- Details
- Category: การเมือง
- Published: Sunday, 26 October 2014 09:07
- Hits: 3901
วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8733 ข่าวสดรายวัน
แม้วควงปูบินจากญี่ปุ่น-เที่ยวต่อจีน พท.เหมาลำทำบุญอินเดีย 'สมชัย'โผล่ค้านยุบกกต.
เที่ยวปักกิ่ง - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ'น้องไปป์'ด.ช. ศุภเสกข์ อมรฉัตร เดินทางไปเที่ยวชมม้าพันธุ์ ที่มีเหงื่อเป็นสีเลือด ระหว่างเยือนกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 25 ต.ค.
ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-น้องไปป์ ออกจากญี่ปุ่นตะลอนทัวร์ต่อเมืองจีน เที่ยวปักกิ่ง-กวางโจวชมม้าเหงื่อสีเลือด ขณะที่"พายัพ ชินวัตร"ยกโขยงอดีตส.ส.เพื่อไทย เช่าเหมาลำเหินฟ้าทอดกฐินที่อินเดีย "เสรี-อนันตชัย"ออกโรงค้านดึงตัวแทนพรรคการเมืองร่วมเป็นกมธ.ยกร่างรธน.โควตาสปช. ชี้สัดส่วนคนนอกมีอยู่แล้ว อย่าตัดโอกาสสปช.ด้วยกันเอง หนุน"บวรศักดิ์"เหมาะนั่งปธ.ยกร่างฯ "สมชัย"ขึ้นเล็กเชอร์ปมองค์กรอิสระ ค้านยุบองค์กรอิสระ ดัน "กกต.-ป.ป.ช.-คตง."ต้องอยู่ต่อ โต้กระแสข่าวลดอำนาจแจกเหลือง-แดง เสื้อแดงพะเยารอรัฐบาลบิ๊กตู่โชว์ฝีมือ แนะเร่งแก้ปัญหาข้าว-ยางพารา หวั่นกระทบปัญหาปากท้อง ปลัดสธ.เซ็นตั้งข้าราชการวัยเกษียณนั่งกุนซือ หมอชนบทโพสต์ทันควันฉะแบ่งฝ่ายชัดเจน
พายัพพาพท.ทำบุญที่อินเดีย
เวลา 07.25 วันที่ 25 ต.ค. นายพายัพ ชินวัตร น้องชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเดินทางไปทำบุญทอดกฐินสามัคคีที่วัดป่าพุทธคยา ประเทศอินเดียโดยเครื่องบินเหมาลำ อาทิ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีต รมช.ศึกษาธิการ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ นายวิรัช รัตนเศรษฐ และอดีต ส.ส.อีสาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศการเดินทางไม่คึกคักเนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2 อดีตนายกฯไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ขณะที่อดีตส.ส.บางส่วนทยอยเดินทางไปก่อนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. และ บางส่วนที่จะเดินทางไปเองซื้อตั๋วไม่ทันและขออนุญาตคสช.ไม่ทัน รวมถึงนายพายัพ ปั้นเกตุ แกนนำ นปช.ที่ระบุว่าจำวันเดินทางผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าอดีต ส.ส.ส่วนใหญ่ ที่ร่วมคณะครั้งนี้เป็นอดีต ส.ส.ภาคอีสาน ที่สนิทสนมกับนายพายัพเมื่อครั้งเป็นประธาน ส.ส.ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย โดยเดินทางถึงสนามบินคยารัฐพิหาร เวลา 09.00 น. ก่อนเดินทางต่อไปยังวัดป่าพุทธคยา เพื่อถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ในเวลา 11.00 น. จากนั้นเวลา 13.00 น. ร่วมพิธีทอดกฐินสามัคคี ทำทานบารมี-กาลทานแด่ผู้ยากไร้ ก่อนเดินทางไปยังสนามบินคยาออกจากประเทศอินเดียในเวลา 16.00 น. กลับถึงประเทศไทยเวลา 20.40 น.วันเดียวกัน
"แม้ว-ปู-ไปป์"จากญี่ปุ่นทัวร์ต่อจีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้พ.ต.ท. ทักษิณพร้อมด้วยน.ส.ยิ่งลักษณ์และน้องไปป์ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชายน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปพักผ่อนต่อที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากใช้เวลาช่วงแรกของการขอเดินทางไปต่างประเทศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พักผ่อนและพาบุตรชายท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เมื่อเดินทางถึงกรุงปักกิ่ง พ.ต.ท.ทักษิณพร้อมด้วยน.ส.ยิ่งลักษณ์และบุตรชายเข้าเยี่ยมชมม้าพันธุ์ดีมีชื่อเสียงของเมืองจีนคือม้า "เหงื่อโลหิต" ซึ่งมีเหงื่อเป็นสีเลือด เชื่อกันว่าเป็นพันธุ์เดียวกับ "ม้าเซ็กเธาว์" ม้าชื่อดังในวรรณกรรมสามก๊ก ทั้งนี้บุคคลทั้งสามจะใช้เวลาพักผ่อนร่วมกันอยู่ที่กรุงปักกิ่งและกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน อีกระยะ ก่อน ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์และบุตรชายจะเดินทางกลับประเทศไทย ช่วงต้นเดือน พ.ย. ตามกำหนดเดิมที่ขออนุญาตคสช.ไว้
เสรีค้านการเมืองร่วมกมธ.ยกร่าง
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความเห็นต่างเกี่ยวกับสัดส่วนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมการประสานงานสภาปฏิรูปแห่งชาติชั่วคราว (วิปสปช.ชั่วคราว) เสนอให้มีสัดส่วน สปช. 15 คนและคนนอก 5 คนว่า เมื่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี"57 กำหนดให้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 5 คน คณะรัฐมนตรี 5 คน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ 6 คน และสปช. 20 คน อีกทั้งรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้สปช.รับผิดชอบร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อมีสัดส่วนคนนอกอยู่แล้วถึง 15 คน จึงถือว่ามากพออยู่แล้ว อีกทั้ง สปช.ทั้ง 250 คน ถือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่หลากหลายจากตัวแทนทั้ง 11 ด้านและสัดส่วนภาคละ 1 คน จึงเชื่อว่ากรรมาธิการยกร่างทั้ง 20 คนในสัดส่วนของสปช. จะทำงานได้รอบด้านครอบคลุม ขณะเดียวกันหากจะส่งตัวแทนจากพรรค การเมืองเข้ามาในเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วนคนนอกก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี"57 ปิดช่องไว้ โดยบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองถึง 3 ปี การเลือกกรรมาธิการจึงไม่ควรสร้างปัญหาตั้งแต่ต้น
หนุนบวรศักดิ์นั่งประธานกมธ.
นายเสรีกล่าวต่อว่าในวันที่ 27 ต.ค.นี้ซึ่งมีการประชุมสปช.เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว สมาชิกสปช.จะอภิปรายเหตุผลให้สมาชิกตัดสินใจ การมีความเห็นที่แตกต่างกันไม่ถือเป็นความขัดแย้ง แต่ต้องเสนอมุมมองที่หลากหลายในการหาทางออกเพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุด และสปช.ยังสามารถทำงานด้วยกันได้ต่อไปโดยไม่มีปัญหาภายหลัง เนื่องจากการทำงานกับคนหมู่มากการมีความเห็นที่แตกต่างกันถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อได้ข้อสรุปแล้วทุกคนต้องยุติและเคารพกติกาคนส่วนใหญ่
"เบื้องต้นสปช.สัดส่วนการเมืองจะเสนอนายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นกรรมาธิการยกร่าง เพราะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม สนใจเรื่องรัฐธรรมนูญและจบกฎหมาย เรื่องการเลือกกรรมาธิการยกร่างจะมีการหารือนอกรอบในส่วนของภาคกฎหมายอีกครั้ง" นายเสรีกล่าว
นายเสรีกล่าวถึงกระแสข่าวนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะมาเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า คุณสมบัติของนายบวรศักดิ์เหมาะสม จึงไม่มีปัญหาหากจะมาทำหน้าที่ ส่วนข้อสังเกตเรื่องเวลาที่ต้องทำหน้าที่รองประธานสปช.ด้วยนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของนายบวรศักดิ์ ตนไม่สามารถก้าวล่วงได้
เผยสปช.เสนอตัวกว่า40คน
ด้านนายอนันตชัย คุณานันทกุล สปช. ที่มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน กล่าวว่าเมื่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี "57 ให้สปช.รับผิดชอบมากที่สุดและกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนไว้ หากให้สปช. 20 คนเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น อีกทั้งการมีสัดส่วนคนนอกจาก สนช. ครม. และคสช.ถึง 15 คน ย่อมมีความหลากหลายในการแสดงความเห็น หากจะให้นักการเมืองเข้ามาร่วมยกร่างก็สามารถใช้ช่องทางกรรมาธิการวิสามัญ 4-5 คณะที่สปช.ตั้งขึ้นมารับฟังความเห็นเพื่อให้เกิดความหลากหลายในการยกร่าง แล้วนำข้อสรุปเสนอกรรมาธิการยกร่างพิจารณาอีกครั้งน่าจะเหมาะสมกว่าและไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วย เบื้องต้นเท่าที่พูดคุยมีสปช.แสดงความจำนงจะมาเป็นกรรมาธิการยกร่างแล้วกว่า 40 คน จึงไม่ควรตัดโอกาสสปช.กันเอง ในการ ประชุมสปช.วันที่ 27 ต.ค.นี้ตนจะอภิปรายความเห็นให้สมาชิกใช้ตัดสินใจ
"หากให้ภาคการเมืองและคนนอกเข้ามาใช้สัดส่วนของสปช.จะทำให้สังคมมองได้ว่า สปช.ทั้ง 250 คนไม่มีความสามารถที่จะทำงานในส่วนนี้ ซึ่งแท้จริงแล้ว สปช.ที่มีอยู่มีความหลากหลายเพียงพอ หลายคนสนใจอยากเข้าไปทำหน้าที่ด้วยซ้ำไป และใน สปช.ก็มีตัวแทนจากภาคการเมืองอยู่แล้ว ทั้ง นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ และนายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตส.ว. ที่สามารถเสนอความเห็นต่างๆ ได้เต็มที่" นายอนันตชัยกล่าว
เรืองไกรร่วมวงเชียร์บวรศักดิ์
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช.คนที่ 1 เป็นแคนดิเดตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า นายบวรศักดิ์เป็นบุคคลที่เหมาะสมจะทำหน้าที่ ดังกล่าว เพราะมีความรู้ความสามารถ เป็น ผู้รู้ด้านกฎหมาย นอกจากนี้เห็นว่ายังมีชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษานายกฯ หรือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มาร่วมเป็นกรรมาธิการ ซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่เก่ง เป็นมือกฎหมายที่เจ๋งกันทั้งนั้น เชื่อว่าจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญครอบคลุม แต่ขอให้ช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบด้วย แม่นข้อกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ เพราะ สนช.ในช่วงปี50 ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายลูก เขียนกฎหมายขัดแย้งกันเองจนเกิดการตีความได้หลายทาง แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี "57 ก็ยังมีปัญหา เช่น ในเรื่องคุณสมบัติ สปช.ที่แต่ละมาตราระบุอายุ สปช.ไม่ตรงกัน แปลกใจว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ยังผิดพลาด นอกจากนี้ขอให้พิจารณาร่วมกับ สปช.เขียนกฎหมายลูกไปพร้อมๆ กันด้วย
ยันไร้ข้อห้ามการเมืองร่วมยกร่าง
"แต่ผมยังไม่แน่ใจว่านายบวรศักดิ์จะควบคุมให้การร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จได้ตามกรอบเวลาที่ควรจะเป็นหรือไม่ รวมทั้งจะทำให้สมาชิก สปช.โดยเฉพาะพวกกลุ่ม 40 ส.ว.เห็นชอบได้ทั้งหมดหรือไม่ หากนายบวรศักดิ์ได้เป็นประธานกรรมาธิการจริง ขอให้หารือและพูดคุยกับสปช.ให้ชัดเจนก่อน เพราะสปช.มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบ โดยเฉพาะพวกกลุ่ม 40 ส.ว. ขอให้พูดคุยและวางแนวทางกันตั้งแต่ต้นน้ำ จะได้ไม่เกิดปัญหาที่ปลายน้ำเหมือนที่ผ่านมา" นายเรืองไกรกล่าว
นายเรืองไกรกล่าวต่อว่ากรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หรือนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ไม่เห็นด้วยที่จะให้สัดส่วน สปช.คนนอกมาจากกลุ่มนักการเมืองนั้น อยากถามว่าผิดตรงไหนในเมื่อกติการะบุชัดว่าไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองส่งตัวแทนเข้าร่วม ขอให้สมาชิก สปช.โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว.เดินตามกติกาด้วย อย่าแสดงความเห็นนอกกติกาให้มากนัก เมื่อเงื่อนไขครั้งนี้คือ การปฏิรูปกฎหมายและพรรคการเมืองควรให้นักการเมืองมีส่วนปฏิรูปเหมือนที่มีนักกฎหมายเข้ามาเขียนกฎหมายกันอยู่ในขณะนี้
นิพิฏฐ์ค้านดึงพรรคร่วมร่างรธน.
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามผู้ที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งกรรมาธิการ ดังนั้น คนจากพรรคการเมืองที่ยังอยู่ในแวดวงการเมืองก็คงไม่มาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะถ้าเขามาดำรงตำแหน่งนี้จะถูกตัดสิทธิ์โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จึงคิดว่าสมาชิกสปช.ที่เสนอเรื่องนี้ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นคนของพรรคการเมืองนั้นควรจะเสนอ ตัวเองไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสียเลย ในเมื่อเขายังเป็นคนที่อยู่ในแวดวงการเมืองก็ย่อมรู้ว่าท่าทีพรรคการเมือง เป็นอย่างไร อีกทั้งเมื่อคนคนนั้นไปเป็น สมาชิกสปช.โดยบอกว่าเขาเสียสละเพื่อบ้านเมืองเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ของบ้านเมือง ในเมื่อมีจิตใจที่เสียสละแล้วขอให้เสียสละอีกนิดด้วยการไปเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ
แนะพรรคส่งเอกสารให้ความเห็นได้
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า ถ้าเสนอชื่อคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่สนับสนุนพรรคอยู่วงรอบนอก หรือเป็นคนที่ออกจากพรรคไปนานแล้ว บางครั้งความคิดเห็นของเขาอาจไม่ตรงกับพรรคการเมืองในบางเรื่อง ทำให้ไม่สามารถใช้อ้างอิงได้ว่าเป็นความคิดเห็นของพรรคการเมืองในปัจจุบัน จึงถือว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอและอาจไม่เป็นจริง ดังนั้นคนที่ใช้อ้างอิงได้ดีควรเป็นคนในคณะกรรมการบริหารพรรคนั้นๆ ซึ่งคนระดับนี้ก็คงไม่รับการถูกเสนอให้เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถแจ้งขอความคิดเห็นจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มต่างๆ ซึ่งพรรคการเมืองอาจส่งเป็นเอกสารเสนอแนะข้อคิดเห็น หรืออาจส่งตัวแทนไปร่วมให้ความเห็นต่อสปช.และกรรมาธิการยกร่างฯในการหารืออย่างเป็นทางการได้ แต่อย่าไปถึงขั้นให้กลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองส่งคนของตัวเองไปเป็นกรรมาธิการ
สมชัยเล็กเชอร์ปมองค์กรอิสระ
ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง บรรยายในหัวข้อ "บทบาทองค์กรอิสระในการกำกับดูแลกรณีกกต." แก่นักศึกษาวิชาการบริหารจัดการองค์การสาธารณะ หลักสูตรปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญถือเป็นองค์กรหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อมีภารกิจหน้าที่เชื่อมโยงกับอะไรบางอย่างตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมืองไทย ถ้ามองในเชิงหลักวิชาการการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระคือการสร้างกลไกเพื่อเติมเต็มส่วนที่ยังเป็นปัญหาของกลไกอำนาจอธิปไตย 3 อย่างคือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยองค์กรอิสระจะไม่อยู่ภายใต้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
แยก3กลุ่มแจงบทบาทสำคัญ
นายสมชัยกล่าวต่อว่าตามรัฐธรรมนูญ 2550 แบ่งองค์กรเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กลุ่มนี้จะไม่มีไม่ได้ เพราะหากไม่มีการปกครองจะไม่สมดุล กลุ่มที่ 2 องค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ อัยการสูงสุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ในกลุ่มที่ 2 นี้มีหน้าที่ทำงานให้ภาพการทำงานของประเทศสมบูรณ์มากขึ้นในมิติอื่นๆ แต่อาจไม่แรงหรือมีบทบาทเท่ากลุ่มแรก และกลุ่มที่ 3 องค์กรที่เกิดขึ้นตามแนวนโยบายแห่งรัฐ เช่น สภาพัฒนาการเมือง (สพม.)
ลั่นแม้กม.ไม่เอื้อถ้าผิดต้องกล้าฟัน
กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งกล่าวอีกว่าถึงแม้จะมีการออกแบบเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์สังคมไทย เราอยู่ในมายาที่เชื่อว่าปรับใหม่แล้วจะดีขึ้น แต่ตนไม่เชื่อว่าเป็นแบบนั้น ตราบใดที่คนในองค์กรอิสระยังมีวิธีคิดและทำงานแบบราชการ หรือคิดว่าองค์กรอิสระเป็นอาชีพที่จะทำหลังเกษียณมันก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะหากทำตามบทกฎหมายอย่างเดียวมันแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ ต้องมีกระบวนการคิดที่นอกกรอบกฎหมายยิ่งกว่านี้ เพราะคนที่จะทุจริตมักมีช่องทางเลี่ยงกฎหมายอยู่เสมอ คนในองค์กรอิสระควรคิดว่าถึงแม้กฎหมายจะเอื้อมไปไม่ถึง แต่หากมีการทำผิดจริงต้องกล้าฟัน ตนเป็นกกต. เห็นความผิดซึ่งหน้าหลายเรื่อง เช่น ฝ่ายรัฐใช้สื่อทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง ที่ประชุมกกต.บอกรอให้มีคนมายื่นคำร้องให้กกต.ตรวจสอบก่อน กกต.ไม่ควรหยิบเรื่องมาพิจารณาเองเพราะอาจถูกมองว่าทำหน้าที่ไม่เป็นกลางหรือเลือกปฏิบัติ คิดแบบนี้ไม่ได้ เมื่อมีการทำผิดแล้วต้องกล้าดำเนินการเอง
ไม่อยากให้เป็นที่รวมขรก.วัยเกษียณ
"หากปฏิรูปองค์กรอิสระ คำถามคือจะออกแบบอำนาจหน้าที่อย่างไร จะออกแบบหน้าตาองค์กรให้เชื่อมโยงกับองค์กรอื่นๆ อย่างไร และกระบวนการสรรหาเพื่อให้ได้มาของคนองค์กรอิสระจะมีวิธีการอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับ ผมไม่อยากเห็นองค์กรอิสระเป็นที่อยู่ของข้าราชการหลังเกษียณ เพราะจะกลายเป็นที่รวมกลุ่มของคนกลุ่มหนึ่งที่เติบโตมาในสายราชการเท่านั้น ผมอยากเห็นคนที่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในทางที่ดีขึ้น ไม่อยากได้คนเก่ง แต่อยากได้คนกล้า" นายสมชัยกล่าว
ลั่นกกต.-ปปช.-คตง.ยังต้องมีอยู่
นายสมชัยกล่าวต่อว่า องค์กรที่ยังจำเป็นต้องมีอยู่ คือ กกต. ป.ป.ช. และ คตง. เพราะเป็นองค์กรที่ไม่อาจให้ไปอยู่ในอำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการได้ เนื่องจากการทุจริตส่วนมากมักจะเกิดทั้ง 2 ฝ่าย จึงจำเป็นต้องมีองค์กรทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีหน้าที่รับเรื่องพิจารณาตรวจสอบจริยธรรมฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ เห็นว่าฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีช่องทางรับเรื่องราวต่างๆ อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้มี แค่คิดว่าบทบาทของ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจน้อยกว่า 3 องค์กรดังกล่าว ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยังเห็นว่าจำเป็นต้องมีเพราะเป็นองค์กรที่กำกับดูแลในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เท่าเทียมในระดับสากล ขณะที่อัยการซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายของรัฐ จะอยู่หรือไม่อยู่เป็นหน้าที่ของรัฐกำหนด
รีบแจงแค่วิเคราะห์เชิงวิชาการ
นายสมชัยกล่าวอีกว่า ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีหน้าที่เสนอปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ จะมีหรือไม่มีนั้นรู้สึกเฉยๆ เพราะยังมีคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นแม่งานคอยดูแลกฎหมายอยู่ อีกทั้งไม่ว่าอย่างไรแต่ละองค์กรควรรู้ตัวเองว่ากฎหมายที่อยู่ ในอำนาจนั้นต้องปรับแก้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ส่วนสภาที่ปรึกษาฯ ที่ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอรัฐบาลเพื่อนำเอาไปใช้ปรับปรุงการบริหาร แต่ที่ผ่านพบว่ารัฐบาลไม่เคยใส่ใจหรือนำข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาฯไปใช้ ทั้งนี้องค์กรที่มีบทบาทน้อยกว่า กกต. ป.ป.ช. และ คตง. ไม่ได้หมายความว่าต้องยุบหรือไม่ให้มี การพูดในลักษณะนี้เป็นการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการที่อธิบายบทบาทหน้าที่แต่ละองค์กรว่าที่ผ่านมามีหน้าที่ทำอะไรบ้าง
โต้ข่าวลดอำนาจแจกเหลือง-แดง
จากนั้นนายสมชัยให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการลดอำนาจกกต.ในการพิจารณาให้ใบเหลืองหรือใบแดงแก่ผู้กระทำผิดในการเลือกตั้งว่า หน้าที่หลักของกกต.คือการคัดสรรคนที่มีคุณภาพเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ แต่ที่ผ่านมากกต.ถูกวิจารณ์ว่าใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการในองค์กรเดียว เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะอำนาจดังกล่าวกำหนดไว้ในกฎหมายใหญ่อย่างรัฐธรรมนูญ กกต.ดำเนินการตามกรอบกฎหมายนั้น เพียงแต่กกต.สามารถออกกฎระเบียบปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายใหญ่ ส่วนอำนาจตุลาการหากอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง ทุกคนอยู่ในกระบวนแข่งขัน ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎกติกาที่วางไว้ กกต.ต้องมีอำนาจตักเตือนหรือไล่ออกหากมีการกระทำผิดในฐานะที่เป็นกรรมการ หากกกต.ไม่มีอำนาจส่วนนี้จะไม่มีคนคุมกติกา สุดท้ายจะไม่มีใครฟังใคร
ปนัดดาแจงเร่งสอบดีเอ็นเอข้าว
ที่ลานพระราชวังดุสิต ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าการตรวจสอบข้าวยังไม่เสร็จสิ้นเพราะต้องตรวจสอบทางกายภาพข้าวและดีเอ็นเอข้าวด้วย ซึ่งเหลืออยู่หลายหมื่นรายการว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ผลสรุปว่าแม้การสำรวจปริมาณข้าวคงเหลือเสร็จสิ้นแล้วตามที่คณะอนุกรรมการของตนเสนอเรื่องไปแล้ว แต่ปรากฏว่ายังติดเรื่องการตรวจดีเอ็นเอข้าวซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กำลังเร่งตรวจสอบอยู่ ที่ประชุมกบข.จึงเห็นว่ายังไม่ควรแถลงผลการตรวจสอบข้าวคงเหลืออย่างเป็นทางการ เพราะผลตรวจด้านปริมาณคงไม่เพียงพอ แต่อยากให้การตรวจดีเอ็นเอข้าวเสร็จสมบูรณ์ก่อน ซึ่งส่วนนี้คงต้องใช้เวลาอีกช่วงหนึ่ง ยังไม่ทราบกรอบเวลาที่แน่นอน เพราะต้องอาศัยความรอบคอบถี่ถ้วน แต่งานส่วนนี้อยู่นอกอำนาจหน้าที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพาณิชย์แล้ว
เผยนายกฯหวั่นส่งออกข้าวล่าช้า
ม.ล.ปนัดดากล่าวอีกว่าเมื่อผลตรวจดีเอ็นเอข้าวออกมาชัดเจนแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะระบายข้าวออกไปได้อย่างสบายใจ ทั้งนี้ตนยังไม่ขอเปิดผลการตรวจสอบปริมาณข้าวคงเหลือของรัฐ จนกว่าการตรวจดีเอ็นเอข้าวจะมีผลออกมา เข้าใจว่า นบข.จะแถลงผลการตรวจสอบทั้งหมดเอง ผู้สื่อข่าวถามว่าการตรวจดีเอ็นเอข้าวเป็นการทำเพื่อยืนยันว่าข้าวเหล่านั้นปลูกในไทยหรือนำมาจากต่างประเทศใช่หรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่าประเด็นนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ขอยืนยันว่าฝ่ายตรวจดีเอ็นเอข้าวจะเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว เพราะทราบว่ามีผู้รอฟังข่าวแถลงผล แต่นายกรัฐมนตรีต้องการให้สมบูรณ์ครบถ้วน ต่อข้อถามว่าเหตุที่ต้องตรวจสอบดีเอ็นเอข้าวให้เสร็จเป็นเพราะพบข้อมูลการนำข้าวจากต่างประเทศมาสวมเป็นข้าวในไทยหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ไม่ขอพูดในรายละเอียดตรงนี้ เมื่อถามว่าการที่ยังต้องรอผลตรวจสอบส่วนที่เหลือจะส่งผลให้การระบายข้าวและการส่งข้าวขายให้ต่างประเทศล่าช้าออกไปอีกหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่านี่เป็นสิ่งที่นายกฯกังวล และได้หารือกันมากทำให้การประชุม นบข.เมื่อวานนี้ (24 ต.ค.) ใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยนายกฯสั่งการให้เร่งดำเนินการ แต่ต้องถูกต้องรอบคอบ