- Details
- Category: การเมือง
- Published: Thursday, 23 October 2014 09:30
- Hits: 5196
วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8730 ข่าวสดรายวัน
ปู พบ แม้ว ที่โตเกียว นั่งกินแมค งดร่วมทริปพท. ทอดกฐินอินเดีย เทียนฉายปัดวุ่น จุฬาคอนเน็กชั่น
พี่น้องหลาน - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด้วย"ลูกไปป์"ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย รับประทานอาหารกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พี่ชาย ที่ร้านแมคโดนัลด์ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 22 ต.ค. |
'ปู-แม้ว'พบกันอีกที่กรุงโตเกียว นั่งกินแมคโดนัลด์ชื่นมื่น คนใกล้ชิดเผยงดทริปบินไปอินเดียร่วมงานทอดกฐินที่วัดไทยพุทธคยาในรัฐพิหารวันเสาร์นี้ร่วมกับส.ส.เพื่อไทย และ'พายัพ ชินวัตร'พี่ชายอีกคน ด้านคสช.ก็โต้ ยันไม่เคยสั่งห้ามไปงานบุญ ประธานสปช. 'เทียนฉาย'ไม่แจงจุฬาฯคอนเน็กชั่น ระบุเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ความผิด ยันตั้งใจทำหน้าที่แต่จะไม่สัญญา เพราะอาจมีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นก็ได้ เล็งชงข้อเสนอดึง 5 กมธ.ยกร่างรธน.ฉบับถาวรคนนอกร่วมกมธ.คนใน 15 คน
'เทียนฉาย'งัดคำเท่สีเดียว-ธงชาติ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 ต.ค. ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภาสปช.ชั่วคราว ถึงกรอบการทำงานว่า ตนจะเดินตามกรอบที่วางไว้ ทำให้ภารกิจเป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุผลสำเร็จทั้งภาระที่ต้องทำและเงื่อนเวลา ส่วนภาพที่ออกมาว่าประธานและรองประธานสปช. เป็นจุฬาฯ คอนเน็กชั่นนั้น ตนไม่ขอชี้แจง เพราะบุคคลรุ่นเดียวกับตนก็มาจากมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่ง อาจเป็นกรอบจำกัด หากมองว่ามาจากสถาบันเดียวกันก็เป็นข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่ความผิด และสถาบันไม่ใช่เหตุพิจารณาตัวบุคคลมาเป็นประธาน สปช. เชื่อว่าตนและเพื่อนร่วมงานในสปช.ไม่ว่าจากสถาบันไหน จุดหมายคือประเทศไทย เรากำลังสวมเสื้อประเทศไทย ไม่มีสี ถ้าจะมีสีก็สีธงชาติ
เมื่อถามว่าขณะนี้มีคนมองว่าประธานและรองประธาน สปช. ถูกล็อกสเป๊กจากคสช.
มาแล้ว นายเทียนฉายกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ตนได้ยินข่าวนี้ตั้งแต่วันแรกที่มีชื่อว่าจะถูกเสนอ ถือเป็นเรื่องแปลกดี ทั้งที่วันที่ 21 ต.ค. เป็นการทาบทามครั้งแรก ส่วนที่นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสปช. เป็นผู้เสนอชื่อตนนั้น ตนไม่ทราบประเด็นดลใจของนายชัย ที่ผ่านมาตนไม่เคยรู้จักนายชัยส่วนตัว เพราะอยู่คนละเส้นทาง นายชัยเป็นนักการเมือง ส่วนตนเป็นอาจารย์ แต่เคยเจอกันในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะนายชัยเป็นกมธ.ด้วย
ยืนยันตั้งใจจริง-แต่จะไม่ให้สัญญา
นายเทียนฉาย กล่าวว่า ส่วนกรอบเวลาปฏิรูปที่มีเพียง 1 ปี ต้องคุยกันในวิปสปช.ชั่วคราวว่าจะประชุมแบ่งงานกันอย่างไร หากไม่เสร็จจะนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 24 ต.ค. ส่วนการปฏิรูปทั้ง 10 ด้านที่คสช.ระบุไว้นั้น เมื่อทำงานจริงต้องพิจารณาด้านต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง เพราะถึงเวลาสมาชิกต้องช่วยกันทำงานปฏิรูปมากกว่า 1 ด้าน และเมื่อดูสมาชิกทั้ง 250 คนแล้ว ต้องมีบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยในกมธ. เพราะยังมีผู้ที่มีความรู้อีกมากที่ไม่ได้เป็น สปช. อาจเปิดให้บุคคลภายนอก ทั้งที่เคยสมัครเป็นสปช.แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกและผู้รู้อื่นๆ มาร่วมทำงานด้วย ซึ่งการกำหนดกรอบว่าบุคคลภายนอกจะเข้ามาทำงานในส่วนใด ต้องรอการหารือจากที่ประชุมวิปสปช.ชั่วคราวก่อน
ส่วนการประชุม สปช.นัดแรกที่มองว่ามีบรรยากาศวุ่นวายนั้น นายเทียนฉายกล่าวว่า ไม่วุ่นวาย แต่มีการเสนอความเห็นแบบกว้างขวางมาก ทั้งนี้ขอชื่นชม นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวได้ดีมากโดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความเห็นอย่างเปิดเผย ส่วนหลังจากนี้จะให้คำมั่นกับสังคมทำหน้าที่อย่างเป็นกลางหรืออิสระอย่างไรนั้น ตนคิดว่าคำมั่นถ้าแสดงถึงความตั้งใจ ตนให้ได้เลย แต่หากเป็นคำสัญญาต้องระวัง เราตั้งใจเต็มที่ เพราะไม่อยากเห็นประชาชนผิดหวัง แต่ระหว่างทางอาจมีอะไรเกิดขึ้น ทั้งภัยธรรมชาติและภัยการเมือง ก็ถือเป็นอุปสรรค ทั้งนี้ภารกิจส่วนหนึ่งต้องทำให้ความขัดแย้งลดลง สร้างสามัคคีปรองดองให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ ยืนยันว่าจะมีความอิสระในการทำงาน
เตรียมคัด 20 สปช.ไปยกร่างรธน.
เมื่อถามว่าแนวทางการสร้างความปรองดองของสปช. จะถือเป็นกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญมี 2 ประเด็น คือ นอกจากร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะมีกมธ.ติดตามและให้ข้อเสนอแนะระหว่างที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยสปช.จะส่งคนเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน แต่อีกประเด็นหนึ่ง คือการปฏิรูปที่จะทำให้ความขัดแย้งสลาย ส่วนวิธีใดนั้น ขอหารือกับสมาชิกก่อน เพราะเป้าหมายของการร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องลึกซึ้ง
ส่วนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไม่ให้ สปช.ยื่นบัญชีทรัพย์สิน นายเทียนฉายกล่าวว่าคิดว่าป.ป.ช.ทำหน้าที่ตามกฎหมาย พิจารณาว่าบุคคลใดจะยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินบ้าง ส่วนที่ศาลปกครองเคยมีคำวินิจฉัยกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพราะเข้ามาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศนั้น ตนมองว่าผู้ที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายคือป.ป.ช. ดังนั้นควรยึดตามกรอบที่ป.ป.ช.วินิจฉัยดีกว่า ไม่เช่นนั้นจะมีผู้ออกมาตัดสินอีกหลายคน จะทำให้การตัดสินเป็นไปได้ยาก ส่วนตัวขอยืนตามป.ป.ช. แต่หากจะให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ตนก็ไม่มีปัญหา เพราะเคยยื่นมาแล้ว 16 ครั้ง
"เสธ.อู้"ปธ.กมธ.ยกร่างข้อบังคับ
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสปช.โดยให้นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ สมาชิกสปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุมชั่วคราวในฐานะผู้มีอาวุโสสูงสุด มีวาระเลือกประธาน รองประธาน และตำแหน่ง อื่นๆ โดยที่ประชุมมีมติให้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นประธานกมธ. นายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นรองประธาน คนที่ 1 นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นรองประธาน คนที่ 2 พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ เป็นเลขานุการ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช เป็นโฆษก และนาง สีลาภรณ์ บัวสาย เป็นรองโฆษกกมธ.
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวภายหลังทำหน้าที่ประธานกมธ.พิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสปช.ว่า จะเร่งร่างข้อบังคับการประชุมสปช. ให้เสร็จตามกรอบเวลา 15 วัน โดยจะประชุมทุกวันพุธและวันศุกร์ เวลา 09.30 น. คาดว่าจะร่างข้อบังคับแล้วเสร็จได้ในวันที่ 29 ต.ค. และวันที่ 31 ต.ค. อาจเชิญสมาชิกสปช.เข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอแนะการยกร่างข้อบังคับเพิ่มเติม หากไม่แก้ไขก็จะสรุปรายงานและเสนอต่อประธานสปช. เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่วันที่ 4 พ.ย.
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า ส่วนตัวอยากให้ที่ประชุมตั้งกมธ.เต็มสภาพิจารณาวาระ 2 เพื่อให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมพิจารณาในคราวเดียวกัน ขึ้นอยู่กับที่ประชุมด้วยว่าจะมีความเห็นอย่างไร แต่สิ่งที่กังวลคือหลังร่างข้อบังคับการประชุมผ่านความเห็นชอบ 3 วาระ ต้องตั้งกมธ.สามัญ 15 คณะ และกมธ.วิสามัญ 1 คณะ พร้อมคัดสรรสมาชิกและบุคคลมาทำหน้าที่ ซึ่งอาจใช้เวลามาก จึงอยากให้กำหนดกรอบเวลาภายใน 30 วัน เพื่อให้เกิดการเดินหน้าแนวทางปฏิรูปได้มากที่สุด
เผยสปช.เลือกเอง 15-คนนอกอีก 5
เวลา 16.20 น. นายเทียนฉายเปิดเผยภายหลังการประชุมวิปสปช.ชั่วคราวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้เป็นในส่วนของสปช. 15 คน และเป็นบุคคลภายนอกอีก 5 คน โดยจะนำหลักเกณฑ์แจ้งต่อที่ประชุมสปช.ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น. เพื่อให้สมาชิกลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่ เมื่อที่ประชุมเห็นชอบแล้ว ในวันเดียวกันจะให้สปช. 11 ด้าน และ 4 ภาค ไปประชุมเพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลเป็นกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งแต่ละสาขาเสนอชื่อได้มากกว่า 1 คน โดยวิปสปช.จะให้ใบสมัครแสดงความจำนงเป็นกมธ.ยกร่างฯ จากนั้นวันที่ 28 ต.ค. จะประชุมสปช.เพื่อลงมติรับรองรายชื่อบุคคลเข้าเป็นกมธ.ยกร่างฯ
เดินเครื่อง -นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสปช. ที่ห้องประชุม 220 อาคารรัฐสภา 2 เมื่อ วันที่ 22 ต.ค. |
นายเทียนฉาย กล่าวว่า ส่วนบุคคลภายนอก 5 คน วิปสปช.จะพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมสปช.ต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน คุณสมบัติคนนอกคงจะมีการประมวลรายชื่อด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง จะไม่เปิดรับสมัคร แต่จะคัดกรองเปรียบเทียบความเหมาะสม ที่สำคัญต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญกำหนด และอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ผู้ที่มาทำหน้าที่กมธ.ยกร่างฯไม่มีสิทธิทำงานการเมือง 2 ปี
ชี้คุณสมบัติไม่ซ้ำกับกก.ของสปช.
นายเทียนฉายกล่าวอีกว่า เหตุผลที่นำคนนอกมาเป็นกมธ.ยกร่างฯ เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการปฏิรูป อีกทั้งยังมีผู้รู้ที่ไม่ได้ถูกรับเชิญมาเป็นสปช. และอยู่ในวงการอื่นที่ไม่สันทัดในการเสนอตัวเป็นสปช. รวมถึงพรรคการเมืองและประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เห็นต่าง ที่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการสปช.ตั้งแต่ต้น จะใช้โอกาสนี้เชิญเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว
"คนนอกทั้ง 5 คน ต้องมีคุณสมบัติไม่ซ้ำซ้อนกับตัวแทนสปช.ทั้ง 15 คน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย หรือผู้ที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญมาก่อน แต่อาจใช้ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมาช่วยโดยไม่ต้องเป็นกมธ.ยกร่างฯก็ได้ ยืนยันว่าบุคคลที่จะเข้ามาคงไม่ได้เป็นคนกลุ่มสีหรือขั้วการเมือง เพราะผมเชื่อว่าขณะนี้ไม่มีแล้ว มีแต่กลุ่มที่มีความเห็นหลากหลายเข้ามาร่วมทำงานครั้งนี้" นายเทียนฉายกล่าว
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช.กล่าวว่า ที่ประชุมวิปสปช.ชั่วคราวมีมติเลือกให้นายเทียนฉาย เป็นประธานวิปสปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และน.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธานวิปสปช. ส่วนตนเป็นเลขานุการ และนายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิปสปช.
แจ้งสนช.รับเอกสารถอด"2ปธ."
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ นายสุรชัยแจ้งให้สมาชิกสนช.รับเอกสารสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เรื่องที่มาส.ว. ได้ที่เจ้าหน้าที่ห้อง 102 อาคารรัฐสภา 2 นอกจากนี้นายสุรชัยยังแจ้งให้สมาชิกสนช. ที่ต้องการเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สัดส่วนสนช. 5 คน ให้แจ้งฝ่ายเลขานุการกมธ.วิสามัญกิจการสนช.(วิปสนช.) ตั้งแต่วันที่ 22-28 ต.ค.ถึงเวลา 12.00 น. เนื่องจากช่วงบ่ายวันที่ 28 ต.ค.จะมีการประชุมวิปสนช.เพื่อพิจารณารายชื่อ
จากนั้นเข้าสู่วาระพิจารณาเรื่องด่วนรายงาน กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรม ทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน คือพล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม โดยประชุมลับและลงคะแนนลับ ปรากฏว่ามีมติ 170 ต่อ 3 คะแนน เห็นด้วยให้พล.อ.วิทวัสเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน งดออกเสียง 4 เสียง ทั้งนี้ รายงาน กมธ.สรุปผลตรวจสอบว่าพล.อ.วิทวัสมีคุณสมบัติไม่ต้องด้วยลักษณะต้องห้ามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 และ 8 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552
จากนั้นที่ประชุมหารือกรณีการตั้งกมธ.ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรม ทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา คือนายดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีสมาชิกสนช.เสนอว่าไม่ต้องตั้งกมธ.เนื่องจาก นายดิสทัตเป็นสมาชิกสนช. จึงเห็นการทำงาน อยู่แล้ว ซึ่งไม่มีสมาชิกคนใดคัดค้าน และมีมติเห็นชอบวาระดังกล่าวด้วยคะแนน 174 และงดออกเสียง 4 คะแนน ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับ
"สิงห์ชัย"หนุนตั้งกมธ.ศึกษาข้อมูล
วันเดียวกัน นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี กล่าวถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเสนอให้สนช.ตั้งคณะกรรมการศึกษาสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ นายนิคม และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อความถูกต้องของข้อกฎหมายว่า เห็นด้วยเพราะการดำเนินการถอดถอนจำเป็นต้องรอบคอบและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกชี้มูลด้วย และนอกจากการศึกษาข้อกฎหมาย อยากให้สนช.ศึกษายุทธศาสตร์ของคสช.ด้วยว่ามีเป้าหมายอย่างไร ผ่านการประเมินว่า หากถอดถอนหรือไม่ถอดถอนแล้วจะเกิดผลอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าหากดำเนินการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายสมศักดิ์ นายนิคม ตลอดจนส.ส.และส.ว.อีก 300 กว่าคน จะทำให้ประชาชนที่เลือกผู้แทนฯเหล่านั้นรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งประเด็นนี้มีน้ำหนักและอ่อนไหว ทำให้คนคล้อยตามได้ง่าย อาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของคสช.ได้
"อยากให้สนช.สายทหาร ดูแลสนช.สายอดีตกลุ่มส.ว.ที่เป็นคู่ขัดแย้งก่อนรัฐประหาร ให้แสดงความคิดเห็นให้น้อยลง แล้วให้สนช.ที่เป็นกลางออกมาแสดงความคิดเห็นให้ข้อมูลกับประชาชนแทน เพื่อความยุติธรรมและเพื่อไม่ให้ความปรารถนาดีของคสช.ถูกทำลาย" นายสิงห์ชัยกล่าว
บิ๊กตู่สั่งตรวจสอบบริษัทโฆษกรบ.
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ หัวหน้าคสช. สั่งการให้คณะทำงานรวบรวมข้อมูลรายละเอียด กรณีตรวจสอบพบว่าบริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ของร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้รับงานประชาสัมพันธ์งานธงฟ้าเมื่อเดือนมิ.ย.2557 ที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวได้งานประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานรัฐจำนวนมาก รวมแล้วมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท และสาเหตุที่นายกฯสั่งให้คณะทำงานเก็บข้อมูล เนื่องจากต้องการทราบข้อเท็จจริง อีกทั้งร.อ.นพ.ยงยุทธทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล ถือว่ามีความสำคัญ และยัง ทำงานใกล้ชิดกับ นายกฯ จึงเกรงว่าจะมีผลกระทบกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลในช่วงที่กำลังเดินตามโรดแม็ป
รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้นายกฯ ยังสั่งให้คณะทำงานไปรวบรวมข้อมูลรายละเอียดกรณีการหายตัวไปของนายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือเสี่ยโจ้ นักโทษหนีคดี คำสั่งศาลจังหวัดปัตตานีด้วย รวมทั้งสั่งให้ติดตามข่าวสารต่างๆในทุกมิติ โดยเฉพาะข่าวที่มีผลกระทบและเป็นผลลบต่อรัฐบาลในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เนื่องจากนายกฯได้ประกาศและกำชับทุกกระทรวงให้ตรวจสอบการทุจริตควบคู่กับการทำงาน
"วิชา"โต้ลั่นปูดขนเงินออกนอกปท.
วันเดียวกัน นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีระบุมีการขนเงินที่ได้จากการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวออกนอกประเทศระหว่างการเสวนาหัวข้อ "เมื่อการทุจริตมีรอบตัว รัฐหรือเราที่ต้องแก้" ที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ วันที่ 19 ต.ค.ว่า ตนไม่ได้เจาะจงว่าเป็นการขนเงินที่ได้จากทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวออกนอกประเทศ แต่พูดถึงการทุจริตรวมๆ ซึ่งสื่อไปเขียนเอง เป็นการเข้าใจผิด
นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของรัฐมนตรี 5 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ระหว่างการเรียบเรียงข้อมูล ในคดีแบบนี้เราไม่อยากให้ข่าวมากนัก เนื่องจากอยู่ระหว่างนโยบายการปรองดองสมานฉันท์ของคสช. ซึ่งอาจทำให้บางฝ่ายเกิดความไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ หากการตรวจสอบพบว่าทรัพย์สินที่เขาได้มานั้นถูกต้อง เราก็ต้องยอมรับ
เมื่อถามว่าความคืบหน้าในการไต่สวนน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมกลุ่มผู้ชุมนุมช่วงปี 2556 นายณรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้รอคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ซึ่งจะรีบประชุมให้เร็วที่สุด แต่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลอะไรได้ในตอนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรัฐมนตรีทั้ง 5 รายที่ถูกป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์
"เรืองไกร"จี้"วิชา"เปิดมาตรา 40
ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ให้สปช.ไม่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพราะเป็นตำแหน่งทางวิชาการว่า อยากให้ป.ป.ช.โดยเฉพาะนายวิชา เปิดดูมาตรา 40 เรื่องเงินประจำตำแหน่งในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งกำหนดว่าสปช.ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภา มีหน้าที่ตรากฎหมาย ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงแปลกใจที่นายวิชา แก้ต่างแทนให้กับ สปช.ว่าเป็นตำแหน่งทางวิชาการ นอกจากนี้เงินประจำตำแหน่งของ สปช.ก็เท่ากับ สนช. หากมองว่าสปช.เป็นตำแหน่งวิชาการแบบนี้ก็ควรรับแต่เบี้ยประชุม ไม่ต้องกินเงินเดือน
นายเรืองไกรกล่าวว่า ส่วนที่สมาชิก สปช.หลายคนออกตัวว่าอยากเข้ามาแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจและความสง่างามด้วยการตราเป็นข้อบังคับ โดยอ้างกฎหมาย ป.ป.ช.เพื่อให้ตัวเองเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน หรือ ป.ป.ช.ควรออกเป็นประกาศเพื่อให้สปช.ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งเรื่องนี้ ป.ป.ช.มีอำนาจทำได้ และเชื่อว่า สปช.พร้อมปฏิบัติตามอยู่แล้ว ในเมื่อสนช.ยังต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน สปช.ก็ควรแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยเพื่อความโปร่งใส ขอให้กล้าๆ หน่อย หรือสปช.มีอะไรที่ต้องปิดบัง
แนะจับตาสนช.-องค์กรอิสระ
นายเรืองไกร กล่าวว่า ขณะนี้เมื่อได้ตัวประธานและรองประธาน สปช.แล้ว ขอให้เร่งทำหน้าที่โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จทันตามโรดแม็ปของ คสช.เพื่อคืนความสุขประชาชนให้ตรงเวลา และเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามที่คสช.อ้างโดยเร็ว เพราะขณะนี้เริ่มมีบางฝ่ายแสดงเจตนาอยากขยายเวลาออกไปอีก อ้างว่าอาจไม่ทันตามเวลาที่กำหนด ไม่รู้ว่ามีเจตนาจะรอให้องค์กรอิสระจัดการพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้ล้มหายตายจากไปก่อนหรือไม่ เพราะช่วงนี้เห็นมีทั้งกระแสข่าวเร่งปิดคดีจำนำข้าว หรือเรื่องถอดถอนนักการเมืองอยู่เป็นระยะ ดังนั้นสังคมต้องช่วยกันจับตาการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระให้ดี
ปชป.งัดรธน.โต้มติปปช.ล่าสุด
วันเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ ป.ป.ช.มีมติว่า สปช.เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับวิชาการ ไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะการปฏิรูปต้องเริ่มต้นที่สปช. รัฐธรรมนูญมาตรา 37 บัญญัติว่าสปช.เป็นผู้ลงมติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ และ สปช.ที่เป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 ปีนับแต่พ้นตำแหน่ง ฉะนั้นตำแหน่งนี้จึงมีความสำคัญ และมีการขัดกันของผลประโยชน์อยู่ในตัว ไม่ทราบว่าทำไมคนที่มาปฏิรูปประเทศจึงต้องทำตัวลับๆ ล่อๆ การที่ป.ป.ช.ยกเหตุผลว่าไม่ต้องยื่น จึงเป็นการยกเหตุผลมาสนับสนุนการไม่มีเหตุผลที่รับฟังไม่ได้ และเชื่อว่างานนี้ทั้งป.ป.ช. และสปช.เสียรังวัด
เผย"ปู-แม้ว"ไม่ไปกฐินที่อินเดีย
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ทำหนังสือขออนุญาต คสช. เพื่อพาด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย เที่ยวพักผ่อนในช่วงปิดเทอมยังต่างประเทศว่า วันเดียวกันนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยน้องไปป์ ได้พักผ่อนอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยนัดเจอกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พี่ชาย โดยทั้งหมดได้แวะรับประทานอาหารที่ร้านแมคโดนัลด์ ฮัลโลวีน อย่างมีความสุข และได้เผยแพร่ภาพการพบกันของอดีต 2 นายกฯเพื่อเป็นการยืนยัน
รายงานข่าวจากคนใกล้ชิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่าการขออนุญาต คสช. เดินทางออกนอกประเทศครั้งนี้ ไม่มีกำหนดไปประเทศอินเดีย ตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นแล้ว รวมทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่มีกำหนดจะเดินทางไปวัดป่าพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ตามที่มีข่าวด้วย ทั้งนี้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ได้ยืนยันผ่านคนใกล้ชิดว่าจะเดินทางกลับตามกำหนดเวลาที่ขออนุญาตไว้กับคสช.อย่างแน่นอน
"กำหนดการทำบุญทอดกฐินสามัคคี 2557 ที่วัดป่าพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดียนั้น เป็นเรื่องของนายพายัพ ชินวัตร ซึ่งเป็นแกนนำจัดการครั้งนี้ โดยเชิญอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรี ส.ส.และผู้สนใจร่วมเดินทางด้วย โดยใส่ชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ และคนในครอบครัวชินวัตร ร่วมคณะไปด้วย แต่ทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ และพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยืนยันไปแล้วว่าไม่สามารถร่วมคณะในครั้งนี้ได้" คนใกล้ชิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ
คสช.แจงไม่ได้สั่งห้ามเดินทาง
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า สำหรับการนัดหมายของแกนนำ รวมถึงสมาชิกพรรคเพื่อไทย นำโดยนายพายัพ เพื่อเดินทางร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคี 2557 ที่วัดป่าพุทธคยา เมืองคยานั้น ออกเดินทางวันที่ 25 ต.ค.เวลา 05.00 น.จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำ สายการบินไทย สไมล์ เที่ยวบิน 8052 โดยคณะจะร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ จากนั้นร่วมทอดกฐินในเวลา 13.00 น.ร่วมกับอดีตรัฐมนตรี รวมถึงแกนนำบางส่วนที่เดินทางเป็นการส่วนตัวในวันที่ 24 ต.ค.นี้ จากนั้นจะเดินทางกลับในค่ำวันเดียวกัน
แหล่งข่าวระดับสูงของคสช. กล่าวถึงข่าวคสช.ขอร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยกเลิกการไปอินเดียพร้อมกับพ.ต.ท.ทักษิณว่า คสช.ไม่ทราบเรื่อง และที่ผ่านมายังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ คิดว่าคสช.ไม่จำเป็นต้องสั่งห้ามน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปอินเดีย และไม่น่าจะเป็นคำสั่งของคสช. เพราะไม่รู้จะห้ามเพื่ออะไรและจะห้ามไปทำไม
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า เบื้องต้นตนยังไม่ได้รับรายงานว่าคสช.มีคำสั่งหรือขอร้องไม่ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปอินเดีย ต้องรอการตรวจสอบรายละเอียด เนื่องจากตนยังไม่เห็นคำสั่งดังกล่าว ที่ผ่านมาคสช.ไม่ได้ห้ามบุคคลใดๆ เดินทางไปต่างประเทศ เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ขอความร่วมมือให้แจ้งกำหนดการเดินทางล่วงหน้าตามที่เคยขอความร่วมมือไว้ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีมาตลอด
อัยการชี้ปปช.ฟ้องเองได้-ข้าวปู
วันเดียวกัน นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานอัยการ ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีตั้งคณะทำงานประชุมร่วมกันระหว่างอัยการกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนคดี ว่า ขณะนี้กระบวน การพิจารณายังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็น ส่วนกรอบระยะเวลา 14 วันในการพิจารณานั้น เป็นเพียงกรอบระยะเวลาในการเร่งรัดเท่านั้น คงไม่มีผลต่อการพิจารณาคดี และถึงแม้จะเลยกรอบระยะเวลามาแล้วก็ตาม ถ้าหากคณะทำงานร่วมมีความเห็นสั่งฟ้องก็ยังสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ ซึ่งคงจะต้องรอติดตามความคืบหน้าในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 7 พ.ย.นี้
เมื่อถามว่าถ้าหากในการประชุมวันที่ 7 พ.ย.นี้ยังไม่ได้ข้อยุติ และหากป.ป.ช. จะฟ้องคดีเองสามารถทำได้หรือไม่ นายวุฒิพงศ์กล่าวว่าก็เป็นเรื่องของทาง ป.ป.ช. แต่ตามกฎหมายทาง ป.ป.ช.ก็สามารถฟ้องคดีเองได้
ไอพียูส่งหนังสือบี้ไทยเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่รัฐสภา นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล สมาชิก สนช. และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนไทยไปประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา หรือ ไอพียู ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 13-15 ต.ค.ที่ผ่านมา แถลงว่าคณะมนตรีแห่งรัฐสภาสากลมีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ สนช.ของไทยดำรงสิทธิสมาชิกภาพของไอพียูโดยสมบูรณ์ เนื่องจากทีมงานรัฐสภาและทีมงานกระทรวงการต่างประเทศช่วยเดินสายล็อบบี้สมาชิก 16 ประเทศ ชี้แจงว่าเรามีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พร้อมนำเสนอโรดแม็ปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดกรอบวันเลือกตั้งไว้ชัดเจน ทำให้สมาชิกทั้ง 16 ประเทศเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต่างจากการรัฐประหารปี 2549 ที่ สนช.ชุดนั้น มีเวลาเตรียมการอธิบายต่อสมาชิกไอพียู แค่ 1 เดือนทำให้ไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมประชุม
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมไอพียูไม่ได้แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ประเทศไทย เพราะมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ขอให้จัดเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่วางไว้ เนื่องจากนิยามของการเป็นสมาชิกไอพียูมี 3 ข้อ คือ 1.สมาชิกรัฐสภาต้องมาจากกฎหมายภายในประเทศนั้นๆ ไม่ได้กำหนดว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง 2.ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย และ 3.ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร นอกจากนี้ ที่ประชุมไอพียูมอบหนังสือเรื่อง "FREE AND FAIR ELECTIONS" ซึ่งเกี่ยวกับมาตรฐานสากลสำหรับการจัดการเลือกตั้งที่อิสรเสรีและมีความเป็นธรรม
"เราจะนำหนังสือมาแปลเป็นภาษาไทย เพื่อแจกสมาชิก สนช.และสมาชิก สปช. นำไปศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ ซึ่งผมมองว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องทำตามทุกอย่าง แค่นำมาเปรียบเทียบและทำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความชอบธรรมก็พอ" นายวีระศักดิ์กล่าว
มท.ชงครม.ตั้ง"22 ผวจ.-ผู้ตรวจ"
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงระบุองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรมที่ดินในปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนทุจริตจำนวนมากว่า กระทรวงจะส่งคณะกรรมการที่มีผู้ตรวจราชการร่วมกับคณะทำงานของรมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ดูแลการใช้งบประมาณของ อปท. นอกเหนือจากการดูแลของผู้ว่าฯ โดยจะดูว่าอปท.ทำตามแผนงานที่เสนอไว้และทำตามกฎระเบียบหรือไม่ เชื่อว่าจะทำให้การทุจริตลดน้อยลง
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องทุจริตของกรมที่ดินนั้น ตนมอบนโยบายแล้วว่าทุกเรื่องต้องทำให้ถูกกฎหมาย ปัญหาที่พบมากสุดคือ ที่ดินของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นจะตรวจสอบ ถ้ามีความผิดเกิดขึ้นจะดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ส่วนจะนำเสนอเรื่องนี้เป็นประเด็นให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปฏิรูปด้วยหรือไม่นั้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นเรื่องดี แต่ขอให้ สปช.พร้อมทำงานกว่านี้ก่อน
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงการแต่งตั้งผู้บริหารระดับผู้บริหารสูงว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบในตำแหน่งผู้ว่าฯที่ว่าง 18 ราย และผู้ตรวจราชการ 4 ราย หากคณะกรรมการพิจารณาเสร็จจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ มีแผนเร่งรัดการทำงานเชิงรุก โดยจะประชุมคณะทำงานฝ่ายการเมืองทุกคนร่วมกับฝ่ายข้าราชการประจำ ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี โดยวันจันทร์จะประชุมทีมการเมืองร่วมกับปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวงและหัวหน้าผู้ตรวจราชการ ส่วนวันพฤหัสบดีจะประชุมทีมการเมืองร่วมกับปลัดกระทรวง และอธิบดีทุกกรมและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวง
บิ๊กขรก.-อดีตสว.แห่ชิงผู้ตรวจ
วันที่ 22 ต.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการสรรหา ได้เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาแทนนางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งครบวาระ โดยเปิดรับสมัครวันที่ 16-22 ต.ค. ปรากฏว่ามีผู้มาสมัคร 16 คน ประกอบด้วย 1.นายวัส ติงสมิตร ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม 2.ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม 3.พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีตส.ว. 4.นายชวรัตน์ รุกขพันธุ์ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์/ร้องทุกข์ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) 5.นายสามารถ จิตมหาวงศ์ อดีตผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ภาค 9
6.นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7.นายพิสิฐ ประเสริฐศรี ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดอุบลราชธานี 8.พล.ต.ต.สังวรณ์ ภู่ไพจิตรกุล อดีตผู้บังคับการสถาบันฝึกอบรมและวิจัยการพิสูจน์หลักฐานตำรวจ 9.นายประสาร หวังรัตนปราณี อดีตเลขานุการรมว.อุตสาหกรรม 10.พล.อ.กะสิณ ทองโกมล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 11.พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 12.นายอนุชา วงษ์บัณฑิตย์ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (สำนักงานก.พ.)
13.นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา 14.พล.อ.รัตนพันธุ์ โรจนะภิรมย์ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ 15.นายช่างทอง โอภาสศิริวิทย์ อดีตเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ 16.รศ.นพ.ศุภชัย ถนอมทรัพย์ อาจารย์พิเศษคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ทั้งนี้กรรมการสรรหาจะมีการประชุมวันที่ 6 พ.ย. เวลา 09.30 น. เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 คน ก่อนนำรายชื่อเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป