WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ค้าน'เมธี'นั่งกต.ไม่เหมาะ ปธ.ฎีกายื่น ถึง'พรเพชร'สนช.ปกปิด เป็นจำเลยขาดคุณสมบัติ จี้เจ้าตัว-กล้านรงค์แจงเอง กปปส.ชูมวลชนดันถอดปู พท.ขู่ไม่เลิกตามล้างวุ่นแน่

แจงเยือนเขมร -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวการปฏิบัติภารกิจ ภายหลังเดินทางเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 



บ้านเดิม -พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย เดินทางไปไหว้สุสานบรรพบุรุษและพบปะญาติที่ยังเหลืออยู่ ที่เมืองเหมยเซี่ยน มณฑลกว่างโจว ประเทศจีน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม



เมธี ครองแก้ว

     ปชป.ขู่มวลชนฮือ-ยื่นถอดถอน สนช. ถ้าไม่กล้าฟัน'ปู-ขุนค้อน-นิคม'พท.ฮึ่มจ้องเช็กบิล-ร่าง รธน.สุดโต่ง บ้านเมืองวุ่นวายอีกแน่ 'บิ๊กตู่'บ่นยังมีพวกจ้องทุจริต แอบอ้าง คสช.-รบ.

'บิ๊กตู่'ปลื้มแก้ปัญหาปชช.90%

     เมื่อเวลา 20.15 น. วันที่ 31 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า ศูนย์ดำรงธรรมได้ติดตาม รับทราบความลำบาก ความยากจน การถูกเอารัดเอาเปรียบ ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ของประชาชนในทุกๆ ด้าน ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา สถิติการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเป็นที่น่าพอใจ 

       "จากที่ได้รับเรื่องราวร้องเรียน 211,797 รายการ สามารถให้บริการแก้ปัญหาแล้วเสร็จ 191,797 ราย คิดเป็น 90.56% ส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้เลย เช่น ให้คำปรึกษา การบริการข้อมูล การบริการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีส่วนน้อยที่ต้องใช้ระยะเวลา ใช้งบประมาณ ในการสอบสวนหาข้อเท็จจริง จะต้องประสานงานหลายหน่วยงาน กลไกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วของพลเรือน ตำรวจ ทหาร เข้าไปแก้ปัญหาในเชิงรุก ปฏิบัติทันทีที่ได้รับการแจ้งเบาะแสและการขอความช่วยเหลือจากประชาชน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

ขอสปช.อดทนลุยปฏิรูป

      "ขอขอบคุณท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิก สปช.ทุกท่าน ได้เห็นความตั้งใจในการทำงานเพื่อประเทศไทย คนไทย คสช.และรัฐบาลขอให้กำลังใจ ผมรู้ว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะปฏิรูปประเทศท่ามกลางความขัดแย้ง ยังคงมีบางคน บางพวก มุ่งแต่จะรักษาผลประโยชน์ตนเอง ทั้งในวันนี้และในอนาคต ทุกท่านต้องช่วยกันอดทน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลขณะนี้ ก็คือการปฏิรูปอย่างหนึ่งในระยะสั้น เฉพาะหน้า ต้องสอดคล้องกับหลัง 1 ปีไปแล้ว และทำต่อในรัฐบาลต่อๆ ไป รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องมียุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศระยะยาว มิฉะนั้นก็จะเกิดการขัดแย้งกันไปมา ต้องเริ่มต้นกันใหม่มาตลอด ประกอบกับการทุจริตผิดกฎหมาย ไม่โปร่งใสทุกขั้นตอน เรื่องเหล่านี้รัฐบาลกำลังนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

ปลุกขรก.อย่ากลัวครหาทุจริต 

   นายกฯกล่าวว่า วันนี้ คสช. รัฐบาลจะกำหนดมาตรการอะไรลงไป มีปัญหาหมด ปัญหาซ้ำซ้อน แล้วก็เดือดร้อน ยิ่งคิดใหม่ ยิ่งทำใหม่ ก็ต้องมาระแวงการทุจริตกันอีก ก็คาดโทษเอาไว้แล้วกัน ข้าราชการดีๆ เขาก็หวาดผวา ไม่กล้าทำอะไร กลัวจะถูกกล่าวหาว่าทุจริต ดังนั้นจึงต้องมั่นใจ อะไรที่คิดว่าทำได้ ถูกต้องก็ทำไป เป็นไปตามนโยบาย ไม่ต้องกลัว แต่พร้อมจะรับการตรวจสอบได้ก็แล้วกัน 

     "ส่วนผู้ที่คอยทุจริตเหล่านั้น ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมยังมีข่าวจ้องจะทำความผิดตลอดเวลา นัดกันจะเป็นกลุ่มประโยชน์ แอบอ้าง คสช. อ้างรัฐบาล อ้างความใกล้ชิดคนโน้นคนนี้มาตลอด สังคมต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ทำให้เห็นว่าการทุจริตเหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่อย่างนั้นรัฐบาลก็จะทำอะไรไม่ได้อีก จะเริ่มโครงการอะไรใหม่ๆ ก็เริ่มโจมตีกันอีกแล้ว ทำให้การพัฒนาประเทศ การขับเคลื่อนช้าไปหมด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

ให้ออกแบบปชต.เหมาะคนไทย 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประชาธิปไตยไทยนั้น ถ้าสอนให้คนรู้จักแต่เพียงสิทธิ เสรีภาพ ไม่คำนึงถึงหน้าที่ ไม่รู้จักผลประโยชน์แห่งชาติว่าอยู่ที่ไหน ก็ยังคงเป็นแบบนี้อยู่ต่อไป "ผมต้องการใช้คำว่าพวกเราทุกคนก็ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับประเทศไทย คำว่าเสรีต้องมีขีดจำกัด อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ต้องรู้จักหน้าที่ ต้องรู้จักการให้เกียรติบุคคลอื่นบ้าง ไม่สอนให้คนไม่เคารพกฎหมาย หรือต่อให้เรามีกี่คณะ ทำงานออกมา กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญออกมา สปช.ออกแบบมาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญกันอย่างไร ก็ไม่สำเร็จ เพราะทุกคนจะรู้สึกว่าถูกบังคับ ไม่ยอม ก็เป็นอันตราย 

      ประชาธิปไตยของโลกสากล เขายังต้องเคารพกฎหมาย มีกฎหมาย ข้อบังคับมากมาย เขาก็ไม่ได้ต่อต้านอะไรกันรุนแรงแบบบ้านเรา ถ้าเราจะไม่มีกฎหมาย ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบอะไรเลย เพราะถือว่าเป็นเรื่องของเสรีประชาธิปไตย ผมว่าอันตราย เพราะฉะนั้นเราน่าจะออกแบบให้เป็นประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับคนไทย สอนให้มีสติ จะคิด จะเชื่อ เพราะเราอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและความมีเหตุผล อย่าให้เขาใช้ความยากจน ความเหลื่อมล้ำมาเป็นเครื่องมือในทางด้านการเมืองอีกต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

'บิ๊กอู้'ชี้ประชามติ'รธน.'ยาก 

    พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังได้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญครบทั้ง 36 คน ภายในวันที่ 4 พฤศจิกายน จะประชุมเพื่อกำหนดหน้าที่และใช้กลไกของ กมธ.วิสามัญที่จะตั้งขึ้นรับฟังความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน ก่อนรวบรวมสรุปส่งให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญต่อไป แต่หลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จจะทำประชามติหรือไม่ ตนมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เวลานานและงบประมาณจำนวนมาก จึงเห็นว่าเพียงใช้กลไกของ กมธ.น่าจะเพียงพอ

     พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีล็อกสเปก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 25 คน ในสัดส่วนของ สปช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งหมดมีความหลากหลาย มีความสามารถและเป็นที่ยอมรับ ส่วนร่างข้อบังคับการประชุม สปช. คาดว่าจะเสร็จวันที่ 3-4 พฤศจิกายน จากนั้นจะให้สมาชิกคัดเลือก กมธ.สามัญประจำ สปช. 17 คณะ และให้ที่ประชุมเห็นชอบวันที่ 10 พฤศจิกายน

สนช.ถก 6 พ.ย.รับ-ไม่รับถอดถอน

       นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ สนช. หรือวิป สนช. กล่าวถึงการประชุม สนช. เพื่อพิจารณาเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ว่าเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ หากที่ประชุมมีมติรับเรื่องไว้ก็ต้องพิจารณาตามกระบวนการ โดยตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา และเชิญผู้ถูกกล่าวหา และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้กล่าวหามาตอบข้อซักถาม โดยผู้ถูกกล่าวหาสามารถส่งตัวแทนเข้ามาชี้แจงแทนได้ 

      "หากรับเรื่องไว้พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 45 วัน ก่อนนำกลับเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาลงมติถอดถอนหรือไม่ต่อไป แต่ถ้าที่ประชุมมีมติว่าไม่รับเรื่องก็ตกไป และถือเป็นอันสิ้นสุดกระบวนการ" นายวัลลภกล่าว

'ถาวร'จี้สนช.ลุยถอดถอน

      ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. แถลงว่า วันเดียวกันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปีของการชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ ข้อเรียกร้องหนึ่งคือการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เวลานี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมายัง สนช.เพื่อพิจารณาถอดถอนแล้ว 

     "แต่สมาชิก สนช.กลับมีแนวความคิดเป็น 2 ส่วน คือ 1.เห็นว่าไม่มีอำนาจในการรับไว้พิจารณาถอดถอน เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ผมถือว่าเป็นความคิดที่คับแคบและไม่ตีความให้กว้าง และ 2.เห็นว่า สนช.มีอำนาจรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา ตามอำนาจของรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 5 ที่ระบุว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบังคับใช้ให้วินิจฉัยการกระทำนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศ แต่ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า ให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว.และรัฐสภา" นายถาวรกล่าว 

ขู่ล้มฟันเจอมวลชนฮือแน่

      นายถาวร กล่าวว่า ส่วนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ สนช.นัดพิจารณาวันที่ 12 พฤศจิกายน ดังนั้นภารกิจหลักของ สนช.จึงต้องทำหน้าที่ถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมาให้ยืนยันว่า สนช.มีอำนาจหน้าที่ถอดถอนนักการเมืองที่มีอำนาจอยู่ในสมัยรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ 

      "หาก สนช.ไม่รับการถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมไว้พิจารณา โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ สนช.จะต้องเผชิญหน้ากับมวลชนแน่นอน โดยผมจะยื่นเรื่องถอดถอน สนช. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตามมาตรา 6 ดังนั้นขอเรียกร้องให้ คสช.เตือนสติไปยัง สนช.ว่าต้องทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนประชาชน แม้จะถูกอุปโลกน์ก็ตาม ในการกำจัดทุจริต ถ้าไม่รีบทำวันนี้จะหมดโอกาส และรัฐประหารจะเสียของ" นายถาวรกล่าว

      เมื่อถามว่า มี สนช.บางคนเห็นว่าการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว อาจจะล้มเหลว เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่เคยนั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) แต่มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นประธานการประชุมแทน นายถาวรกล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่นำเอานโยบายนี้มาใช้ การนั่งหัวโต๊ะการประชุมเป็นเรื่องกายภาพ แต่ต้องยึดเรื่องอำนาจความเป็นหัวหน้ารัฐบาลเป็นหลัก การคิดว่าเรื่องการนั่งหัวโต๊ะนั้นเป็นความคิดแบบศรีธนญชัย เพื่อที่จะไม่ต้องการรับผิดชอบทางกฎหมาย คือไม่กล้าลงมติถอดถอน หรือรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา หากการประชุมวันนั้นมีมติออกมาว่าไม่มีอำนาจถอดถอน จะยื่นถอดถอน สนช.แน่

ทีมกม.'ปู'พร้อมสู้ถอดถอน

     นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่ทีมฝ่ายกฎหมายของพรรคจะประชุมหารือกันวันที่ 1 พฤศจิกายนเพื่อเตรียมโต้แย้งที่ สนช.นัดพิจารณาเรื่องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ว่า ตอนนี้มีการเตรียมข้อกฎหมายไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยก่อนได้ 

      "ในการประชุมหารือของฝ่ายกฎหมายในวันที่ 1 พฤศจิกายน จะให้ทีมกฎหมายทุกคนแสดงความคิดเสนอข้อกฎหมายที่จะนำไปโต้แย้งชี้แจงอย่างเต็มที่ ข้อมูลตรงนี้ต้องรอจังหวะในการเปิดเผย ไม่ใช่ประชุมเสร็จก็เปิดเผยได้เลย อย่างช้าอาจจะเป็นวันที่ 3 พฤศจิกายน ให้อดใจรอก่อน" นายพิชิตกล่าว

ลั่นข้าวเสียหายต้องมีคนรับผิดชอบ

     ทางด้านพล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคดีจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า วันนี้ รมว.พาณิชย์ได้แถลงข่าวแล้ว จึงไม่อยากพูดซ้ำ เพราะเดี๋ยวตัวเลขจะผิด เท่าที่จำได้ ทุกวันมีตัวเลขเยอะมาก มันอาจจะเคลื่อนนิดหน่อย แต่ตัวเลขเท่าที่กระทรวงพาณิชย์พูดนั้นใกล้เคียงกับตน อย่าเอาผิดเอาถูกตรงนั้นเลย แต่ต้องไปดูว่าขั้นตอนต่อไปจะทำอย่างไรดีกว่า

     เมื่อถามว่า จากนี้ไปจะมีการระบายข้าวอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องขออนุมัติให้ชัดเจน และรายงานไปยังหน่วยงานที่ตรวจสอบและขออนุมัติในการระบายข้าว รัฐบาลได้จัดทำแผนรองรับไว้ ได้ขออนุญาตทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปประมาณ 2-3 วันแล้ว คาดว่าขณะนี้คงอยู่ในระหว่างดำเนินการ

     เมื่อย้ำถามว่า ความเสียหายที่ผ่านมาในเรื่องข้าวต้องหาผู้รับผิดชอบหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คำถามและคำตอบอยู่ในตัวมันเองแล้ว เมื่อมีความเสียหายก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ อย่างเช่นมีของหายเมื่อมีคนหยิบไป ก็ต้องรับผิดชอบ

ป.ป.ช.รอรบ.ส่งตัวเลขข้าวในโกดัง

     ที่ ป.ป.ช. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวกรณี ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการจำนำข้าวจนเกิดความเสียหาย

     รัฐบาลยังไม่ส่งรายละเอียดข้อมูลหลักฐานมายัง ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา ทำให้ไม่สามารถกำหนดแนวทางการตรวจสอบได้ หากข้อมูลมาถึงกรรมการ ป.ป.ช.จะประชุมพิจารณาทันที แนวทางการตรวจสอบเบื้องต้น ป.ป.ช.จะนำประเด็นข้าวที่สูญหายพิจารณารวมกับประเด็นการทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีที่คดียังพิจารณาไม่เสร็จ เพื่อหาดูว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ทั้งนี้กรณีข้าวที่สูญหายดังกล่าวจะไม่แยกเป็นสำนวนคดีใหม่ ป.ป.ช.จะตรวจสอบเฉพาะปัญหาการทุจริตตามอำนาจเท่านั้น

นายปานเทพกล่าวว่า ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์จะทำเรื่องขออนุมัติ ป.ป.ช. เพื่อระบายข้าวในโกดังที่เหลือ ขณะนี้ยังไม่มีการหารือ แต่ ป.ป.ช.ทราบดีว่าหากปล่อยไว้นาน ข้าวที่อยู่ในโกดังจะเสื่อมคุณภาพมากขึ้น จึงอยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบ ป.ป.ช.จะพิจารณาก่อนว่าข้าวส่วนใดมีปัญหาเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ หากเกี่ยวข้องจำเป็นต้องอายัดไว้ แต่ที่ไม่มีปัญหารัฐบาลสามารถนำไประบายข้าวได้ ยืนยันว่าการตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวจะใช้เวลาอีกไม่นาน

'ยรรยง'ออกโรงโต้ปมจำนำข้าว

     นายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ออกใบแถลงข่าวผ่านทางอีเมล์ในกลุ่มสื่อมวลชน ตั้งข้อสังเกตกรณีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงผลการตรวจสอบสต๊อกข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวว่า ข้อสรุปที่ระบุว่าข้าวที่ตรวจสอบได้มาตรฐานเพียงร้อยละ 10 ส่วนข้าวคุณภาพต่ำไม่ได้มาตรฐานและเป็นสีเหลืองเกินร้อยละ 70 โดยมีข้าวเสื่อมร้อยละ 4-5 เป็นข้อสรุปที่ไม่ชัดเจน ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างมากด้วยเหตุผลดังนี้

   1.ข้าวที่รับจำนำส่วนใหญ่เป็นข้าวที่ผลิตโดยชาวนากว่า 40 ล้านตันข้าวเปลือก โดยเฉพาะในระยะแรกมีการรับจำนำข้าวเกือบทั้งหมด (จำนำทุกเม็ด) การปลอมปนข้าวจึงเป็นไปได้ยากที่จะหาข้าวราคาถูกที่ไม่มีการจำนำมาสวมสิทธิ 2.ขั้นตอนการรับจำนำข้าวที่จุดรับจำนำแต่ละจุดมีคณะทำงานฝ่ายต่างๆ 7-9 คน ที่คอยดูแล การปลอมปนข้าวจึงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะเจ้าของโรงสี ต้องรับผิดชอบคุณภาพข้าวที่จะส่งให้โกดัง ถ้าหากโกดังไม่รับมอบข้าว 

อัดตัวเลขแถลง 2 ครั้งบิดเบือน 

     3.เจ้าของโกดังและผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร (Surveyor) จะต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่หากรับข้าวคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานเข้าโกดัง 4.ในช่วงโครงการรับจำนำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบหลายคณะ คณะอนุกรรมการเหล่านี้รวมทั้งหน่วยงานรับผิดชอบ เช่น กรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศ ก็ได้ตรวจสอบสต๊อกข้าว ทั้งในเชิงปริมาณคุณภาพเป็นประจำ คณะทำงานเหล่านี้ได้รายงานผลการตรวจสอบให้ กขช.ทราบเป็นระยะๆ โดยระบุว่ามีข้าวที่คุณภาพไม่ดีและข้าวเสื่อมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

      "เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์เคยเปิดเผยเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ในช่วงที่ได้ตรวจสอบสต๊อกข้าวไปกว่าร้อยละ 72 ว่า มีข้าวดีและถูกต้องประมาณร้อยละ 80 จึงพออนุมานได้ว่าผลสรุปสุดท้ายที่ระบุว่ามีข้าวไม่ได้มาตรฐานถึงร้อยละ 70 เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง หลังได้ตรวจสอบพบว่า มีข้าวขาดหายจากบัญชีน้อยมาก (ประมาณ 100,000 ตัน) สวนทางกับข้อเท็จจริงที่พรรคประชาธิปัตย์ ป.ป.ช. และนักวิชาการที่โจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่ามีข้าวขาดหายไปถึง 2-3 ล้านตัน" 

สวนกลับวงการค้าเชื่อมั่นข้าวไทย

     นายยรรยง ระบุในข้อ 5 ว่า วงการค้าข้าวยังคงมีความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทย โดยเฉพาะข้าวที่รับจำนำมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่าช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ระบาย (ขาย) ข้าวในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบเปิดประมูลทั่วไป แบบรัฐต่อรัฐ และผ่านตลาดล่วงหน้า (AFET) ได้ส่งมอบไปกว่า 15 ล้านตัน และยังไม่ได้ส่งมอบประมาณ 3 ล้านตัน การซื้อขายเกือบทั้งหมด ทางผู้ซื้อไม่เคยโต้แย้งว่า ข้าวรัฐบาลไม่ได้มาตรฐาน แต่อย่างใดหลัง คสช.ยึดอำนาจก็มีการเปิดประมูลขายข้าวแล้ว 3 ครั้ง ปรากฏว่ามีผู้มาร่วมประมูลจำนวนมากทุกครั้ง แสดงถึงความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวที่รับจำนำ 6.นอกจากนี้ในตลาดค้าข้าวโลกยังมีความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทยมาโดยตลอด เห็นได้ว่าราคาข้าวสารเจ้า 5 เปอร์เซ็นต์ของไทยสูงกว่าราคาข้าวชนิดเดียวกันของอินเดีย ประมาณตันละ 20 เหรียญสหรัฐ เช่น ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ข้าวไทยราคาตันละ 420 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ข้าวอินเดียตันละ 400 เหรียญสหรัฐเท่านั้น 

พูดคลุมเครือเพื่อทำให้เข้าใจผิด

      7.การแถลงในภาพรวมแบบคลุมเครือว่าข้าวในสต๊อกรัฐบาลเป็นข้าวคุณภาพต่ำไม่ได้มาตรฐานและเป็นสีเหลืองมากกว่าร้อยละ 70 น่าจะเป็นการทำเพื่อชี้นำทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลชุดที่แล้วมีการทุจริต ทำให้ข้าวคุณภาพต่ำ มีการปลอมปนข้าวจำนวนมหาศาล แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดต่อประชาชนอย่างชัดเจน เช่น เป็นข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานในลักษณะใด เช่น มีการปลอมปนหรือมีสิ่งเจือปน มีสีหรือกลิ่น หรือลักษณะทางกายภาพอย่างไร สาเหตุจากการทุจริตหรือเป็นตามธรรมชาติหรือสุดวิสัย เช่นน้ำท่วม เปียกฝน ไฟไหม้ กองล้มหรือรมยา เป็นต้น 

      "ข้อสรุปที่มีการแถลงว่าข้าวขาดหายไปจากคลังประมาณ 1 แสนตัน เนื่องจากว่าคณะอนุกรรมการตรวจสอบของ คสช. ไม่สามารถบิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องปริมาณข้าวได้ สามารถตรวจนับจำนวนและน้ำหนักข้าวได้ในแต่ละโกดัง สำหรับข้าวที่ขาดหายไปจำนวนประมาณ 1 แสนตันนั้น ส่วนใหญ่ก็ได้มีการตรวจสอบพบและดำเนินมาตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้ว"นายยรรยงกล่าว

"วรชัย"ชี้เช็กบิลปู-ปว.เสียของ 

     นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ช่วงนี้เกิดข่าวแปลกๆ เกินเลยความเป็นจริงหลายเรื่อง เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกทางการจีนจับตัว ทั้งที่ความจริงไม่มี ทางการจีนต้อนรับขับสู้อย่างดี เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เช่นเดียวกับเรื่องข้าวที่จู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ก็ออกมาแถลงตัวเลขข้าวเสียหายเพิ่มเติมจากวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา แบบไม่น่าเชื่อจาก 10% เพิ่มเป็น 70% แบบนี้แสดงว่าข้าวเสียหายในยุค พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า แต่พยายามโยนไปที่รัฐบาลชุดก่อน ที่องค์กรอิสระ และฝ่ายนิติบัญญัติกำลังจ้องเล่นงานเรื่องนี้อยู่ ต้องการจะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกจากเส้นทางการเมืองให้ได้ แต่เชื่อว่าประชาชนจะเห็นใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะขณะนี้กระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น อีกทั้งไม่มีกฎหมายให้ดำเนินการได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 50 ถูกฉีกไปแล้ว 

     "ขอเตือนว่า ผู้มีอำนาจในขณะนี้อย่าเดินตามรอยปฏิวัติ 2549 ที่กระเหี้ยนกระหือรือจ้องจัดการอีกฝ่าย เพราะทุกอย่างจะซ้ำเดิม ยึดอำนาจเสียของ" นายวรชัยกล่าว

ฮึ่มร่างรธน.สุดโต่งวุ่นอีกแน่

      นายวรชัย กล่าวว่า สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เห็นชัดเจนแล้วว่าเป็นทีมเดิม หน้าเดิม นำโดยแกนหลัก 3 คน คือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. และตัวเต็งประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษา คสช. รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เขียน วันนี้จะมาเขียนใหม่ แต่คาดว่าจะเป็นไปในลักษณะเข้มข้นกว่าเดิม จ้องจัดการนักการเมืองหนักข้อขึ้น ตามแนวทางรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เขียนกันก่อนหน้านี้  

      "ส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เลือกกันเข้ามา ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่ร่างทรง แต่มีพวก ส.ส.ร.เก่า และกลุ่ม 40 ส.ว.ที่จ้องจะจัดการนักการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม หากเขียนรัฐธรรมนูญ กันออกมาแบบสุดโต่ง ประชาชนไม่ยอมรับ บ้านเมืองอาจเกิดความวุ่นวายขึ้นมาอีก นั่นเท่ากับว่าปฏิวัติเสียของ คสช.ล้มเหลว" นายวรชัยกล่าว 

'พท.'สับไอเดีย'ไพบูลย์'

      นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.ด้านการเมือง ในฐานะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอแนวคิดให้ ส.ส.ไม่สังกัดพรรคก็ได้ ยกเลิกระบบเขตเดียวเบอร์เดียวเป็นเขตจังหวัด ว่า นายไพบูลย์เสนอในบริบทที่ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สอดคล้องกับหลักความเป็นจริง กรณีนี้ทำได้ในบางจังหวัดเช่น ตาก ระนอง ที่มี ส.ส.เพียง 1-2 คน จึงมี ส.ส.ไม่มากก็ดูแลประชาชนได้ทั่วถึง แต่ถ้าใช้ระบบนี้ใน กทม. เชียงใหม่ อุบลราชธานี จะทำได้อย่างไร ส่วน ส.ส.จะสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคก็ได้ เคยกำหนดมาแล้ว พอไม่สังกัดพรรคก็เกิด ส.ส.ขายตัว เข้าไปตามห้องน้ำ ประเทศมาไกลเกินกว่าจะถอยไปแบบเดิม วันนี้ประชาชนเขาเลือก ส.ส.เพราะนโยบายพรรค 

    "ข้อเสนอที่ให้นายกฯอาจไม่ต้องเป็น ส.ส. แต่ยังให้มีการโหวตในสภาเหมือนเดิม นายไพบูลย์ทำเป็นพูดอ้อม ความต้องการก็คืออยากให้มีนายกฯจากคนนอก ตรงนี้ไม่เห็นด้วย ควรให้พี่น้องประชาชนได้ตัดสินใจ รัฐธรรมนูญก็เหมือนกับโลงศพ คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ รัฐธรรมนูญก็เช่นกันคนใช้ไม่ได้ร่าง คนร่างไม่ได้ใช้ ดังนั้น การยกร่างรัฐธรรมนูญถ้าออกมาไม่เป็นธรรม มันก็วุ่นวายเหมือนเดิม" นายสมคิดกล่าว

'ปธ.-รอง'สปช.รับสนอง 3 พ.ย.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน สปช. พร้อมนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธาน สปช.คนที่ 1 และ น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธาน สปช.คนที่ 2 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม แล้วนั้น ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการ สปช. โดย กลุ่มงานกิจการทั่วไป สำนักบริหารงานกลางได้จัดเตรียมสถานที่ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 ไว้สำหรับเตรียมความพร้อมในพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธาน สปช. ในวันที่ 3 พฤศจิกายนเวลา 08.00 น. 

สนช.รับหลักการร่างกม.3 ฉบับ 

     ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ 3 ฉบับ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... 2.ร่าง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. .... และ 3.ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... พร้อมคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณารับทราบผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ อีก 4 หน่วยงาน ดังนี้ 1.รายงานประจำปี 2555 ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2.รายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 3.รายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช.ประจำปี 2556 และ 4.รานงานการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบิงาน กสทช. ประจำปี 2556 และ 4.รายงานประจำปี 2556 ของสถาบันพระปกเกล้า 

ปธ.ฎีกายื่นค้าน'เมธี'นั่งก.ต.

      รายงานข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งว่า นายดิเรก อิงคนันท์ ประธานศาลฎีกา มีหนังสือลงวันที่ 28 ตุลาคม ถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยระบุว่าสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับหนังสือจากทนายความ จำนวน 18 คน คัดค้านการเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิของ ศ.เมธี ครองแก้ว เนื่องจาก ศ.เมธีถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหลายคดี แต่นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการ สนช. ปกปิดความจริงดังกล่าว เนื่องจากมีความสนิทสนมกัน ศ.เมธี จึงมีคุณสมบัติต้องห้าม หรืออาจไม่เหมาะสมทางจริยธรรมในการดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ       

ศาลให้รมว.ยธ.รอ'ก.ต.'ชี้ 14 พ.ย.

      ด้านนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทำหนังสือถึงคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เพื่อชี้แจงเหตุผลกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ว่า เรื่องดังกล่าวคงจะต้องรอที่ประชุม ก.ต.พิจารณากันในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ว่าที่ประชุม ก.ต.จะมีมติเป็นอย่างไร 

      นายสราวุธ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ผู้พิพากษาจะขอโอนย้ายไปอยู่ฝ่ายบริหารเพื่อให้สามารถรับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีได้นั้น ถ้าหากมีการขอโอนย้ายจริงก็คงจะต้องรอให้ที่ประชุม ก.ต. พิจารณาอีกครั้งว่าจะอนุญาตหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการขอโอนย้ายแต่อย่างใด

'แม้ว-ปู'ไหว้บรรพบุรุษที่จีน

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้โพสต์ภาพขณะเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษที่ประเทศจีนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย พร้อมข้อความว่า "วันนี้เดินทางมาที่เมืองเหมยเซี่ยน มณฑลกวางโจว เพื่อมาเคารพหลุมฝังศพบรรพบุรุษที่เรียกว่ายายทวด และไปดูบ้านที่แม่เคยอยู่ตอนช่วงอายุ 9 ถึง 13 ขวบ ตอนตามคุณตามาอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่จะอพยพไปอยู่ที่ฮ่องกงและนั่งเรือจากฮ่องกงเพื่อมายังประเทศไทย"

      "นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสพบญาติที่ยังเหลืออยู่ในรุ่นหลานซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับดิฉันและพี่ชาย ท่านทักษิณได้ใช้เวลาในการสืบหาสถานที่นี้ตั้งแต่ก่อนที่ท่านเป็นนายกฯ จากคำบอกเล่าของคุณแม่ และท่านก็เคยเดินทางมาแล้วครั้งหนึ่งสมัยที่มาเยือนเมืองจีนตอนเป็นนายกฯ ที่สำคัญมาครั้งนี้มีข่าวดีเพิ่ม คือมีโอกาสได้ไปเคารพหลุมฝังศพและบ้านที่เคยอยู่ของสายคุณพ่อซึ่งมีอายุเกือบ 300 ปี ต้องขอขอบคุณฝ่ายทางการจีนที่ช่วยสืบหาให้จนพบต้นกำเนิดบรรพบุรุษสายทางคุณพ่อด้วยค่ะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกที่บรรพบุรุษสายคุณพ่อและคุณแม่ มาจากมณฑลเดียวกัน อยู่ห่างกันเพียง 3 ชั่วโมง หากเดินทางโดยรถยนต์" น.ส.ยิ่งลักษณ์โพสต์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!