- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 08 November 2014 16:31
- Hits: 4415
ไอเดีย'วิษณุ'ชงร่างใหม่ รธน. 3 ส่วน ป้องปฏิวัติฉีกทิ้งทั้งฉบับ นพ.กระแสชูเลือกผู้ว่า เปิดสนช.ซัก 2 อดีตปธ. เชิญขุนค้อน-นิคมแจง ปปช.-อสส.ไร้สรุปคดีปู
'บิ๊กตู่'ชี้ รธน.เก่าเน้นคุมรัฐบาล เมินประชาชน แนะฉบับใหม่ควรยึด ปชช.เป็นศูนย์กลาง'วิษณุ'อยากให้มีรัฐธรรมนูญ 2-3 ฉบับ แบ่งส่วนที่แก้ยาก-แก้ง่าย เสนอตั้งองค์กรตีความ รธน.
แถลงคดีขุนค้อน-นิคม 27 พ.ย.
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้สำนักเลขาธิการ สนช. ส่งสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดย สนช.จะแถลงเปิดคดีวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ สมาชิกคนใดมีข้อสงสัยสามารถยื่นญัตติเป็นข้อซักถามได้ และต้องส่งก่อนการพิจารณานัดที่ 2 และการประชุม สนช.ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เป็นวันแถลงเปิดคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ
'พรเพชร'เตือนสนช.โดดประชุม
ต่อมา นายพรเพชรให้สัมภาษณ์ถึงมติที่ประชุม สนช.รับพิจารณาการถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม ว่า มติที่ออกมาเป็นการพิจารณาตามข้อกฎหมาย ไม่มีนัยยะอะไร ต่อไปนี้จะเป็นการพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่าทั้ง 2 คน กระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ รูปแบบการพิจารณาทั้ง 2 คนเป็นคนละคดี ดังนั้นจึงอาจขอมติจากที่ประชุมแยกสำนวนหรือพิจารณาร่วมกันก็ได้ โดยการพิจารณาจะเป็นไปอย่างเปิดเผย เว้นแต่ช่วงลงมติเท่านั้นที่ต้องเป็นความลับ ทั้งนี้ ยอมรับมีความกังวลในเรื่องมวลชนทั้ง 2 ฝ่าย ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งขึ้น แต่เชื่อว่าไม่มีความรุนแรงแน่นอน สำหรับการพิจารณาถอดถอนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น สามารถมาชี้แจงได้ด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจให้ตัวแทนมาชี้แจงแทนก็ได้
นายพรเพชร กล่าวว่า การประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มี สนช.สายทหารจำนวนหนึ่งไม่เข้าร่วมนั้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดสังเกตอะไร เพราะได้แจ้งภารกิจต่อ สนช.แล้ว โดยบางส่วนไปทอดกฐินพระราชทาน และติดภารกิจไปต่างประเทศ แต่หากมีสมาชิกไม่ได้แจ้งลาก็จะทำให้ขาดการประชุม เมื่อครบตามกำหนดอาจส่งผลต่อสถานะการดำรงตำแหน่ง สนช. จึงอยากขอให้สมาชิกให้ความร่วมมือมาประชุมกันมากๆ
เชิญ'นิคม-สมศักดิ์'แจงสู้คดี
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานที่ 1 แจ้งต่อที่ประชุม สนช.ถึงขั้นตอนการแถลงเปิดคดีของนายสมศักดิ์และนายนิคมว่า ระหว่างนี้คู่กรณีสามารถยื่นคำร้องเพิ่มเติมถึงพยานหลักฐานได้และต้องยื่นก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน แล้วที่ประชุมต้องพิจารณาคำร้องว่าจะอนุญาตให้เพิ่มเติมพยานหลักฐานได้หรือไม่ หลังจากนั้นจะเชิญคู่กรณีมาตอบข้อซักถาม
นายสุรชัย กล่าวว่า ขณะเดียวกัน สนช.จะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 1 คณะ เพื่อทำหน้าที่ซักถามดังนั้นสมาชิก สนช.ที่ข้องใจในประเด็นต่างๆ สามารถยื่นญัตติเพื่อสอบถามได้ โดย กมธ.ดังกล่าวจะเป็นผู้รวบคำถามเพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อน และจะเป็นผู้ถามแทนสมาชิกที่ยื่นญัตติ โดยจะปิดรับคำถามก่อนถึงวันประชุมนัดที่ 2 ซึ่งขณะนี้ประธานกำหนดเพียงการประชุมนัดแรกในวันที่ 27 พฤศจิกายน
อสส.-ปปช.ยังไม่สรุปฟ้อง'ปู'
เมื่อเวลา 09.30 น. วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี มีการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง
นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รอง อสส. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่าย อสส. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ยังไม่ได้ข้อยุติ ทางอัยการยังมีบางเรื่องที่ติดใจ แต่มีการตกลงกันได้ในบางประเด็น เช่น เรื่องการสอบพยานเพิ่มเติม ที่ฝ่าย ป.ป.ช. จะยอมไต่สวนเพิ่มเติมให้บางราย เพื่อให้ได้ตามที่ทางอัยการต้องการ อย่างไรก็ดีฝ่ายเราต้องการให้สอบพยานเพิ่มเติมตามที่เสนอไปทั้งหมด เพราะเห็นว่ายังมีความจำเป็นในเรื่องพยานหลักฐานอยู่
อสส.ขอสอบพยานเพิ่ม
นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า พยานที่ขอให้สอบเพิ่มเติมนั้นเป็นชุดผสมทั้งของที่ ป.ป.ช. สอบเองและที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอมาก่อนหน้านี้ แต่ ป.ป.ช. ปฏิเสธ คาดว่าจะต้องสอบพยานทั้งหมดเกิน 10 คน หลังการหารือเสร็จสิ้นก็จะนำเรื่องนี้ไปเสนอแก่ อสส. เพื่อพิจารณาดูว่ามีมูลพอที่จะฟ้องหรือไม่
เมื่อถามว่า ป.ป.ช. สามารถดำเนินการฟ้องคดีเองได้เลยหรือไม่ นายวุฒิพงศ์กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นตอนที่ ป.ป.ช. จะฟ้องคดีเอง ต้องรอให้ฝ่าย อสส. รายงานผลให้กับ อสส. ก่อน หาก อสส. เห็นไปในแนวทางเดียวกับ ป.ป.ช. ครบถ้วนแล้วจะดำเนินคดี แต่ถ้า อสส.เห็นว่ายังต้องสอบพยานเพิ่ม หรือต้องหารือในบางประเด็น ก็อาจจะต้องหารือกันอีกครั้ง ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันประชุมครั้งหน้าเมื่อไร
"ป.ป.ช. ยอมให้สอบพยานบางคน แต่ อสส. เห็นว่าต้องสอบทุกคน ตอนนี้แต่ละฝ่ายยังยันกันอยู่ ยังไม่ได้ข้อสรุป ผมยืนยันไม่ได้ยื้อเวลา ทาง อสส.ทำงานตลอด" นายวุฒิพงศ์กล่าว
"สรรเสริญ"ชี้ยังวนในอ่าง
ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่าย ป.ป.ช. กล่าวว่า ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ เพราะ ป.ป.ช. ทำตามที่ อสส. ขอมาทั้งหมดไม่ได้ เนื่องจากยังมีปัญหาข้อกฎหมายที่ยังเห็นต่างกันบางส่วน ทาง อสส. บอกว่าต้องกลับไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง เป็นการมองกฎหมายกันคนละมุม ตอนนี้ยุ่งกันใหญ่ จะต้องคุยกันใหม่ ยังเหมือนวนในอ่าง
นายสรรเสริญ กล่าวว่า การที่รอง อสส. ระบุว่า ป.ป.ช.แข็ง ก็ใช่ที่เขาว่าแข็ง เพราะ ป.ป.ช.ไม่ยอม ยึดกฎหมาย และเห็นว่าสำนวนในคดี หลักฐานต่างๆ ข้อไต่สวนต่างๆ เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีแล้ว แต่อัยการยังเห็นต่าง ส่วนการสอบพยานเพิ่มนั้น ป.ป.ช. ก็รับที่จะไปทำบางส่วนให้ แต่บางส่วนยืนยันว่าทำไม่ได้ การประชุมครั้งนี้ ไม่ได้เรียกว่าจบไม่สวย แต่ยังไม่จบ เพราะต่างคนต่างยัน ก็เลยยังไม่จบ และยังไม่ได้กำหนดวันนัดหารือครั้งต่อไป เพราะทั้ง ป.ป.ช.และ อสส. ต้องรายงานต่อที่ประชุมแต่ละฝ่ายก่อน
ปปช.พร้อมส่งเอกสารให้อสส.
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า นายสรรเสริญมารายงานผลการประชุมของคณะทำงานร่วมให้ทราบแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการสอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งพยานใดที่ ป.ป.ช.ไต่สวนไปแล้วจะไม่นำมาพิจารณาใหม่ สำหรับพยานเอกสารที่ตัวแทน อสส. ขอมาเพิ่มจากที่ ป.ป.ช.อ้างอิงไป ป.ป.ช.ก็จะหาให้ เนื่องจากมีพยานบุคคลอ้างอิงถึงพยานเอกสาร แต่พยานอื่นๆ นั้น ป.ป.ช.เห็นว่าเพียงพอแล้ว
นายปานเทพ กล่าวว่า คณะทำงานของ อสส.สอบถาม ป.ป.ช.ว่าได้ยืนยันการพิจารณาตามที่ ป.ป.ช.พิจารณามาใช่หรือไม่ จากนั้นเขาจะนำไปยืนยันต่อที่ประชุม อสส.ทราบแล้วค่อยกลับมาประชุมเพื่อให้คำตอบอีกครั้งโดยเร็วต่อไป และนายสรรเสริญเตรียมรายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.และ อสส.แจ้งว่า พยานเอกสารที่ อสส.ขอให้ ป.ป.ช.ส่งรายละเอียดให้เพิ่มเติมคืองานวิจัยเรื่องจำนำข้าวของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉบับเต็ม และขอพยานบุคคลที่มีการอ้างอิงถึงเอกสารดังกล่าวจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องจำนำข้าวในสภาด้วย
แจงสอบ"ปู"ปมย้าย"ถวิล"
นายปานเทพ กล่าวถึงกรณีการตั้งประธานอนุกรรมการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯร่วมกับอดีตรัฐมนตรี 33 คน ในข้อกล่าวหากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 กรณีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า เรื่องนี้เป็นคนละส่วนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินไปแล้ว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในส่วนการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น แต่ไม่ได้ชี้มูลความผิดในส่วนคดีอาญา ป.ป.ช. ต้องพิจารณาว่ามีความผิดทางอาญาหรือไม่ โดยต้องดูว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหายหรือเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และเป็นการกลั่นแกล้งหรือไม่
นายปานเทพ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่หลายคนสงสัยทำไม ป.ป.ช.ถึงปิดชื่อผู้ร้องเรียนกรณีดังกล่าวนั้น คิดว่าเรื่องนี้อาจเกิดจากการที่ ป.ป.ช.หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาดำเนินการเอง ทาง ป.ป.ช. สามารถทำได้หากเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลความผิดจริง
ยันทรัพย์สิน"บิ๊กตู่"ปกติ
นายปานเทพ กล่าวว่า สำหรับกรณีการตรวจสอบการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เจ้าหน้าที่ของสำนักตรวจสอบทรัพย์ภาคการเมืองได้รายงานการตรวจสอบดังกล่าวให้ทราบแล้วพบว่าทรัพย์สินของนายกฯที่ยื่นมาได้ตรวจสอบแล้วถึงความถูกต้องและความมีอยู่จริง ไม่พบสิ่งผิดปกติ ทาง ป.ป.ช.จะได้เก็บไว้เปรียบเทียบกับตอนยื่นแสดงรายการทรัพย์ของนายกฯในครั้งต่อไป
เมื่อถามถึงกรณีที่ดินย่านบางบอนซึ่งเป็นมรดกของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ นายปานเทพกล่าวว่า ทาง ป.ป.ช.ตรวจสอบบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินที่ยื่นมาถึงความถูกต้องและความมีอยู่จริงเท่านั้น ส่วนเรื่องที่เป็นข่าวเกิดขึ้นก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน
"ปลอด"โวยปปช.บี้"ปู"ไม่เลิก
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ และอดีตรัฐมนตรีรวม 33 คนกรณีย้ายนายถวิล ว่า เป็นเรื่องบ้า และทุเรศมาแต่ต้น การโยกย้ายข้าราชการแค่คนเดียวเพื่อให้รัฐบาลทำงานได้ จะทำไม่ได้ได้อย่างไร เพราะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร รัฐบาลนี้อย่ามาอ้างว่าเพราะปฏิวัติจึงมีอำนาจโยกย้ายนะ เพราะโยกย้ายปลัดกระทรวงไป 10 กว่าคน ระดับอธิบดีอีก 30 กว่าคน ตอนนี้ไปนั่งตบยุงอยู่ที่สำนักปลัดสำนักนายกฯ ทำไมทำได้ แล้วพวกตนทำไม่ได้
"คุณบอกไม่ใช่หรือว่า ที่ต้องย้ายบุคคลเหล่านี้เพราะทำงานไม่เข้าขา คุณต้องมีพวกจึงจะทำงานได้ แล้วคนอื่นเขาจะคิดแบบคุณบ้างไม่ได้หรือ ทั้งนี้ตำแหน่งเลขาฯ สมช.นั้นนั่งอยู่ใน ครม. แล้วออกไปให้ข่าวที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลตลอดเวลาแล้วจะยังให้นั่งอยู่ใน ครม.ได้ไหม เมื่อศาลปกครองบอกให้คืนตำแหน่ง เขาก็คืนตำแหน่ง ก็จบไปแล้ว นี่ ป.ป.ช.จะมาเล่นอีก แล้วอย่างนี้จะจบอย่างไร" นายปลอดประสพกล่าว
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรค พท. และที่ปรึกษากฎหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีที่ สนช.จะประชุมเรื่องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ วันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาและเรื่องถอดถอน ขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ระหว่างรอทีมทนายเสนอแนะข้อกฎหมาย เพื่อใช้ในการต่อสู้ต่อไป
"บิ๊กตู่"ย้อนไทยขัดแย้งเสียกรุง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า ความไม่สงบทางการเมืองในเมืองไทยเกิน 10 ปี ทำให้มีปัญหามาโดยตลอด ต้องขอขอบคุณและขอความร่วมมือต่อไปอีก ขอให้ทุกคนจดจำไว้ไทยเสียกรุงมาแล้ว 2 ครั้ง ก็เนื่องจากการขาดความสามัคคีของคนในชาติ วันนี้ถ้ายังมีความขัดแย้งกันอยู่ ไม่มีการปรองดอง ไม่ไว้ใจกัน ประเทศก็จะเหมือนคนป่วย ไม่มีภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ ไม่ได้ต้องการให้กฎหมายหรือความยุติธรรม นำไปใช้ประโยชน์ทางที่ไม่ถูกต้อง ใครผิดก็ว่ากันไป ใครถูกก็ว่าไปตามถูก
"ผมขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการเตือนสติ และชี้แนะเทคนิคการทำงานร่วมกันว่า รู้-รัก-สามัคคี รู้คือปัญญา มีความรู้ความเข้าใจในงานที่จะต้องทำ รักคือการมีความรัก ความพอใจในงานที่จะต้องทำนั้น และสามัคคี คือการร่วมกันทำงานด้วยความจริงใจ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ขอให้ทุกคนยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน" นายกฯกล่าว
ชี้รธน.เก่าเน้นคุมรบ.-เมินปชช.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา มักจะร่างขึ้นเนื่องมาจากเหตุผลหลักคือเพื่อจะควบคุม กำกับดูแล หรือไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สาระใจความบางครั้งก็ทำให้เหมือนกับประชาชนมีส่วนร่วมน้อยเกินไป หรือมองไม่ออกว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากตรงไหน
"ผมพูดใน ครม.ว่า ให้ช่วยกันดูว่าจะทำยังไง เพราะเรามีการตั้งคณะกรรมการติดตามอยู่แล้วในเรื่องนี้ ว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ตรงไหน ผลประโยชน์มากหรือน้อย ทุกอย่างถ้าเรามีศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชน ทุกงานทุกกระทรวง ประชาชนคือศูนย์กลางก็จะคิดออกหมด ไม่ใช่เอาเรื่องความขัดแย้ง ไม่ใช่เอามาเพื่อต่อสู้กันอีกในวันหน้า ปัญหาส่วนใหญ่มาจากกฎหมาย มาจากรัฐธรรมนูญ วันนี้ก็ต้องยอมรับกันว่าเป็นกติกา แล้วเดินต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
แนะรธน.ยึดปชช.เป็นศูนย์กลาง
"ผมไม่อยากให้เกิดการโต้แย้งกันอีกในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ วันนี้ยังไม่เห็นสักบรรทัดเลย ก็มาคาดการณ์อย่างโน้นอย่างนี้ ผมก็ตอบไม่ได้ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะฉะนั้นอย่าเอามาต่อสู้ผิดถูกกันเลย ตอนนี้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางดีกว่า ดูว่าจะทำให้เกิดความเป็นธรรมอย่างไร โปร่งใสอย่างไร ถ้าปลายทางของรัฐธรรมนูญ ปลายทางของกฎหมายดูที่ประชาชน ย้อนกลับไปที่กระบวนการจะมาอย่างไร คนใช้เข้าสู่อำนาจจะเป็นยังไง ผมว่าอย่างนั้นจะดีกว่า อันนี้คือหลักการ จะผิดหรือถูกผมไม่รู้ แต่ผมคิดแบบนี้ แล้วผมไม่ได้ให้ใครคิดตามผม ถ้าใครคิดว่าไม่ใช่ก็บอกมา ฉะนั้นจะต้องไม่ใช้อำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์ สร้างความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายหรือ 3 ฝ่าย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลและ คสช.เร่งผลักดันการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกรอบเวลา ต้องแล้วเสร็จภายใน 120 วัน ระหว่างนี้มีการรับฟังมาตลอดทุกช่องทาง ก็ไปพูดกันอยู่ข้างนอกพอสมควร ไม่ได้ไปปิดกั้นใครทั้งสิ้นอยากให้เข้ามาทุกพวกทุกฝ่าย จะหาทางให้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด
"วิษณุ"แนะตั้งองค์กรตีความรธน.
วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สถาบันพระปกเกล้า จัดประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง "8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย พลวัตแห่งดุลอำนาจ" โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า การจัดดุลอำนาจต้องมองไปที่ความสัมพันธ์แห่งอำนาจให้ครบทุกองค์กร ต้องจัดอำนาจให้ครบ อย่าเลือกจัดระบบเพียงบางดุลอำนาจ เพราะ 8 ทศวรรษ มีการเลือกจัดเพียงบางอำนาจบางโอกาสตามปัญหา นักรัฐธรรมนูญไทยเก่งในการมองปัญหาล่วงหน้า แต่พอโยนหินมาถามทางกลายเป็นไม่ยอมรับ เพราะปัญหายังไม่เกิด ดังนั้น อย่าไปยุ่ง อย่าไปเขียน อย่าไปแตะ
"หวังว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมองอำนาจทั้งหลายแล้วจัดดุลแห่งอำนาจให้ครบ รวมทั้งระวังอย่าให้อำนาจเป็นกับดัก ต้องสร้างและป้องกันไว้ให้ได้ รัฐธรรมนูญอาจไม่ต้องเขียนละเอียดมาก ไม่ควรเขียนยาวแต่ควรครอบคลุม เพราะหลายเรื่องออกเป็นกฎหมายลูกได้ แต่การเขียนรัฐธรรมนูญไม่ยาวก็จะเกิดปัญหาว่ามันกำกวม หละหลวม เพราะฉะนั้น มันจะต้องมีกับดักไปล้อมตัวปัญหา จึงเสนอแนะว่าจำเป็นต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้กระชับ และต้องสร้างองค์กรขึ้นมาเพื่อช่วยวินิจฉัยตีความและให้คำปรึกษา เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาเรามีปัญหาการเมืองมาก เราถกเถียงกันว่าทำได้หรือไม่ นายกฯ มาตรา 7 ทำได้หรือไม่ จนกระทั่งยุบสภาแล้วนายกฯลาออกซ้ำกันได้หรือไม่ จึงต้องมีองค์กรขึ้นมาเพื่อให้คำปรึกษา" นายวิษณุกล่าว
อยากให้มีรธน.2-3ฉบับ
นายวิษณุกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เกือบ 20 ปีแล้วเคยพูดคุยกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ สมัยที่เป็นละอ่อนทั้งคู่ว่าทำไมรัฐธรรมนูญต้องมีฉบับเดียว เหตุใดไม่เขียนสัก 2-3 ฉบับ แยกเป็นส่วนๆ ไป ร่างพร้อมกันแต่แบ่งออกมาเป็น 3 ส่วน ทุกวันนี้มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว กี่มาตราก็ยัดลงไป หลายประเทศใช้หลายฉบับมาเกื้อกูลกัน
"รัฐธรรมนูญหนึ่งฉบับควรกำหนดเป็น 3 ส่วน โดยให้ส่วนหนึ่งแก้ยากที่สุด ส่วนที่สองและสามแก้ได้ตามลำดับ หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นจะได้เหลือเชื้อคงไว้อยู่สักส่วนหนึ่ง หากทำได้ก็จะช่วยให้หลายฝ่ายพอใจได้" นายวิษณุกล่าว และว่า มีโอกาสไปดูโขนพระราชทาน ชุดศึกอินทรชิต ตอนนาคบาศ ดูแล้วทั้งเรื่องก็เห็นว่าเป็นเรื่องของอำนาจ แต่ละตัวละครจะมีฤทธิ์ และใช้ฤทธิ์ไปจัดการปัญหาต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบอำนาจก็เหมือนกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 36 คน ที่มีหน้าที่แผลงศรจับเอาตัวอำนาจมาขึ้นดุล กำหนดกฎเกณฑ์กติกาให้ได้ (อ่านรายละเอียด น.2)
"ชวน"ให้มีแต่นักการเมืองอาชีพ
จากนั้นมีการแสดงทรรศนะ ในหัวข้อ "บทเรียนสู่อนาคตเพื่อประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ" มีนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมแสดงทรรศนะ
นายชวนกล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ส่วนตัวเชื่อว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้จะสามารถนำพาประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่พาประชาธิปไตยถอยหลัง การร่างรัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้ประชาธิปไตยเป็นไปตามมาตรฐานที่ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนราษฎรเองและต้องยอมรับที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ
นายชวนกล่าวว่า รูปแบบที่มาของนักการเมืองนั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการแต่งตั้ง สุดท้ายก็จะได้ทั้งคนดีและคนไม่ดีเข้ามาปะปนกัน อย่าหวังว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนให้คนที่เข้ามาใช้อำนาจเป็นคนดีทั้งหมด ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดดุลอำนาจ คนที่จะมาเล่นการเมืองต้องเป็นมืออาชีพทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ที่เป็นมืออาชีพในทางอื่นเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง จนเกิดปัญหา ขณะนี้การเมืองไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น เพียงแต่สะดุดล้มลงชั่วคราวเท่านั้น
"เอนก"ให้บีบ2ฝ่ายเป็นรบ.ผสม
นายเอนกกล่าวว่า ควรออกแบบให้รัฐบาลมีเสียง 2 ใน 3 อยากให้รัฐธรรมนูญช่วยบีบให้สองฝ่ายมาร่วมกัน ฝ่ายขัดแย้งต้องร่วมเป็นรัฐบาลผสม อาจเขียนบทเฉพาะกาล 5-10 ปี แต่การควบคุมรัฐบาลต้องใช้องค์กรอิสระ การพิจารณาเกี่ยวกับนักการเมืองต้องสำเร็จรวดเร็ว องค์กรอิสระควรมีไว้ แต่ต้องมีประสิทธิผล ไม่เชื่อมั่นฝ่ายค้านจะตรวจสอบรัฐบาลได้มาก ถ้าคิดจะปฏิรูปการเมืองต้องกล้าคิดใหม่ๆ ต้องเขียนรัฐธรรมนูญจากปัญหาของไทย เพราะปัญหาไม่เหมือนปัญหาคนตะวันตก จะลอกเขาไม่ได้ ต้องเข้าใจสังคมไทยแท้ และออกแบบรัฐธรรมนูญมาให้สอดคล้อง
นายเอนกกล่าวว่า ที่มีปัญหามากคือระบบอุปถัมภ์ แต่คนไทยขาดไม่ได้ รัฐธรรมนูญจะยอมรับได้อย่างไร ให้ระบบอุปถัมภ์มีหลักการ อย่าให้ก้าวไปสู่คอร์รัปชั่นได้ ต้องออกแบบรัฐธรรมนูญให้ทุนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้น้อย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเริ่มคิด กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่กีดกันพรรคการเมืองต่างสี "เรายินดีฟังปัญหาและให้ท่านช่วยคิดว่าจะสร้างการเมืองอย่างไรไม่ทำลายอีกฝ่าย แต่ผิดก็คือผิด ไม่ใช่สามัคคีจนไม่รู้ผิดถูก ขอให้มาช่วยกันแล้วเราจะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาให้ดีที่สุด"นายเอนกกล่าว
"บิ๊กอู้"เชื่อไม่ยุบองค์กรอิสระ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ฐานะประธานคณะอนุ กมธ.ประสานงานเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และองค์กรต่างๆ กล่าวว่า วันที่ 10 พฤศจิกายน อนุ กมธ.นัดหารือเพื่อวางกรอบการทำงานร่วมกันระหว่าง อนุ กมธ. ซึ่งมีตัวแทนจาก สปช.มาร่วมด้วย สำหรับประเด็นเรื่ององค์กรอิสระนั้น เบื้องต้นจะรับฟังความเห็นและผลดำเนินงานที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่เป็นการประเมินผลงานที่ผ่านมาเพื่อเป็นบทสรุปว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดควรอยู่ต่อหรือยุบองค์กร เพราะการตัดสินใจในประเด็นดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับมติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เชื่อว่าองค์กรอิสระที่มีอยู่เดิมจะไม่ถูกยุบอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาถือว่าทำหน้าที่ได้อย่างดีแล้ว
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมส่งความคิดเห็นมาที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตู้ ปณ 9 ปณฝ.รัฐสภา กทม. 10305 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อนำไปร่วมประกอบการพิจารณาการจัดทำรัฐธรรมนูญ
"หมอกระแส"เล็งเลือกตั้งผู้ว่าฯ
นพ.กระเส ชนะวงศ์ รองประธาน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญคนที่ 1 กล่าวว่า การออกแบบการปกครองในอนาคตต้องลดอำนาจส่วนกลางและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มาก จังหวัดที่มีความเหมาะสมอาจจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ แต่จะทำอย่างไรให้การปกครองส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพ เพราะการปกครองท้องถิ่นถือเป็นรากฐานของประชาธิปไตย แต่มีการทุจริตมาก ดังนั้นต้องสร้างกลไกป้องกันเรื่องนี้
นพ.กระแสกล่าวว่า นอกจากนี้ควรลดการเติบโตของกระทรวงต่างๆ อย่างในต่างประเทศ เช่น จีนและสหรัฐ กระทรวงเขาขนาดเล็กกว่าไทย แต่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า จึงควรให้กระทรวงดูนโยบายอย่างเดียวปล่อยให้ท้องถิ่นปฏิบัติงานไป หากทำได้จะลดความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง และควรกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งไม่ให้นานเกินไป ไม่เช่นนั้นจะเป็นการผูกขาดอำนาจ
นพ.กระแสกล่าวว่า สายสัมพันธ์เก่าๆ ของตนใน 2 ขั้ว จะมีประโยชน์อย่างมากในการร่างรัฐธรรมนูญ ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นจากทุกฝ่าย ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง การยกร่างครั้งนี้ต้องทำให้ทันตามเวลากำหนด หากไม่ทันจะเป็นการตายทั้งกลม
ปชป.หนุนคงองค์กรอิสระ
ที่สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตั้งอนุ กมธ.เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนและพรรคการเมืองขึ้นนั้น ปชป.ยินดีให้ความร่วมมือ เพราะนักการเมืองจากทุกพรรคมีประสบการณ์ และเผชิญปัญหาด้วยตัวเองจึงพร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพราะข้อเสนอต่างๆ บางครั้งถ้าได้มุมมองจากคนที่ไปปฏิบัติ อาจพบว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร
เมื่อถามว่าในส่วนองค์กรอิสระที่อาจต้องปฏิรูป เห็นด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า องค์กรอิสระสร้างขึ้นมาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ หากปล่อยให้นักการเมืองตัดสินกันเอง ทุกอย่างจะเป็นเรื่องของเสียงข้างมาก ที่สำคัญต้องดูว่าองค์กรอิสระแต่ละแห่งมีปัญหาอะไรบ้าง ส่วนตัวเชื่อว่าองค์กรอิสระยังเป็นส่วนสำคัญในระบบการเมือง
กกต.77จว.หนุนงานสปช.
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า สำนักงาน กกต.ส่งโทรสารด่วนที่สุดถึงสำนักงาน กกต.จังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ให้เตรียมสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ สปช. เพื่อรวบรวมการเสนอปัญหา ข้อเสนอแนะต่างๆ ในการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนการปฏิบัติงานของ สปช.จังหวัด ในงานด้านธุรการ ด้านสถานที่ บุคลากร และอื่นๆ
นายภุชงค์กล่าวว่า ได้มอบนโยบายไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (ผอ.กต.จว.) ทั้ง 77 จังหวัดเพื่อเตรียมความพร้อมสนับสนุนงานด้านธุรการ อาจต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์รับเรื่องราวที่ประชาชนในพื้นที่เสนอแนวคิดการปฏิรูปเรื่องต่างๆ รวมทั้งเตรียมแผนรองรับให้ สปช.ระดับจังหวัด พบปะกับประชาชนในการรับทราบข้อมูลปัญหาอุปสรรคต่างๆ ซึ่งสำนักงาน กกต.มีความพร้อมดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
"บิ๊กป๊อก"เชื่อนายกฯไม่ใช้ม.44
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีเรื่องการนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาใช้ว่า คิดว่านายกฯคงจะไม่นำมาใช้ อย่าให้ตอบแทนนายกฯเลย ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่นั้น ไม่ทราบ รู้เพียงว่าประเทศชาติต้องสงบ ปฏิรูปให้ได้ มีเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาเต็มไปหมด รอให้สงบไปก่อน พยายามจัดการเลือกตั้งให้ได้ ทำให้เป็นเหมือนเดิมให้ได้ดีกว่า ประเทศจึงจะเดินหน้าต่อไปได้
"ผมทราบจากนายกฯว่าถ้ามีกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ท่านไม่ยอมแน่ จะเห็นไม่ตรงกันก็ไม่เป็นไร รัฐบาลก็ไม่ไปยุ่ง จะออกเสียงอย่างไรก็ได้ แต่ต้องอยู่ในกฎหมาย จะเอาคนออกมาถนน มาขัดแย้งกัน ไม่เอา ถ้าออกมากลุ่มเล็กๆ เพียงแค่แสดงความคิดเห็นคงไม่เป็นไร แต่ถ้าออกมาเย้วๆ คงไม่ได้ ส่วนเรื่องคลื่นใต้น้ำผมยังไม่เห็น" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
"บิ๊กโด่ง"เล็งคุย"นปช.-กปปส."
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและ คสช.ว่า สถานการณ์ไม่มีอะไรมาก ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีผู้ที่เห็นต่างจากคนส่วนใหญ่ จากข้อมูลก็ไม่ได้บ่งบอกว่าจะมีการเคลื่อนไหวอะไรมากนัก จึงก็ไม่ได้เป็นห่วงหรือกังวลอะไร ทั้งนี้ สั่งการไปยังหน่วยที่รับผิดชอบในพื้นที่สร้างความรักความเข้าใจ ความสามัคคี
"ส่วนการปฏิบัติตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ใช่สิ่งที่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงหรือรัฐบาลที่จะดำเนินการ ขอให้ทุกคนสบายใจและร่วมมือกันทำให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า ขอยืนยันว่าขณะนี้นายกฯยังไม่ได้ใช้มาตรา 44 ในการควบคุมสถานการณ์ เพียงแต่นายกฯอยากจะพูดให้ทุกคนได้เข้าใจว่า คสช. ยังมีอำนาจอยู่และสามารถดำเนินการได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหยิบมาใช้ทันที ซึ่งนายกฯท่านเน้นย้ำการดำเนินการกับกลุ่มผู้ที่ต่อต้านในการทำความเข้าใจเหมือนเดิม" พล.อ.อุดมเดชกล่าว
เมื่อถามว่า มีการเรียกตัวนายวรชัย เหมะ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายถาวร เสนเนียม แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มาพูดคุยหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า กำลังดูอยู่ ถ้ามีโอกาสได้พบปะกัน จะให้ ผบ.หน่วยที่ดูแลพื้นที่นั้นๆ พูดคุยกัน
คสช.เคลียร์กลุ่มการเมืองแล้ว
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ คสช.จะเรียกบุคคลที่เคยรายงานตัวเข้าพบอีกครั้ง หรือจัดกองกำลังเข้าไปทำความเข้าใจว่า ตนไม่แน่ใจ แต่เท่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เคยกล่าวในที่ประชุม ครม.-คสช.ครั้งที่ผ่านมาว่า ให้ทุกฝ่ายติดตามความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น และให้ คสช.ช่วยประสานทำความเข้าใจเพราะมั่นใจว่าคนทั้งหลายที่แสดงความคิดเห็นอยู่นั้นเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เข้าใจว่าทาง คสช.คงประสานกันแล้ว และเชื่อว่าคนทั้งหลายก็ให้ความร่วมมือด้วยดี เหมือนกรณีนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมากล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารยศ พ.อ.โทร.ไปคุยด้วย ก็คงคุยกันแล้ว เข้าใจแล้ว ส่วนที่ว่าจะไม่มีเรียกรายงานตัวแล้วนั้น ไม่กล้าตอบแทน คสช. แต่เชื่อว่าหากทุกฝ่ายเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองก็เป็นเรื่องที่ดี
เมื่อถามว่ามีรายงานเรื่องคลื่นใต้น้ำหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า จากสถานการณ์สัมผัสได้ว่ามี แต่ตอนนี้คาดว่าทาง คสช.ติดต่อพูดคุยทำความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆ แล้ว คิดว่าน่าจะลงตัวแล้ว และจะทำให้เกิดความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ มากขึ้น และออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองน้อยลง
"บิ๊กป้อม"หัวโต๊ะครม.11พ.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะเดินทางร่วมประชุมผู้นำประเทศกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายนนี้ โดยมีผู้นำชาติต่างๆ ตอบรับแล้ว อาทิ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ นายชินโสะอาเบะ นายกฯญี่ปุ่น นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย นายโทนี แอบบอตต์
นายกฯออสเตรเลีย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า นอกจากนี้จะมีการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย และเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมถึงการประชุมสุดยอดประเทศลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้วย
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 พฤศจิกายน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะทำหน้าที่