- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 30 October 2014 09:24
- Hits: 4033
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8737 ข่าวสดรายวัน
บิ๊กป้อมไม่ได้เจอแม้ว'บิ๊กตู่'ยัน สปช.ได้ 20 กมธ. คำนูณ-ไพบูลย์มาตามโผ นันทวัฒน์-ชัยอนันต์หลุด บิ๊กต๊อกไม่เคลียร์พรทิพย์ ประยุทธ์จับเข่าคุยฮุนเซน สนช.นัด 12 พย.ถกถอดปู
บิ๊กตู่'เยือนกัมพูชา จับเข่าคุย'ฮุนเซน' โต้ข่าว"บิ๊กป้อม'ดอดพบ'แม้ว'เมืองจีนกลาโหมขอสื่ออย่าตีความเอง สปช.โหวตเลือก 20 กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ได้ครบตัวแทนกลุ่มปฏิรูป 11 ด้าน ตัวแทน 4 ภาค 'ประชา-วุฒิสาร-คำนูณ-ไพบูลย์-ทิชา' มาตามโผ 'นันทวัฒน์'หลุด เผยเบื้องหลังสปช.จังหวัดวิ่งล็อบบี้แลกคะแนน'บวรศักดิ์'จ่อนั่งประธานโควตาคสช.'บิ๊กต๊อก' ยันไม่คุย 'หมอพรทิพย์'ให้จบแค่นี้ มอบนโยบายดีเอสไอ คดีพิเศษต้องออกเป็นมติบอร์ด กคพ.เท่านั้น สนช.เรียกประชุมนัดพิเศษ 12 พ.ย.ถกถอด 'ปู'
'บิ๊กตู่'บินเขมรถกการค้า-ลงทุน
เวลา 13.30 น. วันที่ 29 ต.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2557 ถึงการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ วันที่ 30-31 ต.ค.นี้ว่า จะหารือถึงเรื่องพลังงานแต่คงไม่พูดถึงผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล ไม่เช่นนั้นจะเป็นเรื่องอีก แต่จะคุยเรื่องความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งการค้า การลงทุน การส่งเสริมช่วยเหลือกัน การท่องเที่ยวและปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงจนเกิดการปะทะกัน ต้องไปเคลียร์ โดยตั้งคณะกรรมการพูดคุยให้เกิดความชัดเจน
นายกฯ กล่าวว่า เรื่องพลังงานจะคุยผ่านคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นว่าในพื้นที่ทับซ้อนจะทำอย่างไร ส่วนระดับผู้นำจะพูดคุยกันว่าเห็นชอบร่วมกันหรือไม่ หากตกลงกันได้ก็ทำ จะเอาเส้นเขตแดนมาเป็นปัญหาทั้งหมดคงไม่ได้ ถ้าจะรอปักปันเขตแดนคงทำอะไรไม่ได้เช่นเดิม ต่อให้อีก 10 ชาติก็ทำไม่ได้ แล้วจะไปหาแหล่งพลังงานจากไหน
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องพื้นที่เขาพระวิหารคงไม่มีการพูดกัน เรื่องนี้คุยกันหลายครั้งแล้ว ตนและสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา และพล.อ.เตีย บันห์ รองนายกฯและรมว.กลาโหมกัมพูชา สรุปตรงกันว่าจะไม่เอาประเด็นขัดแย้งมาพูดกันในเวลานี้ เพราะขณะนี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดของทั้งสองรัฐบาลในการพูดคุยกัน และทุกประเทศก็พูดเช่นเดียวกัน ซึ่งตนพูดกับทุกประเทศและพม่าว่าอย่าเอาเส้นเขตแดนมาเป็นเส้นของความขัดแย้งหรือก่อสงครามกัน เพราะเราต่างเป็นประเทศที่มีรายได้น้อย ควรหาทางดูแลคนว่าจะเอาอย่างไร และต้องทำให้อาเซียนเข้มแข็งจึงจะก้าวเข้าสู่ประชาคมโลกได้
เสนอแพ็จเกจทัวร์เขาวิหาร
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การพูดคุยกันครั้งนี้จะเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเข้มแข็งในภูมิภาค รวมทั้งจะพัฒนาพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวร่วมกัน อย่างเรื่องท่องเที่ยว ตนสั่งการว่าให้จัดการท่องเที่ยวเป็นแพ็กเกจเพื่อให้นักท่องเที่ยวเลือก เช่น ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในช่วง 3-5 วันโดยแยกให้เห็นอย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวจะได้เห็นว่าไทยมีอะไรบ้าง อาจเที่ยวไทย 3 วัน ไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านอีก 2 วัน ก็ต้องไปพูดคุยและลงนามในเอ็มโอยูร่วมกันก่อน
เมื่อถามว่า แสดงว่าจัดแพ็กเกจการท่องเที่ยวเขาพระวิหารได้ด้วยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ยอมรับว่าได้และการไปเยือนกัมพูชาครั้งนี้จะไปพูดคุยกันเรื่องนี้ ตอนนี้จะขึ้นฝั่งไทยก็ได้ ฝั่งกัมพูชาก็ได้ แต่ต้องพูดคุยกันก่อนขึ้น
ฟุ้งเขมรไว้ใจรัฐบาลไทย
เมื่อถามว่า จะถือโอกาสหารือเกี่ยวกับ ผู้ต้องคดีของไทยที่หลบไปอยู่กัมพูชาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า พูดกันอยู่แล้วและเรื่องนี้ได้พูดไปแล้ว ซึ่งกัมพูชาบอกว่าจะดูแลให้ ไม่มีปัญหา เรื่องที่เป็นความขัดแย้งเขาคุยกันอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัว ต่างฝ่ายต่างไม่สนับสนุนคนที่มีปัญหา กัมพูชาก็รับปาก ไทยก็ต้องช่วยกัมพูชาเพราะมีกลุ่มคนของกัมพูชาที่เคลื่อน ไหวมาอยู่ในประเทศของเรา สองประเทศต้องคบกันอย่างนี้ มีความจริงใจระหว่างรัฐบาล ถ้าเรามัวแต่ดิสเครดิตไปเรื่อยๆ มันทะเลาะกันอยู่ดีแล้วประชาชนก็เดือดร้อน
เมื่อถามว่า กลุ่มการเมืองที่หลบหนีไปอยู่กัมพูชา การข่าวรายงานหรือไม่ว่ามีการเคลื่อนไหวในขณะนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คงไปถามรายละเอียดก่อนเพราะหน่วยข่าวกรองมีรายละเอียดอยู่แล้ว และเคยขอร้องกับรัฐบาลกัมพูชาแล้วว่าอย่าให้มีการเคลื่อนไหวอีก การเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ยังมีผ่านทางโซเชี่ยลบ้างซึ่งทำที่ไหนก็ได้ ด้านการข่าวของเรามีรายละเอียดทั้งหมด หน่วยงานเราทำทั้งโลก
เมื่อถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชาอยู่ในความสนใจ จะโชว์ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ต้องโชว์ ประชาชนดูได้ว่าเหตุการณ์มันสงบหรือไม่ การค้าการลงทุนมีเพิ่มเติมหรือไม่ ปัญหาความขัดแย้งถูกปลุกขึ้นมาใหม่หรือไม่ วันนี้ผู้นำรอบบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะกัมพูชาพูดเองว่าเป็นโอกาสดีที่สุดของสองประเทศที่รัฐบาลจะพูดจากัน เพื่อนำประเทศก้าวหน้าต่อไป วันนี้เชื่อมั่นว่ากัมพูชาไว้ใจการทำงานของรัฐบาลไทย และเขาไม่ได้มาพูดว่ารัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ จะดูเพียงว่าจะคบค้ากันได้หรือไม่ ใครมาจากไหนเป็นเรื่องของเขา เราไม่ได้ไปฝืนเขาหรือประชาคมโลก สิ่งที่เราทำเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งกัมพูชาพูดแล้วว่าเขามั่นใจและชื่นชมกับเรา
โต้ข่าว'บิ๊กป้อม'พบ'แม้ว'
ผู้สื่อข่าวถามถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน นายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรและคณะไปทำงาน รัฐบาลมอบให้ไปเพื่อพูดคุยทั้งเรื่องข้าว ยางพารา และตนต้องไปร่วมประชุมเอเปกที่จีนด้วย ก็คงไปดูการช่วยเหลือเรื่องข้าว
เมื่อถามว่าพล.อ.ประวิตรมีโอกาสพบกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ยังอยู่ระหว่างท่องเที่ยวที่จีนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "บ้า จะเกี่ยวกันได้อย่างไร จะไปคุยอะไร จะไปคุยกับเขาทำไม ไม่เจอ ไปเจอกันไม่ได้อยู่แล้ว และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องห้าม เขารู้และมีวิจารณญาณ รู้ถึงความเหมาะสม เป็นผมก็ไม่เจอ แม้จะบอกว่าเจอเพราะพักโรงแรมเดียวกันผมก็ไม่เจอ ผมเจอไม่ได้"
ยึดกฎหมาย-ไม่มีเคลียร์
เมื่อถามว่าถ้าเจอแล้วจะได้เคลียร์ปัญหาไปเลยทีเดียวได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะไปเคลียร์เรื่องอะไร กฎหมายก็คือกฎหมาย มีไว้บังคับใช้กับคนทั้งประเทศ ถ้าตนไปเคลียร์คนนี้แล้วคนอีกทั้งประเทศต้องยกโทษให้กับนักโทษอีกเท่าไร และตนคงไม่ไปเกลี้ยกล่อมใคร ที่ผ่านมาก็บอกว่าทุกคนกลับมาได้ทั้งหมด ใครจะกลับก็กลับ กลับมาก็เข้าสู่กระบวนการ หรือจะมีวิธีการอื่น ตนก็ไม่รู้เพราะไม่ใช่เรื่องของตน เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม
เมื่อถามว่า ถ้าพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการต่อสายตรงกับนายกฯ เพื่อเจรจากลับมาสู้คดีพร้อมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ต้องมาสายตรงกับผมเลย ขึ้นเครื่องบินกลับมาเลยไม่ต้องมาสายตรง มีเจ้าหน้าที่ดูแลกันอยู่แล้ว จะได้สงบสุข"
กห.แจงสื่ออย่าตีความ
พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และคณะประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนจีน ตั้งแต่วันที่ 28-31 ต.ค. ตามคำเชิญของกระทรวงกลาโหมจีน มีกำหนดเข้าเยี่ยมคำนับ พล.อ.ฉาง ว่านฉวน รมว.กลาโหมจีน เพื่อแนะนำตัวและกระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือในการสั่งซื้อผลิตผลทางการเกษตรของไทย และหารือกับหัวหน้าคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานของจีน เยี่ยมชมกิจการด้านขนส่งระบบราง โครงการกำจัดขยะ พร้อมทั้งหารือการเดินทางเยือนของ นายกฯ อย่างเป็นทางการ ไม่อยากให้สื่อตีความไปต่างๆ นานา ในการเดินทางเยือนจีนของพล.อ.ประวิตร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางเยือนจีนของพล.อ.ประวิตร พร้อมกับนายสมคิดครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปเที่ยวที่จีน และน.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งขอเลื่อนการเดินทางกลับไทยกับคสช. ไปอีกระยะหนึ่งจากเดิมมีกำหนดกลับวันที่ 26 ต.ค. นี้ ทำให้มีกระแสข่าวว่าอาจมีการพบกันหรือไม่
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. เผยว่า ไม่ทราบรายละเอียดถึงกำหนดการเดินทางของน.ส. ยิ่งลักษณ์ เพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเดิมน.ส.ยิ่งลักษณ์ ขออนุญาต คสช.ไปต่างประเทศถึงวันที่ 26 ต.ค. แต่โทรศัพท์มาแจ้งขอเลื่อนการเดินทางออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่ากี่วัน เพราะถือเป็นความลับและไม่ควรไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว
เผยคิวบิ๊กตู่พบฮุนเซน-นโรดม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากำหนดเดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของพล.อ.ประยุทธ์ บ่ายวันที่ 30 ต.ค. คณะนายกฯ จะเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) ไปยังกรุงพนมเปญ และร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ที่วิมานสันติภาพ ก่อนเข้าพบหารือกับสมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา จากนั้นร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ คือบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยการขจัดการค้าเด็กและหญิง และการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ก่อนที่นายกฯ ทั้ง 2 ประเทศ จะแถลงข่าวร่วมกัน และนายกฯ กัมพูชาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯ และภริยา
พร้อมกันนี้ นางนราพร จันทร์โอชา ภริยานายกฯ จะเดินทางไปเปิดภาควิชาภาษาไทยระดับปริญญาตรี พร้อมมอบอุปกรณ์การ เรียนการสอนให้กับภาควิชาดังกล่าว ที่มหา วิทยาลัยพนมเปญ และนายกฯ มีกำหนดการเยี่ยมคารวะสมเด็จอัครมหาพญาจักรี เฮง สัมริน ประธานสภาแห่งชาติกัมพูชา
ภารกิจวันที่ 31 ต.ค. นายกฯ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี กษัตริย์แห่งกัมพูชา เยี่ยมชมพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับสมาคมนักธุรกิจไทยในกัมพูชา ก่อนออกจากท่าอากาศยานกรุงพนมเปญ ถึง บน.6 ช่วงบ่าย
การเยือนกัมพูชาครั้งนี้ อยู่ในกำหนดการเยือนอาเซียนอย่างเป็นทางการในโอกาสรับตำแหน่งใหม่ของนายกฯ และเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนต่อจากพม่า เมื่อวันที่ 9-10 ต.ค. ที่ผ่านมา
สนช.รอเคาะ 30 ต.ค.
เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า สัดส่วนกมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญในส่วนของสนช. 5 คน ล่าสุดมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก 11 คน แต่ละคนมีความรู้ ความสามารถ มีความเหมาะสม ไม่ขัดคุณสมบัติ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจ การสนช. หรือวิปสนช. เห็นว่าเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง จะเสนอรายชื่อทั้ง 11 คน ให้ที่ประชุมใหญ่สนช.ลงมติเลือกให้เหลือ 5 คน ในวันที่ 30 ต.ค. เพื่อเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยทั้ง 5 คน ต้องเป็นผู้เสียสละทำหน้าที่ทั้งสนช.และกมธ.ยกร่างฯ อีกทั้งยังห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย
ถกนัดพิเศษถอด'ปู' 12 พ.ย.
นายพรเพชรกล่าวว่า ตนได้รับเรื่องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเอกสารประกอบหลายร้อยหน้า ระบุว่าน.ส. ยิ่งลักษณ์ มีพฤติการณ์จงใจกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 178 ส่อขัดต่อพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1) และยังขัดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 58 ซึ่งตนและวิปสนช. พิจารณาอย่างละเอียดแล้วเห็นว่าแม้สำนวนจะอ้างฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ยกเลิกไปแล้ว แต่ยังอ้างการทำความผิดตามพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน และพ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช ที่ยังคงบังคับใช้อยู่ ดังนั้น จึงสั่งบรรจุเข้าวาระการประชุมสนช.นัดพิเศษในวันที่ 12 พ.ย. เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งตามข้อบังคับที่ 150 ตนจะส่งสำเนาเอกสารไปให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ และสมาชิกสนช. ได้รับทราบเพื่อพิจารณาแล้ว
6 พ.ย.หารือปม '2 ปธ.'
นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนกรณีถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภานั้น สนช.ยังคงสงสัยในฐานความผิดของสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม ที่ยังไม่แน่ชัดเนื่องจากฐานความผิดนั้นผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ยกเลิกไปแล้ว วิปสนช.จึงมีมติให้นำเข้าที่ประชุมสนช.ในวันที่ 6 พ.ย.ว่าอยู่ในอำนาจสนช.หรือไม่
เมื่อถามว่า การถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ ต่างจากกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างไร นายพรเพชรกล่าวว่า กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตนตรวจสอบแล้วเห็นว่าคำร้อง ข้อกล่าวหา ฐานความผิดนั้นครบถ้วน แม้จะอ้างรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ยังมีฐานความผิดตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ยังบังคับใช้อยู่ ซึ่งตนดำเนินการตามข้อบังคับ แต่กรณีนายนิคมและนายสมศักดิ์นั้น ยังไม่ชัดว่าสามารถดำเนินการตามข้อบังคับได้หรือไม่ จึงต้องขอความเห็นจากที่ประชุมวันที่ 6 พ.ย. ยืนยันว่าการถอดถอนไม่มีประเด็นใดต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และการทำงานของสนช.ไม่ได้ยืดเยื้อ
ชี้ต่างจากคดีขุนค้อน-นิคม
นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนถอดถอนน.ส. ยิ่งลักษณ์ของสนช. ว่า ความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นคนละกรณีกับนายสมศักดิ์ และนายนิคม เนื่องจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผิดตามพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน และพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 58 เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวที่เสียหายกว่าแสนล้านบาท ที่ป.ป.ช.อ้างความผิดตามพ.ร.บ. 2 ฉบับ โดยใช้คำว่าส่อว่าจงใจจะทุจริต ก็เข้าข่ายมีความผิด การพิจารณาของสนช. จะดูว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากที่ประชุมรับเรื่องไว้พิจารณา ประธานสนช.จะนัดผู้กล่าวหาคือป.ป.ช. และผู้ถูกกล่าวหาคือน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาชี้แจง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายสามารถยื่นเอกสารและพยานเพิ่มได้ จากนั้นจะลงมติถอดถอนหรือไม่ โดยใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกที่มีอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 40-45 วัน นับจากการลงมติรับเรื่องไว้พิจารณา
ด้านนายธานี อ่อนละเอียด สนช. กล่าวว่า ถ้าป.ป.ช.อ้างฐานความผิดตามตามพ.ร.บ. บริหารราชการแผ่นดิน และพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 58 ความเห็นสนช.จะแตกต่างกับการพิจารณาสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม เพราะกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีข้อหาหลักชัดที่ส่อว่าจงใจใช้ตำแหน่งหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับที่ป.ป.ช. ใช้อ้างฐานความผิดยังคงบังคับใช้อยู่ ต้องนำสำนวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าสู่กระบวน การถอดถอน
ทนายยิ่งลักษณ์ชี้คดียังไม่ยุติ
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีสนช.เตรียมพิจารณาสำนวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ วันที่ 12 พ.ย.นี้ว่า หวังว่าสนช.จะพิจารณาโดยเทียบเคียงกับการพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งสนช.เห็นว่าไม่สามารถถอดถอนได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญหมดสภาพบังคับแล้ว
นายพิชิต กล่าวว่า นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช.เคยแถลงชัดว่า สำนวนถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ตัดฐานความ ผิดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 และเมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดแล้ว สนช.ก็ไม่ควรรับไว้พิจารณา แต่หากรับเรื่องไว้ก็มองว่าสำนวนคดียังไม่มีข้อยุติในเชิงพยานหลักฐาน เพราะคดีอาญาที่ป.ป.ช.ยื่นให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณา เพื่อส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อสส.และป.ป.ช. ต้องตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาสำนวนใหม่ ซึ่งยังไม่มีข้อยุติ แม้ป.ป.ช.พยายามโต้แย้งคดีถอดถอนเป็นคนละเรื่องคดีอาญา แต่เรื่องนี้ ป.ป.ช.ได้รวมคดีถอดถอนกับคดีอาญามาตั้งแต่ต้น แต่พอถึงเวลานี้กลับมาแยก ทั้งที่พยานหลักฐานและเอกสารเป็นชุดเดียวกัน
กม.ลูกนำมาใช้ถอดถอนไม่ได้
"อสส.ชี้ข้อที่ไม่สมบูรณ์มา เท่ากับหลักฐานที่ป.ป.ช.ส่งไปสนช.ก็ไม่สมบูรณ์ หากสนช.ถอดถอน เท่ากับผลของการถอดถอน ไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย สนช.ควรให้ความยุติธรรมผู้ถูกถอดถอน ผมยืนยันว่าหลักฐานที่สนช.ใช้ถอดถอนกับหลักฐานที่ดำเนินคดีอาญา เป็นหลักฐานชุดเดียวกัน อีกทั้งข้อบังคับว่าด้วยการถอดถอน สนช. ระบุว่าให้ยึดสำนวนป.ป.ช.เป็นหลัก เมื่อสำนวน ป.ป.ช.ถูกท้วงติงจากอสส. สนช.ต้องคำนึงด้วยว่ารายงานและสำนวนถูกท้วงติงไม่ควรรีบถอดถอน ควรรอให้การโต้แย้งหลักฐานทางคดีอาญายุติก่อน" นายพิชิตกล่าว
นายพิชิต กล่าวว่า ขอให้สมาชิก สนช.อำนวยความยุติธรรมให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย แม้บางฝ่ายบอกว่าสามารถนำกฎหมายป.ป.ช. มาใช้ถอดถอนได้ แต่ที่มาของกฎหมาย ป.ป.ช.ซึ่งเป็นกฎหมายลูก เมื่อกฎหมายแม่คือรัฐธรรมนูญสิ้นสุดไปแล้วก็ไม่สามารถนำกฎหมายลูกมาใช้ถอดถอนได้ นอกจากนี้ยังทราบว่าสิ่งที่ ป.ป.ช.ระบุในสำนวนถอดถอนที่ส่งมา สนช.เพิ่มเติมนั้น ระบุว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ทำผิด พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 11 แต่มาตราดังกล่าวไม่มีบทบังคับโทษ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติเรื่องอำนาจหน้าที่เท่านั้น จึงไม่ควรอ้างกฎหมายดังกล่าวนำมาสู่การถอดถอน
สำนวนถอด 39 ส.ว.ยังอยู่ที่ปปช.
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนถอดถอน 39 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. โดยมิชอบว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ว่ามีความผิดตามกฎหมายอื่นหรือไม่ นอกจากความผิดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมป.ป.ช.ได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาว่าจะส่งสำนวนมายังสนช.หรือไม่
นายปานเทพ กล่าวถึงการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะกรรมาธิ การ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ยังไม่ได้พิจารณา เพราะยังไม่มีการส่งเรื่องมายัง ป.ป.ช. หากต้องพิจารณาก็จะใช้มาตรฐานเดียวกับการพิจารณากรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ก.ต.ชี้ 17 พ.ย.-ศาลนั่งกุนซือรมต.
แหล่งข่าวจากศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีข่าวผู้พิพากษาจะไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ชำนาญการของ สนช. ว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีกรณีเสนอชื่อ ผู้พิพากษาเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเสนอชื่อผู้พิพากษาเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองในฐานะที่ปรึกษารมว.ยุติธรรม ทั้งนี้ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ยังไม่มีการประชุมหรือพิจารณาเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด โดยจะนัดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้วันที่ 17 พ.ย.
แหล่งข่าวกล่าวว่า การประชุม ก.ต.จะถือมติเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก หากว่าที่ประชุม ก.ต. มีมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง เรื่องดังกล่าวก็เป็นไปได้ แต่หาก ก.ต.มีมติไม่เห็นชอบ แม้จะมีการประกาศแต่งตั้งผู้พิพากษาไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีแล้วก็ตาม ผู้พิพากษาคนดังกล่าวก็ควรปฏิบัติตามมติของ ก.ต. โดยยื่นหนังสือลาออกจากที่ปรึกษาต่อรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ชื่นมื่น - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สองอดีตนายกฯ ของไทย ถ่ายรูปร่วมกับกลุ่มเด็กนักเรียนชาวจีน ระหว่างเยี่ยมชมและศึกษาข้อมูลผังเมืองกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 29 ต.ค. |
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมประธานศาลฎีกา ที่แสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ที่ชัดเจนกรณีไม่ให้องค์กรตุลาการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง การแสดงจุดยืนของประธานศาลฎีกาทำให้ภาคส่วนต่างๆ ช่วยกันรักษาความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ซื่อสัตย์ สุจริตและเที่ยงธรรมขององค์กรตุลาการไว้ให้มั่นคง เพื่อเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่จะอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน สมาชิก สปช. และกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องตระหนักถึงจุดยืนและเจตนารมณ์ของประ ธานศาลฎีกา ดังนั้น การยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะให้องค์กรตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองจึงไม่ควรเกิดขึ้นอีก เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี"50
'บิ๊กต๊อก'มอบนโยบายดีเอสไอ
เวลา 10.00 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานประชุมมอบนโยบายการทำงานให้ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ ว่าที่อธิบดีดีเอสไอ และผู้บริหารดีเอสไอ ใช้เวลาประชุม 2 ชั่วโมง
นางสุวณากล่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์ มีนโยบายชัดเจนให้กำหนดหลักเกณฑ์การทำงานในดีเอสไอ ให้ใช้ดุลพินิจน้อยที่สุด การดำเนินคดีควรยึดอยู่ในหลักกฎหมาย เพราะความคิดของบุคคลอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ ตนได้ขอให้ข้าราชการตั้งใจทำงานเพื่อแก้ปัญหาภาพลักษณ์องค์กร ทำงานซื่อสัตย์สุจริตเพื่อให้องค์กรเป็นที่ยอมรับ ส่วนตัวไม่กังวลใจที่รับภารกิจนี้ เพราะที่ผ่านมาได้ทำงานในกระบวนการยุติธรรมมาตลอด แต่ยอมรับว่ามีความกดดันในเรื่องภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งการแก้ไขให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วงมือบุคคลในกรม ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ทำงานพิเศษกว่าปกติ และวันที่ 30 ต.ค. จะเรียกประชุมรองอธิบดีดีเอสไอ และผู้บัญชา การสำนักคดี เพื่อเร่งรัดกำหนดหลักเกณฑ์การรับคดีพิเศษตามที่รัฐมนตรีสั่งการ
คดีพิเศษต้องขอมติบอร์ด
จากนั้นพล.อ.ไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับฟังการทำงานจากผู้บัญชาการสำนักคดีทั้ง 13 สำนัก และสั่งการให้นางสุวณาไปประชุมร่วมกับทุกสำนักคดีเพื่อวางแนวทางการทำงานการรับคดีอาญาทั่วไปไว้สอบสวนเป็นคดีพิเศษ ที่ผ่านมามีการแก้ไขขยายคำจำกัดความของคดีพิเศษเปิดให้อธิบดีดีเอสไอใช้ดุลพินิจว่าจะรับหรือไม่รับคดีใดเป็นคดีพิเศษก็ได้ จึงต้องการให้ดีเอสไอกลับไปทำงานภายใต้คณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.)เหมือนเดิม แม้พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ จะกำหนดลักษณะคดี 36 คดี เป็นคดีแนบท้ายให้ดีเอสไอสอบสวนโดยอัตโนมัติ แต่หลังจากนี้ทุกคดีก่อนรับเป็นคดีพิเศษต้องเสนอให้บอร์ด กคพ.พิจารณาอย่างรอบคอบ อาจทำให้การทำงานล่าช้าไปบ้างแต่เชื่อว่าจะเป็นผลดีมากกว่า
เรียกดูสำนวนทุกคดี
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ตนยังสั่งการให้ ดีเอสไอทำรายงานสรุปผลการสอบสวนคดีทุกคดีที่ระบุว่าสอบเสร็จแล้วกว่า 80 เปอร์ เซ็นต์เพื่อให้ตนรับรู้ว่า คดีที่บอกว่าสอบสวนเสร็จ ทำงานกันอย่างไร ทำไมดีเอสไอถึงมีภาพลักษณ์เสียหาย รับสอบสวนคดีเพราะถูกสั่งมาใช่หรือไม่ การเรียกสำนวนมาตรวจสอบไม่ใช่เพื่อลงโทษใครแต่ต้องการดูว่าการสอบ สวนของดีเอสไอส่งผลกระทบถึงใครบ้าง ซึ่งจะเป็นคำตอบว่าควรปฏิรูปดีเอสไออย่างไร
เมื่อถามว่า คดีที่ให้ดีเอสไอรายงานเป็นคดีการเมืองจากการชุมนุมของเสื้อแดงและกปปส.ใช่หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ทุกคนเป็นคนไทย เรื่องนี้กำชับไปแล้วว่าเวลาส่งรายงานห้ามระบุว่าเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มใด ขอให้รายงานว่าชุมนุมในสถานที่ใด ไม่ต้องแบ่งแยก ยืนยันตราบใดที่ตนยังนั่งทำงานในตำแหน่งนี้จะไม่มีการแบ่งแยกประชาชนเด็ดขาด เช่นเดียวกับคดีผังล้มเจ้า จะเรียกมาตรวจสอบว่ายังอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอหรือไม่ รวมถึงคดีมาตรา 112 และคดีบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว หาก ดีเอสไอจะเข้าไปทำคดีจะเข้าไปในลักษณะใดเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน เพราะหลายคดีตำรวจก็สอบสวนได้
จบเรื่องหมอพรทิพย์-ไม่เรียกคุย
เมื่อถามถึงพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โพสต์เฟซ บุ๊กตำหนินโยบายการทำงานที่มอบให้กับ ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่อยากพูดแล้ว และตนไม่ใช่คนคิดเล็กคิดน้อย เลิกพูดต่อล้อต่อเถียง กลับไปทำงานกันดีกว่า ขอให้จบแค่นี้ เมื่อถามว่าต้องเรียกหมอพรทิพย์มาพบเพื่อทำความเข้าใจเป็นการส่วนตัวหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวสั้นๆ ว่า คงไม่ต้อง
ช่วงเช้าวันเดียวกัน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ยังโพสต์เฟซบุ๊กอีก ระบุ "มาแล้วกับการใช้ปากกาเสี้ยม อ่านดูก็จะรู้ความตั้งใจทำข่าว ขอบคุณที่ลงข่าวให้ วัตถุประสงค์ที่เขียนใน FB เพราะเป็นช่องทางที่สื่อสารทางหนึ่ง อ่านเข้าแล้วใจไม่กระเพื่อม ไม่ตก อมยิ้มว่ามาแล้วกับการหาช่องจังหวะของคนเกลียดหมอ ซึ่งคงไม่สามารถทำให้เข้าใจได้ หมออยากให้สังคมรับรู้ว่าระบบราชการการส่วนใหญ่มีลักษณะกรมใครกรมมัน ต่างผลักดันงานตัวเองมานานแล้วทั้งที่ควรบูรณาการการแก้ปัญหา เปลี่ยนผู้บริหารทีก็ต้องพยายามเท่าที่ทำได้ ครั้งนี้ก็เช่นกันเหมือนจะดีแต่ก็ไม่มีโอกาส ยิ่งนานวันก็ยิ่งตีบลง แต่การเป็นข้าราชการต้องแน่วแน่ หนักแน่นในงาน อ่านข่าวนี้แล้วไม่หวั่นไหว ขอคนที่อ่านอย่ามีอารมณ์กับรัฐมนตรีที่ตอบโต้และอย่าโกรธสื่อที่เสี้ยม ส่วนคนที่ไม่ชอบหมอคงไปเปลี่ยนความคิดได้ยาก หมอรู้ตัวดีว่าทำอะไรไป และจะยังคงผลักดันการแก้ปัญหาของนิติวิทยา ศาสตร์ตามวาระที่ยังเหลืออยู่ในชีวิตราชการ"
ยันกมธ.ยกร่างไม่บล็อกโหวต
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 ต.ค. ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. ในฐานะเลขานุการ กมธ.สามัญกิจการ สปช. หรือวิปสปช.ชั่วคราว กล่าวก่อนการประชุม สปช.เพื่อลงคะแนนเลือกตัวแทนสปช. เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วน 20 คนตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดว่า มีสมาชิกยื่นใบสมัคร 34 คน มีสัดส่วนครบทั้ง 11 ด้าน และรายจังหวัดทั้ง 4 ภาค แต่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 32 คน เนื่องจากอีก 2 คน พบว่าเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและมีผู้ถอนตัว 1 คน ทำให้ยอดรวมผู้สมัครมี 31 คน โดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นสมาชิกที่ขอถอนตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อตรวจสอบจากรายชื่อ พบนางประภาภัทร นิยม และนายอมรวิชช์ นาครทรรพ ขาดคุณสมบัติ แต่รายงานข่าวเผยว่า ความจริงแล้วทั้งคู่ขอถอนตัวเองเนื่องจากด้านการศึกษามีผู้สมัครหลายคนแล้ว
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า คงไม่สามารถ การันตี ได้ว่าผู้สมัครจากทุกด้านและทุกภาคจะได้เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่าการลงคะแนนครั้งนี้ไม่มีการบล็อกโหวตแน่นอน ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะขาดบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น อาจตั้ง สปช.ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือ สปช.จากสาขาหรือภาคที่ไม่ได้รับเลือกเป็นที่ปรึกษา กมธ.ยกร่างได้ และเมื่อ สปช.ได้รายชื่อทั้ง 20 คนแล้ว เชื่อว่าครม. คสช. และสนช. จะพิจารณาและคัดสรรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น นักกฎหมายมหาชนเข้าไปเติมเต็ม ดังนั้น ประเด็นเรื่องนักเทคนิคจึงไม่น่ากังวลมากนัก
ยืนยันสปช.ใจกว้าง
"หากมีผู้เชี่ยวชาญเทคนิคมากเกินไป รัฐธรรมนูญใหม่ก็จะเหมือนรัฐธรรมนูญสมัยเก่าที่ไม่หลากหลาย วันนี้มิติของการเขียนร่างรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนแปลง ในอดีตคนยกร่างจะเป็นนักกฎหมายและข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ ทำให้พูดถึงอำนาจรัฐแต่ไม่พูดถึงอำนาจพลเมือง แต่ครั้งนี้เราอยากให้มีสาขาต่างๆ มีส่วนร่วมมากขึ้น" นายอลงกรณ์กล่าว
ส่วนที่พรรคการเมืองระบุอยากให้ สปช.เปิดใจกว้างรับฟังทุกภาคส่วน นายอลงกรณ์กล่าวว่า สปช.พยายามสร้างการมีส่วนร่วมและเปิดกว้างอยู่แล้ว ซึ่งเรามีหลายกลไก ส่วนมติของ สปช.ที่ไม่ให้สัดส่วนคนนอก 5 คนนั้น คงวัดไม่ได้ว่า สปช.ใจแคบ ยืนยันว่าเราใจกว้าง เพียงแต่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา รวมถึงท่าทีของพรรค และกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่ไม่ได้สร้างความมั่นใจว่าจะเข้าร่วม
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสปช. กล่าวถึงการถอนตัวจากผู้สมัคร กมธ.ยกร่างว่า เกรงว่าหากสมัครและได้รับคัดเลือกเป็น กมธ.ยกร่าง แต่ต่อมาถูกห้ามเป็น กมธ.สามัญ เท่ากับตนถูกตัดสิทธิ์ จึงขอถอนตัวเพราะอยากทำงานปฏิรูปในฐานะ กมธ.สามัญในสปช. ฟังความเห็นของประชาชนมากกว่า
นายเจิมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากมีข้อห้ามให้ กมธ.ยกร่างไปเป็นกมธ.สามัญอื่นๆ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะเป็นรองประธาน สปช.ได้หรือไม่ ต้องลาออกหรือไม่ เพราะงานยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นงานหนักมาก
เข้าคูหาโหวตลับเลือก 20 ชื่อ
เวลา 14.00 น. มีการประชุม สปช. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธานสปช. ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมเฉพาะคราว พิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ที่เหมาะสม เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน ในสัดส่วนของ สปช. นายเทียนฉายแจ้งว่า มีผู้สมัครเป็น กมธ.ยกร่าง 31 คน จะให้สมาชิก สปช.เลือกโดยใช้วิธีลงคะแนนลับ ผู้ได้รับเลือกมีคะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก จากนั้นที่ประชุมเปิดให้ผู้สมัครทั้ง 31 คนแนะนำตัวถึงประวัติโดยย่อคนละ 2 นาทีว่ามีความเชี่ยวชาญด้านใด
จากนั้นที่ประชุมให้สมาชิกลงคะแนนลับ โดยให้สมาชิกเข้าคูหาแล้วใช้ดินสอฝนหมายเลขสมาชิกที่ต้องการเลือกเป็น กมธ.ยกร่างจำนวน 20 คน หย่อนลงกล่องเพื่อนับคะแนน โดยอนุญาตให้สมาชิกนำรายชื่อ ผู้สมัครที่ต้องการเลือกเข้าไปดูในคูหาได้ ขณะเดียวกัน นายเทียนฉาย กำชับช่างภาพทีวีที่อยู่ในห้องประชุมว่า ห้ามซูมกล้องไปที่คูหาขณะที่สมาชิกลงคะแนนเพื่อให้การลงคะแนนเป็นความลับ ที่ประชุมใช้เวลาลงคะแนนร่วม 2 ชั่วโมง ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจนับคะแนนอีกเกือบ 1 ชั่วโมง จึงตรวจนับคะแนนเสร็จ
ประชา-เสธ.อู้-วุฒิสาร
ต่อมานายเทียนฉาย แจ้งผลการตรวจนับคะแนนสมาชิก สปช.ที่ได้รับเลือกเป็น กมธ.ยกร่างทั้ง 20 คน ประกอบด้วย 1.นายมานิจ สุขสมจิตร สายสื่อมวลชน 222 คะแนน 2.นายประชา เตรัตน์ สปช.ชลบุรี 209 คะแนน 3.นางถวิลวดี บุรีกุล สายบริหารราชการแผ่นดิน 206 คะแนน 4.น.ส.สมสุข บุญญะบัญชา สายสังคม 202 คะแนน 5.นายเชิดชัย วงศ์เสรี สปช.ภูเก็ต 198 คะแนน 6.พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สปช.ร้อยเอ็ด 197 คะแนน 7.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สายพลังงาน 195 คะแนน 8.นายจุมพล สุขมั่น สปช.เชียงราย 192 คะแนน 9.นายวุฒิสาร ตันไชย สายการปกครองท้องถิ่น 188 คะแนน 10.นายคำนูณ สิทธิสมาน สายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 182 คะแนน
เอนก-ทิชา-มีชัย
11.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สายการเมือง 177 คะแนน 12.นางทิชา ณ นคร สายการศึกษา 171 คะแนน 13.นางนรีวรรณ จินตกานนท์ สายเศรษฐกิจ 163 คะแนน 14.นายจรัส สุวรรณมาลา สายการปกครองท้องถิ่น 142 คะแนน 15.นายไพบูลย์ นิติตะวัน สายการเมือง 125 คะแนน 16.น.ส. สุภัทรา นาคะผิว สายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 125 คะแนน 17.นายบัญฑูร เศรษฐศิโรตม์ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 122 คะแนน 18.นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ สายการเมือง 118 คะแนน 19.พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ สาย อื่นๆ 118 คะแนน 20.นายมีชัย วีระไวทยะ สายการศึกษา 117 คะแนน จากจำนวนบัตรที่ลงคะแนน 239 คน ไม่มีบัตรเสีย และไม่มีการงดออกเสียง
จากนั้นนายเทียนฉาย แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอนัดประชุมวิป สปช.ชั่วคราวในวันที่ 30 ต.ค. เวลา 09.30 น. และสั่งปิดประชุมเวลา 18.20 น.
เบื้องหลังแลกคะแนนโหวต
สำหรับ รายชื่อกมธ.ยกร่างทั้ง 20 คน มีตัวแทนสปช.ครบทั้ง 11 ด้าน ด้านการเมืองได้เข้ามามากที่สุด 3 คน รองลงมาคือด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านละ 2 คน ที่เหลือได้แก่ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านพลังงาน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านอื่นๆ เข้ามาด้านละ 1 คน ขณะที่สปช.จังหวัดได้รับเลือกเข้ามาครบทุกภาคทั้ง 4 คน ตามรายชื่อที่ยื่นสมัครทั้งหมด ได้แก่ นายประชา เตรัตน์ นายจุมพล สุขมั่น พล.ท. นคร สุขประเสริฐ และนายเชิดชัย วงศ์เสรี
โดยก่อนจะลงมติกลุ่มสปช.สายจังหวัดเดินสายล็อบบี้ขอคะแนนจากสปช.ทั้ง 11 ด้าน ให้ช่วยลงคะแนนให้ตัวแทนสปช.จังหวัดทั้ง 4 คน หลังจากมีกระแสข่าวสปช. 11 ด้าน อาจจะไม่เลือกสปช.สายจังหวัดเข้ามา โดยมีนายประชา และหัวหน้ากลุ่มสปช.ภาคต่างๆ เป็นผู้ไปเจรจากับตัวแทนสปช. 11 ด้าน โดยมีเงื่อนไขว่า สปช.สายจังหวัดขอโควตา 4 คน ให้เป็นตัวแทนประชาชนมาทำหน้าที่ ส่วนที่เหลืออีก 16 คน จะยกให้เป็นโควตาของสปช. 11 ด้าน ไปเลือกกันเอง พร้อมขอแลกคะแนนกับกลุ่มสปช.ที่ส่งตัวแทนเกิน 1 คน เช่น ด้านการปกครองท้องถิ่น ซึ่งสปช. 11 ด้าน ยินยอมตามเงื่อนไข เพื่อให้ได้กมธ.ยกร่างมีความหลากหลายและใกล้ชิดกับประชาชน
และวันเดียวกันนี้ สปช.สายจังหวัด นัดหารือนอกรอบกันอีกครั้งที่ห้อง กมธ.งบประมาณ กำชับให้สปช.จังหวัดลงคะแนนในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้เสียงแตก เพราะตัวแทนแต่ละภาคมีความรู้ด้านกฎหมาย และเพื่อให้ได้ทำงานใกล้ชิดประชาชน
บวรศักดิ์จ่อปธ.-โควตาคสช.
ทั้งนี้ มีสมาชิกสปช.ที่ได้รับการคาดหมายจะได้เป็น กมธ.ยกร่าง แต่คะแนนไม่ถึง 20 ลำดับแรก อาทิ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ด้านการเมือง พล.อ. จิระ โกมุทพงศ์ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นางตรึงใจ บูรณสมภพ สปช.ด้านการเมือง และนายชัยอนันต์ สมุทวณิช สปช.ด้านการเมือง
ส่วนนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช.คนที่ 1 ที่ลงสมัครตั้งแต่แรก น่าจะเข้ามาเป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ ในโควตาของ คสช.ตามที่มีกระแสข่าวอย่างแน่นอน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. กล่าวว่า น่าแปลกใจว่าผู้สมัครบางคนไม่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 20 อย่างนายนันทวัฒน์ ที่มากความรู้ความสามารถ เชื่อว่าโอกาสสำหรับสมาชิกสปช.ที่พลาดยังเปิดกว้าง อาจได้เข้ามาร่วม กมธ.ยกร่างฯในสัดส่วนของครม. กับคสช.ก็เป็นได้
สนช.ส่งแอพขอเสียง
ส่วนความเคลื่อนไหวของสมาชิกสนช. ที่จะคัดเลือกตัวแทนเป็นกมธ.ยกร่างฯ สัดส่วนสนช. 5 คน ปรากฏว่า ตั้งแต่สนช.เปิดตัวลงสมัคร มีการพูดคุยเพื่อขอคะแนนเสียงสมาชิกสนช.ด้วยกัน ล่าสุด มีการส่งข้อความทางแอพพลิเคชั่นไลน์ขอคะแนนเสียง ทั้งนี้ แม้จะปล่อยให้สนช.ฟรีโหวตตัวบุคคลในที่ประชุมสนช.วันที่ 30 ต.ค. แต่มีการวางตัวสนช.ทำหน้าที่กมธ.ยกร่างฯ โดยใช้หลักเลือกตัวแทนกลุ่ม ได้แก่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตส.ว.สรรหา เป็นตัวแทนสายทหาร ฝ่ายกฎหมายมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ กรรมการกฤษฎีกา นายปรีชา วัชราภัย กรรมการกฤษฎีกาและอดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)
ส่วนตัวแทนนักวิชาการ ที่มีนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ลงสมัครแข่งกับนายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ช่วงค่ำวันที่ 29 ต.ค. คะแนนทั้ง 2 คนยังสูสี โดยนายทวีศักดิ์ คะแนนนำเล็กน้อย
เต้นโพสต์ดักคอร่างรธน.
วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรว่า แม่น้ำ 5 สายเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยได้เกือบครบแล้ว ขาดเพียงรายชื่อของกมธ.ยกร่าง ไม่ติดใจว่าจะมีคนในหรือคนนอกกี่คนในคณะนี้ เพราะเชื่อว่ากลุ่มที่จะมีบทบาทจริงๆ ในการวางพิมพ์ เขียวรัฐธรรมนูญให้ได้ตามโจทย์ของคสช.คือ คนใน(กลุ่มเนติบริกร) อยู่แล้ว เป็นโชคดีของประเทศไทยที่เรามีกลุ่มผู้รับเหมาร่างรัฐธรรม นูญที่รวมตัวกันเหนียวแน่น รัฐประหารเมื่อใด เรียกใช้ได้ทันที ต้องการแบบไหนจัดให้ไม่ผิดหวัง แต่ที่ประหลาดใจอยู่บ้างคือหากรัฐประหารปี 2549 เสียของ รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เป็นเหตุสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้ของเสีย เราเคยรื้อบ้านทั้งหลังอ้างว่าเพื่อสร้างใหม่โดยให้ผู้รับเหมารายใหญ่ลงมือทำ สร้างเสร็จอยู่มา 7 ปีต้องรื้ออีกทีเพราะบ้านนี้เสียของ แล้วจะสร้างใหม่โดยผู้รับเหมารายเดิม
"ผมไม่ได้ติเรือทั้งโกลน ติโขนก่อนทรงเครื่อง แต่ตั้งข้อสังเกตไว้ในฐานะประชาชน หวังว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นกติกาสูงสุดที่นำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย สร้างสามัคคีปรองดองให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมและเสมอภาคเท่าเทียม ฉบับที่แล้วน.ต. ประสงค์ สุ่นสิริ เป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ พอเห็นทุกมาตราก็มีคนตั้งฉายาว่าฉบับหน้าแหลมฟันดำ เที่ยวนี้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน มีชื่อเล่นว่าปื๊ด ถ้าออกมาสวยสดงดงาม คนอาจเรียกว่าฉบับอาจารย์ปื๊ด หรือท่านปื๊ด หรือพี่ปื๊ด แต่ถ้าออกมาเพื่อทำลายใคร ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือขัดหลักการประชาธิปไตยจนคนทำใจรับไม่ไหว ผมกลัวใครเขาจะตั้งฉายาว่าฉบับไอ้ปื๊ด ขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย" นายณัฐวุฒิ ระบุ
'ปู'ประทับใจผังเมืองกรุงปักกิ่ง
วันที่ 29 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานความความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งพักผ่อนอยู่ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาดูผังเมืองของกรุงปักกิ่ง โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่าประทับใจมากกับการวางผังเมืองค่อนข้างดีและต่อเนื่อง เชื่อมโยงผังเมืองเดิมกับใหม่เข้าด้วยกัน ตั้งแต่โครงสร้างเรื่องน้ำ ถนน สาธารณูปโภคและการขยายเมืองเพื่อรองรับประชากร รวมทั้งการขยับขยายไปเมืองใกล้เคียงให้ร่วมคิดและวางแผนกระจายความแออัด และรองรับการพัฒนาเมืองในอนาคต ผังเมืองแห่งนี้ผู้นำของจีนทุกคนต้องมาดูเพื่อเชื่อมโยงแผนพัฒนาให้ต่อเนื่อง
อดีตนายกฯ ระบุว่า ความจริงประเทศจีนมีเมืองที่เป็นตัวอย่างของการวางผังเมืองที่ดีหลายแห่ง เมื่อตอนมาเยือนจีนอย่างเป็นทางการประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงปักกิ่งไปนครเทียนจินเพื่อชมแบบจำลองผังเมืองที่พิพิธภัณฑ์ผังนครเทียนจินด้วย เนื่องจากนครเทียนจินเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่เป็นที่ 3 ของจีน ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวจำนวนมาก และไม่ใช่ผู้ใหญ่จะได้เห็นการวางแผนและพัฒนาผังเมืองของปักกิ่งอย่างเดียวแต่ทางจีนยังสอดแทรกเทคโนโลยีให้เด็กได้ชม คณะของตนมีโอกาสได้พบเด็กๆ ที่ครูพามาดูงานและถ่ายรูปเซลฟี่กันด้วย