WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8744 ข่าวสดรายวัน

สนช.ไม่รับถอด ส่อตีตก สำนวนขุนค้อน-นิคม 
กมธ.สาบานพระแก้ว ยกร่างรธน.ไม่มีอคติ ทบ.โยกย้าย 251 ผู้พัน จี้'พรเพชร'บรรจุวาระ ให้สภาถกใหญ่'เมธี'

เอาฤกษ์ - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นำคณะกรรมาธิ การยกร่างรัฐธรรมนูญ สักการะพระแก้วมรกตและศาลหลักเมืองกรุง เทพฯ ยืนยันว่า จะจัดทำ รัฐธรรมนูญด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.

     สนช.สายทหาร-พลเรือน จ่อคว่ำวาระถอดถอน 'ขุนค้อน-นิคม' ชี้สนช.ไม่มีอำนาจหลังรธน.50 ถูกยกเลิก เพื่อไทยยื่นค้านถกถอดถอน'ปู'สมาชิกเตรียมผลักดันหารือประเด็น'เมธี'นั่งก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ 'บวรศักดิ์'นำทีมกมธ.ยกร่างปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกต ร่างรธน.โดยปราศจากอคติ 'วิษณุ'ยันพ่อตา-ลูกเขยร่วมในกมธ.ยกร่าง ไม่เป็นปัญหา 'เจษฎ์'ไม่ตอบสัมพันธ์'หมอกระแส' เอ็นจีโอชี้ปมพาดหัวน.ส.พ. ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ 'บิ๊กตู่'ย้อนถามถ้าสื่อโดนว่าบ้างจะชอบหรือไม่ ผบ.ทบ.เซ็นย้ายผู้พัน 251 ตำแหน่ง เด้งหลาน'ยิ่งลักษณ์'

'ประยุทธ์'ย้อนสื่อปมพาดหัว
      วันที่ 5 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเท็จจริงกรณีไม่ต้องการให้สื่อใช้ภาษาพาดหัวข่าว ฮึ่ม-โว-ฟุ้ง-ปัด-ตีปี๊บ ว่า "ไม่รู้ ชอบมั้ยเล่า สื่อชอบมั้ย ถ้าใครว่าคุณแล้วคุณชอบมั้ย" เมื่อถามว่าสรุปว่านายกฯ ไม่อยากให้สื่อใช้คำเหล่านี้ใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่าก็แล้วแต่ สื่อคิดกันเอาเอง ทำไมต้องตอบทุกเรื่องเดี๋ยวเป็นประเด็นอีก อะไรที่สื่อไม่ชอบ กลับไปถามตัวเองก่อนว่าไม่ชอบอะไรตนก็ไม่ชอบอันนั้น อย่าถามตนเพราะอาจไม่ตรงกัน



มาตรา 44-เป็นการเตือน



เมื่อถามกรณีปรามกลุ่มที่ออกมาเคลื่อน ไหวชุมนุมกดดันในเรื่องต่างๆ โดยอาจใช้กฎหมายมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจพิเศษไว้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าเป็น การเตือนเฉยๆ ว่ามันยังอยู่ก็เท่านั้น ตนไม่ได้บอกว่าจะใช้อะไรเมื่อใด



เมื่อถามถึงมาตรการรับมือของรัฐบาลต่อสถานการณ์วันที่ 6 พ.ย. ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะประชุมพิจารณาเรื่องการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธาน วุฒิสภาและนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายกฯกล่าวว่าประชุมกันไป ไม่ต้องเตรียมการอะไร เพราะเห็นว่าทุกคนร่วมมือดีแล้ว ทุกคนบอกว่าไม่ได้มากดดันรัฐบาล ดังนั้นก็ว่ากันไป แต่ใครทำก็ต้องรับผิดชอบเท่านั้น



วอนเลิกทะเลาะ-เคารพกติกา



เวลา 13.00 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าว ให้โอวาทกับคณะนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ฝึก สอน ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนบีชเกมส์ ครั้งที่ 4 ที่จ.ภูเก็ต ตอนหนึ่งว่า คนไทยเก่งทุกคน หากไม่พูดถึงเรื่องอื่นที่ไม่ใช่กีฬานั้นสู้กันตาย วันนี้สู้กันอยู่ทุกเวที แต่กีฬาเราไปสู้อีกแบบเพราะมีกรรมการตัดสินชัดเจน วันนี้รัฐบาลก็กำลังเล่นกีฬาอยู่เหมือนกัน มีกรรมการมาก ทั้งที่ตัดสินแล้วไม่เป็นที่น่าพอใจของคนดู ซึ่งมาจากทุกพวกทุกฝ่าย ดังนั้นต้องรวมจิตใจให้ได้และให้เป็นหน้าที่ของกรรมการ 



นายกฯกล่าวว่า ส่วนคนดูต้องไม่ลงไปชกต่อยกับเขาด้วย นักกีฬาเช่นกันทะเลาะกัน ไม่ได้อยู่แล้ว ต้องเชื่อมั่นในการตัดสินของกรรมการ เหมือนตนก็ต้องเชื่อมั่นในกระบวน การยุติธรรม ขอให้ทุกคนเป็นนักกีฬา เป็นเจ้าบ้านที่ดีกับชาวต่างชาติที่เข้าร่วมแข่งขันและพูดถึงประเทศชาติในทางที่ดี การเมืองต้องให้เป็นเรื่องของการเมือง การปฏิรูปก็เป็นเรื่องการปฏิรูป เราเคารพในกฎกติกาทุกอย่าง วันนี้พูดเรื่องกีฬา การแข่งขัน ท่องเที่ยว เรื่องความสุขดีกว่า เรื่องอื่นไม่ต้องไปพูด แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจก็อธิบายว่าเรามีความจำเป็น ทุกวันนี้โลกเขาเลิกทะเลาะกันหมดแล้ว ตอนนี้รัฐบาลเดินหน้าอยู่ทุกวัน แม้เป็นงานยากแต่ขอทำเต็มที่ในทุกมิติ



"มีอะไรจะถามผมหรือไม่ มีใครไม่เห็นด้วยหรือไม่ในสิ่งที่พูดมา ทุกคนเห็นด้วย ความจริงไม่ได้บังคับใคร แต่นิสัยผมเป็นอย่างนี้ เวลาอยู่กับลูกน้องก็จะถาม ถ้าไม่เห็นด้วยก็บอกมา ผมฟังได้หมดไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำ ขอให้ทุกฝ่ายรวมกันให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะปรองดองกับใคร" นายกฯกล่าว



ประชาชนเป็นกรรมการ



พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กรณีเปรียบรัฐบาลกำลังเล่นกีฬาและมีกรรมการตัดสินจำนวนมากว่า ทุกคนคาดหวังให้มีการปฏิรูปโดยเร็ว ซึ่งกรรมการคือประชาชนก็มีหลายพวกหลายฝ่าย จึงอยากให้กรรมการรวมเป็น กลุ่มเดียวกันแล้วดูภาพรวมว่าจะช่วยกันอย่างไร รวบรวมข้อเสนอติติงมา ถ้ามีหลายทางไปไหนไม่ได้สักทาง ทางนี้เป็นแบบนี้ ทางนี้ไม่เห็นด้วย ก็ต้องไปรวมกันแล้วส่งมาเพื่อให้มีความพอดี จะได้ทำงานได้ เหมือนกับการเห็นต่างก็ต้องรวมกันมาให้ได้ จะบอกว่าไปจำกัดความคิดคงไม่ใช่ แต่ต้องรวมกลุ่มมาให้ได้ ถ้ารวมกันไม่ได้แล้วจะปรองดองได้อย่างไร ไม่ได้อยู่ดี คนที่จะปรองดองไม่ใช่รัฐบาล แต่รัฐบาลเพียงอำนวยความสะดวก เปิดเวทีให้และไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงและข้อขัดแย้งขึ้นอีก แต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคนไปหาทางออกให้ได้



อย่าถามเลิกอัยการศึก 



เมื่อถามว่าจะพิจารณาทบทวนยกเลิกกฎอัยการศึกในจ.ภูเก็ต ระหว่างการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนบีชเกมส์ ครั้งที่ 4 วันที่ 14-23 พ.ย.นี้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่าไม่มี ไม่ได้พูด ยังไม่มีใครถามตน แม้แต่ต่างชาติ ก็ยังไม่มีมาถาม เราอย่าถามกันเองมากนักเดี๋ยวจะเป็นปัญหา



เมื่อถามว่าเทศกาลลอยกระทงนี้จะไปลอยทุกข์โศกกับครอบครัวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมไม่มีทั้งทุกข์ ทั้งโศก มีความสุขอย่างพอเพียงอยู่ในใจ ทุกอย่างอยู่ในใจอยู่แล้ว ที่สำคัญผมไม่ได้คาดหวังให้ตัวเองเท่าไร แต่คาดหวังให้คนไทยทั้งประเทศมีความสุข และถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ให้มีพระพลานามัยที่แข็งแรงด้วยเท่านั้น"



"ไก่อู"ชี้ม.44ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้



พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกระแสข่าวเตรียมใช้มาตรา 44 เรียกบุคคลให้มารายงานตัวว่า เรื่องนี้ต้องย้อนดูว่าความขัดแย้งในอดีตเกิดขึ้นจากอะไร วันนี้เริ่มมีความเคลื่อนไหว หากรัฐบาลและคสช.ปล่อย ต่อไปจะมีแรงขยับมากขึ้นและใครจะรับประกันว่าจะดึง สถานการณ์ที่ขัดแย้งให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติได้อีก ดังนั้น คสช.และรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับประชาชนและสื่อ รวมถึง ผู้ที่เคลื่อนไหวหรือเห็นต่าง ซึ่งต้องรับฟังข้อมูลเช่นกัน เชื่อว่าทุกคนหวังดีต่อบ้านเมืองเมื่อรับฟังแล้วคงให้ความร่วมมือ 



รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่ารัฐบาลต้องมีหลักในการดูแลสถานการณ์ หากคุยกันแล้วยังไม่รู้เรื่องก็ต้องบังคับใช้กฎหมายจากเบาไปหาหนัก แต่คาดว่าคงไม่ถึงขนาดนั้นเพราะสังคมเข้าใจว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไร คสช.และรัฐบาลกำลังทำอะไร แต่เมื่อพูดถึงมาตรา 44 สื่อก็ไปเพ่งเล็งโดยไม่ได้พูดถึงกระบวนการที่มาก่อน ซึ่งขณะนี้กฎหมายปกติและกฎอัยการศึกยังดูแลสถานการณ์ได้อยู่ 
       "นายกฯเปรยว่า ถ้าคุยแล้วไม่รู้เรื่อง และจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ก็ต้องทำ เพื่อรักษาสภาพให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ ส่วนวิธีพูดคุยนั้น คสช.จะพิจารณา หากเห็นว่ามีกลุ่มคนเคลื่อนไหวก็เชิญมาพูดคุยหรือโทรศัพท์พูดคุย เป็นไปโดยให้เกียรติเพราะเชื่อมั่นว่าแต่ละฝ่ายเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง น่าจะคุยกันรู้เรื่อง" พล.ต.สรรเสริญกล่าว 

ไม่มีบัญชีดำคนเคลื่อนไหว
     เมื่อถามว่า มีการขึ้นบัญชีดำบุคคลที่เตรียมจะเคลื่อนไหวไว้หรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่เคยเห็นบัญชีที่ว่า เมื่อถามว่าหากจะเรียกอดีตนักการเมืองที่เคลื่อนไหว อาทิ นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกปปส. หรือนายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยและแกนนำนปช. ใครจะพิจารณาเชิญตัวไปพูดคุย พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า คสช.มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและประเมินสถานการณ์ เช่น หากต้องการติดต่อกับบุคคลที่เคลื่อนไหวอาจโทรศัพท์พูดคุยกันและคงจะเข้าใจ ไม่ถึงขั้นต้องนำกฎหมายไปบังคับใช้ โดยเป็นหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบ และกลุ่มงานสามัคคีปรองดอง จะประสานข้อมูลกันว่าใครจะเป็นผู้ติดต่อประสานทำความเข้าใจ

'บิ๊กโด่ง'บังคับใช้กม.ตามขั้นตอน 
     ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาคลื่นใต้น้ำที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลว่า หากเป็นเรื่องทางความคิดยอมรับว่ายังมีอยู่ คงไม่สามารถห้ามความคิดได้ เป็นเรื่องของบุคคล แต่ทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตเราต้องเร่งสร้างความปรองดอง ขอร้องประชาชนทุกคนให้เวลารัฐบาลและคสช.ทำงานสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
      ที่กองดุริยางค์ทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. กล่าวกรณีนายกฯระบุจะใช้กฎหมายเข้มข้นดำเนินการกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวต้านรัฐบาลและคสช.ว่า มีบางคนไม่เข้าใจการทำงานที่ผ่านมาซึ่งรัฐบาลพยายามทำความเข้าใจ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนโรดแม็ป ทุกอย่างต้องดำเนินการตามรายละเอียดการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน สปช.ก็ต้องดำเนินการตามกรอบ ทุกคนสามารถส่งความคิดเห็นให้กรรมาธิการ (กมธ.) แต่ละคณะได้ ผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันขอให้เข้าใจการทำหน้าที่ของรัฐบาล ทหารก็เป็นกลไกหนึ่งต้องช่วยรัฐบาลดูแลให้เกิดความเรียบร้อย
     ส่วนโอกาสที่รัฐบาลจะดำเนินการตามมาตรา 44 พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า นายกฯเรียนให้ทราบไปแล้ว รัฐบาลต้องดำเนินการตามขั้นตอน ไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรงหรือเกิดปัญหา เชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็นปัญหากลับมาอีก ดังนั้น ต้องเดินไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น หากร่วมมือกันก็จะไม่เกิดปัญหา

ตั้งสปท.-สชป.ไม่ถูกต้อง
      เมื่อถามกรณีสนช.พิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม จะเป็นชนวนความขัดแย้งหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เป็นเรื่องนอกกรอบ จึงไม่อยากให้ความเห็น แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายและสิ่งที่ควรจะเป็น จะผิดหรือถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย จะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุผล
    เมื่อถามว่า กองทัพประเมินว่ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยยังดูแลสถานการณ์ได้หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ไม่น่ามีปัญหา เพราะสถานการณ์ยังไม่มีปัญหาอะไรมาก เพียงแต่มีคนเห็นต่างซึ่งเราพยายามทำความเข้าใจ จึงไม่หนักใจ อีกทั้งนายกฯ สั่งการให้ติดตามและดูแลสถานการณ์และตนดำเนินการตามนั้น หากมีคนไม่เข้าใจกองทัพจะพยายามพูดคุยไม่ให้เกิดความรุนแรง จะใช้ความเข้าใจเป็นหลัก 
    เมื่อถามว่า จะประกาศใช้กฎอัยการศึกจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า รัฐบาลกับคสช.จะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ
      เมื่อถามว่า ขณะนี้มี สปช.แล้ว แต่ยังมีการตั้งสถาบันปฏิรูปประเทศ (สปท.) กับสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.) จะเกิดปัญหาหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ความคิดเห็นที่มาจากภายนอกที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เรามี สปช.อยู่แล้วแต่ก็ไม่ได้ปิดกั้น หากมีข้อคิดเห็นอยากให้ส่งมาตามระบบ คิดว่าสปช.จะรับฟัง ไม่น่ามีปัญหา ทางที่ดีน่าจะดำเนินการตามกระบวนการที่เรากำหนดขึ้น ส่วนที่จัดตั้งขึ้นมาเองภายนอก พูดอะไรออกมาไม่มีสิ่งมา รองรับ อยากให้ส่งข้อคิดเห็นมา ถ้าไปพูดกันภายนอก ไปคนละทิศละทางก็ไม่เหมาะสม ขอความกรุณาให้ทุกฝ่ายเห็นใจรัฐบาล และร่วมมือกันทำให้อยู่ในกรอบ ทุกอย่างจะเรียบร้อย เพราะขณะนี้สถานการณ์สงบดีอยู่แล้ว ขอให้ช่วยกันต่อไป

'วิษณุ'ชี้แค่บอกว่ามี'กระบอง'
     เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้มาตรา 44 หากเกิดการชุมนุมจนวุ่นวายว่า นายกฯปรารภว่าหากเกิดเหตุไม่สงบขึ้นจะมีมาตรการอะไรรับมือได้บ้าง จึงมีการตอบว่ามีกฎหมายหลายฉบับและมีกฎอัยการศึก หรือหากถึงที่สุดจริงๆ ก็มีมาตรา 44 เป็นเพียงคำถามที่ต้องการคำตอบว่ามีอะไรรองรับ หรือไม่ ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ แต่ไม่มีการรายงานว่ามีการเคลื่อนไหว
      นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับมาตรา 44 หากต้องใช้ ขั้นตอนคือ คสช.ต้องประชุมและ มีมติให้ใช้ เป็นอำนาจของหัวหน้าคสช.ก่อนแจ้งให้ครม.และสนช.ทราบ โดยหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการได้ทั้งหมด ความเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะกลับมา เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าต้องเกิดเหตุที่กระทบต่อความมั่นคง ใช้เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดความปรองดอง แต่ตอนนี้ยังพูดไม่ถูกว่าจะนำมาใช้หรือไม่จนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ก็ต้องใช้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดก็ไม่ต้องใช้ เมื่อถามว่าเป็นการยกกระบองขึ้นมาปรามไว้ก่อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่ยก แค่ชี้ให้ดูว่านี่กระบอง มีกระบองอยู่ ยังไม่ได้ยกขึ้นมา

แจงตั้งคณะทำงานรับลูกหิน
      นายวิษณุ กล่าวกรณีเสนอให้ครม.และคสช.ตั้งคณะทำงานติดตามการยกร่างของรัฐธรรมนูญ ว่า การร่างรัฐธรรมนูญจากนี้ไปสปช.มีเวลา 60 วัน คือครบวันที่ 20 ธ.ค. 2557 จากนั้นต้องร่างให้เสร็จภายใน 120 วัน จะครบวันที่ 20 เม.ย. 2558 ในช่วงดังกล่าวอาจมีการรณรงค์ กดดัน ผลักดัน เสนอแนะไปที่กมธ.ยกร่าง ฉะนั้นรัฐบาลหรือคสช.ควรติดตามว่ากมธ.ต้องการข้อมูลหรือความสะดวก ความร่วมมือ หรืองบประมาณอย่างไรก็ต้องจัดให้ เมื่อยกร่างเสร็จต้องนำมาสอบถามครม.และคสช. เพื่อให้ส่งความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ดังนั้น หากไม่มีการติดตามตั้งแต่ต้น คงทำการบ้านไม่ถูก
      นายวิษณุ กล่าวว่า มีบางเรื่องที่รัฐบาลต้องออกกฎหมายรองรับระหว่างการยกร่าง เพราะ หากต้องการเลือกตั้งเร็วจะรอให้ยกร่างเสร็จคงไม่ทัน จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตาม เหมือนสปช.ตั้งกมธ.ติดตามการร่างรัฐธรรม นูญเช่นกัน จึงเสนอตั้งคณะทำงานติดตามขึ้นมาเป็นของคสช.และครม. มอบให้พล.อ. ประยุทธ์ กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและที่ปรึกษาคสช.ไปคิดรูปแบบ เท่าที่คุยกับพล.อ.ประวิตร อาจให้คณะที่ปรึกษาคสช.มาเป็นฐานในการติดตาม แล้วค่อยตั้งเพิ่มเข้าร่วมในคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นวาระเฉพาะกิจ คณะทำงานจะเป็นเวทีช่วยรับลูกหิน หากมีการโยนหินถามทางออกมาก็รับลูกหินแล้วบอกทางให้เขาไป

เชื่อมั่น'บวรศักดิ์'คนดี
     นายวิษณุ กล่าวถึงนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นำกมธ. สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระแก้วเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนปฏิบัติหน้าที่ว่า คงกลัวว่าจะเกิดความไม่มั่นใจ ต้องการให้เห็นว่ามีความจริงใจ ตนเชื่อมั่นในตัวนายบวรศักดิ์ เป็นคนดี ตั้งใจดีและประนีประนอม ไม่เผด็จการ และเวทีกมธ.นั้นต้องทำงานร่วมกัน รับชะตากรรมร่วมกัน จึงต้องทำให้ออกมาดูดีที่สุด การนั่งทำงานร่วมกัน 36 คนต้องดูทั้งซ้ายขวา ไม่มีใครได้ในสิ่งที่ต้องการทั้งหมด ส่วนที่มีข่าวยกร่างรัฐธรรมนูญไว้รอล่วงหน้ายืนยันไม่เป็นความจริง ไม่เคยทำไว้ก่อนและไม่มีใครคิดทำด้วย การร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานของคนทั้งประเทศ ทุกคนมีส่วนร่วมได้ 
      ส่วนที่วิจารณ์ว่ากมธ.ยกร่างฯอาจร่างรัฐ ธรรมนูญเพื่อตีกันพ.ต.ท.ทักษิณ และน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยไม่ให้กลับมาเล่นการเมืองได้นายวิษณุกล่าวว่า อย่าตีตนไปก่อนไข้ พูดตรงๆ โอกาสเกิดยาก เพราะอยู่ท่ามกลางสายตาของคนในสังคม ตนไม่เชื่อว่าจะมีใครตั้งใจหรือตั้งธงมาเพราะยังไม่เห็นมีสัญญาณ 
     เมื่อถามว่า ทำไมไม่เสนอให้เขียนด้วยว่าประกาศกฎอัยการศึกได้แต่ห้ามปฏิวัติยึดอำนาจ นายวิษณุกล่าวว่า การห้ามยึดอำนาจนั้นเขียนห้ามไว้ได้ แต่เมื่อถึงเวลายึดจริง ข้อที่ห้ามนั้นจะเป็นข้อที่ไปก่อนเพื่อน แต่ควรมาป้องกันไม่ให้เกิดดีกว่าไปเขียนห้ามไว้ ตนไม่ห่วงว่าระหว่างการร่างจะเกิดเหตุวุ่นวายเพราะ ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไร แต่เมื่อเริ่มร่างไปแล้วและถึงจุดหนึ่ง มีข้อเสนอที่ไปสะกิดทำให้หลายคนไม่สบายใจ โอกาสจะเกิดปฏิกิริยานั้นคงมี 

กมธ.พ่อตาลูกเขยไม่มีปัญหา 
      นายวิษณุ กล่าวว่า กรอบการร่างรัฐธรรม นูญที่วางไว้คือ ร่างเสร็จเดือนส.ค.-ก.ย.-ต.ค. 2558 และน่าจะทูลเกล้าทูลกระหม่อมก่อนประกาศใช้ได้เลย ส่วนการเลือกตั้งต้องมีเวลาออกกฎหมายลูก 2-3 ฉบับ อาทิ กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายกกต. กฎหมายพรรคการ เมือง คงใช้เวลาอีก 2 เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แล้วปล่อยให้หาเสียงเลือกตั้ง คาด ว่าจะเลือกตั้งได้ต้นปี 2559 หรือก่อนเช็งเม้ง แต่ถ้าเลยจากนั้นก็ไปช่วงไหว้พระจันทร์
      เมื่อถามถึงการวิจารณ์ว่าในกมธ.ยกร่างฯอาจไม่เหมาะสมเพราะมีพ่อตากับลูกเขย นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เห็นเป็นอะไร ก็รู้อยู่ มาคนละทิศคนละความคิด พี่น้องกันบางทียังมีความเห็นไม่ตรงกัน และเขาไม่ได้มาตั้งแก๊งทำอะไร แต่มาโดยประสบการณ์ที่ต่างกัน ไม่เป็นปัญหา ถ้านับไปนับมาก็ญาติกันทั้งนั้น

ขอร้องอย่าตั้งสมญารธน. 
     เมื่อถามว่าจะเสนอแนะเรื่องการยุบองค์กรอิสระหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่กมธ.จะไปคิดกัน เราแค่สะกิดไว้แล้วว่าช่วยคิด กลัวเขาจะไม่คิด เพียงสะกิดว่าช่วยคิดหน่อย ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างไม่จำเป็นต้องมาประชุมหารือกับครม.และคสช. ไม่เช่นนั้นจะเป็นการแทรกแซงการทำงาน แต่ขอความเห็นจากครม.และคสช.ได้ เหมือนที่เขาจะทำอยู่คือการคุยกับองค์กรอิสระ พรรคการเมือง บุคคลทั่วไป
      นายวิษณุ กล่าวว่า ข้อเสนอให้ลงประชา มติถ้าถึงเวลาแล้วต้องลงก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่ไม่ได้บังคับเพราะไม่แน่ใจว่าได้ประโยชน์ ตน คิดว่ากระบวนการมีส่วนร่วมร่าง สำคัญกว่าการทำประชามติ ส่วนที่ให้ฉายารัฐธรรมนูญฉบับที่จะยกร่างว่า"ตาบอดสี"นั้น นายวิษณุกล่าวว่า "เดี๋ยวพวกคุณไปเอาสีออกดู เพราะเป็นฉบับที่ไม่มีสี มีแต่ศักดิ์คือ บวรศักดิ์เขา ยังไม่ทันร่างเลยก็ไปว่าเขา ผมขอร้องอย่าเพิ่งตั้งสมญา ขอให้ร่างเสร็จก่อนค่อยว่ากัน อะไรที่เริ่มด้วยอัปมงคล มันก็ไม่เป็นมงคล คิดให้ดีไว้แล้วช่วยให้มันออกมาดี เพราะเมื่อออกมาแล้วไม่ชอบเราต้องทนอยู่กับมัน"

ยันนายกฯ ไม่ห้ามสื่อ'พาดหัว'
      เมื่อถามถึงการวิจารณ์การแต่งตั้งนายวิรัช ชินวินิจกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ทั้งที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) อาจขัดระเบียบ นายวิษณุกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องของฝ่ายก.ต. แต่ใน ทางกฎหมายไม่มีปัญหาหรือผลกระทบ หากก.ต.มีความเห็นว่าไม่เห็นชอบในการให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว สามารถเปลี่ยนตัวได้
     ส่วนที่นายกฯปรารภถึงคำพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ อาทิ ห้ามใช้คำว่า โว ฟุ้ง ปัด ตีปี๊บ ฮึ่ม นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯไม่ได้ พูดว่าห้าม เป็นเพียงปรารภในเชิงบ่นใน วาระสนทนาธรรมและปรารภ ไม่ใช่มติครม. นายกฯ บอกว่าบางทีให้สัมภาษณ์ไปก็ใช้ศัพท์แสงที่หวือหวา ใช้คำนั้นคำนี้ ซึ่งบางทีในแง่หนึ่งพอออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ภาษาที่ออกมาก็ส่อสัญญาณ ปลุกให้เกิดความรู้สึก

ชี้ปิดกั้นสื่อ-ปชต.ไม่เกิด 
       นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำประเทศ ไทย กล่าวกรณีนายกฯ ไม่อยากให้สื่อพาดหัวด้วยคำว่า โว ฟุ้ง ปัด ฮึ่ม ตีปี๊บ ว่า การที่ คสช.จะวางรากฐานประเทศไทยไปสู่ประชาธิป ไตย ควรให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูป ส่วนตัวมองว่าการห้ามปรามให้สื่อเลิกใช้คำพาดหัวต่างๆ นั้น ไม่ได้เป็นการบอกกล่าวแต่เป็นคำสั่งห้าม สะท้อนให้เห็นว่าหนทางการเดินไปสู่ประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้น ถือเป็นการปิดกั้นสื่อ เพราะเป็นการขีดเส้นให้สื่อเสนอข่าวตามคสช.กำหนดไว้ ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ เมื่อมีการห้ามสื่อเช่นนี้ ก็จะทำให้สื่อไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารประเทศต้องเปิดใจรับการตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างให้ได้ด้วย
      นายสุนัย กล่าวว่า กรณีจะมีการใช้มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น สำหรับตนเห็นว่าไม่เหมาะสม ทางฮิวแมนไรต์วอตช์ยืนยันตามหลักการที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกมาตั้งแต่แรก ซึ่งที่ผ่านมาเราทำจดหมายถึงคสช.แล้วว่าควรยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น มาตรา 44 ถือเป็นการวัดใจผู้มีอำนาจว่าจะใช้อำนาจที่มีอยู่หรือไม่ ถ้าเลือกที่จะใช้ก็เป็นการตอกย้ำว่าไม่ได้มีการวางรากฐานการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ยกเทียบประเทศเสรี
     น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า การพูดเป็นข้อห้ามลอยๆ เพื่อขอความร่วมมือ โดยไม่มีกฎหมายหรือคำสั่งรองรับ ก็ขึ้นอยู่กับสื่อว่าจะให้ความร่วมมือกับ คสช.หรือไม่ แต่อยากบอกไว้ว่าในประเทศเสรี ไม่มีการห้ามสื่อมวลชนในการใช้คำประเภทนี้ 
      น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า การใช้คำของสื่อ มวลชนนั้นหากไม่ใช่คำหยาบคายก็น่าจะใช้ได้ ในฐานะรัฐบาลต้องถูกตรวจสอบและวิจารณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางบวกและลบ และคนที่จะตัดสินว่าสื่อใช้คำไหนแล้วคนอ่านรู้สึกอย่างไรคือคนอ่าน รัฐไม่ได้มีหน้าที่มาจำกัดการใช้คำ ยกเว้นเป็นคำหยาบ ด่าทอ หมิ่นประมาท เสียดสี ลามก เหยียดหยาม ดูหมิ่น ลบหลู่ หรือสร้างความเกลียดชัง การวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้คำที่กล่าวมาน่าจะไม่ เข้าข่าย สื่อต้องยืนกรานและแน่วแน่ที่จะใช้คำเหล่านั้น ถ้าไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลที่เป็นข่าว ยืนยันหากเป็นภาษาที่ใช้กันตามสมัยนิยม ไม่ได้หยาบคายก็สามารถใช้คำใดก็ได้ 

จำกัดสิทธิเสรีภาพ-ขวางปฏิรูป
      นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเตอร์ เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน กล่าวว่า การให้ความเห็นห้ามสื่อใช้คำที่มีความหมายเชิงลบ แง่หนึ่งนั้นเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ เพียงแค่ไม่เห็นด้วยและไม่ชอบกับคำเหล่านั้น ถึงกับห้ามสื่อรายงานข่าว ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติของสื่อที่จะแสดงความคิดเห็น ไม่มีความจำเป็นต้องมาห้ามเลย 
      นายยิ่งชีพ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่คณะรัฐประหารทำเพื่อควบคุมบุคคลที่ไม่เห็นด้วยและคิดต่าง ก่อนหน้านี้มีการจับกุม เรียกบุคคลมารายงานตัว รวมทั้งห้ามจัดกิจกรรม นอกจากนี้ยังออกประกาศคสช.ทั้งฉบับที่ 97 และ 103 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ พยายามควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนให้เป็นไปในทิศทางที่คสช.ต้องการ และพยายามตีกรอบควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน การกระทำดังกล่าวจะทำให้การปฏิรูปไม่มีทางประสบความสำเร็จ หากยังไม่ให้สังคมและคนที่คิดต่างเข้าไปมีส่วนร่วม สิ่งที่ คสช.ต้องทำคือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

พูดเรื่องม.44-ไม่ดีกับรัฐบาล 
      น.ส.เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เป็น การคุกคามสื่อ ที่ผ่านมาคสช.และรัฐบาลกระทำสวนทางกับการทำงานตลอด พูดถึงแนวทางการปฏิรูปที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแต่เมื่อแสดงความคิดเห็นออกไป กลับรับไม่ได้ หากต้องการให้ประเทศเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก็ควรรับฟัง เรื่องเหล่านี้ให้ได้ ที่สำคัญคนที่เป็นบุคคลสาธารณะต้องยอมรับการวิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นให้ได้
      น.ส.เยาวลักษณ์ กล่าวกรณีมาตรา 44 ว่า ที่จริงแล้วไม่ควรมีมาตรา 44 ตั้งแต่แรก เพราะเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเหนือตุลาการ นิติบัญญัติ และบริหาร และเป็นกฎหมายอีกฉบับที่ควบคู่กับการประกาศใช้กฎอัยการศึก ที่รัฐบาลกล่าวเช่นนี้สร้างบรรยากาศให้ประชาชนหวาดกลัว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลและคสช.เอง 

ทนายความจี้หยุดคุกคามเสรีภาพ
     ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการคุกคามการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ระบุว่าหลัง 12 องค์กรภาคประชาสังคมและบุคคล 17 ราย ออกแถลงการณ์ไม่ร่วมปฏิรูปกับคสช.เมื่อ วันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น ทางศูนย์ได้รับข้อมูลวันที่ 4 พ.ย. ว่าบุคคลที่ร่วมลงชื่อได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์ให้ไปพบเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ บางกรณีทหารพร้อมฝ่ายปกครองและตำรวจนำกำลังพร้อมอาวุธไปที่บ้านเพื่อเชิญตัวไปให้ข้อมูล มีเพียง 2 ราย ที่ไปพบเจ้าหน้าที่ทหารแล้วที่ค่ายประจักษ์ จ.อุดรธานี เจ้าหน้าที่สอบถามถึงสาเหตุที่ออกแถลงการณ์ พร้อมให้ลงนามว่าหากเจ้าหน้าที่เรียกไปพบเมื่อใดต้องไปพบทันที ส่วนราย อื่นๆ มีนัดในวันถัดไปในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น มหาสารคาม ขอนแก่น 
      ศูนย์ทนายความฯ ห่วงกังวล ดังนี้ 1.การออกแถลงการณ์เป็นเสรีภาพการแสดงออก การเรียกตัวไปพบสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนและคุกคามต่อเสรีภาพโดยตรง 2.แม้ปัจจุบันจะประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่การใช้อำนาจมีเงื่อนไขจำกัดเพียงกรณีมีเหตุอันควรสงสัยบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือ ฝ่าฝืนพ.ร.บ.กฎอัยการศึก หรือต่อคำสั่ง เจ้าหน้าที่ 3.พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตอกย้ำแถลงการณ์ 12 องค์กรว่าภายใต้รัฐประหารประชาชนไม่อาจตรวจสอบนโยบายรัฐ กฎหมายหรือโครงการพัฒนาใดๆ ได้ แม้การวิจารณ์โดยสุจริต จึงขอเรียกร้องให้ยุติการคุกคาม และยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และเคารพนิติรัฐในการปกครองประเทศ 
      สำหรับ ศูนย์ทนายความฯ เป็นการรวมตัวของนักกฎหมายและทนายความหลังคสช. เรียกบุคคลเข้ารายงานตัว เพื่อเผยแพร่ความรู้ ช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบ

กมธ.ยกร่างไหว้พระแก้ว
     เวลา 07.00 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกมธ.รวม 30 คน เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว และสักการะศาลหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ
     นายบวรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า นำกมธ.ยกร่างปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม เป็นกลาง ปราศจากอคติ จงรักภักดี ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยึดประโยชน์ของชาติและประชาชนสูงสุด คาดหวังว่าความสามัคคีของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกมธ.ยกร่างจะร่วมยกร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน และการแก้ปัญหาความของบ้านเมืองให้ยุติลงได้ ขอฝากถึงประชาชนให้ส่งความเห็นมายังกมธ.ยกร่างได้ ผ่านกมธ.การมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะอนุกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน รวมถึงทุกพรรค

ตั้งรองปธ.-ที่ปรึกษา-เลขาฯ
     ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายบวรศักดิ์ ประชุมกมธ.ยกร่างอย่างไม่เป็นทางการ ขาดเพียง 2 คน คือ นายจรัส สุวรรณมาลา และน.ส.สมสุข บุญญะบัญชา ที่ติดภารกิจไปต่างประเทศ การประชุมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ของกมธ. ละลายพฤติกรรม มีอาจารย์จากภาควิชาสันทนาการ คณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้นำทำกิจกรรม 
     หลังกินมื้อกลางวันร่วมกันที่สโมสรรัฐสภา ช่วงบ่ายกมธ.ยกร่างประชุมร่วมกันอีกครั้ง โดยเวลา 17.00 น. นายบวรศักดิ์แถลงหลังประชุมว่า ที่ประชุมมีฉันทามติ 2 เรื่อง 1.แบ่งงานในกมธ. โดยมีรองประธานกมธ. 6 คน เรียงตามลำดับอาวุโส ดังนี้ นายกระแส ชนะวงศ์ นายมานิจ สุขสมจิตร นายสุจิต บุญบงการ นางนรีวรรณ จินตกานนท์ นายปรีชา วัชราภัย และนายชูชัย ศุภวงศ์ ที่ปรึกษา กมธ.ประกอบด้วย นายประสพสุข บุญเดช เป็นประธาน นายจรูญ อินทจาร เป็นรองประธาน และพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นที่ปรึกษา เลขานุการกมธ. มี 2 คน คือ นายดิสทัต โหตระกิตย์ กับนางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ และมีโฆษก 6 คน คือ พล.อ.เลิศรัตน์ นายคำนูญ สิทธิสมาน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว นายวุฒิสาร ตันไชย พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ และนายปกรณ์ ปรียากร 

ตั้งอนุกมธ.3 ชุด 
    2.กำหนดแนวทางการทำงาน โดยมีอนุกมธ. 2 ส่วน คือ 1.อนุกมธ.ว่าด้วยกระบวน การทำงาน แยกเป็น 3 คณะ ดังนี้ อนุกมธ.บันทึกเจตนารมณ์และจัดทำจดหมายเหตุ มีนายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นประธาน อนุกมธ. การมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน นางถวิลวดี บุรีกุล เป็นประธาน และอนุกมธ.ประสานเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสปช.และองค์กรต่างๆ ซึ่งมีพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธาน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนด ต้องไม่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับสปช. 2.อนุกมธ.ว่าด้วยเนื้อหาของการทำงาน ทั้งนี้ จะนำรายชื่อและข้อเสนอทั้งหมดเข้าที่ประชุมของกมธ.ยกร่างฯ วันที่ 6 พ.ย. เพื่อมีมติเห็นชอบอย่างเป็นทางการ ที่ประชุมยังพูดคุยเรื่องกรอบเวลาการประชุม และการให้สื่อเข้า รับฟัง รวมถึงการพิจารณาว่าจะดึงคู่ขัดแย้งเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ
      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า นับจากวันนี้ สปช.ยังเหลือเวลาจัดการความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อกมธ.ยกร่างฯ 44 วัน จะสิ้นสุดวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นกรอบเวลา 60 วันตามรัฐธรรมนูญ และหลังจากนั้นจะเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญทันที แต่ระหว่างนี้กมธ.ยกร่างจะเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นคู่ขนานกับ สปช.ด้วย 

บางเรื่องต้องประชุมลับ
      เมื่อถามว่า ให้สื่อเข้ารับฟังการประชุมได้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ตนไม่สนใจที่สื่อจะนั่งฟังตลอดเวลาเพราะไม่มีอะไรปิดบัง ถ้าจะให้ถ่ายทอดสดยังได้ แต่ตั้งแต่ปี 2548-2557 มีความขัดแย้งยาวนาน 9 ปี มีสี มีจุดยืน ถ้าจะทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นแบบตาบอดสีเหมือนที่นายวิษณุว่าไว้ ก็แปลว่าบางทีต้องจับเข่าคุย ให้ทิ้งจุดยืนเดิมแล้วดูอนาคต ตาบอดสีคือไม่เห็นสีเหลือง สีแดง สีธงชาติ หรือสีอะไรทั้งนั้น ถ้าสื่ออยู่หรือถ่ายทอด บทบาทที่ยึดโยงกับอดีตจะทำให้เขาต้องถูกดึงไปสู่อดีต ถ้าเราอยากผูกกับอดีต คนที่ เสื้อเหลืองแล้วต้องมาแสดงจุดยืนเหลืองก็ถ่ายทอด แต่ถ้าเราอยากดูอนาคตก็อย่าไปผูกกับเสื้อสีในอดีต สื่อต้องยอมรับว่ามันพูดไม่ได้ในการถ่ายทอด 
      "ขอร้องสื่อถ้าจะเมตตาและเข้าใจ อะไรที่เปิดเผยได้เราจะเปิด ไม่ต้องห่วง แต่อะไรที่เปิดไม่ได้ ต้องคุยกันให้รู้ดำรู้แดงก็ต้องพูดคุยกันในห้อง ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของประธาน ไม่รู้กมธ.จะเห็นด้วยหรือไม่ ให้รู้ไว้ด้วยว่าผมและกมธ.ทราบว่าการร่างรัฐธรรม นูญฉบับนี้ไม่ง่าย เพราะสื่อหลายสื่อเริ่มจากการมีทัศนคติไม่เป็นบวกกับกมธ. เราสำนึกและตระหนักดี อะไรที่ทำให้ความรู้สึกดีขึ้นอยากทำทั้งสิ้น แต่ถ้าทำให้ความรู้สึกดีขึ้นอย่างเดียว แต่เนื้อหาไม่ได้เรื่องเลยผมก็เลือกเนื้อหา" นายบวรศักดิ์กล่าว

'เจษฎ์'ไม่ตอบ'ลูกเขย-พ่อตา'
     นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงข่าวระบุมีความสัมพันธ์กับนพ.กระแส ชนะวงศ์ กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะลูกเขย จนได้รับเลือกเป็นกมธ.ยกร่างฯว่า ในประเด็นความสัมพันธ์ตนไม่ขอตอบ แต่การเข้ามาเป็นกมธ.ยกร่างถือเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม และการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นการเข้าไปทำงาน ไม่ใช่การตั้งบริษัทแล้วเอาพรรคพวกเข้าไปแสวงหาประโยชน์ คงไม่เป็นแบบนั้น
     พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สมาชิกสปช. ในฐานะกมธ.ยกร่างฯ ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ได้กำหนดให้ทำประชามติ เท่าที่หารือกับสปช.สายจังหวัด เห็นร่วมกันว่าจะจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนทั้ง 77 จังหวัด เพื่อสร้างการยึดโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และลดคำครหาว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมถึงการแก้ปัญหาของประเทศเป็นแบบบนลงล่าง หรือบนหอคอยงาช้าง ส่วนรูปแบบหลักจะใช้กลไกของกมธ.วิสามัญประจำสปช. ทั้ง 18 คณะ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดดำเนินการ การจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนในภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา และทุกฝ่ายยอมรับได้ 

กมธ.ยกร่างถกทางการ6พ.ย.
     นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสปช. ออกหนังสือเชิญกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คน ประชุมวันที่ 6 พ.ย. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 มีวาระเลือกรองประธานกมธ. และตำแหน่งต่างๆ รวมถึงวางกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการนัดแรกหลังประกาศรายชื่อกมธ.ยกร่างฯ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา

เร่งเคาะชื่อกมธ.18คณะ
      เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุม กมธ.สามัญสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในกมธ.วิสามัญประจำสปช. 18 คณะ นัดแรกเพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ ในกมธ.และกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง ที่ประชุมมีมติเลือก น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 เป็นประธานกมธ. 
      จากนั้นเวลา 17.30 น. นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โฆษก กมธ. เผยว่า การประชุมยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากบางคณะมีผู้สมัครเข้ามามาก แต่บางคณะมีผู้สมัครน้อย แต่ละคณะจะมีกมธ. 13-27 คน กมธ.จึงต้องจัดคนลงให้เหมาะสม สำหรับคนนอกที่จะให้เข้ามาเป็นกมธ.แต่ละคณะจะมี 1 ใน 4 หรือ 6 คน โดยจะพิจารณาหลังจากกมธ.แต่ละคณะ ประชุมเพื่อเลือกประธาน รองประธาน เลขาฯและโฆษกแล้ว อย่างไรก็ตาม รายชื่อกมธ.ทั้ง 18 คณะต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 5 พ.ย. และวันที่ 6 พ.ย.จะเรียกประชุมช่วงบ่ายอีกครั้ง

เปิดปฏิทินยกร่างรธน.
      สำหรับ ปฏิทินการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ ที่สำคัญ มีดังนี้ ม.ค.-เม.ย. 2558 เป็นระยะเวลาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 17 เม.ย.2558 เป็นวันสุดท้ายที่กมธ.ยกร่างฯ ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จ และเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อประธานสปช. ครม. และคสช. วันที่ 26 เม.ย.2558 เป็นวันสุดท้ายที่สปช. ต้องพิจารณาให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ 
    วันที่ 16 พ.ค.2558 วันสุดท้ายที่ครม. คสช. สามารถเสนอความเห็นหรือยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วันที่ 25 พ.ค.2558 วันสุดท้ายที่ สปช.ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญต่อประธานกมธ.ยกร่าง
     วันที่ 23 ก.ค.58 วันสุดท้ายที่กมธ.ยกร่างฯ ต้องพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้เสร็จและเสนอ สปช. เพื่อพิจารณา วันที่ 6 ส.ค. 58 วันสุดท้ายที่ สปช. มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 37 วรรคสองกำหนด และวันที่ 4 ก.ย.58 เป็นวันสุดท้ายที่ประธานสปช. ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ตามมาตรา 32 วรรคสองกำหนด

พท.ยื่นค้านสนช.ถกถอด'ปู'
     เวลา 13.15 น. ที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย นายเอนก คำชุ่ม และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีต นายกฯ ยื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. คัดค้านการพิจารณาสำนวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการประชุมสนช.นัดพิเศษวันที่ 12 พ.ย. นี้ นางวรารัตน์ อติแพทย์ รองเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้รับเรื่อง
      นายเอนก กล่าวว่า ทีมกฎหมายพรรคคัดค้านคำสั่งประธานสนช.ที่สั่งให้รับสำนวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไว้พิจารณา ด้วยการนำข้อบังคับการประชุมสนช. พ.ศ. 2557 หมวดที่ 10 ว่าด้วยการถอดถอน มาบังคับใช้ในการประชุมดังกล่าว เนื่องด้วยเหตุผล 7 ข้อ ตามที่เคยแถลงไว้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีส่วนใดให้อำนาจ สนช.ถอดถอน ทีมกฎหมายพรรคเห็นว่าการร่างข้อบังคับสนช.โดยเฉพาะหมวดถอดถอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยากให้ สนช.รับฟังความเห็นแย้งไว้พิจารณาบ้างเพื่อให้การดำเนินการยุติธรรม เพราะตามสำนวนชี้มูลความผิดโดยอ้างพ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ยังมีส่วนคาบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกเลิกไปแล้ว 
      นายเอนก กล่าวว่า ขอให้ สนช.เลื่อนการประชุมนัดพิเศษวันที่ 12 พ.ย. ออกไปก่อน เพราะตามกระบวนการทางกฎหมายหากจะถอดถอน สนช.ต้องแจ้งเอกสารสำนวนถอดถอนให้สมาชิกสนช. ป.ป.ช.และผู้ถูก ชี้มูลรับทราบด้วย แต่ถึงขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และทีมทนาย ยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว ทีมทนายต้องการเอกสารการชี้มูลพร้อมตรวจสอบรายละเอียดสำนวนก่อนว่า ป.ป.ช.ปรับเปลี่ยนเนื้อหาหรือไม่ ทีมทนายจะได้ทำหนังสือคัดค้านสำนวนถอดถอนได้อย่างรอบ คอบรัดกุม
      "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังรู้สึกไม่สบายใจที่จะ ถูกพิจารณาถอดถอน เนื่องจากจะนำไปสู่การจำกัดสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค หากถูกชี้มูลความผิด ต้องถูกตัดสิทธิทางการ เมือง 5 ปี ยืนยันน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เคยคิดประวิงเวลา"

'บิ๊กป๊อก'ไม่เกี่ยวบ.จัดงานคืนสุข
      ที่กรมประชาสัมพันธ์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวเข้าไปเกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทพฤกษาพรรณพัฒนา จำกัด ซึ่งรับจัดอีเวนต์งานคืนความสุขว่า เมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ตนก็อยากทำธุรกิจที่พอมีความรู้ คือ ด้านเรียลเอสเตต ซึ่งในกลุ่มเพื่อนสนิทร่วมกันลงทุนเปิดบริษัทแต่ตนไม่ได้ร่วมหุ้นด้วย เพราะไม่มีเงินไปร่วมทุน แต่เข้าไปเป็นบอร์ดของบริษัทดังกล่าว โดยรับอาสาดูแลเรื่องก่อสร้างและการก่อสร้าง แต่เรื่องการตลาดหรือการระดมทุนต่างๆ ตนไม่ได้ยุ่ง ขณะที่ดำเนินโครงการก็มีส่วนที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับสถาบันการเงิน ตนมาทราบทีหลังซึ่งได้เซ็นเอกสารค้ำประกันไปแล้ว แต่ตนไม่รู้จักกับนายชาญชัย พาณิชยารมณ์ ซึ่งเขามีบริษัทอื่น หรือรับงานอื่นอีกหรือไม่ ตนไม่ทราบ ไม่เกี่ยวข้อง ตนรู้จักเพียงผู้ถือหุ้นรายอื่นซึ่งเป็นคน จ.นครปฐม เป็นหลัก
     พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวว่าต้องมาเป็นรัฐมนตรีก็ได้ลาออกจากทุกบริษัท ยกเว้นองค์กรสาธารณะ เช่น มูลนิธิที่ไม่ได้ลาออก ส่วนบริษัทที่ประกอบการเพื่อแสวงหาผลกำไรตนลาออกหมดและแจ้งต่อป.ป.ช. แล้ว และยังขอถอนตัวออกจากการเป็นผู้ค้ำประกันแต่สถาบันการเงินยังไม่ได้ถอดชื่อตนออก ซึ่งเรียนข้อมูลส่วนนี้ต่อป.ป.ช.แล้ว ไป ดูได้ ไม่ต้องไปหาที่อื่นเลย เป็นสิ่งดีที่มีคนดูแลนักการเมือง แต่ถ้าจะให้ดีจริงๆ ต้องนำเสนอข่าวให้เห็นถึงความเป็นจริง ถ้าทุจริตมัวหมองก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ถ้าไม่มีก็ต้องให้ความเป็นธรรม หากตรวจสอบพบว่าตนมีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ดำเนินคดีตามกฎหมายได้
      เมื่อถามว่า ข่าวที่ออกมาเป็นการลดความน่าเชื่อถือหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า "ไม่เป็นไร ถ้าสื่อลงข่าวว่าเป็นอย่างนี้แล้วประชาชนยังไม่เชื่อถือก็แสดงว่าผมไม่ค่อยมีความชอบธรรม หากวันใดถึงขั้นอยู่ไปแล้วรัฐบาลจะเสีย งานจะทำไม่ได้ ผมก็จะลาออก ไม่ยึดติดอยู่แล้ว"

สนช.จ่อคว่ำวาระถอด'2ปธ.'
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสนช.วันที่ 6 พ.ย. มีวาระพิจารณาว่าจะรับสำนวนถอด ถอนนายสมศักดิ์ กับนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา จากกรณีแก้ไขรัฐธรรม นูญ ปี 2550 ประเด็นที่มาของส.ว.ไว้พิจารณาหรือไม่ หลังที่ประชุมมีมติเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน เนื่องจากสมาชิกสนช.หลายคนยังไม่ได้ศึกษาสำนวนการถอดถอน ทันทีที่เข้าสู่วาระดังกล่าว นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.ในฐานะเลขานุการวิป สนช.จะเสนอญัตติให้เป็นการประชุมและลงคะแนนลับ เนื่องจากการพิจารณาจะพูดถึงข้อกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะต้องพาดพิงถึงบุคคลภายนอก ทั้งยังห่วงกังวลถึงมวลชนทั้ง 2 ฝ่าย หากได้รับฟังอาจเกิดความสับสนได้
      รายงานข่าวแจ้งว่า การพิจารณาในวันที่ 6 พ.ย. สนช.อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. กับสนช.สายนักกฎหมายบางส่วน จะยืนยันความเห็นเดิมว่าสนช.มีอำนาจพิจารณาสำนวนดังกล่าว แต่สนช.สายทหารและสนช.สายพลเรือนบางส่วน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมจะลงมติไม่รับทั้ง 2 สำนวนไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว สนช.จึงไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าว พร้อมกันนี้จะใช้หลักรัฐศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา ซึ่งจะคำนึงถึงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ตามโรดแม็ปที่คสช.ประกาศไว้ด้วย ดังนั้น จึงค่อนแน่ชัดว่า เสียงส่วนใหญ่จะลงคะแนนไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา

จี้ปธ.สนช.นำเรื่องเมธีเข้าพิจารณา
      มีรายงานข่าวจากสนช.เผยว่า ความคืบหน้ากรณีที่นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา มีหนังสือถึงประธานสนช. พร้อมแนบเรื่องที่มีทนายความ 18 คน ร้องคัดค้านการแต่งตั้งนายเมธี ครองแก้ว เป็นกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ ตามที่สนช.ได้มีมติไปแล้ว โดยค้านว่านายเมธีถูกฟ้องร้องในคดีอาญา น่าจะเข้าข่ายขัดคุณสมบัติ และผู้ร้องยังอ้างว่า นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการคัดเลือก มีความสนิทสนมกับนายเมธีนั้น หลังจากวิปสนช.ได้ประชุมเรื่องนี้เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งนายกล้านรงค์ได้เข้าชี้แจงข้อมูลต่างๆ ชี้ว่าเนื่องจากคดีที่ฟ้องร้องนายเมธีเป็นการถูกฟ้องจากการปฏิบัติหน้าที่ป.ป.ช.และศาลยังไม่ประทับรับฟ้องจึงยังไม่มีผล ทำให้วิปสนช.เห็นว่า ยังไม่อาจชี้ได้ว่านายเมธีขัดคุณสมบัติตามข้อกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันได้หยิบยกเรื่องขัดจริยธรรมมาพิจารณา แต่พบว่าสนช.ยังไม่ได้ร่างข้อบังคับจริยธรรม จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
      ข่าวแจ้งว่าสมาชิกสนช.หลายรายเห็นว่า เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่ จึงเตรียมเรียกร้องให้ประธานสนช.นำเรื่องนี้เข้าเป็นวาระด่วนในการประชุมสนช. เพื่อให้สมาชิกสนช.ทั้งหมดได้ร่วมพิจารณา เนื่องจากมีส่วนร่วมโดยตรงในการลงมติเลือกนายเมธี จึงเห็นว่าควรให้ที่ประชุมสนช.ทั้งหมดได้รับทราบข้อเท็จจริง และหาทางออกร่วมกันต่อไป นอกจากนี้จะได้หารือเรื่องข้อบังคับจริยธรรม เนื่องจากเห็นว่าแม้สนช.ยังไม่มีข้อบังคับ แต่ยังมีประมวลจริยธรรมส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง น่าจะนำมาพิจารณาได้

ทบ.ย้าย 251 ผู้พัน-เด้งหลาน'ปู'
      วันที่ 5 พ.ย. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. ลงนามคำสั่งกองทัพบกที่ 377/2557 คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับผู้บังคับกองพัน 251 นาย ซึ่งมีการทบทวนหลายรอบเนื่องจากถูกวิจารณ์ตั้งนายทหารใกล้ชิดผู้ใหญ่ ไปดำรงตำแหน่งสำคัญ จนมีข่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ 
     โดยมีการปรับย้ายนายทหารคุมกำลังทั้งเหล่า ราบ ม้า ปืน สื่อสาร รบพิเศษทั่วประเทศ ตำแหน่งสำคัญ เช่น พ.ท.กุลบุตร ปัจฉิม ผช.ฝยก.ทภ. 1 นายทหารที่ทำงานกับพล.อ.อุดมเดช เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ขยับเป็น ผบ.ร.11 พัน. 3 รอ. เช่นเดียวกับพ.ท.สุรพร สุธรานนท์ ผช.นฝป.ทภ.1 ที่ถูกส่งไปเป็น ผบ.ป.พัน. 9 พ.ท.ณัฐยุทธ์ ธเนศชัยพิทักษ์ นายทหารปฏิบัติการข่าว ทภ.1 เป็น ผบ.ม.พัน. 22 พ.อ.นิธิ อิงคสุวรรณ หก.กกบ.มทบ.11 เป็นรองเสธ.มทบ.11 
     พ.อ.จักรกฤษ ศรีนนท์ เสธ. ร.1 รอ. นายทหารคนสนิท พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรอง ผบ.ร.1 รอ. พ.อ.ไพบูลย์ จุลภาคี หก.กขว.มทบ.11กลับมาเป็น เสธ.ร.1 รอ. พ.ท.ยุทธนา สุนทรมณี ผบ.ป.พัน. 31 รอ. เป็น ผบ.ป.พัน. 1 รอ. พ.ต.กิตติศักดิ์ กาญจนะวสิต รอง ผบ.ป. พัน. 31 รอ. เป็น ผบ.ป.พัน. 31 รอ. พ.ท.นัฐพล วิเชียรวรรณ ผช.ผปยส.ป.1 รอ.เป็น ผบ.ป. พัน. 11 รอ.
     กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.2 รอ.) มีตำแหน่งสำคัญ เช่น พ.ท.เสกสรรค์ พรหมศักดิ์ ผบ.ร.12 พัน. 1 รอ.เป็น ผบ.ร.12 พัน 3 รอ. พ.ท.กิตติ ประพิตรไพศาล รอง เสธ.ร.12 รอ.เป็น ผบ.ร.12 พัน. 1 รอ. ที่น่าสนใจคือมีชื่อ พ.อ.พิชิต มีคุณสุต ผบ.กรม ทพ.12 ที่ดูแลด่านชายแดนอรัญประเทศ และมีปัญหาขัดแย้งกับศุลกากร ถูกย้ายไปเป็น รอง ผอ.กยก.ทน.1 พร้อมส่ง พ.ท.กฤษณ์ สุนสะธรรม ผบ.ม.พัน 2 พล.ร.2 รอ. ไปเป็น ผบ.กรม ทพ.12 แทน 
      กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) เช่น พ.ท.ธัชเดช อาบังรัตน์ หน.ฝขว.พล.ร.9 เป็น ผบ.ร.29 พัน. 3 พ.ท.ยุทธพงศ์ อเนกศรี ผช.ฝกพ. ทพ.1 เป็น ผบ.ร.9 พัน 3 พ.ท.วสันต์ วุฒิวโรดม รองเสธ.ร.19 เป็น ผบ.ร.29 พัน. 2 พ.อ.ศรีรัฐ ศรีเพ็ญ หก.กกร.มทบ.12 เป็น ผบ.กรม ทพ.13 พ.ท.พรรณศักดิ์ เพรียวพานิช หน.ฝกบ.พล.ร.9 เป็น ผบ.ร.29 พัน 1 
    พ.ท.ตระกูล ไทยสมัคร ผช.ผอ.กกพ.ทน.2 เป็น ผบ.ม.พัน. 21 พ.อ.ณรงค์ วิชญาณวรวุฒิ เสธ.ร.8 เป็น ผบ.กรม ทพ. 22 พ.ท.ใหญ่ยิ่ง หาญสิทธิกรรม หน.ฝยก.พล.ร.3 เป็น ผบ.ร.8 พัน. 1 พ.ท.นิสิต สมานมิตร ผบ.ม.พัน 14 เป็นผบ.กรม ทพ.21 พ.ท.พยัคฆพล คุ้มแสง ผบ.ม.พัน. 6 เป็น ผบ.ม.พัน 14 พ.ท.สิทธิศักดิ์ พรหมดิเรก หน.ฝขว.พล.ม.3 เป็น ผบ.ม.พัน 6 พ.ท.รัชกฤต แดงไธสง รองเสธ.พล.ร.3 เป็น ผบ.ร.13 พัน. 1 พ.ท.รวิรักษ์ สัตตบุศย์ ผช.ฝปยส.ป.6 เป็น ผบ.ป. พัน. 23 พ.อ.สมภพ ภาระเวช ผบ.กรม ทพ.23 เป็น ผบ.กรม ทพ. 26 พ.ท.โถมวัฒน์ สว่างวิทย์ ผบ.ร.16 พัน. 2 เป็น ผบ.กรม ทพ.23 พ.ท.สุระชัย มีหอม ผช.ฝยก.ทภ.2 เป็น ผบ.ร.16 พัน. 2 
    นอกจากนั้น ยังย้าย พ.ท.สราวุธ ชินวัตร ผบ.ปตอ.พัน. 7 หลานชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นผู้พันในวัยแค่ 25 ปี ไปเป็น ฝสธ.ประจำผบช. แล้วขยับ พ.ท.ทรงวุฒิ อินทรภักดิ์ หน.ฝกพ.พล.ปตอ.เป็น ผบ.ปตอ.พัน. 7 แทนด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!