- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 07 November 2014 12:52
- Hits: 3856
มติรับถอด 2 ปธ. 87:75 เบี้ยวโผวิป งดโหวต 15ลาประชุม 30 คุมไม่อยู่-ล่องหนอีกอื้อ โวย'พรเพชร'ถามให้งง 'นิคม"สู้-สงครามไม่จบ ปปช.เรียก'33 รมต.'แจง ถกพิมพ์เขียวรธน. 11 พย.
'บิ๊กตู่'บ่นเจอคำถามจนปวดหัว ถก กมธ.ยกร่างชง 2 แนวฉบับใหม่ นัดถก 11-14 พ.ย.ออกแบบพิมพ์เขียว เชื่อ รบ.ทำประชามติ-ของบ 3 พันล้าน สนช.ถกลับมีมติ 87-75 รับถอดถอน'สมศักดิ์-นิคม''พรเพชร'กังวลประชาชนบางส่วนไม่พอใจ สั่งนับหนึ่ง 24-25 พ.ย. 'นิคม"ลั่นสู้สงครามยังไม่จบ'วีรพัฒน์'โพสต์งงถอดคนไร้เก้าอี้
@ สนช.ถกถอดถอน'สมศักดิ์-นิคม'
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุม สนช. ซึ่งมีมติให้เลื่อนวาระเรื่องรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหานายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และกล่าวหานายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เกี่ยวกับที่มา ส.ว. เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของ สนช. ที่จะถอดถอน ตามข้อบังคับการประชุม สนช.หรือไม่ ซึ่งพิจารณาต่อจากการประชุม สนช. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม
@ 'พรเพชร'ให้วางตัวเป็นกลาง
โดยนายพรเพชรแจ้งที่ประชุมว่า ขณะนี้เรื่องถอดถอนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของ สนช.แล้ว ดังนั้นตามข้อบังคับสมาชิก สนช. ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมข้อ 161 ต้องวางตัวเป็นกลาง เที่ยงธรรม ไม่กล่าวหรือแสดงไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ จะทำให้การพิจารณาและการวินิจฉัยของที่ประชุมต้องเสียความยุติธรรม 1.วิพากษ์ต่อสาธารณะในลักษณะไม่เหมาะสมต่อความเป็นกลาง 2.การให้ความเห็นต่อสาธารณะโดยประสงค์จะบ่งบอกว่าตนจะมีมติเช่นใด 3.ให้ความเห็นในหมู่สมาชิกอันเป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงหรือวิพากษ์โดยไม่เที่ยงธรรมที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และ 4.ชักจูงหรือชี้แนะให้สมาชิกมีมติไปในทางใดในลักษณะเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิก
@ 2 ขั้วเห็นแย้งลงมติประชุมลับ
จากนั้นนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. เสนอญัตติให้พิจารณาเป็นการประชุมลับ แต่สมาชิก สนช.บางส่วน อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายตวง อันทะไชย ไม่เห็นด้วย โดยนายวัลลภอภิปรายว่า การประชุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่เป็นการประชุมลับ สมาชิกแสดงความคิดเห็นหมดแล้ว จึงไม่ควรมีอะไรเป็นความลับอีก ครั้งนี้เป็นเพียงการพิจารณาว่า สนช.มีอำนาจรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ ถือเป็นเรื่องใหญ่ และ สนช.กำลังเป็นหินลองทอง สังคมกำลังจับตาดูอยู่จึงอยากให้ประชุมเปิดเผยว่าหากมีมติรับคืออะไร และหากไม่รับคืออะไร ขณะที่ นพ.เจตน์กล่าวว่า ขณะนี้มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ขั้ว หากประชุมลับประธาน สนช.ต้องแถลงข่าวและไม่สามารถเก็บรายละเอียดสมาชิกได้มากเพียงพอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสมาชิก สนช.ถกเถียงประเด็นดังกล่าว ในที่สุดนายพรเพชรขอให้สมาชิกลงมติ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติ 96 ต่อ 1 คะแนน ให้ประชุมลับ และไม่ลงคะแนน 75 คะแนน จากนั้นการประชุมลับเริ่มขึ้นในเวลา 10.50 น.
@ สนช.มีมติรับถอดถอน 87-75
ต่อมาเวลา 14.10 น. ภายหลังประชุมลับเสร็จสิ้นโดยใช้เวลา 3 ชั่วโมง 20 นาที นายพรเพชรสั่งเปิดการประชุมให้ผู้สื่อข่าวเข้าฟังการลงมติ ทั้งนี้นายศักดิ์ชัย ธณบุญชัย สนช. เสนอให้ลงมติลับ ซึ่งผลการลงมติ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติ 87 ต่อ 75 งดออกเสียง 15 ให้ สนช.มีอำนาจรับเรื่องถอดถอนไว้พิจารณา
@ เริ่มกระบวนการถอด27พ.ย.
จากนั้นนายพรเพชร แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า สนช.มีอำนาจในการรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ด้วยมีมติ 87 ต่อ 75 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 177 คน โดยมีผู้อภิปรายทั้งสิ้น 24 คน ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นอย่างกว้างขว้าง โดยมีการอภิปรายถึงหลักกฎหมายทุกแง่มุมว่า สนช.มีอำนาจพิจารณาหรือไม่ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยหลังจากนี้จะส่งเอกสารข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกร้องภายใน 15 วัน โดยในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ จะนำเข้าสู่ระเบียบวาระการถอดถอนและมีการแถลงเปิดคดีตามข้อบังคับการประชุม สนช.ได้
@ 'พรเพชร'กังวลบางส่วนไม่พอใจ
ก่อนหน้านั้น นายพรเพชรให้สัมภาษณ์ว่ามีความกังวล เพราะการที่ สนช.จะมีมติอย่างใดออกมา เข้าใจว่าต้องทำให้ประชาชนบางส่วนเกิดความไม่พอใจได้ แต่ สนช.ต้องทำตามหน้าที่กฎหมาย โดยการพิจารณาด้วยความชอบธรรม เชื่อว่าจะไม่กลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. กล่าวว่า กระบวนการหลังจากนี้จะส่งเอกสารให้ผู้ถูกกล่าวหาเพื่อที่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้ส่งเอกสารขอพยานเอกสารและพยานบุคคลเพิ่มเข้ามาให้ที่ประชุมมีความเห็นว่าจะอนุญาตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลาราว 30-45 วันนับจากวันนี้
@ สนช.สายทหารโดดประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการลงคะแนนที่ออกมาผิดจากความคาดหมายเพราะก่อนหน้า สนช.สายทหารกับ สนช.สายข้าราชกาพลเรือน ซึ่งเป็นสมาชิกเสียงส่วนใหญ่ มีความเห็นอย่างชัดเจนว่าจะไม่รับสำนวนดังกล่าวไว้พิจารณา แต่เมื่อถึงวันลงมติกลับมีสมาชิก สนช.ไม่เข้าร่วมประชุมถึง 30 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น สนช.สายทหารที่ติดภารกิจเดินทางไปร่วมงานทอดกฐินของกองทัพบก ขณะเดียวกันในช่วงก่อนการลงมติมีผู้แสดงตนว่าอยู่ในห้องประชุมถึง 190 คน แต่มีผู้ใช้สิทธิลงมติเพียง 177 คน ซึ่งมีจำนวน 13 คนไม่ยอมลงมติแต่อย่างใด
@ เชื่อในที่สุดถอดถอนไม่ได้แน่
สำหรับ การอภิปรายในที่ประชุมลับนั้นมีสมาชิกลุกขึ้นอภิปรายจำนวน 24 คน โดย สนช.ที่เป็นอดีต 40 ส.ว. กลุ่มนักวิชาการ และอดีตกรรมการ ป.ป.ช. อภิปรายสนับสนุนรับไว้พิจารณา ส่วน สนช.สายตำรวจกับทหาร กับอดีต ส.ว.บางส่วน เห็นว่าไม่ควรรับเรื่องไว้พิจารณา ควรสร้างความปรองดองตามนโยบาย คสช. แต่ ผลคะแนนที่ออกมา สนช.หลายคนวิเคราะห์ว่า ในที่สุดคงไม่สามารถลงมติถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมได้เนื่องจากต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของ สนช. หรือ 132 เสียงขึ้นไป
@ สนช.แจงเหตุงดออกเสียง
พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิก สนช. กล่าวว่า สาเหตุที่มีคะแนนเสียงงดออกเสียงถึง 15 คะแนน เพราะ สนช.บางคนไม่เข้าใจคำถามที่ประธาน สนช.ชี้แจงก่อนให้ลงคะแนน โดยประธานแจ้งว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะรับเอกสารสำนวนถอดถอนดังกล่าวที่ ป.ป.ช.ส่งมา ซึ่ง สนช.บางคนเข้าใจว่า คดีดังกล่าวทาง สนช.รับไว้แล้ว เพราะที่ผ่านมามีการถกเถียงเรื่องดังกล่าวว่าผิดจริงหรือไม่ จะต้องถอดถอนหรือไม่ จึงทำให้ไม่มีการลงคะแนนเรื่องนี้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้เห็นว่าสมาชิก สนช.ไม่มีการบล็อกโหวต
@ เผยเบื้องลึกโหวต-เบี้ยวโผ
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลัง สนช.มีมติรับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม วิป สนช.กลับมาหารือกันอย่างเคร่งเครียด โดยพบว่าปัญหาการแหกโผที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้านี้ เกิดจากนายพรเพชรไม่ดำเนินการตามแนวทางที่วิปได้เสนอไป คือให้โหวตตีตก แต่กลับให้โหวตรับหรือไม่รับเรื่องแทน ทำให้ สนช.สายกองทัพเสียงแตกคุมไม่อยู่ เกิดความลังเลใจ ประกอบกับมีการเสนอให้โหวตลับ จึงมีการหักโผ มติออกมาเป็นรับเรื่องถอดถอนในที่สุด
@ 'นิคม'ลั่นสู้สงครามยังไม่จบ
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้ต้องรอหนังสือจาก สนช.ที่จะกำหนดวันให้ตนเข้าไปชี้แจง ต้องดูรายละเอียดของหนังสือดังกล่าวก่อน โดยมติที่ออกมาก็เป็นแนวทางหนึ่ง เนื่องจากมีเพียง 2 แนวทางว่า สนช.จะรับหรือไม่รับไว้พิจารณา คิดว่าสงครามยังไม่จบก็คงต้องสู้ต่อไป ซึ่งก็คงต้องไปชี้แจง สำหรับการยื่นร้องต่อศาลยุติธรรม ขณะนี้ต้องรอดูอีกครั้งหนึ่งจะไม่ผลีผลาม เพราะผลมติที่ออกมาคะแนนรับกับไม่รับไว้พิจารณานั้น ไม่ห่างกันมากนัก ซึ่งบ่งชี้ถึงนัยยะบางอย่าง
@ 'สมลักษณ์'ยันเสี่ยงทำผิดกฎหมาย
น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การที่ สนช.ยืนยันว่ามีอำนาจในการพิจารณาก็ต้องว่าไปตามนั้น แต่ยอมรับว่าเสี่ยงหลายเรื่อง โดยเฉพาะการทำผิดกฎหมายและการละเมิดรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้ นักกฎหมายและนักวิชาการเคยออกมาระบุว่า สนช.ไม่มีอำนาจดำเนินการ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น อนาคตจะเกิดผลดีหรือผลเสีย ทาง สนช.ต้องยอมรับกับผลที่จะตามมา อีกทั้งนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ประเทศเกิดความปรองดอง ซึ่งการที่ สนช.รับพิจารณาครั้งนี้โดยยืนยันว่ามีอำนาจ จะกลายเป็นบรรทัดฐานในการทำงานครั้งต่อไปหากว่ามีคนถูกถอดถอนเช่นนี้อีก
"บทลงโทษของนักการเมืองที่ถูกถอดถอนคือ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองนานกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นโทษที่หนักมาก ผลของการทำเช่นนี้เหมือนเป็นการล้างบางนักการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองพรรคเพื่อไทย" อดีต ป.ป.ช.กล่าว
@ 'มาร์ค'หวั่นมวลชนไม่เข้าใจ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การถอดถอนจะเกิดเป็นปัญหาแน่ เพราะเป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน มุมมองของมวลชน 2 ฝ่ายนั้น ฝ่ายหนึ่งมีความรู้สึกว่าถ้าเรื่องนี้ไม่เดินหน้าทำอย่างจริงจังจะค้างคาใจ อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นองค์กรที่มาทำหน้าที่แทนวุฒิสภา ไม่ใช่เป็นวุฒิสภา เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้เกิดการออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ เข้าใจว่าผู้มีอำนาจเองก็กังวลเรื่องนี้ แต่ สนช.ต้องดำเนินการไปตามข้อกฎหมาย อะไรเป็นอะไรก็เดินหน้าไปตามข้อเท็จจริง และฝ่ายต่างๆ ต้องได้รับความเป็นธรรม อยากให้ทุกฝ่ายยอมรับในข้อยุติ ให้กระบวนการทุกอย่างที่เดินไปตามหลัก
@ 'ถาวร'ขอบคุณมติสนช.
นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวว่า ขอขอบคุณสมาชิก สนช.ทั้งที่ลงมติรับเรื่องนี้และไม่รับ เพราะถือเป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ผลที่ออกมาถือเป็นการตีความกฎหมายมหาชน เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดโอกาสให้สมาชิก ถือเป็นข้อพึงสังวรของนักการเมืองในอนาคตให้ดูเป็นเยี่ยงอย่างว่าการกระทำใดๆ โดยใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดจะถูกตรวจสอบ โดยไม่มีการปล่อยผ่านละเลยไป
"การแสดงความเห็นของผมจึงไม่ใช่การกดดัน สนช. และไม่ใช่การแทรกแซงหรือข่มขู่อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด" นายถาวรกล่าว และว่า สำหรับผู้ที่ถูกดำเนินการต่อจากนี้ทั้งกลุ่ม 39 ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อ หรือ 308 ส.ว. และ ส.ส. ต้องรอให้ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลออกมาก่อน
@ 'วีรพัฒน์'โพสต์ถอดคนไร้เก้าอี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ โพสต์ข้อความผ่าน ทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า ไม่แน่ใจว่า ในโลกใบนี้มีที่ไหนที่เขาสามารถถอดถอนนักการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว สมควรย้ำว่าการถอดถอน ถือเป็นกระบวนการทางการเมือง ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง หมายความว่า หากนักการเมืองใดถูกกล่าวหาว่าทำผิดทางการเมืองและถูกยื่นให้ต้องถูกถอดถอน นักการเมืองผู้นั้นก็จะมีทางเลือกหลักอยู่ 2 ทาง คือ 1.หากสำนึกว่าผิดจริง ก็ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง หมายถึงยอมรับว่าตนมีส่วนผิดจริง จึงขอพ้นตำแหน่ง เพื่อให้เรื่องยุติในทางการเมือง ส่วนคดีความทางกฎหมายก็ไปว่ากันต่อในทางกฎหมาย หรือ 2.หากมั่นใจว่าตนไม่ผิด ก็ไม่ลาออก และเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการถอดถอน หากเขามั่นใจว่าเขามีเสียงผู้แทนประชาชนสนับสนุนเขาในทางการเมือง เขาก็ไม่ต้องกลัวอะไร ส่วนคดีความทางกฎหมายก็ไปว่ากันต่อในทางกฎหมาย ไม่ได้เอามาปนกัน ด้วยเหตุนี้ การถอดถอนจึงจำเป็นต้องกระทำในขณะที่นักการเมืองยังอยู่ในตำแหน่ง หากนักการเมืองผู้นั้นทำผิดในทางกฎหมาย กล่าวคือ กระทำสิ่งที่มีกฎหมายบัญญัติโทษไว้ชัดเจน เช่น ทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีโทษจำคุก สามารถดำเนินคดีในทางกฎหมายกับนักการเมืองผู้นั้นได้ แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว อันเป็นคนละเรื่องกับเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง
@ ชี้เปิดช่อง'วงจรหวงอำนาจ'
นายวีรพัฒน์ ระบุว่า ตรงกันข้าม หากการถอดถอนทางการเมืองเป็นกระบวนการที่กระทำย้อนหลัง คือแม้จะได้ลาออก หรือพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ก็ยังกลับมาถอดถอนกันได้ ผลที่ตามมาก็คือ จะไม่มีนักการเมืองคนใดยอมแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก เพราะถ้ายอมรับผิดแล้วลาออก ก็ยิ่งกลายเป็นยอมรับให้ตัวเองถูกถอดถอน และในที่สุดก็จะเกิดวงจรหวงอำนาจ นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาก็จะพยายามรักษาตำแหน่งไว้เพื่อใช้อำนาจที่เหลือเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เพื่ออยู่ป้องกันไม่ให้มีการถอดถอน หรือร้ายกว่านั้น ก็จะเกิดขั้นตอนการนำการถอดถอนย้อนหลังมาใช้เป็นข้อแลกเปลี่ยนทางการเมือง เป็นช่องโหว่ให้เกิดการเจรจาย้อนหลังไม่รู้จบ เปิดช่องให้ทุจริตเพิ่มเติมกว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ การที่ สนช.ตีความให้เดินหน้าลงมติถอดถอนอดีตประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภาที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว รวมถึงกำลังจะพิจารณากรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น จึงส่งผลเป็นการทำลาย หลักความรับผิดชอบทางการเมือง และส่งเสริมวงจรการหวงอำนาจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว และเป็นการเปิดช่องเวลาให้ทุจริตมากขึ้นกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ต่อไปนี้หากใครจะบ่นว่านักการเมืองไทยหน้าด้าน ไม่ลาออกเหมือนญี่ปุ่น หรือชอบเล่นพรรคเล่นพวก ก็โปรดอย่าลืมว่า ส่วนหนึ่งของปัญหา ก็คือบรรดาคนดีที่จะไปถอดถอนคนอื่นแบบไร้หลักคิดดังที่กล่าวมา
@ ปปช.เลื่อนถกถอดถอน 39 ส.ว.
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณากรณีถอดถอน 39 ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบว่า ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องเลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไปเป็นวันที่ 13 พฤศจิกายน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังสรุปเรื่องไม่สมบูรณ์จึงจำเป็นต้องเลื่อนไปสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ การประชุมคณะทำงานร่วม ป.ป.ช.กับ อสส.ในคดีอาญาโครงการจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้นน่าจะได้เห็นทิศทางขึ้น
@ กมธ.ยกร่างฯรับรอง3อนุ
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง จากนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษก กมธ.ยกร่างฯแถลงว่า ที่ประชุมได้มีมติรับรองตำแหน่งรองประธาน กมธ.ยกร่างฯ ที่ปรึกษา เลขานุการ และโฆษก รวมทั้งมีมติรับรองอนุ กมธ. 3 คณะคือ 1.คณะอนุ กมธ.บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และจัดทำจดหมายเหตุ 2.
อนุ กมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน และ 3.อนุ กมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสมาชิก สปช.รวมถึงองค์กรต่างๆ โดยอนุ กมธ.ทั้ง 3 ชุดจะทำหน้าที่ประสานงานกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สนช. และ สปช.ในช่วงที่มีการยกร่างฯ นอกจากนี้ทางอนุ กมธ.จะเปิดให้องค์กรทั้ง 4 ได้เสนอข้อมูล และเมื่อทำการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ทาง กมธ.จะส่งร่างนั้นให้ทั้ง 4 องค์กรได้พิจารณาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
@ ชง2แนวทางร่างฉบับใหม่
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า การประชุมนัดแรกได้พูดคุยและถกแถลงถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า จะใช้รูปแบบหรือวิธีการใด เบื้องต้นนายบวรศักดิ์เสนอแนวทางออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.นำรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 มาไล่เรียงทีละหมวดและทีละมาตรา เพื่อพิจารณาว่ามีส่วนใดที่มีปัญหา
ถ้าไม่มีปัญหาก็ให้ผ่านไป เหมือนกับการเอารถคันเก่ามาซ่อม เปลี่ยนเครื่องยนต์ พ่นสี ยกเครื่อง ให้ได้รถยนต์คันใหม่ 2.เริ่มต้นจากศูนย์ ไล่เรียงลำดับความสำคัญในแต่ละหมวด ตั้งแต่หมวดพระมหากษัตริย์ การปกครอง รัฐสภา ครม. องค์กรศาล องค์กรตรวจสอบ สิทธิพลเมือง และศาล โดยหยิบประเด็นที่มีปัญหามาหาแนวทางแก้ไข เพื่อลดความขัดแย้ง นำไปสู่ความปรองดอง ลดความเลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การเมือง สิทธิประชาชน และนโยบายในการบริหารประเทศ
@ มียาดำสอดแทรกทุกหมวด
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมียาดำสอดแทรกในทุกหมวด เพื่อขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นและการประพฤติมิชอบ รวมทั้งต้องมี 10 กลไกที่กรรมาธิการต้องสร้างขึ้นให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความสมบูรณ์ ทั้งหมดนี้จะนำไปหารืออีกครั้งในการประชุม กมธ.ครั้งที่ 2 ในวันที่ 11-14 พฤศจิกายน หวังว่าใน 3 วันครึ่ง กมธ.จะสามารถออกแบบแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แล้วเสร็จ หากไม่แล้วเสร็จจะหารือต่อในวันที่ 15-16 พฤศจิกายน
@ ทำประชามติ-งบ 3 พันล.
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า หลังจากได้แนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะให้มีการตั้งอนุ กมธ.ขึ้นมารับผิดชอบในแต่ละเรื่อง อาจมี 10 ถึง 15 อนุ กมธ. อย่างไรก็ตาม ระหว่างการยกร่าง รธน. ต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นควบคู่ทุกฝ่าย รวมถึงกรณีพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง จะมีการไปพบหรือให้เสนอข้อมูลกลับมายัง กมธ. ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือ 2-3 ครั้ง ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการทำประชามติขอความเห็นชอบ มองว่าถ้าหากจะทำประชามติอาจต้องมีการใช้เวลา 3-4 เดือน งบประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท และต้องขออนุมัติความเห็นชอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อออกคำสั่งในการทำประชามติ เชื่อว่ารัฐบาลจะเห็นด้วยกับการทำประชามติ หากต้องการให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรม เป็นเกราะป้องกันและยันต์กันผี
@ สนช.ตั้ง กมธ.รวมความเห็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายสมชาย แสวงการ สนช. ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เสนอตั้ง กมธ.สามัญ รวบรวมความเห็นประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 24 คน เป็นตัวแทนจากสมาชิก สนช. 8 คน และตัวแทนจาก กมธ.สามัญประจำสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 16 คณะ คณะละ 1 คน รวมเป็น 24 คน โดยมีระยะเวลา 120 วัน
@ 'วิษณุ'แนะเขียนสั้นแต่กว้าง
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญหลักคือ ไม่ควรจะยืดยาว เพราะนักกฎหมายทราบดีว่าเขียนอะไรก็ตาม หากเขียนยาวความหมายยิ่งสั้น เพราะจะทำให้นึกว่าจบเท่านั้น แต่หากเขียนสั้นแล้วปล่อยให้เกิดการตีความ ให้เกิดความเข้าใจในกฎหมายลูกจะดีกว่า อย่างเขียนว่าห้ามลักทรัพย์ก็จบ ดีกว่าเขียนห้ามขโมยปากกา ดินสอ ตู้เย็น แต่สุดท้ายอะไรที่หลุดไปก็ไม่ผิด ฉะนั้นเขียนสั้นดีกว่าเขียนยาว ทั้งนี้ หากเขียนกฎหมายยาวจะเกิดความขัดแย้งมากกว่าการเขียนแบบสั้นๆ แต่หากเขียนสั้นมีปัญหาทะเลาะกันอย่างที่ผ่านมาในอดีต ฉะนั้น ต้องมีกลไกแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย เคยพูดหลายครั้งแล้วว่า ในเวลาที่ผ่านมาไปเขียนในลักษณะที่ระบุว่า ถ้ามีเรื่องสงสัยจะตีความต้องเกิดเรื่องจึงจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นทางที่ดีเขียนสั้นๆ แต่ต้องเขียนด้วยว่า หากมีปัญหาสงสัยสามารถส่งไปหารือศาลรัฐธรรมนูญก่อนได้โดยไม่ต้องมีเรื่องอย่างที่ผ่านมาเถียงเรื่องนายกฯมาตรา 7 ที่ท้าทายกันไปมาให้แต่งตั้งนายกฯมาตรา 7 ต้องมีกลไกแก้ปัญหาเหล่านี้ และองค์กรที่จะเข้ามาตีความต้องได้รับความไว้วางใจเป็นธรรม และตัดสินออกมาได้ดีถูกต้อง เมื่อถามว่าเห็นนักการเมืองระบุว่าอยากให้เขียนกฎหมายในลักษณะกว้างๆ นายวิษณุกล่าวว่า "ไม่ต้องนักการเมือง เจ๊ยุ (นางยุวดี ธัญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล) ไม่ใช่นักการเมืองยังเสนอได้เลย คนปกติทั่วไปก็ต้องคิดแบบนั้น ไปเขียนทำไมให้ยืดยาว อย่างรัฐธรรมนูญที่มีอายุยาวในหลายประเทศเขาไม่ได้เขียนยาว"
@ ยันผ่อนปรนอัยการศึกแน่
นายวิษณุ กล่าวกรณีที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม จะทำอย่างไรหากยังประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า ใจเย็นๆ ตอนนี้รู้ว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย และกฎอัยการศึกไม่ได้ประกาศเมื่อวานหรือวานซืน ประเด็นอยู่ที่จะยกเลิกหรือผ่อนคลายอย่างไรเท่านั้น ยังมีเวลาที่จะดำเนินการ ถึงจุดหนึ่งคนที่เกี่ยวข้องก็ต้องคิดว่า เพื่อสร้างบรรยากาศปฏิรูปและสร้างบรรยากาศปรองดอง อะไรบ้างที่มาช่วยในการสร้างบรรยากาศ เมื่อถามว่ารัฐบาลจะผ่อนปรนให้อย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง เชื่อว่าจะมีการผ่อนปรนให้ เพราะได้มีการพูดถึงเรื่องนี้เป็นระยะๆ
@ 'รสนา'ดอดเข้าชี้แจง ป.ป.ช.
ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเจ้าหน้าที่หน้าห้องของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ลงมารับ โดยใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง ทั้งนี้เมื่อได้สอบถามว่ามาให้ข้อมูลในเรื่องใดกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. น.ส.รสนาตอบเพียงสั้นๆ ว่า มาคุยกันปกติ ไม่ได้มีเรื่องอะไร เมื่อถามย้ำว่า เกี่ยวกับคดีถอดถอน 39 ส.ว.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังประชุมเพื่อพิจารณาอยู่หรือไม่ และคิดอย่างไรต่อกรณีที่ สนช.มติรับเรื่องถอดถอน
น.ส.รสนา กล่าวว่า ไม่ใช่ กรณี 39 ส.ว. ส่วนที่ สนช.มีมติรับพิจารณาคดีนายสมศักดิ์-นิคมนั้น มองว่าเป็นการลงคะแนนแบบคาบเกี่ยว แต่ก็แล้วไป ก็ว่าไปตามนั้น อย่างไรก็ตาม น.ส.รสนาถือเป็น 1 ในคณะผู้ที่ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งคดีดังกล่าวยังมีบางส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เมื่อถามว่า จากที่นายวิษณุ ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญตาบอดสี มองอย่างไร น.ส.รสนากล่าวว่า คงไม่ตาบอดสีหรอก เพราะมีสมาชิกและองค์ประกอบจากหลากหลายสีเข้ามาจะตาบอดสีได้อย่างไร รัฐธรรมนูญออกมาอาจมีแสงสว่างเป็นรัฐธรรมนูญ 7 สี
@ พท.เชื่อมือ'วิษณุ'ร่างรธน.
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เชื่อในความรู้ ความสามารถของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพราะมีประสบการณ์ผ่านการทำงานกับนายกรัฐมนตรีมาหลายรัฐบาล ผ่านวิกฤตการณ์สำคัญๆ ของบ้านเมืองมามาก คงจะนำข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญในอดีตที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองมาเป็นบทเรียนที่จะไม่กระทำซ้ำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันก้าวข้ามกับดักแห่งความขัดแย้งไปให้ได้ จะไม่ขอวิพากษ์ วิจารณ์ หรือตีตนไปก่อนไข้ ขอซื้อใจ คสช. ว่าตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองจริงๆ แล้วคืนอำนาจให้ประชาชนตามที่สัญญาไว้
@ 'บิ๊กตู่'บ่นเจอคำถามจนปวดหัว
ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างร่วมเปิดงานเทศกาลจักรยาน "สสส. พรีเซนต์ อะเดย์ ไบค์ เฟส 2014" ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและคนไทยมีความรักชาติสูง แล้วไม่ค่อยยอมใคร สังเกตว่าเวลาทะเลาะกันจะไม่มีเลิก ต้องมีกรรมการเข้ามาห้าม บางครั้งกรรมการก็โดนด่าไปด้วย และบางทีก็ห้ามยาก ดังนั้น กรรมการต้องเป็นกลางให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันให้ได้ ให้มีความเสียสละซึ่งกันและกัน แบ่งปันการใช้ทรัพยากร "ถนนเรามีจำนวนจำกัด วันนี้ถนนเราแคบ บ้านเมืองเราถึงแคบ ทางระบายน้ำก็แคบ ฟุตปาธก็แคบ ดังนั้นก็ต้องพัฒนาสู่อนาคตว่าจะทำอย่างไรกัน
ทุกคนรอว่าเมื่อไหร่ผมจะไป แต่เมื่อยังไม่เรียบร้อยก็ต้องรอส่งกันให้ได้ และดูว่าใครจะเข้ามาทำงานต่อ ซึ่งผมก็ไม่รู้ นักข่าวอยู่ไหนวันนี้ไม่ต้องพูดเรื่องการเมืองการอะไรทั้งสิ้น เป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ บริหารปากมามากแล้ว สมองเองก็ต้องตอบทุกวัน ถามคำถามที่หนึ่งเสร็จก็ตอบไปถึงคำถามที่สอง-สาม-สี่ ก็กลับมาถามคำถามที่หนึ่งใหม่ ผมก็งงเหมือนกันแหละ บางทีก็ปวดหัวมาก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนเดินทางกลับ ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงกรณี สนช. มีมติรับพิจารณาถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชนและเดินทางกลับทันที
@ 'บิ๊กป๊อก'เชื่อแก้คลื่นใต้น้ำได้
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มคลื่นใต้น้ำว่า ยังไม่ทราบความคืบหน้า แต่เท่าที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายไป น่าจะแก้ปัญหาได้ ส่วนกรณีที่มีกระแสว่ากลุ่มแนวร่วม นปช.และ กปปส. จะออกมาเคลื่อนไหวกดดันการทำหน้าที่ของ สนช. ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เท่าที่พูดคุยสอบถาม ยังไม่เห็นกระแสของคนส่วนใหญ่ออกมา น่าจะให้โอกาสรัฐบาลทำงานภายใต้ภาวะเช่นนี้ ยังไม่ใช่เวลาที่จะเอาเรื่องความขัดแย้งมาพูดกัน เมื่อถามว่า กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเรื่องใดเป็นพิเศษ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า มีการสั่งการเป็นประจำอยู่แล้ว หลักใหญ่คือเรื่องการสร้างความเข้าใจกับประชาชน