WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จ่อเชือด'ปู'33 อดีตรมต. ปปช.ซ้ำอีก สอบเอาผิดคดีย้ายถวิล สนช.โหวตล้มถอด 2 ปธ. บิ๊กตู่ไม่ใช้ม.44-แค่เตือน บวรศักดิ์นำทีมปฏิญาณ ร่วมร่างรธน.'เป็นกลาง'สุวณายันตั้งวิรัชถูกต้อง

ปฏิญาณ - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำคณะ กมธ.เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และศาลหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมกล่าวปฏิญาณจะจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยความซื่อสัตย์ เป็นกลาง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน


     'บวรศักดิ์'นำ กมธ.ยกร่าง รธน.ปฏิญาณตน เข้าคอร์สละลายพฤติกรรม 'วิษณุ'เผยเลือกตั้งหลังเช็งเม้งปี 59 'บิ๊กตู่' แจงยังไม่ใช้ ม.44 'เจษฎ์"ปัดตอบประเด็น'พ่อตา' ป.ป.ช.จ่อฟันซ้ำ 'ปู-33 อดีต รมต.'

@'บิ๊กตู่'แจงสื่อใช้คำพาดหัว

      เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีไม่ต้องการให้สื่อใช้ภาษาพาดหัวข่าว ฮึ่ม-โว-ฟุ้ง-ปัด-ตีปี๊ป ว่า "ก็ไม่รู้สินะ ชอบไหมเล่า สื่อชอบไหม ถ้าใครว่าคุณแล้วคุณชอบไหม"

     ผู้สื่อข่าวถามว่าสรุปว่านายกรัฐมนตรีไม่อยากให้สื่อใช้คำเหล่านี้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็แล้วแต่ ท่านคิดกันเอาเอง ทำไมต้องตอบทุกเรื่องเดี๋ยวก็เป็นประเด็นอีก ก็อะไรที่คุณไม่ชอบ กลับไปถามตัวเองก่อนว่าคุณไม่ชอบอะไร ผมก็ไม่ชอบอันนั้น อย่าถามผม เพราะอาจจะไม่ตรงกัน"

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการหยิบยกมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราวออกมาปรามกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า เป็นการเตือนเฉยๆ ว่ามันยังอยู่ก็เท่านั้นเอง ไม่ได้บอกว่าจะใช้อะไรเมื่อไร 

     เมื่อถามว่า รัฐบาลมีมาตรการรับมือต่อสถานการณ์ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการประชุมพิจารณาถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ประชุมกันไปสิ ไม่ต้องเตรียมการอะไร เพราะก็เห็นว่าทุกคนเขาก็ร่วมมือดีแล้ว ทุกคนต่างก็ให้ความร่วมมือ ทุกคนบอกว่าไม่ได้มากดดันรัฐบาล ดังนั้นก็ว่ากันไป แต่ใครทำก็ต้องรับผิดชอบเท่านั้น

      เมื่อถามถึงการพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึก นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ไม่ได้พูด ยังไม่มีใครถามผม ต่างชาติก็ยังไม่มีใครมาถามผม เราก็อย่าถามกันเองมากนักก็เป็นปัญหา" 

@ "อุดมเดช"เน้นคุยกลุ่มเห็นต่าง 

      ที่กองดุริยางค์ทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าจะใช้กฎหมายเข้มข้นในการดำเนินการกับกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านว่า มีบางคนไม่เข้าใจการทำงานที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำความเข้าใจแนวทางต่างๆ หากได้ติดตามนายกรัฐมนตรีจากที่เคยกล่าวไว้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของโรดแมป ได้ผ่านช่วงแรกแล้ว ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 ก่อนเข้าสู่ระยะที่ 3 คือมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งที่สมบูรณ์ แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการตามรายละเอียดในการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ส่วนโอกาสที่รัฐบาลจะดำเนินการตามมาตรา 44 นายกรัฐมนตรีชี้แจงไปแล้ว รัฐบาลต้องดำเนินการตามขั้นตอน ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรงหรือเกิดปัญหาอะไร หากร่วมมือกันก็จะไม่เกิดปัญหา สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่มีคนเห็นต่าง นายกฯได้สั่งการให้ติดตามและดูแลสถานการณ์และตนก็ดำเนินการตามนั้น หากมีคนไม่เข้าใจทางกองทัพก็พยายามพูดคุยดำเนินการไม่ให้เกิดความรุนแรง จะใช้ความเข้าใจเป็นหลัก ส่วนจะใช้กฎอัยการศึกจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ รัฐบาลกับ คสช.จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ

@ เตือนตั้งองค์กรคู่ขนานสปช.

    พล.อ.อุดมเดชกล่าวถึงการจัดตั้งสถาบันภายนอกอย่างสถาบันปฏิรูปประเทศ (สปท.) กับสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) และพยายามทำงานควบคู่ไปด้วยจะเกิดปัญหาหรือไม่ คิดว่าความเห็นจากภายนอกที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาใน สปช. ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะมี สปช.อยู่แล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ปิดกั้นอะไร แต่หากมีข้อคิดเห็น อยากให้ส่งเข้ามาตามระบบ คิดว่า สปช.ที่ คสช.ตั้งขึ้น คงจะรับฟังไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ทางที่ดีน่าจะดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการที่ได้กำหนดขึ้นมา ส่วนที่จัดตั้งขึ้นมาเองภายนอก พูดอะไรออกมา ไม่มีสิ่งมารองรับ เพราะฉะนั้นอยากให้ส่งข้อคิดเห็นมา ถ้าไปพูดกันภายนอก ไปคนละทิศคนละทางก็ไม่เหมาะสม อยากขอความกรุณาให้ทุกฝ่ายเห็นใจรัฐบาล ร่วมมือร่วมใจกันทำให้อยู่ในกรอบ ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย 

@ "ไก่อู"ชี้โทร.คุยกลุ่มเคลื่อนไหว

     พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบคำถาม คสช.สามารถเรียกบุคคลที่คิดว่าอาจจะเป็นภัยต่อรัฐบาลมารายงานตัวได้ใช่หรือไม่ว่า อย่าเรียกถึงขั้นเป็นภัย แต่หาก คสช.พิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นก็อาจจะเชิญมาพูดคุย หรืออาจพูดคุยผ่านโทรศัพท์ก็ได้ ยืนยันว่าให้เกียรติซึ่งกันและกัน เชื่อว่าแต่ละฝ่ายก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองคุยกันน่าจะรู้เรื่อง ส่วนจะมีการพูดคุยโดยใช้เวลา 5-7 วัน เหมือนการเรียกรายงานตัวก่อนหน้านี้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ คสช. 

เมื่อถามว่า หากมีการใช้กฎหมายกับนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. หรือนายวรชัย เหมะ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ใครจะเป็นผู้พิจารณา พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะเรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่ของ คสช. นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. เพียงแต่เปรยในที่ประชุมร่วม คสช.ต้องประเมินสถานการณ์ และต้องดูว่าหากจะต้องติดต่อกับท่านใดท่านหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวก็ต้องให้เกียรติอาจจะคุยโทรศัพท์กัน เป็นเรื่องปกติ และคุยกันเพียงครั้งเดียวก็คงเข้าใจ คงไม่ถึงขั้นนำกฎหมายมาใช้ ส่วนผู้ที่จะติดต่อไปยังกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ นั้น อยู่ในส่วนความรับผิดชอบของ คสช. เชื่อมั่นว่ากองอำนวยการรักษาความสงบ โดยแม่ทัพภาคที่ 1 หรือผู้ที่รับผิดชอบเรื่องกลุ่มงานสามัคคีปรองดองคงจะประสานข้อมูลกัน ถึงคนที่จะต้องทำความเข้าใจ

@ "วรชัย"เผยพ.อ.โทร.ให้หยุดพูด

นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำ นปช. กล่าวถึงกระแสข่าวถูกทหารเรียกตัวไป หลัง พล.อ.ประยุทธ์ เล็งใช้มาตรา 44 ว่า ไม่เป็นความจริง มีเพียงนายทหารยศ พ.อ.โทร.มาหา เพื่อขอให้หยุดพูด หยุดวิจารณ์หรือพูดให้เบาลง อย่าพูดในลักษณะปลุกระดม ส่วนตัวไม่ได้ปลุกระดมอะไร เพียงแสดงความคิดเห็นว่าหากดำเนินการเรื่องนี้ แล้วอะไรจะตามมาเท่านั้น ไม่ได้ทำผิดอะไร ส่วนจะออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ อีกหรือไม่ ต้องดูเนื้อหาว่ากันไปตามเนื้อผ้า พูดอะไรแล้วไม่สะเทือนใครก็เป็นเรื่องปกติ ถือเป็นกระจกอีกด้านสะท้อนปัญหาของชาวบ้านให้รัฐบาลเห็น ตนก็เป็นปกติ เป็นยังไงก็เป็นยังนั้น ไม่ได้คัดค้านรัฐบาล และไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหว เพราะก็ให้โอกาสเขาทำงานไป 1 ปี ตามโรดแมปที่กำหนดไว้ 

"เราพูดบ่อยไป แต่พูดในลักษณะเสนอแนะ ไม่ได้พูดปลุกระดมให้คนออกมาชุมนุมหรือว่าคัดค้านรัฐบาล ทุกอย่างพูดต่อเนื่อง สื่อบางฉบับก็ดันไประบุว่าแดงปลุกระดม ทั้งที่เราไม่ได้ปลุกระดมเลย" นายวรชัยกล่าว

@ "บวรศักดิ์"นำกมธ.ปฏิญาณตน

เมื่อเวลา 07.00 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำ กมธ.จำนวน 30 คน เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ภายหลังเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว นายบวรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้นำ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม เป็นกลาง ปราศจากอคติ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประโยชน์ของประชาชนอย่างสูงสุด ตนคาดหวังว่าความสามัคคีของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะร่วมยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และการแก้ปัญหาบ้านเมืองให้ยุติลงได้

@ ร่วมกิจกรรมละลายพฤติกรรม

"ผมขอฝากถึงประชาชนที่มีความคิดเห็นต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า ให้ส่งความเห็นมายัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยผ่านทาง กมธ.การมีส่วนร่วมของประชาชนสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้านรวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรค" นายบวรศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ได้เดินทางกลับมาที่รัฐสภาและจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์สมาชิก กมธ.ยกร่างฯ เพื่อละลายพฤติกรรมมีอาจารย์จากภาควิชาสันทนาการ คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้นำทำกิจกรรมดังกล่าว จากนั้นรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันที่สโมสรรัฐสภา ก่อนที่ช่วงบ่ายจะเข้าประชุมอีกครั้ง เพื่อแนะนำตัวให้ที่ประชุมได้รู้จัก และมีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ สำหรับ กมธ.ที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมในวันนี้ที่แจ้งเหตุผลมี 3 คน ประกอบด้วย นายจรัส สุวรรณมาลา น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา เนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ และนายปกรณ์ ปรียากร ที่นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ร่วมทำกิจกรรมมีจำนวนทั้งสิ้น 31 คน 

@ เคาะชื่อแบ่งงานกมธ.ยกร่างฯ 

นายบวรศักดิ์ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แถลงหลังการประชุม กมธ.ยกร่างฯอย่างไม่เป็นทางการว่า ที่ประชุมมีฉันทามติแบ่งงานในคณะ กมธ.ด้านต่างๆ จะมีรองประธาน กมธ. 6 คน เรียงตามลำดับอาวุโสคือ นพ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 1 นายมานิจ สุขสมจิตร เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 2 นายสุจิต บุญบงการ เป็นรองประธานคนที่ 3 นางนรีวรรณ จินตกานนท์ เป็นรองประธานคนที่ 4 นายปรีชา วัชราภัย เป็นรองประธานคนที่ 5 และนายชูชัย ศุภวงศ์ เป็นรองประธานคนที่ 6 ที่ปรึกษา กมธ.ประกอบด้วย นายประสพสุข บุญเดช เป็นประธานที่ปรึกษา กมธ. นายจรูญ อินทจาร เป็นรองประธานที่ปรึกษาคณะ กมธ. และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นที่ปรึกษา ส่วนเลขานุการ กมธ.มี 2 คน คือ นายดิสทัต โหตระกิตย์ กับนางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ และมีโฆษกคณะ กมธ. 6 คน คือ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายคำนูณ สิทธิสมาน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว นายวุฒิสาร ตันไชย พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ และนายปกรณ์ ปรียากร 

@ ตั้งอนุกมธ.แบ่งงาน2ส่วน

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้กำหนดแนวทางการทำงาน โดยจะแยกอนุ กมธ.ออกเป็น 2 ส่วน คืออนุ กมธ.ว่าด้วยกระบวนการทำงาน จะแยกออก 3 คณะ 1.คณะอนุ กมธ.บันทึกเจตนารมณ์และจัดทำจดหมายเหตุ มีนายคำนูณ เป็นประธาน 2.อนุ กมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นชองประชาชน มีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นประธาน และ 3.อนุ กมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก สปช.และองค์กรต่างๆ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนด จะต้องไม่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ สปช.กับอนุ กมธ.ว่าด้วยเนื้อหาของการทำงาน จะนำรายชื่อและข้อเสนอทั้งหมดเข้าสู่การประชุมของคณะ กมธ.ในวันที่ 6 พฤศจิกายน เพื่อให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอย่างเป็นทางการต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพูดคุยกันเรื่องกรอบเวลาในการประชุม และการให้สื่อเข้ารับฟัง รวมถึงการพิจารณาว่าจะดึงคู่ขัดแย้งเข้าร่วมหรือไม่ ทั้งหมดยังไม่ได้ข้อยุติ อย่างไรก็ตาม นับจากวันนี้ สปช.ยังเหลือเวลาจัดการความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะ กมธ.ยกร่างฯอีก 44 วัน จะสิ้นสุดวันสุดท้ายวันที่ 19 ธันวาคมนี้ เป็นกรอบระยะเวลา 60 วันตามรัฐธรรมนูญ นับจากวันที่ สปช.ได้ทำการประชุมครั้งแรกในวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นคณะ กมธ.จะเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญทันที แต่ในระหว่างนี้คณะ กมธ.จะเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นคู่ขนานไปกับ สปช.ด้วย 

@ "บวรศักดิ์"ชี้ทัศนคติสื่อไม่บวก 

เมื่อถามถึงความเห็นให้สื่อมวลชนได้เข้ารับฟังการประชุมเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของคณะ กมธ.ยกร่างฯ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่มีอะไรจะปิดบัง ถ้าจะให้ถ่ายทอดสดก็ยังได้ แต่ตั้งแต่ปี 2548-2557 มีความขัดแย้งมายาวนานมา 9 ปี 

มีสี มีจุดยืน ถ้าจะทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นแบบตาบอดสีเหมือนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯว่าไว้ ก็แปลว่าบางทีต้องจับเข่าคุยกันให้ทิ้งจุดยืนเดิม แล้วดูอนาคต ตาบอดสีคือ ไม่เห็นสีเหลือง สีแดง สีธงชาติ หรือสีอะไรทั้งนั้น ถ้าสื่ออยู่หรือถ่ายทอด บทบาทที่ยึดโยงกับอดีตก็จะทำให้เขาต้องถูกดึงไปสู่อดีต 

"ถ้าเราอยากดูอนาคตกันก็อย่าไปผูกกับเสื้อสีในอดีต ขอร้องสื่อทั้งหมดถ้าจะเมตตาและเข้าใจ อะไรเปิดเผยได้เราจะเปิด ไม่ต้องห่วง แต่อะไรเปิดไม่ได้ ต้องคุยกันให้รู้ดำรู้แดง ก็ต้องพูดคุยกันในห้อง ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของประธาน ไม่รู้ กมธ.จะเห็นด้วยหรือไม่ ให้รู้ไว้ด้วยว่าผมและ กมธ.ทราบว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ง่าย เพราะสื่อหลายสื่อเริ่มจากการมีทัศนคติไม่เป็นบวกกับคณะ กมธ. เราสำนึกและตระหนักดี อะไรก็ตามทำให้ความรู้สึกดีขึ้นก็อยากทำทั้งสิ้น แต่ถ้าทำให้ความรู้สึกดีขึ้นอย่างเดียว แต่เนื้อหาไม่ได้เรื่องเลย ผมก็เลือกเนื้อหา" นายบวรศักดิ์กล่าว

@ "ทัศนา"นั่งปธ.กมธ.สรรหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กมธ.สามัญสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง กมธ.วิสามัญประจำ สปช.นัดแรกเพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ ใน กมธ.วิสามัญ 18 คณะ ที่ประชุมมีมติเลือก น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 เป็นประธาน กมธ. พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สปช.ด้านการเมือง เป็นรองประธาน กมธ. คนที่ 1.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร สปช.ด้านบริหารราชการแผ่นดิน เป็นรองประธาน กมธ. คนที่ 2 นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ สปช.เชียงใหม่ เป็นเลขานุการ กมธ. และนายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สปช.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เป็นโฆษก กมธ.

นายธรณ์กล่าวว่า การประชุมยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจาก กมธ.ต้องจัดสรรบุคคลไปลงคณะต่างๆ ให้เหมาะสม เนื่องจากบางคณะมีผู้สมัครเข้ามาจำนวนมาก เช่น กมธ.การปฏิรูปการคอร์รัปชั่น กมธ.การปฏิรูปการศึกษา และ กมธ.การปฏิรูปท้องถิ่น แต่บางคณะมีผู้สมัครน้อยมาก เพราะแต่ละคณะต้องมีจำนวน 13-27 คน ที่ประชุมต้องการให้แต่ละคณะมีอย่างน้อย 17-18 คน เพื่อแก้ปัญหาการขาดประชุมของ กมธ. จะทำให้การประชุมเดินหน้าได้ สำหรับคนนอกให้เข้ามาเป็น กมธ.แต่ละคณะจะมี 1 ใน 4 หรือ 6 คน โดยจะพิจารณาหลังจาก กมธ.แต่ละคณะประชุมเลือกประธาน รองประธาน เลขาฯ และโฆษก กมธ.แล้ว อย่างไรก็ตามรายชื่อ กมธ.ทั้ง 18 คณะจะต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 5 พฤศจิกายน และในวันที่ 6 พฤศจิกายน อาจจะเรียกประชุมอีกครั้ง

@ สปช.ตั้งเวทีฟังความเห็นปชช.

พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สมาชิก สปช. จังหวัดร้อยเอ็ด ในฐานะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่ได้กำหนดให้ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำประชามติก่อน ดังนั้น เท่าที่ได้หารือกับ สปช.สายจังหวัด มีความเห็นร่วมกันว่าจะจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศ และข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อสร้างการยึดโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และลดคำครหาที่ว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงการแก้ปัญหาของประเทศเป็นแบบบนลงล่าง หรือบนหอคอยงาช้าง ส่วนรูปแบบหลักจะใช้กลไกของ กมธ.วิสามัญประจำสภา สปช.ทั้ง 18 คณะ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดดำเนินการ

สำหรับการจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน พื้นที่ที่ต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา และทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้ อีกทั้งในแนวทางรับฟังความเห็นดังกล่าวนั้น ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของบุคคล แต่เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนได้พิจารณา และหากมีความเห็นคล้อยตามกัน สามารถจะปรับวิธีคิดได้

@ "เจษฎ์"ปัดตอบประเด็น"พ่อตา"

นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวระบุว่ามีความสัมพันธ์กับ นพ.กระแส ชนะวงศ์ กมธ.ยกร่างฯในฐานะบุตรเขยว่า ประเด็นความสัมพันธ์ตนไม่ขอตอบ แต่การเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างฯ ถือเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันนั้น มองว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นการเข้าไปทำงาน ไม่ใช่การตั้งบริษัทแล้วเอาพรรคพวกของตนเองเข้าไปแสวงหาประโยชน์ คงไม่เป็นแบบนั้น

@ "คำนูณ"แนะเกณฑ์กมธ.ก่อนพูด 

นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า วันที่ 6 พฤศจิกายน กมธ.ยกร่างฯจะประชุมนัดแรกอย่างเป็นทางการ เพื่อเลือกตำแหน่งรองประธาน โฆษก และเลขานุการ รวมถึงการตั้งอนุกรรมาธิการคณะต่างๆ จะมีหนึ่งคณะคอยรับฟังความเห็นประชาชน ส่วนแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ จะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาเป็นแบบอย่าง แต่ยังยึดกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในมาตรา 35 เป็นหลัก แต่ส่วนสำคัญคือกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน นับจากนี้การสื่อสารของ กมธ.ยกร่างฯ แต่ละคนถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่สามารถปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของแต่ละคนได้ หลายคนมีความคิดเห็นส่วนตัวก่อนเข้าร่วม กมธ.ยกร่างฯ จึงขอให้ กมธ.ยกร่างฯแต่ละคนตระหนักเสมอว่าความคิดเห็นของตน โยงอยู่กับภาพลักษณ์ของ กมธ.ยกร่างฯ จึงควรกลั่นกรองความเห็นต่างๆ ให้สอดคล้องกับมติของ กมธ.ยกร่างฯด้วย เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

@ เปิดปฏิทินการทำงานของสปช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนปฏิทินการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ คือ เดือนมกราคมถึงเมษายน 2558 กมธ.ยกร่างฯดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 17 เมษายน 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และเสนอต่อประธาน สปช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. วันที่ 26 เมษายน 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ สปช.ต้องพิจารณาให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ วันที่ 16 พฤษภาคม 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ ครม. คสช. สามารถเสนอความเห็น หรือยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ สปช.สามารถยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญต่อประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 23 กรกฎาคม 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จและเสนอ สปช. เพื่อพิจารณาวันที่ 6 สิงหาคม 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ สปช.มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 37 วรรคสองกำหนด และวันที่ 4 กันยายน 2558 เป็นวันสุดท้ายที่ประธาน สปช. ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ตามที่รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 32 วรรคสองกำหนด

@ คสช.-ครม.ตั้งทีมติดตามรธน. 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการจัดตั้งคณะทำงานติดตาม กมธ.ยกร่างฯว่า เป็นเรื่องธรรมดา หากมองแล้วจะพบว่า สื่อมวลชนจะเขียนถึงเรื่องนี้ว่า คสช.เป็นผู้ตั้งองค์กรทั้งหลายแล้วแปลว่า คสช.ต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คงจะไม่จริงไปตามนั้นทั้งหมด เพราะ คสช.ตั้งขึ้นมาจะตามไปรับผิดชอบถึงผลสุดท้ายนั้นคงยาก แต่ว่าความปรารถนาจะทำออกมาให้ดีที่สุดเป็นความรับผิดชอบที่หนีไม่พ้น ฉะนั้นรัฐบาลเองและ คสช.ควรจะติดตามเพื่อว่า กมธ.อยากได้ความสะดวก อยากได้ข้อมูลหรือต้องการความร่วมมือหรืองบประมาณ ก็ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องพยายามจัดให้ เนื้อหาสาระคงจะมีการมะรุมมะตุ้มเสนอกัน พอ กมธ.ยกร่างเสร็จ ก็ต้องนำกลับมาถาม ครม.และ คสช.อยู่ดี ตรงนี้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้เลย หากไม่มีการติดตามตั้งแต่ตอนนี้ ถึงตอนนั้นก็คงทำการบ้านไม่ถูก

แล้วก็คงจะมีบางเรื่องที่รัฐบาลเองต้องมาออกกฎหมายรองรับไปพลางหากจะรอให้ กมธ.ร่างเสร็จแล้วค่อยทำกฎหมายตอนนั้นก็คงไม่ทัน ถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งเร็ว ก็ต้องติดตามไปพลาง และแก้ไขไปพลาง นี่คือที่มาควรตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามการร่าง เหมือนใน สปช.เคยได้ยินว่าจะตั้ง กมธ.ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน จึงตกลงว่าจะตั้งร่วมกัน เป็นคณะทำงานร่วม ครม.และ คสช. และมอบให้นายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษา คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปคิดรูปแบบดู

@ "วิษณุ"ยันไม่มีร่างรธน.ล่วงหน้า 

ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่ายกร่างรัฐธรรมนูญเตรียมไว้แล้ว นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดในไทยมาบ่อยครั้ง และทุกครั้งเริ่มด้วยการตีวัวกระทบคราด เชือดไก่ให้ลิงดู หรือไม่ก็โยนหินถามทาง ไม่เคยทำไว้ก่อนเพราะหากทำขึ้นมาแล้วนำเข้าไปอีก 35 คนเขาก็จะรู้ว่าไปเอามาจากไหน "เราไม่ได้พูดอย่างนี้ หรือเรายังไม่ทันพูดเลย ทำไมโผล่มาแล้ว ความจะแตก คอยดูไปเถอะ อยู่ในสายตาของสื่อมวลชนและประชาชนทั้งประเทศ ส่วนรัฐธรรมนูญจะมีมาตรา 309 แบบฉบับปี"50 หรือไม่ ไม่ทราบ แล้วแต่เทคนิค อาจจะมีวิธีฉลาดกว่านั้น ถ้าผมเขียนจะมีวิธีเขียนโดยไม่ต้องมีมาตรา 309 เสียดายไม่ได้ไปร่างเอง" นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนเรื่องการทำประชามติ ถึงเวลาจะลงก็ไม่ว่าอะไร แค่คิดว่าไม่รู้ว่าลงแล้วจะได้ประโยชน์ เลยไม่ได้บังคับ นายชัย ชิดชอบ สปช. เคยพูดว่า ถ้าร่างดีก็ไม่ต้องไปลง ถ้าร่างไม่ดีแล้วไปลงประชามติก็ยิ่งแย่ใหญ่ ร่างให้ทุกคนพอใจว่าพอไปได้ก็พอ สิ่งที่ต้องการคือทำอย่างไรให้ช่วงเวลาที่เริ่มใช้เกิดความสงบสุขจากนั้นจะมีการยอมรับ อย่างในหลายประเทศรัฐธรรมนูญถูกคนต่างชาติมาร่างให้ ก็อยู่ได้ ส่วนเรื่องที่ว่าทำประชามติแล้วจะศักดิ์สิทธิ์นั้น เคยทำประชามติแล้ว แต่ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ และเคยไม่ทำประชามติ แต่ฉบับนั้นก็ใช้มานานที่สุด เช่นฉบับ 2475 ใช้รอบแรก 14 ปี แล้วถูกคั่นไป 2-3 ฉบับ แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ 7 ปี ประชามติทำให้เกิดความหนักแน่นขึ้นมาในสมัยใหม่ว่าประชาชนมีส่วนร่วมเท่านั้นเอง ตนคิดว่ากระบวนการการมีส่วนร่วมในการร่างนั้นสำคัญกว่าประชามติ

@ อย่าเพิ่งกังวลสกัดบางกลุ่ม

ส่วนที่มีความกังวล กมธ.ยกร่างฯมีฝักฝ่ายจะเขียนรัฐธรรมนูญกีดกันกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่เกิดอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ และคงยาก เพราะอยู่ท่ามกลางสายตาของคนและความคิดทั้งหลายไม่เชื่อว่าองค์ประกอบของคณะ กมธ.ที่มีอยู่ก็ดี และสถานการณ์ของประเทศขณะนี้ต้องการการปรองดองและต้องการการปฏิรูปจะนำไปสู่สิ่งที่ทำให้เกิดการติฉินนินทา แต่ถ้าหากผลจะต้องเกิดขึ้นบ้าง ก็คงไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือตั้งธงให้เป็นเช่นนั้น แต่เกิดจากการปฏิรูปและความคิดที่ว่านี่คือสิ่งที่ดีหรือคำตอบสุดท้ายประเทศต้องการมากกว่า ถ้าบังเอิญจะต้องมีผลบวกหรือลบต่อใคร แต่ไม่เชื่อว่าจะมีผู้ใดยอมให้เกิดการตั้งธงอย่างนั้น จนบัดนี้ยังไม่เห็นสัญญาณเช่นนั้นเลย ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษาคมที่ผ่านมา เรื่องที่มีคนตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของคณะ กมธ.ยกร่างนั้น สุดท้ายก็ต้องมาผสมกัน ไม่มีใครได้ทุกสิ่งที่ตนเสนอหมด ส่วนเรื่องที่มีกระแสข่าวจะลิดรอนอำนาจนักการเมืองนั้น เรื่องพูดนั้นพูดได้ โยนหินน่ะโยนได้ แต่สุดท้ายก็ต้องมาเจรจาประนีประนอมกันส่วนการจะเขียนกฎหมายกันการยึดอำนาจนั้นเขียนได้ แต่พอถึงเวลาที่ยึดอำนาจ กฎหมายข้อนั้นก็ไปก่อนเพื่อน

นายวิษณุกล่าวว่า ความเป็นห่วงกระแสต้านหรือความวุ่นวายช่วงร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มี เพราะสัญญาณยังไม่มี แต่ในที่สุดเมื่อถึงจุดที่ร่างไปถึงจุดหนึ่งหรือมีข้อเสนอแล้ว ทำให้ไปสะกิดหรือทำให้คนหลายคนไม่สบายใจ โอกาสจะเกิดปฏิกิริยาก็คงมี แต่จะนำไปสู่อะไรนั้น วันนี้ยังไม่เห็นอะไรนะ และคงจะไม่มีการประชุมร่วมของ กมธ.ยกร่างกับ คสช. เพราะจะเป็นการแทรกแซง แต่ขอความเห็นได้ 

@ คาดเลือกตั้งต้น"59ก่อนเช็งเม้ง

นายวิษณุกล่าวว่า กรอบการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จประมาณสิงหาคม กันยายน ตุลาคม เพราะว่าจะทำให้เร็วก็ได้ช้าก็ได้ แต่จะอยู่ใน 3 เดือนนี้ ปีหน้าร่างเสร็จ ประกาศใช้ การเลือกตั้งนั้นจะเกิดทันทีไม่ได้ ต้องยอมรับความจริง นอกจากว่าประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วอาทิตย์หน้าเลือกตั้งเลย ถ้าแบบนั้นมีกี่พรรคพร้อมไม่พร้อมก็ลงกันตามมีตามเกิด ถ้าจะเอาอย่างนั้นก็เอา แต่คงไม่มีใครยอม ต้องมีระยะเวลาไปออกกฎหมายลูก ตนคงพูดมากไม่ได้เพราะไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนยังไง ก็คงใช้เวลาออกกฎหมายลูก 2-3 ฉบับ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมาย กกต. ใช้เวลาอีกสัก 2 เดือน แล้วยังต้องปล่อยให้มีการหาเสียงเลือกตั้ง หลังจากนั้นค่อยเลือกตั้งกันได้ น่าจะประมาณต้นปี 2559 คงต้นมากๆ ก่อนเช็งเม้งถ้าเลยเช็งเม้งก็ไปช่วงไหว้พระจันทร์

@ แจงกมธ.พ่อตาลูกเขยไม่เป็นไร

ส่วนกรณีหาก สปช.งัดข้อกับ กมธ. นายวิษณุกล่าวว่า กมธ.จะใหญ่กว่า สปช.มีสิทธิบอกว่าร่างอย่างไร คล้ายแปรญัตติ แต่ กมธ.จะเอาก็ได้ ไม่เอาก็ได้ ถ้าหาก กมธ.ไม่รับเลย ไม่แก้ให้เลย สปช.จะแก้เผ็ดได้วิธีเดียวคือคว่ำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ว่าจะไปทั้งหมดเลยทั้ง กมธ.และ สปช.จะพ้นตำแหน่งหมด ฉะนั้นหาก กมธ.ฉลาดหน่อยก็จะต่อรองกันตามเหตุผล ตนเชื่อ นายบวรศักดิ์เป็นคนดี ตั้งใจดีและพยายามประนีประนอม ด้วยความแข็งคือความรู้ของนายบวรศักดิ์ และความอ่อนคือการรับฟังความเห็นของคน เวที กมธ.เป็นเวทีที่ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบ รับชะตากรรมร่วมกัน ก็คงต้องพยายามทำให้ออกมาดูดีที่สุด ตอนนั่งคนเดียวจะพูดอะไรก็พูดไปเถอะ แต่พอนั่งกันทั้ง 36 คน ต้องดูซ้ายขวาหน้าหลัง ไม่มีใครได้ทุกอย่างที่ต้องการหรอก ส่วนกรณีใน กมธ.ยกร่างมีพ่อตาลูกเขยอยู่ ก็ไม่เป็นไร พี่น้องกันบางทียังเห็นไม่ตรงกัน และเขาก็ไม่ได้มาตั้งแก๊งทำอะไรกัน มาโดยประสบการณ์ นับกันนี่ก็ญาติกันทั้งนั้น

@ มาตรา44แค่ชี้ให้ดูมีกระบอง

นายวิษณุกล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีจะใช้มาตรา 44 ต่อกลุ่มเคลื่อนไหวว่า มีการปรารภว่าหากมีความไม่สงบเกิดขึ้น แล้วจะมีมาตรการอะไรรับมือบ้าง ก็มีกฎหมายสารพัด กฎอัยการศึก และหากต้องไปถึงมาตรา 44 ก็มีอยู่ ให้รู้ว่าถ้าเกิดเหตุแล้วจะมีอะไรรับมือบ้าง ขั้นตอนการประกาศใช้มาตรา 44 คือ คสช.ประชุมกันแล้วมีมติให้ใช้ ก็แจ้งให้ ครม.และ สนช.ทราบแค่นั้น หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ นั่นคือความเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะกลับมา แต่มีเงื่อนไข ต้องมีเหตุ

กระทบความมั่นคง หรือใช้เพื่อสร้างสรรค์ก็ได้ ส่วนในอนาคตจะมีโอกาสนำมาใช้หรือไม่ พูดไม่ถูก จนกว่าจะเกิดเหตุขึ้น ถ้าไม่มีอะไรก็ไม่ต้องใช้ ขนาดพล.อ.ประยุทธ์เป็นรัฏฐาธิปัตย์มาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ก็ไม่เคยเห็นใช้อะไร ขนาดตอนคดีข่มขืนฆ่าบนรถไฟ ท่านก็สั่งให้ใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ

เมื่อถามว่า ถือเป็นการยกกระบองขึ้นมาปรามหรือเปล่า นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ยก ชี้ให้ดูว่านี่กระบอง มีนะ มีกระบอง

@ "เรืองไกร"ลั่นมีสีเดียวนั่งร่างรธน. 

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึง กมธ.ยกร่างฯว่า ไม่แน่ใจว่าประชาชนจะฝากความหวังกับกรรมาธิการ (กมธ.) ที่จะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะเมื่อดูจากรายชื่อ กมธ.ส่วนใหญ่เคยขึ้นเวที กปปส.มา บางส่วนก็รู้ๆ กันอยู่ว่าอยู่ข้างไหน เหมือนมีการกำหนดสเปกตัวบุคคลไว้ก่อนหน้าแล้ว ยิ่งเห็นคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีสีนั้น ไม่แน่ใจว่านายวิษณุตาบอดสีหรือไม่ เพราะเห็นกันอยู่ว่ารายชื่อ กมธ.มีอยู่สีเดียว จึงไม่แน่ใจว่าจะเขียนกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญเพื่อกลุ่มหรือคนฝ่ายเดียวหรือไม่ การปฏิรูปประเทศจะเดินหน้าไปได้อย่างไร คงไม่ต้องไปพูดถึงการปฏิรูปหรือการปรองดอง แม้ว่าฝ่ายการเมืองทั้งพรรค พท.และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะระบุตรงกันชัดเจนจะไม่ส่งตัวแทนมาร่วมกับการปฏิรูปครั้งนี้ แต่ คสช.และรัฐบาลควรจะคัดเลือกหรือเกลี่ยนักวิชาการมาเป็น กมธ.ให้หลากหลาย ให้ประชาชนเห็นว่ามีตัวแทนจากทุกฝ่าย แต่กลับมี วปอ.คอนเน็กชั่นกับจุฬาฯคอนเน็กชั่น ทำไมไม่เชิญนักวิชาการ เช่น ส.ศิวรักษ์ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นต้น มาร่วมเป็นตัวแทนยกร่างรัฐธรรมนูญบ้าง

"ขอให้จับตาดูกรณี สนช.จะถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา รวมทั้งกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว หาก สนช.ถอดถอนได้สำเร็จ เท่ากับเป็นการชิมลางกำจัดฝ่ายตรงข้าม การร่างรัฐธรรมนูญก็จะทำได้เร็วขึ้น" นายเรืองไกรกล่าว

@ อจ.ไม่คาดหวังกมธ.ยกร่างฯ 

นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯคาดหวังอะไรไม่ได้มาก เพราะเป็นกลุ่มที่มีเเนวคิดไปในทางเดียวกันทั้งหมด เเละหลายคนก็ร่วมร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งเเต่ฉบับปี พ.ศ.2550 เเล้ว ฉะนั้นจากหน้าตาพอจะเห็นว่า คสช.ต้องการให้รัฐธรรมนูญนั้นมีเนื้อหาออกไปในทางไหน ตนไม่มีหวังอะไรเท่าไหร่ เพราะกระบวนการร่าง รธน.ฉบับ 58 เป็นกระบวนการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งเเต่ต้นจนจบ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!