- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 02 November 2014 20:58
- Hits: 3743
พวกถูกชี้มูลตามเอาคืน เมธี ซัดกลับ เคลียร์สนช.-ปธ.ฏีกาแล้ว กล้านรงค์ ปัดช่วยปกปิด พรเพชรถกวิปแก้ปัญหา สภานิติฯเชิญปูแจงข้าว ไม่หวั่นใช้มวลชนกดดัน
'เมธี'ออกโรงเคลียร์ถูกคัดค้านเป็น ก.ต. ซัดกลุ่มทนายที่ทำหนังสือร้องเคยถูกชี้มูลความผิด เผยชี้แจงด้วยวาจาถึงประธานศาลฎีกาไปแล้ว ยืนยันไม่เคยมีปัญหาส่วนตัวกับใคร
@ 'เมธี'ออกโรงแจงถูกค้านเป็นก.ต.
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน กรณีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา มีหนังสือลงวันที่ 28 ตุลาคม ถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยระบุว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับหนังสือการร้องเรียนจากกลุ่มทนายความรวม 18 คน คัดค้านการเป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิของนายเมธี ครองแก้ว เนื่องจากนายเมธีถูกฟ้องเป็นจำเลยหลายคดีนั้น
นายเมธี ครองแก้ว ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภา กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสือคัดค้านแต่อย่างใด เข้าใจว่าที่กลุ่มทนายความทั้ง 18 คน ยื่นหนังสือคัดค้านการเป็น ก.ต. เนื่องจากสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคดีที่ถูกฟ้องเป็นคดีของพวกที่ถูกตนชี้มูลความผิด แต่กลายเป็นว่าย้อนกลับมาฟ้องตนเกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ฟ้องในหลายศาลด้วยกัน ทั้งศาลอาญาและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การฟ้องทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีเรื่องส่วนตัวเลยสักคดี และไม่ใช่โดนฟ้องคดีคนเดียว แต่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฟ้องด้วยกันหลายคน
@ เผยกลุ่มร้องเคยถูกชี้มูลความผิด
นายเมธี กล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจว่าทนายความที่มายื่นคัดค้านนั้นเป็นกลุ่มทนายความของบุคคลที่เคยชี้มูลความผิดไป ส่วนข้อมูลที่ตนถูกฟ้องคดีนั้นในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการสรรหา ก.ต. ได้แจ้งไปแต่แรกแล้ว มีการรับทราบข้อมูลก่อนที่ประชุม สนช.จะมีมติลงคะแนนลับในการเสนอชื่อ หลังจากนี้ถ้าได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว จะทำหนังสือชี้แจงไปยังประธานศาลฎีกาให้รับทราบข้อเท็จจริงอีกครั้งหนึ่ง
"ผมเข้าใจว่ามีการคัดค้านตั้งแต่การพิจารณาคุณสมบัติของในส่วนของ สนช.แล้ว แต่เรื่องผ่านมานานแล้ว ไม่คิดว่าจะมายื่นเรื่องคัดค้านให้เป็นกระแสอีกครั้ง ส่วนคดีที่มีการฟ้องผมไม่มีคดีไหนที่ศาลตัดสินให้เป็นความผิดเลยสักคดี ผมยังไม่เคยไปขึ้นศาลเลยสักครั้ง" นายเมธีกล่าว และว่า ความผิดเรื่องนี้ไม่มีอะไร ถือเป็นความเข้าใจผิดของบุคคลบางส่วน ขอชี้แจงว่าในคดีที่ตนถูกฟ้องร้องนั้น เป็นการฟ้องร้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามปกติของผู้ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจะกระทำได้ เป็นการฟ้อง ป.ป.ช.ทั้งคณะ ไม่ใช่ฟ้องตนคนเดียว และตนไม่มีคดีที่ถูกฟ้องร้องเป็นการเฉพาะตัวแต่อย่างใด
@ เคยเคลียร์ในที่ประชุมสนช.แล้ว
"ผมทำงานตามหน้าที่ขณะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้ได้เคลียร์ไปแล้วในที่ประชุม สนช. ตอนที่พิจารณาเรื่องของผมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการสอบถามเรื่องนี้ในที่ประชุม สนช.ขณะที่ทำหน้าที่วุฒิสภา ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 10 คนที่นั่งอยู่ โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธานนั้น ได้ชี้แจงในที่ประชุมทราบหมดแล้ว ก่อนจะลงคะแนนเสียงเลือกผม" นายเมธีกล่าว
นายเมธี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุด ถูกฟ้องร้องประมาณ 5-7 คดี ล้วนถูกฟ้องร้องจากผู้ที่ถูกชี้มูลความผิด เกือบทุกคดีก็ถูกแก้คดีไปแล้ว แต่ยังมีคนที่ผูกใจเจ็บ คงไม่อยากปล่อยไป และหาเรื่อง ทั้งที่ตนไม่เคยมีเรื่องผิดใจกับใคร ก่อนหน้านี้มีการพูดและฟ้องร้องต่อวุฒิสภา แล้วยังมาฟ้องต่อประธานศาลฎีกาอีก
"ผมได้ชี้แจงด้วยวาจาถึงประธานศาลฎีกา ผ่านเลขานุการ ก.ต. แล้วเมื่อช่วงเย็นวันนี้ แล้วผมจะทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรถึงประธานศาลฎีกาด้วย ยืนยันว่าไม่เคยมีปัญหาส่วนตัวกับใคร ส่วนคนที่ออกมาฟ้องร้องมองว่าเป็นเรื่องการเมือง นี่คือความเสี่ยงของคนเป็นสาธารณะ เชื่อว่าคงพยายามตีกันไม่ต้องการให้กรรมการ ป.ป.ช.ไปชี้มูลใครต่อใครอีก คิดว่าเรื่องจบไปแล้ว เข้าใจว่าเขาคงผูกใจเจ็บ ป.ป.ช." นายเมธีกล่าว
@ 'กล้านรงค์'โต้ไม่คิดช่วยใคร
นายกล้านรงค์ จันทิก สนช. ในฐานะประธาน กมธ.เพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวกรณีหนังสือคัดค้านของกลุ่มทนายความที่ส่งถึงประธานศาลฎีกา ระบุว่าช่วยปกปิดข้อเท็จจริงของนายเมธีที่ตกเป็นจำเลยในคดีนั้นว่า ตนเป็นเพียงประธาน กมธ.ฯ ไม่ได้ลงคะแนนด้วยซ้ำ เป็นเรื่องของ กมธ.ฯ จะพิจารณาคุณสมบัติ ไม่เคยไปล็อบบี้ใคร
"ที่ประชุมมีการพิจารณาคุณสมบัติกัน มีการซักถามชี้แจงเลือกกันเอง ส่วนผมเป็นคนชี้แจงข้อเท็จจริงเท่านั้น ข้อเท็จจริงที่ชี้แจงมีเอกสารระบุชัดเจน ส่งแจกให้ สนช.ทุกคน ไม่มีการปกปิดข้อเท็จจริง เราตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานกว่า 35-36 หน่วยงาน ผมยืนยันความบริสุทธิ์ ไม่ได้บอกนายเมธีให้มาสมัครด้วยซ้ำ ผมเป็นประธาน เป็นคนกลางทำตามหน้าที่ทั้งหมด ไม่เคยคิดช่วยใคร" นายกล้านรงค์กล่าว
เมื่อถามว่า ในหนังสือคัดค้านดังกล่าวระบุให้นายกล้านรงค์ออกมาแสดงความรับผิดชอบ นายกล้านรงค์กล่าวว่า "รับผิดชอบลาออกหรือ ผมทำตามหน้าที่ในเอกสารหมดทุกอย่างไม่มีปัญหา ลงคะแนนรับรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด นายเมธีคะแนนมาเป็นที่ 1 ทั้งนี้ที่ผมเป็นประธานมี กมธ.ฯ 15-17 คน ไม่ได้ตั้งด้วยตัวเอง"
@ ยันผู้ได้รับเลือกไม่ขาดคุณสมบัติ
นายกล้านรงค์กล่าวต่อว่า ตำแหน่ง ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิไม่ใช่ตำแหน่งที่ใหญ่โต ไม่มีเงินเดือน ได้รับแค่เบี้ยประชุมเท่านั้น การลงข่าวโจมตีอย่างนี้มันถูกต้องแล้วหรือ ตนทำหน้าที่ไม่ได้ช่วยใคร ไม่ได้แกล้งใครไม่ได้ปกปิดอะไรทั้งนั้น เล่นแบบนี้ไม่ถูกต้อง จะปกปิดไปทำไม ถ้าขืนปกปิดก็ติดคุก
"ผมทำงานทุกอย่างทำตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่เคยปกปิด ไม่เคยล็อบบี้ ไม่ว่าในชั้น กมธ.หรือ สนช. แล้วไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าใครจะได้ ใครจะตกเพราะบอกแล้วว่าตำแหน่งนี้ไม่ได้ใหญ่โต แค่ผู้ทรงคุณวุฒิไม่ได้มีเงินเดือน ส่วนการจะขาดคุณสมบัติต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ผู้ที่ได้รับคัดเลือกไม่ได้ขาดคุณสมบัติ ได้ให้แต่ละหน่วยงานให้ข้อมูลข่าวสารมายืนยันเป็นรายบุคคล เพราะเราถามไปว่าเคยถูกร้องเรียนหรือไม่ เคยไปทำอะไรที่ขัดกฎหมายหรือไม่ เราส่งเอกสารเหล่านั้นไปประกอบพิจารณาทุกอย่าง ทาง กมธ.ฯได้ส่งเอกสารเหล่านี้ให้ สนช.หมดแล้ว จึงขอให้จบทุกอย่าง" นายกล้านรงค์กล่าว
@ 'พรเพชร'พร้อมหารือวิปสนช.
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่า เพิ่งได้รับหนังสือการคัดค้านการแต่งตั้งนายเมธี เป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิจากประธานศาลฎีกาเมื่อช่วงเย็นวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากนี้จะนำเรื่องแจ้งให้วิป สนช.และที่ประชุม สนช.ทราบต่อไป คงต้องกำชับที่ประชุมให้เพิ่มความระมัดระวังในการรับฟังข้อมูลต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าขั้นตอนทางธุรการได้มีการส่งเรื่องนี้ออกไปจาก สนช.แล้วหรือยัง
นายพรเพชร กล่าวว่า กรณีของนายเมธียังไม่ได้อ่านรายละเอียดที่ประธานศาลฎีกาส่งมา ขอดูรายละเอียดให้ชัดเจนเป็นการขาดคุณสมบัติหรือผิดจริยธรรม หากพบว่ามีการขาดคุณสมบัติจริง ถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องหารือกับวิป สนช.ว่าจะหาทางออกกันอย่างไรต่อไป ยังไม่ทราบว่าจะต้องมีการทบทวนรายชื่อใหม่หรือไม่ เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เชื่อว่าคงหาทางออกเรื่องนี้ได้
@ วิปสนช.ยังไม่ทราบปมศาลยธ.
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สนช. ในฐานะวิป สนช. กล่าวกรณีการทำหนังสือท้วงติง นายกล้านรงค์ จันทิก สนช. ในฐานะประธาน กมธ.เพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิได้ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายเมธี ครองแก้ว ว่าที่ผ่านมามีการตกลงกันว่าจะให้วิป สนช.ทำหน้าที่คณะกรรมการจริยธรรมสำหรับตรวจสอบประเด็นปัญหาต่างๆ ของ สนช. แต่กรณีของนายกล้านรงค์ที่ถูกท้วงติง วิป สนช.ยังไม่ทราบเรื่อง ต้องรอการประชุมวิป สนช.ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ว่าจะมีการหารือถึงเรื่องนี้หรือไม่
พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนการประชุม สนช. วันที่ 6 พฤศจิกายน เพื่อพิจารณาว่าจะรับสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา หรือไม่นั้น จะเป็นการประชุมลับ เชื่อว่าจะได้ข้อยุติ ขอยืนยันว่า สนช.ไม่มีการล็อบบี้เสียงการลงมติอย่างแน่นอน เพราะสมาชิก สนช.มีเวลาศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงแล้ว สนช.บางคนอาจไตร่ตรองข้อเท็จจริงตามหลักนิติศาสตร์ แต่บางคนอาจคำนึงหลักทางรัฐศาสตร์ว่าด้วยความปรองดองประกอบการพิจารณาด้วย
@ สนช.เผยเปิดช่องร้องกล้านรงค์
แหล่งข่าว สนช.เปิดเผยว่า สนช.ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบถึงความเหมาะสมด้านจริยธรรมของนายกล้านรงค์ได้ ต้องมีผู้ยื่นคำร้องเข้ามาเพื่อขอให้ตรวจสอบ ทาง สนช.จะพิจารณาดูว่าการกระทำของนายกล้านรงค์เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 12 ที่ว่าด้วยการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ สนช.หรือไม่ จากนั้นจึงจะดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม สนช. หมวดที่ 4 ว่าด้วยการถอดถอนสมาชิก สนช. ข้อที่ 76 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการจริยธรรม สนช.เป็นผู้ตรวจสอบ ก่อนจะนำเข้าหารือในที่ประชุมใหญ่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วิป สนช.อยู่ระหว่างการร่างระเบียบว่าด้วยจริยธรรม สนช. คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า หลังจากนายเมธีพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมไปแล้ว ต่อมา สนช.ได้รับสมัครและสรรหา ก.ต.ใหม่ กระทั่งนายเมธีได้รับการแต่งตั้งเป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภาอีกครั้งเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และได้เข้าร่วมประชุม ก.ต.ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม
เเหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การเลือก ก.ต.ครั้งนี้ถือว่ามีผลบังคับใช้ตามกฎหมายเเล้ว กรณีกลุ่มทนายความยื่นคัดค้านเป็นหน้าที่ของประธาน สนช.พิจารณา ส่วนนายเมธีจะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่เป็นสิทธิส่วนตัว
@ เผยรายชื่อคณะก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับการสรรหาขึ้นมามีจำนวน 15 คน ประกอบด้วย นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต. ร่วมด้วย ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลฎีกา 6 คน ประกอบด้วย นางสาวเพลินจิต ตั้งพูลสกุล นายศิริชัย วัฒนโยธิน นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา นายชาติชาย อัครวิบูลย์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายทวีศักดิ์ ทองภักดี ผู้พิพากษาศาลฎีกา
ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลอุทธรณ์ จำนวน 4 คน มีนายสู่บุญ วุฒิวงศ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 นายวิบูลย์ แสงชมภู ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 7 และนายเศกสิทธิ์ สุขใจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ก.ต.
ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลชั้นต้น มีนายเจริญ ดวงสุวรรณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 8 และนายณรัช อิ่มสุขศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลธัญบุรี โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2557 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2559 ส่วน ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภา 2 คน คือ นายปรีชา ชวลิตธำรง และนายเมธี ครองแก้ว มีวาระดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2555 และเพิ่งหมดวาระไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 กระทั่งมีการสรรหาโดย สนช.ดังกล่าว
@ คาด 3 พ.ย.สปช.ได้ทิศทางยกร่าง
น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่สอง กล่าวถึงทำข้อเสนอแนะและความเห็นต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดแล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่การประชุมนัดแรกของ สปช. ว่าภายในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะได้ทิศทางรูปแบบของการทำข้อเสนอแนะดังกล่าว เบื้องต้นวิป สปช.หารือว่าจะใช้บทบาทของ กมธ.วิสามัญประจำ สปช. ระดมความคิดเห็นจากสมาชิกและประชาชนภายนอก นอกจากนั้นจะนำข้อมูลตามที่มีองค์กรหรือคณะบุคคลศึกษาหรือรับฟังความเห็นมาแล้วร่วมวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อนำเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
นายวันชัย สอนศิริ โฆษก วิป สปช.ชั่วคราว กล่าวว่า วิป สปช.หารือแล้วว่าจะตั้งกรรมการ 1 ชุด เพื่อรับสมัครสมาชิก สปช.ที่ประสงค์ทำงาน กมธ.วิสามัญชุดต่างๆ ส่วนสมาชิก กมธ.วิสามัญ ที่ตามร่างข้อบังคับการประชุม กำหนดให้มาจากบุคคลภายนอกที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น สปช. โดยให้สิทธิวิป สปช.เป็นผู้คัดเลือกนั้น เบื้องต้นวิป สปช.จะเป็นผู้ทาบทามเอง
"ภารกิจเร่งด่วนของ สปช.หลังมีข้อบังคับการประชุม สปช.ใช้แล้ว คือ การเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่การประชุมนัดแรกของ สปช. คือ วันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเกณฑ์ครบกำหนดประมาณวันที่ 19 ธันวาคม 2557 โดยวิป สปช.ชั่วคราวได้หารือว่าจะให้ กมธ.วิสามัญการปฏิรูปด้านต่างๆ เป็นผู้หาความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นให้นำเข้าที่ประชุมพิจารณา พร้อมเปิดโอกาสให้สมาชิกสปช.ได้อภิปราย อาจจะใช้เวลานานถึง 3 วัน 3 คืน แต่ยังไม่ถือเป็นข้อสรุป ต้องขอมติที่ประชุมใหญ่ สปช.อีกครั้ง" นายวันชัยกล่าว
@ ถกกมธ.ยกร่างฯนัดแรก 5 พ.ย.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.ด้านการเมือง ในฐานะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า หลังจากได้รายชื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้แล้ว ทาง ครม.กับ คสช.จะส่งรายชื่อทั้งหมดมายังนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เพื่อเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในวันเดียวกันทันที ถือเป็นวันสุดท้ายของกำหนดระยะ 15 วัน ภายหลังจากวันประชุม สปช.ครั้งแรก เมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว คาดว่า วันที่ 5 พฤศจิกายน น่าจะมีการเรียกประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนัดแรกได้ เพื่อวางกรอบวิธีการทำงานต่างๆ รวมถึงวางแผนในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในด้านต่างๆ และตามกรอบที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ให้ไว้ จะมีการเลือกตำแหน่งต่างๆ ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ด้วย อาทิ รองประธาน เลขานุการ และโฆษก เป็นต้น
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว สปช.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในเบื้องต้นในฐานะที่เคยทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมีความตั้งใจปฏิรูปและพัฒนาระบบสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ การปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน หรือแม้แต่ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อาจไม่ใช่คำตอบเดียวหรือคำตอบทั้งหมดที่จะเอาทุกอย่างไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็จะเป็นหลักการว่าควรไปในทิศทางใด สปช.เองก็จะต้องมีข้อเสนอต่อไปให้ สนช.ในการปฏิรูป หรือออกเป็นกฎหมายโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข ในบางเรื่องที่เร่งด่วนก็อาจให้ สนช.ช่วยพิจารณาเป็นกฎหมายออกทันที หรือแม้แต่การนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นนโยบาย เพราะการทำงานของ สปช.มีความหลากหลายที่จะต้องทำงานร่วมกับหลายๆ ฝ่าย
@ 'บัณฑูร'มองปฏิรูปการเมือง 5 มิติ
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สปช.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า แนวทางการร่างในส่วนกระบวนการ มีความชัดเจนต้องใช้ความเห็นจาก สปช.และภาคประชาชน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การร่างโดย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญรวมตัวประธานด้วยจำนวน 36 คน แต่ต้องเชื่อมโยง สปช.และภาคประชาชน
นายบัณฑูร กล่าวว่า การปฏิรูปการเมือง มอง 5 มิติ คือ 1.ออกแบบสถาบันทางการเมือง รัฐสภา พรรคการเมืองจะเป็นอย่างไร ยึดโยงผลประโยชน์ของสาธารณะ 2.กลไกเข้าสู่อำนาจทางการเมือง การเข้าสู่การเลือกตั้ง กติกา ตัวกลไกองค์กรจัดการเลือกตั้งทำอย่างไรให้เกิดผลมากกว่าที่เป็นอยู่ 3.กำกับควบคุมการใช้อำนาจทางการเมืองเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ นิติธรรม 4.การตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมืองมีทั้งระบบองค์กรอิสระและภาคภาคประชาชน 5.อยากเห็นการใช้อำนาจทางการเมือง อำนาจทางอธิปไตยเป็นของประชาชนมากขึ้น รวมกับการกระจายอำนาจด้วย จะเกิดรูปธรรมมากขึ้นได้อย่างไร
@ ผุดข้อบังคับ 8 หมวดของสปช.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกหนังสือนัดประชุม สปช. ครั้งที่ 5 วันที่ 3-4 พฤศจิกายน เวลา 09.30 น. มีวาระการประชุมรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานและรองประธาน สปช. และวาระพิจารณาเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้วคือ ร่างข้อบังคับการประชุม สปช. ทั้งนี้ ร่างข้อบังคับดังกล่าว กมธ.ที่มี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช. เป็นประธาน กำหนดให้มีทั้งหมด 143 ข้อ 8 หมวด ได้แก่ หมวด 1 การเลือกประธานสภาและรองประธานสภา หมวด 2 อำนาจและหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภาและเลขาธิการ หมวด 3 การประชุมแบ่งเป็น 4 ส่วน คือส่วนที่ 1 วิธีการประชุม ส่วนที่ 2 การเสนอญัตติ ส่วนที่ 3 การอภิปราย ส่วนที่ 4 การลงมติ หมวด 4 กรรมาธิการ หมวด 5 การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ หมวด 6 การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เเบ่งเป็นส่วนที่ 1 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 2 การพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หมวด 7 การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย หมวด 8 บทสุดท้าย และหมวดเฉพาะกาล
@ ตั้งกมธ.17 คณะวิเคราะห์เพื่อปฏิรูป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความสำคัญของร่างข้อบังคับการประชุม สปช. อาทิ หมวด 4 กรรมาธิการ บัญญัติให้ตั้ง กมธ.วิสามัญประจำสภาขึ้น 17 คณะ อาทิ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน กมธ.ปฏิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น กมธ.ปฏิรูปด้านพลังงาน และ กมธ.วิสามัญปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นต้น แต่ละคณะมีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์จัดทำแนวทางข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปแต่ละด้านให้สัมฤทธิผล นอกจากนี้ ข้อบังคับข้อที่ 44 กำหนดให้มี กมธ.วิสามัญ 5 คณะ ดังนี้ 1.กมธ.ติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.กมธ.จัดทำวิสัยทัศน์และรูปแบบอนาคตประเทศไทย 3.กมธ.รับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้พิจารณาจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนประจำภาคหรือจังหวัดตามเหมาะสม 4.กมธ.ประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป และ 5.กมธ.จัดทำหมายเหตุและเจตนารมณ์ในการปฏิรูปของสภา
@ เร่งทำงานเห็นชอบรธน.ใน 10 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ หมวด 5 การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ หมวด 6 การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เเบ่งเป็นส่วนที่ 1 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 2 การพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อ 118 หมวดดังกล่าว กำหนดให้เมื่อคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วรายงานต่อประธาน สปช. และให้ประธาน สปช.บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน เพื่อให้เสนอแนะหรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จภายในสิบวันนับแต่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วน ข้อ 119 บัญญัติให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาพิจารณาภายในหกสิบวัน และข้อ 120 วรรคสามบัญญัติให้การออกคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อลงคะแนนเปิดเผยและต้องมีคะแนนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก
@ 'ทิชา'พร้อมทำงานร่วมบวรศักดิ์
นางทิชา ณ นคร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา ในฐานะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระแสข่าวว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่หนึ่งจะได้รับเลือกเป็นประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนพร้อมทำงานร่วมกับนายบวรศักดิ์ ยอมรับว่าความรู้เรื่องกฎหมายของนายบวรศักดิ์เป็นมือวางอันดับต้นของประเทศ เข้าใจว่าคนเก่งมีความสามารถ เสียงจะดัง เวลาพูดอะไร คนเกรงใจ แต่เราทุกคนที่เข้ามาทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตั้งเกณฑ์แล้วไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น เข้าใจว่านายบวรศักดิ์ทำงานมาเยอะคงรู้อะไรที่คนอื่นรังเกียจ และต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่ลูกน้องของนายบวรศักดิ์ และบางเรื่องต่อให้นายบวรศักดิ์แข็งอย่างไร แต่ถ้าเราเห็นว่าไม่ใช่ก็ไม่ยินยอม เพราะทำงานนี้ไม่มีใครกลัวใคร
นางทิชา ยังกล่าวว่า การยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวตั้งแต่ที่มีการประกาศว่า สปช.ไม่ต้องยื่นนั้น ก็ไม่รู้สึกยินดี ซึ่งพร้อมแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เพื่อลดข้อครหา แต่ไม่ได้รังเกียจที่ ป.ป.ช.ตีความเช่นนั้น สิ่งที่ ป.ป.ช.ตีความอาจถูกแต่งเชิงกลยุทธ์ ตนยืนยัน สปช.ทุกคนอยากแสดงบัญชี ส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด เห็นว่าควรยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน และจะไม่ยินดีหาก ป.ป.ช.ตีความเช่นเดิม
@ ปธ.สนช.ย้ำ 6 พ.ย.เคาะถอดถอน
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการประชุม สนช.เพื่อพิจารณาการรับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ว่า คาดว่าจะมีคำตอบเป็นที่ยุติได้ว่าที่ประชุม สนช.จะรับเรื่องการถอดถอนไว้พิจารณาหรือไม่ สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างมากคือ เรื่องฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามที่ ป.ป.ช.ส่งมานั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ ถ้ายังคงมีอยู่ก็จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการถอดถอนต่อไป แต่ถ้าฐานความผิดไม่อยู่แล้ว สนช.ก็ไม่ควรรับเรื่องเข้ามาพิจารณา
นายพรเพชร กล่าวถึงกรณีนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ระบุหาก สนช.ไม่รับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม จะเผชิญหน้ากับมวลมหาประชาชนว่าไม่รู้สึกกดดัน เชื่อว่าที่ประชุม สนช.คงไม่กดดันเช่นกัน ไม่ว่าจะมีมติอย่างไร ย่อมมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจทั้งสองฝ่าย สนช.ต้องยึดหลักข้อกฎหมายในการพิจารณา การที่นายถาวรระบุว่า สนช.มีอำนาจการถอดถอนตามมาตรา 5 และ 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ไม่ขอปฏิเสธว่า สนช.มีอำนาจอยู่จริง แต่ต้องดูฐานความผิดด้วยว่ายังมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ ถ้าความผิดถูกยกเลิกไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ที่ประชุม สนช.ต้องมาหารือกันในประเด็นนี้ว่าความผิดยังคงมีอยู่หรือไม่
@ สนช.พร้อมเรียก'ปู'ให้ข้อมูล
นายพรเพชร กล่าวอีกว่า การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวนั้น ตามสำนวนของ ป.ป.ช.ที่ส่งมาให้ สนช.พิจารณา นอกจากจะระบุถึงฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว ยังระบุฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 58 ประกอบมาด้วย กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวยังคงมีอยู่ จึงต้องรับเรื่องไว้พิจารณา แต่ไม่ได้หมายความว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่จนทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ต้องให้ที่ประชุม สนช.ใช้ดุลพินิจไต่สวน เชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาชี้แจงข้อมูลต่อที่ประชุม สนช.ก่อนจะลงมติตัดสินอีกครั้ง
@ 'น้องบิ๊กป้อม'ปัดวิจารณ์ถอดถอน
พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผย กรณีเรื่องการพิจารณาถอนถอดนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ว่าไม่ขอวิจารณ์ เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการทำงานของ สนช. เกรงว่าอาจจะผิดข้อบังคับ สนช.ที่ 161 ว่าด้วยสมาชิกจะต้องวางตัวเป็นกลางและเที่ยงธรรม ไม่กล่าวหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันจะทำให้การพิจารณาและวินิจฉัยของที่ประชุมต้องเสียความยุติธรรม เช่น วิพากษ์ต่อสาธารณะและชักจูง หรือชี้แนะ อย่างไรก็ตาม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้บรรจุวาระการพิจารณาเรื่องการถอดถอนทั้งสองเข้าสู่สภาอีกครั้ง ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ หลังจากชะลอเรื่องและให้สมาชิกศึกษารายละเอียดกว่า 2 สัปดาห์
@ ครูหยุยไม่หวั่น'ถาวร'ออกลูกขู่
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. กล่าวกรณีนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ระบุหาก สนช.มีมติไม่รับอำนาจในการถอดถอนทั้งกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และกรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา จะเจอมวลมหาประชาชนตัดสิน ว่ามุมมองของนายถาวรเป็นแบบนักกฎหมาย ขณะนี้นักกฎหมายตีความเรื่องการถอดถอนเป็น 2 แบบ คือ 1.สนช.มีอำนาจรับเรื่องถอดถอนไว้พิจารณาหรือไม่ ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่เกี่ยวกับกฎหมาย ป.ป.ช. ตามกระบวนการ สนช.มีอำนาจสามารถรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาได้ และ 2.สนช.จะถอดถอนบุคคลทั้ง 3 ได้หรือไม่ แนวคิดนี้ยังไม่มีใครผิดหรือถูก แต่ที่สุดแล้วคนชี้ขาดอาจจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้มองไปไกลถึงขนาดนั้น
"พวกเราคุยถึงเรื่องนี้เยอะมาก ไม่มีการแบ่งกลุ่ม 40 ส.ว. หรือสายทหาร เห็นคล้ายๆ กันว่า ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม ทุกกลุ่มจะมีการเคลื่อนไหวหมด เราจะยึดตามหลักกฎหมาย ไม่ได้ทำตามอารมณ์ใคร พิจารณาตามหลักและกระบวนการเพราะเราทำหน้าที่นิติบัญญัติ เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้พูดคุยถึงปลายทางว่าจะมีอำนาจถอดถอนหรือไม่ สุดท้ายแล้วต้องไปดูที่เสียงโหวตในวันที่ 6 พฤศจิกายน เรื่องก็จะเข้าในที่ประชุม โดยที่สมาชิกจะอ้างไม่ได้แล้วว่ายังไม่ได้อ่านเอกสาร" นายวัลลภกล่าว
@ เรืองไกรชี้แค่ชั้นเชิงกำจัดพท.
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พท. กล่าวกรณีนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ให้สมาชิก สนช.มีอำนาจถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคมว่า เข้าใจว่าใน ปชป.มีทีมกฎหมายหลายคน ทั้งนายถาวรและนายวิรัตน์ กัลยาศิริ รองหัวหน้า ปชป.ฝ่ายกฎหมาย กรณีดังกล่าวเป็นเพียงจะกำจัดคู่แข่งทางการเมืองอย่าง พท.ให้หมดไป ประกอบกับ ปชป.มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้ อยากถามนายถาวรที่เป็นนักกฎหมายว่า ในประเด็นการถอดถอนนายสมศักดิ์ นายนิคม หรือแม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามหลักกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ เพราะว่าความเป็นจริงรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 6 ไม่ได้มีอำนาจให้ สนช.ถอดถอนได้ ดังนั้น บรรดาทีมกฎหมาย ปชป.คงจะรู้หลักกฎหมายดี จึงขอว่าอย่าบิดเบือนหลักการกฎหมาย อย่าเอาอคติมาตัดสินชี้นำมากเกินไป
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ตนอยากให้เปิดพื้นที่เวทีสาธารณะเพื่อถกเถียงกัน ขอท้าไปยังทีมกฎหมาย ปชป. หรือนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และ สนช. ไปจนถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้มาดีเบตกันเลย กรณีให้ สนช.มีอำนาจในการถอดถอนจะถูกหรือจะผิด ที่ท้าดีเบตเป็นในนามส่วนตัว