- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 03 November 2014 09:42
- Hits: 3454
วันที่ 03 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8741 ข่าวสดรายวัน
กลับถึงไทยแล้ว'ปู'กินส้มตำ สนช.นัดถก 4 พย. ปมตั้ง'เมธี'นั่งกต.'นิคม'ลั่นถึงศาล ถ้าโดนถอดถอน สอบไมค์แพงจบ
'เทียนฉาย'นัดประชุมสปช.วันนี้ พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม 3 วาระรวด ก่อนตั้งกมธ.วิสามัญ 17 คณะ กลุ่ม 40 ส.ว.อ้างรองประธานกมธ.ยกร่างรธน. คนที่ 1 ต้องมาจากสปช.เท่านั้น'วิษณุ'เรียกหารือรายชื่อกมธ.ยกร่างฯสัดส่วนครม.ก่อนส่งครม.เห็นชอบ ไม่มีล็อกสเป๊กรธน. รองเลขาธิการ ศาลยุติธรรมแจงศาลไม่มีอำนาจยับยั้งฝ่ายการเมืองตั้ง'เมธี'นั่งก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่หากขาดคุณสมบัติ คนตั้งต้องรับผิดชอบ วิปสนช.นัดถกปมค้านตั้ง'เมธี' 4 พ.ย.นี้'นิคม'หวังพึ่งศาลหากสนช.เดินหน้าลงมติรับสำนวนถอดถอน 6 พ.ย.นี้ "ยิ่งลักษณ์"กลับถึงไทยก่อนกำหนด หลังควงลูกชาย ทัวร์ญี่ปุ่น-จีนกว่า 10 วัน อธิบดีโยธาฯรอฟังผลสอบไมค์แพง ชี้ในทางปฏิบัติทุกอย่างจบเพราะเก็บไมค์หมดแล้ว
ก.ต.ไม่ยุ่งปมค้านตั้ง'เมธี'
วันที่ 2 พ.ย. นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีกลุ่มทนายความ 18 คนยื่นหนังสือถึงนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เพื่อคัดค้านนายเมธี ครองแก้ว เป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิว่า ทราบว่านายดิเรก ได้ทำหนังสือไปถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัตติแห่งชาติ (สนช.) ต่อกรณีดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ทราบว่ากลุ่มที่คัดค้านเป็นทนายความกลุ่มไหน
แหล่งข่าวศาลยุติธรรมระบุว่า คดีความต่างๆ ของนายเมธี ซึ่งถูกฟ้องร้องนั้นยังไม่ถึงที่สิ้นสุด และไม่ได้ฟ้องร้องในคดีอาญาส่วนตัว ซึ่งตามกฎหมายแล้วจึงไม่ถือว่าขาดคุณสมบัติในการเป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ อีกทั้งในชั้นการพิจารณาของสนช. มีการกลั่นกรองหลายชั้น และทราบถึงคดีความที่นายเมธี ถูกฟ้องร้องแล้ว ถ้าขาดคุณสมบัติก็คงไม่ผ่าน ชั้นกรรมาธิการของ สนช. เพียงแต่กลุ่มที่ออกมาคัดค้านนั้น อาจมองว่าไม่เหมาะสม หรืออาจมีเบื้องหลังลึกๆ บางอย่าง อย่างไรก็ตาม ก.ต.คงไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม เพราะนายเมธีได้รับการแต่งตั้งเป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และเป็นการสรรหาจาก สนช. ซึ่งขึ้นอยู่ที่ประธาน สนช. ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ย้ำศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจยับยั้ง
นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำหรับหนังสือที่ประธานศาลฎีกา ส่งถึงประธาน สนช.นั้น เป็นหนังสือแจ้งให้ทราบข้อมูลที่มี ผู้ยื่นคัดค้านการเลือกนายเมธี เป็นผู้แทนฝ่ายการเมือง มาปฏิบัติหน้าที่ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนสนช.จะปฏิบัติอย่างไรต่อกรณีดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ สนช. ซึ่งตามอำนาจหน้าที่และกฎหมาย ไม่ว่าจะในสถานการณ์การเมืองปกติที่มีสภาผู้แทนราษฎร หรือในสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนผ่านที่มี สนช.ปฏิบัติหน้าที่แทนสภา ศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจยับยั้งกรณีไม่รับบุคคลที่ฝ่ายการเมืองเลือกมาเป็นก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่หากฝ่ายการเมืองเลือกผู้ที่ขาดคุณสมบัติมา ต้องเป็นความรับผิดชอบของ ฝ่ายการเมือง
สภาทนายยันไม่ได้คัดค้าน
นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ เปิดเผยว่า ตนไม่ทราบว่ากลุ่มทนายความที่ยื่นหนังสือคัดค้านนายเมธี นั้น เป็นทนายความกลุ่มไหน และในที่ประชุมสภาทนายความก็ไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้า สู่การพิจารณา ซึ่งตามนโยบายทางสภาทนายความไม่มีการคัดค้านใครเป็นรายบุคคลอยู่แล้ว โดยจะดำเนินการในลักษณะองค์กร แต่คาดว่ากลุ่มทนายดังกล่าวน่าจะเป็นกลุ่มอื่นๆ และอาจเคลื่อนไหวในลักษณะสมาคมซึ่งมีจำนวนมาก
วิปสนช.ถกปม'เมธี'อังคารนี้
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกสนช. ในฐานะคณะกรรมาธิการกิจการสนช. (วิปสนช.) กล่าวถึงกรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. จะนำเรื่องที่ประธานศาลฎีกา ทำหนังสือระบุมีกลุ่มทนายความทักท้วงการ แต่งตั้งนายเมธี ครองแก้ว เป็นก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ เนื่องจากถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีอาญาในศาลหลายคดี เข้าหารือในที่ประชุมสนช.ว่า วิปสนช.จะนำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมวันที่ 4 พ.ย. ต้องดูว่าการทักท้วงการแต่งตั้ง นายเมธี เป็นเรื่องเก่าหรือเรื่องใหม่ หากเป็นเรื่องเก่าก็คงไม่มีปัญหา เพราะในช่วงที่กรรมาธิการเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีนาย กล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสนช. เป็นประธาน เคยเรียกนายเมธีมาซักถามเรื่องที่ถูกร้องเรียน ซึ่งนายเมธีชี้แจงจนได้รับเลือกเป็นก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ ขณะเดียวกันตามระเบียบของก.ต. ระบุว่า การขาดคุณสมบัติก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นคดีที่ถึงที่สุด มีการตัดสินลงโทษแล้ว แต่ขณะนี้เรื่องแค่อยู่ในชั้นศาล ยังไม่ถือว่า ขัดคุณสมบัติ จึงไม่น่ามีปัญหาถึงขั้นทบทวนรายชื่อใหม่
เชื่อไม่ขาดคุณสมบัตินั่งก.ต.
นพ.เจตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมวิปสนช. จะขอดูหนังสือที่ร้องเรียนนายเมธีก่อนว่า เป็นประเด็นเก่าหรือประเด็นใหม่ เท่าที่ดูคิดว่าเป็นเรื่องเก่าที่นายเมธี เคยชี้แจงมาแล้วในชั้นกมธ. แต่หากเป็นเรื่องใหม่ วิปสนช.ต้องพูดคุยหาทางออกว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แม้เรื่องจะพ้นจากสนช.ไปแล้ว แต่คิดว่า ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเช่นกัน เพราะระเบียบกต.ระบุว่า การขาดคุณสมบัติต้องเป็นคดีถึงที่สุด แต่กรณีนายเมธีนั้น คดียังไม่ถึงที่สุด แต่อย่างน้อยวิปสนช.คงต้องพูดคุยกันไว้ก่อน เพราะคนที่จะเป็นก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิควรไม่มีมลทิน ไม่มีตำหนิเกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรม
ย้ำสนช.มีอำนาจถอดถอน
นพ.เจตน์กล่าวว่า ในวันที่ 6 พ.ย. ที่ประชุมสนช.จะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.ไม่ชอบ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า สนช.มีอำนาจรับเรื่องไว้ได้ แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่สำนวนที่ป.ป.ช.ส่งมาให้สนช.ใช้อำนาจตามมาตรา 58 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาเขียนใส่ไว้ มีอำนาจรับเรื่องถอดถอนกรณีนี้ได้ จากนั้น สนช.จึงค่อยพิจารณาในขั้นตอนไต่สวนว่าเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วยังมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ แต่เบื้องต้นควรรับเรื่องไว้พิจารณาก่อน
เมื่อถามว่านายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกปปส. ระบุหากสนช.ไม่รับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม ไว้พิจารณา อาจมีปัญหาเผชิญหน้ากับมวลมหาประชาชน นพ.เจตน์กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าสนช.จะมีมติอย่างไร ก็ย่อมมีปัญหากับมวลชนทั้งสองฝ่าย แต่สนช.ต้องพิจารณาทุกอย่างตามข้อกฎหมาย จะหวั่นไหวตามแรงกดดันไม่ได้ สนช.จะใช้แรงกดดันมาตัดสินไม่ได้
สายทหารแจงไม่มีล็อบบี้
พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิก สนช. กล่าวถึงการประชุมในวันที่ 6 พ.ย.ว่า ได้ศึกษาสำนวนถอดถอนของ ป.ป.ช. 4,000 หน้าเสร็จแล้ว และมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าเป็นอย่างไร แต่ขอไม่บอก บอกได้เพียงว่าจะยึดกฎหมายเป็นหลัก ไม่ขอพูดมาก ถ้าพูดไปแล้วจะหาว่าชี้นำ เดี๋ยวโดนถล่มอีก ขอให้เป็นสิทธิ์ของ สนช.สายทหาร และ สนช.คนอื่นๆ ในการลงมติดีกว่า แต่ยืนยันว่าไม่มีการล็อบบี้
ส่วนที่เคยระบุ สนช.ไม่สามารถรับเรื่องไว้พิจารณาได้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้วนั้น พล.อ.นพดลกล่าวว่า ไม่ขอตอบ พูดไปก็ไม่ดีมีแต่ติดลบ บอกได้แค่ว่าจะยึดหลักกฎหมาย ทำตามหน้าที่ให้ดีที่สุด
'นิคม'พึ่งศาลหากถูกถอดถอน
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า แล้วแต่ สนช.จะมีมติอย่างไร แต่ตนได้เตรียมพร้อมชี้แจงและต่อสู้ในเรื่องกฎหมายอยู่แล้วว่าดำเนินการโดยยึดหลักกฎหมายซึ่งใช้บริหารบ้านเมือง ประเด็นนี้ข้อเท็จจริงคือเมื่อสมาชิกรัฐสภาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิตามบทบทบัญญัติ ในฐานะประธานจะห้ามไม่ให้ดำเนินการได้อย่างไร
เมื่อถามว่า หาก สนช.ยังเดินหน้ากระบวน การถอดถอนจะต่อสู้อย่างไร นายนิคมกล่าวว่า หนทางสุดท้ายคือการเรียกหาความยุติธรรม เพราะเมื่อไม่มีหนทางใดแล้ว ตนต้องอาศัยกระบวนการศาลยุติธรรมเพื่อขอความเป็นธรรม เชื่อว่า สนช.ที่เป็นฝ่ายข้าราชการและทหารจะใช้วิจารณญาณพิจารณาตามตัวบทกฎหมาย ไม่ลงมติตามแรงกดดันของใคร แต่อาจมีบางกลุ่มไม่กี่คนที่ต้องการให้ถอดถอน
เมื่อถามว่า กลุ่ม กปปส.ระบุหาก สนช.ไม่ถอดถอน จะต้องเผชิญหน้ากับมวลมหาประชาชน ถือเป็นการกดดัน สนช.หรือไม่ นายนิคมกล่าวว่า เราจะยึดแรงกดดันหรือกฎหมาย เรื่องนี้มีคนพยายามกดดัน แต่ถามว่าหากมีคนอีกกลุ่มหนึ่งออกมากดดันบ้าง บ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวายอีกแล้วจะทำอย่างไร ตนไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้น
ป.ป.ช.มึน-รอสนช.เชิญชี้แจง
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า สนช.จะให้ ป.ป.ช.ส่งคณะผู้ร่วมรับผิดชอบสำนวนถอดถอนนาย สมศักดิ์และนายนิคม ไปคอยชี้แจงหรือไม่อย่างไร เนื่องจากยังไม่มีการส่งหนังสือเชิญมาที่ ป.ป.ช. หากแจ้งมา ทางสำนักงาน ป.ป.ช.จะจัดทีมนักกฎหมายและผู้รับผิดชอบไปโดยตรง ทั้งนี้ คงไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.
นายสรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่จะมีการประชุม สนช. เพื่อพิจารณาเรื่องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในโครงการจำนำข้าวตามสำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้ สนช.พิจารณาในวันที่ 12 พ.ย.นั้น ทาง สนช.ก็ยังไม่ได้มีหนังสือเชิญมาถึงสำนักงาน ป.ป.ช.แต่อย่างใด
ย้ำ 7 พย.นี้คดีอาญา'ปู'ต้องได้ข้อยุติ
นายสรรเสริญกล่าวว่า ส่วนการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนคดีอาญากรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเลย เพิกเฉย ไม่ระงับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนั้น ได้นัดประชุมในวันที่ 7 พ.ย.นี้ เวลา 09.30 น. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ โดยต้องพูดคุยกันให้ได้ข้อยุติว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เมื่อมีผลอย่างไรแล้วทั้ง ป.ป.ช. และอสส. ต้องนำมติที่ได้นั้นกลับไปรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. และที่ประชุมของ อสส. เพื่อขอมติยืนยันว่าแต่ละหน่วยงานจะมีความเห็นจะส่งฟ้องเองหรือไม่ เช่น หาก อสส.มีมติว่าไม่ส่งฟ้อง ป.ป.ช.ก็ต้องส่งฟ้องเอง
พท.เตือนสนช.-เสี่ยงติดคุก
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง สนช.นัดพิจารณากรณี ป.ป.ช.ยื่นถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในข้อหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า ต้องถาม สนช.ว่ากล้าเสี่ยงติดคุกกันหรือไม่ โดยเฉพาะนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ที่บรรจุเรื่องนี้เป็นวาระการพิจารณา เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้ให้อำนาจ สนช. ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตนมองว่าเป็นเรื่องดีหากทีมกฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะตั้งประเด็นข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอำนาจในการถอดถอน เป็นต้นเรื่องเพื่อถามต่อ สนช. เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกฉีกทิ้งไปแล้ว ขณะที่คำร้องยื่นถอดถอนของ ป.ป.ช.ก็มิชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น ที่สำคัญ ป.ป.ช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะ ป.ป.ช.หลายคน เช่น นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. หรือนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ถือว่าองค์ประกอบของ ป.ป.ช.มาโดยมิชอบ
"อยากฝากเตือนนายทหารที่เป็น สนช.เกินครึ่ง ให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในประเด็นเหล่านี้ไว้ให้ดี อย่าหลงติดกับดักของพวกกลุ่มการเมืองเก่าโดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว. ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในครั้งนี้ด้วย ยืนยันว่า สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่หาก สนช.ยังตะแบง ดื้อแพ่งเดินหน้าถอดถอด น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่เป็นไร ระวังคดีอาญากันไว้ด้วย" นายเรืองไกรกล่าว
'วรชัย'ฮึ่มบ้านเมืองวุ่นแน่
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ฐานะแกนนำ นปช. กล่าวถึงนายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. เรียกร้องให้ สนช.ถอดถอนนายสมศักดิ์ นายนิคม และน.ส.ยิ่งลักษณ์ มิเช่นนั้น กปปส.จะออกมาเคลื่อนไหวว่า เป็นการข่มขู่เหมือนนักเลงอันธพาลในรูปแบบเดิมๆ ถ้า สนช.ทำตามเท่ากับสมรู้ร่วมคิด ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ถือว่าร่วมด้วย ในฐานะที่เลือก สนช.เข้ามา อยากถามว่าขณะนี้ยังมีกฎอัยการศึกอยู่ จะไม่ใช้หรือไม่ ถ้ากปปส.ออกมา ซึ่งเราก็ต้องออกมาเหมือนกัน จะนั่งรอให้เขาเอามีดมาปาดคอได้อย่างไร ถ้าเป็นแบบนั้นก็วุ่นวายแน่ ทุกอย่างจะพังหมด เศรษฐกิจ ความปรองดองที่ คสช.พยายามทำ จะวนไปสู่เหตุการณ์ก่อนปฏิวัติ และซ้ำรอยปฏิวัติปี 2549 ที่ไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่ซ้ำเติมปัญหาให้หนักกว่าเดิม เพราะไม่ได้สร้างความเป็นธรรม แต่มุ่งไล่ล่าทำลายล้าง ขจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ครม.เคาะชื่อกมธ.ยกร่าง 4 พย.นี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการคัดเลือกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ยังไม่มีการพูดคุยหรือคัดเลือกว่าบุคคลใดเหมาะสม ซึ่งจะนำประเด็นนี้มาพูดคุยกันในวันที่ 3 พ.ย. และยังไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อสรุปเลยหรือไม่ แต่จะไม่เกินวันที่ 4 พ.ย.นี้ เพราะต้องนำรายชื่อเข้าที่ประชุมครม.ก่อนแจ้งให้ทราบต่อไป สำหรับบุคคลที่ได้รับเลือกเป็นกมธ.ยกร่างฯ ในส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น ตนเชื่อมั่นว่าบุคคลเหล่านี้จะทำงานได้ดี
'วิษณุ'โต้ล็อกสเป๊กรธน.
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนรูปร่างหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกมาเช่นใดนั้น ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป ต้องรอให้ กมธ.ยกร่างฯ ประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบประนีประนอม รวมทั้งต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพราะรัฐธรรมนูญจะมาเขียนแบบตามใจใครไม่ได้ ต้องรออีกสักระยะหลังจากประชุมกันแล้ว จะได้เริ่มรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกมาอย่างไร
เมื่อถามถึงกรณีมีกระแสว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการวางกรอบมาไว้ล่วงหน้าแล้ว นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง คนมักพูดหรือติเตียนกันก่อนล่วงหน้า แต่ยืนยันว่าไม่มีการวางกรอบ เชื่อว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญต่างเอาชื่อเสียงเป็นเดิมพันในการทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
เทียนฉายโบ้ยถาม'บิ๊กตู่'รายชื่อกมธ.
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กล่าวถึงการตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนว่า ขณะนี้รายชื่อในสัดส่วนของ ครม.และคสช.ยังไม่มา มีเพียงสัดส่วนของ สนช. และสปช.เท่านั้น ซึ่งตามกำหนดต้องเสร็จในวันที่ 4 พ.ย. แต่ไม่มีข้อบังคับว่าจะต้องส่งรายชื่อภายในเวลาใด ซึ่งรายชื่อในส่วนของ ครม. และคสช. ต้องไปถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.เอาเอง ตนไม่ทราบ และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายเทียนฉาย กล่าวว่า ตั้งแต่ก่อนเป็น สปช.และได้รับตำแหน่งประธาน สปช. ตนยังไม่ได้พูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ และยังไม่เคยเจอกันเลย แต่เชื่อว่าหลังจากนี้คงได้พูดคุยกัน ส่วนการแต่งตั้งประธานกมธ.และกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสปช.จะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง ไม่ต้องมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม และหลังแต่งตั้งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที
วิปชงถก 3 วาระรวดข้อบังคับสปช.
นายเทียนฉาย กล่าวว่า ในการประชุมสปช.วันที่ 3 พ.ย.นี้ จะพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสปช. ที่กมธ.ยกร่างข้อบังคับสปช. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมว่าจะพิจารณา 3 วาระรวดตามข้อเสนอของวิปสปช.หรือไม่ หรือจะตั้งกมธ.ไปพิจารณาก่อนนำกลับเข้าสปช.อีกครั้ง ซึ่งตนจะให้สมาชิกพิจารณากันเองโดยไม่ขอร้อง เพราะไม่ทราบว่าจะมีสมาชิกขออภิปรายมากน้อยแค่ไหน หากสมาชิกจะอภิปรายก็ต้องอนุญาตเพราะถือเป็นสิทธิ์ที่ทำได้
ด้านนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสปช. (วิปสปช.ชั่วคราว) กล่าวว่า ที่ประชุมวิปสปช.ชั่วคราวมีมติให้พิจารณาร่างข้อบังคับฯ 3 วาระรวดในวันที่ 3 พ.ย. ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 17.00 น. โดยนายเทียนฉายเสนอว่าควรให้เสร็จสิ้นในวันดังกล่าว และจะขอร้องสมาชิกว่าในวาระที่ 1 อย่าอภิปรายกันมาก เพราะเราไม่ใช่ส.ส.และส.ว. หากในเวลา 17.00 น. ยังไม่เสร็จ อย่างช้าอาจพิจารณาถึงเวลา 21.00 น. หรือเวลา 24.00 น.
ตั้ง'ทัศนา'เฟ้นตัวกมธ. 17 คณะ
นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนวันที่ 4 พ.ย. จะมีการประชุมสปช.ต่อเพราะเมื่อข้อบังคับการประชุมประกาศใช้แล้ว ต้องตั้งคณะกรรมาธิ การขึ้นมา 1 ชุด เพื่อสรรหาสมาชิกสปช. 230 คน ที่ไม่ได้เป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปเป็นกมธ.วิสามัญประจำสภา 17 คณะ โดย กมธ.สรรหาบุคคลเพื่อไปเป็นกมธ.วิสามัญ 17 คณะนั้น จะแต่งตั้งให้น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช. คนที่ 2 เป็นประธานกมธ. ซึ่งอาจมีกมธ.คณะดังกล่าว 14-15 คนก็ได้ โดยสมาชิกสปช.จะต้องแสดงความจำนงว่าจะลงกมธ.ชุดใดบ้าง ทั้งนี้ ภาพรวมการ จัดสมาชิกสปช.ไปเป็นกมธ.วิสามัญ 17 คณะต้องเสร็จสิ้นในวันที่ 7 พ.ย. รวมถึงระเบียบข้อบังคับและการจัดกรอบการทำงานจะต้องเสร็จสิ้น จากนั้นสปช.ก็จะเริ่มงาน ด้านปฏิรูปทันที
'ไพบูลย์'ชี้อภิปรายเยอะ-ส่อยืดเยื้อ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช.และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในการพิจารณาร่างข้อบังคับฯ ในวาระที่ 1 วันที่ 3 พ.ย.นี้ มีแนวโน้มว่าจะมีสมาชิกยื่นขอแปรญัญติจำนวนมาก โดยเฉพาะหมวด 4 ที่บัญญัติให้ตั้งกมธ.วิสามัญประจำสปช. 17 คณะ ที่อยากให้ตั้งกมธ.มากกว่านี้ คาดว่าการพิจารณาร่างข้อบังคับฯ จะไม่เสร็จภายใน 2 วัน เพราะมีผู้อภิปรายจำนวนมาก อาจใช้วิธีพิจารณา 2 วิธี คือ 1.พิจารณาวาระที่ 1 เสร็จ รับหลักการและให้เสนอขอแปรญัตติ และพิจารณาวาระที่ 2-3 ในสัปดาห์หน้า วิธีที่ 2 รับหลักการวาระ 1 เสร็จสิ้นแล้วให้ตั้งกมธ.เต็มสภาขึ้นมาพิจารณาทีละมาตรา ซึ่งขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะใช้วิธีไหน โดยประธานสปช.อาจหารือที่ประชุมว่าจะจำกัดจำนวน ผู้อภิปราย หรือจำกัดเวลา แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรใช้เวลาอภิปรายคนละ 5 นาที หรือถ้ามี ผู้อภิปรายจำนวนมากควรใช้วิธีจับสลาก
หนุน'มานิจ'นั่งรองปธ.ร่างรธน.
นายไพบูลย์กล่าวถึงรายชื่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของครม. 5 คน กับคสช. 5 คนและประธานกมธ.ยกร่างฯ 1 คนว่า ขณะนี้รายชื่อยังได้ไม่ครบ แต่ก่อนเวลา 12.00 น. ของวันที่ 4 พ.ย. จะต้องได้รายชื่อกมธ.ยกร่างฯ ครบทั้ง 36 คน เพื่อเปิดประชุมนัดแรกในวันที่ 5 พ.ย. ส่วนการแต่งตั้งประธานและรองประธานกมธ.ยกร่างฯ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะมีรองประธานกี่คน ส่วนตัวเห็นว่าบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นรองประธาน คนที่ 1 คือ นายมานิจ สุขสมจิตร สมาชิกสปช. เนื่องจากรองประธานกมธ.ยกร่างฯ คนที่ 1 ควรมาจากสปช. รวมถึงนายมานิจมีความอาวุโสสูงสุด เป็นนักกฎหมายที่เคยทำงานเป็นกมธ.ยกร่างฯ มาก่อน
อธิบดีโยธารอผลสอบไมค์แพง
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เผยผลสอบการจัดซื้อไมโครโฟนทำเนียบรัฐบาลมีราคาแพง โดยระบุ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะปลัดสำนักนายกฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตว่า ตนทราบเรื่องนี้จากข่าว และคงไม่ทำอะไรเพิ่มเติมเพราะยังไม่มีหนังสือส่งมา ต้องรอผลการตรวจสอบจากทั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังตรวจสอบอยู่ ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ ถือว่าในส่วนของห้องประชุมจบแล้ว ไมโครโฟนที่ว่าแพงก็เก็บไปหมดแล้ว และตนได้ส่งข้อมูลทั้งหมดไปตั้งแต่ครั้งนั้น และหลังจากนั้นไม่เคยเจอหรือได้รับคำขอให้ ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้อีก
'ปนัดดา'ย้ำไม่เกี่ยวข้องด้วย
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และปลัดสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงผลสอบของ ป.ป.ท.ว่า ตนก็เดินหน้าทำงานต่อไป ขอขอบคุณทุกคนที่ปรารถนาดีและให้กำลังใจตนมาตลอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ล.ปนัดดาเขียน ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ป.ป.ท. แถลงแล้วว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งตนได้เคยบอกกับทุกคนและสื่อมวลชนแล้วถึงระบบบริหารราชการที่นี่ มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากหลายกระทรวง แต่มีผู้ไม่ปรารถนาดีให้ร้ายแก่ตนอย่างปราศจากเหตุผล และยังว่ากล่าวถึงบรรพบุรุษ ถ้าบิดาและมารดาของตนยังมีชีวิตอยู่ คงจะบอกกับตนว่าอย่าไปถือโทษโกรธใครเลย จงรู้จักการให้อภัยที่ถือเป็นลาภอันประเสริฐสุด ไม่มีผู้ใดที่ดีเลิศครบถ้วนแม้ตัวเราเอง
โพลพอใจผลงานคสช.-รัฐบาล
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสํารวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,564 คน วันที่ 27 ต.ค.-1 พ.ย. กรณีการทํางานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่าร้อยละ 80.43 ระบุเด็ดขาด จริงจัง มุ่งมั่นตั้งใจทําให้บ้านเมืองสงบสุข ประชาชนอยู่ดีกินดี ร้อยละ 78.58 ทำงานตามโรดแม็ป และร้อยละ 61.06 ทำงานและแก้ปัญหาต่างๆ
ส่วนการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 66.56 มองว่ามีนโยบาย การทํางานที่เน้นแก้ปัญหาสังคม การให้ความช่วยเหลือต่างๆ ควรให้โอกาสทํางาน ร้อยละ 64.39 ต้องเป็นผู้นำที่ดี เด็ดขาด จริงจัง มีคุณธรรมจริยธรรม ร้อยละ 60.68 เป็นเรื่องยากเนื่องจากประเทศมีปัญหาหลายด้านเป็นทุนเดิม และต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งบางเรื่องอาจควบคุมยาก
ด้านผลงานเด่นของ คสช.ที่ประชาชนพึงพอใจ ร้อยละ 76.85 ระบุเข้ามายุติความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามบานปลาย บ้านเมืองสงบมากขึ้น ร้อยละ 68.61 ช่วยเหลือชาวนาจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าว และร้อยละ 65.03 ปราบมาเฟีย ผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด อาวุธเถื่อน ส่วนผลงานเด่นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ประชาชนพึงพอใจ ร้อยละ 73.91 มีนโยบายสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกร พยุงราคาข้าว ร้อยละ 72.57 ผลักดันการส่งออก กระตุ้นเศรษฐกิจ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และร้อยละ 71.04 รัฐบาลเพิ่งเข้ามา บริหารงานได้ไม่นาน ผลงานยังไม่ชัดเจน
จี้ทำงานโปร่งใส-เร่งกระตุ้นศก.
ทั้งนี้ ร้อยละ 43.64 มีความคาดหวังต่อคสช.และรัฐบาลพอๆกัน เพราะผู้ที่มีอํานาจตัดสินใจคือคนเดียวกัน ร้อยละ 21.38 ระบุคาดหวังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า เพราะมีนายกฯที่เด็ดขาด มีผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาดูแลบริหารบ้านเมือง น่าจะทำงานและแก้ปัญหาได้ดีกว่าที่ผ่านมา ร้อยละ 19.60 คาดหวัง คสช. มากกว่า เพราะมีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดี ทำงานรวดเร็ว มีผลงานให้เห็นชัดเจน และร้อยละ 15.38 ไม่คาดหวังทั้ง 2 หน่วยงาน เพราะบริหารประเทศเพียงเวลาสั้นๆ อาจแก้ปัญหาในระยะยาวไม่ได้
สิ่งที่ประชาชนอยากบอกคสช. ร้อยละ 77.05 ขอให้ทํางานอย่างโปร่งใส ยุติธรรม รับฟังคําแนะนํา เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ร้อยละ 70.40 อยากให้จัดกิจกรรมคืนความสุขอย่างต่อเนื่อง และร้อยละ 62.02 ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชน
ส่วนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 82.42 ระบุขอให้เร่งแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ ร้อยละ 63.11 ขอให้ทุกฝ่ายในรัฐบาลตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกต้องเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และร้อยละ 59.85 ควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า รัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้
'ปู-ไปป์'กลับไทยแล้ว
วันที่ 2 พ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยบุตรชาย ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วเมื่อเวลา 10.00 น. โดยกลับก่อนกำหนดหลังจากขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปพักผ่อนที่ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 19 ต.ค. - 3 พ.ย. รวมกว่า 10 วัน โดยก่อนกลับเข้าบ้านพักที่ซอยโยธินพัฒนา 3 ได้แวะรับประทานส้มตำแถวย่านลาดพร้าว ท่ามกลางประชาชนเข้าขอถ่ายภาพและพูดคุยด้วย
ขณะที่วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ภาพผ่านทาง อินสตาแกรม ระหว่างที่อยู่กับพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ฮ่องกง พร้อมข้อความ "So happy to see him" และโพสต์ภาพพ.ต.ท.ทักษิณ แพ็กกระเป๋าเดินทาง โดยระบุว่าแพ็กเองจัดเอง ทั้งนี้ การเดินทางไปญี่ปุ่นและจีนของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งที่ 2 หลังคสช.ยึดอำนาจ และตลอดการเดินทางในครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณร่วมเดินทางไปด้วย ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดประชุมเพื่อพิจารณาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 12 พ.ย.นี้
มท.ผุดโครงการ'เมืองสะอาด'
วันที่ 2 พ.ย. นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 87 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค. ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายจัดการขยะมูลฝอย โดยรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การแปรรูปขยะเป็นพลังงาน และการสร้างวินัยของคนในชาติ เพื่อนำไปสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน จึงร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จัดโครงการ"เมืองสะอาด คนในชาติมีสุข"ขึ้น เพื่อสร้างวินัยและรณรงค์ให้คนในชาติร่วมกันรักษาความสะอาด การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง การคัดแยกขยะ เพื่อลดปริมาณขยะ การทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง และนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี และเฉลิมพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า จะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 4 พ.ย. - 4 ธ.ค.นี้ จากนั้นจะจัดกิจกรรมรณรงค์รักษาความสะอาด ตามแผนงานอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนก.ย. 2558 โดยในวันที่ 4 พ.ย. เวลา 15.00 น. ที่ศาลาภิรมย์ภักดี บริเวณสวนปาล์ม สวนลุมพินี จะมีพิธีเปิดโครงการโดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทส. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ร่วมงานประมาณ 2,500 คน มีการถ่ายทอดสดพิธีเปิดพร้อมกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใน 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน สงขลา ขอนแก่น และอยุธยา ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็นบีที และเปิดตัวโครงการพร้อมกันทั่วประเทศด้วย
ทส.เตรียมโยกย้าย 39 ตำแหน่ง
วันที่ 2 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ว่า นางมิ่งขวัญ วิชชารังสฤษฏ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ กำลังพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 9 ในกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ โดยจะนำรายชื่อข้าราชการ 39 รายที่เคยมีคำสั่งแต่งตั้งก่อนหน้านี้ แต่ถูกคสช.สั่ง ระงับมาพิจารณาใหม่ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อข้าราชการที่จะถูกโยกย้าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่ถูกฝ่ายการเมืองมองว่ามีความใกล้ชิดนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ และอดีตผู้ช่วยรมว.ทรัพยากรฯ รวมทั้งผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) อีกหลายจังหวัด
ทั้งนี้ เพื่อที่จะเตรียมเปิดสรรหาในตำแหน่งรองอธิบดีในกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งว่างอยู่ 11 ตำแหน่ง เช่น กรมอุทยานฯ 2 ตำแหน่ง กรมป่าไม้ 1 ตำแหน่ง กรมควบคุมมลพิษ 1 ตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งบางตำแหน่งฝ่ายการเมืองได้มีการวางตัวบุคคลไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่มีการสรรหา เช่น นายศักดา วิเชียรศิลป์ ผอ.สำนัก ป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานฯ ถูกวางตัวให้อยู่ในตำแหน่งรองอธิบดีกรมอุทยานฯ หรือรองอธิบดีกรมป่าไม้ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง เป็นต้น ก่อนที่จะมีการปรับย้ายข้าราชการในระดับ 10 อีกระลอกที่ยังมีตำแหน่งรองปลัดกระทรวงและผู้ตรวจราชการว่างอยู่รวม 3 ตำแหน่ง