WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'บิ๊กกี่'หย่าศึกชี้ขัดรธน. 'คนนอก'วืด อดนั่งกมธ.โควต้าสปช.สภาปฏิรูปคึกตั้งกุนซือ คนละ5เก้าอี้มีเงินเดือน ปู-แม้วบินทัวร์กวางโจว โหรชี้ 58-59 ไร้เลือกตั้ง

     เที่ยวจีน - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย ยิ้มอย่างมีความสุขขณะเที่ยวพักผ่อนที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม

    'เทียนฉาย'หวั่นไม่เป็นกลาง ปัดให้ความเห็นดึงคนนอกนั่ง กมธ.ยกร่าง ประธาน สนช.เซ็นคำสั่งให้ สปช.ตั้ง"ที่ปรึกษา-ทีมงาน"พร้อมผลตอบแทนเพียบ

@ "เทียนฉาย"ปัดพูดดึงคนนอกนั่ง 

    เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงสัดส่วนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อเสนอให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมในสัดส่วนของ สปช.จำนวน 5 คน แต่มี สปช.ไม่เห็นด้วยว่า ต้องเข้าใจด้วยว่า สปช.โดยหลักการยังไม่ได้เริ่มงาน เพราะยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่ในเงื่อน ของเวลา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นรอไม่ได้ 

     "ส่วนตัวผมไม่เคยพูดว่าจะดึงคนนอกเข้ามาร่วมใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แม้แต่ใน กมธ.ก็ไม่เคยแสดงความเห็นส่วนตัว เนื่องจากต้องมีความเป็นกลาง ไม่เอาความเห็นส่วนตัวเข้าไปและยังไม่ได้บอกใครว่าส่วนตัวคิดอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นจะลำบาก นี่เป็นอีกเรื่องที่ต้องปรับตัว เพราะอยู่ในมหาวิทยาลัยผมจะทำอะไรก็มีคำตอบเสมอ แต่ที่นี่ต่อให้มีคำตอบบางเรื่องก็ต้องกลืนมันลงไป" นายเทียนฉายกล่าว

@ สเปก"มีความรู้-ความสามารถ" 

      ผู้สื่อข่าวถามว่า คนนอกที่เห็นต่างและมีความเห็นหลากหลายกับแนวทางการทำงานของ สปช. จะมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร นายเทียนฉายกล่าวว่า การเข้ามามีส่วนร่วมจะมาในหลายเรื่อง อย่างการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นเพียงประเด็นหนึ่ง ซึ่งในแต่ละด้านต้องมาคิดกัน การทำงานของ กมธ.ด้านต่างๆ ก็มีคนนอกอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะจะเป็นรูปของ กมธ.วิสามัญก็ได้ ไม่จำเป็นแค่ กมธ.สามัญ

      "ยกตัวอย่างเช่น กมธ.บริหารราชการแผ่นดิน ประเด็นหลักที่ออกมาจาก กมธ.ชุดนี้เสนออาจจะต้องถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย แม้กระทั่งเรื่องระบบหรือวิธีการเลือกตั้ง และเลือกตั้งท้องถิ่น ความเห็นตรงนี้ถึงให้เวลา 60 วัน แล้วมาเสนอกรอบต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญใน กมธ.ชุดนี้เชื่อว่า จำนวนหนึ่งน่าจะเป็น กมธ.วิสามัญ นั่นแปลว่าผู้มีความรู้ ความสามารถที่เป็นคนนอกต้องมีส่วนเข้ามาร่วมวงตรงนี้ได้ ยังไม่ได้ปิด ยังมีอีกหลายช่องทางมา นี่คือมีส่วนตรงๆ" นายเทียนฉายกล่าว

     นายเทียนฉาย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นก็ยังมีได้โดยรอบ ความเห็นที่มีส่วนเข้ามาจากอดีตก็มีมากพอสมควร ทั้งของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายคณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) รวมถึงนิด้าโมเดล เป็นต้น ตรงนี้เราตกลงกันแล้วอย่างไม่เป็นทางการว่าจะเอามาใช้ทั้งหมดเพราะเป็นประโยชน์ เกือบจะบอกเลยว่ามีคำตอบสุดท้าย เพียงแต่ว่าต้องมาวิเคราะห์และสังเคราะห์กัน แต่ละประเด็นต้องมาวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง เอาที่คิดว่ามีจุดดีมา

@ คสช.เล็งดึงคนนอกนั่งกมธ.

แหล่งข่าวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า คสช.บางรายมีแนวคิดในการเลือกผู้ที่จะเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในโควต้า 5 คนของ คสช. ควรจะเป็นคนนอก คสช.มาเป็นกรรมาธิการยกร่าง เนื่องจากจะมีเวลามาทำงานตรงนี้มากกว่า มิเช่นนั้นหากได้คนใน คสช.ไปทำงานโดยตรงจะไม่มีเวลาเนื่องจากต้องดูแลหลายเรื่องและไม่มีความหลากหลาย 

"คนที่จะเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นเห็นว่าต้องเป็นคนที่เข้าใจปัญหาไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องเข้าใจทุกด้านและสถานการณ์ความจำเป็นของประเทศในปัจจุบันเพื่อร่างรัฐธรรมนูญมาปฏิรูปแก้ไขปัญหา แต่ภาพรวมโควต้าทั้ง 5 คนของ คสช.คงต้องคุยกันอีกทีว่าจะแยกเป็นกลุ่มไหน ด้านไหน ให้ทุกคนได้คุยกัน ต้องฟังกัน เพราะแต่ละคนก็มีเหตุผล มีความคิดของตัวเอง ต่างก็อยากแก้ปัญหากันทั้งนั้น" แหล่งข่าวระบุ

@ กมธ.ยกร่างรธน.คนนอกส่อล่ม 

นายวันชัย สอนศิริ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในฐานะโฆษกวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวถึงกรณี สปช.คัดค้านการให้โควต้าคนนอก 5 คน ในสัดส่วนของ สปช.มาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การเสนอโควต้าดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางตามมติของวิป สปช. เพื่อเสนอให้ที่ประชุม สปช.พิจารณาในวันที่ 27 ตุลาคมเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า สปช.ต้องเห็นตามนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม สปช. 

"มติดังกล่าวของวิป สปช.ชั่วคราว ยังมีเสียงก้ำกึ่ง 11-8 เสียง โดย 11 เสียง นำโดย นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ด้านพลังงาน ที่อยากให้มีโควต้าคนนอกเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่อีก 8 เสียงไม่อยากให้มี ซึ่งเท่าที่ฟังเสียงส่วนใหญ่ของ สปช.ขณะนี้ไม่อยากให้มีคนนอกมายกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการให้เป็นคนใน สปช.ทั้งหมดมายกร่างรัฐธรรมนูญ" นายวันชัยกล่าว และว่า การประชุม สปช.ในวันที่ 27 ตุลาคม จึงมีแนวโน้มสูงมากที่จะมีมติให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.มาจากคนใน สปช.ทั้งหมด 20 คน

@ อ้างรธน.ให้สปช.เป็นแม่งาน

นายวันชัยกล่าวว่า เหตุผลที่ควรให้คนใน สปช.เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 20 คน เนื่องจาก 1.เจตจำนงของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ต้องการให้ สปช.เป็นแม่งานร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง จึงให้โควต้า สปช.ถึง 20 คน มาร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ หาก สปช.ต้องแบ่งโควต้าให้คนนอก 5 คน ก็เท่ากับว่าไม่ใช่หน้าที่ของ สปช.โดยตรงในการร่างรัฐธรรมนูญ 2.องค์ประกอบของ สปช.มีความหลากหลายในตัว มีคู่ขัดแย้งทั้ง นปช. กปปส. ใน สปช.อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องนำคู่ขัดแย้งมาอยู่ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอีก 

"3.เชื่อว่า คสช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะนำโควต้าคนนอกที่มีความรู้ ความสามารถ มาร่วมเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เชื่อว่าการประชุม สปช.ในวันที่ 27 ตุลาคม จะอภิปรายกันด้วยเหตุผล ไม่ได้มุ่งแพ้ชนะทางการเมือง ขณะนี้มี สปช.เสนอตัวเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 10 กว่าคนแล้ว โดยเฉพาะ สปช.สายการเมือง มีผู้เสนอตัวจำนวนมาก คาดว่าไม่เกินวันที่ 28 ตุลาคมน่าจะได้รายชื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ทั้ง 20 คน" นายวันชัยกล่าว

@ 30ต.ค.ถกคัดกมธ.ยกร่าง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดประชุม สนช.ในวันที่ 30 ตุลาคม โดยมีเรื่องด่วน 13 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การกำหนดวันและเวลาการประชุม สนช. 2.การพิจารณาเสนอ สปช.เพื่อเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สนช. จำนวน 5 คน และ 3.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำนวน 13 ฉบับ ทั้งนี้ สำหรับร่าง พ.ร.บ.ที่มีความน่าสนใจคือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ 

@ เล็งเลือกบุคคลรู้กฎหมาย 

นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สนช. กล่าวถึง การเสนอชื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ สนช.ว่า ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากเข้ามานั่งตำแหน่งนี้ เนื่องจากภายหลังที่ทำหน้าที่ต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งหลายฝ่ายที่ต้องการเล่นการเมืองจึงไม่มีใครต้องการลงสมัครเป็น กมธ.ยกร่างฯ แต่อย่างไรก็ตาม ทาง สนช.ก็ได้วางคุณสมบัติเบื้องต้นไว้คือ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะด้านการเมืองและกฎหมาย ต้องมีเวลาในการทำงานไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ สนช. และ กมธ.ยกร่างฯจะขาดตกบกพร่องส่วนใดไม่ได้ 

"หากใครเป็น กมธ.ด้านใดอยู่แล้วต้องลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ขณะนี้มีผู้สมัครเพื่อคัดเลือกแล้ว อาทิ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ" นายวัลลภกล่าว และว่า หากมีผู้สมัครครบทั้ง 5 คน จะมีการตรวจคุณสมบัติ หากเป็นไปตามที่วางกรอบก็เสนอชื่อดังกล่าวให้ สปช.ดำเนินการต่อไป แต่หากมีผู้เสนอชื่อเกิน 5 คน ต้องมาประชุมตัดสินกันอีกครั้งว่าจะเลือกใครเป็นตัวทางจากฝั่ง สนช. คาดว่าจะประชุมและเลือกได้เสร็จในวันที่ 30 ตุลาคมและเสนอชื่อให้ สปช.ในวันที่ 31 ตุลาคม ส่วนตัวเองคงไม่เสนอชื่อเป็น กมธ.ยกร่างฯ เนื่องจากทำงานในหน้าที่ ประธาน กมธ.ด้านสังคมอยู่แล้ว

@ บัญชาไม่ขัดดึงคนนอกนั่ง

นายบัญชา ปรมีศนาภรณ์ สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงกระแสข่าวที่ทาง สปช.จะเสนอให้สัดส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถมาจากคนนอกได้ 5 คนว่า ไม่มีปัญหา ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนนอกที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาตรงนี้ได้ แต่ทั้งนี้หากคนในมีความรู้ความสามารถไม่น้อยไปกว่าคนนอกก็ควรเปิดโอกาสให้คนข้างในก่อนเช่นกัน 

"คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ต้องมีความรู้ความสามารถด้านการเมือง และควรจะมีนักกฎหมายเข้ามา 1 คนเช่นกัน ผมไม่มีใครในดวงใจที่จะเสนอชื่อ เนื่องจากหากเสนอไปก็ไม่ทราบว่าคนนั้นจะมีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่ หรือบุคคลดังกล่าวจะสมัครใจเข้าไปทำหน้าที่หรือไม่แต่หากมีการเสนอใครแล้วผมเห็นเหมาะสมก็พร้อมสนับสนุน" นายบัญชากล่าว

@ "บิ๊กกี่"ชี้เลือกคนนอกทำไม่ได้ 

พล.อ.นพดล อินทปัญญา สนช. ในฐานะที่ปรึกษา คสช. กล่าวถึงการเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ในส่วนของ สนช. เห็นว่าไม่มีใครอยากเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างฯเพราะเท่าที่ผ่านมาเปิดรับสมัครไปแล้ว 5 วัน มีคนมาสมัครยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น หากถึงวันที่ต้องเสนอชื่อต่อ สปช.แล้วยังได้คนไม่เพียงพอ อาจจะต้องจับคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมลงไป แต่ส่วนตัว ไม่ขอรับตำแหน่งอย่างแน่นอน ส่วนกระแสที่ สปช.จะเสนอคนนอกเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างนั้น คิดว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะเท่าที่ทราบรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ กมธ.ยกร่างมาจากสมาชิก สปช. 20 คน ดังนั้นคิดว่าทำไม่ได้ ซึ่งคนที่จะเสนอคนนอกได้คือทางฝ่าย คสช.

@ "นิพิฏฐ์"เชื่อนักการเมืองไม่ร่วม

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า กรณีข้อเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯของ สปช.ที่เสนอให้มีสัดส่วนจาก สปช. 15 คน และคนนอก 5 คน ว่า คิดว่านักการเมืองไม่เข้ามาร่วมด้วย ถ้านักการเมืองจะเข้าไป

ร่วมด้วยคงไปสมัครรับเลือกสรรหาเป็น สปช.ตั้งแต่แรกแล้ว 

"ผมมองว่าการจะให้คนนอกที่อาจเป็นตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้ เหมือนการเข้าไปเป็นผู้ช่วยของ สปช. ซึ่งในอดีตผมเป็นผู้แทนประชาชน แต่ถ้าต้องการความคิดเห็นหรือให้ไปร่วมแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูปเพื่อประเทศ พวกผมยินดี แต่ถ้าให้เข้าไปร่วมเป็นสัดส่วนในการเป็น กมธ.ยกร่างฯ คงไม่ไป" นายนิพิฏฐ์กล่าว และว่า กรอบความคิดในการปฏิรูปประเทศนั้นต้องมีที่มาจาก คสช.อยู่แล้ว แต่ คสช.คงต้องมอบการบ้านให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่ประธาน สปช.คนที่ 1 ซึ่งเป็นตัวเต็งในการนั่งเป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯอยู่แล้ว เชื่อว่าทั้ง 2 ท่านก็ต้องทำการบ้านที่ คสช.ให้มา 

@ พท.หนุนคนนอกนั่งกมธ.ยกร่าง 

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีที่มีการเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เห็นด้วยที่จะให้คนนอกเข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีกฎอะไรห้ามไว้ ตัวแทนพรรคการเมืองจึงสามารถเข้าร่วมได้อยู่แล้ว ซึ่งจะถือเป็นผลดีเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากจะได้มีความหลากหลาย แต่ขอให้อยู่ในกรอบและกติกาที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

"ที่สำคัญอย่าให้เกินกรอบเวลาตามโรดแมปไป อาจบวกลบได้บ้างนิดหน่อย แต่ไม่ใช่เลยเวลาจนเกินไป เนื่องจากจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวม" นายเรืองไกรกล่าว

@ เชียร์บวรศักดิ์นั่งปธ.กมธ.ฯ

นายเรืองไกรกล่าวถึงกรณีที่มีชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช.คนที่ 1 เป็นแคนดิเดตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า นายบวรศักดิ์เป็นบุคคลที่เหมาะสมจะทำหน้าที่ เพราะมีความรู้ ความสามารถ ถือเป็นผู้รู้ด้านกฎหมาย นอกจากนี้เห็นว่ายังมีชื่อของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษานายกฯ หรือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มาร่วมเป็นกรรมาธิการฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีความเก่ง เป็นมือกฎหมายที่มีความเจ๋งกันทั้งนั้น เชื่อว่าจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญมีความครอบคลุม แต่ขอให้ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบด้วย 

"แม่นข้อกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ เพราะ สนช.ในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายลูก เขียนกฎหมายขัดแย้งกันเองจนเกิดการตีความได้หลายทาง แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ก็ยังมีปัญหา เช่น ในเรื่องของคุณสมบัติของ สปช. ที่แต่ละมาตราระบุอายุของ สปช.ไม่ตรงกัน" นายเรืองไกรกล่าว

แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่า นายบวรศักดิ์จะสามารถควบคุมให้การร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จได้ตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็นหรือไม่ รวมทั้งจะทำให้ สปช.โดยเฉพาะพวกกลุ่ม 40 ส.ว.เห็นชอบได้ทั้งหมดหรือไม่ ดังนั้น หากนายบวรศักดิ์ได้นั่งเป็นประธานกรรมาธิการฯจริง ก็ขอให้ไปหารือและพูดคุยกับทาง สปช.ให้ชัดเจนก่อน เพราะ สปช.มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ โดยเฉพาะพวกกลุ่ม 40 ส.ว. ขอให้คุยและวางแนวทางกันตั้งแต่ต้นน้ำ จะได้ไม่เกิดปัญหาที่ปลายน้ำเหมือนที่ผ่านมา" นายเรืองไกรกล่าว

@ "เสรี"ชี้โควต้าคนนอกมีแล้ว15คน 

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความเห็นต่างเกี่ยวกับสัดส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนดให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน มาจาก สนช. 5 คน ครม. 5 คน คสช. 5 คน และ สปช. 20 คน อีกทั้งรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะให้ สปช.เป็นผู้รับผิดชอบร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อมีสัดส่วนคนนอกอยู่แล้วถึง 15 คน จึงถือว่ามากพออยู่แล้ว อีกทั้ง สปช.ทั้ง 250 คน ถือเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่หลากหลายจากตัวแทนทั้ง 11 ด้าน และสัดส่วนภาคละ 1 คน จึงเชื่อว่า กมธ.ยกร่างทั้ง 20 คน ในสัดส่วนของ สปช. จะทำงานได้อย่างรอบด้านครอบคลุม 

"ขณะเดียวกันหากจะส่งตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้ามาเป็น กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ สัดส่วนของคนนอกก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ก็ได้ปิดช่องไว้ โดยต้องให้บุคคลที่จะมาทำหน้าที่ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองถึง 3 ปี ดังนั้น ในการเลือก กมธ.จึงไม่ควรที่จะมาสร้างปัญหาตั้งแต่ต้น" นายเสรีกล่าว 

นายเสรียังกล่าวถึงกระแสข่าวนายบวรศักดิ์จะมาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เห็นว่าคุณสมบัติของนายบวรศักดิ์มีความเหมาะสม จึงไม่มีปัญหาหากจะมาทำหน้าที่ ส่วนข้อสังเกตเรื่องของเวลาที่จะต้องทำหน้าที่รองประธาน สปช.ด้วยนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของนายบวรศักดิ์ 

@ "ดิเรก"ค้านดึงคนนอก

นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. จ.นนทบุรี กล่าวถึงกรณีที่มี สปช.คัดค้านโควต้าคนนอก 5 คน ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วนของ สปช. ว่าไม่ค่อยเห็นด้วยในโควต้าคนนอกหากไม่ได้มีการระบุว่าคนนอกจะเป็นกลุ่มใดบ้าง เพราะ สปช. 250 คน มีความหลากหลายอยู่แล้วคงไม่จำเป็นต้องเอาคนนอกเข้ามา รวมทั้ง สปช.น่าจะสมัครกันจำนวนมากอยู่แล้ว 

"แต่ถ้าเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองต่างๆ จะเห็นด้วย เพราะตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ น่าจะมีข้อมูลและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ การยอมรับจะมีสูงขึ้น แต่พรรคการเมืองจะสามารถหาตัวแทนมาได้หรือไม่คงจะเป็นเรื่องยาก เพราะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง คงไม่มีใครอยากจะเข้ามา ดังนั้น เรื่องนี้คงต้องรอหารือกันในที่ประชุมใหญ่ว่าจะให้มีสัดส่วนอย่างไร ในสัดส่วนของภาคจังหวัดคงจะไม่ขอเพิ่มหากที่ประชุมมีมติให้สัดส่วน กมธ.เป็น สปช.ทั้ง 20 คน เพราะอย่างไรก็เป็นการทำงานร่วมกันทั้งสภาอยู่แล้ว" นายดิเรกกล่าว

@ ดันจรัส-วุฒิสารร่วมคณะ 

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ในส่วนของตัวแทนของ สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น ยังไม่เคาะว่าใครที่จะเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะทางกลุ่มเห็นว่ามีผู้เหมาะสม 2 คน ได้แก่ นายวุฒิสาร ตันไชย สปช.ด้านท้องถิ่น และนายจรัส สุวรรณมาลา สปช.ด้านท้องถิ่น ทางกลุ่มจะนัดประชุมเวลา 09.00 น. ก่อนที่จะมีการประชุม สปช.ในวันที่ 27 ตุลาคม 

"ขณะนี้ยังไม่ตกผลึกว่าที่ประชุม สปช.จะเห็นด้วยตามมติ กมธ.กิจการ สปช. (ชั่วคราว) หรือวิป สปช. (ชั่วคราว) ที่เสนอว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วน สปช.จำนวน 20 คน ควรจะเป็นคนใน สปช. 15 คน และเป็นคนนอก 5 คน เพราะถ้ามติที่ประชุมใหญ่เห็นตามมติวิป สปช. (ชั่วคราว) ซึ่งจะได้ไปคัดตัวแทนจาก 11 ด้าน และ 4 ภาค เข้ามาอย่างละ 1 คน ก็จะเป็น 15 คน รวมไปถึงการพิจารณาคุณสมบัติของคนนอก 5 คน ทั้งนี้ เมื่อที่ประชุมวงใหญ่ สปช.ตกผลึกชัดเจนถึงจำนวน สปช.ที่จะเป็น กมธ.ยกร่างว่าจะเป็นคนในทั้งหมด 20 คน หรือจะเป็นคนนอกเข้ามาด้วย 5 คน ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะได้นำมาสู่การแบ่งสัดส่วนที่ชัดเจน สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่นมีบุคคลที่มีความพร้อมเป็นตัวแทนเข้าร่วม" นายเกรียงไกรกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับนายวุฒิสารและนายจรัส ยังมีความต้องการที่จะเข้ามาปฏิรูปงานทางด้านท้องถิ่นมากกว่า จึงต้องรอการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่ในส่วนของ สปช.ด้านสื่อสารมวลชน เคาะชื่อของนายมานิจ สุขสมจิตร สปช.ด้านสื่อสารมวลชน เป็นตัวแทนกลุ่มแล้ว

@ กปปส.เมินร่วมกมธ.ยกร่าง

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน ซึ่งในส่วนของ สปช.ยังถกเถียงกันว่าจะมีคนนอก 5 คนหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าหากจะนำคนนอกเข้ามาด้วยก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการยกร่าง เพราะคนนอกที่เป็นนักวิชาการก็มีความรู้ความสามารถด้านรัฐธรรมนูญ เช่น กลุ่มของนายบรรเจิด สิงคะเนติ หรือกลุ่มของนายอมร จันทรสมบูรณ์ หรือแม้แต่กลุ่มคนหัวสมัยใหม่ก็น่าจะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญมีความหลากหลายตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศได้ 

นายเอกนัฏกล่าวว่า ทาง กปปส.ไม่ติดใจว่า กมธ.ยกร่างจะมาจากไหน แต่จะจับตามองการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะไปแนวทางไหนมากกว่าตัวบุคคล โดย กปปส.จะนำเสนอแนวทางการปฏิรูปต่อ กมธ.ยกร่าง แม้ว่าขณะนี้จะไม่สามารถระดมความคิดเห็นของนักวิชาการแบบเปิดได้ เนื่องจากขัดกับกฎอัยการศึก แต่ กปปส.ก็จะคุยกันในวงเล็กๆ โดยจะรวบรวมงานด้านวิชาการ ความเห็นในช่วงที่ กปปส.ได้จัดงานเสวนาระหว่างการชุมนุม มาสรุปเป็นแนวทางให้กับ สปช. เพื่อเสนอต่อ กมธ.ยกร่างต่อไป

@ ไฟเขียวตั้งที่ปรึกษาปธ.สปช. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของประธานสภาและรองประธาน สปช.พ.ศ.2557 ซึ่งลงนามโดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา สำหรับระเบียบดังกล่าว ได้กำหนดให้มี 1.ที่ปรึกษาประธาน สปช. 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 72,660 บาท 2.ที่ปรึกษารองประธาน สปช. มีจํานวนเท่าจํานวนรองประธาน สปช.ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 72,660 บาท 3.เลขานุการประธาน สปช. 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 49,210 บาท 4.เลขานุการรองประธาน สปช. มีจํานวนเท่าจํานวนรองประธาน สปช. ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 49,210 บาท 5.ผู้ช่วยเลขานุการประธาน สปช. 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 43,490 บาท 6.ผู้ช่วยเลขานุการรองประธาน สปช. มีจํานวนเท่าจํานวนรองประธาน สปช.ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 43,490 บาท

@ ให้ตั้งคณะทำงานมีเงินเดือน 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษายังได้เผยแพร่ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของ สปช. และสมาชิก สปช.พ.ศ.2557 ด้วย ทั้งนี้ มีเนื้อหาสำคัญคือ เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของประธาน สปช. และรองประธาน สปช.ให้มีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นคณะทํางานทางการเมือง ดังต่อไปนี้ (1) คณะทํางานทางการเมืองของประธาน สปช. (2) คณะทํางานทางการเมืองของรองประธาน สปช. โดยคณะทำงานทางการเมืองให้มีตำแหน่ง จำนวนและอัตราค่าตอบแทน ประกอบด้วย 1.ที่ปรึกษา 3 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 20,000 บาท 2.นักวิชาการ จำนวน 3 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 18,000 บาท 3.เลขานุการ จำนวน 2 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 15,000 บาท

@ ให้สปช.ตั้งผู้ช่วยได้5อัตรา

นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของ สปช. ให้มีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สปช.แต่ละคนในตําแหน่ง จํานวน และอัตราค่าตอบแทน ดังต่อไปนี้ 1.ผู้เชี่ยวชาญประจําตัว สปช. 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 24,000 บาท 2.ผู้ชํานาญการประจําตัว สปช. 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 20,000 บาท 3.ผู้ช่วยดําเนินงานของ สปช. 3 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนในอัตราเดือนละ 15,000 บาท โดยการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สปช.แต่ละคน ถ้ามีการแต่งตั้งครบจํานวน 5 อัตรา ในจํานวน 5 อัตราดังกล่าว ให้แต่งตั้งจากบุคคลที่สมัครหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.อย่างน้อย 1 อัตรา

@ เผยรัฐควักจ่ายกว่า22ล./เดือน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตั้งที่ปรึกษาประธานและที่ปรึกษารองประธาน รวม 3 คน ค่าตอบแทนคนละ 72,660 บาท รวมค่าตอบแทน 217,980 บาทต่อเดือน เลขาประธานและรองประธาน รวม 3 คน ค่าตอบแทนคนละ 49,210 บาท รวมค่าตอบแทน 147,630 บาทต่อเดือน ผู้ช่วยเลขาประธานและรองประธานรวม 3 คน ค่าตอบแทนคนละ 43,490 บาท รวมค่าตอบแทน 130,470 บาทต่อเดือน รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 496,080 บาทต่อเดือน

สำหรับ สปช.สามารถตั้งผู้เชี่ยวชาญรวมถึงผู้ช่วยได้ 5 อัตรา รวมค่าตอบแทนทั้ง 5 คน 89,000 บาท จำนวน สปช. 250 คน ก็จะตั้งผู้เชี่ยวชาญรวมถึงผู้ช่วยทั้งสิ้น 1,250 คน รวมค่าตอบแทนต่อเดือน 22,250,000 บาท ดังนั้นเมื่อรวมผู้ที่เกี่ยวข้องกับ สปช.ทั้งสองส่วนรัฐบาลต้องจ่ายค่าตอบแทนทั้ง สิ้น 22,746,080 บาทต่อเดือน

@ พายัพนำพท.ทำบุญพุทธคยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยกว่า 20 คน นำโดยนายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปทำบุญทอดกฐินสามัคคีที่วัดป่าพุทธคยา เมืองคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นวัดที่นายพายัพเคยบวช และเดินทางมาแทบทุกปี ทั้งหมดแต่งกายด้วยชุดขาว อดีต ส.ส.ที่เดินทางไปส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.อีสาน ขณะที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ร่วมคณะไปด้วย 

ทั้งนี้ คณะอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ไปทำบุญตักบาตร ทำทานเลี้ยงอาหารแด่ผู้ยากไร้ ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิภาวนาใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ กราบไหว้ขอพรจากพระสงฆ์ไทย โดยได้รับสิ่งมงคลเป็นใบโพธิ์ทองกลับบ้านด้วย อย่างไรก็ตาม อดีต ส.ส.ที่เดินทางไปต่างรู้สึกว่าไม่ครึกครื้นเหมือนปีก่อนๆ เพราะไม่ได้พบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และมากันน้อยเนื่องจากมีปัญหาติดขัดหลายประการ อาทิ ติดต่อเครื่องบินเช่าเหมาลำไม่ได้ หลายคนไม่ได้แจ้ง คสช.ล่วงหน้า จึงไม่สามารถเดินทางได้ทัน

@ "ปู-ทักษิณ"ถึงกรุงปักกิ่งแล้ว 

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมบุตรชาย ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือ น้องไปป์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ พี่ชาย เดินทางไปพักผ่อนต่อที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ใช้เวลาช่วงแรกพาบุตรชายท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งนี้ เมื่อเดินทางถึงกรุงปักกิ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ บุตรชาย และ พ.ต.ททักษิณ ได้ใช้โอกาสเยี่ยมม้าพันธุ์ เหงื่อโลหิต โดยจะใช้เวลาในช่วงนี้พักผ่อนร่วมกันที่เมืองปักกิ่งและกว่างโจว ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์และบุตรชายจะเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนตามกำหนดที่ได้ขออนุญาตไว้กับทาง คสช.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!