- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 10 November 2014 10:23
- Hits: 5815
วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8748 ข่าวสดรายวัน
สปช.ก็หนุน ทำประชามติรธน. ยกเว้นกลุ่ม40สว.ต้าน ทหารล็อกตัวอจ.จุฬาฯ เดินรณรงค์ปฏิรูปที่ดิน "บิ๊กตู่"ถกผู้นำจีน-เอเปก
เอเปก- นายสี จิ้นผิง ประธานา ธิบดีจีน จับมือต้อนรับพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ไปร่วมประชุมเอเปกครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง ก่อนจะหารือแบบทวิภาคีระหว่างจีน-ไทย เมื่อวันที่ 9 พ.ย.
'ประยุทธ์' นำคณะร่วมถกเอเปกที่จีน กำชับทุกหน่วยเร่งติดตามงานก่อนแถลงผลงานต้นเดือนธ.ค.นี้'บวรศักดิ์'ฟันธงรธน.ใหม่ผ่านฉลุย เหตุทหารหนุน ไร้ม็อบต้าน สปช.-โพลเห็นด้วยแนวคิดทำประชามติเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะที่'ไพบูลย์ นิติตะวัน'ค้าน อ้างเสียเวลา-สิ้นเปลืองงบ-หลงประเด็น "เทียนฉาย" ลั่นพร้อมรับฟังทุกความเห็น เตือนกมธ.วิสามัญต้องรอบคอบ อย่าสะดุดขาตัวเอง เปิดโผกมธ.วิสามัญสปช. 18 คณะ 'พารณ'คุมปฏิรูปการศึกษา 'ชัย-สมบัติ'แคนดิเดตปธ.ปฏิรูปการเมือง 'อลงกรณ์'มีชื่อชิงปธ.ปฏิรูปพลังงาน เลขาฯป.ป.ช.ยอมรับอสส.ขอให้สอบพยานเพิ่ม ย้ำไม่สอบพยานบุคคลที่ 'ปู'เคยขอ อ้างกลัวกลับคำ หวั่นยื่นฟ้องเองคดีหลุด เพื่อไทยจี้ป.ป.ช.รื้อคดีปรส. เร่งสอบโรงพักฉาว ทหารรวบตัวอาจารย์จุฬาฯ นำเดินเท้าปฏิรูปที่ดิน
สปช.สัมมนาจูนแนวคิดปฏิรูป
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาเรื่อง "สานพลังสปช.ออกแบบอนาคตประเทศไทย" เพื่อให้สมาชิกสปช. 250 คนระดมความเห็นต่อแนวทางการปฏิรูป
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. กล่าวเปิดงานว่า จากนี้สปช.จะเดินอย่างมั่นคง โดยมีเจตนา 4 เรื่อง คือ 1.เสริมสร้างสานสัมพันธ์สมาชิกสปช. ซึ่งสำคัญมากต่อการทำงานข้างหน้าเพราะโอกาสขัดแย้งทางความคิดมีอยู่สูง แต่การไม่ลงรอยจะไม่เป็นอุปสรรคการทำงาน 2.กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อเป็นหนึ่งเดียวในการปฏิรูปประเทศ 3.เส้นทางจะไปสู่อนาคตที่ความคาดหวังได้อย่างไร และ 4.จะนำผลภาพวาดอนาคตไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร
นายเทียนฉาย กล่าวว่า ใน 4 ข้อนี้ เราทำได้แน่ใน 2 วันนี้ โดยชวนให้สมาชิกคิดพร้อมกันและจูนความคิดให้ตรงกันเดินหน้าคิกออฟ การปฏิรูปมีทั้งประเด็นหลักและประเด็นย่อยต่างๆ มากกว่า 18 เรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น แต่บางอย่างแค่แก้ไขประกาศหรือคำสั่งก็แก้ปัญหาได้ โดยไม่ต้องปฏิรูปเพียงแต่เราอาจจะช่วยกระตุ้น แค่ปรับแนวคิดองคาพยพถึงจะแก้ปัญหาได้
เตือนอย่าออฟไซด์-สะดุดขาตัวเอง
นายเทียนฉาย กล่าวอีกว่า เป้าหมายที่ทำให้การปฏิรูปมีผลสำเร็จคือ ปฏิรูปแล้วได้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสมต่อสภาพสังคมไทย มีระบบเลือกตั้งสุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและพัฒนาที่ยั่งยืน กลไกรัฐสามารถให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกรวดเร็ว และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดเป็นธรรม ส่วนกระบวนการปฏิรูปมีหลายวิธี คือสร้างการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นของสาธารณะและประชาชน มีคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญการมีส่วนร่วมประชาชน ซึ่งกมธ.ดังกล่าวต้องรอบคอบในเรื่องประสานสัมพันธ์ให้ดี มีเอกภาพ ทั้งรูปแบบและวิธีการ การจัดเข้าไปร่วมรับฟัง บทบาทของสปช. กมธ.และอนุกมธ.ต้องวางกันให้ดี ต้องไม่สะดุดขาตัวเราเอง ต้องทำให้ถูกต้องและยอมรับได้ในระเบียบวิธีของการให้มีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นอย่างไม่มีอคติ ไม่ใช่สักแต่ให้มีเท่านั้น เพราะการฟังความเห็นประชาชน ไม่สามารถฟัง 64 ล้านคน บางคนบางเวลาต้องจำแนกให้ดีด้วยวิธีที่ถูกต้อง
"ระวังเรื่องออฟไซด์กรอบอำนาจต้องทำให้ดี กมธ.ต้องเร่งรัดและเร่งมือ สมาชิกอาจชะลอสักนิดเพื่อรอทีม เรากำลังเร่งมืออยู่แล้วและไปด้วยกันแต่การฟังและให้มีส่วนร่วมไม่ใช่คำมั่นสัญญา แต่เป็นการเอาข้อมูลมาประกอบร้อยเรียงเพื่ออนาคตประเทศไทย" ประธานสปช.กล่าว
ชี้คีย์แมนอยู่ที่กมธ. 18 คณะ
นายเทียนฉาย กล่าวว่า ภารกิจเราทุกคนอยู่ที่กมธ. 18 คณะ แม้จะร่วมเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ลืมว่ายังอยู่ใน 18 คณะด้วย และถือเป็นความสำคัญเร่งด่วนแรก ส่วนการให้มีฟังความเห็นเป็นลำดับรอง ดังนั้น กมธ.ต้องไม่ขาดองค์ประชุม แบ่งเวลาให้ดี ช่วยกันระวังป้องกันข้อมูลที่ประชาชนอาจจะเข้าใจผิด เพราะที่ผ่านมามีบางช่วงหากติดตามจากสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่รายงานข้อมูลอย่างรวดเร็ว คนนอกอาจไม่เข้าใจว่าสปช.ทำอะไรกัน บางครั้งออกอาการเป๋ จึงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจและรีบให้กมธ.แต่ละชุดทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งอยากให้ทุกคนพูดผ่านโฆษกเท่านั้น บางคนอาจไปสัมภาษณ์เอง ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ขอให้ระวังเรื่องนี้ หากเกิดปัญหาจะใช้เวลาแก้ไขนาน
ประธานสปช. กล่าวว่า นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องมีคณะทำงานประชาสัมพันธ์มาช่วยและวางแผนให้ข้อมูลทั้งกับสมาชิกและสาธารณะ ตนจะเรียกประชุมสปช.ในวันที่ 11 พ.ย. เพื่อรับทราบการตั้งกมธ.ทั้ง 18 คณะ และขอมติให้มีกมธ.กิจการสปช.ด้วย เพื่อเร่งจัดให้มีกมธ.วิสามัญอีก 5 คณะ เพื่อให้การทำงานเดินหน้าอย่างสมบูรณ์
เล็งตั้งกมธ.รับฟังความคิดเห็น
นายเทียนฉาย ให้สัมภาษณ์ถึงการกำชับให้กมธ.ทั้ง 18 คณะเร่งงานว่า ไม่ใช่ว่าเกรงจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของสปช. เพราะหลังจากที่ประชุมสปช.ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ กมธ.ทั้ง 18 ด้าน จะส่งบุคคลมาเป็นตัวแทนของกมธ.กิจการสปช. กมธ.รับฟังความเห็นรวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชา ชนและกมธ.ประชาสัมพันธ์ ที่เราต้องเตรียมงานให้เร็วเพราะใกล้เวลาที่สปช.ต้องเสนอกรอบยกร่างรัฐธรรมนูญต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และขณะนี้มีการรับฟังความเห็นจากบุคคลนอกร่วมไปด้วย ทั้งการจัดเวทีแสดงความเห็น การเสนอผลงานวิจัย ผลการศึกษาและการอภิปรายความเห็น เราเริ่มมีส่วนร่วมเข้าไปรับฟังบ้างแล้ว เช่น ของสถาบันพระปกเกล้าก็เป็นประเด็นที่ดี ขณะที่ผู้บริหารจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) จะยื่นนิด้าโมเดลให้สปช.ในสัปดาห์หน้า
ส่วนรูปแบบการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ นั้น นายเทียนฉาย กล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนดชัดเพราะต้องรอฟังความเห็นของกมธ.การมีส่วนร่วมก่อน ต้องดูเทคนิควิธีเก็บข้อมูลที่ไม่มีอคติเพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อไป
พร้อมรับฟังทุกข้อเสนอ
ต่อข้อถามว่าก่อนหน้านี้มักมีปัญหาที่ส่วนราชการเกณฑ์บุคคลกลุ่มเดิมๆ มารับและให้ความเห็นที่ซ้ำๆ นายเทียนฉายกล่าวว่า คราวนี้ต้องไม่ใช่การเกณฑ์ การรับฟังความเห็นคือต้องให้เขาให้ความเห็นให้ได้ หากเขามีเวทีความเห็นเราต้องไปรับฟังให้ได้ ส่วนที่กังวลว่าเมื่อได้ข้อมูลแล้วอาจส่งไปไม่ถึงกมธ.เพื่อรับไปปรับปรุงนั้น เราเตรียมการไว้แล้ว หากใครเสนอในช่วงที่ยังไม่มีกมธ. ก็เสนอมาที่ตนหรือรองประธาน รวมทั้งจะเปิดตู้ปณ.ให้ความเห็น และเปิดรับทางออนไลน์ในสัปดาห์หน้า
เมื่อถามว่า จะเปิดให้นักการเมืองเข้ามาเสนอความเห็นหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า กมธ.การมีส่วนร่วมเป็นผู้พิจารณา ตนเห็นว่าใครก็ตามที่ต้องการเสนอความเห็นและอยากเห็นอนาคตประเทศไทยไปได้ดี ไม่ขัดแย้ง เสนอโดยรวมมาทุกด้านน่าจะดีกว่า ต่อข้อถามว่าได้ปรึกษากับคู่ขัดแย้งหรือไม่ว่าจะเสนอความเห็นอย่างไร นายเทียนฉาย กล่าวว่า ยังไม่มีการประสาน
เมื่อถามว่า ข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า เช่น การถ่วงดุลอำนาจ จะนำมารวมกับความเห็นของสปช.หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า คงนำมาเป็นประเด็นด้วย แต่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นของผู้อภิปราย ไม่ใช่ในนามของสถาบัน ที่ต้องไปสังเคราะห์อีกครั้ง ซึ่งเรารับฟังทุกข้อเสนอ
เล็งบรรจุ"พหุสังคม"รธน.ใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นสมาชิกสปช.แยกไปสัมมนาย่อย 10 กลุ่ม เพื่อแสดงความเห็นหัวข้อ "อนาคตประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า" ต่อมาเวลา 13.40 น. ตัวแทนแต่ละกลุ่มได้สรุปโดยมีความเห็นทำนองเดียวกันว่าประเทศไทยต้องปฏิรูปในทุกด้าน อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และพลังงาน ให้ประชาชนและสังคมมีคุณธรรม จริยธรรม นักการเมืองไม่ทุจริต ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในเวทีโลกโดยเฉพาะการรองรับประ ชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม อีกทั้งทุกคนต้องอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายให้ได้ หรือที่เรียกว่าพหุสังคม ซึ่งคำนี้น่าจะเป็นคำที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ รวมทั้งต้องมีกระบวนการยุติธรรมที่เท่าเทียม
พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ สมาชิกสปช. กล่าวว่า เราอยากเห็นประเทศไทยเดินหน้าอย่างมียุทธศาสตร์ที่ยั่งยืน ฝังรากลึกอยู่ในรัฐธรรมนูญ ระดมความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อกำหนดทิศทางประเทศใน 20 ปีข้างหน้าแล้วเขียนในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ควรใช้รัฐธรรมนูญนี้ อีกทั้งเราต้องสร้างยุทธ ศาสตร์สร้างคนไทยพันธุ์ใหม่ นักการเมืองต้องได้เลือดใหม่ที่น่าเลื่อมใส ไม่ใช่เห็นแค่รัฐมนตรีแล้วยกมือไหว้ แต่ต้องได้นักการเมืองมีคุณภาพทำงานทั้งระดับชาติและท้องถิ่น
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช. กล่าวว่า พิมพ์เขียวการปฏิรูปประเทศต้องทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือเข้มแข็งในเอชีย อีก 20 ปี คนไทยน่าจะมีรายได้ 4 แสนบาทต่อปี เราต้องปฏิรูปไปจุดนั้น รวมทั้งเป็นสังคมแบบไร้สี การเมืองสีขาว
สปช.ยังไม่ถกปมอภิรัฐมนตรี
นายอลงกรณ์ให้สัมภาษณ์ว่า ยืนยันว่าสปช.จะเร่งดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นไปตามความหวังของประชาชน ส่วนข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าให้มีอภิรัฐมนตรีเหนือรัฐมนตรีนั้น สมาชิกสปช.ยังไม่มีการพิจารณา แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทุกฝ่ายร่วมกันเสนอความเห็นการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสปช.จะนำข้อเสนอต่างๆ มาประมวลความเห็น ผ่านกมธ.วิสามัญประจำสภาทั้ง 18 คณะ ส่วนที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอให้ทำประชามติการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้ร่างฉบับนี้เป็นที่ยอมรับและผ่านการเห็นชอบจากประชาชน เนื่อง จากรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ
สปช.ถก- สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ร่วมสัมมนาหัวข้อ"สานพลัง สปช. ออกแบบอนาคตประเทศไทย" เพื่อวางกรอบแนวทางปฏิรูปและนำเสนอข้อมูลต่อกมธ.ยกร่างรธน. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. |
"อนาคตหากมีการจัดทำประชามติ ทุกฝ่ายต้องหารือกัน ทั้งสปช. สมาชิกสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกมธ.ยกร่างฯ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่พรรค การเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปเข้ามา ซึ่งสปช.ต้องพิจารณาร่วมกันว่าจะนำความเห็นดังกล่าวเข้ามาในพิมพ์เขียวการเมืองหรือไม่ ทั้งนี้ สปช.จะตั้งกมธ.วิสามัญอีก 5 คณะ เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานก่อนเสนอให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 19 ธ.ค.นี้" นายอลงกรณ์กล่าว
"บวรศักดิ์"มั่นใจร่างรธน.สำเร็จ
ต่อมาเวลา 19.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงค่ำมีกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกสปช.และรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช.คนที่ 1 และประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวตอนหนึ่งว่า ดวงของสปช.ดีตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสปช. ถือเป็นวันฤกษ์ดี และวันที่ 21 ต.ค. 2557 ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสปช.นัดแรกก็เป็นวันฤกษ์ดียิ่ง วันและเวลาประกาศแต่งตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.เวลา 17.29 น. ของวันที่ 4 พ.ย. 2557 ก็เป็นฤกษ์ดีที่สุด จึงเชื่อว่างานของสปช.และของกมธ.ยกร่างฯจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะเป็นวันมหาสิทธิโชค วันปลอด และดาวจันทร์ ซึ่งเป็นกาลีตกวินาศร้ายก็จะกลายเป็นดี ดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นตัวแทนความยุติธรรม ปัญญาและความบริสุทธิ์ อยู่ราศีกรกฎ เป็นมหาอุจ
"รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเที่ยงธรรม ใช้ปัญญาในการทำ เมื่อดาวราหูซึ่งเป็นตัวแทนความมั่วเมาตกอริก็จะไม่มีการใช้อารมณ์ ดาวอังคารเป็นตนุลัคน์ไปสถิตราศีธนูเป็นสุภะแสดงว่าทั้งสมาชิกสปช. และกมธ. ยกร่างฯ จะขยันขันแข็งและมีความกล้าหาญ และแสดงว่าทหารสนับสนุนรัฐธรรมนูญนี้จะสำเร็จแน่นอน ส่วนดาวเสาร์เจ้าแห่งโทษทุกข์และม็อบอยู่ราศีพิจิก ตกมรณะทำให้ ส่งผลร้ายต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญนี้จึงประสบความสำเร็จแน่นอน" นายบวรศักดิ์กล่าว
ไพบูลย์ค้านทำประชามติทั้งฉบับ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงในการอภิปรายของสถาบันพระปกเกล้ามีการเสนอเรื่องอภิรัฐมนตรี เพื่อถ่วงดุล 3 อำนาจหลักว่า เห็นว่ารัฐธรรมนูญในอดีตมีการเขียนให้อำนาจ 3 ฝ่าย คือ อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติไว้อยู่แล้ว ถือเป็นโครงสร้างที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการให้อำนาจรัฐมนตรีอยู่เหนืออำนาจศาลนั้นไม่สามารถผลักดันได้ ซึ่งคงมีการหารือเรื่องนี้ในกมธ.ยกร่างฯ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างฯให้จัดทำประชามติถามความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ตนไม่เห็นด้วยเพราะไม่ได้ตอบโจทย์ของสิ่งที่กล่าวกันมา เช่น เป็นเกราะคุ้มครองรัฐธรรมนูญให้มีอายุยาวนาน เพราะสิ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญอยู่ได้คือสาระของการนำไปบังคับใช้ว่าทำให้เกิดประโยชน์ต่อประ ชาชนและประเทศได้จริงมากน้อยแค่ไหน แบบนี้รัฐธรรมนูญจึงจะอยู่ได้ตลอด และไม่เห็นด้วยหากนำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไปทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ เสียเวลาและใช้งบประมาณจำนวนมาก
อ้างกลัวหลงประเด็น
นายไพบูลย์กล่าวว่า สังคมต้องพูดกันตรงๆ เรื่องทำประชามติ เพราะเราอาจเสียเวลากรณีทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ถ้าจะทำเป็นรายมาตรา คิดว่าทำได้ เช่น เมื่อใช้ไประยะแล้วเกิดปัญหาก็สำรวจความเห็นประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับประเด็นนั้น แล้วจึงมาแก้ แต่หากแก้ทั้งฉบับเป็นไปไม่ได้
เมื่อถามว่าการทำประชามติคือกระบวน การให้ประชาชนมีส่วนร่วม นายไพบูลย์กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริงต้องอยู่ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรม นูญที่เราต้องรับฟังความเห็นประชาชน เสนอว่าต้องมีการสำรวจความเห็นประชา ชนในประเด็นต่างๆ โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำรวจแต่ละประเด็นที่จะนำมาประมวลผลส่งให้กมธ.ยกร่างฯ รับทราบว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไรและมีจำนวนเท่าใดสิ่งที่ตนห่วงคือการหลงประเด็นว่ารัฐธรรมนูญจะร่างออกมาอย่างไรก็ได้เพราะเสร็จแล้วก็นำไปทำประชามติ กลายเป็นว่าไม่ตั้งใจออกรัฐธรรมนูญให้มีผลบังคับใช้จริงๆ
ต่อข้อถามว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่าควรทำประชามติเพื่อเป็นเกราะให้กับรัฐธรรมนูญชุดนี้ว่าไม่ได้มาจากการรัฐประหาร นายไพบูลย์กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ ไม่น่าพูดเกี่ยวกับรัฐประหาร ควรพูดเพียงว่าน่าจะทำประชามติเพราะจะได้ชอบธรรม
"ดิเรก"ชงแยกอำนาจองค์กรอิสระ
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช.นนทบุรี กล่าวว่า ตนจะพยายามผลักดันรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก เน้นสิทธิเสรีภาพ ขณะที่รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพบริหารประเทศได้เต็มที่ ไม่เหมือนระบบการเมืองที่ผ่านมาที่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายนิติบัญญัติจะทำอะไรก็ถูกติดขัดหรือถูกร้องเรียน จนไม่สามารถบริหารประเทศได้ตามเป้าหมาย อาทิ เรื่องนโยบายและการแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆ ส่วนองค์กรอิสระจะกำหนดภาระหน้าที่ให้ชัดเจนไม่ให้แทรกแซงฝ่ายบริหารตุลาการและนิติบัญญัติ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ควรทำหน้าที่เฉพาะการพิจารณากฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ตนจะผลักดันให้มาอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้ แม้ตนจะเป็นเสียงข้างน้อยที่อาจจะทำไม่สำเร็จแต่ถือว่าได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนแล้ว โดยยึดหลักประชาธิปไตยเป็นสำคัญ
เปิดโผกมธ.วิสามัญสปช.18 ด้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อกมธ.วิสามัญประจำสปช.ทั้ง 18 คณะ ที่น.ส. ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช. คนที่ 2 ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในกมธ.วิสามัญประจำสภาได้จัดสรรครบทุกคณะครบแล้ว โดยในการสัมมนาวันที่ 10 พ.ย.จะแบ่งกลุ่มย่อยตามกมธ.วิสามัญทั้ง 18 คณะเพื่อแสดงแนวความคิดภายใต้หัวข้อ "เราจะนำผลจากภาพอนาคตที่ฝันไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร"
สำหรับตำแหน่งประธานกมธ.ทั้ง 18 คณะ มีกมธ.ลงตัวแล้ว อาทิ กมธ.วิสามัญปฎิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น คือนายพงศ์โพยม วาศภูติ กมธ.วิสามัญปฏิรูปทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือนายปราโมทย์ ไม้กลัด กมธ.วิสามัญปฏิรูประบบสาธารณสุข คือนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ กมธ.วิสามัญปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส คือนายอำพล จินดาวัฒนะ กมธ.วิสามัญปฏิรูปป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คือนายประมนต์ สุธีวงศ์ กมธ.วิสามัญปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค คือน.ส.สารี อ๋องสมหวัง และกมธ.วิสามัญปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
"ชัย"มีชื่อชิงปธ.ปฏิรูปการเมือง
ขณะที่บางคณะยังไม่ได้ข้อสรุปในตัวบุคคลที่จะเป็นประธาน เนื่องจากมีการถกเถียงกันว่าบุคคลใดเหมาะสม อาทิ กมธ.ปฏิรูปการเมือง มีการชิงกันระหว่าง นายชัย ชิดชอบ และนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กมธ.วิสามัญปฏิรูปพลังงาน ชิงกันระหว่างนายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ และนายอลงกรณ์ พลบุตร กมธ.วิสามัญปฏิรูปการแรงงาน ชิงกันระหว่าง พล.ท.เดชา ปุญญบาล และนายประสาร มฤคพิทักษ์ กมธ.วิสามัญปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา ชิงกันระหว่างนางตรึงใจ บูรณสมภพ และนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ส่วนกมธ.วิสามัญที่ยังไม่มีความชัดเจนในการเลือกประธานคือ ด้านปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ปฏิรูปการเกษตร อุตสาห กรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และการบริการ ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ปฏิรูปการกีฬา และปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ จะนำรายชื่อกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะให้ที่ประชุมใหญ่สปช.รับรอง ในวันที่ 11 พ.ย. ก่อนแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ประจำกมธ.ทั้ง 18 คณะอย่างเป็นทางการ
โพลชี้อยากเห็นรธน.เสร็จโดยเร็ว
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจเรื่อง "ความคาดหวังของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรม นูญ" จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,297 คน วันที่ 4-8 พ.ย. พบว่า ร้อยละ 79.72 ระบุขอให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ทำหน้าที่ด้วยใจบริสุทธิ์ยุติธรรม ตั้งใจทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ร้อยละ 75.15 อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จโดยเร็ว เน้นการแก้ปัญหาบ้านเมือง เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ร้อยละ 59.75 เห็นว่า กมธ.ทั้ง 36 คน มีความเหมาะสมเป็นคนเก่ง มากประสบการณ์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ร้อยละ 59.37 ควรรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม และร้อยละ 52.66 เป็นที่จับตามองของสังคมเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง
จับอจ.- ทหาร มทบ.33 เข้าคุมตัวผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อจ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ หลังร่วมกับภาคประชาชนที่จ.เชียงใหม่ เดินรณรงค์ให้ปฏิรูปที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ และปล่อยตัวในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 9 พ.ย. |
ส่วนกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญ 10 ข้อ ร้อยละ 79.08 อยากให้เน้นเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ร้อยละ 70.55 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ร้อยละ 68.82 มีกลไกป้องกันตรวจสอบขจัดการทุจริตในภาครัฐและเอกชน ร้อยละ 67.29 มีกลไกที่ทำให้นักการเมือง พรรคและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่อิสระไม่ถูกครอบงำ และร้อยละ 65.61 อยากมีเนื้อหาสร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล
หนุนทำประชามติก่อนใช้
ทั้งนี้ ร้อยละ 46.18 ไม่แน่ใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จทันกำหนดเวลา ร้อยละ 35.08 เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัย ระบบข้าราชการล่าช้า ร้อยละ 35.08 คิดว่าทันเวลาและร้อยละ 18.74 คิดว่าไม่ทันเวลา ส่วนสิ่งที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร้อยละ 69.39 ระบุมีสิทธิ เสรีภาพมีความยุติธรรมและเสมอภาคมากขึ้นในสังคม ร้อยละ 65.84 เป็นการอุดช่องโหว่ของกฎหมายที่มีปัญหา ร้อยละ 63.07 ทำให้ประเทศชาติพัฒนาเดินหน้าต่อไปได้ ร้อยละ 62.84 ช่วยขจัดปัญหาทุจริต และร้อยละ 62.30 ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับประโยชน์หรือไม่
นอกจากนี้ ร้อยละ 81.65 บอกว่าควรทำประชามติก่อนเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ร้อยละ 12.18 ไม่แน่ใจและร้อยละ 6.17 ไม่ควรทำ เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ
กขร.เร่งประมวลผลงานรัฐบาล
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการทำงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุม กขร.มอบให้กระทรวงต่างๆ ส่งรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและการสั่งการของนายกฯ ระหว่างวันที่ 12 ก.ย.-31 ต.ค.ที่ผ่านมา มาให้ฝ่ายเลขานุการของ กขร.ภายในวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้ทุกกระทรวงส่งรายงานมาครบแล้ว ซึ่งตนจะหารือกับฝ่ายเลขานุการฯ ในวันที่ 10 พ.ย.นี้ เพื่อประมวลผลรายงานทั้งหมดก่อนเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กขร.ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นจะนำผลประชุมรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้รับทราบหลัง พล.อ.ประยุทธ์ กลับจากไปร่วมประชุมในต่างประเทศแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากทุกกระทรวงส่งรายงานผลการดำเนินงานให้กขร.แล้ว มีการนำไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของแต่ละกระทรวงด้วย อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีเนื้อหาหลักประกอบด้วย 1.นโยบายรัฐบาลหรือการสั่งการของนายกฯ หรือคสช. 2.การระบุถึงความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 3.การดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการ และผลการดำเนินการ รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานที่สำคัญ 4.ผู้รับผิดชอบ 5.การใช้จ่ายงบประมาณ
เล็งตีปี๊บแผนงานในอนาคต
ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 3 เดือนให้ประชาชนรับทราบในเดือน ธ.ค.นี้ ว่า นอกจากชี้แจงผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลแล้ว จะนำเสนอสิ่งที่รัฐบาลต้องการมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน และแผนงานที่รัฐบาลเตรียมทำในอนาคตด้วย ทั้งนี้ มีการนำข้อมูลจาก กขร. มาประกอบกับรายละเอียดจากโฆษกกระทรวงต่างๆ ซึ่งตนจะหารือกับคณะโฆษกกระทรวงอย่างไม่เป็นทางการในปลายสัปดาห์หน้า ก่อนมีการประชุมอย่างเป็นทางการในสัปดาห์ถัดไปเพื่อติดตามและรวบรวมข้อมูลของแต่ละกระทรวง
เลื่อนประชุมครม.เป็นวันพุธ
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.สั่งการก่อนเดินทางร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก วันที่ 9-11 พ.ย.นี้ ที่ประเทศจีน ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลและช่วยเหลือประชาชน และเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้จริงและโปร่งใส
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ทั้งนี้ นายกฯ มอบให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ คนที่ 1 รักษาการแทนและทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมครม. โดยเปลี่ยน แปลงการประชุมจากเดิมวันที่ 11 พ.ย. เป็นวันที่ 12 พ.ย. เวลา 09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล โดยไม่ชี้แจงสาเหตุของการเลื่อนประชุมครม.
แดงชม.เหน็บคสช.อย่าตื่นตูม
เมื่อเวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้กระจายวิทยุถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกโรงพักในจ.เชียงใหม่ให้เตรียมพร้อม เนื่องจากทางการข่าวได้รับกระแสมาว่าจะมีการเคลื่อนไหว ต่อต้าน คสช.แต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นจุดใด โดยให้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานกับทางทหารเข้าตรวจสอบทันทีหากทราบข่าว และรายงาน พ.ต.อ.มนตรี สัมบุญณานนท์ รักษาการ ผบก.ภ.เชียงใหม่ ทราบ
นายศรีวรรณ จันทร์ผง อดีตแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ เผยว่า เท่าที่ตนตรวจสอบกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งจังหวัดหลายกลุ่ม ไม่พบจะมีกลุ่มไหนเคลื่อนไหว ทุกกลุ่มยังอยู่อย่างสงบและรอดูสัญญาของนายกฯ ที่ประกาศโรดแม็ปว่าจะทำตามกำหนดเวลาหรือไม่ ส่วนเรื่องกฎอัยการศึกนั้น หากยกเลิกเมื่อใด กลุ่มคนเสื้อแดงทุกกลุ่มรวมทั้งผู้ที่รักประชาธิปไตยออกมาทุกรูปแบบแน่ เพราะทุกวันนี้ เศรษฐกิจถอยหลังเรื่อยๆ เห็นรัฐบาลดำเนินการกระตุ้นทุกวิถีทาง แต่ไม่ใช่มืออาชีพในการบริหารประเทศ ส่วนที่ คสช.ระบุการคงกฎอัยการศึกไว้ทำให้เกิดความสงบ เกิดสามัคคีในประเทศนั้น ตนคิดว่าแค่คิดก็ผิดแล้ว แค่ยึดอำนาจก็ผิดแล้ว ยืนยันว่าเรื่องเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.นั้น คสช.อย่าตื่นตูมเลย เพราะยังไม่ถึงเวลา
โพลจี้หาผู้รับผิดชอบทุจริตจำนำข้าว
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,251 ตัวอย่าง วันที่ 5-6 พ.ย. เรื่อง"การหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว" โดยร้อยละ 40.05 เชื่อว่าโครงการมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 7 แสนล้านบาท ร้อยละ 35.25 เชื่อว่าโครงการมีมูลค่าความเสียหาย 5-7 แสนล้านบาท ร้อยละ 9.35 เชื่อว่าโครงการ มีมูลค่าความเสียหายน้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ร้อยละ 6.08 เชื่อว่าโครงการไม่มีมูลค่าความเสียหาย และร้อยละ 9.27 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ ร้อยละ 61.15 ระบุว่าควรหาผู้รับผิดชอบทั้งทางการเมือง เช่น การถอดถอนจากตำแหน่งทางการเมืองและทางอาญา เช่น การส่งฟ้องศาลบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ร้อยละ 23.58 ควรหาผู้รับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น ร้อยละ 10.63 ควรหาผู้รับผิดชอบทางอาญาเท่านั้น ขณะที่ ร้อยละ 2.72 ระบุว่าไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ร้อยละ 0.24 มองว่าควรดำเนินคดีตามรูปการณ์ของคดี ผิดก็ว่ากันไปตามผิดและต้องหาผู้ที่กระทำความผิดจริงเท่านั้นมารับผิดชอบและร้อยละ 1.68 ไม่แน่ใจ
ส่วนความเชื่อมั่นในหน่วยงานต่างๆ ในการฟ้องร้องผู้กระทำความผิดจากโครงการรับจำนำข้าว ร้อยละ 54.20 เชื่อมั่นในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ร้อยละ 20.62 เชื่อมั่นในสำนักงานอัยการสูงสุด ร้อยละ 7.99 เชื่อมั่นในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่ากัน ร้อยละ 4.32 เชื่อมั่นในรัฐบาลและคสช. ร้อยละ 2.24 ระบุว่าไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานใดเลย และร้อยละ 10.63 ไม่แน่ใจ
ปปช.หวั่นฟ้องเองคดีปู-ส่อหลุด
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงการประชุมคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุด(อสส.)กับป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่า จากข้อเสนอของอสส.ที่ต้องการให้ป.ป.ช. สอบพยานเพิ่มเติมนั้น ป.ป.ช.ตกลงจะสอบพยานเพิ่มในบางส่วน แต่จะไม่สอบพยานในส่วนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยขอให้ป.ป.ช.สอบก่อนหน้านี้ เนื่องจากคณะกรรมการป.ป.ช.เคยมีมติไปว่าพยานดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี
นายสรรเสริญ กล่าวว่า หากคดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล เมื่อศาลเห็นควรให้นำพยานชุดนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาก็ทำได้ตามหลักการค้นหาความจริงที่มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม พยานบุคคลในคดีที่ป.ป.ช.เคยสอบไปจะไม่มีการสอบซ้ำอีกตามที่อสส.เสนอ เนื่องจากเกรงว่าพยานจะแตกออกไปจนทำให้สำนวนที่ป.ป.ช.เคยชี้มูลหละหลวม เพราะเป็นไปได้ว่าอาจเกิดกรณีพยานบางรายกลับคำให้การ
นายสรรเสริญ กล่าวว่า หากป.ป.ช.ต้องส่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง มีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดจุดอ่อนในการดำเนินการโดยเฉพาะการต้องว่าจ้างทนายมาฟ้องคดีแทน ซึ่งประสิทธิภาพและความเชี่ยวชาญย่อมสู้อสส.ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงและทำงานในส่วนนี้มาตลอด "เราจึงอยากให้อสส.ฟ้องใจจะขาด ทนายที่ป.ป.ช.จ้างมาฟ้องเองสู้ไม่ได้อยู่แล้ว"
พท.บี้"บิ๊กตู่"เล่นงานคดีปรส.บ้าง
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงสนช.เดินหน้าถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า วันนี้ฝ่ายที่พยายามกล่าวหาโครงการรับจำนำข้าวทำให้ประเทศชาติเสียหาย ต้องใช้หนี้หลายแสนล้านบาทเป็นเวลานับสิบๆ ปี ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการการเงิน การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้ติดตามตรวจสอบความเสียหายกรณีการกู้เงินไอเอ็มเอฟเพื่อไปใช้หนี้ปรส. ที่รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีของประชาชนไปใช้หนี้ดอกเบี้ยทุกปี รวม 10 ปีทั้งเงินต้นและดอก รวมเกือบล้านล้านบาท เสียหายมากกว่าโครงการรับจำนำข้าว ทุกวันนี้คนไทยยังช่วยกันแบกภาระใช้หนี้อยู่ แต่อีก 20 วันคดีนี้จะหมดอายุความ ยังไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ ไม่เห็นมีผู้รักชาติออกมาเรียกร้องให้สังคมรับรู้ถึงเหตุการณ์เช่นนี้กันบ้าง ฝากถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ว่าคนส่วนหนึ่งในสังคมไทยเป็นเสียแบบนี้ บ้านเมืองจึงไม่ก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ใครทำความผิดก็ต้องตรวจสอบตามหลักฐาน โดยข้อเท็จจริงสต๊อกข้าวที่เสียหายเป็นของโครงการจากรัฐบาลไหน จากจำนำข้าวหรือประกัน โรงสีไหนทุจริตก็ต้องเอาผิด ขอฝากนายกฯเชิญฝ่ายต่างๆ ที่พยายามทำลายล้างรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ มาพูดคุยว่าขอให้เพลาๆ กันได้แล้ว เลิกขบวนการจ้องกำจัดกันให้สิ้นซาก จนทุกวันนี้กระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระทำงานกันบิดเบี้ยวไปหมด เชื่อว่านายกฯมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ขึ้นอยู่กับนายกฯจะแก้ปัญหานี้ให้หมดไปหรือไม่
ติงปชป.กดดันอสส.คดีจำนำข้าว
นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวเรียกร้องให้นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก และนางทยา ทีปสุวรรณ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หยุดกดดันอสส. ในการส่งฟ้องคดีโครงการรับจำนำข้าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีส่วนได้เสีย ในฐานะมีสมาชิกเป็นผู้กล่าวหาและขณะนี้หมดหน้าที่ของฝ่ายผู้กล่าวหาแล้ว ดังนั้น ควรเคารพอำนาจหน้าที่ของอสส. อย่ากล่าวหา ดูหมิ่นโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าคดีนี้มีข้อที่ไม่สมบูรณ์ในการฟ้องคดีหรือไม่และทำไมไม่ฟังข้อท้วงติงของอสส. ซึ่งป.ป.ช. และพรรคประชาธิปัตย์ควรมีสติ คิดโดยไม่ใช้อารมณ์ หากป.ป.ช.ไม่มีทิฐิและใช้เหตุผล การสอบพยานเพิ่มเติมคงเสร็จสิ้นแล้ว แต่ป.ป.ช.มุ่งเอาชนะฝ่ายอสส. ไม่สอบพยานเพิ่มแม้แต่ปากเดียว จึงทำให้เรื่องล่าช้า
นายสุชาติ กล่าวว่า ที่สำคัญนพ.วรงค์และนางทยา ควรไปตรวจสอบเรื่องของพรรคที่ยังค้างอยู่จำนวนมาก เช่น คดีปรส. 8 แสนล้านบาทที่จะขาดอายุความและป.ป.ช.ไม่สามารถเอาผิดใครได้ คดีระบายข้าวของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรีและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คดีโรงพักทดแทน รวมถึงคดีทุจริตอาชีวะที่ใช้เงินกู้ในโครงการไทยเข้มแข็ง อย่ากล่าวหาแต่ความไม่ดีของคนอื่นโดยไม่ดูตัวเองหรือพรรคของตนเอง จากนี้ตนจะติดตามคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาซึ่งค้างอยู่ที่ป.ป.ช.จนกว่าป.ป.ช.จะเริ่มหยิบคดีของพรรคประ ชาธิปัตย์มาทำบ้าง
จับอจ.จุฬาเดินเท้าปฏิรูปที่ดิน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 พ.ย. ที่วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านจากเครือข่ายต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ และกลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน นักวิชาการ นักศึกษา จาก 8 จังหวัดภาคเหนือ และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เช่น สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ประมาณ 200 คน รวมตัวกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและสักการะครูบาศรีวิชัย ก่อนเดินรณรงค์เพื่อการปฏิรูปที่ดินและทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนภายใต้กิจกรรม"เดิน ก้าว แลก เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย"
นายดิเรก กองเงิน ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า ตั้งแต่ คสช.ออกคำสั่งที่ 64/2557 และแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน นอกจากปัญหาที่ดินของเกษตรกรจะไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรและผู้ยากจนเพิ่มมาก สกน.จึงจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เป้าหมาย"หยุด 1+4" คือหยุดแผนแม่บทดังกล่าว และสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติกฎหมาย 4 ฉบับเพื่อการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ร่างพ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ในรูปแบบโฉนดชุมชน และร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจำนวนมากได้กระจายตัวที่วัดสวนดอก พร้อมยื่นคำขาดต่อแกนนำให้ยุติการเดินรณรงค์ หากยังเดินหน้าต่อ แกนนำจะต้องไปรายงานตัวในค่ายทหาร
จากนั้นเวลา 13.00 น. นายดิเรก พร้อมตัวแทนชาวบ้าน ได้เดินออกจากประตูวัดสวนดอกเพื่อเตรียมเดินรณรงค์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 100 นายพร้อมโล่ยืนตั้งแถว 2 ชั้น สกัดกั้นโดยมีนายทหาร ตัวแทนฝ่ายปกครองเจรจาไม่ให้เดิน ซึ่งระหว่างเจรจาอยู่นั้น ทีมเดินเท้าอีกชุดหนึ่งซึ่งนำโดยนายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายพิษิฐ ตาวา เดินฝ่าแนวเจรจามุ่งหน้าสู่ถนน ทำให้ทหารเข้าไปล็อกแขนทั้งคู่ขึ้นไปยังรถควบคุมผู้ต้องหา ส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียด ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจากันจนทหารยอมปล่อยตัวหลังควบคุมนาน 30 นาที
นายประภาส กล่าวว่า การตัดสินใจเดินครั้งนี้เพื่อให้สังคมได้เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน และไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นปัญหาปากท้องของชุมชนที่มีมายาวนาน
นายดิเรก กล่าวว่า วันที่ 13 พ.ย. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯจะลงพื้นที่พบชาวบ้านที่จ.เชียงใหม่ เพื่อเจรจาหาทางออก และในเร็วๆ นี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อาจมีเวทีเจรจาเพิ่มเติม ในปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน
"ประยุทธ์"เยือนจีน-ถกเอเปก
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 9 พ.ย. ที่ท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ ประกอบด้วย นางนราพร จันทร์โอชา ภริยา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม และโฆษกประจำสำนักนายกฯ เดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ประเทศสมาชิก 21 ประเทศ มีผู้นำประเทศต่างๆ ตอบรับเข้าร่วม อาทิ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ นายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย นายโทนี่ แอ๊บบอตต์ นายกฯออสเตรเลีย นายจอห์น คีย์ นายกฯนิวซีแลนด์ โดยมีหัวข้อหลักของการประชุมคือ"การสร้างอนาคตด้วยความเป็นหุ้นส่วนในเอเชีย-แปซิฟิก" โดยพล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดกล่าวถ้อยแถลง มีสาระสำคัญสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเน้นความมั่นคงทางอาหารและพลังงานเพื่อการพัฒนา การสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศไทย เน้นเสริมความแข็งแกร่งภายในของไทย เพื่อพร้อมเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก
เวลา 13.35 น. ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานนานานชาติกรุงปักกิ่ง โดยทางการจีนจัดพิธีต้อนรับที่ลานจอดเครื่องบิน ต่อมาเวลา 16.30 น. ที่ศาลามหาประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ หารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จากนั้นร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการหารือว่า นายกฯชื่นชมยุทธศาสตร์ของจีนในการพัฒนาเส้นทาง อาร์3เอ( R3A) เชื่อมต่อจากนครคุนหมิงมายังกรุงเทพฯ และการพัฒนาเส้นทางระบบรางมาถึงบริเวณชายแดน เพื่อเตรียมเชื่อมต่อไปถึงลาว ซึ่งไทยและจีนจะร่วมมือกันพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในภูมิภาคให้เต็มศักยภาพ พร้อมขอบคุณจีนที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ ข้าวหอมมะลิและยางพารา
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ทั้งนี้ นายกฯสนับสนุนนโยบายของจีนที่จะให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล เห็นพ้องที่จะส่งเสริมการทำธุรกรรมระหว่างกันในรูปแบบเงินสกุลท้องถิ่น และหวังว่าจะต่ออายุความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาทที่จะหมดอายุในเดือนธ.ค.นี้ และลงนามเอ็มโอยูว่าด้วยการตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในไทยโดยเร็ว นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ เชิญนายกฯจีนเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 5 วันที่ 19-20 ธ.ค.นี้
ส่วนการประชุมวันที่ 10 พ.ย.นี้ ช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศ อาทิ นายกฯปาปัวนิวกินี สุลต่านบรูไน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ หารือกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปกของไทย นำโดยธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย จากนั้นช่วงบ่าย ร่วมการหารือระหว่างผู้นำเอเปกกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก ประชุมกลุ่มย่อยกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก และช่วงเย็นร่วมงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก และชมการแสดงทางวัฒนธรรม
สปช.ฝุ่นตลบ-จับคู่ชิงเก้าอี้ 18 ปธ.กมธ. ชัย-สมบัติลุ้นการเมือง 'จ้อน'วัดโหวตทองฉัตร เทียนฉายชง 6 ข้อปฏิรูป ไพบูลย์ไม่เอาประชามติ บิ๊กตู่ไปเอเปคถกสีจิ้นผิง
'เทียนฉาย'จัดละลายพฤติกรรมสปช.ชู 6 ประเด็นวางแนวปฏิรูปปท. ชิงประธานกมธ.ฝุ่นตลบ'ชัยชนสมบัติ'ชิงปธ.คุมปฏิรูปการเมือง 'ไพบลูย์'หวั่นถูกหาอยู่ยาว ค้านทำประชามติ รธน.ชี้เสียเวลา เปลืองงบ
@ 'บิ๊กตู่'ควงครม.ถกเอเปค
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และคณะรัฐมนตรี อาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเวทีหารือระดับผู้นำ มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ อาทิ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐ มีผู้นำจากชาติต่างๆ ที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุม อาทิ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย นายโทนี่ แอบบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายจอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ฯลฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดินทางถึงกรุงปักกิ่ง พล.อ.ประยุทธ์จะเข้าหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ต่อด้วยร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กงสุลใหญ่ไทยในจีน พบปะทีมประเทศไทยในกรุงปักกิ่ง และผู้บริหารระดับสูงของวิสาหกิจและเอกชนจีน
@ หารือทวิภาคีกับปธน.จีน
เวลา 16.30 น. พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับนายสี จิ้นผิง ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ต่อมา ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงสรุปผลการหารือว่า ประธานาธิบดีจีนขอให้นายกรัฐมนตรีนำความปรารถนาดีและคำถวายพระพร กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีความใกล้ชิดผูกพันกันมายาวนาน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างต่อเนื่อง ในทุกระดับ โดยเฉพาะการเสด็จฯเยือนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ไทย ปี 2558 ความสัมพันธ์ไทย-จีน จะครบรอบ 40 ปี และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ซึ่งจะเป็นโอกาสพิเศษที่ทั้งสองประเทศจะร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ปลายเดือนนี้จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (เจซี) เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 3 อีกด้วย
@ จับมือจีนพัฒนาคมนาคม
ร.อ.ยงยุทธ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมยุทธศาสตร์ของจีนในการพัฒนาเส้นทาง อาร์ 3 เอ เชื่อมต่อนครคุนหมิงมายังกรุงเทพฯ และการพัฒนาเส้นทางระบบรางมาถึงบริเวณชายแดน เพื่อเตรียมเชื่อมต่อไปถึงลาว ซึ่งไทยและจีนจะร่วมมือกันในการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในภูมิภาคให้เต็มศักยภาพ ขณะที่จีนได้มีความริเริ่มเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล รวมทั้งยังมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาค อาทิ การแก้ไขปัญหาความยากจน การบริการ ด้านสาธารณสุข การศึกษาและการแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน
"สำหรับความร่วมมือด้านรถไฟ ไทยยินดีที่จะร่วมมือกับจีนในการพัฒนารถไฟทางคู่เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงจีน ไทยและประเทศในภูมิภาค อาจนำไปหารือให้มีผลเป็นรูปธรรมในกรอบการหารือไทย-จีน ที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีขอบคุณจีนที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้ ข้าวหอมมะลิและยางพารา ทั้งสองฝ่ายจะหารือเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน" ร.อ.ยงยุทธกล่าว
@ หนุนทำธุรกรรมเงินหยวน
ร.อ.ยงยุทธกล่าวว่า สำหรับการทำธุรกรรมรูปเงินหยวน ไทยพร้อมสนับสนุนนโยบายของจีนที่จะให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล โดยเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการธุรกรรมระหว่างกันในรูปแบบเงินสกุลท้องถิ่น เพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน และหวังว่าจะต่ออายุความตกลงทวิภาคีแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนและบาทที่จะหมดอายุในเดือนธันวาคม และลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวนในประเทศไทยโดยเร็ว
"ด้านการศึกษา ไทยและจีนเห็นพ้องขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม เนื่องจากจีนมีความเจริญก้าวหน้าโดยอาจจัดเวทีให้นักวิทยาศาสตร์ได้พบปะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งขอให้จีนช่วยสนับสนุนด้านการพัฒนาระบบอาชีวศึกษา" ร.อ.ยงยุทธกล่าว และว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมอย่างเป็นทางการการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม
@ เผยเลื่อนถกครม.12พ.ย.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการก่อนเดินทางร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ประเทศจีน โดยขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้จริงและเป็นไปอย่างโปร่งใส
"ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รักษาการแทนและทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเปลี่ยนแปลงการประชุมจากเดิมวันอังคารที่ 11 พฤศจิกายนไปเป็นวันพุธที่ 12 พฤศจิกายนในเวลา 09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
@ 'สปช.'จัดละลายพฤติกรรม
เวลา 09.00 น. วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดสัมมนาหัวข้อ สานพลัง สปช.ออกแบบอนาคตประเทศไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 พฤศจิกายน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ สปช.ได้เสนอความคิดเห็น เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ในการออกแบบประเทศไทยร่วมกัน รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก สปช.ทั้ง 250 คน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
@ เทียนฉายแจงสปช.เดินหน้า4ปม
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า จะเดินไปอย่างมั่นคงและมั่นใจ โดยมีเจตนาร่วมกัน 4 เรื่อง คือ 1.เสริมสร้างสานสัมพันธ์ สปช. ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการทำงานข้างหน้า เพราะโอกาสที่จะมีความขัดแย้งทางความคิดมีอยู่สูง แต่เชื่อว่าการไม่ลงรอยจะไม่เป็นอุปสรรคการทำงาน 2.กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อเป็นหนึ่งเดียวในการปฏิรูปประเทศ
"3.เส้นทางไปสู่อนาคตที่คาดหวังเป็นอย่างไร และ 4.จะนำผลภาพวาดอนาคตไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร" นายเทียนฉายกล่าว และว่า ใน 4 ประเด็นนี้ทำได้แน่ในการสัมมนา 2 วันนี้ เพราะจะชวนให้สมาชิกคิดพร้อมๆ กัน จูนความคิดให้ตรงกันด้วยการเดินหน้าคิกออฟ ซึ่งการปฏิรูปจะพบว่า มีทั้งประเด็นหลักและประเด็นย่อยที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จะเห็นว่ามีมากกว่า 18 เรื่อง แต่บางอย่างแค่แก้ไขประกาศหรือคำสั่งก็แก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องปฏิรูป เพียงแต่อาจจะช่วยกระตุ้น แค่ปรับแนวคิด องคาพยพ ถึงจะแก้ปัญหาได้
@ วางกรอบปฏิรูป 6 เรื่อง
นายเทียนฉายกล่าวว่า เป้าหมายที่ทำให้การปฏิรูปมีผลสำเร็จมีด้วยกัน 6 เรื่อง คือ 1.ได้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสมต่อสภาพสังคมไทย 2.มีระบบเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม 3.มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น 4.ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและพัฒนาที่ยั่งยืน 5.กลไกรัฐสามารถให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกรวดเร็ว และ 6.บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดเป็นธรรม
"ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นจากประชาชนที่จะนำมาสู่ผลลัพธ์อย่างไม่มีอคติ และการรับฟังความเห็นของประชาชนได้นั้น ต้องประกอบด้วยหลักการ 3 ประการที่สำคัญ คือ 1.ประสานสัมพันธ์ให้ดี มีเอกภาพ ทั้งรูปแบบและวิธีการ วางบทบาทกรรมาธิการทั้ง 18 คณะและอนุกรรมาธิการให้เกิดความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดหรือสะดุดขาตัวเอง" นายเทียนฉายกล่าว และว่า 2.รับฟังต้องถูกต้องและยอมรับได้ในระเบียบวิธี ไม่ใช่สักแต่ให้มีเท่านั้น แต่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและไม่มีอคติ เพราะการฟังความเห็นประชาชนไม่สามารถฟัง 64 ล้านคนได้ บางคนบางเวลาต้องจำแนกให้ดีด้วยวิธีที่ถูกต้อง และ 3.ต้องวางแผนการทำหน้าที่ของกรรมาธิการแต่ละชุด ก่อนจะลงลึกไปในประเด็นปลีกย่อย
"ต้องระวังเรื่องออฟไซด์ การกำหนดกรอบอำนาจต้องทำให้ดี กรรมาธิการต้องเร่งรัดและเร่งมือ แต่การฟังและให้มีส่วนร่วมไม่ใช่คำมั่นสัญญา แต่เป็นการเอาข้อมูลมาประกอบร้อยเรียงเพื่ออนาคตประเทศ" นายเทียนฉายกล่าว
@ ย้ำ 18 กมธ.สปช.ทำเต็มที่
นายเทียนฉายกล่าวอีกว่า ขอฝากถึง สปช.ว่า สปช.เดินหน้ามาได้เร็วพอสมควร แต่ยังไม่ทันใจ จะเร่งอีก ภารกิจทุกคนอยู่ที่กรรมาธิการ 18 คณะ แม้ไปร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างต้องไม่ลืมว่ายังอยู่ในกรรมาธิการ 18 คณะด้วย ถือเป็นความสำคัญที่เร่งด่วนแรก ดังนั้น กรรมาธิการจะต้องไม่ขาดองค์ประชุม เพราะเวลาประชุมจะซ้อนกัน เกรงว่าอาจจะแบ่งภาคไม่ได้ "นอกจากนี้ต้องช่วยกันระวังป้องกันเรื่องข้อมูลที่ประชาชนอาจจะเข้าใจผิด เพราะที่ผ่านมามีบางช่วงหากติดตามจากสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่รายงานข้อมูลอย่างรวดเร็ว หากมองจากภายนอกจะงงว่า สปช.ทำอะไรกัน บางครั้งออกอาการเป๋ จึงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจและรีบให้กรรมาธิการแต่ละชุดทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์" นายเทียนฉายกล่าว
@ 11 พ.ย.เคาะตั้ง 18 กมธ.
"ประธาน รองประธาน เลขานุการ และโฆษก ต้องเริ่มต้น ทุกคนต้องพูดผ่านโฆษกเท่านั้น บางคนอาจจะให้ข้อมูลบ้าง หรือไปสัมภาษณ์บ้าง ต้องเคลียร์ว่าเป็นความเห็นส่วนตัวไม่ใช่ความเห็นของ สปช.จึงขอให้ระวังเพราะหากเกิดปัญหาจะต้องใช้เวลาแก้นาน นอกจากนี้ อาจจะจำเป็นต้องมีคณะทำงานประชาสัมพันธ์มาช่วยและวางแผน ให้ข้อมูลทั้งสองด้านกับสมาชิกและประชาชน" นายเทียนฉายกล่าว และว่า จะประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ประชุมเพื่อรับทราบการตั้งกรรมาธิการทั้ง 18 คณะ และขอมติให้กรรมาธิการกิจการสภา สปช. (วิป สปช.) ถาวรด้วย เพื่อเร่งจัดให้มีกรรมาธิการวิสามัญอีก 5 คณะ ขึ้นมา สนับสนุนและติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย
@ แบ่ง 10 กลุ่มถกอนาคตปท.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการสัมมนาจะมีรูปแบบโดยการจัดให้สมาชิกได้มีการพูดคุยกันโดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย 10 กลุ่ม ภายใต้กิจกรรม "ความทรงจำ การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในรอบ 50 ปี และอนาคตใน 20 ปีที่อยากเห็น : ฝันว่าอยากจะเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า โดยจะหลอมรวมวิสัยทัศน์ทั้งหมดของสมาชิกทั้ง 250 คน ในการทำงานร่วมกับประชาชน เพื่อเป็นข้อตกลงและสรุปผล
@ ยันรับฟังความเห็นทุกฝ่าย
นายเทียนฉายให้สัมภาษณ์ถึงการจัดสัมมนาว่า คาดหวังกับการสัมมนา โดยเฉพาะการสนิทสนมและการคุ้นเคยกันของ สปช.ที่มาจากต่างอาชีพ ถ้าทำความคุ้นเคยกันจะเป็นเรื่องที่ดี ถ้าได้คิดในเทคนิครูปแบบเดียวกันจะเห็นภาพของอนาคตประเทศไทย ซึ่งเป็นกรอบสำคัญมาก ส่วนตัวยืนยันว่ากรรมาธิการทั้ง 18 คณะ จะไม่มีอุปสรรค เพราะ สปช.จะมีการประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน โดยให้กรรมาธิการ 18 คณะ มีตัวแทนมาเป็นกรรมาธิการกิจการสภา สิ่งนี้ก็คือเงื่อนไขการทำงานของ สปช. ที่จะมีกลุ่มบุคคลที่เป็น กมธ.มารับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน และ กมธ.ประชาสัมพันธ์
"งานเดินจากตรงนี้จะเร็วมาก เพราะขณะนี้ใกล้เวลาที่จะต้องเสนอความเห็นต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้น คงต้องเตรียมกรอบความเห็นให้เร็วที่สุด ขณะนี้มีบุคคลยื่นความจำนงเข้ามาแสดงความคิดเห็นแล้ว ส่วนการจัดเวทีแสดงความเห็นทั้งที่เป็นเรื่องผลงานวิจัย ผลการศึกษา สปช.จะเริ่มเข้าไปรับฟังและเก็บความเห็น อาทิ ผลงานของสถาบันพระปกเกล้า สัปดาห์หน้าอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จะยื่นผลงาน 'นิด้าโมเดล' รวมถึงผลงานด้านสื่อสารมวลชนจากกลุ่มมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมาให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้าเช่นกัน" นายเทียนฉายกล่าว
นายเทียนฉาย กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมามีปัญหาอย่างหนึ่ง คือ หน่วยบริหารการจัดการมักเกณฑ์กลุ่มคนเดิมๆ มาฟัง และให้ความเห็นซ้ำๆ ทำให้ความเห็นไม่กระจาย ดังนั้น คราวนี้จะต้องไม่มีการเกณฑ์ และด้านหนึ่งหนุนให้มีความเห็น เมื่อมีเวทีเปิด สปช.ต้องเข้าไปรับฟังได้
@ เปิดตู้ปณ.-ออนไลน์รับข้อมูล
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีหลายฝ่ายกังวลว่าข้อมูลนำมาประมวลอาจไม่ถึง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนายเทียนฉายกล่าวว่า สปช.มีมาตรการนำไปสู่การปฏิบัติจริง เตรียมไว้อยู่แล้วแต่ขณะนี้ยังไม่มี กมธ.ยังมาดูเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวได้รับไว้และรองประธานรับไว้ แต่ถ้ามีการแสดงความเห็นเข้ามาก็พร้อม โดยจะเปิดตู้ ปณ.ให้แสดงความเห็น โดยไม่ต้องระบุชื่อนามสกุลก็ได้ รวมถึงทางระบบออนไลน์จะเปิดได้สัปดาห์นี้
"ส่วนประเด็นที่จะให้พรรคการเมืองเสนอความเห็น ประเด็นนี้ กมธ.ที่มีส่วนร่วมต้องเป็นผู้พิจารณา แต่ผมเห็นว่าใครก็ตามที่ต้องการให้ความเห็น สมารถเสนอเข้ามาได้ รวมถึงผู้เห็นต่างทางการเมือง ที่อยากเห็นอนาคตประเทศเดินไปข้างหน้าและไม่ต้องการเห็นความขัดแย้ง" นายเทียนฉายกล่าว
เมื่อถามว่า จะนำข้อเสนอพระปกเกล้าในเรื่องการถ่วงดุลอำนาจมาพิจารณาหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า เป็นประเด็นสำคัญ การวิจัยดังกล่าวเข้าใจว่าเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าได้ชี้แจงว่าไม่ใช่ เพราะเป็นความเห็นของผู้อภิปราย คิดว่าประเด็นนี้สถาบันพระปกเกล้าต้องไปสังเคราะห์ความคิดเห็นอีกครั้ง ว่าจุดยืนสถาบันเป็นอย่างไร โดยเฉพาะข้อเสนอให้จัดดุลอำนาจอภิรัฐมนตรี ถือเป็นข้อเสนอที่พร้อมรับฟังได้
@ 'จ้อน'แจงสัมมนาวางโรดแมป
นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการ สปช. กล่าวว่า การสัมมนา สปช.จะเป็นการเป็นออกแบบอนาคตประเทศไทย สปช.ทั้ง 250 คนที่จะมาระดมความคิดแสดงวิสัยทัศน์เพื่อเป็นโรดแมปในการปฏิรูปประเทศ และเป็นกรอบในการออกแบบพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการสัมมนาครั้งนี้ สปช.จะประกาศเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการยกเครื่องประเทศภายใต้การขับเคลื่อนของ สปช. และยืนยันว่าการทำงานของ สปช.จะเร่งดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นไปตามความหวังของประชาชน
@ หนุนประชามติ'รธน.'ฉบับใหม่
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าเกี่ยวกับอภิรัฐมนตรีนั้น ทาง สปช.ยังไม่มีการพิจารณา แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทุกฝ่ายร่วมกันเสนอความเห็นการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง สปช.จะนำข้อเสนอต่างๆ มาประมวลความเห็น ผ่านคณะ กมธ.วิสามัญประจำสภา ทั้ง 18 คณะ
"ส่วนข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าที่ต้องการให้ทำประชามติสอบถามประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยในการจัดทำประชามติเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับของประชาชน และผ่านการเห็นชอบจากประชาชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ หากอนาคตจัดทำประชามติ ทุกฝ่ายจำเป็นต้องหารือกัน ทั้ง สปช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" นายอลงกรณ์กล่าว
"ขณะนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่พรรค การเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ เริ่มเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปเข้ามา ซึ่ง สปช.ต้องไปพิจารณากันว่าจะนำความเห็นดังกล่าวเข้ามาในพิมพ์เขียวการเมืองหรือไม่" นายอลงการณ์กล่าว และว่า สปช.จะตั้ง กมธ.วิสามัญอีก 5 คณะ เพื่อกำหนดทิศทางในการทำงานก่อนเสนอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 19 ธันวาคม
@ 'ไพบูลย์'ค้านทำประชามติ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ขอให้จัดทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ไม่เห็นด้วยเพราะไม่ได้ตอบโจทย์หรือเป็นเกราะคุ้มครองรัฐธรรมนูญให้มีอายุยาวนาน เพราะสิ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญอยู่ได้คือสาระของการนำไปบังคับใช้ว่าทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศได้จริงมากน้อยแค่ไหน แบบนี้รัฐธรรมนูญจึงจะอยู่ได้ตลอด ไม่เห็นด้วยหากนำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไปทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เพราะประชาชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อีกทั้งยังเสียเวลาและใช้งบประมาณจำนวนมาก
"ความจริงเป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น จะทำให้เสียเวลาเพราะเราต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่หากมีพรรคการเมืองต้องการไปหาฉันทามติมา หรือถามกับสังคมให้ยอมรับได้เสียก่อนว่า หากไม่ผ่าน การเลือกตั้งก็ต้องยืดออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2560 จากเดิมที่คาดว่ามีขึ้นในต้นปี 2559 แล้ว เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วจะมาหาเป็นแผนการของ ครม. คสช. สปช.และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป" นายไพบูลย์กล่าว และว่า เห็นว่าควรใช้รัฐธรรมนูญไประยะหนึ่งก่อน หากมีประเด็นไหนใช้แล้วมีปัญหาค่อยไปทำประชามติในแต่ละประเด็น แต่สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมด ไม่ควรมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าสุดท้าย ส.ส.ที่ออกมาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นคนดี
@ ให้ตั้งคณะทำงานฟังความเห็น
เมื่อถามว่าการทำประชามติคือกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วม นายไพบูลย์กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริงต้องอยู่ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องรับฟังความเห็นประชาชน ขอเสนอว่าการรับฟังความเห็นของประชาชนต้องสำรวจความเห็นประชาชนในประเด็นต่างๆ โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำรวจในแต่ละประเด็นที่จะนำมาประมวลผลส่งให้คณะกรรมาธิการรับทราบว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไรในเรื่องใด และมีจำนวนเท่าใด เป็นต้น
"สิ่งที่ห่วงคือการหลงประเด็นว่ารัฐธรรมนูญจะร่างออกมาอย่างไรก็ได้ เพราะเสร็จแล้วก็นำไปทำประชามติเพื่อให้รัฐธรรมนูญผ่าน จะกลายเป็นว่าไม่ได้ตั้งใจออกรัฐธรรมนูญที่จะให้มีผลบังคับใช้จริงๆ" นายไพบูลย์กล่าว
เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอว่าควรทำประชามติเพื่อเป็นเกราะให้กับรัฐธรรมนูญชุดนี้ว่าไม่ได้มาจากการรัฐประหาร นายไพบูลย์กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ไม่น่าพูดเกี่ยวกับการรัฐประหาร ควรพูดเพียงว่าน่าจะทำประชามติ เพราะจะได้ชอบธรรม แต่หากจะคิดว่าเพื่อไม่ให้เป็นข้อครหา คิดได้ ถ้าเป็นเหตุการณ์ก่อนปี 2550 ที่ทำประชามติแล้วแต่ไม่ได้ผล
@ ชงเลือกตั้งตามรธน.40
นายไพบูลย์กล่าวว่า จะเสนอต่อที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส. โดยจะยึดรูปแบบการสมัครรับเลือกตั้งของวุฒิสภาปี 2540 จะให้ผู้สมัคร ส.ส.ห้ามหาเสียง ปราศรัย หรือโฆษณาผ่านช่องทางสื่อสารมวลชน รวมทั้งห้ามติดป้ายหาเสียงเลือกตั้งตามพื้นที่ต่างๆ แต่สามารถลงพื้นที่แนะนำตัว พูดคุยกับประชาชนได้
"ผู้สมัคร ส.ส.จะต้องทำการสมัครกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมเขียนประวัติส่วนตัว รวมไปถึงผลงาน หรือคดีความต่างๆ หากมี อย่างละเอียด ความยาวประมาณ 2 หน้า จากนั้นให้ กกต.พิมพ์ประวัติของผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ทั้งหมด แจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนในพื้นที่ เพื่อพิจารณาเลือกสรรบุคคลที่ตัวเองต้องการเพียงคนเดียว ในรูปแบบเลือกตั้งในระบบเขตเดียวทั้งจังหวัด" นายไพบูลย์กล่าว
@ หวังลดซื้อเสียง-ห้ามหาเสียง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า วิธีนี้จะทำให้การซื้อเสียงยากขึ้น ขณะที่ผู้สมัคร แม้ตอนแรกจะต้องเสียเงินค่าสมัครประมาณ 50,000-100,000 บาท เพื่อป้องกันคนที่หวังดัง เพราะ กกต.จะต้องไปเสียค่าใช้จ่ายในการพิมพ์เอกสารจำนวนมากเพื่อแจกจ่ายชาวบ้าน แต่เมื่อผู้สมัครดังกล่าวได้เป็น ส.ส.แล้วจะได้รับเงินค่าสมัครคืน ขณะเดียวกันจะทำให้ผู้สมัคร ส.ส.เมื่อเข้าไปในสภาแล้วไม่ต้องถอนทุนคืนเพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และ กกต.ยังสามารถจัดการเลือกตั้งได้เร็วขึ้น โดยใช้เวลาไม่เกิน 20 วัน เพราะไม่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและผู้สมัครไปหาเสียง
@ 'ดิเรก'ขอดันรธน.โยงปชช.
นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี กล่าวว่า ต้องการผลักดันรัฐธรรมนูญ โดยยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ขณะที่รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ ไม่เหมือนอย่างระบบการเมืองที่ผ่านมาที่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายนิติบัญญัติจะทำอะไรก็มีความติดขัดหรือถูกร้องเรียน จนทำให้ไม่สามารถบริหารประเทศได้ตามเป้าหมาย อาทิ นโยบายและการแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆ ขณะที่องค์กรอิสระจะกำหนดภาระหน้าที่ให้ชัดเจนไม่ให้แทรกแซงฝ่ายบริหารตุลาการและนิติบัญญัต โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ควรทำหน้าที่เฉพาะการพิจารณากฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
"แนวคิดดังกล่าวจะผลักดันให้มาอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้ แม้จะเป็นเสียงข้างน้อยที่อาจจะทำไม่สำเร็จก็ตาม แต่อย่างน้อยถือว่าได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนแล้ว โดยยึดหลักประชาธิปไตยเป็นสำคัญ" นายดิเรกกล่าว
@ ปธ.กมธ. 18 คณะยังฝุ่นตลบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำ สปช.ทั้ง 18 คณะ ที่ น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสามัญสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา ได้จัดสรรครบทุกคณะครบแล้ว ในการสัมมนาของ สปช.ในวันที่ 10 พฤศจิกายน จะแบ่งกลุ่มย่อยตามคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 18 คณะเพื่อแสดงแนวความคิดภายใต้หัวข้อ "เราจะนำผลจากภาพอนาคตที่ฝันไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร"
สำหรับ ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทั้ง 18 คณะบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นประธานยังไม่ได้ข้อสรุปในบางคณะ เนื่องจากมีการถกเถียงกันว่าบุคคลใดเหมาะสมชิงตำแหน่งประธาน กมธ. อาทิ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง มีการชิงตำแหน่งกันระหว่าง นายชัย ชิดชอบ และนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กมธ.ปฏิรูปพลังงาน ชิงกันระหว่างนายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ และนายอลงกรณ์ พลบุตร กมธ.ปฏิรูปการแรงงาน ชิงกันระหว่าง พล.ท.เดชา ปุญญบาล และนายประสาร มฤคพิทักษ์ กมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา ชิงกันระหว่างนางตรึงใจ บูรณสมภพ และนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
@ 'พงศ์โพยม'นั่งปธ.กมธ.ท้องถิ่น
ส่วน กมธ.ที่ได้ประธาน กมธ.ลงตัวแล้ว อาทิ กมธ.ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น คือนายพงศ์โพยม วาศภูติ กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ นายปราโมทย์ ไม้กลัด กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข คือ นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส คือ นายอำพล จินดาวัฒนะ กมธ.ปฏิรูปป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คือ นายประมนต์ สุธีวงศ์ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค คือ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง และ กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
ส่วน กมธ.ที่ยังไม่มีความชัดเจนในการเลือกตำแหน่งประธาน กมธ. คือ กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง กมธ.ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และการบริการ กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ กมธ.ปฏิรูปการกีฬา และกมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตาม จะมีการนำรายชื่อ กมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะให้ที่ประชุมใหญ่ สปช.รับรองในวันที่ 11 พฤศจิกายน ก่อนที่จะแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ประจำ กมธ.ทั้ง 18 คณะอย่างเป็นทางการ
@ วงสัมมนาสปช.หวังกระจายอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันแรกในการสัมมนาของ สปช.ได้นำผลการประชุมกลุ่มย่อยของสมาชิกที่ระดมแนวคิดเรื่องความทรงจำของบ้านเมืองในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาและอนาคตของประเทศที่อยากเห็น มาเสนอแนวคิดต่อสมาชิก สปช.ทั้งหมด ถึงอนาคตประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่ง สปช.ส่วนใหญ่อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของประเทศ เช่น ลดอำนาจรัฐ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเหมาะสมด้านการเมือง เพิ่มความสมดุลระหว่างการเมือง ราชการและประชาชน ปฏิรูประบบราชการให้ตอบสนองกับความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนด้านการศึกษาให้ก้าวทันต่อนานาประเทศ เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตัวเองได้ เพราะปัญหาของไทยเกิดจากชุมชนอ่อนแอ จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่เท่าเทียมกัน เพิ่มนวัตกรรมของตัวเอง เพื่อเป็นแหล่งรายได้ในอนาคต จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย
@ 'บวรศักดิ์'ฟันธงรธน.ผ่านฉลุย
เวลา 19.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการสัมมนาวันแรกของ สปช.เสร็จสิ้น ในช่วงค่ำมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. คนที่ 1 ถูกเชิญให้พูดในฐานะที่ถูกมองว่าเป็นโหรการเมือง โดยพยากรณ์การทำงานของ สปช.และการร่างรัฐธรรมนูญว่า ดวงของ สปช.ดีตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง สปช. ถือเป็นวันฤกษ์ดี วันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันเปิดประชุม สปช.นัดแรกก็เป็นวันฤกษ์ดียิ่ง วันและเวลาประกาศแต่งตั้งคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายเทียนฉาย เวลา 17.29 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน ก็เป็นฤกษ์ดีที่สุด จึงเชื่อว่างานของ สปช.และของ กมธ.ยกร่างจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน เพราะเป็นวันมหาสิทธิโชค วันปลอด และดาวจันทร์ ซึ่งเป็นกาลีตกวินาศร้ายก็จะกลายเป็นดี ดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นตัวแทนความยุติธรรม ปัญญาและความบริสุทธิ์ อยู่ราศีกรกฎ เป็นมหาอุจ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเที่ยงธรรมใช้ปัญญาในการทำ
"เมื่อดาวราหู ซึ่งเป็นตัวแทนความมัวเมาตกอริก็จะไม่มีการใช้อารมณ์ ดาวอังคารเป็นตนุลัคน์ไปสถิตราศีธนูเป็นศุภะแสดงว่าทั้งสมาชิก สปช. และกรรมาธิการยกร่างฯ จะขยันขันแข็งและมีความกล้าหาญ และแสดงว่าทหารสนับสนุน รัฐธรรมนูญจะสำเร็จแน่นอน ส่วนดาวเสาร์เจ้าแห่งโทษทุกข์และม็อบอยู่ราศีพิจิก ตกมรณะทำให้ส่งผลร้ายต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงประสบความสำเร็จแน่นอน" นายบวรศักดิ์กล่าว
@ 'อำนวย'ค้านอภิรัฐมนตรี
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีตประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการจัดดุลอำนาจใหม่ของสถาบันพระปกเกล้า รวมถึงข้อเสนอให้มีอภิรัฐมนตรี เพราะปัญหาอยู่ที่คน ดังนั้น รัฐธรรมนูญไม่ควรแก้ไขมาก แต่ให้นำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 มาใช้ จากนั้นจัดการเลือกตั้งให้เร็ว ภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2558 ซึ่งตนพร้อมเสียสละด้วยการเว้นวรรคเลือกตั้ง 1 สมัย (อ่านรายละเอียด น.2)
@ 'วิปสนช.'ปัดล็อบบี้ถอด2ปธ.
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะวิป สนช. กล่าวถึงกรณีการพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาและนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ว่า กระบวนการพิจารณาคือเริ่มจากนัดหมายวัน จากเรื่องที่ส่งมาให้เป็นวันที่ 1 ตอนที่จะบรรจุเข้าไปตามกฎหมาย ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ทางประธาน สนช.ไม่แน่ใจว่ามีอำนาจไหม จึงมาปรึกษา สนช. และรับเรื่องมาบรรจุ พอเริ่มวันแรกในการพิจารณาคดีต้องนัดวันที่จะแถลงเปิดสำนวนโดย ป.ป.ช. และแถลงค้านโดยผู้ถูกร้อง และตั้งกรรมาธิการซักถาม ขอพยานเอกสาร และพยานบุคคลเพิ่มเติมว่าทางสภาจะอนุมัติหรือไม่ ในการประชุมวันแรก และเป็นไปตามกระบวนการจนลงคะแนนเสียงว่าจะถอดถอนหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเห็นอย่างไร ที่ สนช.สายทหารที่ขาดการประชุมวันลงคะแนนรับเรื่องถอดถอน นพ.เจตน์กล่าวว่า เขาติดไปทอดกฐินของทางกองทัพบกจึงไม่ได้มาเข้าประชุม ปกติก็ขาดกันเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่น่าเกี่ยว แต่พอถึงเวลาต้องลงคะแนนเสียงถอดถอนนั้น ตอนนี้ใครจะโหวตถอดถอนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทางผู้ร้องกับผู้ถูกร้อง ใครจะแถลงได้ดี มีเหตุมีผลกว่ากัน คงไม่สามารถบอกได้ว่าใครจะโหวตไปทางไหน อีกทั้งข้อบังคับการประชุมก็ห้าม หรือเขียนชี้นำว่าจะโหวตไปทางไหนอีกด้วย