- Details
- Category: การเมือง
- Published: Tuesday, 21 October 2014 09:46
- Hits: 3574
นที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8728 ข่าวสดรายวัน
สปช.ลงล็อก'เทียนฉาย'นั่งปธ.ชัวร์ พท.ชี้ถอดถอนยิ่งขัดแย้ง 'ปู'บินนอกมีคิวพบแม้ว 'ฮิวแมนไรต์'โวยปิดเว็บ
ต้อนรับ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับเจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. |
ถกเลือกปธ.สปช.วันนี้ เทียนฉายเต็งจ๋า บวรศักดิ์จ่อรองประธาน เพื่อไทยเตือนคสช. ก้าวข้ามหลุมดำขัดแย้งไม่พ้น เหตุปล่อยกลุ่มคน หน้าเดิมไล่บี้ถอดถอน ขณะมือกฎหมาย ปชป. ชง 'สนช.-คสช.'แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพิ่มอำนาจถอดถอน'บิ๊กป้อม' พอใจ ยังไม่มีเคลื่อนไหวใต้ดิน ผบ.สส.ชี้ต้องทำ ความเข้าใจกับผู้เห็นต่าง ด้าน'ฮิวแมนไรต์' โวยโดนบล็อกเว็บ 'ปู' บินญี่ปุ่นพาลูกทัวร์ปิดเทอม มีคิวพบ'แม้ว' ที่อินเดีย คสช.เผยขออนุญาตแล้ว
ครม.ยังไม่ใช้ห้องไมค์ทอง
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมครม.วันที่ 21 ต.ค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ยังคงใช้ตึกสันติไมตรี หลังในเป็นสถานที่ประชุม โดยห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 นั้น จะรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อื่นๆ ในกรณีไมโครโฟนแพง ให้ชัดเจนและมีความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆก่อน จึงจะใช้งานอย่างเป็นทางการ
นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า การประชุมครม.วันที่ 21 ต.ค.นี้ สมช.เตรียมเสนอครม.ให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.2558-2562 สาระสำคัญเป็นการปรับปรุงจากยุทธศาสตร์เก่าเพื่อให้ครอบคลุมความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทะเลทางด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันจะปรับโครงสร้างศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล.) เป็นศูนย์อำนวยการ ศร.ชล.แทน โดยมี ผบ.ทร.เป็นผอ. ซึ่งศูนย์ดังกล่าวบูรณาการการทำงานของ 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทัพ เรือ ตำรวจน้ำ กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
'บิ๊กป้อม'พอใจใต้ดินไม่ป่วน
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะที่ปรึกษาคสช. กล่าวถึงกรณีมีผู้ไปร่วมงานศพพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภา และอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่วัดบางไผ่เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า ไม่เป็นไร ตนเคยเรียนแล้วว่าเราจะชอบอย่างไร หรือจะเห็นในทิศทางที่ต่างกันอย่างไรไม่มีปัญหา จะชอบใครอย่างไรก็ได้ แต่ต้องระลึกเสมอว่าต้องไม่มีความขัดแย้ง เห็นต่างกันได้แต่ต้องอยู่ร่วมกันได้ เราไม่บังคับจิตใจ หากอยู่ภายใต้กฎหมายขอให้มองในส่วนรวมเป็นสำคัญ แต่ถ้าทำอะไรที่สังคมไม่ได้ประโยชน์ก็อย่าทำเลย
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคง มีหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. ผบช.ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กองบัญชาการกองทัพไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
พล.อ.ประวิตร กล่าวก่อนการประชุมว่า เพื่อประเมินสถานการณ์ความมั่นคงโดยรวม เพื่อทำให้ประเทศสงบเรียบร้อยและเดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งเราประชุมกันต่อเนื่อง สถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ยังไม่มีเรื่องกลุ่มกระบวนการที่จะเคลื่อนไหวใต้ดิน
ผบ.เหล่าทัพตบเท้าหนุนรัฐบาล
ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. เป็นประธานการประชุมผบ.เหล่าทัพครั้งแรก หลังแต่งตั้งโยกย้ายเดือนต.ค. 2557 โดยมีผบ.เหล่าทัพ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.
จากนั้นเวลา 11.30 น. พล.อ.วรพงษ์พร้อมผบ.เหล่าทัพ ร่วมกันแถลงผลการประชุมว่า การประชุมผบ.เหล่าทัพวันนี้ ได้ย้ำการปฏิบัติงานตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช.และพล.อ.ประวิตร รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม โดยเฉพาะงานยังคงปฏิบัติเหมือนเดิม เน้นเรื่องผลผลิต ผลลัพธ์ และตัวชี้วัดให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น จับต้องได้ ทั้งนี้นายกฯได้ให้แนวทางว่าใน 3, 6, 9 เดือนต้องมีผลงานชัดเจนเป็นรูปธรรม และเหล่าทัพมีหน้าที่สนับสนุนงานของรัฐบาลและคสช. ในปีนี้ถือว่ามีความสำคัญเพราะมีความต่อเนื่องในการทำงานของคสช. ในโรดแม็ปที่ 2 โดยกองทัพถือเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่ทั้ง คสช. สนช. สปช. ตามบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยให้ความร่วมมือสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่
ชี้ต้องทำความเข้าใจผู้เห็นต่าง
เมื่อถามว่ากองทัพจะมีส่วนดูแลทำความเข้าใจกับประชาชนที่มีความเห็นต่างอย่างไร พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว ซึ่งการแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งที่สปช.จะต้องดูแล ส่วนความเห็นที่ไม่ตรงกันมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ เน้น การทำความเข้าใจ พูดคุยกัน ชี้ประเด็นต่างๆให้เห็นเพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกัน ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้ประเทศชาติมั่นคงเจริญรุ่งเรือง ซึ่งไม่น่ามีปัญหา เมื่อเราเดินไปจุดหมายเดียวกัน ร่วมมือร่วมใจทำงานได้
เมื่อถามว่าได้ประเมินปัญหาเรื่องคลื่นใต้ น้ำอย่างไร พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า ไม่อยากให้เรียกว่าคลื่นใต้น้ำ เป็นเพียงคนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับคสช.และรัฐบาล 100 เปอร์เซ็นต์ อาจมีบางประเด็นไม่ตรงกัน แม้แต่ในสนช.ก็ยังมีความเห็นไม่เหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรที่จะเอาความเห็นของทุกคนมาทำเป็นความเห็นร่วมกันได้ เท่าที่ดูไม่มีปัญหาอะไรมาก ดำเนินการได้ตามโรดแม็ปที่วางไว้ จริงๆ แล้ว กองทัพไม่ได้อยู่จุดยอดสูงสุด แต่อยู่กลางๆ มีหน้าที่สนับสนุนรัฐบาล ส่วนบุคคลที่ไปทำหน้าที่อื่นทั้งรองนายกฯ รัฐมนตรี หรือคสช. ก็ทำตามหน้าที่และบทบาทตัวเอง แต่ทุกอย่างต้องบูรณาการให้บรรลุตามเป้าหมาย คือมีการเลือกตั้งที่ถูกต้องและเหมาะสม
ปฏิรูป 11 ด้านพร้อมกัน
"การปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านต้องทำพร้อมกัน จะมุ่งเน้นด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เหมือนร่างกายต้องฟิตทุกจุด จะเน้นแต่เล่นกล้ามอย่างเดียวไม่ได้ แขน ขา ตับ ไต ปอด หัวใจต้องแข็งแรง ซึ่งทั้ง 11 ด้านถือว่าสมบูรณ์แล้ว แต่จะมีด้านอื่นไว้เผื่อช่วงเวลาจำกัด ไม่ครอบคลุม ด้านอื่นๆจะเป็นตัวเสริมให้สมบูรณ์" ผบ.สส.กล่าว
เมื่อถามว่าถ้าปฏิรูปสำเร็จการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่าถ้าปฏิรูปได้ก็ไม่น่ามีอะไรเกิดขึ้น เพราะเราเขียนโรดแม็ปเพื่อนำสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ได้นักการเมืองที่ดีมาบริหารประเทศ
เมื่อถามว่าถ้าเป็นรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์บริหารงาน 1 ปีไม่มีอะไรดีขึ้น ทหารจะมีบทบาทอะไรหรือไม่ พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า นายกฯบริหารประเทศได้อยู่แล้วตามโรดแม็ปที่วางไว้ ตนมั่นใจในตัวนายกฯ และกองทัพก็สนับสนุนงานเต็มที่อยู่แล้ว เพราะเป็น ข้าราชการ เหมือนจิ๊กซอว์ที่มีตัวต่อเป็นร้อย ถ้าแต่ละตัวมีปัญหา ภาพก็ไม่เป็นอย่างที่ต้อง การ เราต้องทำของเราให้ดีที่สุด
ยงยุทธ อู้อี้ 'บวรศักดิ์'คุมร่างรธน.
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการส่งรายชื่อโควตา ครม. 5 คนร่วมเป็น กมธ.ยกร่างรัฐ ธรรมนูญว่า ในส่วนนี้ ครม.ต้องให้ความเห็นชอบก่อน เมื่อถามว่าถ้าเสนอชื่อรัฐมนตรีเข้าไปจะทำอย่างไรเพราะ กมธ.ยกร่างฯ ดำรงตำแหน่งควบรัฐมนตรีไม่ได้ หรือ ครม.จะหยิบชื่อคนนอก ครม.ขึ้นมาแทน นายยงยุทธกล่าวว่า ก็พูดคุยกัน มีความเป็นไปได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรีหมด ส่วนจะใช้คำว่าผู้แทน ครม.หรือไม่ ตนไม่ทราบคำศัพท์ที่ชัดเจน แต่ถือว่าเป็นคนที่ ครม.เลือกสรรมา
เมื่อถามว่าแสดงว่าจะไม่มีรัฐมนตรีลาออกเพื่อไปเป็น กมธ.ยกร่างฯ ใช่หรือไม่ นาย ยงยุทธกล่าวว่า ดูแล้วมันลำบาก เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะได้เป็นประธาน กมธ.ยกร่างฯ และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน สปช. มีการคุยเรื่องนี้กันใน ครม.หรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า ก็คุยกันเยอะ ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าหมายถึงมีการคุยกันในที่ประชุม ครม.ใช่หรือไม่ นาย ยงยุทธกล่าวว่า ก็มีความเป็นไปได้ แต่ไม่ได้ไปตามถามว่าใครเป็นใคร คุยกันทั่วๆ ไป ซึ่งตนรู้จักทั้ง 2 คนดี มีความสามารถอย่างดี น่าจะช่วยได้เป็นอย่างดี
โยนสปช.ปฏิรูปองค์กรอิสระ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปฏิรูปองค์กรอิสระว่า ไม่มีโมเดลใดๆ อยู่ในใจ ให้ สปช.เป็นคนคิด ซึ่งตอนนี้ทั้งคนที่ต้องการยุบรวมองค์กรนั้นองค์กรนี้ ซึ่งควรให้ สปช.ไปว่ากันเอง
นายวิษณุกล่าวถึง สปช.ต้องเสนอกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญภายใน 60 วันว่า ต้องนับจากวันที่มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรม นูญ คือวันที่ 4 พ.ย. ไม่ใช่นับจากวันที่ 21 ต.ค. อย่างที่เข้าใจกัน ส่วนรายละเอียดนั้น กมธ. ยกร่างฯ จะเป็นคนคิดเอง ดังนั้นเวลา 60 วันเพียงพอในการทำงานหากใช้เวลาให้คุ้ม อย่างไร ก็ตาม เมื่อ สปช.เลือกประธาน รองประธาน ได้ตัวบุคคลแล้วสามารถประชุมเพื่อเตรียมตัวได้ นัดกันได้ว่าจะมีกรรมาธิการกี่ชุด อย่างไร โดยตั้งวิปสปช. ส่วน กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นโควตา ของ ครม.นั้นขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ครม.ยังไม่ได้หารือกัน ต้องรอให้นายกฯ นัดหารืออีกครั้ง แต่คงไม่นำมาหารือใน ครม.วันที่ 21 ต.ค.นี้เพราะเร็วเกินไป ตอนนี้อาจมีรายชื่อออกมาเป็น ข่าวซึ่งเชื่อว่าเป็นการเสนอเพื่อชิงโควตากัน
เมื่อถามว่า สปช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ และต้องยื่นแสดงรายการ บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าไม่ จนกว่าป.ป.ช.จะชี้ ขอให้ไปถามความชัดเจนจากนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช.
สภาพร้อมเปิดประชุมสปช.
ที่รัฐสภา นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลำดับที่ 219 ได้เข้ามารายงานตัวเป็นสมาชิก สปช.เป็นคนสุดท้าย หลังจากติดภารกิจที่ต่างประเทศ ทำให้ขณะนี้มีสมาชิก สปช.ครบทั้ง 250 คน โดยวันที่ 21 ต.ค.นี้จะประชุม สปช.นัดแรก เวลา 09.30 น. เพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปช.
นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปช. พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้ตรวจความพร้อมของห้องประชุม รัฐสภาที่จะใช้เป็นสถานที่ประชุม สปช.นัดแรก โดยได้ตรวจสอบระบบเทคนิค ระบบเสียง และความพร้อมของเครื่องลงคะแนนเสียง รวมถึงจอวีดิทัศน์ที่จะเปิดให้สมาชิก สปช.รับชม โดยวีดิทัศน์มีความยาว 5 นาที เนื้อหาหลักๆ จะชี้แจงการทำหน้าที่ของ สปช.และแนวทางการทำงาน โดยเฉพาะการตั้งคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีสัดส่วนของสปช. 20 คน ต้องจัดตั้งให้เสร็จภายใน 15 วันหลังประชุมนัดแรก ทั้งนี้ การประชุม สปช.นัดแรก จะใช้ข้อบังคับของสนช. โดยให้นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา สปช. ที่มีอาวุโสสูงสุด 87 ปี ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว เพื่อเลือกประธานและรองประธานสปช. 2 คน
หนุน'เทียนฉาย'นั่งประธาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อน ไหวการเตรียมความพร้อมการประชุม สปช. วันที่ 21 ต.ค.เพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปช.นั้น สปช.กลุ่มต่างๆ นัดพูดคุยกันเรื่อยมาตั้งแต่เปิดรับรายงานตัว ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ จากนั้นนัดพูดคุยกันนอกรอบ อาทิ สปช.กลุ่มสื่อสารมวลชน สปช.กลุ่มเอ็นจีโอ สปช.กลุ่มอดีตส.ว. สปช.กลุ่มที่เป็น ผู้หญิง และ สปช.กลุ่มรายจังหวัด ที่นัดพูดคุยพบปะสังสรรค์กันเวลา 16.00 น. วันที่ 20 ต.ค. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าสนับสนุนนายเทียนฉาย กีระนันทน์ สมาชิก สปช. เป็นประธาน สปช. โดยนายชัย ชิดชอบ สมาชิก สปช. จะเป็น ผู้เสนอชื่อนายเทียนฉายเพียงคนเดียว โดยไม่เสนอชื่อบุคคลอื่นเป็นคู่แข่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ส่วนตำแหน่งรองประธาน สปช.คนที่ 1 ก่อนหน้านี้มีชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะสมาชิกสปช. มาดำรงตำแหน่งนี้ แต่มี สปช.บางกลุ่มหารือถึงความเหมาะสม เพราะนายบวรศักดิ์ต้องไปเป็นประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย สปช.สายเอ็นจีโอจะเสนอชื่อ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสปช. ขึ้นมาประกบ แต่ สปช.บางส่วนประเมินว่านายบวรศักดิ์จะได้รับเสียงสนับ สนุนมากกว่า ส่วนรองประธาน สปช. คนที่ 2 คาดว่าจะเป็น น.ส.ทัศนา บุญทอง สมาชิก สปช. เนื่องจากคู่แคนดิเดต น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช สมาชิก สปช. อดีตรองประธาน สนช.ปี 2549 ปฏิเสธไปแล้ว
'ทัศนา'รองปธ.สปช.คนที่ 2
ด้านน.ส.ทัศนาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ทราบว่าจะเสนอชื่อตนเป็นรองประธาน สปช.คนที่ 2 และไม่ทราบว่าจะมีชื่อสปช.คนอื่นขึ้นมาประกบแข่งขัน ซึ่งเห็นว่าเป็นสิทธิที่จะเสนอชื่อได้ ต้องแล้วแต่สมาชิกสปช.ส่วนใหญ่จะเลือกใคร แต่หากเลือกตนก็พร้อมทำหน้าที่ ต้องดูว่าสมาชิกสปช.จะเลือกใคร
นพ.พลเดช ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีสปช.ที่เป็นอดีตส.ว. และสปช.สายเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมจะเสนอตน หากเสนอชื่อตนจริงก็ไม่รู้จะออกมาอย่างไร ซึ่งตนไม่ขัดข้อง การทำงานในสปช.ต้องดูไปข้างหน้าเนื่องจากงานมีจำนวนมาก ไม่ต้องอาศัยหัวโขนในการทำหน้าที่ อีกทั้งไม่อยากให้เห็นภาพการช่วงชิงแข่งขันเพื่อหาประโยชน์ให้ตัวเอง แต่อยากให้ทุกคนมุ่งหน้าทำงานมากกว่า
ด้านนายเทียนฉาย กีระนนทน์ สมาชิก สปช.ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่ามีความพร้อมทำหน้าที่ประธานสปช. หากมีสมาชิกสนับสนุน แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบจะได้เสียงสนับสนุนเท่าไร และหากไม่ได้รับเลือกตนจะทำหน้าที่สปช. ด้านคุณธรรมจริยธรรม
คสช.ไฟเขียว'บวรศักดิ์'รองปธ.
รายงานข่าวแจ้งว่า คสช.เห็นด้วยว่าให้นายเทียนฉายเป็นประธานสปช. และนายบวรศักดิ์กับน.ส.ทัศนา เป็นรองประธานคนที่ 1 และ 2 จึงมีการพูดคุยและขอเสียงสนับสนุนให้ ทั้ง 3 ตำแหน่ง ซึ่งมีผู้ใหญ่ในคสช.บางคนโทรศัพท์ไปขอคะแนนกับสมาชิกสปช. บางคนให้เลือกทั้ง 3 คน โดยเฉพาะนายบวรศักดิ์ที่มีเครือข่ายสถาบันพระปกเกล้า มีลูกศิษย์อยู่ในกลุ่มต่างๆในสปช.จำนวนมาก รวมทั้งสปช.สายจังหวัด มีความสัมพันธ์อันดีและรู้จักส่วนตัวกับนายบวรศักดิ์ ดังนั้น คะแนนสนับสนุนนายบวรศักดิ์จึงมีจำนวนมาก
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมสปช.วันที่ 21 ต.ค. นอกจากมีวาระเลือกประธานและรองประธานสปช.แล้ว มีวาระการเลือกคณะกรรมการประสานงานหรือวิปสปช.ชั่วคราว โดยจะให้สปช.แต่ละด้านเสนอส่งตัวแทนเป็นวิปชั่วคราวด้านละ 2 คน รวมทั้งจะกำหนดกรอบเลือกตัวแทนสปช.เป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
เอกชัย ชงฟังประชาชนแก้รธน.
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิกสปช. และผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงการประชุมสปช.ในวันที่ 21 ต.ค. ว่าบุคคลที่จะทำหน้าที่ประธานและรองประธานสปช. ต้องมีลักษณะประนีประนอม ไม่มีภาพความขัดแย้งหรือการเลือกข้างทาง การเมือง ส่วนแนวทางการทำงานของ สปช.นั้น เบื้องต้นได้หารือกับสมาชิกในส่วนของกลุ่มจังหวัดแล้ว มีแนวคิดจะจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนในจังหวัดต่างๆ โดย มีสปช.จังหวัดร่วมกับผู้สมัครสปช.ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกร่วมจัดเวที รูปแบบการรับฟังความเห็นนั้นจะไม่กำหนดประเด็นใดประเด็นหนึ่งเฉพาะ ต้องเปิดกว้างให้คนระดับพื้นที่มีส่วนร่วมมากที่สุด
พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า มีประเด็นต้องให้ความสำคัญในระยะต่อไป คือกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเห็นว่าต้องเป็นคนหน้าใหม่และไม่มีลักษณะเลือกขั้วการเมือง เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต เช่น การยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรณีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ผ่านการทำประชามติ ควรทำประเด็นเริ่มต้นของการยกร่างให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายด้วย ส่วนการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าห้ามฉีก ห้ามแก้ แต่ควรกำหนดบทบัญญัติให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากขึ้น ด้วยการกำหนดวิธีสอบถามความเห็นของประชาชน และต้องไม่ใช่การกำหนดบทลงโทษของคนที่คิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสปช.ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมสปช.วันที่ 21 ต.ค.นี้ ตนจะไม่เสนอชื่อลงแข่งขันชิงประธานสปช. เพราะอายุมากแล้ว และตนเป็นนักการเมืองมากว่า 40 ปี ต้องรู้ว่าอะไรคือไฟ อะไรคือน้ำ อะไรคือฟ้า อะไรคือลม
ปชป.ชงแก้รธน.ให้ถอดถอนได้
นายราเมศ รัตนะเชวง คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงอำนาจการถอดถอนของสนช.ว่า เรื่องถอด ถอนเป็นปัญหาสำคัญ เพราะไม่มีความชัดเจนในข้อกฎหมายและไม่ได้รับการแก้ไข หรือคำตอบจากคสช. เหตุใดคสช.จึงไม่ทำให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้สนช.ได้ข้อกฎหมายที่ยุติ ส่วนข้อเท็จจริงและคนที่ถูกถอดถอนจะสู้คดีอย่างไรก็ว่ากันไป ทั้งนี้ตนขอเสนอให้คสช.ใช้อำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ 1.ใช้อำนาจเรียกประชุมร่วมกัน คสช. กับครม. เพื่อมีมติแก้รัฐธรรมนูญแก้ใขเพิ่มเติม "ให้หมวดที่ 12 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 3 เรื่องการถอดถอน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้สนช.มีอำนาจถอดถอนต่อไป และให้บุคคลใดที่กระทำผิดตามรัฐธรรมนูญปี"50 ซึ่งเป็นเหตุให้ถอดถอน ให้ถือว่าเป็นความผิดที่สนช.มีอำนาจถอด ถอนต่อไปได้" 2.ให้รีบนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติม เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. โดยใช้เวลา 15 วัน
นายราเมศ กล่าวต่อว่า 3.เมื่อสนช.พิจารณาแล้ว นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ สนช.มีมติ และ 4.ยืนยันว่าทำได้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรทำ ทั้งหมดจะใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน ทั้งนี้ ประเด็นการถอดถอนมีความชัดเจนในข้อกฎหมายไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการยัดเยียดความผิดให้ผู้ที่ถูกถอดถอนเพราะเป็นความผิดที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้ร่างกฎหมายเพื่อเอาผิดใคร จึงขอเอาใจช่วย สนช. ให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้ แม้สนช. บางคนจะถอดใจเพราะลังเลใจในอำนาจหน้าที่และฐานความผิด และหากไม่สามารถถอด ถอนได้เพราะความไม่ชัดเจนของกฎหมาย คสช.ต้องรับผิดชอบเพราะประชาชนไว้ใจและศรัทธา คสช.มาก
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก ปชป. กล่าวว่า ขอทวงสัญญาจาก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานตรวจสอบโกดังข้าว ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนชื่นชมการตรวจสอบข้าวเสีย ข้าวหาย ข้าวไร้คุณภาพ เป็นผลงานเอบวก แต่กลับเลื่อนการแถลงสรุปผลงานชี้แจงสังคมมาตลอด 2 เดือน จึงขอให้เร่งชี้แจงว่า ข้าวสูญหายเท่าไร เสื่อมสภาพเท่าไร และที่เกิดการทุจริตตามโกดังต่างๆ รัฐบาลจะดำเนินคดีอย่างไร
พท.เตือนคสช.ก้าวข้าม'ขัดแย้ง'
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขา ธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการถอด ถอนนักการเมืองว่า หากสังเกตให้ดีผู้ที่ต้อง การให้ถอดถอน จะเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมๆ ที่ยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง ไม่ได้มองว่าประชาชนทั้งประเทศเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ซึ่งเป็นผลมาจากความอคติ เกลียดชัง ตนไม่ได้ปกป้องหรือให้ปรองดองกับคนทุจริต ถ้าพบว่าทุจริตชัดเจนก็ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมือง ควรยุติหรือควรอภัยกันได้แล้ว แต่คนบางคนหรือบางกลุ่มพูดไปก็ทำเป็นไม่เข้าใจ ขอให้นายกฯ และผู้เกี่ยวข้องที่ประกาศว่าเข้ามาเพื่อแก้ความขัดแย้ง ช่วยไตร่ตรองปัญหาต่างๆ ให้รอบคอบ หาทางทำให้บ้านเมืองสงบสุข เราต้องก้าวข้ามหลุมดำแห่งความขัดแย้งให้ได้ มิเช่นนั้นประชาชนจะยิ่งทุกข์ยากมากขึ้น
นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ สนช.บางคนและบางกลุ่มหยุดสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะ เห็นชัดเจนว่ามีความพยายามเดินหน้าถอด ถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไล่ล่ากันไม่จบสิ้น จนลืมทำหน้าที่ของตนเองในการออกกฎหมายต่างๆ ที่จำเป็นต่อประเทศชาติ วันนี้อดีตส.ส. และอดีตส.ว.ที่จะถอด ถอนก็กลายเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาไปแล้ว จะมาถอดถอนอะไรกันอีก อยากฝากถึงคสช.ว่าจะต้องรับผิดชอบการกระทำของ สนช.ที่ตั้งขึ้นมา เพราะหลายคนล้วนเป็นคู่ขัดแย้งในอดีต และฝากถึงการปฏิรูปด้วยว่าอย่าปล่อยให้นำไปสู่การแบ่งแยกประเทศ มิเช่นนั้นจะถือเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของ คสช. สิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะสูญเปล่า
จวก'วิชา'ไม่เข้าใจชาวนา
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ระบุคนที่คิดนโยบายจำนำข้าวได้เลวร้ายที่สุดว่า นายวิชาคงไม่เข้าใจหลักคิดของโครงการนี้ ชาวนาถือเป็นคนจนในประเทศ การช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว และเมื่อเทียบสัดส่วนจำนวนชาวนากับเงินที่เสียไป ถือว่าเงินที่เสียไปนั้นไม่มาก เพราะจีดีพีของไทยมี 12 ล้านล้านบาท เสียแสนกว่าล้านเพื่อให้ชาวนาคนละ 10,000 บาท ซึ่งคน 16 ล้านคนต่อปีถามว่ามากหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่มาก แต่ถ้ารั่วไหลก็ต้องดูในจุดนั้น อุดปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น ใครผิดก็ดำเนินดคี ไม่ใช่โครงการไม่ดี แต่ถ้าบอกว่าการช่วยเหลือชาวนา เป็นเรื่องที่ผิด ถือว่านายวิชาแย่มาก ทั้งนี้ โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ยึดโยงกับผล ผลิตนั้นเป็นเรื่องดี ทำให้คนขยันสร้างผลผลิต เมื่ออัดเงินเข้าไปเศรษฐกิจก็หมุนเวียน ชาวนาได้รายได้ รัฐบาลก็ได้ภาษีเข้ามาด้วย
นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายวิชาพูดอคติ เกินไป เงินใช้จ่ายไป ชาวนารับเงินไปทุกครอบครัวที่จำนำโดยขึ้นทะเบียนเกษตรกร รัฐบาลแปรรูปเก็บเข้าโกดัง ประมูลขาย ซึ่งป.ป.ช.พูดไม่หมด ตัวเลขธ.ก.ส.มีอยู่ว่ารัฐยืมไปเท่าไร ขายข้าวแล้วไปคืนเท่าไร การจำนำ 2 ฤดูที่ผ่านมานั้น กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไปแล้วเท่าไร ค้างสต๊อกเท่าไร ถ้าขายทั้งหมดจะขาดทุนเท่าไหร่ นายวิชาควรพูดให้หมด จินตนาการไปว่าเงิน 7 แสนล้านโกงและขนไปเมืองนอก มโนเกินไปหน่อย
"นายวิชาควรไปดูว่าจำนำข้าวมีข้าวล้นโกดัง แต่จะจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละพันมีข้าวสักกิโลหรือไม่ การเป็นกรรมการป.ป.ช.แต่มาพูดให้ร้ายคนอื่นเป็นเรื่องไม่สมควร มีอำนาจ มีหลักฐานดำเนินการได้เลย ไม่มีใครว่า แต่ใส่ร้ายรัฐบาลที่ทำโครงการนี้ โดยที่เขาไม่ได้ชี้แจง ผมว่าไม่เหมาะ ผมมองว่าตอนนี้ควรปฏิรูปคนเข้ามาเป็นป.ป.ช.ด้วย แต่งตั้งมาแบบทนทาน 9 ปีต่อวาระ แบบนี้ยังจะบอกว่าฟังประชาชนอยู่อีกหรือไม่" นายสมคิดกล่าว
สหรัฐไม่ลดระดับคอบร้าโกลด์
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. ในฐานะสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงสหรัฐอเมริกาลดระดับการฝึกร่วมคอบร้าโกลด์ กับประเทศไทย ภายหลังกองทัพไทยทำรัฐประหารว่า ไม่จริง ขณะนี้กำลังเริ่มการฝึกแล้ว มีการประชุมเตรียมการฝึกประจำปี 2558 เตรียมความพร้อมด้านกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปรับรูปแบบการฝึก เป็น ไลท์เยียร์ กับ แฮปวิงเยียร์ ซึ่งในปี 2558 ตรงกับไลท์เยียร์ จึงดูเบาลง แต่จะทำให้เป็นแฮปวิงเยียร์ในไลท์เยียร์ ให้เห็นว่าสหรัฐไม่ได้ลดระดับลง แต่ภาพใหญ่เป็นการฝึกขั้นตอนการวางแผน ประสานงาน ซึ่งมีกำลังพลน้อย แต่เราจะทำให้ใหญ่ในไลท์เยียร์ เพื่อให้เห็นว่าความสัมพันธ์ไม่มีปัญหา
ผบ.สส. กล่าวอีกว่า ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านนั้น รัฐบาลและอดีตผบ.เหล่าทัพที่ผ่านมาทำมาได้ดีมาก ต่อไปคือพวกเราต้องรักษาเสถียรภาพระหว่างประเทศ ส่วนกรณีเขาพระวิหารนั้น กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดูแล ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาลคือ ทำอย่างไรให้มีความสงบสุข และตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ มองว่าเมื่อเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปัญหาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ก็จะมีผลน้อยลง
บิ๊กตู่ปลื้มบาห์เรนพร้อมหนุน
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หารือข้อราชการกับเจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ (His Royal Highness Khalifa Bin Salman Al Khalifa) นายกฯแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน
จากนั้นพล.ต.วีระชน สุคนธปฏิภาค คณะทำงานนายกฯ แถลงผลการหารือว่า นายกฯบาห์เรนได้ยืนยันกับพล.อ.ประยุทธ์ว่า เห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในแง่มุมความมั่นคง เพราะส่วนตัวนายกฯบาห์เรนเห็นว่าความมั่นคงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตมนุษย์ จึงรู้สึกว่าขณะนี้กรุงเทพฯปลอดโปร่งโล่งสบาย และชื่นชมศักยภาพของคนไทยในทุกเรื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น ทั้งนี้นายกฯบาห์เรนยังเชิญนายกฯไทยเยือนบาห์เรนอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งสนใจจะซื้อข้าวจากไทย ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไปที่ทั้งสองประเทศจะหารือกันในเรื่องดังกล่าว หรือเรื่องอาหาร และภาคเกษตรกรรม
"นายกฯบาห์เรนปวารณาตัวว่า ในฐานะที่ชื่นชมประเทศไทยและรักคนไทย หากมีอะไรที่บาห์เรนจะเป็นผู้ประสานงาน หรือเชื่อมต่อไทยกับประเทศในกลุ่มอาหรับได้ก็ยินดีและเต็มใจเป็นผู้ประสานให้ และยินดีสนับสนุนบทบาทของไทยในเวทีโลกเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจให้กับประเทศอื่นๆ นอกเหนือภูมิภาค โดยรับปากว่าจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ อธิบายให้เข้าใจถึงสถานการณ์ในไทยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ปลาบปลื้มใจที่วันนี้มีมิตรแท้ประเทศหนึ่งมาให้กำลังใจและแสดงออกถึงความเข้าใจว่าสิ่งที่รัฐบาลและนายกฯทำอยู่นั้นทำเพื่ออะไร เขามาเพื่อบอกว่าเขาเข้าใจ เห็นใจและให้กำลังใจให้สถานการณ์ดีขึ้น เขายินดีร่วมมือในทุกรูปแบบ หวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือไทย-บาห์เรนที่ใกล้ชิดมากขึ้นในทุกมิติ" พล.ต.วีระชนกล่าว
'ปู'บินญี่ปุ่นพาลูกทัวร์ปิดเทอม
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. รายงานข่าวพรรคเพื่อไทย แจ้งว่า ในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด้วยด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ เมื่อกลางดึก วันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา มีบุคคลใกล้ชิดและคนในครอบครัวร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อพักผ่อนและท่องเที่ยว ตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์รับปากกับบุตรชายไว้ว่าจะพาไปพักผ่อนช่วงปิดเทอม
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า จากนั้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้จะเดินทางต่อไปยังประเทศอินเดีย เพื่อทำบุญทอดกฐิน โดยมีบุคคลใกล้ชิด อาทิ นายสมชาย และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นายพายัพ ชินวัตร รวมทั้งแกนนำและอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางไปร่วมทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย อย่างไรก็ตามคาดว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะมาร่วมทำบุญที่อินเดียด้วย โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 26 ต.ค.นี้
ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคสช. กล่าวถึงข่าวน.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ว่า เป็นการเดินทางออกนอกประเทศตามปกติของน.ส.ยิ่งลักษณ์และบุตรชาย โดยได้แจ้งกำหนดการเดินทางให้คสช.รับทราบแล้วตามที่คสช.เคยขอความร่วมมือไว้ แต่รายละเอียดและวันเดินทางกลับนั้นไม่ขอเปิดเผย เพราะเป็นกำหนดการส่วนตัว จึงไม่สะดวกที่จะเปิดเผยต่อสื่อมวลชน ส่วนที่มีข่าวว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางไปเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกันนั้นขณะนี้ตนยังไม่ทราบ
โวย'รบ.'บล็อกเว็บฮิวแมนไรต์ฯ
วันที่ 20 ต.ค. นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำประเทศไทย กล่าวถึงเว็บไซต์ ฮิวแมนไรต์วอตช์ ไทยแลนด์ถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หลังออกแถลงการณ์วิจารณ์รัฐบาลช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม เมื่อวันที่ 16-17 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ฮิวแมนไรต์วอตช์ยกเรื่องนี้มาหลายครั้งว่า มีไม่กี่ประเทศในโลกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพโดยเฉพาะสื่อและออนไลน์ โดยเหตุผลด้านความมั่นคง ไม่มีประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชนไหนที่เห็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และไม่ควรให้ประชาชนรับรู้ มีแต่ประเทศเผด็จการเท่านั้น อ้างกับนานาชาติว่าเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมล้วนขัดแย้ง
นายสุนัย กล่าวว่า สหภาพยุโรป หรืออียู มีจุดยืนชัดเจนว่ายังไม่ฟื้นฟูระดับความสัมพันธ์กับไทย ระงับการเจรจากรอบความร่วมมือกับไทยในด้านการค้าเสรี ตราบใดที่การลิดรอนเสรีภาพยังดำเนินอยู่ หัวหน้ารัฐบาลประกาศว่าการเลือกตั้งเลื่อนไปได้อีก กรอบเวลาเข้าสู่ประชาธิปไตยไม่ชัดเจน ทำให้อียูไม่มั่นใจกับรัฐบาลทหารว่าจะนำสิทธิมนุษยชนกลับคืนมาได้ การประชุมอาเซมครั้งล่าสุดจึงน่าสนใจว่าไทยไม่ได้พบกับผู้นำต่างประเทศในระดับทวิภาคีมากเท่าในอดีต ทั้งที่เป็นประเทศเนื้อหอมในอาเซียน
นายสุนัย กล่าวว่า ประชาชนยังมีวิธีการใช้ช่องทางอื่นๆ เข้าถึงข้อมูลที่ถูกปิดกั้นได้มาก เพราะสังคมออนไลน์กว้างมาก ทหารไม่สามารถปิดตาด้วยฝ่ามือ แต่การบล็อกเว็บไซต์มีผลในเชิงสัญลักษณ์ว่ามีเจตนาหรือพยายามอย่างเป็นระบบในการปิดกั้น ไม่ให้คนไทยในประเทศไทยรับรู้ถึงเสียงวิจารณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์กรระหว่างประเทศ
นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลไทยมีภาพลักษณ์ในสายตานานาชาติเป็นลบมากขึ้น เนื่องจากนายกฯเพิ่งกลับจากประชุมอาเซม ที่อิตาลี ทำให้นานาชาติอาจมองว่าไทยไม่มีความจริงใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ ไม่ใช่องค์กรภายในประเทศ แต่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ อีกทั้งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายมิติ ไม่ใช่แต่เรื่องการเมืองเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหว อาจส่งผลเสียต่อตัวผู้นำไทยเอง
"กรณีนี้ยิ่งตอกย้ำปัญหาของรัฐบาลไทยที่ไม่ได้จากการเลือกตั้ง ซึ่งนานาชาติไม่ค่อยยอมรับอยู่แล้ว ทำให้มีภาพลักษณ์ที่แย่ลง จากนี้คงถูกจับตามองมากขึ้น แต่คงไม่ถึงกับถูกแบนอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันในทุกๆ ปี รัฐสภาของสหรัฐจะประเมินให้คะแนนระดับปัญหาสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศ เกรงว่าในปีหน้า ไทยอาจถูกประเมินให้คะแนนต่ำลงหรือไม่" นายสุรชาติกล่าว
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การปิดหน้าเว็บฮิวแมนไรต์วอตช์ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะบริบทไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านซึ่งมีความอ่อนไหวเปราะบางมาก แถลงการณ์ของฮิวแมนไรต์วอตช์ที่เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยุโรปกดดันไทย จึงเสมือนแทงใจดำฝ่ายความมั่นคง ตนเพิ่งไปที่ประเทศศรีลังกา ก็ทราบว่ามูลนิธิเฟรดริทช์ นูแมน (Friedrich Naumann Foundation) ถูกปิดสำนักงานเช่นกัน เนื่องจากทำงานเรียกร้องสิทธิกับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งเป็นคู่แย้งโดยตรงกับรัฐบาลฝ่ายสิงหล แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยคงไม่เกิดกรณีดังกล่าว
พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาล คสช. ยังไม่ไว้ใจการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่ม ซึ่งอยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ถามว่านานาชาติจะยิ่งกดดันมากขึ้นหรือไม่ ยังคาดเดาไม่ได้ แต่เชื่อว่าไทยถูกจับตามองมากว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์เมื่อไร เชื่อว่าเมื่อเปิดสภาปฏิรูปแล้ว ประเด็นสิทธิมนุษยชนจะได้รับการอภิปรายมากขึ้น
บิ๊กเจี๊ยบร่วมพิธีผู้นำใหม่อินโดฯ
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียของนายโจโก วิโดโด และนายจูซุฟ คัลลา รองประธานาธิบดี ที่สภาที่ปรึกษาประชาชนอินโดนีเซีย กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และหารือข้อราชการในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประเทศทั้งสองอีกด้วย
ในงานดังกล่าว พล.อ.ธนะศักดิ์พบปะหารือทวิภาคีสั้นๆ กับผู้นำ และบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ อาทิ นายโทนี่ แอ๊บบ็อตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายจอห์น แคร์รี่ รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และนายยะซุโอะ ฟุกุดะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
สำหรับ ไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ใกล้ชิด ร่วมกันก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ในปัจจุบันมีนักลงทุนไทยลงทุนในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน