- Details
- Category: การเมือง
- Published: Friday, 07 November 2014 12:40
- Hits: 3391
วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8745 ข่าวสดรายวัน
ทหารเสียงแตก มติพลิก สนช.รับถอดถอน'พรเพชร'คุมเกมไม่อยู่ โหวตลับ 87 ต่อ 75 เสียง 'เสธ.อู้'เผยแนวทางร่าง อิงรธน.ฉบับปี 40-50 ปะผุ-ทาสีรัฐธรรมนูญบิ๊กตู่ปั่น
- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ร่วมปั่นจักรยานรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้จักรยาน ระหว่างเปิดงาน "สสส.พรีเซนต์ อะเดย์ ไบค์ เฟส 2014" ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน กทม. เมื่อ 6 พ.ย.
สนช.วุ่นโหวตรับเรื่องถอดถอนนิคม-สมศักดิ์ไว้พิจารณาด้วยมติ 87 ต่อ 75 งดออกเสียง 15 ด้าน วิปถกเครียดระบุ "พรเพชร"คุมเกมไม่อยู่แถมไม่ยอมเดินตามแนวทาง ที่วิปวางไว้ ทำให้สนช.สายทหารเสียงแตก แต่ในชั้นสุดท้ายเชื่อจะไม่สามารถถอดถอนได้ เพราะต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5 คือ 132 เสียง โฆษกกมธ.ยกร่างรธน.เผยผลประชุม ระบุ"อาจารย์ปื๊ด"แนะ 2 แนวทางยกร่าง นำรธน.เก่า 2 ฉบับทั้งปี 40 กับปี 50 มาปรับแก้จุดอ่อนจุดแข็งหรือไม่ก็นับหนึ่งใหม่ยกร่างเองทุกหมวด ป.ป.ช.บี้อีก ส่งหนังสือถึงปู-33อดีตรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งไต่สวนคดีสั่งย้ายถวิล เปลี่ยนศรี
"พรเพชร"แจงถอด"นิคม-สมศักดิ์"
เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 6 พ.ย. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวก่อนประชุมสนช.ถึงการพิจารณาสำนวนคดีถอดถอนของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาว่า ประเด็นที่สมาชิก สนช.จะพิจารณามีเรื่องเดียว คืออำนาจรับหรือ ไม่รับการถอดถอน ส่วนตัวมองว่า สนช.ทำตามหน้าที่กฎหมายหลัก 2 ฉบับคือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในมาตรา 6 ที่ให้สนช.ทำหน้าที่วุฒิสภา ประกอบกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในมาตรา 58 ที่ระบุให้วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งชัดเจนว่าสนช.มีอำนาจพิจารณาสำนวนคดีถอดถอน
นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนที่คิดว่ารัฐธรรม นูญฉบับบชั่วคราวไม่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ถอดถอนสนช.ไว้ชัดเจนนั้น จะให้รัฐธรรม นูญเขียนครอบคลุมทุกอย่างไม่ได้ ในทางกฎหมายต้องดูวิธีสบัญญัติคือวิธีการใช้ ทั้งนี้ ยอมรับว่ากังวล หากสนช.มีมติอย่างใด อย่างหนึ่ง ออกมาอาจทำให้ประชาชนบางส่วนไม่พอใจ แต่สนช.ต้องทำตามหน้าที่กฎหมาย พิจารณาด้วยความชอบธรรม
ส่วนกรณีสำนวนถอดถอนของนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯที่สมาชิก พรรคเพื่อไทยได้ยื่นหนังสือขอให้ชะลอการพิจารณาจากวันที่ 12 พ.ย.นี้ออกไป นาย พรเพชรกล่าวว่า ต้องดำเนินการตามขั้นตอน และขึ้นอยู่กับสมาชิกในที่ประชุมว่าจะมีมติ ให้เลื่อนออกไปหรือไม่
"สมชาย"เสนอสนช.ประชุมลับ
เวลา 10.00 น. มีการประชุมสนช. โดยมีนายพรเพชร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เลื่อนวาระเรื่องรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของป.ป.ช. กรณีกล่าวหานายสมศักดิ์และนายนิคม กรณีดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับที่มาส.ว. เป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของสนช.ที่จะถอดถอน ตามข้อบังคับการประชุม สนช.หรือไม่ ซึ่งพิจารณาต่อจากการประชุมสนช.วันที่ 17 ต.ค. โดยวาระดังกล่าวอยู่ในระเบียบวาระการประชุมลำดับที่ 7 เรื่องอื่นๆ
นายพรเพชร แจ้งที่ประชุมว่า ขณะนี้เรื่องถอดถอนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของ สนช.แล้ว ดังนั้น ตามข้อบังคับสมาชิกสนช. ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมข้อ 161 ต้องวางตัวเป็นกลาง เที่ยงธรรม ไม่กล่าว หรือแสดงไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ ซึ่งจะทำให้การพิจารณาและการวินิจฉัยของที่ประชุมต้องเสียความยุติธรรม
จากนั้นนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสนช. (วิปสนช.) เสนอญัตติให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นการประชุมลับ แต่สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายตวง อันทะไชย โดยระบุว่าการประชุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่เป็นการประชุมลับ สมาชิกแสดงความคิดเห็นหมดแล้ว จึงไม่ควรมีอะไรเป็นความลับอีก และวันนี้พิจารณาว่าสนช. มีอำนาจรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาหรือไม่
มติ 87 เสียงต่อ 75 เสียง-รับไว้พิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังสมาชิก สนช. ถกเถียงว่าจะพิจารณาวาระดังกล่าวเป็นการประชุมลับหรือไม่ สุดท้ายนายพรเพชร ให้สมาชิกลงมติ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติด้วยคะแนน 96 ต่อ 1 ให้ประชุมลับ และไม่ลงคะแนน 75 คะแนน ทำให้ที่ประชุมต้องพิจารณาวาระดังกล่าวเป็นการประชุมลับ โดยเริ่มเมื่อเวลา 10.50 น.
ต่อมาเวลา 14.10 น. การประชุมสนช. ได้กลับมาประชุมเปิดเผยอีกครั้ง หลังประชุมลับ 3 ชั่วโมง 20 นาที โดยเป็นการลงมติว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของสนช.ที่จะถอดถอนหรือไม่ แต่นายศักดิ์ชัย ธณบุญชัย สมาชิกสนช. เสนอให้ลงมติลับ ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบให้กลับไปลงมติลับ โดยไม่เปิดเผยว่าสมาชิกลงมติแบบใด ซึ่งผลการลงมติ สมาชิกมีมติเห็นว่าสนช. มีอำนาจ รับเรื่องไว้พิจารณาด้วยคะแนน 87 ต่อ 75 งดออกเสียง 15 คน
ต่อมาเวลา 14.30 น. ในการประชุมสนช. มีนายพรเพชร ทำหน้าที่เป็นประธาน การประชุม โดยนายสมชาย แสวงการ เสนอตั้งกมธ.สามัญรวบรวมความเห็นประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 24 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจาก สมาชิกสนช. 8 คน และตัวแทนจากกมธ.สามัญประจำสนช. 16 คณะ คณะละ 1 คน ร่วมเป็น 24 คนมีระยะเวลา ดำเนินการ 120 วัน
เชื่อถอดถอนไม่ได้-ใช้ถึง 132 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการลงคะแนนให้รับเรื่องถอดถอนคดีนายสมศักดิ์และนายนิคมไว้พิจารณา นั้น ถือเป็นสิ่งที่ผิดคาดพอสมควรเพราะก่อนหน้านี้สมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นทหารมีความเห็นไม่อยากให้รับเรื่องไว้พิจารณา แต่เมื่อถึงวันลงมติ มีสมาชิกสนช.ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมถึง 30 คน ส่วนใหญ่เป็นสนช.สายทหาร ให้เหตุผลว่าไปร่วมงานทอดกฐินของกองทัพบก ขณะเดียวกัน ช่วงก่อนการลงมติ มีผู้แสดงตนว่าอยู่ในห้องเป็นองค์ประชุมถึง 190 คน แต่มีผู้ใช้สิทธิลงมติเพียง 177 คน อีก 13 คน ไม่ยอมลงมติ อย่างไรก็ตาม ผลคะแนนที่ออก สนช.หลายคนวิเคราะห์ในทางเดียวกันว่า ในที่สุดคงไม่สามารถถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม ได้ในขั้นตอนการลงมติถอดถอน เนื่องจากต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของสนช.ทั้งหมด หรือ 132 เสียงขึ้นไป
ปธ.สนช.เตรียมส่งข้อมูลให้ 2 อดีตปธ.
เมื่อเวลา 15.00 น. นายพรเพชรแถลงภายหลังที่ประชุมสนช.มีมติรับพิจารณาสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ กับนายนิคม ไว้พิจารณาว่า ที่ประชุมมีมติรับเรื่องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนแล้ว โดยมีมติ 87 ต่อ 75 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 177 คน มีผู้อภิปราย 24 คนซึ่งเป็นการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง พูดถึงหลักกฎหมายทุกแง่มุมว่าสนช.มีอำนาจพิจารณาหรือไม่ ซึ่งมีสมาชิกทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยหลังจากนี้จะส่งเอกสารข้อกล่าวหาให้ ผู้ถูกร้องภายใน 15 วัน คาดว่าวันที่ 24 หรือ 25 พ.ย.นี้ จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการถอดถอนและแถลงเปิดคดีตามข้อบังคับการประชุม สนช.ต่อไป
เมื่อถามว่าการมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา เพราะกลัวผิดกฎหมายป.ป.ช.หรือไม่ นาย พรเพชรกล่าวว่า เป็นดุลพินิจของสมาชิก แต่ละคน ไม่ได้กลัวความผิดใดๆ เพราะ ลงความเห็นตามหลักกฎหมายด้วยความสุจริตใจซึ่งผลการลงมติดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐาน ให้ตนตัดสินใจอะไรได้ง่ายขึ้นด้วย
ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะโฆษกวิปสนช. กล่าวว่าจากนี้จะส่งเอกสารให้ผู้ถูกกล่าวหาเพื่อที่ผู้ถูกกล่าวหา จะได้ส่งเอกสารขอพยานเอกสารและพยานบุคคลเพิ่มเข้ามา โดยแจ้งให้ที่ประชุมสนช. รับทราบว่าจะอนุญาตหรือไม่ กระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลา 30-45 วันนับจากนี้
วิปเผยสาเหตุสนช.รับเรื่องถอดถอน
แหล่งข่าวจากสนช. เผยว่า ผลการลงคะแนนที่ออกมา 87 เสียงให้รับสำนวนถอดถอนไว้นั้น ผิดคาดพอสมควร เดิมคิดว่าสมาชิกส่วนใหญ่จะไม่รับไว้พิจารณา แต่เมื่อเสนอให้ประชุมและลงมติลับ ทำให้สมาชิก มีความกล้ามากขึ้นที่จะแสดงความเห็นและลงคะแนน ซึ่งคะแนนออกมาอย่างนี้ ชี้ให้เห็นว่าสนช.ยังมีอำนาจพิจารณา และสนช.บางส่วนเกรงว่าหากไม่รับไว้พิจารณาก็มีความผิดตามกฎหมายป.ป.ช.ได้ แต่การลงมติถอดถอนนั้น ฟันธงได้เลยว่าถอดถอนไม่ได้แน่นอน เพราะยังมีคลื่นใต้น้ำ มีธงในเรื่องความปรองดองอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังมีเวลาอีกพอสมควรที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับสนช.ที่ลงมติไม่รับไว้พิจารณา ให้ปรับเปลี่ยนความคิดได้ เพราะ ยังมีการชี้แจงทั้งจากผู้ถูกกล่าวหาและป.ป.ช. ในการแถลงเปิดคดี
รายงานข่าวเปิดเผยว่าหลังจากมติรับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม ทำให้วิปสนช.ต้องกลับมาหารือกันอย่างเคร่งเครียด ซึ่งพบปัญหาว่าเกิดจากนายพรเพชรไม่ดำเนินการแนวทางของวิป ที่เสนอให้โหวตตีตก แต่กลับให้โหวตรับหรือไม่รับเรื่องแทน ทำให้สนช.สายทหารเสียงแตกและเกิดความลังเลใจ ประกอบกับมีการเสนอให้โหวตลับจึงทำให้มีมติออกมาดังกล่าว
"นิคม"สงวนท่าที-ยังไม่ขอวิจารณ์
เวลา 16.00 น. นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังสนช. มีมติรับเรื่องถอดถอนไว้พิจารณาว่า หลังจากนี้ต้องรอหนังสือจาก สนช.ที่กำหนดวันให้ตนเข้าชี้แจง ต้องดูรายละเอียดของหนังสือก่อน มติที่ออกมาก็เป็นแนวทางหนึ่งเนื่องจากมีเพียง 2 แนวทางว่า สนช.จะรับหรือไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ทั้งนี้ คิดว่าสงครามยังไม่จบก็ต้องสู้ต่อไป ต้องไปชี้แจง สำหรับการยื่นร้องต่อศาลยุติธรรม ขณะนี้ ตนต้องรอดูอีกครั้งจะไม่ทำอะไรผลีผลาม เพราะมติที่ออกมาคะแนน รับกับไม่รับไว้พิจารณาไม่ห่างกันมากนัก ซึ่งบ่งชี้ถึงนัย บางอย่าง
ปชป.เด้งรับ-"ถาวร"ขอบคุณทันที
ด้านนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวภายหลังสนช. มีมติรับเรื่องถอดถอน นายสมศักดิ์และนายนิคมว่า ขอบคุณสมาชิก สนช.ทั้งที่ลงมติรับและไม่รับ ผลที่ออกมาเป็นการตีความกฎหมายมหาชนเพื่อ เปิดโอกาสให้สมาชิกสนช.พิจารณาว่าจะถอดถอนหรือไม่ และถือเป็นข้อพึงสังวรของนักการเมืองให้ดูเป็นเยี่ยงอย่างว่าการกระทำใดๆ โดยใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด จะถูกตรวจสอบโดยไม่มีการปล่อยผ่านละเลยไป
นายถาวรกล่าวว่า ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินการ ต่อจากนี้ ทั้งกลุ่ม 39 ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อ หรือ 308 ส.ว.และส.ส. ต้องรอให้ ป.ป.ช.มีมติ ชี้มูลก่อน และหลังจากนี้ที่ประชุมสนช. จะมีมติถอดถอนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการ ใช้วิจารณญาณ ซึ่งการแสดงความเห็น ของตนไม่ใช่การกดดัน สนช.และไม่ใช่การแทรกแซง หรือข่มขู่อย่างที่หลายคนเข้าใจผิดว่าตนจะระดมมวลชนมากดดัน ขอให้ทราบว่าตนยังมีสติ รู้เหตุผลว่ายังมีกฎอัยการศึกและคำสั่ง ของคสช. บังคับอยู่
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความระบุว่า ผลการลงมติที่เห็นด้วย 87 เสียง ยังห่างไกลกับเสียง 3 ใน 5 คือ 132 เสียง และ ตนไม่กล้าคิดถึงเสียงโหวตถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีปล่อยปละละเลย ให้ทุจริตจำนำข้าว ที่จะพิจารณาในวันที่ 12 พ.ย.นี้ ถ้า สนช.มาจากการแต่งตั้งล้วนๆ ยังไม่กล้าแล้ว ใครจะกล้าดำเนินการเรื่องนี้
ทนายความปู-ติงนิพนธ์ทีดีอาร์ไอ
วันเดียวกัน นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงกรณีนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ระบุโรงการรับจำนำข้าวปี 2554-56 มีการทุจริตถึง 1.1 แสนล้านบาท เกี่ยวข้อง กับการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวถึง 7.5 หมื่นล้านบาท อ้างว่ามีหลักฐานเชื่อมโยง การทุจริตว่า ในฐานะที่เป็นทนายของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ซึ่งรับผิดชอบคดีในโครงการรับจำนำข้าว ขอตั้งข้อสังเกตดังนี้ 1.นายนิพนธ์ มีวาระซ่อนเร้น นำตัวเลขดังกล่าวมาแถลงและชี้นำในช่วงที่มีการประชุมของคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุด(อสส.)กับป.ป.ช.ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ มีเจตนาชี้นำสังคมให้กดดันคณะทำงาน ร่วมฯ ซึ่งไม่สมควร
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า 2.นายนิพนธ์ โดยสถานะเป็นพยานในคดีนี้ และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) ครั้งที่ 5/2552 วันที่ 17 ก.ค. 2552 นายนิพนธ์ เคยช่วยรัฐบาลสมัยนั้นทำโครงการช่วยเหลือชาวนาที่ตรงข้ามกับโครงการรับจำนำข้าว จึงขอตั้งข้อสังเกตและถามว่ามีวาระซ่อนเร้น หรือไม่ ที่ต้องนำมาเปิดเผยในช่วงนี้ 3.หากพิจารณาถึงตัวเลขที่นำมาเปิดเผย จะเห็นว่ามีข้อโต้แย้งและผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเลขของ เจ้าหน้าที่รัฐอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายในโครงการตลอดจนหลักฐานที่อ้างว่าทุจริต ก็ปราศจากหลักฐาน เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ซึ่งข้อเท็จจริงในปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รายใด ดังนั้น ขอวอนให้นายนิพนธ์ ยุติการเคลื่อนไหวและชี้นำสังคมในช่วงที่จะพิจารณาคดีต่อลูกความของตน ควรปล่อยให้คดีเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมมากกว่าการชี้นำทางสังคม
วิษณุแนะเคล็ดเขียนรธน.-ต้องสั้น
เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณีสนช.ประชุมพิจารณาเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมว่า รัฐบาลคงได้แต่รับรู้เท่านั้น การลงมติ การตัดสินใจหรือตีความเรื่องนี้ เป็นอำนาจของสนช.ที่จะพิจารณาโดยใช้ข้อกฎหมายประกอบ ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวก็คิดถึงปัญหาเหล่านี้และคิดว่าต้องปล่อยให้ปัญหาแก้ไปโดยกฎหมายที่มีอยู่ มิเช่นนั้นจะมานั่งถกเถียงกันอีก จึงใช้เวลาเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวนานมาก สุดท้ายจงใจเขียนไว้ให้สนช.ตัดสินใจตามมาตรา 5 และมาตรา 6
เมื่อถามว่ารูปแบบของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเขียนไว้ละเอียดเหมือนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หลักการเขียนจริงๆ ไม่ควรละเอียดยิบยับ และนักกฎหมายรู้ดีว่ายิ่งเขียนยาวความหมายยิ่งสั้น เพราะทำให้นึกว่าจบแค่นั้น บางทีเขียนสั้นๆ แล้วปล่อยให้ตีความหรือปล่อยให้เข้าใจในกฎหมายลูก ซึ่งนักการเมืองและคนทั่วไป ก็อยากให้เขียนรัฐธรรมนูญอย่างกว้าง และรัฐธรรมนูญที่มีอายุยาวในหลายประเทศไม่ได้เขียนบทบัญญัติไว้ยาว ดังนั้น การเขียนสั้น ดีกว่าเขียนยาวแน่นอน และต้องระบุด้วยว่า ถ้ามีปัญหาสงสัย ส่งไปหารือศาลรัฐธรรมนูญก่อนได้โดยไม่ต้องมีเรื่อง
ไม่ตอบ-วิธีป้องกันไม่ให้ถูกฉีก
เมื่อถามว่าต้องทำใจไว้ล่วงหน้าหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อาจถูกฉีกได้ รอง นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีใครพูดประโยคนี้เลย
เมื่อถามว่า หลายส่วนอยากมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ แต่ติดที่ยังมีประกาศกฎอัยการศึกอยู่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอให้ใจเย็น ตอนนี้สถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย ส่วนกฎอัยการศึกยังมีเวลาพิจารณา เชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐบาลจะพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศปรองดอง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขอให้เข้าใจว่าคนที่อยู่ในภาวะที่รับรู้ข้อมูลต่างๆ มาก ก็ต้องคิดมาก ซึ่งนายกฯก็พูดชัดเจนแล้ว ในระหว่างการแถลงนโยบายต่อสนช.เมื่อ วันที่ 12 ส.ค.ว่ารัฐบาลจะพิจารณาผ่อนผันหรือผ่อนคลายการประกาศกฎอัยการศึกในบางพื้นที่เมื่อถึงจังหวะเวลาเหมาะสม เพื่อช่วยบรรยากาศท่องเที่ยวและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ฉะนั้น ต้องดูข้อมูลที่มีเข้ามาทุกวันของหน่วยงานต่างๆ 10 หน่วยงาน ซึ่งนายกฯให้ส่งข้อมูลเหล่านี้ถึงรองนายกฯทุกคน ทำให้รู้ว่ามีบางอย่างที่ทำให้รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบ
พท.เอาใจช่วย-ยันจับตาใกล้ชิด
ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายวิษณุระบุกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีที่มาหลากหลาย โดยจะเป็นรัฐธรรมนูญไม่มีสี และหากจำเป็น รัฐบาลมีวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่า ตนเชื่อในความรู้ ความสามารถของนายวิษณุ ซึ่งคงจะนำข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญในอดีตที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง มาเป็นบทเรียนจะไม่กระทำซ้ำ เพื่อให้ทุก ภาคส่วนร่วมมือกันก้าวข้ามกับดักแห่งความ ขัดแย้งไปให้ได้
นายชวลิต กล่าวว่า ขณะนี้องค์ประกอบ ในการขับเคลื่อนประเทศมีภาคส่วนต่างๆ ครบถ้วนตามโรดแม็ปแล้วคือ คสช. ครม. สนช. สปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จะขอซื้อใจ คสช. ว่าตั้งใจแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองจริงๆ แล้วคืนอำนาจให้ประชาชนตามที่สัญญาไว้ ตนจะติดตามและดูที่ผลของงานอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน และให้ความเห็นเท่าที่จำเป็นในการรักษาหลักการประชาธิปไตย และร่วมมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง
"มาร์ค"เชื่อต้องทำประชามติรธน.
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวการทำงานของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า อยากให้รับฟังความคิดเห็นต่างๆ ช่วยกันคิดและนำไปสู่การยกร่าง ทั้ง 36 คนเป็นคนเก่ง บางคนมีประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว ฉะนั้นต้องย้อนดูว่าที่ผ่านมาปัญหาเกิดขึ้นตรงไหน โจทย์ใหญ่ที่สุดต้องเป็นเรื่องการตรวจสอบ และการเขียนรัฐธรรมนูญไม่ควรหมกมุ่นว่าเขียนไปแล้ว จะช่วยให้ใครได้หรือเสียประโยชน์ หรือไปกีดกันใคร ต้องยึดโยง เคารพเจตนารมณ์ ของประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถ้าไม่ทำประชามติ ตนคิดว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีกลไกที่มาเพิ่มความชอบธรรม และคุ้มครองตัวเอง ไม่ให้ถูกแก้ ในอนาคต
เมื่อถามว่ากังวลเรื่องกรอบเวลาการทำงานที่ค่อนข้างจำกัดหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่กังวล ซึ่งการปฏิรูปต้องใช้เวลาเกิน 1 ปีอยู่แล้ว อาจ 3- 5 ปีด้วย อย่าไปกังวลตรงนี้เพราะการปฏิรูปให้ได้รับการยอมรับให้มากที่สุดนั่นคือหัวใจสำคัญที่สุดในปีนี้
บิ๊กตู่ไม่พูด-สนช.รับถอดถอน
ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวเปิดงานเทศกาลจักรยาน "สสส. พรีเซนต์ อะเดย์ ไบค์ เฟส 2014" ตอนหนึ่งว่า คนไทยมีความรักชาติสูงแล้วไม่ค่อยยอมใคร สังเกตว่าเวลาทะเลาะกันจะไม่มีเลิก ต้องมีกรรมการเข้ามาห้าม ซึ่งบางครั้งกรรมการก็โดนด่าไปด้วย และบางทีห้ามยาก ดังนั้นกรรมการต้องเป็นกลางให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันให้ได้ ให้มีความเสียสละซึ่งกันและกัน แบ่งปันการใช้ทรัพยากร ถนนเรามีจำนวนจำกัด วันนี้ถนนเราแคบ บ้านเมืองเราถึงแคบ ทางระบายน้ำ ก็แคบ ฟุตปาธก็แคบ ดังนั้น ต้องพัฒนา สู่อนาคตว่าจะทำอย่างไร
"ทุกคนรอว่าเมื่อไรผมจะไป แต่เมื่อยัง ไม่เรียบร้อยก็ต้องรอส่งกันให้ได้ และดูว่า ใครจะเข้ามาทำงานต่อ ซึ่งผมก็ไม่รู้ นักข่าว อยู่ไหน วันนี้ไม่ต้องพูดเรื่องการเมืองทั้งสิ้น ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ บริหารปากมามากแล้ว สมองเองก็ต้องตอบทุกวัน ถามคำถามที่หนึ่งเสร็จก็ตอบไปถึงคำถามที่สอง-สาม-สี่ ก็กลับมาถามคำถามที่หนึ่งใหม่ ผมก็งงเหมือนกัน บางทีก็ปวดหัวมาก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ก่อนเดินทางกลับ ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงกรณีสนช.มีมติรับพิจารณาถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ แต่พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามและเดินทางกลับทันที
"บิ๊กป๊อก"เผยไม่พบคลื่นใต้น้ำ
ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการเคลื่อนไหวลักษณะคลื่นใต้น้ำจากกรณีการถอดถอนว่า ไม่น่าห่วงเพราะจากการติดตามจากต่างจังหวัดยังไม่ได้รับรายงานอะไร และเรื่องการถอดถอนก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสนช.ดำเนินการ
ก่อหน้านี้ ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ. อนุพงษ์กล่าวถึงกรณีนายกฯ สั่งให้ติดตามคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาว่า เท่าที่สอบถาม ยังไม่มีตามที่เป็นข่าว คนส่วนใหญ่ยังคงให้โอกาสรัฐบาลทำงาน ซึ่งปัญหามีอยู่หลายเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา การบริโภคภายในประเทศ ปัญหาภัยแล้ง ตนเห็นว่าช่วยกัน แก้ปัญหาให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีกว่านี้จะดีกว่า คงไม่ใช่เวลามาพูดเรื่องความขัดแย้ง
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงกระแสข่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนที่รับงานอีเวนต์ คืนความสุขของรัฐบาลว่า ยืนยันว่าบริษัท พฤกษาพรรณพัฒนา จำกัด ไม่เกี่ยวข้องกับการรับงานอีเวนต์ที่เป็นข่าว เป็นเพียงบริษัทรับเหมาก่อสร้างและตนไม่ได้มีหุ้นส่วนในบริษัทนี้ ยอมรับว่าเคยเป็นกรรมการของบริษัทนี้เท่านั้นและลาออกแล้ว พร้อมทั้งแจ้งเรื่องนี้ ให้ป.ป.ช.ทราบแล้ว อยากให้สังคมเข้าใจว่าตนไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ หากตรวจสอบพบว่าใครทำผิดก็ดำเนินคดีตามกฎหมาย
กมธ.ยกร่างฯศึกษารธน.40-50
ที่ห้องประชุมงบประมาณ อาคารรัฐสภา 3 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมอย่างเป็นทางการ นัดแรก เพื่อรับรองตำแหน่งต่างๆในกมธ. และอนุกมธ.แต่ละคณะที่จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมวางกรอบการทำงาน
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช. ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวก่อนการประชุมว่า ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ นำกรอบของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 รวมทั้งรัฐธรรมนูญ ที่เคยใช้ในอดีตมาประกอบการพิจารณาข้อดีข้อเสีย จุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อจัดทำเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งประเด็นที่เป็น จุดอ่อนและต้องเร่งแก้ไข คือเรื่องอำนาจรัฐ ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนดให้มีอำนาจการบริหารงานมากเกินไป ขณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็ลดทอนอำนาจฝ่ายบริหารจนเกิดปัญหาชุมนุมทางการเมืองและรัฐบาลขาดเสถียรภาพ ดังนั้น ต้องนำทั้ง 2 ฉบับมาประเมินเพื่อหาจุดสมดุล และทำให้คณะ ผู้บริหารประเทศทั้งส่วนกลางและภูมิภาค มีอำนาจการบริหารงานที่ถ่วงดุลกันได้
อาจเสนอ"บิ๊กตู่"ทำประชามติ
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ยอมรับว่าจะนำวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาใช้ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง และหากร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว สังคมยังมี ข้อขัดแย้งหรือความเห็นไม่ตรงกัน หรือมีกระแสต่อต้านเกิดขึ้น อาจหารือกับคสช. ขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งให้ทำประชา มติได้ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ไม่ได้ระบุเรื่องการทำประชามติไว้ คาดว่า หากทำประชามติต้องใช้เวลา 3-4 เดือน ใช้งบกว่า 3,000 ล้านบาท จึงต้องคิดให้รอบคอบ เชื่อว่ารัฐบาลก็อยากให้ทำประชามติเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความ ชอบธรรม ได้รับความเห็นชอบจากประชาชน เพราะจะเป็นเกราะป้องกัน เป็นยันต์กันผี ไม่ให้แก้ไข
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนการลงพื้นที่ของอนุกมธ.ทั้ง 3 คณะ คาดว่าจะเริ่มประชุมพร้อมกันนัดแรกในสัปดาห์หน้า และร่วมกันกำหนดกรอบการทำงานคร่าวๆของรัฐ ธรรมนูญ โดยใช้เวลา 1-2 เดือน เพื่อให้ตกผลึกทางความคิดร่วมกัน จากนั้นจึงนำกรอบไปพูดคุยกับแต่ละพรรค น่าจะใช้เวลาพูดคุย 3 ครั้ง จนเกิดความเข้าใจ จึงจะร่างรัฐธรรมนูญออกมาได้
เผย 2 แนวทางยกร่างรธน.ใหม่
ต่อมาเวลา 12.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติรับรองตำแหน่งผู้ที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ให้ปฏิบัติหน้าที่รองประธานกมธ.ยกร่างฯ 6 คน ตำแหน่งที่ปรึกษา เลขานุการ และโฆษก รวมทั้งมีมติรับรองอนุกมธ.ในด้านกระบวน การการทำงาน 3 คณะคือ 1.อนุกมธ.บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและจัดทำจดหมาย เหตุ 2.อนุกมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน และ 3.อนุกมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก สปช.รวมถึงองค์กรต่างๆ โดยอนุกมธ.ทั้ง 3 ชุดจะทำหน้าที่ประสานงาน กับคสช. ครม. สนช.และสปช. เพื่อให้นำเสนอข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ทางกมธ. จะส่งร่างนั้นให้คสช. ครม. สนช.และสปช. พิจารณาเพื่อมีข้อเสนอแนะอีกครั้งหนึ่ง
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังพูดคุย ถึงแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะใช้รูป แบบใด ซึ่งนายบวรศักดิ์ เสนอ 2 แนวทาง 1.เอารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 มาไล่เรียงทีละหมวดและทีละมาตราว่าถ้าส่วนใดไม่มีปัญหาก็ให้ผ่านไป เหมือนเอารถคันเก่ามาซ่อม เปลี่ยนเครื่องยนต์ มาพ่นสี ยกเครื่อง ให้ได้รถยนต์คันใหม่ หรือ 2.เริ่มต้นจากศูนย์ ไล่เรียงลำดับความสำคัญในแต่ละหมวด ตั้งแต่หมวดพระมหากษัตริย์ การปกครอง รัฐสภา ครม. องค์กรศาล องค์กรตรวจสอบ และสิทธิพลเมือง โดยหยิบประเด็นที่มีปัญหามาหาทางแก้ไข เพื่อลดความขัดแย้ง นำไปสู่ความปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ การเมือง สิทธิประชาชน และนโยบายบริหารประเทศ
มียาดำสอดแทรก-ป้องกันโกง
โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมียาดำสอดแทรกในทุกหมวด ที่เป็นการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นและการประพฤติมิชอบ รวมทั้งต้องมี 10 กลไกที่กมธ.ต้องสร้างขึ้นให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความสมบูรณ์ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 กำหนดไว้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะนำไปหารือในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 13.00 น. จนถึงวันที่ 14 พ.ย. หวังว่า 3 วันครึ่ง กมธ.จะออกแบบแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ หากไม่เสร็จก็จะหารือต่อในวันที่ 15 และ 16 พ.ย. โดยไม่ให้เวลาเกินกว่านี้ และหลังจากกำหนดแนวทางและประเด็นร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะตั้งอนุกมธ.รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง อาจมีอนุกมธ.จำนวน 10-15 คณะ และระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องรับฟังความคิดเห็นควบคู่ทุกฝ่าย รวมทั้งอนุกมธ.จะไปพบพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเพื่อรับฟังความเห็นมาประกอบการพิจารณา
ป.ป.ช.เลื่อนถกยื่นถอดถอน 39 ส.ว.
เมื่อเวลา 12.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสปช. พร้อมคณะประมาณ 4-5 คน เข้าพบนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 4 ชั่วโมง เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่ามาให้ถ้อยคำในคดีใดต่อกรรมการป.ป.ช. หรือไม่ น.ส.รสนากล่าวว่า มาพูดคุยตามปกติ ไม่มีเรื่องอะไร
เมื่อถามว่าพูดคุยเกี่ยวกับคดีถอดถอน 39 ส.ว.กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. โดยมิชอบหรือไม่ และคิดอย่างไรต่อกรณีสนช.มติรับเรื่องถอดถอน นายสมศักดิ์ และนายนิคม น.ส.รสนากล่าวว่า ไม่ได้มาคุยเรื่องกรณีถอดถอน 39 ส.ว. ส่วนที่สนช.มีมติ รับพิจารณาคดีนายสมศักดิ์และนายนิคมนั้น เป็นการลงคะแนนที่คาบเกี่ยวกันมาก ต้องว่าไปตามนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.รสนา ถือเป็น 1 ในคณะผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ และกรณีถอดถอน 39 ส.ว. ยังคงอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เช่นกัน
ที่สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ นาย ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะ กรรมการป.ป.ช.พิจารณากรณีถอดถอน 39 ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของส.ว. โดยมิชอบว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ต้องเลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไปเป็นวันที่ 13 พ.ย. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังสรุปเรื่องไม่สมบูรณ์ ส่วนที่สนช.มีมติรับพิจารณาเรื่องถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ จะทำให้การพิจารณาเรื่องถอดถอนของป.ป.ช.นั้น ง่ายขึ้น ทำให้เราเห็นทิศทางต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ มีการประชุมคณะทำงาน ร่วมป.ป.ช.กับอสส. ในคดีอาญาโครงการจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็น่าจะได้เห็นทิศทางและนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.จะสรุปให้ทราบ
ป.ป.ส.ฉลุยแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ครั้งที่ 1/2557 มีหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ผู้แทนรัฐมนตรี 7 กระทรวง นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการป.ป.ส. ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
จากนั้น นายวิษณุเปิดเผยว่า ที่ประชุมรายงานการจับกุม การออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายอีก 3-4 ฉบับ รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 เพื่อให้ทุกหน่วยจัดกิจกรรมป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ โดยประกาศนำร่อง 10 จังหวัด อาทิ เชียงราย นครปฐม สระแก้ว นครศรีธรรมราช ยโสธร และรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการฯชุดใหม่ ที่มีการปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) โดยมีพล.อ.ไพบูลย์ เป็นประธาน เพื่อให้ ศอ.ปส.เป็นองค์กรอำนวยการแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชาติ นำนโยบายยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านพล.อ.ไพบูลย์ ระบุว่า แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นแผนแม่บท 5 ปี พ.ศ.2558-2562 ประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์หลัก มุ่งเสริมสร้าง พลังแผ่นดินทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มุ่งส่งเสริมพัฒนาความร่วมมือกับอาเซียนในการควบคุมและแก้ปัญหายาเสพติดอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยในปีแรกของแผนยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ เพื่อลดปริมาณคนหรือผู้ที่จะเข้าสู่วงจรการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้น้อยที่สุด ให้การแก้ปัญหาได้ผลเป็นรูปธรรมชัดเจน สร้างมาตรฐานการบำบัดรักษา การติดตามช่วยเหลือป้องกันการเสพซ้ำ สกัดกั้นยาเสพติดแบบบูรณาการ ทำลายโครงสร้างเครือข่ายการค้า ตัดวงจรทางการเงิน ปราบปรามเครือข่ายนักค้าและการแพร่ระบาดในเรือนจำ
ป.ป.ช.แจ้ง"ปู-อดีต 33 รมต."คดีถวิล
เมื่อเวลา 18.45 น.วันที่ 6 พ.ย. ที่สำนักงานป.ป.ช. นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯกับอดีตรัฐมนตรีรวม 33 คน ตามความผิดตามข้อกล่าวหากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 66 กรณีย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ว่า คณะอนุกรรมการมีหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวไปยังผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแล้ว เพื่อให้แจ้งหากคัดค้านรายชื่ออนุกรรมการ ตามกฎหมายและเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด ขณะที่เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างจัดทำแผนไต่สวน ก่อนนัดประชุมอนุกรรมการนัดแรก ทั้งนี้ อนุคณะกรรมการ ประกอบด้วย กรรมการป.ป.ช.อีก 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ โดยเป็นคนที่เข้าใจหลักการบริหารราชการเป็นอย่างดี
เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว จะพิจารณาคดีซ้ำซ้อนหรือไม่ นายวิชัยกล่าวว่า ถือเป็นคนละส่วน เพราะศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเพียงการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น แต่ไม่ได้ชี้มูลความผิดในส่วนคดีอาญา ซึ่งป.ป.ช.ต้องพิจารณาว่ามีความผิดทางอาญาหรือไม่ ดูว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย หรือเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและกลั่นแกล้งหรือไม่ ทุกอย่างว่ากันตามขั้นตอน ยืนยันว่าไม่ได้โจมตี หากผิดก็ต้องว่าตามผิด ป.ป.ช.ต้องวินิจฉัยว่าเข้าข่ายตามข้อกล่าวหาและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ยึดหลักความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157
นายวิชัย กล่าวว่า ผู้ถูกกล่าวหาอาจไม่มีเจตนาก็ได้หรือเลินเล่อพลั้งเผลอ ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ใคร ถ้าอย่างนี้ก็ไม่เข้าข่ายความผิดทางอาญา ส่วนเรื่องทางการเมืองนั้น ศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้พ้นไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องทางปกครองนายถวิลได้ตำแหน่งคืนแล้วเช่นกัน ทั้งนี้คณะอนุกรรมการมั่นใจว่าใช้เวลาไต่สวนไม่นาน อาจเชิญคนมาให้ถ้อยคำ มายืนยันในถ้อยคำที่ให้ไว้ในศาล คาดว่าจะใช้เวลาเป็นเดือน ไม่ถึงปี เพราะมีเอกสารทั้งหมดแล้ว อาทิ สำนวนจากศาลรัฐธรรมนูญ สำนวนศาลปกครอง รวมถึงเอกสารคำสั่งต่างๆ จากสำนักนายกฯ อย่างไรก็ตาม ตนไม่หวั่นว่าจะโดนโจมตี ตนทำหน้าที่ตามกฎหมาย
"ฤทธิเทพ"นั่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 พ.ย. ที่รัฐสภา คณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ประชุมเพื่อพิจารณาเลือกผู้สมควรเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน แทนนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา จากรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการสรรหาจำนวน 16 คน โดยที่ประชุมลงมติเลือก ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยคะแนนเสียง 5 คะแนน ซึ่งถือว่า เกินกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 6 คน ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการ แผ่นดินจะนำรายชื่อเสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อดำเนินการต่อไป
"บิ๊กตู่"ปั่น 2 ล้อ-ชูเมืองจักรยาน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 6 พ.ย. ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เป็นประธานเปิดงานเทศกาลจักรยาน "สสส. พรีเซนต์ อะเดย์ ไบค์ เฟส 2014" โดยมีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกฯด้านสังคม นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมงาน โดยเจ้าหน้าที่วางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เฝ้าบริเวณลานจอดรถ จุดเข้า-ออกงาน บริเวณตอม่อและตึกสูงที่เป็นจุดสูงข่มรอบบริเวณที่พล.อ.ประยุทธ์และคณะปั่นจักรยานด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายกฯและคณะมาถึง ได้ร่วมกันปั่นจักรยานรณรงค์ให้คนไทยใช้จักรยานมากขึ้น โดยนายกฯนำจักรยานส่วนตัวอัลตร้าสปอต สีเทา แบบไฮบริด ราคาประมาณ 2 หมื่นบาทมาปั่นเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร จากนั้นนายกฯกล่าวว่า ไม่รู้สึกเหนื่อยเพราะปั่นจักรยานและออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ตามที่ผู้จัดงานฝันอยากให้กรุงเทพฯเป็นเมืองจักรยานนั้น ตนก็อยากให้เป็นเช่นนั้น และวันนี้ประชาชนเริ่มหันมาใช้จักรยานมากขึ้น ซึ่งทำให้มีสุขภาพแข็งแรง และในอนาคตต้องพัฒนาให้ทุกคนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น โดยปรับผังเมืองให้มีเมืองเก่าเมืองใหม่ มีเส้นทางจักรยานใช้ได้มากขึ้น ตนและครอบครัว รวมถึงพล.อ.อนุพงษ์ชอบปั่นจักรยานอยู่แล้ว แต่เมื่ออายุมากขึ้น เวลาปั่นในค่าย สุนัขก็เริ่มไล่กัด ทำให้ตอนนี้หันมาปั่นจักรยานในบ้านแทน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราต้องจัดระเบียบให้การปั่นจักรยานปลอดภัย และตนฝันในการทำพื้นที่ออกกำลังกายบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำเป็นเส้นทางคู่ขนานเข้าไปยังฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีทางเดินและทางจักรยาน ส่วนพื้นที่ด้านล่างจะทำเป็นท่อระบายน้ำเพื่อกันน้ำเสียไม่ให้ลงแม่น้ำ จะทำให้น้ำในแม่น้ำสะอาด แต่จะไม่เวนคืนที่ดินริมถนนเพราะจะเกิดปัญหากับประชาชนขึ้นมาอีก เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับครอบครัวและเด็กๆ เกิดความอบอุ่น ลดปัญหาสังคมได้ด้วย ตอนนี้หน่วยงาน กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหารือกันอยู่ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ หากทำให้เป็นเส้นทางคู่ขนานกับฝั่งแม่น้ำได้จะมีประโยชน์มาก เดิน ปั่นจักรยาน เป็นที่พักผ่อนของครอบครัว