WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8726 ข่าวสดรายวัน

ประยุทธ์โต้-ไม่จริง แวะดูไบ ขอคนหนีคดีกลับมาสู้ 
ฟุ้งอาเซม-ไทยเนื้อหอม รับฟัง'เจ๊ยุ'แนะปรับตัว 'บิ๊กกี่'ปัดล้มถอด'2 ปธ.''ตือ'จี้สปช.ลดอคติปฏิรูป พิธีเผาศพ'อภิวันท์'วันนี้


กลับไทย - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กลับจากไปร่วมประชุมอาเซม ที่ประเทศอิตาลี ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมให้สัมภาษณ์ยืนยันพอใจผลการหารือ และทุกชาติเข้าใจสถานการณ์ในไทย เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 

       'บิ๊กตู่'พอใจผลประชุมอาเซม ฟุ้งไทยเนื้อหอมด้านการลง ทุน ยันขากลับบินตรงจากอิตาลี ไม่ได้แวะดูไบ อ้อนสื่อให้กำลังใจ ตำหนิได้แต่อย่าหนัก วอน คนหนีคดีไปต่างประเทศ ให้กลับมาสู้คดี พร้อมให้ความเป็นธรรม สนช.โต้เสียงแตกปมถอดถอน'ขุนค้อน-นิคม''บิ๊กกี่'ปฏิเสธ ไม่ใช่คนล็อบบี้โหวตสวนสำนวนป.ป.ช. 'เสี่ยตือ'ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงสปช. แนะตัดอคติทิ้งก่อนปฏิรูป เสื้อแดงเชียงใหม่ทำบุญให้'อภิวันท์' นปช.-เพื่อไทยร่วมงานสวดแน่นวัด

'ประยุทธ์'แจงผลถกอาเซม
       เวลา 11.00 น. วันที่ 18 ต.ค. ที่ห้องรับรองพิเศษ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวหลังเดินทางกลับจากการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ครั้งที่ 10 ที่นครมิลาน ประเทศอิตาลี โดยให้สัมภาษณ์นานถึง 1 ชั่วโมง 6 นาทีว่า ผู้นำที่เข้าร่วมประชุมทุกประเทศให้เกียรติประเทศไทยและรัฐบาลไทย เรื่องที่ให้ความสำคัญกันมากคือการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ตนเปิดประเด็นให้ที่ประชุมเห็นว่าอาเซียนมีความพร้อมเรื่องของอาหารและพลังงานทดแทน ต้องการให้เห็นความสำคัญว่าไทยและอาเซียนเป็นแหล่งอาหาร 
      นายกฯ กล่าวว่า ช่วงหารือกับผู้นำอาเซียนเห็นว่าเราควรต้องดูเรื่องนี้เป็นพิเศษไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหา เพราะเกิดความไม่สมดุลเรื่องราคาสินค้า ตนจึงเสนอไปว่าอยากให้สหภาพยุโรปมองในบทบาทของการเป็นประชาคมโลก ต้องดูแลมนุษยชาติ ปีหน้าหลายๆ ประเทศจะปลูกพืชไม่ได้เพราะน้ำแล้ง ถ้าเรายังมีความพร้อมก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ จึงอยากให้ยุโรปหรือผู้ที่อยู่ในสถานะที่ดีกว่าให้การสนับสนุนและยกระดับสินค้าเกษตร

อ้อนชาติอาเซียน-ขอเวลาทำงาน 
       ส่วนการหารือเต็มคณะที่ประชุมตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพาะปลูกไม่ได้ และเรื่องโรค อีโบลา วันนี้เราได้รับความชื่นชมในระบบป้องกันที่ดี จนทำให้ปัญหานี้ในอาเซียนยังไม่เกิดและขอให้คนไทยอย่าตื่นตระหนก ตนกล่าวต่อที่ประชุมว่าเราแก้ปัญหาโรคซาร์ส ไข้หวัดนกในประเทศและอาเซียนอย่างได้ผล ดังนั้น วิธีการคือต้องบูรณาการแล้วหาทางออกร่วมกัน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะตื่นตระหนกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และที่ประชุมมีการรายงานถึงเศรษฐกิจโรคที่หยุดชะงักด้วย ส่วนประเด็นความมั่นคงนั้นประเทศไทยจะทำตามข้อตกลงในการร่วมกันป้องกันการก่อการร้าย การใช้ความรุนแรงต่างๆ สนับสนุนการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี 
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนมีโอกาสชี้แจงต่อผู้นำในอาเซียนถึงสถานการณ์ประเทศไทย ซึ่งไม่มีข้อสงสัยแต่อย่างใด ตนพูดไม่ให้เกิดความเสียหาย เพราะเป็นเรื่องในประเทศ จึงบอกเพียงว่าเรามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ต้องให้เวลาเราทำงาน แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามประเทศไทยพร้อมจะให้การสนับสนุนต่อประชาคมโลกทั้งหมด มีความร่วมมือทางการค้าการลงทุนเหมือนเดิม และจะขยายความร่วมมือต่างๆ ออกไปด้วย 

ยืนยันไม่มีม็อบมาต้าน 
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีข่าวว่ามีคนไปประท้วงตนนั้น ยืนยันว่าตนไม่เห็น สักคน รูปที่ปรากฏนั้นคงจะไปถ่ายที่ไหนมา แต่มีบางคนที่ไปชูป้าย ไปรวมกลุ่มในระหว่างที่อิตาลีเขาก็มีการประท้วงเหมือนกัน เท่าที่ทราบจากฝ่ายรักษาความปลอดภัยของอิตาลี รายงานว่ามีกลุ่มคนไทย 3-4 คนถือป้ายไปรวมในนั้นด้วย ทำให้มองดูเยอะ แต่คนละเรื่อง ไม่ได้ประท้วงเรา ก็ขอให้พิจารณาเรื่องนี้กันเอาเอง ขณะเดียวกันตนเห็นคนไทยที่มาต้อนรับบางคนร้องไห้ดีใจที่ได้เจอตนและคณะคนไทย และบอกว่าฝากประเทศไทยไว้ด้วย ตนบอกไม่ต้องห่วงจะดูแลให้ดีที่สุด ยิ่งทำให้ตนมีแรงใจ เขาไม่ได้รักตนแต่รักประเทศไทย
      "ผมรู้ว่าทุกคนห่วงใยว่าเดินทางครั้งนี้ว่าจะเป็นอย่างไร ถามกระทรวงการต่างประเทศ ทุกคนก็บอกว่าได้รับการตอบรับที่ดี ทุกประเทศได้รับการให้เกียรติอย่างเท่าเทียม ผมได้มีโอกาสทักผู้นำทุกคน ก็ไม่เห็นเขารังเกียจอะไรผม บอกมาจากไทยแลนด์เขาก็บอกรู้จักและเคยไป ประเทศไทยสวยงาม อยากไปอีก ไม่เห็นมาพูดเรื่องของผมเลย นั่นคือความงดงามของเรา เราอย่าใช้ความขัดแย้งทำลายมันไม่คุ้มค่า" นายกฯ กล่าว

เปิดทางกลุ่มเคลื่อนไหวกลับไทย
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศในอาเซียนร่วมทั้งจีน ญี่ปุ่น พร้อมให้ความร่วมมือกับเรา เราเตรียมการลงทุนไว้พร้อมแล้ว บางเรื่องเป็นแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ต้องหารือในหลักการ ต่อไปจะเป็นการประสานงาน กับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง การประชุมคณะรัฐมนตรีทุกสัปดาห์ตนจะมอบให้ไปสืบสานต่อ ต่อไปนี้ทุกการพูดคุยกับต่างประเทศ ต้องไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนอาเซียนเข้มแข็ง ไทยต้องเข้มแข็ง ตีกันไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ที่สำคัญสื่อต้องช่วยในการสร้างความเข้าใจให้กับต่างประเทศ บางครั้งสื่อต่างประเทศก็เอาข่าวจากเราไปขยายความ ซึ่งเคยเชิญมาอธิบายทำความเข้าใจแล้ว 
        นายกฯ กล่าวว่า สื่อในประเทศต้องช่วยให้ข้อมูลกับสื่อต่างประเทศที่อยู่ในไทย ตนไม่ได้ห้ามว่าจะเสนออะไรไม่ได้เลย ก็เสนอข้อเท็จจริงไป ส่วนการสืบสวนเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ หากพูดไปเกินเลยก็จะเสียหายต่อส่วนรวม ไม่ได้ตำหนิไม่ได้ควบคุมสื่อ แต่อะไรที่เป็นผลเสียต่อประเทศชาติเราจะแก้กันเอง ปัญหาที่เป็นเรื่องภายในให้เป็นเรื่องของเรา การแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไปสู่ประชาธิปไตยที่ถาวรเหมือนที่นานาประเทศในโลกเป็น ตนบอกทุกประเทศไปแบบนี้ ส่วนกรณีบุคคลที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศนั้นสามารถกลับมาประเทศไทยได้ ตนไม่ได้ห้าม 

นานาประเทศต้อนรับดี 
        พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำวันนี้คือให้แสดงออกด้วยความสร้างสรรค์ มีการแก้ไขปัญหาและเตรียมการต่อในระยะสั้น กลาง ยาว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการปฏิรูปมี 3 ระยะ ต้องให้เวลาและทำความเข้าใจว่าเราออกมาเพื่ออะไร ซึ่งไม่มีใครได้ทั้งหมด ต้องเฉลี่ยเพื่อให้ได้ความเป็นธรรมนี่คือหลักการของกฎหมาย ผิดคือผิด ถูกคือถูก ส่วนความเท่าเทียมนั้นต้องคุ้มครองคนที่มีรายได้น้อย และให้ความไว้ใจกับคนที่มีรายได้สูง
       เมื่อถามว่า ทัศนคติของอาเซียนมองไทยดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ดี และไม่ได้สอบถามอะไร เพราะตนชี้แจงสถานการณ์ในประเทศไทยโดยไม่ได้พูดอะไรให้ประเทศเสียหาย เพราะประชาคมโลกจะมองว่าเราแย่ ปัญหาต่างๆ ต้องพูดกันเองภายใน นานาประเทศฟังเขาก็ยิ้มแย้มแจ่มใส นอกจากนั้น ยังระบุว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับประชาคมโลกทั้งเรื่องการค้า สังคม เศรษฐกิจ การพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อไปสู่ประเทศอาเซียน และการเดินทางครั้งนี้เราได้รับการตอบรับที่ดีและได้รับเกียรติเท่าเทียมกับประเทศอื่น ไม่มีใครรังเกียจ 

ยันไม่ได้แวะดูไบ
      เมื่อถามว่า ให้คะแนนตัวเองในบทบาทของผู้นำในเวทีนานาชาติกี่เปอร์เซ็นต์ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ให้คะแนนตัวเองไม่ได้ เพราะเป็นครั้งแรกที่เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้มีเรื่องติดขัดอะไร แต่เรื่องของการประชุมคงให้ 100 เปอร์เซ็นต์
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกระแสข่าวมีการแวะที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในวาระการเดินทางไปประชุม ว่า จะแวะทำไม เมื่อมาถามตนก็บอกว่าไม่ได้แวะก็จบ มีความจำเป็นอย่างเดียวที่ต้องแวะคือไปเติมน้ำมันเพราะที่นั่นเป็นศูนย์ของการเดินทาง แต่ตนบินตรงไปเลยไม่ได้ไปเส้นนั้น เพราะต้องการหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาทั้งหมดที่จะไปสู่ความเข้าใจผิดหรือถูก

ขอสื่อติได้แต่อย่าหนักเกินไป 
        พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกรณีนางยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล แสดงความเห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์วางตัวไม่เหมาะสมกับการทำหน้าที่และควรปรับตัว ว่า เรื่องนี้อ่านแล้ว ต้องปรับตัวหรือ เมื่อถามว่าจะฝากอะไรไปถึงผู้สื่อข่าวคน ดังกล่าวหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ไม่บอก เพราะท่านเป็นภรรยาของรุ่นพี่ ฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจก็ไม่รู้จะไปอธิบายอะไร ที่ตนพูดมาทั้งหมดถามว่าสื่อเข้าใจหรือไม่ หากเป็นอย่างนี้ตนอยู่เป็นรัฐบาลไม่ได้ ถามว่าแล้วถ้าตนจะอยู่จะทำไมเพราะยังทำงานไม่เสร็จ หรือจะให้ทิ้งไปตอนนี้ก็แล้วแต่ 
       นายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเป็นศัตรูกับใครและพูดกับสื่อดีแต่บางครั้งต้องขอร้องด้วยหากตนทำไม่ดีแล้วไปเขียนในข้อเท็จจริงไม่ว่า แต่ถ้าไม่ใช่ข้อเท็จจริงจะไม่ให้โมโหไม่ได้ เพราะทุ่มเททำงาน เมื่อไม่เข้าใจกันก็เสียใจ ตำหนิได้แต่อย่าหนักเกินไป ขอให้กำลังใจกันบ้าง หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน เราเป็นคนไทยเหมือนกันจะโกรธเกลียด ทะเลาะกันไปทำไม หากเกลียดกันแล้วจะเป็นคนไทยทำไม

ยันไม่เคยท้อแท้ 
       เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ทำงานมากแล้ว ยังกลัวถูกตำหนิหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า เสียงเชียร์คือแรงใจ เสียงบ่นว่า ตำหนิคือแรงหนุนส่งให้เรามีแรงใจมากขึ้น แต่ไม่ใช่เอาเรื่องทั้งหมดมาบั่นทอนจิตใจเราเอง หากเป็นเช่นนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ และตนไม่เคยท้อแท้ อาจมีบ้างบางเวลาแต่จะฮึดขึ้นมาใหม่ หากท้อแท้คงพักผ่อนอยู่บ้านปลูกต้นไม้เลี้ยงหลาน คงไม่มีวันนี้ เมื่อเอาชีวิตมาอยู่ตรงนี้ต้องทำให้สำเร็จ และไม่กลัวว่าใครจะมาไล่ เพราะถ้าทำความดีขนาดนี้และแก้ปัญหาทั้งหมดได้ ไม่น่าจะถูกใครไล่ คนไทยทุกคนก็อย่าท้อแท้ ต้องมีความหวัง เพราะทุกประเทศชื่นชมเราแต่เสียดายที่ยังมีความขัดแย้งกัน แต่เมื่อมีรัฐบาลเข้ามาทำงานในช่วงไม่กี่เดือนการลงทุนเริ่มเข้ามามากขึ้น
     นายกฯ กล่าวว่า ตนได้รับการสั่งสอนเรียนรู้จากทุกคนมาว่าเมื่อไรที่จิตใจเราตก ต้องหากำลังใจขึ้นมา โดยเอาสิ่งที่เราตั้งใจทำและความดีของเรามาเติมและอดทนทำต่อ ถ้าท้อถอยก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้าใครคิดว่ารักประเทศชาติก็ต้องเสริมตนหน่อย เพราะตั้งใจทำจริงๆ ไม่มีอย่างอื่นเลย และจริงๆ ไม่อยากไปตำหนิใครเพราะหากมากไปก็ไม่จบและวุ่นวายกันอีก ส่วนที่เป็นคดีก็ต้องว่ากันไปอย่าให้เกิดอีก วันนี้รัฐบาลทำทุกมิติ จัดงบประมาณตามแผน มีคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตและเหนื่อยตรงการบูรณาการ ข้าราชการก็เหนื่อยเพราะตนบอกว่า 3 เดือน ต้องมีผลงานรายงานมาให้ดู

ยันร่างรธน.ไม่ถอยหลัง
     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดเลือกกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นโควตาจากครม.และคสช.ฝ่ายละ 5 คน บวกประธานกมธ.ที่มาจากคสช.1คน ว่า เรื่องนี้เขียนไว้แล้วโดยมีการปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ส่วนจะมีใครบ้างนั้นยังไม่เปิดเผยเพราะยังไม่ถึงเวลา ตั้งเมื่อไรก็รู้เองแต่ตนคงไม่ไปเป็นเอง ตอนนี้กำลังหาอยู่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ แล้วนึกชื่อใครมาใส่ ต้องมีคณะทำงานที่จะไปหารือกันเพื่อเลือกเข้ามาเสริมการทำงาน และไม่ใช่เอาทุกคนมาเป็นพวกอย่างที่พูดกัน หากเป็นอย่างนั้นคงไม่ต้องไปตั้ง ไม่ต้องมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ต้องมีการปฏิรูป ที่บอกว่าเป็นพวกคสช.นั้นบางคนตนยังไม่รู้จัก ไม่เคยคุย ไม่เคยเห็นหน้าด้วยซ้ำ เรื่องนี้มีขั้นตอนก็ควรให้ 250 คน ไปคิดตกลงกันให้ได้ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญออกมาเสร็จแล้วไม่รับผิดชอบไม่ได้ ส่วนการปฏิรูปมีขั้นตอนไว้แล้วว่าต้องทำอย่างไร และจะไม่เขียนอะไรที่ถอยหลังแน่นอนจะเขียนในเรื่องที่จะทำให้ยั่งยืนวันข้างหน้า ขอย้ำว่าการปฏิรูปต้องใช้เวลาไม่ใช่ทำวันเดียวแล้วเสร็จ

เสนอ 3 ยุทธศาสตร์-ฟุ้งไทยเนื้อหอม
       ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์จะกลับถึงไทย เวลา 08.00 น. สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 และสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง11 นำเทปสัมภาษณ์พล.อ.ประยุทธ์ ถึงการประชุมอาเซม มาออกอากาศ 28 นาที โดยชี้แจงผลประชุมเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ไทยชี้ให้สหภาพยุโรปเห็นความสำคัญของการเกษตรของไทย ทั้งข้าว ยางพารา รวมถึงความร่วมมือด้านสังคม การเชื่อมโยงระหว่าง 2 ภูมิภาค ตลอดจนความห่วงใยเรื่องภัยพิบัติ 
       ส่วนการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป เต็มคณะ พล.อ.ประยุทธ์เสนอยุทธศาสตร์การดำเนินการ 3 ด้านหลัก ได้แก่ การเพิ่มบทบาทความเป็นหุ้นส่วนระหว่างเอเชีย-ยุโรป การบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และการขยายความตกลงการค้าเสรีเอเชีย-ยุโรป พล.อ.ประยุทธ์ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการขาดแคลนอาหารและพลังงานในอนาคต ที่ต้องร่วมกันเตรียมความพร้อม พร้อมระบุไทยมีการวางแผนด้านสาธารณูปโภค มีรถไฟทางคู่ การค้าชายแดน ซึ่งจีนและญี่ปุ่นให้ความสนใจมาลงทุน วันนี้คิดว่าโลกเข้าใจมากขึ้น มั่นใจมากขึ้น ทุกประเทศต้องการเข้ามาลงทุนมากขึ้น ญี่ปุ่นและจีนพร้อมสนับสนุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ยืนยันการเจรจาดำเนินการต้องโปร่งใสและเปิดเผย

ถามโซเชี่ยลเรื่องม็อบต้าน 
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า โดยสรุปการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้ได้รับการยอมรับอย่างสมเกียรติ และทุกประเทศไม่ได้รังเกียจไทย เพราะทั้งโลกเขาถอยห่างความขัดแย้งและเดินหน้าไปสู่การค้า เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต้องให้ความสำคัญเรื่องแรงงาน การพัฒนาภาษา ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องดูหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องรองรับแรงงาน 
     พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันเรื่องความปลอดภัยของไทยว่าไม่มีความขัดแย้งและพร้อมสำหรับการท่องเที่ยว "ผมย้ำกับทุกประเทศเรื่องการท่องเที่ยวว่าประเทศไทยพร้อม และการมาครั้งนี้ยังไม่เห็นว่ามีการต่อต้านใดๆ ซึ่งภาพที่เห็นทางโซเชี่ยลต่างๆ ไปถ่ายมาจากที่ไหนหรือไม่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

วอนคนหนีไปตปท.กลับมาสู้คดี 
    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ดีใจที่มีคนไทย ซึ่งอยู่ที่นี่มาเยี่ยมให้กำลังใจในวันแรกที่เดินทางไปถึง เขาบอกว่าขอให้รัฐบาลเข้มแข็ง ทำให้ตนมีกำลังใจ ไม่เห็นใครต่อต้าน ส่วนที่ไปชูป้ายประท้วงไปถ่ายที่ไหน ทำที่หน้าบ้านแล้วโพสต์ต่อกันมาหรือไม่ ใครมาต่อต้านจะอดทน เพราะอยากให้คนไทยทุกคนกลับบ้านได้หมด ใครที่มีคดีความก็กลับบ้านได้อยู่แล้ว หากไม่ผิดไม่มีใครไปเอาผิดได้ ขอให้มาใช้กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย จะให้ความเป็นธรรม ให้กระทรวงยุติธรรมดูแล ไม่ต้องไปต่อสู้นอกประเทศ ตนไม่เคยเข้าไปยุ่งกับกระบวนการยุติธรรม ขอให้กลับบ้าน ไปอยู่เมืองนอกลำบากไม่เหมือนอยู่เมืองไทย 
      ส่วนเรื่องกฎหมายจะเร่งกฎหมายที่ค้างอยู่และกฎหมายบางเรื่องที่ยังออกไม่ได้ ต่างประเทศเขาถามว่าปฏิรูป 11 ด้าน ทำไหวไหม ตนก็บอกว่าต้องไหวและอธิบายให้เขาเข้าใจ พร้อมยืนยันว่าเรามีประชาธิปไตย ไม่ได้ห้ามหมด ยกเว้นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคง
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกประเทศห่วงคนของเขาเรื่องความสงบเรียบร้อยในบ้านเรา เขาถามว่าเลิกทะเลาะกันหรือยัง เพราะประเทศต่างๆ เขาเลิกทุกอย่างแล้วหันไปมองเรื่องการค้า การลงทุน เพราะทะเลาะไปก็ไม่มีประโยชน์ ต่อต้านไปไม่เกิดประโยชน์ คนไทยอย่าเสียเวลาไปกับความขัดแย้งจนเกินไป จะทำให้เราเสียโอกาส ขณะนี้ประเทศใหญ่หรือเล็กต่างฝ่ายต่างให้กำลังใจกันเพื่อพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน

ถกผู้นำเวียดนาม-รมต.อินเดีย 
        ทั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับ วันนี้ 17 ต.ค. เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นนครมิลาน ซึ่งเร็วกว่าไทย 5 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ได้หารือกับนายเหวินเติ๊นสุง นายกฯสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยไทยพร้อมจะร่วมมือกับเวียดนามอย่างใกล้ชิด นายกฯเวียดนาม เสนอให้มีการขับเคลื่อนความร่วมมือที่ตกลงกันไว้ อาทิ การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม และขอให้มีการส่งเสริมมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มีมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญภายในปี 2020 และเชิญพล.อ.ประยุทธ์เดินทางเยือนเวียดนามในโอกาสที่จะมีการประชุมร่วมระหว่างกัน พร้อมผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าที่ได้กำหนดไว้ 
       เวลา 13.30 น. หารือทวิภาคีกับรมช. ต่างประเทศอินเดีย เพื่อสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นโดยรัฐบาลทั้งสองฝ่ายมีนโยบายที่สอดคล้องกัน คือ อินเดีย มีนโยบายมองตะวันออก (Look East) ขณะที่ไทยมีนโยบายมองตะวันตก (look West) พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชื่นชมที่อินเดียเตรียมจัดนิทรรศการเกี่ยวกับหลักปรัญชาด้านการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมหาตมะ คานธี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาและสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเชิญผู้นำอินเดียเข้าร่วมประชุม ACD ที่จะจัดขึ้นในไทย ในปี2558 และอยากเห็นนักลงทุนอินเดียเข้ามาลงทุนในไทย 

ชี้ปมถอดถอน-พ.ย.ชัดเจน 
        นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ที่สนช.เลื่อนพิจารณา ว่า ยืนยันสนช.พิจารณาตามกฎหมาย แต่การประชุมวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ต้องเลื่อนพิจารณาเพราะมีสมาชิก สนช.เสนอแนวทางข้อกฎหมาย 2-3 ข้อ อีกทั้งวาระเป็นเพียงการหารือ และเอกสารแนบวาระมีเพียงไม่กี่แผ่น จึงต้องให้ สนช.ไปศึกษาสำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีหลายพันแผ่นก่อน ยืนยันว่า สนช.ไม่ได้ทะเลาะกัน และ ผู้ที่เสนอความเห็นข้อกฎหมายต่อที่ประชุม สนช.ก็เป็นนักวิชาการ หลังจากนี้คงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะพิจารณาอย่างไร คาดว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความชัดเจนและสรุปได้ภายในเดือน พ.ย.

ศึกษาข้อมูล 2 สัปดาห์เพียงพอ 
      ด้านนายธานี อ่อนละเอียด สนช. กล่าวว่าการพิจารณาวันที่ 17 ต.ค. ส่วนใหญ่อ้างยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดของสำนวน และประเด็นที่ถกเถียงมีแค่ว่า ข้อหามีแค่ไหน และรายละเอียดยังไม่เพียงพอ ที่ประชุมจึงต้องปลดล็อกโดยยกเว้นข้อบังคับการประชุม สนช. ที่ระบุว่าให้ประธาน สนช. บรรจุเรื่องถอดถอนเป็นวาระเรื่องด่วนภายใน 30 วัน ออกไปก่อน เพราะจะครบกำหนดวันที่ 7 พ.ย. สนช.ไม่ได้มีเจตนาเตะถ่วงหรือยื้อเวลาการพิจารณาออกไป เพียงแต่บางคนไม่มีความคุ้นเคยและไม่ถนัดเรื่องการถอดถอน ต้องการที่จะศึกษาพิจารณาสำนวนของ ป.ป.ช.ที่มี 9 พันกว่าแผ่นก่อนจึงต้องให้เวลา และระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่จะนำเข้าบรรจุวาระการประชุมอีกครั้งนั้นน่าจะได้แล้ว เพราะไม่ต้องดูอะไรมาก แค่ดูบทสรุปของ ป.ป.ช.ที่แนบมาให้ก็รู้เรื่องแล้วว่าข้อหาคืออะไร พยานหลักฐานอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ข้อเท็จจริง และการตัดสินใจของตนนิ่งแล้ว
      พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สมาชิก สนช. กล่าวว่า วันที่ 17 ต.ค. ทันทีที่เข้าวาระ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ก็เปิดให้สมาชิกสนช.ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่ละคนแสดงความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่ไม่ได้แตกแยกกัน บรรยากาศของการประชุมเป็นไปด้วยดี ส่วนสาเหตุที่มีการขอมติที่ประชุมให้งดเว้นข้อบังคับการประชุม เพราะเห็นว่ารายละเอียดการพิจารณายังไม่เพียงพอ ควรส่งสำนวนการชี้มูลนาย สมศักดิ์กับนายนิคม ให้สมาชิก สนช.ได้ศึกษารายละเอียด ประกอบกับข้อกฎหมายต่างๆ ก่อนการตัดสินใจ 

'นพดล 'ต้ล็อบบี้
        พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิก สนช. กล่าวถึงกระแสข่าวเป็นบุคคลที่ล็อบบี้ให้สมาชิก สนช.ไม่ยอมรับสำนวนไต่สวนของป.ป.ช. ว่า ไม่เป็นความจริง คนที่ให้ข้อมูลอาจเข้าใจผิด เพราะก่อนหน้านี้ตนเคยจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน และรุ่นพี่รุ่นน้องประเด็นว่าจะรับหรือไม่รับเท่านั้น ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมาที่มีการพิจารณาสำนวนป.ป.ช.นั้น ตนไม่ได้ลุกขึ้น พูดอภิปรายตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่เพียงนั่งฟังและเก็บข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่วนมติที่ สนช.เลื่อนการถอดถอนออกไปตนก็ต้องยอมรับ เพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม 
      "ผมจะล็อบบี้ได้อย่างไร ผม กปปส.ตัวพ่อ ผมเข้าได้กับทุกสี ไม่แบ่งฝักฝ่ายแน่นอน" พล.อ.นพดลกล่าว 
      นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า การประชุม 17 ต.ค.คงไม่ใช่ประเด็นการเมืองใน สนช. เป็นเพียงการหารือความคิดเห็นเท่านั้น ยังไม่ใช่เป็นวาระการประชุม ซึ่งมีความเห็นของสมาชิก สนช.ค่อนข้างหลากหลายมาก กรณีนี้จากฐานความผิดตามที่ป.ป.ช.ส่งเป็นใบปะหน้ามาว่าผิดพ.ร.บ. ป.ป.ช.2542 แต่รายละเอียดเอกสารกว่า 4,000 หน้าของป.ป.ช.ยังไม่มีสมาชิก สนช.ได้เห็นและศึกษารายละเอียด ดังนั้น ต้องให้ได้ศึกษาเอกสารก่อน คาดสัปดาห์ถัดไปหลังมีการประชุม สปช.จะมีการนำประเด็นนี้มาหารือใหม่ วอนสนช.สายทหารรับฟังความเห็นหลากหลาย

เบื้องหลังสนช.ถกถอดถอน 
       แหล่งข่าวจากที่ประชุม สนช.เผยถึงการเลื่อนวาระถอดถอนว่า ช่วงเริ่มต้น นาย พรเพชร หารือถึงข้อกฎหมาย มีสนช.ลุกอภิปรายรวมทั้งสิ้น 16 คน มีประเด็นพิจารณาหลัก 3 ประเด็น คือ 1.สนช.มีอำนาจถอดถอนหรือไม่ ซึ่งพิจารณานานพอสมควร สนช.บางส่วนอธิบายถึงข้อกฎหมายที่ให้อำนาจ สนช.ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.ว่าด้วยการถอดถอน ซึ่งให้อำนาจสนช. ฐานะปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.พิจารณาได้ ประเด็นดังกล่าวจึงยุติและเห็นร่วมกันว่าสนช.มีอำนาจถอดถอนได้ 
     2.ประเด็นผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจะสามารถนำเรื่องมาพิจารณาได้ต่อหรือไม่ ได้พิจารณาตามหลักของพ.ร.บ.ป.ป.ช.ที่ระบุถึงฐานความผิดว่าเหตุผลที่ต้องถอดถอนบุคคลนั้น เพื่อผลใน 2 ประเด็น คือ ให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่งและตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี ดังนั้น แม้ว่าปัจจุบันจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วยังมีประเด็นตัดสิทธิทางการเมืองไว้พิจารณาได้
      3.ประเด็นที่ถกเถียงกันนานที่สุดว่าด้วยความผิดของบุคคลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมนำพ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 58 ว่าด้วยพฤติกรรมความผิดของผู้ดำรงตำแหน่ง โดยกรณีของนายสมศักดิ์ และนายนิคม เข้าข่ายพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง สนช.สายทหาร ในฐานะวิปสนช.เสนอให้ลงมติตัดสินโดยทันที แต่ได้รับการทักท้วงจากสนช. ที่ลุกอภิปรายกว่า 10 คน เพราะมีประเด็นพิจารณาข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะรายละเอียดของสำนวนไต่สวนของป.ป.ช.ฉบับเต็ม อีกทั้งการประชุมเป็นเพียงการหารือยังไม่ถือว่าเป็นการบรรจุเรื่องไว้ในวาระ ผลสรุปจึงออกมาให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน

เสียงแตกปธ.ต้องชี้ขาด 
       สำหรับ ประเด็นหลังจากนี้ เมื่อประธานสนช.บรรจุเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสนช.อีกครั้ง มีประเด็นที่จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา 2 ประเด็น คือ 1.พิจารณาบรรจุเรื่องไว้ในวาระประชุม ตามข้อบังคับการประชุมและกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ระบุให้สนช.นำเข้าสู่วาระภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ที่รับเรื่อง ส่วนประเด็นปัญหาอื่นๆ ว่าสนช.สามารถลงมติถอดถอนได้หรือไม่ ให้พิจารณาในชั้นการประชุมดังกล่าว 
      และ 2.ตั้งกรรมการขึ้นมา 1 คณะ เพื่อพิจารณารายละเอียดของสำนวนการไต่สวน และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อที่ 2 นั้นมี ผู้ที่ให้ความเห็นในลักษณะที่ไม่ควรตั้ง เพราะแม้จะมีการประชุมหรือมีผลประชุมอย่างไร เมื่อจะใช้เสียงตัดสินต้องนำเข้าที่ประชุม สนช. อยู่ดี
       ส่วนความเห็นของสนช.ที่หลายฝ่ายมองว่าแบ่งเป็นสองขั้วนั้น แหล่งข่าว ระบุ เดิมผลพิจารณาประเด็นนี้ไม่มีเอกภาพอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สนช.พิจารณาในที่ประชุมจำเป็นต้องทำให้รอบคอบ เพราะกรณีพิจารณาถอดถอนบุคคลหากเทียบกับการลงโทษประหารชีวิตต้อง ใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ ทั้งประเด็นความผิดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เอกสารรายละเอียดการไต่สวนของป.ป.ช. จึงเป็นประเด็นสำคัญที่สมาชิกต้องรับทราบและอ่านข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน 
      รายงานข่าวระบุ ยอมรับว่า มีสนช.บางคนที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญกิจการสนช. พยายาม ล็อบบี้ให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาดเรื่องดังกล่าวว่าสนช.มีอำนาจรับไว้พิจารณาหรือไม่ เพื่อให้เรื่องดังกล่าวจบสิ้นไป เพราะหากลงมติใน วันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ผลจะออกมาในทาง ยุติเรื่อง แต่สนช.ในส่วนที่ต้องการรับเรื่องไว้พิจารณาทักท้วงและขอให้สนช.อ่านรายละเอียดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน ส่งผลให้ประธานในที่ประชุมต้องใช้มติเพื่อชี้ขาด และผลออกมาคือให้เลื่อนการพิจารณาในที่สุด 

ชวลิตดันอีก-กม.นิรโทษกรรม 

        นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอฝากไปยังผู้ที่มีความเห็นต่างในประเด็นการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า ไม่ปฏิเสธการดำเนินคดีกับผู้ทุจริต รวมทั้งการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดสถาบันตามมาตรา 112 แต่หากเป็นเรื่องการเมืองหรือคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 ถูกฉีกไปแล้วเวลานี้ควรให้อภัยกันได้แล้ว ในอดีตมีการกระทำที่เป็นความผิดทางการเมือง หรือกระทำผิดคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับการเมือง เมื่อมีผู้เข้าถืออำนาจการปกครองที่เรียกว่ารัฏฐาธิปัตย์ก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกันเป็นสิบๆ ฉบับ บ้านเมืองก็เข้าสู่ภาวะปกติ ทำไมปัจจุบันนี้เราจะก้าวให้พ้นกับดักหรือหลุมดำแห่งความขัดแย้งออกไปไม่ได้ 

'เสี่ยตือ'เขียนจม.เสนอสปช.
        นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีเนื้อหาสรุปว่า วันนี้คงไม่มีคนไทยคนไหนที่จะปฏิเสธการปฏิรูประเทศไทย จากประสบการณ์พบสังคมไทยมีจุดแข็งในภาวะปกติจะมีความสามารถสูงในการพัฒนา จุดอ่อนที่น่าเป็นห่วงเมื่อยามวิกฤต เป็นเรื่องยากที่คนในสังคมจะร่วมกันฟันฝ่าหาทางออก นำประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤตไปได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 วิกฤตมหาอุทกภัย 2554 หรือวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การยึดอำนาจรัฐถึง 2 ครั้ง และดูเหมือนว่านักการเมืองจะตกเป็นจำเลยของสังคมทุกครั้งว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาและเป็นอุปสรรค วันนี้เวทีของนักการเมืองถูกปิดลงเพื่อรอการชำระล้างปฏิรูปกันใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ขจัดนักการเมืองที่ชั่ว เลว ออกไป แล้วมาร่วมกันสร้างนักการเมืองและสังคมในอุดมคติกัน
     นายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เรามี สปช.แล้ว สมาชิกสมควรมองไปที่คนไทยกว่า 60 ล้านคน มองไปทั้งประเทศ อย่ามองกันแค่ 250 คน อย่าให้เหมือนการยึดอำนาจรัฐ 19 ก.ย. 2549 สมัยที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเสียของ เพราะกลายเป็นการระดมคนที่เกลียด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญ ผลผลิตที่ได้ออกมาก็คือรัฐธรรมนูญที่มีไว้กำจัดพ.ต.ท. ทักษิณ และพวกพ้อง ไม่ได้มองเรื่องระบอบการปกครองอย่างที่ควรจะเป็น 
        นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ถูกคาดหวังจากสังคมไทยไว้สูงมากว่าจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตย รักษาสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคและคืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบให้คนไทย อนาคตของประเทศไทยและคนไทยอยู่ในมือแล้ว อย่ามองและแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ ด้วยความรู้สึก ต้องใช้เหตุผล วางใจให้เป็นกลาง เป็นธรรม ตัดอคติออกไป อย่าให้ซ้ำรอยเดิมของรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว 

 

เลี้ยงยินดีสปช.หญิง 
       เวลา 13.00 น. ที่ห้องเทพประธาน โรงแรมเวียงใต้ สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย นำโดย คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายกสมาคม จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ สปช.ผู้หญิง ซึ่งมีทั้งสิ้น 37 คน แต่ตอบรับร่วมงานแค่ 12 คน อาทิ นาง กัญญ์ณัฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์ นางกอบกุญ พันธ์เจริญวรกุล นางกูไซหม๊ะ วันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี นางชัชนาถ เทพธนานนท์ นาง ตรึงใจ บูรณสมภพ นางเตือนใจ สินธุวณิก นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ นางนรีวรรณ จินตกานนท์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล นางศิรินา ปวโร ฬารวิทยา และน.ส.อรพินท์ สพโชคชัย เข้าร่วม 
     นางนรีวรรณ จินตกานนท์ สปช.ด้านเศรษฐกิจ ในฐานะอุปนายกฝ่ายกิจการในประเทศ กล่าวว่า เป็นการจัดเลี้ยงเพื่อพบปะสมาชิกในสมาคม และแสดงความยินดีกับสปช.หญิง ยังไม่มีประเด็นที่จะกำหนด กรอบหรือแนวทางเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปในประเด็นสตรี ยอมรับว่ากรอบปฏิรูปประเด็นสตรี ทางสมาคมได้มีการเตรียมไว้แล้วส่วนหนึ่งแต่ยังไม่ขอเปิดเผย 
     เมื่อถามว่า การพบปะครั้งนี้ได้พูดถึงบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธาน และรองประธานสปช.ในโควตาสตรีด้วยหรือไม่ นางนรีวรรณกล่าวว่า ตามที่สื่อนำเสนอไปแล้วคงเป็นไปตามนั้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับก่อนหน้านี้เคยส่งสัญญาณไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกรณีที่จะให้สปช.สตรี ดำรงตำแหน่งรองประธาน สปช.อย่างน้อย 1 ที่นั่ง ซึ่งได้รับการตอบรับในประเด็นนี้แล้ว ส่วนกรณีที่ปรากฏชื่อนางทัศนา บุญทอง สปช.ด้านการศึกษา จะได้รับการเสนอชื่อเป็นรองประธาน สปช.นั้น ส่วนตัวไม่ขัดข้อง และถือว่าเป็นชื่อที่ยอมรับได้ 

แดงเชียงใหม่ทำบุญให้'อภิวันท์'
     เวลา 11.00 น. ที่ศาลาทองคำ วัดอุโมงค์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และส.ส.เพื่อไทย จ.เชียงใหม่ ประมาณ 20 คน ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตแกนนำเสื้อแดง บรรยากาศเป็นการพบปะสมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดงอิสระร่วมถวาย เลี้ยงเพลพระสงฆ์ 5 รูป จากนั้นร่วมรับประทานอาหาร พูดคุยสอบถามสารทุกข์สุกดิบนาน 30 นาที ก่อนแยกย้ายกันกลับ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายข่าวจากกองทัพภาคที่ 3 มาสังเกตการณ์แบบห่างๆ 

นปช.-พท.ร่วมงานสวดแน่นวัด 
     เวลา 18.00 น. ที่ศาลา 2 วัดบางไผ่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี มีการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพ พ.อ.อภิวันท์ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ซึ่งถือเป็นคืนสุดท้ายก่อนพระราชทานเพลิงศพวันที่ 19 ต.ค. เวลา 16.00 น. โดยมีกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย อดีตส.ส.เพื่อไทย และนปช.เป็นเจ้าภาพ อดีตส.ส.นนทบุรี เพื่อไทย ทั้ง 6 คน อาทิ นายอุดมเดช รัตนเสถียร นายฉลอง เรี่ยวแรง มาคอยต้อนรับ ผู้มาร่วมงานสวดศพ 
      โดยอดีตส.ส.มาร่วมฟังสวดพระอภิธรรม อาทิ นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา นายสุธรรม แสงประทุม นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา โตจิราการ แกนนำนปช. นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายภิญโญ สายนุ้ย อดีตส.ว.กระบี่
      เวลา 19.00 น. พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้า รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธานในพิธีสวดพระอภิธรรม ทั้งนี้ ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ วันที่ 19 ต.ค. เวลา 16.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะมาเป็นประธานในพิธี

 

'บิ๊กตู่'แจงถกผู้นำโลก ปลื้ม'อาเซม'เข้าใจสถานการณ์ไทย ชี้ม็อบต้านมีแค่ 3-4 คน อ่านเจ๊ยุ แล้วไม่ตอบโต้'สนช.ทหาร'ปัดล้มสอย แม้วเขียนอาลัยอภิวันท์


สวดพระอภิธรรม - บรรดาอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. ร่วมสวดพระอภิธรรม พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่วัดบางไผ่ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 

'ประยุทธ์'พอใจผลประชุมอาเซม แจงต่างชาติเข้าใจมากขึ้น

'บิ๊กตู่'พอใจประชุมอาเซม

     เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 18 ตุลาคม ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับจากการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ที่นครมิลาน ประเทศอิตาลี ว่า ผู้นำที่เข้าร่วมประชุมทุกประเทศให้เกียรติกับประเทศไทย รัฐบาลไทย การจัดการต้อนรับ การรักษาความปลอดภัย ถือว่าเป็นมาตรฐาน ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โดยปัญหาที่ที่ประชุมให้ความสำคัญกันมากคือการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ 

     "ในโอกาสนี้ผมมีโอกาสเปิดประเด็นให้ที่ประชุม เห็นว่า อาเซียนมีความพร้อมในเรื่องของอาหารและพลังงานทดแทน ผมต้องการให้เห็นความสำคัญว่า ประเทศไทยและอาเซียนเป็นแหล่งอาหารสำคัญ ทั้งนี้ มีโอกาสชี้แจง ต่อผู้นำในอาเซียนถึงสถานการณ์ประเทศไทย ซึ่งก็ไม่มีข้อสงสัยแต่อย่างใด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

ชี้มีคนไทยประท้วงแค่ 3-4 คน 

     "กรณีที่มีข่าวการประท้วงผมนั้น ผมไม่เห็นสักคน ส่วนรูปนั้นคงจะไปถ่ายที่ไหนมา มีการชูป้าย รวมกลุ่ม ซึ่งที่อิตาลีก็มีการประท้วงของเขาเหมือนกัน เท่าที่ทราบฝ่ายรักษาความปลอดภัยของอิตาลี ได้รายงานว่า มีกลุ่มคนไทย 3-4 คน ถือป้ายไปรวมในนั้นด้วย ทำให้มองดูเยอะแต่คนละเรื่องไม่ได้ประท้วงเรา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ขอให้พิจารณาเรื่องนี้กันเอาเอง ทั้งนี้ตนเห็นคนไทยที่มาต้อนรับบางคนร้องไห้ดีใจ ที่ได้เจอตนเจอคณะคนไทย และบอกว่าฝากประเทศไทยไว้ด้วย ตนบอกไม่ต้องห่วงจะดูแลให้ดีที่สุด ยิ่งทำให้มีแรงใจ 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาไม่ได้รักตนแต่รักประเทศไทย ได้มีโอกาสทักผู้นำทุกคน ก็ไม่เห็นเขารังเกียจอะไร บอกมาจากไทยแลนด์ เขาก็บอกรู้จัก เคยไปประเทศไทยสวยงาม อยากไปอีก ไม่เห็นมาพูดเรื่องของตนเลย ซึ่งนั่นคือความงดงามของเรา เราอย่าใช้ความขัดแย้งทำลายมันไม่คุ้มค่า ส่วนกรณีบุคคลที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศสามารถกลับมาประเทศไทยได้ ตนไม่ได้ห้าม

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวตอนท้ายการสัมภาษณ์ด้วยว่า "สวัสดีครับ คิดถึง เมื่อเครื่องบินถึงประเทศไทย ยังพูดกันเลยว่าที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้านเรา ถึงแม้จะขัดแย้ง จะมีปัญหาก็เป็นประเทศไทย ที่อบอุ่น ไปเมืองนอกนั้นไม่มีจิตวิญญาณที่เป็นความหลากหลายเหมือนบ้านเรา อากาศก็หนาว กิจกรรมก็น้อยต่างคนต่างอยู่ในบ้าน" (อ่านรายละเอียด น.2)

เมินสวน'เจ๊ยุ'วิจารณ์

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่นางยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ประจำทำเนียบรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์ว่า วางตัวไม่เหมาะสมกับการทำหน้าที่และควรปรับตัว ว่า อ่านแล้ว ถามว่าต้องปรับตัวหรือ ส่วนจะฝากอะไรไปถึงผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวหรือไม่นั้น ตนไม่บอก เพราะท่านเป็นภรรยาของรุ่นพี่ตน ฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่รู้จะไปอธิบายอะไร 

     "ที่พูดมาทั้งหมดถามว่า สื่อเข้าใจหรือไม่ หากเป็นแบบนี้ ผมอยู่เป็นรัฐบาลไม่ได้ ถามว่า แล้วถ้าจะอยู่จะทำไม เพราะยังทำงานไม่เสร็จ หรือจะให้ทิ้งไปตอนนี้ก็แล้วแต่ ที่ผ่านมาไม่เคยเป็นศัตรูกับใครและพูดกับสื่อดีแต่บางครั้งต้องขอร้องด้วย หากผมทำไม่ดีแล้วไปเขียนในข้อเท็จจริงไม่ว่า แต่ถ้าไม่ใช่ข้อเท็จจริงจะไม่ให้โมโหก็ไม่ได้ เพราะทุ่มเททำงาน เมื่อไม่เข้าใจกันก็เสียใจ จะตำหนิผมได้แต่อย่าหนักเกินไปขอให้กำลังใจกันบ้าง หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน เราเป็นคนไทยเหมือนกันจะโกรธเกลียดทะเลาะกันไปทำไม หากเกลียดกันแล้วจะเป็นคนไทยทำไม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

ชี้เสียงติ คือ แรงหนุนทำงาน

       ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ทำงานมากแล้วยังกลัวถูกตำหนิ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เสียงเชียร์คือแรงใจเสียงบ่นว่า ตำหนิคือแรงหนุนส่งให้มีแรงใจมากขึ้น แต่ไม่ใช่เอาเรื่องทั้งหมดมาบั่นทอนจิตใจเราเอง หากเป็นเช่นนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ ตนไม่เคยท้อแท้ อาจมีบ้างบางเวลา แต่จะฮึดขึ้นมาใหม่ หากท้อแท้คงพักผ่อนอยู่บ้านปลูกต้นไม้เลี้ยงหลานคงไม่มีวันนี้ เมื่อเอาชีวิตมาอยู่ตรงนี้ต้องทำให้สำเร็จ และไม่กลัวว่าใครจะมาไล่ เพราะถ้าทำความดีขนาดนี้ และแก้ปัญหาทั้งหมดได้ ไม่น่าจะถูกใครไล่ 

      "คนไทยทุกคน ก็อย่าท้อแท้ ต้องยังมีความหวังเพราะทุกประเทศชื่นชมเรา แต่เสียดายที่ยังมีความขัดแย้งกัน แต่เมื่อมีรัฐบาลเข้ามาทำงานในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาการลงทุนเริ่มเข้ามามากขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ลั่นอดทนเพื่อประเทศชาติ

      "ผมได้รับการสั่งสอนเรียนรู้จากทุกคนมาว่า เมื่อใดที่จิตใจเราตก ต้องหากำลังใจขึ้นมา โดยเอาสิ่งที่เราตั้งใจทำและความดีของเรามาเติมและอดทนทำต่อ ถ้าไปท้อถอยก็ไม่ต้องทำอะไร ถ้าใครคิดว่ารักประเทศชาติก็ต้องเสริมผมหน่อย เพราะผมตั้งใจทำจริงๆ ไม่มีอย่างอื่นเลย และจริงๆไม่อยากไปตำหนิใครเพราะหากมากไปก็ไม่จบและวุ่นวายกันอีก"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลทำทุกมิติ จัดงบประมาณตามแผน มีคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริต และเหนื่อยตรงการบูรณาการ ข้าราชการก็เหนื่อยเพราะตนบอกว่า 3 เดือน ต้องมีผลงานรายงานมาให้ดู ตนต้องการวางระบบการทำงาน ไม่ใช่จะไปคุมรัฐบาลใหม่ เรื่องต่างๆที่ทำเอาไว้ใครจะไม่ทำต่อก็ช่วยไม่ได้ จะเลือกคนที่ไม่ทำแบบนี้แล้วจะเลือกแบบที่มีปัญหามาตลอดก็ตามใจเพราะคนไทยเลือกเอง 

      "ที่ผ่านมา ผมบอกว่า ต้องนำคำสอนมาปรับใช้โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทันสมัยที่สุด ทุกประเทศในโลกชื่นชมว่า เป็นกษัตริย์นักพัฒนา พระองค์ท่านไม่เคยสั่งใคร เมื่อมีพระราชดำรัสออกมาเราจึงควรสานต่อแนวทางเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลนำมาเป็นแนวทางขับเคลื่อนการทำงานต่อไป การที่รัฐบาลมีอำนาจก็เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน แก้ปัญหาต่างๆ และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

ปัดข่าวแวะ'ดูไบ'ยันบินตรง

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวจนเกิดประเด็นข้อสงสัยเรื่องการแวะเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในวาระของการเดินทางไปประชุม ว่า จะแวะทำไม เมื่อมาถามตนก็บอกว่า ไม่ได้แวะก็จบ มีความจำเป็นอย่างเดียวที่ต้องแวะ คือ ไปเติมน้ำมัน เพราะที่นั่นเป็นศูนย์ของการเดินทาง แต่ตนบินตรงไปเลยไม่ได้ไปเส้นนั้น เพราะต้องการหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาทั้งหมดที่นำไปสู่ความเข้าใจผิดหรือถูก

อุบชื่อกมธ.ยกร่างรธน. 

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดเลือกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นโควต้าจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.ฝ่ายละ 5 คน บวกประธาน กมธ.ที่มาจาก คสช. 1 คน ว่า เรื่องนี้เขียนไว้แล้วมีการปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ส่วนจะมีใครบ้างนั้นยังไม่เปิดเผยเพราะยังไม่ถึงเวลา ตั้งมาเมื่อไหร่ก็รู้เองแต่ตนคงไม่ไปเป็นเอง 

       "ตอนนี้กำลังหาอยู่ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วไปนึกชื่อใครมาใส่ ต้องมีคณะทำงานที่จะไปหารือกันเพื่อเลือกเข้ามาเสริมการทำงาน และไม่ใช่เอาทุกคนมาเป็นพวกอย่างที่พูดกัน หากเป็นอย่างนั้นคงไม่ต้องไปตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ต้องมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ต้องมีการปฏิรูป ที่บอกว่าเป็นพวก คสช.นั้นบางคนผมยังไม่รู้จัก ไม่เคยคุย ไม่เคยเห็นหน้าด้วยซ้ำ เรื่องนี้มีขั้นตอนก็ควรให้สมาชิกทั้ง 250 คน ไปคิดตกลงกันให้ได้ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญออกมาเสร็จแล้วไม่รับผิดชอบไม่ได้ ส่วนการปฏิรูปมีขั้นตอนไว้แล้วว่าต้องทำอย่างไร จะไม่เขียนอะไรที่ถอยหลังแน่นอน จะเขียนในเรื่องที่จะทำให้ยั่งยืนวันข้างหน้า ขอย้ำว่าการปฏิรูปต้องใช้เวลาไม่ใช่ทำวันเดียวแล้วเสร็จ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

แชร์ว่อนคลิป'เจ๊ยุ'วิจารณ์'บิ๊กตู่'

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางยุวดี ธัญญศิริ นักข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ Thaivoicemedia.com วิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งคลิปการให้สัมภาษณ์ มีการแชร์อย่างกว้างขวาง ซึ่งนางยุวดีได้วิจารณ์การทำหน้าที่และการควบคุมอารมณ์ต่อการตอบคำซักถามของนายกฯที่ยังไม่เข้าใจการทำหน้าที่ของนักข่าวดีพอ 

       โดยนางยุวดี กล่าวว่า นักข่าวไม่ได้มีหน้าที่เสนอข่าวด้านรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ต้องมีแง่มุมอื่น หรือความคิดเห็นอื่นๆ ที่จะต้องนำเสนอให้รอบด้านครบถ้วน โดยเฉพาะคนที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีจิตใจที่เมตตา มีความยุติธรรม เป็นกลาง แต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ดูเหมือนจะดำเนินนโยบายของกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) มาปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ และกลุ่มบุคคลที่อยู่ฝั่ง กปปส.ทำอะไรก็ไม่ผิด 

หารือทวิภาคีรมว.อินเดีย

      ที่ประเทศอิตาลี ระหว่างประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป พล.อ.ประยุทธ์หารือทวิภาคีกับ พล.อ.วิชัย กุมาร สิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศอินเดีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นในทุกระดับ รัฐบาลทั้งสองฝ่ายมีนโยบายที่สอดคล้องกัน คือ อินเดียมีนโยบายมองตะวันออก (Look East) ขณะที่ไทยมีนโยบายมองตะวันตก (Look West) 

      ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ชื่นชมที่อินเดียจะจัดนิทรรศการเกี่ยวกับหลักปรัชญาด้านการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมหาตมะ คานธี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาและสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างกัน 

      โดย พล.อ.ประยุทธ์ขอเชิญผู้นำอินเดียเข้าร่วมประชุม ACD ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปีหน้า พร้อมชื่นชมนโยบาย "Make in India" พร้อมอยากเห็นนักลงทุนอินเดียเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะเดียวกันขอให้อินเดียช่วยดูแลนักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในอินเดีย ในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ อาทิ การยื่นขอวีซ่า

เชิญร่วมลงทุน'ทวาย'

      พล.อ.ประยุทธ์ ยินดีที่ได้ทราบว่า การดำเนินการเจรจาเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ใกล้บรรลุความสำเร็จ นอกจากนี้ การพัฒนาความเชื่อมโยงภายใต้โครงการถนนสามฝ่าย ไทย พม่า อินเดีย จะเสร็จสิ้นภายในปี 2559 พร้อมทั้งเชิญชวนอินเดียให้เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาค

     นอกจากนี้ ไทยพร้อมพิจารณาเปิดเที่ยวบินไปยังเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อาทิ เมืองกูวาฮาติ ในรัฐอัสสัม สำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคง จะได้เดินหน้าในการฝึกผสมร่วมกันภายใต้รหัส ไมตรีในอนาคตอันใกล้

จับมือเวียดนามพัฒนาเศรษฐกิจ

       ขณะที่ นายเหวิน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ ในระหว่างการประชุมอาเซม ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงยินดีและพร้อมที่จะร่วมมือกับเวียดนามอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองฝ่ายรวมถึงภูมิภาคอาเซียน ทั้งสองฝ่ายย้ำเจตนารมณ์ในการผลักดันประเด็นทวิภาคีที่ยังคั่งค้างให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรม ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาความเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ในระดับประชาชน

      นายเหวิน เติ๊น สุง เสนอให้ขับเคลื่อนความร่วมมือต่างๆ ที่มีการตกลงกันไว้ อาทิ การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม และคณะกรรมการต่างๆ ที่เคยมีมาก่อน ขอให้มีการส่งเสริมมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มีมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญ ภายในปี 2020 พร้อมเชิญชวนให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีเวียดนามเชิญ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางเยือนเวียดนาม

       ทาง พล.อ.ประยุทธ์เห็นพ้องที่จะมีการจัดการประชุมร่วมระหว่างไทยและเวียดนาม พร้อมผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าที่ได้กำหนดไว้ สำหรับการลงทุนของไทยในเวียดนาม ไทยพร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยให้ตรงกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นความต้องการของเวียดนาม และจะให้การดูแลแรงงานชาวเวียดนามเป็นอย่างดี

สื่อนอกชี้ต่างชาติยอมรับ'บิ๊กตู่'

      สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานสรุปภาพรวมประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป โดยหนึ่งในนั้นคือการเดินทางไปร่วมประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถือเป็นการเข้าร่วมเวทีหารือกับผู้นำชาติอื่นๆ ครั้งแรกหลังการยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งอียูได้ออกมาประณามการปฏิวัติดังกล่าว

       เอเอฟพีระบุว่า การปรากฏตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงให้เห็นสัญญาณว่า ประชาคมระหว่างประเทศดูเหมือนจะยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องรับหน้าที่ผู้นำไทยไปอีกสักระยะหนึ่ง เห็นได้จากที่ พล.อ.ประยุทธ์พบปะหารือกับผู้นำหลายชาติ ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ซึ่งเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเผยว่า นายอาเบะได้แจ้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ทราบว่าในระยะยาวแล้วการลงทุนของญี่ปุ่นที่มีอยู่อย่างมากมายในไทยอาจตกอยู่ในความเสี่ยงหากไทยไม่เร่งฟื้นฟูประชาธิปไตยและขจัดประเด็นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองออกไป

'น้องป้อม'ชี้ถกถอดถอนมีเห็นต่าง 

      พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ สนช. กล่าวถึงการประชุมลับ สนช.เพื่อพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภา กับนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ว่า ทันทีที่เข้าวาระดังกล่าว นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เปิดให้ สนช.แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งแต่ละคนก็แสดงความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่ไม่ได้แตกแยกกัน เพราะบรรยากาศของการประชุมเป็นไปด้วยดี 

       "สาเหตุที่มีการขอมติที่ประชุมให้งดเว้นข้อบังคับการประชุมข้อที่ว่าด้วยการให้ประธาน สนช.ต้องบรรจุวาระการถอดถอนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะ สนช.ส่วนใหญ่เห็นว่ารายละเอียดการพิจารณายังไม่เพียงพอ ควรส่งสำนวนการชี้มูลนายสมศักดิ์กับนายนิคม ให้ สนช.ได้ศึกษารายละเอียด ประกอบกับข้อกฎหมายต่างๆ ก่อนการตัดสินใจ" พล.ร.อ.ศิษฐวัชรกล่าว และว่า ที่ประชุมยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่สมาชิกที่ต้องการเอกสารสำนวนทั้งหมดด้วย อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ทราบว่าจะนำเรื่องดังกล่าวกลับเข้าที่ประชุมเมื่อใด เพราะเป็นดุลพินิจของนายพรเพชร

'หมอเจตน์'อ้างข้อมูลไม่ชัด

    นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. กล่าวว่า การอภิปรายใน สนช.ถึงกรณีที่ประชุม สนช.มีมติให้เลื่อนการพิจารณาการถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ว่า คิดว่าไม่ใช่ปมการเมืองใน สนช. หากแต่เป็นเพียงแค่การหารือความคิดเห็นเท่านั้น แล้วยังไม่ใช่เป็นวาระการประชุม สนช.แต่อย่างใด ซึ่งปรากฏว่าได้มีความเห็นของ สนช.ค่อนข้างหลากหลายมาก 

    "ทว่ากรณีนี้จากฐานความผิดตามที่ ป.ป.ช.ส่งเป็นใบปะหน้ามานั้น ว่าผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (พ.ศ.2542) แต่ว่ารายละเอียดเอกสารกว่า 4,000 หน้าของ ป.ป.ช.ยังไม่มีสมาชิก สนช.ได้เห็นและศึกษารายละเอียดเลย ฉะนั้นก็ต้องให้ได้ศึกษาเอกสาร ส่วนประเด็นนี้จะนำมาหารือใหม่ต่อไปนั้น คาดว่าน่าจะเป็นสัปดาห์ถัดไปหลังจากประชุม สปช." นพ.เจตน์กล่าว 

    นพ.เจตน์กล่าวว่า สำหรับ สนช.สายทหารที่ลังเลว่าจะรับหรือไม่รับนั้น ตนคิดว่าก็จริงที่ สนช.สายทหารลังเลว่าจะควรถอดถอนหรือไม่ อาจเป็นเพราะไม่มั่นใจและไม่มีประสบการณ์ด้านกฎหมายมาก่อน ซึ่งก็ต้องเห็นใจพวกเขาบาง แต่อย่างไรก็ตามอยากให้ สนช.สายทหาร ในฐานะเพื่อนสมาชิกใหม่ที่ไม่เคยเป็นนักกฎหมายมาก่อนควรรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกท่านอื่นๆ ด้วยว่าพวกเขาคิดเห็นเช่นไร

'บิ๊กกี่'ปัดล็อบบี้ล้มถอดถอน

     พล.อ.นพดล อินทปัญญา สนช. กล่าวถึงการอภิปรายกรณีการถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ว่า กระแสข่าวที่ออกมาว่า ตนเป็นคนล็อบบี้และลุกขึ้นอภิปรายอย่างดุเดือด เพื่อให้ สนช.ไม่รับพิจารณาเรื่องดังกล่าว ยืนยันไม่เป็นความจริง ตนนั่งฟังการอภิปรายอย่างเงียบๆ ไม่มีการพูดอภิปรายใดๆ รวมทั้งไม่ได้ล็อบบี้ เพียงแต่ก่อนหน้านี้ตนเคยจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนและรุ่นพี่รุ่นน้อง ประเด็นว่าจะรับหรือไม่รับเท่านั้น 

     "หากใครมีหลักฐานว่าผมพูดก็เอามาโชว์ได้ สนช.ทั้ง 220 คน เป็นประจักษ์พยานได้ว่าผมไม่ได้พูดอภิปรายใดๆ ผมจะล็อบบี้ได้อย่างไร ผม กปปส.ตัวพ่อ เข้าได้กับทุกสี ไม่แบ่งฝักฝ่ายแน่นอน" พล.อ.นพดลกล่าว

      พล.อ.นพดลกล่าวว่า ที่ต้องเลื่อนการประชุมออกไปนั้น เพราะตอนแรกที่มีการแจกเอกสารสำนวนคดีถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ ให้ สนช.มีเพียงไม่กี่หน้าเท่านั้น ทำให้ข้อมูลในการตัดสินใจไม่เพียงพอ โดยข้อมูลสำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งมาให้นั้นมีมากถึง 4,000-5,000 แผ่น ดังนั้นทางสมาชิกจึงขอไปศึกษาข้อมูลก่อนที่จะมีการลงมติใดๆ ออกไป

ยันสนช.สายทหารรู้กฎหมาย

    พล.อ.นพดล กล่าวว่า ที่หลายฝ่ายกังวลว่า สนช.สายทหารจะมีปัญหาไม่เข้าใจเรื่องข้อกฎหมายนั้น อยากบอกว่า สนช.สายทหารก็มีทหารพระธรรมนูญคอยให้คำปรึกษา รวมทั้งมีเพื่อนพ้องที่เรียนด้านกฎหมายอีกมาก 

    "ขอยืนยันว่าการประชุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ไม่ได้มีปัญหาอย่างที่เป็นข่าว หรือมีการแย่งพรรคพวก เพียงแต่เป็นการแสดงความเห็นต่างแต่ไม่แตกแยก นอกจากนี้ ทาง สนช.ได้หารือจะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้งในอีก 1-2 สัปดาห์" พล.อ.นพดลกล่าว 

     ผู้สื่อข่าวถามว่า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุว่า เหตุผลที่ขอเลื่อนถกถอดถอนเป็นการถ่วงเวลา พล.อ.

     นพดล กล่าวว่า ไม่ใช่ข้ออ้าง แต่ข้อเท็จจริงเห็นอยู่ว่าคดีดังกล่าวมีเอกสารอยู่หลายพันหน้า ดังนั้น สมาชิกจำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนลงมติรับหรือไม่รับ เพราะถ้าหากสมาชิกลงมติรับเรื่องถอดถอนแล้วเกิดปัญหาขึ้นมาภายหลังว่าการกระทำของสมาชิกผิดกฎหมายจะทำอย่างไร 

'พีระศักดิ์'ยันพิจารณาตามกม.

       นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวว่า สนช.พิจารณาตามกฎหมาย แต่การประชุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ต้องเลื่อนการพิจารณานั้น เพราะมี สนช.เสนอแนวทางข้อกฎหมาย 2-3 ข้อ อีกทั้งวาระเป็นเพียงการหารือ และเอกสารแนบวาระมีเพียงไม่กี่แผ่น จึงต้องให้ สนช.ไปศึกษาสำนวนของ ป.ป.ช.ที่มีหลายพันแผ่นก่อน ยืนยันว่า สนช.ไม่ได้ทะเลาะกัน ผู้ที่เสนอความเห็นข้อกฎหมายต่อที่ประชุม สนช. ก็เป็นนักวิชาการ หลังจากนี้คงต้องอยู่ที่ที่ประชุมจะพิจารณาอย่างไร ตนคาดว่าจะมีความชัดเจนและสรุปได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ 

เผย 3 ปมถกลับถอดถอน 

       แหล่งข่าว สนช.เปิดเผยถึงกรณีการประชุมลับของ สนช. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ช่วงเริ่มต้นของการประชุม นายพรเพชรตั้งประเด็นการประชุมเพื่อเป็นการหารือถึงประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมี สนช.ที่ลุกอภิปรายรวมทั้งสิ้น 16 คน และมีประเด็นพิจารณาหลัก 3 ประเด็น คือ 1.สนช.มีอำนาจถอดถอนหรือไม่ โดยพิจารณาถึงข้อกฎหมายที่ให้อำนาจของ สนช.ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. หรือ กฎหมาย ป.ป.ช.ว่าด้วยการถอดถอน ซึ่งได้ให้อำนาจ สนช.ฐานะปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.พิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ ดังนั้นประเด็นดังกล่าวจึงยุติและเห็นร่วมกันว่า สนช.มีอำนาจถอดถอนได้ 2.ประเด็นของผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจะพิจารณาได้ต่อหรือไม่ ประเด็นนี้ได้พิจารณาตามหลักของกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ระบุถึงฐานความผิดว่า เหตุผลที่ต้องถอดถอนบุคคลนั้น เพื่อผล 2 ประเด็น คือให้บุคคลนั้นพ้นจากตำแหน่ง และให้ตัดสิทธิการดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี ดังนั้น ปัจจุบันแม้บุคคลที่ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ยังมีประเด็นตัดสิทธิทางการเมืองไว้พิจารณาได้

แฉ!สนช.ทหารจ่อหักดิบ 

       แหล่งข่าวคนดังกล่าวยังเปิดเผยต่อว่า และ 3.ประเด็นที่ถกเถียงกันนานที่สุด ว่าด้วยความผิดของบุคคลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้นำกฎหมาย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 58 ว่าด้วยพฤติกรรมความผิดของผู้ดำรงตำแหน่ง ในกรณีของนายสมศักดิ์และนายนิคม เข้าข่ายพฤติกรรมส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ประเด็นนี้มี สนช.สายทหารเสนอให้ลงมติตัดสินโดยทันที แต่ได้รับการทักท้วงจาก สนช.ที่ลุกอภิปรายกว่า 10 คน ว่าไม่เห็นด้วยที่จะลงมติในวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา เพราะมีประเด็นพิจารณาข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะรายละเอียดของสำนวนไต่สวนของ ป.ป.ช.ฉบับเต็ม อีกทั้งการประชุมเป็นเพียงการหารือเท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการบรรจุไว้ในวาระการประชุมแต่อย่างใด ทำให้ผลสรุปจึงออกมาให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน

40 ส.ว.ยื้อ-ปธ.ขอมติเลื่อน

     แหล่งข่าวคนดังกล่าวเปิดเผยด้วยว่า สำหรับประเด็นการแบ่งขั้วของ สนช.นั้น เดิมผลการพิจารณาประเด็นนี้ไม่มีเอกภาพอยู่แล้ว แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ เพราะกรณีพิจารณาถอดถอนบุคคลเทียบกับการลงโทษประหารชีวิต ดังนั้น เอกสารรายละเอียดการไต่สวนของ ป.ป.ช. จึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามี สนช.บางคนที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช.พยายามล็อบบี้ให้ที่ประชุมลงมติชี้ขาดเพื่อให้ผลจะออกมาในทางยุติเรื่อง แต่ สนช.ในส่วนที่ต้องการรับเรื่องไว้พิจารณา อาทิ สนช. อดีต ส.ว. กลุ่ม 40 ส.ว. เป็นต้น ได้ทักท้วงและขอให้ สนช.ได้อ่านรายละเอียดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน

อจ.ชี้ 2 ปมเลื่อนถอดถอน 

       นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช กล่าวถึงกรณี สนช.เลื่อนถอดถอน 2 อดีตประธานว่า คงมาจากสองปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือ สนช.ไม่มั่นใจในข้อกฎหมาย จะเห็นความไม่ชัดเจนของหลายส่วน ความเห็นส่วนหนึ่งก็ยังบอกว่าถอดถอนไม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี 2557 ไม่ได้กำหนดอำนาจของ สนช.ไว้ เพราะว่าถ้าถอดถอนจะเป็นปัญหาเรื่องกฎหมายภายหลัง 

      "อีกปัจจัยหนึ่งคือผมว่าตอนนี้เริ่มเข้ากระบวนบวนการปฏิรูป วันที่ 21 ตุลาคม จะเปิดประชุมสภาปฏิรูปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นฐานความผิด ป.ป.ช.กล่าวหาประธานสมศักดิ์กับประธานนิคม อาจจะกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ของการร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น อาจจะเกิดสถานการณ์ให้ถูกหยิบมาเป็นประเด็นได้ และอาจจะกลัวเรื่องกระแสสังคม ซึ่งอันนี้ตีความได้หลังจาก สนช.หมดอำนาจไปแล้ว หรือในกระบวนการปฏิรูปอาจถูกยกมาเป็นข้อถกเถียงสำคัญ" นายยุทธพรกล่าว

12 สปช.หญิงรวมตัวหารือ

    เมื่อเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน ที่ห้องเทพประธาน โรงแรมเวียงใต้ สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย นำโดย คุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายกสมาคมฯ จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ สปช.ที่เป็นสตรี ซึ่งมีทั้งสิ้น 37 คน แต่ตอบรับร่วมงาน 12 คน อาทิ นางกัญญ์ณัฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์ นางกอบกุญ พันธ์เจริญวรกุล นางกูไซหม๊ะ วันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี นางชัชนาถ เทพธนานนท์ นางตรึงใจ บูรณสมภพ นางเตือนใจ สินธุวณิก นางประภา เหตระกูล ศรีนวลถนัด นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ นางนรีวรรณ จินตกานนท์ น.ส.รสนา โตสิตระกูล นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา และ น.ส.อรพินท์ สพโชคชัย 

ปัดกำหนดกรอบทำงาน 

      นางนรีวรรณ สปช.ด้านเศรษฐกิจ ในฐานะอุปนายกฝ่ายกิจการในประเทศ เปิดเผยว่า งานดังกล่าวเป็นการจัดเลี้ยงเพื่อพบปะสมาชิกในสมาคมและแสดงความยินดีให้กับ สปช.หญิง ยังไม่มีประเด็นที่จะกำหนดกรอบหรือแนวทางเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปในประเด็นสตรี 

      "ยอมรับว่ากรอบปฏิรูปประเด็นสตรี ทางสมาคมได้เตรียมไว้แล้วส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ขอเปิดเผย เพราะต้องการรับฟังความเห็นของสมาชิกก่อน เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ทางสมาคมจะจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นในกรอบใหญ่ก่อนนำเสนอไปยัง สปช.ให้พิจารณากำหนดแนวทางปฏิรูปในประเด็นสตรีต่อไป" นางนรีวรรณกล่าว

       ผู้สื่อข่าวถามว่า ระหว่างพบปะได้พูดถึงบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งประธานและรองประธาน สปช.ในโควต้าสตรีด้วยหรือไม่ นางนรีวรรณกล่าวว่า ตามที่สื่อนำเสนอไปคงเป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ ตนยอมรับว่าก่อนหน้านี้เคยส่งสัญญาณไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกรณีที่จะให้ สปช.สตรี ดำรงตำแหน่งรองประธาน สปช.อย่างน้อย 1 ที่นั่ง ซึ่งได้รับการตอบรับแล้ว ส่วนที่ปรากฏชื่อ นางทัศนา บุญทอง สปช.ด้านการศึกษา จะได้รับการเสนอชื่อนั้น ส่วนตัวไม่ขัดข้องถือว่าเป็นชื่อที่ยอมรับ

"เอกชัย"เชื่อ 2-3 เดือนรู้ทิศทาง

    พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สปช.ด้านอื่นๆ กล่าวถึงการเลือกประธาน สปช.ในวันที่ 21 ตุลาคม ว่า ไม่มีใครในดวงใจ แต่คนที่เป็นประธาน สปช. ต้องไม่ใช่คู่ขัดแย้งเก่า หากเป็นคู่ขัดแย้งเก่า สปช.ไปไม่ได้ ต้องเป็นคนที่เข้ามาประสานประโยชน์ประนีประนอมมากกว่า เชื่อว่าการประชุม สปช.เพียงไม่กี่เดือนก็จะทราบเค้าลางแล้วว่าจะกลับมาเป็นแบบเดิมหรือไม่ ประชุมแล้วมองเห็นเค้าลางเหตุการณ์ขัดแย้งยังอยู่หรือไม่ เพราะคนบางกลุ่มที่เข้ามาเป็น สปช.อยู่ในวังวนเดิม เมื่อเขาเริ่มจะเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความขัดแย้ง วังวนเดิมก็เกิดได้ 

     "ส่วนเวลาที่ คสช.ให้ในการปฏิรูปเหลือเฟือ แต่คนที่บอกว่าไม่เพียงพอเพราะมาทะเลาะกันในสภาปฏิรูป ทะเลาะกันเพื่อเอาความคิดเห็นตนเองใส่ให้ได้ โดยต้องยึดถือผลประโยชน์ของชาติ เขาไม่เลือกแนวคิดเราไม่ใช่เรื่องเสียหาย" พล.อ.เอกชัยกล่าว

ไม่เอาคนขัดแย้งเขียนรธน.

     ผู้สื่อข่าวถามว่า มีใครทาบทามให้เป็นกรรมาธิการยกร่างหรือไม่ เพราะเอกสารที่แจกให้ สปช.ส่วนหนึ่งก็มาจากแนวความคิดท่าน พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า ยังไม่ได้ถูกทาบทามให้เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แค่เข้ามาตรงนี้ก็รู้สึกเป็นเกียรติมากแล้ว แต่หากใครคิดว่าตนมีคุณค่า พร้อมร่วมทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

      "ในความคิดผม การทำประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าไม่ควรทำหากกลุ่มพรรคเพื่อไทยไม่เอา ประชามติที่ออกมาก็ได้เหมือนเดิมคือ เขาไม่รับเพราะว่าเอาเสียงมาก ทั้งนี้ การเขียนรัฐธรรมนูญให้เขียนเพื่อให้แก้ปัญหาประเทศ ไม่ใช่แก้คน หลายคนที่ออกมาพูดมาเตรียมว่าทำไงจะขจัดตระกูล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯให้หมดไป ทำไงจะกำจัดพรรคเพื่อไทยหมดไป หรืออีกฝ่ายทำไงไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์เกิดได้ พวกนี้ไม่ควรให้มาอยู่ในวังวนของคนเขียนร่างรัฐธรรมนูญเลย เพราะว่ารังแต่จะสร้างความขัดแย้งใหม่" พล.อ.เอกชัยกล่าว

"พิเชษฐ"อยากถีบปากสปช.บางคน

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า "ปลายสัปดาห์ เมื่อคืนเจ็บยอกหลังและบั้นเอวอย่างทารุณ นอนไม่หลับทั้งคืน วันนี้วันหยุดจะขอนอนชดเชยหน่อย แต่ยังเจ็บ หลับไม่ลง นี่แหละเพราะทำปากดี อยากไปถีบ สปช.นักพล่ามบางคน หนอย! ครม. 36 คน สปช. 250 คน สนช. 250 คน แต่ให้มี ส.ส.จังหวัดละคนรวม 77 คน บ้าเรอะเปล่า? ถอยกลับไปเหมือนปี 2475"

40 ส.ว.เชื่อเลือกปธ.สปช.ไม่พลิก

      นายวันชัย สอนศิริ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงการคัดเลือกกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช.ว่า พูดคุยกันไปบ้างแล้ว มีหลายคนที่สนใจจะเข้าไปนั่งเป็น กมธ. หลังจากนี้จะต้องหารือกับสมาชิกอีกครั้งหนึ่งถึงแนวทางการคัดเลือกว่าจะให้มีการเสนอชื่อคนนอกด้วยหรือไม่ ส่วนวิธีการคัดเลือกนั้นมี 2 วิธีคือ ให้คณะกรรมาธิการสามัญกิจการ สปช.ชั่วคราว หรือวิป สปช.เป็นผู้คัดเลือก หรือให้สมาชิกทั้งหมดเป็นผู้คัดเลือก โดยอาจจะมีการพูดคุยกันในการประชุม สปช.นัดแรก วันที่ 21 ตุลาคม

       "ส่วนเรื่องการเลือกตำแหน่งประธาน สปช.น่าจะเป็นไปตามที่มีกระแสข่าวตามสื่อมวลชนคือ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เพราะจากการพูดคุยกับสมาชิกหลายคนจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเสนอตัวเข้ามา แต่ก็มีบางคนที่อยากเสนอตัวแต่เมื่อเห็นชื่อนายเทียนฉายแล้วก็ไม่กล้า" นายวันชัยกล่าว 

"เสี่ยตือ"ส่งจ.ม.เปิดถึงสปช.

      นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง สปช.ระบุว่า คงไม่มีคนไทยคนไหนที่จะปฏิเสธการปฏิรูประเทศไทยเพราะมองเห็นความเป็นจริงและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในยามนี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเครื่องประเทศไทยใหม่ด้วยการปฏิรูปประเทศไทย จากประสบการณ์ชีวิตของตนพบว่า สังคมไทยจะมีจุดแข็งตรงที่ในภาวะปกติจะมีความสามารถสูงในการพัฒนา 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!