- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 02 November 2014 20:43
- Hits: 3854
วันที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8740 ข่าวสดรายวัน
'กล้านรงค์-เมธี'โต้ปมกต. โร่แจงปธ.ศาลฎีกา พรเพชรหวั่นโกโซบิ๊ก เล็งถกวิปหาทางออก ผลสอบปปท.-ไมค์แพง ชี้'ปนัดดา'ไม่เกี่ยวข้อง
ไทยลื้อ - พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ เยี่ยมชมหมู่บ้านไทยลื้อ เมืองสิบสองปันนา ในมณฑล ยูนนาน หรือเมืองเชียงรุ้งของจีน โดยระบุว่าวัฒนธรรมและราก ฐานภาษาคล้ายคลึงภาษาเหนือ เมื่อ 1 พ.ย. |
'กล้านรงค์'ลั่นไม่ได้ช่วยปกปิดคุณสมบัติ'เมธี ครองแก้ว'แจงสอบถามข้อมูลกว่า 30 หน่วยงานแล้ว ชี้ไม่ใช่ตำแหน่งใหญ่โต ไม่มีเงินเดือน ได้รับแค่เบี้ยประชุม ด้าน 'เมธี' ยันไม่มีคดีถูกฟ้องเฉพาะตัว เป็นการฟ้องป.ป.ช. ทั้งคณะและเกือบทุกคดีถูกแก้ไปแล้ว เชื่อเป็นเรื่องการเมือง ผูกใจเจ็บ หวังตีกันป.ป.ช.ไม่ให้ชี้มูลคดีอื่น เตรียมแจงประธานศาลฎีกา 'พรเพชร'เล็งหารือวิปสนช.หาทาง ออก เผย 6 พ.ย.นี้ได้ข้อสรุปรับ-ไม่รับคดีถอด ถอน 'สมศักดิ์-นิคม' ชี้ความผิด 'ยิ่งลักษณ์'มีกฎหมายอื่นจึงต้องเดินหน้าต่อ ขณะที่สปช.นัด 3-4 พ.ย. เคาะข้อบังคับการประชุม 8 หมวด 143 ข้อ กำหนดกรอบเวลาจัดทำรธน. 'ไพบูลย์'คาด กมธ.ยกร่างฯถกนัดแรก 5 พ.ย. เลขาฯป.ป.ท. เผยผลสอบไมค์แพง ชี้'ปนัดดา'ไม่เกี่ยว 'ปู-แม้ว' เที่ยวหมู่บ้านไทยลื้อ สิบสองปันนา ห่างเชียงใหม่แค่ 50 นาที
'เมธี'ยันไม่มีคดีถูกฟ้องเฉพาะตัว
จากกรณีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา มีหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุได้รับหนังสือจากทนายความ 18 คน มีเนื้อหาคัดค้านการเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิของนายเมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า นายเมธี ถูกฟ้องเป็นจำเลยในหลายคดี จึงมีคุณสมบัติต้องห้าม หรืออาจไม่เหมาะสมทางจริยธรรม หรืออาจไม่เหมาะสมเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการแก่การดำรง ตำแหน่งก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากนี้ในหนังสือ ของทนายความยังระบุว่านายกล้านรงค์ จันทิก ประธานกรรมาธิการสรรหาก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ ของสนช. ได้ปกปิดข้อมูลดังกล่าวนั้น
วันที่ 1 พ.ย. นายเมธี ครองแก้ว ผู้ผ่านการคัดเลือกจาก สนช.ให้เป็นก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงกรณีถูกร้องคัดค้านว่า ความจริงเรื่องนี้ไม่มีอะไร ถือเป็นความเข้าใจผิดของบุคคลบางส่วน ขอชี้แจงว่าในคดีที่ถูกฟ้องร้องนั้นเป็นการฟ้องร้องคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะ ซึ่งเป็นไปตามปกติของผู้ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจะกระทำได้ เป็นการฟ้องป.ป.ช.ทั้งคณะ ไม่ใช่ฟ้องตนคนเดียว และตนไม่มีคดีที่ถูกฟ้องร้องเป็นการเฉพาะตัวแต่อย่างใด
ลั่นเกือบทุกคดีถูกแก้ไปแล้ว
นายเมธีกล่าวว่า เรื่องนี้ได้เคลียร์ไปแล้วในที่ประชุม สนช.ตอนที่พิจารณาเรื่องของตนเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ซึ่งมีการสอบถามเรื่องนี้ในที่ประชุม สนช.ขณะที่ทำหน้าที่วุฒิสภา ทางคณะกรรมาธิการ 10 คนที่นั่งอยู่โดยมีนาย กล้านรงค์ จันทิก เป็นประธานนั้นได้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบหมดแล้ว ก่อนลงคะแนนเสียงเลือกตน ซึ่งตนทำงานตามหน้าที่ในขณะที่เป็นกรรมการป.ป.ช.
"กรรมการป.ป.ช.ทั้งชุดถูกฟ้องร้องประมาณ 5-7 คดี ล้วนถูกฟ้องจากผู้ที่ถูกชี้มูลความผิด และเกือบทุกคดีก็ถูกแก้คดีไปแล้ว แต่ยังมีคนที่ผูกใจเจ็บ คงไม่อยากปล่อยไปและหาเรื่อง ก่อนหน้านี้มีการพูดและฟ้องร้องต่อวุฒิสภา แล้วยังมาฟ้องต่อประธานศาลฎีกาอีก ทั้งนี้ ผมได้ชี้แจงด้วยวาจาถึงประธานศาลฎีกาโดยผ่านเลขานุการก.ต.แล้ว และในเย็นวันนี้ (1 พ.ย.) ผมจะทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรส่งถึงประธานศาลฎีกาด้วย ผมยืนยันว่าไม่เคยมีปัญหาเรื่องส่วนตัวกับใคร ทำงานตามหน้าที่ทุกประการ" นายเมธีกล่าว
โวยการเมือง-ผูกใจเจ็บปปช.
ส่วนคนที่ออกมาฟ้องร้องเรื่องดังกล่าวนั้น นายเมธีกล่าวว่า ตนมองว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะนี่คือความเสี่ยงของการเป็นคนของสาธารณะ เชื่อว่าเขาคงพยายามตีกัน ไม่ต้อง การให้กรรมการป.ป.ช.ไปชี้มูลใครต่อใครอีก คิดว่าเรื่องมันจะจบไปแล้วแต่ยังร้องต่อประธานศาลฎกีาอีก เข้าใจว่าเขาคงผูกใจเจ็บป.ป.ช ไม่เคยมีเรื่องผิดใจกับใคร
'กล้านรงค์'โต้ปกปิดคุณสมบัติ
นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสนช. ในฐานะประธานกรรมาธิการสรรหาก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า กมธ.สรรหาฯ มีทั้งหมด 15 คน ซึ่งล้วนเป็นนายทหารและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งนักวิชาการ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายในการคัดเลือกอย่างละเอียด รวมถึงสอบถามคุณสมบัติไปยังหน่วยงาน 30 กว่าแห่งว่าบุคคลที่สมัครเข้ารับการสรรหาทั้งหมดนั้นขาดคุณสมบัติหรือไม่อย่างไร อีกทั้งยังเปิดรับความคิดเห็นทางตู้ป.ณ. เว็บไซต์ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย เมื่อได้ข้อมูลตอบกลับจาก 30 กว่าหน่วยงานรวมทั้งข้อมูลแสดงความคิดเห็นทางตู้ป.ณ.และเว็บไซต์แล้ว ฝ่ายเลขานุการ กมธ.ได้รวบรวมเอกสารทั้งหมดเพื่อประกอบการพิจารณา แจกจ่ายให้ กมธ.ก่อนลงคะแนนลับในวันคัดเลือก โดยให้ กมธ.แต่ละคนเสนอรายชื่อคนละ 4 รายชื่อ ซึ่งได้นายเมธีมาอันดับ 1
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า จากนั้นเสนอทั้ง 4 รายชื่อที่คัดในชั้นกมธ. เข้าที่ประชุมสนช. โดยส่งข้อมูลทุกอย่างที่ได้มาให้ สนช.โดยเปิดเผย เพียงแต่ประชุมลับให้สมาชิกพิจารณาลงคะแนนคัดเลือกจากรายชื่อ 1-4 รายชื่อที่เสนอ ก่อนคัดเหลือ 2 รายชื่อ ซึ่งนายเมธียังได้รับคัดเลือกมาเป็นอันดับ 1 และนายปรีชา ชวลิตธำรง เป็นอันดับ 2 ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีปกปิด ไม่มีช่วยเหลือและตนไม่เคยไปพูดหรือล็อบบี้อะไรใคร ไปถาม กมธ.ทุกคนดูได้ เพียงแต่ถึงเวลาพิจารณาข้อมูลแล้วมาลงคะแนนกัน ในการประชุม สนช.ก็เช่นกันได้ชี้แจงเป็นเอกสารทั้งหมดเพื่อให้รู้ว่าใครมีคุณสมบัติอย่างไร ไม่ว่า กมธ.ได้ข้อมูลอะไรมาเราส่งไปทั้งหมด ไม่ได้ปกปิด
ลั่นทำทุกอย่างตามขั้นตอน
"ตำแหน่งก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิไม่ใช่ตำแหน่งที่ใหญ่โต ไม่มีเงินเดือน ได้รับแค่เบี้ยประชุมเท่านั้น การลงข่าวโจมตีอย่างนี้มันถูกต้องแล้วหรือ ผมทำหน้าที่ของผม เป็นเพียงประธาน กมธ.ซึ่งไม่ได้ลงคะแนนด้วยซ้ำ ไม่ได้ช่วยใคร ไม่ได้แกล้งใคร ไม่ได้ปกปิดอะไรทั้งนั้น เล่นอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ผมจะปกปิดไปทำไม ทำงานทุกอย่างทำตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่เคยปกปิด ไม่เคยล็อบบี้ ไม่ว่าในชั้น กมธ.หรือใน สนช.และไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าใครจะได้ ใครจะตก เพราะบอกแล้วว่าตำแหน่งนี้ไม่ได้ใหญ่โต แค่ผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ได้มีเงินเดือน" นายกล้านรงค์กล่าว
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า การจะขาดคุณ สมบัติ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไม่ได้ขาดคุณสมบัติ แต่ละหน่วยงานให้ข้อมูลข่าวสารมายืนยันเป็นรายบุคคล เพราะเราถามไปว่าเคยถูกร้องเรียนหรือไม่ เคยไปทำอะไรที่ขัดกฎหมายหรือไม่ และเราก็ ส่งเอกสารเหล่านั้นไปประกอบการพิจารณา ทุกอย่าง รวบรวมเป็นรายงานไปทั้งหมด ถ้าขืนตนปกปิดก็ติดคุก แล้วจะปิดไปทำไมหลักฐานคือที่ส่วนราชการตอบเป็นเอกสารกลับมา ซึ่ง กมธ.ส่งให้ สนช.หมดแล้ว ขอให้จบแค่นี้
เมื่อถามว่ามี สนช.ระบุให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ นายกล้านรงค์กล่าวว่า รับผิดชอบด้วยลาออกหรือ ตนทำตามหน้าที่ในเอกสารลับแจกหมดทุกอย่าง ไม่มีปัญหา ลงคะแนนรับรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด
'พรเพชร'มึน-ส่งวิปสนช.หาทางออก
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. กล่าวถึงประธานศาลฎีกาส่งหนังสือถึงประธานสนช. แจ้งเรื่องมีกลุ่มทนายความคัดค้านการแต่งตั้งนายเมธี ครองแก้ว เป็น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ เนื่องจากมีคุณสมบัติต้องห้าม กรณีถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาว่า เพิ่งได้รับหนังสือจากประธานศาลฎีกา เมื่อเย็นวันที่ 31 ต.ค. หลังจากนี้จะนำเรื่องแจ้งให้วิป สนช.และที่ประชุม สนช.ทราบต่อไป ต้องกำชับที่ประชุมให้เพิ่มความระมัดระวังในการรับฟังข้อมูลต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าขั้นตอนทางธุรการได้ส่งเรื่องนี้ออกไปจาก สนช.แล้วหรือยัง
นายพรเพชร กล่าวว่า กรณีนายเมธีนั้นตนยังไม่ได้อ่านรายละเอียดที่ประธานศาลฎีกาส่งมา ขอดูรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนว่าขัดคุณสมบัติหรือผิดจริยธรรม หากพบว่ามีการขาดคุณสมบัติจริงถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องหารือกับคณะกรรมาธิการกิจการสนช. วิป สนช. ว่าจะหาทางออกกันอย่างไรต่อไป ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะต้องมีการทบทวนรายชื่อใหม่หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เชื่อว่าคงหาทางออกเรื่องนี้ได้
มั่นใจได้ข้อสรุปสอย'สมศักดิ์-นิคม'
นายพรเพชร กล่าวถึงการประชุมสนช. เพื่อพิจารณาการรับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.โดยมิชอบในวันที่ 6 พ.ย.ว่า คาดว่าที่ประชุมจะมีคำตอบเป็นที่ยุติได้ว่าจะรับเรื่องการถอดถอนทั้ง 2 คนไว้พิจารณาหรือไม่ หลังสมาชิก สนช.ไปศึกษาสำนวนป.ป.ช.กว่า 4,000 หน้าเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างมากคือเรื่องฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามที่ป.ป.ช.ส่งมานั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการถอดถอนต่อไป แต่ถ้าฐานความผิดไม่อยู่แล้ว สนช.ก็ไม่ควรรับเรื่องไว้พิจารณา
นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนที่นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกปปส. ระบุหาก สนช.ไม่รับเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมไว้พิจารณาจะเผชิญหน้ากับมวลมหาประชาชนนั้น ไม่รู้สึกกดดัน เชื่อว่าที่ประชุม สนช.คงไม่กดดันเช่นกัน ไม่ว่า สนช.จะมีมติอย่างไรย่อมมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ สนช.ต้องพิจารณาโดยยึดหลักข้อกฎหมาย ส่วนที่นายถาวรระบุ สนช.มีอำนาจการถอดถอนตามมาตรา 5 และ 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น สนช.มีอำนาจอยู่จริง แต่ต้องดูฐานความผิดด้วยว่ายังมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ ถ้าความผิดถูกยกเลิกไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งที่ประชุม สนช.ต้องมาหารือในประเด็นนี้ว่าความผิดยังคงมีอยู่หรือไม่
ชี้ความผิด'ยิ่งลักษณ์'ยกเลิกไม่ได้
นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในโครง การรับจำนำข้าวตามสำนวนของป.ป.ช.ที่ส่งมาให้ สนช.พิจารณานั้น นอกจากระบุถึงฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วยังระบุฐานความผิดตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 58 มาด้วย ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับยังคงมีอยู่ ไม่สามารถยกเลิกได้ จึงต้องรับเรื่องไว้พิจารณา แต่ไม่ได้หมายความว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว เพราะต้องให้ที่ประชุม สนช.ใช้ดุลยพินิจไต่สวน โดยเชิญคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาชี้แจงข้อมูลต่อที่ ประชุมสนช. ก่อนลงมติตัดสินอีกครั้ง
ชี้สอบ'กล้านรงค์'ต้องมีคนร้อง
แหล่งข่าวจากวิป สนช.เผยว่า สนช.ไม่สามารถตรวจสอบถึงความเหมาะสมด้านจริยธรรมของนายกล้านรงค์ จันทิก ที่ถูกประธานศาลฎีกาท้วงติงได้ เนื่องจากต้องมี ผู้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบ ซึ่ง สนช.จะพิจารณา ว่าการกระทำของนายกล้านรงค์เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 12 ว่าด้วยการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ สนช.หรือไม่ จากนั้นจึงจะดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม สนช. หมวดที่ 4 ว่าด้วยการถอดถอนสมาชิกสนช. ข้อที่ 76 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการจริย ธรรม สนช.เป็นผู้ตรวจสอบ ก่อนนำเข้าหารือในที่ประชุมใหญ่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้วิปสนช.อยู่ระหว่างการร่างระเบียบว่าด้วย จริยธรรมสนช. ซึ่งคาดว่าจะเสร็จเร็วๆ นี้
โยน'พรเพชร'ตัดสินใจ
ด้านพล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าบันทึกของประธานศาลฎีกาอยู่ในขั้นตอนไหน แต่เมื่อส่งมาก็ต้องเข้ากระบวนการ โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.จะพิจารณาในแง่กฎหมายก่อนว่าได้มอบอำนาจให้ สนช.พิจารณาเรื่องเหล่านี้หรือไม่ หากเป็นเรื่องของ สนช.ที่จะต้องทำ สนช.จะต้องตั้งคณะกรรมา ธิการขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองทั้งตรวจสอบประวัติ รับฟังความคิดเห็น ต้องพิจารณาในทุกส่วน รวมถึงกรณีสมาชิก สนช.ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องและขัดต่อจริยธรรม ก็จะมากำหนดในที่ประชุมจนกระทั่งได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร ก็จะเสนอที่ประชุมใหญ่ สนช.พิจารณาแล้วลงมติกัน
"ผมเป็นเพียงสมาชิก สนช.เท่านั้น และยังไม่ทราบว่าประธานพรเพชรรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาแล้วหรือยัง ถ้ารับมาพิจารณาแล้วก็ต้องดำเนินการตรวจสอบกันต่อไป" พล.ร.อ. จักรชัยกล่าว
วิปสนช.รอหารือ 4 พ.ย.นี้
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสนช. ในฐานะวิปสนช. กล่าวถึงกรณีมีการทำหนังสือ ท้วงติงนายกล้านรงค์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสรรหาก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ปกปิด ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายเมธี ครองแก้ว ว่าที่ผ่านมามีการตกลงกันว่าจะให้วิปสนช. เป็นผู้ทำหน้าที่คณะกรรมการจริย ธรรม สำหรับตรวจสอบประเด็นปัญหาต่างๆ ของ สนช. แต่กรณีนายกล้านรงค์ที่มีหนังสือท้วงติงมานั้น วิป สนช.ยังไม่ทราบเรื่อง คงต้องรอการประชุมวิป สนช.ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ว่าจะมีการหารือถึงเรื่องนี้หรือไม่
ยันไม่มีล็อบบี้คดีถอดถอน
พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนการประชุมสนช. วันที่ 6 พ.ย. เพื่อพิจารณาว่าจะรับสำนวน ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา หรือไม่นั้น จะเป็นการประชุมลับ เชื่อว่าจะได้ข้อยุติ ยืนยันว่า สนช.ไม่มีการล็อบบี้การลงมติ เพราะสมาชิกมีเวลาศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงแล้ว สนช.บางคนอาจไตร่ตรองข้อเท็จจริงตามหลักนิติศาสตร์ แต่บางคนอาจคำนึงหลักทางรัฐศาสตร์ว่าด้วยความปรองดองประกอบการพิจารณาด้วย
สปช.นัดเคาะข้อบังคับ 3 พ.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกหนังสือนัดประชุมสปช. ครั้งที่ 5 วันที่ 3 และ 4 พ.ย. เวลา 09.30 น. มีวาระรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานและรองประธานสปช. และวาระพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วคือ ร่างข้อบังคับการประชุมสปช. ทั้งนี้ ร่างข้อบังคับดังกล่าว กมธ.ที่มีพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปช. เป็นประธาน กำหนดให้มีทั้งหมด 8 หมวด 143 ข้อ ได้แก่ หมวด 1 การเลือกประธานสภาและรองประธานสภา หมวด 2 อำนาจและหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภาและเลขาธิการ หมวด 3 การประชุม แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1.วิธีการประชุม 2.การเสนอญัตติ 3.การอภิปราย 4.การลงมติ
หมวด 4 กรรมาธิการ หมวด 5 การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ หมวด 6 การจัดทำร่างรัฐ ธรรมนูญ เเบ่งเป็น 1.กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 2.การพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หมวด 7 การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย หมวด 8 บทสุดท้าย และหมวดเฉพาะกาล
ชงตั้งกมธ.17 คณะศึกษาปฏิรูป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างข้อบังคับ อาทิ หมวด 4 กมธ. บัญญัติให้ตั้งกมธ.วิสามัญประจำสภาขึ้น 17 คณะ อาทิ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน กมธ.ปฏิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กมธ.ปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น กมธ.ปฏิรูปด้านพลังงาน กมธ.วิสามัญปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งแต่คณะมีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์จัดทำแนวทางข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปแต่ละด้านให้สัมฤทธิผล
นอกจากนี้ ข้อบังคับข้อที่ 44 กำหนดให้มีกมธ.วิสามัญ 5 คณะ ดังนี้ 1.กมธ.ติดตาม และให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.กมธ.จัดทำวิสัยทัศน์และรูปแบบอนาคตประเทศไทย 3.กมธ.รับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้พิจารณาจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและ การมีส่วนร่วมของประชาชนประจำภาคหรือจังหวัดตามเหมาะสม 4.กมธ.ประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป และ 5.กมธ.จัดทำหมายเหตุและเจตนารมณ์ในการปฏิรูปของสภา
กำหนดกรอบร่างรธน.
ส่วนหมวด 6 การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในข้อที่ 118 กำหนดให้เมื่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว รายงานต่อประธานสปช. และให้ประธานสปช.บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วนเพื่อให้เสนอแนะหรือให้ความเห็นให้เสร็จภายใน 10 วันนับแต่ได้รับร่างรัฐ ธรรมนูญ และข้อที่ 119 บัญญัติให้กมธ.ยกร่างฯ เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาพิจารณาภายใน 60 วัน ข้อที่ 120 วรรคสาม บัญญัติให้การออกคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อลงคะแนนเปิดเผยและต้องมีคะแนนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก
วิปสปช.เร่งหารูปแบบ-แนะร่างรธน.
น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ กิจการสปช. (วิปสปช.) ชั่วคราว กล่าวถึงการทำข้อเสนอแนะและความเห็นต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดให้ทำเสร็จภายใน 60 วันนับตั้งแต่การประชุมนัดแรกของสปช. ว่า ภายใน วันที่ 3 พ.ย. คาดว่าจะได้ทิศทาง และรูปแบบของการทำข้อเสนอแนะดังกล่าว เบื้องต้น วิปสปช.หารือว่าจะใช้บทบาทของ กมธ.วิสามัญประจำสปช. ระดมความคิดเห็นทั้งจากสมาชิกและจากประชาชนภายนอกเพื่อ ให้เกิดความรอบด้าน และนำข้อมูลตามที่มีองค์กรหรือคณะบุคคลศึกษาหรือรับฟังความเห็นมาแล้ว ร่วมวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อนำเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯต่อไป
ไม่เกิน 2 เดือนเห็นหน้าตาปฏิรูป
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. ในฐานะโฆษกวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวว่า วันที่ 3 พ.ย.นี้ที่ประชุมสปช.จะพิจารณาร่างข้อบังคับสปช. คาดว่าจะพิจารณาวันเดียวเสร็จ ก่อนจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 17 คณะให้เรียบร้อย ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ โดยวิปสปช.หารือแล้วว่าจะตั้งกรรมการ 1 ชุดเพื่อรับสมัครสมาชิกสปช.ที่ประสงค์จะทำงานในกมธ.วิสามัญชุดต่างๆ จากนั้นจะเริ่มนับ 1 ในการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและเป็นทางการ เชื่อว่าไม่เกิน 2 เดือนหลังตั้งกมธ. จะเห็นรูปร่างในการปฏิรูปประเทศ แต่ถ้าไม่เห็นผลงาน ทำไม่สำเร็จ ถือว่าเสียของเป็นอย่างมาก
นายวันชัย กล่าวต่อว่า ภารกิจเร่งด่วนที่สปช.ต้องดำเนินการหลังจากที่มีข้อบังคับการประชุม สปช.ใช้แล้ว คือการเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วันนับตั้งแต่การประชุมนัดแรกของ สปช. คือวันที่ 21 ต.ค. ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งวิปสปช.ชั่วคราวหารือเบื้องต้นว่าจะให้กมธ.วิสามัญการปฏิรูปด้านต่างๆ เป็นผู้ไปหาความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา อาจเปิดให้สมาชิกสปช.ได้อภิปรายร่วมด้วย ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อสรุปเพราะต้องขอมติจากที่ประชุมใหญ่ สปช.อีกครั้ง
กมธ.ยกร่างฯถกนัดแรก 5 พ.ย.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. ในฐานะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 พ.ย. หลังจากครม.และคสช.ได้รายชื่อกมธ.ยกร่างฯ แล้ว จะต้องส่งรายชื่อทั้งหมดมายังนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพื่อเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกมธ.ยกร่างฯในวันเดียวกันทันที เพราะถือเป็นวันสุดท้ายของกำหนดระยะเวลา 15 วันหลังจากวัน ประชุม สปช.ครั้งแรกตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ระบุไว้ และเมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว คาดว่าในวันที่ 5 พ.ย.นี้ น่าจะเรียกประชุม กมธ.ยกร่างฯนัดแรกได้ เพื่อวางกรอบวิธีการทำงานต่างๆ รวมถึงวางแผนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในด้านต่างๆ ตามกรอบที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ไว้ ตลอดจนเลือกตำแหน่งต่างๆ ในกมธ.ด้วย อาทิ รองประธาน เลขานุการ และโฆษก กมธ.
ป.ป.ท.ชี้'ปนัดดา'ไม่เกี่ยวไมค์แพง
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยผลการตรวจสอบการจัดซื้อไมโครโฟนแพงของสำนักนายกรัฐมนตรีว่า มีการส่งเรื่องให้ป.ป.ท.ตรวจสอบในประเด็นว่าม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะปลัดสำนักนายกรัฐ มนตรี เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ ผลการตรวจสอบไม่ปรากฏหลักฐานว่า ม.ล.ปนัดดาเข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนของการโอนเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ และไม่เกี่ยวข้องกับโครงการซ่อมแซมห้องประชุม โดยม.ล.ปนัดดารับผิดชอบเพียงการจัดการทั่วไปเท่านั้น
เลขาธิการป.ป.ท.กล่าวว่า วัตถุประสงค์การจัดซื้อที่เป็นประเด็นร้องเรียนคืออยากได้ของเร็วและดี แต่มีเวลาจำกัดไม่ถึง 1 เดือน จึงไม่สามารถจัดซื้อด้วยวิธีปกติ ทำให้ขอยกเว้นดำเนินการตามระเบียบ แต่เมื่อมีข้อท้วงติงถึงความเหมาะสมจึงมีการยกเลิกโครงการทันที ทำให้ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น หลังจากนี้จะรายงานผลการตรวจสอบไปยังต้นสังกัดต่อไป
ชงสปช.ปฏิรูปงบแปรญัตติ
นายประยงค์ กล่าวถึงการตรวจสอบโครงการใช้งบแปรญัตติสร้างสนามฟุตซอลส่อทุจริตว่า ล่าสุดมีผู้แจ้งเบาะแสว่าโครงการดังกล่าวเริ่มตั้งโครงการและแปรญัตติงบประมาณได้ตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น ป.ป.ท.จะเข้าไปตรวจสอบโครงการสร้างสนามฟุตซอลทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพรวมความเสียหายทั้งโครงการจากงบแปรญัตติ และจะนำเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำไปเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่เอื้อทุจริตจากงบแปรญัตติ ดังนั้น จะเสนอให้สปช.วางแนวทางแก้ระบบงบประมาณ ไม่ให้มีการโยกงบได้ตามใจนักการเมืองโดยเฉพาะนักการเมืองต้องถูกปฏิรูป
นายประยงค์ กล่าวว่า ส่วนป.ป.ท.จะเสนอให้มีกฎหมายมาตรการสมคบกันทุจริตเพื่อเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งกระบวนการในรูปแบบเดียวกับการปราบปรามยาเสพติดที่เอาผิดทั้งทางอาญา และยึดทรัพย์นักค้าที่อยู่เบื้องหลังได้ แม้ขณะจับกุมจะไม่มีของกลางยาเสพติด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบข้อบกพร่องของโครงสร้างในระบบการศึกษาของไทยที่ไม่มีเกราะป้องกันให้กับครู โดยงบประมาณโครงการ ดังกล่าวออกมาจากต้นสังกัดคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ส่งให้โรงเรียนแต่เมื่อเกิดปัญหาครูจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ
ผู้นำชุมชนพอใจผลงานรัฐบาล
ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน มาสเตอร์โพล เผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง "ความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อการทำงานของรัฐบาล" จากแกนนำชุมชน 626 ชุมชน วันที่ 25-31 ต.ค. พบว่า แกนนำชุมชนพอใจการทำงานของรัฐบาล และคสช. ในภาพรวม ได้ 8.50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยเรื่องที่ได้คะแนนพึงพอใจสูงสุด คือการส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินรอยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง 8.68 คะแนน รองลงมา ได้แก่ โครงการชดเชยรายได้ชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครอบครัวละ 15 ไร่ ได้ 8.39 คะแนน และการต้อนรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของนายกฯ บาห์เรน และโครงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ชาวสวนยางพารารายย่อย เพื่อประกอบอาชีพเสริม รายละไม่เกิน 1 แสนบาท ได้ 8.22 คะแนน
ทั้งนี้ ร้อยละ 63.6 ยังให้โอกาสพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำงานในฐานะนายกฯ จนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้เรียบร้อย ร้อยละ 7.7 ให้ทำงานต่ออีก 1 ปี ร้อยละ 14.9 ให้ทำงานต่ออีก 2 ปี ร้อยละ 5.8 ให้ทำงานต่ออีก 3 ปี และร้อยละ 8.0 ให้ทำงานต่ออีก 4 ปี
'ปู-แม้ว'เที่ยวเมืองสิบสองปันนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งอยู่ระหว่างพักผ่อนที่สาธารณรัฐ ประชาชนจีน ได้โพสต์ภาพและข้อความใน เฟซบุ๊ก ระบุว่าวันนี้ได้เดินทางไปวัดและชมหมู่บ้านไทยลื้อของเมืองสิบสองปันนา มณฑล ยูนนานหรือเมืองเชียงรุ้ง ของจีน ร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย โดยที่นี่ มีวัฒนธรรมและรากฐานภาษาที่คล้ายกับ ล้านนา พูดไทยลื้อใช้ภาษาเหนือ มีกาแล ข้าวเหนียวไก่ย่าง อาหารเหมือนบ้านเรา ทำให้รู้สึกว่าอยู่ที่ประเทศไทย พูดเหมือนที่เชียงใหม่ ไม่ต้องใช้ล่ามแปล ซึ่งมีอยู่ 5 เชียงที่พูดเหมือนกันแบบนี้คือ เชียงใหม่ เชียงราย เชียงรุ้งคือที่นี่ เชียงทอง หลวงพระบางของลาว และเชียงตุงของพม่า
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุด้วยว่า สิบสองปันนาเป็นเมืองที่มีการปลูกยางและใบชาจำนวนมาก มีใบชาที่ขึ้นชื่อของเมืองนี้เรียกว่าชาผู่เออร์ นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีวัดมากกว่า 500 วัด หากใครมีโอกาสอย่าลืมแวะมาเที่ยว เพราะห่างจากจ.เชียงใหม่เพียง 50 นาทีเท่านั้นหากเดินทางโดยเครื่องบิน