WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สปช.สายตจว.รวมพลัง ชิงโควต้า เก้าอี้ 20 กมธ.ยกร่างรธน.ปิดทาง 5 คนนอกร่วม 'สนช.'นัดเคาะ 28 ตุลา ผ่าน"พรบ.ตั้งศาลปค.''บิ๊กป๊อก'ลุยอปท.โกง'ปู-แม้ว'ชื่นมื่นที่ญี่ปุ่น


ชื่นมื่น -พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รับประทานอาหารร่วมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ด.ช.ศุภเศกข์ อมรฉัตร บุตรชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 

ร่วมถก - นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธานสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภา สปช.ชั่วคราว นัดแรก ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม

      สนช.ผ่าน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองแล้ว 'บิ๊กอู้'นั่ง ปธ.กมธ.ยกร่างข้อบังคับ สปช. 'บิ๊กป๊อก'ส่งทีมมหาดไทยตรวจทุจริต 7 หมื่น อปท.ทั่วประเทศ

'เทียนฉาย'ไม่โต้จุฬาคอนเน็กชั่น

     เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภา สปช. (วิปฯ) ชั่วคราว ถึงกรอบการทำงานของประธาน สปช.ว่า จะเดินตามกรอบที่วางไว้ จะพยายามทำให้ภารกิจเป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุผลสำเร็จ รวมทั้งเงื่อนเวลา ส่วนภาพที่ออกมาว่าประธานและรองประธาน สปช. เป็นจุฬาฯคอนเน็กชั่นนั้น ไม่ขอชี้แจง เพราะบุคคลรุ่นเดียวกับตนก็มาจากมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่ง ดังนั้นอาจเป็นกรอบจำกัด แต่หากมองผลในขณะนี้ว่าเป็นผู้ที่ศึกษาจากสถาบันเดียวกันก็เป็นข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่ความผิดอะไร และสถาบันไม่ใช่เหตุในการพิจารณาตัวบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ประธาน สปช. ตนและเพื่อนร่วมงานใน สปช. ไม่ว่าจะมาจากสถาบันไหน จุดหมายคือประเทศไทย กำลังสวมเสื้อประเทศไทย ไม่มีสีถ้าจะมีสีก็สีธงชาติ

เล็งดึงคนนอกเข้าร่วมกมธ.

      ส่วนกรณีถูกมองว่าประธานและรองประธาน สปช. มีการล็อกสเปกล่วงหน้าจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาแล้ว นายเทียนฉายกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ได้ยินข่าวนี้ตั้งแต่วันแรกที่มีชื่อว่าจะถูกเสนอ ถือว่าเป็นเรื่องแปลกดี ทั้งที่เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ก็เป็นการทาบทามครั้งแรก ส่วนที่นายชัย ชิดชอบ สปช.ด้านการเมือง เป็นผู้เสนอชื่อดำรงตำแหน่งประธานนั้น ไม่ทราบประเด็นดลใจของนายชัย ที่ผ่านมาไม่เคยรู้จักนายชัยเป็นการส่วนตัว เพราะอยู่คนละเส้นทาง นายชัยเป็นนักการเมือง ส่วนตนเป็นอาจารย์ แต่ที่ผ่านมาก็เคยเจอนายชัยในการประชุมคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯรายจ่ายประจำปี เพราะนายชัยเป็น กมธ.ในคณะนั้นด้วย

      นายเทียนฉาย กล่าวว่า กรอบเวลาปฏิรูปเพียง 1 ปี ต้องคุยกันในวิป สปช.ชั่วคราวก่อนว่าจะประชุมแบ่งงานกันอย่างไร หากไม่แล้วเสร็จจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 ตุลาคม ส่วนการปฏิรูปทั้ง 10 ด้าน คสช.ระบุไว้ว่าคือที่มาของการได้มาซึ่งคณะปฏิรูป แต่เมื่อทำงานจริงต้องพิจารณาด้านต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง เพราะถึงเวลาสมาชิกต้องช่วยกันทำงานปฏิรูปมากกว่า 1 ด้าน และเมื่อดูสมาชิกทั้ง 250 คนแล้ว ต้องมีบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยในส่วนของ กมธ. เพราะยังมีผู้มีความรู้อีกมากไม่ได้เข้ามาเป็น สปช. อาจต้องเปิดให้บุคคลภายนอก ทั้งที่เคยสมัครแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็น สปช. และผู้รู้อื่นๆ เข้ามาร่วมทำงานด้วย 

รับปากทำงานอย่างอิสระ

     สำหรับ การประชุม สปช.นัดแรกที่มีการมองว่ามีบรรยากาศวุ่นวายนั้น นายเทียนฉายกล่าวว่า ไม่วุ่นวาย แต่มีการเสนอความเห็นแบบกว้างขวางมาก ต้องขอชื่นชม นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในที่ประชุม ทำหน้าที่ได้ดีมาก โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้สมาชิก ได้แสดงความเห็นอย่างเปิดเผย ส่วนหลังจากนี้จะให้คำมั่นกับสังคมในการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางหรืออิสระอย่างไรนั้น คิดว่าคำมั่นถ้าแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ตนให้ได้เลย แต่หากเป็นคำสัญญาต้องระวัง เพราะในความตั้งใจและความปรารถนา ตั้งใจเต็มที่เพราะไม่อยากเห็นประชาชนผิดหวัง แต่ระหว่างทางอาจจะมีอะไรเกิดขึ้น ทั้งภัยธรรมชาติและภัยการเมือง ก็ถือเป็นอุปสรรค ภารกิจของ สปช.ส่วนหนึ่งต้องทำให้ความขัดแย้งลดลง สร้างความสามัคคีปรองดอง ให้บรรลุเป้าหมายไปให้ได้ ยืนยันว่าจะมีความอิสระในการทำงานอย่างแน่นอน 

ยึดตามกรอบป.ป.ช.ไม่ยื่นบัญชี

       เมื่อถามว่า แนวทางการสร้างความปรองดองของ สปช. จะถือเป็นกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญจะมี 2 ประเด็นคือ นอกจากร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะมีกรรมาธิการติดตามและให้ข้อเสนอแนะระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญ สปช.จะส่งคนเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน แต่อีกประเด็นหนึ่งคือ การปฏิรูปจะทำให้ความขัดแย้งสลาย จะเป็นวิธีใด ขอหารือกับสมาชิกก่อน เพราะเป้าหมายของการร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องลึกซึ้ง 

     นายเทียนฉาย กล่าวกรณี ป.ป.ช.มีมติให้ สปช.ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน คิดว่า ป.ป.ช.ทำหน้าที่ตามกฎหมาย การพิจารณาว่าบุคคลใดจะยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินบ้าง ส่วนกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินศาลปกครองเคยมีคำวินิจฉัยกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เพราะเป็นบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายคือ ป.ป.ช. ควรยึดตามกรอบที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยดีกว่า ไม่เช่นนั้นจะมีผู้ออกมาตัดสินอีกหลายคน จะทำให้การตัดสินเป็นไปได้ยาก ขอยืนตาม ป.ป.ช. แต่หากจะให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้นก็ไม่มีปัญหา เพราะเคยยื่นมาแล้ว 16 ครั้ง

วิปสปช.เคาะ 20 กมธ.ยกร่าง

       นายเทียนฉาย กล่าวภายหลังการประชุมวิป สปช.ชั่วคราวนัดแรกว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเรื่องการแต่งตั้งคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วน สปช. 15 คน เป็นบุคคลภายนอกอีก 5 คน จะนำมติดังกล่าวแจ้งต่อที่ประชุม สปช.วันที่ 27 ตุลาคมนี้

      เวลา 10.00 น. เพื่อให้สมาชิกให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ เมื่อที่ประชุมเห็นชอบแล้ว ก็จะให้ สปช.ทั้ง 11 ด้าน และ 4 ภาค ไปประชุมเพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างฯ แต่ละสาขาสามารถเสนอชื่อได้มากกว่า 1 คน วิป สปช.จะให้สมัครแสดงความจำนงเป็น กมธ.ยกร่าง ก่อนที่ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ จะประชุม สปช.เพื่อลงมติรับรองรายชื่อบุคคลที่จะเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างต่อไป

     นายเทียนฉาย กล่าวว่า สำหรับบุคคลภายนอก 5 คนนั้น วิป สปช.จะพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช.ต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน คุณสมบัติคนนอกนั้นคงจะประมวลรายชื่อด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง จะไม่เปิดรับสมัครและคัดกรองเปรียบเทียบความเหมาะสม ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญกำหนด และต้องอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ที่มายกร่างไม่มีสิทธิทำงานด้านการเมืองเป็นเวลา 2 ปี การนำคนนอกเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่าง เพื่อต้องการให้เกิดความหลากหลายในการปฏิรูป ยังมีผู้รู้ที่ไม่ได้ถูกรับเชิญมาเป็น สปช. และอยู่ในวงการอื่น ไม่สันทัดในการเสนอตัวเป็น สปช. รวมถึงพรรคการเมืองและประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นต่าง ไม่เห็นด้วยกับขบวนการ สปช.ตั้งแต่ต้น ก็จะใช้โอกาสนี้เชิญเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว

'เทียนฉาย'นั่งปธ.วิปสปช.เอง

       "คนนอกทั้ง 5 คน จะต้องมีคุณสมบัติไม่ซ้ำซ้อนกับตัวแทน สปช.ทั้ง 15 คน คนที่เข้ามาอาจไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย หรือผู้ที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน แต่อาจใช้ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมาช่วย โดยไม่ต้องเป็น กมธ.ยกร่างก็ได้ ยืนยันว่าบุคคลที่จะเข้ามาคงไม่ได้เป็นคนกลุ่มสีหรือขั้วการเมือง เพราะเชื่อว่าขณะนี้ไม่มีแล้ว มีแต่กลุ่มที่มีความเห็นหลากหลายเข้ามาร่วมทำงานครั้งนี้" นายเทียนฉายกล่าว

      นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ด้านพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเลือกให้นายเทียนฉายเป็นประธานวิป สปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธานวิป สปช. ส่วนตนเป็นเลขานุการวิป สปช. และนายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิป สปช.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมร่วมกันของ คสช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 4 พฤศจิกายน เพื่อคัดเลือกคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของ คสช. 5 คน และประธาน กมธ.ยกร่างฯ 1 คน ครม. 5 คนนั้น เพื่อให้ สปช.และ สนช.ได้ส่งรายชื่อผู้จะมาเป็น กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 25 คนก่อน เพื่อให้มีบุคคลที่จะมาเป็น กมธ.ยกร่างฯ ไม่ซ้ำซ้อนกัน 

'บิ๊กอู้'นั่งปธ.ยกร่างข้อบังคับ

      ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะ กมธ.พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สปช. โดยนายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ สปช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมชั่วคราว ในฐานะผู้มีอาวุโสสูงสุด มีวาระเลือกประธาน รองประธาน และตำแหน่งอื่นๆ ที่ประชุมได้มีมติให้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธานคณะ กมธ. นายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นรองประธานคณะ กมธ.คนที่ 1 นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นรองประธานคณะ กมธ.คนที่ 2 พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ เป็นเลขานุการคณะ กมธ. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช เป็นโฆษกคณะ กมธ. และนางสีลาภรณ์ บัวสาย เป็นรองโฆษกคณะ กมธ.

       พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการร่างข้อบังคับการประชุม สปช. ให้แล้วเสร็จตามกรอบภายใน 15 วัน จะประชุมทุกวันพุธและวันศุกร์ เวลา 09.30 น. คาดว่าจะร่างข้อบังคับเสร็จวันที่ 29 ตุลาคม และวันที่ 31 ตุลาคม อาจจะเชิญสมาชิก สปช.เข้าร่วมประชุม เพื่อให้ข้อเสนอแนะการยกร่างข้อบังคับเพิ่มเติม หากไม่มีแก้ไข ก็จะสรุปรายงานและเสนอต่อประธาน สปช. เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 4 พฤศจิกายน อยากให้ที่ประชุมตั้งคณะ กมธ.เต็มสภาในการพิจารณาวาระ 2 เพื่อให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมพิจารณา แต่สิ่งที่กังวลคือหลังร่างข้อบังคับการประชุมผ่านความเห็นชอบ 3 วาระ ต้องตั้งคณะ กมธ.สามัญ 15 คณะ และคณะกรรมาธิการวิสามัญ 1 คณะ ต้องคัดสรรสมาชิกมาทำหน้าที่ อาจใช้เวลามาก อยากให้กำหนดกรอบเวลาภายใน 30 วัน เพื่อให้เกิดการเดินหน้าแนวทางปฏิรูปได้มากที่สุด

สปช.รวมกลุ่มภาคกลาง-อีสาน

      นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช. กล่าวว่า สปช.ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าใครจะเป็นคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คงอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วน สปช.จังหวัดสายภาคกลางมีการพูดคุยกันและเสนอตน แต่ได้ขอถอนตัว เพราะหากไปลงตรงนั้น จะถูกตัดสิทธิลงเลือกตั้งไม่ได้ เนื่องจากอยู่ข้างนอกช่วยได้มากกว่า สปช.สายจังหวัดไม่ได้มีการตกลงกับ สปช.สรรหาทั้ง 11 ด้าน และไม่ได้แบ่งเป็นกลุ่ม แต่เป็น สปช.ทั้งหมด ให้ทุกคนเสนอตัวได้ เพียงแต่กลุ่มภาคกลางเลือกตน และได้ขอถอนตัว ในส่วน สปช.จะส่งชื่อภายในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ในกลุ่มจังหวัดมีการคุยกันคร่าวๆ ว่าจะเสนอนายประชา เตรัตน์ สปช.ชลบุรี ไม่รู้เขาจะรับหรือไม่ แต่มีคนอยากรับเพียงแต่ยังไม่ได้คุยกัน

        นายดิเรก กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าหากมีการรวมกลุ่มจังหวัดกันติดจะได้รับเลือกกี่คน เรื่องนี้ไม่เป็นโควต้า สปช.ทั้ง 250 คน คัดมา 20 คน แล้วโหวตกันในสภา ถ้าสมัครเกิน 20 คน ต้องใช้มติสภาเลือก เชื่อว่าสมัครกันเกิน 50 คน เพราะมีคนอยากเป็น ไม่เป็นโควต้าของใครทั้งสิ้น จะมี 11 ด้านหรือจังหวัดไม่เกี่ยว ทุกคนมีสิทธิเสนอมา รวมทั้งคนที่อยากเป็นสามารถสมัครได้ 

       นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ขณะนี้มีการรวมกลุ่ม สปช.จากภาคอีสานได้เพียง 50% เท่านั้น แต่ยังไม่มีการต่อรองโควต้าจากสัดส่วน สปช. ตัวแทนจังหวัดและตัวแทนจาก สปช. 11 ด้านในภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกรณีตัวแทน สปช.จากกลุ่ม 40 ส.ว. เสนอตัวเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้เข้าไปทำหน้าที่กรรมาธิการฯต้องเป็นกลาง ไม่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง เพื่อสร้างปัญหาใหม่ในการปฏิรูปประเทศจะทำให้ความขัดแย้งไม่จบในระยะสั้น 

'ดิเรก'ค้านเลือกนายกฯโดยตรง

       นายดิเรก กล่าวเพิ่มเติมถึงการถกเถียงถึงที่มาของตัวนายกรัฐมนตรีว่าควรจะเปลี่ยนมาเป็นจากการเลือกตั้งโดยตรงว่า กระบวนการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบเดิมนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่เวลานี้มีคนคิดและเสนอเพิ่มว่าหากนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะมีหลายคนต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง คำถามคือว่านายกรัฐมนตรีจะมาด้วยรูปแบบใดนั้นมันไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาเกิดจากคนไม่เข้าใจฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ขัดข้องหากจะเลือกใช้วิธีใหม่ แต่ยืนยันว่าเมื่อฐานการเมืองยังไม่ดี ก็ไม่เห็นด้วยหากจะเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงหรือไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะจะเหมือนกับเป็นการเลือกประธานาธิบดีเกินไป ถ้าจะมาจากเลือกตั้งโดยตรงก็ควรสังกัดพรรคการเมือง

ปธ.แจ้งสนช.รับเอกสารถอดถอน

       ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุม สนช. ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระประชุม นายสุรชัยได้แจ้งสมาชิก สนช.ให้รับเอกสารสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เรื่องที่มา ส.ว. ได้ที่เจ้าหน้าที่ห้อง 102 อาคารรัฐสภา 2 นอกจากนี้ นายสุรชัยแจ้งให้สมาชิก สนช. ที่ต้องการทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วน สนช. 5 คน ให้แจ้งฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช.(วิป สนช.) ตั้งแต่วันที่ 22-28 ตุลาคม เวลา12.00 น. เนื่องจากช่วงบ่ายวันที่ 28 ตุลาคม จะมีการประชุมวิป สนช. เพื่อพิจารณารายชื่อ

ถกพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง 

      หลังจากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง วาระ 2 และ 3 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. ในฐานะประธาน กมธ.ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า คณะ กมธ.ได้มีการแก้ไขร่างฯทั้งหมด 8 มาตรา และตัดออก 1 มาตรา จากการพิจารณาของคณะ กมธ.วิสามัญที่มีบุคคลภายนอกทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ร่วมกันพิจารณา เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นภายในศาลปกครองด้วยเหตุและผล 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเป็นรายมาตรา และที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบตามความที่คณะ กมธ.เสียงข้างมากมีการแก้ไข กระทั่งเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 12 กำหนดให้ดำเนินการเลือกกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (กศป.) ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับตั้งแต่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ คณะ กมธ.เสียงข้างมากมีมติให้ตัดออกทั้งมาตรา แต่นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสุงสุด ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็นเพื่อขออภิปรายต่อที่ประชุม เพราะต้องการให้คงมาตรา 12 ไว้ 

กมธ.เสียงข้างน้อยค้านตัดกศป.

      นายวิชัยอภิปรายว่า องค์ประกอบ กศป.เป็นการบัญญติใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯเป็นครั้งแรก เพราะไม่เคยมีการระบุไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯมาก่อน ดังนั้นองค์ประกอบของ กศป.จะกำหนดขึ้นมาใหม่ตามร่างฯที่สภารับหลักการ และกำลังพิจารณากันอยู่นี้ ก็ควรมีกำหนดให้การเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดด้วย ดังนั้นการตัดมาตรา 12 ออกทั้งมาตราน่าจะไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันองค์ประกอบของ กศป.มีอยู่ไม่ครบตามจำนวน เพราะสัดส่วนจากวุฒิสภาและ ครม.หมดวาระลงไปแล้ว ก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 จะสิ้นสุดลง และต้องเลือกตั้งใหม่อยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อให้ กศป.ทำหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน จึงน่าจะเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวบังคับใช้ไปแล้ว 

ไฟเขียวตามกมธ.ข้างมาก

       นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ร่างฯเดิมสภามีมติรับหลักการไปนั้น ยกเลิก กศป.ทั้งหมด และจะตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ในระหว่างตั้งขึ้นใหม่นั้น ได้ให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลปกครองเข้าไปทำหน้าที่แทน คณะ กมธ.ได้มองเห็นว่า กศป.ชุดนี้ยังเหลือวาระอยู่นั้น จะอยู่ถึงวันที่ 19 เมษายน 2558 หรืออีกราว 6 เดือนเท่านั้น จะต้องหมดวาระไปด้วย เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เป็นการลิดรอนสิทธิ กศป.ที่ยังอยู่ในวาระ อย่างไรก็ตาม การที่คณะ กมธ.ตัดมาตรา 12 เพราะต้องการให้ กศป.อยู่ต่อไป จนกว่าจะครบวาระ และเมื่ออยู่ครบวาระแล้ว ทาง กมธ.ก็เขียนวิธีการคัดเลือก กศป.ที่ว่างลงรองรับไว้ในมาตรา 13 ของร่างฯฉบับนี้แล้วจึงไม่น่าจะเป็นปัญหา 

       ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่คณะ กมธ.เสียงข้างมากแก้ไขทุกมาตรา หลังจากที่ประชุมอภิปรายราว 2 ชั่วโมง ในที่สุดมีมติในวาระ 3 เห็นชอบ 169 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียงให้บังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ นั้น ตุลาการศาลปกครอง 101 คน เข้าชื่อเพื่อทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เพื่อขอให้ระงับหรือชะลอการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ผ่านรับความคิดเห็นของตุลาการศาลปกครอง กระทั่งนายพรเพชรเปิดให้ตุลาการฝ่ายที่เห็นต่างและเห็นด้วยกับร่างฯฝ่ายละ 2 คนเข้าร่วมเป็น กมธ.เพื่อพิจารณาด้วย และที่ประชุมเสียงข้างมากได้มีมติแก้ไขร่างฯและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในที่สุด

อดีตส.ว.หนุนศึกษาปมถอดถอน 

      นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอให้ สนช.ตั้งคณะกรรมการศึกษาสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์

      อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เพื่อความถูกต้องของข้อกฎหมาย ว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะการถอดถอนจำเป็นต้องมีความรอบคอบและต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกชี้มูลด้วย อยากให้ สนช.ศึกษายุทธศาสตร์ของ คสช.ด้วยว่ามีเป้าหมายอย่างไร ผ่านการประเมินว่า หากถอดถอนแล้วจะเกิดผลอย่างไร หรือหากไม่ถอดถอนแล้วจะเกิดผลอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หากถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสมศักดิ์ นายนิคม ตลอดจนถึง ส.ส.และ ส.ว.อีก 300 กว่าคน จะทำให้ประชาชนที่เลือกผู้แทนเหล่านั้นเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน ประเด็นนี้มีน้ำหนักและอ่อนไหว จะทำให้คนคล้อยตามได้ง่าย อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของ คสช.ได้

     "อยากให้ สนช.สายทหาร ดูแล สนช.สายอดีตกลุ่ม ส.ว.หนึ่งในคู่ขัดแย้งก่อนการรัฐประหาร ให้แสดงความคิดเห็นให้น้อยลง แล้วให้ สนช.ที่มีความเป็นกลางออกมาแสดงความคิดเห็นให้ข้อมูลกับประชาชนแทน เพื่อความยุติธรรมและเพื่อไม่ให้ความปรารถนาดีของ คสช. ถูกทำลาย" นายสิงห์ชัยกล่าว

ไอพียูรับรองสมาชิกภาพสนช.

       นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล สมาชิก สนช.และคณะ กมธ. การต่างประเทศ สนช. ในฐานะหนึ่งในผู้แทนไทยเดินทางไปประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภาหรือไอพียู ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคมที่ผ่านมา แถลงว่า คณะมนตรีแห่งรัฐสภาสากลมีมติเอกฉันท์ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติของไทยดำรงสิทธิสมาชิกภาพของไอพียูโดยสมบูรณ์ เนื่องจากทีมงานรัฐสภาและกระทรวงการต่างประเทศ ได้ช่วยเดินสายล็อบบี้สมาชิก 16 ประเทศ ชี้แจงว่าไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมนำเสนอโรดแมปการดำเนินงานของ คสช. กำหนดกรอบวันเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจน สมาชิกทั้ง 16 ประเทศ เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต่างจากการรัฐประหารปี 2549 สนช.ชุดนั้นมีเวลาเตรียมการอธิบายต่อสมาชิกไอพียูเพียงแค่ 1 เดือน ทำให้ไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมประชุม

      นายวีระศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมไอพียูไม่ได้แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ประเทศไทย เพราะมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ขอให้จัดเลือกตั้งให้เป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ เนื่องจากนิยามของการเป็นสมาชิกไอพียู มี 3 ข้อ คือ 1.สมาชิกรัฐสภาต้องมาจากกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ ไม่ได้กำหนดว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง 2.ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย และ 3.ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร นอกจากนี้ ที่ประชุมไอพียูได้มีการมอบหนังสือเรื่อง ฟรีแอนด์ แฟร์ อีเลคชั่นส์ (FREE AND FAIR ELECTIONS) เกี่ยวกับมาตรฐานสากลสำหรับการจัดการเลือกตั้งที่อิสระเสรีและมีความเป็นธรรม จะนำหนังสือมาแปลเป็นฉบับภาษาไทย มาแจกสมาชิก สนช.และสมาชิก สปช.ที่ต้องการนำไปศึกษา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ ไม่จำเป็นต้องทำตามทุกอย่าง เพียงแค่นำมาเปรียบเทียบและทำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความชอบธรรมก็พอ 

'บิ๊กป๊อก'ส่งทีมตรวจทุจริตอปท.

       พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. ได้แถลงสรุปเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้นกับองค์กรปกครองท้องถิน (อปท.) และกรมที่ดินในปีที่ผ่านมามีจำนวนเรื่องร้องเรียนทุจริตติดอันดับว่า กระทรวงจะส่งคณะกรรมการที่มีผู้ตรวจราชการกระทรวงร่วมกับคณะทำงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ไปกำกับดูแลการใช้งบประมาณของ อปท.นอกเหนือไปจากการดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ดูแลอยู่แล้ว โดยจะลงไปดูว่า อปท.ได้ทำตามแผนงานที่เสนอไว้และทำตามกฎระเบียบหรือไม่ เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้การทุจริตลดน้อยลง 

      "จะพยายามดูให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด เพราะ อปท.มีมากกว่า 70,000 แห่ง เป็นเรื่องที่ดีที่มีการร้องเรียนมา เมื่อพบทุจริตเกิดขึ้นต้องดำเนินการตามกฎหมาย การร้องเรียนทำได้ทุกทางจะร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรม หรือร้องมาที่กระทรวงโดยตรง หรือร้อง ป.ป.ช.ก็ได้ จะได้ตรวจสอบการมีกรรมการตรวจสอบเป็นสิ่งเติมเต็มให้การตรวจสอบสมบรูณ์มากขึ้นจะได้ดำเนินการกับคนผิดเพื่อป้องกันไม่ให้มีคนกล้าโกงอีก" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว 

สอบวิสัยทัศน์ว่าที่ 18 ผู้ว่าฯ

       ส่วนกรณีเรื่องทุจริตของกรมที่ดิน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ตามที่ได้มอบนโยบายแล้วว่าทุกเรื่องจะต้องทำให้ถูกกฎหมาย ปัญหาที่พบมากที่สุดคือที่ดิน ที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นจะมีการตรวจสอบ ถ้ามีความผิดเกิดขึ้นจะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง

      ส่วนกรณีจะมีการเสนอเรื่องนี้ให้ สปช.กำหนดเป็นประเด็นปฏิรูปด้วยหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นเรื่องดีจะเสนอเรื่องนี้ให้ สปช.พิจารณา แต่ขอให้ สปช.ได้มีความพร้อมในการทำงานชัดเจนกว่านี้ก่อน 

       พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับผู้บริหารสูงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบวิสัยทัศน์ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ว่างจำนวน 18 ราย และผู้ตรวจราชการกระทรวง 4 ราย หากคณะกรรมการพิจารณาเสร็จทำจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า 

อัยการชี้สำนวนคดีข้าวยังไม่เสร็จ

       นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานอัยการคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้ากรณีตั้งคณะทำงานประชุมร่วมกันระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช. การพิจารณาความไม่สมบูรณ์ของสำนวนคดีว่า ขณะนี้กระบวนการพิจารณายังไม่เสร็จสมบูรณ์ สำนวนคดีดังกล่าวยังมีข้อไม่สมบูรณ์หลายประเด็น ส่วนกรอบระยะเวลา 14 วัน เป็นเพียงกรอบระยะเวลาในการเร่งรัดเท่านั้น คงไม่มีผลต่อการพิจารณาคดี ถึงแม้จะเลยกรอบระยะเวลามาแล้วก็ตาม หากคณะทำงานร่วมมีความเห็นสั่งฟ้องก็ยังสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ คงจะต้องรอติดตามความคืบหน้าในการประชุมครั้งถัดไป ทางคณะทำงานร่วมได้นัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ 

ป.ป.ช.เผยสอบทรัพย์สิน 5 รมต. 

      นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรี 5 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าในการตรวจสอบไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ระหว่างการเรียบเรียงข้อมูล อย่างไรก็ดี ในคดีแบบนี้ ไม่อยากจะไปให้ข่าวแก่สื่อมวลชนมากนัก เนื่องจากยังอยู่ระหว่างนโยบายการปรองดองสมานฉันท์ของ คสช. อาจจะทำให้บางฝ่ายเกิดความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดได้ หากตรวจสอบแล้วพบว่าทรัพย์สินที่เขาได้มานั้นถูกต้อง ป.ป.ช.ก็ต้องยอมรับ

ปชป.สวนทนายปูโต้คดีข้าว 

       นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ อดีตทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี ออกมาตำหนินายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นสุดยอดความชั่วร้ายและมีการจ่ายเงิน 7 แสนล้านบาท เข้ากระเป๋าพรรคพวก เงินส่วนใหญ่ถูกขนถ่ายออกนอกประเทศไปแล้ว เป็นการพูดนอกสำนวนชี้นำสังคมนั้นว่า คิดว่าทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์คงสับสน เนื่องจากติดตามเรื่องนี้มาตลอดทราบว่าคดีรับจำนำข้าวไม่ได้มีแต่คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ป.ป.ช.ไม่ได้กล่าวหาแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทุจริต เพียงแต่ปล่อยปละละเลย สร้างความเสียหายและไม่ระงับยับยั้ง ดังนั้น สิ่งที่นายวิชากล่าวถึงจึงเป็นคนละคดีกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ปล่อยปละละเลย

      ส่วนเรื่องทุจริตเงินเข้ากระเป๋าและขนถ่ายเงินออกนอกประเทศคงหมายถึงคดีระบายข้าวจีทูจีเท็จ จากรายงานข่าวเกี่ยวข้องกับคนมากถึง111 คน ป.ป.ช.ยังไม่ได้ชี้มูล เป็นหน้าที่ที่ ป.ป.ช.จะต้องแจ้งความคืบหน้า และความเสียหายให้ประชาชนทราบเป็นระยะ

'วิชา'โบ้ยข่าวผิดขนเงินซุกนอก

      นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่ออกมาระบุว่ามีการขนเงินจากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวออกนอกประเทศระหว่างการเสวนาที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นการขนเงินที่ได้จากทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวออกนอกประเทศ แต่เป็นการพูดถึงการทุจริตรวมๆ นักข่าวเอาไปเขียนเอง เป็นการเข้าใจผิด

กกต.ไม่สนถูกยุบ-ยันหนุนคสช. 

      ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวภายหลังนายพอล โรบิลเลียด เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เดินทางเข้าเยี่ยมคารวะนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงระบบการเลือกตั้งของสองประเทศที่คล้ายกัน เพราะการจัดระบบการเลือกตั้งของไทยตั้งแต่ปี 2541 ได้ใช้รูปแบบเดียวกันกับออสเตรเลียมีการเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การลงคะแนนโดยใช้บัตรเลือกตั้ง รวมทั้งกฎระเบียบ และข้อกฎหมาย 

      นายภุชงค์ กล่าวถึงกระแสการยุบองค์กรอิสระว่า กระบวนการยกร่างกฎหมายยังคงต้องใช้เวลาและเวลานี้องค์กรอิสระก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องจากหากจะมีการปรับปรุง แก้ไข ก็ขึ้นอยู่กับสภาจะเป็นผู้พิจารณา พร้อมจะดำเนินการตามกฎหมายไม่ว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไร ทางสำนักงานยังได้เตรียมในเรื่องของการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของ กกต.จังหวัด 77 จังหวัดก็พร้อมสนับสนุนการทำงานของ คสช.ที่ได้รับการประสานจากหน่วยงานของกองทัพในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในการจัดกิจกรรม ได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดพร้อมสนับสนุนตั้งแต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ได้รับรายงานทุกเดือนว่าได้รับการประสานในการจัดกิจกรรม โดยส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมด้านจิตวิทยามวลชน

'พายัพ'นำทีมพท.ทำบุญอินเดีย 

      รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งว่า นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร อดีตนายกฯ ได้ชักชวนกลุ่มอดีต ส.ส.ที่สนิทสนมร่วมเดินทางไปทำบุญทอดกฐินสามัคคีร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่วัดป่าพุทธยา เมืองคยา ประเทศอินเดีย ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ภาคอีสานที่สนิทสนมกับนายพายัพ สมัยเป็นประธาน ส.ส.ภาคอีสาน นอกจากนี้วัดป่าพุทธคยาเป็นวัดที่นายพายัพเคยบวช คณะอดีต ส.ส.จะเดินทางไปแบ่งออกเป็นหลายคณะ มีทั้งคณะที่ทยอยเดินทางไปก่อนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคมและคณะที่เดินทางไปในวันงานแบบไปเช้าเย็นกลับในวันที่ 25 ตุลาคม มีการนัดหมายกันในเวลา 06.00 น. เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วยสายการบินไทยสไมล์ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ เวลา 07.50 น. ถึงสนามบินคยา รัฐพิหาร เวลา 09.00 น. เดินทางถึงวัดป่าพุทธคยา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 12.00 น. ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน 13.00 น. พิธีทอดกฐินสามัคคี 14.00 น. ทำทานบารมี-กาลทานแด่ผู้ยากไร้ 14.35 น. เดินทางไปสนามบินคยา เวลา 16.00 น. กลับประเทศไทยโดยสายการบินไทยสไมล์ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ ถึงสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 20.40 น. อย่างไรก็ดีการเดินทางครั้งนี้มีการร้องขอให้ผู้ที่เดินทางไปต้องแต่งกายด้วยชุดขาว โทนสีสุภาพด้วย

'ปู-แม้ว'ปัดร่วมทำบุญอินเดีย

        ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช. เพื่อพาบุตรชายท่องเที่ยวพักผ่อนในช่วงปิดเทอมยังต่างประเทศว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมด้วยน้องไปป์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!