- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 09 November 2014 20:25
- Hits: 4012
09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8747 ข่าวสดรายวัน
บวรศักดิ์ ดันเอง ประชามติ ให้รธน.สมบูรณ์ ไม่รับไอเดียจัดตั้ง'อภิรัฐมนตรี'สปช.ระดมออกแบบอนาคตปท. ออสซี่พร้อมหนุนไทยปฏิรูปปชต.
ร่วมอาลัย - พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานพิธีน้ำหลวงอาบศพมารดานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. โดยมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ร่วมพิธีด้วย ที่วัดโสมนัสฯ เมื่อ 8 พ.ย.
'บวรศักดิ์'ชี้รธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่ยาว แบ่งเป็น 4 ส่วน ตอบโจทย์สร้างปรองดองลดขัดแย้ง สร้างระบบเศรษฐกิจ-สังคมเป็นธรรม ร่างเสร็จต้องทำประชามติ ปฏิเสธแนวคิดจัดตั้งอำนาจที่ 4 'อภิรัฐมนตรี' สปช.จัดสัมมนา ระดมความเห็นออกแบบอนาคตประเทศ กำหนดกรอบปฏิรูป เผยได้ชื่อกมธ. 18 คณะแล้ว เตรียมเสนอที่ประชุมใหญ่รับรอง 11 พ.ย. เพื่อไทยอัดป.ป.ช.ใช้จิต วิทยาชี้นำสังคมคดี'จำนำข้าว' เชื่อไม่กล้ายื่นฟ้อง'ปู' เอง ปชป.บี้ อสส.ไม่สรุปคดี
ส.พระปกเกล้าเสนอแก้รธน.
เวลา 13.00 น. วันที่ 8 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็น เตอร์ แจ้งวัฒนะ สถาบันพระปกเกล้า จัดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2557 "8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย: พลวัต แห่งดุลอำนาจ" วันที่ 3 เป็นการสรุปจากการประชุมกลุ่มย่อย โดยนายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปผลประชุมกลุ่มย่อยที่ 1 การสร้างดุลภาพในระบบโครงสร้างอำนาจรัฐว่า มีข้อเสนอว่าด้วยหลักคิดทั่วไปจะต้องออกแบบสถาบันการเมืองให้ดุลอำนาจพึ่งพา ซึ่งกันและกัน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐ และประชาชน ออกแบบสถาบันการเมืองที่สอดคล้องกับพัฒนาการของไทยผ่านรัฐธรรมนูญ สร้างรัฐบาลผสมเพื่อดึงเอาอำนาจต่างๆ ในสังคมเข้าสู่ระบบการจัดสรรดุลอำนาจภายใต้ฐานความคิดรูปแบบการเมืองการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด
ข้อเสนอว่าด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องสอดคล้องกับดุลอำนาจระหว่างสถาบันทาง การเมืองต่างๆ เพื่อมิให้เกิดการละเมิดและก้าวล่วงขอบเขตซึ่งกันและกัน เพื่อป้องกันปัญหาวิกฤตของระบอบรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอีก
ตั้งอภิรัฐมนตรี
ข้อเสนอว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ สร้างความชอบธรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้ แก่ศาลรัฐธรรมนูญ อาจให้ที่มาของศาล มีกระบวนการที่ยึดโยงกับอำนาจประชาชนโดยไม่สูญเสียความเป็นผู้เชี่ยวชาญ ศาลต้องทำหน้าที่ส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนและป้องกันการละเมิดรัฐธรรมนูญขององค์กรอำนาจอื่น
ข้อเสนอว่าด้วยองค์กรอิสระ ที่มาและองค์ประกอบต้องโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ มีที่มาหลากหลายและยึดโยงกับประชาชน ในกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจแยกอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดออกจาก กกต.และเอาอำนาจนี้ไปให้ศาลชี้ขาด โดยกกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างเดียว
นอกจากนั้น มีการเสนอให้จัดตั้งอภิรัฐ มนตรีให้เป็นอีกดุลอำนาจหนึ่ง นอกเหนือจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เป็นดุลอำนาจที่สี่ (จตุอธิปัตย์) โดยจัดวางให้อภิรัฐมนตรี มีอำนาจดุลมากที่สุดในฐานะ "รัฏฐาภิบาล"
รัฐสภาไทยต้องมี 2 สภา
นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า สรุปกลุ่มย่อยที่ 2 การสร้างดุลอำนาจภายในรัฐสภาว่า รูปแบบของรัฐสภาที่เหมาะสมกับประเทศไทย วงอภิปรายเห็นร่วมกันแบบฉันทามติต้องมี 2 สภา ที่ต้องถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสมระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน โดยเห็นว่ารัฐสภาต้องเป็นเวทีของกลุ่มผลประโยชน์ทุกกลุ่ม โดย 1 ใน 2 นั้นต้องเป็นสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน มาจากการเลือกตั้งแบบผสม คือ เลือกตั้งแบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ มีทางเลือกที่เสนอได้แก่ 1.ใช้ระบบคู่ขนาน เหมือนการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2554 แต่เพิ่มสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้มากขึ้น 2.ใช้ระบบคู่ขนานเช่นกัน แต่เปลี่ยนให้เป็นเขตเลือกตั้งแบบใหญ่ขึ้น 3.ใช้ระบบเลือกแบบคู่ขนาน แต่ส.ส.เขตต้องเป็นแบบการจัดอันดับความนิยม และ 4.ใช้การเลือกตั้งระบบผสม เหมือนประเทศเยอรมัน โดยเอาส.ส.จำนวนบัญชีรายชื่อเป็นตัวตั้งในการกำหนดจำนวนส.ส.เขต
ขณะที่ที่มาของ ส.ว. เวทีอภิปรายเสนอทางเลือก ได้แก่ 1.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงผสมกับการสรรหา 2.ส.ว.มาจากการแต่งตั้งโดยองค์กรที่มีจุดยึดโยงกับประชาชน โดยไม่ต้องการให้มีระบบสรรหาโดยองค์กร หรือคณะบุคคลเพียง 7 คนเหมือนปี 2550 ต่อไป
ใช้ระบบไพรมารี่โหวต
นายสติธร กล่าวว่า สำหรับความมีอิสระและคุ้มครองการทำงานอย่างเป็นอิสระของส.ส.ต่อการทำหน้าที่ มีข้อเสนอใช้ระบบ ไพรมารี่โหวต หรือมีข้อกำหนดให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม ปัญหาการออกกฎหมายที่ใช้เสียงข้างมากผ่านร่างกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของเสียงข้างมากของประชาชน วงอภิปรายเสนอให้นำร่างกฎหมายดังกล่าวไปทำประชามติก่อนที่ร่างกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ โดยให้เสียงข้างน้อยในสภา หรือประชาชนที่เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของประชาชนทั้งหมดร้องขอให้นำร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ไปทำประชามติเพื่อแก้ปัญหาการเดินขบวนประท้วง อย่างไร ก็ตาม ประเด็นดุลอำนาจดังกล่าวไม่ถือเป็นบทสรุป หรือพิมพ์เขียวที่นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องนำไปพิจารณาต่อไป
ถ่วงดุลการเมือง-ขรก.
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปก เกล้า สรุปผลประชุมกลุ่มย่อยที่ 3 ดุลอำนาจระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ว่า จะทำอย่างไรให้เกิดดุลของอำนาจระหว่าง สองฝ่าย เพื่อป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของฝ่ายประจำ กลายเป็น "การเมือง ล้น" แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้อำนาจฝ่ายประจำมีมากจนฝ่ายการเมืองไม่สามารถเข้า ไปจัดการผลักดันนโยบายทางการเมืองได้ ทั้งนี้ ไม่อาจปฏิเสธอำนาจของฝ่ายการเมืองได้ การแก้ปัญหาจึงไม่ควรมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มหรือลดอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ต้องจัดสรรการใช้อำนาจให้ลงตัว การสร้างกลไกการบริหารงานบุคคลที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายการเมืองบนพื้นฐานของความโปร่งใส มีการคุ้มครองและป้องกันสิทธิของข้าราชการประจำเน้นให้อำนาจของสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ ในเชิงภาระหน้าที่ ไม่ใช่เชิงแสวงหาผลประโยชน์ระหว่างกัน เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ และระบบราชการจะอยู่ได้ จะต้องมีระบบคุณธรรมเป็นตัวคุ้มครอง มีความเป็นกลางทางการเมือง
คดีทุจริตไม่มีอายุความ
นางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัย และพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า สรุปกลุ่มย่อยที่ 4 แนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตเพื่อสร้างดุลอำนาจอย่างแท้จริง ว่า นักการเมืองต้องเป็นต้นแบบที่ดี ทำให้เห็นประจักษ์ อย่าทำตรงข้ามกับที่พูด ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ส่วนหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้นำต้องมีความรับผิดชอบป้องกันไม่ให้คนในองค์กรทุจริต ส่วนระบบราชการต้องปฏิรูประบบวางระบบใหม่ ปรับปรุงขอบข่ายอำนาจ กำหนดมาตรฐานการใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ตรวจสอบงบประมาณและส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นำ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีพ.ศ.2546 มาใช้ในการบริหารราชการอย่างจริงจัง ส่วนองค์กรอิสระอย่าให้เกิดการแทรกแซง ควรให้ความเป็นอิสระมีบทบาทอำนาจอย่างแท้จริง และเครือข่ายภาคประชาชน ต้องตื่นตัวไม่ยอมรับการทุจริต ต้องเป็นเครือข่ายต่อต้านการทุจริต พร้อมทั้งติดตามตรวจสอบนโยบาย และการปฏิบัติ ตามนโยบาย
นางถวิลวดี กล่าวว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ออกและปรับปรุงกฎหมาย อาทิ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้ไม่มีอายุความในคดีคอร์รัปชั่น และการแสดงรายได้ ภาษีเงินได้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยจริยธรรม เพื่อให้มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน กฎหมายว่าด้วยสินบน แก้กฎหมายเลือกตั้ง วิธีการแก้ปัญหาการทุจริตเลือกตั้ง แก้กฎหมายในประเด็นที่ให้ประชาชนสามารถ ฟ้องได้โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในประเด็นที่พบเห็นการทุจริต ซึ่งคุณสมบัติร่วมที่ทุกฝ่ายต้องมี คือรักษาความถูกต้องไม่โลภจนทุจริตเสียเอง ไม่อดทนต่อการทุจริต ไม่มีวัฒนธรรมรับของขวัญ ไม่ตอบแทนบุญคุณส่วนตัวด้วยผลประโยชน์ของชาติ สร้างสังคม ที่รังเกียจการทุจริตและปราศจากคนโกง ทำผิดต้องรับผิดชอบ รวมทั้งสร้างค่านิยมความซื่อตรงให้คนดีเข้ามาทำงาน
มีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุม
นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า สรุปกลุ่มย่อยที่ 5 เรื่อง สถาบันการเมืองกับการเมืองภาคพลเมือง ดุลยภาพที่เหมาะสม ว่า สถาบันการเมืองและการเมือง ภาคพลเมืองไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้นจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมทำงานไปด้วยกันอย่างมีดุลยภาพ ที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาธิปไตยไทยมีความยั่งยืน แต่ยุคที่ผ่านมาสถาบันการเมืองและการเมืองภาคพลเมืองไม่สามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัจจัยด้านอำนาจและทุน ขณะเดียวกันการเมืองภาคพลเมือง มีความเข้มแข็งมากขึ้น จนถูกมองว่ามีอิสระมากจนสร้างความเดือดร้อน ทำให้วงอภิปราย เสนอให้มีกฎหมายว่าด้วยการชุมชุม เพื่อถ่วงดุลระหว่างอำนาจของภาคพลเมืองและภาคการเมือง
นอกจากนี้ มีข้อเสนอ 1.ให้เพิ่มศักยภาพของประชาชนโดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่ความ เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เห็นแก่ส่วนรวม มีการรวมตัวเพื่อเป็นพลังพัฒนาบ้านเมือง ด้วยกระบวนการให้การศึกษา ซึ่งมีผู้เสนอให้เขียนเป็นบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2.สร้างดุลการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อกระบวนการคิด วางแผน ปรับปรุง ติดตาม ประเมินผลทั้งนโยบายสาธารณะ กระบวน การนิติบัญญัติ รวมถึงสร้างกระบวนการประชาธิปไตยแบบสานเสวนา และ 3. กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาเสริมเพื่อเอื้อให้เกิดการเมืองภาคพลเมืองอย่างแท้จริง ด้วยการผลักดันกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน การเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง เป็นต้น ซึ่งการปรับดุลยภาพมีสิ่งที่ท้าทาย คือ วิถีประชาธิปไตยแบบไทยๆ จิตสำนึกและจิตใต้สำนึก รวมถึงการมีส่วนร่วมแบบได้ผลสำเร็จ
บริหารแบบ"สามเหลี่ยมกลับหัว"
นางอรทัย ก๊กผล ผอ.การวิทยาลัย การปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า สรุปการประชุมกลุ่มย่อยที่ 6 ว่า เรื่องของ "ดุลอำนาจรัฐ ท้องถิ่น ประชาชน" คือไม่มีความสมดุล มีการรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป การบริหารประเทศเป็นแบบคอขวด วิกฤตการเมือง ความขัดแย้งการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ ชุมชุนอ่อนแอ จึงมีข้อเสนอให้มีการบริหารแบบ"สามเหลี่ยมกลับหัว" เอาอำนาจการตัดสินใจและบุคลากร ไปอยู่ ในพื้นที่ อาจออกมาเป็นรูปแบบพ.ร.บ.การบริหารปกครองตนเอง เป็นต้น ส่วนกรอบการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นดีอยู่แล้ว ในส่วนของปัญหาเก็บกดขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น มีข้อเสนอให้แก้ไขภายใต้กรอบเดิม โดยขับเคลื่อนให้เป็นจริงในอำนาจหน้าที่ ความเป็นอิสระของ อปท.และการกำกับดูแล สำหรับการกระจายอำนาจหรือศูนย์รวมอำนาจนั้นต้องเน้นการดำรงอยู่ร่วมกันได้ และการจัดสัมพันธภาพเชิงอำนาจภายในรัฐ มีกลไกการ เชื่อมโยงระหว่างรวมศูนย์อำนาจและการ กระจายอำนาจ หัวใจสำคัญอยู่ที่ความสัมพันธ์ ของทั้ง 2 อย่างนี้ที่จะต้องมีผลเชิงประจักษ์
ผลศึกษาเบื้องต้นไม่ใช่ข้อสรุป
ทั้งนี้ นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่าข้อเสนอจากเวทีต่างๆ ไม่ถือเป็นบทสรุปต่อทิศทางปฏิรูปใดๆ เป็นเพียงผลการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมวิชาการแล้ว สถาบันพระปกเกล้าจะนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปพิจารณาต่อไป
บวรศักดิ์ชี้อภิรมต.คนเดียวเสนอ
จากนั้น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 และประธานกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปิดการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าเรื่อง "8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย พลวัตแห่งดุลอำนาจ" และปาฐกถา ตอนหนึ่ง ว่า ตนจะไม่กล่าวว่าสิ่งที่กลุ่มย่อยทั้ง 6 ที่ได้พูดไปแล้ว มีหนังสือพิมพ์นำไปพาดหัวว่าสถาบัน พระปกเกล้าเสนอให้มีคณะอภิรัฐมนตรีขึ้นมาควบคุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาและศาล ต้องขอแจ้งไม่ใช่ข้อเสนอของกลุ่ม แต่เป็นข้อเสนอของนายสุรพล ศรีวิทยา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต เพียงคนเดียวเท่านั้น
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า การจัดสรรอำนาจในระบบการปกครอง อำนาจการเมืองอาจอยู่ในรัฐสภา รัฐบาลจริง แต่ถ้ารัฐบาลอ่อนแอ ลงอำนาจที่แท้จริงที่ข้าราชการพลเรือน และรัฐวิสาหกิจถืออยู่จะแสดงตนเข้ามา รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงออกแบบสร้าง นายกฯและฝ่ายการเมืองที่เข้มแข็งจนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2550 มองว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป ต้องลดอำนาจให้น้อยลง มีการดึงศาลเข้ามาและเพิ่มบทบาทศาลโดยการสรรหาองค์กรอิสระ และส.ว. จนเกิด ตุลาธิปไตย จนเกิดการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ นี่คือความเสียสมดุลจากรัฐธรรมนูญ 2550 จึงต้องดูว่าสาเหตุตรงนี้จะแก้อย่างไร ดังนั้น โจทย์ใหม่คือจะสร้างดุลยภาพได้อย่างไร
บรรยากาศยกร่างไม่เหมือนปี 40
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า หากดูตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว 2557) ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือ คสช. แต่ คสช.มีการจัดตั้งดุลอำนาจให้ สนช. สปช. และคณะกมธ.ยกร่าง ดังนั้นอันดับแรกต้องสร้างดุลระหว่างกันเองก่อน คือ ระหว่าง สปช. กับ กมธ.ยกร่าง เพราะถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านตามกำหนดก็ตายตกไปตามกัน ด่านที่สองคือ กมธ.ยกร่างกับ คสช. สนช. และ สปช. ข้อจำกัดในการยกร่างคือ เวลา เพราะต้องลงมติเห็นชอบภายในวันที่ 6 ส.ค. 2558 ถ้าไม่เห็นชอบก็ต้องตั้ง กมธ.ขึ้นมาใหม่ ถ้าเห็นชอบก็จะประกาศใช้
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ข้อจำกัดที่สามคือบรรยากาศ ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปหลังการยึดอำนาจครั้งนี้จะมีบรรยากาศที่ดีเหมือนปี 2540 ไม่ได้ เพราะตอนนั้นไม่มีความขัดแย้งของสีเสื้อต่างๆ แต่ตอนนี้ความขัดแย้งหลบใน เพราะเราอยู่ในบรรยากาศของการใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎอัยการศึก และความไม่เชื่อใจกัน สื่อทั้งหลายพาดหัวว่าการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ แปลว่าคนร่างรัฐธรรมนูญหน้าเก่า แต่จุดดีก็มี คือ คนจำนวนมากมีบรรยากาศในความหวังกับการปฏิรูป การขับเคลื่อนของอนาคตประเทศไทย ซึ่งความหลากหลายของ สปช. ทำให้เราเกิดความหวังว่าอาจจะเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้
ยันรธน.ของใหม่-ไม่ใช่ปะผุ
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า หากจะต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่เราไม่สามารถปะผุได้ เพราะ ถ้าไปหยิบรัฐธรรมนูญปี 40-50 ที่มีปัญหามาปะผุ ก็แปลว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญใหม่ต้องตอบโจทย์เรื่องการสร้างความปรองดอง และแก้ไขปัญหาของคู่ขัดแย้งให้ได้ สร้างความเป็นธรรมและไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นในระยะยาว รัฐธรรมนูญใหม่อาจสร้างกลไกโดยหลักการสำคัญไม่ให้คนไทยมาเข่นฆ่ากัน และไม่ใช่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม แล้วจบๆ กันไปอย่างที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญจะต้องสร้างองค์กร กลไก รวมถึงการปฏิรูปในความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คนพอมีพอกิน มีอิสระทางสังคมและเศรษฐกิจ
"ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นของใหม่ ไม่ใช่เหล้าเก่าในขวดใหม่แน่ ดังนั้น ขอให้คืนคำนั้นเสีย เพราะรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับที่ผ่านมาไม่เคยพูดเรื่องปรองดอง และความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจและสังคม" นายบวรศักดิ์กล่าว
เลือกนายกฯโดยตรง-ติดปีกเสือ
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การสร้างดุลแห่งอำนาจใหม่ คือ 1. ดุลระหว่างการเมืองกับนักการเมือง กับการเมืองของพลเมือง คือความเป็นพลเมืองและระบบผู้แทนและผู้นำการเมืองที่ดี 2.ดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ วันนี้ถ้าเราไปเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก็เท่ากับเราไปติดปีกให้เสือ และสามารถทำให้เสือดำน้ำได้ด้วย รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้อำนาจพรรคการเมืองสามารถขับ ส.ส.ที่ขัดมติพรรคออกได้ วันนี้ ต้องเอาบัญญัตินี้ออก 3.ดุลระหว่างฝ่ายการ เมืองกับศาลและองค์กรตรวจสอบ 4.ดุลระหว่างการรวมศูนย์ที่ส่วนกลางกับการ กระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น 5.ดุลระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำ และ 6.ดุลอำนาจ ระหว่างรัฐ องค์กรเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคม
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สภาที่ 1 เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการสมัครเข้ามาเพื่อตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมาก ส่วนสภาสูง ควรเป็นคนที่มีความหลากหลาย โดยไม่ต้องมีการสรรหา แต่ไม่มีอำนาจในการถอดถอนนักการเมือง นอกจากการออกกฎหมาย นี่คือการสร้างดุลใหม่
ไม่เอาอภิรมต.-ชูร่างรธน. 4 ส่วน
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะสั้นหรือยาว ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรไม่ยาวมาก เช่น บทบัญญัติที่ว่าด้วยศาล ใช้มา 17 ปีแล้ว ก็ใส่หลักการสำคัญไว้ ส่วนรายละเอียดควรอยู่ในกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญให้หมด การแก้ไขเพิ่มเติมควรเป็นไปตามความสำคัญ เช่น ภาค ที่ 1.พระมหากษัตริย์ และประชาชน ภาคที่ 2.ศาลยุติธรรม และกระบวนการยุติธรรม ภาคที่ 3.ผู้นำที่ดีและสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่อภิรัฐมนตรี และ ภาคที่ 4.ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งภาคที่ 1-2 แก้ไขยากมาก และภาคที่ 3 ธรรมดา ส่วนภาคที่ 4 เมื่อพ้นไป 2-4 ปี ก็ให้พ้นไป เพราะไม่มีใครจะมาปรองดองทั้งปีทั้งชาติ
ให้ทำประชามติ
"การจะทำรัฐธรรมนูญนี้ให้สำเร็จ กมธ.ยกร่างและสปช.รู้ดีว่าเรามีต้นทุนน้อย ไม่ได้มาจากประชาชน มาจาก คสช. แต่เราจะทำให้ดีที่สุด และเราอยากให้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นสัญญาประชาชน กระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญทำได้ 2 ทางคือ 1.ประชาชน ต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 2.การลงประชามติให้ใช้รัฐธรรมนูญว่าผ่านหรือไม่ และนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพราะเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์และประชาชน" นายบวรศักดิ์กล่าว
"เทียนฉาย"แจงสปช.สัมมนา
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการสัมมนา สปช. เรื่อง "สานพลัง สปช. ออกแบบอนาคตประเทศไทย" ในวันที่ 9-10 พ.ย.นี้ ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ ว่า ประเด็นสำคัญเพื่อให้สมาชิกร่วมแสดงความเห็น เจตนา รมณ์และออกแบบอนาคตประเทศไทย ร่วมวางแนวทางการทำงาน รวมถึงการกำหนดเนื้อหาให้กับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูป ด้านต่างๆ ทั้ง 18 คณะ ว่าจะเดินหน้าทำงานอย่างไร เพื่อให้เกิดเอกภาพและมีการบูรณาการร่วมกัน รวมถึงร่วมกันออกแบบเพื่อนำเสนอกรอบความเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปยังกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ใช้ประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เบื้องต้นเชื่อว่าภายในวันที่ 10 พ.ย. จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จากนั้นจะมีการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนได้รับทราบด้วย
นายเทียนฉาย กล่าวว่า การจัดสัมมนา ดังกล่าวเป็นไปตามความเห็นร่วมของสมาชิก สปช. ที่ต้องการให้สมาชิกได้ทำความรู้จักกัน อย่างใกล้ชิดในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ อีกทั้งมองว่าการสร้างความรู้จัก และร่วมระดมความเห็นในประเด็นปฏิรูปแบบองค์รวมไม่สามารถทำได้ภายในห้องประชุมรัฐสภา ที่จัด เก้าอี้แบบหันหน้าไปทางเดียวกัน
ได้ชื่อกมธ. 18 คณะ
ผู้สื่อข่าวรายงาน การสัมมนาดังกล่าวมีไฮไลต์สำคัญคือการกล่าวเปิดสัมมนาโดยนายเทียนฉาย ที่จะสะท้อนถึงปัญหาของประเทศที่สะสมไปจนถึงแนวคิดปฏิรูปปัญหานั้นๆ นอกจากนั้นจะให้สมาชิกที่มาจากด้านปฏิรูปต่างๆ ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์การปฏิรูปประเทศไทย ก่อนจะถอดแนวคิดเป็นโรดแม็ป ภายใต้กิจกรรม "เราจะไปสู่อนาคตที่หวังไว้ได้อย่างไร หรือ Scenario for Thailand" จากนั้นจะนำโรดแม็ปดังกล่าว ไปถกเถียง และร่วมกำหนดรายละเอียดของการทำงานต่อไป
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช.นนทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.สามัญสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในกมธ.วิสามัญสปช. รวม 18 คณะ ได้ข้อสรุปที่ลงตัวทุกคณะแล้ว โดยวันที่ 9-10 พ.ย.นี้ สมาชิก สปช.ทั้งหมดจะร่วมสัมมนาเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ สปช. และจะให้ผู้ได้รับเลือกเป็นกมธ.ต่างๆ แบ่งกลุ่มในแต่ละคณะ เพื่อหารือแนวทางการทำงาน จากนั้นที่ 11 พ.ย.จะเป็น การประชุมสปช.เพื่อพิจารณารับรองรายชื่อกมธ.ในแต่ละคณะ โดยช่วงบ่ายกมธ.แต่ละคณะจะเลือกประธาน รองประธาน และเลขานุการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อบุคคลในกมธ.ทั้ง 18 คณะ ที่น่าสนใจ คือ กมธ.ปฏิรูปการเมือง อาทิ นายชัย ชิดชอบ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช สปช.ด้านการเมือง นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ด้านพลังงาน นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และสิทธิพื้นฐานของประชาชน ส่วนใหญ่เป็น สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อาทิ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ นายอนันตชัย คุณานันทกุล นายวันชัย สอนศิริ
เชื่อป.ป.ช.ไม่กล้าฟ้องเอง
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และอัยการสูงสุด (อสส.) ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในการสั่งฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานปล่อยปละละเลยโครงการจำนำข้าวจนเกิดความเสียหาย ตามที่ป.ป.ช.ชี้มูล ว่า การที่อัยการจะส่งเรื่องเองนั้นลำบาก แม้อยากจะช่วยป.ป.ช.ก็ตาม เพราะผลศึกษาของทีดีอาร์ไอกล่าวหาว่าผิดแต่ไม่ได้ระบุว่าทุจริตทุกขั้นตอน จึงต้องมีการตรวจสอบให้ชัด ทั้งเรื่องของการตรวจสอบดีเอ็นเอข้าว จึงยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใครจะส่งเรื่องต่อศาล
นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนมองว่าป.ป.ช. พยายามใช้จิตวิทยามาชี้นำกระแสสังคมเรื่องดังกล่าวเหมือนที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯระบุถึงความพยายามที่จะรุมกินโต๊ะพรรคเพื่อไทย ให้ชินวัตรไม่มีที่ยืน และตีข่าวโหมกระแสเห็นได้จากขณะนี้เริ่มมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง
นายเรืองไกร กล่าวว่า เชื่อว่าป.ป.ช.ไม่กล้า ฟ้องร้องเอง แต่เขาจะดำเนินการอย่างไรเป็นเรื่องของเขา เพราะมีเวลาจะอีก 10 ปี หรือกี่ปีก็ว่ากันไป ส่วนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมประชุมพิจารณารับเรื่องถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ สามารถ รับเรื่องไว้ได้ แต่จะพิจารณาอย่างไรคงต้องรอดู เพราะเขาเป็นเสียงข้างมากในสภา
ปชป.บี้อสส.ไม่ฟ้องก็บอก
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีคณะทำงานร่วมระหว่างอสส. ป.ป.ช. ยังไม่ได้ข้อสรุปในการสั่งฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ว่า ส่วนตัวทั้งงงและสงสัยเหมือนที่สังคมไทยสงสัยว่าเหตุใดเรื่องนี้มันจึงสรุปได้ยาก ทั้งที่มีข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ชัดเจน หรือ อสส.มองไม่เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโครง การจำนำข้าวที่มีการทุจริตซับซ้อนจนเสียหายมหาศาล แค่ค่าเก็บรักษาข้าวก็ต้องเสียเงินราว 1.8 หมื่นล้านบาทต่อปี
เมื่อถามว่า อสส.ระบุจะสอบพยานที่ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นร้องขอให้ครบ นพ.วรงค์กล่าวว่า ครั้งสุดท้ายจำได้ว่ามีการยื่นเพิ่มพยานถึง 50 ปาก หากจะสอบให้ครบทุกคนก็ไม่รู้ว่าคดีนี้จะจบปีไหน จึงหวังว่า การประชุมร่วมนัดหน้าคงสามารถหาข้อสรุปให้สังคมได้ หาก อสส.ยังยืนยันว่าไม่ฟ้องก็บอกให้ชัด เพื่อป.ป.ช.จะได้ยื่นฟ้องเองตามที่ระบุ
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีนายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เปรียบเทียบการดำเนินคดีต่อบุคลากรพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยได้รับสิทธิพิเศษใดๆ ต่อสู้คดีตามกฎหมาย หลายครั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นฝ่ายแพ้คดี บุคคลของพรรคถูกลงโทษ แม้เราไม่เห็นด้วยก็ไม่เคยออกมาสร้างความวุ่นวาย หรือทำให้สังคมแตกแยกจากการไม่ยอมรับผิด กรณีคดีความ อาทิ คดีโรงพัก คดีการชุมนุมปี "53 คดีการ กล่าวหาในโครงการประกันรายได้ ทุกเรื่องพรรคพร้อมชี้แจงและต่อสู้ตามกฎหมาย ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น จนมีการฟ้องกลับ เจ้าหน้ารัฐ อย่างเช่น อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงกรณีที่ศาลยกคำร้องในคดีการชุมนุมปี "53
บี้คดีจับเลื่อยยนต์-ตัดไม้อีสาน
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า หลังจากวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนเปิดเผยกรณีที่มีผู้ลักลอบนำเข้าเลื่อยยนต์ผิดกฎหมาย ขนาด 20-30 นิ้ว เข้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาตัดไม้ทำลายป่าในภาคอีสาน วันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เชิญตนเข้าพบเพื่อพูดคุยเรื่องดังกล่าว มีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ที่กำกับดูแลศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ร่วมหารือด้วย มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ จะขอดำเนินการหลังจากงานพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏในภาคอีสานเสร็จสิ้น ซึ่งงานผ่านไปแล้วแต่เรื่องยังเงียบ ตนจึงโทรศัพท์สอบถามฝ่ายทหารเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งว่าทหารจากจังหวัดทหารบกสกลนครจับกุมแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ของสถานีตำรวจภูธรคำตากล้า จ.สกลนคร แล้ว มีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่มีการแถลงข่าวนี้ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจแถลงข่าว รวมถึงขอให้คสช. รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการจับกุมครั้งนี้ว่าดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ ตั้งข้อกล่าวหาเป็นอย่างไร และมีการแจ้งข่าวให้ผู้กระทำผิดรู้ตัวล่วงหน้าหรือไม่ เพราะมีข้อมูลว่าร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายเลื่อยยนต์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่บางคน
"ป๋า-บิ๊กตู่"ร่วมงานศพแม่พรเพชร
เวลา 18.00 น. ที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธีน้ำหลวงอาบศพ นางเกษม วิชิตชลชัย มารดานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. บุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ร่วมแสดงความอาลัย