- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 28 October 2014 09:35
- Hits: 3718
วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8735 ข่าวสดรายวัน
ตั้ง สุวณา อธิบดีหญิง'ดีเอสไอ'เข้าครม.ย้าย 18 ผวจ. ทัพเรือตั้งกก.สอบ'นท.'พิษคลิปพกปืนเข้าศาล มติสปช.เมินคนนอก ร่วมนั่งกมธ.ร่างรธน.
ต้อนรับ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้อนรับนายมิเชล ซิดิเบ ผู้อำนวยการใหญ่โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ และรองเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะ ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 ต.ค. |
มหาดไทยตั้ง 18 ผู้ว่าฯใหม่ บิ๊กต๊อกชง'สุวณา'คุมดีเอสไอ รอครม. อนุมัติวันนี้ 'บิ๊กตู่'พอใจผลงาน 5 เดือน วอนทุกฝ่ายใจเย็นๆ และอดทน พร้อมรับฟังความเห็น ทุกคน สปช.โหวตโควตากมธ.ยกร่างรธน. ไม่เอาคนนอกเข้าร่วม ด้านสนช.วางตัว 5 กมธ.แล้ว 'วิชา มหาคุณ'ชี้กมธ.ยกร่างรธน. ไม่ต้องโชว์ทรัพย์สินเหมือนสปช. ทัพเรือแจงทหารพกปืน แค่เรื่องเข้าใจผิด ไม่เจตนาก้าวร้าว ผบ.ทร.สั่งตั้งกรรมการสอบแล้ว
"บิ๊กตู่"พอใจผลงาน 5 เดือน
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลโพลสำรวจความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาลลดลงไป 0.05 เปอร์เซ็นต์ ว่า ถือเป็นการทำโพลกับจำนวนคนในจำนวนจำกัด ผลสำรวจความนิยมขึ้นบ้าง ลงบ้าง ถ้าความนิยมมีคะแนนเพิ่มขึ้นก็มีกำลังใจเพิ่มขึ้นหน่อย แต่ถ้าลดลงก็ทำให้กำลังใจน้อยลงนิด ก็ไม่เป็นไร วันนี้ปัญหาเฉพาะหน้ามีมากทำให้การเดินหน้าไม่ค่อยสะดวกเพราะปัญหาเก่าเก็บหมักหมมมานาน ก็ต้องคอยแก้ปัญหาเก่า พร้อมๆ กับการเดินหน้าประเทศต่อ แต่ก็มีคนคอยสกัดกั้นอีก ไม่รู้จะไปกันอย่างไร แต่ยืนยันว่าไปได้แน่นอน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความพึงพอใจในการทำงานที่ผ่านมา 5 เดือนทั้งในนาม คสช.และรัฐบาล ว่า มีความพอใจ แต่อยากให้ทุกคนพอใจด้วยทั้งหมดว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นทำในทุกมิติ ด้านเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือจะรวมพลังกันอย่างไรในการจะต่อสู้กับภัยทางด้านเศรษฐกิจและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เช่น อยู่อย่างพอเพียง การสร้างภูมิคุ้มกัน วันนี้รัฐบาลก็พยายามอัดฉีดเม็ดเงินลงไป แต่ก็ต้องไปดูปัญหาเรื่องการทุจริตอีก ซึ่งการปฏิบัติต้องไม่เกิดเรื่องแบบนี้
ขอให้ใจเย็นๆ-อดทน
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงเศรษฐกิจปีหน้าว่า น่าเป็นห่วง เพราะเศรษฐกิจโลกก็ตกลง วันนี้รัฐบาลเตรียมแผนรับมือไว้แล้วแต่ไม่ได้หมายความว่าทำ 2-3 วัน หรือปีเดียวจะสำเร็จ เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคส่งออก ผลิตสินค้าให้ตรงความต้องการของตลาดโลก เจรจาพูดคุยกับรัฐบาลทั่วโลกและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นทิศทางเดียวกัน ไม่ต้องมาแข่งขันกันเอง หรือสินค้าบางประเภทผลิตเพื่อทำการค้าขายแค่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ก็จะทำให้เราอยู่ได้ เพราะถ้าหวังพึ่งการส่งออกไปยังประชาคมอื่นๆ คิดว่าคงยาก เพราะทั้งโลกเศรษฐกิจตกลงหมดเหลือเพียงประเทศใหญ่ๆ ที่ยังอยู่ได้ วันนี้เกือบทุกประเทศทั่วโลกประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
นายกฯ กล่าวว่า ขอให้ใจเย็นๆ และอดทน ตนไม่ได้บอกให้ทุกคนคิดเหมือนตน คิดต่างได้แต่อย่าสร้างความขัดแย้ง อยู่ร่วมกันให้ได้ มีอะไรก็ขอให้เสนอเข้ามา ยินดีรับฟังทั้งหมด ไม่ว่าจะเขียนหรือเสนอแนะอะไรเข้ามา เพราะที่ผ่านมาเราขาดการสร้างความเข้าใจ ขาดการสร้างความเข้มแข็ง ความชัดเจนว่ายุทธศาสตร์จะเดินหน้าอย่างไร ยอมรับเป็นงานยากที่จะสร้างความเข้าใจในระยะเวลาสั้น เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือน รัฐบาลเพิ่งบริหารประเทศมาเพียงเดือนเศษๆ แต่ปัญหาที่มีอยู่เกิดขึ้นมานานมากก็ต้องมาแก้ปัญหาตามหลัง และสร้างความเข้มแข็งให้กับราชการด้วย ดังนั้น เรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องก็ขอให้ลดลงจะได้ไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมขึ้นมาอีก
เผยมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในต่างจังหวัดว่า ขอแก้ปัญหาที่มีอยู่ตรงนี้ก่อน อย่างไรก็ตามในพื้นที่ต่างจังหวัดก็เริ่มหมุนเวียนลงพื้นที่ไปบ้าง ส่วนกรณีมีคำสั่งให้ทุกกระทรวงส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์บริการประชาชน เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก บางเรื่องข้าราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเราได้เปิดช่องทาง เพิ่มขึ้น ทุกกระทรวงก็จัดคนมารับเรื่องไป ตนบอกแล้วว่าปัญหาต้องแก้สองทาง คือจากรัฐบาลสั่งการลงไปและในพื้นที่โดยศูนย์ดำรงธรรม วันนี้มีการรับเรื่องโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อไม่ให้งานมาตกหนักที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีสมาพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างและเพิ่มค่าตอบแทน เรื่องนี้กำลังดูอยู่ ในชั้นต้นต้องยอมรับว่าปัญหาบ้านเรามีมาก เราเป็นข้าราชการ ช่วงแรกก็ต้องเสียสละบ้าง ก็ดูอยู่ว่าจะดูแลคนเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ใช่เริ่มทำก็เริ่มเรียกร้อง ตนยังไม่เรียกร้องอะไรเลยและกำลังชื่นใจว่าทุกคนเสียสละกันดี อยากให้เข้าใจว่างานเยอะขึ้น แต่เป็นหน้าที่ของข้าราชการของแผ่นดินในการดูแลประชาชน ส่วนเรื่องผลประโยชน์ ค่าตอบแทนตนจะดูให้
ชี้ตั้ง'สปท.'ต้องทำตามกม.
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กรณีเครือข่ายภาคประชาชนรวมกันแถลงเปิดตัวสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลเกี่ยวข้องกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพียงสภาเดียว นอกนั้นต้องไปดูว่าอะไรที่รัฐบาลกำหนดเพิ่มเติมไป อย่างเช่นที่ปรึกษา และช่องทางที่ส่งรายละเอียดเข้ามาได้ผ่านกอ.รมน. ศูนย์ดำรงธรรม และสำนักเลขาธิการรัฐสภา นั่นคือช่องทางของรัฐบาล นอกนั้นไม่ใช่ ถ้า สปท.จะมีเรื่องเสนอมาต้องไปทำตามช่องทางดังกล่าว
เมื่อถามว่า สปท.สามารถจัดเวทีคู่ขนานได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องไปดูในส่วนของกฎหมายว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องให้รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อถามว่า สปท.ระบุว่าจะทำหน้าที่เหมือนสภากระจก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สภากระจกมันตั้งได้หรือเปล่า ตนไม่รู้ตอนนี้ก็ต้องลองดู เพราะวันนี้เรามีกฎหมายอยู่ อย่างไรก็ตามตนไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ก็ไปเสนอเข้ามาตามช่องทางไม่เห็นจะน่าเป็นปัญหา
พร้อมรับฟังความเห็นทุกคน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนไม่ขัดข้องที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนทั้งประเทศ อยากให้เข้าใจว่าฟังกันแล้วก็หาทางออก หาข้อสรุปให้ได้ ถ้าฟังกันแล้วไปกันไม่ได้ แล้วจะฟังทางไหน ทุกคนคือประชาชนไทยหมด ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใด ทำอย่างไรจะหาข้อสรุปได้นั่นคือเรื่องสำคัญ ถ้าขัดแย้งตั้งแต่ต้นก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เรียนอีกครั้งว่าการปฏิรูปแก้ไขในปีเดียวไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งทั้ง 11 ด้านต้องมีมาตรการระยะสั้นให้สำเร็จใน 1 ปี จากนั้นรัฐบาลต่อไปก็ไปทำให้เกิดกลไกต่อ นี่เป็นการเริ่มต้นแต่ก็ขัดแย้งกันอีกแล้วซึ่งตนไม่อยากจะยุ่งเกี่ยว แต่รับผิดชอบตรงนี้ก็อยากจะขอร้องให้ทุกคนไปหาช่องทางให้เกิดการปฏิรูปให้ได้ คนไทยทุกกลุ่มล้วน รักชาติ รักแผ่นดิน แต่ต้องหาข้อสรุปให้ได้ และอยู่บนพื้นฐานของประเทศชาติ ถ้าเราดีจริงก็ไม่มีปัญหา สุดท้ายก็เข้ามาในระบอบประชาธิปไตยของเราอยู่แล้ว
บิ๊กต๊อก ชงสุวณาคุมดีเอสไอ
รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เผยว่า ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงบางส่วนเพื่อขับเคลื่อนงานที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนชื่ออธิบดีดีเอสไอนั้น กระทรวงเสนอให้ย้ายสลับนางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีคำสั่งให้นางสุวณา รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ เป็นอธิบดีดีเอสไอ และให้นายวีระยุทธ สุขเจริญ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม มาเป็นอธิบดีกรมพินิจ และคุ้มครองเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ นางสุวณาเป็นลูกหม้อในกระทรวงยุติธรรม และเคยร่วมงานกับ คสช. มาตั้งแต่ต้น นอกจากนั้นครอบครัวยังสนิทกับพล.อ. ประยุทธ์จึงเป็นเหตุผลให้นางสุวณาได้รับการสนับสนุน ขยับขึ้นมาคุมงานดีเอสไอ เพื่อสางคดีชายชุดดำ ผังล้มเจ้า และคดีม็อบกปปส. ซึ่งดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษไว้ และยังลดกระแสต้านจากคนในที่ไม่ต้องการให้โอนตำรวจมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ
มท.ย้าย 18 ผู้ว่าฯ-4 ผู้ตรวจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 28 ต.ค. กระทรวงมหาดไทย จะเสนอรายชื่อแต่งตั้งข้าราชการในระดับบริหารสูง จำนวน 22 คน จากระดับรองผู้ว่าราชการจังหวัด 18 ราย และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 4 ราย ประกอบด้วย นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผวจ.นครศรีธรรมราช เป็นผวจ.กระบี่ นายประยูร รัตนเสนีย์ รองผวจ.พังงา เป็นผวจ.พังงา นายณรงค์ อ่อนสอาด รองผวจ.สิงห์บุรี เป็นผวจ.อุทัยธานี นายชยาวุธ จันทร รองผวจ.นครราชสีมา เป็นผวจ.สมุทรสงคราม นายสุทธินันท์ บุญมี รองผวจ.อุดรธานี เป็นผวจ.มหาสารคาม นายสุชาติ นพวรรณ รองผวจ.หนองคาย เป็นผวจ.หนองคาย นายปิติ แก้วสลับสี รองผวจ.สุโขทัย เป็นผวจ.สุโขทัย นายสามารถ วราดิศัย รองผวจ.ยะลา เป็นผวจ.ยะลา นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผวจ.ยะลา เป็นผวจ.ปัตตานี
สปช.โหวต - นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานการประชุมสปช. พิจารณาสัดส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนสมาชิกลงมติไม่เห็นชอบให้บุคคลภายนอกมาร่วมเป็นกรรมาธิการ ในโควตาของสปช.จำนวน 20 คน ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 27 ต.ค. |
นายวงศศิริ พรหมชนะ รองผวจ.สุราษฎร์ธานี เป็นผวจ.ชุมพร นายสุริยันต์ กาญจนศิลป์ รองผวจ.กาญจนบุรี เป็น ผวจ.ระนอง นายณรงค์ ธีรจันทรางกูร รองผวจ.ตราด เป็นผวจ.ตราด นายชาติชาย อุทัยพันธ์ รองผวจ.ชุมพร เป็น ผวจ.นครปฐม นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ รองผวจ.ชลบุรี เป็นผวจ.บึงกาฬ นายศักดิ์ สมบุญโต รองผวจ.กำแพงเพชร เป็นผวจ.แพร่ นายบัณฑิต ทิวารักษ์ รองผวจ.ฉะเชิงเทรา เป็นผวจ.เพชรบูรณ์
4 รองผู้ว่าฯนั่งผู้ตรวจ
ส่วนผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย นายธานี ธัญญาโภชน์ รองผวจ.นครปฐม นายวรวิทย์ สายสุพัฒน์ผล รองผวจ.ชลบุรี นายยุทธนา วิริยะกิตติ รองผวจ.สุรินทร์ นายอำนวย ตั้งเจริญชัย รองผวจ.นครสวรรค์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแต่งตั้งครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งรองผวจ.ที่เป็นรองอันดับ 1 ในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอาวุโส 4-5 ปีขึ้นไป โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำชับให้เป็นไปตามอาวุโส
ข่าวแจ้งว่า ในวันเดียวกันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งผู้ช่วยปลัดกระทรวง(ซี9)แล้ว 2 ตำแหน่ง ได้แก่ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผอ.สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย และนายสยาม ศิริมงคล ผอ.กองการเจ้าหน้าที่
ครม.วางตัว5กมธ.ร่างรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุม ครม.วันอังคารที่ 28 ต.ค. พล.อ. ประยุทธ์ จะเป็นประธานประชุมที่ตึกสันติไมตรี คาดว่าจะมีการติดตามการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ที่รัฐบาลเริ่มจ่ายเงินมาตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. และชาวสวนยาง ที่รัฐบาลจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือด้านต้นทุน ไร่ละ 1,000 บาท ที่จะเริ่มจ่ายกลาง พ.ย.นี้
นอกจากนี้ อาจหารือถึงการคัดเลือก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของ ครม. 5 คน ก่อนหารือร่วมกับคสช. และให้ สปช.ลงมติให้ความเห็นชอบในวันที่ 4 พ.ย.นี้ โดยมีการคาดการณ์ถึงรายชื่อบุคคลที่เข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างสัดส่วน ครม. อาจมีชื่อนายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการกฤษฎีกา นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ ที่ปรึกษานายกฯ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ นายปรีชา วัชราภัย สมาชิก สนช.
ส่วนวาระการประชุมที่น่าสนใจ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม จะเสนอรายชื่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ คนใหม่ให้ที่ประชุมพิจารณา มีรายงานว่าแคนดิเดตคือนางสุวณา สุวรรณจูฑะ รองปลัดยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย จะเสนอรายชื่อแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง 22 คน จากระดับรองผู้ว่าฯ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงจากการเกษียณอายุราชการ ประกอบด้วยตำแหน่งผู้ว่าฯ 18 ราย และผู้ตรวจราชการ 4 ราย
สัปดาห์ที่ 3 เดือนพ.ย.จ่ายสวนยาง
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง 1,000 บาท/ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.-15 ธ.ค. ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ย. จะเริ่มจ่ายเงินได้จริงผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 850,000 ครัวเรือน พื้นที่ 8.2 ล้านไร่ วงเงิน 8,500 ล้านบาท และจะจ่ายเงินได้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หรือภายในเดือน เม.ย.2558
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งคนนอกเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า คงตอบเป็นความเห็นไม่ได้ ไม่เช่นนั้น จะเป็นประเด็น ทราบแต่เพียงว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณากรรมาธิการในสัดส่วนของ ครม. ส่วนใน คสช.คงจะหารือกันภายในอีกครั้ง
สุรชัยย้ำสนช.ไร้คนนอกร่างรธน.
ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. กล่าวถึงการเลือก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วน สนช.ว่า อยู่ระหว่างรับสมัครซึ่งจะหมดเขตวันที่ 28 ต.ค. เวลา 12.00 น. จากนั้นเวลา 13.30 น. คณะกรรมการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) จะหารือทันที ส่วนจำนวนผู้สมัครยังไม่ได้ตรวจสอบแต่คาดว่ามีไม่ น้อยกว่า 5 คน ขณะที่คุณสมบัติจะต้องมีประสบการณ์และความรู้กฎหมายมหาชนโดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีความคิดในเชิงปฏิรูปด้านใดด้านหนึ่งใน 11 ด้าน รวมถึงมีประสบการณ์การเมืองการปกครอง ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่สำคัญต้องยอมเสียสละไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง 2 ปี ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
เมื่อถามว่า หากผู้สมัครน้อยกว่า 5 คนจะพิจารณาคนนอกหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ สัดส่วน สนช.ไม่ได้ให้คนนอกเข้าร่วม ดูจากคนที่แสดงความจำนงล้วนมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์การเมือง ทั้งนี้ วิป สนช.จะกำหนดแนวทางและความเหมาะสมของบุคคล ก่อนที่การตัดสินใจทั้งหมดจะต้องเป็นมติสนช. ต่อข้อถามจะลงมติเป็นรายบุคคลสนับสนุนผู้มาเป็นกมธ. ยกร่างฯ ได้ในการประชุม สนช.วันที่ 30 ต.ค. หรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น สำหรับกมธ.มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ หากกำหนดกติกาให้เหมือนกันทุกองค์กรจะเป็นผลเสีย เพราะจะไม่ได้ความเห็นที่หลากหลาย ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติและเป็นอิสระ
วาง 5 สนช.นั่งกมธ.ร่างรธน.แล้ว
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. ในฐานะรองประธาน วิปสนช. ให้สัมภาษณ์หลักเกณฑ์คัดเลือกกมธ.ยกร่างฯ ในสัดส่วนสนช. 5 คนว่า วิปจะประชุมวันที่ 28 ต.ค. หากสมัครเกิน 5 คนจะพิจารณาคุณสมบัติ โดยดูที่ความรู้ด้านกฎหมายการเมืองการปกครองและกฎหมายมหาชน รวมทั้งมีเวลาเต็มทำงาน ไม่ทิ้งงานสนช. ส่วนสมาชิก สนช.ที่ไม่รับเลือกจากวิป สามารถสมัครต่อที่ประชุมใหญ่สนช.ได้ เมื่อวิปได้ตัวบุคคลแล้วจะให้ที่ประชุมใหญ่สนช.ลงมติวันที่ 30 ต.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสนช.ที่สมัครเป็นกมธ.ยกร่างฯ แล้ว ได้แก่ 1.พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม อดีตส.ว.สรรหา 2.นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 3.นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์นิด้า 4.นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี ม.รามคำแหง 5.นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม 6.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ กรรมการกฤษฎีกา 7.นายประมุท สูตะบุตร อดีตผู้พิพากษา 8.พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ เจ้ากรมพระธรรมนูญ และ 9.นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ สมาชิกที่คาดว่าจะได้รับเลือก 5 คน ได้แก่ 1.พล.อ.สมเจตน์ 2.นายภัทรศักดิ์ 3.นางกาญจนรัตน์ 4.นายชูเกียรติ ส่วนคนที่ 5 จะเลือกกันระหว่างนายทวีศักดิ์ และนาย วุฒิศักดิ์ ที่เป็นตัวแทนสถาบันการศึกษา
สปช.ถกวุ่นสัดส่วนกมธ.
ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งที่ 2 สมาชิกสปช. แต่ละด้านต่างแยกย้ายกันไปประชุม เพื่อหารือถึงแนวทางดำเนินงานการปฏิรูป ตลอดจนถึงการกำหนดสัดส่วนที่จะเข้าร่วมคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเห็นด้วยกับวิปสปช.ชั่วคราวที่เสนอให้มาจากคนในสปช. 15 คน และคนนอก 5 คนหรือไม่
ขณะที่ การประชุมสปช.ด้านการเมืองที่มี นายชัย ชิดชอบ ในฐานะประธานการประชุม หารือถึงประเด็นเดียวกันซึ่งส่วนใหญ่มองว่า สัดส่วนกมธ.ยกร่างฯทั้ง 20 คนของสปช. ควรจะมาจากคนในทั้งหมด เพื่อการทำงานที่รวดเร็ว เพราะกรอบเวลามีอยู่จำกัด หากให้มีคนนอกเข้ามาอาจเกิดปัญหาทั้งภายในและภายนอกตามมา นอกจากนี้ในที่ประชุมสปช.ด้านการเมืองยังหารือถึงบุคคลที่เต็มใจไปเป็นสมาชิกกมธ.ยกร่างฯ โดยมี 6 คน ได้แก่ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ นายชูชัย ศุภวงศ์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน น.ส.ตรึงใจ บูรณสมภพ และนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ก่อนที่ทุกฝ่ายจะแยกกันเข้าประชุมต่อไป
เทียนฉายทำหน้าที่ปธ.ชั่วคราว
เวลา 10.30 น. มีการประชุม สปช. นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสปช.ได้เชิญ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สมาชิกสปช. ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดขึ้นทำหน้าที่ประธาน นายพารณได้ปรึกษากับที่ประชุมเพื่อของดเว้นใช้ข้อบังคับข้อที่ 22 เพื่อให้ที่ประชุมสามารถเลือกประธานขึ้นมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมชั่วคราว จากนั้นที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 230 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ให้เลือกประธานเฉพาะคราว
จากนั้น นายอมร วาณิชวิวัฒน์ เสนอชื่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธานสปช. ขึ้นทำหน้าที่ประธานเฉพาะคราว ทำให้นายเสรี สุวรรณภานนท์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า การเลือกนายเทียนฉาย ให้ทำหน้าที่ประธานเฉพาะคราว ทั้งที่ที่ประชุมมีมติเลือกให้เป็นประธานสปช.แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง จึงเกรงอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ และเป็นการไม่บังควร ควรต้องระมัดระวังเพราะเป็นเรื่องที่บอบบาง กระทบกับความรู้สึกได้ง่ายและมีผลต่อการเคารพนายเทียนฉาย ดังนั้นขอเสนอชื่อ นายพารณ ขึ้นทำหน้าที่ประธาน แต่นายพารณขอถอนตัว เนื่องจากความว่องไวลดน้อยลง ขอเสนอให้คนอายุน้อยที่คล่องตัวกว่ามาทำหน้าที่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ จึงสนับสนุนให้นายเทียนฉาย ขึ้นทำหน้าที่ประธานเฉพาะคราวไปก่อน
ศาลนัดชี้ - จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีตส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ถูกคุมตัวจากเรือนจำมาขึ้นศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ |
จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่วาระการประชุม รายงานความคืบหน้าการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ชั่วคราว) หรือวิปสปช. ที่ให้พิจารณาแนวทางการสรรหาบุคคลที่ สปช.เสนอเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน
ชงดึง 5 คนนอกร่วมร่างรธน.
นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะเลขา นุการวิป สปช. (ชั่วคราว) ชี้แจงว่า จากการประชุมวิปสปช.ชั่วคราว เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นไปในทางเดียวกันว่า การสรรหาผู้มีคุณสมบัติสมควรเป็น กมธ. ยกร่างฯ ให้แล้วเสร็จในวันที่ 4 พ.ย. และได้พิจารณาแนวทางคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติสมควรเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของ สปช. โดยมีคุณสมบัติต้องไม่ขัดกับมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผู้ที่ได้รับการเสนอต้องสมัครใจในการรับการเสนอชื่อ และมีสัดส่วนจาก สปช. 15 คน คนนอก 5 คน ซึ่งในส่วนของการสรรหาจาก สปช.นั้น จะมาจากการเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมจาก สปช. 11 ด้าน และภาคต่างๆ 4 ภาค ซึ่งทางวิป สปช.ชั่วคราว จะได้สรรหาผู้เหมาะสมอีก 5 คน แล้วให้ สปช.ให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้วิปสปช.ชั่วคราวมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันจันทร์และวันอังคารของสัปดาห์ เป็นวันประชุมสปช. และวันที่ 28 ต.ค. ประชุมสปช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อ ผู้ที่มีความเหมาะสมเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ด้านนายอำพล จินดาวัฒนะ วิปสปช.ชั่วคราว ชี้แจงเสริมว่า ทางวิปสปช.เสนอ สัดส่วนกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จาก สปช. 15 คน คนนอก 5 คน หรือข้อเสนอที่ให้ สปช. 20 คนเป็นกมธ.ยกร่างฯ ก็ไม่ได้ตกไป เพราะจะมีการพิจารณาในที่ประชุมอยู่แล้ว แต่หลังจากมีข้อเสนอออกมาก็มีบรรยากาศไม่ดีออกไปในสังคม เพราะมีทีท่าว่า สปช.จะขัดแย้งคล้ายกับสภาการเมือง ขอให้ที่ประชุมพิจารณาให้ดี เพราะถ้าที่ประชุมเห็นด้วยก็จะได้ดำเนินการต่อไป
อภิปรายวุ่นโควตาคนนอก
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อภิปรายว่า เห็นควรให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมาจาก สปช.ทั้ง 20 คน เพื่อสะท้อนแนวคิดและข้อเสนอแนะของสปช.ให้กมธ.ยกร่างฯพิจารณา การทำงานของ กมธ.ยกร่างอย่าเข้าใจว่าเป็นอิสระ เพราะการเขียนเนื้อหาต้อง เป็นไปตามความเห็นของสปช. ที่เสนอข้อมูล ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะไม่เขียนว่ากมธ.ยกร่างต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากสปช. ก่อนเริ่มเขียน หลังเขียนภายใน 120 วันเสร็จแล้ว กมธ.ยกร่างต้องส่งให้สปช.พิจารณาภายใน 10 วัน โดยสปช.สามารถแก้ไข หรือแปรญัตติแก้ไขภายใน 30 วัน เมื่อแล้วเสร็จส่งไปให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อภายใน 60 วัน จากนั้นต้องให้สปช. ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
นายเสรี กล่าวว่า หากจำกัดสมาชิก สปช.ไปทำหน้าที่ยกร่างเพียง 15 คน ทำให้เห็นว่าคนนอกสปช.จะมีจำนวนมากกว่า คือ คนนอกจากสัดส่วน สปช. 5 คน จาก ครม. สนช. คสช.รวม 15 คน จะทำให้รวมสัดส่วนคนนอกสภาสปช.มีอยู่ 20 คน คนที่สะท้อนเสียงในสปช. จึงเหลือเพียง 15 คน แล้วจะพิจารณาไปทำไมเพราะเสียงอยู่นอกสภาหมดแล้ว โอกาสที่จะไม่เป็นไปตามความเห็นสภา สปช. เป็นไปได้สูง และหากร่าง มาแล้วไม่ตรงกับแนวคิดสปช. ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบได้ จะกลายเป็นว่าหากประเด็นสำคัญไม่ตรงกัน
ให้'บวรศักดิ์'แจงโควตาคนนอก
จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ต่างไม่เห็นด้วยกับการให้คนนอกเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่าง เนื่องจากเห็นว่าภายใน สปช.มีผู้มีความรู้อยู่แล้ว อีกทั้งการเปิดโอกาสให้คู่ขัดแย้งเข้ามาเป็น กมธ. จะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการคัดเลือกจึงจะได้รับการยอมรับจากคู่ขัดแย้งอย่างแท้จริง
กระทั่งเวลา 12.30 น. นายเทียนฉาย ขอพักการประชุมเพื่อให้สมาชิกไปรับประทานอาหารกลางวัน แล้วกลับมาประชุมอีกครั้งเวลา 13.30 น.
เวลา 13.50 น. ที่ประชุมสปช.กลับมาพิจารณากันต่ออีกครั้ง นายเทียนฉาย ในฐานะประธานการประชุม ให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธานสปช.คนที่ 1 ในฐานะรองประธานวิป สปช.ชั่วคราว ชี้แจงแนวคิดการจัดสัดส่วนกมธ.ยกร่าง คนใน 15 คน คนนอก 5 คน ต่อสมาชิกสปช.
ชี้ต้องให้คู่ขัดแย้งร่วมด้วย
โดยนายบวรศักดิ์อภิปรายว่า กมธ. 15 คน จะมาจากตัวแทน สปช.ทั้ง 11 ด้าน ด้านละ 1 คน และตัวแทนจากสปช.จังหวัดจาก 4 ภาค ภาคละ 1 คน ที่เหลืออีก 5 คน ต้องมาดูกันว่าที่ผ่านมาประเทศเราขัดแย้งมาเกือบ 10 ปี มีคู่กรณีมากมาย ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหลายฉบับที่ถูกมองว่า ผู้ชนะร่างขึ้นมาจัดการผู้แพ้ ความขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดหรือไม่ขึ้นอยู่ กับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า หากเปิดดูคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะพบว่าให้ฟื้นความสามัคคี สร้างความเป็นธรรม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ วิปสปช.จึงเห็นว่าหากไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญถูกตราว่าเขียนโดยผู้ชนะที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็มีทางเดียวก็คือต้องเปิดให้คู่ขัดแย้งเข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่างฯ แต่ต้องไม่ใช่เสียงข้างมาก
แนะควรเปิดใจกว้าง
"ขณะนี้เหลือเพียง 3 พรรคใหญ่ที่ไม่เข้าร่วม ซึ่งเราจะละเลยไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม กปปส. และนปช. ที่เป็นคู่ขัดแย้ง การร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องทำให้มีความเหมาะสม ต้องไม่ใช่เพียงแค่การรับฟัง แต่ต้องให้พวกเขามีส่วนร่วม สภาแห่งนี้ไม่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง แต่เป็นสภาเพื่อต้องการสร้างข้อขัดแย้งให้ยุติในบ้านเมือง มองว่าเราต้องขอความร่วมมือไปที่หัวหน้าพรรค เพื่อไทย ประชา ธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา แต่หากเมื่อเรายื่นมือไปแล้วเขาชักมือกลับ หรือเรายกมือไหว้ เขาไม่รับไหว้ ก็ไม่เป็นไร นั่นหมายความสภาแห่งนี้ไม่ได้ต้องการร่างกติกาให้ผู้แพ้ แต่ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็น 5 เสียง จาก 36 เสียง" นายบวรศักดิ์กล่าว
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สปช.ควรเปิดใจกว้างให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมกมธ.ยกร่างฯ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปรองดองมากที่สุด หาก 5 คนนั้น ไม่เข้ามาร่วม แล้วจะมาวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญถูกขียนโดยผู้ชนะ ประชาชนก็จะเห็นข้อเท็จจริงว่าอะไรคืออะไร แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิก สปช. ว่าจะเห็นเป็นอย่างไร
สปช.โหวตไม่เอาคนนอก
ขณะที่ สมาชิกสปช. หลายรายยังคงไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของวิปสปช.ชั่วคราวที่ให้มีสัดส่วน กมธ.ยกร่างฯจากคนนอก 5 คน โดยมองว่าการเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามา 5 คน เป็นเพียงเสียงส่วนน้อยก็ไม่มีประโยชน์ และหากไม่มีผู้เข้าร่วมจะดำเนินการอย่างไรต่อกับสัดส่วน 5 คนที่เหลือ เพราะคู่ขัดแย้งเหล่านี้มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารอยู่แล้ว
หลังจากอภิปรายกว่า 1 ชั่วโมง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอให้ปิดการอภิปราย ที่ประชุมเห็นด้วย 198 เสียง ต่อ 20 เสียง จากนั้นที่ประชุมมีมติ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่วิปสปช.ชั่วคราว เสนอให้สัดส่วน กมธ.ยกร่างฯ มาจากคนใน 15 คน และคนนอก 5 คน ด้วยคะแนน 175 เสียง ต่อ 39 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง สรุปว่าสัดส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญของสปช. จำนวน 20 คน จะเป็นสมาชิกสปช. ทั้งหมด
สุดท้ายที่ประชุมได้เห็นร่วมกันว่า ให้วิปสปช.ชั่วคราวเป็นผู้รับผิดชอบในการเสนอแนวทางคัดสรรสมาชิกสปช.เข้าทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างฯ จำนวน 20 คน ในวันที่ 28 ต.ค. เวลา 09.30 น. ก่อนนำมาเสนอที่ประชุมต่อไป นอกจากนี้ยังนัดประชุมสปช.วันที่ 28 ต.ค. เวลา 13.00 น. ก่อนที่นายเทียนฉายจะสั่งปิดประชุมในเวลา 16.15 น. รวมเวลาการอภิปรายสัดส่วนและกระบวนการสรรหา กมธ.ยกร่างฯ กว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง
เสนอตัวร่างรธน.จนล้น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ขณะนี้ สปช.แต่ละด้านได้ตัวแทนเป็น กมธ.ยกร่างฯ แล้ว อาทิ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สปช.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นางทิชา ณ นคร สปช.ด้านการศึกษา นายมานิจ สุขสมจิตร สปช.ด้านสื่อสารมวลชน นาง สารี อ๋องสมหวัง สปช.ด้านสังคม นายเกริกไกร จีระแพทย์ สปช.ด้านเศรษฐกิจ น.ส.ถวิลวดี บุรีกุล สปช.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สปช.ร้อยเอ็ด ตัวแทนภาคอีสาน นายประชา เตรัตน์ สปช.ชลบุรี ตัวแทนภาคกลาง-ตะวันออก นายเชิดชัย วงศ์เสรี สปช.ภูเก็ต ตัวแทนภาคใต้ นายจุมพล สุขมั่น สปช.เชียงราย ตัวแทนภาคเหนือ
สำหรับ ด้านที่เหลือมี สปช.อาสาเป็น กมธ.ยกร่างฯ หลายคน จึงต้องลงมติอีกครั้งวันที่ 28 ต.ค. ได้แก่ ด้านการปกครองท้องถิ่น มีนายจรัส สุวรรณมาลา และนายวุฒิสาร ตันไชย, ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีนายคำนูณ สิทธิสมาน และนายเข็มชัย ชุติวงศ์, ด้านพลังงาน นายคุรุจิต นาครทรรพ นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล และนายพรายพล คุ้มทรัพย์ และด้านการเมือง มี สปช.เสนอตัว 6 คน อาทิ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายอมร วาณิชวิวัฒน์ และนายชูชัย ศุภวงศ์ ส่วนด้านอื่นๆ ยังไม่มีการหารือกัน โดยนัดประชุมกันวันที่ 28 ต.ค.เวลา 11.00 น. ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจาก สปช.แต่ละด้าน แต่ประสงค์เป็น กมธ.ยกร่างฯ มีสิทธิเสนอตัวเองในฐานะ ผู้สมัครอิสระเพื่อให้ที่ประชุม สปช.ตัดสินในวันที่ 28 ต.ค. เวลา 13.00 น.
ชี้กมธ.ร่างรธน.ไม่ต้องโชว์เซฟ
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีไต่สวนการจัดซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ล่าสุดแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว 19 ราย ซึ่งถือว่าแจ้งครบแล้ว แต่ยังต้องไต่สวนเพิ่มเติมบางประเด็น ใกล้ได้ข้อสรุปในคดีแล้ว
นายวิชา กล่าวว่า การพิจารณาสำนวนถอดถอน 39 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของส.ว.โดยมิชอบ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติส่งสำนวนกลับไปให้เจ้าหน้าที่ดูรายละเอียดข้อกฎหมายเพิ่มเติมนั้น ตอนนี้ต้องรอให้เจ้าหน้าที่สรุปก่อนว่ามีความผิดตามรัฐธรรมนูญ หรือมีความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะส่งสำนวนกลับมาให้ที่ประชุม ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้ง
โฆษกป.ป.ช. ยังกล่าวถึงมติสปช.ไม่ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน แต่สมาชิกบางคนต้องการยื่นต่อป.ป.ช.ว่า หาก ผู้ใดประสงค์จะยื่นเพื่อความสบายใจก็ทำได้ ป.ป.ช.จะรับไว้แต่ไม่สามารถตรวจสอบและเปิดเผยได้ โดยจะเก็บไว้เป็นข้อมูล ที่ผ่านมาอดีตส.ว.หลายคนก็ประสงค์จะยื่น ส่วนกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ป.ป.ช.คงไม่พิจารณา ถือว่ารวมอยู่ในสมาชิก สปช. จึงไม่ต้องยื่นรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.
'หมอนิรันดร์'โต้ยุบกสม.
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกระแสข่าวจะยุบองค์กร กสม. เพราะผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจว่า ต้องถามกลับที่มีคนบอกว่า ผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจนั้น ไม่พอใจใคร ต้องดูที่คนพูดและเนื้อหา ในฐานะที่เราเป็นองค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ทำตามความพอใจของใคร เพราะมีหน้าที่ปกป้องประชาชน และการมีคนที่ไม่พอใจถือเป็นเรื่องปกติ ยิ่งภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ย่อมมีคนพอใจและไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกต่างยอมรับการมีองค์กรมาปกป้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีจะยุบ กสม.ไปรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพราะเห็นว่าทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกันนั้น กสม.และผู้ตรวจมีอำนาจหน้าที่คนละส่วนกัน กสม.ทำงานปกป้องสิทธิแต่ผู้ตรวจมีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมต่อเจ้าหน้าที่รัฐ
ศาลนัดตัดสินจ่าประสิทธิ์ 3 ธ.ค.
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ต.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา ศาลนัดพร้อมเพื่อสอบถามจำเลย คดีหมายเลขดำ อ.2360 /2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีตส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยความผิดฐานหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา กล่าวปราศรัยบนเวทีกิจกรรม "หยุดล้มล้างประชาธิปไตย" ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว โดยมีเนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง
เมื่อถึงเวลานัด จำเลยแถลงขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร 32 หน้า และขอกลับคำให้การจากปฏิเสธเมื่อครั้งที่ศาลเคยสอบคำให้การ เป็นให้การรับสารภาพ อ้างว่าสำนึกในความผิดที่กระทำไป แต่ศาลสอบถามว่าบางข้อความในคำให้การนั้นเป็นไปในแนวทางปฏิเสธ จำเลยจึงขอถอนคำแถลงเฉพาะข้อความบางส่วนที่เป็นไปในแนวทางปฏิเสธทั้งสิ้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยไม่ติดใจสืบพยานอีกต่อไป คดีถือเป็นอันเสร็จสิ้น แต่เพื่อให้ข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่เห็นควรให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพฤติกรรมทางคดี และรายงานให้ศาลทราบภายใน 15 วัน พร้อมกับนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 3 ธ.ค. เวลา 09.00 น.
อวยพร'บิ๊กตู่'ทำงานสำเร็จลุล่วง
เวลา 14.30 น. วันที่ 27 ต.ค. ที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เป็นประธานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำปี 2557 โดยมี รองนายกฯ คณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการและประชาชน เข้าร่วมงานจำนวนมาก เมื่อนายกฯ เดินทางมาถึงได้ถวายผ้าพระกฐิน เครื่องบริวารกฐิน และคณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ จากนั้น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประกาศยอดเงินที่ถวายผ้าพระกฐินฯ เป็นจำนวนเงิน 5,326,363 บาท เสร็จแล้ว นายกฯได้ถวายจตุปัจจัยแด่ประธานพระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนา นายกฯกรวดน้ำ รับพร เสร็จสิ้นพิธี ทั้งนี้เจ้าอาวาสวัดราชนัดดารามวรวิหาร มอบพระพุทธรูปหลวงปู่ทวดให้กับนายกฯ พร้อมให้พรขอให้ทำงานสำเร็จลุล่วง อะไรที่ต้องแข็ง ก็ต้องแข็ง ทำงานอย่างเข้มงวด อย่าอ่อนข้อ
หลังเสร็จสิ้นภารกิจ ประชาชนจำนวนมากที่มาร่วมงานถวายผ้าพระกฐิน ต่างมาถ่ายรูปและขอลายเซ็นนายกฯลงในหนังสือ "ความสุขที่หาได้ไม่ยาก" ที่จัดพิมพ์โดยสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายในมีรูปนายกฯอยู่ด้วย พร้อมกล่าวให้กำลังใจและขอให้ทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไปนานๆ โดยนายกฯตอบรับและระหว่างแจกลายเซ็นมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา
ทร.แจงทหารพกปืนแค่เข้าใจผิด
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. พล.ร.ต.กาญจน์ ดีอุบล เลขานุการกองทัพเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ กล่าวกรณีมีคลิปทหารนำอาวุธติดตัวเข้าไปในพื้นที่เขตที่ทำการศาลภูเก็ตว่า เป็นเหตุการณ์ที่เข้าใจผิด วันดังกล่าวน.ท.พรพรหม สกุลเต็ม เสนาธิการทหารกองปฏิบัติการ ทัพเรือภาค 3 และผู้ควบคุมความสงบเรียบร้อยใน จ.ภูเก็ต เข้าไปให้การต่อศาลในฐานะของผู้บังคับหน่วยทหารเรือ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ในคดีเรื่องการจัดระเบียบชายหาด การรุกป่าอุทยาน สิรินาถ ซึ่งน.ท.พรพรหมระหว่างอยู่ในห้องพิจารณาของศาลไม่ได้มีอาวุธติดตัว ขณะที่กำลังพลของหน่วยที่เพิ่งเสร็จจากการปฏิบัติภารกิจจากพื้นที่อื่นและนำอาวุธประจำกายติดมาด้วย โดยรอพบผู้บังคับบัญชาอยู่ด้านนอกอาคาร ตามระเบียบปฏิบัติไม่สามารถฝากไว้ที่ไหนได้ จึงจำเป็นต้องรักษาอาวุธปืนไว้กับตัวในขณะพักผ่อนอิริยาบถ ไม่ได้มีเจตนาแสดงความก้าวร้าว หรือไม่เคารพธรรมเนียมปฏิบัติของศาล เป็นการขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติตามข้อห้ามของสถานที่มากกว่า
พล.ร.ต.กาญจน์ กล่าวต่อว่า ทัพเรือภาค 3 ทำหนังสือชี้แจงพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. รับทราบแล้ว พร้อมสั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างหน่วยงานราชการ ทั้งศาลจังหวัดภูเก็ตและทัพเรือภาค 3 เป็นเพียงการเข้าใจผิดระหว่างกันเท่านั้น
พล.ร.ต.กาญจน์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องของต้นสังกัดคือ กองทัพเรือภาคที่ 3 โดย พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผบ.ทรภ.3 ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน น.ท.พรพรหม สกุลเต็ม ผบ.พัน.สอ.รฝ.22 แล้ว ถือเป็นการสอบสวนตามระเบียบ ยืนยันฝ่ายทหารไม่มีเจตนาพกอาวุธเข้าเขตศาล แค่ไปหลบแดดใต้ร่มไม้ ซึ่งอยู่รอบนอกศาล แต่อาจเกิดการเข้าใจผิด ส่วนการดำเนินการใดๆ ต้องรอผลการสอบสวนก่อน เชื่อว่าผู้บังคับบัญชาคงชี้แจงได้ เพราะน.ท.พรพรหมนั้นไม่ได้ทำผิด กำลังพลที่พกพาอาวุธไปรอก็ไม่ได้เข้าไปในศาล อีกทั้งในคลิปจะเห็นได้ว่า น.ท.พรพรหมก็ไม่ได้แสดงท่าทีตอบโต้ เป็นการรับฟังเหตุผล แม้จะ ถูกตำหนิอย่างรุนแรง
ด้านน.ท.พรพรหมให้สัมภาษณ์เมื่อเวลา 19.00 น.ในวันเดียวกัน ถึงกระแสข่าวจะลาออกหากถูกโยกย้ายว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ยอมรับว่าก็ต้องน้อยใจเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี เพราะถ้าผลสอบออกมาตนไม่มีความผิด แต่ต้องถูกย้ายก็เหมือนตัวเองมีความผิดไปแล้ว