- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 04 November 2014 11:10
- Hits: 3996
วันที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8742 ข่าวสดรายวัน
ปรามรูป-ข่าวแม้ว บิ๊กตู่วอน ลดเสนอ-ลดขัดแย้ง มั่นใจทรัพย์สินถูกต้อง ชี้ม็อบป่วนสนช.ผิดกม. ครม.-คสช.ร่วมถกวันนี้ จัดอีก11กมธ.ร่างรธน. พท.ยื่น 7 ข้อค้านถอด'ปู'
ท่านประธาน- นายเทียนฉาย กีระนันทน์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และน.ส.ทัศนา บุญทอง ทำพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และรองประธาน คนที่ 1 รองประธานคนที่ 2 อย่างเป็นทางการ ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 พ.ย.
ครม.-คสช.ถกวางตัว อีก 11 กมธ.ร่างรธน. บิ๊กตู่เบรกสื่อ เลิกเสนอข่าว'แม้ว'ยันยื่นบัญชีทรัพย์สินถูกต้อง ชี้ถอดถอนเป็นเรื่องของกฎหมาย ย้ำม็อบป่วนสนช.ผิดกฎหมาย วอนให้ฟังกันบ้าง อย่ายึดแต่ความเกลียดชัง สนช.สายทหารเมินถอดถอน เพื่อไทยยื่น 7 ข้อค้านถอด ถอน'ปู' 'กิตติรัตน์'โต้จำนำข้าวขาดทุน 7 แสนล. โวยอย่าป้ายสีรัฐบาลเก่า "เมธี" แจงที่ประชุมก.ต. ยันไม่มีใครคัดค้าน แบลร์พบนายกฯตู่ เร่งไทยจัด เลือกตั้ง
กิตติรัตน์โต้กล่าวหาหนี้7แสนล.
วันที่ 3 พ.ย. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า กรณีที่มีการพูดว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้วมีผลขาดทุน 6-7 แสนล้านบาท จนต้องไปกู้เงินระยะยาวมาอุดยอดดังกล่าว จนเป็นภาระชั่วลูกชั่วหลาน รวมทั้งรัฐบาลมีความสามารถกู้ได้เพียงร้อยละ 10 ต่อปีของยอดดังกล่าวนั้น ไม่เป็นความจริง
นายกิตติรัตน์ระบุอีก อยากให้นายกฯเรียกลูกน้องมาสอบถาม 3 เรื่องสำคัญ 1.ภาระหนี้ของการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลก่อนๆ นั้น ครอบคลุมสินค้าเกษตรหลายชนิด มียอดรวมสูงกว่า 1 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลที่แล้วช่วยดูแลให้ลดยอดหนี้ลงมาจนเหลือ 8.6 หมื่นล้านบาท สันนิษฐานว่าได้เอายอดนี้มาเหมารวมไว้ด้วยจนกลายเป็นตัวเลข 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งเข้าใจผิด"
ชี้ระบายข้าวยอดเงินก็ลดลง
นายกิตติรัตน์ ระบุต่อว่า 2.ยอดหนี้รวมที่รัฐบาลที่แล้วใช้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าว เป็นการสนับสนุนภารกิจของธ.ก.ส. โดยรัฐบาลทำหน้าที่ค้ำประกัน ยอดเงินที่ใช้จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีการระบายข้าวในคลังออกไป ขณะที่ตนทำหน้าที่ที่กระทรวงการคลัง ยอดหนี้รวมอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท และดำเนินการระบายข้าว ควบคู่กับการระดมเงินเพื่อชำระค่าข้าวคงค้างต่อชาวนา เพื่อประคองในช่วงที่เงินรายได้จากการระบายข้าวยังเข้ามาไม่ทัน
นายกิตติรัตน์ ระบุด้วยว่า หากรัฐบาลนี้ใส่ใจกับหลักการที่ถูกต้องของโครงการรับจำนำ ดูแลให้ระบายข้าวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ยอดหนี้จะอยู่ในระดับต่ำ สมแก่สถานะการเป็นเงินทุนหมุนเวียนของโครงการรับจำนำ ที่ไม่จำเป็นต้องจัดทำเป็นพันธบัตรระยะยาวให้ใครต่อใครเข้าใจผิด และจัดสรรงบประมาณประจำปีไปดูแลชำระคืนธ.ก.ส.ให้เหมาะสม ซึ่งประมาณได้ว่าไม่เกินร้อยละ 5 ของยอดรวมงบประมาณ นอกจากดูแลครอบครัวชาวนา 4 ล้านครัวเรือนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ยังทำให้กำลังซื้อในประเทศเข้มแข็ง เศรษฐกิจโดยรวมเข้มแข็ง เจริญเติบโตและรัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นได้โดยไม่ต้องเพิ่มอัตราภาษีใดๆ ด้วย
ห่วงวาทกรรมกายกรรม
"หากตั้งใจจะออกพันธบัตรระยะยาวเพื่อถ่วงเวลาชำระหนี้ ตามวิสัยที่มักคุ้นเคยคือมีหนี้แล้วไม่อยากใช้คืน แล้วจะเอางบประมาณไปทำเรื่องอื่น ควรพูดออกมาตรงๆ แต่ถ้าเจตนาจะทำให้เข้าใจผิดเพื่อป้ายสีกัน ขอถือโอกาสตำหนิผู้อาวุโสมาก ด้วยความไม่เกรงใจ" นายกิตติรัตน์ ระบุ
นายกิตติรัตน์ระบุอีกว่า 3.สังเกตเห็นว่าโครงการประชา(ไม่)นิยม ที่จ่ายเงินแก่ชาวนาและเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ไร่ละ1,000 บาท ก็ใช้วิธีทางการเงินวิธีเดียวกับที่ทุกรัฐบาลดำเนินการคือ ให้ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน เป็นการก่อหนี้เพิ่มเพื่อช่วยเกษตรกรแม้ไม่รับจำนำ แต่มีโครงการสินเชื่อชะลอการขาย แบบฝากไว้ที่ยุ้งฉางของชาวนา วาทกรรมกายกรรม จึงโปรดระวังการคอร์รัปชั่นแบบล่องหนคือไม่ได้ปลูกจริงแต่มารับเงินไป โดยไม่มีผลผลิตมาแสดงและไร้ร่องรอยเพื่อการตรวจสอบด้วย
หวั่นป้ายสีรัฐบาลก่อน
นายกิตติรัตน์กล่าวว่า เพื่อนร่วมงานในรัฐบาลนี้ที่คิดเรื่องนี้ เขามาสารภาพหรือยังว่าท้ายที่สุดเขาตั้งใจจะเอาภาระใหม่ๆ นี้มารวมกับยอดเก่าๆ แล้วทำไม่รู้ไม่ชี้ ป้ายสีให้รัฐบาลก่อน หรือเขาจะทำเป็นลืมเหมือนหนี้กองทุนฟื้นฟูเพื่ออุ้มธนาคาร สมัยต้มยำกุ้ง หรือหนี้โครงการไทยเข้มแข็ง และโครงการประกันรายได้ของคู่แข่งทางการเมืองของพวกตน สมัยยังเป็นประชาธิปไตยได้เคยทิ้งเอาไว้แบบไม่มีแผนชำระคืน
"ผมยังคงตั้งใจที่จะให้กำลังใจรัฐบาล และผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจให้ทำงานสำเร็จ ขอสงบปากสงบคำกับแนวคิดมาตรการทางเศรษฐกิจ 10 กว่าข้อของรัฐบาล เห็นว่าดีก็ทำไปจะเอาใจช่วยให้สำเร็จ ผู้มีรายได้น้อยจะได้ไม่ลำบาก"
นายกิตติรัตน์ระบุทิ้งท้ายด้วยว่า ทั้งนี้ขอฝากข้อคิดแบบให้กำลังใว่า "ท่านสามารถเป็นคนเก่งคนดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้คนอื่น ดูเหมือนเป็นคนเลว"
"บิ๊กตู่"ชี้คนในประเทศร่างรธน.
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการคัดสรรบุคคลเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ ครม.และคสช.ว่า วันนี้ได้รายชื่อบุคคล และเตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว โดยวันที่ 4 พ.ย. จะประชุมร่วมครม.และคสช. และจะคัดเลือกให้ครบจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญระบุว่า มีสัดส่วนจาก ครม. และคสช. อย่างละ 5 คน และประธานอีก 1 คน รวม 11 คน
เมื่อถามว่าเป็นคนนอกหรือคนใน พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นคนในประเทศ ขอให้ใจเย็นๆ ส่วนเปิดเผยรายชื่อแล้วจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่นั้น ต้องฝากสื่อว่าทุกคนต้องให้เกียรติกัน อย่าเพิ่งติติงตั้งแต่ยังไม่ทำอะไร ถึงเวลาจะมีทั้งคนที่ยอมรับและไม่ยอมรับ เพราะแต่ละคนมีความคิดหลากหลาย ตนไม่จำกัดความคิดเห็น เนื่องจากต้องการให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ การจะทำร่างรัฐธรรมนูญต้อง หารือกัน ผ่านขั้นตอนและคนกลั่นกรองจำนวนมาก จะมุ่งเน้นอย่างใดอย่างหนึ่งคงไม่ได้ ทุกอย่างต้องเอาประเทศชาติเป็นหลักเพื่อให้เดินหน้าต่อได้ในอนาคต
ย้ำม็อบออกมาผิดกฎหมาย
เมื่อถามถึงแกนนำกลุ่มต่างๆ เริ่มออก มาเคลื่อนไหวและแสดงความเห็นมากขึ้น นายกฯ กล่าวว่า พูดคุยกันอยู่โดยฝ่ายความมั่นคงไปพูดคุย ส่วนใหญ่พอเชิญมาคุยก็รู้เรื่องทุกครั้ง แต่ก็ไปพูดกันอีก จึงต้องหามาตรการอื่นต่อไป และต้องระมัดระวังเพราะจะกลายเป็นการจำกัดสิทธิ์และเป็นปัญหา จึงอยากขอร้องประชาชนส่วนใหญ่ให้เข้าใจและช่วยกันลดแรงกดดัน ไม่เช่นนั้นเราจะเดินไปไหนไม่ได้ทั้งสิ้น ที่ผ่านมาพยายามให้ทุกคนได้แสดงออกอยู่แล้ว แต่ถ้าทำให้เกิดปัญหาก็ต้องหามาตรการอื่นต่อไป ซึ่งฝ่ายความมั่นคงกำลังพิจารณาอยู่
เมื่อถามว่า หากสนช.มีท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทั้งสองกลุ่มขู่จะนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หากนำม็อบออกมาถือว่าผิดกฎหมาย วันนี้เราต้องก้าวพ้นคำว่ากับดักของประเทศไทยให้ได้ โดยเฉพาะกับดักประชาธิปไตย เราเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา ถ้าแก้แล้วยังไปทะเลาะกัน มีปัญหาเรื่องเดิมๆ คงไม่ได้ ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นต้องปล่อยให้กระบวนการแก้ปัญหา คนผิดก็ต้องผิด ถ้าใช้ทางนี้ไม่ได้ก็ใช้กฎหมายอื่นซึ่งมีอีกมาก ไม่ใช่ว่าคสช.จะทำทุกอย่างได้ทั้งหมด ถ้าจะให้ใช้แบบนั้น ต้องใช้อำนาจเต็มที่ ขอให้ใจเย็นๆ
ลั่นถอดถอนเป็นเรื่องกม.
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ประเด็นการถอดถอนเป็นเรื่องของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ส่วนจะกระทบรัฐบาลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสื่อว่าจะช่วยทำอย่างไรให้ปัญหาลดระดับลง ต้องช่วยกันอธิบายว่าวันนี้เราทำตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ถ้าใช้แต่อำนาจ อนาคตข้างหน้าปัญหาจะเกิดขึ้นอีก ดังนั้นให้ทุกอย่างเดินตามข้อกฎหมาย ถ้าใครไม่พอใจก็ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ขอร้องว่าอย่าชุมนุมกันเลย มีอะไรขอให้เสนอแนะและพูดคุยกัน ถ้ามากดดันก็คงเป็นแบบเก่า ตนต้องใช้กฎหมายอยู่ดีเพราะต้องดูเหตุผลความจำเป็นด้วย
"อย่าพูดจาข่มขู่กันไปมา มันไม่ได้ แล้วประเทศชาติและประชาชนอยู่กันตรงไหน ได้ถามเขาบ้างหรือเปล่า ผมฟังเสียงคนทั้งประเทศ อยากถามว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวได้ฟังและถามคนอื่นบ้างหรือไม่ ถ้าไปปลุกระดมมาแล้วมีปัญหา มีผลกระทบระหว่างรัฐและประชาชน จะเกิดเหตุและปัญหาขึ้นอีก ประเทศจะเดินต่อไปได้อย่างไร ทุกคนอยากให้สงบเรียบร้อย ซึ่งในทางการข่าวมีรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆทุกวัน แต่คงบอกรายละเอียดไม่ได้ แต่รัฐบาลมีมาตรการรับมืออยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
วอนอย่าชุมนุมเคลื่อนไหว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ขอร้องสื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจว่าอย่าออกมาเคลื่อนไหว บ้านเมืองกำลังเดินหน้าด้วยดี ต่างชาติยอมรับ ถ้าเคลื่อนไหวชุมนุมอีก บ้านเมืองจะวุ่นวาย ต่างชาติก็จะไม่ยอมรับ แล้วประเทศจะเดินหน้าได้อย่างไร ขณะนี้รัฐบาลแก้ปัญหาไปทั้งหมดแล้ว ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่แต่ไม่ลืมประโยชน์ของคนส่วนน้อย ไม่ใช่เฉพาะคนที่ชอบ คสช.หรือรัฐบาลนี้เท่านั้น แม้แต่คนที่เห็นต่าง ตนก็ต้องฟังและนำมาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ถ้าทุกคนตั้งหลักต้องชนะหรือแพ้ในเรื่องเดิมๆ คงไม่ถูกและไม่ใช่วาระสำคัญในเวลานี้ รอให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยว่ากัน วันนี้ยังไม่ใช่เวลาเอาแพ้ชนะกัน
เมื่อถามว่าที่ผ่านมายังมีภาพการเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อาจทำให้กลุ่มสนับสนุนมีการเคลื่อนไหว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สื่ออย่าไปเสนอข่าว ถ้าใครทำผิดกฎหมาย อย่าเสนอภาพคนที่ผิดกฎหมายก็จบแล้ว เสนอกันทำไม อยากขอความร่วมมือสื่อว่าอะไรที่ยังอยู่ในกระบวน การยุติธรรม อย่าเพิ่งนำเสนอ จะเห็นว่าตนไม่ได้ห้ามปรามใครเพราะยังไม่มีการตัดสินชัดเจน แต่ถ้ามันมีคดีความอยู่แล้ว ขอให้สื่อช่วยลดการนำเสนอลง เมื่อนำเสนอมาอย่างนี้ มันก็มีคนมาเปรียบเทียบว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำอะไร ถ้าช่วยกันไม่เสนอข่าวก็เบาลง
อย่าให้ใช้กฎหมายทุกอันเลย
นายกฯ กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ก็ส่วนหนังสือพิมพ์ แต่ในสังคมออนไลน์มีการติดตามอยู่ บางคนเขียนไม่ดีนัก ถ้าเขียนในทางสร้างสรรค์ก็ไม่ได้ปิดกั้น อะไรที่รับได้ก็รับได้ แต่ที่เขียนเสียหาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนมันไม่ได้ ขอร้องซึ่งทุกประเทศมีมาตรการทั้งหมด มีแต่ของเราที่ยังคุมกันไม่ได้ เสรีภาพของสื่อ เสรีภาพของประชาชน แต่ถ้าเสรีภาพเหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้งหรือละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นก็ไม่สมควร อย่าให้ใช้กฎหมายทุกอันเลย
"อยากขอร้องสื่อว่า ผมพยายามเต็มที่และพูดกับพวกเราอย่างใจเย็นที่สุด เพราะรู้ตัวดีว่าเป็นคนที่ค่อนข้างโมโหเร็ว วันนี้เย็นลงไปเยอะแล้ว เพราะผมมองประเทศชาติเป็นหลัก ขอให้เห็นใจผมหน่อย เห็นใจประเทศไทยและคนไทยด้วย อย่าซ้ำเติมกันอีกเลย ประเทศไทยถอยหลังมามากแล้ว วันนี้ต้องเดินไปข้างหน้า ขอบคุณแรงใจและการสนับ สนุนจากทุกคน ซึ่งมีทั้งสนับสนุนมาก สนับ สนุนน้อย ใครยังสนับสนุนน้อยอยู่ ก็ให้เข้าใจเราก็น่าจะดีขึ้น ถ้าใครไม่สนับสนุนเลย ขอให้ฟังเราบ้างนิดหน่อยก็ยังดี ถ้าไม่ฟังเลย เอาแต่ความเกลียดชัง เอาผลประโยชน์ขึ้นมาก็มีปัญหาตลอด คนไทยมีปัญหาเรื่องเดียว หวังดีทุกคน เก่งทุกคน แต่คุยกันไม่ค่อยได้ นี่ละคือปัญหา ที่ผ่านมาต้องขอบคุณในคำตักเตือนและข้อแนะนำและผมคงไม่ได้เปลี่ยนบุคลิกเพราะมีหลายบุคลิกอยู่แล้ว" นายกฯ กล่าว
ยันยื่นโชว์เซฟตามกฎหมาย
เมื่อถามถึงนายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ เจ้าของฉายาโหร คมช. ระบุรัฐบาลจะมีอายุ 2-3 ปี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ให้กลับไปถามโหรวารินทร์ ตนไม่รู้ วันนี้ประเทศมีปัญหามาก ต้องขอเวลาและขอโอกาส อยากให้ทุกคนช่วยกัน แต่ถ้ายังมัวตีกันอีก ก็คงไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ดังนั้นไม่ว่าใครจะอยู่ซ้ายหรือขวา อยากให้มาคุยกันหรือเข้าสู่กระบวน การเพื่อหาข้อยุติ ซึ่งคิดว่าปัญหาและการเดินหน้าประเทศอยู่ที่พวกเราทุกคน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณียังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินว่า ก็ว่ากันไป ตนให้ความร่วมมือทุกอย่างตามกฎหมายแล้ว ถึงได้เสนอไป และคิดว่าถ้าไม่มั่นใจก็คงไม่เสนอ ที่ผ่านมาตนให้ความร่วมมือทุกอย่าง ขอให้ไปดูและให้ความเป็นธรรมกับทุกคนด้วย
ปีใหม่มีของขวัญให้ประชาชน
นายกฯ กล่าวว่า สำหรับของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลจะให้ประชาชนนั้น ทุกกระทรวงกำลังทำอยู่ คือเร่งดูแลคนรายได้น้อยให้มีความสุข จากที่ตนร่วมประชุมกับผู้ประกอบการหลายแห่ง ระบุว่าพร้อมทำให้ประชาชนมีความสุข ซึ่งการจะให้ประชาชนมีความสุขนั้นต้องทั่วถึง ไม่ใช่การรับแขกแจกของอย่างเดียว แต่เป็นการใช้จ่ายสิ่งของที่ราคาถูก ซึ่งทุกกระทรวงได้วางแผนโครงการไว้หมด และบางอย่างได้เริ่มต้นแล้ว เช่น การจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากการจัดระเบียบ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้เราผ่อนผันเรื่องหาบเร่แผงลอย ในช่วงแรกที่เราเข้มงวดเพื่อให้รู้ว่าผิดกฎหมาย ซึ่งเราให้มาตรการผ่อนผันว่าเวลานี้ขายได้ แต่ต้องให้บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อย เราเห็นใจคนจน แต่ต้องเห็นใจรัฐบาล เห็นใจประเทศชาติ เพราะเป็นภาพรวมของประเทศ เราพยายามจัดระเบียบทุกที่และหาทางดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เอาปัญหาเดิมมาดูข้อบกพร่องแล้วนำมาแก้ไข ซึ่งต้องใช้เวลาทั้งหมด
บิ๊กป้อมลั่นอย่าทำสังคมแตกแยก
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีมีอดีตนักการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้นว่า อยากให้สัมภาษณ์หรือพูดอะไรก็พูดไป แต่จะพูดให้สังคมแตกแยกหรือรัฐเกิดความไม่มั่นคงไม่ได้ เพราะเรารับไม่ได้และคงต้องพูดคุยกัน ส่วนที่มีบางพื้นที่นำชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาเขียนในงานทอดกฐินนั้น ต้องให้เจ้าหน้าที่ไปดูเพราะยังไม่ทราบเรื่อง
เมื่อถามว่ากลุ่มกปปส.ขู่ว่าหากสนช.ไม่รับเรื่องถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รวมทั้งกรณีน.ส. ยิ่งลักษณ์ ไว้พิจารณา ต้องเผชิญกับมวล มหาประชาชน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขู่ก็ขู่ไป การปฏิบัติก็ต้องว่าไป ไม่ใช่ทำให้เกิดความแตกแยก ขณะนี้รัฐบาลทำทุกอย่างให้เกิดความเป็นธรรม แก้ไขปัญหาความยากจน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่าการคงพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกมีแนวโน้มประกาศยาวต่อเนื่องหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวย้อนว่า "ประกาศอะไรยาว พวกคุณดูและรู้ได้เองว่าควรมีหรือไม่" ส่วนประเด็นเรื่องเงินทอดกฐินเพื่อสร้างเจดีย์โฆสมังคลาราม (หลวงปู่คำพันธ์) อ.ปลา ปาก จ.นครพนม 82 ล้านบาทนั้น มีจากหลายส่วนร่วมบริจาคเงิน ส่วนตนบริจาคหลักหมื่นบาทเท่านั้น
วิษณุแจงล็อกแนวทางร่างรธน.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงรายชื่อบุคคลที่ครม. และคสช.จะเสนอเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตนรู้ไม่หมดและไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสปช. จะมาเป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ นั้น นายวิษณุกล่าวทีเล่นทีจริงว่า "เขาเปลี่ยนแล้ว แต่ผมพูดเอาเท่ๆ"
เมื่อถามว่ามีชื่อนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ หรือนายอุกฤษ มงคลนาวิน นายสุจิตต์ บุญบงการ หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตอบไม่ได้ อย่าถาม ซึ่งทั้ง 11 รายชื่อนั้น นายกฯ เห็นหมดแล้ว และตนมองว่าหน้าตาของกมธ. ชุดนี้ออกมาดีเป็นที่ยอมรับ
เมื่อถามว่ามีข้อสังเกตว่ามีรายชื่อกมธ. บางคนเกี่ยวข้องกับบางกลุ่มการเมือง เช่น กลุ่มกปปส. จนถูกมองว่าร่างกฎหมายที่ออกมาจะทำตามแนวคิดของกลุ่มนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้มองว่ามาจากกลุ่มไหน ต้องดูที่ความหลากหลาย ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่า และใน 36 คนนั้น คงไม่ไปในทางเดียวกันทั้งหมด บางคนก็มาคานความคิดเห็น อย่าบอกว่าใครมีคอนเน็กชั่นกับใคร เพราะทุกคนมีคอนเน็กชั่นด้วยกันทั้งนั้น ที่สำคัญการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องยึดกรอบตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่มีเนื้อหากว้างอยู่แล้ว ส่วนใครคิดว่าเขียนล็อกเอาไว้ ก็บอกได้ว่าเราต้องการล็อกเพราะ รัฏฐาธิปัตย์เขาล็อกไว้ ขณะเดียวกันต้องฟังข้อเสนอแนวทางยกร่างฯ จากสปช.ด้วย
ชื่อโผล่ชิง"ปธ.ร่างรธน."พรึบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วม ครม.และคสช. ครั้งที่ 2 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีวาระสำคัญเสนอรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดสรรเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าผู้ที่จะเป็นกมธ.ยกร่างฯ สัดส่วน ครม.และคสช. ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ นักกฎหมาย อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะถูกเสนอชื่อเป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี"50 นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รายงานข่าวแจ้งว่า คสช. บางคนสนับสนุน นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา และกรรมการกฤษฎีกา แต่ยังไม่ชัดเจนว่านายประสพสุขจะตอบรับหรือไม่ นอกจากครม.และคสช. อาจดึงสมาชิก สนช.และสปช. ที่ไม่ได้รับการคัดเลือก อาทิ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายวรรณชัย บุญบำรุง กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ รายชื่อกมธ.ยกร่างฯ ในส่วนของ ครม. และคสช.จะต้องส่งให้ประธานสปช. ลงนามคำสั่งแต่งตั้งภายในวันที่ 4 พ.ย. และคาดว่าจะประชุมนัดแรกในวันที่ 5 พ.ย. ขณะที่ข่าวอีกกระแสจากซีกของ นายทหารในสาย คสช. คาดเดากันว่าโควตากรรมาธิการยกร่างฯ ของคสช. น่าจะมีชื่อนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) และนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า
ปัดวุ่นทาบทามนั่งกมธ.รธน.
นายบรรเจิด สิงคะเนติ กล่าวว่า ยอมรับว่ามีคนกลางมาทาบทามให้ตนเป็นกมธ.ยกร่างฯ ในสัดส่วนครม. และคสช. แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับเลือกหรือไม่ ต้องรอดูผล การพิจารณาของ ครม.และคสช.ในวันที่ 4 พ.ย.
นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ สมาชิก สนช. และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการทาบทามจาก คสช.หรือรัฐบาลให้เป็นกมธ.ยกร่างฯ ในสัดส่วน คสช.และครม. แต่หากได้รับการคัดเลือก ก็พร้อมทำหน้าที่
นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และสมาชิกสปช. กล่าวถึงกรณีมีชื่อเป็นแคนดิเดตเลขานุการกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กับนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ สมาชิกสนช. ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง และยังไม่มีใครทาบทาม
ด้านนางกาญจนารัตน์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครทาบทามตนให้เป็นเลขานุการกมธ.ยกร่างฯ และขอให้มีการประชุมนัดแรกก่อน
สนช.สายทหารเมินถอดถอน
รายงานข่าวจากสนช.แจ้งว่า ในการประชุมสนช.วันที่ 6 พ.ย. ซึ่งมีวาระสำคัญคือการพิจารณาสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามที่ป.ป.ช. ส่งสำนวนให้นั้น สนช.ส่วนใหญ่ได้ศึกษาสำนวนที่มี 4 พันกว่าหน้าแล้ว และมีคำตอบอยู่ในใจ ซึ่งขณะนี้มี 2 แนวทาง คือ มีมติรับเรื่องไว้พิจารณา และ 2.มีมติไม่รับเนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ไม่มีความผิดเหลืออยู่ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ป.ป.ช.ใช้อ้างฐานความผิด ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนกรณีไม่รับไว้พิจารณาอาจจะถูกฟ้องร้องฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่นั้น สนช.ไม่กังวล เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตใจ อีกทั้งสนช.บางคนมองเรื่องบรรยากาศที่จะเข้าสู่การปรองดอง อย่างไรก็ตาม สนช.หลายคนให้ความเห็นว่าคดีนี้ตัดสินใจยากกว่าการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ป.ป.ช.อ้างฐานความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. และพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงมติถอดถอนของสนช.ในเรื่องดังกล่าว ต้องใช้เสียงสมาชิก สนช. 3 ใน 5 คือ 132 เสียงขึ้นไป ทำให้มีการประเมินว่าเป็นไปได้ยากที่เสียงสมาชิก สนช. จะเพียงพอต่อการถอดถอนได้ อีกทั้งการพิจารณาเรื่องนี้วันที่ 6 พ.ย. หากลงมติรับหรือไม่รับเรื่องไว้พิจารณานั้น สนช.สายทหารมีความเคลื่อนไหวโดยจะงดออกเสียง รวมทั้งหากเรื่องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนและลงมติถอดถอนหรือไม่นั้น สายทหารก็จะงดออกเสียงเช่นกัน
นายนรนิติ เศรษฐบุตร สมาชิกสนช. กล่าวว่า การที่สนช.พิจารณาเรื่องนี้ ประธานการประชุมต้องเปิดให้สมาชิกอภิปรายอย่างเต็มที่ ส่วนจะมีมติรับหรือไม่รับพิจารณานั้น ต้อง ดูฐานความผิด หากรับมาพิจารณาก็ต้องพิจารณาว่านายสมศักดิ์และนายนิคม มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ หรือผิดตามกฎหมายอื่น หากที่ประชุมมีมติรับเรื่องและเห็นว่ามีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ ปวดหัวเพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิก ไปแล้ว
ปธ.สนช.ไม่หวั่นม็อบกดดัน
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกลุ่มนปช.และกปปส.ระบุจะออกมาเคลื่อน ไหวกดดันการประชุมสนช.ในวันที่ 6 พ.ย. ซึ่งมีวาระพิจารณารับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม ว่า ไม่ได้กดดัน การทำงานตามหน้าที่ของสนช. รู้ดีว่าต้องพิจารณาตามหลักความถูกต้อง หลักยุติธรรม แต่จะให้ถูกใจทุกคนคงไม่ได้ และตนไม่มีอะไรฝากถึงกลุ่มที่จะเคลื่อนไหว ยืนยันว่าสนช.ทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ คิดถึงแต่ความถูกต้องและหลักความยุติธรรม หนักแน่น หากจะทำให้บางฝ่ายไม่พอใจ ก็ขออภัยด้วย เพราะคงทำถูกใจทุกคนไม่ได้"
เมื่อถามว่าวิปสนช.ระบุอาจรับเรื่องถอด ถอนไว้พิจารณาก่อนแล้วค่อยพิจารณาตามกฎหมาย ประธานสนช.กล่าวว่า เป็นเพียง วิปบางคนที่พูดอย่างนั้น ถือเป็นสิทธิเพราะการทำงานสนช.เป็นอิสระ ตนต้องแล้วแต่ที่ประชุมว่าจะมีความเห็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับที่ประชุม หน้าที่ของตนคือให้ข้อมูล ให้สมาชิกทราบครบถ้วนว่าเป็นอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าสนช.ยืนยันหรือไม่ว่า คสช.ไม่สามารถสั่งเรื่องถอดถอนได้ว่าต้องพิจารณาอย่างไร นายพรเพชรกล่าวว่า ยังไม่เคยสั่ง ไม่จำเป็นต้องสั่งด้วย เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาการเมืองอีก ประธานสนช. กล่าวว่า เป็นประเด็นที่หนังสือพิมพ์พูดกัน ตนยังไม่เคยพูด
พท.ยื่น 7 ข้อค้านถอดถอน"ปู"
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษากฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ แถลงผลการประชุมร่วมกับคณะทำงานว่า ได้ข้อยุติจะนำเรื่องเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อจัดทำเป็นคำคัดค้านคำสั่งประธาน สนช. เรื่องนำสำนวนคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าวาระการประชุมสนช. นัดพิเศษในวันที่ 12 พ.ย. โดยมีประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะคัดค้านคดีถอดถอน 7 ข้อ คือ 1.หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ คดีถอดถอนมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้หากรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดให้อำนาจไว้ 2.รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 มิได้กำหนดให้อำนาจเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (ป.ป.ช.)
3.ข้อบังคับการประชุมสนช. เฉพาะหมวด 10 ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักการตรากฎหมายในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ 4.ข้อบังคับการประชุมสนช. เฉพาะหมวดที่ 10 ว่าด้วยการถอดถอน และการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง ในส่วนที่ 1 การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. "เป็นการขัดหรือล้าง ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 5"
ชี้ขัดหลักนิติธรรม-รธน.
5.ประธาน สนช. หรือวิป สนช. ไม่อาจเลือกปฏิบัติ ในการเลือกฐานความผิด ดำเนินคดีถอดถอนให้ผิดไปจากมติป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดต่ออดีตนายกฯ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาตามข้อบังคับหมวด 10 ส่วนที่ 1 ที่ปรากฏตามรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอต่อสนช. หากฝ่าฝืนปฏิบัติถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญมาตรา 5 เสียเอง
6.อ้างบทบัญญัติกฎหมายที่ไม่มีบทบังคับโทษ มาเป็นเหตุถอดถอนไม่ได้ 7.ความเป็น นายกฯของน.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 58 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. เหตุที่คัดค้านเพราะคณะทำงานเห็นว่าการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของอดีตนายกฯในเรื่องคดีถอดถอน ต้องเป็นไปโดยถูกต้องชอบธรรมตามหลักนิติธรรม
ถาวรโต้ข่มขู่"สนช."
นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวถึงนายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำนปช. พาดพิงหลังออกมาเรียกร้องให้สนช.รับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม ว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ไม่เคยใช้อามิสสินจ้างหรือผลประโยชน์ใดๆ มาล่อลวงให้ประชาชนร่วมชุมนุม การที่ตนเรียกร้องให้สนช.พิจารณาอำนาจในการถอดถอนตามกระบวนการของกฎหมาย จึงไม่ใช่การข่มขู่ ฉะนั้นอย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อกฎหมายมหาชนที่ต้องตีความกว้างเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งที่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศโดยไม่มีใครหรือชาติใดในโลกทำกัน
"โทนี่ แบลร์"พบ"ตู่"-เร่งจัดเลือกตั้ง
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 3 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรี สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยมีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศร่วมหารือ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
จากนั้น ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ใช้โอกาสนี้อธิบายถึงสถานการณ์ของไทยในช่วงที่ผ่านมาว่าปัญหาขณะนี้คือการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองในประเทศ ซึ่งรัฐบาลดำเนินการอยู่ ทั้งนี้นายกฯกล่าวชื่นชมนาย โทนี่ แบลร์ ในการแก้ไขปัญหาในไอร์แลนด์เหนือ โดยใช้แนวทางที่สร้างสรรค์ รวมทั้งเคยให้ข้อคิดกับไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยพล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่ารัฐบาลไทยพร้อมส่งเสริมประชาธิปไตยที่ยั่งยืน เพียงแต่ขณะนี้เราแก้ปัญหาที่ทำให้ประเทศติดขัด ทั้งเศรษฐกิจ การบริหารงาน ความขัดแย้งของประชาชน รวมทั้งข้อติดขัดด้านกฎหมายและกติกาต่างๆ ซึ่งขณะนี้สามารถผลักดันให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาลไทยยินดีรับฟังความคิดเห็นคำแนะนำจากนายโทนี่ แบลร์ และมิตรประเทศ
ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า นายโทนี่ แบลร์ ขอบคุณการต้อนรับที่อบอุ่น พร้อมระบุว่าเข้าใจปัญหาของไทยที่เผชิญอยู่ การเมืองไทยไม่เหมือนประเทศอื่นๆ เคยศึกษาปัญหาของไทย พบว่ามีความแตกแยกภายในประเทศ ซึ่งประชาคมโลกต้องการให้ไทยเดินหน้าเรื่องการเลือกตั้งในปี 2558 และยึดมั่นเรื่องสิทธิมนุษยชน และอยากให้ไทยแก้ไขสิ่งที่เป็นอุปสรรคด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศเดินหน้า คืนสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว
"นายโทนี่ แบลร์ เข้าใจดีว่าปัญหาของไทยมีความสลับซับซ้อนมาก อยากให้รัฐบาลไทยอธิบายให้ประเทศอื่นๆ เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมองปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสองด้าน ด้านหนึ่งคือปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งผลักดันโดยพร้อมสนับสนุนรัฐบาลทำงานเต็มที่ อีกด้านคือปัญหาในเชิงการเมือง และกระบวนการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ อยากให้รัฐบาลไทยชี้แจงกับนานาประเทศถึงขั้นตอนที่กำลังเดินหน้าอยู่ และเน้นย้ำว่าต้องให้ทราบว่าสถานการณ์มีความสลับซับซ้อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเวทีสากล และนำไปสู่ขั้นตอนปฏิรูปประเทศ" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว
ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าต้องการมีช่องทางประสานติดต่อกันอย่างไม่เป็นทางการกับนายโทนี่ แบลร์ โดยผ่านพล.อ.ธนะศักดิ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างๆ เพิ่มเติมจากประสบการณ์
"เมธี"เผยที่ประชุมก.ต.ไม่คัดค้าน
วันที่ 3 พ.ย. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ทำหนังสือถึงประธานสนช. เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งนายเมธี ครองแก้ว เป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิ เนื่องจากมีคุณสมบัติต้องห้ามว่า จะนำเอกสารข้อท้วงติงดังกล่าวหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช.(วิป) ในวันที่ 4 พ.ย. แต่เชื่อว่าการยื่นคัดค้านดังกล่าวคงไม่มีผลทำให้ สนช.ต้องทบทวนการแต่งตั้งนายเมธี เพราะการแต่งตั้งเสร็จสิ้นกระบวนการทางนิติบัญญัติแล้ว ขณะที่ระเบียบ ก.ต.ระบุว่า การขัดคุณสมบัติต้องเป็นคดีถึงที่สุด แต่กรณีนายเมธี คดียังไม่ถึงที่สุด จึงคิดว่าไม่มีปัญหาในทางกฎหมาย ส่วนความเหมาะสม เป็นประเด็นที่ ก.ต.จะพิจารณา หรือนายเมธีจะใช้ดุลยพินิจเองว่าจะตัดสินอย่างไร
ด้านนายเมธีกล่าวภายหลังการเข้าร่วมประชุม ก.ต.ว่า ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีกลุ่มทนายความ 18 คนยื่นคัดค้านตน เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงว่าคดีที่ถูกฟ้องร้องนั้น เป็นคดีสมัยตนเป็นกรรมการป.ป.ช. ซึ่งฟ้องร้องการทำหน้าที่ของป.ป.ช. และฟ้องร้องทั้งคณะป.ป.ช. ไม่ใช่ฟ้องแค่ตนคนเดียว ส่วนคดีความหลักที่ตนถูกฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วนั้น ศาลยังไม่ได้ประทับรับฟ้อง ซึ่งศาลก็รับรองไว้ จึงกล่าวได้ว่าตนยังไม่เคยตกเป็นจำเลย ส่วนคดีที่อยู่ในชั้นพิจารณาในศาลอื่นๆ นั้น เป็นคดีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่สมัยป.ป.ช. ตามกฎหมายระบุว่าในการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมไม่อาจถูกฟ้องร้องเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยในที่ประชุม ก.ต. ตนแจ้งให้ประธานศาลฎีกา รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว
นายเมธีกล่าวอีกว่า รวมทั้งได้สอบถามถึงกรณีประธานศาลฎีกาทำหนังสือไปยังนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ซึ่งประธานศาลฎีกาก็ไม่ได้คัดค้านหรือแสดงความเห็นใดๆ เพียงแต่ประธานศาลฎีกาได้ชี้แจงกรณีมีกลุ่มทนายความคัดค้านให้ประธานสนช.รับทราบเท่านั้น โดยสนช.จะพิจารณากรณีดังกล่าวในวันที่ 4 พ.ย.
นายเมธีกล่าวด้วยว่า หลังจากชี้แจงในที่ประชุมแล้ว ก.ต.คนอื่นๆ ไม่มีใครคัดค้านและ ไม่มองว่าตนขาดคุณสมบัติ ส่วนที่มีสื่อบางแห่งระบุว่าประธานศาลฎีกาคัดค้านตนเป็นก.ต. นั้น ถือว่าไม่เป็นความจริง แต่ไม่ได้ติดใจเอาความหรือคิดจะฟ้องร้องกลับแต่อย่างใด
ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนคงไปร้องคณะกรรมการจริยธรรมของ สนช. ให้ตรวจสอบจริยธรรมของนายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสรรหา ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่มองว่าสมาชิก สนช.ดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ร้อง เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 12 ระบุชัดเจนว่า สมาชิก สนช.ผู้ใดกระทําการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ศรี สมาชิกสนช.ไม่น้อยกว่า 25 คนมีสิทธิ์เข้าชื่อร้องขอต่อประธาน สนช. มีมติให้ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพได้ หากพิจารณาจากคำท้วงติงของประมุขฝ่ายตุลาการ ถือว่าเข้าข่ายตามมาตรา 12 อย่างชัดเจน
"เทียนฉาย"รับบรมราชโองการ
เมื่อเวลา 07.45 น. วันที่ 3 พ.ย. ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 มีพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธานสปช. คนที่ 1 น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธานสปช. คนที่ 2 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
เวลา 09.30 น. นายเทียนฉายทำหน้าที่ประธานการประชุมครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ซึ่งทันทีที่เปิดประชุม มีการรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานและรองประธานสปช. จากนั้นนายเทียนฉายแจ้งต่อที่ประชุมว่า หลังจากนี้สปช.ต้องทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้การทำงานเดินหน้ามากที่สุดตามที่ตั้งเป้าไว้ หลายเรื่องต้องมุ่งสู่ความสำเร็จ ซึ่งวิธีการทำงานของสปช.ต้องไม่ทำในทำนองผู้ออกกฎหมาย และการทำงานของสปช.ต้องใช้เวลา ความสามัคคี รวมถึงการปรองดองของสปช.จะต้องเป็นต้นแบบให้ของคนในชาติ ทั้งนี้สปช.จะประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน ทุกวันจันทร์และวันอังคาร
ต่อมาที่ประชุมเริ่มพิจารณาระเบียบวาระเรื่อง ร่างข้อบังคับการประชุมสปช. พ.ศ... ตามที่กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุมสปช.พิจารณาเสร็จแล้ว ที่ประชุมจึงลงมติรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนน 204 ต่อ 1 งดออกเสียง 1
ทั้งนี้ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง สมาชิกสปช. เสนอให้ตั้งกมธ.เต็มสภาในวาระ 2 มาพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมเป็นรายข้อ ซึ่งสมาชิกอภิปรายเนื้อหาของร่างข้อบังคับอย่างกว้างขวาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมในวาระ 2 ประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือข้อ 80 เรื่องการตั้ง กมธ.วิสามัญประจำสภา 17 คณะ และการใช้ชื่อ กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งในที่สุด กมธ.ยกร่างข้อบังคับฯ ยอมให้เปลี่ยนชื่อเป็น กมธ.ปฏิรูปตามที่สมาชิกเสนอมา และยอมให้เพิ่ม กมธ.อีก 1 คณะ คือ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค รวมมี กมธ.ทั้งสิ้น 18 คณะ และเปลี่ยนชื่อกมธ. 4 คณะ เพื่อให้ครอบคลุมภารกิจของ สปช.มากยิ่งขึ้น ได้แก่
1.กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็น กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและสิทธิพื้นฐานของประชาชน 2.กมธ.ปฏิรูปการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เปลี่ยนเป็นกมธ.ปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และบริการ 3.กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นกมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชน กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ 4.กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เป็นกมธ.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา วิจัย และนวัตกรรม
ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำและการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ไปอยู่ในส่วนของภารกิจของ กมธ.ทุกคณะ โดยให้มีจำนวน กมธ.แต่ละคณะตั้งแต่ 18-27 คน
"สุวณา"รับมอบนโยบายดีเอสไอ
วันที่ 3 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ว่า ตนมารับมอบนโยบายการทำงาน แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องปรับโครงสร้างการทำงานของดีเอสไอ นอกจากนั้นตนนำเสนอรายชื่อที่จะเสนอครม.แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ โดยมีนายวิษณุทำหน้าที่ประธาน กคพ. ตามที่นายกฯมอบหมาย ให้รับทราบ ซึ่งเป็นการแต่งตั้งแทนบุคคลที่ครบวาระการทำงานตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ไม่ใช่โละบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองอย่างที่มีข่าว คาดว่าหลังครม.เห็นชอบแล้วจะเรียกประชุมนัดแรกภายในกลางเดือนพ.ย.นี้ ส่วนจะคัดเลือกเรื่องต่างๆ ให้เป็นคดีพิเศษนั้น ต้องหารือกันภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเห็นชอบร่วมกัน ยืนยันว่าไม่มีใบสั่งให้หยิบยกเรื่องใดมาทำเป็นพิเศษ โดยให้คดีต่างๆ เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
"ก็หนักใจ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชามอบหมาย จะทำให้ดีที่สุด ให้เห็นผลก้าวหน้าอย่าง ต่อเนื่อง ไม่มีปัญหากับใครและคนที่ทำงานในดีเอสไอส่วนใหญ่เป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ และทุกคนในองค์กรต้องช่วยกันขับเคลื่อนและสร้างความเชื่อมั่น" นางสุวณากล่าว
03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 12:38 น. ข่าวสดออนไลน์
‘ประยุทธ์’ ขอสื่อลดเสนอภาพ ‘ทักษิณ’ แก้ขัดแย้ง
วันที่ 3 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความเข้มงวดของคสช. เกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นของแกนนำกลุ่มต่างๆ ว่า มีการพูดคุยกันอยู่ โดยให้ฝ่ายความมั่นคงไปพูดคุย ส่วนใหญ่พอเชิญมาพูดคุยก็รู้เรื่องทุกครั้ง แต่พอออกไปก็ไปพูดกันอีก คงต้องหามาตรการอื่นต่อไป แต่ก็ต้องระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการจำกัดสิทธิ์และจะเป็นปัญหา
เมื่อถามว่าทั้งสองกลุ่มขู่ว่าจะนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวหากสนช. มีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจการถอดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หากนำม็อบออกมาก็ถือว่าผิดกฎหมาย วันนี้เราต้องก้าวพ้นคำว่ากับดักของประเทศไทยให้ได้ รวมทั้งหลายๆ เรื่องทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม จิตวิทยา เราต้องก้าวพ้นกับดักนี้ให้ได้ โดยเฉพาะกับดักประชาธิปไตย ว่ามันควรต้องเป็นอย่างไรต่อไป
เมื่อถามว่าประเด็นการถอดถอนจะกลายเป็นเรื่องเปราะบางสำหรับรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เดี๋ยวฝ่ายกฎหมายเขาว่ากัน ว่าอย่างไรก็เป็นตามนั้น ตนไม่ไปก้าวล่วง ส่วนจะกระทบกระเทือนการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสื่อว่าจะช่วยกันทำอย่างไรให้ปัญหาลดระดับลง ต้องช่วยกันอธิบายให้เข้าใจว่าวันนี้เราต้องทำตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เพราะถ้าใช้แต่อำนาจ อนาคตข้างหน้าปัญหาก็จะเกิดขึ้นมาอีก ดังนั้นวันนี้ให้ทุกอย่างเดินไปตามข้อกฎหมาย ถ้าใครไม่พอใจก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้
เมื่อถามต่อว่าหากเป็นเช่นนั้นแสดงว่าในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะไม่เห็นภาพการชุมนุมใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องไปบอกกับคนที่จะมาชุมนุม เพราะการชุมนุมถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ต้องขอร้องว่าอย่ามีการชุมนุมเลย มีอะไรก็ขอให้เสนอแนะและพูดคุยกัน ถ้ามากดดันกันก็คงเป็นแบบเก่า ตนก็ต้องออกมาใช้กฎหมายอยู่ดี เพราะต้องดูเหตุผลความจำเป็นด้วย
“อย่ามาพูดจาข่มขู่กันไปกันมา มันไม่ได้ แล้วประเทศชาติ ประชาชนอยู่กันตรงไหน ถามเขาบ้างหรือเปล่า สำหรับผมแล้วฟังเสียงคนทั้งประเทศ อยากถามกลับว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวฟังและถามคนอื่นบ้างหรือไม่ ถ้าไปปลุกระดมขึ้นมาแล้วมีปัญหามีผลกระทบระหว่างรัฐและประชาชน ก็จะทำให้เกิดเหตุและปัญหาขึ้นมาอีก แล้วประเทศจะเดินต่อไปอย่างไร ทุกคนก็อยากให้เกิดความสงบเรียบร้อย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ในทางการข่าวก็มีรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ทุกวัน แต่คงไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ รัฐบาลมีมาตรการในการรับมืออยู่แล้ว
เมื่อถามว่าจะใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอน กฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ก็ขอร้องสื่อให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจ ว่าตอนนี้อย่าออกมาเคลื่อนไหว บ้านเมืองกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ต่างชาติให้การยอมรับ ถ้ามีการเคลื่อนไหวออกมาชุมนุมอีก บ้านเมืองก็จะวุ่นวาย ต่างชาติจะไม่ยอมรับ แล้วประเทศจะเดินหน้าได้อย่างไร การลงทุน การค้า และเศรษฐกิจต่างๆ จะชะลอตัว แล้วจะแก้อย่างไร
เมื่อถามว่าไม่ใช่เป็นเพราะช่วงนี้หัวหน้า คสช.ใจดีเป็นพิเศษใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ได้ใจดี แต่เป็นเรื่องต้องดำเนินการตามสถานการณ์ บางครั้งก็จำเป็นต้องใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง และปัญหาของคนส่วนใหญ่ ปัญหาของคนมีรายได้น้อย แต่ให้ความเป็นธรรมกับคนทุกฝ่าย แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้กฎหมายก็ต้องใช้ ต่างประเทศก็ต้องเข้าใจเราด้วย แต่ถ้าคนไทยไม่เข้าใจกันเองแล้วจะให้ใครมาเข้าใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าไม่หวั่นไหวกับบรรดาที่นักการเมืองออกมาลองของใช่หรือไม่นายกฯกล่าวว่าอย่าใช้คำว่าไม่หวั่นไหว เรามีการเตรียมการรับในฐานะที่รัฐบาลเข้ามาเพื่อลดปัญหา และความขัดแย้งก็ต้องขอให้ยุติกันไปก่อน
สำหรับกรณีที่ยังมีภาพการเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอาจจะทำให้กลุ่มสนับสนุนมีการเคลื่อนไหว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “สื่อก็อย่าไปเสนอข่าวสิ ถ้าใครทำผิดกฎหมายก็อย่าเสนอภาพคนที่ผิดกฎหมาย ก็จบแล้ว แล้วเสนอกันทำไม วันนี้ก็อยากขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ว่าอะไรที่ยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็อย่าเพิ่งนำเสนอ จะเห็นได้ว่าผมไม่ได้ไปห้ามปรามใคร เพราะยังไม่มีการตัดสินอย่างชัดเจน แต่ถ้ามันมีคดีความอยู่แล้ว ก็ขอให้สื่อช่วยลดการนำเสนอลงหน่อยได้หรือไม่
“ก็ขอร้องกัน ทุกประเทศเขาก็มีมาตรการทั้งหมด มีแต่ของเราที่ยังคุมกันไม่ได้ ทุกคนต่างก็เป็นเสรีภาพของสื่อ เสรีภาพของประชาชน แต่ถ้าเสรีภาพเหล่านี้นำไปสู่ความขัดแย้ง หรือเป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น ก็เป็นเรื่องไม่สมควร เพราะฉะนั้นอย่าต้องให้ใช้กฎหมายทุกอันเลย อย่าให้ต้องใช้กฎหมาย หรืออำนาจ หรือกำลังกันเลย
เมื่อถามความเห็นถึงกรณีนายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ หรือโหร คมช. ระบุว่ารัฐบาลจะมีอายุ 2-3 ปี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ให้กลับไปถามโหรวารินทร์ดู ตนไม่รู้ วันนี้ประเทศมีปัญหามากก็ต้องขอเวลาและขอโอกาส อยากให้ทุกคนช่วยกัน แต่ถ้ายังมามัวตีกันอีก ตนก็คงไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น เรื่องข้างหน้าก็เดินต่อไปไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะอยู่ซ้ายหรืออยู่ขวาก็อยากให้มาคุยกันหรือเข้าสู่กระบวนการเพื่อหาข้อยุติ ปัญหาและการเดินหน้าประเทศอยู่ที่พวกเราทุกคน และอยากขอร้องสื่อด้วยว่า วันนี้ตนพยายามอย่างเต็มที่ และพูดกับพวกเราอย่างใจเย็นที่สุด
“ผมรู้ตัวดีว่าเป็นคนค่อนข้างโมโหเร็ว วันนี้ก็เย็นลงไปเยอะแล้ว เพราะผมมองประเทศชาติเป็นหลัก ก็ขอให้เห็นใจหน่อย และเห็นใจประเทศไทยและคนไทยด้วย อย่าซ้ำเติมกันอีกเลย ประเทศไทยถอยหลังมามากแล้ว วันนี้ต้องเดินไปข้างหน้า ขอบคุณแรงใจและการสนับสนุนจากทุกคน ซึ่งมีทั้งสนับสนุนมาก สนับสนุนน้อย