- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 27 May 2014 11:37
- Hits: 6829
วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8581 ข่าวสดรายวัน
'ประยุทธ์'อุบไต๋ นั่งนายก เลือกตั้งยังไม่กำหนด ลั่นหน.คสช.มีอำนาจเต็ม ย้ำภารกิจดูแลความสงบ ขีดเส้นตายเรียกพบวันนี้ 'เดียร์-อจ.จา'เข้ารายงาน โดนส่งไปกักตัวสระบุรี
โปรดเกล้าฯ แล้ว หน.คสช. 'บิ๊กตู่'ลั่นมีอำนาจเต็ม ชี้ภาระสำคัญดูแลความสงบ เพื่อสร้างปชต.ถาวร จากนี้บริหารตามผังโครงสร้างอย่างโปร่งใสเป็นธรรม แจงคุมตัวบุคคลต่างๆเพื่อให้สงบใจ วอนอย่าต่อต้าน พร้อมขู่ฟัน ไม่ตอบนั่งนายกฯเอง-ตั้งใครเมื่อไหร่ ส่วนเลือกตั้งยังไม่กำหนด อจ.จา-น้องเดียร์และคนพท.รายงานตัว โดนส่งคุมตัวที่สระบุรี มาร์คจี้บิ๊กตู่แจงสร้างปชต.อย่างไร ทีดีอาร์ไอจี้ยุติจำกัดเสรีภาพวิชาการ ชี้ปฏิรูปต้องมีบรรยากาศปชต.
โปรดเกล้าฯ"บิ๊กตู่"หน.คสช.
โปรดเกล้าฯ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ทำพิธีรับสนองพระบรมราช โองการโปรดเกล้าฯ เป็นหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้องรับรองพิเศษชั้น 6 บก.ทบ. ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 26 พ.ค.เมื่อเวลา 10.49 น. วันที่ 26 พ.ค. ที่ห้องรับรองพิเศษ 161 ชั้น 6 กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ในฐานะรองหัวหน้าคสช. เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพียง
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบุว่าด้วยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำความกราบบังคมทูลว่า เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯและพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มขยายตัว จนอาจนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือเหตุจลาจล ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและอื่นๆ อันจะก่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย คณะทหาร และตำรวจ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยแก่ประเทศชาติและความสมานฉันท์ของประชาชน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 24 พ.ค.2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.
"ประยุทธ์"แถลงอย่างเป็นทางการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนมีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการ บรรยากาศภายในบก.ทบ.เป็นไปอย่างคึกคัก นายทหารระดับสูงอาทิ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ.เดินทางมายังกองบัญชา การอย่างต่อเนื่อง โดยบรรยากาศด้านในบก.ทบ. มีเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร (สห.) 30 นาย คอยดูแลรักษาความปลอดภัยประตูด้านหน้าและด้านหลังอย่างเข้มงวด กำลังส่วนหนึ่งประจำอยู่รอบกองบัญชาการ มีคำสั่งห้ามผู้สื่อข่าวทุกสำนักเข้ามาทำข่าวด้านใน อนุญาตเพียงสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เท่านั้น
จากนั้นเวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารอนุญาตให้สื่อเข้าไปรอที่หอประชุมกิตติขจร เพื่อรอฟังการแถลงข่าวจากพล.อ.ประยุทธ์ เดิมจะแถลงเวลา 11.00 น. แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ยังจัดเตรียมสถานที่ไม่เสร็จ กระทั่ง 11.10 น. พล.อ.ประยุทธ์พร้อมคณะเดินทางมาแถลงข่าวด้วยชุดปกติขาว เจ้าหน้าที่ทหารประสานสื่อว่าหากมีข้อซักถามใดๆ ให้แจ้งสังกัดและชื่อชัดเจน เวลา 11.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้แถลงอย่างเป็นทางการพร้อมตอบข้อซักถามสั้นๆ ประมาณ 20 นาที
ย้ำเป็นผู้มีอำนาจเต็ม
เวลา 11.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยรองหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังรับประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง คสช. โดยพล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้มีพิธีรับประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ตนเป็นหัวหน้าคสช. ตนกราบพระบาทและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามประเพณีปฏิบัติเช่นทุกครั้งทั้งในยามปกติและไม่ปกติ จากนี้เป็นการบริหารราชการภายใต้พระบรมราชโองการและตามกฎหมาย ซึ่งทุกคนต้องระวังการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดความถูกต้องชอบธรรมและเป็นธรรม ใช้อำนาจภายใต้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การบริหารราช การในปัจจุบัน หัวหน้า คสช.คือตน เป็นผู้มีอำนาจเต็มตามประกาศ ได้จัดผบ.สส. ผบ.เหล่าทัพกำกับดูแลการบริหารราชการของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้เรียบร้อย โปร่งใส เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ และในระยะต่อไปจะประสานกับส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมตรวจสอบ ทบทวนแผนงานและโครงการต่างๆ ทั้งหมด ขณะนี้งานทุกส่วนเข้ามาประจำในคสช เพื่อร่วมคณะประสานงานทั้งหมด 7 คณะตามแผนผังโครงสร้าง จึงอย่ากังวลเพราะเรามีทั้งหน่วยงานพลเรือน ตำรวจ ทหาร ทำหน้าที่ร่วมกับส่วนราชการพลเรือนเพื่อให้ถูกต้องชอบธรรมและโปร่งใส เรื่องใดที่ไม่มีผลกระทบต่อความโปร่งใสและความชอบธรรมก็จะไม่ทบทวน และจะตรวจสอบรายละเอียดและเร่งรัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วเพื่อประโยชน์สุขของทุกคน
ลั่นทำเพื่อสร้าง"ปชต."ถาวร
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แนวทางบริหารราชการของ คสช. ภาระสำคัญที่สุดคือการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เตรียมข้อกฎหมายให้เกิดความถูกต้องในการปฏิบัติงาน จัดตั้งองค์กรดูแลและรับผิดชอบภาคปฏิรูปในทุกเรื่องที่เป็นข้อขัดแย้ง และกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อให้เดินหน้าประเทศสู่อนาคตได้ เป็นประชาธิปไตยอย่างสันติวิธีและถาวร ปราศจากความขัดแย้ง ฉะนั้นระหว่างนี้การบังคับใช้กฎหมายทุกอย่างยังดำเนินการเข้มข้นเท่าเดิม หรืออาจมากกว่าเดิม หากมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้น มีการขัดขืนดื้อดึง
หัวหน้าคสช. กล่าวว่า หากสถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีโดยเร็ว มาตรการต่างๆ จะลดระดับลงตามสถานการณ์ให้เหมาะสม อย่ากังวล เราไม่ต้องการให้ทุกอย่างมีปัญหา ส่วนมาตรการเคอร์ฟิว ใครมีเรื่องเร่งด่วนก็แจ้ง เจ้าหน้าที่ เราจะควบคุมดูแลผู้กระทำผิดกฎหมาย การใช้อาวุธสงคราม การต่อต้านหรือการทำให้เกิดความไม่สงบสุข ส่วนการเรียกตัวมารายงานนั้นเพื่อทำความเข้าใจ เพื่อสงบสติอารมณ์ เพราะความขัดแย้งเหล่านั้นมันไปอีกไม่ได้แล้ว เป็นอันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน เกิดปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ
ยันไม่ได้หวังอำนาจ
"วันนี้ต้องยุติปัญหาให้ได้ พวกเรามิได้มุ่งหวังเข้าสู่อำนาจ เพื่อมีอำนาจ มีประโยชน์ แต่มันมีเหตุผลและความจำเป็น ขอความร่วมมือประชาชนไม่ว่าฝ่ายใด ขอเวลาทำความเข้าใจกับสถานการณ์กับการปฏิบัติของพวกเราเวลานี้ เราไม่ได้มุ่งขัดแย้งกับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด เราเข้าใจดีถึงกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งทั่วโลกทำอยู่และเราก็เป็นอยู่ แต่เมื่อมีข้อขัดแย้งขึ้นมา หาข้อสรุปไม่ได้และมีแนวโน้มข้อติดขัดข้อกฎหมาย ใช้ความรุนแรง ไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้องโดยเร็วและปลอดภัย มันจำเป็น ขอให้ทุกคนเข้าใจด้วย พวกเรามีบทเรียนต่างๆ ผมเอาบทเรียนเหล่านั้นมาทบทวนและแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ฉะนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องและชาวต่างชาติกรุณาเข้าใจในเจตนารมณ์ของเราด้วย เราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มุ่งหวังคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วเพื่อเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง" หัวหน้าคสช.กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า งานเร่งด่วนลำดับแรกคือ การแก้ปัญหาข้อติดขัดทุกประกาศที่มีผลเดือดร้อนของประชาชนทั้งในอดีตและปัจจุบัน และการแก้ไขปัญหาในอนาคต จะเห็นว่าเราแก้ปัญหาการจำนำข้าวก่อน ทำควบคู่กับการระบายข้าวให้ถูกต้องและเป็นธรรม และรองรับปัญหาในอนาคต ขอให้ทุกส่วนอย่าเพิ่งออกมาเรียกร้องอะไรที่มากกว่าเดิม เราพยายามขับเคลื่อนทำให้ดีที่สุด ทำให้ประชาชนทุกคนพอใจและคลายความเดือดร้อน คลายความกังวล
ลั่นทุกส่วนต้องไม่ขยายขัดแย้ง
หัวหน้าคสช. กล่าวว่า พยายามเก็บรายละเอียดของเดิมก่อน ของใหม่ก็เตรียมมาตรการที่เหมาะสม เพื่อเตรียมการสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จะต้องแก้ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าการแบ่งงาน การบริหารราชการ การเมืองในส่วนของข้าราชการ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่มีปัญหากับต่างประเทศ เรื่องภาษี ที่ติดค้างอยู่เราก็ทบทวนกัน ขอให้สบายใจว่าเราไม่ทำเพื่อทหาร ทำเพื่อปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีของคนไทย เราถอยหลังไม่ได้อีกแล้ว ต้องหยุดทะเลาะกัน มุ่งสู่ความปรองดองสมานฉันท์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอร้องสื่อทุกสื่อและประชาชนทุกคน เมื่อประเทศชาติมาถึงทางตัน ทุกคนมาปลดล็อกเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปได้ ส่วนคสช.จะบริหารงานถึงเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน ทุกภาคส่วน สื่อ ต้องไม่ขยายความขัดแย้ง เฟซบุ๊ก อย่าสร้างคอมเมนต์ในสิ่งที่สร้างความขัดแย้ง ถ้าจำเป็น ตนจะเรียกตัว ฉะนั้นสมาคมสื่อไม่ต้องมาเรียกร้องกับตน แต่ต้องไปควบคุมสื่อในสังกัด
ขู่ฟัน"เฟซบุ๊ก-เว็บไซต์"ยุแหย่
"ผมจะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทั้ง เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ยุแหย่กัน ผมถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อย ถ้าเราขยายความขัดแย้งต่อไปเรื่อยๆ จะเกิดผลกระทบในวงกว้างและกลับสู่วังวนเก่าๆ ตอนนี้เริ่มมีประท้วง อยากกลับไปสู่อันเก่าใช่หรือไม่ ถ้าต้องการอย่างนั้นผมจะใช้กฎหมาย แต่ถ้าไม่ต้องการอย่างนั้นก็ต้องไปบอกทุกคนไม่ว่าฝ่ายไหน ขอให้ระงับการดำเนินการ ดังกล่าวเพราะมีผลเสียต่อตนเองและครอบครัว เพราะการบังคับใช้กฎหมายขณะนี้มีความเข้มข้น จะนำขึ้นสู่ศาลทหาร โดยเฉพาะการละเมิดสถาบัน เราจะใช้กฎหมายที่เข้มข้นมากและจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ผมไม่อยากให้สังคมโจมตีประณามเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อีกต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราทำตามกระบวนการยุติธรรม ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ ถ้าทุกคนไม่นับถือกฎหมาย ไม่เคารพเจ้าหน้าที่จะส่งผลกระทบทุกฝ่าย เรื่องการเมืองจะอยู่ในรูปของการปฏิรูปหลายอย่าง ไม่ว่าการเมืองการปกครอง ข้าราชการ ระเบียบของข้าราชการ การเข้าสู่อำนาจรัฐ การใช้จ่ายที่โปร่งใส กระบวนการตรวจสอบจะต้องทบทวนทั้งหมด ตนไม่ได้มุ่งหวังทะเลาะกับใคร ต้องการนำทุกอย่างกลับมาให้เห็นชัดและแก้ไข ทุกคนอาจมองว่าตนมีความรู้ความสามารถหรือไม่ แต่คิดว่าด้วยความตั้งใจ ตนทำได้ทุกอย่าง ถ้าเรายึดมั่นในความถูกต้อง ชอบธรรม โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึง ประชาชนพึงพอใจในประสิทธิ ภาพและผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน คิดว่าทุกคนต้องช่วยตน อย่าติติง อย่าเพิ่งเพิ่มปัญหาใหม่ไม่มีประโยชน์
พลีชีพ - อส.ทพ.วุฒินันท์ ศรีประสิทธิ ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างร่วมทีมนาวิกโยธินกองกำลังจันทบุรี-ตราด เข้าปิดล้อมบ้านเลขที่ 25 หมู่ 3 ต.ประณีต อ.เขาสมิง จ.ตราด เพื่อจับกุมกลุ่มคนร้ายต้องสงสัยก่อเหตุขว้างระเบิดและยิงใส่เวทีกปปส.ตราดเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา |
ลั่นจับขึ้นศาลทหาร
หัวหน้าคสช. กล่าวว่า ขอร้องสื่อทุกสื่อ ถ้าอยากดำเนินการต่อไป สมาคมสื่อต้องดูแลด้วย ตนไม่อยากละเมิดสื่อ ฉะนั้นหยุด มันไม่เกิดประโยชน์ ถ้าต้องเรียกตัวมาก็อย่ามาว่าตน หลักฐานมีทุกอย่าง ถ้านิ่งเรียบร้อยก็ปล่อยไป แต่ขณะนี้ขอพาไปสงบสติอารมณ์ 3-5 วัน หรือ 7 วัน ทุกคนที่เรียกมาไม่ได้พันธนาการหรือทรมาน เราเชิญมาอยู่ในที่พักอาจไม่ใหญ่โต แต่จะได้รู้ว่าทหารอยู่กันอย่างไร ขั้นต่อไปถ้าผู้ที่ถูกเรียกตัวแล้วยังคงฝ่าฝืนต่อต้านและสนับสนุน เราจะติดตามพฤติกรรมทุกประการ จะถูกระงับธุรกรรมการเงินและถูกติดตามจับกุมดำเนินคดี ขึ้นศาลทหาร ถือว่าขัดคำสั่งไม่ได้
"คนทั้งประเทศไม่ว่า ฝ่ายใดต้องนึกถึงประโยชน์ส่วนกลาง ช่วยกันคืนความสุขให้กับคนไทย รักษาผลประโยชน์ของชาติ ดูแลชาวต่างประเทศ สร้างเสถียรภาพการเมือง สังคม เศรษฐกิจเพื่อให้เขาเชื่อมั่นเรา อะไรที่มันอาจดูเข้มข้นไปก็ขออภัยด้วยเพราะจำเป็น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ปัดตอบนั่งนายกฯเอง
เมื่อถามว่า การบริหารงานต่อไปในอนาคตจะมีนายกฯ หรือจะเป็นนายกฯโดยควบตำแหน่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทำไมควบ ทำไมถามอย่างนี้ ยังมาไม่ถึง มีอยู่ในแผนการอยู่แล้ว ใจเย็นๆ มันต้องมีนายกฯ และครม. ย้อนกลับไปดูในอดีต เขาทำอย่างไร ก็ต้องมีแนวทางอยู่บ้าง บางอย่างอาจคล้าย บางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงบ้าง เพื่อให้เกิดความถูกต้องชอบธรรม การใช้อำนาจต้องระมัดระวัง ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งต้องทำตัวให้เล็กลง อย่าคิดว่าตัวเองมีอำนาจแล้วจะทำได้ทุกอย่าง
เมื่อถามว่า จะตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เมื่อใด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "พูดไปเมื่อกี้ทำไมไม่ฟัง" ผู้สื่อข่าวย้อนถามว่าฟังแล้ว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า งั้นย้อนกลับไปอ่านคำถามแรก ตอบไปแล้ว
ต่อข้อถามที่ว่า ในเร็วๆ นี้จะนำไปสู่การเลือกตั้งใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ย้อนกลับไปดูคำตอบที่หนึ่ง
ชี้เลือกตั้งยังไม่มีกำหนด
เมื่อถามว่าท่านเป็นนายกฯเองเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดนิ่งไปสักพักก่อนกล่าวว่า "มันอยู่ในขั้นตอนของการ... ยังไม่รู้ก็รอดู ใจเย็น อยากเป็นเองไหม อยากเป็นไหม พอแล้ว"
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะใช้เวลาอีกเท่าไรจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า จนกว่าเหตุการณ์จะยุติ ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอบอย่างนี้อาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตนไม่มีกำหนด ต้องดูสถานการณ์ โดยเร็วที่สุด
คสช.วอนประชาชนร่วมมือ
เวลา 09.00 น. ที่บก.ทบ. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ประจำวันแทนพล.อ.ประยุทธ์ โดยประชุมร่วมระหว่างศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) กับการประชุม คสช. เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนกองบัญชาการกองทัพบกสำรองที่จัดตั้งขึ้นภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) ในระหว่างมีการชุมนุมด้านหน้าบก.ทบ. ถ.ราชดำเนิน ได้ปิดตัวลงหลังจากการชุมนุมยุติ
เมื่อเวลา 14.30 น. ที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดีฯ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก พร้อมด้วย พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง และพ.อ.วีระชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกกองทัพบก ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการทำงานของ คสช. ว่า คสช.ดำเนินการยึดตามกรอบกฎหมายและประเพณีปฏิบัติของประเทศและได้แสดงเจตนารมณ์ไปแล้ว อยากเห็นความร่วมมือและกำลังใจจากประชาชนให้กับคนที่อาสาเข้ามาแก้ปัญหาให้กับประเทศเพื่อนำไปสู่ความสงบสุข ทั้งนี้ โครงการที่เร่งด่วนจะเน้นการบริหารราชการที่เป็นพื้นฐานบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ส่วนโครงสร้างที่มีการแก้ไขหรือเริ่มใหม่จะต้องชะลอไว้ก่อน ส่วนโครงสร้างที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศจะดำเนินการต่อไป
ย้ำชุมนุมคัดค้านผิดกม.
ทีมงานโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า การประกาศเคอร์ฟิวยังคงยึดถือประกาศฉบับเดิมไม่ปลี่ยนแปลง ยกเว้นในภาคธุรกิจบางประเภทที่พูดคุยและเจรจากันแล้ว จึงขอให้ยึดประกาศเดิมเป็นหลัก ทั้งนี้การจะยกเลิกเคอร์ฟิวขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความร่วมมือของประชาชน ส่วนการดำเนินการกับบุคคลที่เผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชี่ยลมีเดียในการยุยุงปลุกปั่น การเอาผิดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ คสช.จะดำเนินการทางกฎหมายโดยเร็วที่สุด
ทีมงานโฆษกกองทัพบก กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการเดินขบวนประท้วงรัฐประหารนั้น ยืนยันว่าสภาพบ้านเมืองยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ การบังคับใช้กฎหมายยังเป็นกฎหมายด้านความมั่นคงสูงสุด และฐานความผิดจะรุนแรง จึงอยากเตือนประชาชนให้หยุดดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตามพบว่าการเคลื่อน ไหวของกลุ่มคนมี 2 ลักษณะ กลุ่มแรก คสช.เข้าใจว่าต้องการประชาธิปไตย ส่วนกลุ่มที่ 2 เคลื่อนไหวโดยมีนัยยะแอบแฝง ปลุกปั่น ปลุกระดม ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวทั้ง 2 แบบผิดกฎหมาย ซึ่งคสช.จะใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการอย่างแน่นอน ส่วนจะใช้มาตรการเบาหรือหนัก ขึ้นอยู่กับ ผบ.หน่วยของตำรวจและทหารในแต่ละพื้นที่ ซึ่ง คสช.ไม่อยากให้มีการกระทบกระทั่งหรือปะทะกัน ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปฏิบัติด้านกฎหมายเพื่อทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ และใช้บังคับคนที่กระทำความผิด อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยทำให้บ้านเมืองสงบสุข
ยังคุมตัวนปช.-ปล่อยเทือกแล้ว
ทีมงานโฆษกกองทัพบก กล่าวยอมรับว่า คสช. ได้ปล่อยตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯแล้ว แต่ตอบไม่ได้ว่าจะมีทหารควบคุมดูแลหรือไม่ ส่วนแกนนำ นปช. อาจต้องควบคุมตัวภายใน 7 วัน จากนั้นจะนำแกนนำทั้งหมดขึ้นสู่การพิจารณาของกระบวนการศาล ส่วนจะให้ประกันตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ทหารได้ควบคุมตัว 11 แกนนำ กปปส. และคปท. อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายถาวร เสนเนียม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายชุมพล จุลใส นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายสุริยะใส กตะศิลา ฯลฯ ไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อส่งฟ้องในคดีกบฏ นอกจากนั้นยังส่งฟ้องนายสุเทพในคดีฆ่าและพยายามฆ่า ผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีสั่งสลายการชุมนุม เมื่อปี 2553 หลังศาลรับฟ้องและให้ประกัน ทหารได้ปล่อยตัวทั้งหมดกลับบ้านแล้ว
ออกประกาศเงื่อนไขปล่อยตัว
เวลา 21.10 น. คสช.มีประกาศฉบับที่ 39/2557 กำหนดมาตรการเงื่อนไขรายงานตัว โดย 1.ให้บุคคลที่มารายงานตัวต่อคสช. และได้รับการปล่อยตัว ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามแบบแนบท้ายคำสั่งนี้อย่างเคร่งครัด 2.บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ทำตามเงื่อนไขการปล่อยตัว ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ คสช.กำหนดเงื่อนไข 3 ข้อให้แกนนำทางการเมืองลงนามรับรองโดยมีเงื่อนไขดังนี้ 1.ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองและฝ่าฝืนบรรดาคำสั่ง คสช. 2.ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. 3.ขอให้ยืนยันระหว่างถูกควบคุมตัว ไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด
คสช.มีประกาศที่ 40/2557 ผู้ถูกติดตามตัวตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 15 ทวิ ให้ปฏิบัติเงื่อนไขเรื่องการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกจับตัวตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 15 ทวิ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 4 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ
คสช.ประกาศฉบับที่ 41/2557 ให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวเป็นความผิด ฝ่าฝืนไม่มารายงานตัว มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามกระทำการใดเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน และผู้ที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งที่ 13, 14, 15, 16, 18 และ 19 ให้มารายงานในวันที่ 27 พ.ค. เวลา 10.00- 12.00 น. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ หากฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามกระทำการใดๆเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน
ตบเท้ารายงานตัวต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของการรายงานตัวเป็นวันที่ 4 ของบุคคลที่มีรายชื่อให้รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 14, 15, 16, 18, 19 รวม 44 คน ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทหาร และการติดตามสถาน การณ์ของผู้สื่อข่าวที่ปักหลักด้านหน้าหอประชุมกองทัพบก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารยังคงไม่อนุญาตให้เข้าไปบริเวณหอประชุมกองทัพบก
โดยเมื่อเวลา 09.40 น. นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เดินทางเข้ารายงานตัวเป็นคนแรก จากนั้นมีบุคคลทยอยมารายงาน ตัว อาทิ นางสาวจารุพรรณ กุลดิลก อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย น.ส. ขัตติยา สวัสดิผล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายวิม รุ่งวัฒนจินดา นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรค เพื่อไทย นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ
ส่วนบรรยากาศการรายงานตัวในช่วงบ่าย มีนายสุทิน คลังแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ขณะเดียวกันมีรถตู้สีขาวนำตัวนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง และประธานอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ (อพปช.) ที่ถูกนำตัวมาจากจ.นคร ราชสีมา มารายงานตัวด้วย
ส่ง"น้องเดียร์"คุมตัวสระบุรี
จากนั้นเวลา 15.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารได้นำบุคคลเหล่านั้นขึ้นรถตู้เพื่อนำไปคุมตัวตามค่ายทหารตามจังหวัดต่างๆ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทหารอย่างเข้มงวด อาทิ นายอนุสรณ์ นายจิรายุ นายวิม นายการุณ โหสกุล ถูกพาขึ้นรถตู้ มทบ.11 ออกจากหอประชุมกองทัพบกเทเวศร์ ส่วนของนักวิชาการและนักธุรกิจนั้น ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว
เวลา 17.00 น. รถตู้นำตัวน.ส.จารุพรรณ น.ส.ขัตติยา และนายจิรายุ ไปยังค่ายทหารที่จ.สระบุรี ส่วนผู้ที่มารายงานตัวในช่วงเช้ามีบางคนที่อนุญาตให้กลับบ้านได้ เช่น นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหารบริษัทอิตาเลี่ยนไทยฯ นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่า
นายดำรงค์ เปิดเผยภายหลังเข้ารายงานตัวกับคสช.ว่า คสช.เชิญมาแสดงความเห็นในการรักษาป่าและปลูกป่า การมีชื่อตนในคำสั่งให้รายงานตัว ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งตนได้พบกับนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคิดว่านายธีรยุทธคงมาให้ข้อมูลเรื่องสังคม คิดว่าวันนี้เป็นโอกาสดีที่ปัญหายุติได้ อีกไม่นานคงมีการเลือกตั้ง อย่าออกมาต่อต้าน เมื่อมีคนกลางเข้ามา ปัญหาก็จบไม่มีการนองเลือด
ตจว.ยังเฝ้าระวังเข้ม
สำหรับในจังหวัดต่างๆ ยังคงมีการเรียกบุคคลต่างๆ ในพื้นที่มารายงานตัวต่อหน่วยทหารอย่างต่อเนื่อง อาทิ ที่จ.แม่ฮ่องสอน นายพยนต์ สารวาท ประธาน นปช.แม่ฮ่องสอน เดินทางไปรายงานตัวกับ พ.อ.ชายแดน กฤษณสุวรรณ รอง ผบ.ฉก.ร 7 และได้รับการปล่อยตัว
ที่จ.นครราชสีมา นายจักริน เชิดฉาย ประธาน กปปส.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายสุพจน์ พิริยะเกียรติสกุล และน.ส.จุรีพร ประภาพิทยาพงษ์ แกนนำ กปปส.นครราชสีมา เข้ารายงานตัวที่กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยทั้งหมดถูกนำตัวไปพักชั่วคราวที่บ้านพักรับรอง ภายในมณฑลทหารบกที่ 21 (มทบ.21) เช่นเดียวกับแกนนำ นปช.ที่มารายงานตัว และถูกควบคุมตัวไว้ที่บ้านพักรับรองภายในมทบ.21 ก่อนหน้านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วย ที่จ.นครราชสีมา กองทัพภาคที่ 2 สั่งตั้งจุดตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบนถนนสายหลักที่มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 11 จุด และเฝ้าระวังเข้มงวดมากกว่าปกติ โดยเฉพาะรถตู้โดยสาร รถยนต์ที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน รถแท็กซี่ และรถที่บรรทุกสินค้า นอกจากนั้นยังส่งทหารพร้อมอาวุธเข้าดูแลพื้นที่ในอ.เมืองนครราชสีมา 7 จุด
ลุยค้น-ตามตัวคนคัดค้าน
ที่จ.สุรินทร์ พล.ต.นิรุทธ เกตุสิริ ผู้บังคับ การจังหวัดทหารบก (ผบ.จทบ.) สุรินทร์ ในฐานะผอ.คสช. สุรินทร์ นำกำลังทหาร ตำรวจ เข้าตรวจค้นห้องพักนางพรทิพย์ ปราชญ์นาม แกนนำ นปช.สุรินทร์ ที่แกรนด์อพาร์ตเมนต์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อตรวจสอบและรายงานให้กองทัพทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
ที่จ.เพชรบูรณ์ ทหารพร้อมด้วยตำรวจและฝ่ายปกครอง นำกำลังเข้าตรวจค้นสำนักงานกฎหมายสิทธิชัยทนายความ ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ประสานงานของกลุ่มคนเสื้อแดงเพชรบูรณ์ หลังนายสิทธิชัย ต๊ะอาจ ประธานกลุ่มคนเสื้อแดงเพชรบูรณ์ ยังไม่ได้เข้ารายงานตัว ต่อคสช. อย่างไรก็ดีแกนนำนปช.รายอื่นได้เข้ารายงานตัวต่อคสช. ที่กองพลทหารม้าที่ 1 ไปหมดแล้ว
ที่จ.นครพนม พ.ต.ณัฐ เหมือนบุดดี พร้อม กำลังสห. และตำรวจ เดินทางไปที่บ้านพักของนายดำรงศักดิ์ พุทธา อดีตผอ.โรงเรียนบ้านน้อยใต้ แกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร จ.นครพนม หลังร่วมกับสมาชิกในกลุ่มแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร ที่บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำโขง หน้าตลาดอินโดจีน ถนนสุนทรวิจิตร เมื่อช่วงพลบค่ำวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยทหารได้เชิญตัวนายดำรงศักดิ์ไปที่ บก.จทบ.นครพนม ค่ายพระยอดเมืองขวาง เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจคำสั่งคสช.ในสถานการณ์ปัจจุบัน และรับปากว่าจะไม่เคลื่อนไหวอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกข้อมูลแล้วปล่อยตัวไป
ยิงทหารพรานดับ 1
เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ร.ต.นพพร วุฒิรณฤทธ์ รองผบ.กองกำลังป้องกันจันทบุรีตราด (กปช.จต.) น.อ.เลอศักดิ์ คชนันท์ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด นำกำลังนาวิกโยธินชุดคอมมอนโด และทหารพรานนาวิกโยธินที่ 1 ประมาณ 100 นาย เข้าตรวจค้นพื้นที่ในต.ประณีต อ.เขาสมิง จ.ตราด
พล.ร.ต.นพพร กล่าวว่า ทางหน่วยงานข่าวทหารได้แจ้งว่ามีคนร้ายที่เชื่อมโยงกับกลุ่มที่ใช้อาวุธสงครามยิงใส่กลุ่มกปปส.ตราด เมื่อวันที่ 22 ก.พ. มาหลบซ่อนตัวอยู่ แต่ยังไม่สามารถระบุในรายละเอียดได้ โดยสามารถจับกุมได้ 2 คน อีก 1 คนหลบหนีไปได้ และยังใช้อาวุธปืนลูกซองยิงอาสาสมัครทหารพรานวุฒินันท์ ศรีประสิทธิ อายุ 25 ปี เสียชีวิตไป 1 ราย โดยทหารยังไม่สามารถให้รายละเอียดทั้งหมดได้ในขณะนี้ เนื่องจากอาจเกิดการฆ่าตัดตอนก่อน ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงถึงคนบงการได้
พล.ต.ต.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการ ผบช.ภ. 2 เผย ทางตำรวจรู้ตัวคนร้ายยิงทหารพรานนาวิกโยธินแล้ว และจะได้ติดตามให้ได้โดยเร็ว ซึ่งวันนี้อยู่ระหว่างการหลบหนีในพื้นที่ต.เขาสมิง จะออกหมายจับให้ได้ในวันนี้
สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกหมายจับ นายณรงค์ กระจ่างกลาง ผู้ก่อเหตุยิงทหารพรานเสียชีวิต
จารุพงศ์โพสต์ห่วงคนไทยใจเสรี
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค เพื่อไทย อดีตรมว.มหาดไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นภาพขณะนั่งอยู่บนเรือที่แล่นในแม่น้ำ โดยนายจารุพงศ์ สวมเสื้อ หมวกและแว่นตาสีดำ ระบุข้อความว่า "เป็นห่วง...พี่น้องคนไทยหัวใจเสรีกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ทหารใช้ผ้าคลุมและอุ้มประชาชนมือเปล่า เป็นภาพซ้ำๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ แต่การที่ประชาชนออกมาแสดงให้เห็นว่าประชาชนตาสว่างแล้ว หนทางสู่ชัยชนะของประชาชนเริ่มเห็นแสงสว่าง"
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า คำตอบสุดท้ายของพล.อ.ประยุทธ์จะถูกตัดสินด้วยเกณฑ์ว่าเมื่ออำนาจคืนสู่ประชาชนแล้ว มีประชาธิปไตยที่ดีกว่าเดิมอย่างไร คุ้มค่ากับการจำกัดสิทธิและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นช่วงนี้หรือไม่ แต่ทุกข์ของ ผู้นิยมเสรีประชาธิปไตยไทยก็มีเหมือนกัน เมื่อไม่สนับสนุนรัฐประหาร การรวมตัวต่อสู้ปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว แต่บางกรณียังผูกติดกับกลุ่มอำนาจเก่า และอาจส่งผลแค่ คสช.ต้องใช้มาตรการเข้มข้นมากขึ้น หากนำไปสู่ความรุนแรงก็ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าเราจะได้ประ ชาธิปไตย วันนี้สังคมควรตั้งหลักตั้งสติ ต้องเรียกร้องให้ คสช.มีความชัดเจนว่าเมื่อเหตุการณ์สงบ อะไรคือการปฏิรูปที่คสช.จะผลักดันและประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร
"หากไม่มีคำตอบที่ดีและวันนั้นคนที่รักประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่รักระบอบที่ให้เสียงข้างมากทำอะไรก็ได้ รวมตัวกันโดยปราศจากผลประโยชน์กับกลุ่มใดๆ ไม่มีการแอบแฝงทำลายสถาบันหลักของชาติ ผลักดันข้อเสนอที่จะได้ประชาธิปไตยที่ดีกว่า วันนั้นตนจะไปร่วมด้วย" นายอภิสิทธิ์ระบุ
ปตท.แจงข้อมูลโจมตีไม่เป็นจริง
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า ตามที่มีกระแสโจมตี ปตท. ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องการเปิดบัญชีลับบนเกาะเคย์แมน และประเด็นอื่นๆ นั้น ปตท.ขอแจ้งให้ทราบว่า ปตท.ไม่เคยดำเนินการเปิดบัญชีลับในเกาะเคย์แมน เพื่อการฟอกเงินตามข้อกล่าวอ้าง เนื่องจากเป็นทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนที่จะต้องได้รับการตรวจสอบจากทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อีกทั้ง ปตท.ยังยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารข้อมูลทางสื่อออนไลน์ ซึ่งการส่งต่อข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความแตกแยกภายในสังคมตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 12/2557 และขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินคดี กับผู้ที่นำข้อความมาโพสต์และแชร์ต่อไป
ทีดีอาร์ไอจี้ยุติจำกัดเสรีภาพวิชาการ
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากการที่ คสช. ออกคำสั่งให้บุคคลมารายงานตัว ในจำนวนนั้นมีนักวิชาการรวมอยู่ด้วยหลายคน ตามรายงานข่าว บางคนถูกส่งไปควบคุมตัวในค่ายทหารโดยไม่ทราบสถานที่แน่ชัดและกำหนดปล่อยตัวที่แน่นอน นอกจากนั้นยังออกประกาศที่สร้างข้อจำกัดกั้นขวางการสัมภาษณ์นักวิชาการในสื่อสารมวลชน (ประกาศฉบับที่ 14/2557) และห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. (ประกาศฉบับที่ 18/2557) นั้น ขอเรียกร้องให้ คสช.ระงับคำสั่งและประกาศที่ส่งผลต่อการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการดังกล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ผู้บริหารของทีดีอาร์ไอในวันนี้แสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการในช่วงหลังการรัฐประหารพวกเราในฐานะหน่วยงานทางวิชาการเห็นว่า ผู้มีอำนาจควรเปิดใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่ไม่มีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลอื่นต่อการใช้อำนาจรัฐ คสช. ควรเปิดกว้างให้นักวิชาการและประชาชนทั่วไปมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน เพราะการดำเนินการของ คสช. ในด้านต่างๆ เช่น การดำเนินการด้านเศรษฐกิจ อาจมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง จึงควรรับฟังความเห็นจากสังคมด้วย
ชี้การปฏิรูปต้องรับฟังทุกฝ่าย
"ผมเชื่อว่า การเปิดกว้างให้มีเสรีภาพทางวิชาการ จะยังช่วยให้ คสช. ได้รับความคิดเห็นและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากมาย ทั้งนี้ หากเป็นห่วงว่า จะมีนักวิชาการรายใดแสดงความคิดเห็นที่เกินกว่าขอบเขตที่ เหมาะสม ก็ควรใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ" นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติกล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยที่สังคมคาดหวังนั้น การปฏิรูปเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในวงกว้าง จึงควรเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยนที่ทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกได้อย่างเท่าเทียมและเสรี ไม่ควรดำเนินการปฏิรูปโดยกีดกันผู้ที่เห็นต่างออกไปจากกระบวนการปฏิรูป
สุรชัยจัดเลี้ยงอำลาสภา
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึง คสช.ยุบวุฒิสภาว่า จากนี้ คสช.คงตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิก สนช. น่าจะประกอบด้วยตัวแทนจากทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อให้มีความสมดุล เป็นกลาง ใช้อำนาจหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และหากจะมี ส.ว.จากกลุ่ม 40 ส.ว.ไปร่วมเป็น สนช.ด้วย ถือว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะโอกาสของพวกเขาดีกว่าคนอื่นอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าไม่น่าจะได้เข้าร่วมเยอะ หวังว่าปัญหาทุกอย่างจะถูกแก้ไขโดยเร็ว ผลประโยชน์ต้องตกอยู่กับคนไทยทุกคน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 จัดเลี้ยงอำลาส.ว. โดยมี อดีตส.ว.เข้าร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว. ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น
นายสุรชัย กล่าวถึงแนวทางของ คสช.จะตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า คาดการณ์ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับ คสช.เป็นผู้ตัดสินใจ มองว่าหลัง จากนี้ คสช.จะออกธรรมนูญชั่วคราวมาบังคับใช้ก่อน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศชาติให้เดินต่อได้ แต่เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติและมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เชื่อว่าระบบสองสภาจะยังคงอยู่ จากนี้จะเฝ้าติดตามการทำหน้าที่ของ คสช.
เลขาวุฒิฯจี้อดีตสว.แจงทรัพย์สิน
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีตส.ว.สรรหา กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ตนคาดหวังให้พวกเราละอุดมการณ์และความเชื่อส่วนตัว ตนไม่ชอบการรัฐประหารและการใช้อำนาจเผด็จการ แต่เห็นว่าการที่มีการแสดงพลังต่อต้านรัฐประหารอาจกลายเป็นประเด็นเกิดความรุนแรง และตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองของฝ่ายผู้สูญเสียอำนาจ สถานการณ์ตอนนี้อยู่ในช่วงสร้างเสถียรภาพ แก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ประชาชน เชื่อว่าหลังจากเดือนก.ย. สถานการณ์โดยรวมจะเข้าสู่สภาวะปกติ เนื่องจากจะมีการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2558 ทำให้เศรษฐกิจทั้งการลงทุนและการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ กลับมาเดินหน้าไปได้ ช่วยให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งมากขึ้น
นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า จากนี้อดีต ส.ว.ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินหลังพ้นตำแหน่ง ภายใน 30 วัน หรือภายในวันที่ 23 มิ.ย. เบื้องต้นได้ประสานอดีต ส.ว.ให้เตรียมเอกสาร และกลางเดือนมิ.ย. ตนจะประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้มารับเรื่องกับอดีตสมาชิก ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับอดีตสมาชิก
กัมพูชาปัดให้ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น
วันที่ 26 พ.ค. เว็บไซต์พนมเปญโพสต์ของกัมพูชารายงานว่า สมาชิกอาวุโสของรัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ ในกรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ปรึกษาทางกฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า รัฐบาลต่างชาติจำนวนหนึ่งตอบรับเป็นฐานที่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของสมาชิกรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งกำลังพิจารณาจัดตั้ง โดยเฉพาะกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรหลักของพ.ต.ท.ทักษิณ โดยระบุว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญของกัมพูชามีความเป็นกลาง ไม่ข้องเกี่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม และไม่ว่าจะเป็นกิจการภายในหรือภายนอกประเทศ
"ผมคิดว่าไม่ว่าใครก็ตามที่รู้สึกว่า กัมพูชาจะเป็นที่ตั้งของรัฐบาลไทยพลัดถิ่นนั้น มันไม่มีความเป็นไปได้ อันดับแรกเพราะรัฐธรรมนูญของเรา อันดับที่ 2 คือเราเข้าใจหลักการของภูมิภาคดีว่าเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับหลักการระหว่างประเทศ" นายพาย สีพัน โฆษกคณะรัฐมนตรีกัมพูชากล่าว
ด้านนายเขียว กันหริต รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารกัมพูชาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า กัมพูชาไม่สามารถอนุญาตให้มีรัฐบาลในรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นบนผืนดินกัมพูชาได้
ด้านนายอัมสเตอร์ดัมให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ปฏิเสธที่จะยืนยันว่ารัฐบาลกัมพูชาได้รับการติดต่อเพื่อให้เป็นที่จัดตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่นหรือไม่ โดยระบุเพียงว่า มีการหารือถึงการพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเท่านั้น สถานการณ์ในประเทศไทยยังไม่แน่นอน เราไม่ได้แถลงการณ์แต่เตรียมความพร้อม ตนไม่อยากพูดถึงประเทศที่จะเป็นที่ตั้งของรัฐบาลไทยพลัดถิ่น และจะไม่พูดว่าเป็นที่ไหนเพราะมันไม่มีเหตุผล ตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยพลัดถิ่นจะขึ้นอยู่กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณ แม้จะถือเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยก็ตาม
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา กล่าวระหว่างเยือนการประชุมสุดยอดอาเซียนที่พม่า โดยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนของไทยเร่งแก้วิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมเน้นย้ำให้เคารพในหลักประชาธิปไตย
โอนคดีร.ต.มาร์คให้ศาลยุติธรรมชี้
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 พ.ค. ศาลปกครองกลางอ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ในคดีหมายเลขดำที่ 2900/2555 เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมโดยศาลแพ่ง ซึ่งคดีนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื่นฟ้องรมว.กลาโหม ต่อศาลปกครอง กรณีได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดี มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 ลงวันที่ 8 พ.ย. 2555 ปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ เววชาชีวะ ออกจากราชการทหาร ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2531 เป็นต้นไป โดยผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มีคำวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เนื่องจากเห็นว่าข้อพิพาทในคดีนี้เกี่ยวกับการดำเนินการวินัยทหารที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคสอง (1) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
สำหรับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ประกอบด้วยนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด นายจรัญ หัตถกรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง พล.ร.ท.กฤษฎา เจริญพานิช หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และพล.ต.พัฒนพงษ์ เกิดอุดม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิศาลทหาร และนายจิระ บุญพจนสุนทร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครองชี้แจงว่า เมื่อคู่กรณีในคดีโต้แย้งเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาล จะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ที่จะชี้ขาด โดยให้ศาลที่คู่กรณีอ้างถึง ทำคำชี้แจงเหตุผลว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลของตนเองหรือไม่ สุดท้ายคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ จะชี้เป็นรายคดีไป โดยไม่อาจอุทธรณ์ได้อีกแล้ว ซึ่งในคดีนี้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ชี้ว่าคดีนี้ให้มีผลผูกพันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมแต่เพียงศาลเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คู่กรณี สำนักงานศาลปกครองจะโอนสำนวนคดีไปดำเนินการต่อในศาลยุติธรรมทันที โดยคู่กรณีไม่ต้องยื่นฟ้องใหม่
เลื่อนคดีพธม.ยึดสนามบิน 15 ธค.
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานคดีหมายเลขดำที่ อ.973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวก 96 คน ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ กรณีพวกจำเลยบุกเข้าไปในสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551
โดยวันนี้ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า จำเลยที่ 3, 7-15, 17-25, 27-39, 41-58, 60-66, 69-74, 77, 80, 83-87, 89-96 ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ควบคุมแล้วนำไปกักตัวไว้ ซึ่งทราบว่าได้ปล่อยตัวและให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอมารับ เพื่อรายงานตัวกับพนักงานอัยการคดีพิเศษ จึงไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ส่วนจำเลยที่ 2 , 4 , 5 และจำเลยที่ 16 นั้น คสช.มีคำสั่งให้ไปรายงานตัวที่กองทัพบก จึงไม่สามารถเดินทางมาได้ นอกจากนี้พล.อ.จำลอง จำเลยที่ 1 มีอาการเป็นโรคหัวใจ จึงขอเลื่อนนัดพร้อมประชุมคดีเพื่อกำหนดนัดสืบพยาน และตรวจพยานหลักฐานไปก่อน
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยมีเหตุจำเป็นที่ไม่มาศาล โดยไม่มีเจตนาที่จะหลบหนี จึงอนุญาตให้เลื่อนนัดไปวันที่ 15 ธ.ค.2557 เวลา 10.00 น. ขณะเดียวกันเนื่องจากคดีมีพยานเอกสารจำนวนมาก จึงเห็นควรนัดประชุมคดีเพื่อพิจารณาในส่วนของพยานหลักฐาน เฉพาะพนักงานอัยการโจทก์ ทนายจำเลยและศาล ในวันที่ 11 ส.ค.
จักรทิพย์ดึงอำนวยกลับบช.น.
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 26 พ.ค. ที่ บช.น. พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร. รรท. ผบช.น. เรียกประชุมรองผบช.น. ผบก.ทุกหน่วย และผกก.ในสังกัดบก.อก. จากนั้นพล.ต.ท.จักรทิพย์เปิดเผยว่า วันนี้ไม่มีอะไรมากเพราะของเดิมที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง แบ่งหน้าที่ไว้ถือว่าดีอยู่แล้ว ปรับเรื่องงานความมั่นคงให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ ผกก.โรงพักทำงานกับ ผบ.กรม ผบก.น.1-9 กับผบ.พล. ส่วนตนทำคู่ขนานกับแม่ทัพภาคที่ 1 สำหรับตนเคยอยู่ บช.น.มานานกลับมาคราวนี้คงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนการจัดทัพใหม่ตนมาระยะสั้นๆ 3-4 เดือนไม่สามารถปรับอะไรได้มากอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวดึง พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.ศ. อดีตรองผบช.น. มาช่วยราชการบช.น. พล.ต.ท.จักรทิพย์กล่าวว่า เป็นแนวคิด เพราะ พล.ต.ต.อำนวยมีความรู้เรื่องการสอบสวนอย่างดี มีลูกศิษย์เยอะ แต่ไม่รู้ว่าขอไปแล้วจะได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.จักรทิพย์ยังไม่ได้เข้าไปนั่งทำงานในห้อง ผบช.น. เพียงจัดโต๊ะทำงานไว้หน้าห้องเท่านั้น เพื่อให้เกียรติ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ นายตำรวจรุ่นพี่ ส่วนการรองรับพล.ต.ต.อำนวยกลับมาช่วยราชการรองผบช.น.นั้น ได้จัดเตรียมห้องไว้ที่หน้าห้อง ประชุมใหญ่บช.น. ติดกับห้อง พล.ต.ต.ชาญ วิมลศรี รอง ผบช.ช่วยราชการ บช.น. ซึ่งมาช่วยราชการก่อนหน้านี้แล้ว
รับพระบรมราชโองการ 'บิ๊กตู่'แจง เก้าอี้นายกอยู่ในขั้นตอน ฮึ่มเฟซบุ๊กสร้างขัดแย้ง นักวิชาการขอคืนพื้นที่ 'พท.'รายงานตัวอีกชุด ตร.เล็งยกชั้นกระทรวง ดันผ่าตัดใหญ่ดีเอสไอ
'ประยุทธ์'เข้าพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นหัวหน้า คสช. ย้ำบ้านเมืองมีปัญหา ต้องยุติให้ได้ ให้ประชาชนทำความเข้าใจกับการปฏิบัติการของทหาร ตร.ยุบสำนักงานตามโครงสร้างปฏิรูปเสนอตั้งเป็น'กระทรวงรักษาความปลอดภัยสาธารณะ'
@ ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคสช.
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ใจความดังนี้
"ด้วยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำความกราบบังคมทูลว่า เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือเหตุจลาจล ส่ง
ผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและอื่นๆ อันจะก่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย คณะทหารและตำรวจ ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เวลา 16.30 นาฬิกา เป็นต้นไป
"ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยแก่ประเทศชาติและความสมานฉันท์ของประชาชน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"
"ประกาศ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน"
@ "บิ๊กตู่"เปิดใจหลังโปรดเกล้าฯ
ต่อมาเมื่อเวลา 11.15 น. ที่หอประชุมกิตติขจร กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน ได้มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ท.บ. เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้เปิดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กล่าวว่า วันนี้นั้นได้เสร็จพิธีรับประกาศพระบรมราชโองการในการทรงแต่งตั้งให้ตนเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
"ทั้งนี้ ผมกราบพระบาทและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งไว้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามการปฏิบัติตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมาเช่นทุกครั้ง ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งในยามปกติและไม่ปกติ จากนี้ไปถือว่าเป็นการบริหารราชการภายใต้พระบรมราชโองการและเป็นไปตามกฎหมาย"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การบริหารราชการของ คสช. ภาระสำคัญที่สุด คือการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศเตรียมข้อกฎหมายทุกเรื่อง และเตรียมการสู่อนาคตจัดตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลและรับผิดชอบภาคปฏิรูปในทุกเรื่องที่เป็นปัญหาข้อขัดแย้งและกระบวนการทางนิติบัญญัติ เพื่อให้สามารถเดินหน้าประเทศไทยไปสู่อนาคตได้ นำสู่เป็นประชาธิปไตยอย่างสันติวิธีและถาวร ปราศจากความขัดแย้ง ระหว่างนี้ การบังคับใช้กฎหมายทุกอย่างยังเข้มข้นเท่าเดิม หรืออาจจะมากกว่าเดิมหากมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้น มีการขัดขืนดื้อดึง
@ เข้าใจดีถึงกระบวนการปชต.
"บ้านเมืองเรามีปัญหา เราจะต้องยุติปัญหาให้ได้ พวกเรามิได้มุ่งหวังในการเข้าสู่อำนาจ เพื่อมีอำนาจ มีประโยชน์ แต่มันมีเหตุผลและความจำเป็นที่ได้กล่าวไปหลายครั้งแล้ว ขอความร่วมมือจากประชาชนที่รักทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ขอเวลาทำความเข้าใจกับสถานการณ์กับการปฏิบัติการของพวกเราเวลานี้ เราไม่ได้มุ่งหวังที่จะไปขัดแย้งกับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด เราเข้าใจดีถึงกระบวนการประชาธิปไตย ทั่วโลกทำอยู่ และเราก็เป็นอยู่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ในส่วนของความร่วมมือสื่อมวลชนตอนหนึ่งด้วยว่า สื่อต้องไม่ขยายความขัดแย้ง เฟซบุ๊กอย่าสร้างคอมเมนต์ขึ้นในสิ่งที่สร้างความขัดแย้ง ถ้าจำเป็นจะเรียกตัว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้เริ่มมีการประท้วง อยากจะกลับไปสู่อันเก่าใช่หรือไม่ ถามประชาชนในชาติ ถ้าต้องการอย่างนั้นก็จะต้องใช้กฎหมาย การดำเนินการอะไรก็ตาม จะต้องนำขึ้นสู่ศาลทหาร เฉพาะการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะดำเนินการด้วยกฎหมายปกติก็คงไม่ได้ ไม่อยากให้สังคมโจมตีประณามเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อีกต่อไปว่าเราไม่ได้ทำอะไร ซึ่งเราก็ทำตามกระบวนการยุติธรรม
@ ยิ่งมีอำนาจต้องทำตัวให้เล็กลง
หลังแถลงข่าวเสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ถามถึงการบริหารงานในอนาคตจะต้องมีนายกรัฐมนตรี หรือว่าจะควบตำแหน่งเป็นนายกฯหรือไม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบว่า "ทำไม ทำไมต้องควบ ถามอย่างนี้ มันยังมาไม่ถึง"
เมื่อถามว่าหลายคนอยากรู้ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "มันอยู่ในแผนการอยู่แล้วนะ ใจเย็นๆ จะมี มันต้องมี อย่างไรมันต้องมี"
เมื่อถามย้ำว่าหมายถึงว่าอย่างไรต้องมีนายกฯชั่วคราวขึ้นมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องมีนายกฯ
เมื่อถามว่าทำอย่างไรต้องมีคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "มีนายกฯ คนเดียว ไม่มีคณะรัฐมนตรีจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องมีมั้ง ย้อนกลับไปดูเก่าๆ เขาทำอย่างไร ต้องมีแนวทางอยู่บ้างแล้ว บางอย่างก็มีอาจจะคล้ายคลึง บางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความถูกต้องชอบธรรม การใช้อำนาจต้องระมัดระวัง การมีอำนาจมาก บอกไปแล้วว่ายิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งต้องทำตัวให้เล็กลง อย่าคิดว่าตัวเองมีอำนาจแล้วจะทำได้ทุกอย่าง ไม่เคยคิดอย่างนั้น"
@ ถูกถามจะเป็นนายกฯหรือไม่
เมื่อถามว่า การตั้ง ครม.หรือนายกฯ จะมีภายในเร็วๆ นี้หรือไม่ เพราะจะได้ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "วันนี้ก็ขับมาหลายวันมาแล้ว ขับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการบริหารราชการแผ่นดินโดยคณะ คสช. เมื่อถามว่า ท่านเป็นนายกฯเองเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "มันอยู่ในขั้นตอน ยังไม่รู้ ก็รอดู ใจเย็น อยากเป็นเองไหมล่ะ อยากเป็นไหม พอแล้ว ขอบคุณครับ"
เมื่อถามว่าจะใช้เวลาอีกเท่าไรถึงจะมีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จนกว่าเหตุการณ์จะยุติ
@ "เพื่อไทย"รายงานตัวคึกคัก
ที่หน้าหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก คสช.ออกประกาศฉบับที่ 14-16 เรียกบุคคลให้มารายงานตัวเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 38 คน ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. วันที่ 26 พฤษภาคม ปรากฏว่า เมื่อเวลา 10.40 น. น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางเข้ารายงานตัว และในเวลาไล่เลี่ยกัน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษก พท. เดินเท้าเข้ามาโดยไม่มีผู้ติดตาม ทักทายสื่อมวลชนด้วยสีหน้าแจ่มใส พร้อมโชว์กระเป๋าสะพายก่อนกล่าวว่า "เตรียมของใช้ส่วนตัวมานิดหน่อย ตอนเย็นก็กลับแล้ว" ก่อนที่นายอนุสรณ์จะข้ามถนนเข้าไปยังหอประชุมกองทัพบกเพื่อรายงานตัว โดยทำท่าแสดงความเคารพแบบทหาร 3 ครั้ง
เวลา 11.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษก พท. พร้อมด้วย น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พท. บุตรสาวของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ชุนนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 เดินทางมาด้วยรถตู้สีดำ จากนั้นนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้ารายงานตัวเช่นกัน
@ "ดำรงค์"บอกอย่าไปต้านคสช.
ต่อมาเวลา 13.00 น. นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งนายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย เดินทางมารายงานตัว
นายดำรงค์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการรายงานตัวว่า เนื้อหาการพูดคุยในรายงานตัวเกี่ยวกับเรื่องการปลูกป่า ย้ำว่าการเรียกมารายงานตัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งการเรียกมารายงานตัวมีคนที่ถูกเรียกเหมือนกันทั้งสองฝ่าย มองดูแล้วก็เท่าเทียมกันดี เห็นว่าดีแล้วที่จะสามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองได้ อยากให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกันอย่าไปต่อต้านคณะ คสช.
@ ทหารนำตัว"น้องเดียร์"ขึ้นรถตู้
เวลา 15.25 น. ภายหลังจากนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด นายวิม รุ่งวัฒนจินดา และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ได้รายงานตัวเสร็จสิ้น ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวขึ้นรถตู้สีขาวของกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) มีทหารนั่งประกบเดินทางออกจากหอประชุมกองทัพบก ใช้เส้นทางถนนนครราชสีมา มุ่งหน้าไปทางแยกการเรือน
เวลา 17.00 น. น.ส.ขัตติยาและ น.ส.จารุพรรณ ถูกนำตัวขึ้นรถตู้ออกจากหอประชุมกองทัพบก ทั้งนี้ตลอดช่วงบ่าย มีรถตู้ทยอยขับออกมาจากหอประชุมกองทัพบกหลายคัน บางคันติดฟิล์มสีดำ บางคันปิดผ้าม่าน ปิดทะเบียน ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้โดยสารเป็นใครและมุ่งหน้าไปที่ใด
ขณะเดียวกัน มีรถตู้สีขาวนำตัวนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และประธานอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ (อพปช.) ถูกนำตัวมาจาก จ.นครราชสีมา เดินทางมายังหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์
@ "อี้"เผย"มาร์ค"ให้กำลังใจ
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ก่อนเดินทางเข้ารายงานตัวต่อ คสช.ว่า ได้เตรียมเสื้อผ้าไปด้วย พร้อมที่จะถูกกักตัว หากมีการขอไม่ให้โพสต์ข้อความคัดค้านการรัฐประหารก็ยินดี เพราะไม่อยากเป็นตัวกลางสร้างความขัดแย้ง ทั้งนี้ในช่วงเช้าวันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. ได้โทรศัพท์มาให้กำลังใจ บอกว่าขอให้ใจเย็นๆ ซึ่งหัวหน้าพรรคก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เชื่อว่าปัญหาจะไม่จบจะบานปลายออกไปอีก แต่เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ต้องช่วยกันประคับประคองกันไป
@ เผยเหตุผลแสดงความคิดเห็น
นายแทนคุณ กล่าวว่า การที่ตนโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะเห็นว่าสิ่งที่กลุ่ม กปปส.ต้องการคืออยากเห็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ การที่ทหารออกมาปกป้องชีวิตของประชาชนตามอำนาจในการประกาใช้กฎอัยการศึกเป็นเรื่องที่ดี แต่แนวทางการแก้ปัญหา ดำเนินการเป็น 3 ประสานได้คือ ทหาร ประชาชน และข้าราชการ รวมถึง ส.ว.ที่มีอยู่ เน้นการเจรจาหาทางออกภายใต้รัฐธรรมนูญ จะทำให้พบกับทางออกที่แท้จริง แต่เมื่อเดินมาสู่ทางออกเช่นนี้ เชื่อว่าปัญหาไม่มีทางจบ ที่สุดแล้วเมื่อมีการเลือกตั้งและพรรคเพื่อไทย (พท.) จะได้รับเลือกกลับมาอีก เขาจะอ้างว่ากฎหมายที่ออกโดย คสช.ไม่เป็นธรรม เปิดช่องให้เขาเรียกร้องกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยการเซตซีโร่ใหม่ อาจทำให้คนที่เคยออกมาสู้กับระบอบทักษิณไม่ออกมาสู้อีก เพราะคิดว่าเมื่อทหารออกมาแล้ว แต่ปัญหายังวนกลับที่เดิม ออกมาก็คงไม่ได้อะไร
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายแทนคุณได้เดินทางเข้ารายงานตัวแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวในทันที ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานกรรมการบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่มารายงานตัวเมื่อช่วงเช้า ได้เดินทางกลับออกมา นอกจากนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เข้ามารายงานตัวเช่นกัน
@ จารุพงศ์โพสต์ยันห่วงปชช.
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้โพสต์ภาพลงเฟซบุ๊ก "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" ขณะกำลังนั่งอยู่บนเรือ โดยสวมหมวกและแว่นตาสีดำ พร้อมข้อความว่า "เป็นห่วงพี่น้องคนไทยหัวใจเสรีกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ทหารใช้ผ้าคลุมและอุ้มประชาชนมือเปล่า เป็นภาพซ้ำๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ แต่การที่ประชาชนออกมาแสดงให้เห็นว่าประชาชนตาสว่างแล้ว หนทางสู่ชัยชนะของประชาชนเริ่มเห็นแสงสว่าง"
@ คสช.ปัดเปลี่ยนเวลาเคอร์ฟิว
เมื่อเวลา 15.00 น. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงข่าวการเปลี่ยนเวลาประกาศเคอร์ฟิว เป็นเวลา 24.00-04.00 น. และจะมีการยืดเวลาการประกาศออกไปอีกนั้น เป็นเพียงข่าวลือ ขอให้ยึดการประกาศเคอร์ฟิวที่เวลา 22.00-05.00 น. เหมือนเดิม ยกเว้นภาคธุรกิจบางประเภทที่มีการพูดคุยกันแล้ว ส่วนการดำเนินการกับบุคคลที่เผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียในการยุยงปลุกปั่น การดำเนินการเอาผิดไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะข่าวลือที่เป็นปัญหาหลัก มีการบิดเบือนประกาศคำสั่งของ คสช. ซึ่งมักใช้ช่องทางเหล่านี้ คสช.จะดำเนินการทางกฎหมายโดยเร็วที่สุด
@ ฮึ่มใช้กม.จัดการกลุ่มต้าน
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า กรณีการเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐประหารนั้น ยืนยันว่าสภาพบ้านเมืองยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ ยังมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงสูงสุด ฐานความผิดจะรุนแรง อยากเตือนประชาชนให้หยุดการดำเนินการดังกล่าว พบว่าการเคลื่อนไหวมี 2 แบบ กลุ่มแรก คสช.มีความเข้าใจว่าเป็นการแสดงออกต้องการประชาธิปไตย ส่วนกลุ่มที่สอง เคลื่อนไหวมีนัยยะแอบแฝง มีการปลุกปั่น ปลุกระดม ซึ่งการเคลื่อนไหวทั้งสองแบบผิดกฎหมาย โดยจะใช้มาตรการเบาหรือหนักนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่
@ แจงปล่อยตัว"ยิ่งลักษณ์"แล้ว
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า คสช.ได้ปล่อยตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะต้องมีทหารควบคุมดูแลหรือไม่ นอกจากนี้การเรียกรายงานตัวเพิ่มเติมยังไม่มีตัวเลขแน่ชัด แต่ทุกคนที่เรียกมีความเกี่ยวพันกับความไม่สงบทั้งทางตรงและอ้อม โดยติดตามจากทัศนคติที่มีความเห็นนำไปสู่ความรุนแรง ด้านแกนนำ กปปส.ที่มีการปล่อยตัวแล้วไม่สามารถไปไหนได้เพราะมีรูปคดีเกี่ยวกับระบบยุติธรรมเดิม ทั้งนี้ การควบคุมตัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่สามารถเปิดเผยได้มาก ไม่อยากให้เป็นกระแสมาก ทั้งนี้การเรียกรายงานตัวจะมีอยู่ 3 กลุ่ม และกลุ่มที่ถูกควบคุมตัวก็เพื่อปรับความเข้าใจจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน
@ "เยาวภา"ถูกปล่อยตัวเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงใหม่ ว่า ได้รับการยืนยันจากคนใกล้ชิดครอบครัวตระกูลชินวัตรว่านางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือเจ๊แดง อดีต ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 พท. ที่ถูกคำสั่งของ คสช.ให้เข้ารายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในคำสั่งเดียวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนั้น เจ้าหน้าที่ทหารได้ทำการปล่อยตัวแล้ว โดยคนในครอบครัวรายหนึ่งแจ้งว่า "ครอบครัวเราสบายดี ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 21.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์รูปภาพนายพานทองแท้ ชินวัตร พี่ชาย ขณะนั่งเล่นคอมพิวเตอร์และอ่านหนังสือพิมพ์ พร้อมระบุข้อความว่า "ปลอดภัยคร้าบบบ ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง" ในอินสตาแกรม ชื่อ ingshin21
@ "สุรชัย"จัดงาน-เสียดายถูกยุบ
เมื่อเวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ได้จัดเลี้ยงอำลาสมาชิกวุฒิสภาที่ห้องรับรอง 1-2 หลัง คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 30/2557 ที่ให้วุฒิสภาสิ้นสุดอำนาจลง มีอดีต ส.ว.เข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม เป็นต้น
นายสุรชัย ได้กล่าวความในใจตอนหนึ่งกับสมาชิกว่า เสียดายที่ได้อยู่ร่วมทำงานกันน้อยเกินไป หากยังทำหน้าที่อยู่ต่อไป คงจะเป็นประโยชน์กับหลายภาคส่วน
พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวด้วยว่าความเชื่อโดยส่วนตัว ตนไม่ชอบการรัฐประหารและการใช้อำนาจเผด็จการ แต่เห็นว่าการดำเนินการที่มีการแสดงพลังเป็นกลุ่มย่อยต่อต้านการรัฐประหาร อาจเป็นประเด็นทำให้เกิดความรุนแรง อาจตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองของฝ่ายผู้สูญเสียอำนาจ ส่วนตัวมองว่าการควบคุมตัวบุคคลต่างๆ เพื่อให้บุคคลนั้นได้ทบทวนตัวเองที่ผ่านมา หากได้อยู่สภาวะที่ทำให้จิตใจสงบก็จะคลายความเสียดายในการสูญเสียอำนาจลงได้
พล.อ.อ.วีรวิท กล่าวว่า หลังเดือนกันยายนนี้ สถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ จะมีการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2558 ออกมา จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการลงทุน และการดำเนินการตามนโยบายต่างๆ กลับมาเดินหน้าไปได้
@ "นิคม"เผยการตั้งสภานิติบัญญัติ
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า จากนี้ไป คสช.คงจะตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป มองว่าสมาชิก สนช.น่าจะประกอบตัวแทนจากทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อให้มีความสมดุล เป็นกลาง ใช้อำนาจหน้าที่เป็นธรรม หากจะมีกลุ่ม 40 ส.ว. ไปร่วมเป็น สนช.ด้วย ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ โอกาสของพวกเขาดีกว่าคนอื่นอยู่แล้ว แต่ไม่น่าจะได้เข้าร่วมเยอะหวังว่าปัญหาทุกอย่างจะถูกแก้ไขจนแล้วเสร็จโดยเร็ว ผลประโยชน์ที่ได้ ต้องตกอยู่กับคนไทยทุกคน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
@ ปลัดยุติธรรมเรียกประชุมใหญ่
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเรียกประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ว่า ที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ เพื่อเสนอเป็นนโยบายเร่งด่วนให้คสช.พิจารณา สาระสำคัญการประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและปรับการทำงานให้เข้ากับระบบใหม่ภายใต้การบริหารของ คสช.
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้สรุป 3 เรื่องเร่งด่วน เพื่อเสนอ คสช.รับทราบ 1.การให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสหรือยากจนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยปัญหาและข้อพิพาทในชุมชน เช่น ในรูปแบบของยุติธรรมชุมชน รวมถึงการตั้งกองทุนยุติธรรมเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 2.การเสนอปรับการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้มีความโปร่งใส ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
@ เสนอปรับการแต่งตั้งอธิบดีดีเอสไอ
นายกิตติพงษ์กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะตำแหน่งของอธิบดีดีเอสไอต้องสร้างหลักประกันการทำงาน เริ่มจากระบบการได้มาของตำแหน่งอธิบดี ควรปรับคล้ายกับการคัดเลือกของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมแต่งตั้งด้วย ไม่ใช่มีแต่นักการเมือง เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความต้องการของประชาชน ยืนยันว่าจะปรับปรุงให้ไม่น้อยกว่ามาตรฐานของ ก.ต.ช. และขอปฏิเสธว่า การปรับปรุงการทำงานครั้งนี้ไม่ใช่ให้ดีเอสไอเป็นซุปเปอร์กรม เพราะกรณีดังกล่าวเป็นประโยชน์เฉพาะหน่วยงานไม่ใช่ประชาชน
นายกิตติพงษ์ กล่าวด้วยว่า จะเสนอ คสช. เรื่องการพัฒนาระบบปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง หัวหน้า คสช.จะให้ความสำคัญกับการปฏิรูป เห็นว่า คสช.จะให้ความสำคัญกับการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการปฏิรูป และส่วนตัว ยังยืนยันว่าไม่ได้รับการทาบทามให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ส่วนการดำรงปลัดกระทรวงยุติธรรมของตน โดยในช่วง 60 วัน ตามกรอบของกฎหมายระหว่างการโยกย้ายตำแหน่งนั้น จะยังคงทำหน้าที่เพื่อวางแนวทางการทำงานและจัดระบบที่เหมาะสมต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมประชุมเกือบครบ ขาดเพียงผู้ที่ติดราชการอื่นๆ อาทิ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี และ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รักษาการอธิบดีดีเอสไอ โดยในส่วนของดีเอสไอ ส่งนายเพิ่มพูน พึ่งประสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอมาประชุมแทน
@ "ชัชวาลย์"จัดประชุมดีเอสไอ
ที่ดีเอสไอ อาคารบี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการอธิบดีดีเอสไอ ได้เรียกประชุมผู้บริหารดีเอสไอ โดยมีรองอธิบดีดีเอสไอ ผู้บัญชาการสำนักคดี และผู้อำนวยการศูนย์ประจำภาคต่างๆ เข้าร่วม ประชุม พล.ต.อ.ชัชวาลย์ให้สัมภาษณ์ต่อมาว่า การเรียกประชุมวันนี้ยังไม่เป็นทางการ ยังไม่ขอให้สัมภาษณ์
@ "วัชรพล"แบ่งงาน-มอบนโยบาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. ได้ประชุมแบ่งงานและมอบนโยบายกับผู้ช่วย ผบ.ตร.และรอง ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม โดย พล.ต.อ.วัชรพล เน้นในที่ประชุมว่า การแบ่งงานเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยโอนงานที่ตนเองรับผิดชอบ แนวนโยบายพัฒนาด้านต่างๆ ให้เป็นไปตามที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี วางไว้ และให้ขับเคลื่อนระบบศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมบุคลากร พัฒนาหน่วยที่ตั้ง อาคารสถานที่ โดยเรื่องของ ศปก.ตร.ถือเป็นกลไกในการทำงานที่ไม่เพียงแต่คนไทยที่ชื่นชม ต่างชาติก็ชื่นชม ให้ยึดถือปฏิบัติประชุมขับเคลื่อนต่อไป เพราะเราได้ผลักดันเรื่องนี้มานานกว่าที่เจ้าหน้าที่จะเข้าใจระบบ
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวในที่ประชุมด้วยว่า ให้ตำรวจทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม เข้าใจว่าหลายคนอ่อนไหว ความไม่พอใจห้ามไม่ได้ แต่ให้หลายคนตระหนักให้ดีว่า งานตำรวจ งานมั่นคงแยกจากกันไม่ได้ ในภาวะบ้านเมืองแบบนี้ เรามุ่งมั่นทำหน้าที่ เพราะกระทบต่อปากท้อง เศรษฐกิจ การขับเคลื่อนสู่ประชาคมอาเซียน เราต้องมุ่งมั่น สามัคคี การเมืองเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ ให้ผ่านวิกฤตบ้านเมืองไปได้ ตำรวจต้องไปทำหน้าที่ของตำรวจ ขอความร่วมมือทำงาน ไม่หวั่นไหว และให้ทำความเข้าใจผู้ใต้บังคับบัญชา ย้ำให้ทำหน้าที่ไม่มีนโยบายอะไรใหม่ ทำอย่างไรให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ อะไรก็ได้ที่ทำให้ตำรวจมีคุณธรรมมากขึ้น อะไรที่จะทำให้ตำรวจมีศักดิ์ศรี บางอย่างตามนโยบายก็ต้องปรับเปลี่ยน ถามว่าที่ปรับเปลี่ยนใช้หลักอะไร บางทีก็มีปัจจัยหลายอย่างในภาวะแบบนี้ ก็ให้ไปทำหน้าที่ กระแสสังคมจะตอบกลับเอง
@ ยุบตร.-สัปดาห์หน้าอวดโฉมใหม่
พล.ต.อ.วัชรพลยังพูดถึงการปฏิรูปตำรวจ เน้นการกระจายอำนาจ ช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดี เพราะการใช้กฎหมายพิเศษขณะนี้น่าจะต่อเนื่องประมาณ 2 สัปดาห์ ต่อไปคงมีการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ตั้งสภาปฏิรูป ตอนนี้ ตร.กำลังทำร่างปฏิรูปใกล้เสร็จแล้วเชื่อว่าสัปดาห์หน้าจะสามารถหารือระดับผู้บริหาร ตร.ได้ โดยจะยุบ ตร. จัดตั้งเป็น "กระทรวงรักษาความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety)" เป็นการกระจายอำนาจให้ชุมชน มีปลัดกระทรวง รองปลัดประทรวง รวมจำนวน 17 กรม มีอธิบดีภาค จะแก้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ว่าจะแก้มาตราไหนบ้าง รวมทั้งแก้ ป.วิอาญา มาตรา 145 พ.ร.บ.อาวุธปืน จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความปลอดภัยสาธารณะ เช่นเดียวกับ กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น
"รวมถึงการแก้ไขตำรวจมียศ ไม่มียศ ทำให้ไม่ต้องวิ่งไปไหน ยกเลิกคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) อย่างเดียว ล้อกับระบบมาจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ก.พ. โรงพักต้องมี 2 ชั้น ทำงานดีก็อยู่ชั้น 1 ทำงานไม่ดีอยู่ชั้น 2 การเติบโตก็จะยาก ต่อไปเราจะไม่ใช่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรม ต้องผลักดันให้ได้ภายใน 4 เดือนนี้" พล.ต.อ.วัชรพลกล่าว
@ บอกตำรวจด้วยกันอย่าสนข่าวลือ
เมื่อเวลา 11.45 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.อนุชา รมยะนันทน์ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า ช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมคอนเฟอเรนซ์ไปยังกองบัญชาการ (บช.) ทั่วประเทศ โดย พล.ต.ท.วัชรพลสั่งการให้ทุกหน่วยเคร่งครัดการดูแลพื้นที่ให้เกิดความสงบเรียบร้อย การชุมนุมต่างๆ ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและคำสั่ง
พล.ต.ต.อนุชา กล่าวต่อว่า รรท.ผบ.ตร.ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความจำเป็นในการบริหาร โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนตัวบุคคล ยืนยันว่าผู้บริหารของ ตร. จะร่วมมือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของทุก บช. มีนโยบายในเรื่องของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์กรให้สามารถเคลื่อนตัวไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้หน่วยงานรับผิดชอบเต็มที่ ไม่ต้องสนใจข่าวลือต่างๆ เรื่องการปรับย้าย เพราะยังไม่มีนโยบายในขณะนี้ หากมีการปรับเปลี่ยนก็เพราะพื้นที่นั้นไม่มีการเอาใจใส่ถึงข้อสั่งการต่างๆ ถ้ามีการเสนอแนะการปรับเปลี่ยนอย่างไร
ผู้บังคับบัญชาจะพูดคุยกันอย่างยุติธรรมรองโฆษก ตร.กล่าวด้วยว่า รรท.ผบ.ตร.ยังกำชับคดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับล่วงละเมิดต่อสถาบันที่เป็นคดีแล้วให้ดำเนินการตามขั้นกฎหมายอย่างเข้มงวด หากออกหมายจับให้เร่งรัดจับกุม และหากยังไม่มีการออกหมายจับให้ดำเนินการโดยเร็วแต่เน้นความเป็นธรรม ส่วนกรณี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ปฏิบัติหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี ได้วางแนวทางไว้ขอให้ทุกหน่วยดำเนินการต่อ และ พล.ต.อ.วัชรพลจะมีการติดตามการทำงานทุกวัน ผ่านระบบการประชุม ขอให้ผู้ดูแลพื้นที่ พร้อมที่จะให้ข้อมูลต่างๆ หากมีเหตุเกิดขึ้นในพื้นที่ใดก็ตาม ผู้ดูแลพื้นที่จะต้องให้ข้อมูลได้ทันที
รองโฆษก ตร.กล่าวอีกว่า กรณีที่มีกระแสการปฏิรูปตำรวจ ขณะนี้เป็นเรื่องสำคัญทั้งในระดับของประเทศในการปฏิรูป โดย ตร.จะนำข้อเรียกร้องของสังคมในการปฏิรูปต่างๆ ที่เป็นข่าวไปแล้ว เน้นการกระจายอำนาจ ตร.จะไม่เป็นศูนย์กลางเพียงที่เดียว ทั้งนี้การปฏิรูปดังกล่าวจะเร่งภายใน 4 เดือนเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม
@ "จักรทิพย์"ถก 3 นโยบายบช.น.
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.ผบช.น.) เรียกประชุม รอง ผบช.น. ผู้บังคับการ (ผบก.) และผู้กำกับการ (ผกก.) ในสังกัด บก.อก. หลังรับคำสั่งจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร.ให้มาปฏิบัติหน้าที่แทน โดยพูดเรื่องนโยบาย 3 เรื่องคือ การแบ่งหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับทหาร และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลา 1 ชั่วโมง
พล.ต.ท.จักรทิพย์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ไม่มีอะไรมาก แต่ปรับนิดหน่อยเพราะเดิมที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง แบ่งหน้าที่ถือว่าดีอยู่แล้ว แต่ปรับเรื่องงานความมั่นคงให้เข้าสถานการณ์มากขึ้น อีกส่วนคือเรื่องทำงานกับทหาร เป็นการทำงานระหว่างทหารกับตำรวจ ผกก.โรงพักกับผู้การกรม ผบก.น.1-9 กับ ผบ.พล. ส่วนตนก็ทำคู่ขนานกับแม่ทัพภาคที่ 1
ผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงเคอร์ฟิวตำรวจจะตรวจร่วมอย่างไร เพราะยังมีประชาชนบางส่วนที่ออกมาขัดคำสั่ง คสช. พล.ต.ท.จักรทิพย์กล่าวว่า ต้องหารือในส่วนของอัตราโทษว่าฝ่าฝืนเคอร์ฟิวจะมีบทลงโทษอย่างไร
ถามว่าหนักใจหรือไม่ที่มาเป็น รรท.ผบช.น.ช่วงที่มีการแบ่งฝ่ายและแตกแยก พล.ต.ท.จักรทิพย์กล่าวว่า ไม่มี อยู่ตรงนี้มานานตั้งแต่เป็น ผบก.สปพ. (191) มาเป็น ผบช.น. และกลับมาที่นี่ก็คงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนการจัดทัพใหม่คงไม่มี เพราะมาอยู่ระยะสั้นๆ 3-4 เดือน
ส่วนกระแสข่าวจะให้ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ.อดีต รอง ผบช.น.มาช่วยราชการที่ บช.น. พล.ต.ท.จักรทิพย์กล่าวว่า เป็นแนวคิด เพราะ พล.ต.ต.อำนวยมีความรู้เรื่องการสอบสวนอย่างดี มีลูกศิษย์เยอะ แต่ไม่รู้ว่าจะขอไปแล้วได้หรือไม่
@ ทหารเข้าค้นรังเสื้อแดงสุรินทร์
ที่ จ.สุรินทร์ พล.ต.นิรุทธ เกตุสิริ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบก (ผบ.จทบ.) สุรินทร์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชัยทัต อินทนูจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ และ พ.อ.ณัฏฐ์ ศรีอินทร์ เสนาธิการกองกำลังสุรนารี นำกำลังทหาร ตำรวจ เข้าตรวจค้นห้องพักหมายเลข 507 แกรนด์อพาร์ตเมนต์ ซอยสระโบราณ อ.เมือง จ.สุรินทร์ เป็นห้องพักของนางพรทิพย์ ปราชญ์นาม แกนนำ นปช.สุรินทร์ และเป็น 1 ใน 23 คนร้ายเตรียมก่อเหตุและถูกจับกุมได้ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งที่ จ.ขอนแก่น เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม
จากการตรวจค้นภายในห้อง พบเอกสารหลักฐานหมิ่นสถาบัน และโครงสร้าง นปช.จำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงเก็บรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อตรวจสอบและรายงานให้กองทัพทราบเพื่อดำเนินการต่อไป
ที่ จ.นครพนม พ.ต.ณัฐ เหมือนบุดดี ฝอ.2 จทบ.นพ.พร้อมเจ้าหน้าที่ สห. และตำรวจ สภ.เมืองนครพนม เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 109/47 ถนนราชทัณฑ์ เขตเทศบาลเมืองนครพนม เพื่อเชิญตัวนายดำรงศักดิ์ พุทธา อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านน้อยใต้ อ.เมืองนครพนม พร้อมพวกประมาณ 20 คน ให้ไปพบที่ บก.จทบ.นครพนม เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจคำสั่งของ คสช.ในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งนายดำรงศักดิ์รับว่าจะไม่เคลื่อนไหวอีก