- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 24 May 2014 15:01
- Hits: 4893
วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8528 ข่าวสดรายวัน
โลกจี้ไทยจัดเลือกตั้ง มะกันตัดงบช่วย สื่อนอกชี้ศก.พัง หอศิลป์กรุงเทพ จุดเทียนต้านปว.
รณรงค์ - กลุ่มนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากร่วมกิจกรรมรณรงค์ตามหานกพิราบขาว ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ เพราะอยู่ในช่วงที่คสช.ประกาศห้ามประชาชนชุมนุมเด็ดขาด เมื่อวันที่ 23 พ.ค.
โลกรุมจี้ไทยจัดเลือกตั้ง รมว.ต่างประเทศมะกันผิดหวังไทยเกิดรัฐประหาร เตรียมตัดงบช่วยเหลือ 300 ล้านบาทพร้อมตัดความร่วมมือทางทหาร อียูแถลง จี้ไทยจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เยอรมัน-ฝรั่งเศสก็ร่วมประณาม สิงคโปร์หวั่นเกิดนองเลือด ขอให้หาทางออกดีที่สุด สื่อตปท.ตีข่าวไทยเข้าสู่ความพังพินาศ เศรษฐกิจพัง ท่องเที่ยวหด ส่วนนักวิชาการไทยด้านสันติวิธีออกแถลงค้านรัฐประหาร จี้ศาลรธน.ตัดสินคดีล้มล้างปชต. ประชาชนต้านปฏิวัติรวมตัวจุดเทียน หน้าหอศิลป์กรุงเทพ หวิดปะทะกลุ่มทหาร
สหรัฐประณามรัฐประหาร
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. รัฐบาลนานาประเทศออกแถลงการณ์แสดงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์รัฐประหารในไทยอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากนายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ในไทยว่า วิตกกังวลอย่างยิ่งยวด ต่อการยึดอำนาจของทหารในไทย และขอวิงวอนให้นำประเทศกลับไปสู่การปกครองในวิถีประชาธิปไตยอันมีรัฐบาลพลเรือนและรัฐธรรมนูญ พร้อมเปิดการเจรจาทุกฝ่ายอย่างครอบคลุม เพื่อจะนำไปสู่หนทางของสันติภาพ และความเจริญในระยะยาวในประเทศไทย
นายจอห์น แคร์รี่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ อเมริกา ประณามการก่อรัฐประหารในไทยว่า ไม่มีเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมาย และจะกระทบต่อความสัมพันธ์สองประเทศ และระบุว่า "ผมผิดหวังกับการตัดสินใจของทหาร ไทยที่ระงับรัฐธรรมนูญและยึดการปกครองหลังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองมายาวนาน โดยไม่มีเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมายสำหรับการรัฐประหารของกองทัพครั้งนี้ ในขณะที่เราให้คุณค่าต่อความสัมพันธ์อันยาวนานกับคนไทย การกระทำครั้งนี้จะเป็นการแสดงเจตนา เป็นนัยทางด้านลบสำหรับความสัมพันธ์สหรัฐ -ไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับกองทัพไทย เรากำลังทบทวนความช่วยเหลือระหว่างทหารต่อทหาร รวมถึงการซ้อมรบ CARAT ด้วยตามกฎหมายของสหรัฐ"
ระงับเงินช่วย-ทบทวนสัมพันธ์
นายแคร์รี่ ยังเรียกร้องให้รีบฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนในทันที หวนกลับไปสู่ประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อาทิ เสรีภาพสื่อมวลชน เส้นทางต่อไปข้างหน้า ไทยจำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงความต้องการของประชาชน
ขณะที่น.ส.เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแถลงว่า สหรัฐจะระงับเงินช่วยเหลือรายปีในระดับทวิภาคีก่อน 10 ล้านดอลลาร์ หรือราว 320 ล้านบาท ก่อนจะทบทวนความสัมพันธ์และความช่วยเหลือทางทหารเป็นลำดับต่อไป โดยเรียกร้องให้กองทัพ ฟื้นฟูประชาธิปไตยและการบริหารของพลเรือน
พ.อ.สตีฟ วอร์เรน โฆษกกระทรวงกลาโหม สหรัฐ หรือเพนตากอน แถลงว่า เหตุรัฐประหาร ครั้งนี้ทำให้สหรัฐต้องทบทวนความช่วยเหลือและความสัมพันธ์ทางทหารต่อไทย รวมไปถึงการซ้อมรบของนาวิกโยธินและทหารเรือราว 700 นาย ที่ดำเนินมาต่อเนื่องในประเทศ ไทยตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาและจะมีไปจนถึงวันอังคารหน้า เมื่อพิจารณาและทราบผลแล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป
อียูจี้จัดเลือกตั้งเร็วที่สุด
ขณะที่ฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพ ยุโรป หรืออียู ออกแถลงการณ์ที่สำนักงานในกรุงบรัสเซลส์ว่า อียูติดตามเหตุการณ์ในไทยด้วยความกังวลสูงสุด สิ่งสำคัญที่สุดคือขอให้ไทยกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยอันถูกต้องตามกฎหมายโดยเร็ว
"ทหารต้องยอมรับและเคารพต่ออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของอำนาจพลเรือนเช่นเดียวกับหลักการพื้นฐานของการมีรัฐบาลประชาธิปไตย เราขอย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้งที่เชื่อถือได้และครอบ คลุมให้เร็วที่สุดเท่าที่มีความเหมาะสมและขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้นและร่วมทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ" แถลงการณ์อียูระบุ
ด้านนายวิลเลี่ยม เฮก รมว.ต่างประเทศ สหราชอาณาจักร แถลงว่า กังวลอย่างสูงต่อการรัฐประหารในประเทศไทย และขอเร่งให้ประเทศไทยคืนสู่การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอันเป็นประชาธิปไตย รับใช้ ผลประโยชน์ของประชาชน และเป็นไปตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน เรามุ่งหวังว่าฝ่ายผู้มีอำนาจจะกำหนดตารางเวลาที่รวดเร็ว และชัดเจนสำหรับการเลือกตั้งเพื่อช่วยฟื้นฟูกรอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ควรมีการหันไปสู่ความรุนแรง การหารืออย่างเปิดกว้างถึง ประเด็นทั้งหลายเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทย เดินหน้าต่อไปและมีเสถียรภาพมากขึ้นได้
ฝรั่งเศส-เยอรมันร่วมประณาม
"เรากำลังจับตาดูสถานการณ์อย่างระมัด ระวังที่สุด ชาวอังกฤษในประเทศไทยหรือที่กำลังคิดจะเดินทางไปยังประเทศไทยควรตรวจดูคำแนะนำการเดินทางของกระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักร ซึ่งจะปรับแก้เป็นระยะเพื่อให้ทันกับสถานการณ์" นายเฮกกล่าว
ด้านประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำ ฝรั่งเศส แถลงประณามการรัฐประหาร และเรียกร้องให้กลับคืนสู่การใช้หลักรัฐธรรมนูญในทันที พร้อมกับตระหนักถึงความสำคัญในสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
นายแฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รมว.ต่างประเทศเยอรมนี ประณามการตัดสินใจทำรัฐประหารของกองทัพไทย พร้อมออกแถลง การณ์เรียกร้องให้กองทัพไทยคืนกระบวนการทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด และย้ำว่า ผู้นำกองทัพไทยควรเปิดการเจรจาทางการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะการปูทาง ไปสู่การเลือกตั้ง และต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนชาวไทยว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญและ เสรีภาพของสื่อจะต้องไม่ถูกละเมิด นอกจากนั้นเรียกร้องให้ชาวเยอรมันที่พำนักอยู่ในประเทศ ไทยให้ติดตามสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ
ส่งกลับ - เจ้าหน้าที่ทหารนำบรรดาผู้ชุมนุมกปปส.จากทั้งเวทีชุมนุมราชดำเนินและหน้ายูเอ็น ไปส่งขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อให้เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่อยู่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.
กระทบสัมพันธ์ออสเตรเลีย
ขณะที่ประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิก ต่างแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ของประเทศไทยเช่นกัน โดยนางจูลี บิช็อป รมว.ต่างประ เทศออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ในนามรัฐบาลออสเตรเลียต่อการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย ว่า รัฐบาลออสเตรเลียมีความห่วงใยเป็นอย่างมากที่ฝ่ายทหารได้เข้าควบคุม การบริหารงานของรัฐบาลในประเทศไทย นับเป็นพัฒนาการของสถานการณ์อันน่าเสียใจ
"รัฐบาลออสเตรเลียกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการของสถานการณ์อันน่าเสียใจ นี้ และพิจารณานัยยะที่มีต่อสายสัมพันธ์ระดับรัฐบาลระหว่างประเทศออสเตรเลียและประเทศไทย ดิฉันหารือถึงสถานการณ์กับเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และจะสื่อความห่วงใยของออสเตรเลียอย่างชัดเจนไปยังเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในกรุงเทพฯ และผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ที่ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลียและประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและอบอุ่นมาเป็นเวลามากกว่า 60 ปี โดยมีความสนใจร่วมกันและความปรารถนาดีเป็นพื้นฐาน หวังว่าในประเทศไทยซึ่งเป็นมิตรประเทศของออสเตรเลียจะพบกับเสถียรภาพทางการเมืองและความสามัคคีของสังคมอีกครั้งในเร็ววัน" นางบิช็อปกล่าว
ญี่ปุ่นจี้ฟื้นฟูประชาธิปไตย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีคำเตือนถึงชาวออสเตรเลียทุกคนที่กำลังเดินทางเยือนประเทศไทย หรืออยู่ในประเทศไทยแล้ว ควรใช้ความระมัดระวังในระดับสูง และใส่ใจเรื่อง ความปลอดภัยของตน ชาวออสเตรเลียควรปฏิบัติตามประกาศการห้ามออกจากเคหสถาน ทั่วราชอาณาจักรระหว่างเวลา 22.00-05.00 น. ชาวออสเตรเลียควรปฏิบัติตามคำสั่งของ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและหลีกเลี่ยงทุกการประท้วง และสถานที่ประท้วง กิจกรรมทางการเมือง และการชุมนุมขนาดใหญ่
ด้านนายหง เล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยว่า "จีนและไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน รัฐบาลจีนคาดหวังว่า สถานการณ์ภายในประเทศไทยจะกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด"
ในวันเดียวกัน นายฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น แถลงว่าเสียใจต่อการรัฐ ประหารในประเทศไทย รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องฟื้นฟูการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว และรัฐบาลญี่ปุ่นจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลความปลอดภัยของชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย
สิงคโปร์ขอให้เลี่ยงนองเลือด
ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศไทยหลีกเลี่ยงความรุนแรงและการนองเลือด โดยระบุว่า ไทยเป็นประเทศ ที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความไม่มั่นคงของประเทศไทยจะส่งผล กระทบต่อทั้งภูมิภาค
ด้านกระทรวงต่างประเทศมาเลเซียออกแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลมาเลเซียขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาหนทางในการแก้ปัญหาความ ขัดแย้งอย่างสันติ และคาดหวังว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติในเร็ววันนี้
นอกจากนั้น ประกาศเตือนชาวมาเลเซียให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อความปลอดภัย และแนะนำชาวมาเลเซียที่พำนักอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเวลาที่ประกาศเคอร์ฟิว รวมถึงกักตุนน้ำและอาหาร
ชี้กระทบเข้าประชาคมอาเซียน
รัฐบาลอินโดนีเซียแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการรัฐประหารในประเทศไทย โดยนายมาตรี นาตาเลกาว่า รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียออกแถลงการณ์ระบุว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน และอยู่ภายใต้กฎบัตรอาเซียนซึ่งมีพันธสัญญาในการปฏิบัติตามหลักการประชา ธิปไตย ทั้งอาเซียนและอินโดนีเซียจะจับตาสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเรียกร้องให้กองทัพไทยและพลเรือนทำงานร่วมกันในการสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองและแก้ไขสถานการณ์ของประเทศโดยเร็ว นอกจากนั้นระบุว่า อินโดนีเซียจะหารือกับประเทศพม่า ในฐานะประธานอาเซียน เพื่อจัดหาความช่วยเหลือทางการเมืองแก่ประเทศไทย
สื่อนอกวิเคราะห์-ไทยพินาศ
ขณะสื่อต่างประเทศรายงานวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในไทยอย่างต่อเนื่อง นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีจากอังกฤษ รายงานว่า ประชาธิปไตยกำลังพังพินาศลง รัฐประหารครั้งนี้แรงกว่าเมื่อปี 2549 เพราะเวลานั้นกองทัพออกมาขอโทษพร้อมกับให้คำมั่นว่าจะนำพาประเทศกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว แต่ครั้งนี้ยังไม่มีคำสัญญาเช่นว่านั้น กลับมีการควบคุมด่านชายแดนเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้นำกลุ่มต่อต้านหลบหนี ก่อนระบุว่า ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต้องการจะทำอะไร แต่เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์มีเหตุผลที่จะกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช. เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดีกว่าเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา และยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นิตยสารไทม์ระบุว่า ประเทศไทยกำลังทำลายศักยภาพของตนเอง และตกอยู่ในสภาวะที่ปกคลุมไปด้วยความวุ่นวาย หลังจากการประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว โดยกลุ่มผู้ประท้วงทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดงออกมาชุมนุมตามท้องถนน และศาลรัฐธรรมนูญขับไล่รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนทหารเข้ายึดอำนาจในที่สุด โดยเหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 28 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 700 คน และยังทำลายจุดแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ
ศก.พัง-นักท่องเที่ยวหด
การไร้เสถียรภาพและรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2557 ลดลงร้อยละ 2.1 ขณะที่การลงทุน การบริโภค และการอุดหนุนเงินจากภาครัฐลดลง มีการระงับการลงทุนราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 4.5 แสนล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวลดลง
ไทม์ยังระบุอีกว่า หากไทยไม่สามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้ในเร็วๆ นี้ แคปิตอล อีโคโนมิกส์ บริษัทวิจัยอาจปรับเป้าจีดีพีของไทยให้อยู่ที่ราวร้อยละ 1 เนื่องจากการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร เพียงแต่รับประกันความสงบเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น และไม่ได้ยืนยันว่าความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีก
ชี้เกิดแรงต้านในอนาคต
สำนักข่าวอัลจาซีราสัมภาษณ์นายเดวิด สเตร็กฟัซ นักวิเคราะห์ด้านการเมืองจากจังหวัดขอนแก่นมองว่า มีความพยายามที่จะทำลายความตั้งใจของกลุ่มคนเสื้อแดงและรัฐบาล เพื่อที่สิ่งต่างๆ จะได้เดินไปตามแนว ทางของกลุ่มกปปส. แต่ศาสตราจารย์พอล แชมเบอร์ส จากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นแตกต่างออกไปว่า กลุ่มคนเสื้อแดงจะยังไม่ตอบโต้ เนื่องจากฝ่ายกองทัพยังคงมีอำนาจเหนือกว่า และสถานะของคนเสื้อแดงในช่วงนี้ยังไม่แข็งแกร่ง แต่ในอนาคตเมื่อประชาชนโกรธแค้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้น การทำรัฐประหารอาจยิ่งทำให้พลังของประชาชนแข็งแกร่ง ขณะที่การรัฐประหารเป็นความพยายามที่จะทำให้การกลับเข้าสู่อำนาจของกลุ่มนิยมเจ้าเป็นสิ่งที่ยุติธรรม การทำลายประชาธิปไตย และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของคนส่วนมากนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี ยังมีประชาชนอีกหลายคนที่โกรธแค้นกับสิ่งที่เกิดขึ้น
ไทยตามหลังปท.เพื่อนบ้าน
เอพีรายงานว่า การก่อรัฐประหารส่งผล กระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย จากเดิมที่ไทยเป็นประเทศชั้นนำในเรื่องรายได้ และคุณภาพชีวิต และเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ในเอเชีย มีมูลค่าจีดีพีอยู่ที่ราว 3.66 แสนล้านดอลลาร์ 10.98 ล้านล้านบาท กระทั่งตั้งแต่เกิดความไม่สงบทางการเมือง เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสแรก มูลค่าตลาดหุ้นและค่าเงินได้รับผลกระทบ ขณะที่มูดี้ส์ประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยในปีนี้น่าจะโตได้ไม่เกินร้อยละ 0.2 ในปีนี้ หรืออาจตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถด ถอยก็เป็นได้ โดยในระยะยาวความไม่มั่นคงทางการเมืองจะยิ่งทำให้ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ในการแข่งขันกันเป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การลงทุนในอาเซียน
คนไทยรวมตัวต้านรัฐประหาร
สำหรับ ความเคลื่อนไหวภายในประเทศไทย เมื่อเวลา 17.35 น. ประชาชนกว่า 300 คน รวมตัวต่อต้านรัฐประหารที่หอศิลป์กทม. แยกปทุมวัน มีทั้งชูป้ายและตะโกนให้ทหารออกไปต่อเนื่องหลายนาที ขณะที่มีทหารพร้อมอาวุธประมาณ 10 นาย ยืนควบคุมสถานการณ์หน้าลานหอศิลป์ฯ ต่อมาประชาชนได้เดินขบวนขับไล่ให้ทหารออกไปจากบริเวณ ท่าม กลางความตึงเครียด ทั้งนี้ มีกลุ่มหญิงสาววัยทำงานประมาณ 7 คน ถือป้ายยืนประท้วงกลางแยกปทุมวันด้วย ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทหารได้ออกจากหน้าหอศิลป์ฯ ไปยืนอยู่บริเวณเชิงสะพานหัวช้างแล้ว
ล่าสุด ทหารเพิ่มกำลังกว่า 50 นาย สถาน การณ์ตึงเครียดอีกครั้ง ประชาชนเผชิญหน้า ที่หน้าวังสระปทุม เจ้าหน้าที่พยายามเจรจา แต่ประชาชนไม่ยอม
ทหารตรึงเข้ม-หวิดวุ่น
ต่อมาเวลา 18.15 น. ประชาชนกับทหารยืนห่างกัน ประมาณ 100 เมตร โดยมีนายธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.ฟ้าเดียวกัน และนายอานนท์ นำภา ทนายความ พยายามเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายใจเย็น เหตุการณ์ยังผ่อนคลาย ขณะที่ประชาชนรอจุดเทียนสันติภาพ อีก 1 ช.ม. คาดว่าจะแยกย้าย
ต่อมาเวลา 18.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน้าวังสระปทุม มีผู้หญิงเข้าไปต่อว่าทหาร จากนั้นมีผู้หญิงไม่ทราบฝ่ายวิ่งเข้ามาชกหน้าผู้หญิงคนดังกล่าว ก่อนวิ่งหลบหนีไปด้านหลังแนวทหาร เหตุการณ์ชุลมุน สถานการณ์เริ่มตึงเครียดอีกครั้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ราว 10 นาย เข้าเจรจากับประชาชนให้ถอยห่างจากแนวของเจ้าหน้าที่ทหาร
ทหารจับ 4 ผู้ชุมนุม
ต่อมาเวลา 19.00 น. ที่หน้าวังสระปทุม เจ้าหน้าที่ทหารเพิ่มกำลังเป็น 3 กองร้อย ประชาชนบางส่วนโห่ร้องตะโกนไล่เจ้าหน้าที่ทหาร ขณะที่ประชาชนบางส่วนทยอยเดินทางกลับ เหลือประชาชนรวมตัวกันบริเวณสกายวอล์ก และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ประมาณ 500 คน
เวลา 19.15 น. ประชาชนที่มารวมตัวกันบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหา นคร และด้านหน้าวังสระปทุม แยกย้ายกันเดินทางกลับ โดยประชาชนจะเดินทางมารวมตัวแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารในวันที่ 24 พ.ค. เวลา 17.00 น. อีกครั้ง
ต่อมาเวลา 19.25 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการด้านเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และชายไม่ทราบชื่ออีก 3 คน ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไป โดยมีนายธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.ฟ้าเดียวกัน ขอติดตามไปเป็นเพื่อน โดยขณะนี้ ทหารกระชับพื้นที่เข้าควบคุมแยกปทุมวัน ตัดถนนพญาไท เต็มพื้นที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทหารปล่อยผู้ถูกจับกุมทั้ง 4 ออกมา
นักวิชาการค้านรปห.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะบุคคล ประกอบด้วย โคทม อารียา ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ นันทิยา สุคนธ์ปฏิภาค ใจสิริ วรธรรมเนียม งามศุกร์ รัตนเสถียร เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช อังคณา นีละไพจิตร ประทับจิต นีละไพจิตร ชำนาญ จันทร์เรือง จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม จันทนา ภู่เจริญ เนติลักษณ์ นีระพล พนิดา วสุธาพิทักษ์ ศิริพร ฉายเพ็ชร ปัททุมมา ผลเจริญ ชัชวาล ทองดีเลิศ สุจิตรา สุทธิพงศ์ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์ อาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย และ ขวัญชาย ดำรงขวัญ ร่วมออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เรียกร้องให้กองทัพบกยุติการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ ตลอดจนการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และขอให้ฟื้นคืนประเทศกลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำ อันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่บัญญัติห้ามการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ ขอให้ผู้รักและมีความจริงใจต่อประชาธิปไตยทุกคนอาศัยสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 เพื่อต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง ประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
แดงพัทยารวมตัวต้านปว.
เมื่อเวลา 16.30 น. ที่พัทยา จ.ชลบุรี รายงานว่า มีกลุ่มคนเสื้อแดงพัทยา 50 คน เดินทางมารวมตัวที่หน้าห้างสรรพสินค้าเทสโต้ โลตัส สาขาพัทยาเหนือ ฝั่งตรงข้ามศาลาว่าการเมืองพัทยา พร้อมกับจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำรัฐประหาร
ต่อมา พ.อ.คม วิริยะเวชกุล ผบ.ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มณฑลทหารบกที่ 14 จ.ชลบุรี นำกำลังทหาร 1 กองร้อยขึ้นรถบรรทุก เดินทางมาที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ก่อนตรึงกำลังบริเวณพื้นที่โดยรอบ และปิดประตูทางเข้า-ออกหน้าเมืองพัทยา ทำให้เจ้าหน้าที่และพนักงานเมืองพัทยาที่กำลังจะเลิกงานเตรียมตัวกลับบ้านต้องพากันทยอยออกทางประตูหลัง
จากนั้น พ.อ.คมเข้ามาพูดคุยเจรจากับกลุ่มมวลชนผ่านทางโทรโข่งให้เดินทางกลับบ้าน และจะนำเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน กรณีประกาศเคอร์ฟิว ทำให้ผู้ประกอบการสถาน บันเทิงและสถานที่ท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ ไปนำเสนอให้ผู้บังคับบัญชาได้พิจารณา ต่อไป
นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ นอภ.บางละมุง เปิดเผยว่า ตนรู้สึกเห็นใจผู้ประกอบการและประชาชนที่หาเช้ากินค่ำที่ต้องมาได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบของบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เกี่ยวกับเรื่องขอผ่อนผันเวลาปิด-เปิดสถานบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากทางทหารพูดคุยทำความเข้าใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางกลุ่มมวลชนจึงได้พากันสลายตัวในเวลาต่อมาโดยไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรง แต่ยังคงมีเจ้าหน้าที่ ทหารคอยประจำการอยู่ที่หน้าศาลาว่าการเมืองพัทยา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยต่อไป
เมื่อเวลา 19.30 น. ที่ จ.เชียงใหม่ นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ อาจารย์ ประชาชนเชียงใหม่ 300 คน รวมตัวกันที่ประตูช้างเผือก จุดเทียน ถือป้ายโจมตีทหาร ที่ทำการรัฐประหาร จากนั้น ทั้งหมดก็ได้พร้อมใจกันเดินแห่ไปรอบคูเมืองเชียงใหม่ เรียกร้องให้คืนอำนาจแก่ประชาชน