- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 04 May 2014 23:47
- Hits: 5137
วันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8558 ข่าวสดรายวัน
เพ้อนายกฯคนกลาง มาร์คยับ รัฐบาลไม่เอาด้วย พท.สับลอกม็อบทั้งดุ้น นักวิชาการ-สปป.รุมอัด ชี้ครม.เฉพาะกาลขัดรธน. สมชัยเล็งชงกกต.ถกด่วน จ้อนจี้ปชป.ลงเลือกตั้ง
มาร์คเสนอ - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดแถลงที่โรงแรมสุโกศล กทม. นำเสนอแผนเดินหน้าประเทศไทย โดยเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และครม.ลาออกทั้งคณะ เพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลและนายกฯ คนกลาง เมื่อวันที่ 3 พ.ค. |
'มาร์ค'แถลงโรดแม็ปทางออกประเทศไทย ยึด 4 หลักการ 10 ขั้นตอน เลี่ยงความรุนแรง-รัฐประหาร เสนอเลื่อนเลือกตั้งให้นายกฯ ลาออก เปิดทางตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ใช้เวลาจัดทำกระบวนการปฏิรูป 5-6 เดือน แล้วค่อยให้ทุกพรรคลงเลือกตั้ง รัฐบาลไม่รับข้อเสนอ'อภิสิทธิ์'ชี้ขัดกติกาประชา ธิปไตย เพื่อไทยเย้ยไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นแนวทางเดียวกับเงื่อนไข กปปส. นักวิชาการรุมสับข้อเสนอขัดรัฐธรรมนูญ ชี้รัฐประหารเงียบ จี้กกต.เร่งออกพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง'สมชัย'โบ้ยรัฐบาลตัดสินใจ มะเร็งคร่า'พินิจ จันทร์สมบูรณ์'อดีตส.ส.กาญจนบุรี
"มาร์ค"แถลงโรดแม็ปทางออก
เวลา 10.00 น. วันที่ 3 พ.ค. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์
เปิดแถลงข่าวนำเสนอแผนเดินหน้าประเทศ ไทย 'ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ'หลังเดินสายนำเสนอและรับฟังข้อเสนอทางออกประเทศจากทุกฝ่ายรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปิดแถลงข่าว ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์วางระบบรักษาความปลอดภัยเข้มกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา จัดทีมการ์ดดูแลความปลอดภัยรอบบริเวณโรงแรมมาก ถึง 50 คน ให้สื่อมวลชนและผู้ร่วมสังเกตการณ์ที่เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวแลกบัตรที่พรรคจัดทำให้เป็นการเฉพาะด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกนายเอก อัตถากร ชายแว่นดำบุกเป่านกหวีดงานปฏิรูปประเทศไทยของพรรคมาแล้วถึง 2 ครั้ง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จากการเดินสายพบฝ่ายต่างๆ ประมวลเป็นแผนเดินหน้าประเทศ ไทย "ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ" เพื่อหลีกเลี่ยง 3 อย่าง 1.การสูญเสียชีวิตของประชาชน 2.การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายนอกรัฐธรรมนูญ หรือการปฏิวัติรัฐประหาร 3.การดึงสถาบันที่อยู่เหนือความขัดแย้งและศาลเข้ามาอยู่ในวังวนความขัดแย้งจนไม่มีที่พึ่งทางใจร่วมกัน หลักการคือ 1.เดินหน้าปฏิรูปประเทศทันที สร้างความชอบธรรม กระบวนการ กติการองรับให้มีการปฏิรูป ต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ผูกมัด และไม่ถูกขัดขวางจากฝ่ายการเมือง ยั่งยืน 2.ระหว่างกระบวนการปฏิรูปมีรัฐบาลและสภาที่เป็นไปตามกฎหมายและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย 3.การเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยสุจริต เสรีและเที่ยงธรรม เป็นที่ยอมรับของประชาชนและทุกพรรค นำไปสู่การได้สภา ผู้แทนราษฎรและรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ และ 4.คดีความที่มีอยู่ต้องดำเนินไปตามกระบวนการกฎหมายและหลักนิติธรรม
เสนอชะลอพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีขั้นตอนดำเนินการ 10 ขั้นตอน 1.ขจัดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคด้วยการชะลอการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้ง ที่รัฐบาลคิดจะทำในวันที่ 6-8 พ.ค.นี้ 2.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องออกระเบียบเพื่อปฏิรูปการบริหารการเลือกตั้ง สร้างความมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม รวมถึงการใช้นโยบายประชานิยมที่เสียหายต่อประเทศ 3.เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ร่วมกับกปปส. เป็นแกนนำจัดทำข้อเสนอการจัดตั้งสภาปฏิรูป กำหนดประเด็นขอบเขตการปฏิรูปโดยจัดลำดับความสำคัญ เช่น การต่อต้านการทุจริต ไม่มีนิรโทษกรรม การมีส่วนร่วมของประชาชน และกรอบเวลาการปฏิรูปแต่ละด้าน ใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน
4.จากนั้นทำประชามติภายใน 90 วัน โดยการสนับสนุนของทุกพรรค ให้ประชา ชนเห็นชอบ สภาปฏิรูป ประเด็นการปฏิรูป และให้งานของสภาปฏิรูปทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งมีผลผูกมัดรัฐบาลและสภาหลังการเลือกตั้ง 5.การจัดทำประชามติ จะเป็นการทดสอบความเรียบร้อยของการเลือกตั้งที่ จะมีขึ้นต่อไป ทุกฝ่ายต้องเอื้ออำนวยให้ ทุกพรรครณรงค์การปฏิรูปได้อย่างเสรี และสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่ปราศจากการ ขัดขวางและความรุนแรง
ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล
6.เปิดทางให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลโดยความเห็นพ้องของทุกฝ่าย เพื่อมาบริหารจัดการการทำประชามติและการเลือกตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีต้องนำคณะรัฐมนตรีลาออก หรือปรับครม.ออก จากนั้นนายกฯ จึงลาออกก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดีความต่างๆ เพื่อให้มีการสรรหานายกฯ และครม.ใหม่ ที่ไม่มีนักการเมืองและพรรคการเมือง โดยให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการสรรหาบุคคลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมถึงเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลชุดปัจจุบันและกปปส. 7.รัฐบาลที่ได้มาจะไม่มีอำนาจทางนิติบัญญัติ ไม่มีอำนาจตรากฎหมาย เพราะไม่มีองค์กรนิติบัญญัติ แต่รัฐบาลจะมีความคล่องตัวกว่ารัฐบาลปัจจุบันเพราะไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาได้หลายประการ เช่น จำนำข้าว และราคาแก๊สที่พุ่งสูงขึ้น
8.เมื่อจัดทำประชามติเสร็จให้จัดการ เลือกตั้งภายใน 45-60 วัน โดยทุกพรรคต้องยืนยันว่าจะสนับสนุนการทำงานของสภาปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง หากไม่ทำตามถือว่าหลอกลวง กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและระเบียบของ กกต.มีโทษถึงขั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยุบพรรคการเมือง 9.รัฐบาลและสภาผู้แทนฯ หลังการเลือกตั้งต้องนำ ข้อเสนอการปฏิรูปที่เกิดจากสภาปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง ดำเนินการให้เเล้วเสร็จภายใน 1 ปี แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ 10.ประเด็นการปฏิรูปอื่นๆ ให้ดำเนินการต่อไปภายหลังการเลือกตั้งตามวิธีการปกติ
อ้างมีกฎหมายรองรับ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอนี้มีกระบวน การตามกฎหมายรองรับได้ การลาออกและการปรับครม.เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของนายกฯ ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 182(2)(6) และเคยเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลรักษาการปี 2549 ที่นายวิษณุ เครืองาม ลาออกจากรองนายกฯ และมีกรณีที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาแล้วด้วย ส่วนการสรรหานายกฯ ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคท้าย โดยการเสนอให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการสรรหา อยู่บนหลักของการเทียบเคียงรัฐธรรมนูญที่ปรับใช้ได้ใกล้เคียงที่สุด โดยเทียบเคียงกรณีหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 กรณีการเกิดสุญญากาศทางการเมืองมีความเป็นไปได้ เช่น ถ้าครม.เดินทางไปแล้วเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งหมด ทุกอย่างจะเข้าสู่ประเพณีปฏิบัติ คือวุฒิสภาจะต้องดำเนินการพิจารณาต่อไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอนี้ไม่มีฝ่ายไหนจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ฝ่ายต่างๆ จะได้ความต้องการหลักของตัวเอง รัฐบาลจะได้เห็นการเลือกตั้งที่จะเกิดในกรอบเวลาที่ชัดเจน บุคคลในรัฐบาลมีสิทธิ์ลงสมัครในระยะ 5-6 เดือนข้างหน้า เพียงแต่เสนอให้คนเหล่านั้นถอยออกไปในระยะสั้นๆ เพียง 5-6 เดือน ส่วนกปปส.จะได้รัฐบาลคนกลาง ได้สภาปฏิรูป ที่มั่นใจได้ว่าการปฏิรูปจะไม่ถูกขัดขวาง เพียงแต่กปปส.ไม่ได้สภานิติบัญญัติ หรือรัฐบาลที่กปปส.จะเสนอ แต่ข้อเสนอนี้ประเทศชาติจะได้ 100 เปอร์เซ็นต์คือได้ปฏิรูป ได้การเลือกตั้ง ไม่มีการนองเลือด ไม่มีรัฐประหาร สถาบันหลักไม่ถูกละเมิด เศรษฐกิจแก้ปัญหาได้ ผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวและไม่รับตำแหน่งหรือมีสถานะการเมืองใดๆ ขอเป็นเพียงประชาชนและมีความสุขจากที่ประเทศเดินหน้าไปได้
ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาล 6 พ.ค.
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะนำข้อเสนอนี้เสนอไปยังสองฝ่ายแต่ต้องเสนอไปยังรัฐบาลก่อน เพื่อให้รัฐบาลตัดสินในสิ่งที่กำลังจะทำ โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สามารถตัดสินใจได้คนเดียวเลย ขณะที่ กปปส.ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจเพราะทำในนามมวลชน ดังนั้นตนจะให้คนส่งข้อเสนอนี้เป็นลายลักษณ์อักษรไปให้รัฐบาลในวันอังคารที่ 6 พ.ค.เพื่อให้พิจารณา และฟังคำตอบจากน.ส.ยิ่งลักษณ์คนเดียว และถ้าจะให้อธิบายอะไรเพิ่มเติมก็ยินดี
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอใช้โอกาสนี้สื่อถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ อยากถามว่าข้อเสนอนี้มี ตรงไหนที่เสียหายต่อประเทศชาติ ในฐานะที่เป็นนักการเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการให้ประเทศเดินหน้าหรือไม่ สิ่งเดียวที่น.ส. ยิ่งลักษณ์ต้องสละคือการถอยออกไปจากอำนาจ 5-6 เดือน โดยที่น.ส.ยิ่งลักษณ์รู้ตัวอยู่แล้วว่าสถานภาพในขณะนี้อยู่บนความไม่แน่นอน อยากถามว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะถอยไป 5-6 เดือนได้หรือไม่ ตนเป็นนักการเมืองมืออาชีพทำงานการเมือง 20 กว่าปี นี่คืออาชีพของตน แต่เมื่อบ้านเมืองมาถึงจุดนี้ก็ ยังถอยออกจากการเมืองได้และถอยออกมาถึง 2 ปีแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะถอยออกไปเพื่อประเทศ 5-6 เดือนได้หรือไม่
แจงแดงไม่อยู่ในแผนปฏิรูป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า และขอสื่อสารไปถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ถ้ารัฐบาลตอบรับหลักการนี้ นายสุเทพจะเห็นภาพรัฐบาลคนกลางที่มีการปฏิรูป นั่นคือเป้าหมายการต่อสู้ของนายสุเทพและมวลมหาประชาชน อย่าเพิ่งปฏิเสธข้อเสนอของตน ถ้ารัฐบาลรับหลักการ ขอให้นายสุเทพไปพิจารณาว่าจะเดินหน้าประเทศไทยไปอย่างนี้ด้วยกันหรือไม่ อยากฝากไปยังสื่อมวลชน นักวิชาการ ประชาชนทุกฝ่าย หากเห็นว่าสิ่งที่ตนเสนอเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองขอให้ออกมาพูด อย่าให้คนจำนวนมากที่ปรารถนาเห็นบ้านเมืองเดินไปด้วยความเรียบร้อยกลายเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงออกในเรื่องนี้
ประชามติ - กลุ่มเที่ยงตรงจัดกิจกรรมลงประชามติ (จำลอง) ว่าจะเอา นายกฯ คนกลาง หรือนายกฯ จากการเลือกตั้ง ผลคะแนนปรากฏร้อยละ 90 ต้องการ ได้นายกฯ จากการเลือกตั้ง ที่ท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี เมื่อ 3 พ.ค. |
ายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอนี้ไม่มีกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่ในแผนการปฏิรูป เพราะคนเสื้อแดงไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ คนเสื้อแดงต้องการรัฐบาลที่ มาจากการเลือกตั้ง สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ในขณะนี้มีใครรับประกันได้ว่าการเลือกตั้ง จะเรียบร้อยหรือไม่ ส่วนคดีความของน.ส. ยิ่งลักษณ์ เรื่องการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ก็ต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการ จะไม่มีการเจรจาต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น
เลี่ยงตอบ'กิตติพงษ์'นายกฯ
เมื่อถามว่าขณะนี้มีกระแสข่าวการล็อบบี้การเลือกประธานวุฒิสภา จะให้สังคมมั่นใจได้อย่างไรว่าประธานวุฒิสภาจะเป็นที่เชื่อมั่นในการสรรหานายกฯ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คนที่เป็นประธานวุฒิสภาโดยหลักต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายอยู่แล้ว การทำหน้าที่ของประธานวุฒิสภาก็ต้องตอบโจทย์ให้สังคมเป็นที่ยอมรับเช่นกัน ตนเสนอตามรัฐธรรมนูญที่นักกฎหมายเห็นว่าที่สุดแล้วต้องเป็นประธานวุฒิสภาในการสรรหานายกฯ
เมื่อถามว่าคนที่จะเป็นนายกฯ ในรัฐบาลเฉพาะกาลควรมีพื้นฐานเรื่องการผลักดัน การปฏิรูปประเทศหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็ดี เมื่อถามย้ำว่าขณะนี้มีการมองไปที่นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่เหมาะสม นายอภิสิทธิ์ ไม่ตอบและเดินเลี่ยงออกจากวงสัมภาษณ์
เพื่อไทยถกข้อเสนอมาร์ค 6 พ.ค.
นายนพดล ปัทมะ กรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรครับฟังข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ แต่ต้องหารือกันในพรรคให้รอบคอบก่อน เนื่องจากข้อเสนอมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก และจะมีท่าทีที่ชัดเจนในแต่ละข้อเสนอภายหลังการประชุมคณะกรรมการกิจการพรรควันที่ 6 พ.ค.นี้ จากนั้นจะแถลงให้สาธารณชนรับทราบต่อไป
นายนพดล กล่าวว่า จุดยืนของพรรคเพื่อไทยยังคิดว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ และต้องการแก้ปัญหาต่างๆ ให้ยั่งยืนและถาวรไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเพียงชั่วคราว ส่วนท่าทีของรัฐบาลต่อข้อเสนอ ดังกล่าว จะเป็นอย่างไรถือเป็นความเห็นของรัฐบาลเพราะต่างฝ่ายย่อมมีความเห็นของตนเอง
ให้กก.ยุทธศาสตร์ศึกษา
เวลา 11.30 น. ที่พรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรค แถลงท่าทีพรรคต่อการแถลงของนายอภิสิทธิ์ ว่า พรรคตั้งข้อสังเกต 3 ประการ 1.เพื่อไทยเป็นพรรคการเมือง สถาบันการเมืองในกระบวนการประชาธิปไตย เป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง จึงยินดีรับฟังข้อเสนอจากทุกภาคส่วนรวมถึงนายอภิสิทธิ์ ที่เสนอทางออกให้แก่ประเทศ 2.พรรคมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ศึกษาสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ เสนออย่างละเอียด และจะกำหนดท่าทีแนวทางของพรรคต่อไป ซึ่งสอดรับกับสิ่งที่นายอภสิทธิ์ เสนอคือพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ปฏิเสธ แต่จะนำสิ่งที่เสนอไปศึกษาละเอียดก่อนที่จะประกาศท่าทีต่อไป
3.พรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุนทุกแนวทางที่ยึดมั่นในกติกาประชาธิปไตย โดยเฉพาะทุกแนวทางต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ พรรคไม่สนับสนุนแนวทางที่จะมีการระงับ ยกเว้น หรือยุติการใช้รัฐธรรมนูญ แม้จะยุติโดยชั่วคราวก็ตาม กรรมการบริหารพรรคทุกคนล้วนมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวแต่การจะประกาศท่าทีอย่างเป็นทางการของพรรค เห็นตรงกันว่าควรให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคได้ศึกษาอย่างละเอียดก่อน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการศึกษา จากนั้นพรรคจะออกมาประกาศจุดยืนต่อสังคมต่อไป ทั้งหมดก็เพื่อความเป็นเอกภาพของพรรค เพื่อไทย
ไม่ยึดหลักปชต.-รัฐบาลไม่รับ
รายงานข่าวจากรัฐบาลเผยว่า รัฐบาลหารือกันแล้วยืนยันจะไม่รับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะเรื่องนายกฯ คนกลาง และรัฐบาลเฉพาะกาล เพราะเห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตย
ชี้ข้อเสนอเดียวกับกปปส.
นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานส.ส. ภาคเหนือ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามที่กลุ่มกปปส.นำเสนอและต้องการให้เป็นเช่นนี้ ไม่เชื่อว่าแนวทางนี้ ที่จะทำได้ เพราะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กติกาประชาธิปไตยที่ต้องให้อำนาจประชา ชนตัดสินใจ ทางออกของปัญหาคือการเลือกตั้ง มีรัฐบาลตามกติกา ไม่ใช่รัฐบาลคนกลาง ที่ไม่ได้อยู่ในกติกา จากนั้นจะดำเนินการปฏิรูปการเมืองหรือทำอะไรฝ่ายต่างๆ ก็มาพูดคุยเพื่อหาข้อตกลงหรือทำสัตยาบันร่วมกันว่าจะปฏิรูป ไม่ใช่ต่างคนต่างเสนอไปคนละทาง เช่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯกปปส. เสนอตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หรือกลุ่มของพุทธอิสระ เสนอทูลคืนพระราชอำนาจ ซึ่งไม่ใช่แนวทางตามกติกาและเป็นไปไม่ได้
รัฐบาลเฉพาะกาลทำไม่ได้
นายวราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่รมต.ประจำสำนักนายกฯและรมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ให้มีรัฐบาลคนกลางเฉพาะกาลเข้ามาดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เคยมีการหยิบยกมาพูดคุยแล้ว ตามหลักของกฎหมายไม่สามารถทำได้เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมถึงการยอมรับในตัวบุคคลก็ทำได้ยาก เนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อมีข่าวการเสนอตัวมาเป็นคนกลางสุดท้ายก็ไม่มีอะไร จึงเชื่อได้ว่าไม่น่าจะมีใครยอมเสนอตัวมาเป็นคนกลาง รัฐบาลยินดีรับฟัง ข้อเสนอดังกล่าวซึ่งต้องพิจารณาต่อไปแต่ ไม่ต้องนำมาพิจารณาในทันที เพราะเป็นแนวทางที่หลายฝ่ายเคยเสนอมาแล้ว
เมื่อถามว่า รัฐบาลเห็นอย่างไรกับข้อเสนอให้ชะลอการเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.นี้ออก ไปก่อน นายวราเทพกล่าวว่า ต้องถามจุดประสงค์ที่ต้องการให้ชะลอออกไปเพื่ออะไร เรื่องนี้เราพูดคุยกันมานานและรัฐบาลก็พูดคุยกับ กกต.ถึงการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งกลุ่มรวมถึงกปปส.ก็ยืนยันว่าไม่มีแนวทางในการเจรจากับรัฐบาล ดังนั้นการเลือกตั้งจึงถือเป็นทางออก
เมื่อถามว่าข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ คล้ายกับข้อเสนอกปปส. นายวราเทพกล่าวว่า จะคล้ายหรือไม่คล้ายก็เป็นไปในแนวทางที่ยังไม่เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายเห็นด้วย
จาตุรนต์ อัดระบบเผด็จการ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รมว.ศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ว่า ครม.ยังไม่ได้หารือกัน และยังไม่มีการคุยกันในพรรคเพื่อไทย เรื่องที่เสนอเป็นเนื้อหาเดิมที่กลุ่มนายสุเทพ นักวิชาการที่ขัดขวางการเลือกตั้ง ต้องการให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เกิดนายกฯคนนอก รัฐบาลคนนอก แต่ใช้วิธีการใหม่ให้นายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นคู่กรณีโดยตรงและเป็นผู้ร่วมขัดขวางการเลือกตั้ง เปลี่ยนบทบาทตัวเองไปรับฟังความเห็นแล้วนำมา เหมือนว่านายอภิสิทธิ์ เป็นคนกลาง ทั้งที่ตัวเองเป็นตัวปัญหาโดยตรง ซึ่งคนที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยรับข้อเสนอนายอภิสิทธิ์ไม่ได้แน่
นายจาตุรน กล่าวว่า เชื่อว่าข้อเสนอ ดังกล่าวเป็นการปูทางให้กับการวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อจะบอกว่าเสนอให้ นายกฯและครม.ลาออก แต่ครม.และนายกฯไม่ยอมทำตาม ศาลรัฐธรรมนูญจึงตัดสิน ให้ผลออกมาอย่างนั้น ที่นายอภิสิทธิ์เสนอความเห็นเหมือนเป็นคนกลาง ถือเป็นการฟอกตัวว่าไปฟังความเห็นมาแล้ว มีข้อเสนอ ที่ดี ไม่ใช่ข้อเสนอส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์หรือพรรคประชาธิปัตย์ และให้ดูดีจากการประกาศไม่ลงสมัครและขัดขวางการเลือกตั้งนั่นเอง ส่วนที่บอกจะเว้นวรรคเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรจากข้อเสนอที่เสนอ ขึ้นมา เลยทำให้การไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้ดูดี ทั้งที่ความจริงคือไม่ศรัทธาในระบบการเลือกตั้ง แต่จะเลือกนายกฯนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นระบบเผด็จการ
เชื่อนายกฯ-ครม.ไม่รับข้อเสนอ
นายจาตุรนต์ ระบุ จึงเชื่อว่าข้อเสนอนี้จะไม่ได้การต้อนรับจากฝ่ายประชาธิปไตย และนายกฯจะไม่ทำตามข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์แน่นอน แม้จะมีนายกฯคนนอกจริงก็จะ ถูกคัดค้านจากฝ่ายประชาธิปไตยทั่วประเทศอย่างหนัก ข้อเสนอหลายข้อน่าจะเกิดขึ้นได้หลังการเลือกตั้ง แต่จะให้นายกฯและครม. ลาออกเพื่อให้เกิดสุญญากาศเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะให้เกิดสภาพอย่างนั้น ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ถ้าจะให้คณะรัฐมนตรี ชุดนี้ ร่วมทำลายประชาธิปไตย ให้ประชาชนทั้งประเทศเลือกนายกฯ เลือกรัฐบาล ที่มาจากไหนไม่รู้ด้วย ครม.ชุดนี้ไม่มีทางร่วมมือ
แต่เมื่อเลือกตั้งแล้วรัฐบาลที่ได้ร่วมกันว่าจะปฏิรูปอย่างไร และพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งให้คนที่มีความรู้เรื่องการปฏิรูปมาช่วยกันคิด และเปิดรับฟังความเห็น จากนั้นจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นการทำโดยกระบวนการประชาธิปไตย ต่างจากสิ่ง ที่นายอภิสิทธิ์เสนอคือกระบวนการที่เป็นระบบเผด็จการ
'ชัยเกษม'ลั่นไม่ออก
นายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ไม่ได้แตกต่างจากที่ กปปส.เรียกร้องและต้องการให้เกิดสุญญากาศ โดยเฉพาะที่ให้นายกฯ และครม.ลาออก ให้ประธานวุฒิสภาแต่งตั้งนายกฯ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะถูกกล่าวหาทำผิดรัฐธรรมนูญ และ ขอถามว่าอยู่มาตั้งนานทำไมเพิ่งเสนอเรื่องโครงสร้างการปฏิรูป ยืนยันรัฐบาลไม่เห็นด้วย นายอภิสิทธิ์อย่าพูดเรื่องการประกาศ เว้นวรรคทางการเมือง เพราะได้เว้นวรรคการเมืองมาแล้วและจะเว้นวรรคกี่รอบก็ไม่เกี่ยว ถ้าจะไม่ลงเลือกตั้งก็ไม่ต้องลง การเลือกตั้งเป็นวิถีทางประชาธิปไตย จะไปตามใจคนที่ทำอะไรผิดรัฐธรรมนูญเป็นวิถีทางที่ไม่ถูกต้อง แม้จะลาออกไปทั้ง ครม.จริงๆ เหลือตนเพียงคนเดียวก็จะไม่ลาออก หรือแม้จะเกิดอุบัติเหตุการเมืองกับนายกฯ ในวันที่ 6 พ.ค.ก็ต้องแก้ปัญหากันไป เพราะเวลานี้ปัญหา ที่ยุ่งยากในขณะนี้คือ คนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย
โอ๊คชี้ทางออกแค่ปชป.ลงเลือกตั้ง
นายพานทองแท้ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ผู้ที่สร้างปัญหาให้กับประเทศลำดับต้นๆ เสนอทางออกด้วยตนเอง ย่อมเป็นที่สนใจของคนทั่วไป แต่ทางออกดังกล่าวจะใกล้เคียงความจริงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ต้องตอบคำถามถึงปัจจัยที่นำพาประเทศชาติเข้าสู่วิกฤต 3 ข้อ 1.ถ้าส.ส.ประชาธิปัตย์ไม่ลาออกหมดทั้งพรรคจนรัฐบาลยุบสภา บ้านเมือง ก็จะไม่วุ่นวายขนาดนี้ ใช่หรือไม่ 2.ถ้าส.ส. ประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งไม่เป็นแกนนำปลุกม็อบป่วนเมืองและขัดขวางการเลือกตั้ง บ้านเมืองก็จะไม่วุ่นวายขนาดนี้ ใช่หรือไม่ 3.หากส.ส.ประชาธิปัตย์ส่วนที่เหลือไม่บอยคอตและลงเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย บ้านเมืองก็จะไม่วุ่นวายขนาดนี้ ใช่หรือไม่
นายพานทองแท้กล่าวว่า หากนายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ใช่" และมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์สามารถ ทำสำเร็จได้ 100% หากยอมรับว่าทุกข์ของประชาชนทุกวันนี้เกิดจากอะไร ก็ดับที่สาเหตุแห่งทุกข์ ตนเชื่อว่านายอภิสิทธิ์สามารถหาทางออกให้ประเทศไทย หากตอบว่า "ไม่ใช่" หรือตอบแบบเล่นลิ้น โยนความผิดให้คนอื่น ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ล้มเหลวแน่นอน และการนำเสนอทางออกจะเป็นเพียงการหาเสียงล่วงหน้า เป็นการซื้อเวลาเพื่อรอให้องค์กรอิสระชี้ประเด็นหรือ ไม่ก็รอเวลาเพื่อให้สถานการณ์สุกงอม จนกระทั่งมีการปฏิบัติการบางอย่าง ไม่ต้องไปอาสาทำอะไรนอกหน้าที่ ไม่ต้องทำตัวเป็นคนกลางเดินสายพบใครให้เสียเวลา และไม่ต้องนำเสนออะไรให้มันเยิ่นเย้อเพราะประเทศชาติเสียหาย เสียเวลาและบอบช้ำมามากพอแล้ว เพียงแต่กวักมือเรียกส.ส.กลับพรรคและเดินหน้าเลือกตั้ง เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา เท่านี้บ้านเมืองก็สงบแล้ว
กกต.หารือ 6 พ.ค.
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า กกต.คงไม่พิจารณาข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เนื่องจากข้อเสนอมาในจังหวะเวลาที่ กกต.ได้ประชุมร่วมกับรัฐบาลเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งไปแล้ว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลที่ต้องคิด พิจารณาและตัดสินใจเองว่าจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. 2557 ซึ่งอาจสำเร็จหรือเป็นปัญหาก็ได้ หรือจะเลือกแนวทางที่นายอภิสิทธิ์เสนอให้มีการชะลอการเลือกตั้งไปก่อนระยะหนึ่ง โดยมีรัฐบาลกลางมารักษาการเพื่อปฏิรูปกลไกการจัดการเลือกตั้งร่วมกับ กกต.ก่อน
นายสมชัย กล่าวว่า หากรัฐบาลเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นประโยชน์ก็ควรประกาศท่าทีต่อสาธารณะ และนัดหมาย กกต.เพื่อชะลอการทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระราชกฤษฎีกา แต่หากไม่มีท่าทีใดๆ กกต.ก็จะนำร่างพระราชกฤษฎีกาส่งถึงรัฐบาลวันที่ 6 พ.ค. อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ที่ กกต.ท่านใดท่านหนึ่งอาจนำข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์เข้าสู่ที่ประชุมเช้าวันอังคารที่ 6 พ.ค. คงต้องรอผลการประชุมที่เป็นทางการวันนั้นอีกที
ปชป.ขู่ไม่รับ-ครึ่งเดือนหลังรุนแรง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการวิจารณ์ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ไม่สามารถทำได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ทำลายประชา ธิปไตยรุนแรงและไม่ใช่เรื่องใหม่ ว่า ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์มีนักกฎหมายระดับสูงให้คำแนะนำ รวมทั้งมีผู้พิพากษาอาวุโสตั้งกลุ่มขึ้นมาแนะนำด้วย ตนเป็นคนนำเรื่องนี้ไปหารือเอง มีการแนะนำว่าแนวทางนี้ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย และทั้งหมดมีการพิจารณาอย่างดีแล้วว่าไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ส่วนความมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับนั้นเราเป็นเพียงผู้ชี้แนะตามหลักเหตุผล เป็นการชี้ทางเดินให้เท่านั้น การที่คนในพรรคเพื่อไทยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ขอตอบโต้เพราะเราทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว คนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่มีปัญหาไม่ขัดข้องอะไร
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า หากไม่รับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์เชื่อว่าหลังกลางเดือนพ.ค.นี้ เหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก อาจมีความรุนแรงเกิดขึ้น มีการบาดเจ็บล้มตาย ทหารก็อาจออกมาแยก 2 ฝ่ายออกจากกัน ทหารต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง การรัฐประหารก็มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น และทหารอาจจะประกาศใช้กฎอัยการศึก สำหรับสถาบันสูงสุดและศาลจะได้รับความกระทบกระเทือน
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลเดินหน้าเลือกตั้งนั้นก็เป็นสิทธิ หากไม่เห็นแก่ประเทศชาติก็แล้วแต่รัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ ก็หมดหน้าที่แล้ว ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จะลงเลือกตั้งหรือไม่ขณะนี้ยังไม่พูดคุยกัน พรรคจะลงต้องมีเงื่อนไขคือการเลือกตั้ง ต้องเรียบร้อย ไม่มีความรุนแรงและต้องมีหลักประกันสำหรับประชาชนว่าประเทศจะได้รับการปฏิรูป ถ้า 2 เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องทบทวนท่าที ต้องชั่ง น้ำหนักก่อนว่าจะยอมหายไปจากประเทศ หรือจะลงเลือกตั้ง สมาชิกพรรคต้องช่วยกันทบทวนว่าเราจะเดินไปในทิศทางใด
นักวิชาการหนุนเดินหน้าลต.
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า แนวทางที่นายอภิสิทธิ์เสนอ แม้อาจมองได้ว่าเป็นความหวังดีแต่ก็มีเนื้อหาที่ขัดแย้งต่อหลักการทางรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 4 ประการ คือ 1.ข้อเสนอที่ให้ชะลอการเลือกตั้งออกไปอีกครึ่งปี พร้อมสร้างสภาวะมีรัฐบาลชั่วคราวที่ไม่ได้รับการยอมรับและไม่มีอำนาจเต็มต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนและความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงและถูกลากยาวออกไป จึงอยากฝากให้ กกต.เร่งส่งพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็ว ระหว่าง 2 เดือนก่อนถึงวันที่ 20 ก.ค.ก็สามารถช่วยกันเดินหน้าทำข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์บางข้อไปก่อนได้ โดยที่ไม่ต้องรอ ลากยาวไปอีกเป็นครึ่งปีกว่าจะมีการเลือกตั้ง
2.การเสนอให้รัฐบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวลาออก แล้วให้ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่สรรหารัฐบาลใหม่ เท่ากับเป็นการปล้นอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปไว้ กับคน ไม่กี่คน การอ้างหลักการจารีตประเพณีไม่อาจอ้างได้เพราะสิ่งที่จะถือว่าเป็นจารีตประเพณี ในทางกฎหมายจะต้องมีการปฏิบัติสม่ำเสมอ และยอมรับความผูกพัน โดยทั่วกัน มิใช่เป็นกรณีที่เคยทำเป็นครั้งคราวในอดีต และต้องไม่ขัดหรือแย้งที่บทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่มีความชัดเจนอยู่แล้ว
มัดมือชกประชาชน
3.การทำประชามติโดยอาศัยข้อเสนอสภาปฏิรูปที่จัดทำโดยเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ร่วมกับ กปปส.นอกจากมีปัญหาในเรื่องข้อกฎหมายการทำประชามติแล้ว ยังเป็นเสมือนการมัดมือชกประชาชน เพราะเนื้อหาของประชามติได้ถูกตีกรอบโดยผู้ที่ไม่ได้รับอาณัติจากประชาชนและไม่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญรองรับ จะยิ่งทำให้การทำประชา มติดังกล่าวขาดความชอบธรรมและยิ่งทำให้ความขัดแย้งบานปลาย 4.การสร้างเงื่อนไขให้ กกต. (หรือศาล) มีอำนาจใช้ดุลพินิจยุบพรรคที่ไม่สนับสนุนการปฏิรูป ย่อมกระทบถึงฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เท่ากับมอบอำนาจให้องค์กรอิสระหรือตุลาการเข้ามาครอบงำกระบวนการปฏิรูปประเทศ เป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจอันเป็นหัวใจของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ก็ยังมีส่วนที่ดีก็คือ การให้ กกต.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้การเลือกตั้งโปร่งใสและรัดกุมมากขึ้น รวมถึงการเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการออกแบบวาระปฏิรูป และการใช้วิธีประชามติ
ซัด'มาร์ค'เล่นขายของ
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่ไม่ต่างจากข้อเสนอของกลุ่ม กปปส. แค่นำมาประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่ ที่แย่คือนายอภิสิทธิ์ให้ความหวังกับสังคมไว้ว่าจะเสนอนวัตกรรม ที่มีความแตกต่างเป็นทางออก เมื่อข้อเสนอออกมาแล้วไม่แตกต่างจึงไม่ใช่ทางออก ทำให้ล้มละลายเหมือนเดิม ไม่รู้ว่านายอภิสิทธิ์จะไปเสียเวลาเดินสายพบใครต่อใครทำไม เพราะเดินสายแล้วก็มาประดิษฐ์ถ้อยคำ นิดหน่อย และข้อเสนอก็ยังไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วย เช่น ให้มีการเลือกตั้งภายใน 150-180 วัน ปกติตามกฎหมายกำหนด คือ 45-60 วัน, ประธานวุฒิสภาเป็นผู้เลือก นายกฯ และคณะรัฐมนตรี ทั้งที่ประธานวุฒิสภาไม่ได้ทำหน้าที่นั้น ใช้อำนาจอะไร และไม่มีส.ส. กฎหมายระบุว่านายกฯ ต้องมาจากส.ส.แล้วจะเลือกกันได้อย่างไร ข้อเสนอนี้จึงเป็นไปไม่ได้
นายสมบัติ กล่าวว่า หลายข้อติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายแทบทั้งหมดเลย จึงเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ประชาชนไม่ได้เห็นความหวังอะไร เป็นเรื่องน่าประหลาดเหมือนเล่นขายของ ส่วนข้อเสนอที่บอกว่าให้ กกต.แก้ระเบียบการเลือกตั้งนั้น บอกมาเลยดีกว่าให้แก้อะไรที่เป็นปัญหา พูดให้เป็นรูปธรรม พิจารณาข้อเสนอทั้งหมดยังไม่เห็นเลยว่าจะมีข้อไหนเข้าท่า ทำไมต้องออกมาทำว่าตัวเองหาทางออกให้แล้วทั้งที่เป็นทางออกเดียวกับที่นายสุเทพทำ ซึ่งไม่ใช่ทางออกแต่เป็นทางตัน ข้อเสนอแบบนี้ไม่มีคุณค่าเลย เชื่อว่ารัฐบาลไม่มีทางตอบรับด้วยเพราะทำไม่ได้ตามกฎหมาย
รัฐประหารเงียบ
นายเอกชัย ไชยนุวัติ สมาชิกสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) กล่าวว่า ข้อเสนอปฏิรูปของนายอภิสิทธิ์ เป็นการเอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนคือการใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 มาเป็นตัวประกัน โดยอ้างเพื่อให้บ้านเมืองสงบและเดินหน้าได้ ที่นายอภิสิทธิ์ระบุชัดเจนว่าทุกพรรคควรลงเลือกตั้ง แปลว่าถ้าไม่ได้ดังใจตัวเองก็จะไม่ลงเลือกตั้งใช่หรือไม่ การเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก 18 เดือน ไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ ผมเขียนบทความว่า การเลื่อนการเลือกตั้งคือรัฐประหารเงียบอย่างหนึ่ง
นายเอกชัย กล่าวว่า มองว่าการปฏิรูปเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ ไม่ว่าจะพรรคไหนก็ตาม แต่ต้องทำผ่านการแก้รัฐธรรมนูญทั้งสิ้นเพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การปฏิรูปประเทศโดยอ้างว่าไม่แก้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปไม่ได้ ทั้งในทางกฎหมายและ ความจริง เมื่อดูข้อเสนอเพิ่มอำนาจ ให้ กกต.ในการออกระเบียบ ยุบพรรค ตลกมาก เพราะ กกต.ต้องใช้อำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดวิธีการยุบพรรคไว้แล้ว
ปฏิรูปต้องเห็นหัวประชาชน
นายเอกชัย กล่าวว่า การจะปฏิรูปประเทศไม่ต้องเอาประชาชนและการเลือกตั้งเป็น ตัวประกัน พรรคการเมืองทุกพรรครวมทั้งพรรคเพื่อไทยจะต้องเสนอ ณ วินาทีนี้ว่า จะปฏิรูปประเทศอะไรบ้าง ข้อเสนอของตนคือทุกคนช่วยกันเสนอ และผลักดันให้มีการปฏิรูปประเทศ หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี โดยเป็นพันธะผูกพันทาง การเมือง ตนเสนอต้องแก้รัฐธรรมนูญให้ได้ เสนอให้เห็นหัวประชาชน
อลงกรณ์ ติงรับฟังยังไม่ครบถ้วน
นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการเป็นประธานแจกทุนการศึกษาแก่บุตร ธิดา ชมรมช่างภาพการเมือง ถึงการเสนอแผนการเดินหน้าประเทศของนายอภิสิทธิ์ ว่า ทางออกสำคัญจะต้องเป็นทางออกของประเทศ ไม่ใช่ทางออกของพรรคประชาธิปัตย์ หรือของนายอภิสิทธิ์ หรือของใคร ขณะนี้ประเทศบอบช้ำมามากเหมือนอยู่ในหล่มของความขัดแย้ง เหมือนรถไฟตกราง เศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาปากท้อง ปัญหาการว่างงานกำลังรุนแรงมากขึ้น ต้องรีบหาทางออกทางการเมือง ตนเห็นด้วยกับที่แนวทางที่นายอภิสิทธิ์ออกมาเคลื่อนไหวที่จะหาทางออกให้กับประเทศ แต่เห็นว่าควรฟังความเห็นและหารือจากทุกฝ่ายให้ครบก่อน เช่น กปปส. และรัฐบาล จากนั้นจึงมาสรุปเป็นทางเลือก ไม่เช่นนั้นจะดูว่าขาดสารัตถะที่สำคัญไป
เมื่อถามว่า การประกาศเว้นวรรคทาง การเมืองของนายอภิสิทธิ์ คิดว่าทำถูกหรือไม่ นายอลงกรณ์กล่าวว่า คงเป็นความตั้งใจของนายอภิสิทธิ์ที่ต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่จะให้พรรคประชาธิปัตย์ขาดผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 อาจจะมีผลต่อสมาชิกในแง่ของขวัญกำลังใจ จึงอาจจะมีบุคคลที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ มาเป็นแทน และจะเป็นว่าที่นายกฯหากพรรคชนะการเลือกตั้ง
ปชป.ต้องกลับสู่เลือกตั้ง
ส่วนที่นายอภิสิทธิ์ ระบุหากทุกฝ่ายไม่รับข้อเสนออาจเสี่ยงต่อการมีปฏิวัติรัฐประหาร นายอลงกรณ์กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ อาจกังวลว่าถ้าสถานกาณ์การเมืองในเดือนพ.ค.นี้ คาดหมายว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น หาก ไม่รีบสรุปหาทางออกประเทศบนความต้องการของทุกฝ่ายอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือการเผชิญหน้า การนองเลือดและการรัฐประหาร ตนเชื่อว่าคนไทยไม่ต้องการเห็นความรุนแรง แต่ต้องการเห็นสันติวิธี และอยากเห็นการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ การปฏิรูปควรต้องทำไปพร้อมๆ กัน วาระเร่งด่วนของการปฏิรูปคือเรื่องการปฏิรูประบบและวิธีการเลือกตั้ง สามารถทำได้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง และเมื่อเลือกตั้งแล้วรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งก็จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่หารือกันไว้ก่อนมีการเลือกตั้งจะต้องทำอะไรบ้าง
"ผมได้เสนอแนวทางให้กับพรรคไปแล้วตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.ว่าพรรคจะต้องกลับสู่การเลือกตั้ง จะต้องเป็นหลักของประชาธิปไตย โดยต้องนำเสนอข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปพร้อมไปกับการเลือกตั้ง ทั้งก่อนและ หลังต้องมีการปฏิรูป เพราะบางเรื่องคงไม่สามารถแก้ไขให้จบลงโดยเร็วได้ ส่วนในเรื่องการกำหนดวันการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะประเทศต้องการความชัดเจน จะได้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ หลังประเทศถูกทำลายความเชื่อมั่นมานาน" นายอลงกรณ์กล่าว
กลุ่มเที่ยงตรงชูเลือกตั้ง 20 ก.ค.
เวลา 17.00 น. บริเวณท่าน้ำนนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี นางพัชนี ธนาพรสิน ผู้ประสานงานกลุ่มเที่ยงตรงร่วมกับกลุ่มคนนนท์รักษ์ประชาธิปไตย จัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนให้ออกมาร่วมเเสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง ด้วยการลงประชามติ (จำลอง) เลือกนายกฯ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยจำลองเเบบการเลือกตั้งทุกขั้นตอน หากต้องการนายกฯคนกลางให้กาหมายเลข 1 ถ้าต้องการนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งให้กาหมายเลข 2 ผลปรากฏว่า นายกฯคนกลางได้ 58 คะเเนน คิดเป็น 7.42 เปอร์เซ็นต์ นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งได้ 710 คะเเนน 90.90 เปอร์เซ็นต์ บัตรเสีย 13 ใบ
นางพัชนี กล่าวว่า ปัจจุบันไทยตกอยู่ในสภาวะความขัดเเย้งต่อเนื่อง จนมีการเเทรกเเซงด้วยการนำเสนอให้มีนายกฯคนกลางโดยอ้างว่าเพื่อต้องการเเก้ไขความขัดเเย้ง กลุ่มเที่ยงตรงจึงอยากให้ประชาชนสะท้อนความคิดผ่านการทำประชามติจำลองให้ กกต. เห็นถึงความต้องการของประชาชน ทั่วประเทศว่าประชาธิปไตยที่เเท้จริงต้องมาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้นนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ขอให้มีการจัดการ เลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.ให้ได้
นางพัชนี กล่าวว่า การทำประชามติจำลองทางกลุ่มจะสัญจรไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ หลังจากครั้งเเรกจัดที่ด้านหน้าสวนเบญจสิริ สุขุมวิท24 ได้รับผลตอบรับดีมาก มีผู้มาร่วมลงคะเเนนจำนวนมาก มีผู้ลงคะเเนนเลือกนายกฯคนกลาง 36 คะเเนน คิดเป็น 4.09 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคะเเนนนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งได้ 830 คะเเนน คิดเป็น 94.32 เปอร์เซ็นต์ บัตรเสีย 14 ใบ การจัดทำประชามติจำลองครั้งต่อไปมีที่ จ.สมุทรปราการเเละจ.ขอนเเก่น เสนอตัวเเล้ว รอตัดสินใจอีกครั้ง
มาร์คชงปฏิรูป 18 เดือน จี้'ปู'ไขก๊อก ตั้ง'นายกฯเฉพาะกาล' ชัยเกษมลั่นรบ.ไม่รับ จับตางดใช้มาตรา181 เขี่ยครม.พ้นรักษาการ 'สมชัย'เมิน-ช้าไปแล้ว
"มาร์ค"โชว์ - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงแผนเดินหน้าประเทศไทย "ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ" หลังจากเดินสายและรับฟังข้อเสนอทางออกประเทศจากทุกฝ่าย ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม |
'อภิสิทธิ์'ประกาศแผนปฏิรูปประเทศ 10 ขั้นตอน ให้นายกฯ-ครม.ลาออก ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 'นิพิฏฐ์'ปูดพิพากษาอาวุโสเป็นกุนซือ 'ปู'ย้ำรักษาการจนกว่ามี รบ.ใหม่
|
'อภิสิทธิ์'ปัด'แช่แข็งประเทศ-ฉีกรัฐธรรมนูญ'ยันต้องการหาทางออกประเทศ-ถามคนวิจารณ์มีข้อเสนอดีกว่านี้?
เมื่อเวลา 17.10 น. วันที่ 4 พฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว'Abhisit Vejjajiva' โดยระบุว่า เดินหน้า "แผนเดินหน้าประเทศไทย"ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ให้ความสนใจ ให้กำลังใจ และสนับสนุนแผนที่นำเสนอขอย้ำอีกครั้งว่าแผนนี้ยึดหลักกฎหมาย หลักประชาธิปไตย และประโยชน์ของประเทศ ไม่มีผลประโยชน์ของใครรวมทั้งเข้าไปเกี่ยวข้อง หากสำเร็จบ้านเมืองก็จะสงบ ไม่มีนองเลือด ไม่มีปฏิวัติ ไม่นำสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลเข้าสู่ความขัดแย้งเพียงแต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะสละตำแหน่ง 5- 6 เดือนเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่เรียบร้อย ส่วน กปปส.ต้องยอมรับการได้การปฏิรูปด้วยวิธีการที่ต่างไปจากที่เสนอ
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า อยากให้ทุกคนที่ห่วงใยบ้านเมืองเหมือนตน ออกมาช่วยกันขับเคลื่อนการหาทางออกให้บ้านเมืองกันต่อ เพราะก่อนที่จะเคลื่อนไหวเพื่อเสนอแนวทางหาทางออกให้ประเทศไทย มีหลายภาคส่วนที่มีเจตนาดีต่อบ้านเมืองได้เสนอความเห็นที่จะนำประเทศหลุดพ้นจากความขัดแย้ง แต่มักจะยุติการเคลื่อนไหวลงหลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายด้านตามมา นึกถึงที่ประชุมอธิการบดีที่เสนอเมื่อต้นเดือนธันวาคมให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อตั้งรัฐบาลคนกลางมาปฏิบัติหน้าที่แทนให้ประธานวุฒิสภาเสนอรายชื่อทูลเกล้าและรับสนองพระบรมราชโองการซึ่งเป็นจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติมาแล้วและอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ
นายอภิสิทธิ์ ระบุต่อว่า นึกถึง 7 องค์กรเอกชนที่เคยเสนอให้ปฏิรูปประเทศทันทีก่อนการเลือกตั้ง ให้นักการเมืองคู่ขัดแย้งเจรจายึดประโยชน์ชาติ แสดงความจริงใจต่อการปฏิรูป โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีวาระ 1 ปี มีภารกิจต้องสนับสนุนการปฏิรูปประเทศ นึกถึง เครือข่าย”สองเอา สองไม่เอา 'รวมพลังกลุ่มต่างขั้ว หาทางออกประเทศไทย' เสนอแนวทาง ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาความรุนแรง เอาเลือกตั้ง เอาการปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย และจำได้ว่าเมื่อวันที่ 16 มกราคม หลายองค์กรประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี เสนอให้ปฏิรูปทันที เลื่อนการเลือกตั้ง มีหลักประกันการปฏิรูป และให้นายกฯ ลาออกเปิดทางให้มีรัฐบาลคนกลางมาทำหน้าที่ รวมไปถึงที่ 6 องค์กรอิสระ เสนอทางออกประเทศ ให้รัฐบาลและกปปส.เสนอชื่อคนกลางแก้ขัดแย้ง และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ปลัดกระทรวงยุติธรรมในฐานะคณะทำงานเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป เสนอเดินหน้าปฏิรูปเลือกตั้งเฉพาะกิจ 1 ปี โดยระบุว่าไม่มีประโยชน์ที่จะเลือกตั้งบนความขัดแย้ง
“ขอสื่อสารไปยังทุกองค์กรเหล่านั้นได้พิจารณาแผนทางออกประเทศไทยว่าตรงกับแนวทางที่พวกท่านเห็นว่าเป็นทางออกให้กับประเทศหรือไม่หากเห็นว่าหลักการไม่มีปัญหา ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ก็ขอให้ทุกท่านแสดงออกเพื่อเป็นพลังทางสังคมเดินหน้าประเทศไทยร่วมกัน แน่นอนอีกด้านหนึ่งแผนของผมย่อมได้รับการวิจารณ์ติติงด้วยเป็นธรรมดาซึ่งรับฟังเสมอ แต่วันนี้อยากให้ผู้วิจารณ์เสนอทางออกที่ดีกว่าด้วย”หัวหน้าปชป.ระบุ
นายอภิสิทธิ์ ทิ้งท้ายว่า คำวิจารณ์ส่วนหนึ่งมุ่งไปที่ข้อกฎหมายซึ่งอาจเห็นต่างกันได้ แต่ยืนยันว่าแผนดังกล่าวยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด กรณีใดที่เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีบทบัญญัติก็ยึดตามเจตนารมณ์และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้ประเทศเดินหน้าได้ไม่มีการ'ฉีกรัฐธรรมนูญ'หรือการ 'แช่แข็งประเทศ'แน่นอน สำหรับบรรดานักการเมืองที่ออกมาโจมตีนั้น ไม่ขอตอบโต้แต่รอข้อเสนอจากท่านเหล่านั้นที่ไม่ใช่เรื่องเดิมๆ ที่พาประเทศมาอยู่จุดนี้และถ้าเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้ประโยชน์ด้วยจะยิ่งดี