- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 05 May 2014 20:06
- Hits: 5211
วันที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8559 ข่าวสดรายวัน
ไม่เห็นหัวประชาชน สปป.ฉะ! โรดแม็ป'มาร์ค' ชี้ลิดรอนสิทธิเลือกตั้ง ส.พระปกเกล้าก็คัดค้าน
'เอกชัย ไชยนุวัติ'โฆษกสปป. ยก 7 เหตุผลโต้แย้งโรดแม็ปมาร์ค ชี้ลิดรอนสิทธิเลือกตั้งย้ำต้องเห็นหัวประชาชน ผอ.สันติวิธีก็คัดค้าน ยันทางออกประเทศต้องมีเลือกตั้งก่อนปฏิรูป พรรคเพื่อไทยรุมจวกยับทั้งขัดรธน. แช่แข็งประเทศและเป็นวิธีของกบฏ จี้กกต.เร่งส่งพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 20 ก.ค.ให้รัฐบาลโดยเร็ว "มาร์ค"ฟุ้งมีคนเห็นด้วยมาก ยันไม่ได้ฉีกรธน. ประธานกกต.โยนรัฐบาลตัดสินข้อเสนอเลื่อนเลือกตั้ง ขณะที่ "สุรพงษ์" ไม่ห่วงหากศาลรธน.ฟัน "ปู" พ้นสภาพนายกฯ เพราะมีรองนายกฯรักษาการแทน "นิคม ไวยรัชพานิช" เตือนวุฒิสภาเดินหน้าเลือกประธานคนใหม่ 9 พ.ค.นี้เสี่ยงถูกร้องศาลรธน. ฐานทำเกินกรอบพ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภา ชี้มาตรา 130 ไม่คุ้มครองเอกสิทธิ์ส.ส.-ส.ว.แล้ว
พท.ซัดโรดแม็ปมาร์คขัดรธน.
วันที่ 4 พ.ค. ที่พรรคเพื่อไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงโรดแม็ปทางออกของประเทศ 10 ข้อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย นายอภิสิทธิ์ไม่เคยอ่านกฎหมายหรืออย่างไร จึงเสนอให้นายกฯและครม.ลาออกเพื่อให้ มีรัฐบาลคนกลาง เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าแม้นายกฯยุบสภาก็ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงาน
นายจารุพงศ์ กล่าวว่า เสียดายที่นายอภิสิทธิ์เสนอเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้ระบุจะเสนอแนวทางปฏิรูปตามกรอบกฎหมาย ซึ่งตนรอฟังอยู่ แต่เมื่อเปิดข้อเสนอออกมาแล้วมันไม่ใช่ ทางออกของประเทศคือต้องให้ประชา ชนรับได้ ซึ่งนายกฯได้หาทาง ออกไว้แล้วคือยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ เลือกรัฐบาลใหม่ จากนั้นจะดำเนินการปฏิรูปอย่างไรก็มาพูดคุยกัน ซึ่งหนทางเดินไปสู่จุดนั้นคือการลงเลือกตั้งแล้วฟังเสียงประชาชน 65 ล้านคน ว่าเขาต้องการอย่างไร
ย้ำข้อเสนอเป็นวิธีกบฏ
"ผมไม่ได้จบอ็อกซ์ฟอร์ด แต่ก็คิดออกในเรื่องนี้ ขนาดบ้านเมืองมีกติกามีกฎหมายยังเกิดปัญหา เมื่อไม่มีรัฐบาลแล้วยังไม่เคารพกฎหมายอีกก็ยิ่งไปกันใหญ่ ผมเสียดายคนระดับนายอภิสิทธิ์ กลับคิดไม่ได้ว่าทางออกของปัญหาคือการเลือกตั้ง หรือรู้แล้วแกล้งไม่รู้ถึงจะฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้งเหมือนกับปี 2549" นายจารุพงศ์กล่าว
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับแกนนำรัฐบาลหรือยัง นายจารุพงศ์กล่าวว่า ไม่ต้องคุยเพราะข้อเสนอดังกล่าวเป็นวิธีกบฏ ไม่ได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดรองรับ
เชื่อเป็นข้ออ้างปชป.ไม่ลงเลือกตั้ง
ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯเเละรมว.ต่างประเทศ กล่าวระหว่างไปร่วมประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค. ถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ที่ให้รัฐบาลลาออกเพื่อให้มีรัฐบาลคนกลางมาทำการปฏิรูปว่า ไม่สามารถทำได้และข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่ทางออกของประเทศอย่างเเท้จริง ตนเสียดายที่นายอภิสิทธิ์ ใช้โอกาสเดินสายพูดคุย แต่ท้ายที่สุดแนวความคิดไม่ต่างจากข้อเสนอของกลุ่ม กปปส. ซึ่งส่วนตัวเห็นว่านายอภิสิทธิ์ ไม่มีความจริงใจ เพียงแต่สร้างกระแสเพื่อให้ยังอยู่ในความสนใจของประชาชน เชื่อว่าเป็นไปได้สูงที่พรรคประชาธิปัตย์จะใช้เรื่องนี้เป็นเหตุผลไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีประตูรับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ และจะรอผลการหารือระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับกลุ่ม กปปส.และเมื่อได้ข้อสรุปมายังรัฐบาล จะให้นายอภิสิทธิ์ชี้แจงให้สังคมทราบว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นบริสุทธิ์ใจหรือไม่ ส่วนปัญหาการขัดขวางเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมตนเตรียมสั่งการให้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบ ร้อย(ศอ.รส.) รวบรวมข้อมูลผู้กระทำผิดกฎหมายให้สังคมรับรู้ถึงโทษตามกฎหมาย เเละยืนยันว่าหากขัดขวางเลือกตั้งอีกเป็นความผิดทางอาญา เจ้าหน้าที่จับกุมได้ซึ่งหน้า
ไม่กังวลศาลรธน.ฟัน'ปู-ครม.'
รองนายกฯ กล่าวถึงการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญคดีสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่ นายกฯและรมว.กลาโหมในวันที่ 6 พ.ค.นี้ว่า ตนไม่รู้สึกกังวลหากหลังจากนั้นศาลมีคำวินิจฉัยที่เป็นโทษกับรัฐบาลถึงขั้นให้นายกฯและครม.พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งในทางกฎหมายยังคงมีรองนายกฯจาก ครม.ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชุด 2-5 ทำหน้าที่ต่อไปได้ รัฐบาลจึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 20 ก.ค.นี้ เพราะถ้ากกต.ส่งร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)การเลือกตั้ง มายังที่ประชุมครม.ในวันที่ 6 พ.ค.นี้ก็นำร่างขึ้นกราบบังคมทูลได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6 พ.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมจะออกนั่งบังลังก์ไต่สวนพยาน 4 ปาก ในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรม นูญพิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) หรือไม่จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายถวิล นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผบ.ตร.และอดีตเลขาธิการสมช.
อัดจ้องทำลายปชต.
นายนพดล ปัทมะ กรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเสนอ 10 ข้อของนายอภิสิทธิ์ จะมีปัญหาใหญ่ๆ อย่างน้อย 5 ข้อ คือ 1.การเสนอให้นายกฯและครม.ลาออก ขัดรัฐธรรมนูญเพราะต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่ามี ครม.ใหม่ 2.การให้วุฒิสภาเลือกนายกฯคน กลาง ขัดรัฐธรรมนูญเพราะนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็น ผู้เลือก ส่วนส.ว.เกือบกึ่งหนึ่งแต่งตั้งเข้ามาไม่เป็นประชาธิปไตย 3.ปิดกั้นไม่ให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมปฏิรูปเพราะเอาเฉพาะข้อเสนอของ กปปส.และเครือข่ายปฏิรูปเท่านั้นไปทำประชามติ
4.ข้อเสนอดังกล่าวเหมือนข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. โดยนายอภิสิทธิ์ไม่ไปฟังความเห็นของรัฐบาล นปช.และพรรคเพื่อไทยก่อนทำข้อเสนอ จึงเป็นข้อเสนอที่เรียกร้องฝ่ายเดียว และ 5.การระบุจะมีรัฐบาลเฉพาะกาล 5 เดือนจึงเลือกตั้งใหม่นั้น ไม่มีหลักประกันใดว่าจะไม่ยาวกว่านั้นและจะมีการเลือกตั้งตามกำหนด เท่ากับทำลายกระบวนการประชาธิปไตยและเอาประเทศไปอยู่บนความไม่แน่นอน
ชงกุญแจ 5 ดอก-ไขทางออกปท.
นายนพดล กล่าวว่า ตนมีทางออกที่ไม่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและไม่ทำลายหลักการประชาธิปไตย คือข้อเสนอกุญแจ 5 ดอกหาทางออกประเทศ ดอกที่ 1 เดินหน้าเลือกตั้งโดยทุกพรรคลงสมัคร ดอกที่ 2 ทุกพรรคเสนอแนวทางปฏิรูปให้ประชาชนพิจารณาก่อนเลือกตั้งซึ่งเสมือนการทำประชามติประเด็นปฏิรูปไปในตัว ดอกที่ 3 หลังเลือกตั้งให้ออกกฎหมายมีสภาปฏิรูป ดอกที่ 4 รัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลปฏิรูปอยู่ในวาระ 6-12 เดือน แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ และกุญแจดอกที่ 5 ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายประเด็นให้ทำประชามติ
"ข้อเสนอของผมไม่แช่แข็งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่เว้นวรรคการเลือกตั้ง ไม่ลำเอียงเข้าข้างคนกลุ่มใดและเป็นประชาธิป ไตยที่สุดเพราะให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมกันหาทางออก คุณอภิสิทธิ์ไม่ต้องเว้นวรรคการเมืองด้วย การเลือกตั้งจึงเป็นทางออกที่ตรงที่สุด ยุติธรรมที่สุด เมื่อเราสามารถเดินบนถนนไปยังเป้าหมายได้แล้วเราจะลงไปเดินในท้องร่องหรือพงหนามไปทำไม" นายนพดลกล่าว
จี้ปชป.เลิกหนุนเผด็จการ-ลงลต.
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ที่ไม่ต่างจากกลุ่ม กปปส.ซึ่งไม่มีกฎหมายใดรองรับ เมื่อหลายฝ่ายไม่ยอมรับ พรรคประชาธิปัตย์ก็ระบุว่าจะเกิดความวุ่นวาย การเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะอีก จึงไม่แน่ใจว่าสิ่งที่นายอภิสิทธิ์พูดเป็นข้อเสนอหรือคำข่มขู่กันแน่ นอกจากนี้การกระทำของนายสุเทพเป็นการทุบหม้อข้าวของคนทั้งประเทศ เพราะปัจจุบันประชาชนเดือดร้อนจากปัญหาความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จึงอยากให้นายสุเทพเลิกทุบหม้อข้าวและสร้างความเดือดร้อนให้คนในประเทศได้แล้ว
นายพิชัย กล่าวว่า ส่วนที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันอุดมการณ์ของพรรคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคือการต่อสู้กับเผด็จการทุกรูปแบบ ทำให้สงสัยว่านายกรณ์ หายไปไหนมาถึงมองไม่เห็นว่าแกนนำของ กปปส. ที่เป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์เกือบทั้งหมดกำลังเรียกร้องระบอบเผด็จการอยู่ หรือพรรคเปลี่ยนอุดมการณ์หรือสมาชิกพรรคอยากได้อำนาจจนเพี้ยนกันแน่ หากพรรคประชาธิปัตย์ต่อต้านเผด็จการและหวังดีกับประเทศจริง ควรลงเลือกตั้งเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้
ฉะ'มาร์ค'สร้างภาพขอเว้นวรรค
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า สิ่งที่นายอภิสิทธิ์เสนอไม่ใช่ทางออกประเทศ แต่เป็นทางตัน เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญชัดเจนเพราะคุณสมบัตินายกฯต้องเป็น ส.ส.แต่นายอภิสิทธิ์เสนอในสิ่งที่ผิดรัฐธรรมนูญ เพราะนายกฯและรัฐบาลคน กลางไม่มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เป็นการสอดคล้องกับข้อเสนอของ กปปส. เป็นการแช่แข็งประเทศ ปฏิวัติเงียบ การให้นายกฯลาออก เหมือนให้นายกฯละเมิดรัฐธรรมนูญ ขัดหลักการประชาธิปไตยที่ให้นายกฯมาจากส.ส.และโหวตเลือกในสภา โดยเฉพาะขณะนี้รัฐบาล และกกต.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 20 ก.ค.แล้ว ดังนั้น ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์จึงขัดหลักการประชาธิปไตย แต่ทำเพื่อกปปส.
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า โรดแม็ปของนายอภิสิทธิ์เป็นการสร้างภาพให้ตัวเองดูดี หลอกลวงประชาชนว่าจะขอเว้นวรรคการเมือง ทั้งที่นายอภิสิทธิ์ไม่มีสิทธิลงสมัครส.ส.อยู่แล้ว เพราะเคยถูกคำสั่งกระทรวงกลาโหมปลดออกจากราชการ จึงไม่มีคุณสมบัติลงสมัครส.ส. ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 ระบุว่าห้ามผู้เคยถูกปลดออก ไล่ออก ลงสมัครส.ส. ดังนั้น ตนจะนำหลักฐานการถูกปลดออกจากราชการของนายอภิสิทธิ์ส่งทางไปรษณีย์ถึงนายอภิสิทธิ์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน แกนนำพรรค เพื่อไม่ให้ใช้ข้อเสนอดังกล่าวมาสร้างภาพ หลอกลวงประชาชน
จี้กกต.เร่งส่งพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง
ส่วนที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุหากไม่รับข้อเสนอนายอภิสิทธิ์จะเกิดเหตุรุนแรงนั้น นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ถือเป็นการข่มขู่ ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปเคลื่อนไหว ถ้านายสุเทพ และอดีตส.ส.คนอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวอยู่ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์กล้าขับคนเหล่านี้ออกจากพรรคหรือไม่ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการทำการเมืองแบบคู่ขนานกับ กปปส.
นายพร้อมพงศ์ กล่าวถึงนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ระบุเตรียมพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งส่งให้รัฐบาล และคิดว่าอาจไม่ทันวันที่ 6 พ.ค.นี้ว่า อยากให้กกต.ทั้ง 5 เร่งเสนอพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งให้รัฐบาลในวันที่ 6 พ.ค. จะได้เป็นหลักประกันให้กับประชาชน และพรรคต่างๆ ที่อยากเลือกตั้ง เพราะหากส่งพ.ร.ฎ.ช้าอาจทำให้เกิดปัญหาได้
'สุรชัย'วอนอย่ารีบด่วนปฏิเสธ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์โดยเฉพาะข้อที่ 6 การตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ให้ประธานวุฒิสภาเป็นฝ่ายสรรหาว่า ยังไม่อยากให้ความเห็นมากเพราะเกรงจะนำไปเชื่อมโยงต่อการเลือกประธานวุฒิสภาที่จะมีขึ้น แต่เบื้องต้นได้รับทราบและกำลังศึกษาข้อเสนอนายอภิสิทธิ์ อยู่ ซึ่งมองว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น จำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายก่อน แต่จะเห็นได้ว่ามีรัฐมนตรีหลายคนแสดงความคิดในเชิงปฏิเสธแล้ว ทั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายอย่าปฏิเสธเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้ช่วยกันเสนอแนะข้อคิดเห็นเพิ่มเติมด้วย เพราะแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นไม่จำเป็นว่าต้องมีสูตรเดียว แต่อาจมีหลายสูตรเพื่อมาผสมรวมกันให้เป็นทางออกของประเทศได้
กองทัพมึนข้อเสนอ'มาร์ค'
แหล่งข่าวระดับสูงของกองทัพกล่าวถึงกรณีนายอภิสิทธิ์เสนอโรดแม็ป 10 ข้อ หาทางออกประเทศไทยว่า แต่ละคนยังไม่รู้ว่านายอภิสิทธิ์ กำลังทำอะไร ยังดูไม่ออกว่าเป็นไปในทิศทางไหน จะจบเร็วหรือไม่ เพราะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ก็ไม่เอาด้วยกับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เพราะมีทิศทางของตัวเองที่ชัดเจน ซึ่งการเดินหน้าของนายอภิสิทธิ์ ยังไม่แน่ว่ามีอะไรกับใครเท่าไร เพราะเป็นเพียง 1 ส่วนของพรรคการ เมืองเท่านั้น
กกต.โยนรัฐบาลตัดสินใจ
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศโดยขอให้ชะลอการจัดการเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.ออกไปก่อนว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน แต่เรื่องนี้คงต้องให้รัฐบาลเป็น ผู้ตัดสินใจ หากรัฐบาลเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ขอให้แจ้งมายังกกต. แต่หากรัฐบาลไม่มีท่าทีใดๆ กกต.ก็พร้อมเดินหน้าจัดการเลือกตั้งส.ส.ในวันที่ 20 ก.ค. ตามที่ตกลงร่วมกับรัฐบาลไว้ ส่วนการเลือกตั้งจะสำเร็จหรือไม่นั้น ขอให้เป็นเรื่องอนาคต ยังไม่อยากคาดเดา แต่ยืนยันว่ากกต.จะทำหน้าที่ตรงจุดนี้ให้ดีที่สุด
นายศุภชัย กล่าวว่า ในการประชุมกกต. วันที่ 6 พ.ค. จะพิจารณาร่างพ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป หากเห็นว่าร่างดังกล่าวสมบูรณ์ครบถ้วนถูกต้องแล้วและที่ประชุมมีมติเห็นชอบเรียบร้อย กกต.จะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันดังกล่าวทันที แต่หากเห็นว่าร่างยังไม่สมบูรณ์หรือต้องแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนอยู่ ก็จำเป็นต้องส่งให้ครม.พิจารณาในภายหลัง แต่ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.
'ภุชงค์'ชง 5 เสือถก 6 พ.ค.นี้
ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ได้ข้าพบกกต.และเสนอแนวทางการปฏิรูปการเลือกตั้ง โดยข้อเสนอบางส่วน กกต.มีการดำเนินการอยู่ ขณะที่บางส่วนกกต.จะรับไว้พิจารณา แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์แถลงแผนปฏิรูปออกมาอย่างเป็นทางการ กกต.คงจะหยิบประเด็นดังกล่าวมาหารือร่วมกันในวันที่ 6 พ.ค.นี้ว่าดำเนินการอย่างไร เนื่องจากขณะนี้มีหลายเสียงสะท้อนออกมาทั้งต้องการให้กกต.เดินหน้าและชะลอการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ผลการหารือจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกกต.ทั้ง 5 คน
ผอ.สันติวิธีเมินข้อเสนอมาร์ค
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ว่า เป็นไปได้ยากและเป็นข้อเสนอที่หลวมมาก เพราะบางข้อไม่สามารถทำได้ เช่น เรื่องที่ให้นายกฯและครม.ลาออกทั้งคณะ เพราะหากทำได้จริงคงทำกันนานเเล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำได้ ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น มองว่าพรรคประชาธิปัตย์กังวลเรื่องเลือกตั้งเพราะการเลือกตั้งแบบเดิมไม่สามารถทำให้พวกเขาชนะได้
พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการปฏิรูป และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาต้องทำการปฏิรูป แต่การปฏิรูปถ้าไม่มีการเลือกตั้งถ้าไม่มีรัฐบาลจะทำได้หรือไม่ และการมีรัฐบาลคนกลางนั้น ตนไม่มั่นใจว่าจะมีความรุนแรงหรือไม่ นอกจากนี้การที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมรับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ก็ไม่นำไปสู่บรรยากาศของการปรองดองได้ ฉะนั้นนายอภิสิทธิ์ต้องปรับใจมานั่งพูดคุยกันต่อไป เพราะถ้ารัฐบาลไม่ยอมรับก็เป็นเรื่องยากที่จะเดินหน้าต่อไปได้
ย้ำทางออกต้องมีเลือกตั้ง
"ทางออกของประเทศไทยขณะนี้คือต้องให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ส่วนการปฏิรูปนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้ โดยให้คนในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปของคนเพียงฝ่ายเดียว เพราะถ้าทำฝ่ายเดียวก็ยากที่จะจบลงได้ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องทำ 1 ปี เพราะที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เคยตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหมดเงินไปกว่า 600 ล้านบาท น่าจะเอาประโยชน์จากคณะกรรมการชุดนั้นมาปรับใช้ได้" ผอ.สำนักสันติวิธีกล่าว
สปป.แย้งโรดแม็ปไร้กม.รองรับ
นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และโฆษกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย(สปป.) โพสต์ เฟซบุ๊กส่วนตัวโต้แย้งข้อเสนอแผนปฏิรูปของนายอภิสิทธิ์ ว่า 1.นายอภิสิทธิ์ เอาอำนาจอธิปไตยของประชาชน คือการใช้สิทธิเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้ในมาตรา 72 มาเป็นตัวประกัน เพื่อให้บ้านเมืองสงบและเดินหน้าได้ 2.นายอภิสิทธิ์ พยายามทำดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ กปปส. และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถ้าอ้างเช่นนี้ต้องบอกว่าพรรคเพื่อไทยนั้นแยกขาดจาก นปช.
3.การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก 18 เดือน ไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ 4.นายอภิสิทธิ์พูดว่าทุกพรรคควรลงเลือกตั้ง แปลว่าตัวเอง ถ้าไม่ได้ดังใจ ก็ไม่ลงเลือกตั้ง 5.การปฏิรูปต้องทำด้วยการแก้รัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การปฏิรูปประเทศโดยอ้างว่าไม่แก้ จึงเป็นไปไม่ได้ ทั้งในทางกฎหมายและความจริง
6.ข้อเสนอเพิ่มอำนาจให้ กกต.ออกระเบียบยุบพรรคนั้น ยิ่งตลกมากๆ เพราะ กกต.ต้องใช้อำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดวิธียุบพรรคไว้แล้ว การที่เสนอว่าถ้าใครไม่ทำตามแนวทางปฏิรูปแล้ว ให้ กกต.ยุบพรรค คือการทำตามอำเภอใจของ กกต. และการไม่สนใจคำว่า นิติรัฐ หรือ รัฐที่ตัวรัฐเองอยู่ ภายใต้กฎหมายที่ยินยอมให้บังคับใช้โดยประชาชน
ให้ทุกพรรคผลักดันปฏิรูปหลังลต.
นายเอกชัย ระบุว่า 7.การจะปฏิรูปประเทศนั้น ไม่ต้องเอาประชาชนและการเลือกตั้งเป็นตัวประกัน ทุกพรรครวมทั้งพรรคเพื่อไทย ต้องเสนอตอนนี้เลยว่าจะปฏิรูปประเทศอะไรบ้าง โดยให้พันธะทางการเมืองว่า เมื่อเลือกตั้งมีตัวแทนประชาชนไปแก้ปัญหาปากท้องแล้วจะผลักดันให้เกิดขึ้นจนได้ เป็นความรับผิดชอบทางการเมือง ถ้าไม่ทำประชาชนจะออกมากดดันให้เกิดการยุบสภา
"ดังนั้น ข้อเสนอของผม คือทุกคนช่วยกันเสนอ และผลักดันให้มีการปฏิรูปประเทศหลังจากเลือกตั้งเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี โดยเป็นพันธะผูกพันทางการเมือง ผมเสนอให้ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ ผมเสนอให้เห็นหัวประชา ชน"นายเอกชัยระบุ
ไชยันต์ชี้อยู่กับผู้มีอำนาจในพท.
นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยให้ค่ากับการเว้นวรรคการเมืองของนายอภิสิทธิ์ มากหรือน้อยกว่าที่นายอภิสิทธิ์ให้ค่าเว้นวรรคของตัวเอง ซึ่งตนจะไม่บอกว่าใครคือผู้มีอำนาจสูงสุด ขณะที่นายอภิสิทธิ์บอกว่ากำลังส่งสารนี้โดยตรงไปที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพูดชัดเจนว่าจะไม่ฟังใคร แต่จะรอฟังคำตอบของน.ส. ยิ่งลักษณ์คนเดียว ตนจึงบอกว่าข้อเสนอดังกล่าวขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจสูงสุดของพรรคเพื่อไทย ตนไม่ได้คิดว่าจะเป็นองค์รวมที่จะมาหารือกัน ส่วนข้อเสนอนี้เป็นไปได้หรือไม่นั้นไม่ขอตอบเพราะจะเป็นการชี้นำอะไรบางอย่าง ซึ่งคำตอบมันอยู่ในวรรคที่ตนกล่าวมาอยู่แล้ว
มาร์คย้ำแผนสำเร็จ-ไม่มีปฏิวัติ
เมื่อเวลา 17.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ขอบคุณประชาชนจำนวนมากที่สนใจ ให้กำลังใจและสนับสนุนแผนที่ตนนำเสนอ ขอย้ำว่าแผนนี้ยึดหลักกฎหมาย หลักประชาธิปไตยและประโยชน์ของประเทศ ไม่มีผลประโยชน์ของใครรวมทั้งตนเกี่ยวข้อง หากสำเร็จบ้านเมืองจะสงบ ไม่มีนองเลือด ไม่มีปฏิวัติ ไม่นำสถาบันและศาลเข้าสู่ความขัดแย้ง เพียงแต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะสละตำแหน่ง 5-6 เดือนเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่เรียบร้อย ส่วนกปปส.ต้องยอมรับการได้ปฏิรูปด้วยวิธีการที่ต่างไปจากที่ตนเองเสนอ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากให้ทุกคนที่ห่วงใยบ้านเมืองออกมาช่วยกันขับเคลื่อนการหาทางออกให้บ้านเมืองกันต่อ เพราะก่อนที่ตนจะเคลื่อนไหวเสนอทางออกให้ประเทศมีหลายภาคส่วนเสนอความเห็นที่จะนำประเทศหลุดพ้นจากความขัดแย้ง แต่มักยุติการเคลื่อนไหวหลังมีเสียงวิจารณ์ตามมา ซึ่งมีทั้งที่ประชุมอธิการบดี 7 องค์กรเอกชน เครือข่ายสองเอา สองไม่เอา รวมทั้ง 6 องค์กรอิสระ และที่จำได้เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา หลายองค์กรประชุมร่วมกับนายกฯ เสนอให้ปฏิรูปทันที เลื่อนการเลือกตั้ง มีหลักประกันการปฏิรูปและให้นายกฯ ลาออกเปิดทางให้มีรัฐบาลคนกลางมาทำหน้าที่ ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงยุติธรรมในฐานะคณะทำงานเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป เสนอเดินหน้าปฏิรูปเลือกตั้งเฉพาะกิจ 1 ปี โดยระบุไม่มีประโยชน์ที่จะเลือกตั้งบนความขัดแย้ง
ดึงหลายองค์กรรวมเคลื่อนไหว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนขอสื่อสารไปยังทุกองค์กรเหล่านั้นพิจารณาแผนทางออกประเทศไทยว่าตรงกับแนวทางที่เห็นว่าเป็นทางออกให้กับประเทศหรือไม่ หากเห็นว่าหลักการไม่มีปัญหา ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ขอให้ทุกคนแสดงออกเพื่อเป็นพลังทางสังคมเดินหน้าประเทศไทย ร่วมกัน
"แผนของผมย่อมได้รับการวิจารณ์ติติง ซึ่งผมรับฟังเสมอ แต่วันนี้ผมอยากให้ผู้วิจารณ์เสนอทางออกที่ดีกว่าด้วย ซึ่งคำวิจารณ์ส่วนหนึ่งมุ่งที่ข้อกฎหมายซึ่งอาจเห็นต่างกันได้ แต่ยืนยันว่าแผนของผมยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด กรณีใดที่เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีบทบัญญัติก็ยึดตามเจตนารมณ์และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้ประเทศเดินหน้าได้ ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ หรือการแช่แข็งประเทศ ทั้งนี้ ผมไม่ขอตอบโต้คนที่ออกมาโจมตี แต่จะรอข้อเสนอจากคนเหล่านั้นที่ไม่ใช่เรื่องเดิมๆที่พาประเทศมาอยู่จุดนี้ และถ้าเป็นข้อเสนอที่ตนเองไม่ได้ประโยชน์ด้วยจะยิ่งดี" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ปชป.ปูดมีเกมใต้ดินขู่ศาล-ปปช.
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงว่า ในเดือนพ.ค.นี้จะเป็นพฤษภาเดือด เนื่อง จากมีการพิจารณาคดีสำคัญของป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่ม กปปส. ซึ่งยังไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดการเผชิญหน้า หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ และรมว.กลาโหม และรัฐบาล รวมทั้งศอ.รส.ต้องช่วยกันไม่ให้วิกฤตทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
นายองอาจ กล่าวว่า ยิ่งใกล้เวลาที่ศาลรัฐ ธรรมนูญและป.ป.ช.จะพิจารณาคดีสำคัญที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ถูกกล่าวหา จึงมั่นใจว่าจะมีเหตุการณ์เคลื่อนไหวในหลายรูปแบบ ทั้งการเดินเกมบนดินและใต้ดิน มีขบวนการใส่ร้ายป้ายสี ข่มขู่ศาลและป.ป.ช. บิดเบือนข้อเท็จจริงของคดี ปล่อยข่าวโจมตีเพื่อกระทบสถาบัน ใช้อาวุธสงครามคุกคามโดยไม่มีการหาคนผิดมาลงโทษ ทั้งนี้ เพื่อให้ผลการพิจารณาคดีเปลี่ยนไปจากหลักนิติรัฐและนิติธรรม แต่เชื่อว่าจะไม่มีส่วนเปลี่ยนแปลงหลักกฎหมายได้ และยังเชื่อมั่นองค์กรอิสระจะทำหน้าที่ผดุงความยุติธรรมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างแน่นอน
ย้ำโรดแม็ปมาร์คผ่าทางตันปท.
นายองอาจ กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์เสนอโรดแม็ปว่า มีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สาเหตุเกิดจากยังไม่ได้อ่านข้อเสนออย่างละเอียด หากได้อ่านละเอียดจะทราบว่าแผนดังกล่าวมีส่วนช่วยหาคำตอบให้กับประเทศได้ โดยไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพรรคหรือหาทางลงให้กับกลุ่ม กปปส. หรือทำลายล้างฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย แต่ทำเพื่อประโยชน์สังคมไทย
นายองอาจ กล่าวว่า หากข้อเสนอเดินหน้าไปได้จะก่อให้เกิดข้อดี 5 ประการ 1.หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าความรุนแรงและการนองเลือด 2.ระงับเงื่อนไขปฏิวัติ 3.ปกป้องสถาบันออกจากความขัดแย้งการเมือง 4.เปิดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทำหน้าที่โดยไร้แรงกดดัน และ 5.ปกป้องการฉีกรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบ หากน.ส.ยิ่งลักษณ์จริงใจและพร้อมเสียสละในเวลา 5-6 เดือน ขอให้นำข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์มาเป็นกุญแจไขสู่ทางออกและหาคำตอบให้กับประเทศ
แนะ'ปู'ถกทักษิณก่อนตัดสินใจ
ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า หากไม่มีความพยายามจากทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหา ทำนายได้ว่าประเทศไทยจะเดินเข้าสู่ความขัดแย้งระหว่างมวลชน จึงเป็นเรื่องที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกได้เพราะไม่มีประเด็นไหนอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ อีกทั้งนายอภิสิทธิ์ก็พูดชัดว่าจะฟังคำตอบจากน.ส.ยิ่งลักษณ์คนเดียว จึงขอว่าถ้าไม่ใช่ชื่อยิ่งลักษณ์ไม่ต้องพูดเพราะไม่มีหน้าที่ ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่แน่ใจในข้อเสนอก็นัดพบนายอภิสิทธิ์ได้ทุกเวลาเพื่อหารือว่าทำข้อเสนอทั้ง 10 ขั้นตอนได้หรือไม่
"จึงขอเรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์พิจารณาด้วยตัวเอง ถ้าจะหารือกับใครก็ควรปรึกษาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แบบพี่น้องเพื่อตัดสินใจว่าจะนำประเทศไปสู่จุดอับ เกิดการตาย ฉีกรัฐธรรมนูญ เผชิญหน้า ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือจะหยุดความสูญเสีย ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ไม่มีปฏิวัติ ไม่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จากนั้นภายใน 5-6 เดือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็กลับมาทำงานการเมือง การเลือกตั้งเดินหน้าได้ ขณะที่นายอภิสิทธิ์จะเว้นวรรคการเมืองอย่างน้อย 2 ปี" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
เตือนเลือกปธ.วุฒิฯ-ถูกร้องศาลแน่
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงวุฒิสภาจะมีการเลือกตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภาในวันที่ 9 พ.ค.ว่า ยืนยันว่าการเลือกประธานวุฒิสภา ไม่เคยทำในการประชุมสมัยวิสามัญ อีกทั้งการประชุมในครั้งนี้ พ.ร.ฎ.เรียกประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญได้กำหนดกรอบทำหน้าที่ของวุฒิสภาไว้ชัดเจนว่ามีเพียง 2 เรื่อง คือ 1.ตั้งคณะกรรมาธิการสรรหา ผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครอง และ 2.ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการป.ป.ช. เท่านั้น
นายนิคม กล่าวว่า ดังนั้น การดำเนินการเพื่อลงมติเลือกประธานวุฒิสภาอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ดำเนินการนอกเหนือไปจากที่พ.ร.ฎ. กำหนด และศาลจะต้องรับไว้พิจารณาอย่างแน่นนอน เพราะเอกสิทธิ์ที่คุ้มครองการลงมติของส.ส. และส.ว.ในมาตรา 130 ไม่ได้รับการคุ้มครองแล้ว เนื่องจากตนและเพื่อนส.ว. 36 คน ขนาดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่มีในการแก้ไขรัฐธรรม นูญแล้วก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง จึงมองว่าศาลน่าจะใช้มาตรฐานเดียวกัน
พท.จี้ส.ว.ทบทวน-อย่ารีบรวบรัด
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามพ.ร.ฎ.ให้ดำเนินการได้เฉพาะ 2 กรณีตามที่กำหนดเท่านั้น หากจะเสนอให้เลือกประธานวุฒิสภาด้วยถือว่าไม่สมควร ขัดกับเนื้อหาในร่างพ.ร.ฎ.ดังกล่าว ที่ผ่านมาการคัดเลือกประธานวุฒิสภาต้องมีการตรวจสอบประวัติและแสดงวิสัยทัศน์ของผู้เสนอตัว หากจะเลือกประธานวุฒิสภาในวันที่ 9 พ.ค.จะเป็นการเร่งรัด อาจถูกร้องเรียนว่าทำผิดพ.ร.ฎ. อยากให้วุฒิสภาทบทวนเรื่องนี้ด้วย
'จงรัก'พร้อมชิงปธ.สภาสูง
พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีมีชื่อติดหนึ่งในแคนดิเดตเข้าชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภาว่า หากได้รับการเสนอชื่อโดยเพื่อนส.ว. ตนมีความพร้อมเต็มที่เพราะมีประสบการณ์การทำงานมาพอสมควร ผ่านเรื่องหนักๆ มามาก เคยเป็นถึงรองผบ.ตร. ส่วนจะมีเสียงสนับสนุนมากน้อยแค่ไหนนั้น ยังไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ส.ว.จะตัดสินใจอย่างไร ทั้งนี้ ตนรู้ว่าตำแหน่งประธานวุฒิสภาเป็นงานที่หนัก แต่ก็พร้อมทำหน้าที่ตรงจุดนี้หากได้รับความไว้วางใจ
ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการเพื่อลงมติเลือกประธานวุฒิสภาในการประชุมสมัยวิสามัญขณะนี้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น พล.ต.อ.จงรักกล่าวว่า เป็นประเด็นที่มีความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกัน แต่ขณะนี้เป็นมติของที่ประชุมแล้ว ก็แล้วแต่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมจะตัดสินใจ