WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สนช.โหวตชิง 5 กมธ.วันนี้ ล็อบบี้คึก สปช.ฝุ่นฟุ้ง-ครบ 20 ที่นั่ง 4 ภาค'ต่อรองแบ่งเก้าอี้'ชัยอนันต์"สอบตกหวิว'พรเพชร'จัดวาระฟัน'ปู'นัดถกถอดถอน 12 พย. ขุนค้อน-นิคมลุ้น 6 พย.

หย่อนบัตร - สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เดินหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกตัวแทนสมาชิก สปช. เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วน 20 คน ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม


    สปช.โหวตลับเลือก 20 กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ห้ามสื่อซูมภาพลงคะแนน'ไพบูลย์-คำนูญ-จรัส'เข้าป้าย'ชัยอนันต์-ตรึงใจ-อุดม'วืด

@ บิ๊กตู่สั่งศธ.เตรียมภาษารับเออีซี 

       เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 ตุลาคม ที่ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2557 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวงเข้าร่วม ก่อนการประชุมนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ โดยให้ความสนใจนิทรรศการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาอบรมภาษาเพื่อนบ้าน เพื่อนำกลับมาสอนให้กับเยาวชนและคนไทย และให้จัดอบรมภาษาอังกฤษเพิ่มศักยภาพให้ผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้ยังเเสดงความเป็นห่วงกรณีการเปิดประชาคมอาเซียนจะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานคุณภาพจากไทยออกนอกประเทศ จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการจัดหาแนวทางป้องกันด้วย

    "วันนี้มาไล่ปัญหาของแต่ละกระทรวง ครั้งนี้มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพ และในครั้งหน้ากระทรวงมหาดไทยก็จะเป็นเจ้าภาพ โดยจะหมุนเวียนไปทุกๆ กระทรวง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ "บิ๊กตู่"แจง"บิ๊กป้อม"ไปจีน

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า พล.อ.ประวิตรและคณะไปทำงานในหลายเรื่อง เช่น ไปดูในการช่วยเหลือเรื่องข้าว เพราะ พล.อ.ประวิตรมีความคุ้นเคย ในฐานะที่เคยเป็นผู้นำทางทหารและรู้จักกันมาก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปตกลงและตัดสินใจเองในเรื่องต่างๆ ทั้งหมด พล.อ.ประวิตรไปครั้งนี้ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งทางรัฐบาลจีนคงจัดรองนายกรัฐมนตรีให้มาพบปะพูดคุยกัน 

      เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรจะมีโอกาสได้พบปะกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังอยู่ระหว่างท่องเที่ยวที่จีนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "จะไปเกี่ยวกันได้อย่างไร จะไปคุยอะไร จะไปคุยกับเขาทำไม ไม่เจอหรอก ไปเจอกันไม่ได้อยู่แล้ว และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องห้าม เขารู้ถึงความเหมาะสม เป็นผม ผมก็ไม่เจอ แม้จะบอกว่าเจอเพราะพักโรงแรมเดียวกันผมก็ไม่เจอ ผมเจอไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ ชวน"แม้ว"กลับมาสู้คดี 

       เมื่อถามว่า ถ้าเจอแล้วจะได้เคลียร์ปัญหาไปเลยทีเดียวได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "จะไปเคลียร์เรื่องอะไร เคลียร์เรื่องกฎหมายได้หรือ กฎหมายคือกฎหมาย มีไว้บังคับใช้กับคนทั้งประเทศนี้ ถ้าผมไปเคลียร์คนนี้ แล้วคนอีกทั้งประเทศล่ะ แล้วต้องยกโทษให้กับนักโทษอีกเท่าไร และผมก็คงไม่ไปเกลี้ยกล่อมใคร ที่ผ่านมาผมก็บอกว่าทุกคนสามารถกลับมาได้ทั้งหมด ใครจะกลับก็กลับ กลับมาก็เข้าสู่กระบวนการเท่านั้นเอง หรือจะมีวิธีการอื่นผมก็ไม่รู้ เพราะไม่ใช่เรื่องของผม เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม"

     เมื่อถามว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณต้องการต่อสายตรงกับนายกรัฐมนตรีเพื่อเจรจากลับมาสู้คดีพร้อมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ต้องมาสายตรงกับผมเลย ก็ขึ้นเครื่องบินกลับมาเลย ไม่ต้องมาสายตรง มีเจ้าหน้าที่ดูแลกันอยู่แล้ว จะได้สงบสุข"

@ "บิ๊กป้อม"ควง"สมคิด"เยือนจีน 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรพร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะ ได้แก่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายธีรัชย์ อัตนวานิช ผู้อำนวยการสำนักบริหารการระดมทุนโครงการลงทุนภาครัฐ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นต้น เดินทางเยือนจีนเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม มีกำหนดเข้าพบหารือกับหัวหน้าคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานของจีน พร้อมเยี่ยมชมกิจการด้านการขนส่งระบบราง โครงการกำจัดขยะ โดยคณะของ พล.อ.ประวิตรจะเดินทางกลับวันที่ 31 ตุลาคมนี้

@ "บิ๊กตู่"ขอเขมรคุมกลุ่มเคลื่อนไหว

       พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์ในการเดินทางเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม ซึ่งอาจมีการหารือเกี่ยวกับผู้ต้องคดีของไทยที่หลบไปอยู่ในกัมพูชาว่า พูดกันอยู่แล้ว และเรื่องนี้ได้พูดไปแล้ว กัมพูชาก็บอกว่าจะดูแลให้ไม่มีปัญหา ที่ผ่านมาก็มีการพระราชทานอภัยโทษนายวีระ สมความคิด และนางราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ สองแกนนำภาคีเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติกลับมาแล้ว 

       เมื่อถามว่า กลุ่มการเมืองที่หลบหนีไปอยู่ที่กัมพูชา ทางการข่าวรายงานหรือไม่ว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องไปถามรายละเอียดก่อน เพราะหน่วยข่าวกรองมีรายละเอียด และเคยมีการขอร้องกับรัฐบาลกัมพูชาไปแล้วว่าอย่าให้มีการเคลื่อนไหวอะไรอีก การเคลื่อนไหวต่างๆ ยังมีผ่านทางโซเชียลมีเดียบ้าง ซึ่งสามารถทำที่ไหนก็ได้ ในด้านการข่าวมีรายละเอียดทั้งหมด 

@ ร่วมเซ็นเอ็มโอยู 2 ประเทศ

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม มีภารกิจสำคัญได้แก่เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และหารือข้อราชการกับสมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา พร้อมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและกัมพูชา ว่าด้วยการขจัดการค้าเด็กและหญิง และการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ 2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ และ 3.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

@ "จ้อน"ยันไม่มีบล็อกโหวตกมธ. 

      เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูป หรือวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวก่อนร่วมประชุม สปช. เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนสมาชิก สปช. เข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วน 20 คนว่า มีสมาชิก สปช.ยื่นใบสมัครเข้ามาทั้งสิ้น 34 คน มีสัดส่วนครบทั้ง 11 สาขาปฏิรูป และรายจังหวัดทั้ง 4 ภาค อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ามีผู้ขอถอนตัว 3 คน คือ นายอมรวิชช์ นาครทรรพ นางประภาภัทร นิยม และนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โดยนายเจิมศักดิ์ได้ขอถอนตัวจากการสมัครเป็น กมธ.ยกร่างฯ เพื่อจะเข้าไปเป็นกรรมาธิการสามัญประจำคณะต่างๆ ของ สปช. จึงเหลือผู้เสนอตัวคัดเลือก 31 คน 

    นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ในการลงคะแนนได้กำชับให้สมาชิกคำนึงถึงความหลากหลายในด้านปฏิรูปสาขาต่างๆ รวมถึงรายภาค และยืนยันว่าจะไม่มีการบล็อกโหวตอย่างแน่นอน ดังนั้น ผลการลงคะแนนจึงไม่สามารถการันตีได้ว่า 20 คนที่ถูกเลือกจะครบทุกสาขาหรือรายภาค ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะขาดบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคของการกำหนดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวมองว่าอาจตั้ง สปช.ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือ สปช. จากสาขาหรือภาคที่ไม่ได้รับเลือกเข้าไปเป็นที่ปรึกษา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น ประเด็นเรื่องทางเทคนิคที่สำคัญต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวลมากนัก

       ด้านนายเจิมศักดิ์กล่าวถึงเหตุที่ถอนตัว เพราะเห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถไปดำรงตำแหน่งเป็น กมธ.สามัญคณะอื่นๆ ใน สปช.ได้หรือไม่ จึงคิดว่าหากไปสมัครเป็น กมธ.ยกร่างฯและได้รับการคัดเลือก อาจถูกห้ามเป็น กมธ.สามัญ สปช.ในภายหลัง จึงพิจารณาขอถอนตัว

@ โหวตลับห้ามสื่อจับภาพ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภา สปช.เพื่อคัดเลือก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 14.00 น. โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้สมัครแนะนำตัวต่อที่ประชุมคนละ 2 นาที จากนั้นสมาชิก สนช.ได้ทยอยลงคะแนนด้วยวิธีเข้าคูหาลงคะแนนลับ หากผู้ได้รับเลือกมีคะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก ทั้งนี้ นายเทียนฉายได้กำชับช่างภาพทีวีที่อยู่ในห้องประชุมว่า ห้ามซูมกล้องไปที่คูหาขณะที่สมาชิกกำลังลงคะแนน เพื่อให้การลงคะแนนเป็นความลับ โดยที่ประชุมใช้เวลาลงคะแนนร่วม 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจนับคะแนนอีกเกือบ 1 ชั่วโมง จึงตรวจนับคะแนนเสร็จ

@ เคาะ 20 กมธ.สปช.จว.มาครบ 

      ต่อมานายเทียนฉายได้แจ้งผลการตรวจนับคะแนนสมาชิก สปช.ที่ได้รับเลือกเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 20 คนประกอบด้วย 1.นายมานิจ สุขสมจิตร ด้านสื่อมวลชน 222 คะแนน 2.นายประชา เตรัตน์ สปช.ชลบุรี 209 คะแนน 3.นางถวิลวดี บุรีกุล ด้านบริหารราชการแผ่นดิน 206 คะแนน 4.น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา ด้านสังคม 202 คะแนน 5.นายเชิดชัย วงษ์เสรี สปช.ภูเก็ต 198 คะแนน 6.พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สปช.ร้อยเอ็ด 197 คะแนน 7.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ด้านพลังงาน 195 คะแนน 8.นายจุมพล สุขมั่น สปช.เชียงราย 192 คะแนน 9.นายวุฒิสาร ตันไชย ด้านการปกครองท้องถิ่น 188 คะแนน 10.นายคำนูณ สิทธิสมาน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 182 คะแนน 11.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ด้านการเมือง 177 คะแนน

       12.นางทิชา ณ นคร ด้านการศึกษา 171 คะแนน 13.นางนรีวรรณ จินตกานนท์ ด้านเศรษฐกิจ 163 คะแนน 14.นายจรัส สุวรรณมาลา ด้านการปกครองท้องถิ่น 142 คะแนน 15.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ด้านการเมือง 125 คะแนน 16.น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 125 คะแนน 17.นายบัญฑูร เศรษฐศิโรตม์ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 122 คะแนน 18.นายชูชัย ศุภวงศ์ ด้านการเมือง 118 คะแนน 19.พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ ด้านอื่นๆ 118 คะแนน 20.นายมีชัย วีระไวทยะ ด้านการศึกษา 117 คะแนน จากจำนวนบัตรที่ลงคะแนน 239 คน ไม่มีบัตรเสีย และไม่มีการงดออกเสียง 

     นายเทียนฉาย แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอนัดประชุมวิป สปช.ชั่วคราวในวันที่ 30 ตุลาคม เวลา 09.30 น. ก่อนที่จะสั่งปิดประชุมในเวลา 18.20 น.

@ "ชัยอนันต์-ตรึงใจ-นันทวัฒน์"หลุด

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้สมัคร กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้รับการคัดเลือก ด้านการเมือง ได้แก่ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นางตรึงใจ บูรณสมภพ นายอมร วานิชวิวัฒน์ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง นายวรรณชัย บุญบำรุง ด้านการปกครองท้องถิ่น ได้แก่ นายไพโรจน์ พรหมสาสน์ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย ด้านอื่นๆ ได้แก่ นายนิรันดร์ พันทรกิจ

@ สายจว.เดินสายล็อบบี้ขอ4เก้าอี้ 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 20 คน ประกอบตัวแทน สปช.ครบทั้ง 11 ด้าน โดย สปช.ด้านการเมืองได้รับคัดเลือกเข้ามามากที่สุดจำนวน 3 คน รองลงมาคือด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านละ 2 คน ส่วนที่เหลือได้แก่ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านพลังงาน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านอื่นๆ ได้เข้ามาด้านละ 1 คน ขณะที่ สปช.จังหวัดได้รับเลือกเข้ามาครบทุกภาคทั้ง 4 คน 

        สำหรับ ผู้สมัคร สปช.สายจังหวัดได้รับเลือกเข้ามา 4 คน ได้แก่ นายประชา เตรัตน์ นายจุมพล สุขมั่น พล.ท.นคร สุขประเสริฐ และนายเชิดชัย วงษ์เสรี ก่อนหน้าการลงคะแนนกลุ่ม สปช.สายจังหวัดได้เดินสายล็อบบี้ขอคะแนนจาก สปช.ทั้ง 11 ด้าน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ให้ช่วยลงคะแนนให้ตัวแทน สปช.จังหวัดทั้ง 4 คน เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า สปช.ทั้ง 11 ด้านอาจจะไม่เลือก สปช.สายจังหวัดเข้าร่วมทั้ง 4 คน ทำให้นายประชา ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม สปช.ภาคต่างๆ ไปเจรจากับตัวแทน สปช. 11 ด้าน โดยมีเงื่อนไขว่า สปช.สายจังหวัดขอโควต้า 4 คน ส่วนที่เหลืออีก 16 คน จะยกให้เป็นโควต้าของ สปช. 11 ด้านไปเลือกกันเอง ซึ่งสามารถตกลงกันได้ สำหรับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 ที่ไม่ได้ลงสมัครตั้งแต่แรกนั้น น่าจะเป็นไปตามคาดหมายว่าจะเข้ามาเป็นประธาน กมธ.ยกร่างในโควต้าของ คสช.

@ คนหลุดอาจได้โควต้า"ครม.-คสช."

     นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.ด้านการเมือง กล่าวภายหลังได้รับเลือก กมธ.ยกร่าง ว่า สัญญาว่าจะใช้ความรู้ความสามารถเข้าไปร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญให้ตรงกับความต้องการของมวลมหาประชาชนตามที่ได้เคยสัญญาไว้แน่นอน ทั้งนี้ น่าแปลกใจว่าผู้สมัครบางคนกลับไม่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 20 กมธ.ยกร่าง อย่าง นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มากความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ เชื่อว่าโอกาสสำหรับสมาชิก สปช.ที่พลาดยังเปิดกว้าง อาจจะได้เข้ามาร่วม กมธ.ยกร่างในสัดส่วนของ ครม.กับ คสช.ก็เป็นได้ 

@ สนช.ส่งไลน์ขอเสียงนั่งกมธ.รธน. 

      ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ด้านความเคลื่อนไหวของสมาชิก สนช.ที่จะคัดเลือกตัวแทน สนช.กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ ปรากฏว่าผู้สมัครก็ได้มีการล็อบบี้เพื่อขอคะแนนเสียงจากสมาชิก สนช.เช่นกัน และยังมีการส่งข้อความทางแอพพลิเคชั่นไลน์ขอคะแนนเสียงด้วย ทั้งนี้มีการวางตัว สนช. เพื่อไปทำหน้าที่ดังกล่าว โดยใช้หลักเลือกตัวแทนกลุ่ม ได้แก่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต ส.ว.สรรหา เป็นตัวแทนสายทหาร ฝ่ายกฎหมาย มีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ กรรมการกฤษฎีกา นายปรีชา วัชราภัย กรรมการกฤษฎีกา และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ส่วนตัวแทนนักวิชาการ ที่มีนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ลงสมัครแข่งกับนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

@ "เต้น"เหน็บกลุ่มเนติบริกร

     นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า แม่น้ำ 5 สายเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยได้เกือบครบแล้ว ขาดเพียงรายชื่ออย่างเป็นทางการของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนตัวไม่ติดใจว่าจะมีคนในหรือคนนอกกี่คนในคณะนี้ เพราะเชื่อว่ากลุ่มที่จะมีบทบาทจริงๆ ในการวางพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญให้ได้ตามโจทย์ของ คสช.คือคนในกลุ่มเนติบริกรอยู่แล้ว ต้องการแบบไหนจัดให้ไม่ผิดหวัง แต่ที่ประหลาดใจอยู่บ้างคือ หากรัฐประหาร 49 "เสียของ" รัฐธรรมนูญ 50 ก็เป็นเหตุสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้ "ของเสีย" ไม่ได้ติเรือทั้งโกลน ติโขนก่อนทรงเครื่อง แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ในฐานะประชาชน

      "ฉบับที่แล้ว น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯ พอเห็นทุกมาตราก็มีคนตั้งฉายาว่าฉบับหน้าแหลมฟันดำ เที่ยวนี้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ชื่อเล่นปื๊ด ถ้าออกมาสวยสดงดงาม คนอาจเรียกว่าฉบับ "อาจารย์ปื๊ด" หรือ "ท่านปื๊ด" หรืออาจจะ "พี่ปื๊ด" แต่ถ้าออกมาเพื่อทำลายใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือขัดหลักการประชาธิปไตยจนคนทำใจรับไม่ไหว กลัวใครเขาจะตั้งฉายาว่าฉบับ "ไอ้ปื๊ด" สาธุขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย" นายณัฐวุฒิระบุ

@ สนช.เคาะ 5 กมธ.รธน.30 ต.ค.

       ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สนช. 5 คน มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทั้งสิ้น 11 คน เพื่อเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.ลงมติเลือกให้เหลือ 5 คน ในวันที่ 30 ตุลาคม โดยผู้ได้รับการเลือกทั้ง 5 คน จะต้องเป็นผู้เสียสละในการทำหน้าที่ทั้ง สนช.และ กมธ.ยกร่างฯ อีกทั้งยังต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย 

@ สมลักษณ์ชี้ศาลนั่งกุนซือไม่เหมาะ

      ด้าน น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีนายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่านายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา แสดงจุดยืนว่าผู้พิพากษาต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ต้องไม่เข้าร่วมกิจการใดๆ อันกระทบต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา หลังมีกระแสข่าวว่าผู้พิพากษาจะไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี สนช. หรือ สปช. ว่า เห็นด้วยกับประธานศาลฎีกาอย่างยิ่ง เพราะศาลมีอำนาจในการพิจารณาคดี เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ ขณะที่ สปช.เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร เหมือนเป็นนักการเมืองกลายๆ หากไปนั่งเป็นที่ปรึกษาให้ สปช. แล้วถ้า สปช.มีปัญหาอะไรขึ้นมาอาจลำบากใจหากจะต้องเอาผิด นอกจากนี้ ประมวลจริยธรรมและข้อบังคับของผู้พิพากษาก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้พิพากษาไม่ควรนั่งในตำแหน่งดังกล่าว ทั้งนี้ก็เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลาง 

     "หากจะอ้างว่าเวลานี้เป็นเวลาที่ปกติ อ้างแบบนั้นไม่ได้ เพราะในเมื่อยิ่งเป็นเวลาที่ไม่ปกติ คนที่เข้ามาก็มาจากการสรรหา และ สปช.ไม่ได้มาจากพี่น้องประชาชน หรือไม่ได้มาจากกระบวนการทางประชาธิปไตย หากผู้พิพากษายังไปนั่งเป็นที่ปรึกษาให้ สปช.อีก ประชาชนคงจะขาดที่พึ่งในเรื่องของการอำนวยความยุติธรรมแล้ว" น.ส.สมลักษณ์กล่าว

       แหล่งข่าวจากศาลยุติธรรมให้ความเห็นกรณีดังกล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีเสนอชื่อผู้พิพากษาเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเสนอชื่อผู้พิพากษาเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ยังไม่ได้ประชุมหรือพิจารณาแต่อย่างใด โดยจะนัดประชุมในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้

      แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการประชุม ก.ต.จะถือมติเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก หาก ก.ต.มีมติไม่เห็นชอบ แม้ว่าจะมีการประกาศแต่งตั้งผู้พิพากษาไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีแล้วก็ตาม ผู้พิพากษาคนดังกล่าวควรปฏิบัติตามมติของ ก.ต. โดยจะต้องยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาต่อรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

@ "พรเพชร"ชงถอด"ปู"12พ.ย.

      นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากปัญหาโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และส่งสำนวนมาให้ สนช. เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า มีเอกสารประกอบหลายร้อยหน้า ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีพฤติกรรมจงใจกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 178 ขัดต่อ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน 2534 มาตรา 11(1) และขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 58

     นายพรเพชร กล่าวว่า ตนและวิป สนช.ได้พิจารณาอย่างละเอียดแล้วเห็นว่า แม้สำนวนจะอ้างฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกเลิกไปแล้ว แต่สำนวนถอดถอนนี้ยังได้อ้างฐานความผิดตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน 2534 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ที่ยังคงบังคับใช้อยู่ ดังนั้น จึงสั่งบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุม สนช.นัดพิเศษ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาต่อไป

@ ชี้"ปู"เข้าข่ายผิดกม.ป.ป.ช.

     ส่วนกรณีถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายพรเพชรกล่าวว่า เนื่องจาก สนช.ยังคงสงสัยในฐานความผิดของสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม เพราะอ้างความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยกเลิกไปแล้ว วิป สนช.จึงมีมติให้นำเข้าสู่การประชุม สนช.ในวันที่ 6 พฤศจิกายนว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจ สนช.หรือไม่

      เมื่อถามว่า กรณีการถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ ต่างจากกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างไร นายพรเพชรกล่าวว่า กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ตรวจสอบแล้วเห็นว่า คำร้อง ข้อกล่าวหา ฐานความผิดนั้นครบถ้วน เพราะยังมีฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ยังบังคับใช้อยู่ ซึ่งดำเนินการไปตามข้อบังคับ แต่กรณีนายนิคมและนายสมศักดิ์ ยังไม่ชัดว่าสามารถดำเนินการตามข้อบังคับได้หรือไม่ ต้องขอความเห็นจากที่ประชุมในวันที่ 6 พฤศจิกายนก่อน ทั้งนี้ยืนยันว่า ไม่มีประเด็นใดต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และการทำงานของ สนช.ไม่ได้ยืดเยื้อ 

      นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ในวันที่ 6 พฤศจิกายน น่าจะได้ข้อสรุปว่าจะรับสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคมไว้ดำเนินการหรือไม่ หากรับไว้ การจะถอดถอนได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเสียงของ สนช. เพราะจะต้องได้คะแนน 132 เสียง หรือ 3 ใน 5 จึงจะสามารถถอดถอนได้

@ ชิ่งหัวโต๊ะกนข.เอาผิด"ปู"ไม่ง่าย

      เมื่อถามว่าสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสมชายกล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาของนายพรเพชร จากนั้นคงจะมีการนำเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งการทุจริตจำนำข้าวสร้างความเสียหายอย่างมาก ป.ป.ช.ควรนำคนที่มีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายนี้มาดำเนินคดีอาญาทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การจะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ป้องกันตัวเองตั้งแต่ต้นโดยการไม่เข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) มอบหมายให้คนอื่นเป็นประธานการประชุมแทน จึงต้องพิจารณาว่าจะสามารถเอาผิดได้หรือไม่ และเห็นว่าโทษถอดถอนซึ่งมีผลทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีนั้น เป็นโทษทางการเมือง แต่ในเรื่องคดีอาญา หาก ป.ป.ช.ส่งฟ้องก็น่าจะเอาผิดได้

@ ทนายปูติงสำนวนไม่สมบูรณ์

     นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาทีมกฎหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า หวังว่า สนช.จะพิจารณากรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์เทียบเคียงกรณีของนายสมศักดิ์ที่มี สนช.บางส่วนเห็นว่าไม่สามารถถอดถอนได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ยกเลิกแล้ว และหาก สนช.รับพิจารณา ก็เห็นว่าขณะนี้สำนวนคดีดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติในเชิงพยานหลักฐาน เพราะคดีอาญาที่ ป.ป.ช.ยื่นให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น อัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.ก็ยังต้องตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช.ยังไม่มีข้อยุติ แม้ ป.ป.ช.พยายามโต้แย้งคดีถอดถอนเป็นคนละเรื่องกับคดีอาญา แต่เรื่องนี้ ป.ป.ช.ได้รวมคดีถอดถอนกับคดีอาญามาตั้งแต่ต้น แต่พอถึงเวลานี้กลับมาแยก ทั้งที่พยานหลักฐานและเอกสารเป็นชุดเดียวกัน

      "เวลานี้อัยการสูงสุดชี้ข้อไม่สมบูรณ์มา ก็เท่ากับหลักฐานที่ ป.ป.ช.ส่งไปยัง สนช.ก็ไม่สมบูรณ์ หาก สนช.ถอดถอน ก็เท่ากับผลของการถอดถอนไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย" นายพิชิตกล่าว และว่า แม้ สนช.บางฝ่ายบอกว่าสามารถนำกฎหมาย ป.ป.ช.มาใช้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ก็ตาม แต่ที่มาของกฎหมาย ป.ป.ช.เป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดไปแล้ว จึงไม่สามารถนำกฎหมายลูกมาใช้ถอดถอนได้ หรือกรณีอ้างว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 แต่มาตราดังกล่าวไม่มีบทบังคับโทษ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่เท่านั้น จึงไม่ควรอ้างกฎหมายดังกล่าวนำมาสู่การถอดถอน

@ คสช.ห่วงคิวถอดถอน

      รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีสนช.จะมีการพิจารณาถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน สร้างความกังวลให้กับคสช.ไม่น้อย เพราะด้านหนึ่งต้องการให้สถานการณ์ทางการเมืองนิ่ง ขณะเดียวกันมีสมาชิก สนช. บางฝ่ายต้องการให้เดินหน้ากระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งอาจจะสร้างกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นอีก

@ ป.ป.ช.เล็งเคาะสำนวน39ส.ว.

       นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนถอดถอน 39 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบว่า อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ว่าคดีดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายอื่นหรือไม่ นอกจากความผิดตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยคาดว่าจะสามารถนำเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.ได้ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาว่าจะส่งสำนวนไปยัง สนช.หรือไม่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!