- Details
- Category: การเมือง
- Published: Monday, 27 October 2014 10:12
- Hits: 3850
วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8734 ข่าวสดรายวัน
ทหารแจงเปล่าเบ่ง คลิปแฉ ถูกศาลไล่-พกปืน วินธัยวอน-ขอให้เข้าใจ สปช.ถกตั้งกมธ.ยกร่าง จ้อนหนุนวิป-ดึงคนนอก บอร์ดอภ.ปลดผอ.เภสัช มท.ชงครม.ตั้ง 22 ผู้ว่าฯ
คสช.แจง - ภาพจากคลิปขณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดภูเก็ต ต่อว่าทหารที่พกอาวุธเข้ามาใน เขตศาล ขณะที่พ.อ. วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคสช. แถลงระบุตามระเบียบทหารห้ามละทิ้งอาวุธ ไม่ได้มีเจตนาละเมิดศาล |
ทีมโฆษกคสช.แจงวุ่น คลิปทหารพกปืนไปศาลภูเก็ต ยันไม่มีเจตนา แค่ขาดประสบการณ์ สปช.ประชุมวันนี้ ส่อตีตกมติวิปเสนอโควตา 5 คนนอกนั่งกมธ.ร่างรัฐ ธรรมนูญ "อลงกรณ์"แจงจุดประสงค์ ป้องกันครหาว่าเป็นรธน.ผลพวงรัฐประหาร ปชป.จี้สอบสปช.ตั้งกุนซือ-คณะทำงาน "บิ๊กตู่"สั่ง 20 กระทรวง ส่งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ร้องทุกข์ทำเนียบ มหาดไทยเตรียมชง ครม.แต่งตั้งโยกย้ายผวจ.-ผู้ตรวจฯ อีก 22 เก้าอี้ "ปู-แม้ว"เที่ยวกำแพงเมืองจีน คนไทย-คนจีนแห่ขอถ่ายรูป ให้กำลังใจ
"อลงกรณ์"แจงปมกมธ.คนนอก
วันที่ 26 ต.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสปช. หรือวิปสปช.ชั่วคราว กล่าวว่า การประชุมสปช.วันที่ 27 ต.ค. เวลา 10.00 น. ตนในฐานะเลขาฯวิปสปช.ชั่วคราว จะรายงานมติวิปสปช.ที่เสนอสัดส่วนกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของสปช. จำนวน 20 คน โดยแบ่งเป็นโควตาคนนอก 5 คน ให้ที่ประชุมรับทราบ เหตุผลส่วนหนึ่งที่ กมธ.เสียงข้างมากมีมติเห็นด้วย คือการคำนึงถึงต้นทางและปลายทางของการยกร่างรัฐ ธรรมนูญ ว่าหัวใจสำคัญไม่ใช่เฉพาะการเขียนรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการยอมรับในรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย เมื่อมีการเลือกตั้งรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นที่ยอมรับไม่ถูกปฏิเสธ ไม่ถูกมองว่าเป็นผลพวงจากการรัฐประหารหรือเป็นผลไม้พิษ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นก้าวใหม่ของประเทศ โดยเฉพาะการยกร่างรัฐธรรมนูญและแผนแม่บทปฏิรูปประเทศก็ไม่ควรแบ่งฝ่าย แต่ควรเริ่มต้นด้วยการหันหน้าเข้าหากัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมใหญ่ว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยในช่วงบ่ายสปช.แต่ละด้านจะแยกกันไปประชุม เพื่อหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นตัวแทนเข้าไปเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 28 ต.ค. เพื่อให้ความเห็นชอบ ส่วนโควตาคนนอก 5 คน จะมีการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 พ.ย. แต่หากมติส่วนใหญ่ของที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับแนวทางของวิปสปช. เราก็พร้อมยอมรับและปฏิบัติตาม
ชี้มองเรื่องการยอมรับ
"สมาชิกสปช.มีความรู้ ความสามารถที่จะเป็นกมธ.ยกร่างฯได้ทุกคน แต่ในส่วนของวิป สปช.มองถึงเรื่องการยอมรับในบั้นปลาย หากเกิดการไม่ยอมรับเท่ากับว่าประเทศสูญเสียเวลา และจะเป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งครั้งใหม่ ที่ผ่านมาเราผ่านวิกฤตทางการเมืองมามาก รัฐประหารหลายครั้ง ยกร่างรัฐ ธรรมนูญอย่างน้อย 19 ครั้ง แต่ไม่เคยก้าวพ้นความขัดแย้งได้เลย" นายอลงกรณ์กล่าว
ส่วนที่มีสมาชิกสปช.ไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนดังกล่าว นายอลงกรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สมาชิกแต่ละคนมีเหตุผลของตัวเอง เพื่อนำมาพูดคุยในที่ประชุม
กลุ่มศึกษาหนุนเฟ้นคนใน
นายอมรวิชช์ นาครทรรพ สปช.ด้านการศึกษา กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดสรรบุคคลเข้ามาเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า สปช.ด้านการศึกษายังไม่มีการพูดคุยหารือว่าจะส่งใคร แต่จากพูดคุยนอกรอบมีเพียงประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของการศึกษา รวมถึงนโยบายเร่งด่วนในเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชนด้วย การคัด เลือกบุคคลเข้าเป็นกมธ.ยกร่างฯทางกลุ่มจะประชุมกันอีกครั้งในเวลา 09.00 น.วันที่ 27 ต.ค. ที่รัฐสภา ก่อนประชุมสปช. เวลา 10.00 น. ส่วนตัวไม่มีความถนัดเพราะอ่อนเรื่องกฎหมาย แต่เห็นว่าทุกคนในกลุ่มด้านการศึกษามีความเหมาะสม และคนที่เข้าร่วมเป็น กมธ.ยกร่างฯถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละ
นายอมรวิชช์ กล่าวว่า ในกลุ่มด้านการศึกษาเรามีผู้หญิงอยู่มาก จึงมองว่าผู้หญิงน่าจะเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทน เพราะมีความละเอียดอ่อนในเรื่องเด็กและเยาวชนน่าจะผลักดันกฎหมายได้ดี เชื่อว่าการประชุมวันที่ 27 ต.ค. คงจะมีการพูดคุยถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล เชื่อว่าสุดท้ายก็ต้องมีการโหวตว่าจะให้บุคคลนอก 5 คน เข้าร่วมเป็นกมธ. ยกร่างฯในสัดส่วนของสปช.หรือไม่ แต่เห็นว่าน่าจะคัดเลือกจากบุคคลในสปช.กัน เองก่อน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน กล่าวถึงการคัดค้านโควตาคนนอก 5 คนเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เห็นด้วย เพราะหากให้สัดส่วนคนนอกไม่รู้จะมีวิธีการคัดเลือกอย่างไรให้เหมาะสม แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสปช.ว่าจะให้มีสัดส่วนอย่างไร การประชุมวันที่ 27 ต.ค.จะได้แนวทางที่ชัดเจน คิดว่าน่าจะมีสัดส่วนของผู้หญิงไปนั่งเป็นกมธ.ยกร่างฯด้วย เพื่อความสมดุลในการออกกติกาให้ครอบคลุม แต่ก็ต้องดูแนวทางของที่ประชุมเพราะแต่ละสายก็มีคนสนใจเข้าเป็นกมธ.จำนวนมากอยู่แล้ว
สิงห์ทอง"หนุนคนหลุดสปช.
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช.นนทบุรี กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอว่า ระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญควรทำประพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็น และนำมาใช้เป็นแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ บุคคลที่จะทำหน้าที่กมธ.ร่างรัฐ ธรรมนูญ ต้องมีความเป็นกลาง ไม่ใช้ความอคติมาร่างรัฐธรรมนูญ ควรยึดหลักการร่างรัฐธรรมนูญเป็นกลางที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ส่วนการเสนอให้โควตาคนนอก 5 คน มาร่วมเป็น กมธ.นั้น หากเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองก็เห็นด้วย แต่ถ้าคนนอกไม่ใช่ตัวแทนพรรคการเมืองก็จะมีคำถามว่าสมาชิกสปช. 250 คน ก็เป็นคนภายนอกการเมือง ซึ่งการให้สัดส่วนคนนอกจะทำให้ลดแรงกดดันการร่างรัฐธรรมนูญได้ ส่วนตัวปฏิเสธการเป็นกมธ.ยกร่าง เพราะต้องการทำงานด้านการเมือง
นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อุทัยธานี กล่าวถึงสัดส่วนของ สปช.ที่จะไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า หากว่ามีคนนอกไปนั่งด้วยก็ดีจะได้เห็นความหลากหลายทางความคิด เพราะสปช. 250 คน ที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะอยู่ฝ่ายเดียวกันไม่มีกลุ่มตรงข้ามเลย การจะเอาฝ่ายตรงข้ามมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญด้วยจะทำให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองต่างๆ นักวิชาการหรือกลุ่มแนวร่วมต่างๆ ไม่ใช่เอาแต่พวกเดียวกันมาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีจะนำคนที่สมัครสปช.กว่า 7,000 คน ไปทำงานกับ สปช.ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สปช. ผู้ชำนาญการประจำตัว สปช. และผู้ช่วยดำเนินงานของ สปช.นั้น คิดว่าคงไม่จำเป็น แต่น่าจะให้คนเหล่านี้ไปร่วมงานใน กมธ.จะดีกว่า
ปชป.จี้สอบสปช.ตั้งกุนซือ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษาประธานและรองประธาน สปช. ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 72,660 บาทเท่ากัน รวมถึงตำแหน่งเลขานุการประธาน สปช.ในอัตราเดือนละ 49,210 บาท ว่า ต้องดูว่าเป็นเงินประจำตำแหน่งหรือเงินเดือน ถ้าเป็นเงินเดือนก็ถือเป็นอัตราที่ปกติที่ใช้ฐานเดิมเหมือน ส.ส.และส.ว. ที่ใช้เครื่องบิน ใช้รถฟรี แต่กลับไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน สิ่งนี้คือความต่าง จึงอยากให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบเรื่องดัง
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ในอดีตคนเป็นรัฐมนตรี เป็น ส.ส.มีเงิน 2 ส่วน คือเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง แต่รับเงินได้ทางเดียว แต่ สนช.กลับรับเงินเดือน 2 ทาง และไม่ต้องลงพื้นที่พบปะประชาชนเหมือน ส.ส. ในยุคที่มีการปฏิรูปทั้ง สนช.และสปช.กินเงินทุกทาง อย่างคนที่เป็นอธิการบดีมาเป็น สนช. และ สปช.รับเงินเดือนอธิการบดีแล้วก็มารับเงินเดือน สนช.และ สปช.อีก ขอเรียกร้องว่าควรจะรับเงินทางเดียวอย่าไปรับหลายทาง
ผลัดกันเกาหลัง
เมื่อถามถึงการแต่งตั้งบุคคล 5 ตำแหน่ง ปฏิบัติงานให้สมาชิก สปช. โดย 1 ตำแหน่งให้แต่งตั้งจากบุคคลที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ถือเป็นการผลัดกันเกาหลัง การแต่งตั้งถึง 5 ตำแหน่งถือว่ามากไป เพราะไม่ใช่การทำหน้าที่เหมือน ส.ส.รวมถึงการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสปช. ต้องแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ต่ำกว่าอยู่แล้ว ถ้าจะบอกว่าแต่งตั้งมาแล้วให้บุคคลเหล่านี้มาให้ความรู้ ความคิดเห็น คงทำไม่ได้เพราะความสามารถไม่ถึง แต่ถ้าจะแต่งตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกก็สามารถทำได้ ถ้าคิดว่ามีความสำคัญกับการทำงานด้านปฏิรูป
สปช.อ้างให้มองที่ผลงาน
นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวเรื่องเดียวกันว่า รัฐสภายังไม่ได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้คาดว่าในวันที่ 27 ต.ค.จะมีการชี้แจงในที่ประชุม การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจําตัวสมาชิก สปช. 1 อัตรา ผู้ชํานาญการประจําตัวสมาชิก สปช. จํานวน 1 อัตรา และผู้ช่วยดําเนินงานของสมาชิก สปช.จํานวน 3 อัตรานั้น เป็นวิธีการที่คล้ายกับระบบฐานเดิมในการให้สิทธิอำนวยความสะดวกแบบเดียวกับ ส.ส. ส.ว. และสนช.
เมื่อถามว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้ก๊วนสปช.ที่อกหัก นายคำนูณกล่าวว่า คงเป็นความพยายามช่องทางหนึ่งตามแนวทางของรัฐบาลและสนช. ที่ต้องการให้คนเข้าร่วมการปฏิรูปร่วมกัน ส่วนจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณหรือไม่ ตนเห็นว่าอยู่ที่การทำงานของสมาชิก สปช.แต่ละคน อีกด้านอาจมองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะช่วยให้การทำงานของ สปช.มีความสะดวกมากขึ้น เนื่องจากการทำงานของ สปช.ต้องลงพื้นที่พบปะประชาชน รวมถึงหาข้อมูลในด้านวิชาการและข้อกฎหมาย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่ใน 1 ตำแหน่งให้แต่งตั้งจากบุคคลที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. ดังนั้นขอให้สังคมมองที่ผลงานมากกว่า
สปช.ส่อตีตกมติวิป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สปช.บางส่วนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของวิปสปช.ชั่วคราว เพราะเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไม่บังคับว่ากมธ. ยกร่างฯ สัดส่วนของสปช.ไม่ต้องเป็นสปช.ทั้งหมด แต่โควตาบุคคลภายนอกควรไปอยู่ในสัดส่วนของ คสช.และครม. อีกทั้ง สปช.ต้องให้ความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน กมธ.จึงควรเป็นสปช.ทั้งหมด และจะทำให้หาฉันทามติสปช.ได้
นอกจากนี้ มีรายงานข่าวว่าวันที่ 26 ต.ค. เวลา 17.00 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ นายประชา เตรัตน์ สมาชิก สปช.ชลบุรี ได้นัดหมายสมาชิกสปช.กลุ่มจังหวัด หารือแนว ทางการคัดเลือกตัวแทนสปช.กลุ่มจังหวัดเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยตัวแทนสปช.แต่ละด้านที่จะเป็น กมธ.ยกร่าง สปช.หลายด้านยังไม่มีความชัดเจนและขอหารือนอกรอบเวลา 09.00 น. วันที่ 27 ต.ค. ก่อนประชุมสปช. แต่บางกลุ่มมีสมาชิกอาสาเป็นกมธ.ยกร่างฯ แล้ว อาทิ กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีนายคำนูณ สิทธิสมาน กลุ่มจังหวัดภาคกลาง และตะวันออก มีนายประชา เตรัตน์ เนื่องจากนายดิเรก ถึงฝั่ง ไม่ขอรับตำแหน่ง
สำหรับ สปช.ด้านการเมือง มีผู้สนใจเป็น กมธ.ยกร่างฯ ประมาณ 7 คน จึงยังวไม่มีข้อสรุปว่าจะส่งใครเป็นตัวแทน อีกทั้งสมาชิกเห็นว่าหากมีมติไปก็จะกลายเป็นการยอมรับมติของวิปสปช..ชั่วคราว ที่ให้คนนอก 5 คนเป็นกมธ.ยกร่างฯ จึงต้องการไปหารือในที่ประชุมสปช.ก่อน ส่วนด้านการปกครองท้องถิ่น สมาชิกสปช.ในกลุ่มดังกล่าวจะเสนอชื่อ นายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
คลิปทหารพกอาวุธเข้าเขตศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีมีคลิปเผยแพร่ตามโลกออนไลน์และเว็บไซต์ต่างๆ พร้อมข้อความระบุ ทหารนำกำลังพร้อมอาวุธเข้าศาลโดยไม่ขออนุญาตก่อให้เกิดการแตกตื่นตกใจ จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วนั้น
จากการตรวจสอบพบว่าคนที่พูดเสียงดังต่อว่าทหารเป็นระดับผู้พิพากษา ส่วนทหารที่ยืนประจันหน้าเป็นทหารจากฝ่ายเสนาธิการกองเรือปฏิบัติการ ทัพเรือภาคที่ 3 ที่เดินทางมาที่ศาลจังหวัดภูเก็ต พร้อมนายทหารพระธรรมนูญและกำลังเจ้าหน้าที่ทหารเรือจำนวนหนึ่ง บางส่วนพาอาวุธเข้ามาในเขตพื้นที่รับผิดชอบของศาล โดยเจ้าหน้าที่ศาลต่อว่าเสียงดังทำนองว่า ช่วงที่ผ่านมาไม่ว่ากรณีเป็นอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรที่มาอยู่ประจำศาล ยังไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน พร้อมระบุ "อย่ามาแสดงอำนาจบาตรใหญ่ที่นี่"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทหารชุดดังกล่าวเดินทางมาศาลจังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามคดีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการบุกรุกครอบครองพื้นที่สาธารณะ หรือการจัดระเบียบชายหาด โดยช่วงที่ผ่านมากำลังทหารเรือ ทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัดภูเก็ต เข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่บริเวณชายหาดสุรินทร์ ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์แหลมพิษ-ปากบาง หน้าหาดในยาง ต.สาคู อ.ถลาง บริเวณป่าพรุเจ๊ะสัน ต.ไม้ขาว อ.ถลาง โดยกลุ่มประชาชนที่บุกรุกครอบครองพื้นที่สาธารณะบางส่วนยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดภูเก็ตขออนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราว
ทั้งนี้ พบว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวหลุดมาจากกลุ่มไลน์ของศาลจังหวัดภูเก็ตที่ส่งต่อๆ กันมาจนมีคนนำไปลงยูทูบ
คสช.แจงไม่มีเจตนา
พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงคลิปทหารนำอาวุธติดตัวเข้าไปในพื้นที่เขตที่ ทำการศาลภูเก็ตว่า เหตุการณ์นี้ไม่ได้เป็นการกระทำที่เกิดจากเจตนา มองว่าทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ สามารถปรับและชี้แจงกันได้ เพราะเป็นส่วนราชการเหมือนกัน โดยวันดังกล่าวเป็นการไปขึ้นให้การต่อศาลของผู้บังคับหน่วยทหารเรือในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ในคดีเรื่องการจัดระเบียบชายหาด การรุกป่าอุทยานสิรินารถ โดย ผบ.หน่วยอยู่ในห้องพิจารณาและไม่มีอาวุธ ขณะที่กำลังพลของหน่วยที่เพิ่งเสร็จจากการปฏิบัติภารกิจจากพื้นที่อื่นและติดอาวุธประจำกายมาด้วย ขณะมารอพบผู้บังคับบัญชาด้านนอกอาคาร
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ตามระเบียบปฏิบัติประจำของหน่วยคงไม่สามารถฝากไว้ที่ไหนได้ มีเหตุจำเป็นที่จะต้องรักษาอาวุธปืนไว้กับตัว ในขณะพักผ่อนอิริยาบถเมื่อไปคอย ผู้บังคับบัญชา มองได้ว่าคงไม่ได้มีเจตนาจะแสดงความก้าวร้าวหรือไม่เคารพธรรมเนียมปฏิบัติของเขตที่ทำการศาล อาจเป็นเรื่องของการขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติตามข้อห้ามของสถานที่มากกว่า
"เมื่อเกิดความไม่เข้าใจขึ้นผู้บังคับหน่วยที่เข้ามาเจรจาและดำเนินการตามข้อแนะนำ โดยไม่มีท่าทีใดที่ดูเป็นการเสียมารยาท แม้ว่าในคลิปจะถูกต่อว่าในลักษณะรุนแรงก็ตาม เหตุการณ์นี้อาจมองเป็นเรื่องของประสบการณ์กำลังพล ซึ่งผู้บังคับบัญชาสามารถปรับและกำชับการปฏิบัติตนได้" โฆษกคสช. กล่าว
เคลียร์เขมรปมปะทะชายแดน
พ.อ.วินธัย ในฐานะโฆษกกองทัพบก (ทบ.) กล่าวกรณีกัมพูชาส่งหนังสือถึงไทยต่อเหตุการณ์การเสียชีวิตของชาวกัมพูชาที่ต้องสงสัยขโมยจักรยานยนต์ที่จ.สุรินทร์ รวมทั้งการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกลุ่มลักลอบตัดไม้ชายแดนในเดือนต.ค. ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการประสานตามวิธีระหว่างประเทศ ในส่วนทบ. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. กำชับและเน้นย้ำการปฏิบัติของหน่วยทหารในพื้นที่ชายแดนมาโดยตลอด ให้ยึดตามหลักการสากล บนพื้นฐานของความเป็นมิตรประเทศและตามกฎการใช้กำลังอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะระเบียบการใช้อาวุธในทุกเหตุการณ์
โฆษกทบ.กล่าวว่า มั่นใจการฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เรา เริ่มจากวิธีการที่ละมุนละม่อมทุกครั้ง เรื่องกฎการใช้กำลังทุกหน่วยปฏิบัติตามขั้นตอน จะไม่เริ่มด้วยการใช้ความรุนแรงก่อนอย่างแน่นอน เพราะจุดประสงค์หลักคือต้องการควบคุมตัวผู้กระทำผิดมาขยายผลดำเนินคดี ขอให้เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องรักษากฎหมาย โดยเฉพาะการทำผิดที่เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าพฤติกรรมคนร้ายปัจจุบันก้าวร้าวขึ้นมาก พบมีการขัดขืนต่อสู้มาตลอดในฐานความผิดบางประเภท ถึงขั้นมีกองกำลังคุ้มกันมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เช่น การลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ชายแดนที่มีความเข้มข้นมากขึ้น แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามสกัดกั้นด้วยการออกลาดตระเวนพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะผลประโยชน์และมูลค่าไม้ที่สูงขึ้นกลุ่มลักลอบตัดไม้ได้ใช้วิธีจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อคุ้มกันการลักลอบตัดไม้ ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดการปะทะระหว่างทหารไทยกับกองกำลังดังกล่าวตามแนวชายแดนอยู่เป็นระยะ ซึ่ง ทบ.ใช้การประสานแจ้งข้อมูลและมีความร่วมมือกันกับหน่วยทหารของกัมพูชาที่ดูแลพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ดักคอโยงสิทธิมนุษยชน
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนที่มีความพยายามโยงไปสู่เรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น ขอให้ตระหนักในความจริงที่ว่าการลักลอบตัดไม้หรือการกระทำผิดกฎหมายใดๆ ในพื้นที่ชายแดน เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นภัยต่อความมั่นคงและกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ กฎหมายที่มีอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน การกระทำผิดกฎหมายกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ มิเช่นนั้นก็จะถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งอาจมีการให้ข่าวบิดเบือนจากผู้เสียประโยชน์ หรือผู้ที่มีอคติ พยายามจุดกระแส ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่
สำหรับ เหตุการณ์เมื่อ 23 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น กรมทหารพรานที่ 26 ออกสกัดกั้นการกระทำผิดเงื่อนไขชายแดนที่ ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ พบชาย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาจึงแสดงตัวเพื่อตรวจค้น แต่ถูกชุดคุ้มกันของกลุ่มคนร้ายยิ่งเข้าใส่ จนเกิดการประทะกันประมาณ 5 นาที จากการตรวจสอบคนร้ายเสียชีวิต 1 ราย
สั่ง 20 กระทรวงหนุนศูนย์ร้องทุกข์
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. สั่งการให้กระทรวงทั้ง 20 กระทรวง ส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหา และสามารถตัดสินใจได้มาประจำที่ศูนย์บริหารประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะเริ่มวันที่ 27 ต.ค.นี้ ตามที่ได้เสนอไป เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนโดยตรง และมีการถกแถลงในการแก้ปัญหาต่างๆ ยืนยันว่าสถานที่ของศูนย์บริการประชาชนที่ขณะนี้ตั้งอยู่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะเพียงพอให้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างๆ ทำงานได้
ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า เรื่องราวร้องทุกข์ส่วนใหญ่ที่มีเข้ามาจะเป็นปัญหาในพื้นที่ต่างจังหวัด จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประสานงานศูนย์ดำรงธรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อประสิทธิ ภาพในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน เมื่อถามว่า ปัญหาต่างๆ ที่มีการร้องเรียนเข้ามาสามารถแก้ไขไปได้แล้วเท่าไร ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปได้ร้อยละ 80 แล้ว แต่ที่ยังเป็นปัญหาค้างคาอยู่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่ต้องใช้เวลา และเรื่องที่มีความเกี่ยวโยงในหลายกระทรวง การที่มี เจ้าหน้าที่ทุกกระทรวงมาประจำที่ศูนย์บริการประชาชนก็จะทำให้การประสานงานต่างๆ ดีขึ้นด้วย
ส่งเจ้าหน้าที่เข้าประจำศูนย์
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกําเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยในเรื่องเดียวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ประสงค์ให้การแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ลดขั้นตอนในแบบ one stop services
พล.ต.สรรเสริญ เผยจำนวนเรื่องร้องทุกข์ ที่มีเข้ามายังศูนย์บริการประชาชน และที่ คสช. ส่งให้ศูนย์บริการประชาชนดำเนินการระหว่างวันที่ 22 พ.ค.-19 ต.ค.ว่า มีทั้งสิ้น 81,855 เรื่อง ดำเนินการไปแล้ว 71,754 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 87.66 อยู่ระหว่างดำเนินการ 10,101 คิดเป็นร้อยละ 12.34 โดยเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมและสวัสดิการ จำนวน 44,105 เรื่อง รองลงมาคือเรื่อง เศรษฐกิจ จำนวน 11,299 เรื่อง การร้องเรียนกล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ 11,070 เรื่อง การเมืองการปกครอง 8,587 เรื่อง กฎหมาย 3,908 เรื่อง และทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2,886 เรื่อง
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือไปยังกระทรวงเพื่อแจ้งคำสั่งนายกรัฐมนตรี ในการประสานงานให้ทั้ง 20 กระทรวง จัดเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในการประสานแก้ปัญหาของประชาชนได้ในเบื้องต้น อย่างน้อยกระทรวงละ 1 คน มารับเรื่องร้องเรียนและแก้ปัญหาขั้นต้น ที่เรือนรับรองประชาชน ทำเนียบรัฐบาล โดยให้มารายงานตัวเพื่อปฏิบัติหน้าที่วันที่ 27 ต.ค. เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป
"สังศิต"เปิดตัวสปท.
เวลา 13.00 น. ที่ห้อง1-801 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีการแถลงเปิดตัวสถาบันปฏิรูปประเทศ(สปท.) โดยมีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิก สปช.เป็นประธานสถาบัน นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นผอ. นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) นายวิทยากร เชียงกูล คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ร่วมแถลง
นายสังศิต กล่าวว่า การปฏิรูปต้องทำให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น หน้าที่สปท.เพื่อทำให้การปฏิรูปประโยชน์ตกอยู่กับคน ส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ภาคประชาสังคมมีอำนาจตรวจสอบ เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น เจตนารมณ์การก่อตั้งสปท. ต้องการให้องค์กรสังคม องค์กรวิชาการทำงานเชื่อมต่อกับเครือข่ายภาคประชาชน เปิดเวทีให้ภาคประชาสังคมสะท้อนความเห็นสู่สปช. โดยสปท.ทำงานสนับสนุนสปช.เต็มที่ หากพบความเห็นที่เป็นประโยชน์จะส่งให้สปช. มีเป้าหมายคือ 1.สนับสนุนเสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาสังคมทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาการเมืองภาคประชาชนสู่การปฏิรูปประเทศ 2.ตรวจสอบติดตามและผลักดันนโยบายสาธารณะ เพื่อให้เกิดประสิทธิ ภาพประสิทธิผลต่อสังคมสูงสุด 3.รณรงค์เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ขับเคลื่อนให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนด้านการต่อสู้ขบวนการภาคประชาชน 4.จัดการศึกษาอบรม ให้คำปรึกษา บริการทางวิชาการ 5.ส่งเสริมงานวิชาการและสนับสนุนการเมืองภาคประชาชน นวัตกรรมการเมืองสู่การปฏิรูป และ6.สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมทางวิชาการ ศึกษาวิจัย ค้นคว้าแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเมือง
สภากระจกคู่ขนานสปช.
นายสังศิตกล่าวว่า การทำงานของสปท.ในระยะสั้นจะติดตามการทำงานสปช. โดยจะทำหน้าที่เป็นสภากระจก จัดเวทีคู่ขนานกับสปช. ส่วนระยะกลาง ติดตามตรวจสอบ กระบวนการและเจตนารมณ์การปฏิรูปช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือผลัดรัฐบาล เพื่อรักษาความต่อเนื่องของกระบวนการปฏิรูป และระยะยาว ผลักดันสร้างกระบวนการปฏิรูปให้มีความเข้าใจ เข้าถึงทันการเปลี่ยนแปลงและสิ่งท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการปลูกฝังจิตสำนึกใหม่ๆ สร้างทางเลือกใหม่ เพื่อหลุดจากการเมืองและการศึกษาล้มเหลว
นายสังศิตกล่าวว่า ทั้งนี้สปท.มีข้อเสนอต่อสปช.และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้แก่ 1.ต้องทำให้การปฏิรูปเป็น"วาระแห่งชาติ"และเป็นการปฏิรูปที่ยั่งยืนด้วยการระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อห้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าภาพการปฏิรูป 2.คสช.และสปช.ต้องไม่ปิดกั้นกิจกรรมเวทีเสนอความเห็นและข้อเรียกร้องกลุ่มต่างๆ โดยต้องแยกออกจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มใต้น้ำ ต่อต้านรัฐบาล และ3.สปท.เห็นว่าการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำให้เสร็จในเสลา 1 ปี ดังนั้น คสช.และ สปช.ต้องกำหนดหรือกลไกองค์กรที่จะทำหน้าที่ผลักดันการปฏิรูปในระยะยาว