- Details
- Category: การเมือง
- Published: Saturday, 25 October 2014 09:42
- Hits: 3486
วิปสปช.ไม่ถอย-ท้าโหวต ชิงกมธ.วุ่น ปมแบ่งโควตาให้คนนอก 'เทียนฉาย'ชี้แค่ตั้งตุ๊กตา'บิ๊กตู่'ยัน 4 พ.ย.ครบ 36 คน รับมีชื่อบวรศักดิ์'ปธ.ร่าง' 'บิ๊กป้อม'เชียร์เหมาะสม
'บิ๊กตู่'รับมีชื่อ"บวรศักดิ์"ในใจ ดันนั่ง ปธ.กมธ.ยกร่าง รธน. 'บิ๊กป้อม'เชียร์ชี้เหมาะสม 'ไพบูลย์'ลั่น 27 ต.ค.ประชุม สปช. ยื่นญัตติค้านโควต้า 5 คนนอก
'บิ๊กตู่'ทำบุญ 1 ปีสิ้นสังฆราช
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 ตุลาคม ที่พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมงานบำเพ็ญกุศล ครบ 1 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยมีพระสงฆ์ 10 รูป นำโดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สวดพระพุทธมนต์ โดยมีประชาชนทุกหมู่เหล่ามาร่วมงานจำนวนมาก
'บิ๊กตู่'ติงสื่อระวังละเมิดสิทธิ
ต่อมาเมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ'คืนความสุขให้คนในชาติ'ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า ติดตามข่าวทางสื่อพบว่า เอกอัครราชทูตหลายประเทศของอียู (สหภาพยุโรป) พูดถึงประเด็นการเสนอข่าวของสื่อไทย ซึ่งบางครั้งก็เป็นการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นของผู้เสียหาย หรือผู้กระทำก็ตาม ที่ผ่านมาตนเห็นมีการพูดคุยกันระหว่างคณะทูตกับผู้แทนของสมาคมผู้สื่อข่าวประเทศไทย ขอให้ระมัดระวัง เพราะเป็นการสร้างการรับรู้ไปยังต่างประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ส่วนการเดินหน้าประเทศตอนนี้ อาจจะมีประเด็นหลักๆ อยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าสื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่เคยเป็นปัญหา ในสิ่งที่เราแก้ไข ก็เข้าใจได้ สิ่งนี้ก็ไม่ไปก้าวล่วงท่าน เพราะฉะนั้นก็ไปพิจารณาว่าควรจะต้องแก้ไขหรือทำอะไรอย่างไรต่อไป เพื่อช่วยประเทศไทยเดินหน้า และสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศให้เราด้วย
ส่วนการดำเนินงานต่างๆ ของรัฐบาลในเวลานี้ เราพยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ในทุกๆ มิติ ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือกับการทำงานของเรา ถ้าไม่ร่วมมือกันวันนี้ก็เดินหน้าไปไม่ได้ และเราแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน และให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งที่ยังไม่ดี ไม่เข้าใจ ยินดีน้อมรับทุกเรื่อง เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไข แต่หลายๆ อย่างก็คงต้องใช้เวลา ไม่สามารถแก้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตามก็ขอขอบพระคุณในกำลังใจที่ให้กับพวกเราเสมอมา เราก็จะทำหน้าที่ของพวกเราให้ดีที่สุด"
เพิ่มภาษา'ยาวี'คืนความสุข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ที่ออกอากาศใน 7 จังหวัดภาคใต้ คือ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะมีคำบรรยายเป็นภาษายาวี เพิ่มเติมนอกจากภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้้ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เป็นแนวคิดของคณะทำงานที่อยากจะให้แปลภาษายาวีเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเข้าใจของประชาชนในจังหวัดข้างต้นที่ติดตามชมรายการ โดยประสานงานให้กรมประชาสัมพันธ์แปลภาษายาวีเป็นคำบรรยายเพิ่มเติม และหลังจากนี้ข่าวสารเกี่ยวกับรัฐบาล ในเว็บไซต์ www.thaigov.co.th จะแปลเป็นภาษายาวีด้วย
'บิ๊กตู่'มีชื่อ'บวรศักดิ์'ปธ.กมธ.
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการประชุมเพื่อพิจารณาสรรหาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ ครม.และ คสช.ว่า จะประชุมหารือกันก่อนการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม.กับ คสช.ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ในสัดส่วนของ ครม. 5 คน คสช. 5 คน และชื่อประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอีก 1 คน แล้วนำเข้าหารือในที่ประชุมดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายที่ต้องส่งรายชื่อ
"ไม่ต้องห่วง ต้องทำให้ได้เพราะถือเป็นความยั่งยืน เพื่อเตรียมการเลือกตั้งในอนาคต รวมถึงการปฏิรูปจะต่อเนื่องหรือไม่ อย่ากังวล มันต้องมีได้บ้างเสียบ้าง เราไม่ได้ทำเพื่อไล่ล่าใคร ถ้าเราไม่ทำความผิดก็ไม่ต้องกลัว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าในฐานะหัวหน้า คสช.ต้องเป็นผู้เสนอชื่อประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีชื่อในใจหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีอยู่เป็นร้อยกว่าคน เมื่อถามย้ำว่าในจำนวนดังกล่าวมีชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวยอมรับว่า "มีอยู่ มีอยู่"
'บิ๊กป้อม'ชี้'บวรศักดิ์'เหมาะ
ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของ คสช.และ ครม.ว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน แต่ต้องหารือเร็วที่สุดเพื่อให้เป็นไปตามโรดแมป
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าส่วนที่มองว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช. คนที่ 1 เป็นหวยล็อกที่จะนั่งเก้าอี้ประธาน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวคิดว่านายบวรศักดิ์เหมาะสม เพราะเป็นนักกฎหมาย และผ่านการทำงานต่างๆ มามากมาย อย่างไรก็ตามอาจจะใช่หรือไม่ใช่นายบวรศักดิ์ก็ได้ เพราะนายกฯ ยังไม่ได้เลือกแน่ชัด
'บวรศักดิ์'หวังรธน.แก้ปัญหา
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 กล่าวถึงภารกิจว่า จะต้องช่วยประธาน สปช. พร้อมทำงานร่วมกับสมาชิก 249 คน ให้การปฏิรูปออกมาให้ดีและเป็นระบบที่สุด จัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จทันเวลา เป็นรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการปฏิรูปต่อไป ยอมรับว่าการปฏิรูปจะไม่เสร็จใน 1 ปี แต่ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาบ้านเมือง
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ภารกิจของ สปช.ต่อไปจะต้องร่วมทำงานกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะการปฏิรูปเป็นความคาดหวังของประชาชน อีกทั้งจะต้องประสานกับองค์กรต่างๆ เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครม. และ คสช. เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด ให้ได้ผลดีที่สุด มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ยังกั๊กนั่งปธ.กมธ.ยกร่างรธน.
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกรอบเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มต้นนับแต่วันที่ 21 ตุลาคมเป็นไปต้นไป เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จจะต้องลงมติเห็นชอบภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2558 จากนั้นจะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯภายในวันที่ 4 กันยายน 2558 ส่วนกรอบเวลาการตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนนั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคมนี้ ส่วน ครม.และ คสช. จะประชุมร่วมกันวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้เพื่อเสนอ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของ 2 องค์กรดังกล่าว
เมื่อถามว่าหากได้รับการทาบทามให้เป็นประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพร้อมจะรับตำแหน่งหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ต้องดูก่อน แต่ยืนยันพร้อมจะเชื่อมโยง สนช.กับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
สปช.ถก 27 ตค.เคาะ 20 กมธ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปช. ทำหนังสือด่วนที่สุด เชิญสมาชิก สปช.ร่วมประชุมวันที่ 27 ตุลาคม เวลา 10.00 น. โดยมีวาระเพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติชั่วคราว หรือ วิป สปช.ชั่วคราว 2 เรื่อง คือ 1.แนวทางการสรรหา กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของ สปช.จำนวน 20 คน และ 2.การกำหนดวันและเวลาการประชุม สปช.อย่างถาวร
'ไพบูลย์'ย้ำค้านคนนอกนั่งกมธ.
ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. ด้านการเมือง กล่าวถึงสัดส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ สปช.ด้านการเมือง ว่า บุคคลที่สนใจเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมีตน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายชูชัย ศุภวงศ์ นายอมร วณิชวิรัตน์ และนางตรึงใจ บูรณสมภพ แต่ยังไม่มีมติว่าจะส่งใคร
นายไพบูลย์ กล่าวว่า นัดหารือกับเพื่อนสมาชิก สปช.เพื่อกำหนดท่าทีในประเด็นที่วิป สปช. ชั่วคราว มีมติที่จะให้มีสัดส่วน สปช. 15 คน และบุคคลภายนอก 5 คน เข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จากการพูดคุยกับเพื่อนสมาชิกแล้วไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากขัดกับหลักการ ไม่ทราบว่าการนำคนนอกเข้ามาเพื่ออะไร ที่บอกว่าเพื่อเปิดโอกาสให้มีความคิดเห็นที่หลากหลายนั้น คงไม่ใช่ ซึ่งการประชุม สปช. วันที่ 27 ตุลาคม ที่มีวาระสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการอภิปราย และจะยื่นญัตติให้มีการลงมติในที่ประชุมใหญ่
ขวางนอมินีพรรคร่วมกมธ.
ส่วนที่นายวันชัย สอนศิริ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในฐานะโฆษกวิป สปช.(ชั่วคราว) ระบุว่า วิป สปช.(ชั่วคราว) มีมติเปิดโอกาสให้กลุ่มพรรคการเมืองและนักการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนคนนอก 5 คนนั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า เห็นแย้งเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เรื่องนี้เป็นความเห็นจากคนของพรรคการเมืองในวิป สปช.ชั่วคราว การที่จะดึงนักการเมืองมาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าขัดกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คือการไม่ให้ผู้ได้เสียด้านการเมืองมาเป็น กมธ. การเข้ามานั้นถือเป็นนอมินีของพรรคการเมือง จะทำให้เกิดความแตกแยกอีกด้วย
วิปท้าโหวตตัดสินกมธ.คนนอก
นายวันชัย สอนศิริ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในฐานะวิป สปช. กล่าวว่า การที่วิป สปช.เสนอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนใน สปช. 15 คน และคนนอก 5 คนนั้น เป็นเพียงกรอบที่เสนอ เพราะต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วม เนื่องจากที่ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญมักจะเกิดการไม่ยอมรับจากคู่ขัดแข้ง เพราะไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม จึงเปิดโอกาสตรงนี้ไว้ให้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคเพื่อไทย (พท.) หรือพรรคอื่นๆ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ร่วมถึงคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญได้มีโอกาสเข้ามา
"เราจึงวางแนวทางไว้ เพื่อให้ที่ประชุม สปช.อภิปรายและลงมติกันว่าจะเห็นด้วยตามที่วิปเสนอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวมีสมาชิก สปช.ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ จึงอยากให้มาอภิปรายกันในที่ประชุม แล้วก็ลงมติกัน เอาตามเสียงส่วนใหญ่ออกมาอย่างไร ก็ยึดตามนั้น" นายวันชัยกล่าว
แจงให้คนเห็นต่างนั่งกมธ.
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการสรรหารายชื่อคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช. 20 คนนั้น ขณะนี้ใน สปช.แต่ละด้านมีผู้สมัครมากกว่า 1 คน ทำให้ยังไม่มีการสรุปที่ชัดเจนว่าแต่ละด้านส่งใครมาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมใหญ่ สปช.อีกครั้งว่าจะเห็นชอบตามที่วิป สปช.เสนอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็น สปช. 15 คน และคนนอก 5 คนหรือไม่
ข่าวแจ้งว่า ทั้งนี้ วิป สปช.ฝ่ายสนับสนุนให้มี กมธ.คนนอก 5 คน ระบุถึงเหตุผลว่าเพื่อต้องการเปิดโอกาสให้บุคคลที่เห็นต่างกับกระบวนการ สปช. คนที่ไม่ได้อยู่ใน สปช. เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มด้านแรงงาน หรือกลุ่มคนที่เห็นต่างกันทางการเมือง เช่น กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งหลักการคือจะไม่มีการจำกัดสิทธิ แต่จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น
'เทียนฉาย'ชี้กมธ.คนนอกแค่ตุ๊กตา
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. กล่าวถึงกรณีที่วิป สปช.ชั่วคราวจะให้คนนอก 5 คนนั่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแต่มี สปช.บางคนไม่เห็นด้วยว่า ต้องเข้าใจว่าโดยหลักการขณะนี้ สปช.ยังไม่ได้เริ่มงาน เพราะยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่เงื่อนของเวลา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นรอไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องทำงานนอกรอบ ใช้ความอนุเคราะห์ของประธานชั่วคราว และตัดสินใจเพื่อเตรียมการ และวิป สปช.ชั่วคราว ไปคิดตุ๊กตาล่วงหน้า พอถึงเวลาก็จะเสนอ สปช.ว่าเอาแบบนี้หรือไม่ ดังนั้น จึงไม่ใช่ของจริง แต่เป็นตุ๊กตาล่วงหน้า ตรงนี้เป็นเรื่องธรรมดามาก เวลาทำงาน กมธ.จะมีความเห็นแตกต่าง แต่ไม่อยากให้เรียกว่าความเห็นที่แตกต่าง อยากให้มองว่าเป็นความเห็นที่หลากหลาย
"ถ้ามีคนไม่เห็นด้วย ต้องมีคนเสนอญัตติ มีการโหวต ที่ผ่านมาผมทำงานในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีการโหวต ถ้าเห็นไม่ตรงกันก็ต้องพูดกันจนเหนื่อยไปข้างหนึ่ง แต่การโหวตก็ดี ให้อภิปรายกันให้พอ ผลออกมาเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่สมาชิกจะคิดและวินิจฉัย การโหวตเป็นเรื่องปกติ แต่สื่อบางฉบับคิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ผมคิดว่ามันปกติ จะผิดปกติแค่เราต้องเริ่มงานอย่างไม่เป็นทางการไปก่อน เพราะถ้ารอทุกอย่างให้เป็นทางการ เราคงทำงานไม่ทัน" นายเทียนฉายกล่าว
'สมบัติ'ชี้คนนอกไม่มีผลรธน.
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช.ด้านการเมือง กล่าวว่า ที่วิป สปช.เสนอให้มี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจากคนใน สปช. 15 คน และคนนอก 5 คนนั้น คงต้องหาข้อสรุปในที่ประชุมใหญ่ สปช.อีกครั้ง เท่าที่ทราบมีผู้ที่ต้องการแสดงความเห็นในประเด็นนี้มากพอสมควร
"แต่ส่วนตัวคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก ผู้ที่จะมาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมากพอสมควร หากเห็นว่าคนใน สปช.มีบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญมากพอแล้วจะเอาคนในหมดเลยก็ได้ หรือหากเห็นว่าคนในไม่พอจะเอาคนนอกมาก็ได้ เพราะการเอาคนนอกเข้ามาแค่ 5 คน ไม่ได้มีผลทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไป เพราะมี กมธ.ทั้งหมด 36 คนที่มาจาก ครม. คสช.และ สนช.อีก" นายสมบัติกล่าว
"วุฒิสาร"รับถูกทาบนั่งกมธ.
นายวุฒิสาร ตันไชย สปช. ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าถูกทาบทามให้เป็น กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ยอมรับว่ามีคนใน สปช. และกลุ่มที่ทำงานทางด้านท้องถิ่น อยากให้เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อผลักดันการปฏิรูปด้านท้องถิ่น ส่วนที่วิป สปช. ชั่วคราว มีมติให้มี กมธ.จากคนนอก 5 คนนั้น ไม่ขอออกความคิดเห็น ต้องให้ที่ประชุม สปช. พิจารณาก่อนว่าจะเอาอย่างไร
เมื่อถามว่า จากที่เคยเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มาแล้ว ครั้งนี้มีความแตกต่างอย่างไรบ้าง นายวุฒิสารกล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีกรอบให้ สปช. แต่ละคน ที่มีความเห็นหรือแนวทางให้เสนอความเห็นต่อ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 2 เดือนและคณะ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องร่างให้อยู่ในกรอบมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ว่าจะมีกลไกที่ต้องปฏิรูปเรื่องอะไรด้วย
ตั้ง 16 กมธ.สปช.ห้ามคนนอกยุ่ง
นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช. ในฐานะโฆษก กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช. แถลงผลการประชุมที่รัฐสภาว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปถึงการตั้ง กมธ. สามัญประจำ สปช. 16 คณะ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์จัดทำแนวทางในการปฏิรูปด้านต่างๆ คือ 1.กมธ.ปฏิรูปการเมือง 2.กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 3.กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม 4.กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น 5.กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 6.กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ 7.กมธ.ปฏิรูปการเกษตรและการแรงงาน 8.กมธ.ปฏิรูปพลังงาน 9.กมธ.การปฏิรูประบบสาธารณสุข
นายบุญเลิศ กล่าวว่า 10.กมธ.ปฏิรูปสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ 11.กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 12.กมธ.ปฏิรูปสังคม 13.กมธ.ปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลและค่านิยม 14.กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและการแก้ไขทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐและเอกชน 15.กมธ.ปฏิรูปกิจการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของชาติ และ 16.กมธ.ปฏิรูปขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม บุคคลที่จะเป็น กมธ.สามัญทั้ง 16 คณะ ต้องเป็นสมาชิก สปช.เท่านั้น แต่ละคณะจะมีไม่น้อยกว่า 13 คน แต่ไม่เกิน 29 คน
คาดพ.ย.ข้อบังคับสปช.เสร็จ
นายบุญเลิศ กล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาจัดตั้ง กมธ.วิสามัญอีก 5 คณะ โดยเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็น กมธ.ได้ ประกอบด้วย 1.กมธ.วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.กมธ.วิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และรูปแบบอนาคตประเทศไทย 3.กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน 4.กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนประจำจังหวัด และ 5.กมธ.วิสามัญสื่อสาธารณะ และการประชาสัมพันธ์
นายบุญเลิศ กล่าวว่า กมธ.ร่างข้อบังคับการประชุมจะเร่งจัดทำร่างข้อบังคับการประชุม สปช.ให้เสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เพื่อนำเสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณาในสัปดาห์ถัดไป ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะตั้ง กมธ.ขึ้นมาพิจารณาในวาระ 2 และ 3 หรือจะตั้ง กมธ.เต็มสภาเพื่อพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว คาดว่าจะบังคับใช้ได้ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ป.ป.ช.ชี้สปช.สมัครใจยื่นบัญชีได้
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีสมาชิก สปช.บางส่วนต้องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อแสดงความโปร่งใส ว่า สามารถยื่นเข้ามาได้ หากต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ ป.ป.ช.คงเข้าไปจัดการ หรือเปิดเผยบัญชีรายการทรัพย์สินไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติไปแล้วว่า สปช.ไม่เข้าข่ายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สนช.นัด 30 ต.ค.คัด 5 กมธ.
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 กล่าวถึงการสรรหา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เปิดให้สมาชิกยื่นความจำนงจนถึงเวลา 12.00 น. วันที่ 28 ตุลาคม ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมวิป สนช. หากมีไม่เกิน 5 คน ก็จะได้รับความเห็นชอบทันที แต่หากเกินกว่า 5 คน ก็จะต้องคัดเลือกตามขั้นตอน และนำเข้าที่ประชุมใหญ่วันที่ 30-31 ตุลาคม เพื่อรับรองต่อไป ส่วนตัวไม่ขอไปนั่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากติดภารกิจรองประธาน สนช. รวมถึงเคยเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จึงไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมในครั้งนี้ เพราะอาจถูกครหาว่าเข้าไปปกป้องผลประโยชน์ได้
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวว่า ในการประชุม สนช.วันที่ 30 ตุลาคมนี้ จะมีการพิจารณาสรรหาสมาชิก สนช. 5 คน เพื่อทำหน้าที่ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิก สนช.สามารถแสดงความจำนงภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 28 ตุลาคมนี้ และหลังจากนั้นจะนำรายชื่อทั้งหมดเข้าสู่การหารือในที่ประชุม กมธ. กิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช.ในบ่ายวันดังกล่าวทันที หากมีสมาชิกแสดงความจำนงมากกว่า 5 คน วิป สนช.ก็จะคัดเลือกก่อนเสนอชื่อต่อที่ประชุมใหญ่ต่อไป
กห.เปิดช่องปชช.เสนอปฏิรูป
ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหมว่า สำหรับคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสงบสุขให้คนในชาติ ตามที่ คสช.มอบให้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.) รับผิดชอบจัดตั้งคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสงบสุขให้คนในชาติ ซึ่งที่ผ่านมาจัดทำร่างกรอบแนวคิดในการปฏิรูปเสนอ คสช. และส่งให้ สปช.เป็นข้อมูลในการดำเนินการแล้วนั้น ขณะนี้ สปช.เริ่มเดินหน้าประชุมแล้ว
"หากประชาชนท่านใดมีความประสงค์ ต้องการมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนวทางปฏิรูป สามารถส่งข้อมูลผ่าน สป. ได้ตลอดเวลา ผ่านช่องทางดังนี้ โทรศัพท์ 0-2622-3065 อีเมล์ [email protected] ไปรษณีย์คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสงบสุขให้คนในชาติ ตู้ ปณ99 ไปรษณีย์ สาขามหาดไทย กรุงเทพฯ 10206" พ.อ.คงชีพกล่าว
กอ.รมน.จ่อเปิดเวทีทั่วปท.
พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯระบุว่ารัฐบาลจะเปิดเวทีภายนอกทำงานร่วมกับ สปช. เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่างจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้มีส่วนร่วมแนวทางการปฏิรูป โดยจะมอบหมายให้ กอ.รมน.เข้ามาดำเนินการ ว่า ปัจจุบันศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ของ กอ.รมน. ยังคงดำเนินการอยู่ต่อไปในปีงบประมาณ 2558 โดยงานส่วนใหญ่จะคล้ายกับการจัดตั้ง ศปป.ในช่วงแรก แต่จะเน้นดำเนินงานให้ตรงกับโรดแมป ระยะที่ 2 ของ คสช. โดยพันธกิจส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและปฏิรูปประเทศตามกรอบการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน
"ขณะนี้กำลังจัดทำแผนงาน ซึ่งดำเนินการโดย ศปป.ภาค 1-4 ให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยจะขอความร่วมมือองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล สถานศึกษา และองค์กรวิชาชีพต่างๆ เตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศในเรื่องต่างๆ ตามกรอบการปฏิรูป 11 ด้าน ภายใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 คือเดือนพฤศจิกายน 2557-มีนาคม 2558 เพื่อให้ประชาชนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และขจัดความขัดแย้งภายในชุมชน รวมถึงตกผลึกแนวความคิดร่วมกัน เพื่อนำเสนอ คสช.และ สปช. ผ่านสำนักงานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูป (สปป.) เบื้องต้นจะจัดโครงการภายใต้ชื่อว่า "คนไทยหัวใจเดียวกัน" ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนเสนอ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้" พ.อ.บรรพตกล่าว
"ปู"ขอคสช.ไปจีน-กลับพ.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯโพสต์ภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯและ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร (น้องไปป์) บุตรชาย ถ่ายรูปร่วมกัน พร้อมข้อความ "คิดถึง อยากไปด้วยค่ะ" โดยในภาพน้องไปป์สวมกอด พ.ต.ท.ทักษิณ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นกำหนดการที่ประเทศญี่ปุ่น น.ส.ยิ่งลักษณ์จะพาบุตรชายเดินทางไปเที่ยวต่อที่ประเทศจีน
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำหนังสือถึง คสช.ขอเดินทางไปต่างประเทศ โดยระบุวัตถุประสงค์เพื่อพาบุตรชายไปพักผ่อนช่วงปิดเทอม ซึ่งมีทั้งประเทศญี่ปุ่นและจีน ไม่ได้ปรับแผนการเดินทางตามที่เป็นข่าว ส่วนกำหนดการเดินทางกลับของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ระบุชัดเจนว่าเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน
ทนาย'ปู'ปัดคุยคดีข้าวที่ญี่ปุ่น
นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. กล่าวถึงกระแสข่าวร่วมเดินทางไปญี่ปุ่นพร้อม น.ส.ยิ่งลักษณ์เพื่อหารือคดีรับจำนำข้าวว่า เป็นข่าวคลาดเคลื่อน ตนเพียงแค่ไปส่งเท่านั้น รวมถึงข่าวที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์และ พ.ต.ท.ทักษิณ จะไปทำบุญที่ประเทศอินเดียพร้อมอดีตรัฐมนตรีและอดีต ส.ส.พรรค พท.ก็ไม่ได้เปลี่ยนใจเพราะ คสช.เพ่งเล็ง แต่ไม่มีแผนไปอินเดียแต่แรกแล้ว ที่ไปญี่ปุ่นเพราะเป็นช่วงปิดเทอมของ ด.ช.ศุภเสกข์ ที่ต้องการไปเที่ยวพักผ่อน และไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามประสาพี่น้อง ทุกอย่างเป็นไปตามโปรแกรมที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แจ้งขอ คสช.เดินทางไปญี่ปุ่นและจีนเท่านั้น ไม่มีการขอ คสช.เดินทางไปอินเดีย
นายพิชิต กล่าวว่า การเดินทางไปจีนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไปเมืองปักกิ่งและกว่างโจว ส่วนกำหนดเดินทางกลับเป็นไปตามที่แจ้ง คสช.ไว้ น.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่ทำอะไรที่นอกเหนือจากที่แจ้งไว้กับ คสช. ดังนั้นที่มีความพยายามของบางฝ่ายว่าจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากอดีต ส.ส.ที่เดินทางไป จึงไม่เป็นความจริง ยืนยันว่ากำหนดการเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่แรกแล้ว ส่วนคดีจำนำข้าวถ้ามีความคืบหน้าอะไรจะรายงานปกติ ก่อนการเดินทางก็ไม่ได้พูดคุยเรื่องคดี เพราะเห็นว่าอดีตนายกฯไปพักผ่อน คงไม่ไปพูดอะไรที่ทำให้การเดินทางไม่สนุก