- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 28 October 2014 09:39
- Hits: 3927
สปช. 175:39 ล้ม'คนนอก'ชิงกันเอง ให้วิปคัดคนในนั่ง 20 กมธ. 9 สนช.อาสา-เคาะ 30 ตค. ดันสุวณาตัวจริงดีเอสไอ ครม.ถกโผ'ผวจ.-ผู้ตรวจ'บิ๊กตู่เฉ่งสปท.อย่าผิดกม. ทร.สั่งสอบถือปืนเข้าศาล
สปช.โหวตหักคนนอก 175 เสียง ริบคืนเก้าอื้ กมธ.ยกร่าง เผย'สุวณา'มาแรงลุ้นเป็นอธิบดีดีเอสไอหญิงคนแรก 'บิ๊กตู่'เตือนกลุ่ม สปท.ต้องทำตามกฎหมาย
@ "บิ๊กตู่"ชี้สปท.ต้องทำตามกม.
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกรณีเครือข่ายภาคประชาชนรวมกันเปิดตัวสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเกี่ยวข้องกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพียงสภาเดียว นอกจากนั้นต้องไปดูว่าอะไรที่รัฐบาลกำหนดเพิ่มเติมไป อย่างเช่นที่ปรึกษา และช่องทางที่ส่งรายละเอียดเข้ามาได้ผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์ดำรงธรรม และสำนักเลขาธิการรัฐสภา นั่นคือช่องทางของรัฐบาล นอกจากนั้นคือไม่ใช่ ถ้า สปท.จะมีเรื่องเสนอมาต้องเข้าตามช่องทางดังกล่าว ส่วน สปท.จะจัดเวทีคู่ขนานก็ต้องไปดูในส่วนของกฎหมายมีปัญหาอะไรหรือไม่ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องให้รองนายกฯฝ่ายกฎหมายพิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า สปท.ระบุว่าจะทำหน้าที่เหมือนสภากระจก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สภากระจกมันตั้งได้หรือเปล่า ตนไม่รู้ตอนนี้ ก็ต้องลองดู เพราะวันนี้ประเทศมีกฎหมายอยู่ อย่างไรก็ตามไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น สปท.ก็ไปเสนอเข้ามาตามช่องทางสิ ไม่เห็นจะเป็นปัญหา
@ ไม่ขัดข้องรับฟังความเห็นทั้งปท.
"ผมไม่ขัดข้องที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนทั้งประเทศ อยากให้เข้าใจว่าฟังกันแล้วก็หาทางออกหาข้อสรุปให้ได้ ถ้าฟังกันแล้วไปกันไม่ได้ แล้วจะฟังทางไหน ทุกคนคือประชาชนไทยหมด ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใดก็แล้วแต่ ทำอย่างไรจะหาข้อสรุปได้นั่นคือเรื่องสำคัญ ถ้าขัดแย้งตั้งแต่ต้นก็แก้ไขอะไรไม่ได้ ผมเรียนอีกครั้งว่าการปฏิรูปแก้ไขในปีเดียวไม่ได้ทั้งหมด ทั้ง 11 ด้านต้องมีมาตรการระยะสั้นให้สำเร็จใน 1 ปี จากนั้นรัฐบาลต่อไปก็ไปทำให้เกิดกลไกต่อ นี่เป็นการเริ่มต้น แต่ก็ขัดแย้งกันอีกแล้ว ผมไม่อยากจะยุ่งเกี่ยว แต่ผมรับผิดชอบตรงนี้ก็อยากจะขอร้องให้ทุกคนไปหาช่องทางให้เกิดการปฏิรูปให้ได้ คนไทยทุกกลุ่มล้วนรักชาติรักแผ่นดิน แต่ต้องหาข้อสรุปให้ได้อยู่บนพื้นฐานของประเทศชาติ ถ้าเราดีจริงก็ไม่มีปัญหา สุดท้ายก็เข้ามาในระบอบประชาธิปไตยของเราอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
@ พร้อมดูแลค่าตอบแทนปลัดอำเภอ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกรณีสมาพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทยเรียกร้องปรับโครงสร้างและเพิ่มค่าตอบแทนว่า กำลังดูอยู่ ในชั้นต้นต้องยอมรับว่าปัญหาในประเทศมีมาก เป็นข้าราชการในช่วงแรกก็ต้องเสียสละบ้าง ดูอยู่ว่าจะดูแลคนเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ใช่เริ่มทำก็เริ่มเรียกร้อง ตนยังไม่เรียกร้องอะไรเลยและกำลังชื่นใจว่าทุกคนเสียสละกันดี อยากให้เข้าใจว่างานเยอะขึ้น แต่เป็นหน้าที่ของข้าราชการของแผ่นดินในการดูแลประชาชน ส่วนเรื่องผลประโยชน์ค่าตอบแทนจะดูให้
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกรณีมีคำสั่งให้ทุกกระทรวงส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์บริการประชาชนว่า เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนในแต่ละวันจำนวนมาก บางเรื่องข้าราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร จึงได้เปิดช่องทางเพิ่มขึ้น ทุกกระทรวงก็จัดคนมารับเรื่องไป บอกไปแล้วว่าปัญหาต้องแก้สองทางคือ จากรัฐบาลสั่งการลงไปและในพื้นที่โดยศูนย์ดำรงธรรมก็แก้ปัญหาไป วันนี้มีการรับเรื่องโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อไม่ให้งานมาตกหนักที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
@ "มท.1"เรียกผู้บริหารถกทุกจันทร์
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังการประชุมหารือข้อราชการว่า แนวทางการทำงานของกระทรวงอยากให้ระดับบริหารและระดับนโยบายเบื้องบนคุยกันในวันจันทร์ของทุกสัปดาห์ พูดถึงทุกเรื่องที่ต้องดำเนินการ ยกตัวอย่างวันนี้ได้คุยเรื่องการประเมินการปฏิบัติงานของประทรวงโดยภาพรวมว่า จะประเมินอย่างไรให้ครอบคลุมและให้เกิดการทำงานที่ดี เช่น เรื่องความโปร่งใส จะทำอย่างไรให้ผู้ที่ปฏิบัติงานระดับพื้นที่ทำงานอย่างโปร่งใส เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพูดคุยกันถึงเนื้องานและการจะทำงานอย่างไรให้ได้เนื้องานที่ดีด้วย โดยเฉพาะเรื่องแบบสอบถามหรือวิธีที่ชุดตรวจจะลงไปทำงาน จะใช้ชุดตรวจทางการเป็นหลักนั่นคือ ชุดตรวจ 12 สายที่เรามีอยู่ แต่ว่า 12 สายจะต้องครอบคลุมพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัดทั้งหมด ต้องประเมินระยะเวลากันทุกเดือนด้วย
@ "เทียนฉาย"โยนมติสปช.เคาะโควต้า
ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม สปช.ครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาสัดส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน ของ สปช.ว่า สัดส่วนคนใน 15 คน และคนนอก 5 คน เป็นเพียงตุ๊กตาที่วิป สปช.ชั่วคราวเป็นผู้เสนอ แต่สุดท้ายจะกำหนดสัดส่วนอย่างไรขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุม สปช.ครั้งที่ 2 สมาชิก สปช.แต่ละด้านต่างแยกย้ายกันไปประชุมหารือถึงแนวทางดำเนินงานการปฏิรูป ตลอดจนถึงการกำหนดสัดส่วนที่จะเข้าร่วมคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเห็นด้วยกับวิป สปช.ชั่วคราว ที่เสนอให้คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากคนใน สปช. 15 คน และคนนอก 5 คน
@ "ชัย"บอกปชป.ยังไม่เอา"จ้อน"
ด้านนายชัย ชิดชอบ สปช.ด้านการเมือง ในฐานะประธานการประชุม สปช.ด้านการเมือง ได้หารือประเด็นเดียวกัน ส่วนใหญ่มองว่าสัดส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 20 คนของ สปช. ควรมาจากคนใน สปช.ทั้งหมด เพื่อการทำงานที่รวดเร็วเพราะกรอบเวลามีอยู่จำกัด หากให้มีคนนอกเข้ามาอาจจะเกิดปัญหาทั้งภายในและภายนอกตามมา
นายชัย กล่าวว่า การที่นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ด้านพลังงาน เลขานุการวิป สปช.ชั่วคราวเสนอสัดส่วนคนใน 15 คน คนนอก 5 คน ทางพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เองก็ยังไม่เอานายอลงกรณ์เลย จึงอย่าไปคิดมาก เพราะการเสนอแบบนี้เป็นการลดศักดิ์ศรีของ สปช.เอง
@ "เทียนฉาย"นั่งปธ.เฉพาะคราว
ต่อมา การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น โดยนายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปช.ได้เชิญนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สปช.ด้านอื่นๆ ผู้มีอาวุโสสูงสุดขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม นายพารณจึงได้ปรึกษากับที่ประชุมเพื่อของดเว้นใช้ข้อบังคับข้อที่ 22 ให้ที่ประชุมเลือกประธานขึ้นมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมชั่วคราว จากนั้นที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 230 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ให้เลือกประธานเฉพาะคราว
จากนั้น นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิก สปช.ด้านการเมือง เสนอชื่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช.ทำหน้าที่ประธานเฉพาะคราว ทำให้นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมขึ้นอภิปรายว่า การเลือกนายเทียนฉายทำหน้าที่ประธานเฉพาะคราว ทั้งที่ที่ประชุมมีมติเลือกเป็นประธาน สปช.แล้ว เกรงว่าอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดและเป็นการไม่บังควร มีผลต่อการเคารพนายเทียนฉาย จึงขอเสนอชื่อนายพารณทำหน้าที่ประธาน
ทางด้านนายพารณได้ขึ้นกล่าวขอถอนตัวเนื่องจากความว่องไวลดน้อยลง ทำให้นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช.ด้านการเมืองเสนอสนับสนุนนายเทียนฉายทำหน้าที่ประธานเฉพาะคราว ก่อนจะเริ่มเข้าสู่วาระการประชุมรายงานความคืบหน้าการปฏิบัติหน้าที่ของ กมธ.กิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) หรือวิป สปช. ที่ให้พิจารณาแนวทางการสรรหาบุคคลที่ สปช.เสนอเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน
@ "จ้อน"ชงสัดส่วนกมธ.ยกร่างฯ
นายอลงกรณ์ พลบุตร อภิปรายว่า การประชุมวิป สปช.ชั่วคราว เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา มีความเห็นในทางเดียวกันว่า วันที่มีการประชุม สปช.ครั้งแรกและวันที่เรียกการประชุม สปช.ครั้งแรกเป็นวันเดียวกัน คือ วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ดังนั้น การสรรหาผู้มีคุณสมบัติสมควรเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องแล้วเสร็จในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ และได้มีการพิจารณาแนวทางคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติสมควรเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของสปช. ต้องไม่ขัดกับมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว
นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องสมัครใจในการรับการเสนอชื่อ โดยมีสัดส่วนจาก สปช.หรือคนใน 15 คน และคนนอก 5 คน ซึ่งการสรรหา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช.มาจากการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมจาก สปช. 11 ด้าน และภาคต่างๆ 4 ภาค รวม 15 คน ทางวิป สปช.ชั่วคราวจะสรรหาผู้เหมาะสมอีก 5 คน แล้วเสนอที่ประชุม สปช.ให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้ วิปสปช.ชั่วคราวได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้ทุกวันจันทร์และวันอังคารเป็นวันประชุม สปช. โดยในวันที่ 28 ตุลาคม ที่ประชุม สปช.จะให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
@ "เสรี"ออกโรงค้านโควต้านอกสปช.
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้ขึ้นอภิปรายว่า เห็นควรให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมาจาก สปช.ทั้ง 20 คน เพื่อสะท้อนแนวคิดและข้อเสนอแนะของสปช.ให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปพิจารณา เพราะกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีตั้งแต่ให้เสนอความเห็น 60 วันแรก หลังที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความเห็นจากสภา สปช.แล้ว ต้องยกร่างให้เสร็จภายใน 120 วัน ดังนั้น การทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่าเข้าใจว่าเป็นอิสระ เพราะการเขียนเนื้อหาต้องเป็นไปตามความเห็นของ สปช. ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะไม่เขียนว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องรับฟังข้อเสนอแนะจาก สปช.ก่อนเริ่มเขียน หลังจากที่เขียนภายใน 120 วันเสร็จแล้ว กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องส่งให้ สปช.พิจารณาภายใน 10 วัน ซึ่ง สปช.
สามารถแก้ไขหรือแปรญัตติแก้ไขภายใน 30 วัน เมื่อแล้วเสร็จส่งไปให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อภายใน 60 วัน หลังจากนั้นต้องให้ สปช.ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
@ หวั่นเสียงคนนอกคุมเกมสภา
นายเสรีกล่าวอีกว่า กระบวนการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งของ สปช.ที่ต้องรับผิดชอบการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จตามความเห็นพ้องต้องกัน ความสำคัญคือ ให้เสียง สปช. 20 คน สะท้อนความต้องการ ความคิดเห็น และข้อมูลไปยัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หากจำกัดจำนวนสมาชิก สปช.ไปทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเพียง 15 คน จากทั้งหมด 20 คน ทำให้เห็นว่าคนนอก สปช.จะมีจำนวนเยอะกว่า คือ คนนอกจากสัดส่วน สปช. 5 คน และสัดส่วนจาก ครม. สนช. คสช. รวม 15 คน จะทำให้รวมสัดส่วนคนนอก สปช.มีถึง 20 คน ดังนั้น สิ่งที่สะท้อนเสียง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญใน สปช. จึงเหลือเพียง 15 คน แล้วจะพิจารณาไปทำไม เพราะเสียงอยู่นอกสภาหมดแล้ว โอกาสที่จะไม่เป็นไปตามความเห็นสภา สปช.จึงเป็นไปได้สูง
@ ร่ายผลเสียสปช.สัดส่วนคนนอก
"เสียง 15 คน ในสัดส่วนของ สปช.จะเกิดปัญหา หลังจากนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไปยกร่างอะไรมา ตามความเห็นเสียงข้างมาก 20 คน ส่วนเสียงจาก สปช. อีก 15 คน อาจคิดเห็นไปตามเสียงข้างมาก เมื่อร่างรัฐธรรมนูญกลับมาสู่ สปช.เพื่อให้ความเห็นชอบอาจเกิดปัญหาได้ เพราะคนร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่เชื่อมโยง
ไม่ต้องรับผิดชอบไม่ตรงกับแนวคิด สปช. ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบได้ กลายเป็นว่าหากประเด็นสำคัญไม่ตรงกัน สปช.ที่อยากทำหน้าที่ต่อก็ต้องให้ความเห็นชอบไป ซึ่งไม่ใช่แบบนั้นเพราะทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ตรงกัน ประเด็นสำคัญไม่ก่อให้เกิดการปฏิรูป เขาลงมติไม่เห็นชอบได้ หากฉบับร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนมายัง สปช.แล้วไม่เข้าท่า ไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศ แต่ไปรับรองแนวคิดทางการเมืองของคนบางกลุ่มที่หาประโยชน์อยู่ อาจแก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงไม่ได้ ผมไม่รับแม้จะตายตกไปตามกัน ทั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและ สปช.ก็ต้องยอม แต่ก็ไม่อยากให้เห็นแบบนั้น ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญกับเสียงใน สปช.ที่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก" นายเสรีกล่าว
@ "ไพบูลย์"ห่วงผลักดันปฏิรูปเหลว
ต่อมานายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.ด้านการเมือง อภิปรายไม่เห็นด้วยกับโควต้าคนนอกในส่วนของ สปช.ว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นภาระของสมาชิก สปช.ที่อาสามาปฏิรูปให้สำเร็จลุล่วง โดยส่วนของตนจะเสนอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปในแต่ละด้านอย่างแท้จริง อาจจะมีผลยกเลิกกฎหมายที่ขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป ส่วนสัดส่วนให้ สปช. 20 คนเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเสียงข้างมากเพื่อผลักดันการปฏิรูป ถือเป็นโอกาสที่จะได้ทำงานอย่างสมบูรณ์ ถ้าเหลือสัดส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.แค่ 15 คนจะเป็นเสียงข้างน้อยและยุ่งยาก ทั้งที่สมาชิก สปช. 250 คนได้บุคคลที่มีความหลากหลายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว หากทำตามข้อเสนอของวิป สปช.ชั่วคราว เกรงจะสร้างปัญหาในวิปเสียเอง
"ผมเชื่อว่าหากนำบุคคลภายนอกเข้ามาจะมีข้อครหาว่ามีการเอื้อประโยชน์ รวมทั้งบุคคลภายนอกยังมีข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ เพราะหากเอาคู่ขัดแย้งมาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่สังกัดพรรคการเมือง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ อีกฝ่ายก็จะวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เกิดความขัดแย้ง กลับต้องมาตอบคำถามสังคมไม่มีที่สิ้นสุด สัดส่วน 15+5 จะสร้างปัญหาให้กับ สปช.อย่างแน่นอน" นายไพบูลย์กล่าว
@ "บวรศักดิ์"แจงดึงคู่ขัดแย้งร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สปช.รายอื่นยังได้ลุกขึ้นอภิปรายอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการให้คนนอกเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กระทั่งเวลา 12.30 น. นายเทียนฉายขอพักการประชุม
ต่อมาเวลา 13.50 น. เริ่มการประชุมต่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช.คนที่ 1 และในฐานะกรรมาธิการประสานงาน สปช. (วิป สปช.) ขึ้นชี้แจงเหตุผลที่เสนอให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เพื่อเปิดกว้างให้พรรคการเมืองที่ไม่มีตัวแทนเข้ามามีส่วนร่วมกับการปฏิรูป ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) รวมถึงคู่ขัดแย้งอื่น ได้แก่ กปปส. และ นปช. เพื่อไม่ต้องการให้สังคมมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเพียงเอกสารที่ถูกตราว่าเป็นกติกาของผู้ชนะที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อีกทั้งต้องการยุติความขัดแย้งที่สั่งสมมาหลายสิบปี จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้ขัดแย้งร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ให้เข้ามาเป็นเสียงข้างมากใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือเข้ามาครอบงำการร่างรัฐธรรมนูญ
@ เผยคู่ขัดแย้งไม่ร่วมไม่เป็นไร
"สภา สปช.ถือเป็นสภาที่ไม่มีพวก ต้องการระงับความขัดแย้ง สร้างข้อยุติให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง จึงยื่นมือไปยังกลุ่มดังกล่าว คือ ส่งเรื่องไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองให้พิจารณาส่งบุคคลเข้ามาร่วม แต่หากไม่ร่วมด้วยไม่เป็นไร เป็นการแสดงน้ำใจให้เห็น สปช.ไม่ต้องการเขียนกติกาของผู้ชนะไปเล่นงานผู้แพ้ ต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ประเด็นดังกล่าวจะสร้างการยอมรับ ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า สปช.ไม่เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม ส่วนข้อเสนอของวิป สปช.ชั่วคราวที่เป็นเพียงคณะทำงานของ สปช. เป็นเพียงข้อเสนอให้ สปช.ตัดสินใจ ส่วนจะลงมติเห็นชอบหรือไม่ วิป สปช.ชั่วคราวรับได้ทั้งสิ้น" นายบวรศักดิ์กล่าว
@ มติสปช.175เสียงไม่เอา"คนนอก"
เวลา 14.30 น. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช.ด้านการเมือง เสนอญัตติให้ปิดการอภิปราย ด้วยคะแนนเสียง 198 เสียง ต่อ 2 เสียง เห็นชอบให้ปิดอภิปราย จากนั้นที่ประชุมลงมติในข้อเสนอของวิป สปช.ที่ให้มีสัดส่วนบุคคลภายนอก 5 คน ร่วมเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามสัดส่วนที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สปช.เสนอจำนวน 20 คน ปรากฏว่าเสียงข้างมาก 175 เสียงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอวิป สนช.ชั่วคราว ต่อ 39 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง ทำให้ สปช.ต้องคัดเลือกบุคคลที่เป็นสมาชิก สปช.เข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 20 คน จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาหลักเกณฑ์คัดเลือก สปช.เพื่อเข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
@ ให้วิปสปช.ช่วยคัดกมธ.ยกร่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการสรรหา สปช.เข้าทำหน้าที่ในคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีทั้งเสนอให้สมาชิก สปช.ทั้ง 11 ด้านส่งตัวแทนด้านละ 1 คน ส่วน สปช.จังหวัดให้เสนอมาเป็นภาคละ 1 คน รวมเป็น 15 คน และอีก 5 คนที่เหลือให้สมาชิก สปช.เสนอชื่อต่อที่ประชุมเพื่อลงมติเลือก หรือเปิดโอกาสให้สมาชิกที่สนใจเสนอตัวเข้ามา แต่นายบวรศักดิ์ทักท้วงตามมาตรา 33 กำหนดว่า โควต้ามีไม่ได้ ต้องเสนอรายชื่อสมาชิก สปช.ที่ต้องการทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วให้สมาชิก สปช.ลงมติเลือกกันเอง ก่อนจะมีข้อสรุปในที่ประชุมออกมา ด้วยการมอบหมายให้วิป สปช.ชั่วคราวรับผิดชอบการคัดสรรสมาชิก สปช.จำนวน 20 คน ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้
เวลา 09.30 น. ก่อนนำเสนอที่ประชุมต่อไป ทั้งนี้ได้มีการนัดประชุม สปช.ในวันดังกล่าว เวลา 13.00 น. จากนั้นนายเทียนฉายสั่งปิดการประชุมในเวลา 16.15 น. รวมเวลาการอภิปรายกว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง
@ ตัวแทนสปช.แห่เสนอชื่อกมธ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ประชุม สปช. มีมติให้เลือกตัวแทน สปช.เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สัดส่วน สปช.จำนวน 20 คนนั้น ปรากฏว่า สปช.แต่ละด้านได้ตัวแทนเสนอเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว อาทิ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สปช.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม, นางทิชา ณ นคร สปช.ด้านการศึกษา, นายมานิจ สุขสมจิตร สปช.ด้านสื่อสารมวลชน, นางสารี อ๋องสมหวัง สปช.ด้านสังคม, นายเกริกไกร จีระแพทย์ สปช.ด้านเศรษฐกิจ, น.ส.ถวิลวดี บุรีกุล สปช.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน, พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สปช.จ.ร้อยเอ็ด ตัวแทนภาคอีสาน, นายประชา เตรัตน์ สปช.จ.ชลบุรี ตัวแทนภาคกลาง-ตะวันออก, นายเชิดชัย วงศ์เสรี สปช.จ.ภูเก็ต ตัวแทนภาคใต้, นายจุมพล สุขมั่น สปช.จ.เชียงราย ตัวแทนภาคเหนือ
สำหรับด้านที่เหลือ มี สปช.อาสาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหลายคน ทำให้ต้องลงมติเลือกอีกครั้งหนึ่ง ได้แก่ ด้านการปกครองท้องถิ่น นายจรัส สุวรรณมาลา และนายวุฒิสาร ตันไชย, ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายเข็มชัย ชุติวงศ์, ด้านพลังงาน นายคุรุจิต นาครทรรพ นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล และนายพรายพล คุ้มทรัพย์ และด้านการเมือง มี สปช.อาสากว่า 6 คน อาทิ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายอมร วาณิชวิวัฒน์ และนายชูชัย ศุภวงศ์
@ สนช.เคาะ5กมธ.ยกร่างฯ28ต.ค.
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) ให้สัมภาษณ์หลักเกณฑ์การคัดเลือกสมาชิก สนช.เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วน 5 คน ว่า วิป สนช.จะประชุมกันวันที่ 28 ตุลาคม หากสมาชิก สนช.สมัครเกิน 5 คน ก็จะพิจารณาเรื่องคุณสมบัติประกอบ ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วน สนช.ต้องมีความรู้ด้านกฎหมายการเมืองการปกครองและมหาชน รวมทั้งมีเวลาเต็มที่ในการทำงานกับ สนช. ส่วนสมาชิก สนช.คนใดที่ไม่ได้รับเลือก สามารถสมัครต่อที่ประชุมใหญ่ สนช.ได้ เมื่อได้ตัวบุคคลครบแล้ว จะนำให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.ลงมติวันที่ 30 ตุลาคมนี้
@ เล็ง5คนสนช.ร่วมยกร่างรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีสมาชิก สนช.เสนอตัวขอทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สัดส่วน สนช.แล้ว ได้แก่ 1.พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต ส.ว.สรรหา 2.นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 3.นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 4.นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง 5.นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม 6.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ กรรมการกฤษฎีกา 7.นายประมุท
สูตะบุตร อดีตผู้พิพากษา 8.พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ เจ้ากรมพระธรรมนูญ และ 9.นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่า สนช.ที่จะได้รับการคัดเลือกเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 5 คน ได้แก่ พล.อ.สมเจตน์ นายภัทรศักดิ์ นางกาญจนรัตน์ นายชูเกียรติ ส่วนที่เหลืออีก 1 คน ระหว่างนายทวีศักดิ์และนายวุฒิศักดิ์ต่างเป็นตัวแทนจากสถาบันการศึกษา
@ ปธ.สนช.ย้ำไม่เคยพูดถึง"คนนอก"
เมื่อเวลา 11.15 น. ที่รัฐสภา นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานประธานวิปรัฐบาล เป็นประธานการประชุมวิปรัฐบาลและวิป สนช. เพื่อหารือกรอบการทำงานและการพิจารณาร่างกฎหมายที่รัฐบาลจะต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช.พิจารณาเห็นชอบ โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ในฐานะวิป สนช.เข้าร่วม
นายสุรชัยให้สัมภาษณ์ถึงการเลือก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สนช.ว่า ขณะนี้อยู่ช่วงการรับสมัครจะหมดเขตในวันที่ 28 ตุลาคม เวลา 12.00 น. จากนั้นเวลา 13.30 น.ในวันเดียวกัน จะประชุมวิป สนช. คาดว่าคงมีผู้เข้าสมัครไม่ต่ำกว่า 5 คน ส่วนกรณีหากมีจำนวนน้อยกว่า 5 คน จะนำคนนอกเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น คิดว่า สนช.ไม่มีประเด็นเรื่องนี้ เพราะไม่เคยระบุให้คนนอกเข้าเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
@ อยากได้เซียนกฎหมายทำหน้าที่
นายสุรชัยยังกล่าวถึงคุณสมบัติของคนที่จะเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วน สนช.ว่า ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้เรื่องกฎหมายมหาชน โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นคนมีความคิดในเชิงปฏิรูปด้านใดด้านหนึ่งใน 11 ด้าน มีประสบการณ์ด้านการเมืองการปกครอง สุดท้ายต้องไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ยอมเสียสละที่จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องทางการเมืองในอนาคตอีก 2 ปี ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอีกองค์กรหนึ่งทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น หากกำหนดกติกาให้เหมือนกันทุกองค์กรจะเป็นผลเสีย จะไม่ได้ความเห็นที่หลากหลาย ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นอิสระ
เมื่อถามว่าการประชุม สนช.ในวันที่ 30 ตุลาคม จะมีการลงมติเป็นรายบุคคลที่จะสนับสนุนบุคคลใดเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า "น่าจะเป็นอย่างนั้น"
@ กมธ.ยกร่างฯไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวกรณี ป.ป.ช.เคยมีมติว่า สปช.ไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. แต่ยังมี สปช.บางคนต้องการจะยื่นทรัพย์สินว่า คนที่มีความประสงค์ก็ยื่นมาได้เพื่อความสบายใจ ป.ป.ช.ก็ต้องรับไว้ แต่ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบและไม่มีหน้าที่ในการเปิดเผยแต่จะเก็บเป็นข้อมูล อย่างเช่น อดีต ส.ว.หลายคนประสงค์จะยื่น ส่วนของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น ทาง ป.ป.ช.ไม่เคยพิจารณาว่าจะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพราะต่างก็รวมอยู่ใน สปช.อยู่แล้ว
นายวิชากล่าวถึงการพิจารณาสำนวนถอดถอน 39 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ ที่ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติส่งสำนวนกลับไปให้เจ้าหน้าที่ดูรายละเอียดข้อกฎหมายเพิ่มเติมนั้น ก็ต้องรอให้เจ้าหน้าที่สรุปก่อนว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือมีความผิดอื่นๆ หรือไม่ ก่อนส่งสำนวนกลับมาให้ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้ง
@ บิ๊กต๊อกอุบเงียบชื่ออธิบดีดีเอสไอ
ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้เสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คนใหม่แทน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ไปดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว โดยระบุว่าเป็นการเสนอชื่อคนในกระทรวงยุติธรรม คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันที่ 28 ตุลาคม ตนได้สอบถามไปที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่าได้ลงนามผ่านความเห็นชอบนำเสนอวาระที่ประชุมครม.แล้ว และตนยังได้เสนอแต่งตั้งตำแหน่งอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ว่างลงอีกตำแหน่งด้วย
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มีการเสนอชื่อคนนอกหรือคนในกระทรวงยุติธรรมเป็นอธิบดีดีเอสไอ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เสนอชื่อคนในกระทรวง ตนมีหน้าที่เสนอ แต่ ครม.จะเลือกใครไม่ทราบ ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ชื่อคนในที่เสนอเป็นบุคคลที่มีชื่อตัวเก็งก่อนหน้านี้หรือไม่ และชื่อคนในที่จะเสนอเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย พล.อ.ไพบูลย์กล่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถาม พร้อมกล่าวว่า "ถ้าผมตอบไปก็รู้หมด เอาไว้รอบ่ายๆ พรุ่งนี้ก็รู้แล้ว"
@ สุวณาเต็งดีเอสไอ-วีรยุทธลุ้นอีกกรม
พล.อ.ไพบูลย์ยังกล่าวว่า กรณีคณะกรรมการบริหารคดีพิเศษ (กคพ.) หรือบอร์ดคดีพิเศษที่หมด วาระ อยู่ระหว่างเร่งสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ มารับตำแหน่ง ถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่จะเรียกความเชื่อมั่นในการรับคดีพิเศษ
รายงานข่าวแจ้งว่า ชื่อบุคคลในกระทรวงยุติธรรมที่คาดว่า พล.อ.ไพบูลย์เสนอชื่อให้ ครม.พิจารณา คือ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม รับผิดชอบภารกิจด้านบริหารงานยุติธรรม ส่วนตำแหน่งอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน คาดว่าเสนอนายวีระยุทธ สุขเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้มารักษาการอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำหรับนางสุวณาทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลปัจจุบัน เข้าไปมีบทบาทกับ คสช. โดยได้แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการสรรหา สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้วย
แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า นางสุวณาแม้จะไม่ได้เป็นนักกฎหมาย เพราะจบการศึกษาคณะบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่มีบทบาทเข้าไปร่วมงานกับ คสช. มาตั้งแต่ต้น นอกจากนี้การให้นางสุวณาได้ขยับมาคุมงานดีเอสไอ ยังเป็นการลดกระแสต้านจากคนในที่ไม่ต้องการให้โอนตำรวจมาเป็นอธิบดีดีเอสไอด้วย