WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8732 ข่าวสดรายวัน


โต้รับงานรัฐ 100 ล. 
หมอ'ยงยุทธ'โว เคลียร์บิ๊กตู่แล้ว ป้อมปลื้มจิ๋วห่วง

        หมอยงยุทธ แจงวุ่น ปมบริษัทรับงานรัฐบาล ยันเคลียร์นายกฯแล้ว ส่วนได้งบฯ100ล้าน เป็นเงินรวม 14 ปี'บิ๊กตู่'ลั่นพร้อมรับฟังคำแนะ เพื่อเอาไปแก้ไข ยอมรับมี'บวรศักดิ์'อยู่ในใจ นั่งปธ.กมธ.ยกร่างรธน. สปช.นัดถกด่วน 27 ต.ค.นี้ วางกรอบสรรหากมธ.ยกร่าง "บิ๊กป้อม"ขอบคุณ'บิ๊กจิ๋ว'ที่ห่วง 'บิ๊กจิน'เผยแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม วาง 4 แนวทางหางบฯ 3 ล้านล้าน ป.ป.ช.เปิดเซฟ 5 สนช.ที่ไปเป็นรมต. กอบกาญจน์อู้ฟู่ 317 ล้าน 

'บิ๊กตู่'ถกนโยบายข้าว

       เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ใช้เวลาหารือเกือบ 3 ชั่วโมง 

        พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ว่า รัฐบาลห่วงใยเกษตรกรโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาและชาวไร่ ชาวสวน วันนี้ได้หารือมาตรการดูแลเกษตรกรชาวนาในปีงบ ประมาณ 2558 ให้ราคาผลผลิตไม่ตกต่ำ ซึ่งมีหลายมาตรการ กระทรวงพาณิชย์จะชี้แจงต่อไป ทั้งนี้ราคาตลาดทุกวันนี้ปรับเปลี่ยนไปหมดจึงต้องติดตามสถานการณ์โลกด้วย จะได้เปรียบเทียบกันได้และทำความเข้าใจกันได้มากขึ้น

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบปริมาณข้าวคงเหลือจากการรับจำนำข้าว ยังตรวจสอบไม่เรียบร้อย ต้องตรวจสอบ ทั้งดีเอ็นเอข้าว ไม่ใช่ตรวจสอบทางกายภาพ นับด้วยตาอย่างเดียว จำนวนข้าวแบบไม่เป็นทางการพอออกมาบ้างแล้วแต่ยังไม่อยากพูดตอนนี้ ขอพูดทีเดียวเมื่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อการระบายข้าวจะสรุปขึ้นมา แล้ว นบข.จะทำเรื่องให้ทางกฎหมายดูว่า ข้าว เหล่านี้จะทำอย่างไรต่อไป เพื่อไม่เกิดปัญหาในทางกฎหมาย ปัญหาสำคัญที่สุดคือต้องระมัดระวังเรื่องการเสื่อมราคา เพราะข้าวเก็บไว้นานก็เป็นปัญหา ต้องรอให้ฝ่ายกฎหมายยืนยันมาก่อน

รับมี"บวรศักดิ์"ร่วมร่างรธน.

       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการประชุมเพื่อพิจารณาสรรหา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ ครม.และ คสช.ว่า จะประชุมหารือกันก่อนในวันที่ 4 พ.ย. ในสัดส่วนของครม. 5 คน คสช. 5 คน และชื่อประธานอีก 1 คน แล้วนำเข้าหารือในที่ประชุมดังกล่าวต่อ เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายที่ต้องส่งรายชื่อ ไม่ต้องห่วง ต้องทำให้ได้เพราะถือเป็นความยั่งยืน เพื่อการเตรียมการเลือกตั้งในอนาคต รวมถึงการปฏิรูปจะต่อเนื่องหรือไม่ อย่ากังวล มันต้องมีได้บ้างเสียบ้าง เราไม่ได้ทำเพื่อไล่ล่าใคร ถ้าไม่ได้ทำความผิดก็ไม่ต้องกลัว 

     เมื่อถามว่าในฐานะที่นายกฯต้องเสนอชื่อประธานกมธ.ยกร่าง มีชื่อในใจหรือยัง พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า มีอยู่เป็นร้อยกว่าคน เมื่อถามย้ำว่าในจำนวนดังกล่าวมีชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธาน สปช.คนที่ 1 หรือไม่ นายกฯกล่าวยอมรับว่า "มีอยู่ๆ"

ออกทีวีแจงผลถกอาเซม

      เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ"คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า วันที่ 16-17 ต.ค. ตนและคณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ครั้งที่ 10 ที่นครมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี มีผู้นำประเทศและผู้แทนองค์กรภูมิภาคเข้าร่วมการประชุม 53 คณะ ในฐานะนายกฯของไทย มีโอกาสกล่าวต่อที่ประชุมถึงความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยในการเป็น "ศูนย์กลางแห่งอาเซียน" นอกจากนี้มีโอกาสพบปะเพื่อแนะนำตัวและทำความเข้าใจสถานการณ์ในไทย กับผู้นำประเทศต่างๆ ซึ่งได้รับสัญญาณที่ดีกลับมา ผู้นำหลายคนแสดงความเข้าใจ และชื่นชมข้อเสนอเชิงรุกของเราในการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน 

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำถึง ความตั้งใจและความจริงใจในการปราบปรามคอร์รัปชั่น ซึ่งผู้นำทุกคนได้ชื่นชมและให้กำลังใจในการทำงานของพวกเรา อีกทั้งได้พูดคุยหารือกันในหลายเรื่อง เช่น การสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการค้าการลงทุน ลดขั้นตอนหรือข้อจำกัดต่างๆ และได้เชิญชวน นักลงทุนหลายประเทศเข้ามาลงทุนในบ้านเรา โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการเกษตร และการแปรรูปสินค้าการเกษตร หลายประเทศตอบรับอย่างดี ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณผู้นำทุกประเทศที่ให้เกียรติกับตน ให้เกียรติกับคนไทย ประเทศไทย มีโอกาสพบปะหารือและเชิญให้ไปเยือน ซึ่งคงหาเวลาที่เหมาะสมเพื่อไปเยือนในเร็ววันนี้ เพราะบางครั้งก็ไม่ตรงกัน

ย้ำช่วย"ชาวนา-สวนยาง"

       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เริ่มช่วยเหลือชาวนาตามมติที่ครม.อนุมัติ จะทยอยจ่ายเงินชาวนาให้ทั่วถึง หากยังไม่ได้ลงทะเบียน ขอให้ลงทะเบียนให้เรียบร้อย หากลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับเงิน ให้อดใจรอเล็กน้อย เพราะธ.ก.ส. จะทยอยจ่ายเงินให้ครบทุกคน ขอให้มั่นใจและช่วยกันแก้ไขเรื่องทุจริตต่างๆ อย่าไปเชื่อใครทั้งสิ้น ต้องรับเงินด้วยมือของตัวเอง สำหรับผู้ที่ทำนาจริง

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนชาวสวนยางนั้น ขั้นต้นครม.อนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอใน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยจะช่วยรับซื้อยางในราคาเป้าหมายที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม โครงการชดเชยรายได้ชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาทต่อไร่ ไม่เกินครอบครัวละ 15 ไร่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ชาวสวนยางพารารายย่อย เพื่อประกอบอาชีพเสริม รายละไม่เกิน 1 แสนบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง คาดว่าอีกไม่นานนี้ ความช่วยเหลือเหล่านี้จะถึงมือชาวสวนยางแน่ๆ 

ลั่นเร่งดันกม.ทวงหนี้

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า โครงการพักหนี้เกษตรกร หรือปัญหาหนี้นอกระบบนั้น ขณะนี้รัฐบาลโดยฝ่ายเศรษฐกิจเร่งพิจารณารายละเอียดในการจัดตั้ง "นาโนไฟแนนซ์" ซึ่งต้องพิจารณาว่าจะได้ผลหรือไม่อย่างไร เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้ประชาชนอีกทางหนึ่ง อัตราดอกเบี้ยนั้นคาดว่าจะถูกกว่าการกู้ยืมนอกระบบมาก พร้อมทั้งผลักดันร่างพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคสช. แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 2 คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า หากกฎหมายนี้ผ่าน คนใดที่ทำธุรกิจทวงหนี้ ต้องมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง และหากข่มขู่หรือใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้ อาจมีความผิดในทันที บทลงโทษสูงสุดคือการจำคุก ขอเตือนนายทุนนอกระบบว่า อย่าได้ข่มขู่หรือทำการใดๆ ที่รุนแรงกับลูกหนี้ ให้ความเมตตา ให้ความเข้าใจกับผู้มีรายได้น้อยด้วย อย่าเอาแต่ประโยชน์อย่างเดียว เรื่องนี้สำคัญในปัจจุบันเรื่องเกี่ยวกับหนี้สินนอกระบบนั้น มีกฎหมายอยู่หลายฉบับ ต่อไปนี้จะใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ขอให้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำรงชีวิตด้วย

ยันพร้อมรับฟังปัญหาไปแก้ไข

         พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีอีก 2 เรื่อง อยากเพิ่มเติมด้วยความห่วงใย เมื่อเช้าติดตามเห็นข่าวทางสื่อว่า เอกอัครราชทูตหลายประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) พูดถึงประเด็นการเสนอข่าวของสื่อไทย ซึ่งบางครั้งล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นของผู้เสียหาย หรือผู้กระทำ ก็ขอให้ระมัดระวัง เพราะเป็นการสร้างการรับรู้ไปยังต่างประเทศ ซึ่งมีผลต่อเนื่องในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องการสมัครสมาชิกสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน 

       "สถานการณ์ในการเดินหน้าประเทศเราตอนนี้ อาจมีประเด็นหลักๆ อยู่บ้าง ถ้าสื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่เคยเป็นปัญหา ในสิ่งที่เราแก้ไข ผมว่าเขาก็เข้าใจได้ สิ่งนี้ผมไม่ไปก้าวล่วง ฉะนั้นสื่อพิจารณาว่าควรจะต้องแก้ไขหรือทำอย่างไรต่อไป เพื่อช่วยประเทศ ไทยเดินหน้า และสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศให้เราด้วย" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งคือการดำเนินงาน รัฐบาลพยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ในทุกมิติ ขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ถ้าไม่ร่วมมือกัน วันนี้ก็เดินหน้าไปไม่ได้ และแก้ไขปัญหาไม่ได้เลย ดังนั้นทุกคนต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน และให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งใดที่ยังไม่ดีไม่เข้าใจ ตนยินดีน้อมรับทุกเรื่อง เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไข แต่หลายอย่างต้องใช้เวลา ไม่สามารถแก้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

บิ๊กป้อมขอบคุณ"จิ๋ว"ที่ห่วง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการคัดเลือกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของรัฐบาลและคสช. ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เลือก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายกฯจะพิจารณาวันเวลาอีกครั้งหนึ่ง แต่ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดตามโรดแม็ป ส่วนการกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ขึ้นอยู่กับนายกฯจะคัดเลือกอย่างไร ส่วนที่มีข่าวว่านายบวรศักดิ์จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานกมธ.ยกร่างฯนั้น ทุกอย่างถือว่าเป็นอำนาจของ คสช.ที่จะตั้งใครเป็นประธาน ซึ่งในคสช.มีอยู่หลายคน รวมถึงคนที่เป็นรัฐมนตรีก็ต้องช่วยดูด้วย สำหรับนายบวรศักดิ์ ตนมองว่าเหมาะสมจะเป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ เพราะเป็นนักกฎหมาย ผ่านงานมามาก

เมื่อถามถึงพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯออกมาให้กำลังใจรัฐบาล และแสดงข้อห่วงใยเรื่องการปฏิรูปที่อาจมีปัญหา พล.อ. ประวิตรกล่าวว่า ขณะนี้คสช.ดำเนินการตามโรดแม็ปทุกอย่างตามที่พล.อ.ชวลิตพูดทุกอย่าง ขอขอบคุณที่ห่วงใยประเทศ 

พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงกรณีมีกลุ่มต่อต้านพลังงานจะออกเดินขบวน เพื่อให้รัฐบาลชะลอเรื่องการเปิดสัมปทานขุดเจาะน้ำมันว่า ยังไม่มีการเปิดสัมปทาน ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาสำรวจเท่านั้น และยังไม่รู้ว่าสำรวจแล้วจะเจอน้ำมันหรือไม่ จะไปถึงเรื่องสัมปทานได้อย่างไร ไม่คิดว่าเรื่อง ดังกล่าวจะเป็นประเด็นให้โจมตีรัฐบาล เพราะเราทำตามขั้นตอนและเปิดเผยได้ทุกอย่าง รมว.พลังงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น เพียงแต่กลุ่มต่อต้านจะ เชื่อหรือไม่เท่านั้น ตนนั่งอยู่ในคณะกรรมการพลังงานและก็ฟังเจ้าหน้าที่ชี้แจงทุกอย่าง

บิ๊กจินเผยแผนพัฒนาคมนาคม

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาวงเงินการลงทุนโครงการต่างๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยปี 2558-2565 ระยะเวลา 8 ปี จะมีมากกว่า 3 ล้านล้านบาท เนื่องจากต้องดำเนินโครงการให้ครอบคลุมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ส่วนตัวเลขรายละเอียดที่ชัดเจนคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จหลังวันที่ 10 พ.ย.นี้ และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า วงเงินดังกล่าวแบ่งเป็นทางถนนประมาณ 4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการเร่งด่วนประมาณ 1 แสนล้านบาท ทางรางประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ทางอากาศ ประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท และทางน้ำประมาณ 4 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณรายละเอียดโครงการอื่นเพิ่มเติมด้วย

วาง 4 แนวทางหางบฯ 3 ล้านล้าน

"สำหรับโครงการเร่งด่วนที่จะดำเนินการ เช่น การก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร เส้นทางแรก คือ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด กรุงเทพฯ-ระยอง และนครราชสีมา-หนองคาย จะนำเสนอ ครม.ในปีหน้า ก่อสร้างปี 2559 แล้วเสร็จใน 4 ปี การก่อสร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 10 สาย การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นต้น" พล.อ.อ.ประจินกล่าว

รมว.คมนาคมกล่าวอีกว่า ในส่วนของแหล่งเงินทุน 3 ล้านล้านบาท จะนำมาจาก 4 แหล่งเหมือนเดิม ได้แก่ การใช้งบประมาณของรัฐ การกู้เงินทั้งในและต่างประเทศ การร่วมทุนรัฐและเอกชน และการใช้กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้แนวทางใด

บิ๊กต๊อกเร่งสอบรายชื่อชาวนา

ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาทว่า ขณะนี้ศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตฯ ได้ประสานขอรายชื่อเกษตรกรจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ส่งรายชื่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาตรวจสอบว่าเป็นชาวนาตัวจริงหรือไม่ โดยจะตรวจสอบเปรียบเทียบการจดแจ้งที่ดินทำกินว่าสอดคล้องกับจำนวนที่นาของประเทศหรือไม่ โดยผู้ที่ให้ข้อมูลเป็นเท็จและเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้การรับรองเอกสารอันเป็นเท็จจะต้องร่วมรับผิดทางอาญา และจะทำเป็นโครงการนำร่องในการปราบปรามทุจริต เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา

"รัฐบาลประกาศให้การปราบปรามทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ต้องชี้แจงให้นายกฯรับทราบว่านโยบายดังกล่าว รัฐบาลมีกลไกในกำกับอยู่เพียง 20 % ส่วนที่เหลือเป็นอำนาจองค์กรอิสระ เป็นเหตุผลให้ต้องตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตฯ เพื่อให้รู้ว่าคดีทุจริตที่เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดนี้มีปัญหาติดขัด ล่าช้าอยู่ที่ขั้นตอนใด หากอยู่ที่อัยการหรือป.ป.ช. ก็ให้ไปถามกับหน่วยงานนั้นๆ เพราะรัฐบาลตอบและแทรกแซงไม่ได้" รมว.ยุติธรรมกล่าว

ปปช.เปิดเซฟ 5 สนช.ที่เหลือ

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสนช. 5 คน กรณีพ้นจากตำแหน่งไปเป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ได้แก่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 139,271,194 บาท ไม่มีหนี้สิน, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ และคู่สมรส (ถึงแก่กรรมวันที่ 23 ก.ค.2549) มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 23,595,804 บาท โดยมีทรัพย์สิน 24,772,863 บาท หนี้สิน 1,177,059 บาท, พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 16,932,902 บาท โดยมีทรัพย์สิน 24,301,127 บาท หนี้สิน 7,368,225 บาท, นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 317,105,668 บาท โดยมีทรัพย์สิน 317,674,376 บาท หนี้สิน 568,707 บาท และนายณรงค์ชัย อัครเศรณี และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 281,267,255 บาท เป็นทรัพย์สิน 281,352,644 บาท เป็นหนี้สิน 85,389 บาท 

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงสปช. บางส่วนต้องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อแสดงความโปร่งใสว่า สามารถยื่นเข้ามาได้ แต่ป.ป.ช.คงเข้าไปจัดการหรือเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะที่ประชุมป.ป.ช. มีมติแล้วว่า สปช.ไม่เข้าข่ายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หมอยงยุทธยันขายหุ้นบริษัทแล้ว

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีบริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งมีร.อ.นพ.ยงยุทธ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น ได้รับการว่าจ้างงานประชาสัมพันธ์จัดงาน ธงฟ้าคืนความสุข ลดค่าใช้จ่ายประชาชน จากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ วงเงิน 4,280,000 บาท เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ในช่วงคสช.บริหารงานว่า ในอดีตบริษัทดังกล่าวเป็นของตนจริง ต่อมาได้ขายกิจการเพราะผลประกอบการขาดทุนสะสมทั้งกรณีน้ำท่วมเมื่อปี 2554 และเหตุการณ์การเมือง จึงตกลงกับภรรยาว่าจะขายบริษัท โดยมีผู้สนใจเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่มาลงทุนต่อ ตกลงด้วยวาจาว่าจะขายหุ้นในราคาหุ้นละ 80 บาท ก่อนมีรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งภรรยาตนดูแลเรื่องการลงนาม การถ่ายโอนรอเจ้าของใหม่ โดยทีมงานของเจ้าของใหม่ เขาทำงานกันตามปกติ 

"ส่วนผมทำงานในส่วนของคสช.เป็นทีมงานโฆษก ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ขณะที่ทีมงานบริษัทใหม่ได้รับงานจากกระทรวงพาณิชย์ มีภรรยาของผมเป็นผู้ลงนามเพราะยังเป็นกรรมการอยู่ กระทั่งมีการขายหุ้นในวันที่ 30 ก.ค.2557" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว

ชี้ 100 ล.เป็นงบตลอด 14 ปี

เมื่อถามว่าหากจะขายกิจการทิ้ง ทำไมจึงเพิ่มทุนบริษัทจาก 2 ล้านบาทเป็น 15 ล้านบาท ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ข้อมูลนี้ผิด เพราะบริษัทเริ่มจดทะเบียนด้วยทุน 1 ล้านบาท ต่อมาเป็น 2 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 15 ล้านบาท นับย้อนหลังไปเป็น10 ปีแล้ว ยืนยันว่าไม่ใช่มาเพิ่มในปีนี้ และช่วงที่เริ่มคิดและเจรจาที่จะขายกิจการบริษัทมีทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาทอยู่แล้ว 

เมื่อถามว่าแสดงว่าช่วงหลังรัฐประหารและก่อนถึงวันที่ 30 ก.ค. กรรมการที่ยังมีชื่อของร.อ.นพ.ยงยุทธและภรรยายังมีอำนาจลงนามใช่หรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ใช่ ยังมีชื่อเป็นกรรมการ ส่วนการได้งานธงฟ้านั้น เป็นการดำเนินการของทีมงานที่เซ็ตระบบไว้ อาจไปเสนองานก็เป็นเรื่องของฝ่ายการตลาด เพราะช่วงหลังตนและภรรยาไม่ค่อยได้เข้าไปยุ่งกับทีมงาน 

"ผมได้เล่าเรื่องราวต่างๆ นี้ให้ท่านนายกฯ และเลขาธิการนายกฯฟังแล้ว ท่านก็รับฟังที่ผมอธิบาย ก็เรียบร้อยดี ไม่ได้ถามไถ่อะไรมากมาย ส่วนที่บอกว่าบริษัทของผมได้งบจากราชการ 100 ล้านบาท ชี้แจงว่าเป็นวงเงินรวมตั้งแต่ปี 2543-2557 ประมาณ 64 ครั้งรวมเวลา 14 ปี" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว 

ยันบริษัทได้งานไม่เกี่ยวตัวเอง

เมื่อถามว่ามีข้อสังเกตว่าพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เคยเป็นอดีตผอ.สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 มาก่อนและร.อ.นพ.ยงยุทธ ก็มีบทบาทในช่อง 5 อาจมีคอนเน็กชั่นร่วมกัน ร.อ.นพ.ยงยุทธ ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ พล.อ.ฉัตรชัยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และช่วงที่ทำงานในคสช. ตนแทบจะไม่ได้คุยกับพล.อ.ฉัตรชัย เพราะมีหน้าที่เข้าประชุมอย่างเดียว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงที่เป็นโฆษกรัฐบาลตอนรัฐประหารปี 2549 บริษัทดีเอ็มฯก็รับงานของรัฐบาลจำนวนมาก มีข้อมูลระบุว่าตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2549 ถึง 3 ต.ค. 2550 ได้งานไป 12 โครงการ 9 หน่วยงาน 20 ล้านบาท ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวในช่วงนั้นไม่ได้ห้ามการทำธุรกิจ ตนปรึกษากับผู้ใหญ่ในตอนนั้น เพราะนายกฯขณะนั้นเรียกให้มาทำงาน ตนก็ห่วงในประเด็นนี้แต่พบว่าไม่ได้มีข้อห้ามไว้ ตนเป็นเจ้าของบริษัทอยู่ขณะนั้น เมื่อตนเป็นโฆษกรัฐบาลสักระยะก็ลาออกจากกรรมการแต่ยังถือหุ้นอยู่ ส่วนพี่สะใภ้ตนเป็นผู้บริหาร ตนไม่ได้ยุ่งอะไรเลย ส่วนจำนวนงานและจำนวนเงินเท่าไรนั้น ตนจำไม่ได้ ยืนยันว่าดำเนินงานตามปกติ

"ไม่ใช่ว่าได้งานในช่วงเป็นโฆษกรัฐบาล และตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ร่างออกมาแล้วก็มีประเด็นเรื่องที่รัฐมนตรีไม่ควรถือหุ้นในสื่อ แม้ผมจะไม่ได้นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีและรัฐธรรมนูญบอกว่าให้ทำได้ มันก็อาจไม่เหมาะสมจึงลาออกการเป็นโฆษกรัฐบาล" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว

สปช.นัดถกด่วน 27 ต.ค.

ที่รัฐสภา นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 กล่าวว่า วาระการประชุม สนช.ในวันที่ 30 ต.ค. จะพิจารณาสรรหาสมาชิกสนช. 5 คน ทำหน้าที่ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกสามารถแสดงความจำนงภายในวันที่ 28 ต.ค. จากนั้นจะนำเข้าหารือในที่ประชุม วิปสนช.ในวันเดียวกัน พร้อมร่างกฎหมายต่างๆตามที่ครม.เสนอ ทั้งนี้ หากมีสมาชิกแสดงความจำนงทำหน้าที่ในกมธ.ยกร่างฯมากกว่า 5 คน จะคัดเลือกเบื้องต้นก่อนเสนอชื่อต่อที่ประชุมใหญ่ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิ์การเสนอชื่อสมาชิกคนอื่นๆ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ศผ (สปช)0015/2 เชิญสมาชิกสปช.เข้าร่วมประชุมในวันที่ 27 ต.ค. เวลา 10.00 น. มีวาระพิจารณารายงาน ของคณะกรรมาธิการกิจการสปช.ชั่วคราว (วิปสปช.) 2 เรื่อง กรณีแนวทางการสรรหากรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญจากผู้ซึ่งสปช.เสนอ 20 คน รวมถึงการกำหนดวันและเวลาการประชุมสปช.อย่างถาวร

นายวุฒิสาร ตันไชย สมาชิก สปช. กล่าวถึงกรณีได้รับทาบทามให้เป็นกมธ.ยกร่างฯว่า ยอมรับว่ามีคนใน สปช. และกลุ่มที่ทำงานด้านท้องถิ่น อยากเห็นตนเป็นกมธ.ยกร่างฯ เพื่อผลักดันการปฏิรูปในส่วนของท้องถิ่น 

40 ส.ว.ยี้นักการเมืองร่วมร่างรธน.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. กล่าวถึงสัดส่วนกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของด้านการเมืองว่า บุคคลที่สนใจเป็นกมธ.ยกร่างฯมี ตน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายชูชัย ศุภวงศ์ นายอมร วาณิชวิวัฒน์และนางตรึงใจ บูรณสมภพ แต่ยังไม่มีมติว่าจะส่งใคร ทั้งนี้ได้หารือกับเพื่อนสมาชิกเพื่อกำหนดท่าทีในประเด็นที่วิปสปช. ชั่วคราว มีมติใช้สัดส่วนสปช. 15 คน และบุคคลภายนอก 5 คน เป็นกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งเพื่อนสมาชิกไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว เนื่องจากขัดกับหลักการ ดังนั้นในการประชุมสปช.วันที่ 27 ต.ค.นี้ วาระสำคัญเร่งด่วนเป็นการเร่งสรรหาบุคคลทำหน้าที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการอภิปรายและยื่นญัตติให้มีการลงมติในที่ประชุมใหญ่ นอกจากนั้นยังไม่เห็นด้วยที่จะให้นักการเมืองเข้าร่วมในสัดส่วนคนนอก 5 คน

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปช. กล่าวถึงข้อเสนอให้มีคนนอกร่วมเป็นกมธ. ยกร่างฯในสัดส่วนสปช. 5 คนว่า สมาชิกต้องหารือกันว่ามีเหตุผลอะไรที่ต้องมีคนนอกเข้าร่วมด้วย เพราะคนนอกมีสัดส่วนจากรัฐบาล. สนช. และคสช.กลุ่มละ 5 คนอยู่แล้ว หากจะบอกว่าเพื่อเปิดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พรรคการเมืองที่ไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก คงเป็นไปไม่ได้เพราะคนเหล่านี้ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นกมธ.ยกร่างฯ ดังนั้นสมาชิกคงต้องหารือเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ก่อนสรรหา จึงขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะตัดสินใจ 

พท.ยัน"ปู"ไม่มีแผนไปอินเดีย

นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงข่าวการนำทีมทนายเดินทางไปพร้อมน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือเตรียมสู้คดีรับจำนำข้าวว่า เป็นข่าวคลาดเคลื่อน ตนแค่ไปส่ง รวมถึงข่าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะไปทำบุญที่อินเดีย พร้อมกับอดีตรัฐมนตรีและส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้เปลี่ยนใจเพราะคสช.เพ่งเล็ง แต่ไม่มีแผนไปอินเดียตั้งแต่แรกแล้ว ที่ไปญี่ปุ่นเพราะเป็นช่วงปิดเทอมของ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร ที่อยากไปเที่ยวพักผ่อน และไปพบกับพ.ต.ท.ทักษิณตามประสาพี่น้อง ไม่มีเรื่องอื่น ทุกอย่างเป็นไปตามโปรแกรมที่น.ส.ยิ่งลักษณ์แจ้งขอคสช.ไปญี่ปุ่นและจีนเท่านั้น ไม่มีการขอไปอินเดีย 

นายพิชิตกล่าวว่า ส่วนจีนจะไปเมืองปักกิ่งและกวางโจว และเดินทางกลับตามที่แจ้งไว้ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่ทำอะไรที่นอกเหนือจากที่แจ้งไว้กับคสช. ดังนั้น การที่มีบางฝ่ายพยายามโจมตีว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากส.ส.ที่เดินทางไปจึงไม่เป็นความจริง ยืนยันว่ากำหนดการเดิมไม่มีแต่แรกแล้ว ส่วนคดีจำนำข้าวถ้ามีความคืบหน้าอะไรจะรายงานปกติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุดกับป.ป.ช. และก่อนเดินทางก็ไม่ได้พูดคุยเรื่องคดีเพราะเห็นว่าอดีตนายกฯ ไปพักผ่อน คงไม่พูดอะไรที่ทำให้การเดินทางไม่สนุก 

รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำหนังสือขอ คสช.ไปต่างประเทศ มีรายละเอียดชัดเจน วัตถุประสงค์เพื่อพาด.ช.ศุภเสกข์ ไปพักผ่อนช่วงปิดเทอมซึ่งมีทั้งญี่ปุ่นและจีน ไม่มีการปรับแผนการเดินทางตามที่เป็นข่าว ส่วนกำหนดกลับของน.ส. ยิ่งลักษณ์ระบุชัดเจนให้คสช.ทราบแล้วว่าเป็นในช่วงต้นเดือนพ.ย. ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมเดินทางกลับตามกำหนดเวลาที่ยื่นขอไว้

"รัชตะ"โต้ลือขัดแย้งปลัดสธ.

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงความขัดแย้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณระหว่างสปสช.และสป.สธ. ที่ถูกมองว่ามาจากปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ว่า ตั้งแต่เข้ามารับงานก็ทราบว่า มีความเห็นที่ไม่ตรงกันอยู่แล้ว คงไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีความเห็นที่แตกต่างกันในเชิงกลไกการจัดสรรเงินมาที่หน่วยบริการ สธ.อยากให้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งความคล่องตัวก็จะทำให้จัดบริการได้ดีขึ้น โดยที่สปสช.ก็รับฟังในเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยไตรมาสแรก ปี 2558 ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทัน แต่ตนได้กำชับว่าภายใน 2 เดือนต้องชัดเจน ซึ่งจากเดิมที่ลงมาหน่วยบริการ 30% ก็เพิ่มเป็น 80% 

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองไม่สามารถทำงานร่วมกับฝ่ายข้าราชการประจำโดยเฉพาะปลัดกระทรวงได้นั้น นพ.รัชตะกล่าวว่า ยังทำงานร่วมกันอยู่ ทำงานเพื่อประชาชน ย้อนหลังกลับไปในการประชุมกระทรวงทุกคนก็มาพร้อมหน้าพร้อมตา กำหนดนโยบายเชิงปฏิบัติร่วมกัน 

นพ.รัชตะยังกล่าวถึงข่าวลือว่าอาจจะปลด นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ตนไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย ขณะนี้ข่าวลือในกระทรวงเยอะ ขอให้หลักแน่นในการพิจารณาข่าวสารต่างๆ พินิจพิเคราะห์ด้วยจิตใจหลักแน่นรอบด้าน ไม่ใช่ใครปล่อยข่าวอะไรมาก็จะเชื่อไปหมด 

สปช.ตั้ง16กมธ.วางแนวปฏิรูป

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่รัฐสภา นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสปช. ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุมสปช. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปถึงการตั้งกมธ.สามัญประจำสปช. 16 คณะ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์จัดทำแนวทางปฏิรูปในด้านต่างๆ คือ 1.กมธ.ปฏิรูปการเมือง 2.กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน 3.กมธ.ปฏิรูปกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม 4.กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น 5.กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 6.กมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ 7.กมธ.ปฏิรูปการเกษตรและการแรงงาน 8.กมธ.ปฏิรูปพลังงาน 9.กมธ.การปฏิรูประบบสาธารณสุข 10.กมธ.ปฏิรูปสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

11.กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 12.กมธ.ปฏิรูปสังคม 13.กมธ.ปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม ธรรมภิบาลและค่านิยม 14.กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและการแก้ไขทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐและเอกชน 15กมธ.ปฏิรูปกิจการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ของชาติ และ 16. กมธ.ปฏิรูปขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งบุคคลที่จะร่วมเป็นกมธ.สามัญทั้ง 16 คณะนี้ ต้องเป็น สปช.เท่านั้น แต่ละคณะจะมีไม่น้อยกว่า 13 คน แต่ไม่เกิน 29 คน

นายบุญเลิศกล่าวว่า ที่ประชุมยังตั้งกมธ.วิสามัญ อีก 5 คณะ เปิดให้บุคคลภายนอกร่วมเป็นกมธ.ได้ ประกอบด้วย 1.กมธ.วิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2.กมธ.วิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และรูปแบบอนาคตประเทศไทย 3.กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน 4.กมธ.วิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนประจำจังหวัด และ 5.กมธ.วิสามัญสื่อสาธารณะ และการประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุมสปช. จะเร่งจัดทำให้เสร็จภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สปช.พิจารณาภายในสัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะบังคับใช้ได้ในต้นเดือน พ.ย.นี้ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!