WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โหวตวันนี้โควต้าคนนอก วิปสปช.สู้ ฝ่ายต้านห่วงเกมยกร่าง 'จ้อน'ดันคู่ขัดแย้งร่วม มท.ลุยตั้ง 18 ผู้ว่าฯใหม่ บิ๊กต๊อกชงชื่อเข้าครม. ไฟเขียวอธิบดี'ดีเอสไอ''อจ.'แจ้งถูกปลอมเฟซ

 

เที่ยวจีนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกันระหว่างเดินทางท่องเที่ยวกำแพงเมืองจีน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม

      สปช.ประชุมลงมติวันนี้ เสนอ"คนนอก"ร่วมเป็น กมธ.ยกร่าง รธน.ในโควต้า 5 จาก 20 คน อีกฝ่ายโต้คืนหวั่นเอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง "อลงกรณ์"เผยมติวิป สปช.หนุนดึงคู่ขัดแย้งร่วมร่าง รธน.

@ 'บิ๊กกี่'ชี้รธน.คลุมเครือนั่งกมธ.

     เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของ สนช.จำนวน 5 คน ว่า ขณะนี้เปิดรับสมัครผู้สนใจจะเข้าไปทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ยังมีผู้มาสมัครไม่มากนัก ส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ค่อนข้างคลุมเครือว่าคัดโดย สปช.จำนวน 20 คน สามารถตีความได้ว่า สปช.เป็นผู้คัดเลือกจากคนนอกก็ได้หรือคัดเลือกกันเองใน สปช.ก็ได้ ในส่วนนี้ไม่ขอแสดงความคิดเห็น หากมี สปช.คนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วยอาจจะมาว่าได้ ส่วนที่มี สปช.ส่วนหนึ่งต้องการให้นำคนนอกเข้าแต่อีกส่วนไม่ต้องการ ก็ต้องมาโหวตเสียงส่วนใหญ่กันอีกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดข้อถกเถียงกันขึ้นมาอีก

@ เสรีหวั่น"คนนอก"ส่งผลต่อรธน.

       นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยถึงโควต้า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช.ที่มีจำนวน 20 คน จะมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมด้วยได้หรือไม่ ว่า จริงๆ แล้วต้องดูคุณสมบัติว่าเป็นอย่างไร หากคนนอกไม่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญก็เข้ามาไม่ได้ แต่หากคุณสมบัติไม่ขัดก็เข้ามาได้ แต่หลักการสำคัญของการถกเถียงคือต้องดูจำนวน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า มาจาก 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ สปช. 20 คน ที่เหลือเป็นของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างละ 5 คน รวมอีก 15 คน ไม่รวมประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหลักการคือจำนวนเสียงที่มาจาก สปช.จะมีมากกว่าส่วนอื่น มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญและหลังหมดหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ 2 ปี ส่วนการเสนอชื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วน สปช.มี 20 คนครบหรือยัง ยังไม่ทราบ ทำให้มีการเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็น และเมื่อรวม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจาก ครม. สนช.และ คสช. ที่อาจเป็นบุคคลภายนอกแล้ว รวมกับสัดส่วนคนนอกของ สปช.อีก 5 คน อาจทำให้มีคนนอกเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน เหลือเพียงสัดส่วนบุคคลภายใน สปช.ที่มาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเพียง 15 คน ทำให้เสียงจะด้อยลง แล้วพอถึงเวลาลงความเห็นรัฐธรรม นูญอาจจะตกไปก็เป็นได้

@ ย้ำกมธ.ยกร่างฯต้องเป็นคนใน

       นายเสรี กล่าวต่อว่า สปช.รับผิดชอบตั้งแต่วันแรกที่เริ่มประชุม มีเวลาพิจารณาเสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วัน แล้วจะต้องส่งกลับมายัง สปช.พิจารณาและแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในกรอบเวลา 30 วัน ก่อนจะพิจารณาว่าเห็นชอบหรือไม่ เพราะฉะนั้นความยึดโยงของ กมธ.กับ สปช.จึงต้องให้ความสำคัญกับ สปช.ที่รับผิดชอบโดยตรง สิ่งสำคัญคือ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจากสัดส่วน สปช.ก็ควรจะรับผิดชอบต่อ สปช.ด้วย แม้ตัว กมธ.จะมีอิสระในการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม ตรงนี้คือหลักการว่าทำไม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช.ควรจะเป็นบุคคลใน สปช.ทั้งหมด

       ส่วนกรณีมีการถกเถียงว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากบุคคลภายนอกขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายเสรีกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุไว้ในมาตรา 32 กำหนดไว้ว่า กมธ.ต้องเป็นผู้ซึ่ง สปช.เป็นผู้เสนอจำนวน 20 คน ไม่มีการกำหนดไว้ว่าต้องเป็นสมาชิก สปช.หรือไม่

@ "เกรียงไกร"พร้อมฟังเสียงสปช.

      นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวกรณีมี สปช.แสดงความคิดเห็นคัดค้านโควต้าคนนอก 5 คน มาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวไม่มีปัญหาและไม่ขัดข้องหากจะเป็นบุคคลภายในหรือภายนอก การเสนอให้มีสัดส่วนจากคนนอก 5 คนก็เพื่อต้องการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่อยากจะมาร่างรัฐธรรมนูญเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะคนที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่มีโอกาสเป็น สปช. หรือจะเป็นตัวแทนพรรคการเมืองก็ได้ไม่รังเกียจ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เวลาทำสิ่งใดส่วนตัวอยากให้คนภายนอกได้รับรู้และรับทราบด้วย เพื่อป้องกันปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 คงต้องดูมติเสียงส่วนใหญ่ว่าจะเห็นอย่างไร ควรฟังเหตุผลซึ่งกันและกันว่าเหตุใดถึงต้องเป็นคนในหรือคนนอก 

      "สปช.ทั้งหมด 250 คนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้แต่ต้องไม่แตกแยก หากอีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยก็ไม่มีสิทธิโกรธกัน เราต้องมองอย่างสร้างสรรค์ ถ้าหากอีกฝ่ายมีเหตุผลที่เหมาะสมว่าสัดส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน ควรเป็น สปช.ทั้งหมด ผมก็อาจจะถอยก็ได้ไม่ขัดข้องอยู่แล้ว สปช.คิดต่างได้แต่ไม่แตกแยก ต้องฟังเหตุผลกันเพื่อประเทศชาติ ไม่คิดว่าต้องไปรบราหรือต้องการเอาพรรคพวกเข้ามาไม่ใช่เจตนาของผมเลย" นายเกรียงไกรกล่าว

@ "ไพบูลย์"ลั่นกมธ.ต้องคนในสปช.

    นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.ด้านการเมือง กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุชัดเจนว่าให้สัดส่วน สปช.ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 20 คน ดังนั้นต้องให้สิทธิตามโควต้ากับ สปช. ก่อนนำคนนอกเข้ามาแบ่งสัดส่วนไป หากเปิดรับสมัคร สปช.ที่สนใจเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว คนมาสมัครไม่ครบก็สามารถนำคนนอกเข้ามาได้ แต่มั่นใจว่า สปช.จะมาสมัครครบ 20 คนแน่นอน

      "ควรให้คนในก่อน ไม่ใช่ว่า สปช.มาสมัครเท่าไรไม่รู้แต่มีที่นั่งให้แค่ 15 คน อีก 5 คนต้องเป็นคนนอกแบบนั้นมันดูไม่ดี ถือเป็นการจำกัดสิทธิเพื่อนสมาชิก สปช.คนอื่นๆ อีกทั้งทำให้มองได้ว่าสมาชิกที่ไปเสนอให้มีโควต้าคนนอกเสนอเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องที่อยู่นอก สปช. ดังนั้นการเสนอให้มีคนนอกแบ่งโควต้าไปจึงไม่มีใครเขาทำกัน ทั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2549 ก็ไม่มีการใช้วิธีการแบบนี้" นายไพบูลย์กล่าว

@ ยัน 27 ต.ค.โหวตตัดสินกมธ.

     เมื่อถามว่า หากวิป สปช.ไม่สามารถตกลงกันได้จะมีการยื่นญัตติคัดค้านการเสนอแบ่งสัดส่วนโควต้าคนนอกหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ในวันที่ 27 ตุลาคม จะมีการประชุม สปช. โดยฝ่ายที่ต้องการให้มีการแบ่งสัดส่วนโควต้าคนนอกก็จะเสนอต่อที่ประชุม คงยกมือเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็นแย้งต่อข้อเสนอดังกล่าวแน่นอน หากประธานที่ประชุมเห็นว่ามีความคิดเห็นขัดแย้งกันก็ต้องมีการลงมติกัน ไม่จำเป็นต้องยื่นญัตติแต่อย่างใด เว้นแต่ว่าวิป สปช.จะไปทบทวนข้อเสนอสัดส่วนโควต้าใน สปช.อีกครั้งว่ามันไม่ถูกต้องและไม่มีการเสนอในที่ประชุม ทุกอย่างก็เรียบร้อย มีความเป็นห่วงว่ากำลังเป็นการทำหน้าที่ครั้งแรกวิป สปช.ชั่วคราว ก็มาตัดสิทธิเพื่อนสมาชิกด้วยกันอาจเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี

@ ดักคอให้"คนนอก"ยุ่งเหยิงแน่

    นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 27 ตุลาคม หากที่ประชุม สปช.ลงมติเสียงส่วนใหญ่ไม่มีการนำคนนอกเข้ามาในสัดส่วน สปช. ทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการปกติ แต่หากที่ประชุมลงมติเสียงส่วนใหญ่ให้คัดเลือกคนนอกเข้ามาได้ กระบวนการก็จะยืดเยื้อเพราะต้องไปพิจารณากันอีกว่าโควต้าคนนอก 5 คน จะคัดเลือกจากการทาบทามหรือรับสมัคร จะเกิดข้อครหาว่า สปช.บางคนล็อกสเปกให้ใครไว้หรือไม่ เอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเองหรือไม่ปัญหาก็จะตามมามากมาย จากหน้าที่ของ สปช.ที่จะทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศก็กลายเป็นต้องมารับคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเอื้อประโยชน์ให้พวกตัวเองเพราะไม่ว่าจะได้คนนอกเป็นใครเข้ามาก็ตามจะถูกวิจารณ์เรื่องความเหมาะสมแน่นอน

      นายไพบูลย์ เปิดเผยต่อว่า สำหรับ สปช.ที่จะขอเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนสัดส่วน สปช.นั้น นอกจากตนแล้ว ยังมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ นายชูชัย ศุภวงศ์ และนางตรึงใจ บูรณสมภพ

@ "ดิเรก"หนุนประชาพิจารณ์รธน.

      นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า มีข้อเสนอว่าระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญควรทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นและนำมาใช้เป็นแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบุคคลที่จะทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีความเป็นกลาง ไม่ใช่ใช้อคติมาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้รัฐธรรมนูญมีปัญหา หากเลือกตั้งเสร็จก็จะมีการแก้รัฐธรรมนูญอีก รวมทั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรยึดหลักการร่างรัฐธรรมนูญเป็นกลางที่สุด ไม่หนักไปทางหนึ่งทางใดหรือซ้ายจัด ขวาจัด 

     นายดิเรก กล่าวว่า ส่วนการให้สัดส่วนคนนอก 5 คน ร่วมเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.นั้น หากเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองก็เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นคนนอกที่ไม่ใช่ตัวแทนพรรค จะมีคำถามว่าสมาชิก สปช. 250 คน ก็เป็นคนภายนอกพรรคการเมือง ซึ่งการให้สัดส่วนคนนอกจะทำให้ลดแรงกดดันการร่างรัฐธรรมนูญได้ ส่วนตัวได้ปฏิเสธเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เนื่องจากต้องการทำงานด้านการเมืองที่เป็นปัญหาของประเทศทำให้เกิดการรัฐประหารจึงต้องแก้ปัญหาการเมือง รวมทั้งทำงานแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจด้วย เพราะทั้ง 3 เรื่องเป็นหัวใจปัญหา ต้องทำทันที

@ "อมรวิชช์"เชียร์ผู้หญิงนั่งกมธ.

      นายอมรวิชช์ นาครทรรพ สปช.ด้านการศึกษา กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดสรรบุคคลเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สปช.ด้านการศึกษายังไม่มีการพูดคุยว่าจะส่งใคร ที่พูดคุยนอกรอบมีเพียงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของการศึกษา รวมถึงนโยบายเร่งด่วนในเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชนด้วย การคัดเลือกบุคคลเข้าเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ทางกลุ่มจะมีการประชุมกันอีกครั้งในเวลา 09.00 น. ก่อนเริ่มประชุมในวันที่ 27 ตุลาคม ที่อาคารรัฐสภา 3 

      "ในกลุ่มการศึกษาเรามีผู้หญิงเยอะ และในการประชุม สปช.ครั้งที่ผ่านมาก็ให้เกียรติผู้หญิง ผมมองว่าผู้หญิงน่าจะเหมาะสม เพราะมีความละเอียดอ่อนในเรื่องเด็กและเยาวชน น่าจะผลักดันกฎหมายได้ดี ส่วนการประชุมในวันที่ 27 ตุลาคม บรรยากาศคงถกเถียงด้วยเหตุผลเป็นวงกว้าง เชื่อว่าสุดท้ายต้องมีการโหวตว่าจะให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช.หรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่าควรคัดเลือกจากบุคคลใน สปช.กันเองก่อน" นายอมรวิชช์กล่าว

     น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน กล่าวว่า ส่วนตัวต้องการให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นโควต้าของคนภายใน สปช. หากให้สัดส่วนคนนอกไม่รู้ว่าจะมีวิธีการคัดเลือกอย่างไรให้เหมาะสม ยังคิดว่าน่าจะมีสัดส่วนผู้หญิงใน กมธ.ยกร่างธรรมนูญด้วย เพื่อความสมดุลในการออกกติกาให้เกิดความครอบคลุม แต่ต้องดูแนวทางของที่ประชุมด้วย

@ "อลงกรณ์"ขอชูปรองดอง

      นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ด้านพลังงาน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) ชั่วคราว กล่าวว่า ที่ประชุมวิป สปช.ชั่วคราวมีมติว่าการสรรหา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของ สปช.ควรจะเป็นบุคคลภายใน สปช. 15 คน และภายนอก 5 คน แนวทางดังกล่าวนี้จะนำเสนอให้ที่ประชุม สปช.พิจารณาในวันที่ 27 ตุลาคม ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สปช.จะมีความเห็นอย่างไร สำหรับเหตุผลที่มีการถกแถลงนั้น ที่ประชุมวิป สปช.ชั่วคราวได้พิจารณาถึงหลักการเรื่องความปรองดองสมานฉันท์ว่าควรเป็นหลักในการเริ่มต้นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมทั้งการปฏิรูปประเทศ ให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะคู่ขัดแย้งและคู่กรณีที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมามีส่วนร่วมโดยตรงในการยกร่างรัฐธรรมนูญและจัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ ควรก้าวข้ามความขัดแย้งและเริ่มสร้างความไว้วางใจด้วยการหันหน้าเข้าหากัน ทำงานร่วมกัน ให้เกิดความมั่นใจว่าในอนาคตข้างหน้าเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จเรียบร้อย มีแผนแม่บทปฏิรูปประเทศแล้ว จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน 

@ หวั่นข้อครหา"รธน."ผลไม้พิษ

      นายอลงกรณ์ กล่าวว่า หากเริ่มต้นจากการแบ่งเขาแบ่งเราหรือเกี่ยงงอนกันเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา ก็ไม่มีหลักประกันใดที่จะไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์จากความแตกแยกแบ่งฝั่งแบ่งฝ่ายเหมือนเช่นในอดีต ดังนั้น ก้าวแรกของการจัดทำรัฐธรรมนูญและจัดทำพิมพ์เขียวประเทศจึงควรยึดหลักความสมานฉันท์และความปรองดอง ถ้าไม่เริ่มกระบวนการของการมีส่วนร่วมโดยตรงเช่นนี้ เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญและจัดทำพิมพ์เขียวเสร็จ เข้าสู่ช่วงของการจัดการเลือกตั้งก็อาจจะมีพรรคการเมืองออกมาปฏิเสธรัฐธรรมนูญและพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศได้ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นผลไม้พิษและผลพวงของการรัฐประหาร เท่ากับว่าความเพียรพยายามทั้งหลายในการจัดทำรัฐธรรมนูญให้ออกมาเป็นอย่างไรก็จะเป็นเพียงกระดาษ 2 แผ่นที่ไร้ความหมาย เหนือสิ่งอื่นใดประเทศชาติก็จะสูญเสียเวลา กลายเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของความขัดแย้ง เพราะยังไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ ประวัติศาสตร์ก็จะซ้ำรอย ทั้งหมดนี้คือข้อกังวลของวิป สปช.ชั่วคราวเสียงข้างมาก 

@ ยกโมเดล"รธน.40"ต้นแบบ 

     นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องของคุณสมบัติหรือการมีส่วนได้ส่วนเสียของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พูดคุยกันพอสมควร เห็นว่าตัวอย่างของการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยและดีที่สุดฉบับหนึ่ง เป็นรัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองทุกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนกระทั่งให้ความเห็นชอบ ดังนั้น การอ้างเหตุผลของการมีส่วนได้ส่วนเสีย จึงไม่ใช่เหตุผลที่มีการอ้างในการจัดทำรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ หรือกรณีของคุณสมบัติต้องห้ามที่มีการอ้างว่าพรรคการเมืองมีข้อห้ามในเรื่องของการเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเวลา 3 ปีนั้น ตรงนี้มองว่าพรรคการเมืองสามารถหาตัวแทนในนามขององค์กรมาได้อยู่แล้ว ยกตัวอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีสมาชิกลงทะเบียนไม่ถึง 3 ล้านคน แต่มีสมาชิกที่ลงคะแนนให้พรรค ปชป.กว่า 10 ล้านคน ดังนั้น การสรรหาตัวแทนในนามพรรคสามารถทำได้ คิดว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ควรเข้าร่วมโดยตรง ไม่ใช่ส่งกระดาษความเห็นมาให้เพียงเท่านั้น 

      "การมีส่วนร่วมโดยตรงมีความหมายมากกว่าการส่งกระดาษแน่นอน มันหมายถึงการร่วมกันคิดร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญและพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันครั้งนี้ นอกจากไปแข่งขันภายใต้กติกาใหม่เป็นที่ยอมรับด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย วันนั้นจะเป็นวันที่ประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง" นายอลงกรณ์กล่าว

@ ขอพรรคการเมืองก้าวข้ามขัดแย้ง 

      เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรคการเมืองบางพรรคและคู่ขัดแย้งบางกลุ่มมีท่าทีปฏิเสธร่วมเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายอลงกรณ์กล่าวว่า บางความเห็นที่ออกมาขณะนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ต้องให้โอกาสแต่ละฝ่ายใช้ดุลพินิจอย่างเป็นผู้ใหญ่มองถึงประโยชน์ส่วนรวม

     และให้โอกาสประเทศ ถึงเวลาที่ต้องให้โอกาสประเทศบ้างแล้ว บ้านเมืองผ่านวิกฤตการณ์ ผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้ง ส่วนใหญ่เกิดจากการเมือง ดังนั้น พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองควรต้องไตร่ตรองด้วยความรอบคอบ สุขุม มองอนาคตของประเทศเป็นที่ตั้ง ก้าวข้ามความขัดแย้ง มาช่วยกันยุติความเห็นที่แตกต่าง แต่ตราบใดที่ยังยืนกันคนละฝั่ง วันข้างหน้าประเทศจะหวนกลับมาอยู่ปักตรมของความขัดแย้งเช่นเดิม ส่วนโควต้า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคนนอก 5 คน ต้องรอให้มีความชัดเจนจากมติที่ประชุม สปช.ก่อน

@ วิปให้สปช.แต่ละกลุ่มหารือก่อน

      นายอลงกรณ์กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 27 ตุลาคม เวลา 09.00 น. สปช.แต่ละกลุ่มจะประชุมนอกรอบ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของวิป สปช.ชั่วคราวที่มีแนวทางให้คัดเลือก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สัดส่วน สปช. 20 คน จากนั้นเวลา 10.00 น. ที่ประชุม สปช.จะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้ สปช.แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ก่อนลงมติ และในช่วงบ่าย สปช.แต่ละด้านจะแยกกันไปประชุมเพื่อหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นตัวแทนเข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยในวันที่ 28 ตุลาคม ที่ประชุม สปช.จะให้ความเห็นชอบเรื่องดังกล่าว

@ อจ.จุฬาฯแจ้งความถูกปลอมเฟซบุ๊ก

     นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็น สปช. กล่าวกรณีเฟซบุ๊กที่ประกาศข้อความว่า "ของดการเรียนการสอนในวิชาสังคมปริทัศน์ ในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ เพื่อเข้าร่วมประชุม สปช. และให้นิสิตเขียนร่างแนวทางการปฏิรูปประเทศโดยระบุถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขส่งภายในวันที่ 31 ตุลาคม" ผ่านเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อของตนว่า ไม่เป็นความจริง เฟซบุ๊กดังกล่าวมีคนปลอมขึ้นมา ได้เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อให้ตรวจสอบและตามหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษแล้ว เพราะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและเสียหาย ยืนยันว่ายังสามารถบริหารจัดการเวลาทำงานทั้งในฐานะอาจารย์และ สปช.ได้อย่างดี ยังคงไปสอนนักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ

"เท่าที่ทราบเฟซบุ๊กดังกล่าวเปิดมา 2 สัปดาห์แล้ว มีการโพสต์ข้อความให้คนเข้าใจผิดตนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก มีคนเข้ามาสอบถามกันมาก ทำให้ผมทราบเรื่องก่อนเข้าแจ้งความ" นายอมรกล่าว

@ "ชวลิต"ติงพวกสุดโต่งในสปช.

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณี สปช.แย่งชิงโควต้า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่มีความเห็นประเด็นนี้ เวลานี้เป็นโอกาสที่ คสช.และรัฐบาลทำงานตามโรดแมป แม้จะมีผู้ที่มีความคิดสุดโต่ง มีส่วนได้เสียในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็น สปช.จำนวนหนึ่ง และพยายามเสนอตัวเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตามที่เป็นข่าว แต่ผู้ที่มีความคิดสุดโต่งมีจำนวนน้อยกว่า สปช.สายความมั่นคงมาก ไม่น่าจะมีน้ำหนักเขียนกติกาเพื่อทำลายล้างกันทางการเมือง คิดว่าบทเรียนการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 คงทำให้ คสช.และรัฐบาลนำมาเป็นข้อคิดข้อเตือนใจในอันที่จะไม่กระทำซ้ำ จะยิ่งสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองไม่รู้จักจบสิ้น

@ บอกรบ.อย่ากังวล"คลื่นใต้น้ำ"

เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไร หาก คสช.และรัฐบาลไม่อาจทำตามโรดแมปที่วางไว้ และเลื่อนเวลาการคืนอำนาจให้กับประชาชนออกไปเรื่อยๆ นายชวลิตกล่าวว่า มีความเห็นตรงข้าม กลับเห็นว่า คสช.และรัฐบาลจะทำตามโรดแมปที่วางไว้รีบคืนอำนาจให้ประชาชน เหตุผลก็คือ นอกจากทำตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับประชาชนและชาวโลกแล้ว อีกประการคือปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังฝืดเคือง อัตราการเจริญเติบโตต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน ไม่ใช่ว่า ครม.ไม่มีความสามารถ แต่ปัจจัยภายนอกประเทศควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะโลกประชาธิปไตยมีกฎ ระเบียบ การทำธุรกรรม การค้า การลงทุน ตลอดจนการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นข้อจำกัด ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นเผือกร้อนที่ คสช.และรัฐบาลถือไว้ไม่นาน ไม่มีใครอยากทำร้ายประเทศชาติและประชาชนด้วยมือตนเอง ขณะนี้ทุกภาคส่วนให้โอกาสรัฐบาลได้ทำงานสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศ ขอให้ คสช.และรัฐบาลอย่ากังวลคลื่นใต้น้ำ ตราบใดที่ คสช.และรัฐบาลแก้ไขปัญหาตามที่สัญญาไว้

@ "นิพิฏฐ์"ซัดอคติจำกัดวาระส.ส.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการปฏิรูปการเมืองที่มีข้อเสนอให้จำกัดวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน ว่า ไม่มีประเทศใดที่กำหนดข้อจำกัดแบบนี้ ถ้าจะอ้างว่าเป็นข้อเสนอเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจของนักการเมือง คนที่ถูกจำกัดอย่างนี้ก็จะส่งลูกหลานของตัวเองไปลงสมัคร ส.ส. เราก็จะได้ ส.ส.ที่ละอ่อนทางการเมือง ไม่มีคุณภาพ ไม่มีประสบการณ์ เวลาจะลุกขึ้นอภิปรายอะไรหรือพิจารณาข้อกฎหมาย ก็ต้องโทรศัพท์ไปถามหรือขอคำปรึกษาจากพ่อ แม่ หรือญาติที่เป็นอดีต ส.ส. เชื่อว่าขณะนี้นักการเมืองหลายคนกำลังรับมือกับเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าประเทศใดก็ต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็น ส.ส. หรือผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มองว่าข้อเสนอดังกล่าวน่าจะมาจากคนที่เคยส่งสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่สอบตกแพ้การเลือกตั้ง 

"เห็นได้จากคนใน สปช. มีหลายคนที่เคยลงสมัคร ส.ส.แล้วแพ้การเลือกตั้ง บางคนเคยตั้งพรรคการเมืองล้มหายตายจากไปก็มี ผมอยากให้ยอมรับความจริงกัน อย่าเอาสิ่งที่ประสบมาหรือผิดหวังมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มิฉะนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่จริงหรือทำไม่ได้ ส่งผลให้เกิดเดดล็อก แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ คราวหน้าการยึดอำนาจจะเกิดขึ้นเร็ว รัฐธรรมนูญจะถูกฉีกอีก คราวนี้ประเทศไทยจะหายไปจากระบอบประชาธิปไตยไปอีกนาน" นายนิพิฏฐ์กล่าว 

@ "เพื่อไทย"งดจ่ายเงินอดีตส.ส.

แหล่งข่าวพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งว่า ขณะนี้กำลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มอดีต ส.ส.พท. เนื่องจากพรรค พท.ได้งดจ่ายปัจจัยสนับสนุนให้อดีต ส.ส.เขต และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลังเกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แกนนำพรรคมองว่า คสช.มีคำสั่งห้ามไม่ให้พรรคและนักการเมืองทำกิจกรรมการเมือง จึงไม่มีเหตุต้องจ่ายเงินให้ ส.ส.ไปทำกิจกรรม รวมทั้งเกรงว่าหากยังสนับสนุนต่อไปอาจถูกมองว่าฝ่าฝืนคำส่ง คสช. ให้อดีต ส.ส.ไปเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจเป็นมูลเหตุนำไปสู่การร้องเรียนสู่การยุบพรรคได้ จึงตัดปัญหาเลิกจ่ายเงินสนับสนุน แต่อดีต ส.ส.เขตเห็นแย้งว่า ยังต้องทำกิจกรรมในพื้นที่ที่เกี่ยวเนื่องกับประชาชนอยู่ตลอดเวลา งานที่ยากต่อการปฏิเสธ อาทิ งานบวช งานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น

"เงินที่พรรคให้ ส.ส.เขตเดือนละ 1 แสนบาท ปาร์ตี้ลิสต์ 5 หมื่นบาท ถ้าเทียบกับพรรคอื่นที่ได้มากกว่า เดิมเงินที่มีอยู่ไม่พออยู่แล้วกับกิจกรรมที่ต้องทำกับชาวบ้าน เมื่อเป็นอย่างนี้ จำเป็นที่เงินใส่ซองก็ต้องน้อยลง เช่น จากเดิมใส่ซองละ 1,000 บาท ก็เหลือ 500-600 บาท ยังดีที่ชาวบ้านเข้าใจ แต่พวกที่ลำบากหน่อยคงเป็น ส.ส.ที่ไม่มีธุรกิจอื่น ต้องประหยัดมากขึ้น ส่วนพวกมีธุรกิจก็พอดึงมาช่วยได้บ้าง" อดีต ส.ส.พท.รายหนึ่งกล่าว

@ "บิ๊กตู่"สั่งทุกกระทรวงรวมศูนย์

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้สั่งการให้ทั้ง 20 กระทรวงส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความเข้าใจในการแก้ปัญหาสามารถตัดสินใจได้มาประจำที่ศูนย์บริหารประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะเริ่มวันที่ 27 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนโดยตรง ยืนยันว่าสถานที่ศูนย์บริการประชาชนที่ตั้งอยู่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเพียงพอให้เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างๆ ทำงานได้ เรื่องราวร้องทุกข์ส่วนใหญ่ที่มีเข้ามาจะเป็นปัญหาจากพื้นที่ต่างจังหวัด จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกับศูนย์ดำรงธรรมอย่างใกล้ชิด 

เมื่อถามว่า ปัญหาต่างๆ ที่มีการร้องเรียนเข้ามาสามารถแก้ไขไปได้แล้วเท่าไหร่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา แก้ไขปัญหาต่างๆ ไปได้ร้อยละ 80 แล้ว แต่ที่ยังเป็นปัญหาค้างคาอยู่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่ต้องใช้เวลา และเรื่องที่เกี่ยวโยงในหลายกระทรวง การที่มีเจ้าหน้าที่ทุกกระทรวงมาประจำจะทำให้การประสานงานต่างๆ ดีขึ้น 

@ "ปู-แม้ว"เที่ยวกำแพงเมืองจีน 

ผู้สื่อข่าวรายงาน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวขณะเที่ยวกำแพงเมืองจีนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความว่า "วันนี้ได้มาเที่ยวกำแพงเมืองจีนกับท่าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับน้องไปป์ อากาศที่นี่กำลังเย็นสบายเจอทั้งนักท่องเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมาก และยังมีเด็กคนจีนเอาแพนด้ามามอบให้ด้วยค่ะ นอกจากนี้น้องไปป์ยังถือโอกาสให้เขาแกะสลักหินเป็นชื่อภาษาจีนเป็นของที่ระลึกกลับบ้านมาด้วย"

@ มาสเตอร์โพลล์วิจัย"คลื่นใต้น้ำ"

ทางด้านชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เปิดเผยผลวิจัยเชิงสํารวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่องคลื่นใต้น้ำ ขบวนการใต้ดินและกฎอัยการศึก กรณีศึกษาแกนนําชุมชนทั่วประเทศ 608 ชุมชน ระหว่างวันที่ 18-25 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยประชาชนร้อยละ 78.4 ระบุว่า ยังมีขบวนการใต้ดินที่คอยสร้างความขัดแย้งทางการเมืองให้คนในชาติ ขณะที่ประชาชนร้อยละ 81.7 ระบุว่า เกิดจากขบวนการในโลกออนไลน์

ทั้งนี้ เมื่อถามเกี่ยวกับการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกพบว่า แกนนําชุมชนกว่า 3 ใน 4 หรือร้อยละ 75.9 ยังไม่ต้องการให้มีการยกเลิกในเวลานี้ โดยแกนนําชุมชน ร้อยละ 69.9 คิดว่าหากยกเลิกกฎอัยการศึกจะทําให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองอีก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!