มมีความชัดเจน ดังนี้ 1.กมธ.ปฏิรูปการเมือง ได้แก่ นายชัย ชิดชอบ 2.กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ นายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ 3.กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ 4.กมธ.ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ นายพงศ์โพยม วาศภูติ
5.กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา 6.กมธ.ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์การท่องเที่ยว และการบริการ ได้แก่ นายเกริกไกร จีระแพทย์ 7.กมธ.ปฏิรูปพลังงาน ได้แก่ นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ 8.กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข ได้แก่ นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์
9.กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด 10.กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ นายจุมพล รอดคำดี 11.กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ นายอำพล จินดาวัฒนะ 12.กมธ.ปฏิรูปการแรงงาน ได้แก่ พล.ท.เดชา ปุญญบาล 13.กมธ.ปฏิรูปป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้แก่ นายประมนต์ สุธีวงศ์
14.กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 15.กมธ.ปฏิรูปการกีฬา ได้แก่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา 16.กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ นายศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์ 17.กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง และ 18.กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ได้แก่ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม
จับตากมธ.การเมือง-พลังงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ที่น่าสนใจ ได้แก่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ซึ่งมีนักการเมืองคู่ขัดแย้งทางการเมืองเข้าร่วม อาทิ กลุ่ม 40 ส.ว. เช่น นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายวันชัย สอนศิริ และอดีตสมาชิกพรรค เช่น พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์
ขณะที่กมธ.ปฏิรูปพลังงานมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านพลังงานเข้าร่วมจำนวนมาก เช่น น.ส.รสนา โตสิตระกูล ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปพลังงาน นอกจากนี้ยังมี ผู้บริหารบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม ได้แก่ นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการ ผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ รองกรรมการผู้จัดการสถาบันวิจัยปตท. เป็นต้น
'บิ๊กตู่'จับเข่านายกฯ ปาปัวฯ
สำหรับ ภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ระหว่างร่วมประชุมเอเปก ครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เวลา 07.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ได้หารือทวิภาคีกับนายปีเตอร์ โอนีล นายกฯปาปัวนิวกินี ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลหารือว่า นายกฯปาปัวนิวกินีกล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้มีพระพลามัยสมบูรณ์แข็งแรง และยินดีที่ได้หารือกับไทยครั้งนี้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนระหว่างกัน ขณะที่นายกฯกล่าวขอบคุณที่สนับสนุนไทยด้วยดีมาตลอด ยังยินดีที่ปาปัวนิวกินีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปกในปี 2018 ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุน รวมทั้งจะส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน
ถกบิ๊ก'หัวเว่ย'-หนุนไทย'ไอทีฮับ'
จากนั้นเวลา 07.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ร่วมหารือกับนายหยาง ฉู่ กก.ผจก.บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จีน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ เข้าร่วมด้วย
ร.อ.นพ.ยงยุทธแถลงผลการหารือว่านายกฯ ชี้แจงนโยบายเศรษฐกิจที่ยึดหลักการค้าการลงทุนเสรี โดยรัฐบาลจะดำเนินมาตรการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน เน้นแนวทางส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมการจ้างคนไทยตั้งแต่ระดับการปฏิบัติถึงระดับบริหาร สนับสนุนการสร้างห่วงโซ่กับผู้ประกอบการรายย่อยของไทยกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งจะปรับสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาของไทย
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า นายกฯกล่าวว่าอยากเห็นการลงทุนจากต่างประเทศที่กระจายไปพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างงาน กระจายรายได้และส่งเสริมให้ใช้สินค้าและวัตถุดิบภายในประเทศ อุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับ สนุน อาทิ พลังงาน โทรคมนาคม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอลในอนาคต ซึ่งบริษัท หัวเว่ย สนใจลงทุนการพัฒนา บรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสารสนเทศ และยินดีจะปรับนโยบายให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนา พร้อมพัฒนาทักษะด้านบุคคลากร เชื่อว่าภายใต้ การบริหารของรัฐบาลไทยสามารถพัฒนา สู่ความเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีฮับ) ของภูมิภาคได้
จับมือฟิลิปปินส์ร่วมการค้า-ลงทุน
เวลา 11.15 น. พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับนายเบนิกโน เอส. อากีโน ที่สาม ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ร.อ.นพ.ยงยุทธแถลงว่า ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวชื่นชมภาคธุรกิจชั้นนำของไทยที่ลงทุนในฟิลิปปินส์ อาทิ บริษัท ซีพี ที่มีส่วนส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ นำความรู้เทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพิ่มผลผลิต นายกฯกล่าวชื่นชมความสำเร็จของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบาย สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ไทยยินดีส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าและปริมาณการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งรัฐบาลไทยกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและขยายลู่ทางการค้าระหว่างประเทศด้วย
อ้อนโดนสื่อออนไลน์ถล่ม
เวลา 12.45 น. นายกฯ พบปะหารือกับ ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปกของไทยและผู้บริหารระดับสูงของเอกชนชั้นนำของไทยที่ลงทุนในจีน ในระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน และพบปะคนไทย นักเรียนไทยและนักธุรกิจไทยที่อยู่ในกรุงปักกิ่ง โดยนายกฯ กล่าวชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ว่า เนื่องจากประเทศติดหล่ม รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ เมื่อเข้ามาแล้ว ตั้งใจจะลดความขัดแย้งในบ้านเมือง บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แต่ยังมีอุปสรรคและถูกโจมตีตามสื่อออนไลน์ว่าเป็นคนโหดร้าย ต้องการได้ผลประโยชน์ แต่ก็อดทนเพราะถูกสอนมาตลอดให้ทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ ส่วนการปฏิรูปประเทศเป็นสิ่งจำเป็นต้องเร่งทำ โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรมและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการด้านเศรษฐกิจ
เวลา 15.15 น. นายกฯ เข้าร่วมการประชุม Plenary ร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ที่ศูนย์ประชุม CNCC จากนั้นหารือกลุ่มย่อยกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก และเวลา 18.30 น. เข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก
'ยิ่งลักษณ์'มอบ'นรวิชญ์'แจงสนช.1 2 พ.ย.นี้ หลังขอเลื่อนวาระถอดถอน
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาทีมทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ทีมทนายความได้รับหนังสือด่วนจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสนช. ลงวันที่ 7 พ.ย.57 ขอเชิญน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือตัวแทน เข้าประชุมสนช.ในวันที่ 12 พ.ย. เพื่อชี้แจงเหตุผลการขอให้สนช.เลื่อนวาระการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันดังกล่าวออกไป ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มอบให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความ เป็นผู้ไปชี้แจงเหตุผลต่อที่ประชุมสนช.แทน ทั้งนี้ เหตุผลที่ขอเลื่อนเนื่องจากข้อบังคับการประชุมระบุว่า สนช.ต้องส่งเอกสารและสำนวนการถอดถอนให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ศึกษาสำนวนล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันประชุมนัดแรก หรือวันที่ 12 พ.ย. แต่ขณะนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้รับสำนวนถอดถอนจากสนช.เลย ถ้าจะนับระยะเวลา 15 วัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องได้สำนวนถอดถอนมาศึกษาก่อนวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา
นายพิชิต กล่าวอีกว่า การที่สนช.ยังไม่ส่งสำนวนถอดถอนให้ผู้ถูกกล่าวหา ทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับผลกระทบ ขาดโอกาสตรวจสอบและศึกษาสำนวนล่วงหน้า ซึ่งสำนวนป.ป.ช.คดีนี้มีเป็นพันๆ หน้า แต่ที่ผ่านมาน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่เคยเห็นสำนวนป.ป.ช.เลย จึงต้องมีระยะเวลาเพียงพอเพื่อศึกษาทำความเข้าใจ เตรียมข้อมูลไว้ใช้ในการแถลงเปิดคดี จะได้ทราบว่าจะต้องเตรียมขอเพิ่มเติมพยานบุคคลและพยานเอกสารในส่วนใดบ้าง ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องยื่นพยานในส่วนนี้ให้ที่ประชุมสนช.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วันก่อนการเปิดประชุมนัดแรกในวันที่ 12 พ.ย. ไม่ใช่ก่อนวันแถลงเปิดคดีตามที่สนช.บางคนระบุ แต่เมื่อสนช.ไม่ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม ทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียโอกาสและเสียสิทธิในการรับทราบข้อมูล
"ยืนยันว่า ไม่ใช่การประวิงเวลา เพราะสิ่งที่ขอไปไม่ได้เกินไปกว่าเรื่องที่อยู่ในข้อบังคับการประชุม ไม่อยากให้สนช.มาขอยกเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุม เพื่อไม่ต้องส่งสำนวนป.ป.ช.ให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบก่อน 15 วัน เพราะหากทำเช่นนั้นจะถือว่าไม่อำนวยความยุติธรรมให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ และอาจจะถูกมองว่าเร่งรีบรวบรัดพิจารณาคดีได้"