- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 05 November 2014 10:23
- Hits: 4273
วันที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8743 ข่าวสดรายวัน
'บิ๊กตู่'วอนสื่ออีก! งดใช้คำ ฮึ่ม-โว-ฟุ้ง-ปัด-ตีปี๊บ งัดม. 44 ปรามก่อม็อบ เซ็นตั้ง'36 กมธ.'แล้ว'บวรศักดิ์'ปธ.ตามโผ วิปสนช.ถกปม'เมธี'ชี้ไม่เข้าข่ายต้องห้าม
ลอยกระทง - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลอยกระทงใบตอง ระหว่างเปิดงาน "เมืองสะอาด คนในชาติมีสุข" เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา ที่สวนลุมพินี กทม. เมื่อวันที่ 4 พ.ย.
ปธ.สปช.เซ็นแล้ว ตั้ง 36 กมธ.ยกร่างรธน. 'บวรศักดิ์'นั่งประธาน นัดถกนัดแรก 6 พ.ย.วิษณุยันรัฐธรรมนูญใหม่ไม่มีสี'บิ๊กตู่'วอนสื่อเลิกใช้คำ'โว-ฟุ้ง-ปัด-ตีปี๊บ-ฮึ่ม'เหตุทำให้ เจ้าหน้าที่ดูขี้โม้-ไม่น่าเชื่อถือ เตือนม็อบกดดันสนช. พูดไม่ฟังต้องใช้กม.จากเบาถึงหนัก'ไก่อู'ชี้สุดโต่งเจอ'ม.44'แน่ วิปสนช.ถกคุณสมบัติ'เมธี'ยันยังไม่ขัด
บิ๊กตู่นำถก'ครม.-คสช.'ครั้งที่ 2
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคสช. ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ตึกสันติไมตรี โดยจัดเป็นประจำทุกเดือน บรรยากาศคึกคัก ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมพร้อมเพรียง ซึ่งครั้งนี้มีการพิจารณารายชื่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 32 ในสัดส่วนของ ครม. 5 คน คสช. 5 คน และประธาน กมธ.ยกร่างฯ จากสัดส่วนของ คสช.อีก 1 คน ส่วนสัดส่วนที่เหลือมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5 คน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 20 คน
นอกจากนี้ คสช.จะสรุปภาพรวมสถานการณ์ของประเทศให้ ครม.รับทราบ โดยเฉพาะงานด้านความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมายในมิติต่างๆ รวมถึงผลการจัดระเบียบสังคม ความคืบหน้างานปรองดองสมานฉันท์ ความคืบหน้าการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ ครม.จะพิจารณากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน
คสช.เสนอ 10 เรื่องให้เร่งแก้ไข
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงการประชุมร่วม ครม.-คสช.ว่า คสช.รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงผลการบริหารงานด้านความมั่นคงที่ผ่านมา รวมถึงการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งยังมีข้อคิดเห็นสำคัญเสนอที่ประชุมทราบ 10 เรื่อง ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิตอล 2.การจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง เรื่องการจดทะเบียนให้ถูกต้องและให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 3.ร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ซึ่งมีหลายประเด็นควรแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค 4.ระบบการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5.การพัฒนาการศึกษาและการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน 6.การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง 7.การจัดระเบียบเรือประมงและแรงงานประมง ลดปัญหาการค้ามนุษย์ 8.กำหนดมาตรการการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด
9.งานปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป โดยมีการบูรณาการข้อมูลระหว่างศูนย์ปรองดองฯ ภาค 1-4 กับศูนย์ดำรงธรรม 10.การ เตรียมปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ มีประเด็นที่ประชาชนสนใจและถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ได้แก่ การปฏิรูปด้านการเมือง เช่น รูปแบบรัฐสภา พรรคการเมือง และส.ส. ส่วนการปฏิรูปด้านการศึกษา ได้แก่ โครงสร้างและการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ โอกาสการเข้าถึงการศึกษา การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ซึ่งความคิดเห็นนี้ได้รวบรวมมา เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการ จึงเป็นประโยชน์ที่แต่ละกระทรวงจะไปพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติเพื่อตอบสนองให้กับประชาชนต่อไป
เคาะ"บวรศักดิ์"ปธ.กมธ.ร่างรธน.
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ที่ประชุมร่วมยังพิจารณาเห็นชอบรายชื่อคณะกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะเสนอต่อ สนช. ในสัดส่วนของ คสช. ดังนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า) เป็นประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับ กมธ.ยกร่างฯ อีก 5 คน ได้แก่ 1.นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายจรูญ อินทจาร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3.นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา 4.นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 5.นายกฤต ไกรจิตติ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า รายชื่อกมธ.ยกร่างฯ ในสัดส่วนของครม. 5 คน ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 2.นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ 3.นายปกรณ์ ปรียากร อดีตโฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 4.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ 5.นายวิชัย ทิตตะภักดี ประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ส่งรายชื่อให้ปธ.สปช.แต่งตั้งแล้ว
สำหรับ รายชื่อ กมธ.ยกร่างในสัดส่วน ของสมาชิกสนช. 5 คน ได้แก่ 1.นายดิสทัต โหตระกิตย์ 2.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ 3.นายปรีชา วัชราภัย 4.นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ 5.พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ
ส่วนสัดส่วนจากสมาชิกสปช. 20 คน ได้แก่ 1.นายมานิจ สุขสมจิตร 2.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ 3.นายไพบูลย์ นิติตะวัน 4.นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ 5.นางถวิลวดี บุรีกุล 6.นายคำนูณ สิทธิสมาน 7.นายจรัส สุวรรณมาลา 8.นายวุฒิสาร ตันไชย 9.นางทิชา ณ นคร 10.นายมีชัย วีระไวทยะ
11.นางนรีวรรณ จินตกานนท์ 12.พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวาณิช 13.นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ 14.น.ส.สุภัทรา นาคะผิว 15.น.ส. สมสุข บุญญะบัญชา 16.พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ 17.นายจุมพล สุขมั่น 18.นายเชิดชัย วงศ์เสรี 19.พล.ท.นคร สุขประเสริฐ 20.นายประชา เตรัตน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ลงนามแต่งตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนแล้ว สำหรับขั้นตอนแนวทางการทำงานเป็นหน้าที่ของนายบวรศักดิ์ ในฐานะประธาน กมธ.ยกร่างฯ ขณะที่สปช.จะเร่งทำข้อเสนอแนะต่อกมธ. ยกร่างฯ ตามกรอบเวลา 60 วัน
กมธ.ร่างรธน.นัดถก 6 พ.ย.นี้
ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปช. ในฐานะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า วันที่ 5 พ.ย. เวลา 06.30 น. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 36 คนจะเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว และสักการะศาลหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ จากนั้นจะเดินทางไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน และเวลา 13.00 น. จะมีประชุม กมธ.ยกร่างฯ อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการดำเนินงาน และเช้าวันที่ 6 พ.ย. นายบวรศักดิ์ ในฐานะประธาน กมธ.ยกร่างฯ นัดประชุม กมธ.ยกร่างฯ นัดแรก เพื่อเลือกรองประธาน เลขานุการ โฆษก กมธ.และ ฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า จากรายชื่อ กมธ.ยกร่างฯ 36 คน หลายคนเคยร่วมเคลื่อนไหวและขึ้นเวทีปราศรัยกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อาทิ นายปกรณ์ นายไพบูลย์ นายจรัส นพ. ชูชัย ขณะที่นายบรรเจิดเคยร่วมเวทีวิชาการ กปปส. เสนอให้ปฏิรูปประเทศโดยประชาชน ส่วนนายจรูญ เคยวินิจฉัยคำร้องวินิจฉัยให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากนายกฯ วินิจฉัยยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน และวินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในกรณีเงินบริจาคพรรค 258 ล้านบาท
วิษณุยันรธน.ใหม่ไม่มีสี
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมครม. ถึงรายชื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วน ครม.และ คสช.ทั้ง 11 คนว่า รายชื่อทั้งหมดนั้นพล.อ.ประยุทธ์เป็นคนเลือกด้วยตัวเอง ตนช่วยตรวจสอบเท่านั้น ที่ประชุมร่วมสอบถามที่มาของแต่ละบุคคล ไม่มีเรื่องขัดแย้ง โดยรายชื่อไม่ได้เจาะจงว่าใครทำหน้าที่อะไรมาก่อน สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีเฉพาะการเลือกตั้ง มีเรื่องพระมหากษัตริย์ รัฐสภา ครม. ศาล การตรวจสอบและควบคุม และเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และการต่างประเทศ แนวนโยบายพื้นฐาน รวมทั้งท้องถิ่น จึงต้องใช้บุคคลทุกด้าน ส่วนการจะทำประชามติหรือไม่นั้นประชาชนต้องไปคิด ไม่ใช่ เรื่องของกมธ. เมื่อถามว่าหากจะทำจริงต้องแก้ไขรัฐธรรนูญชั่วคราวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่แล้ว
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงเสียงวิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญที่จะยกร่างขณะนี้เป็นฉบับ บวรศักดิ์ ว่า ยังไม่เห็นว่ามีการกล่าวหาอะไร หากรู้ว่ากล่าวหาอย่างไรจะได้ตอบกลับได้ถูก แต่ตนมองว่าเป็นรัฐธรรมนูญไม่มีสี หรือตาบอดสี เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อาจถูกตั้งฉายาว่ารัฐธรรมนูญสีชมพู หรือฉบับจุฬาฯ-นิด้า คอนเน็กชั่น รอง นายกฯ กล่าวย้อนว่า หากไปดูรายชื่อบุคคลจะเห็นว่ามีหลายสี ทั้งเขียวเหลือง แดง ชมพู ยืนยันว่าเมื่อตั้งบุคคลขึ้นมาไม่ได้นึกเลยว่าใครสีหรือคอนเน็กชั่นอะไร เพราะทุกคนมีด้วยกันทั้งนั้นแต่มีคอนเน็กชั่นไม่เป็นไร ขออย่าเป็น conspiracy (สมคบคิด) ก็แล้วกัน
เผยตั้ง 4 เวทีคู่ขนาน"สปช."
นายวิษณุกล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายกฯ เห็นชอบการจัดตั้งเวทีคู่ขนานกับสปช. จำนวน 4 เวที ประกอบด้วย 1.เวทีวิชาการของสปช. มี ผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการ ที่ดำเนินการได้เองทันที 2.เวทีของบุคคลที่จะไปช่วยเป็น กมธ.ของสปช. เมื่อระเบียบข้อบังคับการประชุม สปช.เสร็จก็ดำเนินการได้ 3.เวทีที่รัฐบาลตั้ง คล้ายกับสมัยรัฐบาลน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีผู้เข้าร่วม 300 คน แบ่งเป็น 3 ด้าน คือการเมือง เศรษฐกิจ พลังงาน และด้านสังคม โดยพิจารณาจากบุคคลที่ไม่ได้ถูกเลือกให้เป็น สปช.และความสมัครใจและสนใจเป็นหลัก มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเจ้าภาพ โดยใช้พื้นที่ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นสถานที่ประชุม ซึ่งจะเริ่มเมื่อออกระเบียบสำนักนายกฯ มารองรับ คาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า และ 4.เวทีที่กอ.รมน.ร่วมกับกระทรวงกลาโหม จะตั้งเวทีในระดับจังหวัด โดยแบ่งเป็นรายภาค ซึ่งทั้ง 4 เวทีใช้งบประมาณไม่มาก
บิ๊กตู่แจงผลประชุมครม.-คสช.
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า วันนี้มีการประชุม ร่วมครม.-คสช.เพื่อติดตามความก้าวหน้าในส่วนที่คสช.มีข้อเสนอแนะ ซึ่งรัฐบาลก็มีการแถลงถึงการปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมาและงานในอนาคตที่เป็นไปตามแนวทางและเจตนารมณ์ของรัฐบาลอยู่แล้ว โดยเฉพาะตน เป็นทั้งหัวหน้าคสช.และนายกฯ ได้นำทั้งสองอย่างมาขับเคลื่อนอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา จากนั้นประชุมครม.ปกติ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การประชุม วันนี้ใช้เวลานานพอสมควร มีหลายประเด็นโดยเฉพาะการขออนุมัติหลักการให้ความเห็นชอบเรื่องที่จะเข้าร่วมประชุมที่ต่างประเทศในสัปดาห์หน้า คือการประชุมสุดยอดผู้นำเศรษฐกิจเอเชีย-ยุโรป (เอเปก) ครั้งที่ 22 วันที่ 9-11 พ.ย. ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้ง 25 วันที่ 12-13 พ.ย.ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแถลงการณ์ร่วม ไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมาย เป็นเรื่องแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของอาเซียน ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเข้าร่วมประชุม
ชี้กมธ.ยกร่างฯต้องฟังสปช.ด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ร่วมครม.-คสช.ยังหารือข้อกฎหมายที่ดำเนินการไปแล้วว่ามีกี่ฉบับ เพราะส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่ต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนการปฏิรูป ที่ประชุมครม.อนุมัติให้ตั้งคณะทำงาน เพื่อให้คนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสปช.จาก 7,000 กว่าคน ได้มีส่วนร่วมด้วย โดยใช้งบประมาณที่มีอยู่เดิมเพราะสปช.มีสิทธิ์ตั้งคณะทำงานอยู่แล้วตามกฎหมาย คณะละ 5 คน ได้ตกลงกันว่าจะตั้งใครก็ให้ตั้งจากที่หลุดในสปช. 250 คนเข้ามาดีกว่า ประหยัดงบประมาณและให้โอกาสคนที่อยากทำงานเข้ามา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ครม.-คสช.พิจารณาคือ การคัดเลือกและขอความเห็นชอบรายชื่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญใน สัดส่วนของคสช.และครม.ทั้ง 11 คน ซึ่งเป็นบุคลากรมีความรู้ความสามารถทางกฎหมาย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่ากมธ.ยกร่างฯ ต้องฟังข้อคิดเห็นจากสปช.ด้วย ต้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด และต้องฟังเสียงจากภาคประชาชน ว่ามีอะไรที่จะทำให้ลดข้อขัดแย้งในอนาคตได้ และสร้างธรรมาภิบาลในระบบบริหารราชการแผ่นดินให้ได้
แจงตั้ง"บวรศักดิ์"ตามมติ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฝากขอร้องสื่อมวลชน อย่าไปเขียนอะไรให้เสียหายว่าจะไปทำลายฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คงเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องกฎหมายหลักของประเทศ และคงไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งอีก จะมุ่งเน้นการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะที่ผ่านมาการเขียนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะเขียนเพื่ออำนาจบริหาร การควบคุมดูแลเจ้าหน้าที่รัฐ บางทีก็หนักไป พอหนักไปประชาชนก็ไม่รู้ว่าจะเข้าร่วมตรงไหน มันก็ขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ จึงต้องเขียนทั้ง 2 ส่วนทั้งการบริหาร การกำกับดูแล การจัดสรรงบประมาณ ให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วม อะไรที่เป็นผลดีกับประชาชนบ้างก็เป็นแนวทางจัดสรรมาจากหลายส่วน
เมื่อถามถึงเหตุผลที่เลือกนายบวรศักดิ์ เป็นประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า นายบวรศักดิ์ไม่เด่นตรงไหน เห็นสื่อเขียนมาเองอยู่แล้ว ซึ่งตนตั้งตามมติของที่ประชุม ที่คัดเลือกกันภายใน มาแล้ว เวลาประชุม ประธานก็สั่งไม่ได้ มันต้องเป็นมติเห็นชอบทั้ง 35 คน ถามว่าคน 35 คนสั่งได้ทุกคนหรือ ทุกคนมีความรู้ความสามารถอาวุโสทั้งนั้น ตนว่าสั่งกันไม่ได้ ถ้ามีปัญหาตรงโน้นตรงนี้ก็ไปแก้ไขในกมธ. และมีการออกกฎหมายลูกอีกเยอะแยะ ไปหมด ต้องใช้เวลานานพอสมควร 60 วันบวก 120 วัน
ลั่นเลิกถามเรื่อง"ที่ดิน"ได้แล้ว
เมื่อถามถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการขายที่ดินราคา 500 กว่าล้านบาท ที่เป็นมรดกของบิดานายกฯ ตามที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีปัญหาอะไร บริษัทที่มาซื้อเป็นบริษัทของใคร เขาคงไม่มาซื้ออะไรโง่ๆ ซื้อแล้วไปลงทุนไม่ได้ ซื้อไปทำไม มันเป็นของตนตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะตนอยู่กับพ่อแล้วมันมีปัญหาอะไร ตนอยากรู้ กฎหมายว่าอย่างไร ไปว่ามา ตนไม่ตอบขี้เกียจ
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสงสัยที่มาของบริษัทที่รับซื้อที่ดินดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ไปสอบเขามา เกี่ยวอะไรกับตน เมื่อถามว่า รู้สึกหนักใจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยสีหน้าขึงขังว่า "ไม่หนักใจแต่ควรเลิกสักทีเถอะ โอเค" จากนั้นรีบเดินเลี่ยงจากโพเดียมทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างตอบคำถาม พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในท่าทีปกติไม่ได้มีอาการโกรธแต่มีสีหน้าจริงจัง แต่บางช่วงได้เร่งให้ผู้สื่อข่าวถามจนต้องเอ่ยว่า "ไม่ต้องกลัวถามมาๆ" พร้อมทำท่าเคาะเท้าและย่ำเท้าขวากับที่จนเกิดเสียงเก็กๆ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องขายที่ดินมรดก พล.อ.ประยุทธ์ออกอาการโดยยกมือขวาเคาะกับโพเดียมทำให้แหวนกระทบ เกิดเสียงดังเป็นจังหวะ
ขู่ใช้ม.44 ฟันม็อบกดดัน"สนช."
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมครม.ว่า ในที่ประชุมครม. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเน้นย้ำและปรารภ รวมถึงสั่งการ โดยนายกฯ ได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกส่วน อาทิ กอ.รมน. คสช. ศอ.บต. และอื่นๆ ที่เสียสละทำงานเพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบ ส่วนที่มี ผู้เคลื่อนไหว ไม่ว่ากลุ่มที่ขัดแย้งหรือกลุ่มที่ทำให้เกิดความไม่สงบในช่วง 1-2 เดือนนี้ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ติดตามความเคลื่อน ไหวอย่างใกล้ชิด และพยายามทำความเข้าใจกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวเหล่านั้น เพื่อให้ทราบว่าสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้เป็นอย่างไร หากมีการเคลื่อนไหวทำให้สังคมสับสน บ้านเมืองจะกลับไปสู่สภาพเดิม แล้วการเดินหน้าปฏิรูป การทำกิจกรรมต่างๆ ที่วางแผนไว้คงจะทำได้ลำบาก
"การสร้างความเข้าใจต่อผู้ที่เคลื่อนไหวนั้นหากทำได้ลำบาก ถ้าจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำ โดยให้เริ่มกฎหมายปกติก่อน จากมาตรการขั้นเบาไปหาหนัก ใช้กฎอัยการศึกหรือแม้แต่มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจพิเศษไว้ หากจำเป็นต้องทำก็ต้องทำเพื่อให้บ้านเมืองสงบ" รองโฆษกรัฐบาลกล่าว
วอนสื่อเลิกใช้"โว-ฟุ้ง-ปัด"กับรบ.
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ว่าสิ่งใดมีผลกระทบต่อเรื่องของความมั่นคงหรือมีผลกระทบต่อการสร้างความเข้าใจของประชาชน ก็ให้พยายามชี้แจง ทำความเข้าใจทั้ง 2 ส่วน คือให้ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์บางส่วนบางฉบับที่เสนอข่าวไม่ตรงจากข้อมูลที่เป็นจริงอยู่ ซึ่ง นายกฯ ปรารภว่าเรื่องบางเรื่องเป็นข้อมูลเดิมที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ รวมทั้งตัวนายกฯ เคยชี้แจงอธิบายไปแล้วว่าข้อมูลที่สื่อเสนอนั้นไม่ถูกต้อง และที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ มีหลักฐาน มีเหตุผล และมีเอกสารและมีการปฏิบัติจริงรองรับ แต่ปรากฏว่ามีสื่อบางส่วนก็ยังเสนอข้อมูลเดิมโดยไม่สนใจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพยายามชี้แจงไปเลย ซึ่งนายกฯ ยังปรารภว่าในการปฏิรูปของสปช. ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันติดตามการปฏิรูปสื่อด้วยเหมือนกัน
"ขณะเดียวกัน นายกฯ วิงวอนผ่านไปยังสื่อทุกคน ซึ่งส่วนใหญ่มีคุณธรรมจริยธรรมอยู่แล้ว อยากให้ช่วยให้องค์กรของท่านเองมีความเข้มแข็ง ได้รับความน่าเชื่อถือจากแต่ละส่วนแต่ละฝ่าย ซึ่งนายกฯ ยกตัวอย่างด้วยว่าคำบางคำเป็นคำในเชิงลบ ไม่แน่ใจว่ามีการคิดประดิษฐ์คำเหล่านี้อย่างไร เช่น นายกฯ หรือรัฐมนตรีว่าการหรือใครก็ตามพยายามจะชี้แจงอธิบายความในงานที่ตนเองหรือหน่วยงานของตัวเองได้ทำตามสัญญาที่มีกับประชาชน แต่กลับไปใช้คำในลักษณะทำนองว่า โว ฟุ้ง ปัด ตีปี๊บ ฮึ่ม ซึ่งเป็นคำในเชิงลบไม่สร้างสรรค์ ทำให้คนในสังคมฟังแล้วรู้สึกเหมือน เจ้าหน้าที่ขี้โม้ ไม่น่าเชื่อถือ แล้วอย่างนี้จะสร้างความเชื่อมั่นเชื่อถือให้กับผู้ปฏิบัติงานเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มีต่อประชาชนได้อย่างไร นายกฯ จึงฝากเรื่องนี้ว่าในการปฏิรูปสื่อก็คาดหวังว่าสื่อจะเสนอแนวความคิดทั้งหลายเข้าไปในส่วนที่เกี่ยวข้องในสปช. เพื่อให้องค์กรสื่อได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือ" พล.ต.สรรเสริญกล่าว
ลั่นเลิกระบบเส้นสาย
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯ ยังย้ำด้วยว่าการทำงานต่างๆ ของทหาร พลเรือน ตำรวจ ที่ต้องสัมผัสกับประชาชนโดยเฉพาะการจัดระเบียบและการบังคับใช้กฎหมาย ขอให้ดำเนินการด้วยความเข้มแข็ง ให้พิจารณาด้วยตัวผู้บังคับหน่วยที่จะลงไป ขอให้พิจารณาจากคนที่มีวุฒิภาวะ เป็นผู้ใหญ่ มีความสุภาพเรียบร้อย เพื่อให้สังคมสบายใจว่าไม่ได้ต้องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างความเข้าใจ ทั้งนี้นายกฯ ยังขอให้บังคับใช้กฎหมายจากต้นทาง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการกับผู้ที่เอาเปรียบสังคม จัดระเบียบสังคม จับกุม ปราบปราม ผู้ลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ทั้งอาวุธสงคราม โดยประสานกับกองกำลังทหารที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดนเพื่อตรวจสอบอาวุธสงคราม
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกฯ ให้ยืนยันเจตนารมณ์ทั้งคสช.และรัฐบาลว่า จะใช้วันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นเส้นกำหนด ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งมาก่อนหน้านี้ ก็ให้ดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่ให้เกิดความรู้สึกในการใช้เส้นสาย วิ่งเต้น แต่ต้องว่าตามกระบวนการกฎหมาย เพราะหลังจากวันที่ 22 พ.ค.2557 มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันและป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นได้ ถ้าเกิดขึ้นก็ต้องมีการลงโทษตามกฎหมายโดยทันที
เผยจะทบทวน"องค์กรอิสระ"
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ในการดำเนินงานของ สปช.คาดว่าจะเร่งผลักดันการปฏิรูปพลังงานก่อน จากนั้นปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปราชการ เน้นที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) การปฏิรูปกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาว่าควรอยู่ด้วยกันหรือแยกกัน เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะมีแนวทางอย่างไร และมีเรื่องใดบ้างเพื่อส่งเป็นกรอบให้ กมธ.รับไปดำเนินการ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เช่น ปฏิรูปดีเอสไอ และหน่วยงานยุติธรรม ตำรวจ ศาล ทนาย อัยการ
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า สำหรับการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ต้องดำเนินการทันทีคือ การรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรอบการยกร่างจากส่วนต่างๆ จนถึงวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ซึ่งมีกรอบแนวทาง 4 กรอบ คือ 1.ดำเนินงานตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดไว้ 11 ด้าน ทบทวนองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่เดิมว่าควรคงอยู่ไว้หรือไม่ เช่น องค์กรสิทธิมนุษยชน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กกต. เป็นต้น 2.รับข้อเสนอของ สปช. 3.รับฟังความเห็นจากภาคประชาชน และ 4.กมธ.ต้องหารือกันเอง ทั้งนี้ ต้องยกร่างให้เสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่รับข้อเสนอ วันที่ 20 ธ.ค.ซึ่งจะครบตามกำหนดในวันที่ 19 เม.ย. 2558 และต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ
วางกรอบออกกม.ลูก
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ทั้งนี้ นายวิษณุเสนอให้ ครม.พิจารณาตั้งคณะทำงานติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลายกร่าง 120 วัน เพื่อรับเรื่องที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ ควบคู่กับการติดตามการยกร่าง เช่น ครม.อาจต้องแก้กฎระเบียบ การดำเนินการกฎหมายลูก หรืออาจมีความพยายามจากฝ่ายต่างๆ ให้เกิดความชุลมุน ขัดขวางการดำเนินการ ทำให้ล่าช้า และก่อให้เกิดความไม่ปรองดอง ทั้งแนวคิดสุดโต่ง ต่อต้านการนำเสนอหลักการต่างๆ ในการยกร่าง หากมีข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้กำหนด การประชุมร่วม ครม.และ คสช.ครั้งต่อไป วันที่ 9 ธ.ค.นี้ ซึ่งนายกฯ กำชับทิ้งท้ายเรื่องการทำงานของ สปช.และสภากระจกที่ตั้งขึ้นมาดำเนินการคู่ด้วยนั้น อาจสร้างความสับสนได้ จึงให้ไปทำความเข้าใจและประสานทำงานร่วมกัน โดยให้ฝ่ายกฎหมายรับไปพิจารณาว่าจะประสานทั้งสองส่วนอย่างไร
"ไก่อู" ชี้ถ้าสุดโต่งเจอ ม.44 แน่
พล.ต.สรรเสริญ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณี ครม.หารือถึงการเตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว หากมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจนเกิดความสับสนในบ้านเมือง ว่า ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเรื่องดังกล่าว แต่ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้น เช่น การแสดงความคิดเห็นที่ทำได้แต่มีกติกาที่เคยตกลงกันไว้แต่แรกว่าเมื่ออีกกลุ่มพูดอีกกลุ่มต้องพูดเหมือนกัน พอพูดแบบนี้เริ่มจากเล็กๆ ถ้าไม่ดำเนินการอย่างใดจะขยายเป็นความขัดแย้ง บ้านเมืองจะกลับไปแบบเดิม ดังนั้น ต้องใช้วิธีแบบวิถีคนไทยโดยทำความเข้าใจ แต่ถ้าอธิบายแล้วยังไม่เข้าใจมีมนุษย์สุดโต่ง ก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย จะเริ่มจากกฎหมายเบาไปหาหนัก รวมถึงกฎอัยการศึก ซึ่งนายกฯ ปรารภว่าแม้กระทั่งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งให้อำนาจพิเศษไว้ ถ้าจำเป็นเพื่อรักษากรอบกติกาบ้านเมืองให้เดินต่อไปได้ก็ต้องใช้ โดยให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องประเมินและเสนอมา
เมื่อถามว่าพอดีกับช่วงที่ สนช.จะพิจารณาถอดถอนบุคคลต่างๆ หรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดตามเรื่องถอดถอน แต่ไม่ได้กำหนด เพียงแต่บอกว่าทุกคนต้องใช้วิจารณญาณ เป็นเรื่องของ สนช.ที่อุดมด้วยผู้มีความรู้ จะให้เหตุผลอธิบายความกับสังคมได้อย่างดี
เมื่อถามว่าขณะนี้ คสช.ยังมีอำนาจเรียกคนเข้ามารายงานตัวได้หรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ได้ และอาจมีการเรียกในเร็วๆ นี้ ถ้ายังเคลื่อนไหวอยู่ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
สนช.ถกรับไม่รับถอดถอน 6 พ.ย.
ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช. (วิป สนช.) กล่าวภายหลังประชุมวิป สนช.ว่า วิปสนช.มีมติให้การประชุม สนช.วันที่ 6 พ.ย.นี้ ที่พิจารณาว่าจะรับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา หรือไม่ เป็นการประชุมลับและลงมติลับ ซึ่งวิป สนช.อภิปรายกันกว้างขวางว่า สนช.มีอำนาจถอดถอนหรือไม่ ในกรณีรัฐธรรมนูญปี "50 ถูกยกเลิกไป และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 เรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ แต่ไม่ได้ข้อสรุป จึงต้องอาศัยการลงมติของที่ประชุมใหญ่
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ส่วนที่ต้องประชุมลับเพราะกังวลว่าหากประชุมโดยเปิดเผยอาจมีความวุ่นวายเกิดขึ้นจากฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน สุดท้ายแล้วจะประชุมลับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ ยอมรับว่ากังวลกลัวจะเกิดความวุ่นวายหาก สนช.ไม่รับเรื่องถอดถอน จะเป็นจุดเริ่มต้นการเผชิญหน้ากับมวลชน จึงขึ้นอยู่กับการใช้ดุลยพินิจและยึดธงปรองดองเป็นหลัก ส่วนถ้ารับแล้วอาจต้องเผชิญกับมวลชนอีกฝั่งนั้นเราก็กังวล บางคนเสนอให้ยืดเวลาพิจารณาออกไปอีก แต่ที่ ประชุมวิป สนช.ไม่เห็นด้วย เราพยายามหาทางออกที่ดีที่สุด
เมื่อถามว่าได้พูดถึงเรื่องที่ทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมายื่นเรื่องคัดค้านการถอดถอนต่อประธาน สนช.ใน วันที่ 5 พ.ย.หรือไม่ นพ.เจตน์กล่าวว่า ไม่ได้พูดคุยกัน
พท.จี้บิ๊กตู่ปราม"กปปส.-40สว."
นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ปรามกลุ่มการเมืองไม่ให้นำมวลชนชุมนุมกดดันสนช. กรณีจะมีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า นปช.ให้ความร่วมมือ คสช.มาตลอด ไม่ชุมนุม ไม่ปลุกระดม เรื่องนี้เราไม่ได้เริ่มต้นพล.อ. ประยุทธ์ต้องไปห้ามปราม กปปส.ที่ออกมาข่มขู่จะชุมนุมกดดันสนช. หากไม่ถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากเป็นแบบนี้ ต่อไปกปปส.ไม่พอใจใครก็จะออกมาอยู่เรื่อยๆ พล.อ.ประยุทธ์ต้องดูตรงนั้น ถ้าปล่อยให้คนพวกนี้ออกมาก็ต้องบอกว่าสมยอมกันหรือไม่ ยืนยันว่าเราพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่ไม่ยอมให้คนอื่นมาข่มเหงรังแกอยู่ฝ่ายเดียว
นายวรชัย ยังกล่าวถึงนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ข่มขู่อัยการหากมีคำสั่งไม่ฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ และเรียกร้องคสช.จัดการอัยการว่า ขณะนี้สนช.ใหญ่โตเหลือเกิน ถือว่าเป็นเครือข่ายของฝ่ายยึดอำนาจ จะจัดการใครก็ได้โดยไม่สนใจว่าจะขัดหลักกฎหมาย หลักความยุติธรรมอย่างนั้นหรือ อัยการเป็นทนายแผ่นดินจะทำอะไรต้องมีหลักการ จะทำตามใจป.ป.ช.หรือกลุ่ม 40 ส.ว.ไม่ได้ เพราะจะเสื่อมเสีย จึงอยากฝากพล.อ.ประยุทธ์ให้ช่วยดูแลและปรามคนเหล่านี้ อย่าปล่อยให้ใช้อำนาจข่มขู่คุกคามผู้อื่น
ร้องปปช.สอบ"พีรศักดิ์-สมชาย"
นายวรชัยกล่าวว่า ส่วนกรณีพล.อ. ประยุทธ์ขอความร่วมมือหยุดนำเสนอข่าวพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น ในโลกของความเป็นจริงและในโลกของประชาธิปไตย สื่อมีสิทธิเสนอข่าวบุคคลสาธารณะ วันนี้สื่อทั่วโลกนำเสนอข่าวสาร พ.ต.ท.ทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จึงต้องเข้าใจหน้าที่และภารกิจของสื่อเหมือนกัน ถ้าไม่ออกข่าวแสดงว่าไม่ทันโลก ขายไม่ได้ หากสื่อเสนอข่าวบิดเบือน คสช.ก็ฟ้องร้องได้ อีกทั้งยังมีกฎอัยการศึกจัดการได้อยู่แล้ว คนที่มีอำนาจไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ ถ้าใช้อำนาจในทางไม่ถูกต้องก็จะเสื่อมไปเรื่อยๆ เหมือนกัน
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงาน ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (อีเอ็มเอส) ถึงประธานคณะกรรมการป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบรายการทรัพย์สินอื่นของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช.และนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. ว่าจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ เนื่องจากตรวจสอบพบว่าในวันที่นายสมชายเข้ารายงานตัวในฐานะสมาชิกสนช. สวมนาฬิกาข้อมือ 1 เรือน และแหวนที่นิ้วมือทั้งสองข้าง ข้างละ 1 วง ส่วนนายพอจิตสวมตั้งแต่เลือกตั้งท้องถิ่น แต่ไม่เคยแสดงไว้ในการยื่นบัญชีประเภทรายการทรัพย์สินอื่นแต่ละครั้งมาก่อน และยังพบว่านายสมชายไม่ได้ยื่นทรัพย์สินอาวุธปืนของคู่สมรส เมื่อครั้งรับ ตำแหน่งส.ว.วันที่ 14 มี.ค.51 ด้วย
ทนาย"ปู"ลุยยื่นค้านสนช.
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษา กฎหมายน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 5 พ.ย. เวลา 13.00 น. นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความคดีรับจำนำข้าวของน.ส. ยิ่งลักษณ์ จะยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รัฐสภา เพื่อคัดค้านไม่ให้ที่ประชุมสนช.นำสำนวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าสู่ที่ประชุมสนช.วันที่ 12 พ.ย. ตามเหตุผล 7 ข้อที่ชี้แจงไป
นายพิชิต กล่าวด้วยว่า ส่วนที่ระบุน.ส. ยิ่งลักษณ์ทำความผิดตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 และมาตรา 58 พ.ร.บ.ว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ด้วยนั้น พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นกฎหมายทางปกครองที่กำหนดว่า นายกฯ มีอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง แต่ไม่มีบทลงโทษกำหนด ไว้ จึงไม่สามารถอ้างกฎหมายที่ไม่มีบทลงโทษมาเป็นเหตุถอดถอนได้ ขณะที่พ.ร.บ. ว่าด้วยป.ป.ช. เป็นเพียงกฎหมายลูก จะนำสิ่งที่กฎหมายลูกเขียนมาใช้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ ในเมื่อไม่มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้ว
โวยจ้องถอดถอนแค่ 3 คน
นายพิชิต กล่าวว่า ส่วนที่สนช.ระบุมีอำนาจถอดถอนเนื่องจากทำหน้าที่ส.ว.และใช้อำนาจวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองนั้น ประเพณีการปกครองที่ใช้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผ่านมาทั้งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คือการใช้ข้อบังคับการประชุม ส.ว.ปี 2551 ดังนั้น หากจะถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องใช้ข้อบังคับ การประชุม ส.ว.ปี 2551 เป็นประเพณีการปกครอง แต่กลับไม่นำมาใช้ จะอ้างปฏิบัติหน้าที่ส.ว.อย่างเดียวไม่ได้ ต้องนำข้อ บังคับฯ ปี 2551 มาใช้ด้วย
"การที่สนช.มีเวลาทำงานเพียงปีเศษแล้วมายกร่างข้อบังคับการประชุมเรื่องการถอดถอน ขอถามว่าเป็นการออกข้อบังคับเพื่อใช้ถอดถอนแค่น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสมศักดิ์ และนายนิคม เพียง 3 คนใช่หรือไม่ หลังจากนี้จะเอาข้อบังคับดังกล่าวไปถอดถอนใครได้อีก" นายพิชิตกล่าว
อสส.โต้สนช.-ยังไม่สั่งคดีข้าว"ปู"
นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงกรณีสนช.บางราย ระบุการพิจารณาของคณะทำงานร่วมระหว่างอสส.กับป.ป.ช.ในโครงการทุจริตจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ตัวแทนอสส.อาจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องว่า ขณะนี้ตัวแทนทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการพูดคุยเจรจากันเกี่ยวกับข้อไม่สมบูรณ์ในคดีซึ่งพยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วน ที่คณะทำงานอสส.มีความเห็นดังกล่าวไว้ และมีการตั้งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายมาพิจารณาร่วมกันในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความเห็นว่าจะสั่งฟ้องน.ส. ยิ่งลักษณ์หรือไม่
"ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังพิจารณาเรื่องพยานหลักฐานในคดีเท่านั้นยังไม่ถึงขั้นพิจารณาสั่งคดี ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต ทั้งสองฝ่ายต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง พยานหลักฐานต่างๆ ทางคดีด้วยความละเอียด รอบคอบ และให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย" โฆษกสำนักงาน อสส.กล่าว
วิปสนช.ถก"เมธี"ไม่ขัดคุณสมบัติ
วันที่ 4 พ.ย. รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิปสนช.) กล่าวภายหลังการประชุมวิปสนช. ถึงกรณีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ทำหนังสือท้วงติงมายังประธานสนช. ถึงการคัดเลือกนายเมธี ครองแก้ว เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นที่ยุติแล้ว โดยนายพรเพชรจะทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อยืนยันว่าคณะกรรมาธิการพิจารณาสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง รวมทั้งได้ตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติ ของผู้ได้รับการเสนอชื่ออย่างสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว โดยนายเมธีไม่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ส่วนคดีที่นายเมธีถูกฟ้องที่ศาลอาญา ขณะนี้ศาลยังไม่รับฟ้องทั้ง 4 คดี จึงถือว่าคดียังไม่ถึงที่สุด
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมวิปสนช.ได้พิจารณากรณีนี้แล้ว ได้ข้อสรุปว่า เนื่องจากกรณีที่นายเมธีถูกฟ้องนั้น ศาลยังไม่ประทับรับฟ้องจึงยังไม่ขัดคุณสมบัติ ประกอบกับประธานสนช.ได้รับหนังสือจากประธานศาลฎีกา หลังจากที่กรรมาธิการของสนช.ได้ลงมติแต่งตั้งนายเมธีเป็นก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิไปแล้ว จึงเป็นปัญหาว่าไม่สามารถทบทวนมติได้ จึงสรุปว่าในเรื่องขัดคุณสมบัติคงจะต้องยุติลง กระนั้นก็ตามมีการหารือด้วยว่า เนื่องจากประธานศาลฎีกามีหนังสือมาเองถือเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่ขัดคุณสมบัติ ก็ต้องพิจารณาว่าขัดจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งในประเด็นจริยธรรมพบว่า สนช.ยังไม่เคยร่างระเบียบเรื่องจริยธรรมขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้ เป็นอันต้องยุติการพิจารณาประเด็นจริยธรรมลงไปด้วย โดยเห็นควรให้ประธานสนช.ทำหนังสือชี้แจงถึงประธานศาลฎีกาอย่างละเอียด
ตั้งบอร์ดคดีพิเศษ-ที่ปรึกษาพณ.
วันที่ 4 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) 9 คน แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กคพ.ชุดปัจจุบันที่พ้นวาระ ดังนี้ 1.นายวิรัช ชินวินิจกุล ด้านกฎหมาย 2.นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ด้านกฎหมาย 3.นายสุเจตน์ จันทรังษ์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 4.น.ส.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ด้านเศรษฐศาสตร์ 5.นายธวัชชัย ยงกิตติกุล ด้านการเงินการธนาคาร 6.นาย ฉัตรพงศ์ ฉัตราคม ด้านความมั่นคงประเทศ 7.นายสันทัน สมชีวิตา ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8.นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ด้านอุตสาหกรรม 9.นายประมนต์ สุธีวงศ์ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย.เป็นต้นไป
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง ได้แก่ 1.นายชาญณัฏฐ์ แก้วมณี รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ และ 2.นางปนัสย์สร อริยวงศ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นที่ปรึกษาด้านพัฒนาการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.2557 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ รมว.พาณิชย์ เสนอแต่งตั้ง พล.อ.ดิฏฐพร ศศะสมิต เป็นที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ และมีมติเห็นชอบตามที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เสนอแต่งตั้งนายทรงพล พนาวงศ์ เป็นเลขานุการ รมว.เกษตรฯ
ดันภาษีมรดกเข้าครม.11พ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า จะเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีรับมรดกให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวันที่ 11 พ.ย.นี้ หลังผ่านการตรวจร่างจากกฤษฎีกาแล้ว โดยสาระสำคัญยังเหมือนเดิม คือ เก็บจากผู้รับมรดกในส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท อัตราภาษีเดียวที่ร้อยละ 10 พร้อมกันนี้จะแก้ไขประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรเรื่องภาษีการรับการให้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นช่องทางการหลีกเลี่ยงภาษีมรดก เนื่องจากยกเว้นการเก็บภาษีอยู่หลายกรณี เช่น มีทรัพย์สินอยู่ 120 ล้านบาท โอนให้ลูก 70 ล้านบาท ทำให้เหลือ 50 ล้านบาท มาให้เป็นมรดก ในอัตราที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีมรดก แต่หลังจากแก้ประมวลรัษฎากรภาษีการรับการให้แล้วจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ทุกกรณี
นายสมหมาย กล่าวต่อว่า หลังผ่านความเห็นชอบจากครม. จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาโดยจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนประกาศให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2558 และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะมีเวลายกเว้นการเก็บอีก 3 เดือน เพื่อให้กรมสรรพากรมีเวลาเตรียมตัวการออกประกาศต่างๆ ของการเก็บภาษีมรดกดังกล่าว ส่วนผู้ที่เข้าเกณฑ์รับภาระเสียภาษีมรดกแต่ไม่มีเงินชำระ จะผ่อนผันให้ผ่อนชำระผ่านกรมสรรพากรได้ 2-3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย
นายสมหมาย กล่าวอีกว่า สำหรับสินทรัพย์ที่จะต้องเสียภาษีมรดกจะเป็น บ้าน หุ้น และทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีการจดทะเบียน ทั้งในและนอกประเทศ ส่วนแก้วแหวนเงินทองจะไม่ถูกนำมาคิดเป็นมรดก แต่หากเจ้าของมรดกโอนให้มูลนิธิ เพื่อการกุศลจะได้รับการยกเว้นเสียภาษีมรดก
นายสมหมาย กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะเริ่มพิจารณารายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้มีความชัดเจนภายใน 5-6 เดือน เพื่อเสนอให้ครม.และสนช.พิจารณา หลังกฎหมายมีผลจะได้รับการยกเว้น 1 ปีครึ่ง เพื่อให้กรมธนารักษ์มีเวลาประเมินที่ดินรายแปลงให้ครบ 32 ล้านแปลง โดยการเก็บภาษีกรณีบุคคลธรรมดาจะดูจากทะเบียนบ้าน ส่วนเกษตรกรจะดูจากการยื่นข้อความช่วยเหลือจากโครงการรัฐที่ผ่านมาว่ามีจำนวนที่นาเท่าไร
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การปฏิรูปภาษีมีวัตถุประสงค์เพิ่มรายได้ เพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ ที่ผ่านมาได้ลดภาษีนิติบุคคลเหลือร้อยละ 20 ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลืออัตราสูงสุดร้อยละ 35 และในอนาคตจะพิจารณาลดลงอีก ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7 ในปลายปีงบประมาณ 58 จะปรับเพิ่ม รวมถึงการหาวิธีป้องกันการการหลีกเลี่ยงเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย