- Details
- Category: การเมือง
- Published: Wednesday, 22 October 2014 10:07
- Hits: 3759
วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8729 ข่าวสดรายวัน
สปช.ได้เฮ มติปปช.ไม่ต้องโชว์เซฟ อ้างมาทำงานเพื่อชาติ เทียนฉายนั่งปธ.ตามโผ บิ๊กตู่หย่าศึก-ถอดถอน สั่งตั้งกมธ.ศึกษาข้อกม.
ปธ.สปช. - สมาชิกแสดงความยินดีกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ หลังได้รับการโหวตจากที่ประชุมสปช. ให้ดำรงตำแหน่งประธานสปช. โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และน.ส.ทัศนา บุญทอง ได้รับเลือกเป็นรองประธาน ที่รัฐสภา เมื่อ 21 ต.ค. |
มติป.ป.ช.ชี้ สปช.ทำเพื่อชาติ ไม่ต้องเปิดเซฟโชว์ "เทียนฉาย-บวรศักดิ์-ทัศนา" ฉลุยตามโผสปช. นั่ง"ปธ.-รองปธ." "บิ๊กตู่"หย่าศึกถอดถอนให้ตั้ง กมธ.ศึกษาข้อกฎหมายที่เห็นแย้ง เผย"ปู"มาขอทัวร์ญี่ปุ่น-อินเดียถูกต้อง ส่วนที่แห่ไปพบแม้ว ก็ไม่เห็นจะผิดตรงไหน เพื่อไทยเผย"พายัพ ชินวัตร" เช่าเหมาลำ พาส.ส.บินร่วมงานบุญกับทักษิณ
"บิ๊กตู่"รับพิจารณาดูแลผู้พิการ
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย พล.อ.ประยุทธ์สวมชุดผ้าไหมพระราชทานสีเทา ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ สวมชุดผ้าไหมพระราชทานเพื่อเข้าร่วมประชุม ครม.อย่างพร้อมเพรียง และยังคงใช้ตึกสันติไมตรีเป็นสถานที่ประชุมครม.เช่นเดิม
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม นายกฯ รับมอบช่อดอกไม้จากนายพัฒน์ธนชัย สระกวี ประธานชมรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพื่อมอบเข็มที่ระลึกเนื่องในวันไม้เท้าขาวสากล ประจำปี 2557 เพื่อประชาสัมพันธ์ความสำคัญในการใช้ไม้เท้าขาว ซึ่งเป็นเครื่องมือนำทางคน ผู้พิการทางสายตา โดยตัวแทนชมรม ขอให้นายกฯ พิจารณาเร่งทำทางขึ้นลงและเส้นทางให้กับผู้พิการด้วย ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์รับปากว่าจะเร่งพิจารณาให้เพราะเป็นห่วงอยู่แล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าดีใจหรือไม่ที่ชาวนาทั่วประเทศต่างขอบคุณรัฐบาลที่มอบเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท นายกฯ เพียงแต่ยิ้มพยักหน้า และเดินเข้าประชุม ครม.
วิทยุชุมชนร้องระเบียบกสทช.
ที่ศูนย์บริการประชาชนฯ กลุ่มสมาคมสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย 40 คน นำโดย นายพงศ์พัฒน์ แก้วศรีทองธาดา ประธานสมาคม เข้ายื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่านนายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดสำนักนายกฯ เพื่อขอความเป็นธรรมเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับจาก กสทช.
นายพงษ์พัฒน์ กล่าวว่า จากการรัฐประหารของคสช.ทำให้วิทยุชุมชนต่างๆ ต้องหยุดดำเนินการและไม่ได้สิทธิ์ออกอากาศตามเงื่อนไขของ กสทช. เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตทดลองออกอากาศ 5,000 สถานี ซึ่งแต่ละสถานีอยู่ระหว่างขอออกใบอนุญาต จาก กสทช.ที่ยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน ประกอบกับผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องใช้เงินลงทุน หากไม่มีการอนุญาตให้ออกอากาศ จะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า จึงขอให้ผ่อนปรนข้อบังคับจากกสทช.ให้สถานีวิทยุเหล่านี้เปิดออกอากาศไปก่อน และขอให้เร่งพิจารณานำสถานีวิทยุเหล่านี้เข้าสู่ระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ขอให้สำนัก นายกฯ เป็นผู้ประสานให้มีการเจรจาระหว่าง กสทช.และกลุ่มผู้ประกอบการวิทยุชุมชน เพื่อหาข้อยุติโดยเร็ว
ก่อนหน้านั้นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ยื่นหนังสือโดยตรงต่อ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข หลังการประชุมครม.เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางพยาธิวิทยา ร.พ.ศูนย์สุรินทร์ ซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริต ปฏิบัติหน้าที่และมีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับตัวเอง เป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใสหรือไม่เนื่องจากมีการตรวจสอบข้อมูลอาจส่อในทางไม่ชอบ
ชี้"เทียนฉาย"เหมาะปธ.สปช.
พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการ ประชุมครม.ครั้งที่ 6/2557 ว่า ที่ประชุมหารือเรื่องนโยบายที่ประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร จากที่ไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) เพื่อจะนำไปสู่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ประเทศพม่า และสุดยอดผู้นำเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงร่างกฎหมายต่างๆ ที่จะเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ได้เป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า เป็นไปตามผลการโหวตในสปช. ท่านเก่งกว่าตนเยอะ ความจริงทุกคนมีคุณสมบัติและมีพื้นฐานดีทุกคน ใครก็เป็นได้ เพียงแต่ที่ประชุมจะเลือกใครเท่านั้นเอง เมื่อที่ประชุมเลือกนายเทียนฉาย ก็เป็นไปตามนั้น เราไม่ได้ไปก้าวล่วง ส่วนที่นายเทียนฉายแสดงความเป็นห่วงเรื่องกรอบเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลก็เตรียมเสนอชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะใกล้หมดเวลาแล้ว รายชื่อ 5 กลุ่มทางครม.กำลังหารือกันอยู่ ส่วนของคนที่จะเป็นประธานกมธ.ยกร่างฯ นั้นก็มีอยู่ในใจแล้ว
"ผมมีอยู่ในใจแล้ว 100 คน ตอนนี้ยังไม่มีการเลือก 1 เดียวในใจ ยังเต็มทั้งร้อยคน ซึ่งตามโรดแม็ป มีการกำหนดขั้นตอนและเวลาไว้ชัดเจน ต้องทำให้ได้ ถ้าทำยาวไปก็จะเกินเวลา ถึงได้กำหนดเวลาให้ชัดเจน ดังนั้นต้องทำให้ได้และรัฐบาลไปบังคับอะไรไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
เล็งตั้งกมธ.ศึกษาถอดถอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า คสช.สั่งการให้ สนช. พยายามทำในเรื่องอำนาจการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เคยมีการล็อบบี้หรือสั่งการใดๆ เป็นเรื่องของกฎหมาย ต้องดูว่ากฎหมายทำได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำไม่ได้ตอนนี้หรือยังมีความขัดแย้งอยู่ ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา จะบอกว่าทำอย่างนี้หรือไม่ทำอย่างนี้ มันมีปัญหาทั้งคู่ เมื่อไม่แน่ใจและยังไม่มั่นใจ ต้องศึกษาว่าจะเอาอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะไปยกโทษหรือไม่ยกโทษให้ใคร ถ้าผิดก็ต้องว่ากันตามผิด แต่ทั้งหมดต้องดูกฎหมายว่าทำได้หรือไม่
เมื่อถามว่าไม่ได้ปูพื้นฐานและเพ่งเล็งไปที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ได้ไปเพ่งเล็งใครสักคน จะไปเล็งทำไม ใครผิดก็ว่ากันตามผิด คนผิดก็เยอะแยะไป
ไม่หวั่น"ปู"บินพบ"แม้ว"
เมื่อถามถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขออนุญาตแล้ว ถ้าไม่ขออนุญาตจะไปได้อย่างไร มีการดำเนินการในรายละเอียดผ่านขึ้นมาถึงหัวหน้า คสช.ว่าเดือนนี้มีใครบ้าง กี่คนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ บางครั้งก็ 5-6 คน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นควรว่าอนุมัติ ก็อนุมัติไป แต่ทั้งหมดมีมาตรการอยู่แล้วว่าไปไหนบ้าง สำนักตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ทราบเรื่องทั้งหมด และแจ้งรายละเอียดทั้งหมดว่าไปประเทศใดบ้าง ซึ่งการเดินทางครั้งนี้มีไปอินเดียด้วย ไปประเทศแถบอาเซียน แต่ตนจำรายละเอียดไม่ได้
เมื่อถามว่าการไปต่างประเทศครั้งนี้ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจไปพบกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า "เจอแล้วเป็นอะไร ผมจะไปหวั่นไหวเรื่องอะไร จะหวั่นไหวทำไม แล้วที่มีข่าวว่ามีอดีตส.ส. พรรคเพื่อไทยจะไปด้วยหลายคนก็ไม่มี ปัญหา จะเป็นปัญหาอะไร เขาไปกันในฐานะประชาชน ไปเจอกันก็ไป ถ้ามันผิดก็เจอกันไม่ได้ วันนี้ยังไม่มีความผิดก็ไป ไปได้ไปเลย จะให้ผมหวั่นไหวไปทุกเรื่องทำไม ไม่หวั่นไหวหรอก"
ลั่นใช้ความดีพิชิตใจประชาชน
เมื่อถามว่าไม่กลัวหรือว่าจะมีการวางแผนเคลื่อนไหวอีก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าจะวางแผนกันวันนี้เขาวางแผนกันตรงนี้ก็ได้ เมื่อถามว่าการเดินทางครั้งนี้เหมือนต่อเนื่อง จากงานศพของ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า เหรอ และไม่ใช่ว่าตนจะไม่ห่วงสถานการณ์ก็ห่วง แต่เรามีมาตรการของเราซึ่งต้องเตรียมมาตรการให้พร้อม ตนไม่ใช่ว่าจะใช้อำนาจใช้กฎหมายเพื่อจะไม่ห่วง เท่าที่รับทราบวันนี้คือประชาชนอยู่กับเรา เห็นว่ารัฐบาลแก้ปัญหาอย่างจริงจังในทุกมิติและทุกระบบ ไม่ใช่ว่าใช้วิธีการที่ไม่เท่าเทียม สร้างปัญหา ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นชอบกับรัฐบาล ซึ่งคนเหล่านี้ก็ดูแลเราอยู่
เมื่อถามว่าได้รับรายงานเรื่องคลื่นใต้น้ำในปัจจุบันยังมีอยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยังมีอยู่ ถ้าจะถามว่าแรงหรือไม่ก็ต้องบอกว่า มันอยู่ใต้น้ำ มันคงแรงอยู่เพียงใต้น้ำ ขอให้อยู่ใต้น้ำ อย่าขึ้นมาบนน้ำก็แล้วกัน ซึ่งตนไม่ได้กดให้อยู่ใต้น้ำ แต่ใช้วิธีการทำความดี ทำการทำความเข้าใจต่อประชาชน ใช้มิติดังกล่าว ตั้งใจแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้จะสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นได้ และถ้าใครออกมาเคลื่อนไหวหรือทำอะไรในวันนี้ จะเป็นอันตรายกับตัวเขาเองเพราะทั่วโลกมองอยู่ จากนี้ใครสร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมืองนี้อีก มันอันตรายซึ่งจะมีคนทั่วโลกไม่ยอมรับมากกว่าตนและคสช.เสียอีก
คิวต่อไปเตรียมเยือนกัมพูชา
เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าจากนี้ไม่ว่าประเทศใดเชิญให้ไปเยือนหรือเข้าร่วมประชุมก็พร้อมไป พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่าบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร ถ้าบ้านเมืองสงบสุข สันติก็ไปได้ ถ้าเกิดประโยชน์ก็ไป แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ แค่ไปเที่ยวก็ไม่ไป ที่ผ่านมาตนไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย ประชุมทั้งวัน ตั้งแต่เช้ายันดึก จากนั้นนอนทันทีเพราะหมดแรง ไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย เพราะถือว่าไปทำงานไม่ได้ไปท่องเที่ยว
เมื่อถามว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินสถานการณ์การลงพื้นที่ของนายกฯเสร็จหรือยัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังดูอยู่ แต่ยังไม่เรียบร้อย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกำหนดการไปเยือนต่างประเทศว่า ประเทศต่อไปจะไปเยือนกัมพูชา จากนั้นจะเข้าร่วมการประชุมเอเปค ที่ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนพ.ย.นี้
ปรับท่าทีลดปะทะคารม
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายกฯจะเดินทางเยือนกัมพูชา ระหว่างวันที่ 30-31 ต.ค. ส่วนการประชุมเอเปค มีขึ้นวันที่ 9-10 พ.ย. จากนั้นจะเดินทางเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า การให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ครั้งนี้ไม่มีการตั้งโพเดียมเหมือนทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่านายกฯไม่ต้องการยืนให้สัมภาษณ์โดยใช้เวลายาวนาน เนื่องจากจะเกิดข้อผิดพลาดหรือหลุดคำพูด จนมีการหยิบยกขึ้นเป็นประเด็น อีกทั้งไม่ต้องการปะทะคารมกับผู้สื่อข่าวเพราะจะทำให้เสียภาพลักษณ์ ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงว่าในการประชุมครม.วันนี้ ไม่มีคำสั่งจากนายกฯให้ตั้งโพเดียม
นายกฯตู่เซ็นตั้งวิปรัฐบาล
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) แล้ว มีสัดส่วนของสนช. 17 คน และสัดส่วนรัฐบาล 5 คน ประกอบด้วยตน เป็นประธานวิปรัฐบาล นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ รองเลขาธิการนายกฯ นางโฉมศรี อารยะศิริ อดีตรองเลขาธิการนายกฯ นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ ที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายข้าราชการประจำ พล.ท.เยาวดนัย ภู่เจริญยศ เลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านกฎหมาย คสช. และนางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายข้าราชประจำ
ทั้งนี้ เมื่อมีการแต่งตั้งวิปรัฐบาลเสร็จแล้วจะนัดประชุมครั้งแรกในวันที่ 27 ต.ค. คาดว่ามีวาระพูดคุยถึงวิธีการทำงานของวิป รัฐบาลและรายละเอียดของกฎหมายต่างๆ ต่อไป
กำชับครม.จัดระเบียบจยย.-รถตู้
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม. ว่า ครม.รับทราบกำหนดวันประชุมร่วม ระหว่างครม.และคสช. ครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 พ.ย. นี้ เวลา 09.00 น. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต โดยวาระการประชุมจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณากำหนดรายชื่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนของครม.และคสช.ฝ่ายละ 5 คน บวกรายชื่อประธานที่มาจาก คสช. 1 คน
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ กำชับให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลจัดระเบียบพื้นที่ทั้งรถตู้ รถจักรยานยนต์ การค้าชายหาดเนื่องจากพบว่าเริ่มจะไม่เป็นระเบียบเหมือนช่วงต้น นอกจากนั้นให้ดูแลกำหนดมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนด้วยเพื่อให้การแก้ปัญหาครบวงจร ทั้งนี้ นายกฯ ยังกำชับให้หน่วยงานเกี่ยวข้องประสานผู้ประกอบการต่างๆ ในการดูแลความปลอดภัยเรื่องการท่องเที่ยว เนื่องจาก 1-2 เดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์กับนักท่องเที่ยวจำนวนมากเป็นระยะ ทั้งปัญหาอาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง หากกำหนดมาตรการแล้วยังปล่อยปละละเลยจะมีบทลงโทษต่อไป เพื่อให้ชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในไทยเกิดความมั่นใจและเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศด้วย
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ กำชับในที่ประชุมกรณีส่งบุคคลไปตอบข้อซักถามในที่ประชุมสนช. โดยให้หน่วยงานที่เสนอเรื่องให้สนช.เห็นชอบนั้น ส่งผู้ใหญ่ไปตอบคำ ข้อซักถามทุกเรื่องเพื่อให้เกิดความกระจ่าง หากส่งเพียงเจ้าหน้าที่ไปตอบคำถามอาจไม่ชัดเจน
สนช.จ่อตั้งกมธ.ศึกษา"ถอดถอน"
ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช. (วิป) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมหารือถึงการสรรหากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของสนช. 5 คน โดยมอบให้ฝ่ายเลขานุการไปเปิดให้สมาชิก สนช. แสดงความจำนงเพื่อเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ 28 ต.ค. จากนั้นจะนำรายชื่อหารือในที่ประชุมวิปสนช. และคัดเลือกเหลือ 5 คน แล้วเสนอรายชื่อต่อที่ประชุมสนช.ในวันที่ 30 ต.ค. เพื่อลงมติเลือก
นพ.เจตน์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมวิป สนช.ยังพิจารณาเรื่องการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา โดยที่ประชุมมีมติให้แจกสำนวนการสอบสวนของป.ป.ช.ให้กับสมาชิก สนช.ทุกคน ซึ่งเป็นเอกสารลับ 3 ชุด เพื่อให้สมาชิกพิจารณาสำนวนประกอบการตัดสินใจ ก่อนจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในที่ประชุม สนช.อีกครั้ง
รายงานข่าวจากสนช. เผยว่า ล่าสุดทางสนช.หาทางออก กรณีป.ป.ช. เสนอเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์และนายนิคม โดยเตรียมตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาข้อกฎหมาย ว่าสามารถถอดถอนได้หรือไม่ ส่วนการศึกษาสำนวนถอดถอนนั้น มีเอกสารกว่าหมื่นหน้า ทำให้สมาชิกหลายคนบ่นว่าเอกสารมีจำนวนมาก เชื่อว่าแต่ละคนมีคำตอบอยู่ในใจว่าจะตัดสินใจอย่างไรอยู่แล้ว ซึ่งการลงมติถอดถอนต้องใช้คะแนน 3 ใน 5 หรือ 132 เสียงเป็นเรื่องที่ยาก และหลายคนอาจตัดสินใจงดออกเสียง
สปช.ประชุมนัดแรกคึกคัก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า บรรยากาศการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นัดแรกเป็นไปอย่างคึกคัก สปช.ทยอยมาถึงรัฐสภาตั้งแต่เวลา 07.00 น. โดยบางคนนำพวงมาลัยมาสักการะสิ่งสักดิ์สิทธิ์ภายในรัฐสภา และบางส่วนจับกลุ่มพูดคุยถึงการเลือกประธานและรองประธานสปช. ที่จะลงมติในเวลา 09.30 น. ซึ่งสปช.ยังคงสนับสนุนบุคคลที่ปรากฏชื่อในข่าว ทั้งนี้สปช. จัดทำเพลง "สปช..รู้รักสามัคคี" โดยมีนายนิมิต สิทธิไตรย์ สมาชิก สปช. เป็นผู้แต่งเนื้อ ร้องใหม่ นำมาจากเพลงต้นฉบับ "พรุ่งนี้" แต่งโดยนายประภาส ชลศรานนท์ ทำนอง นายจักพัฒน์ เอี่ยมหนุน
น.ส.ทัศนา บุญทอง สมาชิกสปช. ซึ่งเป็นตัวเต็งในตำแหน่งรองประธานสปช. คนที่ 2 กล่าวว่า ถ้ามีผู้สนับสนุนและเสนอชื่อตน ก็ยินดีรับตำแหน่ง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น ยังไม่ขอแสดงความเห็น
ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช.นนทบุรี เปิดเผยว่า ในการหารือร่วมกันระหว่างสปช.จังหวัด เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา มีมติร่วมกันว่าจะส่งนายประชา เตรัตน์ สปช.ชลบุรี เข้าชิงรองประธานสปช. คนที่ 2 ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนเท่าไรหรือมีใครเดินสายขอคะแนนไว้แล้วบ้าง
"พารณ"นั่งประธานชั่วคราว
จากนั้นเวลา 09.30 น. มีการประชุม สปช. โดยมีสมาชิกสปช. ลงชื่อร่วมประชุม 203 คนจาก 250 คน เมื่อเข้าสู่การประชุม นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปช. เชิญสมาชิกที่มีอาวุโสสูงสุดขึ้นทำหน้าที่ประธานชั่วคราว คือนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สมาชิก สปช. อายุ 87 ปี จากนั้นนายพารณให้ที่ประชุมรับทราบพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิก สปช. 250 คน และกล่าวปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่เปิดวีดิทัศน์ชี้แจงกรอบการทำงาน และภารกิจของ สปช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ลุกขึ้นกล่าวว่า จากรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 วรรคสอง ที่ต้องเลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันแรกที่เรียกประชุม ซึ่งหนังสือนัดประชุมลงวันที่ 15 ต.ค. ขัดกับวีดิทัศน์ หากเริ่มต้นขัดรัฐธรรมนูญจะเป็นปัญหา จึงอยากให้ลงบันทึกว่าการนับระยะเวลามีความสำคัญ
"เทียนฉาย"ฉลุยนั่งปธ.สปช.
จากนั้นนายพารณ นำเข้าสู่วาระการประชุมเลือกประธาน และรองประธาน สปช. โดยให้สมาชิกเสนอชื่อได้ 1 คน และต้องมีผู้รับรอง โดยนายชัย ชิดชอบ เสนอชื่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน ขณะที่นายชาลี เจริญสุข เสนอชื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นประธาน แต่นายอลงกรณ์ ได้ ขอถอนตัวโดยระบุว่า มีชื่ออยู่ในใจแล้วคือ นายเทียนฉาย ทำให้นายเทียนฉาย ได้เป็นประธาน สปช. โดยไร้คู่แข่ง
จากนั้นนายเทียนฉาย แสดงวิสัยทัศน์ว่า ขอให้ความมั่นใจว่าตนพร้อมและตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด งานสปช.ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมี 2 ส่วน คือ ร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป มีประเด็นหลัก 10 ด้านขึ้นไปและด้านอื่นๆ ยังไม่ได้บอกว่าอะไรบ้าง คงต้องปรึกษากัน สำหรับแนวทางทำงานสปช. ต้องซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ทำให้ประชาชนได้รับรู้เข้าใจในสิ่งที่เป็นความหวังโดยเฉพาะการยกร่างรัฐธรรมนูญ แม้มีกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่สปช.จะช่วยให้ความเห็นเป็นขั้นตอนเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตามกรอบเวลากำหนด ซึ่งผลการปฏิรูปอาจทอดออกไป แต่กรอบและแนวความคิดการปฏิรูปน่าจะบรรลุความสำเร็จระดับหนึ่ง
บวรศักดิ์รองปธ.คนที่ 1
"สิ่งที่สำคัญต้องคิดร่วมกันเรื่องเป้าหมายการปฏิรูปที่อยากจะให้เกิดขึ้น ซึ่งสปช.ต้องประสานความคิด ประสานพลังโดยเฉพาะการฟังเสียงประชาชน ทั้งที่ประชาชนนำเสนอ และส่วนที่เราผลักดันให้ประชาชนเสนอความเห็นในการปฏิรูปประเทศ เราจะร่วมกันทำงานตั้งแต่บัดนี้ ผมจะทำหน้าที่ประสานทั้ง 250 คน และแนวคิดปฏิรูปทั้งหลายของประเทศให้บรรลุผลสำเร็จตามที่ทุกคนเป็นปรารถนา" นายเทียนฉายกล่าว
ต่อมานายพารณ ให้สมาชิกสปช. เสนอชื่อรองประธาน สปช.คนที่ 1 โดยนาย เสรี สุวรรณภานนท์ เสนอชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธาน สปช. คนที่ 1 โดยไม่มีคู่แข่ง ทำให้นายบวรศักดิ์ได้เป็นรองประธาน สปช. คนที่ 1
จากนั้นนายบวรศักดิ์ แสดงวิสัยทัศน์ว่า จะทำหน้าที่ช่วยประธาน สปช. ดำเนินการประชุมและกิจการสภา เพื่อให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นใช้ความรู้ความสามารถแก้ปัญหาบ้านเมือง สปช.มีอำนาจหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะการปฏิรูปมากกว่า 11 ด้าน และเสนอไปยังสนช. ครม. คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสนอไปยังกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 6 ส.ค.2558 วันนี้การปฏิรูปเป็นวาระชาติ การประสานงานกับสมาชิก สปช. ต้องเชื่อมโยงกับประชาชนให้การปฏิรูปของคนทั้ง 67 ล้านคน ทั้งนี้สปช.ต้องมีเอกลักษณ์ตัวเอง เราไม่ใช่สภาการเมือง ไม่มีอำนาจอะไรด้านนิติบัญญัติ นอกจากให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ และให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าเราจะเป็นแบบอย่างที่ดี จะไม่ทำให้การปฏิรูปที่ประชาชนทั้งประเทศคาดหวังล้มเหลว
"ทัศนา บุญทอง"รองคนที่2
ต่อมานายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา เสนอชื่อน.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธาน สปช. คนที่ 2 และนายนิมิต สิทธิไตรย์ เสนอชื่อนายประชา เตรัตน์ แข่งกับน.ส.ทัศนา ที่ประชุมจึงให้ทั้งสองแสดงวิสัยทัศน์ โดยน.ส.ทัศนา แสดงวิสัยทัศน์ว่า เป้าหมาย สปช.ต้องการปฏิรูปให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความเท่าเทียมเสมอภาค ต้องสร้างสังคมให้มีศีลธรรม เป็นหน้าที่สมาชิก สปช.ต้องร่วมมือกัน รวมทั้งทุกภาคส่วนของสังคม ขอให้ ผู้หญิงเป็นตัวแทนทำหน้าที่รองประธาน สปช. เพราะสปช.มีผู้หญิงเพียง 36 คน ต้องขออนุญาตสมาชิกสปช. ผู้ชายสนับสนุนผู้หญิง ขณะที่นายประชา แสดงวิสัยทัศน์ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปต้องทำอย่างซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นธรรม
จากนั้นนายพารณ ให้สมาชิก สปช.ลงคะแนนลับด้วยการเขียนชื่อบุคคลที่ควรได้เป็นรองประธาน สปช.คนที่ 2 หย่อนลงกล่อง โดยน.ส.ทัศนา ชนะนายประชาด้วยคะแนน 151 ต่อ 88 คะแนน ไม่ลงคะแนน 3 ใบ และบัตรเสีย 1 เมื่อนายพารณประกาศผลลงคะแนนเสร็จ สปช. ปรบมือแสดงความยินดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่ได้รับตำแหน่งประธานและรองประธาน คนที่ 1 และคนที่ 2 จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายเทียนฉายจบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะรัฐศาสตร์ นายบวรศักดิ์ จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง) จากคณะนิติศาสตร์ และน.ส.ทัศนา จบการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต (สุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชชั้นสูง) ส่วนการประชุมสปช. ในนัดแรกปรากฏว่า มีสมาชิกร่วมประชุม 244 คน จากองค์ประชุมทั้งหมด 250 คน
นับวันตั้งกมธ.ร่างรธน.เริ่ม 4 พย.
จากนั้นเวลา 13.00 น. นายพารณ ขอให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) 3 คณะ คือ กมธ.สรรหารายชื่อและตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช.ฉบับถาวร และกมธ.ประสานงานกิจการ สปช.ชั่วคราว แต่ที่ประชุมได้ขอหารือถึงการตีความการนับวันที่ เพื่อตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการนัดประชุมสปช.ครั้งแรก ตามมาตรา 31 ก่อนว่า จะนับจากวันใด ซึ่งสมาชิกบางส่วนเห็นว่ามีการใช้คำที่แตกต่างกันในมาตรา 31 ที่ระบุว่า นับจากวัดนัดประชุมครั้งแรก แต่ในมาตรา 32 ระบุว่า นับจากวันเรียกประชุม สปช.ครั้งแรก ที่ประชุม สปช.ควรจะต้องมีการลงมติหรือไม่ เพื่อความรัดกุมในการดำเนินงาน
นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสปช. และนายบวรศักดิ์ ให้ความเห็นต่อที่ประชุมตรงกันว่าต้องใช้มาตรา 5 ว่าด้วยประเพณีการปกครองประกอบ ปกติสำนักงานเลขาธิการสภาจะเป็นผู้ทำหนังสือเชิญประชุมนัดแรกโดยออกเป็น พ.ร.ฎ. วันนี้จึงเป็นวันประชุมนัดแรก ดังนั้นกรอบเวลาการตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันนี้ถึง 4 พ.ย. จึงไม่จำเป็นต้องลงมติแต่อย่างใด
มอบวิปสรรหากมธ.ยกร่างรธน.
ต่อมาที่ประชุมมีมติให้ตั้ง กมธ.ยกร่างข้อบังคับการประชุม สปช. ฉบับถาวร 19 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากสปช.ทั้ง 11 ด้าน ด้านละ 1 คน และสปช.กลุ่มจังหวัด 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน อาทิ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายเสรี สุวรรณภานนท์ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ โดยนัดประชุมครั้งแรก วันที่ 22 ต.ค. เวลา 09.30 น. และมีกำหนดเวลายกร่าง 15 วัน และตั้งกมธ.ประสานงานกิจการสปช.(ชั่วคราว) 22 คน ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน สปช. 2 คน ตัวแทนจาก สปช.ทั้ง 11 ด้าน ด้านละ 1 คน และสปช.กลุ่มจังหวัด 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน อาทิ นายเทียนฉาย นายบวรศักดิ์ น.ส.ทัศนา นายอลงกรณ์ พลบุตร นายประเสริฐ ชิตพงศ์ นายวันชัย สอนศิริ นัดประชุมครั้งแรกวันที่ 22 ต.ค. เวลา 09.30 น.
ส่วนการตั้งกมธ.สรรหาและตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิกสปช.เป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน ที่ประชุมมอบให้วิปสปช.ชั่วคราวเป็นผู้รับผิดชอบสรรหาและพิจารณากรอบเวลา 15 วัน ตามที่มาตรา 32 กำหนด พร้อมประสาน สนช. ครม.และคสช.เพื่อส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตามสัดส่วนที่มีด้วย จากนั้นนายพารณ ในฐานะประธานการประชุมจึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 17.00 น. พร้อมเชิญให้สมาชิกสปช.ร่วมเดินทางไปถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราช รวมเวลาการประชุมสปช.ในวันแรกทั้งหมด 7 ชั่วโมงครึ่ง
ปปช.แถลง 8 ปี-ปิด 2.5 หมื่นคดี
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. พร้อมกรรมการป.ป.ช.ทั้งหมด ร่วมกันแถลงผลงานครบรอบ 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 2549-6 ต.ค.2557 โดยนายปานเทพกล่าวว่า อยากชี้แจงว่า ป.ป.ช.ทำงานโดยยึดหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานทุกเรื่อง บางคดีไม่ยุ่งยาก ดำเนินการได้รวดเร็ว แต่บางคดีหลักฐานไม่ชัดเจน หาพยานหลักฐานลำบากเพราะถูกน้ำท่วมหรือผู้เกี่ยวข้องมีจำนวนมากทำให้ขั้นตอนยุ่งยาก
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. กล่าวว่า ในช่วง 8 ปี มีคดีทั้งสิ้น 34,528 เรื่อง ดำเนินการเสร็จ 25,012 เรื่อง ทำได้เฉลี่ยปีละ 3,000 เรื่อง คงเหลือกว่า 9,516 เรื่อง โดยอยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง 7,665 เรื่อง และอยู่ระหว่างไต่สวน 1,851 เรื่อง คดีเหล่านี้จำเป็นต้องเผด็จศึก ทั้งนี้คดีที่ไต่สวนมาทั้งหมดประเมินมูลค่าความเสียหายได้ 357,809 ล้านบาท แยกเป็นความเสียหายในส่วนราชการ 332,979 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 24,776 ล้านบาท และส่วนท้องถิ่น 38,257 ล้านบาท จะเห็นว่า ป.ป.ช.ไม่ได้นั่งเฉยๆ ทำหน้าที่เอาทรัพย์สินของแผ่นดินคืนมา บางเรื่องเหนือวิสัย เพราะการทุจริตสมัยนี้เงินมันไหลออกนอกประเทศ แต่เรามีความร่วมมือกับต่างประเทศอยู่
ชี้"สปช."ไม่ต้องโชว์บัญชีทรัพย์สิน
นายวิชากล่าวว่า หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ 1.องค์กรปกครองท้องถิ่น ถูกกล่าวหามากที่สุดถึงร้อยละ 50 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 และ 2.กระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะกรมที่ดิน 3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 4.กระทรวงศึกษาธิการ และ 5.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิชากล่าวอีกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้นำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549 รวมทั้งสิ้น 63 คดี แบ่งเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ 7 คดี การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน 54 คดี และให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 2 คดี โดยเป็นคดีที่ ป.ป.ช.ฟ้องเอง 15 คดี
เมื่อถามว่าสปช. ต้องยื่นแสดงบัญชี ทรัพย์สินฯ ต่อป.ป.ช.หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.เห็นว่า สปช.เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการ ใช้ความรู้ความสามารถในการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป ทำงานเพื่อบ้านเมืองให้มีผลดียิ่งขึ้น และเห็นว่าไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ใดๆ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้สปช.ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อป.ป.ช.
"วิชา"ลั่นเร่งปิดคดีข้าว"ปู"
นายวิชากล่าวอีกว่า กรณีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร้องให้ถอดถอนและดำเนินคดีอาญานายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรอง นายกฯ และรมว.คลัง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ ที่ประชุม ป.ป.ช.เห็นว่านายกิตติรัตน์ไม่มีเจตนากระทำความผิดทางอาญา และไม่ส่อในทางทุจริตหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงให้เรื่องที่ถูกกล่าวหาตกไป ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกร้องจ่ายเงินที่เกี่ยวกับการชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ทำสวนยางพารามิชอบนั้น ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป เนื่องจากเห็นว่าไม่เข้าเหตุแห่งการกระทำผิด
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการประชุมร่วมของคณะทำงานระหว่าง ป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด (อสส.) ในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายวิชากล่าวว่า คณะทำงานร่วมประชุมมา 2 ครั้งแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ และยังผ่อนปรนระยะเวลาเนิ่นนานเข้าเดือนที่ 3 ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 14 วันนับจากตั้งคณะทำงานร่วม ขึ้นมา ดังนั้นการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 7 พ.ย.นี้ หากไม่ได้ข้อยุติ ป.ป.ช.จะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่เช่นนั้นจะค้างคาอยู่อย่างนี้ตลอดไป ดังนั้น การประชุมวันที่ 7 พ.ย.นี้ ป.ป.ช.จะแจ้งผลการประชุมให้ทราบอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขอให้ติดตามด้วยใจระทึก
ยันใกล้ปิดคดีจำนำข้าวแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าวันที่ 7 พ.ย.นี้ หาก อสส.ยังไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช.จะฟ้องเองใช่หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ยังพูดถึงขั้นนั้นไม่ได้ เพราะหากตกลงกันได้ว่า อสส.จะฟ้องเองคือจบ แต่ ป.ป.ช.อยากให้คดีไปสู่ศาลโดยเร็วเพื่อ ให้ศาลมีโอกาสพิจารณา ความจริงไม่อยาก ฟ้องเอง อยากให้ อสส.ดำเนินการให้ เนื่องจาก ป.ป.ช.มีคดีความที่ต้องไต่สวนอีกเยอะ
นายวิชา กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้ากรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และพวก ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเกือบจะครบถ้วนแล้ว ขาดเพียงการไต่สวนสอบพยานบุคคลอีก 2-3 ปาก โดยมีการขอให้ถ้อยคำเพิ่มเติมของ ผู้สอบบัญชีของบริษัทสยามอินด้า จำกัด รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาบางราย ซึ่งคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหา 111 คน ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ ป.ป.ช.ดำเนินการมาดังนั้น การดำเนินการใกล้จะถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
ทนายจวก"วิชา"พูดนอกสำนวน
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้รับผิดชอบคดีรับจำนำข้าว กล่าวถึงกรณีนายวิชาระบุถึงโครงการรับจำนำข้าว มีการจ่ายเงิน 7 แสนล้านบาท โดยเงินส่วนใหญ่ถูกขนถ่ายออกนอกประเทศไปแล้วว่า เป็นการพูดนอกสำนวน ชี้นำสังคม ทำให้ลูกความตนเสียหาย ซึ่งหากมีหลักฐานว่ามีใครโกงจริง ก็ควรส่งหลักฐานให้คณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุด กับป.ป.ช. ดีกว่าจะมาพูดนอกสำนวน ชี้นำสังคม ทำให้เกิดความสับสนเข้าใจผิด เท่าที่ปรากฏหลักฐานแจ้งข้อกล่าวหากับลูกความของตน มีเพียงรายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้นที่เป็นพยานหลักฐาน
นายนรวิชญ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่นายวิชาระบุมีการโกงเงิน 7 แสนล้านบาท และ ขนเงินออกนอกประเทศนั้น นายวิชาเพิ่งมาพูดนอกสำนวนในครั้งนี้ จึงขอให้นายวิชาหยุดพูดนอกสำนวน และชี้นำสังคม เพื่อ มิให้สังคมสับสนเข้าใจผิด ขอให้ว่ากันในกระบวนการยุติธรรมจะดีกว่า
"พายัพ"เช่าเครื่องพาสส.พบแม้ว
รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเดินทางไปประเทศอินเดียระหว่างวันที่ 24-26 ต.ค. ซึ่งจะมีแกนนำพรรค อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายสมชาย และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ รวมทั้งอดีตรัฐมนตรี อดีตส.ส.อีสานและเหนือ และกลุ่มคนเสื้อแดง เดินทางไปพบพ.ต.ท.ทักษิณจำนวนมาก และในวันที่ 25 ต.ค. จะมีอดีตส.ส.และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้าพบเป็นคณะใหญ่ โดยนายพายัพ ชินวัตร จะเป็นผู้เช่าเครื่องบินแบบเหมาลำพาทั้งหมดเดินทางไป
ไพบูลย์ชี้สปช.ต้องแสดงทรัพย์สิน
ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. กล่าวว่า กรณีป.ป.ช. มีมติให้สปช.ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ส่วนตัวเห็นว่าสปช.ควรยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินเพราะ สปช.ถือเป็นตำแหน่งระดับสูงที่ใช้อำนาจรัฐเช่นกัน แต่เมื่อป.ป.ช.มีมติไม่ให้ยื่นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเป็นดุลพินิจของป.ป.ช. ตนห่วงว่าประชาชนจะมองสปช.ไม่ดี เพราะเราอาสาเข้ามาปฏิรูปประเทศ ต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจโปร่งใส อีกทั้งมติป.ป.ช.ไม่มีต่อท้ายให้เป็นความสมัครใจ สปช.คนไหนต้องการจะยื่นก็ยื่นได้ด้วย ไม่เช่นนั้นตนจะยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะยื่นให้ป.ป.ช.ทบทวนมติ นายไพบูลย์ กล่าวว่า สปช.คงไม่ทำอะไร แต่หากเป็นองค์กรภาคเอกชนหรือประชาชนจะยื่นให้ป.ป.ช.ทบทวนก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้
ด้านนางสารี อ่องสมหวัง สมาชิกสปช. กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้สปช.แสดงบัญชีทรัพย์สิน และหลักการหากมีการแสดงก็ต้องแสดงทุกคน ตนก็ยินดีและเตรียมพร้อมไว้แล้ว แต่เมื่อป.ป.ช.มีมติเช่นนี้ก็ต้องทำตาม จะยื่นแสดงคนเดียวคงไม่ได้ เราเข้ามาปฏิรูป ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย รัฐธรรมนูญ นโยบายที่จะใช้ในอนาคตก็อาจมีบ้างที่สนับสนุนผลประโยชน์ หรือขัดผลประโยชน์ของใครบางคน จึงเห็นควรแสดงบัญชีทรัพย์สิน
ปลัดสธ.โต้ขึ้นป้ายค้านงบฯสปสช.
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ถึงกรณีมีการปล่อยข่าวผู้บริหาร สธ.สั่งให้ขึ้นป้ายคัดค้านการจ่ายงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ยืนยันว่าไม่มีการสั่งการ แต่สิ่งที่ออกมาน่าจะสะท้อนปัญหาในพื้นที่ ตนจะประสานขอข้อมูลข้อเท็จจริงว่าเป็นเช่นไร ยอมรับว่าเรื่องข่าวลือเช่นนี้มีอยู่ในสังคม จึงขอใช้คำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯที่ว่า ข่าวสารไม่รับฟัง เซ่อ ถ้าเชื่อก็โง่
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผอ.สำนักบริหารการสาธารณสุข (สบรส.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบให้ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมผอ.รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ชมรม ผอ.รพ.ชุมชน ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และชมรมหมออนามัย กลับไปทำข้อเสนอ เพื่อนำมาหารืออีกครั้งในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นการประชุมย่อยกระทรวงกับ สปสช.และส่วนภูมิภาค เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการงบที่เหมาะสม ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังของ สปสช.ต่อไป
ครม.เห็นชอบยุทธศาสตร์ทางทะเล
วันที่ 21 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.2558-2562 ทั้งนี้ การจัดทำร่าง ดังกล่าวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลว่าจะทำอย่างไรให้กิจการพาณิชย์นาวี มีความราบรื่น และให้มีกลไกหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้าไปสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ นายกฯ ให้ความสำคัญกับการบูรณาการงานทุกมิติ อีกทั้งงานด้านทางทะเลจะต้องดูผลประโยชน์โดยรวมของทุกประเทศ ซึ่งสิ่งที่ฉบับนี้แตกต่างฉบับเดิมเพราะมีการเพิ่มองค์ความรู้เรื่องทะเลให้กับประชาชนและงานในมิติอื่นๆ เนื่องจากยังมีประชาชนที่มีความรู้ในเรื่องทางทะเลไม่มาก ขณะที่ผลประโยชน์ทางทะเลมีมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้นการจัดการเพื่อให้เกิดองค์กรความรู้ในเรื่องทางทะเลจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะเกี่ยวกับกรณีที่ไทยจะมีการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะการเจรจาดังกล่าวเป็นเรื่องของกลไกระหว่างประเทศ ไม่ใช่กลไกของยุทธศาสตร์นี้
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงหลังประชุมครม.ว่า นายกฯ สั่งการว่าร่างยุทธศาสตร์ในประเทศไทยมีจำนวนมาก จึงให้หน่วยงานทุกหน่วยที่มีแผนยุทธศาสตร์ไปปรับให้ตรงกันโดยนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหลัก
พม.เด้ง5รองอธิบดีนั่งผู้ตรวจ
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 21 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการ 5 คน ดังนี้ 1.นายอนุสันต์ เทียนทอง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้ตรวจราชการ 2.นายสมคิด สมศรี รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้ตรวจราชการ 3.นางอุษา หงส์กาญจนกุล รองผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เป็นผู้ตรวจราชการ 4.นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ รองผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นผู้ตรวจราชการ 5.นางเสาวนีย์ โขมพัตร รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้ตรวจราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็นต้นไป
กระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบแต่งตั้ง นางประนอม คำเที่ยง สาธารณสุขนิเทศก์ สำนักงานปลัดกระทรวง เป็นผู้ตรวจราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง
ครม.เห็นชอบแต่งตั้งนายไพโรจน์ อาจรักษา ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ (สปน.) เป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลข่าวสารของราชการ สปน. ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็นต้นไป
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ครม.เห็นชอบแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ดังนี้ แต่งตั้งนายเปเตอร์ยาค็อบ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งฮังการีประจำประเทศไทย แทนนายเดแนช โทมอย และเห็นชอบแต่งตั้ง นายเบร็นดัน รอเจอรส์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งไอร์แลนด์ประจำประเทศไทย แทนนายเดคลัน เคลลี ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ