- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 08 November 2014 12:29
- Hits: 3968
วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8746 ข่าวสดรายวัน
ฮัลโหล'ถาวร-วรชัย'สยบคลื่น บิ๊กโด่งเข้มทั่วปท. อัยการ-ปปช.งัดกันอีก คดีข้าวปู-ยังสรุปไม่ได้ 'ปานเทพ'การันตีบิ๊กตู่ ชี้ทรัพย์สินไม่ผิดปกติ
เปิดงาน- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานพิธีเปิดประชุมสมัชชาใหญ่ สมาคมสหพันธ์โอลิมปิกแห่งชาติ ประจำปี 2557 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.
'บิ๊กโด่ง'รับส่งทหารพูดคุยปรับความ เข้าใจ'วรชัย-ถาวร'แล้วขณะเดียวกันก็สั่งผบ.รส.ทั่วประเทศชี้แจง กับแกนนำม็อบทุกกลุ่ม มั่นใจสยบความเคลื่อนไหวได้ ประธานป.ป.ช.การันตีเอง เผยบัญชีทรัพย์สินบิ๊กตู่ไม่มีอะไรผิดปกติ ส่วนการซื้อขายที่ดินย่านบางบอนนั้นเกิดขึ้นก่อนที่จะยื่นแสดงต่อป.ป.ช. ถกกรรมการร่วมอัยการ-ป.ป.ช.คดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ยังไม่สรุป แต่ฝ่ายป.ป.ช.ยอมสอบพยานเพิ่มบางปาก เตรียมรายงานอสส.ให้ตัดสินใจ ชี้ยังไม่ถึงขั้นตอนป.ป.ช.ยื่นฟ้องเอง ด้าน 'บิ๊กตู่'วอนอย่าเพิ่งคาดการณ์เนื้อหารัฐธรรมนูญไปก่อน กมธ.ยกร่างจะดำเนินการ ยืนยันสร้างความปรองดอง เผย 'โทนี่ แบลร์' อดีตนายกฯ อังกฤษให้แนวคิดที่เป็นประโยชน์
อัยการถกปปช.ครั้งที่ 3-คดีข้าวปู
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 พ.ย. ที่สำนัก งานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี คณะทำงานฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.) นำโดยนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอสส. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน เดินทางมาร่วมประชุมกับคณะทำงานร่วมฝ่ายป.ป.ช. เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ ในสำนวนคดีอาญาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กรณีไม่ระงับยับยั้งโครงการจำนำข้าว เป็นครั้งที่ 3 โดยใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง
จากนั้นเวลา 12.45 น. นายวุฒิพงศ์เผยว่า การประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่มีการตกลงกันได้ในบางประเด็น เช่น การสอบพยานเพิ่มเติม ที่ฝ่ายป.ป.ช.จะยอมไต่สวนเพิ่มเติมให้บางราย เพื่อให้ได้ตามที่เราต้องการ ซึ่งฝ่ายอสส.ต้องการให้สอบพยานเพิ่มเติมตามที่เสนอไปทั้งหมด เพราะเห็นว่ายังมีความจำเป็นในเรื่องพยานหลักฐานอยู่ ทั้งนี้ พยานที่ฝ่ายเราขอให้สอบเพิ่มเติมไปนั้น ครอบคลุมทั้งชุดที่ป.ป.ช.สอบเอง และชุดที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอมาก่อนหน้านี้ และป.ป.ช.ปฏิเสธ คาดว่าจะต้องสอบพยานทั้งหมดเกิน 10 คน หลังหารือเสร็จสิ้นจะนำเรื่องนี้ไปเสนอแก่อสส. เพื่อพิจารณาดูว่ามีมูลพอจะฟ้องหรือไม่
นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ป.ป.ช.บอกว่าไม่ได้เน้นเรื่องทุจริต แต่เอาเรื่องปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบ แต่เมื่อสำนวนปรากฏในเรื่องนี้ก็ต้องให้เคลียร์ด้วย ซึ่งตัวแทนของป.ป.ช.ต้องนำเรื่องไปหารือกับคณะกรรมการป.ป.ช.อีกครั้ง สำหรับอัยการแล้วเมื่อมีข้อหาไหนเข้ามาก็ต้องพิจารณาให้หมด
ยังไม่จบ-ปปช.ยอมสอบพยานเพิ่ม
เมื่อถามว่าป.ป.ช.สามารถฟ้องคดีเองได้เลยหรือไม่ นายวุฒิพงศ์กล่าวว่ายังไม่ถึงขั้นตอนที่ป.ป.ช.จะฟ้องคดีเอง ต้องรอให้ฝ่าย อสส.รายงานผลในที่ประชุมให้อสส.ก่อน ซึ่งอสส.อาจเห็นในแนวทางเดียวกับป.ป.ช. ก็ได้ หากครบถ้วนแล้วจะดำเนินคดี แต่ถ้าอสส. ชี้ว่ายังต้องสอบพยานเพิ่มหรือต้องหารือในบางประเด็น ก็ต้องมีการหารือกันอีกครั้ง
"ป.ป.ช.ยอมสอบพยานในบางคน แต่อสส.เห็นว่าในข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ต้องสอบทุกคน ตอนนี้แต่ละฝ่ายก็ยังยันกันอยู่ จึงยังไม่ได้ข้อสรุป เราต้องการพยานหลักฐานเพิ่มให้แน่นหนามากขึ้นในหลายประเด็น แต่เป็นประเด็นใด ผมบอกไม่ได้ เป็นความลับ เมื่อมีในสำนวนเราก็ต้องทำให้เคลียร์ด้วย ป.ป.ช. บอกว่าสมบูรณ์แล้วแต่เรายังว่าไม่สมบูรณ์ ผมจะกลับไปรายงานให้อสส.ทราบ แต่ถ้าป.ป.ช. จะฟ้องเองคงทำไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงขั้นตอน" นายวุฒิพงศ์กล่าว
เมื่อถามว่า การใช้เวลาพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ ในคดีนี้นานเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ นาย วุฒิพงศ์กล่าวว่าไม่นาน เพราะกระบวนการยุติ ธรรมเป็นอย่างนี้ ต้องทำให้ละเอียด เพื่อยืนยันว่าทุกคนให้ความเป็นธรรม เพราะการทำเร็วก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดความยุติธรรม
เผยต่างฝ่ายต่างยืนยันข้อกฎหมาย
ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายป.ป.ช.กล่าวว่า ยอมรับว่าวันนี้ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ เพราะป.ป.ช.ทำตามที่อสส.ขอมาทั้งหมดไม่ได้ เพราะยังมีปัญหาข้อกฎหมายที่ยังเห็นต่างกันบางส่วน ป.ป.ช.ยืนยัน ว่าไม่ใช่หน้าที่ของป.ป.ช. แต่ อสส.บอกว่าเป็นข้อที่ทำได้ ดังนั้นจึงยังไม่ได้ข้อยุติ อสส.จึงบอกว่าจะกลับไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง เป็น การมองกฎหมายกันคนละมุม ตอนนี้ก็ยุ่งกันใหญ่ ต้องคุยกันใหม่ เพราะเหมือนวนในอ่าง
นายสรรเสริญ กล่าวว่า การที่รองอสส.ระบุ ป.ป.ช.แข็ง ก็ใช่ที่เขาว่าเราแข็งเพราะเราไม่ยอม เรายึดกฎหมายและเราเห็นว่าสำนวนในคดี หลักฐานต่างๆ ข้อไต่สวนต่างๆ เป็นหลักฐานที่เพียงพอจะดำเนินคดีแล้ว แต่เขายังเห็นต่าง ส่วนการสอบพยานเพิ่มนั้น ป.ป.ช.รับที่จะทำบางส่วนให้ แต่บางส่วนที่ยังเหลือก็ยืนยันว่าทำไม่ได้ การประชุมในวันนี้ไม่ได้เรียกว่าจบไม่สวย แต่ยังไม่จบ เพราะวันนี้ต่างคนต่างยัน เลยยังไม่จบ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้กำหนดนัดหารือครั้งต่อไป เพราะทั้งป.ป.ช.-อสส.ต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการก่อน
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.-อสส. ระบุว่าพยานเอกสารที่อสส.ขอให้ป.ป.ช.ส่งรายละเอียดให้เพิ่มเติมคือ เอกสารงานวิจัยเรื่องจำนำข้าวของทีดีอาร์ไอฉบับเต็ม และขอให้พยานบุคคลยืนยันในเอกสารที่อ้างอิงถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องจำนำข้าวในสภา
ปธ.ปปช.พร้อมส่งเอกสารเพิ่ม
นายปานเทพ กล้านรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า นายสรรเสริญรายงานการประชุมผลคณะทำงานร่วมให้ทราบ แล้วว่ามีการพิจารณาในข้อไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการสอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งพยานใดที่ป.ป.ช.ไต่สวนไปแล้วจะไม่นำมาพิจารณา ใหม่ แต่พยานเอกสารที่ตัวแทนอสส.ขอมาเพิ่มจากที่ป.ป.ช.ได้อ้างอิงไป เราจะหาให้เนื่องจากมีพยานบุคคลอ้างอิงถึงพยานเอกสาร แต่พยานอื่นๆนั้นป.ป.ช.เห็นว่าเพียงพอแล้ว
นายปานเทพกล่าวว่า คณะทำงานของ อสส.ได้สอบถามป.ป.ช.ว่าได้ยืนยันการพิจารณาตามที่ป.ป.ช.พิจารณามาใช่หรือไม่ จากนั้นเขาจะนำไปยืนยันต่อที่ประชุมอสส.ทราบแล้วค่อยกลับมาประชุม เพื่อให้คำตอบกันอีกครั้งโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้นายสรรเสริญเตรียมรายงานข้อสรุปของที่ประชุมคณะทำงานร่วมให้แก่คณะกรรมการป.ป.ช.ทราบในวันที่ 11 พ.ย.นี้
ระบุทรัพย์สิน"บิ๊กตู่"-ไม่ผิดปกติ
นายปานเทพกล่าวถึงการตรวจสอบการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมืองได้รายงานการตรวจสอบให้ทราบแล้วว่าได้ตรวจสอบทรัพย์สินของนายกฯที่ยื่นมาแล้วถึงความถูกต้องและความมีอยู่จริง ไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติ ซึ่งป.ป.ช.จะเก็บไว้เปรียบเทียบกับตอน ยื่นแสดงรายการทรัพย์ของนายกฯในครั้งต่อไป
ส่วนที่ดินย่านบางบอนซึ่งเป็นมรดกของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ใน ขณะนี้ นายปานเทพกล่าวว่าป.ป.ช.ตรวจสอบบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินที่ยื่นมาถึงความถูกต้องและความมีอยู่จริงเท่านั้น ส่วนเรื่องที่เป็นข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินเข้ามา
วรชัยซัดปปช.เอียง-ไม่ยึดกฎหมาย
ด้านนายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทร ปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการไต่สวนน.ส.ยิ่งลักษณ์ กับอดีตรัฐมนตรีรวม 33 คนกรณีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าป.ป.ช.พยายามจะจัดการฝ่ายพรรคเพื่อไทยให้สิ้นซากหรือไม่ แปลกใจที่ป.ป.ช.ขุดแต่เรื่องย้อนหลังของพรรคเพื่อไทยมาตรวจสอบทั้งที่เรื่องผ่านไปแล้ว ตั้งแต่กรณีคดีถอดถอนของนายสมศักดิ์และนายนิคม คดีทุจริตจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาจนถึงคดีของนายถวิล บ่งชี้ว่าป.ป.ช.มีพฤติ การณ์ลำเอียง ไม่ยุติธรรม ไม่ยึดหลักกฎหมาย
นายวรชัยกล่าวว่า ดังนั้น ขอฟ้องนายกฯในฐานะหัวหน้าคสช.ให้จัดการตรวจสอบป.ป.ช. ให้ทำหน้าที่อยู่ในกรอบกฎหมาย รักษาความถูกต้องด้วย ไม่ใช่คอร์รัปชั่นอำนาจเพื่อจัดการกับพรรคเพื่อไทยเพียงฝ่ายเดียว ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอาจเจอแรงเสียดทานเพราะ ป.ป.ช.เพียงไม่กี่คน ทั้งที่นายกฯพยายามสร้างปรองดองให้เกิดขึ้นทุกฝ่าย แต่ป.ป.ช.ยังทำตัวอยู่ในเครือข่ายอำนาจเดิมๆ มุ่งจัดการแต่ฝ่ายตรงข้าม อยากถามว่าคดีของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งคดีประกันราคาข้าว คดีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวะในโครงการไทยเข้มแข็ง คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน หรือคดีสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 53 คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว จนป่านนี้ยังไม่เห็นผลสรุปของป.ป.ช.เลย ขอให้ป.ป.ช.หยุดพฤติการณ์เอียงๆ แบบนี้ได้แล้ว
ทนายเผยยิ่งลักษณ์พร้อมแจงสนช.
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษากฎหมายน.ส. ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการหารือของคณะทำงานร่วมอสส.กับป.ป.ช.ที่ยังไม่ได้ข้อยุติจะสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีละเลยเพิกเฉยให้ทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวว่า ปล่อยให้เขาทำงานไป เราไม่ไปก้าวล่วง แต่สิ่งที่เรายื่นขอความเป็นธรรมกรณีการสอบพยานเพิ่มเติม หวัง ว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากคณะทำงานร่วม
นายพิชิตกล่าวว่า ส่วนที่สนช.จะนำเรื่องถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์บรรจุเป็นวาระการประชุมสนช.นัดพิเศษในวันที่ 12 พ.ย.นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์มั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำผิด ไม่ว่าคดีอาญาและเรื่องถอดถอน ซึ่งขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ระหว่างรอทีมทนายเสนอแนะข้อกฎหมาย เพื่อใช้ต่อสู้
สนช.แถลงเปิดคดี 2 อดีตปธ.-27 พย.
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม โดยแจ้งที่ประชุมว่าขณะนี้สำนักเลขาธิการ สนช.ได้ส่งสำนวนป.ป.ช. ให้นายสมศักดิ์ และนายนิคมรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ซึ่งที่ประชุม สนช.จะแถลงเปิดคดีในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ดังนั้น สมาชิกคนใดมีข้อสงสัยสามารถยื่นญัตติเป็นข้อซักถามได้ โดยส่งญัตติก่อนการพิจารณานัดที่ 2
นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนการประชุม สนช.นัดพิเศษวันที่ 12 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันแถลงเปิดคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ และปรากฏว่ารัฐบาลยังไม่เสนอร่างกฎหมายอะไรเพิ่มเติม มายังสนช. ดังนั้น ในวันดังกล่าวสมาชิกสามารถพิจารณาวาระอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่เพิ่มเติมได้ คาดว่าวาระที่สนช.ต้องพิจารณาจะเสร็จสิ้นในวันที่ 13 พ.ย. ดังนั้น ของดประชุม สนช.ในวันที่ 14 พ.ย.
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 แจ้งต่อที่ประชุมถึงขั้นตอนการแถลงเปิดคดีของนายสมศักด์ และนายนิคมว่า ระหว่างนี้คู่กรณีสามารถยื่นคำ ร้องเพิ่มเติมในพยานหลักฐานได้และต้องยื่นก่อนวันที่ 27 พ.ย. แล้วที่ประชุมต้องพิจารณาคำร้องนั้นว่าจะอนุญาตให้เพิ่มเติมพยานหลักฐานได้หรือไม่ จากนั้นจะเชิญคู่กรณีมาตอบข้อซักถาม ขณะเดียวกัน สนช.จะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) 1 คณะ เพื่อทำหน้าที่ซักถาม ดังนั้น สมาชิก สนช.ที่ข้องใจในประเด็นต่างๆ สามารถยื่นญัตติเพื่อสอบถามได้ ซึ่ง กมธ.ดังกล่าวจะเป็นผู้รวบรวมคำถามเพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนและจะเป็นผู้ถามแทนสมาชิกที่ยื่นญัตติเพื่อรักษาความเป็นกลาง โดยจะปิดรับคำถามก่อนถึงวันประชุมนัดที่ 2 ซึ่งขณะนี้ประธานกำหนดเพียงการประชุมนัดแรกในวันที่ 27 พ.ย.
พรเพชรทำเปิดเผย-ยกเว้นโหวต
ที่รัฐสภา นายพรเพชรกล่าวถึงมติที่ประชุม สนช.วันที่ 6 พ.ย.รับพิจารณาเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ กับนายนิคมว่า ยอมรับมีความกังวลเรื่องมวลชนทั้งสองฝ่าย ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง
เมื่อถามว่ามติรับเรื่องถอดถอนมีคะแนนห่างกันไม่มาก มีนัยยะอะไรหรือไม่ นาย พรเพชรกล่าวว่า มติที่ออกมาเป็นการพิจารณาตามข้อกฎหมาย ไม่มีนัยยะอะไร แต่ต่อไปนี้จะพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่าทั้ง 2 คนกระทำผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ทั้งนี้ รูปแบบการพิจารณาทั้ง 2 คนเป็นคนละคดี ดังนั้น อาจขอมติจากที่ประชุมแยกสำนวนหรือพิจารณาร่วมกันเลยก็ได้ โดยการพิจารณาจะเป็นไปอย่างเปิดเผย เว้นแต่ช่วงลงมติเท่านั้นที่จะเป็นความลับ ส่วนการพิจารณาคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในประเด็นทุจริตโครงการ รับจำนำข้าว จะพิจารณาตามกระบวนการเหมือนนายสมศักดิ์ และนายนิคม แต่อดีต นายกฯ สามารถชี้แจงได้ด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจให้ตัวแทนมาทำหน้าที่ชี้แจงได้
เมื่อถามว่า สนช.สายทหารจำนวนหนึ่งไม่เข้าร่วมประชุมในวันที่ 6 พ.ย.ถือว่าผิดสังเกตหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่ถือว่ามีอะไรผิดสังเกต เพราะได้แจ้งลาประชุมถูกต้องเรียบร้อย โดย สนช.สายทหารบางส่วนไปทอดกฐินพระราชทาน และติดภารกิจไปต่างประเทศจริงๆ
"บิ๊กป๊อก"ขู่ซ้ำห้ามระดมม็อบกดดัน
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึง สนช.มีมติรับพิจารณาถอดถอน 2 อดีตประธานว่า เท่าที่ดูเห็นว่าไม่มีการบังคับการลงคะแนนเสียง ผลที่ออกมามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยใกล้เคียงกัน เป็นกลไกที่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ไม่มีการสั่งให้รับหรือไม่รับ ทั้งนี้ ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก กฎหมายว่าอย่างไรก็ต้องตามนั้น อย่าเอาตามความพอใจ ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองมันเดินไม่ได้
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ส่วนที่จะนำมาตรา 44 มาใช้นั้น อย่าให้ตนตอบแทนนายกฯ เลย แต่คิดว่านายกฯ คงไม่นำมาใช้ ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่นั้นไม่ทราบ รู้ว่าประเทศชาติต้องสงบ ปฏิรูปให้ได้เพราะมีเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาเต็มไปหมด รอให้สงบไปก่อน พยายามจัดเลือกตั้งให้ได้ ทำให้เป็นเหมือนเดิมให้ได้ดีกว่า ประเทศจึงจะเดินหน้าต่อไปได้
"ทราบจากนายกฯ ว่าถ้ามีกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว ไม่ว่าใครก็ตาม นายกฯ ไม่ยอมแน่ จะเห็นไม่ตรงกันก็ไม่เป็นไร รัฐบาลไม่ยุ่ง จะออกเสียงอย่างไรก็ได้แต่ต้องอยู่ในกฎหมาย จะเอาคนออกบนถนน มาขัดแย้งกัน แบบนี้ไม่เอา ถ้าออกมากลุ่มเล็กๆ เพียงแค่แสดงความคิดเห็นคงไม่เป็นไร แต่ถ้าออกมาเย้วๆ คงไม่ได้ ส่วนเรื่องคลื่นใต้น้ำยังไม่เห็น" รมว.มหาดไทยกล่าว
ย้ำไม่รู้จักหุ้นใหญ่บริษัทจัดอีเวนต์
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า มีสื่อบางฉบับลงว่าบริษัท พฤกษพรรณพัฒนา จำกัด เป็นบริษัทรับจัดอีเวนต์ ซึ่งความจริงเป็นเพียงบริษัท รับเหมาก่อสร้าง ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าตนเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าว น่าจะรู้จักกับนายชาญชัย พาณิชยารมณ์ ซึ่งเป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจัดอีเวนต์นั้น ยืนยันด้วยความสัตย์จริงว่าไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า ตนเป็นเพียงกรรมการ อยากศึกษางานก่อสร้าง ยืนยันว่าได้รายงานป.ป.ช.ทุกเรื่อง ไม่มีอะไรปิดบัง ไม่ใช่มาบอกว่าท่าทางคนนี้ไปขโมยของเขามา อย่างนี้ตนเป็นจำเลย มันไม่แฟร์กับตน ไปบอกป.ป.ช.หรือ สตง.ตรวจสอบ อย่างนี้จะแฟร์กว่า
บิ๊กโด่งย้ำคสช.-รบ.เน้นความเข้าใจ
ที่บก.ทบ. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. และ รมช.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่ออกมาต่อต้านการทำงานของรัฐบาลและคสช. ว่า สถานการณ์ไม่มีอะไรมาก ถือเป็นเรื่องปกติ จากข้อมูลไม่ได้บ่งบอกว่าจะมีการเคลื่อนไหวมากนัก และเราไม่ได้ห่วงหรือกังวล ซึ่งตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ยังเน้นเรื่องการพูดคุยและทำ ความเข้าใจว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่ บางครั้งเราคิด ว่าทุกคนเข้าใจแล้ว แต่ถ้าไม่พูดกันในบางเรื่องหรือบางประเด็นก็อาจไม่เข้าใจกัน ซึ่งจะพยายามทำความเข้าใจกับคนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ ตนสั่งการไปยังหน่วยที่รับผิดชอบในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามนโยบายของนายกฯ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความรักความเข้าใจ สามัคคี และเชื่อว่าประเทศเราเดินไปได้ คงไม่มีปัญหา ส่วนการปฏิบัติตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงหรือรัฐบาลจะดำเนินการ จึงขอให้ทุกคนสบายใจและร่วมมือทำให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า
"ยืนยันว่าขณะนี้นายกฯ ยังไม่คิดใช้มาตรา 44 มาควบคุมสถานการณ์ เพียงแต่นายกฯ อยากพูดให้ทุกคนเข้าใจว่า คสช.ยังมีอำนาจและดำเนินการได้อยู่ แต่ไม่ได้หยิบมาใช้ในทันที ซึ่งนายกฯ เน้นย้ำการดำเนินการกับกลุ่มผู้ต่อต้าน ให้ทำความเข้าใจเหมือนเดิม" พล.อ.อุดมเดชกล่าว
รับส่งทหารพูดคุยกับ"วรชัย-ถาวร"
เมื่อถามว่าได้เรียกตัวนายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. และนายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. มาพูดคุยหรือไม่ กรณีทั้ง 2 คนระบุจะนำมวลชนออกมาหาก สนช.มีมติรับหรือไม่รับคดีถอดถอน พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ดูอยู่และพยายามทำความเข้าใจ ถ้ามีโอกาสได้พบกันจะให้ ผบ.หน่วยที่ดูแลพื้นที่นั้นพูดคุย แต่ไม่มีอะไรมาก เพราะทุกคนอยากให้เดินหน้าและใช้วิธีแสดงออก เชื่อว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรง เพราะโดยพื้นฐานทุกคนต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า แต่วิธีการอาจแตกต่างกันในเชิงเอกลักษณ์และความคิด ก็มาคุยกัน ส่วนที่คณะทำงานร่วม อสส.กับป.ป.ช.จะพิจารณาคดีทุจริตจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ทุกอย่างต้องดูตามความถูกต้อง อะไรถูกหรือผิดมันจะออกมาเองตามขั้นตอนและวิธีการของมัน เชื่อมั่นว่าความถูกต้องมีอยู่ ว่าอะไรที่เป็นเหตุผลที่ถูกและไม่ถูก
เมื่อถามว่าสรุปแล้วว่ามีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ใดบ้าง พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า หากมองเป็นการเคลื่อนไหวจะเป็นภาพใหญ่เกินไป เพียงแต่ทราบว่ามีการพูดคุยและให้ข้อคิดเห็นกัน มีการแสดงออกโดยการจัดเวทีพูดคุย เสวนากัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีกฎระเบียบอยู่แล้ว ว่าต้องขออนุญาต คสช. พร้อมชี้ให้เห็นถึงแนวทางว่าการพูดคุยต้องไม่ทำให้เกิดความแตกแยก หรือยุยงปลุกปั่นในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ที่ผ่านมาก็เรียบร้อยดี มีเพียงเล็กน้อย พูดคุยกันก็ไม่มีอะไร ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้กลุ่มเห็นต่างได้มาแสดงความคิดเห็นในสภาปฏิรูปทั้ง 11 ด้านมากกว่า ถ้าพูดโดยใช้ช่องทางข้างนอกภาพที่ออกมามันไม่เกิดความรักความสามัคคี
เผยทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดี
เมื่อถามว่า คสช.ไม่ได้สกัดกั้นคนในพรรคเพื่อไทย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ใช่หรือไม่ พล.อ. อุดมเดชกล่าวว่า ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการผสมผสาน ความเข้าใจทางความคิดเป็นที่ยอมรับและพึ่งพอใจ ฉะนั้นจะไปจำกัดหรือกลั่นแกล้งใครนายกฯ ไม่ทำ เพราะยุทธศาสตร์แห่งความสำเร็จต้องมีความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในรอบปีนี้เราจะปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ หากไม่เป็นที่ยอมรับแล้วจะทำไปทำไม ซึ่งตรงนี้รัฐบาลก็เข้าใจ และไม่ได้เข้าไปแบ่งแยก เพียงแต่ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกสี ต้องพยายามเข้าใจ ไม่เคลื่อนไหวไปคนละทิศละทาง และหันหน้ามาคุยกันบนเวทีที่เราเปิดให้
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณีคสช.เตรียมเรียกบุคคลที่เคยถูกเรียกรายงานตัวเข้าพบอีกครั้ง รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับบุคคลที่เคลื่อนไหวว่า ตนไม่แน่ใจ ทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์กล่าวในที่ประชุม ครม.-คสช. ครั้งที่ 2 ให้ทุกฝ่ายติดตามความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นและกำชับให้ คสช.ช่วยประสานทำความเข้าใจ และเชื่อว่าบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นล้วนเป็นผู้ใหญ่ น่าจะทำความเข้าใจได้ ทั้งนี้ หลังจากนายกฯ สั่งการทาง คสช.คงประสานพูดคุยกันแล้ว บุคคลต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือด้วยดี
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ส่วนกรณีนาย วรชัยนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารยศพันเอกโทรศัพท์ไปคุยด้วย และคิดว่าน่าจะเข้าใจแล้ว ส่วนจะเรียกไปรายงานตัวอีกหรือไม่นั้น ตนไม่กล้าตอบ แทนคสช. หากทุกฝ่ายเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองการคุยกันเพียงเล็กน้อยน่าจะเข้าใจได้
กมธ.ยกร่างเปิดตู้ปณ.รับความเห็น
ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานคณะอนุกมธ.ประสานงานเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากสปช. และองค์กรต่างๆ เปิดเผยว่า วันที่ 10 พ.ย. เวลา 08.00 น. อนุกมธ.นัดหารือเพื่อวางกรอบการทำงาน ซึ่งมีตัวแทนจากสปช. มาร่วมด้วย ส่วนองค์กรอิสระนั้น เบื้องต้นอาจรับฟังความเห็นและผลดำเนินงานที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ประเมินผลการทำงาน และไม่ได้นำมาเป็นบทสรุปว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดควรอยู่ต่อหรือยุบองค์กร เพราะการตัดสินใจขึ้นอยู่กับมติของกมธ.ยกร่างฯ เชื่อว่าองค์กรอิสระที่มีอยู่เดิมจะไม่ถูกยุบ เพราะที่ผ่านมาทำหน้าที่ได้อย่างดีแล้ว
พล.อ.เลิศรัตน์เปิดเผยว่า ขณะนี้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมส่งความคิดเห็นมาที่คณะกรรมา ธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตู้ปณ.9 ปณฝ.รัฐสภา กทม. 10305 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งความเห็นของประชาชน กมธ.ยกร่างฯจะนำไปร่วมประกอบการพิจารณาในการจัดทำรัฐธรรมนูญ อย่างแน่นอน
"ประสพสุข"ระบุต้องยกร่างใหม่
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปช. ในฐานะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯระบุรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเขียนให้สั้นๆและกระชับ ว่าเป็นสิ่งที่กมธ.ยกร่างฯต้องนำมาหารือกันว่าจะเขียนให้ละเอียดใส่ทุกอย่างลงไปหรือไม่ ซึ่งลักษณะนี้จะเหมือนรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 แต่ขณะนี้เห็นว่ามีองค์กรต่างๆ มาทำหน้าที่ตรวจสอบและต่างก็มีกฎหมายลูกอยู่ในอำนาจ เราอาจไม่ต้องนำรายละเอียดทั้งหมดใส่ใน รัฐธรรมนูญก็ได้ แค่เขียนให้เชื่อมโยงกับกฎหมายลูกก็จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความพอดี ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้โจมตีใครหรือกีดกันการเมืองกลุ่มใด ถ้าทำแบบนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้ และจะเกิดความขัดแย้งแบบเดิมๆ ตอนนี้ต้องเปิดใจคุยกัน ต้องทำให้ทุกฝ่ายยอมรับและจะส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลานโดยไม่ให้รากฐานความขัดแย้งยังคงอยู่
ด้านนายประสพสุข บุญเดช กมธ.ยกร่างฯกล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า เห็นว่าต้อง ยกร่างทำใหม่หมด แต่ต้องกระชับ ยาวเกินไปไม่ดีอาจไม่เป็นประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาบางเรื่องที่เขียนไว้แต่ไม่นำไปปฏิบัติ เช่นเรื่องสิทธิของประชาชน ที่เขียนไว้แต่ไม่ได้นำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่การที่ทำใหม่นั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องเขียนใหม่ทั้งหมด ลักษณะ จะคล้ายการเอารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาปรับปรุง แต่หลักในการคิดจะแตกต่างกัน เพราะการทำใหม่คือการเริ่มต้น คิดใหม่ จัดหมวดหมู่และมาตราใหม่ให้เหมาะสม
หมอกระแสเล็งให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง
ด้านนายกระเส ชนะวงศ์ รองประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคนที่ 1 กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าโครงสร้างทางการเมืองของประเทศ ไทยแต่ละภาคแตกต่างกัน การออกแบบการปกครองในอนาคตต้องลดอำนาจส่วนกลางและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มาก จังหวัดที่มีความเหมาะสมอาจกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯได้ แต่ละจังหวัดต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่จะทำอย่างไรให้การปกครองส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพ การปกครองท้องถิ่นถือเป็นรากฐานของประชาธิปไตยแต่มีการทุจริตมาก ดังนั้นต้องสร้างกลไกการป้องกันเรื่องนี้
นายกระแสกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังควรลดการเติบโตของกระทรวงต่างๆ ในต่างประเทศ เช่น จีน หรือสหรัฐอเมริกา กระทรวงจะมีขนาดเล็กกว่าเรา แต่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า จึงควรให้กระทรวงดูนโยบายอย่างเดียว ปล่อยให้ท้องถิ่นปฏิบัติงานไป หากทำได้จะสามารถลดความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง และควรกำหนดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งไม่ให้นานเกินไป ไม่เช่นนั้นจะผูกขาดอำนาจ ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลงให้คนอื่นเข้ามาเรียนรู้บ้าง
นายกระแสกล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าผ่าน เพราะหากไม่ผ่านเราต้องรับผิดชอบร่วมกัน ต้องเอาความรู้สึกว่าเราต้องทำได้ ทำให้ผ่านมาใช้ และขอว่าอย่าไปพูดถึงเรื่องเก่า ต้องมองไปยังอนาคต ทำเพื่อคนรุ่นหลัง ต้องวางแผนว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ สายสัมพันธ์เก่าๆ ของตนในทั้งสองขั้วจะมีประโยชน์อย่างมากในการร่างรัฐธรรมนูญ ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นจากทุกฝ่าย ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง การยกร่างครั้งนี้ต้องทำให้ทันตามที่ระยะเวลากำหนด ต้องทุ่มเทการทำงานเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าจะทำได้เสร็จเพราะหากไม่ทันจะเป็น การตายทั้งกลม
วิษณุแนะเขียนรธน.สามภาค
ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สถาบันพระปกเกล้า จัดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2557 "8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย : พลวัตแห่งดุลอำนาจ" โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ เราไม่สามารถ หลีกหนีจากอำนาจไปได้โดยเฉพาะอำนาจทางการเมือง หวังว่าการร่างรัฐธรรมนูญ คราวนี้จะมองอำนาจทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศให้ครบและจัดดุลอำนาจให้ครบ เนื่องจากเราไม่สามารถจัดดุลอำนาจสภากับรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลเป็นใหญ่กว่าสภาโดยพฤตินัย ซึ่งบทเรียนนี้นำมาสู่การสร้างดุลใหม่ มีองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบแทนประชาชน ต้องสร้างกับดักไปจับปัญหา
นายวิษณุกล่าวต่อว่า เมื่อต้องจัดการกับอำนาจหลายอำนาจ การเขียนรัฐธรรมนูญจึงไม่ต้องเขียนละเอียดมาก แต่เขียนให้เกิดพลวัตขับเคลื่อน ปรับเปลี่ยนให้ครอบคลุมสั้นๆ และควรมีองค์กรหนึ่งขึ้นมาวินิจฉัยตีความ นอกจากนี้คิดว่ารัฐธรรมนูญหนึ่งฉบับควรกำหนดเป็น 3 ภาค ให้ภาคหนึ่งแก้ยากที่สุดและภาคที่สองและสามแก้ได้ตามระดับ เพื่อหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะได้เหลือเชื้อไว้อยู่ ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ จึงอยากฝากว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดการอำนาจในแต่ละดุลให้เหมาะสม
"ชวน"อ้างปัญหาไม่ได้มาจากรธน.
จากนั้น มีการแสดงทัศนะ "บทเรียนสู่อนาคตเพื่อประชาธิปไตยไทยที่มีคุณภาพ" โดยนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ กล่าวว่า ประสบการณ์สอนให้รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับกฎหมาย รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาอุปสรรค แต่เป็นภาระที่ต้องสร้างความโปร่งใส ในการปฏิบัติหน้าที่ และความแตกแยกไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่มาจากการกระทำของคนที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดขัดแย้ง ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ฝ่ายตุลาการ เป็นอิสระ ส่วนองค์กรอื่นที่ตรวจสอบรัฐบาลต้องมีบุคลากรไม่ให้มาจากระบบการเมือง
ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราขัดแย้งกันเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ฉะนั้นเราต้องนำความขัดแย้งนั้นถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญ จัดตั้งรัฐบาลใช้เสียงข้างมาก 3 ใน 4 นอกจากนี้องค์กรอิสระไม่ควรถูกยุบ เพราะการควบคุม รัฐบาลใช้องค์กรอิสระควบคุม แต่องค์กรอิสระต้องมีประสิทธิภาพ
บิ๊กตู่เผย"แบลร์"แนะชี้แจงสังคมโลก
เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ซึ่งใช้เวลาออกอากาศ 55 นาที ตอนหนึ่งว่าขอความร่วมมือประชาชนและทุกภาคส่วนช่วยกันบูรณะซ่อมแซมประเทศที่ชำรุดทรุดโทรมและการพัฒนาที่ชะลอตัวเนื่องจากความไม่สงบทางการเมือง ตนขอขอบคุณและขอความร่วมมือต่อไป ขอให้ทุกคนจดจำไว้ เราเสียกรุงมาแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากขาดสามัคคีของคนในชาติ วันนี้ถ้าเรายังมีความขัดแย้งกันอยู่ ไม่ปรองดอง ไม่ไว้ใจกัน ประเทศจะเหมือนคนป่วย ไม่มีภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ ตนไม่ต้องการให้นำกฎหมายหรือความยุติ ธรรมไปใช้ประโยชน์ทางที่ไม่ถูกต้อง ใครผิดก็ว่ากันไป ใครถูกก็ว่าไปตามถูก
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าตนมีโอกาสต้อนรับ นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกฯ 2 สมัยของ สหราชอาณาจักร ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์และการดำเนินงานของรัฐบาลที่มุ่งเน้นความโปร่งใส และทันเวลา บริหารประเทศเพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งนายโทนี่ แบลร์ ขอให้รัฐบาลทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้พร้อมกับการปฏิรูปในด้านต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการมีประชา ธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ยังเสนอให้ชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนและผลการดำเนินงานให้กับประชาคมโลกต่อเนื่องเป็นระยะ ซึ่งเราให้กระทรวงชี้แจงอย่างต่อเนื่องทั้งเอกสารและวาจาไปยังสถานทูตทุกส่วน สื่อ หนังสือพิมพ์ต่างๆ ส่งไปหมด ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะทำความเข้าใจให้เราอย่างไร เราจะพยายามต่อไป เพื่อให้ประชาคมโลกเกิดความมั่นใจ
วอนอย่าเพิ่งวิจารณ์เนื้อหารธน.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ว่า ตนตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมาร่างขึ้นเนื่องจากเหตุผลหลักคือ เพื่อควบคุม กำกับดูแลหรือไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหาร รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สาระใจความบางครั้งทำให้เหมือนประชาชนมีส่วนร่วมน้อยเกินไป หรือมองไม่ออกว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จากตรงไหน ตนจึงพูดในครม.ว่าให้ช่วยกันดูว่าจะทำยังไง ทุกอย่างถ้าเรามีศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชน งานทุกกระทรวง ประชาชนคือศูนย์กลางก็จะคิดออกหมด ไม่ใช่เอาเรื่องขัดแย้ง ไม่ใช่เอามาต่อสู้กันอีกในวันหน้า ปัญหาส่วนใหญ่มาจากกฎหมาย จากรัฐธรรมนูญ
"ผมไม่อยากให้โต้แย้งกันอีกในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ วันนี้ยังไม่เห็นสักบรรทัด ก็มาคาดการณ์อย่างโน้นอย่างนี้ ผมตอบไม่ได้เหมือนกันว่าจะออกมาอย่างไร ดังนั้น อย่าเอามาต่อสู้ผิดถูกกันเลย ตอนนี้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางดีกว่า ดูว่าเราจะทำให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ย้อนกลับไปที่กระบวนการบริหารจะมาอย่างไร คนใช้อำนาจจะเป็นยังไง ผมว่าอย่างนั้นจะดีกว่า นี่คือหลักการ จะผิดหรือถูกผมไม่รู้ แต่ผมคิดแบบนี้ แล้วไม่ได้ให้ใครคิดตามผมด้วย ถ้าใครคิดว่าไม่ใช่ก็บอกมา ฉะนั้น ต้องไม่ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ สร้างความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายหรือ 3 ฝ่ายเหมือนที่ผ่านมา จะด้วยเหตุผลที่ดีหรือไม่ดี ก็ให้กฎหมายว่ามา อย่านำประชาชนให้เกิดความบาดเจ็บสูญเสีย เหล่านี้ไม่ดีไม่ถูกต้อง" นายกฯ กล่าว
ยืนยันมุ่งมั่นปรองดองสมานฉันท์
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการปรองดองสมานฉันท์นั้น มีปัญหาอยู่หลายประการ หลายคนห่วงว่าจะทำไม่ได้ เรียนว่านายโทนี่ แบลร์ เคยกล่าวไว้ว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสังคมมีความรู้สึกอยากแบ่งปันมากกว่าแบ่งแยก ข้อสองสังคมต้องอยู่ในสถานการณ์ที่พูดถึงการปรองดอง ยอมรับความแตกต่างและความไม่พอใจ ข้อสามเราไม่สามารถลบล้างความอยุติธรรมได้ แต่ตั้งกรอบการทำงานที่ทุกคนเห็นว่ายุติธรรมได้ ข้อสี่ การปรองดองต้องมาจากประชาธิปไตยที่แท้จริง ให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้รับความเท่าเทียม ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ข้อห้า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้ารัฐบาลมีประสิทธิภาพ ดูแลประชาชน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทำให้ประชาชนรู้สึกดีขึ้น ให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น
นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่เขาพูดนั้นตนว่าน่าคิด น่าเอามาเป็นวิธีการทำงาน แต่ต้องปรับให้ตรงกับบ้านเมืองเราด้วย แต่คิดว่าถูกต้องทั้งหมด วันนี้พยายามทำทุกอัน เพราะเราต้องการให้เกิดความสมานฉันท์อย่างยั่งยืนไม่ใช่เฉพาะตอนนี้ หรือเอาเรื่องปรองดอง เรื่องผิดกฎหมาย เรื่องคดีความ มาปนกันไปหมด มันก็แกะอะไรไม่ออกเลยสักอัน กฎหมายก็ให้กฎหมายเขาทำงานไป ปรองดองก็ต้องเดินหน้าสร้างสังคมปรองดองให้ได้ รัฐบาลก็ขับเคลื่อนประเทศ แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จิตวิทยา แล้วเตรียมการเลือกตั้งให้ได้
จับตาการกล่าวหาในโซเชี่ยลมีเดีย
นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลจะดำเนินการต่อไป ได้แก่ 1.การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายงบประมาณปี"58 เร่งดำเนินการตั้งแต่ไตรมาสแรก 3.การเสริมสร้างความปรองดอง 4.การส่งเสริมการปฏิรูปด้านต่างๆ คู่ขนานกับการทำงานของ สปช. 5.การพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธสัญญา ความจำเป็นและทันสมัย 6.ดำเนินการทุกมิติให้อยู่ในกรอบโรดแม็ปที่ คสช.กำหนดไว้ 7.การเร่งแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามกรอบการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน 8.การส่งเสริมบทบาทไทยในเวทีประชาคมอาเซียน
นายกฯ กล่าวว่าการให้ร้ายกันทางโซเชี่ยลมีเดีย ตนเห็นหมด มีการตรวจสอบตนอยู่แล้ว อย่ากังวล ใครผิดใครถูกแจ้งมา อย่าเขียนให้คนเสียหายอย่างนี้ไม่ได้ เขาไม่มีโอกาสแก้ตัว บอกตนมา ส่งรายละเอียดให้ชัดเจน ตนจะได้สอบสวนดำเนินคดีแค่นั้นเอง ยากตรงไหน
"เขียนโซเชี่ยลมีเดีย แบบนี้ไม่ได้ ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทุกคนอาสาสมัครเข้ามาทั้งนั้น แต่อยู่ที่ขั้นตอน กระบวนการ หลายคน ที่ต้องทำนี่ เขาซื่อสัตย์ เราต้องสร้างให้เขาเข้มแข็ง วันนี้เราต้องสร้างข้าราชการให้เข้มแข็ง คนไม่ดีจะได้อยู่ไม่ได้ ผมจะรู้ได้อย่างไรว่าใครดีไม่ดี ข้าราชการมีกี่ล้านคน ต้องใช้ระบบคัดกรอง ไปว่ากันมาให้ได้ คนดีต้องอย่าให้คนไม่ดีเข้ามา แต่อย่าไปทะเลาะเบาะแว้ง" นายกฯ กล่าว
รบ.เตรียมตีปี๊บผลงาน 3 เดือน
ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลเตรียมแถลงผลงานรัฐบาลรอบ 3 เดือน ชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งจะครบกำหนด ในเดือนธ.ค.นี้ พร้อมสรุปผลงานที่เตรียม เป็นของขวัญให้กับประชาชนในช่วงเทศกาล ปีใหม่ด้วย ทั้งนี้ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบการนำเสนอผลงานว่าจะออกมาในรูปแบบใด แต่ช่วงเวลาที่เหลือจะมีการหารือกับโฆษกทุกกระทรวงเพื่อให้สรุปผลงานของแต่ละกระทรวง ก่อน โดยยังรอพิจารณาว่านายกฯ จะเป็น ผู้ชี้แจงด้วยตนเองหรือไม่
ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษก ประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ในการประชุมครม. วันที่ 11 พ.ย.นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ คนที่ 1 จะทำหน้าที่ประธานการประชุมแทนพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปก ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 9-11 พ.ย. ซึ่งทุกอย่างมีการเตรียมการพร้อมสำหรับการประชุมไว้ทั้งหมดแล้ว
"บิ๊กตู่"บินถกเอเปก-อาเซียน
วันที่ 7 พ.ย. เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC) ครั้งที่ 22 และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ โดยนายกฯ เข้าร่วมการประชุมเอเปกครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 9-11 พ.ย. จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังกรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 วันที่ 12-13 พ.ย. โดยมีผู้ร่วมคณะประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม และคณะผู้บริหารระดับสูง
ในการประชุมเอเปกซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ มีผู้นำจากชาติต่างๆ ตอบรับเข้าร่วมการประชุม อาทิ นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ นายชินโซ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย นายโทนี่ แอ๊บบอต นายกฯออสเตรเลีย นายจอห์น คีย์ นายกฯ นิวซีแลนด์ มีหัวข้อหลักของการประชุม คือ "การสร้างอนาคตด้วยความเป็นหุ้นส่วนในเอเชีย-แปซิฟิก" ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม นายกฯ จะหารือทวิภาคีกับผู้นำชาติต่างๆ อาทิ จีน ฟิลิปปินส์ บรูไน ปาปัวนิวกินี รวมถึงพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของวิสาหกิจและเอกชนจีน
จากนั้นเวลา 17.20 น. วันที่ 11 พ.ย. นายกฯ และคณะเดินทางออกจากกรุงปักกิ่ง โดยเที่ยวบินพิเศษไปยังกรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน นอกจากนี้ วันที่ 12 พ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 6 ที่กรุงเนปิดอว์ พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอีก 5 ประเทศ ได้แก่ นายชินโซ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น สมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา นายทองสิง ทำมะวง นายกฯ สปป.ลาว พล.อ.เต็งเส่ง ประธานาธิบดีพม่า และนายเหวียน เติ๊น สุง นายกฯ เวียดนาม โดยนายกฯ จะเน้นย้ำต่อที่ประชุมถึงเจตนารมณ์ของไทยในการเป็นหุ้นส่วนของญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำโขง และเชิญชวนให้เอกชนญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานขยายการผลิตในประเทศลุ่มน้ำโขงในลักษณะไทย+1 ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนและการอำนวยความสะดวกขนส่งสินค้าอยู่แล้ว
ทั้งนี้ หลังการประชุมเสร็จสิ้นในวันที่ 13 พ.ย. นายกฯ และคณะจะเดินทางออกจาก ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเนปิดอว์ เวลา 19.00 น. และกลับมาถึงยังท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศ กองบิน 6 ในวันที่ 13 พ.ย. เวลา 21.15 น.